คำสรรพนาม

คำสรรพนาม ‘สรรพนาม’ เป็นคำที่แผลงมาจากคำสันสกฤต ‘สรรพ’ แปลว่า ทั้งปวง ‘นาม’ แปลว่า ชื่อ รวมกันเข้าเป็นคำสมาส แปลว่า ชื่อทั้งปวง คือหมายความว่าคำที่เป็นชื่อได้ทุกอย่าง ได้แก่ ‘คำแทนชื่อ’ ประโยชน์ของสรรพนามนี้ ก็คือใช้แทนคำนามต่างๆ ก็ดี ข้อความต่างๆ ก็ดี ที่เข้าใจกันอยู่แล้ว หรือที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เพื่อมิให้ซ้ำซากเป็นที่เบื่อหู เช่น ตัวอย่าง ‘พระสวนพบนายมี พระสวนจึงพูดกับนายมีว่า ‘นายมีไปไหน ไม่มาหาพระสวนบางเลย’ เช่นนี้มีคำซ้ำชื่อกันอยู่มาก ฟังขัดหู ถ้าใช้คำสรรพนามแทนเสียบ้างว่า ‘พระสวนพบนายมี ท่านจึงถามเขาว่า ‘แกไปไหน ไม่มาหาฉันบ้างเลย’ ดังนี้ เนื้อความก็สละสลวยดีขึ้น เช่นนี้เป็นต้น

คำสรรพนามนี้แบ่งออกเป็น ๖ จำพวก คือ

(๑) บุรุษสรรพนาม

(๒) ประพันธสรรพนาม

(๓) ปฤจฉาสรรพนาม

(๔) วิภาคสรรพนาม

(๕) นิยมสรรพนาม

(๖) อนิยมสรรพนาม ดังจะอธิบายต่อไปนี้:-

บุรุษสรรพนาม คือคำสรรพนามที่ใช้แทนคำชื่อในการพูดจากัน คำ ‘บุรุษ’ แปลว่า ชาย ในที่นี้หมายความว่าคนที่เกี่ยวข้องในการพูดจากัน บุรุษสรรพนามนี้จัดเป็น ๓ พวก คือ
(๑) สรรพนามที่ใช้แทนตัวผู้พูดเอง เรียกว่า ‘บุรุษที่หนึ่ง’ ได้แก่คำว่า ข้า กู ฉัน ผม ดีฉัน อีฉัน เกล้ากระผม เกล้ากระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้า ข้าเจ้า เป็นต้น

(๒) สรรพนามที่ใช้แทน ชื่อผู้ฟัง เรียกว่า ‘บุรุษที่สอง’ ได้แก่คำว่า เจ้า เอ็ง มึง สู ท่าน ใต้เท้า ใต้เท้ากรุณา ใต้เท้ากรุณาเจ้า ฝ่าพระบาท ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท เป็นต้น

(๓) สรรพนามที่ใช้แทน ชื่อคน สัตว์ และสิ่งของที่พูดถึง เรียกว่า ‘บุรุษที่สาม’ ได้แก่คำว่า เขา มัน ท่าน, พระองค์ เป็นต้น

ประพันธสรรพนาม คือคำสรรพนามที่ใช้แทนนามที่ติดต่อกัน คำ‘ประพันธ์’ แปลว่าผูกพันกัน ในที่นี้หมายความว่า สรรพนามที่ติดต่อกับ คำนามที่อยู่ข้างหน้า เช่นตัวอย่าง ‘ฉันชอบคนคนขยัน’ ดังนี้ คำ ‘คน’ ที่อยู่ต่อกับคำ ‘คน’ ข้างหน้า ต้องใช้ประพันธสรรพนามแทนว่า ‘ฉันชอบค ขยัน’ ดังนี้เป็นต้น และคำประพันธสรรพนามที่ใช้อยู่โดยมากนั้น คือคำ ‘ที่ ผู้ที่ ซึ่ง ผู้ซึ่ง’ อันจะเลือกใช้คำใดก็ได้ แต่คำ ‘ที่’ มีที่ใช้มาก

หมายเหตุ คำประพันธสรรพนามนี้ ใช้แทนคำนามหรือสรรพนามที่เรียง อยู่ติดๆ กันเท่านั้น โดยมากมักจะเป็นข้อความที่มีประโยคซ้อนเข้ามา เช่น ตัวอย่าง
(ก) คนซึ่งเกียจคร้าน ต้องลำบาก
(ข) ฉันเสียดายม้าที่ฉันขาย
(ค) บ้านอันเปลี่ยวมักจะร้าง เป็นต้น
ความที่พิมพ์ด้วยตัวหนานั้น เป็นประโยคเล็กที่แทรกเข้ามา ถ้าไม่ใช่ประพันธสรรพนาม ก็จะมีนามซ้ำอยู่ติดๆ กัน ดังนี้

(ก) คนคนเกียจคร้าน ต้องลำบาก
(ข) ฉันเสียดายม้า ม้าฉันขาย
(ค) บ้าน บ้านเปลี่ยว มักจะร้าง ดังนี้เป็นต้น

และประพันธสรรพนามเหล่านี้ ทำหน้าที่เป็นบทเชื่อมคุณานุประโยคของสังกรประโยค ในวิธีบอกสัมพันธ์ประโยคด้วย

ข้อสังเกต ประพันธสรรพนามมีที่สังเกต  คือต้องอยู่ติดกับนามหรือ สรรพนามเท่านั้น, แต่ถ้าอยู่ติดกับคำกริยาหรือวิเศษณ์ก็เป็นคำประพันธวิเศษณ์ ทำหน้าที่เป็นบทเชื่อมอนุประโยคชนิดอื่น ดังจะกล่าวในข้อประพันธวิเศษณ์ต่อไป

วิภาคสรรพนาม คือคำสรรพนามที่ใช้แทนนามข้างหน้า เพื่อจำแนกนามนั้นออกเป็นส่วนๆ คำ ‘วิภาค’ แปลว่า จำแนก สรรพนามพวกนี้ได้แก่คำ ‘ต่าง บ้าง กัน’ มีที่ใช้ต่างกันดังนี้

‘ต่าง’ ใช้แทนนามข้างหน้า เพื่อให้รู้ว่านามนั้นจำแนกเป็นหลายส่วน แต่ ทำกิริยาอย่างเดียวกัน เช่นในความว่า ‘ชาวสวนต่างก็ฟันดิน’ คำ ‘ต่าง’ในที่นี้เป็นวิกัติการกแทนชาวสวน แสดงว่าชาวสวนแบ่งเป็นหลายพวก แต่ทุกๆ พวกก็ฟันดินอย่างเดียวกัน

‘บ้าง’ ใช้แทนนามข้างหน้า เพื่อให้รู้ว่านามนั้นหลายส่วนเหมือนกัน แต่แยกทำกิริยาต่างๆ กัน เช่นในความว่า ‘ชาวนาบ้างไถนา บ้างดำนา’ คำ ‘บ้าง’ ในที่นี้เป็นวิกัติการกแทนชาวนา และแยกชาวนาออกเป็นพวกๆ และทำกิริยาต่างกันด้วย

‘กัน’ ใช้แทนนามข้างหน้า เพื่อให้รู้ว่านามนั้นหลายส่วน ซึ่งทำกิริยา เกี่ยวข้องกัน เช่นในความว่า ‘ชาวเมืองตีกัน’ คำ ‘กัน’ ในที่นี้แทนชาวเมือง แสดงว่าชาวเมืองหลายพวก ซึ่งทำกิริยาตีแก่กันและกัน

คำ ‘ต่าง’ กับ ‘กัน’ ใช้แทนนามข้างหน้า ที่แยกอยู่แล้วก็มี เช่นตัวอย่าง ‘ชาวสวน ชาวนาต่างก็ทำงาน’ และ ‘ชาวสวน ชาวนา ตีกัน’ ดังนี้เป็นต้น แต่คำ ‘บ้าง’ นั้นมักจะใช้แทนนามที่ไม่ได้แยกกัน ดังตัวอย่างข้างบนนี้

ข้อสังเกต คำ ‘ต่าง’ ถ้าใช้ลอยๆ ดังกล่าวแล้วนับว่าเป็นวิภาคสรรพนาม แต่ถ้าใช้ประกอบคำนามก็ดี คำกริยาก็ดี ซึ่งโดยมากประกอบข่สงหน้า เช่นตัวอย่าง ‘ชาวสวนต่างคนก็ต่างอยู่’ ดังนี้เป็นต้น นับว่าเป็นคำวิเศษณ์ ดังจะกล่าวต่อไปข้างหน้า

คำ ‘บ้าง’ ถ้าใช้ประกอบหลังคำนาม หรือ กริยา เช่นตัวอย่าง ‘นกบ้าง กาบ้าง นอนบ้าง นั่งบ้าง’ ดังนี้เป็นต้น ก็นับว่าเป็นคำวิเศษณ์อย่างเดียวกัน

คำ ‘กัน’ นี้ บางทีเป็นคำวิเศษณ์ได้ เช่น ‘เขาลือกัน ทำงานกัน’ ดังนี้ คำ ‘กัน’ แต่งกริยา ‘ลือ’ และ ‘ทำงาน’ เป็นวิเศษณ์ ดังจะอธิบายต่อไปข้าง หน้า ส่วนคำ ‘คน’ ที่เป็นวิภาคสรรพนามนั้นมีที่สังเกตคือ เป็นคำใช้แทนนาม ที่เป็นผู้ถูกกระทำ หรือนามส่วนหนึ่งส่วนใดของประโยค เช่นตัวอย่าง ผัวเมียตีกัน ผัวเมียอยู่ด้วยกัน เขาเห็นแก่กัน ดังนี้เป็นต้น

นอกจากนี้คำ ‘กัน’ ยังใช้เป็นคำชนิดอื่นได้อีก เช่นเป็นบุรุษสรรพนาม ดังตัวอย่าง ‘กันลาก่อนละ’ และเป็นกริยาดังตัวอย่าง ‘เขาเอามือกันฉันไว้’ ดังนี้เป็นต้น

นิยมสรรพนาม  คือสรรพนามที่ใช้แทนนาม เพื่อให้รู้กำหนดแน่นอน คำว่า ‘นิยม’ แปลว่า กำหนด สรรพนามพวกนี้ได้แก่คำว่า ‘นี่ นั่น โน่น’ มีที่ใช้ต่างกันดังนี้

คำ ‘นี่’ ใช้แทนนามที่ใกล้ที่สุด เช่นตัวอย่าง ‘นี่ ของใคร’ หรือ ‘ท่านมาที่นี่ เมื่อไร’ เป็นต้น

คำ ‘นั่น’ ใช้แทนนามที่ห่างออกไปจาก ‘นี่’ เช่นตัวอย่าง ‘นั่น ของใคร’ หรือ ‘ เขาไปที่นั่น เมื่อไร ’ เป็นต้น

คำ ‘โน่น’ ใช้แทนนามที่อยู่ห่างที่สุด เช่นตัวอย่าง ‘โน่นคือใคร’ หรือ ‘ท่านมาจากที่โนน เมื่อไร’ เป็นต้น

ข้อสังเกต คำ ‘นี่ นั่น  โน่น’ กับคำ ‘นี้ นั้น โน้น’ มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ตามปรกติคำ ‘นี่ นั่น, โน่น’ ใช้เป็นนิยมสรรพนามดังกล่าวแล้ว และคำ ‘นี้ นั้น โน้น’ ใช้เป็นนิยมวิเศษณ์ ดังจะกล่าวต่อไปข้างหน้า แต่บางทีก็ใช้ปนกันบ้าง เมื่อเป็นเช่นนี้ให้สังเกตว่า คำ ‘นี่ นั่น โน่น’ หรือคำประสมที่มีคำ ‘นี้ นั้น โน้น’ อยู่ท้าย เช่นทั้งนี้ เช่นนั้น ฯลฯ ถ้าเอามาใช้ในที่สรรพนาม เช่นตัวอย่าง ‘นี่ของใคร นั้นของใคร โน้นของใคร ทั้งนี้ไม่มี ฯลฯ เช่นนี้ต้องนับว่าเป็นนิยมสรรพนามเหมือนกัน ถึงคำ ‘นี่ นั่น โน่น’ ก็เหมือนกัน ถ้าเอาไปใช้ในที่วิเศษณ์ดังจะกล่าวต่อไป ก็ต้องนับเป็นวิเศษณ์

อนิยมสรรพนาม คำ‘อนิยม’ แปลว่าไม่กำหนด คำสรรพนามที่ใช้แทนนามที่ไม่กำหนดแน่นอนลงไปว่า เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ เรียกว่า ‘อนิยมสรรพนาม’ ได้แก่คำว่า ‘ใคร อะไร ไหน ผู้ใดผู้อื่น ผู้ใดผู้หนึ่ง ผู้หนึ่งผู้ใด ชาวไหน ชาวอะไร ชาวอื่น ใดๆ อื่นๆ เป็นต้น ซึ่งไม่ใช่เป็นคำถาม ดังตัวอย่าง
(ก) ฉันไม่เห็นใครแล้ว
(ข) ฉันไม่อยากฟังผู้หนึ่งผู้ใดเลย
(ค) ชาวไหนก็สู้ชาววังไม่ได้
(ฆ) ผู้ใดจะอยู่ก็ได้
(ง) ใดๆ ในโลก ล้วนอนิจจัง ดังนี้เป็นต้น

ปฤจฉาสรรพนาม คำสรรพนามที่ใช้เป็นคำถาม เรียกว่า ‘ปฤจฉาสรรพนาม’ คำ ‘ปฤจฉา’ แปลว่า คำถาม อย่างเดียวกับคำ ปุจฉา ปฤจฉาสรรพนามหมายความถึงคำที่ใช้แทนชื่อ คน สัตว์ หรือสิ่งของ ที่ไม่แน่ นอนอย่างเดียวกับอนิยมสรรพนามเหมือนกัน ต่างกันก็คือ ปฤจฉาสรรพนาม เอามาใช้เป็นคำถามเท่านั้น, ตัวอย่างเช่น คำ ‘ใคร อะไร ไหน’ ถ้าเอามาเป็นคำถาม ‘ใครมา? อะไรตก? ไหนเป็นบ้านท่าน?’ ดังนี้ คำ ‘ใคร’ หมายความว่าแทนคนที่มา คำ ‘อะไร’ หมายความว่าแทนของที่ตก และคำ ‘ไหน’ หมายความว่าแทนบ้านที่ถาม ซึ่งจะต้องถามให้ทราบ ที่เป็นคำสมาสก็มี เช่น ผู้ใด ชาวไหน ชาวอะไร เป็นต้น

หมายเหตุ คำ ‘ใคร’ มักใช้แทนคน และใช้เป็นคำวิเศษณ์ไม่ได้ คำ ‘อะไร, ไหน’ ใช้แทนทั่วไป และใช้เป็นคำวิเศษณ์ได้ด้วย เช่น สัตว์อะไร ตำบลไหน เป็นต้น คำ ‘อะไร’ บางทีก็ละ ‘อะ’ ออกเสีย เช่นตัวอย่างว่า ‘เขาเป็นไร’ ดังนี้เป็นต้น

ข้อสังเกต อนิยมสรรพนามโดยมากเหมือนปฤจฉาสรรพนาม ต่างกันแต่ ปฤจฉาสรรพนามใช้เป็นคำถาม และอนิยมสรรพนามไม่ใช้เป็นคำถามเท่านั้น

ที่มา:พระยาอุปกิตศิลปสาร

คำนาม

คำทั้งปวงที่มีลักษณะดังแสดงมาแล้วนั้น จำแนกออกเป็นชนิดต่างๆ กันดังนี้

๑. คำนาม เป็นคำบอกชื่อคน สัตว์ สิ่งของ เป็นต้น
๒. คำสรรพนาม เป็นคำใช้แทนชื่อต่างๆ
๓. คำกริยา(กริยาอ่านว่า“กฺริ-ยา” ทั้งนี้เพื่อให้ต่างกับคำ “กิริยา” ซึ่งหมายถึงความประพฤติ เช่น กิริยาดี กิริยาไม่ดี ฯลฯ) เป็นคำบอกอาการของคน สัตว์ สิ่งของ เป็นต้น
๔. คำวิเศษณ์ เป็นคำประกอบคำอื่นให้มีความต่างออกไป
๕. คำบุพบท เป็นคำสำหรับนำหน้านามและสรรพนาม
๖. คำสันธาน เป็นคำเชื่อมคำหรือความให้ติดต่อกัน
๗. คำอุทาน เป็นคำบอกเสียงต่างๆ

ข้อสังเกต คำภาษาไทยเรามักเป็นคำโดดๆ ไม่มีที่สังเกตแน่นอนว่าเป็น คำชนิดไร คำชนิดหนึ่งจะนำไปใช้เป็นคำอีกชนิดหนึ่งก็ได้ แล้วแต่รูปของประโยค ทำนองเดียวกับภาษาจีนซึ่งอยู่ใกล้กับไทย

ดังนั้นจึงควรสังเกตว่า การที่แยกชนิดคำออกเป็นชนิดๆ ต่อไปนี้ ก็เพื่อ จะให้รู้ว่าต้นรากของคำนั้นๆ เป็นคำชนิดใด ให้ถือเป็นหลักไว้ก่อน ส่วนที่จะเอาคำเหล่านี้ไปใช้ในหน้าที่คำชนิดอื่นนั้น จะได้อธิบายต่อไปข้างหน้า

คำนาม ‘นาม’ เป็นคำบาลี แปลว่าชื่อ ในที่นี้ใช้เรียกคำพวกหนึ่งที่บอกชื่อสิ่งที่มีรูป เช่น คน สัตว์ บ้านเมือง เป็นต้นก็ดี หรือที่ไม่มีรูป เช่น เวลา อายุ ใจ อำนาจ บาป บุญ เป็นคนก็ดี นับว่าเป็นคำนามทั้งนั้น และคำนามนี้แบ่งออกไปอีกเป็น ๕ พวกด้วยกัน คือ (๑) สามานยนาม (๒) วิสามานยนาม (๓) สมุหนาม (๔) ลักษณนาม (๕) อาการนาม ดังจะ อธิบายต่อไปนี้:-

สามานยนาม คำนามที่เป็นชื่อทั่วไป เช่น คน บ้าน เมือง ใจ ลม เวลา เป็นต้น ซึ่งใช้เรียกได้ทั่วไป

สามานยนามนี้ ในภาษาไทยนิยมใช้เป็น ๒ ชั้น คือ เป็นชื่อแห่งสิ่งของ จำพวกใหญ่ เช่น คน นก ฯลฯ ชั้นหนึ่ง และเป็นชื่อแห่งสิ่งของจำพวกย่อยออกไปจากจำพวกใหญ่อีกชั้นหนึ่ง เช่น ตัวอย่างคำ จีน แขก ฝรั่ง ฯลฯ ซึ่งเป็นจำพวกย่อยของ “คน” และคำ ยาง ดุเหว่า เอี้ยง ฯลฯ เป็นจำพวกย่อยของ ‘นก’ ดังนี้เป็นต้น สามานยนามบอกจำพวกย่อยนี้ให้ชื่อว่า ‘สามานยนามย่อย’

สามานยนามย่อยนี้ ในภาษาอื่นโดยมากเขาใช้อย่างเดียวกับสามานยนามจำพวกใหญ่ คือเขาจะเรียกชนิดใดก็เรียกลอยๆ ว่า จีน แขก ฝรั่ง ยาง ดุเหว่า เอี้ยง ฯลฯ เหมือนกันหมด แต่ในภาษาไทยโดยมากต้องใช้ควบกันว่า คนจีน คนแขก นกยาง นกดุเหว่า ฯลฯ เป็น ๒ ชั้นอยู่ดังนี้ บางทีก็มีคำชื่อบอกชนิดย่อยลงไปอีก เช่น นก-เขา-ชวา นก-ยาง-กรอก ฯลฯ เมื่อเป็นดังนี้ คำ ‘ชวา’ และ ‘กรอก’ ก็เป็นสามานยนามย่อยของ ‘นกเขา’ และ ‘นกยาง’ อีกชั้นหนึ่ง เป็นชั้นๆ กันขึ้นไปจนถึงชนิดใหญ่ คำสามานยนามย่อยนี้ ถ้าคำใดใช้จนชินแล้ว ก็กล่าวขึ้นลอยๆ ได้ เช่น จีน แขก แร้ง กา ฯลฯ ไม่ต้องใช้นามจำพวกใหญ่นำหน้าว่า คนจีน คนแขก นกแร้ง นกกา ดังกล่าวแล้ว

วิสามานยนาม  คำนามที่เป็นชื่อเฉพาะที่สมมติตั้งขึ้นสำหรับเรียก คน สัตว์ และสิ่งของบางอย่าง เพื่อให้รู้ชัดว่า คนนี้ สัตว์ตัวนี้ ของสิ่งนี้ ฯลฯ เช่น ตัวอย่าง ชื่อคน-สอน สิน ฯลฯ ชื่อบรรดาศักดิ์-ญาณภิรมย์ อุดมจินดา ฯลฯ ชื่อสกุล-มาลากุล ณ สงขลาฯ  ชื่อสัตว์ เช่น ช้าง-มงคล พังแป้น ฯลฯ ชื่อเมือง-นนทบุรี ราชบุรีฯลฯ ชื่อสิ่งของ เช่น เรือ-เสือ ทะยานชน เสือคำรนสินธุ์ และวัน-อาทิตย์ จันทร์ ฯลฯ เหล่านี้เป็นตัวอย่าง และวิสามานยนามที่ใช้ในภาษาไทยโดยมาก ต้องมีสามานยนามอยู่ข้างหน้าด้วย เช่นนาย-สอน หลวง-ญาณภิรมย์ ช้าง-มงคล เมือง-นนทบุรี วัน-อาทิตย์ เป็นต้น เว้นแต่บางคำที่ใช้อยู่มากจนรู้ทั่วกันแล้ว จึงใช้เรียกลอยๆ ได้ เช่น คำพูดว่า ‘สอน มานี่,ฉันจะไป เชียงใหม่, เขามาจาก ฮ่องกง’ ดังนี้เป็นต้น

ข้อสังเกต วิสามานยนามนี้ต้องเป็นคำใช้เป็นชื่อตั้งขึ้นเรียกคนคนเดียว สัตว์ตัวเดียว และของสิ่งเดียว ถึงจะเป็นชื่อของหมู่คณะ ก็ต้องเป็นหมู่เดียว คณะเดียว เช่น ‘ชาติ-ไทย’ หมายความว่าไทยชาติเดียว และ‘สโมสร-สามัคยาจารยสมาคม’ ก็หมายความถึงสโมสรนั้นแห่งเดียว ถึงแม้จะเผอิญมีชื่อซ้ำกันบ้าง ก็หมายความเฉพาะคน เฉพาะสิ่ง ไม่ทั่วถึงกันได้ ถ้าอยู่ใกล้กันก็ต้องเติมสร้อยหรือบอกเครื่องหมายท้ายชื่อให้สังเกตได้ว่า คนนี้ สิ่งนี้ เช่น นาย-แดง (เล็ก) นาย-แดง (ใหญ่) วัดสามจีนใต้ วัดสามจีนเหนือ เป็นต้น

สมุหนาม  คำนามที่เป็นชื่อ คน สัตว์ และสิ่งของที่รวมอยู่มากด้วยกัน เรียกว่า ‘สมุหนาม’ เช่น ทหารมากด้วยกัน เรียก ‘กอง’ ภิกษุ ตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป เรียกว่า ‘สงฆ์’ ช้างหลายตัวรวมกันอยู่ เรียกว่า ‘โขลง’ และคำที่หมายถึงจำนวนมากอื่นๆ อีก เช่น หมู่ คณะ ฝูง บริษัท นิกาย รัฐบาล เป็นต้น

ข้อสังเกตุ สมุหนามนี้ต่างกับสามานยนาม คือ สามานยนามเป็นชื่อของ ชนิด เช่น คน จะมีคนเดียวหรือหลายคนก็ได้ จำกัดจำนวนเป็นคนๆ ไป แต่สมุหนามนั้นเป็นชื่อของหมวดหมู่แห่งชนิดนั้นๆ อีกทีหนึ่ง จำกัดจำนวนรวมกันอยู่มากๆ คือหมายความว่า จำนวนหนึ่งก็มีอยู่หลายคนหลายสิ่ง ถ้าแม้จะใช้สมุหนามนั้นเป็นเอกพจน์ว่า หมู่หนึ่ง หมวดหนึ่ง ก็ต้องมีหลายคน หลายสิ่งรวมอยู่ในหมู่และหมวดนั้น และสมุหนามนี้ถ้าจะให้รู้ละเอียดต่อไปอีก ก็ใช้เติมสามานยนามหรือวิสามานยนามเข้าข้างท้าย เช่นตัวอย่าง ฝูง-นก (ของนก) พวก-นักเลง (ของนักเลง) รัฐบาล-ไทย (ของไทย) ดังนี้เป็นต้น

อนึ่ง คำที่เป็นชื่อของสถานที่ เช่น บ้านเมือง ศาล สโมสร ฯลฯ เหล่านี้ ถ้าหมายความถึงสถานที่นั้นก็นับว่าเป็นสามานยนามดังกล่าวแล้ว แต่ถ้าหมายความถึงประชุมชนที่ทำการรวมกันอยู่ในสถานนั้น ต้องนับว่าเป็นสมุหนาม ตัวอย่างเช่นพูดว่า ‘บ้านเมืองทำโทษ ศาลตัดสินยกฟ้อง สโมสรนี้ต้องการคนดี’ เป็นต้นดังนี้ คำ บ้านเมือง ศาล สโมสร ในที่นี้เป็นสมุหนาม

ลักษณนาม คำนามที่ใช้บอกลักษณะของสามานยนามอีกทีหนึ่ง เช่นคำเรียกพระว่า ‘รูป’ เรียกสัตว์ว่า ‘ตัว’ เรียกเรือว่า ‘ลำ’ เป็นต้น เหล่านี้เรียกว่า ‘ลักษณนาม’ ตามธรรมดาสามานยนามในภาษาไทย จะเอาคำวิเศษณ์บางชนิดมาประกอบเข้าข้างท้ายห้วนๆ ว่า พระสอง ม้าสาม เรือเดียว ฯลฯ ดังนี้ไม่ได้ ต้องมีคำนามอีกจำพวกหนึ่งมาประกอบท้ายคำวิเศษณ์เหล่านั้น จึงจะได้ความสมบูรณ์ เช่นตัวอย่างว่า พระสองรูป ม้าสามตัว เรือลำเดียว ดังนี้ คำ รูป ตัว ลำ เหล่านี้เรียกว่าลักษณนาม และลักษณนามที่ประกอบกับวิเศษณ์ นี้ รวมกันเป็นวลีประกอบคำข้างหน้าอีกทีหนึ่ง เช่น ‘เรือลำหนึ่ง’ ‘ถูกเฆี่ยน สามยก’ ฯลฯ ดังนี้บทว่า ‘ลำหนึ่ง’ก็ดี ‘สามยก’ ก็ดี เป็นวลี ทำหน้าที่เป็น บทวิเศษณ์ขยายคำ ‘เรือ’ และบท ‘ถูกเฆี่ยน’ ตามลำดับ ดังจะแสดงต่อไปข้างหน้า ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะคำเท่านั้น

และ ลักษณนามนี้ ก็คือ สามานยนามหรือสมุหนามนั้นเอง แต่เอามาใช้ ในที่บอกลักษณะของนามข้างหน้าคล้ายกับคำวิเศษณ์ จึงเรียกชื่อต่างออกไปอีกอย่างหนึ่ง จะเลือกคัดเอาไว้พอเป็นที่สังเกตเป็นพวกๆ ดังต่อไปนี้:-

๑. ลักษณนามบอกชนิด
silapa-0073 - Copy
๒. ลักษณนามบอกหมวดหมู่

silapa-0074 - Copy

๓. ลักษณนามที่บอกสัณฐาน

silapa-0074 - Copy1

silapa-0075 - Copy

๔. ลักษณนามบอกจำนวนและมาตรา

silapa-0075 - Copy1

๕. ลักษณนามบอกอาการ

silapa-0075 - Copy2

๖. ลักษณนามซ้ำชื่อ
สามานยนามบางคำ ที่ไม่ต้องการบอกลักษณะดังข้างบนนี้ เมื่อจะใช้ กับคำวิเศษณ์เช่นนั้น ต้องเอาคำสามานยนามเดิมนั้นเองมาใช้เป็นลักษณนามประกอบคำวิเศษณ์นั้นๆ เช่น ประเทศสองประเทศ เมืองสองเมือง บ้านสองบ้าน วัดสี่ วัด ดังนี้เป็นต้น คำสามานยนามที่ซ้ำกับชื่อข้างหน้า คือ ประเทศ เมือง บ้าน วัด นั้นเรียกว่า ลักษณนาม เหมือนกัน

ข้อสังเกต ลักษณนาม นี้ นับว่าเป็นส่วนสำคัญที่จะต้องสังเกตให้แม่นยำ จะใช้ปนกันเป็นคนสองตัว ถ้วยสองอัน ฯลฯ ไม่ได้ ลักษณนามจำพวกที่ซ้ำชื่อข้างหน้าใช้ทั่วไปได้มาก แต่มักใช้ในการทำบัญชี เพราะเป็นการสะดวก นึกง่าย แต่ก็ใช้ไม่ได้ทั่วไปทุกคำ เช่นคำ ‘พระ เรือ’ จะใช้ว่า ‘๒พระ ๒ เรือ’ ดังนี้ก็ไม่ได้ ต้องให้ถูกตามระเบียบ

อาการนาม คำนามที่เป็นชื่อแห่งกิริยาอาการ หรือความปรากฏ เป็นต่างๆ แห่ง คน สัตว์ และสิ่งของซึ่งเนื่องมาจากคำกริยา หรือคำวิเศษณ์เช่น การกิน การอยู่ ความตาย ความสวย ความงาม เป็นต้น เหล่านี้เรียกว่า ‘อาการนาม’ และคำอาการนามนี้ โดยมากเป็นคำประสมที่มี
คำว่า ‘การ’ หรือ ‘ความ’ นำหน้าเป็นพื้น มีข้อยกเว้นบ้าง ดังจะอธิบายต่อไป

คำ ‘การ’ และ ‘ความ’ ที่นำหน้านั้น มีที่ใช้ต่างกัน คือ ถ้านำหน้าคำกริยา มักใช้ ‘การ’ แต่ถ้าคำกริยาที่มีความว่า มี เป็น เกิด ดับ เจริญ เสื่อม หรือ กริยาที่เกี่ยวกับจิตใจ มักใช้ ‘ ความ ’ นำหน้า เช่น ความมี ความเป็น ความเกิด ความตาย ความคิด ความรัก เป็นต้น และถ้านำหน้าคำวิเศษณ์แล้ว ใช้ ‘ความ’ เป็นพื้น เช่นความดี ความชั่ว ความสวย ความงาม เป็นต้น

ข้อสังเกต คำกริยาที่ไม่มี ‘การ’ หรือ ‘ความ’ นำหน้า เรียกว่ากริยา สภาวมาลา ใช้ในหน้าที่นามได้เหมือนกัน เช่น ‘หาบ ดีกว่าคอน’ เป็นต้น ส่วนอาการนามที่มาจากคำวิเศษณ์นั้น ถึงไม่มี ‘ความ’ นำหน้า ก็นับว่าเป็นอาการนามได้เหมือนกัน เช่น ‘รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา’ เป็นต้น

ข้อสังเกต ๒ คำอาการนามทั้งหมด ต้องมีคำกริยา หรือวิเศษณ์ อยู่เป็น หลัก และมีคำ ‘การ’ หรือ ‘ความ’ ประกอบข้างหน้า หรือละไว้ในที่เข้าใจดังกล่าวแล้ว แต่ถ้าไม่มีคำกริยา หรือ วิเศษณ์ อยู่เป็นหลักแล้ว ถึงจะมีคำ การ ความ นำหน้า ก็ไม่นับว่าเป็นอาการนาม เช่น ตัวอย่าง การเรือน ความวัว (ในประโยคว่า ‘ความวัวยังไม่หาย…’) เป็นต้น เหล่านี้ก็จัดเป็นสามานยนาม คำประสมอย่างอื่นไม่ใช่อาการนาม

คำนามที่มาจากบาลีและสันสกฤต คำเหล่านี้ให้วินิจฉัยอย่างเดียวกับคำไทยที่อธิบายมาแล้ว เช่น มนุษย์ เทวดา ฯลฯ เป็นสามานยนาม, สาวัตถี (ชื่อเมือง) เวสสันดร (ชื่อกษัตริย์) ฯลฯ เป็นวิสามานยนาม, สงฆ์ คณะ ฯลฯ เป็นสมุหนาม พระ ๒ รูป เทวดา ๒ องค์ ฯลฯ ‘รูป’ และ ‘องค์’ เป็นลักษณนาม แต่จำพวกอาการนามนั้นให้สังเกตดังนี้คือ คำที่เราเคยใช้เป็นกริยา เช่น เทศน์ อุตสาหะ กรุณา ฯลฯ ถ้านำมาใช้เป็นนาม โดยเอาคำ ‘การ’ หรือ ‘ความ’ นำหน้าว่า การเทศน์ ความอุตสาหะ ความ กรุณา ดังนี้ก็ดี หรือละคำ ‘การ’ หรือ ‘ความ’ ไว้ในที่เข้าใจ ดังพูดว่า ‘เขา มีเทศน์, เขามีอุตสาหะ, เขามีกรุณา’ ดังนี้ก็ดี นับว่าเป็นอาการนาม แต่ถ้าคำที่ไม่เคยใช้เป็นคำกริยาเลย เช่น ตัณหา ขันตี ฤทธิ์เดช เป็นต้นเหล่านี้ นับว่าเป็นสามานยนาม ถึงแม้คำเหล่านี้มีคำแปลเป็นอาการนาม เช่น ตัณหา แปลว่า ความอยากได้ ก็ไม่นับว่าเป็นอาการนาม ตามคำแปล เพราะคำแปลอาจจะผูกให้เป็นอย่างไรก็ได้

ที่มา:พระยาอุปกิตศิลปสาร

ลักษณะคำบาลีและสันสกฤตในภาษาไทย

คำบาลีและสันสกฤต คำไทยเรามีคำภาษาอื่น เช่น บาลีสันสกฤต เขมร จีน เป็นต้น ปนอยู่มาก แต่คำภาษาอื่นนอกจากบาลีและสันสกฤต มี ลักษณะอย่างเดียวกับคำภาษาไทย แต่คำบาลีและสันสกฤตมีลักษณะผิดกับภาษาไทยอยู่บ้าง จึงต้องคัดบางอย่างมากล่าวไว้เป็นพิเศษ ดังต่อไปนี้:-

พยางค์ประกอบหน้าศัพท์ คำจำพวกนี้เรียกว่า ‘อุปสรรค’ ใช้ประกอบหน้าศัพท์ เพื่อขยายความของศัพท์นั้นให้ต่างออกไป คล้ายคำวิเศษณ์ ในภาษาไทย แต่ไม่นบเบนกำหนึ่งต่างหากอย่างกำวิเศษณ์ ถีงที่นำมาใช้ใน ภาษาไทย ก็ต้องนับรวมเข้าเป็นคำเดียวกับคำข้างท้ายเหมือนกัน อุปสรรคนี้ โดยมากใช้นำหน้าแต่คำบาลีและสันสกฤตเท่านั้น ไม่ใคร่ใช้นำหน้าคำไทย เว้นแต่คำโบราณบางคำ เช่น ‘ทร’ ซึ่งแผลงมาจากอุปสรรค ‘ทุ’ แปลว่า ชั่ว ยาก ใช้นำหน้าคำ ‘หู’ และ ‘หน’ เป็น ‘ทรหู’ แปลว่า หูชั่ว หมายความว่าได้ยินข่าวร้าย และ ‘ทรหน’ แปลว่า ทางลำบาก ทางไกล เป็นต้น

อุปสรรคที่ใช้ชุกชุมในภาษาไทย มีดังนี้:-

silapa-0064 - Copysilapa-0065 - Copy

พยางค์ประกอบท้ายศัพท์ คำเหล่านี้ในภาษาบาลีและภาษาสันสกฤตมีอยู่ ๒ พวก เรียกว่า ‘ปัจจัย’ พวกหนึ่ง และ ‘วิภัตติ’ พวกหนึ่ง คำบาลี และสันสกฤต ต้องมี ปัจจัย และ วิภัตติ ประกอบอยู่ข้างท้ายแทบทั้งนั้น

๑. ปัจจัย นั้นใช้ประกอบท้ายศัพท์เดิม บางทีก็เชื่อมอยู่กับศัพท์เดิมทีเดียว บางทีก็ต่อท้ายออกมาให้เห็นได้ง่าย สำหรับเป็นเครื่องหมายบอก มาลากาล วาจก ลึงค์ ฯลฯ ของศัพท์นั้นๆ นับว่าเป็นส่วนสำคัญในไวยากรณ์ของเขา แต่ตกมาในภาษาไทย ไม่สู้สำคัญอะไรนัก เพราะศัพท์ที่เรานำมาใช้ มีปัจจัยประกอบสำเร็จมาในตัวแล้วทั้งนั้น เป็นแต่จำคำแปลและวิธีใช้ให้ได้ก็พอ จะเลือกคัดปัจจัยที่ใช้ในภาษาไทยชุกชุมมาไว้พอเป็นที่สังเกตดังต่อไปนี้

silapa-0066 - Copysilapa-0067 - Copy๒. วิภัตติ เป็นเครื่องหมายประกอบท้ายศัพท์ ต่อจากปัจจัยออกไปอีก ทีหนึ่ง ศัพท์ในภาษาบาลีและสันสกฤตนอกจากจำพวกนิบาต ซึ่งคล้ายกับสันธาน ในภาษาไทยแล้ว เป็นต้องมีวิภัตติประกอบอยู่ด้วยแทบทั้งนั้น ใช้ประกอบท้ายนาม เพื่อบอก การก พจน์ ฯลฯ เช่น โจโร โจรคนเดียว โจรา โจรหลายคน ‘โอ’ และ ‘อา’ เป็นวิภัตติ บอกกรรตุการก โจรํโจรคนเดียว โจเร โจรหลายคน ‘อํ’ และ ‘เอ’ เป็นวิภัตติบอกกรรมการก ดังนี้เป็นต้น ส่วนคำกริยาก็มีวิภัตติประกอบเหมือนกัน เพื่อบอก มาลา กาล วาจก ฯลฯ  เช่น กโรติ (เขากระทำ) กโรสิ (ท่านกระทำ) กโรมิ (ฉันกระทำ) ‘ติ’ ‘สิ’ ‘มิ’ นี้เป็นวิภัตติบอกเวลาปรัตยุบัน และเป็นเอกพจน์ เป็นต้น

วิภัตตินี้ เราไม่ได้นำมาใช้ในภาษาไทย เป็นแต่ติดมาบ้างในคำประพันธ์ เช่นกล่าวว่า ‘พระพุทโธ พระพุทธัง’ ฯลฯ แต่ก็เพื่อให้สัมผัสคล้องกันเท่านั้น ไม่ได้ประสงค์จะบอก การก หรือ พจน์ อย่างในภาษาของเขา เพราะฉะนั้นจึงไม่ต้องอธิบายให้พิสดารยิ่งกว่านี้

คำสมาสบาลีและสันสกฤต ในภาษาบาลีและสันสกฤต มีวิธีย่อคำหลายคำเขาเป็นคำเดียวเรียกว่าคำสมาส เช่น ‘เสฏฐิโน’ (ของเศรษฐี) กับ I ‘ปุตฺโต’ (ลูก) ย่อเข้าเป็น ‘เสฏฐิปุตฺโต’ เป็นคำเดียว แปลว่า ลูกเศรษฐี ดังนี้เป็นต้นก็ดี หรือศัพท์ที่มีคำคุณนามของบาลี เช่น ‘มหา บรม วร พระ (แผลงจาก วร) บรมราช’ ฯลฯ นำหน้าดังตัวอย่าง ‘มหาอุบาสิกา’ (อุบาสิกาใหญ่) ‘บรมครู’ (ครูยิ่งยอด) ‘วรพจน์’ (คำประเสริฐ) ‘พระหัตถ์’ (มือประเสริฐ) ‘พระบาท’ (เท้าประเสริฐ) ‘บรมราชวัง’ (วังหลวงประเสริฐ) เป็นต้นก็ดี คำสมาสอื่นๆ ที่เรานำมาใช้ในภาษาไทยมาก เช่น จักรปาณี สังสารทุกข์ เถรสมาคม ฯลฯ เป็นต้นก็ดี คำเหล่านี้ต้องนับว่าเป็นคำเดียวตามภาษาเดิมของเขา คือไม่ต้องแยกออกเป็น ‘จักร’ คำหนึ่ง และ ‘ปาณี’ คำหนึ่ง และคำสมาสพวกนี้นับเข้าในคำประสมของภาษาไทย ดังกล่าวแล้ว

ศัพท์ท้ายของคำสมาสที่ตั้งต้นด้วยสระ ต้องเชื่อมกันตามวิธีสนธิดังกล่าว แล้วในตำราอักขรวิธี เช่น ‘วร’ กบ ‘โอกาส’ เป็น ‘วโรกาส’ เป็นต้น

ข้อสังเกตคำสมาสบาลีและสันสกฤต ให้กำหนดตามหลักดังต่อไปนี้

๑. คำสมาสมักเรียงลำดับอย่างภาษาเดิมของเขา คือกลับกันกับภาษาไทย เช่น ‘ภูมิศาสตร์’ (แผ่นดิน-ตำรา) ‘นวกภูมิ’ (ใหม่-ชั้น) ดังนี้เป็นต้นอย่างหนึ่ง

๒. คำสมาสบางพวกเรียงลำดับอย่างเดียวกับภาษาไทย เช่น บุตรภรรยา’ เช่นนี้ให้สังเกตวิธีอ่าน เพราะคำสมาสต้องอ่านเสียงสระเนื่องกันอย่างภาษาเดิมของเขาว่า ‘บุด-ตระ-พัน-ระ-ยา’ ดังอธิบายแล้วในอักขรวิธี แต่ถ้าอ่านเสียงไม่เนื่องกันว่า ‘บุด พัน-ระ-ยา’ นับว่าเป็นคนละคำ

๓. แต่ถ้าคำสมาสอย่างข้อ ๒ นั้น เฉพาะมีคำที่ต้องออกเสียงสระ ‘อะ’ อยู่ท้ายคำหน้า เช่น ‘สมณพราหมณ์’ ดังนี้ คำ สมณะ ถึงแม้ว่าคำเดียวโดดๆ ก็ต้องออกเสียงสระ อะ ข้างท้ายอยู่แล้ว เช่นนี้ให้สังเกตวิธีเขียน คือ ถ้าประวิสรรชนีย์คั่นเสียว่า ‘สมณะพราหมณ์’ เช่นนี้นับว่าเป็นคนละคำ เพราะคำบาลี ที่อ่านเสียงสระอะ ข้างท้ายนั้น ต้องประวิสรรชนีย์ข้างท้าย เพื่อกันไม่ให้อ่านเป็นตัวสะกด เช่น เถระ สาธารณะ ธุระ สรณะ คณะ เป็นต้น แต่ถ้าต้องการให้เป็นคำสมาสต้องใช้เขียนอย่างภาษาเดิมของเขา คือ ไม่ประวิสรรชนีย์ในท่ามกลางดังนี้ สมณพราหมณ์ เถรสมาคม สาธารณชน ธุรวาหะ สรณคมน์ คณบดี เป็นต้น ดังได้อธิบายแล้วในอักขรวิธี แต่มีข้อยกเว้นบางคำ เช่นคำ ‘พระ’ ที่ประกอบหน้าคำอื่น เช่น ‘พระหัตถ์ พระบาท พระอู่’ ฯลฯ นับว่าเป็นคำ สมาส

ที่มา:พระยาอุปกิตศิลปสาร

ลักษณะคำไทย

คำอธิบาย ‘วจีวิภาค’ เป็นภาษาบาลี แปลว่า การจำแนกถ้อยคำ ใช้เป็นชื่อตำราไวยากรณ์ ซึ่งว่าด้วยถ้อยคำที่ใช้อยู่ในภาษาไทย นับว่าเป็นส่วนหนึ่งของตำราไวยากรณ์ ต่อจากตำราอักขรวิธี ซึ่งว่าด้วยตัวหนังสือ

ความหมายของคำ “คำ” ในตำราไวยากรณ์ มีความหมายต่างกันเป็น ๓ อย่าง คือ

๑. หมายความว่า พยางค์หนึ่งๆ คือเสียงที่เปล่งออกมาครั้งหนึ่งๆ ดังที่ ใช้อยู่ในตำราอักขรวิธีว่า คำเป็น คำตาย และที่ใช้ในตำราฉันทลักษณ์ว่าคำครุ คำลหุ หรือจำนวนคำ ที่ใช้ในวรรคหนึ่งๆ ของคำประพันธ์ว่า โคลงบาทนั้นมีเท่านั้นคำ ฉันท์บทนี้มีเท่านั้นคำ เป็นต้น

๒. หมายความว่า คำร้องท่อนหนึ่ง เป็นคำหนึ่ง ดังที่ใช้ในคำกลอนบท ละครต่างๆ คือหมายความว่า คำกลอน ๒ วรรค เป็นคำหนึ่ง เช่นตัวอย่าง “มาจะกล่าวบทไป ถึงสี่องค์ทรงธรรมนาถา’’ เรียกว่าคำหนึ่ง คือ หมายถึงคำร้องคำหนึ่ง

๓. ต่อไปนี้ ก็คือคำที่ใช้ในตำราวจีวิภาคนี้ คือหมายความว่าเสียงที่พูด ออกมา ได้ความอย่างหนึ่ง ตามความต้องการของผู้พูดจะเป็นกี่พยางค์ก็ตาม เรียกว่าคำหนึ่ง บางคำก็มีพยางค์เดียว บางคำก็มีหลายพยางค์ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

‘นา’ (ที่ปลูกข้าว) เป็นคำ ๑ มีพยางค์ ๑
‘นาวา’ (เรือ) เป็นคำ ๑ มี ๒ พยางค์
‘นาฬิกา’ (โมงหรือทุ่ม) เป็นคำ ๑ มี ๓ พยางค์  ดังนี้เป็นต้น

เค้าเงื่อนของคำ คำไทยแต่เดิมมักมีพยางค์เดียวโดดๆ คล้ายกับ คำภาษาจีน ซึ่งใกล้เคียงกัน เช่นตัวอย่าง พ่อ แม่ เงิน ทอง ดิน น้ำ ลม ไฟ ม้า ช้าง เป็ด ไก่ เป็นต้น ภายหลังรับเอาคำภาษาอื่น เช่น บาลี และสันสกฤต ซึ่งมักมีหลายๆ พยางค์มาใช้ จึงได้มีพยางค์มากออกไป เช่น บิดา มารดา สุวรรณ ปถวี อุทก อัคคี สุนัข สุกร เป็นต้น คำเหล่านี้ ในภาษาเขาออกเสียงมีพยางค์มากกว่าที่เราใช้อยู่ แต่เพราะว่าเราเคยใช้คำน้อยพยางค์ เราจึงเอามาตัดทอนให้น้อยพยางค์ลงกว่าภาษาเดิมของเขา เช่น สุ-ขะ ตัดเป็น สุข (สุก) พา-ละ ตัดเป็น พาล (พาน) กุ-สะ-ละ ตัดเป็น กุศล (กุ-สน) กาญ-จะ-นะ ตัดเป็น กาญจน์ (กาน) เป็นต้น ถึงกระนั้นก็ยังมีพยางค์มากกว่าคำไทยเดิมของเรา

คำมูล คำที่เราตั้งขั้นเฉพาะคำๆ เดียว จะเป็นคำที่มาจากภาษาไหนก็ดี หรือคำที่ตั้งขึ้นใหม่ในภาษาไทยเฉพาะคำหนึ่งๆ ก็ดี เรียกว่า คำมูล คำเหล่านี้ บางทีก็มีความหมายพ้องกัน เช่น ‘ขัน’ หมายความว่าน่าหัวเราะก็ได้ เครื่องตักน้ำก็ได้ ไก่หรือนกบางอย่างทำเสียงอย่างหนึ่งก็ได้ เป็นต้น ดังนี้นับว่าเป็น คำมูลเหมือนกัน เพราะเป็นคำเดียวโดดๆ

คำประสม คำที่เอาคำมูลเหล่านั้นมาประสมกันเข้าตั้งเป็นอีกคำหนึ่ง เรียกว่า คำประสม เช่นคำมูล ‘แม่’ กับ ‘น้ำ’ รวมกันเข้าเป็นคำประสม ว่า ‘แม่น้ำ’ หมายความว่าทางน้ำใหญ่ คำมูล ‘แสง’ กับ ‘อาทิตย์’ รวมกัน เป็นคำประสมว่า ‘แสงอาทิตย์’ ชื่องูชนิดหนึ่ง ดังนี้เป็นต้น แต่ถ้าไม่รวมเป็นคำเดียวกัน เช่น ‘แสง’ ก็คำหนึ่ง แปลว่า รัศมี และ ‘อาทิตย์’ ก็อีกคำหนึ่ง, แปลว่า ดวงตะวันตามเดิม เช่นนี้ไม่นับว่าเป็นคำประสม นับว่าเป็นคำมูล ๒ คำที่เรียงอยู่ติดกัน ซึ่งเรียกว่า ‘วลี’ และคำประสมนี้มีลักษณะเป็น ๔ อย่าง ดังต่อไปนี้

๑. คำประสมที่เอาคำมูลมีเนื้อความต่างๆ มาประสมกันเข้า มีใจความ เป็นอีกอย่างหนึ่งไป เช่น คำมูล ‘หาง’ ส่วนท้ายของสัตว์ กับ ‘เสือ’ สัตว์ ชนิดหนึ่ง รวมกันเป็นคำประสมว่า ‘หางเสือ’ แปลว่าเครื่องถือท้ายเรือ และคำอื่นๆ เช่นลูกน้ำ แม่น้ำ เสือป่า (คน) แสงอาทิตย์ (งู) พ่อตา แม่ยาย เป็นคน คำเหล่านี้มีความหมายต่างกับคำมูลเดิมทั้งนั้น คำประสมพวกนี้ถึงแม้ว่ามีใจความแปลกออกไปจากคำมูลเดิมก็ดี แต่ก็ต้องอาศัยเค้าความของคำมูลเดินเป็นหลักอยู่เหมือนกัน เช่น หางเสือ” ก็มีเค้าความว่าอยู่ท้ายเรือดุจหางของเสือ ‘พ่อตา’ ก็มีเค้าความว่า พ่อ ที่ลูกของตนเรียกว่า ตา ดังนี้เป็นต้น ถ้าเป็นคำที่ไม่มีเค้าความเนื่องมาจากคำมูลเดิมเลย แต่เผอิญมาแยกออกเป็นคำมูลต่างๆ ได้ เช่น “กระถาง”ดังนี้ ถึงแม้จะแยกออกได้เป็น ‘กระ’ (เต่า) และ ‘ถาง’(ถางหญ้า) ดังนี้ ก็ไม่นับว่าเป็นคำประสม เพราะคำ ‘กระถาง’ ไม่ได้ มีเค้าความเนื่องมาจาก ‘กระ’ หรือ ‘ถาง’ อย่างใดอย่างหนึ่งเลย ต้องนับว่าเป็น คำมูล

๒. คำประสมที่เอาคำมูลหลายคำ ซึ่งทุกๆ คำก็มีเนื้อความคงที่ แต่เมื่อ เอามารวมกันเข้าเป็นคำเดียวก็มีเนื้อความผิดจากรูปเดิมไป เช่น ตัวอย่าง ตีชิง ขอสู่ สมสู่ ยินดี ยินร้าย หายใจ ใจหาย ฯลฯ ซึ่งถ้าแยกออกเป็นคำๆ แล้ว จะไม่ได้ความดังที่ประสมกันอยู่นั้นเลย

๓. คำประสมที่เอาคำมูลมีรูปหรือเนื้อความซ้ำกันมารวมเป็นคำเดียว คำเหล่านี้บางทีก็มีเนื้อความคล้ายกับคำมูลเดิม บางทีก็เพี้ยนออกไปบ้างเล็กน้อย เช่น ดำๆ แดงๆ เร็วๆ ช้าๆ ดังนี้ มีความหมายผิดจากคำมูลที่ไม่ซ้ำกันบ้างเล็กน้อย คือ ‘ดำๆ’ หมายความว่าดำทั่วไป ดังนี้เป็นต้น และอีกอย่างหนึ่ง ใช้คำมูลรูปไม่เหมือนกัน แต่เนื้อความอย่างเดียวกันรวมกันเข้าเป็นคำประสม ซึ่งมีความหมายต่างออกไปโดยมาก เช่น ถ้อยคำ ดูแล ว่ากล่าว ดังนี้เป็นต้น

๔. คำประสมที่ย่อมาจากใจความมาก คำพวกนี้มีลักษณะคล้ายกับที่เรียกว่า ‘คำสมาส’ หรือ ‘ตัทธิต’ ในภาษาบาลี เพราะเป็นคำย่ออย่างเดียวกัน เช่น ‘ชาวป่า’ ย่อมาจาก ‘คนอยู่ในป่า’ ‘ชาววัง’ ย่อมาจาก ‘คนอยู่ในวัง’ เป็นต้น รวมทั้งคำอาการนามที่มีคำว่า ‘การ’ หรือ ‘ความ’นำหน้า

คำประสมพวกนี้มีคำต่อไปนี้ประกอบอยู่ข้างหน้า คือ
ชาว เช่น ชาวนา ชาวเมือง ชาวประมง ฯลฯ
ผู้  เช่น ผู้ทำ ผู้ดี ผู้อื่น ผู้นี้ ผู้ใด ฯลฯ
นัก เช่น นักเลง นักรบ นักปราชญ์ ฯลฯ
ช่าง เช่น ช่างทอง ช่างเขียน ช่างหม้อ ฯลฯ
หมอ เช่น หมอช้าง หมอความ หมอลำ ฯลฯ
การ เช่น การกิน การอยู่ การนอน ฯลฯ
ความ เช่น ความตาย ความคิด ความจน ฯลฯ
เครื่อง เช่น เครื่องใช้ เครื่องว่าง เครื่องเขียน ฯลฯ
ของ เช่น ของเล่น ของกิน ของใช้ ฯลฯ
ที่  เช่น ที่นอน ที่อยู่ ที่นั่ง ฯลฯ
เหล่านี้เป็นตัวอย่าง

คำเหล่านี้มักใช้ประกอบข้างหน้าคำประสมพวกนี้อย่างเดียว จะแยกใช้ เฉพาะคำเดียวโดดๆ ไม่ได้ เช่นจะใช้ว่า ‘ฉันเห็น-ผู้’ หรือ ‘ฉันเห็น-ชาว’
เช่นนี้ไม่ได้ความ ต้องใช้ประสมกับคำอื่นว่า ‘-ผู้ทำ’ หรือ ‘-ชาวนา’ จึงจะ ได้ความเต็ม เพราะฉะนั้นจึงนับรวมกันเข้าเป็นคำประสม และคำประสมเหล่านี้ จำแนกเป็นชนิดต่างๆ เช่น คำนาม คำสรรพนาม ฯลฯ ได้อย่างเดียวกับคำมูลเหมือนกัน

ข้อสังเกต มีคำหลายคำรวมกันเข้าเป็นกลุ่มหนึ่งๆ แต่ไม่ใช่คำประสม เพราะคำเหล่านี้ต่างก็ประกอบกันได้ความตามรูปเดิม เช่น ตาบอด ตาข้างหนึ่งบอด ตาข้างหนึ่งเป็นต้อ กลุ่มของคำเหล่านี้เรียกว่า ‘วลี’ หาใช่คำประสมไม่ ขอให้ผู้ศึกษาสังเกตไว้ด้วย

๕. คำประสมที่มาจากคำสมาสของภาษาบาลีและสันสกฤต เช่น ราชกุมาร(ลูกหลวง) เศรษฐิภริยา ( เมียเศรษฐี) ฯลฯ จึงควรสังเกตว่าคำสมาสของบาลีและสันสกฤตนั้น ก็นับเข้าในคำประสมพวกหนึ่งเหมือนกัน

ที่มา:พระยาอุปกิตศิลปสาร

วิธีอ่านคำภาษาไทย

คำภาษาไทยโดยมากมักจะอ่านตรงไปตรงมาไม่สู้ลำบาก คำที่อ่านพลิกแพลงได้ต่างๆ นั้น มักเป็นคำที่มาจากบาลีและสันสกฤตเป็นพื้น ควรสังเกตหลักต่อไปนี้

คำตัว ฤ คำที่ประสมกับตัว ฤ นี้ มีวิธีอ่าน ๓ อย่าง คือ อ่านเป็นเสียง ‘ริ’ เสียง ‘รึ’ และเสียง ‘เรอ’

ตัว ฤ ที่เป็นต้นศัพท์ออกเสียงเป็น ริ ฤทธิ์, ฤชา, ฤษยา (เดี๋ยวนี้เขียน ริษยา) ที่ออกเสียงเป็น รึ คือ ฤ (ไม่), ฤดู, ฤดี, ฤษี ที่ออกเสียงเป็น เรอ มีอยู่คำเดียว คือ ฤกษ์ นอกจากนี้ก็ประสมกับพยัญชนะเป็นพื้นออกเสียงเป็น ริ บ้าง เป็น รึ บ้าง ซึ่งควรจะสังเกตดังนี้
(ก) ถ้าประสมกับตัว ก ต ท ป ศ ส ๖ ตัวนี้ ออกเสียงเป็น ริ, กฤษฎีกา, กฤษณา, อังกฤษ, ตฤษณา (แผลงเป็นฤษณา), ตฤณ, ทฤษฐิ, ทฤษฎี, ปฤศนา (ถ้าเขียน “ปริศนา” ใกล้กับศัพท์เดิม ซึ่งเป็น ปฺรศนา) ปฤจฉา, ศฤงคาร, สฤษฏ์ เป็นต้น

(ข) ถ้าประสมกับตัวอื่นออกเป็น รึ เช่น คฤห, นฤมล, พฤษภ, พฤศจิก, พฤฒา, มฤตยู, มฤดก, หฤทัย เป็นต้น แต่ที่มีคำยกเว้นบ้าง ดังนี้
อมฤต อ่าน อมรึด ก็ได้, อมริด ก็ได้ เช่น สุรมฤต
พฤนทุ์ อ่าน พรึนท์ ก็ได้, พรินท์ ก็ได้
มฤจฉา อ่าน มรึจฉา ก็ได้, มริจฉา ก็ได้

คำพ้อง มีคำที่เขียนอย่างเดียวกัน แต่อ่านเสียงต่างกันอยู่มาก ควรสังเกตดังต่อไปนี้

(ก) พ้องกับอักษรนำหรืออักษรควบ เช่น คำ เขมา, เพลา, โสน ฯลฯ จะอ่านเป็น เข-มา, เพ-ลา, โสน (น สะกด) ก็ได้ หรือจะอ่านเป็น เขฺมา, เพฺลา, โสฺน ก็ได้ คำเหล่านี้ต้องใช้ความจดจำเป็นหลัก

อนึ่ง คำสระอะ ในภาษาบาลีและสันสกฤต ท่านไม่ใช้ประวิสรรชนีย์ (นอกจากพยางค์ท้ายดังกล่าวแล้ว) เพราะฉะนั้น จึงพ้องกับอักษรนำ หรืออักษรควบในภาษาไทย เช่น สมาคม, กรี, พลี ฯลฯ คำเหล่านี้ต้องสังเกตรูปศัพท์เดิมเป็นหลัก คือถ้ารูปศัพท์เป็นอักษรผสมกัน มาเป็นไทยควรอ่านเป็นอักษรนำ หรืออักษรควบ เช่น สังขฺยา, เสฺวต, สฺวามี, สฺวัสดี ฯลฯ ถ้าศัพท์เดิมเป็นคำเรียงพยางค์ เช่น สมาทาน, สมาคม, กรี(ข้าง),พลี ต้องอ่านเรียงพยางค์ เป็น สะมาทาน, สะมาคม, กะรี, พะลี เป็นต้น

มีคำบางคำที่อ่านไม่ตรงตามหลักนี้ ควรสังเกตไว้เป็นพิเศษ ดังนี้

silapa-0052 - Copy

silapa-0053 - Copyอนึ่งคำตัว ท ควบ ร ที่มาจากบาลีและสันสกฤต ควรเป็นเสียงควบแท้ เช่น นิทรา, อินทรีย์, จันทร, อินทรา (ถ้าเขียน จันทร, อินทร อ่าน จัน-ทอน, อิน-ทอน ก็ได้) ฯลฯ  ถ้าเป็นคำไทยต้องเป็นเสียง ซ เช่น ทราบ (ซาบ), ทรง (ซง), ทราม (ซาม) ฯลฯ

อนึ่งคำที่แผลงมาจาก อักษรควบ มักจะออกเสียงวรรณยุกต์อย่างอักษร ควบตามเดิม เช่น กราบ เป็น กำราบ (หราบ), ตรวจ เป็น ตำรวจ (หรวด), ตรวจ เป็น สำรวจ (หรวด), ปราบ เป็น บำราบ(หราบ), ตริ เป็น ดำริ (หริ), จรัส เป็น จำรัส (หรัด), ตรัส เป็น ดำรัส (หรัด), เสร็จ เป็น สำเร็จ (เหร็ด) ฯลฯ แต่มีบางคำที่ยกเว้นบ้าง คือออกเสียงเป็นอักษรต่ำ เช่น ปราศ เป็น บำราศ (ราด) เป็นต้น คำเหล่านี้ต้องอาศัยจดจำเป็นหลัก

ข้อนี้ให้พึงสังเกตเฉพาะคำที่แผลงมาจาก อักษรควบ ถ้าแผลงมาจาก อักษรกลางหรือสูง เสียงวรรณยุกต์ก็เป็นอย่างปกติ คือไม่คงตามอักษรกลาง หรือสูงเดิม เช่น อาจ เป็น อำนาจ (ไม่ใช่หนาด), เกิด เป็น กำเนิด, โจทย์ เป็น จำโนทย์, แจก เป็น จำแนก ฯลฯ ถ้าอ่านเป็นอักษรกลางหรือสูงตามเดิม ก็ต้องใช้ ห นำ เช่น ติ เป็น ตำหนิ, แต่ง เป็น ตำแหน่ง, จ่าย เป็น จำหน่าย, กฎ เป็น กำหนด เป็นต้น

(ข) พ้องกับตัวสะกด คำบาลีและสันสกฤตที่ประสม สระ อะ ย่อมไม่ใช้ประวิสรรชนีย์ เขียนแต่ตัวพยัญชนะเรียงกันไป เช่น ชนบท, บทจร, ชนนี
กุศลฯลฯ ถ้าอ่านเป็นเสียงตัว ร สะกดต้องออกเสียงสระเป็น ออ นอกจากตัว ร สะกด ต้องออกเสียงสระ อะ เป็น โอะ ดังนี้ ชน-นะ บด, บท- ทะ-จร, ชน-นะนี, กุศล ดังได้อธิบายแล้วในวิธีแผลงสระ หรือจะอ่านเรียงตัวตามเดิมเป็น ชะนะบะทะ, บะทะจะระ, ชะนะนี, กุศะละ ก็ได้ หรือจะอ่านเรียงตัวบ้าง สะกดบ้าง เป็น ชนะ-บดฯลฯ ก็ได้ และคำสระอื่นๆ ที่มีตัวสะกด ก็มักจะอ่านได้หลายทางเช่นนี้ เช่น สุข, นิติ จะอ่านเป็น สุก, นิด หรือ สุ-ขะ, นิ-ติ ก็ได้

การที่จะอ่านคำเหล่านี้ให้ถูกต้องนั้น ต้องสังเกตหลักดังต่อไปนี้

ตามวิธีคำ สมาส ตามธรรมดาคำบาลีและสันสกฤตที่เรานำมาใช้ในภาษาไทย มักจะใช้พยางค์ท้ายเป็นตัวสะกด เช่น ราช, ภูมิ, จร, ธาตุ, กาญจน์ ฯลฯ เช่นนี้ก็นิยมอ่านกันว่า ราด, พูม, จอน, ทาด, กาน ดังนี้ตามปรกติ แต่ถ้ามีคำพ่วงท้ายเข้าอีก (โดยมากเป็นบาลีหรือสันสกฤตด้วยกัน) รวมกันเข้าเป็น คำเดียว เรียกคำ สมาส แล้ว ต้องอ่านออกเสียงตัวสะกดของคำหน้าด้วย ดังนี้ ราชการ, ภูมิศาสตร์, จรดล, ธาตุสัญญา, กาญจนบุรี ต้องอ่าน ราด- ชะ–กาน, ภูมิ-(หรือ) ภู-มิสาด, จอ-ระดน, ธาค-ตุสัน-ยา เป็นต้น ถ้าพยางค์ท้ายคำหน้าเป็นตัวการันต์มีไม้ทัณฑฆาต ก็ต้องลดไม้ทัณฑฆาตเสีย เพราะจะต้องอ่านตัวการันต์นั้น เช่น กาญจน์, เจดีย์ ถ้าเป็นคำสมาสต้องเขียน กาญจนบุรี, เจดียสถาน และอ่าน กาน-จะ-นะ-บุ-รี, เจ-ดี-ยะ-สะ- ถาน ดังนี้เป็นต้น เว้นไว้แต่คำประพันธ์ซึ่งต้องการให้น้อยพยางค์ ไม่ให้อ่านตามนี้จึงควรใส่ไม้ทัณฑฆาตไว้ เช่น ทิพย์เนตร, สุริย์วงศ์ ต้องการให้อ่าน ทิบ-พะเนด, สุ-ริ-วงศ์ ฯลฯ

ตามวิธีคำประพันธ์ คำประพันธ์ต้องการสัมผัส คือคล้องจองกันบ้าง ต้องการให้น้อยพยางค์หรือมากพยางค์บ้าง ต้องการครุ ลหุบ้าง จึงได้มีวิธีอ่าน คำให้แปลกไปจากปรกติ เพื่อให้ถูกต้องตามข้อบังคับคำประพันธ์ เช่นคำว่า จันทร์ ถ้าต้องการให้มากพยางค์ออกไปหรือจะให้รับกับคำต้นก็ลดไม้ทัณฑฆาตเสีย อ่านเป็น จัน-ทอน, หรือ จัน-ทระ ก็ได้ และคำว่า จร ถ้าต้องอ่านเป็นลหุทั้ง ๒ ตัว ก็อ่านเป็น จะ-ระ, ถ้าต้องการครุคำเดียวก็อ่าน จอน, ถ้าต้องการเป็นคำครุอยู่หน้า ลหุอยู่หลัง ก็อ่านเป็น จอ-ระ ดังนี้เป็นต้น ในข้อนี้ผู้ศึกษาควรรู้จักข้อบังคับของคำประพันธ์ให้รู้ว่าที่ไหนสัมผัสกัน, ที่ไหนเป็น ลหุ และที่ไหนเป็นครุ ฯลฯ แล้วจึงอ่านให้ถูกต้องตามข้อบังคับนั้นๆ

วิธีอ่านเครื่องหมายต่างๆ มีเครื่องหมายต่างๆ ที่ใช้ในวิธีหนัง¬สือ ซึ่งผู้อ่านควรจะรู้และอ่านให้ถูกต้อง ดังต่อไปนี้

(๑) เครื่องหมายที่เกี่ยวกับหนังสือ คือ
! เรียกอัศเจรีย์ ใช้เขียนไว้หลังคำออกเสียง ซึ่งไม่อาจจะเขียนคำนั้นให้ ถูกต้องตามเสียงที่เป็นจริงได้ เช่น เออ ! เอ ! พุทโธ่ ! ดังนี้เป็นต้น ให้ผู้อ่านพยายามทำจังหวะและสำเนียงให้ถูกต้องตามเป็นจริง

„ เรียกเครื่องหมาย ละ ใช้เขียนไว้ข้างล่างคำ, หมายความว่าละมาจาก ข้างบนดังนี้
ผ้าดอก ราคาหลาละ ๘๐ สตางค์
„ขาว        „      แขน „   ๕๐     „

เช่นนี้ บรรทัดล่างต้องอ่านตามบรรทัดบนเฉพาะคำที่ละไว้ว่า ‘ผ้าขาวราคาแขนละ ๕๐ สตางค์’ เป็นต้น

ฯ เรียกไปยาลน้อย ใช้เขียนข้างหลังคำที่ละไว้ ต้องอ่านให้จบ เช่น “กรุงเทพฯ” อ่าน กรุงเทพมหานคร, ‘พระราชวังบวรฯ’ อ่านพระราชวังบวรสถานมงคล, ‘โปรดเกล้าฯ’ อ่าน โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม เป็นต้น

ฯลฯ เรียกไปยาลใหญ่ ใช้เขียนไว้หลังคำที่ละไว้ เช่น ‘ร้านชำขายหอม กระเทียม ฯลฯ’ หรือ ‘ข้าวรพุทธเจ้า ฯลฯ ชโย’ เมื่ออ่านถึง ฯลฯ ต้องบอกว่า‘ละ’, ดังนี้ ‘ร้านชำขายหอมกระเทียม ละ’ หรือ ‘ข้าวรพุทธเจ้า ละ ชโย’ เป็นต้น

(๒) เครื่องหมายโบราณ คือ
ฯ ข้า ฯ     อ่านว่า    ข้าพเจ้า
ฯ พณ ฯ        „        พะณะหัวเจ้าท่าน

silapa-0056 - Copy

(๓) เครื่องหมายที่เกี่ยวกับตัวเลข คือ
เลข ๑ ท้ายจำนวนเลขตั้งแต่ ๒ ตำแหน่งขึ้นไปให้อ่านว่า ‘เอ็ด’ เช่น ๑๑, ๒๑, ๓๐๑, ๑๐๐๑ ฯลฯ ให้อ่านว่า สิบเอ็ด, ยี่สิบเอ็ด, สามร้อยเอ็ด, พันเอ็ด เพราะถ้าอ่าน สิบหนึ่ง, รอยหนึ่ง ก็จะตรงกับสิบเดียว, ร้อยเดียวไป

อ่านวันเดือนปี วันsilapa-0056 - Copy1 ค่ำ อ่านว่า วันจันทร์ (เลข ๒) เดือนอ้าย, แรมสิบค่ำ ถ้าเป็นข้างขึ้นเขียน silapa-0056 - Copy2 คํ่า ต้องอ่านขึ้นสิบค่ำ

เลข ๑ อ่านอาทิตย์, ๒ จันทร์, ๓ อังคาร, ๔ พุธ ๕ พฤหัสบดี, ๖ ศุกร(พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานเขียน ศุกร์), ๗ เสาร์, ๘ ราหู, ๙ พระเกตุ ๑๐ มฤตยู, เดือน ๑ อ่าน เดือนอ้าย, เดือน ๒ อ่านเดือนยี่ นอกนั้นอ่านตามตัวเลข เดือนแปดหลังใช้เขียนดังนี้

silapa-0056 - Copy3

อ่านดวงชาตา เครื่องหมายรูป ส หวัด อ่านว่า ‘ ลัคนา ’ คือเวลาเกิดหรือทำการต่างๆ ขึ้นต้นให้อ่านลัคนาก่อน แล้วเรียงราศีวงไปตามลูกศรดังนี้ ลัคนาอยู่ราศีกันย์, จันทร์อยู่ราศีธนู ฯลฯ

silapa-0056 - Copy4

ชื่อราศีทั้ง ๑๒ นั้น ใช้เขียนเลขแทนก็ได้ คือ ๐ ราศีเมษเรียงไปจนถึง ๑๑ ราศีมีน

silapa-0057 - Copy

คำแนะนำในการอ่านหนังสือ
ข้อที่สุดนี้ ผู้เรียบเรียงขอฝากคำแนะนำในการอ่านหนังสือไว้ด้วย ที่จริงข้อนี้ไม่เกี่ยวกับอักขรวิธีเลย แต่เห็นว่าเป็นองคคุณอันสำคัญของผู้อ่าน คือถึงแม้ว่าผู้อ่านจะอ่านหนังสือได้ถูกต้องตามอักขรวิธีทั้งหมด แต่ขาด ลีลาในการอ่านดังจะกล่าวต่อไปนี้ ก็อาจจะทำให้เรื่องที่อ่านไม่ไพเราะ และ ผู้ฟังก็จะไม่เข้าใจดี หรือเข้าใจดาดๆ ไปไม่เป็นที่ดูดดื่มหัวใจของผู้ฟัง ทำให้เสียคุณสมบัติของผู้อ่าน และทั้งผู้แต่งเรื่องที่อ่านด้วย

ลีลาในการอ่านนั้นควรเป็นดังนี้

ข้อสำคัญในการอ่านนั้น ต้องอ่านให้ชัด และให้ดังพอที่ผู้ฟังจะได้ยิน ทั่วกัน แต่ไม่ให้ดังเกินไปจนเป็นร้องขายขนม

(๑) ถ้าเรื่องร้อยแก้ว ควรอ่านดังนี้

(ก) พยายามให้เป็นเสียงพูด

(ข) คำขึ้นต้นความ ให้ดังและให้ช้ากว่าปกติเล็กน้อย เพื่อให้ผู้ฟัง กลับจิตมาตั้งใจฟัง แล้วจึงผ่อนเสียงลงเป็นปกติ และเร็วเข้าโดยลำดับจนลง วรรคจึงหยุด และขึ้นต้นอีกก็ให้ดังและช้าดังว่าแล้ว

(ค) พยายามหยุดหายใจในที่จบวรรคหรือจบคำ อย่าหยุดคาบคำ เช่น ‘สามัคยาจารย์-สโมสร’ ดังนี้ ถ้าคำใดเป็นคำสำคัญก็ให้เน้นถ้อยคำขึ้นให้ชัดเจน หรือเรื่องเขากล่าวเป็นข้อๆ เช่น ศีลห้า คือเว้นการฆ่าสัตว์ เว้นลักทรัพย์ ฯลฯ ต้องทอดจังหวะเป็นข้อๆ ไป

(ฆ) ต้องให้เป็นไปตามเนื้อเรื่อง คือถึงเรื่องดุก็ให้เสียงแข็งและเร็วเข้า ถึงเรื่องอ้อนวอนก็ทอดให้เสียงอ่อนหวานลง เป็นต้น ให้ถือเอาตามที่คนพูดกันเป็นหลัก

(๒) ถ้าอ่านคำประพันธ์ คือ โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ต้องอ่านเป็นทำนองอีกอย่างหนึ่ง จะอ่านเป็นเสียงห้วนๆ เป็นเสียงพูดไม่ได้ คือ

( ก ) ให้หยุดตามวรรคของคำประพันธ์นั้นๆ คำหยุดให้ทอดเสียงเล็กน้อย

(ข) ถ้าถึงคำที่รับกัน ถึงแม้ว่าไม่ใช่วรรคก็ให้ทอดจังหวะเล็กน้อย เพื่อให้ฟังคล้องจองกัน เช่น
‘องค์ใดพระสัมพุทธ สุวิสุทธสันดาน’ คือว่า สุทธ ต้องทอดจังหวะเล็ก น้อย ถึงแม้ว่าคำร้อยแก้วซึ่งแต่งให้คล้องจองกัน เช่น คำประกาศเทวดา, หรือ คำกล่าวสุนทรพจน์เป็นต้น ต้องทอดจังหวะในคำที่รับกันเหมือนกัน แต่อย่าให้ช้านัก จนกลายเป็นลงวรรคไป

(ค) ต้องให้เป็นไปตามเนื้อเรื่องเหมือนกัน คือถึงทีดุให้ดุ ถึงทีอ่อน- หวานให้อ่อนหวาน เป็นต้น

ที่ว่ามานี้ พอให้ผู้ศึกษาสังเกตไว้เป็นหลักเท่านั้น จะให้ถูกต้องจริงๆ ต้องให้ครูแนะนำเมื่อเวลาอ่าน

ที่มา:พระยาอุปกิตศิลปสาร

วิธีเขียนหนังสือ

การเขียนหนังสือใช้อักษรให้ถูกต้อง ตามแบบแผนที่ท่านนิยมใช้กันนั้น ต้องอาศัยความสังเกตความจำเป็นหลัก เพราะฉะนั้นในวิธีนี้จะรวบ รวมหลักฐานวิธีใช้ สระ พยัญชนะ วรรณยุกต์ มาไว้เพื่อช่วยความสังเกต ความจำให้ดีขึ้น ดังต่อไปนี้

วิธีใช้สระ สระบางตัวมีวิธีใช้แตกต่างกันไปดังนี้

สระ อะ ในแม่ ก กา มีวิธีใช้ ๒ อย่างคือ

(ก) ประวิสรรชนีย์ ได้แก่ คำที่ใช้ในภาษาไทย เช่น จะ, ปะทะ, กระทะ, มะระ ฯลฯ แต่มีคำยกเว้นอยู่บ้าง เช่น ธ (เธอ), ท (ท่าน เช่น ทนาย), พ (ผู้ เช่น พนักงาน), ณ (ใน) ฯลฯ กับคำที่เป็นพยางค์ท้ายของคำที่มาจากบาลีและสันสกฤต ซึ่งไม่มีคำอื่นเชื่อมต่อไป เช่น เถระ, คณะ, มรณะ, พยัญชนะ, อวัยวะ ฯลฯ เพื่อกันไม่ให้ปนกับตัวสะกด

(ข) ไม่ประวิสรรชนีย์ ได้จากคำที่มาจากภาษาบาลีและสันสกฤตที่ไม่ใช้พยางค์ท้ายดังว่าแล้ว เช่น คณะ, มรณะ ดังนี้ตัว ค และ ม ร ไม่ต้องประวิสรรชนีย์ ฯลฯ แต่ถ้ามีศัพท์อื่นมาต่อเข้ากับคำเหล่านี้เป็นคำเดียวกันที่เรียกว่าคำสมาส ทำให้พยางค์ที่เคยประวิสรรชนีย์นั้นไม่เป็นพยางค์ท้าย จึงไม่ต้องประวิสรรชนีย์ เช่น เถรสมาคม, คณบดี, มรณภาพ เป็นต้น ข้อนี้ต้องสังเกตคำสมาสและไม่ใช่คำสมาสให้แม่นยำ เช่น คณบดี เป็นคำสมาส แต่ คณะสงฆ์ ไม่ใช่คำสมาส คือ คณะ คำหนึ่ง สงฆ์ คำหนึ่ง

สระ ฤ ฤๅ ฦ ฦๅ ๔ ตัวนี้ แต่เดิมใช้ในคำไทยมาก เช่น คฤก, ค้ฤๅน, ระฦก, ฦๅชา เป็นต้น มาบัดนี้คำภาษาไทยใช้ตัว ร ล แทนเกือบทั้งหมด ใช้เฉพาะคำที่มาจากสันสกฤตเท่านั้น ที่ยังคงใช้คำไทยนั้นมีบางคำ คือ (ก) ฤ หรือ ฤๅ ที่แปลว่าไม่
(ข) ฤๅ ที่เป็นคำถาม ซึ่งใช้ในโคลงว่า ฉะนั้น ฤๅ, และ ฤๅ เป็นต้น ตัว ฦ ฦๅ นั้นไม่เห็นมีที่ใช้

สระออ มีวิธีใช้ ๒ อย่าง คือ
(ก) มีตัว อ ใช้ในคำไทยทั่วไป เช่น กอ,ขอ,คอน,นอก ฯลฯ แต่มียกเว้นบางคำ คือ ‘บ’ หรือ ‘ บ ’ ที่แปลว่าไม่, บ โทน ที่แปลว่า คนติดหน้าตามหลัง

(ข) ไม่มีตัว อ ใช้ในคำมาจากบาลีและสันสกฤตที่ไม่มีตัวสะกดอย่างหนึ่ง เช่น บวร,บดี,บรม ฯลฯ และคำที่มีตัว ร  สะกดอย่างหนึ่ง เช่น จร, กร, มรณ์ ฯลฯ

สระเออ ใช้ได้ ๓ อย่าง คือ
(ก) อย่างเดิม เช่น เทอม, เทอญ ฯลฯ (วิธีนี้ใช้น้อย)

(ข) เปลี่ยน อ เป็นพินทุ์ อิ เช่น เกิน, เริง, เชิด ฯลฯ (วิธีนี้ใช้มาก แต่ใช้ในแม่เกยไม่ได้)

(ค) เอาตัว อ ออกเสีย เช่น เกย, เขย, เคย ฯลฯ (วิธีนี้ใช้มาก แต่ใช้ในแม่เกยเท่านั้น) ถ้าจะใช้อย่าง (ก) ทั้งหมด ก็ไม่ผิด ที่ใช้อย่าง (ข) และ (ค) มากนั้น ก็เพื่อจะเขียนให้น้อยตัวเข้า

สระเอีย ที่มีตัวสะกดแบบโบราณใช้ลดไม้หน้ากับพินทุ์ อิ ออกเสียก็มีเช่น วยง (เวียง), รยก (เรียก),สยด (เสียด) ฯลฯ เดี๋ยวนี้ใช้อย่างปกติ

สระอัว ที่ไม่มีตัวสะกดโบราณใช้อย่าง ว หันก็มี เช่น ตวว, ท่วว, หวว ฯลฯ เดี๋ยวนี้ใช้อย่างปกติ

สระอำ มีเสียงพ้องกับ ‘อัม’ ในแม่กม แต่มีวิธีใช้ต่างกัน คือ
(ก) สระอำ ใช้ในคำไทยทั้งหมด เช่น กำ ขำ คำ ฯลฯ อย่างหนึ่ง และในคำที่แผลงมาเป็น อำ เช่น อมาตย์ เป็น อำมาตย์, เดิน เป็น ดำเนิน, ตรวจ เป็น ตำรวจ ฯลฯ อย่างหนึ่ง

(ข) ‘อัม’ แม่กมนี้ใช้เฉพาะแต่คำที่มี ‘ม’ สะกดมาจากบาลีและสันสกฤต เช่น สัมผัส, อัมพร, กัมพล, อุปถัมภ์, คัมภีร์ ฯลฯ

สระไอและไอ มีเสียงพ้องกับ อัย แม่เกย ท่านใช้ต่างกันเป็น ๔ อย่าง ดังนี้
(ก) ไม้ม้วน มีแบบกำหนดให้ใช้ ๒๐ คำ คือ

คำไม้ม้วน

หมายความ

คำไม้มลายพ้อง

๑. ใฝ่ เอาใจใส่
๒. ใจ จิต, สิ่งที่อยู่กลาง ไจไหม
๓. ให้ สละ ร้องไห้
๔. ใน ตรงข้ามกับนอก ไนปั่นฝ้าย
๕. ใหม่ ตรงข้ามกับเก่า
๖. ใส กระจ่าง ไสกบ
๗. ใคร ผู้ใด
๘. ใคร่ อยากได้ ตะไคร่
๙. ใย เส้นละเอียด, ใส,ผุดผ่อง ไยไพ, อยู่ไย, ลำไย
๑๐. ใด คู่กับคำ “นั้น” ได(มือ), บันได, กระได
๑๑. ใช้ บังคับ, ทำประโยชน์
๑๒. ใหล เกี่ยวกับใจ หรือความประพฤติ น้ำไหล, ปลาไหล, หางไหล
๑๓. ใส่ บรรจุ
๑๔. สะใภ้ เมียญาติ
๑๕. ใบ้ พูดไม่ได้
๑๖. ใต้ ตรงข้ามกับบน จุดไต้
๑๗. ใหญ่ ตรงข้ามกับเล็ก
๑๘. ใกล้ แค่
๑๙. ใช่ ถูก
๒๐. ใบ เป็นแผ่น, หรือเรียกจำนวนของ เช่น ๑ ใบ ฯลฯ ตะไบ สไบ

คำกลอนสำหรับจำ
“ใฝ่ใจให้ทานนี้         นอกในมีและใหม่ใส
ใครใคร่และยองใย     อันใดใช้และใหลหลง
ใส่กลสะใภ้ใบ้           ทั้งต่ำใต้และใหญ่ยง
ใกล้ใบและใช่จง       (ใช้ให้คงคำบังคับ)”
(ประถมมาลา)

(ข) ไม้มลายพ้อง  ใช้ในคำไทยทั้งหมดนอกจากไม้ม้วน ๒๐ อย่างหนึ่ง และใช้ในคำที่มาจากสระ อิ, อี, เอ และไอในบาลีและสันสกฤต เช่น ไพหาร, ไอศวรรย์, ไกลาส, ไกรสร, ไพฑูรย์, ไตรรัตน์ ฯลฯ อีกอย่างหนึ่ง

(ค) ไม้มลาย มีตัว ย ใช้ในคำที่มาจากสระ เอ ย สะกด และ ย ตาม (เอยฺย) ในบาลีและสันสกฤต เช่น อสงฺเขยฺย เป็น อสงไขย, เญยฺยธมฺม เป็น ไญยธรรม, สาเถยฺย เป็น สาไถ, เวยฺยาวจฺจกร เป็น ไวยาวัจกร ฯลฯ

(ฆ) ‘อัย’ แม่เกย ใช้ในคำที่มาจากบาลีและสันสฤตที่มีสระ อะ และ ย ตามหลง เช่น ขย เป็น ขัย, วินิจฺฉย เป็น วินิจฉัย, ชย เป็น ชัย, อาศย เป็น อาศัย ฯลฯ ถ้ามี ย ซ้อนกัน ๒ ตัว ก็ควรเรียงกันทั้งคู่เพื่อไม่ให้ปนกับ ย ตัวเดียว เช่น อยฺยกา ควรเขียน อัยยกา, อัยยิกา (แต่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน เขียนว่า อัยกา) ดังนี้เป็นต้น

วิธีใช้พยัญชนะ ผู้จะใช้พยัญชนะให้ถูกต้องนั้น ต้องอาศัยหลักเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวดังต่อไปนี้

(๑) ใช้พยัญชนะให้ถูกตามพวก ได้แบ่งพยัญชนะออกเป็น ๓ พวก คือ พยัญชนะกลางพวก ๑ พยัญชนะเดิมพวก ๑ พยัญชนะเติมพวก ๑ ควรใช้พยัญชนะให้ถูกต้องตามพวกของมันทั้ง ๓ คือ พยัญชนะกลางนั้นใช้ได้ทั่วไปไม่จำเป็นต้องกล่าว แต่อีก ๒ พวกนั้นควรใช้ให้ถูกต้องดังนี้

พยัญชนะเดิม ๑๓ ตัว คือ ฆฌฏฐฑฒณธภศษฬ เหล่านี้ มาจากภาษาเดิม ควรใช้เฉพาะคำที่มาจากภาษาบาลีและสันสกฤต แต่มียกเว้น บางคำที่ใช้ในภาษาไทย ดังนี้

ตัว ฆ คือ ฆ่า (ทำให้ตาย), เฆี่ยน, ฆ้อง, ระฆัง, ตะเฆ่ (เครื่องบรรทุก ของหนักใช้ลาก)
ตว ฌ คือ เฌอ (เขมรว่าต้นไม้)
ตัว ญ คือ ใหญ่, หญ้า (พืช), หญิง
ตัว ณ คือ ณ (ใน)
ตัว ธ คือ ธ, เธอ, ธง
ตัว ภ คือ สำเภา, ตะเภา, เภตรา, เสภา, อำเภอ, แมลงภู่, ภาย (เช่น ภายใน) ฯลฯ
ตัว ศ คือ เศร้า, ศอก, ศึก, (ศัตรู), เศิก

พยัญชนะเติม ๑๐ ตัว คือ ฃ ฅ ซ ฎ ด บ ฝ ฟ อ ฮ เหล่านี้ ตั้งขึ้นสำหรับใช้ในภาษาไทย แต่มีบางตัวใช้แตกต่างออกไป ซึ่งควรจะสังเกตดังนี้

ตัว ฃ ฅ เดิมมีใช้ตัวละคำ คือ ฃ ใช้ในคำว่า ‘เฃตร’ และ ฅ ใช้ใน คำว่า “ฅอ” แต่บัดนี้ใช้ ข และ ค แทนแล้ว นับว่าไม่มีที่ใช้

ตัว ฎ ใช้เฉพาะแต่คำที่แผลงมาจากตัว ฏ ในภาษาบาลีและสันสกฤต เช่น ฎีกา จาก ฏีกา, ชฎา จาก ชฏา, กุฎี จาก กุฏี, ราษฎร จาก ราษฏรฯลฯ ไม่ใช้ในคำไทยเลย

ตัว ด ใช้ในคำที่แผลงมาจากตัว ต ในภาษาบาลีและสันสกฤต เช่น ดารา จากตารา, บิดา จาก ปิตา, บดี จาก ปติ ฯลฯ และใช้ในคำไทยทั่วไปด้วย เช่น ดง, ดก, ดัด, ดับ ฯลฯ

ตัว บ ใช้ในคำที่แผลงมาจากตัว ป ในภาษาบาลีและสันสกฤต เช่น บารมี จาก ปารมี, บุญ จาก ปุฌญฺญ, เบญจ จาก ปญฺจ ฯลฯ และใช้ในคำไทยทั่วไปด้วย เช่น บก, บัง, บัด, บิน ฯลฯ

นอกจากนี้ใช้ภาษาไทยล้วน

(๒) ใช้พยัญชนะให้ตรงกับกาษาเดิม คำภาษาอื่นที่เรานำมาใช้ มักจะใช้แตกต่างกันตามความพอใจของผู้ใช้ เช่น สุข, รส, วงศ์ ที่ใช้เป็น ศุข, รศ, วงษ์ ก็มี ดังนี้เป็นต้น ย่อมลำบากแก่ผู้เรียนมาก เพราะฉะนั้น ควรจะกำหนดใช้ดังต่อไปนี้

(ก) กำที่ใช้ผิดเพี้ยนไปจากภาษาเดิม และนิยมใช้กันแพร่หลายแล้ว เช่น อังกฤษ, กฤษฎาภินิหาร, พระขรรค์, ชุณหปักษ์ พฤฒา ฯลฯ เหล่านี้ จะแก้ไขให้ถูกตามภาษาเดิม สำเนียงก็จะผิคเพี้ยนไป ควรเขียนคงไว้เช่นนี้

(ข) คำที่มีเสียงตรงกับภาษาเดิม ควรใช้ให้ถูกตามภาษาเดิมเขา เสียง เป็นภาษาไหนก็ให้ใช้ตามภาษานั้น เช่นคำ ประฐม ประถม, สฐาน สถาน เช่นนี้เสียงเป็นสันสกฤต ควรเขียน ประถม, สถาน ตามสันสกฤต และคำ ปฐม ปถม, ฐาน ถาน เช่นนี้เสียงเป็นบาลี ควรเขียน ปฐม, ฐาน ตามบาลี ไม่ควรใช้ ครึ่งๆ กลางๆ เช่น ประฐม, ปถม, สฐาน, ถาน เป็นต้น

(๓) คำสมาสที่ประสมกันหลายคำ ควรใช้ให้ลงรอยกันเป็นภาษาเดียว เช่น ประถมบุรุษ (แต่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานเขียนว่า ปฐมบุรุษ), อัธยาสัย หรือ อัธยาศัย ไม่ควรใช้ให้ปนกันเป็น ปฐมบุรุษ หรือ อัชฌาศัย หรือ อัชฌาสัย ดังนี้ เว้นแต่คำที่เราเลือกใช้ไม่ได้ เช่น วัฒนธรรม ดังนี้ คำ วัฒน เราไม่เคยใช้ตามสันสกฤต เป็น วรรธน เลย และ ธรรม เราไม่เคยใช้ตามบาลี เป็น ธัม เลย จึงต้องคงไว้เป็น วัฒนธรรม ปนกันอยู่เช่นนั้น คำเช่นนี้มีมาก เช่น เวชกรรม, เวชศึกษา, เวชศาสตร์, นิตยภัต ฯลฯ เหล่านี้ จำเป็นต้องเขียนปนกันเช่นนั้น

(๔) ใช้ตัวสะกดให้ถูกต้อง คำที่มาจากบาลีและสันสกฤต ควรสังเกต ตัวสะกดตามที่ได้อธิบายไว้ในหลักเทียบบาลีและสันสกฤต แต่คำตัว ฏ, ต และ ป สะกด ไม่ควรแผลงมาเป็นตัว ฎ, ด และ บ สะกดอย่างพยัญชนะต้น เพราะจะปนกับภาษาไทย และถึงจะแผลงหรือไม่แผลงเสียงก็เป็นอย่างเดิม เช่น คำ กรกฎ, หัตถ์, สัปดาห์ ควรเขียนตามเดิมเป็น กรกฎ, หัตถ์ สัปดาห์ ดังนี้ดีกว่า แต่ในส่วนภาษาไทยนั้น ตัวสะกดควรเป็นตามหลัก คือ กก ก สะกด, กง ง สะกด, กด ด สะกด, กน น สะกด, กบ บ สะกด, กม ม สะกด, เกย ย สะกด, เกอว ว สะกด ที่มีแตกต่างออกไปบ้าง ก็มักจะเป็นคำโบราณหรือมาจากภาษาเขมรโดยมาก ดังนี้

ตัว จ สะกด คือ ร้ายกาจ, แก้วเก็จ, ตรัดเตร็จ, เกียจ, ดุจ, เผด็จ, เสด็จ, สมเด็จ, ตรวจ, ตำรวจ, เสร็จ, สำเร็จ, โสรจ (สรง), อาจ, อำนาจ, เท็จ ฯลฯ

ตัว ช สะกด คือ กฤช (เดี๋ยวนี้เขียน กริช)

ตัว ญ สะกด คือ ขวัญ, เข็ญ (ลำบาก), ลำเค็ญ, ควาญ, จัญไร, ผจญ, ผจัญ, ประจญ, ประจัญ, ชาญ, ชำนาญ, เชิญ, อัญเชิญ, อํญขยม, เทอญ, บัญชา, เบญจา, เพ็ญ, รามัญ, มอญ, ราญ, รำบาญ, เจริญ, จำเริญ, สราญ,  สำราญ, ลาญ (แตก), สรรญเสริญ, หาญ (กล้า) ฯลฯ

ตัว ร สะกด คือ ควร, ละคร, กำธร, ประยูร, อร และคำแผลงที่มาจากตัว ระ ควบ เช่น กระ-ประ-คระ ฯลฯ ต้องใช้ ร หันทั้งนั้น เช่น กรรเชิง, กรรโชก, บรรดา, บรรทัด, ครรไล ฯลฯ

ตัว ล สะกด คือ กล, ตำบล, เมิล, ยล, สรวล, สำรวล, รางวัล, สังวาล, กังวล

ตัว ศ สะกด คือ พิศ, ปราศ, บำราศ, เลิศ

ตัว ษ สะกด คือ กระดาษ, ดาษดา, อังกฤษ

(๕) หลักที่จะใช้ ศ ษ ส คำที่จะใช้ ศ ษ ส นี้ สังเกตได้ยากนอกจากจะจำต้นศัพท์เดิมได้ แต่มีหลักพอจะช่วยความสังเกตได้บ้างดังนี้

(ก) คำที่มาจากภาษาบาลี ควรใช้ ส ทั้งหมด เพราะ ศ และ ษ ไม่มี ในภาษาบาลี

(ข) คำสันสกฤตใช้ได้ทั้ง ๓ ตัว ต้องจำต้นศัพท์ แต่มีบางคำที่สังเกต ได้ดังนี้ ศ เกิดแต่ฐานเพดานอยู่ในพวกวรรค จ. ษ เกิดแต่ฐานปุ่มเหงือกอยู่ใน พวกวรรค ฏ. ส เกิดแต่ฐานฟันอยู่ในพวกวรรค ต. ถ้าจะซ้อนหรือตามหลังกัน ต้องเป็นพวกเดียวกัน เช่น พฤศจิก, ปัศจิม, อัศจรรย์, ราษฎร, โอษฐ์, กฤษณ, พัสดุ, พิสดาร, สมพัตสร เป็นต้น และ ษ มักจะใช้ตามหลังตัว ก เช่น เกษตร, เกษียร, อักษร เป็นต้น

(ค) ส่วนคำภาษาไทย นอกจากคำที่ยืมเอา ศ ษ มาใช้ตามที่กล่าวไว้ ข้างต้นแล้ว ก็ควรใช้ ส ทั้งหมด

(๖) ตัวการันต์ ในส่วนตัวการันต์นี้มีวิธีใช้ที่ควรจะสังเกตอยู่อย่างหนึ่ง คือ ไม้ทัณฑฆาต บางแห่งถึงเป็นตัวการันต์ท่านก็ไม่ใส่ไม้ทัณฑฆาต เช่น กาญจน ลักษณ ฯลฯ ให้ผู้อ่านสังเกตเอาเองเช่นนี้ เป็นการยากแก่ผู้ศึกษา เพราะฉะนั้นตัวใดที่เป็นตัวการันต์ คือ ไม่ต้องการ ควรใส่ไม้ทัณฑฆาตเสีย แต่คำใดต้องการอ่านด้วย ไม่ต้องใช้ไม้ทัณฑฆาต เช่นคำ สาส์น (ต้องการอ่าน สาน), สุริย์วงศ์, กรรณิการ์, ธรรมลังการ์ สีห์ เหล่านี้ ไม่ต้องการออกเสียงตัว ย, ศ, ร และ ห จึงควรใส่ไม้ทัณฑฆาต ถ้าต้องการอ่านด้วยก็ไม่ต้องใส่ ดังนี้ สาสน์ (สาด) หรือ สาสน (สา-สะนะ), สุริยวงศ์, กรรณิการ (กาน), สีห, (สี-หะ)

การใช้ไม้ทัณฑฆาตนี้ ต้องสังเกตตามวิธีอ่าน ดังจะอธิบายต่อไปข้างหน้า ควรจะสังเกตอีกข้อหนึ่ง คือ ถ้าตัวใดออกเสียงเป็นตัวสะกดแล้ว ตัวนั้นไม่ควรใส่ไม้ทัณฑฆาตแม้จะมีรูปสระประสมอยู่ด้วย เช่น โพธิ (โพด) ถ้าจะอ่านเป็น ‘โพ’ จึงเขียน ‘โพธิ์) ถ้าจะค้านว่าไม่ใส่ไม้ทัณฑฆาต เช่น “โพธิ” จะอ่านเป็น ‘โพ-ธิ’ ไปก็ได้ ขอแก้ว่าเป็นเช่นนี้ได้ทุกคำ เช่น อลังการ, โภค, สุข, นิติ จะอ่านเรียงพยางค์เป็น อลังกา-ระ, โภ-คะ, สุ-ขะ, นิ-ติ ดังนี้ ก็ได้ ข้อนี้ต้องแล้วแต่วิธีอ่าน

ที่มา:พระยาอุปกิตศิลปสาร

คำสนธิที่ใช้ในภาษาไทย

สนธิคือวิธีเชื่อมคำกับคำให้ติดเป็นคำเดียวกัน ในภาษาบาลี และสันสกฤตมีวิธีต่างๆ แต่ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะที่ใช้กันอยู่ในภาษาไทย

คำที่ใช้สนธิกันได้ก็มีแต่คำที่มาจากบาลีและสันสกฤตเท่านั้น จะเอาคำในภาษาอื่นไปเชื่อมกันตามวิธีสนธิไม่ได้ และคำสนธิที่จะกล่าวต่อไปนี้ ก็เฉพาะแต่คำซึ่งเชื่อมกับอีกคำหนึ่งที่ขึ้นต้นด้วยสระ เช่น อมาตย์, อาตม์, อินทร์, อุบาย ฯลฯ เท่านั้น มีหลักที่สังเกตตามที่ใช้มากดังต่อไปนี้

(๑) สระท้ายของคำต้นเป็น อะ อา ถ้าต่อกับสระ อะ อา ของคำท้ายรวมกันเข้าเป็นสระ อาตัวเดียว เช่น เทศ กับ อภิบาล เป็น เทศาภิบาล, มหา กับ อานิสงส์ เป็นมหานิสงส์, ชีวะ กับ อาวาตม์ เป็น ชีวาตม์ ฯลฯ ถ้าต่อกับสระอะที่มีตัวสะกด เช่น อรรณพ, อัศจรรย์ ฯลฯ รวมกันเข้าเป็นสระอะ ตัวเดียว เช่น มหา กับ อรรณพ เป็น มหรรณพ, มหา กับ อัศจรรย์ เป็น มหัศจรรย์ เป็นต้น

ถ้าต่อกับสระอิ, อี รวมกันเข้าเป็น อิ, อี หรือ เอ ตัวเดียว เช่น ราช กับ อิณ เป็น ราชิณ (วัดเวฬุราชิณ), มหา กับ อิสี เป็น มเหสี, นร กับ อินทร หรือ อิศวร เป็น นรินทร์, นเรนทร์ หรือ นริศวร นเรศวร ตามลำดับ และอุตร กับ อีศาน เบน อุตรีศาน เป็นต้น ถ้าต่อกับสระอีที่มีตัวสะกดรวมกันเข้าเป็น อิตัวเดียว เช่น ชน กับ อินทร์ เป็น ชนินทร์, มหา กับ อิทธิ์ เป็น มหิทธิ์ เป็นต้น

ถ้าต่อกับ อุ, อู รวมกันเข้าเป็น อุ, อู หรือ โอ ตัวเดียว เช่น มรรค กับ อุเทศก์ เป็น มรรคุเทศก์, ราช กับ อุปถัมภ์ เป็น ราชูปถัมภ์, ราช กับ อุบาย เป็น ราโชบาย และ เอก กับ อูน เป็น เอกูน (หย่อนหนึ่ง) เป็นต้น

ถ้าติดต่อกับ เอ, ไอ, โอ, เอา รวมกันเข้าเป็น เอ, ไอ, โอ, เอา แต่มีที่ใช้ในบางคำ เช่น โภค กับ ไอศวรรย์ เป็น โภไคศวรรย์, มหา กับ โอฬาร หรือ เอาฬาร ก็เป็น มโหฬาร มเหาฬาร เป็นต้น

(๒) สระท้ายของคำต้นเป็น อิ อี ถ้าต่อกับสระ อิ หรือ อี ด้วยกัน รวมเป็น อิ หรือ อี แต่ตัวเดียว (คือลบเสียตัวหนึ่ง) เช่น มุนิ กับ อินทร์ เป็น มุนินทร์, กรี กับ อินทร์ เป็น กรินทร์, ผณี กับ อินทร์ เป็น ผณินทร์ แต่ถ้าต่อกับสระอื่น (นอกจาก อิ อี) ต้องทำสระ อิ อี ท้ายคำนั้นเป็น ย เสีย ก่อน เช่น มติ เป็น มตย(ที่แผลง “ติ” เป็น ตฺย แล้วแผลง ตฺย เป็น จฺจ ต่อไปก็มี เช่น อติ+เอก=อตฺยก แล้วแผลงเป็น “อัจเจก” เป็นต้น (เมื่อเอา อิ หรือ อี เป็น ย แล้ว ถ้าตัวสะกดกับตัวตามเหมือนกันต้องลบเสียตัวหนึ่ง เช่น รัตติ, อัคคี, สามัคคี เป็น รัตย, อัคย, สามัคย ไม่ใช้ รัตตย, อัคคย และ สามัคคย) แล้วประสมกันอย่างสระ อะ อา อยู่ท้ายในข้อ (๑) เช่น มติ กับ อธิบาย เป็น มตยาธิบาย, สามัคคี กับ อาจารย์ เป็น สามัคยาจารย์, อัคคี กับ โอภาส เป็น อัคโยภาส เป็นต้น

มียกเว้นบางคำที่ใช้ตามหลักนี้ เช่น หัตถี + อาจารย์ เป็น หัตถาจารย์ เป็นต้น

(๓) สระท้ายของคำต้นเป็น อุ อู ต้องแปลง อุ หรือ อู เป็น ว เสียก่อน แล้วเชื่อมกันได้ทุกสระ อย่างสระ อิ ที่แปลงเป็น ย เช่น ธนู กับ อาคม เป็นธันวาคม, คุรุ กับ อุปกรณ์ เป็น ครุโวปกรณ์ ฯลฯ ถ้าต่อกับ อุ อู ด้วย กัน จะคงรูปเป็น อุ อู แต่ตัวเดียว เช่น คุรุ กับ อุปกรณ์ เป็น คุรุปกรณ์ หรือ คุรูปกรณ์ ดังนี้ก็ได้

สระอื่นๆ ที่อยู่ท้ายของคำต้นนอกจากนี้ยังไม่พบตัวอย่างที่ใช้

(๔) อนึ่งคำที่มีสระ อะ อยู่หน้า เช่น อภิบาล, อนุช, อภิรมย์, อนุกูล เหล่านี้ เป็นต้น บางทีก็ลด อ ออกเสียเป็น ภิบาล, นุช ภิรมย์, นุกูล ดังนี้ก็มีบ้าง แต่โดยมากมักใช้ในคำประพันธ์ที่ใช้กันจนชินก็มี เช่น ภิรมย์, นุชนาฏ ดังนี้ถ้าเรียกให้เต็ม เป็น อภิรมย์, อนุชนาฏ ฟังกลับจะขัดไปเสียอีก

ที่มา:พระยาอุปกิตศิลปสาร

หลักเทียบคำบาลีและสันสกฤต

มีคำโดยมากที่เราใช้เขียนได้ทั้ง ๒ อย่าง เช่น นิจ, ภิกขุ จะเขียนเป็น นิตย์ ภิกษุ ก็ได้ ที่เป็นเช่นนี้ มิใช่เราเอามาแผลงใช้ในภาษาไทยเป็นด้วยที่มาต่างกันคือ นิจ ภิกขุ เป็นภาษา บาลี, นิตย์, ภิกษุ เป็นภาษา สันสกฤต แต่บางคำเราก็ใช้ทั้งคู่ ยากที่จะสังเกตว่าเป็นคำภาษาไหน หรือแผลงมาจากภาษาไหน ต่อไปนี้จะวางหลักไว้เพื่อเป็นที่สังเกตได้บ้างดังนี้

(๑) สระ ฤ ฤๅ ฦ ฦๅ และตัว ศ ษ นี้มีในภาษาสันสกฤต ไม่มีในภาษาบาลี คำที่มีอักษรเหล่านี้ต้องมาจากสันสกฤต ที่เราแผลงมาใช้ก็มีบ้าง แต่น้อย เช่น อังกฤษ, ศอก, ศึก เป็นต้น

(๒) คำบาลีไม่ใคร่มีพยัญชนะประสม (คือควบกัน เช่น กฺย, กฺร, ทฺย, ทฺร ฯลฯ) มากเหมือนสันสกฤต ทั้งส่วนพยัญชนะต้น และตัวสะกด ตัวสะกด ในภาษาบาลีมีหลักที่จะสังเกตดังนี้

ก. ตัวสะกดต้องมีตัวตามด้วย จะมีตัวเดียวไม่ได้ และต้องเป็นพยัญชนะที่๑ ที่๓ ที่๕ และตัว ย ล ว ส ฬ (ตัว ห สะกดได้บ้าง เช่น พฺรหฺมา) จึงจะสะกดได้

ข. ส่วนตัวตามนั้นก็มีที่สังเกตเห็น คือพยัญชนะที่ ๑ ที่ ๒ ตามตัวสะกด ที่เป็นพยัญชนะที่ ๑ เช่น สกฺก, ทุกฺข, สจฺจ, อจฺฉ ฯลฯ พยัญชนะที่ ๓ ที่ ๔ ตามหลังตัวสะกดที่เป็นพยัญชนะตัวที่ ๓ เช่น วคฺค, พยคฺฆ ฯลฯ พยัญชนะ ทั้ง ๕ ตัวตามหลังตัวสะกดที่เป็นพยัญชนะที่ ๕ ในวรรคของมันได้ เช่น วงฺก, อุญฺฉา,ทณฺฑ,สนธิ,สมฺมา ฯลฯ ในเศษวรรคตัว ย ล ส ตามหลังตัวเองได้ เช่น เสยฺย, สลฺล, ผสฺส ฯลฯ แต่ตัว ย ร ล ว ห ตามหลังตัวสะกดหรือไม่ใช่ตัวสะกดก็ได้ เช่น พฺยาบาล, อคฺยาคาร. พฺรหฺม, กิเลส, อวฺหย, วิรุฬฺห ฯลฯ

(๓) ส่วนตัวสะกดในภาษาสันสกฤตนั้นตัวเดียวก็สะกดได้ เช่น มนสฺ, หสฺดิน ฯลฯ และตัว ร สะกดก็ได้ และมีใช้ชุกชุมด้วย เช่น ธรฺม, สรฺว, ติรฺถ ฯลฯ ส่วนตัวตามหลังนั้นมีกำหนดคล้ายบาลี แต่ต่างวรรคกันก็ตามหลังกันได้ เช่น ฤกฺษ, มุกฺต, ปุทฺคล, สปฺต, สนิคฺธ ฯลฯ

คำบาลี และสันสกฤตมีมูลรากเป็นอันเดียวกัน แต่ใช้ตัวอักษร แตกต่างกันไป จะคัดมาเทียบไว้พอเป็นหลักสังเกตดังนี้
silapa-0036 - Copy

silapa-0037
silapa-0038silapa-0039silapa-0040

 

 

silapa-0041 - Copy

ยังมีคำอื่นๆ อีกเป็นอันมาก ที่ไม่เป็นระเบียบดังข้างบนนี้ ต้องอาศัยสังเกตเปรียบเทียบเอาเองจากภาษาเดิม

คำที่ต่างภาษากันเช่นข้างบนนี้ จะนับว่าฝ่ายหนึ่งแผลงมาจากอีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้ เพราะเป็นคนละภาษา ต่อเมื่อไรภาษาเดิมเขาเป็นอย่างหนึ่ง ไทยนำมาใช้เป็นอีกอย่างหนึ่ง เช่นนี้จึงจะนับว่า แผลง ในที่นี้ เช่นคำบาลีว่า มคฺก, วณฺณ, กมฺม, กตฺติค, ขคฺค, อคฺค, ชุณฺห แต่สันสกฤตเป็น มารฺค, วรฺณ, กรฺม, การฺกติก, ขรฺค, อคฺร, โชฺยตฺสฺน ดังนี้จะนับว่าฝ่ายใดแผลงไม่ได้ ต่อเมื่อไทยนำมาใช้ผิดไปจากเดิมเป็น วรรค, วรรณ, กรรม, กรรดึก, ขรรค์, อัคร, ชุณห เช่นนี้จึงจะนับว่าแผลง ถ้าคำที่แผลงนั้นใกล้ข้างภาษาใด ก็ให้นับว่าแผลงตามภาษานั้นหรือจากภาษานั้น คำแผลงข้างบนนี้ใช้กันมานมนาน เป็นอันใช้ได้ แต่จะคิดแผลงขึ้นตามหลักนี้ เช่น สพฺพญฺญู ใช้อย่างสันสกฤต ว่า สรรเพช หรือ สรรเพชญ์ และจะใช้คำกตฺญว่า กเดช หรือ กเดชญ์ เลียน ตามนั้นไม่ได้ ต้องให้ถูกตามภาษาของเขา ให้สังเกตหลักเทียบที่ไทยใช้ตามข้างบนนี้

ที่มา:พระยาอุปกิตศิลปสาร

วิธีแผลงวรรณยุกต์

คำบาลี และสันสกฤต ซึ่งไม่มีกำหนดเสียงวรรณยุกต์ ครั้นตกมาในภาษาไทย เราอ่านตามเสียงอักษรสูง กลาง ต่ำ ของเรา ไม่ต้องใช้ไม้วรรณยุกต์ แต่มีบางคำที่แผลงออกไปจากนี้ คือ

(๑) เปลี่ยนวรรณยุกต์เป็นอย่างอักษรนำ คือ ศัพท์เดิมเป็นคำเรียงพยางค์ แต่เราอ่านตามวิธีอักษรนำ ทำให้เสียงวรรณยุกต์แผลงออกไปจากที่เคยอ่าน เช่น กากณึก ใช้อ่านเป็น กากะหนึก, ติลก เป็น ดิหลก, วาสนา เป็น วาด-สะหนา, ศาสนา เป็น สาด-สะหนา, อเนก เป็น อะเหนก ซึ่งควรจะอ่านเป็น กากะณึก, ดิลก, วาสะนา, อะเนก ดังนี้เป็นต้น

(๒) คำที่มีตัว ห การันต์) ใช้เติมไม้เอกลง เช่น วิเท่ห์, สนเท่ห์, พ่าห์, เสน่ห์, โล่ห์, โม่ห์ ฯลฯ

(๓) คำไทยที่ไม่มีไม้วรรณยุกต์ ใช้เติมไม้วรรณยุกต์ลงบ้างก็ได้ เช่น จึง, จุง, บ, ดัง แล, เพียง เป็น จึ่ง, จุ่ง, บ่, ดั่ง, แล้, เพี้ยง ฯลฯ

ที่ใช้เช่นนี้มักเป็นด้วยที่ต้องการ เอก โท ในการแต่งโคลง และ ร่าย บางทีก็กลับอักษรสูงเป็นต่ำ หรือกลับต่ำเป็นสูง เช่น เผ้า เป็น เพ่า, ช่วย เป็น ฉวย ฯลฯ วิธีนี้ท่านเรียกว่า ‘เอกโทษ’ หรือ‘โทโทษ’ตามที่ใช้เอกผิดหรือโทผิด เดี๋ยวนี้ไม่ใคร่จะนิยม เพราะเป็นวิธี ‘ขอไปที’ ซึ่งทำให้เนื้อความคลาดเคลื่อนได้

ที่มา:พระยาอุปกิตศิลปสาร

วิธีแผลงพยัญชนะ

วิธีแผลงพยัญชนะนี้ เนื่องจากวิธีสนธิในภาษาบาลีบ้างเกิดขึ้นในภาษาไทย จะวางไว้พอเป็นหลักดังนี้

(๑) แผลงพยัญชนะตัวหน้าของอักษรนำ หรืออักษรควบให้มีสระ อำ ประสมอยู่ด้วย เช่น จรัส เป็น จำรัส, แสลง เป็น สำแลง, ครบ เป็น คำรบ  กราบ เป็น กำราบ ฯลฯ

(๒) ประกอบ “อำน” เข้ากับพยัญชนะต้น เช่น เกิด เป็น กำเนิด, คูณ เป็น คำนูณ, โจทย์ เป็น จำโนทย์, เดิน เป็น ดำเนิน, ทูล เป็น ทำนูล ฯลฯ

(๓) ควบตัว ร เข้ากับพยัญชนะต้นตัวหน้า เช่น กะทิ เป็น กระทิ, จะเข้ เป็น จระเข้, ชอุ่ม เป็น ชรอุ่ม, ตะบอง เป็น ตระบอง ฯลฯ

(๔) แผลง ข เป็น กระ กำ, กำห และ ขน เช่น ขจาย เป็น กระจาย, ขจร เป็น กำจร, ขลัง เป็น กำลัง, แข็ง เป็น กำแหง, ขด เป็น ขนด, ขาน เป็น ขนาน ฯลฯ

(๕) แผลง ฉ เป็น จำ, ชำ, ฉล และ ประจ เช่น ฉงาย เป็น จำงาย, ฉลุ เป็น จำลุ, เฉียง เป็น เฉลียง, เฉิด เป็นประเจิด (แผลงต่อไปเป็น “บรรเจิด” ก็ได้) ฯลน

(๖) แผลง ช เป็น ชำร เช่น ชะ เป็น ชำระ, ช่วย เป็น ชำร่วย ฯลฯ

(๗) แผลง ฏ เป็น ฎ และ ต เป็น ด เช่น ฏีกา เป็น ฎีกา, ตารา เป็น ดารา, ตำรู (จาก ‘ตรู’) เป็น ดำรู ฯลฯ

(๘) แผลง ถ เป็น ดำ, ถล และ ตัง เช่น ถกล เบน ดำกล, ถก เป็น ถลก, ถวาย เป็น ตังวาย ฯลฯ

(๙) แผลง ท เบน ชำ เช่น เทราะ เป็น ชำเราะ, ทรุด เป็น ชำรุด, แทรก เป็น ชำแรก ฯลฯ

(๑๐) แผลง บ เป็น ผน เช่น บวก เป็น ผนวก, บวช เป็น ผนวช ฯลฯ

(๑๑) แผลง ป เป็น บ เช่น ปารมี เป็น บารมี, ปรุง เป็น บำรุง ฯลฯ

(๑๒) แผลง ผ เป็น ประ และ ผน เช่น ผจญ เป็น ประจญ, ผสาน เป็น ประสาน, แผก เป็น แผนก ฯลฯ

(๑๓) แผลง พ เป็น ไพ และ พิน เช่น เพราะ เป็น ไพเราะ(คำนี้เขมรเป็น พิเราะ คำ ไพเราะ น่าจะแผลงจาก พิเราะ ของเขมรก็ได้), พิศ เป็น พินิศ ฯลฯ

(๑๔) แผลง ร เป็น ฤ, ระง, ระบ และ รำบ เช่น รติ เป็น ฤดี, รม เป็น ระงม, รำ เป็น ระบำ, ราญ เป็น รำบาญ ฯลฯ

(๑๕) แผลง ล เป็น ลบ, ลม และ มล เช่น ลัด เป็น ละบัด, โลภ เป็น ละโมภ, ลาว เป็น มลาว, ลนลาน เป็น มลนมลาน, ลัก เป็น มลัก ฯลฯ

(๑๖) แผลง ส เป็น สว และ สัน เช่น สาง เป็น สวาง, สรวง เป็น สันรวง ฯลฯ

พยัญชนะที่เป็นตัวสะกดและการันต์ ยังมีวิธีใช้แตกต่างออกไปจากภาษาเดิมอีก มีข้อสำคัญควรจะสังเกต ดังต่อไปนี้

(๑) พยัญชนะที่เป็นพยางค์ท้ายของศัพท์เดิม แผลงมาเป็นตัวสะกดใน ภาษาไทยโดยมาก เช่น สุขะ เป็น สุข (สุก), นาคะ เป็น นาค (นาก), นิติ เป็น นิติ (นิด), ธาตุ เป็น ธาตุ (ธาด) เป็นต้น

(๒) คำบาลีเอามาลดตัวสะกดเดิมออกเสีย เหลือไว้แต่ตัวตามหลังเป็น ตัวสะกด บางทีก็อ่านออกเสียงด้วย ที่ใช้ชุกชุมนั้นคือคำที่มีตัวสะกดและตัวตาม เป็น จฺจ, ชฺช, ณฺญ, ฏฺฏ, ฏฺฐ, ฑฺฒิ, ตฺติ, ทฺท, นฺน, สฺส เช่น กิจฺจ, เวชฺช, ปุญฺญ, วฏฺฏ, อฏฺฐ, วฑฺฒน, สมฺปตฺต, สมุทฺฑ โสตาปนฺน, โสมนสฺส เราใช้ เป็น กิจ, เวช, บุญ, วัฏ, อัฐ, วัฒน์, สมบัติ, สมุทร, โสดาบัน, โสมนัส ดังนี้ เป็นต้น

ที่ลดเสียเช่นนี้ ก็เพื่อจะกันไม่ให้รุงรัง เพราะภาษาไทยเราออกเสียง พยัญชนะตัวเดียวเป็นทั้งตัวสะกดและอ่านออกเสียงด้วยก็ได้ เช่น ราชการ อ่าน ราด-ชะกาน เป็นต้น แต่มีเสียงอยู่ทางหนึ่ง คือทำให้ฟั่นเฝือ ไม่รู้ได้ว่า ศัพฑ์เดิมเป็นตัวซ้อน (สองตัว) หรือตัวเดียว เช่น กิจ, สุจริต, วิชา, ธัช, ทวิช ซึ่งศัพท์เดิม เป็น กิจฺจ, สุจริต, วิชฺชา, ธช, และ ทวิช เป็นต้น และในที่ต้องการลหุใช้เป็น กิ-จะ, วิ-ชา เช่นนี้ ยิ่งทำให้เสียงแปลกจากเดิม ซึ่ง เป็น กิด-จ, วิด-ชา ไปทีเดียว ฯลน ดีกว่า (บัดนี้พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานเขียนว่า กิจ, วิชา)

ที่มา:พระยาอุปกิตศิลปสาร