มหาตมะคานธีกับรัฐบาลอังกฤษ

Socail Like & Share

คานธี
การปะทะกับรัฐบาลอังกฤษครั้งแรก
เมื่อท่านคานธี ยังดำเนินอาชีพว่าความอยู่ในราชโกฐนั้น พี่ชายของท่านยังรับราชการอยู่ในราชสำนักโปรบันทร ในตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาของเจ้าผู้ครองนคต  ในขณะที่กำลังรับราชการอยู่นั้น ท่านมีเรื่องไม่ลงรอยกับราชทูตอังกฤษประจำนครนั้น แต่ราชทูตอังกฤษประจำนครนั้น แต่ราชทูตผู้นี้เป็นที่รู้จักคุ้นเคยกับมหาตมะคานธีมาก  ตั้งแต่ครั้งยังเป็นนักเรียนศึกษาอยู่ประเทศนอก ฉะนั้นพี่ชายของคานธีจึงคิดเห็นว่า ถ้าให้น้องชายไปหาราชทูตพูดจาปรองดองกัน หรือทำความเข้าใจกันเสียเรื่องราวอาจสงบเรียบร้อยได้ จึงได้ขอร้องให้น้องชายไปหาพูดจากันกับราชทูต แต่คานธีไม่เห็นพ้องกับวิธีนั้นโดยให้เหตุผลแก่พี่ชายของตนว่า “เราไม่ควรอาศัยความสนิทสนมกัน เป็นเครื่องฉวยโอกาสแสวงหาผลส่วนตัว” ถึงแม้จะถูกค้านอย่างจังดังนั้นก็ตาม แต่พี่ชายก็ยังอุตส่าห์พูดปลอบโยนขอให้ไปหาราชทูตสักครั้งหนึ่งให้จงได้ ถึงแม้คานธีจะมีความหนักอกหนักใจสักเพียงใดก็ตาม แต่ก็หาสามารถทัดทานคำวิงวอนขอร้องของพี่ชายได้ไม่ ในที่สุดจึงจำต้องไปหาราชทูตตามคำขอร้องของพี่

ท่านราชทูตชาวอังกฤษเมื่อเห็นท่านคานธีไปหาดูเหมือนจะอ่านเรื่องนั้นได้ทันที และได้แสดงกิริยาท่าทางว่าไม่พอใจในแววตาทั้ง ๒ มีลักษณะการคล้ายๆ กับจะพูดออกมาว่า “อย่าอาศัยการรู้จักกันเป็นเครื่องแสวงหาประโยชน์เลย”

มหาตมะคานธีได้เล่าเรื่องของพี่ให้ราชทูตวฟัง ทำให้ราชทูตขุ่นเคืองมาก ถึงกับลั่นวาจาออกมาว่า “พี่ชายของท่านเป็นคนชอบแส่หาเรื่อง ฉันไม่ปรารถนาฟังคำพูดของท่าน ฉันไม่มีเวลาพอ ถ้าพี่ชายของท่านต้องการจะพูดอะไร ก็จงบอกให้เขายื่นรายงานขึ้นมาดีกว่า” ถึงกระนั้นมหาตมะคานธีก็สู้หักอารมณ์พยายามจะพูดต่อไปอีกสักเล็กน้อย แต่ราชทูตโกรธหน้าแดงจนเนื้อตัวสั่น ลุกขึ้นยืนและใช้คำพูดอย่างรุนแรงว่า “จงไปเสียเดี๋ยวนี้”

“แต่ขอให้ท่านฟังคำพูดของฉันเสียก่อน”

“ยาม ยาม จงไล่คนนี้ให้ออกไปจากบ้านเดี๋ยวนี้” ยามได้ฟังคำสั่งก็วิ่งเข้ามาจับมือท่านมหาตมะคานธีลากตัวไปส่งนอกบ้านตามคำสั่งของนาย

มหาตมะคานธีได้รับความช้ำใจในเรื่องนี้มาก เมื่อไปถึงบ้านเรียบร้อยแล้วได้เขียนจดหมาย ๑ ฉบับ ส่งไปให้ราชทูตโดยมีข้อความดังนี้ “ท่านได้แสดงการดูหมิ่นต่อฉันโดยสั่งให้ยามฉุดลากฉันออกจากบ้าน ท่านต้องขอขมาฉันมิฉะนั้นฉันจะฟ้องท่านในฐานหมิ่นประมาท” เมื่อทูตได้รับจดหมายประท้วงก็ตอบทันทีว่า “ท่านได้แสดงความประพฤติชั่วต่อฉัน ฉันได้บอกให้ท่านออกไปจากบ้าน แต่ท่านหาได้ไปเสียตามคำสั่งไม่ ฉะนั้นฉันจึงต้องสั่งให้คนยามนำตัวท่านออกไปเสียจากบ้าน ถึงแม้ฉันสั่งเช่นนั้นแล้วก็ดีแต่ท่านก็ยังไม่ยอมไปอีก ยามจึงต้องจับมือท่านลากออกไป ท่านปรารถนาจะทำอะไรก็เชิญทำ”

เรื่องนี้ได้ยุติลงเพียงแค่นี้ แต่ว่าภาวะแห่งเหตุการณ์ได้กลายเป็นเรื่องเร้าความรู้สึกใหม่ ขึ้นในจิตใจของมหาตมะคานธีว่า “มิตรภาพระหว่างอินเดียกับอังกฤษจะเป็นสิ่งพึงเป็นไปไม่ได้แน่นอน” ท่านจึงได้บันทึกเหตุการณ์ไว้เป็นคำพูดว่า “ฉันไม่สามารถจะลืมนึกถึงการหมิ่นประมาทนั้นเสียได้ แต่ทว่าฉันได้พยายามใช้เรื่องนั้น ในฐานะที่เป็นประโยชน์ และตกลงในใจว่า “แต่นี้เป็นต้นไป ฉันจะไม่ปล่อยตัวให้ถลำเข้าไปในฐานะเช่นว่าอีก และทั้งจะไม่ยอมขอร้องสิ่งใดจากฝรั่งอีกด้วย ตลอดชีวิตจิตใจนี้ฉันจะมิล่วงละเมิดความตั้งใจอันนี้อีกเลย ความจริงความอาฆาตหนนี้ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตจิตใจของฉันได้ทีเดียว”

ที่มา: สวามี  สัตยานันทปุรี