รูปพยัญชนะไทย

Socail Like & Share

พยัญชนะ
รูปพยัญชนะ
รูปพยัญชนะไทย ๔๔ ตัว คือ
ก ข ฃ ค ฅ ฆ ง,     จ ฉ ช ซ ฌ ญ,     ฎ ฏ ฐ ฑ ฒ ณ ด ต ถ ท ธ น,     บ ป ผ ฝ พ ฟ ภ ม,     ย ร ล ว ศ ษ ส ห ฬ อ ฮ

พยัญชนะที่มีเสียงซ้ำกันมีชื่อกำกับอยู่ด้วย เพื่อจะให้ฟังรู้ว่าตัวไหนแน่ แต่ชื่อนั้นเรียกกันต่างๆ ตามลัทธิอาจารย์ ในที่นี้จะเลือกเรียกตามที่ชอบ ดังนี้

ข ข้อง, ฃ เฃต  (เพราะเดิมเขียน “เฃตร”), ค ควาย, ฅ กัณฐา (เพราะเดิมเขียน ฅอ), ฆ ระฆัง, ช ช้าง, ฌ เฌอ(ต้นไม้), ญ หญิง, ฎ ชฎา, ฏ รกชัฏ, ฐ ฐาน, ฑ มณโฑ, ฒ ผู้เฒ่า, ณ เณร, ด เด็ก, ต เต่า, ถ ถุง, ท ทหาร, ธ ธง, น หนู, พ พาน, ภ สำเภา, ย ยักษ์, ร เรือ, ล ลิง, ฬ จุฬา(ปิ่น), (ตัว ร นี้มีเสียงผิดกับ ล แต่มักจะเรียกปนกัน จึงตั้งชื่อไว้เพื่อให้รู้ชัด)

พยัญชนะภาษาบาลี มี ๓๓ ตัว ดังนี้

 

วรรค กะ

วรรค จะ

วรรค ฏะ

วรรค ตะ

วรรค ปะ

เศษ วรรค ย ร ล ว ส ห ฬ º(นิคหิต)

พยัญชนะสันสกฤตมี ๓๕ ตัวคือ เติม ศ, ษ เข้าในเศษวรรค ดังนี้
“ย ร ล ว ศ ษ ส ห ฬ º” นอกนั้นเหมือนพยัญชนะบาลี

๕ วรรคข้างบนนั้นมีวรรคละ ๕ ตัว พยัญชนะแถวหน้า เรียก พยัญชนะที่ ๑ และแถวต่อๆ ไปก็เรียกพยัญชนะที่ ๒-๓-๔-๕ ตามเลขที่กำกับไว้

ต้องจดจำไว้ด้วย เพราะต่อไปจะต้องใช้เปรียบเทียบกับพยัญชนะไทย

การที่พยัญชนะไทยมีมากกว่าแบบเดิมนั้น เป็นเพราะไทยเพิ่มเติมขึ้นทีหลัง

รูปเครื่องหมายกำกับพยัญชนะ
ไทยเราเขียนตัวพยัญชนะเฉยๆ แล้วอ่านเป็นเสียงสระ อะ ประสมอย่างบาลีและสันสกฤตมีอยู่มาก และเขียนติดๆ กันไป เช่น “วินย” ดังนี้จะอ่านว่า “วิน-ยะ” หรือ “วิ-น-ยะ” ก็ได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีเครื่องหมายบังคับ เพื่อจะให้อ่านได้ถูกต้อง มี ๓ รูปดังนี้

์ เรียก ทัณฑฆาต สำหรับเขียนข้างบน เพื่อให้รู้ว่าเป็นตัวการันต์ไม่ต้องอ่าน เช่น “ฤทธิ์” ตัว ธิ ไม่ต้องอ่าน  สำหรับคำภาษาไทยนี้อย่างหนึ่ง สำหรับคำบาลีและสันสกฤต เพื่อให้รู้ว่าเป็นตัวสะกด เช่น “สิน์ธู” ตัว น เป็นตัวสะกดนี้อย่างหนึ่ง

๎ เรียก ยามักการ  สำหรับเขียนไว้ข้างบนในภาษาบาลีและสันสกฤต เพื่อให้รู้ว่าเป็นอักษรควบกัน เช่น “คัน์ต๎วา, พ๎ราห๎มณ” ฯลฯ

ฺ เรียก พินทุ  สำหรับเขียนไว้ข้างล่างตัวพยัญชนะในภาษาบาลีและสันสกฤต เพื่อให้รู้ว่า เป็นตัวสะกดหรือตัวควบแล้วแต่ควร
เช่น คนฺตฺวา อ่าน คัน์ต๎วา, ภนฺเต อ่าน ภัน์เต ตุมฺเห อ่าน ตุม์-เห ฯลฯ

วิธีเขียน คำภาษาบาลีและสันสกฤตตามแบบพินทุนี้ไม่ต้องใช้ไม้หันอากาศ เพราะพยัญชนะภาษาบาลีและสันสกฤตสมมติว่ามีสระ อะ อยู่ในตัวแล้ว เมื่อมีตัวสะกด ก็ต้องอ่านเป็นเสียงสระอะมีตัวสะกด เช่น “ภนฺเต” ต้องอ่าน “ภัน-เต” จะอ่านว่า “ภน-เต” อย่างไทยไม่ได้ เพราะสระโอะไม่มี ถึงมีสระโอก็มีรูปอย่างอื่น

เสียงพยัญชนะ

เสียงพยัญชนะในภาษาไทยมีซ้ำกันอยู่มาก ภาษาเดิมของเขามีสำเนียงต่างกันทุกตัว เป็นเพราะเราเรียกผิดเพี้ยนไปตามภาษาเรา ดังจะอธิบายต่อไปนี้

เสียงพยัญชนะในภาษาบาลีและสันสกฤตเขาเรียกตามฐานดังต่อไปนี้
วรรค กะ กับตัว ห เกิดแต่ฐานคอ ตัว ค ของเขามีเสียงเหมือนตัว G ในคำว่า “God” ของภาษาอังกฤษ ไทยเราเรียกเพี้ยนไปตรงกับตัว ฆ

วรรค จะ กับตัว ย และ ศ เกิดแต่ฐานเพดาน แต่ตัว ช มีเสียงเหมือนตัว J ในภาษาอังกฤษ ไทยเราเรียกเพี้ยนไปตรงกับตัว ฌ และในวรรคนี้เราเติมตัว ซ เข้าตัวหนึ่ง ซึ่งมีเสียงเกิดแต่ฟันอย่างตัว ส และตัว ญ ของเขามีเสียงขึ้นจมูก ส่วนไทยเราเรียกเหมือนตัว ย แต่ใช้สะกดในแม่กน และ ศ ของเขามีเสียงคล้าย Sh ในภาษาอังกฤษ แต่ใช้ลิ้นกดเพดาน และมีลมสั้นกว่า Sh แต่ไทยเราออกเสียงอย่างเดียวกับตัว ส

วรรค ฏะ กับตัว ร, ร และ ฬ เกิดแต่ปุ่มเหงือกมีเสียงก้องขึ้นศีรษะ วรรคนี้ทั้งวรรคไทยเราเรียกเพี้ยนไปตรงกับวรรค ตะ  ซึ่งเกิดแต่ฟัน ตัว ฑ เราเรียกตรงกับตัว ด บ้างเช่น มณฑป, ตรงกับตัว ธ บ้างเช่น กรีฑา, ตัว ร เรียกตรงกัน ตัว ษ ของเขามีเสียงเหมือนตัว Sh อังกฤษ แต่ไทยเราเรียกเหมือน ส และตัว ฬ ก็เรียกเหมือนตัว ล

วรรค ตะ กับตัว ล และ ส เกิดแต่ฟัน ไทยเราเรียกตรงกัน เว้นแต่ตัว ท เขาออกเสียงเป็นตัว ด แต่ไทยเราออกเสียงตรงกับตัว ธ

วรรค ปะ กับตัว ว เกิดแต่ริมฝีปาก ไทยเรียกตรงกัน เว้นแต่ พ เราเรียกเหมือนตัว ภ แต่เขาออกเสียงเหมือนตัว บ และไทยเราเติม ฝ ฟ ซึ่งมีเสียงเกิดแต่ฟันและริมฝีปากเข้าอีก

ตัว อ นั้นนับว่าไม่มีเสียง ตั้งไว้สำหรับเป็นทุ่นให้สระเกาะเท่านั้น
ตัว ฮ นั้นมีเสียงฐานเดียวกับตัว ห ซึ่งไทยเติมเข้ามา

พยัญชนะไทยทั้ง ๔๔ ตัวนั้น ถ้าไม่กำหนดเสียงสูงต่ำแล้ว ก็มีเสียงตามที่ไทยใช้อยู่เพียง ๒๐ เสียงเท่านั้น ดังนี้
๑. ก
๒. ข ฃ ค ฅ ฆ
๓. ง
๔. จ
๕. ฉ ช ฌ
๖. ซ ศ ษ ส
๗. ญ ย
๘. ฎ ด กับเสียง ฑ บางคำ
๙. ฏ ต
๑๐. ฐ ถ ฑ ฒ ท ธ
๑๑. น ณ
๑๒. บ
๑๓. ป
๑๔. ผ พ ภ
๑๕. ฝ ฟ
๑๖. ม
๑๗. ร
๑๘ ล ฬ
๑๙. ว
๒๐. ห ฮ
(เสียง อ ไม่นับ)

ตัว ญ ย นี้ เมื่อประสมสระออกเสียงอย่างเดียวกัน แต่เป็นตัวสะกดมีเสียงต่างกัน คือตัว ญ เป็นแม่กน, ตัว ย เป็นแม่เกย

เสียงพยัญชนะทั้ง ๒๐ นี้ ถ้าจะผันด้วยวรรณยุกต์ทั้ง ๕ ทุกตัวก็มีสำเนียงพอใช้ในภาษาไทย ที่ต้องใช้รูปพยัญชนะซ้ำกันมากออกไปนั้น ก็เพื่อจะใช้ตัวหนังสือให้ตรงกับภาษาเดิมที่เรานำมาใช้เป็นข้อใหญ่

จำแนกพยัญชนะ
พยัญชนะ ๔๔ ตัวนั้น จำแนกตามวิธีใช้เป็น ๓ พวก ดังนี้
๑. พยัญชนะกลาง  คือพยัญชนะที่ใช้เป็นกลางทั่วไปทั้งไทย บาลีและสันสกฤต มี ๒๑ ตัว คือ
ก ข ค ง จ ฉ ช ต ถ ท น ป ผ พ ม ย ร ล ว ส ห

๒. พยัญชนะเดิม คือพยัญชนะที่ติดมาจากแบบเดิม มีที่ใช้ก็แต่คำที่มาจากภาเดิม คือ บาลี และสันสกฤตโดยมาก มี ๑๓ ตัว คือ
ฆ ฌ ญ ฏ ฐ ฑ ฒ ณ ธ ภ ฬ ศ ษ

พยัญชนะเหล่านี้ บางตัวก็ใช้เขียนในภาษาไทยบ้าง แต่มีน้อย นับว่าเป็นพิเศษ เช่น
ฆ่า เฆี่ยน ฆ้อง ระฆัง ตะเฆ่ ใหญ่ หญ้า (พืช) หญิง ผู้เฒ่า ณ(ใน) ธง เธอ สำเภา ตะเภา เภตรา อำเภอ เสภา ภาย(เช่นภายใน) เศร้า ศึก(ศัตรู) เศิก ฯลฯ และใช้เป็นตัวสะกดก็มีบ้าง เช่น เจริญ ขวัญ หาญ เพ็ญ เทอญ ชาญ พิศ ปราศ บำราศ ดาษดา ฯลฯ

๓. พยัญชนะเติม คือพยัญชนะที่ไทยเราคิดเพิ่มเติมขึ้นทีหลัง มี ๑๐ ตัว คือ
ฃ ฅ ซ ฎ ด บ ฝ ฟ อ ฮ
ตัว ฃ ฅ ๒ ตัวนี้ตั้งขึ้นเพื่อเหตุไร ทราบไม่แน่ เดิมใช้ในคำว่า “เฃตร” กับคำว่า “ฅอ” (คือคอคนหรือสัตว์) แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช้แล้ว นับว่าเป็นอันเลิกใช้กันไปเอง

ตัว ซ นี้ตั้งขึ้นสำหรับใช้เป็นตัวอักษรต่ำของ ศ ษ ส เช่น ในคำว่า โซ, เซ, ซุง ฯลฯ

ตัว ฎ ด ๒ ตัวนี้ ตั้งขึ้นด้วยเหตุนี้ คือ เราเรียกตัว ท เพี้ยนไปเป็นเสียงตัว ธ เสียแล้ว เสียงตัว ท เดิมของเขาซึ่งตรงกับตัว ด ก็ขาดไป และเป็นเสียงที่ใช้ในภาษาไทยด้วย จึงต้องตั้งตัว ด ขึ้นแทน และตั้งตัว ฎ ขึ้นแทนตัว ฑ เพื่อให้ได้ระเบียบกับวรรค ต เล็ก และเอามาใช้ในคำที่แผลงมาจากตัว ฏ ต ในภาษาเดิม เช่น ฏีกา เป็น ฎีกา และ ตารา เป็น ดารา ฯลฯ ด้วยหาใช้ในคำที่มาจากตัว ฑ และ ท ในภาษาเดิมไม่ ตัว ฎ ไม่มีที่ใช้ในคำไทยเลย แต่ตัว ด นี้ใช้ในคำไทยทั่วไป เช่น ได้ ดก ดง เด็ก ดัง ฯลฯ

ตัว บ นี้ ตั้งขึ้นแทนเสียงตัว พ โดยเหตุเช่นเดียวกับตัว ด และก็ไม่ใช้ในคำที่มาจากตัว พ เช่นเดียวกัน กลับไปใช้ในคำที่แผลงมาจากตัว ป เช่น ปิตา เป็น บิดา ปารมี เป็น บารมี ฯลฯ และใช้ในคำไทยทั่วไปด้วย เช่น บก บัง ใบ ฯลฯ ตัว ฝ ฟ นี้ไม่มีในภาษาเดิม เราจึงต้องตั้งขึ้นให้พอกับเสียงภาษาไทยทั้งสูงและต่ำ เช่น ฝาง  ฟาง ฝาก ฟาก ฯลฯ

ตัว อ นี้ตั้งขึ้นสำหรับเป็นทุ่นให้สระเกาะเท่านั้น เพราะสระของเราอยู่ลอยแต่ลำพังไม่ได้ ถ้าจะเขียนคำที่ออกเสียงสระอย่างเดียวก็ต้องเอาตัว อ แทนที่เข้าไว้ เช่น อะไร อาลัย อิเหนา อุทัย ไอน้ำ จะเขียนเป็น ะไร, าลัย, ิเหนา, ุทัย, ไ น้ำ ดังนี้ไม่ได้

ตัว ฮ นี้ตั้งขึ้นไว้เป็นอักษรต่ำของตัว ห ใช้ในคำไทย เช่น เฮฮา เฮ้ย โฮก ฮูก ฯลฯ

ที่มา:พระยาอุปกิตศิลปสาร