ซุ่นจื๊อกับทฤษฎีว่าด้วยเรื่องของตัณหา

Socail Like & Share

ในขณะที่ หัวใจอันสำคัญของปรัชญาของซุ่นจื๊อคือ คติความคิดเรื่องธรรมชาติของมนุษย์นั้น ทฤษฎีอันเป็นหลักของธรรมชาติแห่งมนุษย์นั้นก็คือ ตัณหา ซุ่นจื๊ออธิบายถึงเรื่องตัณหา

มนุษย์เริ่มต้นด้วยตัณหา
และข้อความอีกแห่งหนึ่งว่า

ตัณหานั้นไม่จำเป็นต้องสร้างขึ้นมา เพราะว่าสวรรค์ได้ประทานมันมาให้แก่มนุษย์แล้ว

เพราะว่า ตัณหาเป็นลักษณะตามธรรมชาติที่สามัญที่สุดของธรรมชาติของมนุษย์ ฉะนั้นตัณหาจึงเป็นสิ่งที่กำจัดให้หมดไปได้ยาก หรือเป็นสิ่งที่ทำให้พอใจได้ยาก ด้วยเหตุนี้ ซุ่นจื๊อจึงกล่าวว่า
ถึงแม้ว่าบุคคลผู้นั้นจะเป็นเพียงคนยามเฝ้าประตู แต่ตัณหาของเขาก็เป็นสิ่งที่กำจัดให้หมดได้ยาก เพราะว่าตัณหานั้นเป็นลักษณะพื้นฐานของธรรมชาติของมนุษย์ ถึงแม้ว่า บุคคลจะเป็นกษัตริย์แต่ตัณหาของพระองค์ก็เป็นสิ่งจะทำให้พอใจอย่างสมบูรณ์ได้ยากเช่นกัน

ซุ่นจื๊อ ย้ำความสำคัญของความเชื่อของเขาว่า สาเหตุอันสำคัญที่สุดของความชั่วช้าสามานย์ทั้งปวงนั้นคือ ตัณหา แต่เนื่องจากตัณหาเป็นสิ่งที่มนุษย์มีมาตามธรรมชาติ และฝังอยู่ในกมลสันดาน เพราะฉะนั้นจึงเป็นสิ่งที่จะกำจัดให้หมดไปได้ยาก เพราะฉะนั้นเคล็ดลับของการดำรงชีวิตด้วยคุณธรรมนั้น คือการสนองตัณหาโดยเหมาะสม โดยการใช้จารีตประเพณี ดนตรีและการกล่อมเกลาจิตใจ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ตัณหาของมนุษย์นั้นจำเป็นจะต้องควบคุมกำหนดโดยการใช้จารีตประเพณี กล่อมเกลาโดยการใช้ดนตรี และทำให้มีเหตุผลโดยการควบคุมจิตใจ ความคล้ายคลึงที่น่าสังเกตระหว่างปรัชญาของขงจื๊อ และปรัชญาของซุ่นจื๊อในที่นี้คือ จารีตประเพณีและดนตรี เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ในทรรศนะของบุคคลทั้งสอง จุดที่ความคิดของซุ่นจื๊อแตกต่างออกไปจากขงจื๊อนั้นคือ เขาย้ำความสำคัญในเรื่องของจิตใจ

ตัณหาของมนุษย์จะต้องควบคุมกำหนดโดยจารีตประเพณีนั้นเกิดขึ้นมาจากไหน? คำตอบคือว่ามนุษย์เริ่มต้นชีวิตด้วยตัณหา เมื่อตัณหาเหล่านี้ไม่ได้รับการตอบสนองให้เป็นที่พอใจ มนุษย์ก็จะเฉยอยู่โดยไม่แสวงหาความพอใจให้แก่ตัณหาไม่ได้ เมื่อการแสวงหาเพื่อสนองตัณหาไม่มีขนาดหรือขอบเขต จึงทำให้เกิดการขัดแย้ง เมื่อมีการขัดแย้ง ความไม่สงบก็เกิดขึ้นเมื่อความไม่สงบเกิดขึ้น ทุกสิ่งทุกอย่างก็ถึงที่สุด พระมหากษัตริย์ในสมัยต้นๆ จึงรังเกียจความไม่สงบ ฉะนั้นพระองค์จึงจัดให้มีจารีตประเพณี และการปฏิบัติยึดมั่นอยู่ในศีลธรรมอันดีขึ้น เพื่อเป็นการจำกัดขอบเขตให้แก่ตัณหา และเพื่อเป็นการปรับปรุงตัณหาและเป็นการนำทางการแสวงหาสิ่งต่างๆ เพื่อสนองความต้องการของตัณหา

กล่าวโดยย่อแล้ว จารีตประเพณีมีหน้าที่เป็นสามประการ คือเพื่อจำกัดขอบเขตของตัณหาเพื่อว่าบุคคลจะได้ไม่ต้อง “แย่งชิง” เอาหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ประการที่สอง เพื่อกล่อมเกลาปลูกฝังตัณหาให้เป็นไปในทางที่ดีงาม เพื่อว่าบุคคลจะได้ไม่แสวงหาแต่ความมานะของบุคคลอื่น” ประการที่สาม เพื่อเป็นการปรับตัณหาและสิ่งที่จะนำมาสนองตัณหาให้เกิดการสมดุลซึ่งกันและกัน ทั้งนี้เพื่อจะได้ไม่มีการแก่งแย่งต่อสู้กัน ตรงจุดนี้ ซุ่นจื๊อกล่าวย้ำความสำคัญว่า

มนุษย์นั้นมีความต้องการและมีความเกลียดชังในสิ่งอันเดียวกัน ความต้องการของมนุษย์นั้นมีมากมายแต่สิ่งที่จะสนองความต้องการนั้นมีน้อย เพราะสิ่งที่สนองความต้องการมีน้อย ฉะนั้นการต่อสู้แก่งแย่งกันจึงเป็นสิ่งที่หลีกไม่พ้น

เพราะฉะนั้น สิ่งที่ควรยกย่องและควรต้องกระทำนั้นคือ การกำหนดขอบเขตให้บุคคลทุกคนปฏิบัติในการแสวงหาหนทางตอบสนองตัณหาของตน หน้าที่อันสำคัญที่สุดของจารีตประเพณีคือ การกำหนดขอบเขตของตัณหาอันนี้เอง ทั้งนี้เพื่อว่า จะไม่มีบุคคลใดแสวงหาหนทางสนองความต้องการของตนจนเกินขอบเขต หรือเถลไถลออกไปนอกทางที่ถูกต้องและเหมาะสมได้

ตัณหาของมนุษย์ควรจะกล่อมเกลาให้งดงามขึ้นด้วยดนตรี

ดนตรีเป็นการแสดงออกของความปิติยินดีอันเป็นอารมณ์ของมนุษย์ที่ไม่สามารถจะบีบบังคับไว้ได้ มนุษย์จะอยู่อย่างปราศจากความปิติยินดีไม่ได้ และความปิติยินดีนั้นจะแสดงออกเป็นเสียงและการเคลื่อนไหว…ถ้าการแสดงออกของความปิติยินดีไม่ได้กระทำไปในทางที่เหมาะสม ผลก็คือจะต้องเกิดมีการจลาจลวุ่นวายขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น จากทรรศนะอันนี้ กษัตริย์ในสมัยต้นนั้นจึงคิดประดิษฐ์ดนตรีแบบหยา (Ya) และแบบซุง (Sung) ขึ้น (ซึ่งเป็นดนตรีสองประเภทที่กล่าวถึงในบทนิพนธ์เรื่องกวีนิพนธ์ รวบรวมโดยขงจื๊อ ทั้งนี้เพื่อเสียงของดนตรีทั้งสองแบบนี้อาจแสดงออกซึ่งความปิติยินดีได้ โดยไม่ก่อให้เกิดการจลาจล…และการบรรเลงและการประสานเสียงของดนตรีทั้งสองแบบนี้อาจบันดาลใจ ให้เกิดความคิดที่ดีงาม และคลี่คลายความคิดชั่วร้ายทั้งหลายลงได้

ในทำนองนี้ ดนตรี พร้อมทั้งจารีตประเพณีจึงเป็นพลังทางการศึกษาที่มีอิทธิพลอย่างยิ่ง สามารถกระตุ้นให้เกิดความดีงามขึ้นในจิตใจของประชาชน ซึ่งจะเป็นการป้องกันไม่ให้ประชาชนตกอยู่ภายใต้อิทธิพลที่ชั่วเลวทรามได้ มีข้อความอีกตอนหนึ่งเป็นคำกล่าวของซุ่นจื๊อว่า

ดนตรี เมื่อบรรเลงในวิหารของพระเทพบิดรนั้น ก่อให้เกิดความรู้สึกที่น่าเคารพขึ้นในจิตใจของพระมหากษัตริย์และเหล่าเสนาบดี ส่วนดนตรีที่บรรเลงในอาคารบ้านเรือนนั้น ก่อให้เกิดความรักขึ้นในจิตใจของผู้เป็นสามีและภรรยา ส่วนดนตรีที่บรรเลงในลานหมู่บ้านนั้น ก่อให้เกิดความรู้สึกเป็นมิตรกันขึ้นในจิตใจของชาวบ้าน เพราะฉะนั้นดนตรีจึงเป็นเครื่องชักจูงให้ประชาชนเกิดความประสานสามัคคีกัน เสียงดนตรีที่แตกต่างกัน กลับเพิ่มพูนให้เกิดความกังวานชัดเจน และเสียงดนตรีที่ประสานกันนั้น ก่อให้เกิดเป็นความงดงาม ขณะที่ดนตรีชักนำความรู้สึกของประชาชนให้คล้อยตามไปด้วยนั้น ดนตรีก็ได้กระทำหน้าที่ประสานความรู้สึกที่แตกต่างกันนานาประการของประชาชนให้เกิดความเป็นระเบียบและงดงามขึ้นพร้อมกันไปด้วย

ความแตกต่างกันระหว่างหน้าที่ของจารีตประเพณี และดนตรีนั้นคือ จารีตประเพณีนั้นเป็นสิ่งควบคุมตัณหาของบุคคลและกล่อมเกลาความประพฤติที่เป็นการแสดงออกของบุคคล แต่ดนตรีนั้นเป็นสิ่งที่กล่อมเกลาตัณหาของบุคคลและปลูกฝังความรู้สึกดีงามขึ้นในจิตใจของบุคคล ด้วยเหตุนี้ ซุ่นจื๊อจึงกล่าวว่า

ดนตรีคือ การประสานเสียงที่กลมกลืนกันอย่างสม่ำเสมอ
จารีตประเพณีคือการประพฤติปฏิบัติด้วยอาการอันเหมาะสมอย่างสม่ำเสมอ ดนตรีสร้างความสามัคคีและความสมานฉันท์ จารีตประเพณีประสานความแตกต่างและการแบ่งแยก

ตามทรรศนะของซุ่นจื๊อ ตัณหาทั้งหลาย ถ้าไม่ใช้เหตุผลเป็นสิ่งควบคุมแล้ว ตัณหาจะชักนำไปสู่การต่อสู้แก่งแย่งกันและกัน สิ่งที่ทำนุบำรุงเหตุผลนั้นคือจิตใจ ฉะนั้นจิตใจจึงเป็นเครื่องอนุเคราะห์ นำทางให้แก่การแสวงหาหนทางเพื่อตอบสนองตัณหาของมนุษย์

…..ภายใต้การควบคุมจิตใจของตน มนุษย์จะแสวงหาหนทางตอบสนองตัณหาของตนโดยเหมาะสม…..เมื่อจิตใจของมนุษย์ยึดมั่นในเหตุผล ความสงบก็จะมีอยู่ทั่วๆ ไป ทั้งๆ ที่ตัณหาก็ยังมีอยู่ ในทางตรงกันข้ามถ้าจิตใจไม่ยึดมั่นในเหตุผล ตัณหาแม้จะได้รับการตอบสนองก็ยังจะก่อให้เกิดความยุ่งยากลำบากขึ้นได้ เมื่อจิตใจของมนุษย์ขัดแย้งกับเหตุผล ความไม่สงบก็เกิดขึ้นถึงแม้ว่าตัณหาจะมีอยู่แต่เพียงเล็กน้อยก็ตาม

และ….

จิตใจเป็นผู้เป็นใหญ่ของร่างกาย และเป็นนายของดวงวิญญาณ จิตใจเป็นผู้บังคับบัญชาร่างกาย ไม่ใช่เป็นผู้รับคำสั่งจากร่างกาย เพราะฉะนั้น จิตใจจึงสามารถควบคุมตนเองได้ ทำการปฏิบัติของตนเองได้ สนองความอยากของตนเองได้ มีความพอใจในตนเองได้ และเป็นที่พึ่งของตนเองได้

ด้วยเหตุนี้ งานของจิตใจ ไม่ใช่เป็นแต่เพียงการคิด แต่เป็นการกระทำที่เกี่ยวข้องกับสิ่งผิดชอบชั่วดีในความหมายของจริยธรรมด้วย เมื่อจิตใจถูกกระตุ้นด้วยเหตุผล ตัณหาก็จะอยู่ภายใต้อำนาจของมนุษย์ แต่เนื่องจากว่าจิตใจนั้นมักจะถูกตัณหาเข้าไปบดบังอยู่เสมอ ซุ่นจื๊อถือว่าการทำจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์จากตัณหาจึงเป็นสิ่งจำเป็น ในการที่จะทำให้จิตใจได้บรรลุถึงสัจธรรมและคุณงามความดี ณ ตรงจุดนี้ ซุ่นจื๊อได้ให้ข้อเสนอแนะอันเป็นสิ่งที่จะมีอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงในระยะเวลาพันปีต่อมา หลังจากสมัยของเขาต่อนักปรัชญาในสมัยราชวงศ์ซุง หรือนักปรัชญาในลัทธิขงจื๊อใหม่ต่อไป

ที่มา:สกล  นิลวรรณ