วิธีประสมอักษร

พยางค์
อักษรทั้ง ๓ พวกที่กล่าวมาแล้วนั้น ตั้งขึ้นเพื่อใช้แทนคำ ถอยคำที่เราใช้พูดกันนั้น บางทีก็เปล่งเสียงออกครั้งเดียว บางทีก็หลายครั้ง เสียงที่เปล่งออกมาครั้งหนึ่งๆ นั้น ท่านเรียกว่า ‘พยางค์’ คือส่วนของคำพูด เพราะฉะนั้น คำพูดคำหนึ่งๆ จึงมีพยางค์ต่างๆ กัน เช่น ‘นา’ (ที่ปลูกข้าว) เป็นคำหนึ่งมีพยางค์เดียว, ‘นาวา’(เรือ) เป็นคำหนึ่งมี ๒ พยางค์, ‘นาฬิกา’ เป็นคำหนึ่งมี ๓ พยางค์ และคำอื่นๆ ที่มีพยางค์มากกว่านี้ก็ยังมี

วิธีประสมอักษร
ส่วนของคำพูดคือพยางค์หนึ่งๆ นั้น ถ้าจะใช้ตัวอักษรเขียนแทน ก็ต้องใช้อักษรทั้ง ๓ พวก คือ สระ พยัญชนะ และวรรณยุกต์ประสมกัน จึงจะออกเสียงเป็นพยางค์หนึ่งได้ ดังนี้คือ (๑) ต้องมีสระซึ่งนับว่าเป็นพื้นเสียงที่เปล่งออกมาจากลำคอ (๒) ต้องมีพยัญชนะเพื่อเป็นเครื่องหมาย ใช้แทนเสียงที่ปรวนแปรไปต่างๆ ตามนิยมของภาษา อย่างต่ำก็ต้องมีตัว อ ซึ่งนับว่าเป็นทุ่นให้สระอาศัย จึงจะออกเสียงได้ตามลัทธิในภาษาไทย (๓) เมื่อออกเสียงเป็น อะ อา, กะ กา เช่นนั้นแล้ว ถึงแม้ว่าจะไม่มีรูปวรรณยุกต์ก็ต้องนับว่าเป็นเสียงวรรณยุกต์ ดังอธิบายแล้ว เพราะฉะนั้น พยางค์หนึ่งจึงต้องมีอักษรประสมกันตั้งแต่ ๓ ส่วนขึ้นไป

จำแนกวิธีประสมอักษร
วิธีประสมอักษรท่านจำแนกเป็น ๓ วิธี ดังนี้

(๑) ประสม ๓ ส่วน วิธีนี้ท่านเรียกว่า ‘มาตรา กะ กา ’ หรือ ‘ แม่ ก กา ’ มีสระ พยัญชนะ และวรรณยุกต์ ดังอธิบายแล้ว จะแจกไว้ให้ดูเป็นแบบดังนี้
กะ กา กิ กี กึ กี กุ กู เกะ เก แกะ แก โกะ โก เกาะ กอ เกอะ เกอ เกียะ เกีย เกือะ เกือ กัวะ กัว (กำ ใก ไก เกา)

ฤ ฤๅ ฦ ฦๅ เป็นสระพิเศษตามวิธีประสมอักษร ท่านนับว่ามีเสียงพยัญชนะ คือ ตัว ร ล ประสมอยู่ด้วยแล้ว จะเขียนโดยลำพังไม่ต้องประสมกับพยัญชนะก็ได้ ท่านจึงไม่แจกไว้ในแม่ ก กา จะอธิบายภายหลัง

พยางค์ที่มี สระ อำ ใอ ไอ เอา ซึ่งอยู่ในวงเล็บนั้น ถ้ากำหนดตามรูป สระแล้วก็เป็นเหมือนประสม ๓ ส่วน จึงจัดไว้ในแม่ ก กา แต่ถ้าว่าตามสำเนียงอักษรประสมกันแล้ว ต้องอยู่ในวิธีประสม ๔ ส่วน (ข้างหน้า) เพราะเป็นเสียงมีตัวสะกด

(๒) ประสม ๔ ส่วน วิธีนี้มี ๒ อย่าง คือ:-
(ก) ประสม ๔ ส่วนปกติ ได้แก่วิธีประสม ๓ ส่วนนั้นเอง ซึ่งเพิ่ม ตัวสะกดเข้าอีกเป็นส่วนที่ ๔ ท่านเรียกต่างกันเป็นมาตรา ๘ มาตรา คือ แม่ กก, แม่ กง, แม่ กด, แม่ กน, แม่ กบ, แม่ กม, แม่ เกย, แม่ เกอว เป็นคำตาย ๓ แม่ คือ แม่ กก, แม่ กด, แม่ กบ นอกนั้นเป็นคำเป็น จัก แจกแม่ กก ไว้ให้ดูเป็นแบบ ดังนี้

กัก กาก กิก กีก กึก กืก กุก กูก เก็ก เกก แก็ก แกก กก โกก ก็อก กอกเก็อก(เกิก) เกอก(เกิก) เกี็ยก เกียก เกื็อก เกือก ก็วก กวก

พยางค์ประสมสระ อำ ใอ ไอ เอา ก็มีสำเนียงนับเข้าในพวกนี้ คือ  อำ อยู่ในแม่ กม, ใอ ไอ อยู่ใน แม่เกย, เอา อยู่ใน แม่เกอว

(ข) ประสม ๔ ส่วนพิเศษ คือวิธีประสม ๓ ส่วนซึ่งมีตัวการันต์เพิ่มเข้าเป็นส่วนที่ ๔ ได้แก่แม่ ก กา มีตัวการันต์ เช่น สีห์ เล่ห์ เท่ห์ เป็นต้น

(๓) ประสม ๕ ส่วน วิธีนี้ได้แก่วิธีประสม ๔ ส่วนปกติ ซึ่งมีตัวการันต์เติมเข้าเป็นส่วนที่ ๕ ได้แก่มาตราทั้ง ๘ แม่ มีตัวการันต์ เช่น ศักดิ์, สังข์, หัตถ์, ขันธ์ เป็นต้น กับพยางค์ที่ประสมสระ อำ ใอ ไอ เอา มีตัวการันต์ เช่น ไทย ไมล์ เสาร์ เยาว์ ฯลฯ เหล่านี้นับว่าประสม ๕ ส่วนเหมือนกัน

ส่วนของพยางค์
ตามที่ได้อธิบายมาแล้วว่า พยางค์หนึ่งๆ ต้องใช้อักษรผสมกัน ๓ ส่วนบ้าง ๔ ส่วนบ้าง และ ๕ ส่วนบ้าง ส่วนของพยางค์เหล่านี้มีชื่อต่างกัน
เป็น ๕ ชนิด คือ (๑) พยัญชนะต้น (๒) สระ (๓) ตัววสะกด (๔) วรรณยุกต์ (๕) ตัวการันต์ จะอธิบายทีละส่วน ดังนี้

พยัญชนะต้น
พยัญชนะต้น คือ พยัญชนะตัวแรกที่ประสมกับสระ ทำให้อ่านออกเสียงแปรไปต่างๆ บางทีก็มีตัวเดียว บางทีก็มี ๒ ตัว ๓ ตัวประสมกัน พยัญชนะต้นที่มีตัวเดียวนั้น ย่อมเห็นได้ตามแบบมาตราทั้ง ๙ ที่อธิบายมาแล้ว เช่น กา ตี กาง กาก ขาย ขาม ขาง เป็นต้น บางทีก็เพี้ยนไปบ้างตามที่เปลี่ยนแปลงหรือลดรูปสระเสีย เช่น จรลี, สมณะ ซึ่งควรเป็น จอ-ระ-ลี, สะ-มะ-ณะ จะอธิบายในส่วนสระ

พยัญชนะประสม
พยัญชนะที่ประสมกัน ๒ ตัว อยู่ในสระเดียวกัน เรียกว่า พยัญชนะประสม ตามภาษาเดิมหรือภาษาอื่นเขาอ่านเสียงกล้ำกันเป็นพยางค์ เดียว แต่ในภาษาไทยอ่านต่างๆ กัน บางทีก็เป็นแต่สักว่ารูปเป็นพยัญชนะประสม แต่อ่านเรียงกันเป็น ๒ พยางค์อย่างมีสระประสมกันอยู่ด้วย เช่น พยาบาท อ่าน พะ-ยา-บาท, มัธยม อ่าน มัด-ธะ-ยม ฯลฯ บางทีก็อ่านกล้ำเป็นเสียงสระเดียวตามแบบเดิม เช่น กรีฑา, ปราสาท ฯลฯ เพราะฉะนั้น ในภาษาไทย ท่านจึงแบ่งพยัญชนะประสมออกเป็น ๒ พวก ดังนี้

(๑) อักษรนำ คือพยัญชนะ ๒ ตัวเรียงกันประสมสระเดียว แต่ออกเสียงเป็น ๒ พยางค์ คือ พยางค์ต้นเหมือนมีสระประสมอยู่ด้วย พยางค์ที่ ๒ ออกเสียงตามสระประสมอยู่ และพยางค์ที่ ๒ นี้ถ้าเป็นอักษรเดี่ยวต้องออกเสียงวรรณยุกต์และผันตามตัวหน้าด้วย เช่น แสม อ่าน สะ-แหม, จรัส อ่าน จะ-หรัส เป็นต้น เว้นแต่ ตัว ห นำอักษรเดี่ยวหรือตัว อ นำตัว ย ไม่ต้อง ออกเสียงตัว ห และตัว อ เป็นแต่ออกเสียง และผันตัวหลังตามตัว ห และ ตัว อ เท่านั้น เช่น หงอ หญ้า ไหน อย่า อยู่ เป็นต้น ถ้าตัวหน้าเป็นอักษรต่ำก็ดี หรือตัวหลังไม่ใช่อักษรเดี่ยวก็ดี ก็ไม่เปลี่ยนแปลงเสียงวรรณยุกต์ ปรากฏแต่รูปเป็นอักษรนำเท่านั้น แต่อ่านอย่างเดียวกับคำเรียงพยางค์ เช่น พยาธิ อ่าน พะยาธิ, มัธยม อ่าน มัดธะยม เป็นต้น

คำจำพวกหนึ่งมีสระประสมทั้ง ๒ พยางค์ แต่อ่านพยางค์เป็นเสียงวรรณยุกต์อย่างตัวหน้าคล้ายอักษรนำ เช่น ดิลก อ่าน ดิ-หลก, ประโยค อ่าน ประโหยก เป็นต้น คำเหล่านี้เป็นพิเศษจะนับว่าอักษรนำไม่ได้

(๒) อักษรควบ คือพยัญชนะที่ควบกับตัว ร,ล,ว มีเสียงกล้ำเป็นสระเดียวกัน มี ๒ อย่างคือ

(ก) อักษรควบแท้ ได้แก่อักษรควบที่ออกเสียง พยัญชนะทั้ง ๒ ตัว เช่น กรู, กลด, กว่า ฯลฯ

(ข) อักษรควบไม่แท้ ได้แก่ อักษรควบที่ออกเสียงแต่ตัวหน้าตัวเดียวบ้าง ออกเสียงกลายเป็นตัวอื่นไปบ้าง เช่น จริง, สรวม, ไซร้, ทราบ, ทรง, ทราม, ทราย เป็นต้น อักษรควบนี้กำหนดเสียงวรรณยุกต์ และวิธีผันตัวอักษรตัวหน้าอย่างอักษรนำเหมือนกัน

พยัญชนะที่ประสมกับตัว ร,ล,ว นี้ ถ้าอ่านเป็นเสียง ๒ พยางค์ ก็ไม่นับว่าเป็นอักษรควบ เช่น อร่อย อ่าน อะ-หร่อย, ตลาด อ่าน ตะ-หลาด, ตวาด อ่าน ตะ-หวาด ฯลฯ ดังนี้ต้องนับว่าเป็นอักษรนำ

ส่วนสระ
สระ ๓๒ ที่ประกอบขึ้นด้วยรูปสระ ๒๑ นั้น เมื่อประสมกับ พยัญชนะเป็นมาตราทั้ง ๙ แม่นั้น ย่อมมีรูปผิดเพี้ยนไปจากเดิมบ้าง ดังนี้

(๑) ในแม่ ก กา โดยมากรูปสระคงที่ แต่มีเปลี่ยนแปลงบ้าง คือ:- สระอะ โดยมากประวิสรรชนีย์ แต่บางคำลดวิสรรชนีย์ออกเสีย เช่น ณ ธ ทนาย พนักงาน อนุชา ฯลฯ

สระอือ ต้องเติมตัว อ เข้าด้วย เช่น มือ คือ ถือ ฯลฯ

สระเอาะ เมื่อประสมกับตัว ก ไม้โท ต้องลดรูปสระหมด ใส่แต่ไม้ไต่คู้ ข้างบนดังนี้ ก็ (เก้าะ) (แปลกอยู่คำเดียวเท่านั้น)

สระออ โดยมากมีตัว อ เคียง แต่บางคำลดตัว อ เสีย เช่น บ,บ่ (ไม่), จรลี, ทรกรรม ฯลฯ

สระอัว คงรูปตามเดิม แต่หนังสือโบราณเปลี่ยนไม้ผัดเป็นตัว ว อย่าง  ว หันก็มีบ้าง เช่น ท่วว, ตวว, หวว ฯลฯ

(๒) ในมาตรามีตัวสะกดทั้ง ๘ แม่ มีวิธีเปลี่ยนรูปสระเป็นแบบเดียวกัน แต่ต่างออกไปจากแม่ ก กา มาก ดังนี้

สระอะ เปลี่ยนวิสรรชนีย์

(๑) ไม้ผัด เช่น กัก กัง กัน ฯลฯ (ถ้า ตัว ว สะกดใช้แต่ในภาษาบาลีและสันสกฤต เช่น อัว๎หย อ่าน เอาหยะ แต่ ไทยใช้สระเอาแทน)

(๒) เป็นอักษรหันซึ่งเรียกว่า ก หัน, ง หัน, น หัน, ร หัน ฯลฯ ตามตัวสะกด เช่น ตกก ดงง นนน สรร เป็นต้น เหล่านี้ มีในหนังสือโบราณโดยมาก เดี๋ยวนี้ยังคงใช้อยู่แต่ ร หันเท่านั้น

สระเอะ แอะ เปลี่ยนวิสรรชนีย์เป็นไม้ไต่คู้ เช่น เล็ก เก็ง แข็ง ฯลฯ

สระโอะ ลดไม้โอ กับวิสรรชนีย์ออกเสีย เช่น กก กง ลด ฯลฯ (เว้น แต่ตัว ร สะกดไม่อ่านสระโอะ)

สระเอาะ ลดรูปสระเดิมหมด ใช้ตัว อ กับไม้ไต่คู้แทน เช่น น็อต, ล็อก ฯลฯ

สระออ ถ้าตัว ร สะกดลดตัว อ ออกเสีย เช่น จร พร กร ฯลฯ

สระเออะ เออ เปลี่ยนวิสรรชนีย์ในสระ เออะ เป็นไม้ไต่คู้ เช่น เก็อก เก็อง ฯลฯ ในแม่เกย ลดตัว อ ออกเสียก็ได้ทั้งสระ เออะ และ เออ เช่น เก็ย เกย ฯลฯ รูปนี้ใช้แต่ภาษาไทย ในบาลีและสันสกฤตต้องอ่านเป็นเสียงสระเอ เช่น ‘เวเนยฺโย, เสยฺโย’ จะอ่านว่า ‘เวเนอยโย, เสอยโย’ อย่างไทยอ่านไม่ได้ ฯลฯ นอกจากแม่เกยนี้แล้ว มักจะเอาตัว อ เป็นพินทุ์ อิ ทั้งสองสระ เช่น เกิ็ก เกิก เกิ็ง เกิง  ฯลฯ

สระเอียะ เอือะ เปลี่ยนวิสรรชนีย์เป็นไม้ไต่คู้ เช่น เกี็ยก, เกี็ยง, เกื็อก เกื็อง ฯลฯ (แต่ไม่มีที่ใช้)

สระเอีย ตามหนังสือโบราณ ลดไม้หน้ากับพินทุ์ อิ ออกเสียก็มี เช่น วยง (เวียง) รยก (เรียก) ฯลฯ

สระอัวะ อัว เปลี่ยนวิสรรชนีย์ของสระอัวะ เป็นไม้ไต่คู้และลดไม้ผัด ออกเสียทั้งสองสระ เช่น ก็วก ก็วง กวก กวง ฯลฯ

บรรดาพยางค์ทั้งหลายที่มีไม้ไต่คู้ข้างบน ถ้าจะใส่ไม้วรรณยุกต์ ต้องลด ไม้ไต่คู้ออกเสีย เพื่อไม่ให้รุงรัง ตัวอย่างเช่น เผ่น เล่น ร่อน ร้อน ฯลฯ ถึง แม้จะปนกับสระเสียงยาว ก็สังเกตได้ด้วยความเคยชินว่า คำไหนสั้น คำไหนยาว เช่น “ร่วน” สั้น “ร้อน” ยาว เป็นต้น รูปสระนอกจากนี้คงใช้ตามเดิม

(๑) อนึ่งสระเกินทั้ง ๘ ตัว เมื่อประสมกับพยัญชนะไม่เปลี่ยนแปลงรูป เลย แต่มีลักษณะแปลกกับรูปสระอื่นๆ อยู่บ้าง ดังนี้

ฤ ฤๅ ฦ ฦๅ ๔ ตัวนี้ พื้นเสียงมี ร, ล ประสมอยู่ในตัวแล้ว ถึงจะเขียน โดยลำพังไม่ต้องมีพยัญชนะประสมก็ออกเสียงเป็นพยางค์หนึ่ง ครบตามวิธีประสม ๓ ส่วน คือเหมือนกับ รึ รือ ลึ ลือ ถ้าประสมกับพยัญชนะต้นเข้า ก็มีเสียงอย่างอักษรควบ ดังนี้ กฤ กฤๅ กฦ กฦๅ อ่าน กรึ กรือ กลึ กลือ แต่สระ ฤ นั้นอ่านได้ ๓ อย่าง คือ อ่านเป็น ริ เช่น กฤดา (ก๎ริดา), อ่านเป็น รึ เช่น พฤกษ์ (พรึก), อ่านเป็น เรอ เช่น ฤกษ์ (เริก) โบราณอ่านเป็น รี ก็มีบ้าง เช่น ปฤชา (ปรีชา) เดี๋ยวนี้ไม่ใคร่ใช้แล้ว สระ ฤๅ ฦ ฦๅ นั้นออกเสียงคงที่

สระอำ ใอ ไอ เอา ๔ ตัวนี้ พื้นเสียงมีตัวสะกดอยู่ด้วย ดังอธิบายแล้ว แต่ ไอ เอา ๒ ตัวนี้ เอาพยัญชนะบางตัวสะกดได้อีก เช่น ไมล, ไลฟ, ไตม, . ไปป, เอานซ์, เปานด์ เป็นต้น

ส่วนตัวสะกด
ตัวสะกดนั้น คือ พยัญชนะที่ประกอบอยู่ข้างท้ายสระและมีเสียง ประสมเข้ากับสระ ทำให้หนักขึ้นตามฐานของพยัญชนะ เช่น กา เป็น กาก กาง  กาด กาน กาบ กาม กาย กาว เป็นต้น ท่านจัดไว้เป็นพวกๆตามมาตรา ดังนี้ คือ แม่ กก มีพยัญชนะ วรรค ก เว้นตัว ง เป็นตัวสะกด, แม่ กง ตัว ง สะกด, แม่ กด วรรค จ, วรรค ฎ, วรรค ด, และ ศ ษ ส เว้นตัว ญ ณ น เป็นตัวสะกด, แม่ กน ตัว ญ ณ ร ล ฬ เป็นตัวสะกด, แม่ กบ วรรค บ เว้นตัว ม เป็นตัว สะกด, แม่ กม ตัว ม เป็นตัวสะกด, แม่ เกย ตัว ย เป็นตัวสะกด และ แม่ เกอว ตัว ว เป็นตัวสะกด

ตามนี้ว่าตามฐานของพยัญชนะที่ควรจะสะกดได้ แต่มีพยัญชนะบางตัว ซึ่งไม่เคยใช้สะกดเลย คือ ฃ ฅ ฉ ฌ ผ ฝ เหล่านี้ถึงแม้จะสะกดก็สะกดได้ตามหลักข้างบนนี้

ตัวสะกดนั้นจะมีสระประสมอยู่ด้วยก็ได้ ไม่มีก็ได้ เช่น สุข, ราช, โพธิ, ธาตุ แต่ถ้าจะอ่านออกเสียงตัวสะกดด้วยก็ได้ เช่น คำข้างบนนี้อ่าน สุก-ขะ, ราด-ชะ, โพด-ธิ, ธาด-ตุ เมื่อเป็นเช่นนี้ต้องนับว่าตัวสะกดนั้นทำหน้าที่ ๒ อย่าง คือ เป็นตัวสะกดด้วย และเป็นพยัญชนะต้นของพยางค์ต่อไปด้วย และตัวสะกดนี้ เป็นพยัญชนะประสมกันก็ได้ มีลักษณะดังนี้

(๑) อักษรนำ ในจำพวกอักษรนำนี้ ต้องนับพยัญชนะตัวนำเป็นตัวสะกด เพราะออกเสียงเป็นตัวสะกดแต่นำหน้าตัวเดียว เช่น ทิพย,แพทย ดังนี้ ตัว พ, ท เป็นตัวสะกด ตัวหลังนับว่าเป็นอื่น ถ้าจะอ่านออกเสียงตัวสะกดด้วย ก็ต้องนับเป็นเหมือนอักษรนำที่เป็นพยัญชนะต้นของพยางค์ต่อไปอีกต่างหาก เช่น ทิพย อ่าน ทิบ-พะ-ยะ, วาสนา อ่าน วาด-สะ-หนา ฯลฯ

(๒) อักษรควบ ในส่วนอักษรควบนี้ ถึงแม้ว่าจะออกเสียงตัวหน้าตัวเดียวเป็นตัวสะกดก็ดี ต้องนับว่าเป็นตัวสะกดทั้งคู่ เพราะมีเสียงกล้ำสนิท และถึงจะอ่านตัวสะกดด้วย ก็ต้องออกเสียงเป็นพยัญชนะควบ เช่น บุตร จักร ต้องอ่าน บุต-ต๎ระ, จัก-ก๎ระ ดังนี้เป็นต้น

ยังมีตัวสะกดเป็นอักษรควบอีกพวกหนึ่ง คือ ตัว ร หรือ ตัว ห ควบกับ ตัวอื่น ซึ่งเนื่องมาจากสันสกฤต เช่น คำว่า ธรฺม, นารฺถ, มารฺก, พฺรหฺม, ในภาษาเดิมเขาอ่าน ร๎ม ร๎ถ ร๎ค ห๎ม ควบกันสนิท ครั้นตกในภาษาไทยเขียน ธรรม นารถ มารค พรหม และออกเสียงตัวหลังเป็นตัวสะกดตัวเดียวเพราะตัว ร และ ห มีเสียงอ่อนกว่า ดังนี้ ธัม, นาด, มาก, พรม ถ้าจะออกเสียงตัวหน้าเป็นตัว สะกด ก็ต้องการันต์ตัวหลังเสีย เช่นธรรม์,สรรพ์ อ่าน ธัน, สัน ฯลฯ แต่ถ้าตัวหลังมีเสียงอ่อนเช่นเดียวกัน ถ้าไม่การันต์ตัวหลังก็ออกเสียงตัวหน้าเป็นตัวสะกด เช่น พรหมจรรย, ไอศวรรย อ่าน พรม-มะจัน, ไอสะ-หวัน ไม่อ่าน ว่า พรห-มะจัย, ไอ-สะหวัย

ตัวสะกดที่เป็นอักษรควบเช่นนี้ ต้องนับเข้าในจำพวกควบไม่แท้อย่างเดียวกับ จ ควบ ร (จริง) ซ หรือ ส ควบ ร (ไซร้, สรง) ท ควบ ร (ทรง) เป็นต้น

ส่วนวรรณยุกต์
เมื่อเอาพยัญชนะประสมเข้ากับสระแล้ว ก็อ่านออกเสียงได้ ถึงจะมีรูปวรรณยุกต์หรือไม่มีก็ดี เสียงวรรณยุกต์ก็เกิดขึ้นเป็นเงาตามตัว แต่ถ้าเพิ่มเติมตัวสะกดขึ้นอีก ก็ต้องอ่านออกเสียงไปอีกอย่างหนึ่ง บางทีเสียงวรรณยุกต์ก็ผิดไปด้วยเหมือนกัน เช่น “มา” วรรณยุกต์สามัญ ถ้าเติมตัว ก สะกดเข้าเป็น  “มาก” เป็นวรรณยุกต์โทไป ได้อธิบายไว้ชัดเจนแล้วในเรื่อง วรรณยุกต์

ส่วนตัวการันต์
ตัวการันต์นั้น คือพยัญชนะสุดท้ายที่ไม่ต้องการอ่านออกเสียงเป็นตัวสะกด หรือเป็นพยัญชนะต้นของพยางค์ต่อไป โดยมากมีไม้ทัณฑฆาตบังคับข้างบน แต่บางทีก็ทิ้งไว้ลอยๆ ทราบได้ด้วยความเคยชิน แต่พยัญชนะที่มีไม้ทัณฑฆาตนั้น ใช้เป็นตัวการันต์แต่เฉพาะในภาษาไทยเท่านั้น ในบาลีและสันสกฤตใช้เป็นตัวสะกด ดังกล่าวแล้ว

ตัวการันต์นี้ มีไว้เพื่อรักษารูปเดิมของศัพท์ให้คงที่อยู่ ศัพฑ์ที่มีตัวการันต์ นั้น โดยมากมักมาจากภาษาบาลีและสันสกฤต เพราะศัพท์หนึ่งๆในภาษาเดิม เขาออกเสียงเป็นหลายพยางค์โดยมาก แต่ภาษาไทยเพราะพูดช้า ต้องการน้อยพยางค์ จึงเอาพยางค์หลังมาเป็นตัวสะกดเสียบ้าง การันต์เสียบ้าง เช่น สุ-ข, ธา-ตุ, โย-ช-น, กาญ-จ-น อ่าน สุก, ธาตุ, โยด, กาน เป็นต้น ครั้นจะทิ้งตัวการันต์เสียก็กลัวจะเสียรูปศัพท์เดิมทำให้ความเคลื่อนคลาดไป

ตัวสะกด และตัวการันต์นั้นอยู่ข้างจะปนกัน ควรสังเกต ดังต่อไปนี้ พยัญชนะตัวเดียว ถ้าไม่ต้องการเป็นตัวสะกด หรืออ่านอีกพยางค์หนึ่ง แล้ว ก็นับว่าเป็นตัวการันต์ ควรใส่ไม้ทัณฑฆาตเสีย เช่น ธรรมลังการ์ ต้นโพธิ์ เป็นต้น แต่ถ้าออกเสียงเป็นตัวสะกดแล้ว ต้องนับว่าเป็นตัวสะกด ไม่ต้องมีไม้ทัณฑฆาต เช่น ธาตุ, อลังการ, มหาโพธิ เป็นต้น

อักษรควบทั้งปวง ต้องนับเป็นตัวสะกดทั้งคู่ เว้นแต่อักษรควบไม่แท้ที่มี เสียงตัวหน้าอ่อน คือ ร ควบกับตัวอื่น ถ้าต้องการเอาตัว ร สะกดตัวเดียว เช่น ธรรม์ สรรค์ ดังนี้ ตัวหน้าเป็นตัวสะกด ตัวหลัง คือ ม, ค เป็นตัวการันต์ ควรใส่ไม้ทัณฑฆาตเสีย

อักษรนำทั้งปวง ตัวนำเป็นตัวสะกด ตัวตามหลังถ้าไม่อ่านเป็นพยางค์ ต่อไป ต้องนับว่าเป็นตัวการันต์ เช่น ทิพย์ กฤษณ์ ดังนี้ พ และ ษ เป็นตัว สะกด ย และ ณ เป็นตัวการันต์ บางทีท่านก็ไม่ใช้ไม้ทัณฑฆาต ดังนี้ ทิพย กฤษณ

ตัวการันต์นี้ เป็นพยัญชนะตัวเดียวก็มี เป็นอักษรควบหรือนำก็มี สองตัว เรียงกันก็มี มีรูปสระประกอบอยู่ด้วยก็มี ดังนี้ ตัวเดียว-สงฆ์ อักษรควบ- พักตร์, อักษรนำ-ลักษณ์, สองตัวเรียงกัน-กาญจน์, มีรูปสระประกอบ- ประสิทธิ์ บริสุทธิ์ บงสุ์ ฯลฯ  โดยมากมักอยู่ท้ายพยางค์ ท่านจึงเรียกว่าการันต์ แปลว่า อักษรสุดท้าย

วิธีกระจายอักษร
เมื่อได้อธิบายวิธีประสมอักษรให้ผู้เรียนเข้าใจตลอดแล้ว ต่อไปนี้ จะวางแบบวิธีกระจายอักษรไว้ให้ดูเป็นตัวอย่าง วิธีกระจายอักษรนี้ ต่างกับการบอกวิธีเขียน (ที่เรียกว่าตัวสะกด) เพราะการบอกวิธีเขียนนั้น เขียนอย่างใด ก็บอกอย่างนั้น เช่น ‘พ้น’ ก็บอกว่า พ (พาน) ไม้โท น (หนู) สะกด ไม่ชี้แจงโดยถี่ถ้วนว่า สระอะไร วรรณยุกต์อะไร เป็นต้นนั้น แต่วิธีกระจายอักษร ต้องบอกโดยถี่ถ้วนทุกส่วนของพยางค์ เป็นเครื่องฝึกซ้อมความเข้าใจในลักษณะ ตัวอักษร และวิธีประสมตัวอักษรให้แม่นยำขึ้น ให้นักเรียนกระจายตามระเบียบ

(๑) ต้องบอกส่วนของพยางค์เรียงตามลำดับ ดังอธิบายมาแล้ว คือ:-

๑. พยัญชนะต้น ๒. สระ ๓. ตัวสะกด ๔. วรรณยุกต์ (ถ้าไม่มีตัวสะกด วรรณยุกต์ต้องอยู่รองสระ) ๕. ตัวการันต์

(๒) ในส่วนพยัญชนะต้น ถ้าเป็นพยัญชนะประสม ต้องบอกว่าเป็น อักษรนำหรืออักษรควบด้วย ถ้าจะกระจายด้วยปากเมื่อบอกตัวพยัญชนะที่ซ้ำกัน ต้องออกชื่อของพยัญชนะนั้นๆ ด้วย เช่น ค ควาย ฆ ระฆัง ฯลฯ เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจ

(๓) ในส่วนสระ ให้บอกตามเสียงสระ เช่น สระ เอะ สระ แอะ ฯลฯ ไม่ต้องบอกตามรูปสระว่า ไม้หน้า, วิสรรชนีย์ ฯลฯ แต่สระใดลดรูปหรือเปลี่ยนแปลงไป ต้องบอกว่าลดรูปหรือเปลี่ยนแปลงเป็นอะไรด้วย

(๔) นฤคหิต (° ) ที่แทน ง และ ม ใช้ในภาษาบาลีและสันสกฤต ต้องนับว่าเป็นส่วนตัวสะกด เช่น ในคำว่า ‘กึ’ ให้กระจายว่าพยัญชนะต้น ก สระ อิ นฤคหิตแทน ง (บาลี) แทน ม (สันสกฤต) สะกด แต่ถ้าเป็นสระ อึ หรือ อำ จึงบอกว่าสระ อึ หรือ อำ อย่างสระอื่น

(๕) ในพวกสระเกิน สระ ใอ ไอ ถ้ากระจายปากเปล่า ต้องบอกรูปด้วยว่า สระ ใอ ไม้ ม้วน, สระ ไอ ไม้ มลาย, แต่ ฤ นั้นอ่านหลายอย่าง ต้อง บอกเสียงอ่านด้วยว่า สระ ฤ อ่านเสียง ริ, รึ, หรือ เรอ

(๖) ในส่วนวรรณยุกต์นั้นต้องบอกว่า วรรณยุกต์อะไร มีรูปหรือไม่มีรูป ที่มีรูปต้องบอกว่ารูปไม้อะไร จงดูตัวอย่างต่อไปนี้

ตัวอย่างกระจายอักษร
ก. “ก็” คำพยางค์เดียว
พยัญชนะต้น ก
สระ เอาะ เปลี่ยนรูปเป็นไม้ไต่คู้
วรรณยุกต์ โท ไม่มีรูป

ข. “ไวพจน์” คำ ๒ พยางค์
ไว – พยัญชนะตัว ว
สระ ไอ (ไม้มลาย)
วรรณยุกต์ สามัญ

พจน์-พยัญชนะต้น พ (พาน)
สระ โอะ ลดรูป
ตัวสะกด จ
วรรณยุกต์ ตรี ไม่มีรูป
ตัวการันต์ น

ค. “กฤษณา” คำ ๓ พยางค์
กฤษ-พยัญชนะต้น ก
สระ    ฤ อ่านเสียง ริ
ตัวสะกด    ษ อักษรนำ
วรรณยุกต์    เอก ไม่มีรูป

ษ-พยัญชนะต้น ษ (ฤษี)
สระ    อะ ลดรูป
วรรณยุกต์ เอก ไม่มีรูป

ณา-พยัญชนะต้น ณ (เณร)
สระ    อา
วรรณยุกต์ จัตวา ไม่มีรูป (เพราะ ษ นำ)

ฆ. ถ้ามีหลายคำด้วยกัน จะทำตารางกระจายดังนี้ก็ได้
silapa-0028 - Copy

ที่มา:พระยาอุปกิตศิลปสาร