มูลรากแห่งตัวอักษร

Socail Like & Share

อักขรวิธี
อักขระ เป็นภาษาบาลี ได้แก่ “อักษร” ในภาษาสันสกฤต แปลเอาความว่า ตัวหนังสือ คือเครื่องหมายที่เขียนแทนถ้อยคำที่พูดจากัน

อักขรวิธี ก็คือแบบแผนที่ว่าด้วยตัวหนังสือ พร้อมทั้งวิธีเขียนอ่านและใช้ตัวหนังสือให้ถูกต้องตามความนิยม ท่านจัดขึ้นเป็นตำราแผนกหนึ่ง ให้ชื่อว่า “อักขรวิธี” ที่จริงตำราอักขรวิธีนี้หาใช่ตำราไวยากรณ์ไม่ เพราะตำราไวยากรณ์นั้น ว่าด้วยระเบียบแบบแผนของภาษาที่คนเราใช้พูดจากัน แต่ตำราอักขรวิธีนี้ว่าด้วยเครื่องหมายใช้แทนภาษาอีกส่วนหนึ่ง แต่เพราะว่าภาษาต้องใช้ตัวหนังสือสำหรับเขียนอ่านเป็นพื้น ท่านจึงได้จัดตำราอักขรวิธีนี้ไว้ในจำพวกตำราไวยากรณ์ และจัดไว้เป็นเบื้องต้นแห่งตำราไวยากรณ์

ตำราอักขรวิธีนี้ แบ่งเป็น ๓ ภาค คือ
๑. ภาคที่ ๑ ว่าด้วยลักษณะอักษร
๒. ภาคที่ ๒ ว่าด้วยวิธีประสมอักษร
๓. ภาคที่ ๓ ว่าด้วยวิธีใช้อักษร

ลักษณะอักษร
เสียงในภาษาไทย
บรรดาเสียงในภาษาไทยที่ใช้พูดจากันมีอยู่ ๓ อย่าง คือ
๑. เสียงแท้  คือเสียงที่ออกมาจากลำคอตรงๆ ซึ่งไม่ต้องใช้ลิ้นหรือริมฝีปากดัดแปลงให้ปรวนแปรไป เช่น เสียงเด็กอ่อนๆ หรือสัตว์ร้องออกมา ปรากฏเป็น ออ, อา, อือ, เออ เป็นต้น

๒. เสียงแปร  คือเสียงแท้ที่เปล่งออกมาแล้วกระดิกลิ้นให้กระทบ คอ เพดาน ฟัน หรือริมฝีปาก ทำให้เสียงปรวนแปรเป็นเสียงต่างๆ ไป ปรากฏเป็น กอ, จอ, ดอ, บอ เป็นต้น

๓. เสียงดนตรี  คือเสียงแท้หรือเสียงแปร  ซึ่งผู้เปล่งทำให้เป็นเสียงสูงๆ ต่ำๆ อย่างเสียงเครื่องดนตรี  ปรากฏเป็น กอ, ก่อ, ก้อ, ก๊อ, ก๋อ เป็นต้น

ตัวอักษรตั้งขึ้นตามเสียง
เมื่อเสียงในภาษาไทยใช้พูดจากันเป็น ๓ อย่างเช่นนี้ ท่านจึงได้ตั้งตัวอักษรขึ้นเป็น ๓ อย่าง เพื่อแทนเสียงทั้ง ๓ นั้น คือ
๑. อักษรสำหรับแทนเสียงแท้ ให้ชื่อว่า “สระ”
๒. อักษรสำหรับแทนเสียงแปร ให้ชื่อว่า “พยัญชนะ”
๓. อักษรสำหรับแทนเสียงดนตรี ให้ชื่อว่า “วรรณยุกต์”

มูลรากแห่งตัวอักษร
ตัวอักษร คือ สระ และพยัญชนะนั้น มีรากเหง้ามาจากภาษาบาลีและสันสกฤต มีหลักที่จะสังเกตได้ คือ

๑. ลักษณะรูปตัวอักษรของชาติต่างๆ ที่ถ่ายแบบมาจากบาลีสันสกฤต เช่น เขมร ลาว มอญ ฯลฯ ยังสังเกตได้ว่าละม้ายคล้ายคลึงกัน

๒. การจัดลำดับตัวอักษรก็คล้ายกัน  คือเอาสระไว้ก่อน แล้วถึงพยัญชนะ และจัดเป็นวรรคๆ เรียงกันไปตามลำดับ (ที่เกิดของอักษร) คือ คอ เพดาน ปุ่มเหงือก ฟัน และริมฝีปาก

๓. วิธีประสมอักษรเอาสระไว้ข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง ข้างบนบ้าง ข้างล่างบ้าง

ส่วนวรรณยุกต์นั้นในภาษาบาลีและสันสกฤตไม่มี ที่จริงไม่ว่าภาษาใดย่อมมีเสียงดนตรี คือเสียง สูงๆ ต่ำๆ ด้วยกันทั้งนั้น แต่บางภาษาก็ไม่นิยมให้เนื้อความของคำที่มีเสียงสูงต่ำนั้นแปลกออกไป เช่นจะกล่าวว่า “ขา” “ข่า” หรือ “ข้า” ก็มีเนื้อความอย่างเดียวกัน  เพราะฉะนั้นภาษาเหล่านั้นจึงไม่จำเป็นต้องตั้งตัวอักษรขึ้นแทนเสียงดนตรี เช่น ภาษาบาลี สันสกฤต อังกฤษ เป็นต้น จึงนับว่าไม่มีวรรณยุกต์  แต่บางภาษาก็นิยมใช้พูดเสียงสูงต่ำให้มีความหมายต่างกัน เช่น ภาษาจีน ส่วนไทยเราอยู่ใกล้จีนและนิยมใช้สำเนียงดนตรีคล้ายจีน จึงต้องตั้งตัวอักษรจำพวกวรรณยุกต์เพิ่มเติมขึ้นอีกเพื่อให้พอกับสำเนียงที่ใช้อยู่

ที่มา:พระยาอุปกิตศิลปสาร