สระในภาษาไทย

Socail Like & Share

สระ
รูปสระ
สระในภาษาไทยนั้นแปลกออกไปจากบาลีและสันสกฤตและภาษาอื่นๆ ที่ถ่ายแบบมาด้วยกัน คือ ภาษาเหล่านั้นมีรูปสระเป็น ๒ชนิด ใช้เขียนโดดๆ ชนิดหนึ่ง  ใช้ประสมกับพยัญชนะอีกชนิดหนึ่ง แต่ในภาษาไทยมีแต่รูปสระที่ใช้ประสมกับพยัญชนะอย่างเดียว  เมื่อต้องการจะเขียนโดดๆ ก็เอาตัว “อ” ซึ่งจัดไว้ในพวกพยัญชนะมาประสมเข้า ออกเสียงเช่นเดียวกับสระเปล่า เช่น อา, อู, เอ เป็นต้น เว้นแต่สระ ฤ ฤา ฦ ฦา ๔ ตัวนี้เขียนโดดๆ ก็ได้ ประสมกับพยัญชนะก็ได้ เช่นเดียวกับสระอังกฤษ และรูปสระนั้นบางทีก็ใช้รูปเดียวเป็นสระหนึ่ง บางทีก็ใช้หลายรูปประสมกันเป็นสระหนึ่ง มีต่างๆ กันเป็น ๒๑ รูป ดังนี้

๑.  ะ เรียก วิสรรชนีย์  สำหรับประหลังเป็นสระ อะ และประสมกับรูปอื่นเป็นสระ เอะ แอะ โอะ เอาะ เออะ เอียะ เอือะ อัวะ

๒.  ั เรียก ไม้ผัด หรือหันอากาศ สำหรับเขียนข้างบนเป็นสระ อะ เมื่อมีตัวสะกด และประสมกับรูปอื่นเป็นสระ อัวะ อัว

๓. ็ เรีย ไม้ไต่คู้ สำหรับเขียนข้างบนแทนวิสรรชนีย์ในสระบางตัวที่มีตัวสะกด เช่น เอ็น แอ็น อ๊อน ฯลฯ และใช้ประสมกับตัว ก เป็นสระ เอาะ มีไม้โท คือ ก็ (อ่านเก้าะ)

๔. า เรียก ลากข้าง สำหรับเขียนข้างหลังเป็นสระ อา และประสมกับรูปอื่นเป็นสระ เอาะ อำ เอา

๕. ิ เรียก พินทุ์ อิ สำหรับเขียนข้างบนเป็นสระ อิ และประสมกับรูปอื่นเป็นสระ อี อึ อื เอียะ เอีย เอือะ เอือ และใช้แทนตัว อ ของ สระ เออ เมื่อมีตัวสะกดก็ได้ เช่น เกอน เป็น เกิน ฯลฯ

๖. ่ เรียก ฝนทอง สำหรับเขียนข้างบนพินทุ์ อิ เป็นสระ อี และประสมกับรูปอื่นเป็นสระ เอียะ เอีย

๗. º เรียก นฤคหิต หรือหยาดน้ำค้าง สำหรับเขียนข้างบนลากข้างเป็นสระ อำ, บนพินทุ์ อิ เป็นสระ อึ ในภาษาบาลีและสันสกฤตท่านจัดเป็นพยัญชนะเรียกว่า นิคหิต หรือ นฤคหิต  สำหรับเขียนบนสระในภาษาบาลี อ่านเป็นเสียง ง สะกด เช่น กํ กึ กุํ อ่าน กัง กิง กุง ในภาษาสันสกฤตอ่านเป็นเสียง ม สะกด เช่น กํ กึ กุํ อ่าน กัม กิม กุม โบราณก็นำมาใช้บ้าง เช่น ชุํ นุํ อ่าน ชุมนุม ฯลฯ

๘. ” เรียก ฟันหนู สำหรับเขียนบน พินทุ์ อิ เป็นสระ อือ และประสมกับสระอื่นเป็นสระ เอือะ เอือ

๙. ุ เรียก ตีนเหยียด สำหรับเขียนข้างล่างเป็นสระ อุ

๑๐. ู เรียก ตีนคู้ สำหรับเขียนข้างล่างเป็นสระ อู

๑๑. เ เรียก ไม้หน้า สำหรับเขียนข้างหน้า รูปเดียวเป็นสระ เอ สองรูปเป็นสระ แอ และประสมกับรูปอื่นเป็นสระ เอะ แอะ เอาะ เออะ เออ เอียะ เอีย เอือะ เอือ เอา

๑๒. ใ เรียก ไม้ม้วน สำหรับเขียนข้างหน้าเป็นสระ ใอ

๑๓. ไ เรียก ไม้มลาย สำหรับเขียนข้างหน้าเป็นสระ ไอ

๑๔. โ เรียก ไม้โอ สำหรับเขียนข้างหน้าเป็นสระ โอ และเมื่อประวิสรรชนีย์เข้าเป็นสระ โอะ

๑๕. อ เรียกตัว ออ สำหรับเขียนข้างหลังเป็นสระ ออ และประสมกับรูปอื่นเป็นสระ อือ (เมื่อไม่มีตัวสะกด) เออะ เออ เอือะ เอือ

๑๖. ย เรียกตัว ยอ สำหรับประสมกับรูปอื่นเป็นสระ เอียะ เอีย

๑๗. ว เรียกตัว วอ สำหรับประสมกับรูปอื่นเป็นสระ อัวะ อัว

๑๘. ฤ เรียกตัว รึ สำหรับเขียนเป็นสระ ฤ

๑๙. ฤๅ เรียกตัว รือ สำหรับเขียนเป็นสระ ฤๅ

๒๐. ฦ เรียกตัว ลึ สำหรับเขียนเป็นสระ ฦ

๒๑. ฦๅ เรียกตัว ลือ สำหรับเขียนเป็นสระ ฦๅ

ฤ ฤๅ ฦ ฦๅ ๔ ตัวนี้เป็นสระมาจากสันสกฤต จะเขียนโดดๆ ก็ได้ ประสมกับพยัญชนะก็ได้ แต่ใช้เขียนข้างหลังพยัญชนะ

เสียงสระ
ถึงแม้ว่าเสียงสระจะเป็นเสียงแท้  ซึ่งเปล่งออกมาจากลำคอก็ดี แต่ก็ต้องอาศัยฐานคือที่เกิดบ้างเล็กน้อยเหมือนกัน แต่ไม่ต้องใช้ลิ้นหรือริมฝีปากให้มาก จนทำให้เสียงแปรไปเป็นพยัญชนะ ในภาษาไทยมีเสียงสระต่างกันเป็น ๓๒ เสียง ซึ่งประกอบขึ้นด้วยรูปสระ ๒๑ ข้างต้นนั้น ดังนี้

อะ อา เอียะ เอีย
อิ อี เอือะ เอือ
อึ อือ อัวะ อัว
อุ อู ฤ ฤๅ
เอะ เอ ฦ ฦๅ
แอะ แอ อำ
โอะ โอ ไอ
เอาะ ออ ใอ
เออะ เออ เอา

ในเสียงสระ ๓๒ นี้ มีเสียงซ้ำกันอยู่ ๘ เสียง ซึ่งเป็นสระเกิน คือ ฤ ฤๅ ฦ ฦๅ อำ ใอ ไอ เอา เพราะฉะนั้นจึงมีเสียงสระไทยต่างกัน เพียง ๒๔ เสียงเท่านั้น

สระที่อยู่แถวหน้านั้นมีเสียงสั้นเรียกว่า “รัสสระ” (สระสั้น) สระที่อยู่แถวหลังนั้นมีเสียงยาวเรียกว่า “ทีฆสระ” (สระยาว) เสียงรัสสระที่ไม่มีตัวสะกดท่านจัดเป็น “ลหุ” (เบา) เสียงรัสสระ มีตัวสะกดกับเสียงทีฆสระ มีตัวสะกดก็ดี ไม่มีก็ดี ท่านจัดเป็น “ครุ” (หนัก) แต่ อำ ใอ ไอ เอา ๔ ตัวนี้จัดเป็นครุ เพราะเป็นเสียงมีตัวสะกดอยู่แล้ว คือ อัม อัย อัว (อะ+ว)

สระในภาษาบาลีมี ๘ ตัว คือ อะ อา อิ อี อุ อู เอ โอ และสระในภาษาสันสกฤตก็มีเพียง ๑๔ ตัวเท่านั้น คือ อะ อา อิ อี อุ อู ฤ ฤๅ ฦ ฦๅ เอ ไอ โอ เอา สระไทยที่มีมากออกไปนั้น เป็นด้วยเพิ่มเติมกันขึ้นทีหลัง เพื่อให้พอกับสำเนียงภาษาไทย

จำแนกสระ
เสียงสระทั้ง ๓๒ นั้น จัดออกเป็น ๓ พวก คือ

๑. สระแท้ คือสระแท้ที่เปล่งออกมาเป็นเสียงเดียวไม่มีเสียงสระอื่นประสม มี ๑๘ ตัว จัดเป็น ๒ พวก คือ

ก. สระแท้ฐานเดียว คือสระแท้ที่เปล่งออก โดยใช้ลิ้นหรือริมฝีปากกระทบฐานใดฐานหนึ่งคือ คอ เพดาน ปุ่มเหงือก หรือฟัน ริมฝีปากแต่ฐานเดียว มี ๘ ตัวด้วยกัน คือ
อะ อา คู่นี้เกิดแต่ฐานคอ คือให้ลมกระทบคอ
อิ อี คู่นี้เกิดแต่ฐานเพดาน คือให้ลมกระทบเพดาน
อึ อือ คู่นี้เกิดแต่ฐานปุ่มเหงือกหรือฟัน คือให้ลมกระทบปุ่มเหงือกหรือฟัน
อุ อู คู่นี้เกิดแต่ฐานริมฝีปาก คือให้ลมกระทบริมฝีปาก

ข. สระแท้สองฐาน คือสระที่ต้องทำ ๒ ฐานพร้อมกัน คือให้ลมกระทบ ๒ ฐาน มี ๑๐ ตัว คือ
เอะ เอ, แอะ แอ สองคู่นี้ เกิดแต่ฐานคอกับเพดาน
เออะ เออ คู่นี้เกิดแต่ฐานคอกับปุ่มเหงือกหรือฟัน
โอะ โอ, เอาะ ออ สองคู่นี้เกิดแต่ฐานคอกับริมฝีปาก

๒. สระประสม คือสระที่มีสำเนียงสระแท้ประสมกัน ๒ สระ มี ๖ ตัว คือ
เอียะ คือมีเสียง อิ กับ อะ ประสมกัน
เอีย คือมีเสียง อี กับอา ประสมกัน
เอือะ คือมีเสียง อึ กับ อะ ประสมกัน
เอือ คือมีเสียง อื กับ อา ประสมกัน
อัวะ คือมีเสียง อุ กับ อะ ประสมกัน
อัว คือมีเสียง อู กับ อา ประสมกัน

๓. สระเกิน คือสระที่มีสำเนียงซ้ำกับสระแท้ข้างต้นนั้น เป็นแต่มีเสียงพยัญชนะ ประสมหรือสะกดอยู่ด้วยเท่านั้น มี ๘ ตัว คือ
ฤ ฤๅ ฦ ฦๅ อำ ใอ ไอ เอา
ฤ ฤๅ ฦ ฦๅ ๔ ตัวนี้มีเสียงซ้ำกับเสียง รึ รือ ลึ ลือ เป็นสระมาจากสันสกฤต โดยมากใช้ในคำที่มาจากสันสกฤต

สระ อำ มีเสียงซ้ำกับสระ อะ มีตัว ม สะกด คือ อัม, สระ ใอ ไอ มีเสียงซ้ำกับสระ อะ มีตัว ย สะกด คือ อัย แต่บางอาจารย์ท่านว่า เสียง ใอ สั้นกว่าเสียง ไอ เล็กน้อย จึงได้ตั้งไว้ต่างกัน

สระ เอา มีเสียงซ้ำกับสระ อะ มีตัว ว สะกด ที่ถูกควรเป็นรูป “อัว” แต่รูปนี้เราใช้เป็นสระ อัว (ซึ่งควรจะเขียน “อูๅ”) นี้เสียแล้ว เพราะฉะนั้น สระ อะ มีตัว ว สะกดจึงไม่มีวิธีเขียนในภาษาไทย ต้องเขียนสระ เอา แทน แต่ในภาษาบาลีและสันสกฤต ซึ่งเขียนเป็นอักษรไทยเป็น อัว เช่นนี้จะอ่านเป็นสระ อัว อย่างไทยไม่ได้ ต้องอ่านเป็นเสียง อะ มีตัว ว สะกด เช่น “อุปัว์หยัน์ตา” ต้องอ่าน “อุเปาหยันตา” เปลี่ยนตามแบบพินทุเป็น “อุปวฺหยันฺตา” แล้วจะทำให้ผู้อ่านไม่หลงเป็นสระ อัว ได้ทีเดียว

สระเกินเหล่านี้ ถึงแม้จะมีเสียงซ้ำกับสระแท้ ดังอธิบายแล้วก็ดี แต่ยังมีวิธีใช้ต่างกัน ดังจะกล่าวต่อไปข้างหน้า

ที่มา:พระยาอุปกิตศิลปสาร