วิธีแผลงอักษร

ลักษณะใช้อักษร
คำอธิบาย
เมื่อผู้ศึกษาทราบลักษณะอักษร และวิธีประสมอักษรแล้ว ก็พอจะเขียนและอ่านเป็นเสียงแทนคำพูดได้ แต่ยังไม่ถูกต้องตามระเบียบที่ท่าน นิยมใช้กัน เพราะฉะนั้นจะอธิบายลักษณะใช้อักษรไว้เพื่อเป็นหลักแห่ง ความรู้และความสังเกตต่อไป

การใช้ตัวอักษร คือ เขียนและอ่านให้ถูกต้องตามแบบแผนที่ท่านนิยมกันนั้น ต้องอาศัยหลัก คือ (๑) วิธีแผลงอักษร (๒) สนธิ คือ วิธีเชื่อมคำพูดให้ติดต่อกัน (๓) วิธีเขียน (๔) วิธีอ่าน ดังจะอธิบายต่อไปนี้

วิธีแผลงอักษร
วิธีแผลงอักษร คือวิธีเปลี่ยนแปลงตัวอักษรด้วยวิธีต่างๆ ให้ผิดจากรูปเดิมของคำภาษาไทยบ้าง ภาษาอื่นบ้าง เพื่อจะใช้ในการแต่งคำประพันธ์ หรือเรียบเรียงคำพูดให้สละสลวยเป็นข้อใหญ่ และวิธีแผลงอักษรที่เรานำมาใช้นี้ ย่อมอาศัยหลักในภาษาอื่น ดังต่อไปนี้

(๑) อาศัยหลักในภาษาเขมร ซึ่งเขามีวิธีแผลงคำพูดให้มีความต่างกัน ออกไป เช่น ‘ชิ’ (ขี่) แผลงเบน ‘ชำนิ’ (เครื่องขับขี่เช่นยานพาหนะ),‘คู’ (วาดเขียน) แผลงเป็น ‘คำนู’ (รูปภาพที่ได้วาดเขียนไว้) ฯลฯ และเติม พยางค์เข้าข้างหน้าคล้ายอุปสรรคเช่น ‘หัด’ (ฝึกหัด) ‘เรียน’ (เล่าเรียน) เติม‘บํ’ (บ็อม) เข้าเป็น ‘บํหัด’ และ ‘บํเรียน’ ซึ่งแปลว่าให้ฝึกหัด ให้เล่าเรียน ฯลฯ วิธีเหล่านี้เรานำเอามาใช้ในภาษาไทยเราโดยมาก เช่น เกิด- กำเนิด, จ่าย-จำหน่าย, ตรวจ-ตำรวจ และ เกิด-บังเกิด, วาย-บังวาย เหล่านี้เป็นต้น ทางหนึ่ง

(๒) เนื่องจากอักขรวิธีในภาษาบาลีและสันสกฤต เช่น วิธีพฤทธิ อิ เป็น ไอ, อุ เป็น เอา ฯลฯ ก็ดี เปลี่ยนพยัญชนะก็ดี เติมพยัญชนะเข้ามาที่ เรียกว่าลงพยัญชนะอาคมก็ดี เป็นต้น นี้ทางหนึ่ง

(๓) เนื่องจากชาวอินเดียที่ใช้ภาษาปรากฤต ได้นำเอาภาษาสันสกฤต เข้ามาสอนเรา แต่เขาเรียกตัวอักษรเพี้ยนไปตามภาษาปรากฤตของเขา เช่นเรียกตัว ‘ต’ เป็นเสียงตัว ‘ด’ โดยมาก ตัวอย่าง มาตา เรียก มาดา, เตโช เรียก เดโช ฯลฯ และเสียงตัว ว มักเรียกเป็นเสียงตัว ‘พ’ ในภาษาบาลีแทบทั้งหมด เป็นต้น อีกทางหนึ่ง

คำที่เปลี่ยนแปลงไปตามหลักที่มาทั้ง ๓ ทางนี่แหละ ท่านรวมเรียกว่าคำแผลง และคำแผลงเหล่านี้ จะย่นย่อเข้าแล้ว ก็รวบรวมได้ว่ามีวิธีแผลงอยู่ ๓ ประเภท คือ ๑. วิธีแผลงสระ ๒. วิธีแผลงพยัญชนะ และ ๓. วิธีแผลงวรรณยุกต์

ที่มา:พระยาอุปกิตศิลปสาร