ชัยชนะของคานธีที่อาฟริกาใต้

Socail Like & Share

คานธี
การไปอาฟริกาใต้กับการประสพชัยชนะคราวแรก
เหตุการณ์ทั้งหลายเท่าที่ปรากฎแล้วนั้นเป็นอันผ่านพ้นไป โดยความสงบเงียบตามธรรมดาของมัน แต่ถ้าจะพิจารณาหาความจริงถึงจิตใจของมหาตมะคานธี ตรงกันข้ามทีเดียว จิตใจของมหาตมะคานทีจะได้รับความสงบสุข แม้แต่น้อยหามิได้ ในกิจการทุกประการที่เกี่ยวกับศาลก็ดี หรือเรื่องราวทั่วๆ ไปก็ดี ได้มองเห็นอานุภาพของฝรั่งเข้าครอบงำอยู่อย่างไม่ยุติธรรมทีเดียว อนึ่งอาศัยเหตุอันนี้แหละทำให้ท่านมองเห็นอีกด้านหนึ่งว่าความประพฤติของพวกฝรั่งในเมืองอังกฤษเอง กับความประพฤติของพวกที่มาอยู่ในประเทศอินเดีย ต่างกันไกลลิบทีเดียว แทบจะทุกๆ ก้าวเท้าฝรั่งชอบสำแดงอิทธิฤทธิ์ว่าข้าเป็นจ้าวโลกอยู่เสมอ การที่พวกเขาชอบประพฤติกันอยู่เป็นอาจิณ ได้กลายเป็นเครื่องกระทบกระเทือนใจของท่านมหาตมะคานธีขึ้นเป็นลำดับ ถึงกับทำให้ท่านต้องนึกปรารมภ์ใจอยู่เสมอว่า จะออกจากอินเดีย ไปตั้งทำมาหากินเสียที่ประเทศอื่น เมื่อกำลังความคิดอันนี้จับกรุ่นอยู่ในใจ ก็พอเหมาะโอกาสอันหนึ่งบังเอิญมาถึงเข้า กล่าวคือมีบริษัทของอินเดียบริษัทหนึ่งที่ตั้งอยู่ในอาฟริกาใต้กำลังเกิดความอยู่ บริษัทประวงค์จะได้ตัวคานธีส่งไปเป็นผู้ช่วยทนายความของบริษัท โดยมีเวลากำหนด ๑ ปี เมื่อบริษัทแสดงความจำนงมายังมหาตมะคานธี ท่านก็ตกลงรับโดยความยินดีทันที เพราะตรงกับแนวความคิดที่เคยดำริไว้

ในระหว่างนี้ท่านมีบุตรคนหนึ่ง เมื่อถึงวันกำหนดเดินทางได้อำลาบุตรภรรยาญาติมิตรสหายที่รัก ว่าจะจากไปเป็นเวลา ๑ ปี แล้วก็ออกเดินทาง และได้ไปถึงอาฟริกาใต้เมื่อเดือน เมษายน ค.ศ.๑๘๙๒ ครั้นย่างเข้าปลายเดือนพฤษภาคมก็เดินทางมามณฑลเนตาล และได้พักอยู่ที่เมืองเดอร์บันนั้นเอง วันหนึ่งท่านไปเยี่ยมศาลและสโมสรเนติบัณฑิตสภา สนทนาปราศรัยกับพวกทนายความชาวอังกฤษ ท่านแต่งตัวตามแบบชาวอินเดีย ศีรษะสวมหมวกผ้า พวกทนายความชาวฝรั่งเศสเมื่อเห็นเช่นนั้นก็นึกเคืองในใจ จึงร้องขอให้ท่านถอดหมวกเสีย แต่ทว่าตามขนบธรรมเนียมของอินเดีย ถือว่าการถอดหมวกผ้าออกจากศีรษะเป็นการยอมตนลงเป็นทาษ และการสั่งเช่นนั้น ก็นับว่าเป็นการดูหมิ่นอย่างร้ายแรงทีเดียว มหาตมะคานธีจึงไม่ยอมถอดหมวกตามคำขอร้อง ผลที่สุดท่านต้องลาออกไปจากสโมสรเนติบัณฑิต

ต่อมาท่านจึงได้รับข่าวแน่นอนขึ้นว่า ฝรั่งในอาฟริกาใต้ ไม่ยอมให้ชาวอินเดียสวมหมวกต่อหน้าเขา เมื่อท่านได้ทราบหลัการอันแน่นอนขึ้นเช่นนั้น ครั้งแรกท่านตกลงใจว่าจะสวมหมวกฝรั่ง เพราะตามธรรมเนียมการถอดหมวกถือกันว่าเป็นการสุภาพอยู่แล้ว จึงไม่น่าจะขัดกับหลักแห่งการแสดงความเคารถกันประการใด แต่ต่อมาเมื่อลองนำเรื่องนี้ไปปรึกษาหารือกับคนอื่นๆ กลับได้รับคำตักเตือนแนะนำและทำให้เกิดความคิดใหม่ขึ้นว่า การไม่สวมหมวกอินเดียนั้น จะกลายเป็นเหตุให้เกิดผลร้ายแก่ชาวอินเดียทั่วๆ ไป โดยเหตุที่การกระทำเช่นนั้น เป็นการรับรองอยู่ในตัวว่าชาวอินเดียเคารพฝรั่งเศส ในฐานะเป็นนายิ่งกว่าอื่น เมื่อสาวหาเหตุผลได้เช่นนั้นท่านจึงไม่เปลี่ยนความคิด ตกลงใจที่จะสวมหมวกแบบอินเดียเรื่อยๆ ไป และทั้งจะไม่ยอมถอดตามข้อประสงค์ของพวกฝรั่ง ครั้นตกลงใจแน่นอนอย่างนี้แล้ว ท่านได้ลงมือเขียนความเห็นบางข้อ ส่งไปลงในหนังสือพิมพ์ ค้านประเพณีอันไม่สุภาพของฝรั่งอย่างแรง คำค้านในหน้าหนังสือพิมพ์นี้ได้ก่อให้เกิดความตื่นเต้นกันทั่วอาฟริกาใต้ชั่ว ๒-๓ วันเท่านั้น ชื่อเสียงของมหาตมะคานธีก็แผ่ไปทั่วประเทศอาฟริกา ในตอนนี้ฝรั่งได้ขนานนามให้ว่าเป็น Unwelcome Visitor กระนั้นก็ดี ผลอันเกิดจากคำคัดค้านในหน้าหนังสือพิมพ์นั้น เป็นอันนำชัยชนะมาสู่มหาตมะคานธีได้สมปรารถนา กล่าวคือหมวกของท่านไม่ต้องถูกถอดออกจากศีรษะของท่าน เพราะอำนาจกดอันไม่สุภาพของฝรั่งในคราวใดๆ นอกจากยินดีจะถอดเองคือสวมและถอดได้ตามอำเภอใจ

ที่มา:  สวามี  สัตยานันทปุรี