การพักอยู่ที่อาฟริกาใต้ของคานธี

Socail Like & Share

คานธี
คดีของบริษัท ที่ท่านคานธีรับเป็นผู้ช่วยทนายว่าความ เป็นคดีใหญ่ เรื่องนี้โจทก์เรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยเป็นเงินถึง ๔๐,๐๐๐ ปอนด์ แต่อาศัยที่ท่านคานธีเป็นคนซื่อ และมีจิตประกอบด้วยเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ จึงได้พูดจาชักจูงให้คู่ความประนีประนอมกันได้ดี ถึงกระนั้นกว่าจะตกลงกันได้ก็กินเวลาเกือบปีหนึ่ง เมื่องานนี้ตกลงเรียบร้อย โดยได้รับผลเป็นที่พอใจด้วยกันทั้งโจทก์และจำเลยแล้ว ท่านก็เตรียมตัวกำหนดวันกลับมาตุภูมิ ครั้นถึงกำหนดวันท่านออกเดินทางจากปริโตเรียไปยังเดอร์บันเพื่อคอยจับเที่ยวเรือโดยสารกลับอินเดียก่อนแต่วันออกเดินทาง มิตรสหายผู้ร่วมผิวและชาติ ได้รวมกันเลี้ยงส่งท่านอย่างมโหฬารเป็นเครื่องไว้อาลัยและเกียรติศักดิ์ ในคราวจากอาฟริกาใต้ครั้งนี้

ในคราวที่มีการเลี้ยงส่งก่อนเดินทางนั้น ที่ประชุมได้มีการสนทนากันถึงเรื่องความเป็นอยู่ในอาฟริกาใต้ของชาวอินเดีย กล่าวคือ ในสมัยที่ท่านคานธีไปว่าความอยู่อาฟริกาใต้นั้น รัฐบาลอังกฤษประจำภาคนั้น ได้ออกพระราชบัญญัติหลายเรื่อง และมีหลายข้อ ที่แสดงจิตใจไปในทางกดขี่ชาวอาเซียทั้งหมด และชาวอินเดียโดยเฉพาะ อาทิเช่น พระราชบัญญัติว่าด้วยการกำจัดสิทธิของชาวอาเซีย(Asiatics Exclution Act) ตามบทพระราชบัญญัตินี้มีหลักว่าชาวอาเซียผู้ใดจะเข้ามาในอาฟริกาใต้ ต้องเสียค่าเข้าเมืองคนละ ๓ ปอนด์ ชาวอาเซียไม่มีสิทธิเป็นเจ้าของที่ดินเว้นแต่ที่ดิน ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดไว้สำหรับชาวอาเซียโดยเฉพาะ (แต่ตาทางปฏิบัติรัฐบาลไม่ได้กำหนดที่ดินให้แก่ชาวอาเซียตามหลักพระราชบัญญัติ ฉะนั้นชาวอาเซีย จึงไม่มีทางจะเป็นเจ้าของที่ดินได้) และชาวอาเซียไม่มีสิทธิที่จะออกเสียงในทางการปกครองได้แม้แต่ประการใด พระราชบัญญัตินี้ตั้งขึ้นโดยทั่วไป  นอกจากนี้ยังมีพระราชบัญญัติว่าด้วยการจำกัดสิทธิของชาวผิวเหลืองอีก  ซึ่งบทบังคับว่าชาวอาฟริกาก็ดี หรือนอกจากคนผิวขาว ไม่มีสิทธิเดินตาม่างเท้า และหลังจากเวลา ๒๑.๐๐ น. ไม่มีสิทธิเดินตามถนน ถ้าผู้ใดประสงค์จะเดินภายในกำหนดห้ามนั้นต้องได้รับอนุญาตจากตำรวจเสียก่อนจึงจะเดินได้ แต่ข้อบังคับที่กล่าวไว้ในข้อสุดท้ายนั้น โดยมากมักใช้บังคับชาวอินเดีย ถ้าเป็นชาติอื่นเช่นชาวอาหรับ ซึ่งมีอยู่ดาดดื่นในอาฟริกาใต้ บางทีตำรวจก็ปล่อยให้เดินได้ นั่นสุดแล้วแต่อำเภอใจแห่งความกรุณาของตำรวจ  ไม่ใช่อำนาจตัวบทกฎหมาย

ดังนั้น ในเวลาเลี้ยงส่งคานธี จึงได้เกิดมีการสนทนากันถึงเรื่องดังกล่าวนี้ด้วย และเกิดถกถามกันขึ้นว่าใครมีวิธีแก้บทบัญญัติอันไร้มนุษยธรรมนี้ได้อย่างไรบ้าง ที่ประชุมลงมติเห็นพ้องว่า ถ้าแม้นท่านคานธีจะพักอยู่ที่อาฟริกาใต้สักชั่วคราวต่อนี้ได้ และทั้งอาจสามารถแก้ฐานะความเป็นอยู่ของชาวอินเดียในถิ่นนั้น ให้กลับคืนดีขึ้นเป็นการแน่ เมื่อที่ประชุมได้ลงความเห็นเช่นนั้นและทั้งมีการขอร้องเป็นพิเศษ เพื่อให้ท่านพักอยู่ชั่วคราวท่านจึงคิดว่า  ถ้าพักอยู่ชั่วคราวตามคำขอร้องของที่ประชุมคงมีโอกาสทำประโยชน์ให้แก่อินเดียได้บ้างไม่มากก็น้อย จึงเป็นอันตกลงใจยังไม่เดินทางกลับอินเดียก่อน ฉะนั้นการเลี้ยงส่งคราวนี้ จึงเปลี่ยนรูปเป็นการเลี้ยงรับท่านคานธีไปด้วยในตัวเสร็จ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ทำให้จิตใจของชาววอินเดียในอาฟริกาใต้ปลาบปลื้มเป็นอย่างยิ่งเรื่องหนึ่ง

เมื่อเป็นการตกลงใจว่า จะพักอยู่อาฟริกาใต้แน่นอนแล้ว ปัญหาขั้นต่อไปก็คือการครองชีพ เพื่อจะกำจัดความกังวลใจในเรื่องนี้เสีย  ท่านจึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลขออนุญาตเป็นทนายว่าความในศาลทั่วไปของอาฟริกาใต้ พวกทนายความของอาฟริกาใต้ในสมัยนั้นล้วนเป็นชาวผิวขาวทั้งหมด เนติบัณฑิตสภาจึงได้มีการประชุมกันส่งคำคัดค้านไปยังศาล โดยแสดงหลักการว่า ทนายความคนผิวเหลืองไม่ควรได้รับอนุญาตให้ว่าความในที่นี้ ถึงแม้มีเหตุผลอยู่ว่าในบทบัญญัติแห่งกฎหมายไม่มีข้อใดห้ามมิให้คนผิวเหลืองเป็นทนายว่าความก็จริงอยู่ แต่นั่นเนื่องจากเหตุที่ผู้ออกกฎหมายไม่ได้นึกฝันถึงกาลข้างหน้าว่า ชาวผิวเหลืองจะกล้าเข้ามาว่าความในศาลของชาวผิวขาวได้นั้นเอง แต่เป็นโชคงามยามดีของท่านคานธี ที่ศาลไม่ยอมรับหลักการของคณะทนายความดังกล่าวนั้น โดยให้เหตุผลประกอบว่าทนายความชั้น ๑ แห่งประเทศอังกฤษย่อมมีสิทธิที่จะว่าความในทุกๆ ศาลแห่งราชอาณาจักรอังกฤษได้

ฉะนั้นในที่สุด มหตมะคานธี จึงได้รับอนุญาตให้เป็นทนายความในศาลอาฟริกาใต้ได้ เสมอด้วยทนายความชาวผิวขาวทุกๆ คน ปัญหาแห่งการพำนักอยู่ในอาฟริกาใต้ของท่านจึงเป็นอันหมดเครื่องกังวลใจดังกล่าวนี้

ที่มา:สวามี  สัตยานันทปุรี