มหาตมะคานธีกับภาษี ๓ ปอนด์

Socail Like & Share

คานธี
ในขณะที่ท่านมหาตมะคานธี กำลังต่อสู้กับร่างพระราชบัญญัติใหม่และกฎหมายเก่าดังกล่าวมานั้นเกิดมีเรื่องขึ้นเรื่องหนึ่ง ซึ่งในกาลต่อมากลายเป็นเหตุต่อสู้กันอย่างร้ายแรงระหว่างชาวอินเดียในอาฟริกาใต้กับรัฐบาลอังกฤษกล่าวคือ ในค.ศ.๑๘๘๙ รัฐบาลเนตาลได้เสนอพระราชบัญญัติฉบับนี้มีหลักการว่า กรรมกรชาวอินเดียทุกคนต้องเสียภาษีให้รัฐบาลปีละ ๒๕ ปอนด์ การที่รัฐบาลเสนอร่างดังนี้ต่อสภาก็โดยอาศัยเหตุดังต่อไปนี้ เป็นเกณฑ์พิจารณา

คือประมาณปี ค.ศ.๑๘๖๐ พวกฝรั่งมองเห็นว่าเนตาลเป็นประเทศที่เหมาะสำหรับการปลูกอ้อย จึงได้พยายามหาจ้างกรรมกร โดยคิดค่าแรงงานให้อย่างต่ำ แต่กรรมกรที่จะได้จ้างด้วยราคาถูกนั้น มีอยู่ในประเทศอินเดียแต่ประเทศเดียว ฉะนั้นฝรั่งจึงได้หารือตกลงกับรัฐบาลอินเดีย ว่าจะจ้างกรรมกรอินเดีย ไปทำงานในอาฟริกาใต้  โดยมีข้อสัญญาว่ากรรมกรจะต้องรับจ้างนายจ้างอยู่กับนายจ้างตลอดเวลา ๕ ปีเต็ม เมื่อพ้น ๕ ปีแล้ว จึงมีสิทธิเสมอภาคกับคนผิวขาวได้ ผลที่สุดแห่งสัญญานี้คือกรรมกรจำนวนมากเมื่อทำงานครบ ๕ ปี ตามข้อผูกมัดนั้นแล้วมักตั้งภูมิลำเนาอยู่ในอาฟริกาใต้ เนื่องจากคนอินเดียมีมานะอดทนต่อความทุกข์ยากกรากกรำได้ดีกว่าคนผิวขาว และทั้งสามารถดำรงชีพอยู่ได้โดยมีการใช้จ่ายในอัตราต่ำกว่าพวกผิวขาวอีกด้วย ฉะนั้นเมื่อถึงฤดูการแข่งขันเรื่องการเพาะปลูก การค้าขายเป็นต้น ชาวผิวขาวไม่สามารถที่จะต่อสู้ชาวอินเดียได้ ชาวอินเดียจึงเริ่มขึ้นหน้าในการเพาะปลูก และการค้าขายยิ่งขึ้นทุกสมัย เมื่อเหตุการณ์อันน่าหนักใจปรากฎขึ้นโดยทำนองนี้ ชาวผิวขาวที่เริ่มอาศัยอำนาจทางการปกครองเป็นเครื่องกำจัดอธิปไตยของชาวอินเดียคือ สร้างพระราชบัญญัติเป็นทำนบกำจัดสิทธิของชาวผิวเหลืองขึ้น ดังได้กล่าวไว้แล้วแต่หนหลัง และนอกจากนั้นยังได้เสนอพระราชบัญญัติใหม่อีกฉบับหนึ่ง มีบทบัญญัติระบุไว้ ๓ ข้อคือ
ข้อ ๑ เมื่อสิ้นอายุสัญญาการรับจ้างที่ได้กำหนดไว้ตามข้อสัญญาแล้ว กรรมกรทุกคนจะกลับอินเดียหรือ

ข้อ ๒ จะต้องรับจ้างอยู่กับนายจ้างอีก ๒ ปี โดยมีการเพิ่มเงินเดือนให้บ้าง หรือ
ข้อ ๓ ถ้าไม่ยอมกลับ และทั้งไม่ยอมรับจ้าง อยู่กับนายจ้างอีกต่อไป จะต้องเสียภาษีคนละ ๒๕ ปอนด์

ย่อมจะเป็นธรรมดาอยู่ในตัวเอง การกลับคำพูดที่ไม่สมกับลักษณะสุภาพชน การทำลายสัญญาโดยอาศัยอำนาจบทบัญญัติ และการรักษาประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่แลเหลียวถึงความยุติธรรม ย่อมนำมาซึ่งความยุ่งยากลำบากมิใช่น้อย ฉะนั้นเมื่อพวกฝรั่งโดยตกลงว่าจะทำลายผลประโยชน์ของชาวอินเดีย อาศัยทางทุจริตเป็นเครื่องมือ มหาตมะคานธีจึงได้รีบเสนอความเห็นต่อสภา ขอให้ค้านร่างพระราชบัญญัติใหม่นี้โดยรีบร้อน และทั้งยื่นคำร้องต่อรัฐบาลอินเดียไม่ให้รับหลักการนั้นด้วย  ซึ่งในที่สุดได้แนะนำให้รัฐบาลอาฟริกาใต้เก็บภาษีคนละ ๓ ปอนด์ แทน ๒๕ ปอนด์ ดังได้คาดไว้ก่อน อย่างไรก็ดีสภาคองเกรสได้ดำเนินการตามข้อเสนอของมหาตมะคานธีนั้น การค้านร่างพระราชบัญญัตินั้นจึงได้ดำเนินไปอย่างเผ็ดร้อนที่สุด ทั้งในสภาอาฟริกาใต้ อินเดีย อังกฤษ แต่ข้อสำคัญในเรื่องนี้ คือ ร่างพระราชบัญญัตินั้นเกี่ยวกับกรรมกรผู้ยากจน ส่วนสภาคองเกรสในสมัยนั้นเป็นที่ชุมนุมของผู้มีฐานะดี เพราะผู้จะเข้าเป็นสมาชิกสภาได้ต้องเสียค่าบำรุงกันมากๆ อันเป็นการยากที่คนจนจะเสียให้ได้ คนจนจึงเข้าเป็นสมาชิกไม่ได้อยู่เอง ด้วยเหตุนี้คณะพรรคการเมืองจึงมักไม่เป็นที่ไว้วางใจของมาหชนโดยทั่วไป อนึ่งถ้าหลักการของคณะพรรคนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับมหาชนขึ้นบ้างแล้วไซร้ ก็มีความหวังได้เต็มที่ที่จะเรียกร้องความไว้วางใจจากมหาชนได้ ข้อนี้มหาตมะคานธีเข้าใจได้อย่างซึ้งทีเดียว ตั้งแต่เบื้องต้นแห่งการตั้งสภาคองเกรสมา ฉะนั้นท่านจึงได้ตั้งคติแห่งคณะพรรคขึ้นข้อหนึ่งว่า คณะพรรคควรจะดำเนินกิจการดังต่อไปนี้ คือ การรับใช้มหาชนโดยถือหลักความเป็นไปในปัจจุบันประกอบด้วย เช่นการพยาบาล การเอาใจใส่ทุกข์สุขของครอบครัว การดูแลสอดส่องการเป็นอยู่และการดำเนินชีวิตเป็นอาทิ สภาคองเกรสแห่งอาฟริกาใต้ จึงได้ตั้งแผนกงานขึ้นอีกแผนกหนึ่ง สำหรับดำเนินงานดังกล่าวแล้ว งานแผนกนี้สร้างจิตใจมหาชนให้ค่อยๆ มองเห็นขึ้นทีละน้อยๆ ว่าคองเกรสถึงแม้จะประกอบขึ้นด้วยบุคคลผู้มีฐานะมั่งมีก็จริงแต่ทำตัวเป็นเพื่อนที่แท้ของมหาชนผู้ยากจนด้วย นับว่าเป็นโชคเหมาะอย่างเหลือเกิน โดยในโอกาสนี้ได้เกิดมีเรื่องสำคัญขึ้นเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องที่อาจกล่าวได้ว่านำความไว้วางใจของมหาชนมาสู่ท่านคานธี และคองเกรสสมประสงค์ทีเดียว กล่าวคือ มีกรรมกรคนหนึ่งชื่อวาลสุนทรัม เป็นลูกจ้างรับใช้ของฝรั่งผู้มีเกียรติผู้หนึ่งในอาฟริกาใต้ อยู่มาวันหนึ่งฝรั่งเกิดไม่ถูกอกถูกใจลูกจ้างผู้นั้นถึงกับบรรดาลโทสะขึ้นมา และได้ทุบตีลูกจ้างเสียอย่างมากมายถึงกับฟันหัก ๒ ซี่ มีอาการบอบช้ำ มหาตมะคานธีจัดการส่งผู้นั้นไปให้แพทย์ตรวจอาการ และบาดแผลพร้อมด้วยใบสำคัญรับรองของแพทย์ด้วย และท่านรับเป็นทนายเองจัดการฟ้องฝรั่งในคดีอาญาต่อศาล ผลที่สุดฝรั่งแพ้คดีนี้ และในทางแพ่งต้องเสียค่าเสียหายให้โจทก์อีกมากมาย คดีนี้แหละเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้คานธีได้ความนิยม และเคารพนับถือฐานเป็นมิตรแท้ของคนจน ทั้งทำให้คองเกรสก็ไดรับความไว้วางใจของมหาชนยิ่งขึ้นด้วย  เพราะว่าการที่ชาวอินเดียเป็นความกับฝรั่งชนะนั้น ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกแห่งประวัติการณ์ของอาฟริกา จึงเป็นเหตุการณ์ที่ชี้ให้มองเห็นสมรรถภาพของท่านคานธีอย่างสูงเด่นอยู่ในตัวว่า ท่านสามารถที่จะป้องกันชาวผิวเหลืองจากความทารุณโหดร้ายของพวกผิวขาวได้แน่นอน ฉะนั้นเมื่อคองเกรสภายใต้การนำของท่านได้ลงมือกระทำการคัดค้านร่างพระราชบัญญัติใหม่นี้ปวงชนชาวอาฟริกาใต้จึงได้ช่วยกันสนับสนุน เพิ่มกำลังต่อสู้รัฐบาลกันอย่างมากมาย และทั้งต่างยินดียอมพลีชีวิตรับอาญาหลวง เช่นการจำคุกเป็นต้น นับจำนวนตั้งพันๆ คน โดยมิได้หวาดหวั่นพรั่นพรึงแม้แต่น้อย

ที่มา:สวามี  สัตยานันทปุรี