มหาตมะคานธีกับภาษี ๓ ปอนด์

คานธี
ในขณะที่ท่านมหาตมะคานธี กำลังต่อสู้กับร่างพระราชบัญญัติใหม่และกฎหมายเก่าดังกล่าวมานั้นเกิดมีเรื่องขึ้นเรื่องหนึ่ง ซึ่งในกาลต่อมากลายเป็นเหตุต่อสู้กันอย่างร้ายแรงระหว่างชาวอินเดียในอาฟริกาใต้กับรัฐบาลอังกฤษกล่าวคือ ในค.ศ.๑๘๘๙ รัฐบาลเนตาลได้เสนอพระราชบัญญัติฉบับนี้มีหลักการว่า กรรมกรชาวอินเดียทุกคนต้องเสียภาษีให้รัฐบาลปีละ ๒๕ ปอนด์ การที่รัฐบาลเสนอร่างดังนี้ต่อสภาก็โดยอาศัยเหตุดังต่อไปนี้ เป็นเกณฑ์พิจารณา

คือประมาณปี ค.ศ.๑๘๖๐ พวกฝรั่งมองเห็นว่าเนตาลเป็นประเทศที่เหมาะสำหรับการปลูกอ้อย จึงได้พยายามหาจ้างกรรมกร โดยคิดค่าแรงงานให้อย่างต่ำ แต่กรรมกรที่จะได้จ้างด้วยราคาถูกนั้น มีอยู่ในประเทศอินเดียแต่ประเทศเดียว ฉะนั้นฝรั่งจึงได้หารือตกลงกับรัฐบาลอินเดีย ว่าจะจ้างกรรมกรอินเดีย ไปทำงานในอาฟริกาใต้  โดยมีข้อสัญญาว่ากรรมกรจะต้องรับจ้างนายจ้างอยู่กับนายจ้างตลอดเวลา ๕ ปีเต็ม เมื่อพ้น ๕ ปีแล้ว จึงมีสิทธิเสมอภาคกับคนผิวขาวได้ ผลที่สุดแห่งสัญญานี้คือกรรมกรจำนวนมากเมื่อทำงานครบ ๕ ปี ตามข้อผูกมัดนั้นแล้วมักตั้งภูมิลำเนาอยู่ในอาฟริกาใต้ เนื่องจากคนอินเดียมีมานะอดทนต่อความทุกข์ยากกรากกรำได้ดีกว่าคนผิวขาว และทั้งสามารถดำรงชีพอยู่ได้โดยมีการใช้จ่ายในอัตราต่ำกว่าพวกผิวขาวอีกด้วย ฉะนั้นเมื่อถึงฤดูการแข่งขันเรื่องการเพาะปลูก การค้าขายเป็นต้น ชาวผิวขาวไม่สามารถที่จะต่อสู้ชาวอินเดียได้ ชาวอินเดียจึงเริ่มขึ้นหน้าในการเพาะปลูก และการค้าขายยิ่งขึ้นทุกสมัย เมื่อเหตุการณ์อันน่าหนักใจปรากฎขึ้นโดยทำนองนี้ ชาวผิวขาวที่เริ่มอาศัยอำนาจทางการปกครองเป็นเครื่องกำจัดอธิปไตยของชาวอินเดียคือ สร้างพระราชบัญญัติเป็นทำนบกำจัดสิทธิของชาวผิวเหลืองขึ้น ดังได้กล่าวไว้แล้วแต่หนหลัง และนอกจากนั้นยังได้เสนอพระราชบัญญัติใหม่อีกฉบับหนึ่ง มีบทบัญญัติระบุไว้ ๓ ข้อคือ
ข้อ ๑ เมื่อสิ้นอายุสัญญาการรับจ้างที่ได้กำหนดไว้ตามข้อสัญญาแล้ว กรรมกรทุกคนจะกลับอินเดียหรือ
ข้อ ๒ จะต้องรับจ้างอยู่กับนายจ้างอีก ๒ ปี โดยมีการเพิ่มเงินเดือนให้บ้าง หรือ
ข้อ ๓ ถ้าไม่ยอมกลับ และทั้งไม่ยอมรับจ้าง อยู่กับนายจ้างอีกต่อไป จะต้องเสียภาษีคนละ ๒๕ ปอนด์

ย่อมจะเป็นธรรมดาอยู่ในตัวเอง การกลับคำพูดที่ไม่สมกับลักษณะสุภาพชน การทำลายสัญญาโดยอาศัยอำนาจบทบัญญัติ และการรักษาประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่แลเหลียวถึงความยุติธรรม ย่อมนำมาซึ่งความยุ่งยากลำบากมิใช่น้อย ฉะนั้นเมื่อพวกฝรั่งโดยตกลงว่าจะทำลายผลประโยชน์ของชาวอินเดีย อาศัยทางทุจริตเป็นเครื่องมือ มหาตมะคานธีจึงได้รีบเสนอความเห็นต่อสภา ขอให้ค้านร่างพระราชบัญญัติใหม่นี้โดยรีบร้อน และทั้งยื่นคำร้องต่อรัฐบาลอินเดียไม่ให้รับหลักการนั้นด้วย  ซึ่งในที่สุดได้แนะนำให้รัฐบาลอาฟริกาใต้เก็บภาษีคนละ ๓ ปอนด์ แทน ๒๕ ปอนด์ ดังได้คาดไว้ก่อน อย่างไรก็ดีสภาคองเกรสได้ดำเนินการตามข้อเสนอของมหาตมะคานธีนั้น การค้านร่างพระราชบัญญัตินั้นจึงได้ดำเนินไปอย่างเผ็ดร้อนที่สุด ทั้งในสภาอาฟริกาใต้ อินเดีย อังกฤษ แต่ข้อสำคัญในเรื่องนี้ คือ ร่างพระราชบัญญัตินั้นเกี่ยวกับกรรมกรผู้ยากจน ส่วนสภาคองเกรสในสมัยนั้นเป็นที่ชุมนุมของผู้มีฐานะดี เพราะผู้จะเข้าเป็นสมาชิกสภาได้ต้องเสียค่าบำรุงกันมากๆ อันเป็นการยากที่คนจนจะเสียให้ได้ คนจนจึงเข้าเป็นสมาชิกไม่ได้อยู่เอง ด้วยเหตุนี้คณะพรรคการเมืองจึงมักไม่เป็นที่ไว้วางใจของมาหชนโดยทั่วไป อนึ่งถ้าหลักการของคณะพรรคนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับมหาชนขึ้นบ้างแล้วไซร้ ก็มีความหวังได้เต็มที่ที่จะเรียกร้องความไว้วางใจจากมหาชนได้ ข้อนี้มหาตมะคานธีเข้าใจได้อย่างซึ้งทีเดียว ตั้งแต่เบื้องต้นแห่งการตั้งสภาคองเกรสมา ฉะนั้นท่านจึงได้ตั้งคติแห่งคณะพรรคขึ้นข้อหนึ่งว่า คณะพรรคควรจะดำเนินกิจการดังต่อไปนี้ คือ การรับใช้มหาชนโดยถือหลักความเป็นไปในปัจจุบันประกอบด้วย เช่นการพยาบาล การเอาใจใส่ทุกข์สุขของครอบครัว การดูแลสอดส่องการเป็นอยู่และการดำเนินชีวิตเป็นอาทิ สภาคองเกรสแห่งอาฟริกาใต้ จึงได้ตั้งแผนกงานขึ้นอีกแผนกหนึ่ง สำหรับดำเนินงานดังกล่าวแล้ว งานแผนกนี้สร้างจิตใจมหาชนให้ค่อยๆ มองเห็นขึ้นทีละน้อยๆ ว่าคองเกรสถึงแม้จะประกอบขึ้นด้วยบุคคลผู้มีฐานะมั่งมีก็จริงแต่ทำตัวเป็นเพื่อนที่แท้ของมหาชนผู้ยากจนด้วย นับว่าเป็นโชคเหมาะอย่างเหลือเกิน โดยในโอกาสนี้ได้เกิดมีเรื่องสำคัญขึ้นเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องที่อาจกล่าวได้ว่านำความไว้วางใจของมหาชนมาสู่ท่านคานธี และคองเกรสสมประสงค์ทีเดียว กล่าวคือ มีกรรมกรคนหนึ่งชื่อวาลสุนทรัม เป็นลูกจ้างรับใช้ของฝรั่งผู้มีเกียรติผู้หนึ่งในอาฟริกาใต้ อยู่มาวันหนึ่งฝรั่งเกิดไม่ถูกอกถูกใจลูกจ้างผู้นั้นถึงกับบรรดาลโทสะขึ้นมา และได้ทุบตีลูกจ้างเสียอย่างมากมายถึงกับฟันหัก ๒ ซี่ มีอาการบอบช้ำ มหาตมะคานธีจัดการส่งผู้นั้นไปให้แพทย์ตรวจอาการ และบาดแผลพร้อมด้วยใบสำคัญรับรองของแพทย์ด้วย และท่านรับเป็นทนายเองจัดการฟ้องฝรั่งในคดีอาญาต่อศาล ผลที่สุดฝรั่งแพ้คดีนี้ และในทางแพ่งต้องเสียค่าเสียหายให้โจทก์อีกมากมาย คดีนี้แหละเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้คานธีได้ความนิยม และเคารพนับถือฐานเป็นมิตรแท้ของคนจน ทั้งทำให้คองเกรสก็ไดรับความไว้วางใจของมหาชนยิ่งขึ้นด้วย  เพราะว่าการที่ชาวอินเดียเป็นความกับฝรั่งชนะนั้น ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกแห่งประวัติการณ์ของอาฟริกา จึงเป็นเหตุการณ์ที่ชี้ให้มองเห็นสมรรถภาพของท่านคานธีอย่างสูงเด่นอยู่ในตัวว่า ท่านสามารถที่จะป้องกันชาวผิวเหลืองจากความทารุณโหดร้ายของพวกผิวขาวได้แน่นอน ฉะนั้นเมื่อคองเกรสภายใต้การนำของท่านได้ลงมือกระทำการคัดค้านร่างพระราชบัญญัติใหม่นี้ปวงชนชาวอาฟริกาใต้จึงได้ช่วยกันสนับสนุน เพิ่มกำลังต่อสู้รัฐบาลกันอย่างมากมาย และทั้งต่างยินดียอมพลีชีวิตรับอาญาหลวง เช่นการจำคุกเป็นต้น นับจำนวนตั้งพันๆ คน โดยมิได้หวาดหวั่นพรั่นพรึงแม้แต่น้อย

ที่มา:สวามี  สัตยานันทปุรี

คานธีกับการตั้งเนตาลอินเดียคองเกรส

คานธี
เมื่อท่านคานธี ได้ตกลงใจเด็ดขาดว่าจะพักอยู่ในอาฟริกาใต้ เพื่อบำเพ็ญประโยชน์แก่ชาวอินเดียในภาคนั้นดังนี้แล้ว ในขั้นต่อไปที่จะทำความหวังอันนี้สำเร็จผลได้ ก็เมื่อการตั้งเนตาลอินเดียคองเกรสขึ้น เนตาลอินเดียคองเกรสนั้น คือสมคมมีวัตถุประสงค์ในอันจะป้องกัน และเรียกร้องขอสิทธิทุกๆ ประการของชาวอินเดียในอาฟริกาใต้ ถึงแม้ว่าสมาคมนั้น มีหลัการมุ่งตรงไปทางการเมืองก็จริง แต่ก็ได้จัดตั้งแผนกงานอีก ๒ แผนก เพื่อเป็นการสะดวกในการดำเนินกิจการทั่วไป และทั้งอาจเป็นประโยชน์แก่ชาติได้ต่อไปด้วย กล่าวคือ แผนก ๑ มีหน้าที่รับใช้ปวงชนชาวอินเดียที่กำเนิดขึ้นในอาฟริกาใต้ และที่มาศึกษาอยู่ในอาฟริกาใต้ และอีกแผนก ๑ มีหน้าที่โปรปะกันดาฐานะความเป็นอยู่ของอินเดียแก่คนภายนอก คือ ชาวอังกฤษในประเทศอังกฤษ และชาวอินเดียในประเทศอินเดีย

เมื่อได้จัดการวางโครงการเรียบร้อยแล้ว การต่อสู้กับรัฐบาลอังกฤษโดยมีมหาตมะคานธีเป็นผู้นำ ก็พลันฟักตัวเริ่มขึ้นทันที ซึ่งถ้าจะพูดตามสำนวนมหาตมะคานธีเอง คือการต่อสู้เพื่อเกียรติยศ (Self respect)

งานชิ้นแรกที่สมาคมนี้รับเป็นภาระขึ้นนั้น คือการคัดค้านร่างพระราชบัญญัติ ว่าด้วยสิทธิการออกเสียงของชาวอินเดีย (Indian Franchise Bill) ร่างอันนี้ได้ผ่านสภาอาฟริกาใต้มาแล้ว ๒ ครั้ง โดยที่ฝ่ายอินเดียยังไม่ได้ค้านติงแม้แต่ประการใด อนึ่ง หลักการสำคัญในร่างนี้ได้ให้อำนาจแก่รัฐบาลอย่างเต็มที่ ในอันที่จะกำจัดสิทธิการออกเสียงของชาวอินเดียในอาฟริกาใต้เสียโดยเด็ดขาด ความจริงตามกฎหมายเก่า ผู้เป็นเจ้าของที่ดินทุกคนย่อมมีสิทธิในการออกเสียง แต่ต่อมาเนื่องจากชาวผิวขาวมองเห็นว่า จำนวนเจ้าของที่ดินที่เป็นชาวอินเดียกำลังเพิ่มทวีขึ้นทุกวัน อันเป็นเรื่องที่อาจเป็นช่องทางทำให้ชาวผิวขาวเสียเปรียบชาวอินเดียในกาลภายหน้าได้แง่หนึ่ง ดังนั้นจึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวนี้ขึ้น เพื่อเป็นการปิดประตูเสียโดยเด็ดขาด ร่างนั้นได้ผ่านสภามาโดยราบรื่นมาถึง ๒ วาระ ผ่านอีกวาระเดียว ก็จะตราเป็นพระราชบัญญัติขึ้นได้โดยสมบูรณ์ แต่บังเอิญก่อนหน้าที่จะผ่านวาระที่ ๓ ชาวอินเดียอันมีท่านมหาตมะคานธีเป็นผู้นำนั้นได้เสนอคำคัดค้านไปยังสภา และผู้สำเร็จราชการแห่งอาฟริกาใต้ ใช่แต่เท่านั้น ได้ยื่นคำร้องไปยังลอร์ดริปอนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเมื่องขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย โดยมีผู้ลงนามในใบร้องนี้มีจำนวนกว่า ๑๐,๐๐๐ นาย

นอกจากเรื่องค้านพระราชบัญญัตินี้แล้ว ท่านยังได้ค้านพระราชบัญญัติเก่า อันว่าด้วยการจำกัดสิทธิของชาวอาเซีย กฎหมายบางเรื่องและการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐบาลประการอื่นๆ อันเป็นไปในทำนองเหยียดหยามชาวผิวเหลืองทั่วๆ ไปอีกด้วย

ผลสุดท้ายแห่งการต่อสู้ทั้งหลาย ท่านได้รับชัยชนะมาสู่ชาวอินเดียโดยเฉพาะ และชาวผิวเหลืองทั่วไปโดยทางอ้อมเป็นเอนกประการ

ที่มา:สวามี  สัตยานันทปุรี

การพักอยู่ที่อาฟริกาใต้ของคานธี

คานธี
คดีของบริษัท ที่ท่านคานธีรับเป็นผู้ช่วยทนายว่าความ เป็นคดีใหญ่ เรื่องนี้โจทก์เรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยเป็นเงินถึง ๔๐,๐๐๐ ปอนด์ แต่อาศัยที่ท่านคานธีเป็นคนซื่อ และมีจิตประกอบด้วยเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ จึงได้พูดจาชักจูงให้คู่ความประนีประนอมกันได้ดี ถึงกระนั้นกว่าจะตกลงกันได้ก็กินเวลาเกือบปีหนึ่ง เมื่องานนี้ตกลงเรียบร้อย โดยได้รับผลเป็นที่พอใจด้วยกันทั้งโจทก์และจำเลยแล้ว ท่านก็เตรียมตัวกำหนดวันกลับมาตุภูมิ ครั้นถึงกำหนดวันท่านออกเดินทางจากปริโตเรียไปยังเดอร์บันเพื่อคอยจับเที่ยวเรือโดยสารกลับอินเดียก่อนแต่วันออกเดินทาง มิตรสหายผู้ร่วมผิวและชาติ ได้รวมกันเลี้ยงส่งท่านอย่างมโหฬารเป็นเครื่องไว้อาลัยและเกียรติศักดิ์ ในคราวจากอาฟริกาใต้ครั้งนี้

ในคราวที่มีการเลี้ยงส่งก่อนเดินทางนั้น ที่ประชุมได้มีการสนทนากันถึงเรื่องความเป็นอยู่ในอาฟริกาใต้ของชาวอินเดีย กล่าวคือ ในสมัยที่ท่านคานธีไปว่าความอยู่อาฟริกาใต้นั้น รัฐบาลอังกฤษประจำภาคนั้น ได้ออกพระราชบัญญัติหลายเรื่อง และมีหลายข้อ ที่แสดงจิตใจไปในทางกดขี่ชาวอาเซียทั้งหมด และชาวอินเดียโดยเฉพาะ อาทิเช่น พระราชบัญญัติว่าด้วยการกำจัดสิทธิของชาวอาเซีย(Asiatics Exclution Act) ตามบทพระราชบัญญัตินี้มีหลักว่าชาวอาเซียผู้ใดจะเข้ามาในอาฟริกาใต้ ต้องเสียค่าเข้าเมืองคนละ ๓ ปอนด์ ชาวอาเซียไม่มีสิทธิเป็นเจ้าของที่ดินเว้นแต่ที่ดิน ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดไว้สำหรับชาวอาเซียโดยเฉพาะ (แต่ตาทางปฏิบัติรัฐบาลไม่ได้กำหนดที่ดินให้แก่ชาวอาเซียตามหลักพระราชบัญญัติ ฉะนั้นชาวอาเซีย จึงไม่มีทางจะเป็นเจ้าของที่ดินได้) และชาวอาเซียไม่มีสิทธิที่จะออกเสียงในทางการปกครองได้แม้แต่ประการใด พระราชบัญญัตินี้ตั้งขึ้นโดยทั่วไป  นอกจากนี้ยังมีพระราชบัญญัติว่าด้วยการจำกัดสิทธิของชาวผิวเหลืองอีก  ซึ่งบทบังคับว่าชาวอาฟริกาก็ดี หรือนอกจากคนผิวขาว ไม่มีสิทธิเดินตาม่างเท้า และหลังจากเวลา ๒๑.๐๐ น. ไม่มีสิทธิเดินตามถนน ถ้าผู้ใดประสงค์จะเดินภายในกำหนดห้ามนั้นต้องได้รับอนุญาตจากตำรวจเสียก่อนจึงจะเดินได้ แต่ข้อบังคับที่กล่าวไว้ในข้อสุดท้ายนั้น โดยมากมักใช้บังคับชาวอินเดีย ถ้าเป็นชาติอื่นเช่นชาวอาหรับ ซึ่งมีอยู่ดาดดื่นในอาฟริกาใต้ บางทีตำรวจก็ปล่อยให้เดินได้ นั่นสุดแล้วแต่อำเภอใจแห่งความกรุณาของตำรวจ  ไม่ใช่อำนาจตัวบทกฎหมาย

ดังนั้น ในเวลาเลี้ยงส่งคานธี จึงได้เกิดมีการสนทนากันถึงเรื่องดังกล่าวนี้ด้วย และเกิดถกถามกันขึ้นว่าใครมีวิธีแก้บทบัญญัติอันไร้มนุษยธรรมนี้ได้อย่างไรบ้าง ที่ประชุมลงมติเห็นพ้องว่า ถ้าแม้นท่านคานธีจะพักอยู่ที่อาฟริกาใต้สักชั่วคราวต่อนี้ได้ และทั้งอาจสามารถแก้ฐานะความเป็นอยู่ของชาวอินเดียในถิ่นนั้น ให้กลับคืนดีขึ้นเป็นการแน่ เมื่อที่ประชุมได้ลงความเห็นเช่นนั้นและทั้งมีการขอร้องเป็นพิเศษ เพื่อให้ท่านพักอยู่ชั่วคราวท่านจึงคิดว่า  ถ้าพักอยู่ชั่วคราวตามคำขอร้องของที่ประชุมคงมีโอกาสทำประโยชน์ให้แก่อินเดียได้บ้างไม่มากก็น้อย จึงเป็นอันตกลงใจยังไม่เดินทางกลับอินเดียก่อน ฉะนั้นการเลี้ยงส่งคราวนี้ จึงเปลี่ยนรูปเป็นการเลี้ยงรับท่านคานธีไปด้วยในตัวเสร็จ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ทำให้จิตใจของชาววอินเดียในอาฟริกาใต้ปลาบปลื้มเป็นอย่างยิ่งเรื่องหนึ่ง

เมื่อเป็นการตกลงใจว่า จะพักอยู่อาฟริกาใต้แน่นอนแล้ว ปัญหาขั้นต่อไปก็คือการครองชีพ เพื่อจะกำจัดความกังวลใจในเรื่องนี้เสีย  ท่านจึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลขออนุญาตเป็นทนายว่าความในศาลทั่วไปของอาฟริกาใต้ พวกทนายความของอาฟริกาใต้ในสมัยนั้นล้วนเป็นชาวผิวขาวทั้งหมด เนติบัณฑิตสภาจึงได้มีการประชุมกันส่งคำคัดค้านไปยังศาล โดยแสดงหลักการว่า ทนายความคนผิวเหลืองไม่ควรได้รับอนุญาตให้ว่าความในที่นี้ ถึงแม้มีเหตุผลอยู่ว่าในบทบัญญัติแห่งกฎหมายไม่มีข้อใดห้ามมิให้คนผิวเหลืองเป็นทนายว่าความก็จริงอยู่ แต่นั่นเนื่องจากเหตุที่ผู้ออกกฎหมายไม่ได้นึกฝันถึงกาลข้างหน้าว่า ชาวผิวเหลืองจะกล้าเข้ามาว่าความในศาลของชาวผิวขาวได้นั้นเอง แต่เป็นโชคงามยามดีของท่านคานธี ที่ศาลไม่ยอมรับหลักการของคณะทนายความดังกล่าวนั้น โดยให้เหตุผลประกอบว่าทนายความชั้น ๑ แห่งประเทศอังกฤษย่อมมีสิทธิที่จะว่าความในทุกๆ ศาลแห่งราชอาณาจักรอังกฤษได้

ฉะนั้นในที่สุด มหตมะคานธี จึงได้รับอนุญาตให้เป็นทนายความในศาลอาฟริกาใต้ได้ เสมอด้วยทนายความชาวผิวขาวทุกๆ คน ปัญหาแห่งการพำนักอยู่ในอาฟริกาใต้ของท่านจึงเป็นอันหมดเครื่องกังวลใจดังกล่าวนี้

ที่มา:สวามี  สัตยานันทปุรี

ความชำนาญในการเดินทางของมหาตมะคานธี

คานธี
คดีของบริษัท ที่ท่านคานธีรับเป็นทนายช่วยว่าความขึ้นตรงต่อศาลปรีโตเรีย ฉะนั้นเมื่อท่านพักผ่อนร่างกาย ๖-๗ วันพอสมควรแล้ว ท่านเตรียมตัวเดินทางไปยังปรีโตเรียต่อไปอีก เมื่อถึงกำหนดเวลาเดินทางไปตีตั๊วโดยสารรถไฟชั้น ๑ เมื่อตีตั๋วได้แล้วก็ขึ้นไปนั่งอยู่บนรถชั้น ๑ พอได้เวลากำหนดรถไฟเคลื่อนออกจากสถานีเดินทางต่อไป ในเวลาตอนค่ำมีผู้โดยสารรถไฟชั้น ๑ ขึ้นมาใหม่อีกคน เป็นชาวผิวขาว พอขึ้นมาบนรถชั้น ๑ เหลือบเห็นมหาตมะคานธีก็ตะลึง และมองดูด้วยอาการพิศวงอยู่ประเดี๋ยวหนึ่งแล้วก็เดินออกไปเสียจากห้องโดยไม่พูดจาว่าอะไร แต่ต่อมาอีกไม่กี่นาที ฝรั่งผู้นั้นนำเจ้าหน้าที่รถไฟมาด้วย ๒-๓ คน แล้วชี้ให้เจ้าหน้าที่เหล่านั้นดูที่คานธี ซึ่งกำลังนั่งอยู่บนรถชั้น ๑ อย่างสบาย เจ้าหน้าที่เดินเข้าไปยืนข้างหน้าคานธีแล้วพูดว่า……
“ท่านจะต้องไปนั่งในรถชั้น ๒”
“แต่ฉันตีตั๋วโดยสารชั้น ๑ มา”
“ไม่เป็นไรมิได้ ฉันบอกให้ท่านไปนั่งรถชั้น ๒”
“ฉันขอบอกว่า ฉันนั่งรถชั้นนี้มาจากเดอร์บันและได้ตั้งใจไว้ว่าจะนั่งอยู่ในรถชั้นนี้ต่อไปทีเดียว”
“เป็นไปมิได้เสียแล้วท่าน ท่านต้องไป มิฉะนั้นฉันจะเรียกทหารมาบังคับให้ท่านลงไปจากรถ”
“ดีละ เชิญท่านเรียกทหารให้นำตัวฉันลงจากรถ แต่ฉันจะไม่ลงไปเองแน่ๆ”
ผลที่สุด เจ้าหน้าที่รถไฟ เรียกทหารมาลากตัวท่านคานธีลงไปจากรถไฟ แล้วรถไฟก็ได้แล่นออกไปจากสถานีทันที และท่านได้ถูกทิ้งไว้ ณ สถานีกลางทางแต่ผู้เดียว มหาตมะคานธีได้ตั้งใจแน่วแน่ จะต่อสู้เรียกร้องขอสิทธิในการโดยสารรถไฟชั้น ๑ กลับคืนมาให้ได้ จึงยื่นคำร้องไปยังผู้บัญชาการรถไฟทางโทรเลขโดยด่วน เมื่อผู้บัญชาการได้รับคำร้องนั้นแล้ว ได้สั่งให้จัดขบวนรถไฟพิเศษรับตัวมหาตมะคานธีไปส่งยังสถานีชาลส์ทาวน์

จากชาลส์ทาวน์ ท่านยังต้องเดินทางไปยังโยฮันส์เบอกโดยทางรถม้าอีกตอนหนึ่ง เพราะเวลานั้นรถไฟสายนี้ยังไม่มี ฉะนั้นเมื่อถึงเวลากำหนดที่จะออก ท่านก็รีบไปยังรถม้าคันที่จะโดยสารไป เมื่อขึ้นนั่งบนรถเรียบร้อย ชั่วประเดี๋ยวหนึ่งมีผู้โดยสารพวกผิวขาวคนหนึ่งขึ้นมาบนรถมองหาที่นั่งอื่นๆ ไม่มีหรือมีแต่ไม่เหมาะ จึงสั่งให้มหาตมะคานธีลุกขึ้นจากที่ตนจะนั่งนั้น แล้วอนุญาตให้มหาตมะคานธีนั่งบนพื้นรถข้างเท้าของเขาก็ได้ ย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่คนผู้มีใจกล้าแข็งเป็นเหล็กอย่างมหาตมะคานธี จะยอมทำตามอย่างวิธีเหยียดหยามนั้นไม่ได้เป็นอันขาด ฝรั่งผู้นั้นจึงทุบตีมหาตมะคานธีอยู่หลายที การป้องปัดกำปั้นของมหาตมะคานธีนั้น ย่อมไม่ได้รับผลอะไรเพราะท่านเป็นผู้มีร่างกายเล็กและอ่อนแอด้วย ส่วนฝรั่งผู้นั้นเป็นคนล่ำสันกำยำตรงกันข้ามทีเดียว เมื่อผู้โดยสารอื่นๆ เห็นว่าเรื่องนั้นไม่ยุติลงง่าย ต่างได้ยื่นมือเข้าเกี่ยวข้องห้ามปรามฝรั่งไม่ให้ตี ผลที่สุดฝรั่งผู้นั้นต้องยืนค้อนให้ไปตลอดทาง ส่วนมหาตมะคานธีนั่งอยู่กับที่ทำเป็นทองไม่รู้ร้อนตลอดทางเหมือนกัน

เมื่อเดินทางไปถึงโยฮันส์เบอกแล้ว ท่านได้พักอยู่ที่นั่นราว ๒-๓ วัน แล้วเตรียมตัวโดยสารรถไฟเดินทางต่อไปอีกเพื่อนฝูงได้กระซิบบอกท่านว่า ในอาฟริกาใต้ ชาวผิวอื่นนั่งชั้นเดียวกับชาวผิวขาวไม่ได้ ญี่ปุ่นก็ดี จีนก็ดี หรืออินเดียก็ดี ต้องนั่งในชั้นที่ไม่มีชาวผิวขาวนั่งรวมอยู่ด้วยจึงจะได้ ฉะนั้นขอให้ท่านนั่งรถไฟชั้น ๓ ดีกว่าเพราะเป็นชั้นรับผู้โดยสารทั่วไป และไม่มีผู้โดยสารพวกผิวขาวมานั่งรวมในชั้นนี้ มหาตมะคานธีจึงขอไปดูกฎ และระเบียบการโดยสารของกรมรถไฟว่ามีหลักเกณฑ์แบ่งชั้นผู้โดยสารไว้อย่างไร เมื่อตรวจดูตลอดไม่เห็นมีข้อบังคับอันใดของกรมรถไฟ ที่แสดงว่าชาวผิวอื่นนั่งรวมกับชาวผิวขาวไม่ได้หรือพูดง่ายๆ ว่าชาวผิวอื่นนอกจากชาวผิวขาวจะนั่งรถชั้น ๑ ไม่ได้ เมื่อพบหลักฐานดังนั้นแล้ว ท่านจึงตกลงใจตีตั๋วโดยสารรถไฟชั้น ๑ อีก

แต่ในคราวนี้ ขั้นต้นท่านได้เขียนจดหมายแสดงความจำนงว่าท่านจะโดยสารรถไฟชั้นหนึ่ง ส่งไปยังสถานีล่วงหน้าก่อน เมื่อท่านไปถึงสถานีรถไฟ นายสถานีจัดตั๋วชั้น ๑ ให้ตามความจำนง แต่ได้กระซิบบอกเป็นพิเศษกับท่านว่า ถ้าหากมีเหตุการณ์ใดๆ เกิดขึ้นในระหว่างทางขออย่าเรียกร้องค่าเสียหายจากกรมรถไฟ เสร็จแล้วมหาตมะคานธีก็ขึ้นไปนั่งบนรถไฟชั้น ๑ แต่เผอิญในรถชั้น ๑ ขบวนนี้มีฝรั่งโดยสารไปด้วยคนหนึ่ง ฉะนั้นเจ้าหน้าที่ประจำขบวนรถจึงวิ่งเข้ามาสั่งให้มหาตมะคานธีไปนั่งชั้น ๓ ทันที มหาตมะคานธีไม่ยอมตามเคย แต่คราวนี้เป็นโชคดีของท่านมาก เพราะฝรั่งผู้ที่โดยสารรถคันนั้นเป็นคนหน้าใหม่เพิ่งจะมาจากยุโรปไม่กี่วัน ยังใหม่ต่อการไว้เกียรติอย่างฝรั่งประจำถิ่น เหตุนั้นฝรั่งจึงกลับไปเถียงกับเจ้าหน้าทีรถไฟว่า ทำไมเขาจึงไม่ยอมให้ผู้โดยสารผู้นี้นั่งชั้น ๑ เจ้าหน้าที่กลับมองดูหน้าคนผิวขาวผู้นี้ด้วยความประหลาดใจแล้วพูดว่า ถ้าท่านอยากนั่งรวมกับพวกผิวเหลืองก็นั่งได้ สำหรับฉันไม่เป็นไร ดังนั้นท่านมหาตมะคานธีจึงได้เดินทางมาถึงปรีโตเรียได้โดยไม่มีอุปสรรคใดๆ ในระหว่างทางอีก

ที่มา: สวามี  สัตยานันทปุรี

ชัยชนะของคานธีที่อาฟริกาใต้

คานธี
การไปอาฟริกาใต้กับการประสพชัยชนะคราวแรก
เหตุการณ์ทั้งหลายเท่าที่ปรากฎแล้วนั้นเป็นอันผ่านพ้นไป โดยความสงบเงียบตามธรรมดาของมัน แต่ถ้าจะพิจารณาหาความจริงถึงจิตใจของมหาตมะคานธี ตรงกันข้ามทีเดียว จิตใจของมหาตมะคานทีจะได้รับความสงบสุข แม้แต่น้อยหามิได้ ในกิจการทุกประการที่เกี่ยวกับศาลก็ดี หรือเรื่องราวทั่วๆ ไปก็ดี ได้มองเห็นอานุภาพของฝรั่งเข้าครอบงำอยู่อย่างไม่ยุติธรรมทีเดียว อนึ่งอาศัยเหตุอันนี้แหละทำให้ท่านมองเห็นอีกด้านหนึ่งว่าความประพฤติของพวกฝรั่งในเมืองอังกฤษเอง กับความประพฤติของพวกที่มาอยู่ในประเทศอินเดีย ต่างกันไกลลิบทีเดียว แทบจะทุกๆ ก้าวเท้าฝรั่งชอบสำแดงอิทธิฤทธิ์ว่าข้าเป็นจ้าวโลกอยู่เสมอ การที่พวกเขาชอบประพฤติกันอยู่เป็นอาจิณ ได้กลายเป็นเครื่องกระทบกระเทือนใจของท่านมหาตมะคานธีขึ้นเป็นลำดับ ถึงกับทำให้ท่านต้องนึกปรารมภ์ใจอยู่เสมอว่า จะออกจากอินเดีย ไปตั้งทำมาหากินเสียที่ประเทศอื่น เมื่อกำลังความคิดอันนี้จับกรุ่นอยู่ในใจ ก็พอเหมาะโอกาสอันหนึ่งบังเอิญมาถึงเข้า กล่าวคือมีบริษัทของอินเดียบริษัทหนึ่งที่ตั้งอยู่ในอาฟริกาใต้กำลังเกิดความอยู่ บริษัทประวงค์จะได้ตัวคานธีส่งไปเป็นผู้ช่วยทนายความของบริษัท โดยมีเวลากำหนด ๑ ปี เมื่อบริษัทแสดงความจำนงมายังมหาตมะคานธี ท่านก็ตกลงรับโดยความยินดีทันที เพราะตรงกับแนวความคิดที่เคยดำริไว้

ในระหว่างนี้ท่านมีบุตรคนหนึ่ง เมื่อถึงวันกำหนดเดินทางได้อำลาบุตรภรรยาญาติมิตรสหายที่รัก ว่าจะจากไปเป็นเวลา ๑ ปี แล้วก็ออกเดินทาง และได้ไปถึงอาฟริกาใต้เมื่อเดือน เมษายน ค.ศ.๑๘๙๒ ครั้นย่างเข้าปลายเดือนพฤษภาคมก็เดินทางมามณฑลเนตาล และได้พักอยู่ที่เมืองเดอร์บันนั้นเอง วันหนึ่งท่านไปเยี่ยมศาลและสโมสรเนติบัณฑิตสภา สนทนาปราศรัยกับพวกทนายความชาวอังกฤษ ท่านแต่งตัวตามแบบชาวอินเดีย ศีรษะสวมหมวกผ้า พวกทนายความชาวฝรั่งเศสเมื่อเห็นเช่นนั้นก็นึกเคืองในใจ จึงร้องขอให้ท่านถอดหมวกเสีย แต่ทว่าตามขนบธรรมเนียมของอินเดีย ถือว่าการถอดหมวกผ้าออกจากศีรษะเป็นการยอมตนลงเป็นทาษ และการสั่งเช่นนั้น ก็นับว่าเป็นการดูหมิ่นอย่างร้ายแรงทีเดียว มหาตมะคานธีจึงไม่ยอมถอดหมวกตามคำขอร้อง ผลที่สุดท่านต้องลาออกไปจากสโมสรเนติบัณฑิต

ต่อมาท่านจึงได้รับข่าวแน่นอนขึ้นว่า ฝรั่งในอาฟริกาใต้ ไม่ยอมให้ชาวอินเดียสวมหมวกต่อหน้าเขา เมื่อท่านได้ทราบหลัการอันแน่นอนขึ้นเช่นนั้น ครั้งแรกท่านตกลงใจว่าจะสวมหมวกฝรั่ง เพราะตามธรรมเนียมการถอดหมวกถือกันว่าเป็นการสุภาพอยู่แล้ว จึงไม่น่าจะขัดกับหลักแห่งการแสดงความเคารถกันประการใด แต่ต่อมาเมื่อลองนำเรื่องนี้ไปปรึกษาหารือกับคนอื่นๆ กลับได้รับคำตักเตือนแนะนำและทำให้เกิดความคิดใหม่ขึ้นว่า การไม่สวมหมวกอินเดียนั้น จะกลายเป็นเหตุให้เกิดผลร้ายแก่ชาวอินเดียทั่วๆ ไป โดยเหตุที่การกระทำเช่นนั้น เป็นการรับรองอยู่ในตัวว่าชาวอินเดียเคารพฝรั่งเศส ในฐานะเป็นนายิ่งกว่าอื่น เมื่อสาวหาเหตุผลได้เช่นนั้นท่านจึงไม่เปลี่ยนความคิด ตกลงใจที่จะสวมหมวกแบบอินเดียเรื่อยๆ ไป และทั้งจะไม่ยอมถอดตามข้อประสงค์ของพวกฝรั่ง ครั้นตกลงใจแน่นอนอย่างนี้แล้ว ท่านได้ลงมือเขียนความเห็นบางข้อ ส่งไปลงในหนังสือพิมพ์ ค้านประเพณีอันไม่สุภาพของฝรั่งอย่างแรง คำค้านในหน้าหนังสือพิมพ์นี้ได้ก่อให้เกิดความตื่นเต้นกันทั่วอาฟริกาใต้ชั่ว ๒-๓ วันเท่านั้น ชื่อเสียงของมหาตมะคานธีก็แผ่ไปทั่วประเทศอาฟริกา ในตอนนี้ฝรั่งได้ขนานนามให้ว่าเป็น Unwelcome Visitor กระนั้นก็ดี ผลอันเกิดจากคำคัดค้านในหน้าหนังสือพิมพ์นั้น เป็นอันนำชัยชนะมาสู่มหาตมะคานธีได้สมปรารถนา กล่าวคือหมวกของท่านไม่ต้องถูกถอดออกจากศีรษะของท่าน เพราะอำนาจกดอันไม่สุภาพของฝรั่งในคราวใดๆ นอกจากยินดีจะถอดเองคือสวมและถอดได้ตามอำเภอใจ

ที่มา:  สวามี  สัตยานันทปุรี

มหาตมะคานธีกับรัฐบาลอังกฤษ

คานธี
การปะทะกับรัฐบาลอังกฤษครั้งแรก
เมื่อท่านคานธี ยังดำเนินอาชีพว่าความอยู่ในราชโกฐนั้น พี่ชายของท่านยังรับราชการอยู่ในราชสำนักโปรบันทร ในตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาของเจ้าผู้ครองนคต  ในขณะที่กำลังรับราชการอยู่นั้น ท่านมีเรื่องไม่ลงรอยกับราชทูตอังกฤษประจำนครนั้น แต่ราชทูตอังกฤษประจำนครนั้น แต่ราชทูตผู้นี้เป็นที่รู้จักคุ้นเคยกับมหาตมะคานธีมาก  ตั้งแต่ครั้งยังเป็นนักเรียนศึกษาอยู่ประเทศนอก ฉะนั้นพี่ชายของคานธีจึงคิดเห็นว่า ถ้าให้น้องชายไปหาราชทูตพูดจาปรองดองกัน หรือทำความเข้าใจกันเสียเรื่องราวอาจสงบเรียบร้อยได้ จึงได้ขอร้องให้น้องชายไปหาพูดจากันกับราชทูต แต่คานธีไม่เห็นพ้องกับวิธีนั้นโดยให้เหตุผลแก่พี่ชายของตนว่า “เราไม่ควรอาศัยความสนิทสนมกัน เป็นเครื่องฉวยโอกาสแสวงหาผลส่วนตัว” ถึงแม้จะถูกค้านอย่างจังดังนั้นก็ตาม แต่พี่ชายก็ยังอุตส่าห์พูดปลอบโยนขอให้ไปหาราชทูตสักครั้งหนึ่งให้จงได้ ถึงแม้คานธีจะมีความหนักอกหนักใจสักเพียงใดก็ตาม แต่ก็หาสามารถทัดทานคำวิงวอนขอร้องของพี่ชายได้ไม่ ในที่สุดจึงจำต้องไปหาราชทูตตามคำขอร้องของพี่

ท่านราชทูตชาวอังกฤษเมื่อเห็นท่านคานธีไปหาดูเหมือนจะอ่านเรื่องนั้นได้ทันที และได้แสดงกิริยาท่าทางว่าไม่พอใจในแววตาทั้ง ๒ มีลักษณะการคล้ายๆ กับจะพูดออกมาว่า “อย่าอาศัยการรู้จักกันเป็นเครื่องแสวงหาประโยชน์เลย”

มหาตมะคานธีได้เล่าเรื่องของพี่ให้ราชทูตวฟัง ทำให้ราชทูตขุ่นเคืองมาก ถึงกับลั่นวาจาออกมาว่า “พี่ชายของท่านเป็นคนชอบแส่หาเรื่อง ฉันไม่ปรารถนาฟังคำพูดของท่าน ฉันไม่มีเวลาพอ ถ้าพี่ชายของท่านต้องการจะพูดอะไร ก็จงบอกให้เขายื่นรายงานขึ้นมาดีกว่า” ถึงกระนั้นมหาตมะคานธีก็สู้หักอารมณ์พยายามจะพูดต่อไปอีกสักเล็กน้อย แต่ราชทูตโกรธหน้าแดงจนเนื้อตัวสั่น ลุกขึ้นยืนและใช้คำพูดอย่างรุนแรงว่า “จงไปเสียเดี๋ยวนี้”

“แต่ขอให้ท่านฟังคำพูดของฉันเสียก่อน”

“ยาม ยาม จงไล่คนนี้ให้ออกไปจากบ้านเดี๋ยวนี้” ยามได้ฟังคำสั่งก็วิ่งเข้ามาจับมือท่านมหาตมะคานธีลากตัวไปส่งนอกบ้านตามคำสั่งของนาย

มหาตมะคานธีได้รับความช้ำใจในเรื่องนี้มาก เมื่อไปถึงบ้านเรียบร้อยแล้วได้เขียนจดหมาย ๑ ฉบับ ส่งไปให้ราชทูตโดยมีข้อความดังนี้ “ท่านได้แสดงการดูหมิ่นต่อฉันโดยสั่งให้ยามฉุดลากฉันออกจากบ้าน ท่านต้องขอขมาฉันมิฉะนั้นฉันจะฟ้องท่านในฐานหมิ่นประมาท” เมื่อทูตได้รับจดหมายประท้วงก็ตอบทันทีว่า “ท่านได้แสดงความประพฤติชั่วต่อฉัน ฉันได้บอกให้ท่านออกไปจากบ้าน แต่ท่านหาได้ไปเสียตามคำสั่งไม่ ฉะนั้นฉันจึงต้องสั่งให้คนยามนำตัวท่านออกไปเสียจากบ้าน ถึงแม้ฉันสั่งเช่นนั้นแล้วก็ดีแต่ท่านก็ยังไม่ยอมไปอีก ยามจึงต้องจับมือท่านลากออกไป ท่านปรารถนาจะทำอะไรก็เชิญทำ”

เรื่องนี้ได้ยุติลงเพียงแค่นี้ แต่ว่าภาวะแห่งเหตุการณ์ได้กลายเป็นเรื่องเร้าความรู้สึกใหม่ ขึ้นในจิตใจของมหาตมะคานธีว่า “มิตรภาพระหว่างอินเดียกับอังกฤษจะเป็นสิ่งพึงเป็นไปไม่ได้แน่นอน” ท่านจึงได้บันทึกเหตุการณ์ไว้เป็นคำพูดว่า “ฉันไม่สามารถจะลืมนึกถึงการหมิ่นประมาทนั้นเสียได้ แต่ทว่าฉันได้พยายามใช้เรื่องนั้น ในฐานะที่เป็นประโยชน์ และตกลงในใจว่า “แต่นี้เป็นต้นไป ฉันจะไม่ปล่อยตัวให้ถลำเข้าไปในฐานะเช่นว่าอีก และทั้งจะไม่ยอมขอร้องสิ่งใดจากฝรั่งอีกด้วย ตลอดชีวิตจิตใจนี้ฉันจะมิล่วงละเมิดความตั้งใจอันนี้อีกเลย ความจริงความอาฆาตหนนี้ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตจิตใจของฉันได้ทีเดียว”

ที่มา: สวามี  สัตยานันทปุรี

มหาตมะคานธีกลับจากอังกฤษ

คานธี
ณ วันที่ ๑๐ เดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๘๙๑ มหาตมะคานธีสอบไล่วิชากฎหมาย ณ กรุงลอนดอนเป็นผลสำเร็จ และได้ขึ้นทะเบียนในศาลสูงสุดของอังกฤษเป็นทนายชั้น ๑ เสร็จแล้ว ณ วันที่ ๑๒ เดือนเดียวกันนั้น ได้เดินทางกลับประเทศอินเดีย มาตุภูมิของตน เมื่อเรือเมล์เข้าใกล้ท่าบอมเบ จิตใจของท่านเริ่มตื่นเต้นและกระหายที่จะพบมารดาผู้บังเกิดเกล้า พลางรำพึงในใจว่าเมื่อไรเรือจะเข้าจอดเทียบท่า จะได้รีบไปกราบเท้ามารดาผู้เคารพของตน ในที่สุดเมื่อเรือเข้าเทียบท่าแล้ว เห็นพี่ชายและเครือญาติหลายคนมาคอยต้อนรับอยู่ จึงรีบลงจากเรือไปแสดงความเคารพผู้ใหญ่ และถามข่าวถึงมารดาแต่ไม่มีใครตอบ แล้วพวกญาติพี่น้องก็รีบพาคานธีกลับไปบ้าน เมื่อไปถึงบ้านข่าวแรกที่ได้รับ คือมารดาถึงแก่กรรมเสียแล้ว เป็นข่าวที่เผ็ดร้อนเพียงใดสำหรับบุตรผู้อู่ในโอวาทแม่นั้น ขอให้ผู้อ่านคิดเอาเอง แต่ส่วนคานธีนั้นร้องไห้และล้มลงกับที่หมดสติ แต่ความตายเป็นสิ่งที่เราจะหลบหลีกไม่ได้ ฉะนั้นหน้าที่ของบุคคลในเหตุการณ์เช่นนี้ คือการปลุกใจให้แข็งกล้าแบกภาระดันเป็นหน้าที่ต่อไป และทั้งต้องเตรียมตัวคอยรับภาระ อันจะมาถึงข้างหน้าโดยทำนองเดียวกันนั้น นี้คือยาหอมกล่อมใจมหาตมะคานธีให้ระงับวิปโยคลงได้

เป็นการแน่นอนทีเดียว มหาตมะคานธีก็เป็นเช่นนั้น จะต้องต่อสู้และดำเนินงานอันเป็นหน้าที่ของตนต่อไป เมื่อกองเพลิงแห่งความทุกข์และแสงจันทร์แห่งความสุข ซึ่งลุกโพลงขึ้นรับอยู่นั้นสงบลงแล้ว ท่านไปขอจดทะเบียนที่ศาลสูงแห่งบอมเบเป็นทนายความชั้น ๑ แต่มีข้อสำคัญสำหรับมหาตมะคานธีอยู่บางประการ กล่าวคือในศาลสูงของบอมเบ ทนายความชั้น ๑ ที่สำเร็จการศึกษาวิชากฎหมายมาจากประเทศอังกฤษมีจำนวนมิใช่น้อย คานธีเป็นแต่เพียงนักเรียนที่เพิ่งสำเร็จการศึกษามาใหม่ๆ เป็นคนหนุ่มยังอ่อนต่อเวทีทนายความ ขาดความชำนาญ ยากที่จะเอาชนะผู้ชำนาญเหล่านั้นได้ เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ก็ย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่จะต้องทนรับรายได้อย่างฝืดเคืองไม่กี่รูปีนัก หรือบางคราวไม่ได้รับเสียเลยก็มี เหตุนั้นรายได้ส่วนตัวของท่านในอันดับนี้ จึงตกอยู่ในฐานะคับแค้นถึงกับทำให้ท่านตกลงใจจะเปลี่ยนอาชีพเป็นครูสอนภาษาอังกฤษใน ร.ร.มัธยม แต่ตามกติกาผู้ที่จะสมัครเป็นครูได้นั้น ต้องได้ปริญญา B.A. มิฉะนั้นเป็นไม่ได้ มหาตมะคานธียังไม่ได้ผ่าน B.A. เป็นเพียงทนายความชั้น ๑ เท่านั้น ผลที่สุดจึงเป็นอันไม่ได้รับผลสำเร็จในทางใหม่นี้ โดยที่ไม่มีโรงเรียนใดกล้ารับสมัครเข้าเป็นครูได้ ในที่สุดท่านตกลงเปลี่ยนวิธีใหม่อีก คือตั้งใจจะจากบอมเบไปดำเนินอาชีพว่าความที่เองราชโกฐ ราชโกฐเป็นเมืองเล็กกว่าบอมเบ ทนายความผู้ชำนาญ และมีชื่อเสียงที่หากินอยู่นั้นมีจำนวนน้อย เมื่อเช่นนั้นก็เป็นธรรมดาที่การแข่งขันในเชิงอาชีพจะต้องลดจำนวนน้อยลงตาม อาศัยเหตุนี้เมื่อท่านไปอยู่เมืองราชโกฐ รายได้ส่วนตัวจึงค่อยๆ ดีขึ้นโดยลำดับคือเดือนละ ๒๐๐-๓๐๐ รูปี ท่านจึงได้ตั้งสำนักงานขึ้นในเมืองนั้นเป็นการรอคอยโชคชะตาอื่นๆ ที่จะพึงมีมาข้างหน้าต่อไป

ที่มา: สวามี  สัตยานันทปุรี

การไปเมืองอังกฤษของคานธี

คานธี
หลังจากเรื่องราวที่ได้กล่าวไว้แล้วมาไม่กี่วัน บิดาของท่านคานธีได้ถึงแก่กรรมลง แต่เนื่องจากตระกูลคานธีเป็นตระกูลมั่งมีสืบต่อกันมาหลายชั่วคนแล้ว วิปโยคอันนี้จึงหาสามารถขัดขวางการเล่าเรียนของท่านคานธีได้ประการใดไม่ ดังนั้นท่านคานธีจึงได้รับการศึกษาต่อ จนสอบมัธยม ๘ หรือแมตริกกุเลชั่น แห่งมหาวิทยาลัยบอมเบสำเร็จในปี ค.ศ. ๑๘๘๘

ฉะนั้นในลำดับนี้ ท่านผู้ใหญ่จึงได้ตกลงใจ จัดให้ท่านคานธีเข้ามหาวิทยาลัยต่อไปอีก สมัยนั้นมหาวิทยาลัยบอมเบยังไม่ได้จัดตั้งสาขาทั่วทุกมณฑล มีอยู่เพียง ๒ เท่านั้น คือในบอมเบเองและในภาวนคร เนื่องจากเหตุที่มหาวิทยาลัยภาวนคร นักเรียนเสียค่าใช้สอยน้อยกว่าในบอมเบ จึงตกลงเข้ามหาวิทยาลัยภาวนคร ท่านได้ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยนี้เพียงปีเดียว แต่ตลอดเวลาที่ท่านได้ดำเนินการเล่าเรียนอยู่นั่นเอง ท่านรู้สึกว่าหลักสูตรสูงกว่ากำลังสมองของท่าน จึงจะได้พยายามปรับตัวอยู่เสมอเพื่อให้ทันปีที่ ๑ ก็ตาม แต่ก็หาสามารถวิ่งตามทันหรือพ้นจากความรู้สึกว่ายากเกินสมองไม่

เมื่อท่านถูกเหตุการณ์บังคับอยู่นั้นเองบังเอิญมีโชคดีมาถึง กล่าวคือมีญาติผู้ใหญ่คนหนึ่ง ชื่อมาลซีทเวมาเยี่ยมครอบครัวของท่านคานธี และได้พูดแนะนำให้มารดาของท่านคานธี ส่งท่านคานธีไปเรียนวิชากฎหมาย ณ ประเทศอังกฤษโดยอ้างเหตุผลว่า ตระกูลคานธีเคยครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสืบเนื่องมาหลายชั่วแล้ว ฉะนั้นจึงประสงค์จะให้คานธีรับตำแหน่งสืบสกุลต่อไป แต่กว่าการนี้จะสำเร็จผลได้ก็โดยการเรียนวิชากฎหมายมาจากประเทสอังกฤษ มิฉะนั้นก็หมดหวังในเรื่องตำแหน่งนี้ทีเดียว มารดาของท่านคานธีมีความเห็นพ้องด้วย แต่มีข้อหนักใจเรื่องส่วนตัวของท่านคานธีอยู่หลายประการ คือท่านเคยได้ยินได้ฟังมาว่าผู้ที่ไปศึกษาเมืองนอก มักจะประพฤติตัวเหลวไหลไม่มีดีหลายประการ อทิเช่นการดื่มสุรา การคบหญิงคนชั่ว และการรับอาหารเนื้อสัตว์ คานธีผู้บุตรจะประพฤติไปในทางเสื่อมเสียดังว่านี้หรือไม่ คานธีได้พูดจาชี้แจงให้มารดาฟังจนมารดาสงบความข้องใจลงได้ โดยจะยอมปฏิญาณรับปากมารดาว่า จะไม่เกี่ยวข้องด้วยสิ่งเหล่านั้นเป็นอันขาด มารดาจึงค่อยเบาใจลง และเพื่อให้ข้อกติกานี้มั่งคงยิ่งขึ้น จึงให้บุตรสาบานตัวต่อหน้าสมณ
เป็นทางการไว้ คือมารดาได้นิมนต์สมณผู้เป็นเครือญาติ ซึ่งบวชอยู่ในศาสนาไซณะ ชื่อเวจรชีสวามีมายังบ้านแล้วทำพิธีให้บุตรทำสัจปฏิญาณต่อหน้าท่านผู้นี้ ว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับสุรา นารี และเนื้อปลาดังกล่าวแล้ว มหาตมะคานธีได้ยอมปฏิบัติตามความประสงค์ของมารดาผู้เคารพยิ่งทุกข้อ มารดาจึงตกลงใจอนุญาตให้บุตรเดินทางไปเล่าเรียนวิชากฎหมาย ณ ประเทศอังกฤษได้ตามประสงค์ ดังนั้นคานธีจึงได้ลาออกจากมหาวิทยาลัยบอมเบ และออกเดินทางไปยังประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ ๔ กันยายน ค.ศ.๑๘๘๘

ที่มา: สวามี  สัตยานันทปุรี

ความพลาดก้าวแรกของมหาตมะคานธี

คานธี
ในขณะที่ท่านคานธียังเป็นเป็นนักเรียนอยู่ในโรงเรียนมัธยม มีนักเรียนผู้ร่วมชั้นกับพี่ชายของท่านคนหนึ่ง มักพากันมาเยี่ยมเยือนท่านอยู่เสมอ ท่านคานธีจึงได้มีโอกาสรู้จักคุ้นเคยกับท่านผู้นี้ จนกระทั่งในที่สุดได้กลายเป็นสหายใกล้ชิดชอบพอรักใคร่กันมากที่สุด แต่นิสัยใจคอของชายหนุ่มผู้นี้ไม่เป็นที่พอใจบิดามารดาของท่านคานธีหรือผู้หลักผู้ใหญ่ในสกุลของท่าน แม้ท่านคานธีเองเล่าจะได้หยั่งรู้ว่า ผู้นั้นเป็นคนประพฤติในทางสุจริตเสมอไปก็หาไม่ ถึงท่านผู้ใหญ่จะได้เกียดกันห้ามมิให้เกี่ยวข้องกับผู้นั้นก็จริงอยู่ แต่ท่านก็ได้มีเจตนาที่จะชักชวนให้ดำเนินไปในทางที่ดีเสมอ จึงไม่ยอมตัดความสัมพันธ์จากเขาตามความประสงค์ของท่านผู้ใหญ่ แต่เท่าที่เป็นไปแล้ว แทนที่ท่านจะได้แนะนำเขาในทางที่ดี เขากลับชักชวนท่านให้เอียงไปในทางไม่สู้สุจริตนัก ทั้งนี้โดยผู้นั้นฉวนโอกาส คือความบกพร่องของท่านซึ่งเคยมีมาแล้วแต่ก่อนนั้นเอง กล่าวคือตั้งแต่ท่านยังดำรงอยู่ในเยาว์วัยนั้นเทียว ท่านมีร่างกายอ่อนแอ ไม่สมบูรณ์เหมือนคนอื่นเขา มิหนำซ้ำยังเป็นคนขี้กลัวผี โจร ผู้ร้ายและงู ในเวลากลางคืนท่านไม่กล้าอยู่ในที่มืดแต่ลำพังผู้เดียว  โดยหวาดกลัวว่าโจรผู้ร้ายผีและงูจะแอบมาทำร้ายได้ เรื่องนี้ได้เป็นต้นเหตุทำให้ท่านต้องได้รับความอับอายขายหน้าจากภรรยา เพราะภรรยาของท่านเป็นหญิงที่มีความกล้าดีกว่าสามี จนสามารถเดินไปในที่มืดแม้แต่คนเดียวได้ ฉะนั้นเพื่อจะขจัดความกลัวดังว่านี้เสีย ท่านจึงได้ขอคำแนะนำจากเพื่อนผู้นี้ ว่าทำอย่างไรความกลัวของท่านจึงจะดับสูญไปเสียได้ เพื่อนผู้นั้นได้แนะนำให้ท่านรับเนื้อสัตว์ และได้อ้างเหตุผลประกอบเลยไปอีกว่า การที่อังกฤาปกครองอินเดียอยู่ก็เพราะรับเนื้อสัตว์นี้เอง ฉะนั้นถ้าแม้อินเดียเริ่มรับเนื้อสัตว์เมื่อใด อินเดียก็จะสามารถขับไล่อังกฤษไปจากดินแดนได้เมื่อนั้นทีเดียว คำแนะนำของสหายดังกล่าวนี้ได้เป็นเหตุสกิดให้เกิดความคิดขึ้นในใจหนุ่มคานธีอีกประการหนึ่ง กล่าวคือการก่อกู้ประเทศให้หลุดพ้นจากอำนาจคุ้มครองของอังกฤษ และตั้งเป็นประเทศอิสระขึ้นในสมาคมแห่งปวงประชาชาติของโลก นี้แหละเป็นครั้งแรกที่จิตใจของหนุ่มคานธี ผู้ซึ่งต่อมาในสมัยอนาคตจะถือบังเหียนโชคชะตาของประชาชาติ ๔๐๐ กล่าล้านไว้ในกำมือ ท่านได้มีจิตใจโน้มไปในทางรับใช้ประเทศชาติและทั้งได้มองเห็นฐานะแห่งความพ้นอำนาจ ซึ่งเคยแสดงอธิปไตยมาแล้วครั้งหนึ่งนั้น พร้อมๆ กับความเกิดขึ้นแห่งความรู้สึกนึกคิดดังกล่าวนี้ คำแนะนำนั้นยังก่อให้เกิดการต่อสู้ระหว่างมติความคิด ๒ สายขึ้นในใจท่านคานธีหนุ่มอีกโสดหนึ่งด้วย กล่าวคือควรจะเลิกการบำเพ็ญสัจธรรม แล้วกลับมารับเนื้อสัตว์กันเสียที เพื่อกู้ประเทศชาติให้เป็นอิสระหรือว่าควรจะดำรงมั่นอยู่ในสัจธรรมแล้วและปล่อยให้ประเทศชาติล่องลอยไปตามยถากรรม ทั้งนี้ก็เพราะว่า การรับเนื้อสัตว์ในอินเดียย่อมเป็นการยากลำบากมิใช่น้อย เพราะอำนาจของขนบธรรมเนียม ห้ามไม่ให้รับเนื้อสัตว์อย่างเคร่งครัด ถ้าผู้ใดปรารถนาจะรับต้องซ่อนรับ โดยไม่ให้ผู้ใหญ่เห็นจึงจะได้ ฉะนั้นหนุ่มคานธีจึงคำนึกในใจว่า ถ้าจะต้องรับอาหารเนื้อสัตว์ขึ้นจริงๆ แล้วไซร้ เป็นการแน่นอนที่จำต้องแอบรับโดยปกปิดมิให้บิดามารดาเห็น การกระทำเช่นนี้เป็นการกระทำที่ผิดพลาดไปจากหลักสัจธรรมแท้ทีเดียว เพราะเป็นการกระทำที่ตบตาล่อลวงผู้ใหญ่อยู่ในตัว อนึ่งเล่าถ้าไม่ยอมรับเนื้อสัตว์แล้วไซร้ ก็แปลว่าเราไม่มีโอกาสที่จะขับไล่อังกฤษออกไปจากดินแดนอินเดียได้ ในที่สุดแห่งการต่อสู้ระหว่างความคิด ๒ สายนี้ ความคิดที่จะขับไล่อังกฤษและก่อกู้ประเทศชาติให้เป็นอิสระนั้นได้รับชัยชนะเหนือความคิดที่จะตั้งมั่นอยู่ในสัจธรรมเสมอไป จึงได้ตกลงใจกำหนดเวลาที่จะรับเนื้อสัตว์ขึ้นต่อไป

ในที่สุด ถึงวันกำหนดที่จะรับอาหารเนื้อสัตว์ ในสถานที่ริมฝั่งแม่น้ำสายเล็กๆ สายหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ซ่อนเร้นจากสายตาของมหาชนออกไป หนุ่มคานธีพร้อมด้วยสหายผู้นั้นและพี่ชายได้มายังสถานนั้น ลงมือรับปรุงอาหารเนื้อที่เตรียมมาเสร็จสรรพแล้วก็ลงมือรับกัน สำหรับลิ้นของท่านคานธีผู้ซึ่งไม่เคยชิมรสอาหารเนื้อ ทำให้ท่านรู้สึกว่าความโอชาของอาหารนั้นเหมือนกับการเคี้ยวหนังสัตว์ แต่สำหรับน้ำใจของท่าน ซึ่งเป็นผู้ไม่เคยดำเนินชีวิตไขวไปจากสัจธรรม การกระทำซึ่งเป็นไปในลักษณะแอบซ่อนผู้ใหญ่ โดยน้ำใจไม่บริสุทธิ์ อันเป็นจุดโจรผู้ร้ายนี้ได้กลับมาเป็นเรื่องทำให้ท่านเกิดโทมนัสขึ้นอย่างร้ายแรง ถึงกับท่านได้รับสารภาพไว้ว่าคืนนั้นตลอดคืน ท่านนอนไม่หลับแม้แต่นาทีเดียว การรับใช้ประเทศชาติโดยทางไม่สุจริต การกู้ประเทสชาติให้รุ่งเรืองโดยการอิงอาศัยมิจฉาจารเป็นเครื่องดำเนิน จะนับว่าเป็นการรับใช้ประเทศชาติโดยแท้จริงก็หาไม่ หากแต่เป็นการล่อลวงตนเองและการตบตาประชาชนเท่านั้น ความจริงแห่งมติดังว่านี้ได้ปรากฎขึ้นอย่างชัดเจนในห้วงนึกของหนุ่มคานธี ในเมื่อการต่อสู้ระหว่างมิจฉาจารกับสัมมาจารได้สำเร็จลง โดยฝ่ายสัมมาจารได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาดแล้ว อาศัยหลักที่ว่าการรับใช้ประเทศชาติจักต้องดำเนินไปในทางสัจธรรมและสัมมาจารเสมอไป หนุ่มคานธีจึงตกลงใจเลิกการสมาคมกับสหายหนุ่มผู้นั้น  พร้อมทั้งการแอบชวนทำผิดทั้งปวงเสีย การรับอาหารเนื้อของท่านจึงเป็นอันยุติลงเพียงเท่านี้เอง

นอกจากความพลาดดังกล่าวมาแล้ว ท่านยังพลาดในเรื่องอื่นอีกด้วย กล่าวคือเมื่อท่านยังเป็นเด็กหนุ่มท่านได้เป็นผู้ใหญ่สูบบุหรี่อย่างเนืองนิจ ท่านจึงอยากจะลองสูบดูบ้างว่ารสชาติเป็นอย่างไร ตามขนบธรรมเนียมของอินเดีย การสูบบุหรี่ในสมัยที่ยังเป็นเด็กนักเรียนอยู่นั้น นับว่าเป็นการผิดหลักจริยธรรมของเด็กอย่างร้ายแรง ฉะนั้น จึงเป็นการบังคับอยู่ในตัวให้หนุ่มคานธีต้องแอบสูบ แต่เนื่องจากยังเป็นเด็กนักเรียนอยู่จึงไม่มีสตางค่าบุหรี่เพียงพอ เมื่อเป็นดังนั้นก็มีโอกาสแต่ทางเดียวที่จะหาบุหรี่สูบได้ คือเก็บก้นบุหรี่ที่ผู้ใหญ่ทิ้งไว้มาสูบ เมื่อได้ทำการสมประสงค์ดังนั้นแล้ว ก็กลับสำนึกตัวได้ทันทีที่ได้ประพฤติตัวผิดพลาดไปเช่นนั้น จึงได้ตกลงใจใหม่ว่าจะเล่าความผิดของตนให้ท่านบิดาทราบ และจะยอมรับโทษจากบิดาทุกสิ่ง เมื่อตัดสินใจเด็ดขาดแล้วได้ไปหาบิดาของท่าน ซึ่งเวลานั้นกำลังเจ็บหนักอยู่ แต่ครั้นไปถึงแล้ว กลับไม่กล้าเรียนความจริงนั้นออกมา ในที่สุดท่านจึงได้เขียนจดหมายฉบับหนึ่งเล่าความจริงให้ท่านบิดาทราบ จดหมายนั้นได้ลงข้อสุดท้ายด้วยคำว่า จะขอรับโทษในการประพฤติผิดนั้นทุกๆ ประการ และขอปฏิญาณกราบเท้าว่าจะไม่ขอสูบบุหรี่อีกต่อไป เมื่อเขียนจบแล้วก็นำไปให้ท่านบิดา และตนเองยืนคอยฟังคำกำหนดโทษอยู่ข้างเตียง ท่านคานธีเคยนึกคาดคะเนในใจตนเองว่า เรื่องนี้อย่างไรเสียท่านบิดาคงจะโกรธเคืองมาก และตนจะต้องถูกลงโทษอย่างหนักแน่นอนทีเดียว แต่ตรงกันข้ามกับความคาดหมายของบุตรบิดาผู้นอนเจ็บอยู่นั้นได้ลุกขึ้นนั่งจ้องมองดูลูกผู้รู้สำนึกความผิดด้วยสายตาอันเต็มเปี่ยมไปด้วยความกรุณารักใคร่ และมีน้ำตาไหลพรากลงอาบหน้าเพราะความปิติ

การที่ท่านบิดาได้อภัยโทษบุตร โดยการแสดงความรักและน้ำใจดีดังนี้นั้น  ได้ขยายอานุภาพไปยังจิตใจของเด็กคานธีเป็นอย่างมาก คราวนี้เป็นครั้งแรกในชีวิตที่มหาตมะคานธีได้รู้เห็นอำนาจแห่งเมตตากรุณา….อำนาจอหิงสา…ความไม่ปองร้าย ว่าสามารถจะดัดแปลงปฏิวัติชีวิต และการกระทำของมนุษย์ได้เพียงไร

ถึงแม้ในวัยหนุ่มคะนองท่านจะได้พลั้งพลาดจากหลักธรรมไปบ้างก็ดี แต่ความพลาดพลั้งในสองครั้งนี้ ได้เกิดเป็นกรณีอันสำคัญยิ่งขึ้น กล่าวคือทำให้มหาตมะคานธีมีความซาบซึ้งถึงชีวิตท่านสองข้อ คือการรับใช้ประเทศชาติเราจะต้องรับใช้ด้วยน้ำใจอันบริสุทธิ์ และด้วยอาศัยนโยบายอันไม่ผิดแผกไปจากหลักสัจธรรมและสัมมาจารคติ ๑ และอีกคติ ๑ คือ การดัดแปลงปฏิวัติการกระทำของบุคคลก็ตาม มหาชนหรือรัฐบาลก็ตาม เราจำต้องอาศัยอำนาจอหิงสาเป็นเครื่องมือดำเนินการเสมอ

ที่มา: สวามี  สัตยานันทปุรี

การสมรสของมหาตมะคานธี

มหาตมะคานธี
สมัยเมื่ออินเดีย ต้องเผชิญหน้ากับพวกอิสลามที่ได้ยกเข้ามาตีอินเดียโดยทางตะวันตกเฉียงเหนือ ผู้นำชาติอินเดียสมัยนั้นได้มองเห็นความจำเป็นที่จะต้องดัดแปลงระบอบต่างๆ อันเกี่ยวแก่ขนบธรรมเนียมบางประการ เพื่อการป้องกันตัว ขนบธรรมเนียมอันหนึ่งที่ได้ถูกดัดแปลงเพราะเหตุนี้ คือการให้การสมรสแก่กุลบุตรกุลธิดาตั้งแต่สมัยอายุยังน้อยๆ ทั้งนี้คงได้แก่เหตุที่ว่า ชาวอิสลามมักแสวงหาโอกาสจับกุมธิดาของอินเดียแต่งงานโดยพละการ อนึ่งตามลัทธิศาสนาอิสลามมีว่า สตรีที่จะถูกจับไปเป็นเชลยศึกนั้น ต้องเป็นหญิงโสด เพราะทางศาสนาของเขาห้ามมิให้จับหญิงที่มีสามีแล้วไปเป็นเชลย อาศัยเหตุนี้เป็นกรณีเพื่อเป็นการป้องกันตัวและเป็นการปิดประตู มิให้กุลธิดาตกเป็นเชลยศึกของชาวอิสลาม อินเดียจึงได้ตั้งประเพณีการสมรสเด็กของสกุลขึ้น ตั้งแต่ยังมีอายุน้อยๆ สมัยต่อมา ถึงแม้ภัยแห่งอิสลามดังกล่าวนั้น จะได้ดับสูญไปแล้วก็จริง แต่ประเพณีนั้นก็ยังสืบต่อกันเรื่อยมาจนบรรลุ ค.ศ. ๑๙๒๘ คือในเมื่อสภานิติบัญญัติออกกฎหมายห้ามมิให้บิดามารดาทำการสมรสเด็กหญิงกับเด็กชาย ก่อนแต่เด็กหญิงจะถึงอายุครบ ๑๖ ปีบริบูรณ์ และเด็กชายอายุ ๒๑ ปีบริบูรณ์

เหตุนั้นเมื่อท่านมหาตมะคานธี มีอายุย่างเข้า ๑๓ ปี มารดาบิดาของท่าน จึงได้ทำพิธีการสมรสกับเด็กหญิงกัสตุรีไบผู้มีอายุเพียง ๗-๘ ขวบเท่านั้น

การที่เด็กถูกจับให้แต่งงานตั้งแต่สมัยเยาว์วัยเช่นนี้ยังไม่นับว่าเป็นกรณีเพียงพอที่จะเป็นเหตุก่อให้เกิดความรู้สึกในเรื่องเพศอย่างแท้จริงได้ประการใด แต่เมื่อเด็กคานธีย่างเหยียบเข้าสู่วัยหนุ่ม ความรู้สึกในเรื่องเพศที่ได้เกิดขึ้นในวาระแรก ดังที่ท่านได้ยืนยันไว้เองนั่นคือ ความซื่อสัตย์ต่อภรรยาในเรื่องนี้ คำกล่าวของท่านมหาตมะคานธีมีอยู่ว่า “เนื่องจากฉันได้ลั่นปากปฏิญาณไว้แล้วแต่เดิมว่า จะดำเนินชีวิตไปในแนวทางแห่งความสัจเสมอชีพ ฉันจึงไม่สามารถจะสร้างกโลบายตบตาภรรยาของฉันได้แม้แต่ประการใด เหตุนั้นความซื่อสัตย์สุจริตต่อภรรยาโดยประการทั้งปวง ฉันจึงได้ถือว่าเป็นหน้าที่อันชอบธรรมของชายผู้สามีทุกคน และแนเองก็ได้พยายามปฏิบัติหน้าที่นี้ โดยเคร่งครัดอยู่เสมอ” แต่ความรู้สึกดังว่า ได้เป็นเหตุก่อให้เกิดความรู้สึกอีกประการหนึ่งขึ้นในจิตของคานธี คือ ท่านได้ยึดถือเป็นหลักว่า ความซื่อสัตย์สุจริตต่อภรรยาเป็นธรรมของสามีฉันใด ความซื่อสัตย์สุจริตต่อสามีก็เป็นธรรมของภรรยาฉันนั้น หลักดังกล่าวมานี้ย่อมเป็นหลักอันถูกต้องโดยมิต้องสงสัย  แต่ในจิตใจของคานธีผู้ตกอยู่ในวัยหนุ่มและผู้เคร่งครัดต่อหน้าที่หนักนั้น ได้กลับบังเกิดเป็นผลร้ายขึ้นประการหนึ่ง กล่าวคือหลักที่ว่าภรรยาต้องซื่อสัตย์สุจริตต่อสามีนั้น ได้กลายมาเป็นหลักที่ว่า สามีต้องคอยดูและระวังให้ภรรยาตั้งอยู่ในความซื่อสัตย์ต่อตนเสมอ ผลซึ่งเผด็จมาจากหลักนี้ก็คือหนุ่มคานธีได้กลายเป็นผัวที่ขี้หึงอย่างร้ายแรง เป็นความจริงที่ความหึงษ์ทำให้คนมองไม่เห็นเหตุผล หนุ่มคานธีก็เป็นเช่นนั้นคนหนึ่ง ได้ประพฤติต่อภรรยาของตนโดยปราศจากเหตุผล ซึ่งท่านเองก็ได้รับสารภาพไว้ในกาลภายหลัง แต่เป็นโชคดีที่ตามขนบธรรมเนียมของอินเดีย ตราบใดที่หญิงผู้ภรรยายังเป็นเด็กตราบนั้นต้องอยู่กับบิดามารดาของตน มหาตมะคานธีจึงมีโอกาสน้อยที่จะอบรมสั่งสอนภรรยาให้ดำรงมั่นอยู่ในความสัจ และในสมัยเมื่อภรรยาของท่านได้เติบโตขึ้นสู่ความเป็นสาวเต็มที่แล้ว ท่านก็ต้องเดินทางไปศึกษาวิชาเสียในประเทศอังกฤษ โรคขี้หึงษ์ของท่านจึงไม่มีโอกาสขยายตัวได้เท่าใดนัก เมื่อท่านสำเร็จการศึกษากลับมาสู่บ้านเมืองแล้ว ความนึกคิดในทางนี้ได้ดับศูนย์หายไปทั้งสิ้น ชีวิตวิวาห์จึงได้ดำเนินก้าวหน้าไป โดยปราศจากการขัดอกขัดใจกันตลอดมา ดังลำธาร ซึ่งหลั่งไหลไปตามทางที่ปราศจากแก่งเครื่องกีดขวางฉะนั้น

ส่วนอุดมคติในเรื่องภรรยา ท่านมหาตมะคานธีได้กล่าวไว้ว่า ภรรยานั้นควรเป็นหญิงบริสุทธิ์แท้ทีเดียว นอกจากนั้นภรรยาต้องคล้อยตามฉันด้วย กล่าวคือฉันจะเล่าเรียนวิชาใดๆ หรือสนใจอ่านเรื่องใด หล่อนต้องเล่าเรียนหรือสนใจในวิชานั้นๆ ด้วย คือแปลความว่า สามีและภรรยามีใจเป็นดวงเดียวกัน ต่างแต่กายเป็นคนละกายเท่านั้นเอง นี้แหละคือความรู้สึกนึกคิดของท่านมหาตมะคานธี ในสมัยเมื่อท่านยังดำรงอยู่ในวัยหนุ่ม ฉะนั้นการศึกษาของภรรยาสาวท่านจึงต้องถือบังเหียนไว้ในกำมือของท่านเอง แต่ธรรมดาว่าถ้าศิษย์สาวและฝ่ายอาจารย์ก็ยังหนุ่มและยิ่งไปกว่านั้นถ้าศิษย์และอาจารย์ทั้งสองตกอยู่ในแหล่งแห่งความสวาทแล้วไซร้ การสอนและการเรียนก็จะก้าวหน้าไปไม่ได้เท่าใดนัก อาศัยเหตุนี้เป็นกรณีในเวลาสอน แทนที่ครูสอนจะสอนวิชากลับไพล่ไปสอนเพลิงพิศวาทเสียมากกว่า ผลก็คือ ภรรยาของท่านจึงไม่สามารถจะก้าวหน้าในการศึกษาได้สมเจตนาเดิม แม้ท่านมหาตมะคานธีเองก็ได้เคยแสดงความเสียใจในการกระทำของตนไว้ว่า ถ้าหากว่าฉันจะปล่อยให้การศึกษาของหล่อนอยู่ในการควบคุมของคนอื่น ป่านนี้หล่อนคงจะดำรงอยู่ในฐานะเป็นปราชญ์ผู้หนึ่งเป็นแน่แท้

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าในทางวิชาการภรรยาของท่านจะไม่สามารถเดินให้ทันสามีได้ก็จริง แต่ในทางการดำเนินชีวิต ท่านสตรีผู้นี้ได้เคยแสดงตัวเป็นคู่ชีวิตของท่านผู้เป็นสามีตลอดมา และทั้งได้ยอมพลีชีวิตรับภาระอันหนัก ซึ่งเต็มไปด้วยความทุกข์ยากลำบากทรมานเพื่อประเทศชาติ คู่เคียงกับสตรีผู้มีเกียรติเป็นเนืองนิจมาโดยมิได้หวั่นหวาดแม้แต่ประการใดๆ

ที่มา: สวามี  สัตยานันทปุรี