วิธีแผลงสระ

สระที่แผลงเป็นอื่นนั้นโดยมากมาจากคำในภาษาบาลีและสันสกฤต ครั้นตกมาในภาษาไทยก็เปลี่ยนแปลงไปตามเสียงสระในภาษาไทย ที่เป็นสระในคำไทยก็มีบางแต่น้อย จะกล่าวตามลำดับดังนี้

สระอะ แผลงเป็น สระอา เช่น สัณฑ์ เป็น สาณฑ์ (ไพรสาณฑ์), ศัสตระ (เหล็กมีคม) เป็นศาสตรา, อสัตย์ เป็น อาสัตย์ และคำที่ใช้ในคำประพันธ์ เช่น ‘พฤกษชาติ มัจฉชาติ’ เป็น ‘พฤกษาชาติ มัจฉาชาติ’ ฯลฯ

แผลงเป็นสระ อิ เช่น วชิร เป็น วิเชียร ฯลฯ

แผลงเป็นสระ อุ เช่น เชตวน เป็น เชตุพน, โกกนท เป็น โกกนุท, ชมพูนท เป็น ชมพูนุท, สมมติ เป็น สมมุติ ฯลฯ

แผลงเป็นสระ เอะ เช่น วัชร เป็น เพชร, ปัญจ เป็น เบญจ, วัจจะ เป็น เวจ ฯลฯ

แผลงเป็นสระ โอะ เมื่อมีตัวสะกดนอกจาก ย และ ร แต่คงรูปไว้ตาม เดิม เช่น ปะทะ เป็น บท, คะชะ เป็น คช, นันท เป็น นนท์ฯลฯ

แผลงเป็นสระ ออ เมื่อมีตัว ร สะกดหรือตามหลัง แต่คงรูปไว้ตามเดิม เช่น วะระ เป็น พร, จะระ เป็น จรฯลฯ

เมื่อประสมอยู่กับพยัญชนะท้ายคำ ซึ่งใช้เป็นตัวสะกดมักลดเสียงสระ อะ เสีย เช่น สุขะ เป็น สุข (สุก) ภยะ เป็น ภัย (ไพ), วิธะ เป็น วิธ (วิด) ฯลฯ

เมื่อประสมอยู่กับพยัญชนะท้ายคำ แปลง เป็น อา, อี, อิน, เอศ และอื่นๆ ก็มี (มักใช้ในการแต่งคำประพันธ์ เพื่อให้คล้องจองกัน) เช่น กายะ เป็น  กายา, กายี, กายิน, กาเยศ ฯลฯ

แผลง อะ แห่ง ระ ที่ควบกับตัวอื่นเป็น ร (เรียก ร หัน) เช่น กระโชก เป็น กรรโชก, ทรทึง เป็น ทรรทึง, สรเสริญ เป็น สรรเสริญ ฯลฯ

ลดสระ อะ อยู่ที่ต้นคำเสียก็มี เช่น อนุช เป็น นุช, อภิรมย์ เป็น ภิรมย์ ฯลฯ

เมื่อมีตัว ม อยู่ข้างหลัง แผลงเป็นสระอำ และมีตัว ว อยู่ข้างหลัง แผลงเป็นสระเอา เช่น อมาตย์, อมรินทร์ เป็น อำมาตย์ อำมรินทร์ และ นวะ, ชวนะ เป็น เนาว์, เชาวน์ ฯลฯ

แผลงเป็นสระ เอาะ เช่น ปณฺฑก เป็น บัณเฑาะก์, ครฺห เป็น เคราะห์ ฯลฯ

สระ อา เมื่อประสมอยู่กับพยัญชนะท้ายศัพท์ลดเสียก็มีบ้าง เช่น ศาลา เป็นศาล, ฉายา เป็น ฉาย ฯลฯ

สระ อิ แผลงเป็นสระ อี เช่น ลิงค์ เป็น ลึงค์, อธิก เป็น อธึก, ศิกษา เป็น ศึกษา, สิง เป็น สึง ฯลฯ

แผลงเป็นสระ เอ เช่น ศิลา เป็น เศลา, วิตาน เป็น เพดาน ฯลฯ

แผลงเป็นสระ ไอ เช่น พิจิตร เป็น ไพจิตร, วิหาร เป็น ไพหาร ฯลฯ

แผลงเป็นสระ เอีย เช่น ศิระ เป็น เศียร, พาหิระ เป็น พาเหียร ฯลฯ

สระ อี แผลงได้อย่างสระ อิ คือ เป็นสระ อี เช่น อนีก เป็น อนึก, เป็นสระ เอ เช่น สีมา เป็น เสมา, เป็นสระ เอีย เช่น จีร เป็น เจียร, กษีณ เป็น เกษียณ ฯลฯ

แผลงเป็นสระ อิ เช่น นีละ เป็น นิล, หีนชาติ เป็น หินชาติ ฯลฯ

แผลงเป็นสระ อือ เช่น วีช เป็น พืช ฯลฯ

สระ อิ กับ สระ อี นี้ในการแต่งคำประพันธ์ใช้กลับกันบ้าง เพื่อต้องการ สัมผัส และ ครุ, ลหุ

สระ อุ แผลงเป็นสระ อู เช่น ไวปุลฺย เป็น ไพบูลย์, ไวฑุรฺย เป็น ไพฑูรย์, อาตุร เป็น อาดูร ฯลฯ

แผลงเป็น อ-ร เช่น อุชุ เป็น อรชร, สาธุ เป็น สาธร ฯลฯ

แผลงเป็น อ-ว เช่น สินธุ เป็น สินธว ฯลฯ

แผลงเป็น อ-ว เช่น สุภาว เป็น สุวภาพ, สุคนฺธ เป็น สุวคนธ์ ฯลฯ

แผลงเป็นสระ โอะ เมื่อมีตัวสะกด คือลดตีน อุ เสีย เช่น ทุก เป็น ทก, ทุ่ง เป็น ท่ง ฯลฯ

แผลงเป็นสระ โอ เช่น ปุราณ เป็น โบราณ, สุภาค เป็น โสภาค ฯลฯ

แผลงเป็นสระ เอา เช่น สุวภาพ เบน เสาวภาพ, สุวคนธ์ เป็น เสาวคนธ์ ฯลฯ

แผลงเป็นสระ อัว เช่น ยุรยาตร เป็น ยวรยาตร, ปริปุรฺณะ เป็นบริบวรณ์ ฯลฯ

สระ อู มักแผลงกลับกับสระ อุ ได้ เมื่อใช้แต่งคำประพันธ์

สระ เอ แผลงเป็นสระ ไอ เมื่อมีตัว ย สะกด เช่น เวยฺยากรณ์ เป็น ไวยากรณ์, เวเนยฺย เป็น เวไนย ฯลฯ

สระ เอ นี้มักแผลงมาจาก อิ แล้วเลยแผลงเป็นสระ ไอ อีกทีหนึ่ง เช่น หิรญฺญ เป็น เหรัญ, ไหรญ ฯลฯ

สระ ไอ เมื่อมีตัวสะกดแผลงเป็นสระ แอ เช่น ไวทุย เป็น แพทย์, ไสนฺยา เป็น แสนยา, ไทตฺย เป็น แทตย์, ไวศฺย เป็น แพศย์ ฯลฯ

สระ โอ แผลงเป็น อว เช่น โอสาน เบน อวสาน, โอตาร เป็น อวตาร ฯลฯ

แผลงเป็นสระ เอา เช่น โอฬาร เป็น เอาฬาร, โมลี เป็น เมาลี ฯลฯ

สระ โอ นี้มักแผลงมาจากสระ อุ แล้วแผลงเป็นสระ เอา อีกทีหนึ่ง เช่น ปุราณ เป็น โบราณ, เบาราณ ฯลฯ

ที่มา:พระยาอุปกิตศิลปสาร

วิธีแผลงอักษร

ลักษณะใช้อักษร
คำอธิบาย
เมื่อผู้ศึกษาทราบลักษณะอักษร และวิธีประสมอักษรแล้ว ก็พอจะเขียนและอ่านเป็นเสียงแทนคำพูดได้ แต่ยังไม่ถูกต้องตามระเบียบที่ท่าน นิยมใช้กัน เพราะฉะนั้นจะอธิบายลักษณะใช้อักษรไว้เพื่อเป็นหลักแห่ง ความรู้และความสังเกตต่อไป

การใช้ตัวอักษร คือ เขียนและอ่านให้ถูกต้องตามแบบแผนที่ท่านนิยมกันนั้น ต้องอาศัยหลัก คือ (๑) วิธีแผลงอักษร (๒) สนธิ คือ วิธีเชื่อมคำพูดให้ติดต่อกัน (๓) วิธีเขียน (๔) วิธีอ่าน ดังจะอธิบายต่อไปนี้

วิธีแผลงอักษร
วิธีแผลงอักษร คือวิธีเปลี่ยนแปลงตัวอักษรด้วยวิธีต่างๆ ให้ผิดจากรูปเดิมของคำภาษาไทยบ้าง ภาษาอื่นบ้าง เพื่อจะใช้ในการแต่งคำประพันธ์ หรือเรียบเรียงคำพูดให้สละสลวยเป็นข้อใหญ่ และวิธีแผลงอักษรที่เรานำมาใช้นี้ ย่อมอาศัยหลักในภาษาอื่น ดังต่อไปนี้

(๑) อาศัยหลักในภาษาเขมร ซึ่งเขามีวิธีแผลงคำพูดให้มีความต่างกัน ออกไป เช่น ‘ชิ’ (ขี่) แผลงเบน ‘ชำนิ’ (เครื่องขับขี่เช่นยานพาหนะ),‘คู’ (วาดเขียน) แผลงเป็น ‘คำนู’ (รูปภาพที่ได้วาดเขียนไว้) ฯลฯ และเติม พยางค์เข้าข้างหน้าคล้ายอุปสรรคเช่น ‘หัด’ (ฝึกหัด) ‘เรียน’ (เล่าเรียน) เติม‘บํ’ (บ็อม) เข้าเป็น ‘บํหัด’ และ ‘บํเรียน’ ซึ่งแปลว่าให้ฝึกหัด ให้เล่าเรียน ฯลฯ วิธีเหล่านี้เรานำเอามาใช้ในภาษาไทยเราโดยมาก เช่น เกิด- กำเนิด, จ่าย-จำหน่าย, ตรวจ-ตำรวจ และ เกิด-บังเกิด, วาย-บังวาย เหล่านี้เป็นต้น ทางหนึ่ง

(๒) เนื่องจากอักขรวิธีในภาษาบาลีและสันสกฤต เช่น วิธีพฤทธิ อิ เป็น ไอ, อุ เป็น เอา ฯลฯ ก็ดี เปลี่ยนพยัญชนะก็ดี เติมพยัญชนะเข้ามาที่ เรียกว่าลงพยัญชนะอาคมก็ดี เป็นต้น นี้ทางหนึ่ง

(๓) เนื่องจากชาวอินเดียที่ใช้ภาษาปรากฤต ได้นำเอาภาษาสันสกฤต เข้ามาสอนเรา แต่เขาเรียกตัวอักษรเพี้ยนไปตามภาษาปรากฤตของเขา เช่นเรียกตัว ‘ต’ เป็นเสียงตัว ‘ด’ โดยมาก ตัวอย่าง มาตา เรียก มาดา, เตโช เรียก เดโช ฯลฯ และเสียงตัว ว มักเรียกเป็นเสียงตัว ‘พ’ ในภาษาบาลีแทบทั้งหมด เป็นต้น อีกทางหนึ่ง

คำที่เปลี่ยนแปลงไปตามหลักที่มาทั้ง ๓ ทางนี่แหละ ท่านรวมเรียกว่าคำแผลง และคำแผลงเหล่านี้ จะย่นย่อเข้าแล้ว ก็รวบรวมได้ว่ามีวิธีแผลงอยู่ ๓ ประเภท คือ ๑. วิธีแผลงสระ ๒. วิธีแผลงพยัญชนะ และ ๓. วิธีแผลงวรรณยุกต์

ที่มา:พระยาอุปกิตศิลปสาร

วิธีประสมอักษร

พยางค์
อักษรทั้ง ๓ พวกที่กล่าวมาแล้วนั้น ตั้งขึ้นเพื่อใช้แทนคำ ถอยคำที่เราใช้พูดกันนั้น บางทีก็เปล่งเสียงออกครั้งเดียว บางทีก็หลายครั้ง เสียงที่เปล่งออกมาครั้งหนึ่งๆ นั้น ท่านเรียกว่า ‘พยางค์’ คือส่วนของคำพูด เพราะฉะนั้น คำพูดคำหนึ่งๆ จึงมีพยางค์ต่างๆ กัน เช่น ‘นา’ (ที่ปลูกข้าว) เป็นคำหนึ่งมีพยางค์เดียว, ‘นาวา’(เรือ) เป็นคำหนึ่งมี ๒ พยางค์, ‘นาฬิกา’ เป็นคำหนึ่งมี ๓ พยางค์ และคำอื่นๆ ที่มีพยางค์มากกว่านี้ก็ยังมี

วิธีประสมอักษร
ส่วนของคำพูดคือพยางค์หนึ่งๆ นั้น ถ้าจะใช้ตัวอักษรเขียนแทน ก็ต้องใช้อักษรทั้ง ๓ พวก คือ สระ พยัญชนะ และวรรณยุกต์ประสมกัน จึงจะออกเสียงเป็นพยางค์หนึ่งได้ ดังนี้คือ (๑) ต้องมีสระซึ่งนับว่าเป็นพื้นเสียงที่เปล่งออกมาจากลำคอ (๒) ต้องมีพยัญชนะเพื่อเป็นเครื่องหมาย ใช้แทนเสียงที่ปรวนแปรไปต่างๆ ตามนิยมของภาษา อย่างต่ำก็ต้องมีตัว อ ซึ่งนับว่าเป็นทุ่นให้สระอาศัย จึงจะออกเสียงได้ตามลัทธิในภาษาไทย (๓) เมื่อออกเสียงเป็น อะ อา, กะ กา เช่นนั้นแล้ว ถึงแม้ว่าจะไม่มีรูปวรรณยุกต์ก็ต้องนับว่าเป็นเสียงวรรณยุกต์ ดังอธิบายแล้ว เพราะฉะนั้น พยางค์หนึ่งจึงต้องมีอักษรประสมกันตั้งแต่ ๓ ส่วนขึ้นไป

จำแนกวิธีประสมอักษร
วิธีประสมอักษรท่านจำแนกเป็น ๓ วิธี ดังนี้

(๑) ประสม ๓ ส่วน วิธีนี้ท่านเรียกว่า ‘มาตรา กะ กา ’ หรือ ‘ แม่ ก กา ’ มีสระ พยัญชนะ และวรรณยุกต์ ดังอธิบายแล้ว จะแจกไว้ให้ดูเป็นแบบดังนี้
กะ กา กิ กี กึ กี กุ กู เกะ เก แกะ แก โกะ โก เกาะ กอ เกอะ เกอ เกียะ เกีย เกือะ เกือ กัวะ กัว (กำ ใก ไก เกา)

ฤ ฤๅ ฦ ฦๅ เป็นสระพิเศษตามวิธีประสมอักษร ท่านนับว่ามีเสียงพยัญชนะ คือ ตัว ร ล ประสมอยู่ด้วยแล้ว จะเขียนโดยลำพังไม่ต้องประสมกับพยัญชนะก็ได้ ท่านจึงไม่แจกไว้ในแม่ ก กา จะอธิบายภายหลัง

พยางค์ที่มี สระ อำ ใอ ไอ เอา ซึ่งอยู่ในวงเล็บนั้น ถ้ากำหนดตามรูป สระแล้วก็เป็นเหมือนประสม ๓ ส่วน จึงจัดไว้ในแม่ ก กา แต่ถ้าว่าตามสำเนียงอักษรประสมกันแล้ว ต้องอยู่ในวิธีประสม ๔ ส่วน (ข้างหน้า) เพราะเป็นเสียงมีตัวสะกด

(๒) ประสม ๔ ส่วน วิธีนี้มี ๒ อย่าง คือ:-
(ก) ประสม ๔ ส่วนปกติ ได้แก่วิธีประสม ๓ ส่วนนั้นเอง ซึ่งเพิ่ม ตัวสะกดเข้าอีกเป็นส่วนที่ ๔ ท่านเรียกต่างกันเป็นมาตรา ๘ มาตรา คือ แม่ กก, แม่ กง, แม่ กด, แม่ กน, แม่ กบ, แม่ กม, แม่ เกย, แม่ เกอว เป็นคำตาย ๓ แม่ คือ แม่ กก, แม่ กด, แม่ กบ นอกนั้นเป็นคำเป็น จัก แจกแม่ กก ไว้ให้ดูเป็นแบบ ดังนี้

กัก กาก กิก กีก กึก กืก กุก กูก เก็ก เกก แก็ก แกก กก โกก ก็อก กอกเก็อก(เกิก) เกอก(เกิก) เกี็ยก เกียก เกื็อก เกือก ก็วก กวก

พยางค์ประสมสระ อำ ใอ ไอ เอา ก็มีสำเนียงนับเข้าในพวกนี้ คือ  อำ อยู่ในแม่ กม, ใอ ไอ อยู่ใน แม่เกย, เอา อยู่ใน แม่เกอว

(ข) ประสม ๔ ส่วนพิเศษ คือวิธีประสม ๓ ส่วนซึ่งมีตัวการันต์เพิ่มเข้าเป็นส่วนที่ ๔ ได้แก่แม่ ก กา มีตัวการันต์ เช่น สีห์ เล่ห์ เท่ห์ เป็นต้น

(๓) ประสม ๕ ส่วน วิธีนี้ได้แก่วิธีประสม ๔ ส่วนปกติ ซึ่งมีตัวการันต์เติมเข้าเป็นส่วนที่ ๕ ได้แก่มาตราทั้ง ๘ แม่ มีตัวการันต์ เช่น ศักดิ์, สังข์, หัตถ์, ขันธ์ เป็นต้น กับพยางค์ที่ประสมสระ อำ ใอ ไอ เอา มีตัวการันต์ เช่น ไทย ไมล์ เสาร์ เยาว์ ฯลฯ เหล่านี้นับว่าประสม ๕ ส่วนเหมือนกัน

ส่วนของพยางค์
ตามที่ได้อธิบายมาแล้วว่า พยางค์หนึ่งๆ ต้องใช้อักษรผสมกัน ๓ ส่วนบ้าง ๔ ส่วนบ้าง และ ๕ ส่วนบ้าง ส่วนของพยางค์เหล่านี้มีชื่อต่างกัน
เป็น ๕ ชนิด คือ (๑) พยัญชนะต้น (๒) สระ (๓) ตัววสะกด (๔) วรรณยุกต์ (๕) ตัวการันต์ จะอธิบายทีละส่วน ดังนี้

พยัญชนะต้น
พยัญชนะต้น คือ พยัญชนะตัวแรกที่ประสมกับสระ ทำให้อ่านออกเสียงแปรไปต่างๆ บางทีก็มีตัวเดียว บางทีก็มี ๒ ตัว ๓ ตัวประสมกัน พยัญชนะต้นที่มีตัวเดียวนั้น ย่อมเห็นได้ตามแบบมาตราทั้ง ๙ ที่อธิบายมาแล้ว เช่น กา ตี กาง กาก ขาย ขาม ขาง เป็นต้น บางทีก็เพี้ยนไปบ้างตามที่เปลี่ยนแปลงหรือลดรูปสระเสีย เช่น จรลี, สมณะ ซึ่งควรเป็น จอ-ระ-ลี, สะ-มะ-ณะ จะอธิบายในส่วนสระ

พยัญชนะประสม
พยัญชนะที่ประสมกัน ๒ ตัว อยู่ในสระเดียวกัน เรียกว่า พยัญชนะประสม ตามภาษาเดิมหรือภาษาอื่นเขาอ่านเสียงกล้ำกันเป็นพยางค์ เดียว แต่ในภาษาไทยอ่านต่างๆ กัน บางทีก็เป็นแต่สักว่ารูปเป็นพยัญชนะประสม แต่อ่านเรียงกันเป็น ๒ พยางค์อย่างมีสระประสมกันอยู่ด้วย เช่น พยาบาท อ่าน พะ-ยา-บาท, มัธยม อ่าน มัด-ธะ-ยม ฯลฯ บางทีก็อ่านกล้ำเป็นเสียงสระเดียวตามแบบเดิม เช่น กรีฑา, ปราสาท ฯลฯ เพราะฉะนั้น ในภาษาไทย ท่านจึงแบ่งพยัญชนะประสมออกเป็น ๒ พวก ดังนี้

(๑) อักษรนำ คือพยัญชนะ ๒ ตัวเรียงกันประสมสระเดียว แต่ออกเสียงเป็น ๒ พยางค์ คือ พยางค์ต้นเหมือนมีสระประสมอยู่ด้วย พยางค์ที่ ๒ ออกเสียงตามสระประสมอยู่ และพยางค์ที่ ๒ นี้ถ้าเป็นอักษรเดี่ยวต้องออกเสียงวรรณยุกต์และผันตามตัวหน้าด้วย เช่น แสม อ่าน สะ-แหม, จรัส อ่าน จะ-หรัส เป็นต้น เว้นแต่ ตัว ห นำอักษรเดี่ยวหรือตัว อ นำตัว ย ไม่ต้อง ออกเสียงตัว ห และตัว อ เป็นแต่ออกเสียง และผันตัวหลังตามตัว ห และ ตัว อ เท่านั้น เช่น หงอ หญ้า ไหน อย่า อยู่ เป็นต้น ถ้าตัวหน้าเป็นอักษรต่ำก็ดี หรือตัวหลังไม่ใช่อักษรเดี่ยวก็ดี ก็ไม่เปลี่ยนแปลงเสียงวรรณยุกต์ ปรากฏแต่รูปเป็นอักษรนำเท่านั้น แต่อ่านอย่างเดียวกับคำเรียงพยางค์ เช่น พยาธิ อ่าน พะยาธิ, มัธยม อ่าน มัดธะยม เป็นต้น

คำจำพวกหนึ่งมีสระประสมทั้ง ๒ พยางค์ แต่อ่านพยางค์เป็นเสียงวรรณยุกต์อย่างตัวหน้าคล้ายอักษรนำ เช่น ดิลก อ่าน ดิ-หลก, ประโยค อ่าน ประโหยก เป็นต้น คำเหล่านี้เป็นพิเศษจะนับว่าอักษรนำไม่ได้

(๒) อักษรควบ คือพยัญชนะที่ควบกับตัว ร,ล,ว มีเสียงกล้ำเป็นสระเดียวกัน มี ๒ อย่างคือ

(ก) อักษรควบแท้ ได้แก่อักษรควบที่ออกเสียง พยัญชนะทั้ง ๒ ตัว เช่น กรู, กลด, กว่า ฯลฯ

(ข) อักษรควบไม่แท้ ได้แก่ อักษรควบที่ออกเสียงแต่ตัวหน้าตัวเดียวบ้าง ออกเสียงกลายเป็นตัวอื่นไปบ้าง เช่น จริง, สรวม, ไซร้, ทราบ, ทรง, ทราม, ทราย เป็นต้น อักษรควบนี้กำหนดเสียงวรรณยุกต์ และวิธีผันตัวอักษรตัวหน้าอย่างอักษรนำเหมือนกัน

พยัญชนะที่ประสมกับตัว ร,ล,ว นี้ ถ้าอ่านเป็นเสียง ๒ พยางค์ ก็ไม่นับว่าเป็นอักษรควบ เช่น อร่อย อ่าน อะ-หร่อย, ตลาด อ่าน ตะ-หลาด, ตวาด อ่าน ตะ-หวาด ฯลฯ ดังนี้ต้องนับว่าเป็นอักษรนำ

ส่วนสระ
สระ ๓๒ ที่ประกอบขึ้นด้วยรูปสระ ๒๑ นั้น เมื่อประสมกับ พยัญชนะเป็นมาตราทั้ง ๙ แม่นั้น ย่อมมีรูปผิดเพี้ยนไปจากเดิมบ้าง ดังนี้

(๑) ในแม่ ก กา โดยมากรูปสระคงที่ แต่มีเปลี่ยนแปลงบ้าง คือ:- สระอะ โดยมากประวิสรรชนีย์ แต่บางคำลดวิสรรชนีย์ออกเสีย เช่น ณ ธ ทนาย พนักงาน อนุชา ฯลฯ

สระอือ ต้องเติมตัว อ เข้าด้วย เช่น มือ คือ ถือ ฯลฯ

สระเอาะ เมื่อประสมกับตัว ก ไม้โท ต้องลดรูปสระหมด ใส่แต่ไม้ไต่คู้ ข้างบนดังนี้ ก็ (เก้าะ) (แปลกอยู่คำเดียวเท่านั้น)

สระออ โดยมากมีตัว อ เคียง แต่บางคำลดตัว อ เสีย เช่น บ,บ่ (ไม่), จรลี, ทรกรรม ฯลฯ

สระอัว คงรูปตามเดิม แต่หนังสือโบราณเปลี่ยนไม้ผัดเป็นตัว ว อย่าง  ว หันก็มีบ้าง เช่น ท่วว, ตวว, หวว ฯลฯ

(๒) ในมาตรามีตัวสะกดทั้ง ๘ แม่ มีวิธีเปลี่ยนรูปสระเป็นแบบเดียวกัน แต่ต่างออกไปจากแม่ ก กา มาก ดังนี้

สระอะ เปลี่ยนวิสรรชนีย์

(๑) ไม้ผัด เช่น กัก กัง กัน ฯลฯ (ถ้า ตัว ว สะกดใช้แต่ในภาษาบาลีและสันสกฤต เช่น อัว๎หย อ่าน เอาหยะ แต่ ไทยใช้สระเอาแทน)

(๒) เป็นอักษรหันซึ่งเรียกว่า ก หัน, ง หัน, น หัน, ร หัน ฯลฯ ตามตัวสะกด เช่น ตกก ดงง นนน สรร เป็นต้น เหล่านี้ มีในหนังสือโบราณโดยมาก เดี๋ยวนี้ยังคงใช้อยู่แต่ ร หันเท่านั้น

สระเอะ แอะ เปลี่ยนวิสรรชนีย์เป็นไม้ไต่คู้ เช่น เล็ก เก็ง แข็ง ฯลฯ

สระโอะ ลดไม้โอ กับวิสรรชนีย์ออกเสีย เช่น กก กง ลด ฯลฯ (เว้น แต่ตัว ร สะกดไม่อ่านสระโอะ)

สระเอาะ ลดรูปสระเดิมหมด ใช้ตัว อ กับไม้ไต่คู้แทน เช่น น็อต, ล็อก ฯลฯ

สระออ ถ้าตัว ร สะกดลดตัว อ ออกเสีย เช่น จร พร กร ฯลฯ

สระเออะ เออ เปลี่ยนวิสรรชนีย์ในสระ เออะ เป็นไม้ไต่คู้ เช่น เก็อก เก็อง ฯลฯ ในแม่เกย ลดตัว อ ออกเสียก็ได้ทั้งสระ เออะ และ เออ เช่น เก็ย เกย ฯลฯ รูปนี้ใช้แต่ภาษาไทย ในบาลีและสันสกฤตต้องอ่านเป็นเสียงสระเอ เช่น ‘เวเนยฺโย, เสยฺโย’ จะอ่านว่า ‘เวเนอยโย, เสอยโย’ อย่างไทยอ่านไม่ได้ ฯลฯ นอกจากแม่เกยนี้แล้ว มักจะเอาตัว อ เป็นพินทุ์ อิ ทั้งสองสระ เช่น เกิ็ก เกิก เกิ็ง เกิง  ฯลฯ

สระเอียะ เอือะ เปลี่ยนวิสรรชนีย์เป็นไม้ไต่คู้ เช่น เกี็ยก, เกี็ยง, เกื็อก เกื็อง ฯลฯ (แต่ไม่มีที่ใช้)

สระเอีย ตามหนังสือโบราณ ลดไม้หน้ากับพินทุ์ อิ ออกเสียก็มี เช่น วยง (เวียง) รยก (เรียก) ฯลฯ

สระอัวะ อัว เปลี่ยนวิสรรชนีย์ของสระอัวะ เป็นไม้ไต่คู้และลดไม้ผัด ออกเสียทั้งสองสระ เช่น ก็วก ก็วง กวก กวง ฯลฯ

บรรดาพยางค์ทั้งหลายที่มีไม้ไต่คู้ข้างบน ถ้าจะใส่ไม้วรรณยุกต์ ต้องลด ไม้ไต่คู้ออกเสีย เพื่อไม่ให้รุงรัง ตัวอย่างเช่น เผ่น เล่น ร่อน ร้อน ฯลฯ ถึง แม้จะปนกับสระเสียงยาว ก็สังเกตได้ด้วยความเคยชินว่า คำไหนสั้น คำไหนยาว เช่น “ร่วน” สั้น “ร้อน” ยาว เป็นต้น รูปสระนอกจากนี้คงใช้ตามเดิม

(๑) อนึ่งสระเกินทั้ง ๘ ตัว เมื่อประสมกับพยัญชนะไม่เปลี่ยนแปลงรูป เลย แต่มีลักษณะแปลกกับรูปสระอื่นๆ อยู่บ้าง ดังนี้

ฤ ฤๅ ฦ ฦๅ ๔ ตัวนี้ พื้นเสียงมี ร, ล ประสมอยู่ในตัวแล้ว ถึงจะเขียน โดยลำพังไม่ต้องมีพยัญชนะประสมก็ออกเสียงเป็นพยางค์หนึ่ง ครบตามวิธีประสม ๓ ส่วน คือเหมือนกับ รึ รือ ลึ ลือ ถ้าประสมกับพยัญชนะต้นเข้า ก็มีเสียงอย่างอักษรควบ ดังนี้ กฤ กฤๅ กฦ กฦๅ อ่าน กรึ กรือ กลึ กลือ แต่สระ ฤ นั้นอ่านได้ ๓ อย่าง คือ อ่านเป็น ริ เช่น กฤดา (ก๎ริดา), อ่านเป็น รึ เช่น พฤกษ์ (พรึก), อ่านเป็น เรอ เช่น ฤกษ์ (เริก) โบราณอ่านเป็น รี ก็มีบ้าง เช่น ปฤชา (ปรีชา) เดี๋ยวนี้ไม่ใคร่ใช้แล้ว สระ ฤๅ ฦ ฦๅ นั้นออกเสียงคงที่

สระอำ ใอ ไอ เอา ๔ ตัวนี้ พื้นเสียงมีตัวสะกดอยู่ด้วย ดังอธิบายแล้ว แต่ ไอ เอา ๒ ตัวนี้ เอาพยัญชนะบางตัวสะกดได้อีก เช่น ไมล, ไลฟ, ไตม, . ไปป, เอานซ์, เปานด์ เป็นต้น

ส่วนตัวสะกด
ตัวสะกดนั้น คือ พยัญชนะที่ประกอบอยู่ข้างท้ายสระและมีเสียง ประสมเข้ากับสระ ทำให้หนักขึ้นตามฐานของพยัญชนะ เช่น กา เป็น กาก กาง  กาด กาน กาบ กาม กาย กาว เป็นต้น ท่านจัดไว้เป็นพวกๆตามมาตรา ดังนี้ คือ แม่ กก มีพยัญชนะ วรรค ก เว้นตัว ง เป็นตัวสะกด, แม่ กง ตัว ง สะกด, แม่ กด วรรค จ, วรรค ฎ, วรรค ด, และ ศ ษ ส เว้นตัว ญ ณ น เป็นตัวสะกด, แม่ กน ตัว ญ ณ ร ล ฬ เป็นตัวสะกด, แม่ กบ วรรค บ เว้นตัว ม เป็นตัว สะกด, แม่ กม ตัว ม เป็นตัวสะกด, แม่ เกย ตัว ย เป็นตัวสะกด และ แม่ เกอว ตัว ว เป็นตัวสะกด

ตามนี้ว่าตามฐานของพยัญชนะที่ควรจะสะกดได้ แต่มีพยัญชนะบางตัว ซึ่งไม่เคยใช้สะกดเลย คือ ฃ ฅ ฉ ฌ ผ ฝ เหล่านี้ถึงแม้จะสะกดก็สะกดได้ตามหลักข้างบนนี้

ตัวสะกดนั้นจะมีสระประสมอยู่ด้วยก็ได้ ไม่มีก็ได้ เช่น สุข, ราช, โพธิ, ธาตุ แต่ถ้าจะอ่านออกเสียงตัวสะกดด้วยก็ได้ เช่น คำข้างบนนี้อ่าน สุก-ขะ, ราด-ชะ, โพด-ธิ, ธาด-ตุ เมื่อเป็นเช่นนี้ต้องนับว่าตัวสะกดนั้นทำหน้าที่ ๒ อย่าง คือ เป็นตัวสะกดด้วย และเป็นพยัญชนะต้นของพยางค์ต่อไปด้วย และตัวสะกดนี้ เป็นพยัญชนะประสมกันก็ได้ มีลักษณะดังนี้

(๑) อักษรนำ ในจำพวกอักษรนำนี้ ต้องนับพยัญชนะตัวนำเป็นตัวสะกด เพราะออกเสียงเป็นตัวสะกดแต่นำหน้าตัวเดียว เช่น ทิพย,แพทย ดังนี้ ตัว พ, ท เป็นตัวสะกด ตัวหลังนับว่าเป็นอื่น ถ้าจะอ่านออกเสียงตัวสะกดด้วย ก็ต้องนับเป็นเหมือนอักษรนำที่เป็นพยัญชนะต้นของพยางค์ต่อไปอีกต่างหาก เช่น ทิพย อ่าน ทิบ-พะ-ยะ, วาสนา อ่าน วาด-สะ-หนา ฯลฯ

(๒) อักษรควบ ในส่วนอักษรควบนี้ ถึงแม้ว่าจะออกเสียงตัวหน้าตัวเดียวเป็นตัวสะกดก็ดี ต้องนับว่าเป็นตัวสะกดทั้งคู่ เพราะมีเสียงกล้ำสนิท และถึงจะอ่านตัวสะกดด้วย ก็ต้องออกเสียงเป็นพยัญชนะควบ เช่น บุตร จักร ต้องอ่าน บุต-ต๎ระ, จัก-ก๎ระ ดังนี้เป็นต้น

ยังมีตัวสะกดเป็นอักษรควบอีกพวกหนึ่ง คือ ตัว ร หรือ ตัว ห ควบกับ ตัวอื่น ซึ่งเนื่องมาจากสันสกฤต เช่น คำว่า ธรฺม, นารฺถ, มารฺก, พฺรหฺม, ในภาษาเดิมเขาอ่าน ร๎ม ร๎ถ ร๎ค ห๎ม ควบกันสนิท ครั้นตกในภาษาไทยเขียน ธรรม นารถ มารค พรหม และออกเสียงตัวหลังเป็นตัวสะกดตัวเดียวเพราะตัว ร และ ห มีเสียงอ่อนกว่า ดังนี้ ธัม, นาด, มาก, พรม ถ้าจะออกเสียงตัวหน้าเป็นตัว สะกด ก็ต้องการันต์ตัวหลังเสีย เช่นธรรม์,สรรพ์ อ่าน ธัน, สัน ฯลฯ แต่ถ้าตัวหลังมีเสียงอ่อนเช่นเดียวกัน ถ้าไม่การันต์ตัวหลังก็ออกเสียงตัวหน้าเป็นตัวสะกด เช่น พรหมจรรย, ไอศวรรย อ่าน พรม-มะจัน, ไอสะ-หวัน ไม่อ่าน ว่า พรห-มะจัย, ไอ-สะหวัย

ตัวสะกดที่เป็นอักษรควบเช่นนี้ ต้องนับเข้าในจำพวกควบไม่แท้อย่างเดียวกับ จ ควบ ร (จริง) ซ หรือ ส ควบ ร (ไซร้, สรง) ท ควบ ร (ทรง) เป็นต้น

ส่วนวรรณยุกต์
เมื่อเอาพยัญชนะประสมเข้ากับสระแล้ว ก็อ่านออกเสียงได้ ถึงจะมีรูปวรรณยุกต์หรือไม่มีก็ดี เสียงวรรณยุกต์ก็เกิดขึ้นเป็นเงาตามตัว แต่ถ้าเพิ่มเติมตัวสะกดขึ้นอีก ก็ต้องอ่านออกเสียงไปอีกอย่างหนึ่ง บางทีเสียงวรรณยุกต์ก็ผิดไปด้วยเหมือนกัน เช่น “มา” วรรณยุกต์สามัญ ถ้าเติมตัว ก สะกดเข้าเป็น  “มาก” เป็นวรรณยุกต์โทไป ได้อธิบายไว้ชัดเจนแล้วในเรื่อง วรรณยุกต์

ส่วนตัวการันต์
ตัวการันต์นั้น คือพยัญชนะสุดท้ายที่ไม่ต้องการอ่านออกเสียงเป็นตัวสะกด หรือเป็นพยัญชนะต้นของพยางค์ต่อไป โดยมากมีไม้ทัณฑฆาตบังคับข้างบน แต่บางทีก็ทิ้งไว้ลอยๆ ทราบได้ด้วยความเคยชิน แต่พยัญชนะที่มีไม้ทัณฑฆาตนั้น ใช้เป็นตัวการันต์แต่เฉพาะในภาษาไทยเท่านั้น ในบาลีและสันสกฤตใช้เป็นตัวสะกด ดังกล่าวแล้ว

ตัวการันต์นี้ มีไว้เพื่อรักษารูปเดิมของศัพท์ให้คงที่อยู่ ศัพฑ์ที่มีตัวการันต์ นั้น โดยมากมักมาจากภาษาบาลีและสันสกฤต เพราะศัพท์หนึ่งๆในภาษาเดิม เขาออกเสียงเป็นหลายพยางค์โดยมาก แต่ภาษาไทยเพราะพูดช้า ต้องการน้อยพยางค์ จึงเอาพยางค์หลังมาเป็นตัวสะกดเสียบ้าง การันต์เสียบ้าง เช่น สุ-ข, ธา-ตุ, โย-ช-น, กาญ-จ-น อ่าน สุก, ธาตุ, โยด, กาน เป็นต้น ครั้นจะทิ้งตัวการันต์เสียก็กลัวจะเสียรูปศัพท์เดิมทำให้ความเคลื่อนคลาดไป

ตัวสะกด และตัวการันต์นั้นอยู่ข้างจะปนกัน ควรสังเกต ดังต่อไปนี้ พยัญชนะตัวเดียว ถ้าไม่ต้องการเป็นตัวสะกด หรืออ่านอีกพยางค์หนึ่ง แล้ว ก็นับว่าเป็นตัวการันต์ ควรใส่ไม้ทัณฑฆาตเสีย เช่น ธรรมลังการ์ ต้นโพธิ์ เป็นต้น แต่ถ้าออกเสียงเป็นตัวสะกดแล้ว ต้องนับว่าเป็นตัวสะกด ไม่ต้องมีไม้ทัณฑฆาต เช่น ธาตุ, อลังการ, มหาโพธิ เป็นต้น

อักษรควบทั้งปวง ต้องนับเป็นตัวสะกดทั้งคู่ เว้นแต่อักษรควบไม่แท้ที่มี เสียงตัวหน้าอ่อน คือ ร ควบกับตัวอื่น ถ้าต้องการเอาตัว ร สะกดตัวเดียว เช่น ธรรม์ สรรค์ ดังนี้ ตัวหน้าเป็นตัวสะกด ตัวหลัง คือ ม, ค เป็นตัวการันต์ ควรใส่ไม้ทัณฑฆาตเสีย

อักษรนำทั้งปวง ตัวนำเป็นตัวสะกด ตัวตามหลังถ้าไม่อ่านเป็นพยางค์ ต่อไป ต้องนับว่าเป็นตัวการันต์ เช่น ทิพย์ กฤษณ์ ดังนี้ พ และ ษ เป็นตัว สะกด ย และ ณ เป็นตัวการันต์ บางทีท่านก็ไม่ใช้ไม้ทัณฑฆาต ดังนี้ ทิพย กฤษณ

ตัวการันต์นี้ เป็นพยัญชนะตัวเดียวก็มี เป็นอักษรควบหรือนำก็มี สองตัว เรียงกันก็มี มีรูปสระประกอบอยู่ด้วยก็มี ดังนี้ ตัวเดียว-สงฆ์ อักษรควบ- พักตร์, อักษรนำ-ลักษณ์, สองตัวเรียงกัน-กาญจน์, มีรูปสระประกอบ- ประสิทธิ์ บริสุทธิ์ บงสุ์ ฯลฯ  โดยมากมักอยู่ท้ายพยางค์ ท่านจึงเรียกว่าการันต์ แปลว่า อักษรสุดท้าย

วิธีกระจายอักษร
เมื่อได้อธิบายวิธีประสมอักษรให้ผู้เรียนเข้าใจตลอดแล้ว ต่อไปนี้ จะวางแบบวิธีกระจายอักษรไว้ให้ดูเป็นตัวอย่าง วิธีกระจายอักษรนี้ ต่างกับการบอกวิธีเขียน (ที่เรียกว่าตัวสะกด) เพราะการบอกวิธีเขียนนั้น เขียนอย่างใด ก็บอกอย่างนั้น เช่น ‘พ้น’ ก็บอกว่า พ (พาน) ไม้โท น (หนู) สะกด ไม่ชี้แจงโดยถี่ถ้วนว่า สระอะไร วรรณยุกต์อะไร เป็นต้นนั้น แต่วิธีกระจายอักษร ต้องบอกโดยถี่ถ้วนทุกส่วนของพยางค์ เป็นเครื่องฝึกซ้อมความเข้าใจในลักษณะ ตัวอักษร และวิธีประสมตัวอักษรให้แม่นยำขึ้น ให้นักเรียนกระจายตามระเบียบ

(๑) ต้องบอกส่วนของพยางค์เรียงตามลำดับ ดังอธิบายมาแล้ว คือ:-

๑. พยัญชนะต้น ๒. สระ ๓. ตัวสะกด ๔. วรรณยุกต์ (ถ้าไม่มีตัวสะกด วรรณยุกต์ต้องอยู่รองสระ) ๕. ตัวการันต์

(๒) ในส่วนพยัญชนะต้น ถ้าเป็นพยัญชนะประสม ต้องบอกว่าเป็น อักษรนำหรืออักษรควบด้วย ถ้าจะกระจายด้วยปากเมื่อบอกตัวพยัญชนะที่ซ้ำกัน ต้องออกชื่อของพยัญชนะนั้นๆ ด้วย เช่น ค ควาย ฆ ระฆัง ฯลฯ เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจ

(๓) ในส่วนสระ ให้บอกตามเสียงสระ เช่น สระ เอะ สระ แอะ ฯลฯ ไม่ต้องบอกตามรูปสระว่า ไม้หน้า, วิสรรชนีย์ ฯลฯ แต่สระใดลดรูปหรือเปลี่ยนแปลงไป ต้องบอกว่าลดรูปหรือเปลี่ยนแปลงเป็นอะไรด้วย

(๔) นฤคหิต (° ) ที่แทน ง และ ม ใช้ในภาษาบาลีและสันสกฤต ต้องนับว่าเป็นส่วนตัวสะกด เช่น ในคำว่า ‘กึ’ ให้กระจายว่าพยัญชนะต้น ก สระ อิ นฤคหิตแทน ง (บาลี) แทน ม (สันสกฤต) สะกด แต่ถ้าเป็นสระ อึ หรือ อำ จึงบอกว่าสระ อึ หรือ อำ อย่างสระอื่น

(๕) ในพวกสระเกิน สระ ใอ ไอ ถ้ากระจายปากเปล่า ต้องบอกรูปด้วยว่า สระ ใอ ไม้ ม้วน, สระ ไอ ไม้ มลาย, แต่ ฤ นั้นอ่านหลายอย่าง ต้อง บอกเสียงอ่านด้วยว่า สระ ฤ อ่านเสียง ริ, รึ, หรือ เรอ

(๖) ในส่วนวรรณยุกต์นั้นต้องบอกว่า วรรณยุกต์อะไร มีรูปหรือไม่มีรูป ที่มีรูปต้องบอกว่ารูปไม้อะไร จงดูตัวอย่างต่อไปนี้

ตัวอย่างกระจายอักษร
ก. “ก็” คำพยางค์เดียว
พยัญชนะต้น ก
สระ เอาะ เปลี่ยนรูปเป็นไม้ไต่คู้
วรรณยุกต์ โท ไม่มีรูป

ข. “ไวพจน์” คำ ๒ พยางค์
ไว – พยัญชนะตัว ว
สระ ไอ (ไม้มลาย)
วรรณยุกต์ สามัญ

พจน์-พยัญชนะต้น พ (พาน)
สระ โอะ ลดรูป
ตัวสะกด จ
วรรณยุกต์ ตรี ไม่มีรูป
ตัวการันต์ น

ค. “กฤษณา” คำ ๓ พยางค์
กฤษ-พยัญชนะต้น ก
สระ    ฤ อ่านเสียง ริ
ตัวสะกด    ษ อักษรนำ
วรรณยุกต์    เอก ไม่มีรูป

ษ-พยัญชนะต้น ษ (ฤษี)
สระ    อะ ลดรูป
วรรณยุกต์ เอก ไม่มีรูป

ณา-พยัญชนะต้น ณ (เณร)
สระ    อา
วรรณยุกต์ จัตวา ไม่มีรูป (เพราะ ษ นำ)

ฆ. ถ้ามีหลายคำด้วยกัน จะทำตารางกระจายดังนี้ก็ได้
silapa-0028 - Copy

ที่มา:พระยาอุปกิตศิลปสาร

อักษรคู่อักษรเดี่ยว

อักษรต่ำยังแบ่งออกเป็น ๒ พวกอีก ดังนี้
๑. อักษรคู่ คืออักษรต่ำที่มีเสียงเป็นคู่กับอักษรสูงมี ๑๔ ตัว จัดเป็นคู่ได้ ๗ คู่ ดังนี้

อักษรต่ำ

อักษรสูง

ค ฅ ฆ ข ฃ
ช ฌ
ศ ษ ส
ฑ ฒ ท ธ ฐ ถ
พ ภ

อักษรต่ำกับอักษรสูงที่เป็นคู่กันนี้ ผันไม่ได้ครบเสียงวรรณยุกต์ทั้ง ๕ อย่างอักษรกลาง ต้องใช้วิธีเอาเสียงอักษรที่เป็นคู่กันเข้าช่วยจึงผันได้ครบ ๕ เสียง ดังนี้ คา ข่า ค่า,ข้า ค้า ขา

๒. อักษรเดี่ยว คืออักษรต่ำ พวกที่ไม่มีเสียงอักษรสูงเป็นคู่กันมี ๑๐ ตัว คือ ง ญ ณ น ม ย ร ล ว ฬ  พวกนี้ไม่มีเสียงอักษรสูงเป็นคู่กันเข้าช่วยให้ผันได้ครบ ๕ เสียงอย่างอักษรคู่ จึงต้องมีวิธีใช้วรรณยุกต์ขึ้นอีกอย่างหนึ่ง คือใช้อักษรกลางหรืออักศรสูงนำ ถ้าอักษรกลางนำก็ผันอย่างเดียวกับอักษรกลาง ดังนี้

กงา (กะ-งา) กง่า กง้า กง๊า กง๋า, กรา (ก๎รา) กร่า กร้า กร๊า กร๋า วิธีนำนี้บางทีก็อ่านเป็น ๒ พยางค์ เช่น กงา อ่านว่า กะ-งา บางทีก็อ่านกล้ำเป็นพยางเดียว เช่น กรา อ่านว่า ก๎รา แต่ถ้าตัว อ นำ ตัว ย ไม่ต้องอ่านออกเสียงตัว อ ดังนี้ อยา อย่า หย้า หย๋า ออกเสียงด้วยตัว ย ตัวเดียวเป็นแต่ผันอย่างอักษรกลางเท่านั้น (อ นำ ย เดี๋ยวนี้มีใช้อยู่โดยมาก ๔ คำเท่านั้น คือ อย่า อยู่ อย่าง อยาก) ถ้าอักษรสูงนำก็อ่านเสียงอักษรสูงดังนี้ ขงา (ขะ-หงา) ขง่า ขง้า, ขรา (ข๎รา) ขร่า ขร้า  แต่ถ้าตัว ห นำ ไม่ต้องออกเสียงตัว ห ออกเสียงอักษรเดี่ยวที่ตามหลังเป็นเสียงจัตวา และผันอย่างอักษรสูง ดังนี้ หงา หง่า หง้า

ด้วยใช้วิธีนำเช่นนี้ อักษรเดี่ยวจึงผันได้ครบทั้ง ๕ เสียง ดังนี้
อยา อย่า อย้า อย๊า อย๋า, งา หง่า ง่า,หง้า ง้า หงา

จงสังเกตไว้ว่า อักษรกลางหรือสูง จะนำและผันให้เสียงเป็นอักษรกลางหรือสูงได้ก็แต่อักษรเดียวพวกเดี่ยว ตัวอื่นถึงจะมีนำบ้างตามภาเดิมก็ไม่ออกเสียงเป็นอักษรนำ เช่น ไผท ต้องอ่าน ผะ-ไท ไม่ใช่ ผะ-ไถ เป็นต้น

แบบหลักวรรณยุกต์

ต่อไปนี้ได้ทำแบบหลักวรรณยุกต์ ตามที่ได้อธิบายมาแล้ว ไว้ให้ดูโดยย่อ ดังนี้

silapa-0017 - Copy

ที่มา:พระยาอุปกิตศิลปสาร

คำเป็นคำตาย

คำเป็น คือเสียงที่ประสมทีฆสระ(สระยาว) ในแม่ ก กา เช่น กา กี กือ กู ฯลฯ พวกหนึ่ง กับเสียงแม่ กง กน กม เกย เกอว ทั้งหมดอีกพวกหนึ่ง

คำตาย คือเสียงที่ประสมรัสสระ (สระสั้น) ในแม่ ก กา (เว้นแต่ สระ อำ ไอ ใด เอา ๔ ตัวนี้ถึงเป็นสระสั้นก็มีเสียงเป็นตัวสะกดในแม่ กม เกย เกอว จึงนับว่าเป็น คำเป็น) เช่น กะ กิ กุ ฯลฯ พวกหนึ่ง กับเสียงในแม่ กก กด กบ ทั้งหมดอีกพวกหนึ่ง

ครั้งบุราณผันด้วยไม้วรรณยุกต์ได้แต่คำเป็นเท่านั้น คำตายผันไม่ได้ เว้นไว้แต่คำตายอักษรกลาง ผันด้วยไม้ตรีได้ เช่น แป๊ะ โต๊ะ จุ๊บ ฯลฯ มาบัดนี้มีวิธีผันได้เหมือนกัน

ไตรยางศ์
ไตรยางศ์ แปลว่า ๓ ส่วน คือท่านแบ่งพยัญชนะออกเป็น ๓ พวก ตามวิธีวรรณยุกต์ เพราะวรรณยุกต์นั้นเกี่ยวข้องกับพยัญชนะ ท่านจึงเขียนรูปวรรณยุกต์ไว้บนพยัญชนะ ดังอธิบายแล้ว ถึงสระจะเป็นต้นเสียงก็ดี เสียงสระก็ต้องสูงต่ำไปตามรูปวรรณยุกต์ที่อยู่บนพยัญชนะ ไตรยางศ์ คืออักษร ๓ หมู่นั้น ดังนี้

๑. อักษรสูง มี ๑๑ ตัว คือ ข ฃ ฉ ฐ ถ ผ ฝ ศ ษ ส ห ผันได้ ๓ เสียง คือ

คำเป็น พื้นเสียงเป็นเสียงจัตวา ผันด้วยไม้ ่ ้ เป็นเสียง เอก โท ตามลำดับดังนี้ ขา ข่า ข้า, ขัง ขั่ง ขั้ง

คำตาย  พื้นเสียงเป็นเสียงเอก ผันด้วยไม้ ้ ก็เป็นเสียง โท ดังนี้ ขะ ข้ำ, ขาก ข้าก

๒. อักษรกลาง มี ๙ ตัว คือ ก จ ฎ ฏ ด ต บ ป อ ผันได้ครบทั้ง ๕ เสียง คือ

คำเป็น พื้นเสียงเป็นเสียงสามัญ ผันด้วยไม้ ่ ้ ๊ ๋ เป็นเสียงเอก โท ตรี จัตวา ตามลำดับดังนี้ กา ก่า ก้า ก๊า ก๋า, กัง กั่ง กั้ง กั๊ง กั๋ง

คำตาย พื้นเสียงเป็นเสียงเอก ผันด้วยไม้ ้ ๊ ๋ เป็นเสียง โท ตรี จัตวา ตามลำดับดังนี้ กะ ก้ะ ก๊ะ ก๋ะ, กัก กั้ก กั๊ก กั๋ก

๓. อักษรต่ำ มี ๒๔ ตัว คือ ค ฅ ฆ ง ช ซ ฌ ญ ฑ ฒ ณ ท ธ น พ ฟ ภ ม ย ร ล ว ฬ ฮ ผันได้ 3 เสียงคือ

คำเป็น  พื้นเสียงเป็นเสียงสามัญ ผันด้วยไม้  ่  ้ เป็นเสียงโท และตรี ตามลำดับดังนี้ คา ค่า ค้า, คัง คั่ง คั้ง

คำตาย รัสสระ พื้นเสียงเป็นเสียงตรี ผันด้วยไม้  ่   ๋ เป็นเสียงโทและจัตวาตามลำดับดังนี้ คะ ค่ะ ค๋ะ, คัก คั่ก คั๊ก

คำตาย ทีฆสระ พื้นเสียงเป็นเสียงโท ผันด้วยไม้  ้  ๋ เป็นเสียง ตรี และจัตวา ตามลำดับ ดังนี้ คาก ค้าก ค๋าก

ที่มา:พระยาอุปกิตศิลปสาร

รูปวรรณยุกต์

วรรณยุกต์
รูปวรรณยุกต์
ภาที่ไม่มีเสียงวรรณยุกต์ มีแต่สระกับพยัญชนะก็พอแล้วจะอ่านเป็นเสียงสูงต่ำอย่างไรก็แล้วแต่นิยม  แต่ในภาษาไทยนิยมใช้วรรณยุกต์ด้วย จึงต้องมีอักษร วรรณยุกต์บังคับอีกต่อหนึ่ง จะอ่านเป็นเสียงสูงๆ ต่ำๆ ตามอำเภอใจไม่ได้ วรรณยุกต์มีรูปต่างกันเป็น ๔ ดังนี้

๑. ่ เรียกไม้เอก
๒. ้ เรียกไม้โท
๓. ๊ เรียกไม้ตรี (เหมือนเลข ๗)
๔. ๋ เรียกไม้จัตวา (เหมือนเครื่องหมายบวก)

รูปวรรณยุกต์ทั้ง ๔ นี้ใช้เขียนบนส่วนท้ายของพยัญชนะต้น ดังนี้
กร่อย ด้วย ก๊ก เจ๋อ จะเขียนบนรูปสระหรือตัวสะกด ดังนี้ กรอ่ย ดว้ย ไม่ถูก, ถ้ามีรูปสระอยู่ข้างบน ต้องเขียนบนรูปสระนั้นอีกต่อหนึ่ง ดังนี้ เคลื่อน, ชิ้น, กั๊ก, ตื๋อ

นอกจากรูปวรรณยุกต์นี้ ยังมีวิธีบอกเสียงวรรณยุกต์ได้อีก โดยกำหนดพยัญชนะ ดังจะอธิบายต่อไปข้างหน้า

เสียงวรรณยุกต์
เสียงวรรณยุกต์ที่ใช้อยู่ในภาษาไทยจัดเป็น ๕ เสียง ดังนี้
๑. เสียงสามัญ คือเสียงกลางๆ เช่น กา คาง ฯลฯ
๒. เสียงเอก เช่น ก่า ข่า ปาก หมึก ฯลฯ
๓. เสียงโท เช่น ก้า ค่า มาก ฯลฯ
๔. เสียงตรี เช่น ก๊า ค้า ชัก ฯลฯ
๕. เสียงจัตวา เช่น ก๋า ขา น๋ะ ฯลฯ

ลำดับเสียงนี้จัดตามวิธีวรรณยุกต์  ถ้าจะจัดลำดับให้เสียงเรียงกันอย่างเสียงเครื่องดนตรีแล้ว ควรเป็นดังนี้
๑. เสียงเอก เป็นเสียงต่ำที่สุด เช่น ก่า
๒. เสียงโท เป็นเสียงเอก เช่น ก้า
๓. เสียงสามัญ รองเสียงโท เช่น กา
๔. เสียงตรี รองเสียงสามัญ เช่น ก๊า
๕. เสียงจัตวา รองเสียงตรี และสูงที่สุด เช่น ก๋า

จำแนกวรรณยุกต์
วรรณยุกต์จำแนกออกเป็น ๒ พวก ดังนี้
๑. วรรณยุกต์มีรูป คือ วรรณยุกต์ที่ต้องใช้รูปวรรณยุกต์ คือ ไม้  ่  ้  ๊  ๋ บังคับข้างบน เช่น ก่า ก้า ก๊า ก๋า, ข่า (ข้า ค่า) ค้า
ดังนี้เป็นต้น วรรณยุกต์มีรูปนี้ มีเพียง ๔ เสียง คือ เอก โท ตรี จัตวา เท่านั้น เสียงสามัญไม่มี

๒. วรรณยุกต์ไม่มีรูป คือ วรรณยุกต์ที่ไม่ต้องใช้รูปวรรณยุกต์บังคับข้างบน สังเกตเสียงวรรณยุกต์ได้ด้วยวิธีกำหนดตัวพยัญชนะเป็นสูง กลาง ต่ำ แล้วประสมกับสระและพยัญชนะ อ่านเป็นเสียงวรรณยุกต์ได้ตามพวก เช่น คาง ขาก คาด คัก ขาง ดังนี้เป็นต้นไป วรรณยุกต์ไม่มีรูปนี้ มีครบทั้ง ๕ เสียง

ที่มา:พระยาอุปกิตศิลปสาร

รูปพยัญชนะไทย

พยัญชนะ
รูปพยัญชนะ
รูปพยัญชนะไทย ๔๔ ตัว คือ
ก ข ฃ ค ฅ ฆ ง,     จ ฉ ช ซ ฌ ญ,     ฎ ฏ ฐ ฑ ฒ ณ ด ต ถ ท ธ น,     บ ป ผ ฝ พ ฟ ภ ม,     ย ร ล ว ศ ษ ส ห ฬ อ ฮ

พยัญชนะที่มีเสียงซ้ำกันมีชื่อกำกับอยู่ด้วย เพื่อจะให้ฟังรู้ว่าตัวไหนแน่ แต่ชื่อนั้นเรียกกันต่างๆ ตามลัทธิอาจารย์ ในที่นี้จะเลือกเรียกตามที่ชอบ ดังนี้

ข ข้อง, ฃ เฃต  (เพราะเดิมเขียน “เฃตร”), ค ควาย, ฅ กัณฐา (เพราะเดิมเขียน ฅอ), ฆ ระฆัง, ช ช้าง, ฌ เฌอ(ต้นไม้), ญ หญิง, ฎ ชฎา, ฏ รกชัฏ, ฐ ฐาน, ฑ มณโฑ, ฒ ผู้เฒ่า, ณ เณร, ด เด็ก, ต เต่า, ถ ถุง, ท ทหาร, ธ ธง, น หนู, พ พาน, ภ สำเภา, ย ยักษ์, ร เรือ, ล ลิง, ฬ จุฬา(ปิ่น), (ตัว ร นี้มีเสียงผิดกับ ล แต่มักจะเรียกปนกัน จึงตั้งชื่อไว้เพื่อให้รู้ชัด)

พยัญชนะภาษาบาลี มี ๓๓ ตัว ดังนี้

 

วรรค กะ

วรรค จะ

วรรค ฏะ

วรรค ตะ

วรรค ปะ

เศษ วรรค ย ร ล ว ส ห ฬ º(นิคหิต)

พยัญชนะสันสกฤตมี ๓๕ ตัวคือ เติม ศ, ษ เข้าในเศษวรรค ดังนี้
“ย ร ล ว ศ ษ ส ห ฬ º” นอกนั้นเหมือนพยัญชนะบาลี

๕ วรรคข้างบนนั้นมีวรรคละ ๕ ตัว พยัญชนะแถวหน้า เรียก พยัญชนะที่ ๑ และแถวต่อๆ ไปก็เรียกพยัญชนะที่ ๒-๓-๔-๕ ตามเลขที่กำกับไว้

ต้องจดจำไว้ด้วย เพราะต่อไปจะต้องใช้เปรียบเทียบกับพยัญชนะไทย

การที่พยัญชนะไทยมีมากกว่าแบบเดิมนั้น เป็นเพราะไทยเพิ่มเติมขึ้นทีหลัง

รูปเครื่องหมายกำกับพยัญชนะ
ไทยเราเขียนตัวพยัญชนะเฉยๆ แล้วอ่านเป็นเสียงสระ อะ ประสมอย่างบาลีและสันสกฤตมีอยู่มาก และเขียนติดๆ กันไป เช่น “วินย” ดังนี้จะอ่านว่า “วิน-ยะ” หรือ “วิ-น-ยะ” ก็ได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีเครื่องหมายบังคับ เพื่อจะให้อ่านได้ถูกต้อง มี ๓ รูปดังนี้

์ เรียก ทัณฑฆาต สำหรับเขียนข้างบน เพื่อให้รู้ว่าเป็นตัวการันต์ไม่ต้องอ่าน เช่น “ฤทธิ์” ตัว ธิ ไม่ต้องอ่าน  สำหรับคำภาษาไทยนี้อย่างหนึ่ง สำหรับคำบาลีและสันสกฤต เพื่อให้รู้ว่าเป็นตัวสะกด เช่น “สิน์ธู” ตัว น เป็นตัวสะกดนี้อย่างหนึ่ง

๎ เรียก ยามักการ  สำหรับเขียนไว้ข้างบนในภาษาบาลีและสันสกฤต เพื่อให้รู้ว่าเป็นอักษรควบกัน เช่น “คัน์ต๎วา, พ๎ราห๎มณ” ฯลฯ

ฺ เรียก พินทุ  สำหรับเขียนไว้ข้างล่างตัวพยัญชนะในภาษาบาลีและสันสกฤต เพื่อให้รู้ว่า เป็นตัวสะกดหรือตัวควบแล้วแต่ควร
เช่น คนฺตฺวา อ่าน คัน์ต๎วา, ภนฺเต อ่าน ภัน์เต ตุมฺเห อ่าน ตุม์-เห ฯลฯ

วิธีเขียน คำภาษาบาลีและสันสกฤตตามแบบพินทุนี้ไม่ต้องใช้ไม้หันอากาศ เพราะพยัญชนะภาษาบาลีและสันสกฤตสมมติว่ามีสระ อะ อยู่ในตัวแล้ว เมื่อมีตัวสะกด ก็ต้องอ่านเป็นเสียงสระอะมีตัวสะกด เช่น “ภนฺเต” ต้องอ่าน “ภัน-เต” จะอ่านว่า “ภน-เต” อย่างไทยไม่ได้ เพราะสระโอะไม่มี ถึงมีสระโอก็มีรูปอย่างอื่น

เสียงพยัญชนะ
เสียงพยัญชนะในภาษาไทยมีซ้ำกันอยู่มาก ภาษาเดิมของเขามีสำเนียงต่างกันทุกตัว เป็นเพราะเราเรียกผิดเพี้ยนไปตามภาษาเรา ดังจะอธิบายต่อไปนี้

เสียงพยัญชนะในภาษาบาลีและสันสกฤตเขาเรียกตามฐานดังต่อไปนี้
วรรค กะ กับตัว ห เกิดแต่ฐานคอ ตัว ค ของเขามีเสียงเหมือนตัว G ในคำว่า “God” ของภาษาอังกฤษ ไทยเราเรียกเพี้ยนไปตรงกับตัว ฆ

วรรค จะ กับตัว ย และ ศ เกิดแต่ฐานเพดาน แต่ตัว ช มีเสียงเหมือนตัว J ในภาษาอังกฤษ ไทยเราเรียกเพี้ยนไปตรงกับตัว ฌ และในวรรคนี้เราเติมตัว ซ เข้าตัวหนึ่ง ซึ่งมีเสียงเกิดแต่ฟันอย่างตัว ส และตัว ญ ของเขามีเสียงขึ้นจมูก ส่วนไทยเราเรียกเหมือนตัว ย แต่ใช้สะกดในแม่กน และ ศ ของเขามีเสียงคล้าย Sh ในภาษาอังกฤษ แต่ใช้ลิ้นกดเพดาน และมีลมสั้นกว่า Sh แต่ไทยเราออกเสียงอย่างเดียวกับตัว ส

วรรค ฏะ กับตัว ร, ร และ ฬ เกิดแต่ปุ่มเหงือกมีเสียงก้องขึ้นศีรษะ วรรคนี้ทั้งวรรคไทยเราเรียกเพี้ยนไปตรงกับวรรค ตะ  ซึ่งเกิดแต่ฟัน ตัว ฑ เราเรียกตรงกับตัว ด บ้างเช่น มณฑป, ตรงกับตัว ธ บ้างเช่น กรีฑา, ตัว ร เรียกตรงกัน ตัว ษ ของเขามีเสียงเหมือนตัว Sh อังกฤษ แต่ไทยเราเรียกเหมือน ส และตัว ฬ ก็เรียกเหมือนตัว ล

วรรค ตะ กับตัว ล และ ส เกิดแต่ฟัน ไทยเราเรียกตรงกัน เว้นแต่ตัว ท เขาออกเสียงเป็นตัว ด แต่ไทยเราออกเสียงตรงกับตัว ธ

วรรค ปะ กับตัว ว เกิดแต่ริมฝีปาก ไทยเรียกตรงกัน เว้นแต่ พ เราเรียกเหมือนตัว ภ แต่เขาออกเสียงเหมือนตัว บ และไทยเราเติม ฝ ฟ ซึ่งมีเสียงเกิดแต่ฟันและริมฝีปากเข้าอีก

ตัว อ นั้นนับว่าไม่มีเสียง ตั้งไว้สำหรับเป็นทุ่นให้สระเกาะเท่านั้น
ตัว ฮ นั้นมีเสียงฐานเดียวกับตัว ห ซึ่งไทยเติมเข้ามา

พยัญชนะไทยทั้ง ๔๔ ตัวนั้น ถ้าไม่กำหนดเสียงสูงต่ำแล้ว ก็มีเสียงตามที่ไทยใช้อยู่เพียง ๒๐ เสียงเท่านั้น ดังนี้
๑. ก
๒. ข ฃ ค ฅ ฆ
๓. ง
๔. จ
๕. ฉ ช ฌ
๖. ซ ศ ษ ส
๗. ญ ย
๘. ฎ ด กับเสียง ฑ บางคำ
๙. ฏ ต
๑๐. ฐ ถ ฑ ฒ ท ธ
๑๑. น ณ
๑๒. บ
๑๓. ป
๑๔. ผ พ ภ
๑๕. ฝ ฟ
๑๖. ม
๑๗. ร
๑๘ ล ฬ
๑๙. ว
๒๐. ห ฮ
(เสียง อ ไม่นับ)

ตัว ญ ย นี้ เมื่อประสมสระออกเสียงอย่างเดียวกัน แต่เป็นตัวสะกดมีเสียงต่างกัน คือตัว ญ เป็นแม่กน, ตัว ย เป็นแม่เกย

เสียงพยัญชนะทั้ง ๒๐ นี้ ถ้าจะผันด้วยวรรณยุกต์ทั้ง ๕ ทุกตัวก็มีสำเนียงพอใช้ในภาษาไทย ที่ต้องใช้รูปพยัญชนะซ้ำกันมากออกไปนั้น ก็เพื่อจะใช้ตัวหนังสือให้ตรงกับภาษาเดิมที่เรานำมาใช้เป็นข้อใหญ่

จำแนกพยัญชนะ
พยัญชนะ ๔๔ ตัวนั้น จำแนกตามวิธีใช้เป็น ๓ พวก ดังนี้
๑. พยัญชนะกลาง  คือพยัญชนะที่ใช้เป็นกลางทั่วไปทั้งไทย บาลีและสันสกฤต มี ๒๑ ตัว คือ
ก ข ค ง จ ฉ ช ต ถ ท น ป ผ พ ม ย ร ล ว ส ห

๒. พยัญชนะเดิม คือพยัญชนะที่ติดมาจากแบบเดิม มีที่ใช้ก็แต่คำที่มาจากภาเดิม คือ บาลี และสันสกฤตโดยมาก มี ๑๓ ตัว คือ
ฆ ฌ ญ ฏ ฐ ฑ ฒ ณ ธ ภ ฬ ศ ษ

พยัญชนะเหล่านี้ บางตัวก็ใช้เขียนในภาษาไทยบ้าง แต่มีน้อย นับว่าเป็นพิเศษ เช่น
ฆ่า เฆี่ยน ฆ้อง ระฆัง ตะเฆ่ ใหญ่ หญ้า (พืช) หญิง ผู้เฒ่า ณ(ใน) ธง เธอ สำเภา ตะเภา เภตรา อำเภอ เสภา ภาย(เช่นภายใน) เศร้า ศึก(ศัตรู) เศิก ฯลฯ และใช้เป็นตัวสะกดก็มีบ้าง เช่น เจริญ ขวัญ หาญ เพ็ญ เทอญ ชาญ พิศ ปราศ บำราศ ดาษดา ฯลฯ

๓. พยัญชนะเติม คือพยัญชนะที่ไทยเราคิดเพิ่มเติมขึ้นทีหลัง มี ๑๐ ตัว คือ
ฃ ฅ ซ ฎ ด บ ฝ ฟ อ ฮ
ตัว ฃ ฅ ๒ ตัวนี้ตั้งขึ้นเพื่อเหตุไร ทราบไม่แน่ เดิมใช้ในคำว่า “เฃตร” กับคำว่า “ฅอ” (คือคอคนหรือสัตว์) แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช้แล้ว นับว่าเป็นอันเลิกใช้กันไปเอง

ตัว ซ นี้ตั้งขึ้นสำหรับใช้เป็นตัวอักษรต่ำของ ศ ษ ส เช่น ในคำว่า โซ, เซ, ซุง ฯลฯ

ตัว ฎ ด ๒ ตัวนี้ ตั้งขึ้นด้วยเหตุนี้ คือ เราเรียกตัว ท เพี้ยนไปเป็นเสียงตัว ธ เสียแล้ว เสียงตัว ท เดิมของเขาซึ่งตรงกับตัว ด ก็ขาดไป และเป็นเสียงที่ใช้ในภาษาไทยด้วย จึงต้องตั้งตัว ด ขึ้นแทน และตั้งตัว ฎ ขึ้นแทนตัว ฑ เพื่อให้ได้ระเบียบกับวรรค ต เล็ก และเอามาใช้ในคำที่แผลงมาจากตัว ฏ ต ในภาษาเดิม เช่น ฏีกา เป็น ฎีกา และ ตารา เป็น ดารา ฯลฯ ด้วยหาใช้ในคำที่มาจากตัว ฑ และ ท ในภาษาเดิมไม่ ตัว ฎ ไม่มีที่ใช้ในคำไทยเลย แต่ตัว ด นี้ใช้ในคำไทยทั่วไป เช่น ได้ ดก ดง เด็ก ดัง ฯลฯ

ตัว บ นี้ ตั้งขึ้นแทนเสียงตัว พ โดยเหตุเช่นเดียวกับตัว ด และก็ไม่ใช้ในคำที่มาจากตัว พ เช่นเดียวกัน กลับไปใช้ในคำที่แผลงมาจากตัว ป เช่น ปิตา เป็น บิดา ปารมี เป็น บารมี ฯลฯ และใช้ในคำไทยทั่วไปด้วย เช่น บก บัง ใบ ฯลฯ ตัว ฝ ฟ นี้ไม่มีในภาษาเดิม เราจึงต้องตั้งขึ้นให้พอกับเสียงภาษาไทยทั้งสูงและต่ำ เช่น ฝาง  ฟาง ฝาก ฟาก ฯลฯ

ตัว อ นี้ตั้งขึ้นสำหรับเป็นทุ่นให้สระเกาะเท่านั้น เพราะสระของเราอยู่ลอยแต่ลำพังไม่ได้ ถ้าจะเขียนคำที่ออกเสียงสระอย่างเดียวก็ต้องเอาตัว อ แทนที่เข้าไว้ เช่น อะไร อาลัย อิเหนา อุทัย ไอน้ำ จะเขียนเป็น ะไร, าลัย, ิเหนา, ุทัย, ไ น้ำ ดังนี้ไม่ได้

ตัว ฮ นี้ตั้งขึ้นไว้เป็นอักษรต่ำของตัว ห ใช้ในคำไทย เช่น เฮฮา เฮ้ย โฮก ฮูก ฯลฯ

ที่มา:พระยาอุปกิตศิลปสาร

สระในภาษาไทย

สระ
รูปสระ
สระในภาษาไทยนั้นแปลกออกไปจากบาลีและสันสกฤตและภาษาอื่นๆ ที่ถ่ายแบบมาด้วยกัน คือ ภาษาเหล่านั้นมีรูปสระเป็น ๒ชนิด ใช้เขียนโดดๆ ชนิดหนึ่ง  ใช้ประสมกับพยัญชนะอีกชนิดหนึ่ง แต่ในภาษาไทยมีแต่รูปสระที่ใช้ประสมกับพยัญชนะอย่างเดียว  เมื่อต้องการจะเขียนโดดๆ ก็เอาตัว “อ” ซึ่งจัดไว้ในพวกพยัญชนะมาประสมเข้า ออกเสียงเช่นเดียวกับสระเปล่า เช่น อา, อู, เอ เป็นต้น เว้นแต่สระ ฤ ฤา ฦ ฦา ๔ ตัวนี้เขียนโดดๆ ก็ได้ ประสมกับพยัญชนะก็ได้ เช่นเดียวกับสระอังกฤษ และรูปสระนั้นบางทีก็ใช้รูปเดียวเป็นสระหนึ่ง บางทีก็ใช้หลายรูปประสมกันเป็นสระหนึ่ง มีต่างๆ กันเป็น ๒๑ รูป ดังนี้

๑.  ะ เรียก วิสรรชนีย์  สำหรับประหลังเป็นสระ อะ และประสมกับรูปอื่นเป็นสระ เอะ แอะ โอะ เอาะ เออะ เอียะ เอือะ อัวะ

๒.  ั เรียก ไม้ผัด หรือหันอากาศ สำหรับเขียนข้างบนเป็นสระ อะ เมื่อมีตัวสะกด และประสมกับรูปอื่นเป็นสระ อัวะ อัว

๓. ็ เรีย ไม้ไต่คู้ สำหรับเขียนข้างบนแทนวิสรรชนีย์ในสระบางตัวที่มีตัวสะกด เช่น เอ็น แอ็น อ๊อน ฯลฯ และใช้ประสมกับตัว ก เป็นสระ เอาะ มีไม้โท คือ ก็ (อ่านเก้าะ)

๔. า เรียก ลากข้าง สำหรับเขียนข้างหลังเป็นสระ อา และประสมกับรูปอื่นเป็นสระ เอาะ อำ เอา

๕. ิ เรียก พินทุ์ อิ สำหรับเขียนข้างบนเป็นสระ อิ และประสมกับรูปอื่นเป็นสระ อี อึ อื เอียะ เอีย เอือะ เอือ และใช้แทนตัว อ ของ สระ เออ เมื่อมีตัวสะกดก็ได้ เช่น เกอน เป็น เกิน ฯลฯ

๖. ่ เรียก ฝนทอง สำหรับเขียนข้างบนพินทุ์ อิ เป็นสระ อี และประสมกับรูปอื่นเป็นสระ เอียะ เอีย

๗. º เรียก นฤคหิต หรือหยาดน้ำค้าง สำหรับเขียนข้างบนลากข้างเป็นสระ อำ, บนพินทุ์ อิ เป็นสระ อึ ในภาษาบาลีและสันสกฤตท่านจัดเป็นพยัญชนะเรียกว่า นิคหิต หรือ นฤคหิต  สำหรับเขียนบนสระในภาษาบาลี อ่านเป็นเสียง ง สะกด เช่น กํ กึ กุํ อ่าน กัง กิง กุง ในภาษาสันสกฤตอ่านเป็นเสียง ม สะกด เช่น กํ กึ กุํ อ่าน กัม กิม กุม โบราณก็นำมาใช้บ้าง เช่น ชุํ นุํ อ่าน ชุมนุม ฯลฯ

๘. ” เรียก ฟันหนู สำหรับเขียนบน พินทุ์ อิ เป็นสระ อือ และประสมกับสระอื่นเป็นสระ เอือะ เอือ

๙. ุ เรียก ตีนเหยียด สำหรับเขียนข้างล่างเป็นสระ อุ

๑๐. ู เรียก ตีนคู้ สำหรับเขียนข้างล่างเป็นสระ อู

๑๑. เ เรียก ไม้หน้า สำหรับเขียนข้างหน้า รูปเดียวเป็นสระ เอ สองรูปเป็นสระ แอ และประสมกับรูปอื่นเป็นสระ เอะ แอะ เอาะ เออะ เออ เอียะ เอีย เอือะ เอือ เอา

๑๒. ใ เรียก ไม้ม้วน สำหรับเขียนข้างหน้าเป็นสระ ใอ

๑๓. ไ เรียก ไม้มลาย สำหรับเขียนข้างหน้าเป็นสระ ไอ

๑๔. โ เรียก ไม้โอ สำหรับเขียนข้างหน้าเป็นสระ โอ และเมื่อประวิสรรชนีย์เข้าเป็นสระ โอะ

๑๕. อ เรียกตัว ออ สำหรับเขียนข้างหลังเป็นสระ ออ และประสมกับรูปอื่นเป็นสระ อือ (เมื่อไม่มีตัวสะกด) เออะ เออ เอือะ เอือ

๑๖. ย เรียกตัว ยอ สำหรับประสมกับรูปอื่นเป็นสระ เอียะ เอีย

๑๗. ว เรียกตัว วอ สำหรับประสมกับรูปอื่นเป็นสระ อัวะ อัว

๑๘. ฤ เรียกตัว รึ สำหรับเขียนเป็นสระ ฤ

๑๙. ฤๅ เรียกตัว รือ สำหรับเขียนเป็นสระ ฤๅ

๒๐. ฦ เรียกตัว ลึ สำหรับเขียนเป็นสระ ฦ

๒๑. ฦๅ เรียกตัว ลือ สำหรับเขียนเป็นสระ ฦๅ

ฤ ฤๅ ฦ ฦๅ ๔ ตัวนี้เป็นสระมาจากสันสกฤต จะเขียนโดดๆ ก็ได้ ประสมกับพยัญชนะก็ได้ แต่ใช้เขียนข้างหลังพยัญชนะ

เสียงสระ
ถึงแม้ว่าเสียงสระจะเป็นเสียงแท้  ซึ่งเปล่งออกมาจากลำคอก็ดี แต่ก็ต้องอาศัยฐานคือที่เกิดบ้างเล็กน้อยเหมือนกัน แต่ไม่ต้องใช้ลิ้นหรือริมฝีปากให้มาก จนทำให้เสียงแปรไปเป็นพยัญชนะ ในภาษาไทยมีเสียงสระต่างกันเป็น ๓๒ เสียง ซึ่งประกอบขึ้นด้วยรูปสระ ๒๑ ข้างต้นนั้น ดังนี้

อะ อา เอียะ เอีย
อิ อี เอือะ เอือ
อึ อือ อัวะ อัว
อุ อู ฤ ฤๅ
เอะ เอ ฦ ฦๅ
แอะ แอ อำ
โอะ โอ ไอ
เอาะ ออ ใอ
เออะ เออ เอา

ในเสียงสระ ๓๒ นี้ มีเสียงซ้ำกันอยู่ ๘ เสียง ซึ่งเป็นสระเกิน คือ ฤ ฤๅ ฦ ฦๅ อำ ใอ ไอ เอา เพราะฉะนั้นจึงมีเสียงสระไทยต่างกัน เพียง ๒๔ เสียงเท่านั้น

สระที่อยู่แถวหน้านั้นมีเสียงสั้นเรียกว่า “รัสสระ” (สระสั้น) สระที่อยู่แถวหลังนั้นมีเสียงยาวเรียกว่า “ทีฆสระ” (สระยาว) เสียงรัสสระที่ไม่มีตัวสะกดท่านจัดเป็น “ลหุ” (เบา) เสียงรัสสระ มีตัวสะกดกับเสียงทีฆสระ มีตัวสะกดก็ดี ไม่มีก็ดี ท่านจัดเป็น “ครุ” (หนัก) แต่ อำ ใอ ไอ เอา ๔ ตัวนี้จัดเป็นครุ เพราะเป็นเสียงมีตัวสะกดอยู่แล้ว คือ อัม อัย อัว (อะ+ว)

สระในภาษาบาลีมี ๘ ตัว คือ อะ อา อิ อี อุ อู เอ โอ และสระในภาษาสันสกฤตก็มีเพียง ๑๔ ตัวเท่านั้น คือ อะ อา อิ อี อุ อู ฤ ฤๅ ฦ ฦๅ เอ ไอ โอ เอา สระไทยที่มีมากออกไปนั้น เป็นด้วยเพิ่มเติมกันขึ้นทีหลัง เพื่อให้พอกับสำเนียงภาษาไทย

จำแนกสระ
เสียงสระทั้ง ๓๒ นั้น จัดออกเป็น ๓ พวก คือ

๑. สระแท้ คือสระแท้ที่เปล่งออกมาเป็นเสียงเดียวไม่มีเสียงสระอื่นประสม มี ๑๘ ตัว จัดเป็น ๒ พวก คือ

ก. สระแท้ฐานเดียว คือสระแท้ที่เปล่งออก โดยใช้ลิ้นหรือริมฝีปากกระทบฐานใดฐานหนึ่งคือ คอ เพดาน ปุ่มเหงือก หรือฟัน ริมฝีปากแต่ฐานเดียว มี ๘ ตัวด้วยกัน คือ
อะ อา คู่นี้เกิดแต่ฐานคอ คือให้ลมกระทบคอ
อิ อี คู่นี้เกิดแต่ฐานเพดาน คือให้ลมกระทบเพดาน
อึ อือ คู่นี้เกิดแต่ฐานปุ่มเหงือกหรือฟัน คือให้ลมกระทบปุ่มเหงือกหรือฟัน
อุ อู คู่นี้เกิดแต่ฐานริมฝีปาก คือให้ลมกระทบริมฝีปาก

ข. สระแท้สองฐาน คือสระที่ต้องทำ ๒ ฐานพร้อมกัน คือให้ลมกระทบ ๒ ฐาน มี ๑๐ ตัว คือ
เอะ เอ, แอะ แอ สองคู่นี้ เกิดแต่ฐานคอกับเพดาน
เออะ เออ คู่นี้เกิดแต่ฐานคอกับปุ่มเหงือกหรือฟัน
โอะ โอ, เอาะ ออ สองคู่นี้เกิดแต่ฐานคอกับริมฝีปาก

๒. สระประสม คือสระที่มีสำเนียงสระแท้ประสมกัน ๒ สระ มี ๖ ตัว คือ
เอียะ คือมีเสียง อิ กับ อะ ประสมกัน
เอีย คือมีเสียง อี กับอา ประสมกัน
เอือะ คือมีเสียง อึ กับ อะ ประสมกัน
เอือ คือมีเสียง อื กับ อา ประสมกัน
อัวะ คือมีเสียง อุ กับ อะ ประสมกัน
อัว คือมีเสียง อู กับ อา ประสมกัน

๓. สระเกิน คือสระที่มีสำเนียงซ้ำกับสระแท้ข้างต้นนั้น เป็นแต่มีเสียงพยัญชนะ ประสมหรือสะกดอยู่ด้วยเท่านั้น มี ๘ ตัว คือ
ฤ ฤๅ ฦ ฦๅ อำ ใอ ไอ เอา
ฤ ฤๅ ฦ ฦๅ ๔ ตัวนี้มีเสียงซ้ำกับเสียง รึ รือ ลึ ลือ เป็นสระมาจากสันสกฤต โดยมากใช้ในคำที่มาจากสันสกฤต

สระ อำ มีเสียงซ้ำกับสระ อะ มีตัว ม สะกด คือ อัม, สระ ใอ ไอ มีเสียงซ้ำกับสระ อะ มีตัว ย สะกด คือ อัย แต่บางอาจารย์ท่านว่า เสียง ใอ สั้นกว่าเสียง ไอ เล็กน้อย จึงได้ตั้งไว้ต่างกัน

สระ เอา มีเสียงซ้ำกับสระ อะ มีตัว ว สะกด ที่ถูกควรเป็นรูป “อัว” แต่รูปนี้เราใช้เป็นสระ อัว (ซึ่งควรจะเขียน “อูๅ”) นี้เสียแล้ว เพราะฉะนั้น สระ อะ มีตัว ว สะกดจึงไม่มีวิธีเขียนในภาษาไทย ต้องเขียนสระ เอา แทน แต่ในภาษาบาลีและสันสกฤต ซึ่งเขียนเป็นอักษรไทยเป็น อัว เช่นนี้จะอ่านเป็นสระ อัว อย่างไทยไม่ได้ ต้องอ่านเป็นเสียง อะ มีตัว ว สะกด เช่น “อุปัว์หยัน์ตา” ต้องอ่าน “อุเปาหยันตา” เปลี่ยนตามแบบพินทุเป็น “อุปวฺหยันฺตา” แล้วจะทำให้ผู้อ่านไม่หลงเป็นสระ อัว ได้ทีเดียว

สระเกินเหล่านี้ ถึงแม้จะมีเสียงซ้ำกับสระแท้ ดังอธิบายแล้วก็ดี แต่ยังมีวิธีใช้ต่างกัน ดังจะกล่าวต่อไปข้างหน้า

ที่มา:พระยาอุปกิตศิลปสาร

มูลรากแห่งตัวอักษร

อักขรวิธี
อักขระ เป็นภาษาบาลี ได้แก่ “อักษร” ในภาษาสันสกฤต แปลเอาความว่า ตัวหนังสือ คือเครื่องหมายที่เขียนแทนถ้อยคำที่พูดจากัน

อักขรวิธี ก็คือแบบแผนที่ว่าด้วยตัวหนังสือ พร้อมทั้งวิธีเขียนอ่านและใช้ตัวหนังสือให้ถูกต้องตามความนิยม ท่านจัดขึ้นเป็นตำราแผนกหนึ่ง ให้ชื่อว่า “อักขรวิธี” ที่จริงตำราอักขรวิธีนี้หาใช่ตำราไวยากรณ์ไม่ เพราะตำราไวยากรณ์นั้น ว่าด้วยระเบียบแบบแผนของภาษาที่คนเราใช้พูดจากัน แต่ตำราอักขรวิธีนี้ว่าด้วยเครื่องหมายใช้แทนภาษาอีกส่วนหนึ่ง แต่เพราะว่าภาษาต้องใช้ตัวหนังสือสำหรับเขียนอ่านเป็นพื้น ท่านจึงได้จัดตำราอักขรวิธีนี้ไว้ในจำพวกตำราไวยากรณ์ และจัดไว้เป็นเบื้องต้นแห่งตำราไวยากรณ์

ตำราอักขรวิธีนี้ แบ่งเป็น ๓ ภาค คือ
๑. ภาคที่ ๑ ว่าด้วยลักษณะอักษร
๒. ภาคที่ ๒ ว่าด้วยวิธีประสมอักษร
๓. ภาคที่ ๓ ว่าด้วยวิธีใช้อักษร

ลักษณะอักษร
เสียงในภาษาไทย
บรรดาเสียงในภาษาไทยที่ใช้พูดจากันมีอยู่ ๓ อย่าง คือ
๑. เสียงแท้  คือเสียงที่ออกมาจากลำคอตรงๆ ซึ่งไม่ต้องใช้ลิ้นหรือริมฝีปากดัดแปลงให้ปรวนแปรไป เช่น เสียงเด็กอ่อนๆ หรือสัตว์ร้องออกมา ปรากฏเป็น ออ, อา, อือ, เออ เป็นต้น

๒. เสียงแปร  คือเสียงแท้ที่เปล่งออกมาแล้วกระดิกลิ้นให้กระทบ คอ เพดาน ฟัน หรือริมฝีปาก ทำให้เสียงปรวนแปรเป็นเสียงต่างๆ ไป ปรากฏเป็น กอ, จอ, ดอ, บอ เป็นต้น

๓. เสียงดนตรี  คือเสียงแท้หรือเสียงแปร  ซึ่งผู้เปล่งทำให้เป็นเสียงสูงๆ ต่ำๆ อย่างเสียงเครื่องดนตรี  ปรากฏเป็น กอ, ก่อ, ก้อ, ก๊อ, ก๋อ เป็นต้น

ตัวอักษรตั้งขึ้นตามเสียง
เมื่อเสียงในภาษาไทยใช้พูดจากันเป็น ๓ อย่างเช่นนี้ ท่านจึงได้ตั้งตัวอักษรขึ้นเป็น ๓ อย่าง เพื่อแทนเสียงทั้ง ๓ นั้น คือ
๑. อักษรสำหรับแทนเสียงแท้ ให้ชื่อว่า “สระ”
๒. อักษรสำหรับแทนเสียงแปร ให้ชื่อว่า “พยัญชนะ”
๓. อักษรสำหรับแทนเสียงดนตรี ให้ชื่อว่า “วรรณยุกต์”

มูลรากแห่งตัวอักษร
ตัวอักษร คือ สระ และพยัญชนะนั้น มีรากเหง้ามาจากภาษาบาลีและสันสกฤต มีหลักที่จะสังเกตได้ คือ

๑. ลักษณะรูปตัวอักษรของชาติต่างๆ ที่ถ่ายแบบมาจากบาลีสันสกฤต เช่น เขมร ลาว มอญ ฯลฯ ยังสังเกตได้ว่าละม้ายคล้ายคลึงกัน

๒. การจัดลำดับตัวอักษรก็คล้ายกัน  คือเอาสระไว้ก่อน แล้วถึงพยัญชนะ และจัดเป็นวรรคๆ เรียงกันไปตามลำดับ (ที่เกิดของอักษร) คือ คอ เพดาน ปุ่มเหงือก ฟัน และริมฝีปาก

๓. วิธีประสมอักษรเอาสระไว้ข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง ข้างบนบ้าง ข้างล่างบ้าง

ส่วนวรรณยุกต์นั้นในภาษาบาลีและสันสกฤตไม่มี ที่จริงไม่ว่าภาษาใดย่อมมีเสียงดนตรี คือเสียง สูงๆ ต่ำๆ ด้วยกันทั้งนั้น แต่บางภาษาก็ไม่นิยมให้เนื้อความของคำที่มีเสียงสูงต่ำนั้นแปลกออกไป เช่นจะกล่าวว่า “ขา” “ข่า” หรือ “ข้า” ก็มีเนื้อความอย่างเดียวกัน  เพราะฉะนั้นภาษาเหล่านั้นจึงไม่จำเป็นต้องตั้งตัวอักษรขึ้นแทนเสียงดนตรี เช่น ภาษาบาลี สันสกฤต อังกฤษ เป็นต้น จึงนับว่าไม่มีวรรณยุกต์  แต่บางภาษาก็นิยมใช้พูดเสียงสูงต่ำให้มีความหมายต่างกัน เช่น ภาษาจีน ส่วนไทยเราอยู่ใกล้จีนและนิยมใช้สำเนียงดนตรีคล้ายจีน จึงต้องตั้งตัวอักษรจำพวกวรรณยุกต์เพิ่มเติมขึ้นอีกเพื่อให้พอกับสำเนียงที่ใช้อยู่

ที่มา:พระยาอุปกิตศิลปสาร