วิธีแผลงสระ

สระที่แผลงเป็นอื่นนั้นโดยมากมาจากคำในภาษาบาลีและสันสกฤต ครั้นตกมาในภาษาไทยก็เปลี่ยนแปลงไปตามเสียงสระในภาษาไทย ที่เป็นสระในคำไทยก็มีบางแต่น้อย จะกล่าวตามลำดับดังนี้

สระอะ แผลงเป็น สระอา เช่น สัณฑ์ เป็น สาณฑ์ (ไพรสาณฑ์), ศัสตระ (เหล็กมีคม) เป็นศาสตรา, อสัตย์ เป็น อาสัตย์ และคำที่ใช้ในคำประพันธ์ เช่น ‘พฤกษชาติ มัจฉชาติ’ เป็น ‘พฤกษาชาติ มัจฉาชาติ’ ฯลฯ

แผลงเป็นสระ อิ เช่น วชิร เป็น วิเชียร ฯลฯ

แผลงเป็นสระ อุ เช่น เชตวน เป็น เชตุพน, โกกนท เป็น โกกนุท, ชมพูนท เป็น ชมพูนุท, สมมติ เป็น สมมุติ ฯลฯ

แผลงเป็นสระ เอะ เช่น วัชร เป็น เพชร, ปัญจ เป็น เบญจ, วัจจะ เป็น เวจ ฯลฯ

แผลงเป็นสระ โอะ เมื่อมีตัวสะกดนอกจาก ย และ ร แต่คงรูปไว้ตาม เดิม เช่น ปะทะ เป็น บท, คะชะ เป็น คช, นันท เป็น นนท์ฯลฯ

แผลงเป็นสระ ออ เมื่อมีตัว ร สะกดหรือตามหลัง แต่คงรูปไว้ตามเดิม เช่น วะระ เป็น พร, จะระ เป็น จรฯลฯ

เมื่อประสมอยู่กับพยัญชนะท้ายคำ ซึ่งใช้เป็นตัวสะกดมักลดเสียงสระ อะ เสีย เช่น สุขะ เป็น สุข (สุก) ภยะ เป็น ภัย (ไพ), วิธะ เป็น วิธ (วิด) ฯลฯ

เมื่อประสมอยู่กับพยัญชนะท้ายคำ แปลง เป็น อา, อี, อิน, เอศ และอื่นๆ ก็มี (มักใช้ในการแต่งคำประพันธ์ เพื่อให้คล้องจองกัน) เช่น กายะ เป็น  กายา, กายี, กายิน, กาเยศ ฯลฯ

แผลง อะ แห่ง ระ ที่ควบกับตัวอื่นเป็น ร (เรียก ร หัน) เช่น กระโชก เป็น กรรโชก, ทรทึง เป็น ทรรทึง, สรเสริญ เป็น สรรเสริญ ฯลฯ

ลดสระ อะ อยู่ที่ต้นคำเสียก็มี เช่น อนุช เป็น นุช, อภิรมย์ เป็น ภิรมย์ ฯลฯ

เมื่อมีตัว ม อยู่ข้างหลัง แผลงเป็นสระอำ และมีตัว ว อยู่ข้างหลัง แผลงเป็นสระเอา เช่น อมาตย์, อมรินทร์ เป็น อำมาตย์ อำมรินทร์ และ นวะ, ชวนะ เป็น เนาว์, เชาวน์ ฯลฯ

แผลงเป็นสระ เอาะ เช่น ปณฺฑก เป็น บัณเฑาะก์, ครฺห เป็น เคราะห์ ฯลฯ

สระ อา เมื่อประสมอยู่กับพยัญชนะท้ายศัพท์ลดเสียก็มีบ้าง เช่น ศาลา เป็นศาล, ฉายา เป็น ฉาย ฯลฯ

สระ อิ แผลงเป็นสระ อี เช่น ลิงค์ เป็น ลึงค์, อธิก เป็น อธึก, ศิกษา เป็น ศึกษา, สิง เป็น สึง ฯลฯ

แผลงเป็นสระ เอ เช่น ศิลา เป็น เศลา, วิตาน เป็น เพดาน ฯลฯ

แผลงเป็นสระ ไอ เช่น พิจิตร เป็น ไพจิตร, วิหาร เป็น ไพหาร ฯลฯ

แผลงเป็นสระ เอีย เช่น ศิระ เป็น เศียร, พาหิระ เป็น พาเหียร ฯลฯ

สระ อี แผลงได้อย่างสระ อิ คือ เป็นสระ อี เช่น อนีก เป็น อนึก, เป็นสระ เอ เช่น สีมา เป็น เสมา, เป็นสระ เอีย เช่น จีร เป็น เจียร, กษีณ เป็น เกษียณ ฯลฯ

แผลงเป็นสระ อิ เช่น นีละ เป็น นิล, หีนชาติ เป็น หินชาติ ฯลฯ

แผลงเป็นสระ อือ เช่น วีช เป็น พืช ฯลฯ

สระ อิ กับ สระ อี นี้ในการแต่งคำประพันธ์ใช้กลับกันบ้าง เพื่อต้องการ สัมผัส และ ครุ, ลหุ

สระ อุ แผลงเป็นสระ อู เช่น ไวปุลฺย เป็น ไพบูลย์, ไวฑุรฺย เป็น ไพฑูรย์, อาตุร เป็น อาดูร ฯลฯ

แผลงเป็น อ-ร เช่น อุชุ เป็น อรชร, สาธุ เป็น สาธร ฯลฯ

แผลงเป็น อ-ว เช่น สินธุ เป็น สินธว ฯลฯ

แผลงเป็น อ-ว เช่น สุภาว เป็น สุวภาพ, สุคนฺธ เป็น สุวคนธ์ ฯลฯ

แผลงเป็นสระ โอะ เมื่อมีตัวสะกด คือลดตีน อุ เสีย เช่น ทุก เป็น ทก, ทุ่ง เป็น ท่ง ฯลฯ

แผลงเป็นสระ โอ เช่น ปุราณ เป็น โบราณ, สุภาค เป็น โสภาค ฯลฯ

แผลงเป็นสระ เอา เช่น สุวภาพ เบน เสาวภาพ, สุวคนธ์ เป็น เสาวคนธ์ ฯลฯ

แผลงเป็นสระ อัว เช่น ยุรยาตร เป็น ยวรยาตร, ปริปุรฺณะ เป็นบริบวรณ์ ฯลฯ

สระ อู มักแผลงกลับกับสระ อุ ได้ เมื่อใช้แต่งคำประพันธ์

สระ เอ แผลงเป็นสระ ไอ เมื่อมีตัว ย สะกด เช่น เวยฺยากรณ์ เป็น ไวยากรณ์, เวเนยฺย เป็น เวไนย ฯลฯ

สระ เอ นี้มักแผลงมาจาก อิ แล้วเลยแผลงเป็นสระ ไอ อีกทีหนึ่ง เช่น หิรญฺญ เป็น เหรัญ, ไหรญ ฯลฯ

สระ ไอ เมื่อมีตัวสะกดแผลงเป็นสระ แอ เช่น ไวทุย เป็น แพทย์, ไสนฺยา เป็น แสนยา, ไทตฺย เป็น แทตย์, ไวศฺย เป็น แพศย์ ฯลฯ

สระ โอ แผลงเป็น อว เช่น โอสาน เบน อวสาน, โอตาร เป็น อวตาร ฯลฯ

แผลงเป็นสระ เอา เช่น โอฬาร เป็น เอาฬาร, โมลี เป็น เมาลี ฯลฯ

สระ โอ นี้มักแผลงมาจากสระ อุ แล้วแผลงเป็นสระ เอา อีกทีหนึ่ง เช่น ปุราณ เป็น โบราณ, เบาราณ ฯลฯ

ที่มา:พระยาอุปกิตศิลปสาร