ม่อจื๊อกับคติความคิดทางศาสนา

ในบทนิพนธ์เรื่องม่อจื๊อนั้น ได้อุทิศเนื้อที่ของหนังสือถึงสามบท ให้แก่การอธิบายถึงเรื่องเจตน์จำนงของสวรรค์ มีการบรรยายถึงชีวิตของภูติผีปีศาจและเทวดา และการประณามถึงคติความเชื่อเรื่องบุรพลิขิตของชะตากรรมของบุคคล เรื่องทั้งสามนี้ คือสาระสำคัญของคติความคิดในทางศาสนาของม่อจื๊อ คำสอนของม่อจื๊อนั้นเกิดขึ้นจากประชาชนและมีความมุ่งหมายเพื่อประชาชน สำหรับชนกลุ่มใหญ่ที่เป็นสามัญชนนั้น จะมีสิ่งใดที่จะดึงดูดความสนใจของพวกตนได้ดี…..โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยของประวัติศาสตร์ที่มีแต่ความระส่ำระสาย….ยิ่งไปกว่านั้นความคิดเรื่องเทพยดาฟ้าดินผู้เป็นใหญ่ที่คอยดูแลความสุข ความทุกข์ของประชาชนพลเมืองอยู่ตลอดเวลาได้เล่า? ม่อจื๊อเข้าใจสภาพของจิตใจของประชาชนเป็นอย่างดี และคิดว่าจำเป็นจะต้องมีพื้นฐานทางจิตวิทยาอันมั่นคง เพื่อสนับสนุนทรรศนะของตนในเรื่องความรักสากล ที่มีต่อปวงมนุษยชนโดยเท่าเทียมกัน ด้วยเหตุนี้ ม่อจื๊อจึงยืนยันความคิดของตนว่า ทฤษฏีเรื่องความรักสากลของตนนั้นสอดคล้องกับเจตน์จำนงของสวรรค์เป็นอย่างดี เขามีความคิดว่า สวรรค์นั้นคือผู้เป็นใหญ่อันสูงสุด หรือชางตี่ (Shang Ti) ซึ่งมีความรักในมนุษยชาติและมีเจตน์จำนงว่า มนุษยชาติทั้งปวงควรจะมีความรักต่อกันและกัน ม่อจื๊อให้เหตุผลต่อไปว่า

เราจะรู้ได้อย่างไรว่า สวรรค์นั้นมีความรักต่อมนุษย์ทั้งปวง?
เราจะรู้ได้ เพราะว่า สวรรค์ประทานความรู้ให้แก่เรา
เรารู้ได้อย่างไรว่า สวรรค์นั้นประทานความรู้ให้แก่เรา?
เรารู้ได้ เพราะว่า สวรรค์นั้นเป็นเจ้าของความรู้ทั้งหมดทั้งปวง
เรารู้ได้อย่างไรว่า สวรรค์นั้นเป็นเจ้าของความรู้ทั้งหมดทั้งปวง?
เรารู้ได้ เพราะว่า สวรรค์ยินดีรับการเส้นสรวงบูชาจากมนุษย์ทั้งปวง
มนุษย์ทั้งปวงอยู่ภายใต้อำนาจของสวรรค์ แล้วทำไมสวรรค์จึงจะไม่มีความรักต่อปวงมนุษย์เล่า?
เพราะว่าบุคคลที่ประทุษร้าย ต่อชีวิตของผู้บริสุทธิ์นั้นจะต้องถูกลงโทษโดยการได้รับความทุกข์ต่างๆ นานา
ใครคือผู้ประทุษร้ายต่อชีวิตของผู้บริสุทธิ์? มนุษย์
ใครคือผู้กำหนดความทุกข์ให้แก่มนุษย์?
สวรรค์ ถ้าสวรรค์ไม่มีความรักต่อมนุษย์ทั้งปวง ทำไมสวรรค์จึงลงโทษทัณฑ์แก่คนอธรรมโดยการบันดาลความทุกข์ทั้งหลายให้เกิดขึ้นกับเขาเล่า?
เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงรู้ว่า สวรรค์นั้นมีความรักต่อมนุษย์ทั้งปวงของโลก

ถ้าหากจะยอมรับว่า คำอธิบายนี้ยังไม่เป็นที่น่าพอใจที่จะพิสูจน์ว่า สวรรค์นั้นมีอยู่จริงก็ตาม แต่จุดสำคัญที่ควรจะระลึกถึงนั้นคือว่า ม่อจื๊อนั้นไม่ได้มีความเชื่อว่า มนุษย์นั้นโดยธรรมชาติแล้ว มีความรักต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ม่อจื๊อใช้ศาสนาเป็นพลังจูงใจในการเผยแพร่คำสอนเรื่องความรักสากลต่อเพื่อนมนุษย์โดยเท่าเทียมกันของเขา มีข้อความบางบทกล่าวถึง “เจตน์จำนงของสวรรค์” ซึ่งม่อจื๊อกล่าวถึงน้อยมาก หรือแทบจะไม่กลาวถึงเลยถึงเรื่องอมตภาพของดวงวิญญาณ หรือ “ดินแดนแห่งความสุขของพระเจ้า” ทั้งนี้เป็นเพราะว่าความสนใจอันสำคัญของม่อจื๊อนั้นอยู่ที่สวัสดิภาพของดวงวิญญาณ หรือ “ดินแดนแห่งความสุขของพระเจ้า” ทั้งนี้เป็นเพราะว่าความสนใจอันสำคัญของม่อจื๊อนั้นอยู่ที่สวัสดิภาพของผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ และความต้องการของเขาที่จะสร้างสังคมแห่งอุดมคติขึ้นมา ในแง่ของความคิดที่สอดคล้องกับภาวะอันแท้จริงของชีวิตเช่นนี้นั้น คำสอนของม่อจื๊อจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งแก่มนุษย์ และการดำรงชีวิตของมนุษย์ในโลกปัจจุบัน ทำนองเดียวกันกับคำสอนของขงจื๊อ

ม่อจื๊อ ตำหนิคนในรุ่นเดียวกันกับเขาอย่างรุนแรงในการที่ไม่ยอมเชื่อถือในเรื่องการเคารพเทพยดาฟ้าดิน ซึ่งกษัตริย์ผู้เป็นนักปราชญ์แต่อดีตเคยเคารพนับถือกันมา ในหนังสือของเขาบทที่ชื่อว่า “ข้อพิสูจน์ว่าเทพยดาฟ้าดินนั้นมีจริง” นั้น เขากล่าวถึงเทพยดา ผู้กระทำหน้าที่คอยให้รางวัลแก่ผู้ทำความดีและคอยลงโทษแก่ผู้ทำความชั่ว อย่างเดียวกันกับหน้าที่ของสวรรค์

นับตั้งแต่กษัตริย์ผู้เป็นนักปราชญ์ของราชวงศ์สุดท้ายสามราชวงศ์นั้น ได้สิ้นพระชนม์ไปแล้ว ไม่มีความยุติธรรมอันใดเหลืออยู่ในโลกเลย นอกจากความป่าเถื่อน…..โลกเต็มไปด้วยความระส่ำระสาย อะไรคือเหตุของความระส่ำระสายนี้? เหตุก็คือประชาชนไม่มีความเชื่อถือว่าเทพยดาฟ้าดินนั้นมีอยู่จริง และไม่ยอมเชื่อว่าเทพยดาฟ้าดินนั้นให้รางวัลคนที่กระทำความดี และลงโทษทัณฑ์แก่คนที่ทำกรรมชั่ว

ม่อจื๊อ ยกตัวอย่างมากมายมาพิสูจน์ว่า เทพยดาฟ้าดินนั้นมีอยู่จริง แต่ตัวอย่างที่ยกมาทั้งหมดนี้ มีความเชื่อที่งมงายหลายประการแอบแฝงอยู่ด้วย จึงเป็นตัวอย่างที่เชื่อถือไม่ได้ แต่ม่อจื๊อในฐานะที่เป็นนักประสิทธิผลนิยม (pragmatist) จึงไม่มีความสนใจในเรื่องที่เป็นอภิปรัชญาที่บริสุทธิ์ ความเชื่อทางศาสนาของม่อจื๊อ ตามที่ได้ให้ข้อสังเกตไว้นั้นมีสาระสำคัญ เน้นเรื่องสาธารณประโยชน์ กล่าวคือ ความเชื่อของมนุษย์ที่ว่า เทพยดาฟ้าดินนั้นให้รางวัลแก่บุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติตามหลักของความรักสากลต่อมนุษย์ชาติทั้งปวงโดยเท่าเทียมกัน และลงโทษทัณฑ์แก่บุคคลผู้ปฏิบัติตามหลักของความรักที่มีการแบ่งชั้นวรรณะ นั้นเป็นแรงจูงใจอันสำคัญ ที่ทำให้ประชาชนยอมรับเอาคำสอนของม่อจื๊อ ข้อความที่ยกมากล่าวต่อไปนี้จะให้ความเข้าใจอย่างดีแก่เราในเรื่องนี้

เมื่อม่อจื๊อกำลังนอนเจ็บอยู่ เตี่ย ปี่ (Tieh Pi) สานุศิษย์ของเขา เข้ามาเยี่ยมและถามขึ้นว่า “อาจารย์ครับ อาจารย์สอนว่า เทพยดาฟ้าดินนั้นเป็นผู้ล่วงรู้ และเป็นผู้ให้รางวัลแก่คนทำดี และลงโทษทัณฑ์แก่คนทำชั่ว แต่ท่านอาจารย์เป็นผู้มีสติปัญญาเป็นเลิศ ไฉน ท่านอาจารย์จึงมาล้มเจ็บลงได้เล่า? คำสอนทั้งหมดของท่านอาจารย์อาจจะผิด หรือไม่ก็ เทพยดาฟ้าดิน ไม่มีญาณทิพย์ที่จะล่วงรู้ได้กระมัง?”
ม่อจื๊อ ตอบว่า “ถึงแม้ว่าข้าพเจ้าจะนอนเจ็บ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เทพยดาฟ้าดินไม่มีญาณล่วงรู้ คนจะล้มเจ็บลงได้ด้วยเหตุนานาประการ บางคนเจ็บป่วยเพราะถูกอากาศหนาว บางคนเจ็บป่วยเพราะทำงานมากเกินไป อุปมาเหมือนบ้านที่มีประตูร้อยประตู ถ้าปิดประตูไว้บานหนึ่ง ขโมยจะเข้าบ้านโดยทางประตูบานอื่นบ้างจะไม่ได้เลยหรือ?

ในบทนิพนธ์เรื่องม่อจื๊อนี้ ได้กล่าวถึงหลักคำสอนเรื่องผลกรรที่เทพยดาฟ้าดินเป็นผู้บันดาลให้ไว้ ม่อจื๊อประกาศและเผยแพร่คำสอนนี้โดยไม่อ้างถึงความหลัง หรือความกลัวที่จะได้รับในเรื่องชาติหน้าเลย ม่อจื๊อมีปรัชญาเป็นแบบประโยชน์นิยม ฉะนั้นเขาจึงประณามความเชื่อถือในเรื่องพรหมลิขิต โดยยืนยันว่ามนุษย์นั้น สามารถจะสร้างตนเองให้สมบูรณ์ได้ด้วยความพยายามของตนเอง ในแง่นี้ มีสิ่งที่น่าสนใจที่ควรสังเกตก็คือ การแปลความหมายของชะตากรรมแห่งชีวิตที่แตกต่างกัน ตามทรรศนะของเล่าจื๊อ ของขงจื๊อ และของม่อจื๊อ ในบทนิพนธ์ของปรัชญาเต๋านั้น ชะตากรรมของชีวิตถูกนำมาใช้แทนที่คำว่าธรรมชาติอยู่เสมอ เล่าจื๊อกล่าวว่า

…..สรรพสิ่งทั้งปวงเปลี่ยนแปลง และไม่เคยอยู่นิ่งอยู่ตลอดเวลา แต่สิ่งทั้งหลายแต่ละอย่างก็กำลังทวนวิถีของมันกลับไปสู่จุดเริ่มต้นของตน การทวนย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นนั้นคือ วิถีการไปสู่ความสงบ สภาพแห่งวิถีการไปสู่ความสงบนั้น คือ การปฏิบัติหน้าที่อันสมบูรณ์ของชะตากรรมแห่งชีวิต

ตามทรรศนะของเล่าจื๊อนั้น ชะตากรรมแห่งชีวิตหมายถึงสภาพที่เป็นอยู่ของโลกจักรวาลทั้งหมด กล่าวคือเป็น “ภาวะ-เพื่อ-ความเป็นภาวะนั้นเอง” สรรพสิ่งทั้งปวงมีการเกิดขึ้นและสลายลงเหมือนกัน มีความเจริญและความเสื่อมเหมือนกัน แต่เหนือสิ่งเหล่านี้ คือต่างก็ได้รับภาวะของตนมาจากปฐมกำหนดที่เป็นอภาวะ แล้วก็โคจรกลับไปสู่อภาวะเหมือนอย่างเดิม สภาพการณ์ทั้งหมดนี้คือ วิถีทางแห่งธรรมชาติ และเป็นวิถีทางแห่งชะตากรรมของชีวิตของสรรพสิ่งทั้งปวงด้วย

ขงจื๊อนั้น แปลความหมายของชะตากรรมแห่งชีวิตเป็นสองนัยแตกต่างกัน นัยที่หนึ่งชะตากรรมแห่งชีวิตหมายถึงเจตน์จำนงของสวรรค์ หรือโองการของสวรรค์ ขงจื๊อกล่าวว่า

ถ้าคำสอนของข้าพเจ้าจะเผยแพร่ไปทั่วโลกแล้ว นั้นก็เป็นเรื่องสุดแต่ชะตากรรม และถ้าคำสอนของข้าพเจ้าจะสลายลงเป็นผงธุลีแล้วนั้นก็เป็นเรื่องสุดแต่ชะตากรรม (หมิง-ming) เหมือนกัน

ขงจื๊อได้พยายามอย่างเต็มสติกำลังของตนแล้ว แต่เรื่องของความสำเร็จและความล้มเหลวนั้น ปล่อยให้เป็นเรื่องของเจตน์จำนงของสวรรค์

นัยที่สอง ขงจื๊อมีความเห็นว่า ชะตากรรมของชีวิตนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยตัวของมันเอง ไม่อยู่ในอำนาจของความพยายามแต่อย่างใด ฉะนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราจะต้องรู้ “ชะตากรรมของชีวิตของคน” ขงจื๊อกล่าวว่า

เมื่อข้าพเจ้าอายุได้ห้าสิบสี่ ข้าพเจ้ารู้จักชะตากรรมแห่งชีวิตและ
บุคคลที่ไม่รู้จักชะตากรรมแล้ว ไม่สามารถจะเป็นบุคคลชั้นพิเศษได้เลย

สำหรับม่อจื๊อนั้น มีทรรศนะตรงกันข้ามกับนักปรัชญาทั้งสองท่านนี้ ม่อจื๊อปฏิเสธความเชื่อเรื่องชะตากรรม และอุทิศบทนิพนธ์ของตนถึงสามบท เพื่อปฏิเสธความเชื่อเรื่องชะตากรรมเหตุผลโต้แย้งของม่อจื๊อนั้นพอจะสรุปได้ดังต่อไปนี้ ประการที่หนึ่ง ทฤษฎีเรื่องชะตากรรมไม่สอดคล้องกับคติความเชื่อของปราชญ์ในอดีต ม่อจื๊อกล่าว่า

ในอดีตกาลนั้น สิ่งที่พระเจ้าเจี่ย (Chieh) กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์เซี่ย ทำให้ระส่ำระสายนั้น ถูกจัดให้มีความเรียบร้อยสงบลงโดยพระเจ้าถัง (T’ang) ผู้สถาปนาราชวงศ์ซ้อง สิ่งที่พระเจ้าเจา (Chow) กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ซ้อง ทำให้ระส่ำระสายนั้นถูกจัดให้มีความเรียบร้อยสงบลง โดยพระเจ้าหวู (Wu) ผู้สถาปนาราชวงศ์โจว สรรพสิ่งทั้งปวงในโลกคงสภาพอยู่อย่างเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลง ประชาชนพลเมืองคงมีสภาพอย่างเดิม ในสมัยของพระเจ้าเจี่ย และพระเจ้าเจา โลกเผชิญกับสภาพที่โกลาหลวุ่นวายอย่างสาหัส แต่ในสมัยของพระเจ้าถังและพระเจ้าหวู โลกอยู่ในความสุขสงบ ฉะนั้นจะกล่าวได้อย่างไรว่า มีสิ่งที่เรียกว่าชะตากรรม เล่า?

ประการที่สอง คติความคิดเรื่องชะตากรรม นั้นไม่สอดคล้องสัมพันธ์กับประสบการณ์ของชีวิตที่มีอยู่ในปัจจุบัน

การที่จะมีชะตากรรมจริงหรือไม่นั้น เป็นปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยด้วยประสาทตาและประสาทหู ถ้าตาของเราสามารถมองเห็นชะตากรรมและหูของเราสามารถได้ยินชะตากรรมแล้ว ชะตากรรมก็มีอยู่จริงโดยนัยตรงกันข้าม ถ้าตาของเราไม่สามารถมองเห็นชะตากรรม หูของเราไม่สามารถได้ยินชะตากรรมแล้ว ชะตากรรมก็ไม่มี เท่าที่ประสบการณ์ของเราที่เคยพบนั้น เราเคยเห็นสิ่งที่เรียกว่าชะตากรรมบ้างไหม เราเคยได้ยินเสียงของชะตากรรมบ้างไหม?

และอีกประการหนึ่ง ทฤษฎีเรื่องชะตากรรมนั้นไม่สอดคล้องกับผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ถ้าผู้ปกครองบ้านเมืองเชื่อในเรื่องชะตากรรมแล้ว ท่านก็คงจะไม่เอาใจใส่ในเรื่องการปกครองบ้านเมือง แล้วพวกเสนาบดีทั้งหลายก็จะละเลย ในเรื่องการปฏิบัติราชการของตน ประชาชนทั่วไปก็จะไม่เอาใจใส่ในการทำสวนทำนา เหล่าสตรีทั้งหลายก็จะไม่สนใจเรื่องการทอหูกหั่นฝ้าย….ผลก็คือ สิ่งทั้งหลายในโลกก็จะระส่ำระสาย…และประชาชนพลเมือง ก็จะได้รับความทุกข์ยากเพราะขาดแคลนอาหารและเครื่องนุ่งหุ่ม

จากเหตุผลทั้งหมดนี้ ม่อจื๊อสรุปความเห็นว่า ชะตากรรมนั้นไม่มี เขาย้ำว่า ถ้าทุกสิ่งทุกอย่างที่บังเกิดขึ้นในโลกเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดโดยโชคชะตามาก่อนแล้ว มนุษย์ก็ไม่ควรเกรงกลัวการถูกโทษทัณฑ์จากการทำชั่ว หรือสนใจในผลดีของการทำความดี แต่อย่างไรก็ตาม ความกระวนกระวายใคร่รู้เรื่องในอนาคตนั้น เป็นเหตุผลอันหนึ่งที่ทำให้มนุษย์อยากรู้เรื่องชะตากรรม ด้วยเหตุนี้ม่อจื๊อ จึงเสนอแนะว่า

เมื่อเราไม่สามารถวินิจฉัยสิ่งที่เรากำลังพิจารณาอยู่ได้แล้ว เราก็ควรพิจารณาดูอดีต เพื่อที่จะได้รู้เรื่องของอนาคต

การกระทำเช่นนี้ จะขจัดความกระวนกระวายใคร่รู้เรื่องในอนาคตให้หมดไป เมื่อปราศจากความกระวนกระวายแล้ว ยังจะต้องมีเหตุผลอันใดเหลืออีกจะทำให้กระหายใคร่รู้เรื่องชะตากรรมอยู่อีกเล่า?

ที่มา:สกล  นิลวรรณ

ม่อจื๊อกับปรัชญาแห่งประโยชน์นิยม

ปรัชญาแห่งประโยชน์นิยม(Utilitarnism)
ความคิดที่เป็นฐานทั้งหมดของม่อจื๊อนั้น คือความคิดเรื่องประโยชน์ของสาธารณะซึ่งเป็นเครื่องนำเขาให้เผยแพร่ความคิดเรื่องการถือเอาผลประโยชน์และอันตรายว่าเป็นมาตรฐานสำหรับการพิจารณาความผิดชอบชั่วดี ม่อจื๊อกล่าวว่า

ผลประโยชน์คือสิ่งที่เราพอใจอยากได้อยากมี
อันตราย คือสิ่งที่เราไม่พอใจอยากได้อยากมี

คำสอนทั้งสองนี้ ต้องการคำอธิบายเพิ่มต่อไปอีก ตามทรรศนะของม่อจื๊อนั้นเห็นว่าสิ่งที่ก่อให้เกิดผลดีมากกว่าผลร้ายถือว่าเป็นผลประโยชน์ สิ่งที่ก่อให้เกิดผลร้ายมากกว่าผลดีถือว่าเป็นอันตราย ม่อจื๊อกล่าวว่า

การตัดนิ้วมือทิ้งไปเพื่อรักษาแขนได้นั้น คือการถือเอาผลประโยชน์มากที่สุด โดยมีอันตรายน้อยที่สุด การมีอันตรายน้อยที่สุดเช่นนั้นไม่ใช่การได้รับอันตราย แต่เป็นการถือเอาประโยชน์มากที่สุด

ความหมายในที่นี้คือ เราต้องเสียสละผลประโยชน์ของเราถ้าหากการเสียสละนั้นจะนำไปสู่การได้รับผลประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่กว่าในบั้นปลาย

ในทรรศนะของม่อจื๊อนั้น เขามีความเห็นอีกต่อไปว่า สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนจำนวนมากที่สุดนั้นคือ ผลประโยชน์และสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนจำนวนน้อยที่สุดนั้นคือ อันตรายดังจะขอยกตัวอย่าง

….ยาที่สามารถรักษาคนป่วยในจำนวนหมื่นคนให้หายได้เพียงสี่คนหรือห้าคนนั้น ไม่สามารถจะเรียกได้ว่าเป็นยารักษาโรคที่ดีได้

ในทำนองเดียวกัน

…..ถึงแม้ว่าการสงครามจะทำให้เกิดประโยชน์แก่บางประเทศ ประมาณสี่หรือห้าประเทศก็ตาม แต่เราก็ไม่อาจถือเอาได้ว่า การทำสงครามเป็นนโยบายที่ประเทศควรกระทำ

ในทางตรงกันข้าม
….ถ้าบุคคลทำลายชีวิตของตนเพื่อเห็นแก่ประโยชน์ของโลก การทำลายชีวิตของบุคคลผู้นั้นถือว่าเป็นประโยชน์

ทรรศนะอันนี้คือ ความเห็นที่ เจเรมี เบนแทม (Jeremy Bentham) ในสมัยหลังจากม่อจื๊ออย่างมากมาย เรียกว่า “มหาประโยชน์แห่งมหาชน-The greatest good of the greatest number”

ในการแก้ไขปัญหาขัดแย้งกันระหว่างผลประโยชน์กับอันตรายนั้น ม่อจื๊อ มีความเห็นว่า

เราถือประโยชน์มากที่สุด…และ….มีอันตรายน้อยที่สุดเป็นหลัก

ในการที่จะปฏิบัติตามหลักการอันนี้ จำเป็นจะต้องมีมาตรฐานที่เป็นรูปแบบอยู่ภายนอกเพื่อใช้วินิจฉัยผลประโยชน์และอันตราย นอกเหนือไปจากสิ่งที่เราได้กล่าวถึงมาแล้ว ด้วยเหตุนี้ม่อจื๊อ จึงกล่าวว่า

ในการทดสอบข้อโต้แย้งนั้น เรามีมาตรฐานอยู่สามอย่าง คือ…สืบสาวเรื่องราว ตรวจสอบพิจารณา และลองนำมาใช้ จะสืบสาวเรื่องราวของข้อโต้แย้งนั้นได้ที่ไหน? สืบสาวเรื่องราวข้อโต้แย้งนั้นว่ามีความสัมพันธ์สอดคล้องกับคติของกษัตริย์ผู้เป็นนักปราชญ์ในสมัยอดีตหรือไม่ จะตรวจสอบพิจารณาข้อโต้แย้งนั้นได้ที่ไหน จงตรวจสอบพิจารณาข้อโต้แย้งนั้นกับข้อเท็จจริงที่สามัญชนทั่วไปได้เห็นได้ยินมาแล้วจะลองนำข้อโต้แย้งนั้นมาใช้ได้อย่างไร? จงนำมาลองปฏิบัติดูว่าข้อโต้แย้งนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศและประชาชนมากน้อยอย่างไร

ที่จริงแล้วมาตรฐานทดสอบข้อโต้แย้งทั้งสามประการนี้ คือวิธีการของการศึกษาสามประการนั้นเอง คือ การศึกษาโดยวิธีประวัติศาสตร์ การศึกษาโดยการทดสอบพิสูจน์ และการศึกษาโดยปฏิบัติเพื่อหาประสิทธิผล วิธีการศึกษาโดยวิธีประวัติศาสตร์ประกอบด้วยการถือเอาหลักฐานของอดีตมาเป็นเกณฑ์วัด วิธีการศึกษาโดยการพิสูจน์ทดลองนั้นคือการตรวจสอบและการพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่มีอยู่ในปัจจุบัน และการศึกษาโดยปฏิบัติเพื่อหาประสิทธิผลนั้น ก็คือการคาดคะเนถึงผลที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

ในบรรดาวิธีการทั้งสามประการนี้ วิธีการที่สำคัญที่สุดนั้นคือ วิธีการปฏิบัติเพื่อประสิทธิผล ตามทรรศนะของม่อจื๊อนั้นสิ่งที่ให้คุณประโยชน์นั้นคือ สิ่งที่ชอบธรรมและสิ่งที่มีคุณค่าหรือจะพูดอีกนัยหนึ่งว่าสิ่งที่ไม่มีประโยชน์และเป็นอันตรายนั้น คือ สิ่งที่ไม่ชอบธรรมและเป็นสิ่งที่ไม่มีคุณค่า ด้วยเหตุนี้ ม่อจื๊อจึงประเมินค่าของสิ่งต่างๆ โดยการใช้หลักของผลประโยชน์ที่จะเกิดแก่ประเทศและประชาชนเป็นเกณฑ์

ข้าพเจ้าถามพวกสาวกในลัทธิขงจื๊อว่า ท่านมีดนตรีไว้เพื่อประโยชน์อันใด พวกนั้นตอบว่า “ดนตรีเป็นการพักผ่อนหย่อนใจ”

ข้าพเจ้าจึงกล่าวกับพวกเขาว่า “พวกท่านไม่ได้ตอบคำถามของข้าพเจ้าเลย ถ้าข้าพเจ้าถามท่านว่า ทำไมท่านจึงสร้างบ้าน แล้วพวกท่านตอบว่า บ้านนั้นสร้างขึ้นเพื่อป้องกันความหนาวในฤดูหนาว และป้องกันความร้อนในฤดูร้อน และเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยแยกต่างหากกันของคนต่างเพศ อย่างนี้แปลว่า ท่านให้เหตุผลของการสร้างบ้านแก่ข้าพเจ้า แต่เมื่อข้าพเจ้าถามท่านว่าทำไมท่านจึงต้องมีดนตรี แล้วท่านตอบว่า ดนตรีคือ การพักผ่อนหย่อนใจอย่างหนึ่ง เช่นนี้ ก็เท่ากับท่านตอบว่าบ้านก็คือบ้าน นั่นเอง

กล่าวโดยสรุปแล้ว
หลักคำสอนใดที่สามารถนำไปปฏิบัติได้ผลเท่านั้นที่เป็นหลักคำสอนที่ควรยกย่องนับถือ หลักคำสอนใดที่ไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้ผลได้นั้น เป็นแต่เพียงกลุ่มของถ้อยคำเท่านั้นเอง

แต่ปัญหาก็ยังคงมีอยู่ว่า อะไรคือสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศและแก่ประชาชน? ตามทรรศนะของม่อจื๊อนั้น คำตอบของเขาคือโภคทรัพย์และประชากร การเพิ่มพูนปริมาณของโภคทรัพย์และปริมาณของประชากร คือ หัวใจของการปกครองบ้านเมืองที่ดี ในเรื่องของการเพิ่มพูนปริมาณของโภคทรัพย์นั้น ม่อจื๊อกล่าวว่า

เมื่อกษัตริย์ผู้เป็นนักปราชญ์ปกครองบ้านเมืองนั้น โภคทรัพย์ของบ้านเมืองจะเพิ่มพูนเป็นทวีคูณ การที่โภคทรัพย์ของบ้านเมืองเพิ่มพูนเป็นทวีคูณขึ้นนั้นไม่ใช่จากการทำให้คนอื่นจนลง แต่เป็นเพราะการปรับปรุงบ้านเมืองโดยการใช้ให้เป็นประโยชน์มากขึ้น และการตัดทอนรายจ่ายที่ไร้ประโยชน์ลง

“การปรับปรุงบ้านเมืองโดยการใช้ให้เป็นประโยชน์มากขึ้น” นั้นคือ การเพิ่มผลผลิต และ “การตัดทอนรายจ่ายที่ไร้ประโยชน์ลง” นั้นคือ การมัธยัสถ์ เพราะฉะนั้นการเพิ่มผลผลิตและการมัธยัสถ์ จึงเป็นสิ่งจำเป็นของการเพิ่มพูนโภคทรัพย์ของบ้านเมือง

ในเรื่องของการเพิ่มจำนวนประชากรนั้น ม่อจื๊อกล่าวว่า

เรื่องของประชากรนั้น การจะเพิ่มจำนวนให้เป็นทวีคุณนั้นเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก แต่ก็มีหนทางที่จะทำได้ กษัตริย์ผู้เป็นนักปราชญ์ได้ออกกฎหมายว่า “เมื่อชายมีอายุถึงสิบห้าปีแล้วจะต้องมีคู่ครอง” …..ถ้าเราออกกฎหมายให้ประชาชนทั้งหมดแต่งงานเมื่ออายุน้อย เช่นนี้แล้วจำนวนประชากรจะไม่ทวีเป็นสองเท่าได้อย่างไร?

สำหรับขงจื๊อนั้น อายุมาตรฐานสำหรับชายที่จะแต่งงานนั้นคือสามสิบปี และสำหรับหญิงนั้นคือยี่สิบปี ม่อจื๊อเห็นว่าถ้าประชาชนแต่งงานเร็วขึ้นกว่าเกณฑ์อายุที่ขงจื๊อกำหนดไว้แล้วเมื่อนั้น…..โดยเฉลี่ยแล้ว สามีภรรยาคู่หนึ่งจะให้กำเนิดบุตรหนึ่งคนในเวลาทุกๆ สามปี ภายในระยะเวลาสิบปี สามีภรรยาคู่นั้นจะให้กำเนิดบุตรได้ถึงสามคน

โดยการถือเอาว่าการเพิ่มพูนโภคทรัพย์และประชากรนั้น คือมหาประโยชน์ของบ้านเมืองและของประชาชนเช่นนี้แล้ว ม่อจื๊อดำเนินการต่อไปโดยการต่อต้านเรื่องความหรูหราฟุ่มเฟือย ประเพณีเผาศพที่สิ้นเปลือง ระยะเวลาของการไว้ทุกข์อันยาวนาน ตลอดทั้งพิธีการศักดินาทั้งหลายและดนตรี ซึ่งเกี่ยวพันกับการหมดเปลืองเงินทองทั้งสิ้น เงินทองที่สิ้นเปลืองไปโดยเปล่าประโยชน์เหล่านี้ ควรจะนำมาใช้จ่ายเพื่อหาอาหารและเครื่องนุ่งห่มของประชาชนพลเมืองมากกว่า ม่อจื๊อ ได้เขียนโจมตีพิธีการฝังศพอันฟุ่มเฟือยหรูหราที่ปฏิบัติกันในยุคสมัยของเขาว่า

แม้แต่สามัญชนธรรมดาตายลง ค่าใช้จ่ายในการทำพิธีศพนั้น ก็มากมายจนทำให้ครอบครัวยากจนลงแทบจะเป็นคนขอทาน แต่เมื่อผู้ปกครองบ้านเมืองตายลงแล้วจะต้องนำเอาทองและหยก ไข่มุกดีและเพชรนิลจินดามาวางไว้ข้างพระศพ ห่อพระศพด้วยผ้าแพรพรรณอันวิจิตร พร้อมทั้งนำเอารถเทียมม้า พร้อมทั้งโต๊ะ เก้าอี้ กลอง ตุ่มไห ถ้วยชาม ขวานมีด ม่าน ฉาก ธง และวัตถุต่างๆ ที่ทำด้วยงาและหนัง เข้าไปฝังบรรจุไว้ในที่ฝังศพด้วยแล้ว เมื่อนั้นท้องพระคลังของบ้านเมืองก็แทบจะหมดเกลี้ยงไม่มีทรัพย์สินอันใดเหลืออยู่เลย

การปฏิบัติตามประเพณีและพิธีการต่างๆ จนเป็นการทำลายทรัพย์สมบัติของบ้านเมือง ในลักษณะเช่นนี้ ตามทรรศนะของม่อจื๊อนั้น เป็นความเลวทรามอย่างที่สุดอย่างหนึ่งของยุคสมัยนั้น

ที่มา:สกล  นิลวรรณ

สังคมในอุดมคติของม่อจื๊อ

ปรัชญาแห่งความไม่เห็นแก่ตัว(Altruism)
ความสนใจอันสำคัญของม่อจื๊อ คือการสร้างสังคมในอุดมคติ ตามทรรศนะของม่อจื๊อนั้น สังคมในอุดมคติจะต้องยึดอยู่ในหลักการของ “การมีความรักต่อกันและกัน” และ “การแสวงหาสวัสดิการเพื่อคนอื่น” การมีความรักต่อกันและกันนั้นเป็นพื้นฐานทางทฤษฎีของปรัชญาม่อจื๊อ และการแสวงหาสวัสดิการเพื่อคนอื่นนั้นเป็นพื้นฐานทางปฏิบัติของปรัชญาม่อจื๊อ ม่อจื๊อถือว่าความไม่เห็นแก่ตัวหรือความเห็นแก่ประโยชน์ของคนอื่นนั้นเป็นรากเหง้าของคุณธรรมทั้งปวง และม่อจื๊อประกาศว่า ความรักสากลหรือความรักในมนุษยชาติทั้งปวงโดยเท่าเทียมกันนั้น เป็นหน้าที่ของมนุษย์ทุกคน นี้เป็นแก่นของปรัชญาของม่อจื๊อ

เมื่อพิจารณาตามหลักปรัชญาของม่อจื๊อแล้ว ความรักสากลนั้นมีขอบเขตและการใช้ประโยชน์กว้างขวางกว่าความรักที่เกิดจากมนุษยธรรม ตามทรรศนะของขงจื๊อ ตามทรรศนะของขงจื๊อนั้น ความรักแสดงออกเป็นระดับต่างๆ กัน ฉะนั้นความรักจึงมีขีดขั้นเป็นระดับๆ เช่น ความรักในบิดามารดา ความรักในพี่น้อง ความรักในคู่ครองของตน เป็นต้น แต่ม่อจื๊อนั้นยืนยันว่าเราควรจะมีความรักต่อเพื่อนมนุษย์โดยเท่าเทียมกันเหมือนกันทุกคน ความรักในความหมายของความรักสากลนี้ ม่อจื๊อมีความเห็นว่าจะเป็นโอกาสขนานเดียวที่จะเยียวยารักษาโลกที่เต็มไปด้วยความแก่งแย่งแข่งดีกันดังเช่นยุคสมัยของเขาได้

ในบทนิพนธ์เรื่อง ม่อจื๊อ นั้น มีข้อความอยู่สามบท ที่อุทิศให้กับเรื่องของความรักสากล ม่อจื๊อได้เริ่มการอภิปรายเรื่องความรักสากล ด้วยการกล่าวถึงอันตรายอันมหันต์ของโลก ดังนี้

…..ถ้าแคว้นใหญ่ โจมตีแคว้นเล็กแคว้นน้อย
ครอบครัวใหญ่ ทำร้ายครอบครัวเล็ก
คนแข็งแรงปล้นสะดมคนที่อ่อนแอ
กลุ่มคนที่มีจำนวนมาก กดขี่ ข่มเหง กลุ่มคนที่มีจำนวนน้อย
คนฉลาด หลอกลวงคนซื่อ
คนมียศศักดิ์ ดูหมิ่นคนชั้นผู้น้อย
….นี้คืออันตรายของโลก

แล้ว ม่อจื๊อ ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างสิ่งที่เขาเรียกว่า “ความรักที่แบ่งชั้นวรรณะ” กับ “ความรักสากล” ภายใต้ความรักที่แบ่งชั้นวรรณนะนั้น

…..บุตรจะรักตนเอง ไม่ใช่รักบิดา
ดังนั้นบุตรจะทำอันตรายบิดาเพื่อผลประโยชน์ของตน ผู้น้อยจะรักตนเอง ไม่ใช่รักผู้ใหญ่
และจะทำอันตรายผู้ใหญ่ เพื่อผลประโยชน์ของตน
เสนาบดี จะรักตนเอง ไม่ใช่รักพระเจ้าแผ่นดิน
และจะทำอันตรายพระเจ้าแผ่นดิน เพื่อผลประโยชน์ของตน
….ด้วยเหตุนี้ บิดาจึงไม่มีความรักฉันท์บิดาต่อบุตร
ผู้ใหญ่จึงไม่มีความรักฉันท์พี่น้องต่อผู้น้อย
พระเจ้าแผ่นดินจึงไม่มีความรักกรุณาต่อเสนาบดี
…..ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากหลักการแห่งความรักที่แบ่งชั้นวรรณะ
แต่ภายใต้หลักการของความรักสากลที่เท่าเทียมกันนั้น
…..บุคคลจะรักแคว้นอื่น เหมือนแคว้นของตน
บุคคลจะรักครอบครัวคนอื่น เหมือนครอบครัวของตน
บุคคลจะรักบุคคลอื่น เหมือนตัวของตน

เพราะฉะนั้น ถ้าหากพระเจ้าแผ่นดินของแคว้นทั้งหลายมีความรักต่อกันแล้ว การสงครามก็ไม่มี และถ้าเสนาบดีมีความรักต่อกันและกันแล้ว การต่อสู้เพื่อช่วงชิงอำนาจก็ไม่มี
ถ้าบุคคลทั้งหลายมีความรักต่อกันและกันแล้ว การลักขโมยก็ไม่มี…ผลก็คือ อันตรายทั้งหลายก็จะปลาสนาการไปจากโลก เพราะว่ามนุษย์ทั้งปวง ต่างมีความรักต่อกันและกัน

แล้วม่อจื๊อ ก็สรุปว่า หลักแห่งความรักสากลที่เท่าเทียมกันนั้น ควรจะเป็นมาตรฐานของการประพฤติปฏิบัติของมนุษย์ทั่วทั้งโลก ถ้าหากมนุษย์ทุกคนในโลก ประพฤติปฏิบัติตามหลักมาตรฐานของความรักสากลที่เท่าเทียมกันแล้ว

…..หูที่คอยเงี่ยฟัง ดวงตาที่คอยจ้องดูนั้น จะเกื้อกูลอนุเคราะห์กันและกัน แขนขาก็จะเสริมกำลังกันและกันเพื่อทำงานร่วมกัน และบุคคลผู้มีความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมที่ถูกต้องก็จะไม่รู้สึกเบื่อหน่ายที่จะเผยแพร่หลักธรรมคำสอนนั้นให้แก่บุคคลอื่น เช่นนี้แล้ว คนสูงอายุและหญิงหม้าย ก็จะได้รับการดูแลเลี้ยงดูตลอดไปจนสิ้นอายุขัยของตน และเด็กกำพร้าที่อ่อนแอและยากจนก็จะได้รับการอุปถัมภ์ให้มีชีวิตเจริญเติบโตขึ้นได้

กลาวอย่างสั้นๆ แล้ว นี้คือสังคมของมนุษย์ในอุดมคติของม่อจื๊อ ที่สร้างขึ้นด้วยการปฏิบัติตามหลักแห่งความรักสากลอันเท่าเทียมกันแต่อย่างเดียวเท่านั้น

ส่วนหลักแห่งการไม่รุกรานเบียดเบียนผู้อื่นนั้น เกิดสืบเนื่องขึ้นมาจากหลักการของความรักสากลอันเท่าเทียมกัน ตามทรรศนะของม่อจื๊อนั้น ท่านเห็นว่า หลักการแห่งความรักอันเท่าเทียมกันกับหลักการแห่งการไม่รุกรานเบียดเบียนผู้อื่นนั้น มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด บุคคลที่มีความรักในบุคคลอื่นนั้นจะต้องส่งเสริมสนับสนุนการไม่รุกรานเบียดเบียนบุคคลอื่นๆ และโดยกลับกันบุคคลที่ยึดมั่นในหลักการไม่รุกรานเบียดเบียนบุคคลอื่นนั้น ก็จะต้องมีความรักในบุคคลอื่นเป็นธรรมดา ม่อจื๊อได้อุทิศเนื้อที่ของหนังสือของเขาถึงสามบทเพื่ออธิบายและชี้แจงถึงหลักการแห่งการไม่รุกรานเบียดเบียนบุคคลอื่น ในบทแรกของบททั้งสามนั้น ม่อจื๊อได้ยกตัวอย่างมาประกอบการอธิบายดังนี้

สมมติว่ามีชายผู้หนึ่งขโมยผลลูกท้อ และผลลูกเกดไปจากสวนของคนอื่น ชายผู้นั้นจะต้องถูกประชาชนตำหนิ และถูกเจ้าหน้าที่ของบ้านเมืองลงโทษ ทั้งนี้เป็นเพราะว่าชายผู้นี้ประทุษร้ายต่อคนอื่นเพื่อผลประโยชน์ของตนต่อไป สมมติว่า มีชายอีกคนหนึ่งไปขโมยไก่ และหมูของบุคคลอื่น ชายผู้นี้ก็ยิ่งจะเลวยิ่งไปกว่าชายคนที่ขโมยผลลูกท้อและผลลูกเกด เพราะว่าการขโมยไก่และหมูของเขานั้นร้ายแรงกว่า การที่เขาเลวทรามกว่าคนขโมยผลไม้ ทำให้การประทุษร้ายของเขามีโทษหนักกว่า ทีนี้สมมติว่ามีชายอีกคนหนึ่งบุกรุกเข้าไปขโมยม้าและวัวของคนอื่น ชายผู้นี้ยิ่งมีศีลธรรมเลวทรามยิ่งกว่าชายคนที่ขโมยไก่และหมู….และสมมติต่อไปอีกว่า มีชายอีกคนหนึ่งไปฆ่าบุคคลที่บริสุทธิ์คนหนึ่ง ฉีกเสื้อผ้าของเขาแล้วคว้าเอาดาบไปด้วย ชายผู้นี้ยิ่งจะมีศีลธรรมเลวทรามยิ่งไปกว่าชายคนที่ขโมยม้าและวัว….เหตุการณ์ทั้งหมดนี้สำหรับบุคคลผู้มีคุณธรรมยิ่งแล้ว เห็นว่ามีความร้ายแรงเท่ากัน เพราะเป็นการฝ่าฝืนศีลธรรมอันดีทั้งหมด ทีนี้เจ้าผู้ครองแคว้นต่างๆ ยกกองทัพไปโจมตีแคว้นอื่น แต่กลับไม่มีผู้ใดตำหนิท่าน ซ้ำร้ายยิ่งไปกว่านั้น กลับไปสรรเสริญยกย่องท่านว่าท่านได้กระทำการอันถูกต้องตามทำนองคลองธรรมเสียอีก ถ้าเช่นนั้นแล้ว เราจะกล่าวได้อย่างไรว่า ความชอบธรรมกับความไม่ชอบธรรมนั้นมีลักษณะแตกต่างกันเล่า?….เช่นนี้ก็เหมือนกับกรณีที่ว่าชายคนหนึ่งไม่เคยเห็นสีดำเลย แต่เรียกสีที่เขาเห็นว่าเป็นสีดำ แต่ต่อมาเขาเห็นสีดำจริงๆ เข้า ซึ่งแตกต่างจากสีที่เขาเรียกว่าเป็นสีดำ เขาจึงเรียกมันว่าเป็นสีขาว หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง สมมติว่ามีชายคนหนึ่งไม่เคยลิ้มรสขมเลย แต่เขาก็รู้ว่ารสขมเป็นอย่างไร แต่ถ้าเขาคุ้นเคยกับการชิมรสขมบ่อยๆ เขาอาจจะเรียกรสขมนั้นว่ารสหวานก็ได้ โดยเหตุผลทำนองเดียวกันนี้ เราจึงตำหนิการทำผิดเล็กๆ น้อยๆ ของบุคคล แต่กลับไปสรรเสริญแคว้นที่ทำสงครามรุกรานแคว้นอื่นว่าเป็นการปฏิบัติตามทำนองคลองธรรม อย่างนี้เราจะกล่าวได้อย่างไรว่า ความชอบธรรมกับความไม่ชอบธรรมนั้น แตกต่างกัน? แต่บุคคลผู้มีคุณธรรมยิ่งแล้ว จะต้องเข้าใจได้ว่า ความชอบธรรมกับความไม่ชอบธรรมนั้นแตกต่างกันอย่างไร

ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว บุคคลผู้ปรารถนาจะเลิกสงครามนั้น มิใช่มีแต่ม่อจื๊อคนเดียว ในยุคสมัยที่เต็มไปด้วยการแก่งแย่งชิงดีกันและกัน ทั้งภายในแคว้นของตนและระหว่างแคว้นต่างๆ นั้น มีบุคคลจำนวนไม่น้อยที่หันมาสนใจในปัญหาเรื่องนี้ ยกตัวอย่างในปี 551 ก่อน ค.ศ. ได้มีการประชุมปรึกษาหารือกันเพื่อจะตำหนิการทำสงครามระหว่างแคว้นต่างๆ ขึ้น ซึ่งต่อมาได้มีข้อเสนอให้จัดแบ่งอาณาจักรจีนทั้งหมดออกเป็นเขตอิทธิพลสองเขต เขตตะวันออกเป็นเขตที่อยู่ในอำนาจของแคว้นฉี๋ (Ch’i) เขตตะวันตกเป็นเขตที่อยู่ในอำนาจของแคว้นฉิ๋น (Ch’in) แต่เรื่องการแบ่งเขตนี้เป็นเรื่องของทางการเมืองเป็นส่วนใหญ่ ฉะนั้นจึงเหลือตกมาเป็นหน้าที่ของม่อจื๊อ ที่จะต้องดำเนินการขั้นที่แน่นอนและเกิดผลต่อไปให้ได้  ม่อจื๊อได้กระทำไม่แต่เพียงสั่งสอนและเผยแพร่ทฤษฎีของตนเท่านั้น แต่ม่อจื๊อและสานุศิษย์ของตนยังได้เตรียมตัวเพื่อจะป้องกันพิทักษ์บุคคลที่ได้รับเคราะห์กรรมจากากรสงครามด้วย มีเรื่องเล่าว่า ม่อจื๊อเมื่อได้ทราบว่าแคว้นฉู๋ซึ่งเป็นแคว้นใหญ่มีกำลังกองทัพใหญ่โต เตรียมจะเข้าบุกรุกแคว้นซุง (Sung) นั้น ม่อจื๊อต้องเดินทางเป็นเวลาถึงสิบวันสิบคืนไปยังแคว้นฉู๋ (Ch’u) เพื่อชักจูงให้เจ้าผู้ครองแคว้นฉู๋ ระงับความประสงค์ที่จะทำสงคราม ขณะเดียวกันม่อจื๊อได้มอบหมายให้สานุศิษย์ผู้ที่ชำนาญการรบ มีจำนวนประมาณสามร้อยคน พร้อมด้วยอาวุธป้องกันที่เขาได้คิดประดิษฐ์ขึ้นไว้ให้ประจำอยู่บนกำแพงเมืองของแคว้นซุง เพื่อรอป้องกันการโจมตีของกองทหารของแคว้นฉู๋ด้วย

ที่มา:สกล  นิลวรรณ

ภูมิหลังและบ่อเกิดของปรัชญาม่อจื๊อ

คำสอนของม่อจื๊อ มีความเกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งกับเหตุการณ์ทางการเมือง ทางสังคม และทางจริยธรรมของยุคสมัยนั้นเป็นอย่างมาก ม่อจื๊อนั้นมีชีวิตอยู่ในกองเลือดและความปั่นป่วนวุ่นวายของยุคสมัยแห่งการสงครามระหว่างแคว้นต่างๆ พระเจ้าแผ่นดินในพระราชวงศ์โจว ซึ่งเป็นพระเจ้าจักรพรรดินั้น ยังทรงเป็นประมุขแต่ในนามอยู่ แต่พระราชอำนาจอันแท้จริงนั้นแผ่คลุมไปเพียงในอาณาเขตส่วนน้อยของอาณาจักรทั้งหมดเท่านั้น แคว้นแต่ละแคว้นต่างมีเจ้าผู้ครองแคว้นของตน หรือกษัตริย์ของตนผู้สลัดความอยู่ใต้พระราชอำนาจของพระจักรพรรดิทิ้งไป และต่างก็แสวงหาหนทางที่จะสนองความทะเยอทะยานของตน เมื่ออำนาจจากพระจักรพรรดิ ในส่วนกลางเสื่อมโทรมลง ประกอบกับการเสื่อมสลายลงของศักดินา ฉะนั้น สภาพของบ้านเมืองทั่วไปจึงอยู่ในภาวะที่ไร้กฎหมาย ไม่มีหลักจริยธรรม ไม่มีความสุขสงบในสังคมแต่อย่างใด ในขณะที่แคว้นใหญ่ๆ ต่างต่อสู้แก่งแย่งกันเพื่ออำนาจราชศักดิ์นั้นๆ แคว้นเล็กๆ ต่างก็ต่อสู้กันเพื่อความปลอดภัยและความอยู่รอดของตน เพื่อเป็นการป้องกันผู้ที่มีกำลังน้อยให้พ้นจากการข่มเหงของผู้มีกำลังมากนั้นเอง ที่ม่อจื๊อและสานุศิษย์ของเขา ได้คิดค้นวิธีการต่อสู้การสงครามแบบป้องกันตัวและวิธีการต่างๆ เพื่อสร้างอุปกรณ์ต่างๆ ขึ้นมาป้องกันกำแพงบ้านเมืองของตนและเพื่อเป็นการแก้ไขภาวะการณ์อันระส่ำระสายของสังคม ม่อจื๊อจึงประกาศคำสอนเรื่องการมีความเมตตากรุณาต่อมนุษยชาติทั้งหมด และการไม่รุกรานเบียดเบียนบุคคลอื่นขึ้น แผนการของม่อจื๊อนั้น อาจถือเอาได้ว่าเป็นแผนการที่สบอารมณ์ของประชาชนผู้เบื่อหน่ายในสงคราม ผู้ไม่ต้องการความหรูหราของสังคมเช่นพิธีการและดนตรี เหมือนกับความต้องการในอาหารเครื่องนุ่งห่ม และความสุขสงบของบ้านเมือง วิธีการที่ธรรมดาสามัญและเหมาะสมกับภาวการณ์เช่นนี้ แหละคือ สาระสำคัญของปรัชญาทางการเมืองและสังคมของม่อจื๊อ ฉะนั้นจึงเป็นหัวใจที่แสดงความแตกต่างขัดแย้งกันกับปรัชญาขงจื๊อด้วย

การที่จะเข้าใจวิธีการและเหตุผลของทรรศนะทางปรัชญาที่แตกต่างกันของปรัชญาม่อจื๊อ และปรัชญาเล่าจื๊อนั้น จำเป็นจะต้องมีความเข้าใจภูมิหลังของชนชั้นต่ำในสังคมของม่อจื๊อด้วยในระบบศักดินาภายใต้การปกครองของราชวงศ์โจวนั้น คนชั้นสูงกับสามัญชนมีความเป็นอยู่ที่แตกต่างกันเป็นอย่างมาก พวกคนชั้นสูงซึ่งรวมทั้งพวกเจ้านายและพวกซี (Shih) หรือพวกผู้มีการศึกษาดีนั้น เป็นผู้มีฐานะอยู่เหนือสามัญชน และพวกสามัญชนต้องเป็นผู้อุปถัมภ์ เลี้ยงดูพวกคนชั้นสูงได้แก่พวกผู้มีความรู้พวกนักการปกครอง พวกนักการทูต ส่วนสามัญชนนั้นได้แก่ พวกที่เป็นชาวนา เกิดมาจากท้องนา และทำงานอยู่ในท้องนา โดยไม่มีความหวังที่จะก้าวหน้าแต่อย่างใดในชีวิตเลย ในบทนิพนธ์เรื่อง เม่งจื๊อ นั้น ได้กล่าวถึงสภาพของสังคมของสมัยนั้นไว้ชัดเจนดังนี้

…..มีคำกล่าวไว้ว่า “คนบางคนทำงานด้วยสมอง คนบางคนทำงานด้วยแรงกาย คนที่ทำงานด้วยสมองเป็นนักการปกครอง ส่วนคนที่ทำงานด้วยแรงกายเป็นผู้ที่ถูกปกครอง ผู้ถูกปกครองเป็นผู้ที่อุปถัมภ์ค้ำจุนผู้เป็นนักการปกครอง” นี้เป็นหลักการที่ยอมรับกันโดยทั่วไป

ในฐานะที่ตนเองเป็นสมาชิกของชนชั้นที่ถูกกดขี่ ซึ่งมีมันสมองอันเฉียบแหลมและจิตใจอันมั่นคงแน่วแน่ ม่อจื๊อจึงขึ้นเสียงลุกขึ้นต่อต้านเรื่องการแบ่งแยกชนชั้น โดยประกาศเผยแพร่หลักคำสอนเรื่องความเป็นธรรมในสังคม และสาธารณประโยชน์ของสังคม

นอกจากนี้แล้ว ม่อจื๊อ คล้ายกับเล่าจื๊อ คือต่อต้านกับพิธีการในระบบศักดินาและชีวิตอันหรูหรา อันเป็นสิ่งที่รักและยกย่องของขงจื๊อเป็นอย่างยิ่งทั้งหมด แต่ม่อจื๊อมีเหตุผลที่แตกต่างไปจากเล่าจื๊อ เล่าจื๊อวิจารณ์ขนบธรรมเนียมประเพณีของขงจื๊อว่าเป็นอันตรายต่อการแสดงออก อันอิสระของความเป็นตัวตนอันแท้จริงของมนุษย์ แต่สำหรับม่อจื๊อนักปรัชญาแห่งสามัญชนนั้น เขาเห็นว่า ความประณีตหรูหราทางสังคม เช่น พิธีการและดนตรีนั้นเป็นของฟุ่มเฟือย ไม่มีประโยชน์แก่ชีวิตในทางด้านปฏิบัติเลย ซ้ำยังเป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจของประชาชน ผู้เสียสละหยดเหงื่อและหยาดเลือดมาอุปถัมภ์ค้ำจุนพวกคนชั้นสูง ผู้มัวเมาเพลิดเพลินอยู่กับความหรูหรา และการแสวงหาความสุขสำราญทางเนื้อหนังอยู่ตลอดเวลาอีกด้วย และม่อจื๊อก็ไม่มีความพิสมัยอันใดกับ ปรัชญาเต๋าในเรื่อง “สภาพแห่งธรรมชาติ” แต่อย่างใดด้วยเหมือนกัน ม่อจื๊อเห็นว่าตามปรัชญาสภาพแห่งธรรมชาติของเล่าจื๊อนั้น สังคมจะไม่มีอะไรดีขึ้นเลย นอกจากความปั่นป่วนวุ่นวาย และความไม่สงบ ม่อจื๊อมีความเห็นว่าสถาบันต่างๆ ของสังคมนั้น ควรจะต้องอยู่บนเหตุผลที่ดีและสมบูรณ์กว่านี้

ฉะนั้น ก็เป็นที่หวังได้ว่า ทรรศนะที่มีลักษณะเป็นการปฏิรูปสังคมของม่อจื๊อนี้ ทำให้สำนักปรัชญาขงจื๊อ และสำนักปรัชญาเต๋าโกรธเคืองม่อจื๊อมาก นักปรัชญาของทั้งสองสำนักต่างกล่าวหาว่าม่อจื๊อเป็นผู้ทำลายวัฒนธรรม และสิ่งสวยงามทั้งปวงของชีวิต โดยมีแต่ความเห็นแก่ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจแต่ฝ่ายเดียว แต่ม่อจื๊อนั้นได้คาดการณ์เรื่องจะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างนี้ไว้ล่วงหน้าแล้ว และได้เตรียมหาเหตุผลที่จะป้องกันทรรศนะทางปรัชญาของตนไว้แล้ว โดยยกเอาโองการของสวรรค์มากล่าวอ้าง ถ้าจะกล่าวให้สั้นแล้ว ม่อจื๊อสรุปปรัชญาของตนลงด้วยการใช้ศาสนามาเป็นพลังจูงใจเพื่อประกาสคำสอนของตนเรื่อง สาธารณประโยชน์ของสังคมให้แพร่หลายในหมู่ประชาชน

ที่มา:สกล  นิลวรรณ

ชีวิตและงานนิพนธ์ของม่อจื๊อ

ม่อจื๊อ
“ความรักสากลอันเท่าเทียมกัน นั้นคือ
บ่อเกิดของสันติสุขของโลก
ความรักที่แบ่งชั้นวรรณะนั้น คือ
บ่อเกิดความหายนะของโลก”
บทนิพนธ์เรื่อง ม่อจื๊อ บทที่ 16

ม่อจื๊อ(Mo Tzu)
ในสมัยโบราณ ชื่อเสียงของ ม่อจื๊อ หรือ ม่อตี่ (Mo Ti) ผู้ก่อกำเนิดสำนักปรัชญาม่อจื๊อ นั้น มีความสำคัญมากพอๆ กับชื่อเสียงของขงจื๊อ คำสอนของม่อจื๊อ ก็มีอิทธิพลไม่ด้อยไปกว่าคำสอนของขงจื๊อแต่อย่างใด

สิ่งที่แตกต่างไปจากนักปรัชญาคนอื่นๆ ที่เราได้พิจารณามาแล้วนั้น ก็คือ ม่อจื๊อนั้น เป็นบุคคลที่มาจากชนชั้นที่ต่ำที่สุดของสังคม ผลงานอันสำคัญที่ม่อจื๊อสร้างขึ้นนั้นคือ ปรัชญาที่ถือคติแห่งประโยชน์ของชนส่วนใหญ่เป็นหลักสำคัญ จากหลักการอันนี้ ม่อจื๊อได้สร้างความคิดอันสมบูรณ์เกี่ยวกับสังคม รัฐ และศาสนาขึ้น เขามีความคิดขัดแย้งกับการมีพิธีการอันหรูหราของระบบศักดินา เขาเป็นผู้เผยแพร่คำสอนเรื่องความรักและเมตตาต่อบุคคลทั้งปวง ความคิดของเขาแต่ละอย่างทำให้สำนักปรัชญาขงจื๊อและปรัชญาเต๋า มีความโกรธแค้นเป็นอย่างยิ่ง

ชีวิตและงานนิพนธ์
ชีวิตของม่อจื๊อ ก็เหมือนกันกับชีวิตของบุคคลสำคัญอื่นๆ ในสมัยโบราณ คือ เต็มไปด้วยความมืดมน แม้กระทั่งชื่อของเขาก็เป็นเรื่องที่ยังไม่แน่นอน ทฤษฎีที่ยอมรับกันไปนั้น กล่าวว่า ม่อ นั้นเป็นชื่อสกุลของเขา และคำว่า ม่อ นี้ใช้หมายถึงสำนักปรัชญาหนึ่งที่มีความหมายทำนองเดียวกันกับ คำว่า “cynic-นักเสียดสีสังคม” ซึ่งเป็นสำนักปรัชญาของกรีกที่ก่อตั้งขึ้นโดยแอนติสเทนิส (Antisthenes) ความหมายเดิมของคำว่า “ม่อ” นั้นคือ “รอยสัก” ซึ่งเป็นลักษณะของการทำโทษพวกทาสอย่างหนึ่ง พวกทาสในสมัยโบราณนั้นเป็นอาชญากรหรือไม่ก็เป็นเชลยสงครามและมักจะอาศัยอยู่กันในท้องถิ่นเฉพาะของตนในเมืองใหญ่ๆ ต่อมาพวกเหล่านี้ ได้รับการฝึกฝนให้เป็นช่างฝีมือในงานหัตถกรรมบางอย่าง เพราะฉะนั้นจึงมีความเชื่อกันว่า พวกผู้นิยมในปรัชญาม่อจื๊อในสมัยโบราณนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นพวกช่างฝีมือ และ ม่อจื๊อเองก็เป็นช่างฝีมือคนหนึ่ง โดยมีรอยสักเป็นเครื่องหมายแสดง ในทำนองเดียวกันคำว่า ตี่ นั้นก็ไม่ใช่ชื่อตัวของเขา เพราะคำว่า ตี่ อาจหมายความว่า “ขนนก” ก็ได้ เพราะกล่าวกันว่า ม่อจื๊อ ผู้มีรอยสักนั้น ชอบปักขนนกตามธรรมเนียมของคนชาวชนบททั่วไป อย่างไรก็ตาม จากหลักฐานทั้งปวงที่มีอยู่ แสดงให้เห็นว่า ม่อจื๊อนั้นเป็นบุคคลที่มาจากสังคมชั้นต่ำ เรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญที่เราจะต้องระลึกถึงตลอดเวลาที่ศึกษาปรัชญาของม่อจื๊อ

เรื่องเกี่ยวกับเวลาเกิด เวลาตายของม่อจื๊อนั้น เรายังไม่มีความรู้ที่แน่นอน โดยคร่าวๆ แล้ว ม่อจื๊อ คงจะเกิดในเวลาระหว่างปี 480 กับ 465 ก่อน ค.ศ. และคงจะถึงแก่กรรมในระหว่างปี 390 กับ 375 ก่อน ค.ศ. ถึงแม้ว่าเวลาดังกล่าวจะเป็นเวลาที่คาดเอาโดยประมาณ แต่ก็พอจะทำให้เราทราบได้ว่า ม่อจื๊อนั้นมีชีวิตอยู่หลังขงจื๊อ แต่เป็นคนรุ่นเดียวกันกับหยางจื๊อ และมีอายุแก่กว่าเม่งจื๊อ

เกี่ยวกับสถานที่เกิดของม่อจื๊อนั้น มีหลักฐานที่ยืนยันเป็นที่ยอมรับกันทัวไปว่า ม่อจื๊อ เป็นผู้มีกำเนิดอยู่ในแคว้นหลูเหมือนกันกับขงจื๊อและเม่งจื๊อ เราทราบว่า ม่อจื๊อเคยรับราชการในตำแหน่งเล็กๆ ตำแหน่งในแคว้นซุง (Sung) และเขาเคยเดินทางท่องเที่ยวไปอย่างกว้างขวางถึงแคว้นฉี๋ (Ch’i) และแคว้นฉู๋ (Ch’u) อันเป็นแคว้นที่เขาถึงแก่มรณกรรมลง

เรื่องราวของชีวิตในวัยเยาว์ของม่อจื๊อ มีผู้รู้กันน้อยมาก เราทราบก็แต่ว่า เขาเคยศึกษาอยู่กับครูในลัทธิขงจื๊อ ชื่อ ซี จุย (Shih Chiu) ฉะนั้นเราอาจสันนิษฐานได้ว่า ม่อจื๊อนั้น มีความรู้ในปรัชญาขงจื๊อ และมีความคุ้นเคยกับผู้ที่นิยมเชื่อถือในปรัชญาขงจื๊อผู้มีชีวิตอยู่ในรุ่นเดียวกันกับเขา ถ้าเราสันนิษฐานเอาเช่นนี้แล้ว เรื่องดูเหมือนจะเป็นว่าต่อมา ม่อจื๊อ เกิดความเบื่อหน่ายในปรัชญาขงจื๊อ จนถึงขนาดที่ว่าเขาแยกตัวออกมาตั้งสำนักปรัชญาของเขาขึ้นเอง ในบทนิพนธ์เรื่อง ไฮว่ หนัน จื๊อ (Huai Nan Tzu) ซึ่งเป็นงานนิพนธ์ที่เขียนขึ้นในศตวรรษที่สองก่อน ค.ศ. นั้น เราอ่านพบข้อความว่า

ม่อจื๊อได้ศึกษาอยู่กับผู้นับถือปรัชญาขงจื๊อ และได้ศึกษาคำสอนของขงจื๊อจากบุคคลเหล่านั้น แต่ต่อมาเขาพบว่าพิธีการทั้งหลายแบบศักดินานั้น เป็นเรื่องที่น่ารำคาญและพิถีพิถันเกินความจำเป็น พิธีฝังศพ เป็นพิธีที่ฟุ่มเฟือย เป็นการทำลายเศรษฐกิจของประชาชน ระยะเวลาของการไว้ทุกข์ก็นานเกินไป ทำให้สูญเสียสวัสดิการของประชาชน เพราะฉะนั้น ม่อจื๊อ จึงเลิกทิ้งธรรมเนียมของราชวงศ์โจว แล้วหันมารับเอาธรรมเนียมของราชวงศ์เซี่ย

ถึงแม้ว่าคำสอนของขงจื๊อและของม่อจื๊อ จะแตกต่างกันอย่างมากมาย แต่นักปรัชญาทั้งสองท่านต่างก็ได้แรงบันดาลใจมาจากกษัตริย์นักปราชญ์ในสมัยโบราณเหมือนกัน ขงจื๊อนั้นมีมหาอุปราชแห่งแคว้นโจวเป็นแบบอย่าง ส่วนม่อจื๊อนั้น ยกย่องนับถือพระเจ้ายู้ (Yu) ผู้สถาปนาราชวงศ์เซี่ยในสมัยปรัมปรา (ประมาณปี 2305-1766 ก่อน ค.ศ.) เป็นแบบอย่าง พระเจ้ายู้ ผู้นี้เองที่เป็นบุคคลผู้สามารถต่อสู้แก้ไขภัยจากน้ำท่วมใหญ่ของเมืองจีนได้

ความสำเร็จของพระเจ้ายู้นั้น ยิ่งใหญ่ไม่มีอะไรจะเทียบได้ พละกำลังของพระเจ้ายู้นั้นช่างมหาศาลเสียเหลือเกิน ถ้าไม่มีพระเจ้ายู้แล้ว พวกเราทั้งหมดคงกลายเป็นปลาไปเสียแล้ว

นอกจากพระเจ้ายู้จะเป็นผู้ป่วยประชาชนให้พ้นจากอุทกภัยแล้ว พระเจ้ายู้ยังมีชื่อเสียงในด้านเสียสละความสุขส่วนตนเพื่อส่วนรวม และมีความจงรักภักดีต่อหน้าที่ของตน เล่ากันว่า ขณะที่พระเจ้ายู้ทรงต่อสู้กับอุทกภัยอยู่นั้น พระองค์ทรงใช้ความคิดในเรื่องการแก้ไขอุทกภัยอยู่เป็นอย่างมากจนไม่ทรงสนใจในเรื่องข้าวปลาอาหาร และการแต่งกายแต่อย่างใดเลย พระองค์ทรงเดินเข้าเดินออกจากประตูบ้านของพระองค์ถึงสามครั้ง แต่ก็ไม่ได้ยินเสียงร้องไห้ของบุตรชายทารกน้อยของพระองค์เลย เราได้รับคำบอกเล่าว่า “พระเจ้ายู้นั้น ทรงถือเอาการกรำฝนเป็นการอาบน้ำ ถือเอาสายลมที่พัดผ่านมาเป็นหวีสยายผม ถือเอาความทุกข์ทนและความยากลำบากจากการเดินทางเป็นเครื่องนวดเนื้อตัวให้นุ่ม”

น้ำใจและความรู้สึกนึกคิดของพระเจ้ายู้ มีลักษณะตรงกันกับน้ำใจและความรู้สึกนึกคิดของม่อจื๊อ ผู้มาจากชนชั้นต่ำของสังคม เขาจึงสอนและเผยแผ่ปรัชญาแห่งชีวิตที่มีลักษณะแบบสมถะเข้มงวด อันเป็นลักษณะของชนชั้นต่ำผู้ขัดสน ที่จริงแล้วม่อจื๊อไม่ได้ทำ เพียงสั่งสอนและเผยแพร่ความคิดเห็นของตนแต่อย่างเดียว แต่เขาดำรงชีวิตของตนด้วยความมีวินัยอันเข้มงวด และการทรมานตนเอง เขาและสานุศิษย์ของเขาพร้อมที่จะเผชิญความทุกข์ยากลำบากทุกชนิดเพื่อประโยชน์และความสุขของเพื่อนมนุษย์ เพราะน้ำใจและความรู้สึกอันเสียสละต่อส่วนรวม อันนี้เองที่ทำให้ม่อจื๊อ มีชื่อเสียงเลื่องลือถ่ายทอดมาถึงคนรุ่นหลัง ทำนองเดียวกันกับพระเจ้ายู้ ว่าเป็นบุคคลที่ยินดีทนทุกข์ยากลำบากเพื่อมนุษย์ชาติ ถึงแม้กายของตนจะต้องทนทุกข์ลำบากอย่างใดก็ยอม

ม่อจื๊อ มีลักษณะอย่างหนึ่งที่คล้ายกันกับขงจื๊อ คือสนใจในเรื่องการสร้างสังคมแบบอุดมคติ เขาใช้ชีวิตของตนส่วนใหญ่ไปในการเดินทางท่องเที่ยวไป เพื่อเผยแพร่ความคิดทางปรัชญาของเขาเรื่อง การมีเมตตาจิตต่อมนุษย์ทั้งปวง และการไม่รุกรานเบียดเบียนผู้ใด และม่อจื๊อ ถึงแม้จะไม่ใช่บุคคลคนเดียวที่มองเห็นภัยอันตรายจากสงคราม แต่เขาเป็นบุคคลคนเดียวที่ดำเนินการอันแน่นอนเพื่อแก้ไขอันตรายของสงคราม ม่อจื๊อตำหนิการสงครามที่เป็นฝ่ายรุกรานและอันตรายของสงครามจากฝ่ายรุกรานนั้น จะต้องแก้ด้วยวิธีการป้องกันที่มีประสิทธิภาพอย่างสูง เพราะฉะนั้น นอกจากม่อจื๊อจะเป็นนักอุดมคติ เผยแพร่สนับสนุนความคิดเรื่องการมีความปรารถนาอันดีงามต่อคนอื่น และมีการต่อต้านสงครามโดยไม่ใช้อาวุธแล้ว เขายังฝากความหวังไว้กับวิธีการ และการจัดกำลังป้องกันต่อสู้ชนิดพิเศษขึ้น เนื่องจากพวกผู้นิยมปรัชญาม่อจื๊อนั้นส่วนใหญ่เป็นพวกช่างฝีมือ เพราะฉะนั้นจึงเป็นผู้มีทั้งความรู้ในทางการช่างเป็นอย่างดี และมีความชำนาญในการรบทางทหารเป็นอย่างดีด้วย ยกตัวอย่างเช่น ม่อจื๊อเองได้คิดค้นวิธีการป้องกันเมืองจากการโจมตีของข้าศึกที่ใช้บันไดมาพาดกำแพงเมืองเข้ามา ซึ่งเป็นวิธีการตีเอาเมืองที่ ค๋ว-ซู-ปัน (Kung shu Pan) วิศวกรและสถาปนิก คนแรกของจีน เป็นผู้คิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ลักษณะที่สำคัญที่สุดของคำสอนของม่อจื๊อนั้น อยู่ที่การที่ม่อจื๊อย้ำความสำคัญของหลักแห่งสาธารณะประโยชน์ และหลักศาสนาเรื่องการมีความเมตตากรุณาแก่มนุษย์ชนทั้งปวง ในการปฏิบัติงานประจำวันนั้น ม่อจื๊อปฏิบัติงานด้วยความเข้มแข้งคล้ายกับว่าตนได้รับมอบหมายงานมาเป็นพิเศษจาก วิญญาณสวรรค์ ฉะนั้นเขาจึงสามารถสถาปนาสำนักปรัชญาม่อจื๊อของเขาขึ้นมาได้ และดำรงตนเป็นหัวหน้าสำนักมาตลอดเวลาจนถึงแก่กรรมลง มีบุคคลจำนวนไม่ต่ำกว่าสามร้อยคนที่มาสมัครอยู่ในสำนักปรัชญาของม่อจื๊อ ในจำนวนนี้มีอยู่หนึ่งร้อยแปดสิบคนที่สามารถเรียกได้ว่าเป็น สานุศิษย์ผู้ภักดีของม่อจื๊อ ซึ่ง ม่อจื๊อ สามารถสั่งให้เข้าไปในกองเพลิง หรือเดินย่ำไปบนคมดาบได้ และแม้กระทั่งความตายก็ไม่สามารถทำให้สานุศิษย์พวกนี้กลับหันหลังหนีได้เลย” ปรัชญาของม่อจื๊อมีลักษณะคล้ายกับสำนักศาสนา มีการจัดเป็นระเบียบวินัยอันเคร่งครัด หลักจริยธรรมอันสำคัญของสำนักปรัชญาม่อจื๊อ คือ สมาชิกทั้งหมดควรจะ “สุขเท่ากันและทุกข์เท่ากัน” ม่อจื๊อถือว่า คติอันนี้ของสำนักของเขาเป็นพื้นฐานทางปรัชญาอันสำคัญแล้วต่อมาได้ขยายปรับปรุงขึ้นเป็นคำสอนว่า “ทุกคนในโลกควรจะต้องเผื่อแผ่ความรักไปให้แก่บุคคลอื่นโดยเท่าเทียมกัน โดยไม่มีการแบ่งแยก”

น้ำใจ ความรู้สึกนึกคิด และระเบียบวินัยดังกล่าวนี้ ถึงแม้ม่อจื๊อจะล่วงลับไปแล้ว พวกสานุศิษย์ของเขาก็ยังยึดถือปฏิบัติอยู่โดยมีอาจารย์หัวหน้าสำนักเป็นผู้ควบคุมดูแลและเป็นผู้นำซึ่งเป็นบุคคลที่พวกสานุศิษย์ได้คัดเลือกจากผู้ที่มีศรัทธาอันมั่นคงต่อปรัชญาม่อจื๊อขึ้นเป็น ในลักษณะนี้สำนักปรัชญาม่อจื๊อ จึงเจริญรุ่งเรืองตลอดมาในยุคสมัยของการสงครามระหว่างแคว้นต่างๆ (480-222 ก่อน ค.ศ.) และมาเริ่มเสื่อมโทรมลงเมื่อถึงสมัยศตวรรษที่ 1 ก่อน ค.ศ. อย่างไรก็ดี สำนักปรัชญาม่อจื๊อนั้น ได้แบ่งแยกออกเป็นสามสาขา ในบทนิพนธ์เรื่อง จวงจื๊อ เราอ่านพบข้อความว่า

ในบรรดาสานุศิษย์ของ เสี่ยง ลี่ ฉิ๋น (Siang Li Ch’in) สานุศิษย์ของ หวู ฮั่ว (Wu Hou) และสานุศิษย์ของลัทธิม่อจื๊อฝ่ายใต้นั้นมี ขู เห่า (K’u Hao) จี๋ ฉี๊ (Chi Ch’ih) และเติ้งหลิง (Teng Ling) อยู่ด้วย บุคคลเหล่านี้ต่างศึกษาปรัชญาม่อจื๊อทั้งนั้น แต่มีความเห็นที่แตกต่างทรรศนะกันออกไป บุคคลเหล่านี้แต่ละคนอ้างว่า คำสอนของตนเป็นปรัชญาอันแท้จริงของม่อจื๊อและกลาวหาคำสอนของบุคคลอื่นว่าเป็นทรรศนะนอกรีต….แต่ละคนถือว่าอาจารย์หัวหน้าสำนักของตนเป็นปราชญ์ และอ้างว่าคำสอนของอาจารย์ของตนนั้นเป็นคำสอนที่ได้รับมาจากม่อจื๊อ….จึงเป็นการยากที่จะชี้ลงไปให้แน่ชัดได้ว่าบุคคลใดจะเป็นผู้ได้รับการถ่ายทอดคำสอนอันแท้จริงของม่อจื๊อมา

ความคิดทางปรัชญาของม่อจื๊อนั้น มีปรากฏอยู่ในหนังสือบทนิพนธ์ที่มีชื่อตามชื่อของเขาว่าม่อจื๊อ เนื้อหาส่วนใหญ่ของหนังสือเล่มนี้สันนิษฐานว่าเป็นข้อความที่เขียนขึ้นโดยสานุศิษย์และผู้นับถือในปรัชญาม่อจื๊อ หนังสือเล่มนี้แต่เดิมนั้นมีอยู่เจ็ดสิบสองบท แต่ฉบับที่มีอยู่ในปัจจุบันมีอยู่เพียงห้าสิบสามบท ในบรรดาบทเหล่านี้ บางบทที่แต่งขึ้นเทียมอย่างไม่ต้องสงสัย แบบลีลาของการเขียนของบทนิพนธ์เรื่องนี้มีลักษณะสั้น ข้อความเรียบง่ายและเป็นสำนวนแบบสนทนา และส่วนใหญ่เป็นข้อความที่อ่านเข้าใจยาก แต่ความเข้าใจยากนี้เป็นเจตนาของผู้เขียน ในบทนิพนธ์เรื่อง ฮั่น เฟย จื๊อ (Han Fei Tzu) นั้น เราอ่านพบข้อความว่า

เจ้าผู้ครองแคว้นฉู๋ กล่าวกับ เตี้ยน จุ้ย (Tien Chiu) สานุศิษย์คนหนึ่งของม่อจื๊อว่า “ปรัชญาของม่อตี่นั้นเป็นวิทยาการชั้นสูงยิ่ง…แต่ไฉนข้อความสำนวนส่วนมาก จึงอ่านเข้าใจยากเหลือเกิน?” เมื่อได้ยินคำถามเช่นนั้น เตี้ยน จุ้ย จึงกล่าวตอบว่า “….ท่านอาจารย์ม่อจื๊อ จะอธิบายและขยายปรัชญาข้อนี้ในการปภิปรายสนทนา หาไม่แล้วผู้ผ่านก็จะหลงชื่นชมยินดีอยู่กับลีลาของการเขียน แล้วละเลยที่จะนำเอาหลักปรัชญาของท่านไปปฏิบัติอย่างแท้จริง”

ที่มา:สกล  นิลวรรณ

ทรรศนะทางสังคมของหยางจื๊อ

ทรรศนะทางสังคมและการเมือง-เอกัตถบุคคลนิยม(Individualism)

ผลของทรรศนะทางปรัชญาที่ว่า มนุษย์ควรจะดำรงชีวิตตามชะตากรรมของตน อดทนและแสวงหาความสุขให้ได้มากที่สุดจากชะตากรรมของตน โดยไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวในเรื่องกิจการของบุคคลอื่นนั้น ทำให้
หยางจื๊อมีความเห็นต่อไปว่า ไม่ควรจะมีหลักแห่งจริยธรรมและกฎเกณฑ์ทางสังคมอันใดที่เป็นเครื่องพันธนาการมนุษย์ ที่ขัดกับความปรารถนาของมนุษย์ เพราะว่าความเกษมสำราญเป็นวัตถุประสงค์ประการเดียวของชีวิต การที่จะกำหนดหลักจริยธรรมและกฎเกณฑ์ทางสังคมบังคับมนุษย์จากภายนอกนั้น เป็นสิ่งที่ทำลายล้างวัตถุประสงค์อันสำคัญของชีวิตของมนุษย์หมด ไม่มีอะไรในชีวิตของมนุษย์ที่เลวทราม ไม่มีอะไรในชีวิตของมนุษย์ที่ชั่วช้าสามานย์ ตราบใดที่สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นสามารถสนองความกระหายในความเกษมสำราญของมนุษย์ได้  กฎหมายและหลักเกณฑ์เป็น “อุปสรรคที่ขวางกั้นความเกษมสำราญ” เพราะฉะนั้นจึงเป็น “บ่อเกิดของความรำคาญใจที่เจ็บปวดอย่างยิ่งที่สุด”

มนุษย์ถูกเตือน ถูกกระตุ้น โดยการลงโทษและการให้รางวัล ถูกฉุดรั้งให้ชาลงด้วยเกียรติยศ ชื่อเสียง และกฎหายทำให้เป็นบุคคลที่มีแต่ความกระวนกระวายใจอยู่ตลอดเวลา…การที่มนุษย์ต้องมาใคร่ครวญถึงสิ่งที่ตนควรจะฟัง ควรจะมองดู ควรจะกระทำ และควรจะคิดนั้นทำให้มนุษย์ต้องสูญเสียความเกษมสำราญที่ควรจะได้รับ และไม่สามารถปล่อยตัวให้สนองความอยากทางเนื้อหนังของตนได้เช่นนั้นแล้วมนุษย์จะแตกต่างไปจากอาชญากรที่ถูกล่ามโซ่ไว้ที่ตรงไหน?

อุดมคติของหยางจื๊อในเรื่องบุคคลผู้มีสติปัญญานั้น ไม่ใช่บุคคลผู้เป็นปราชญ์ แต่เป็นบุคคลที่อยู่ในวิถีแห่งโลกียสุข มุ่งหน้าเพื่อแสวงหาความเกษมสำราญแต่ประการเดียวไม่มีกฎเกณฑ์ อำนาจ หรือประเพณีอันใดมาขัดขวางยับยั้งแต่อย่างใด เพราะฉะนั้นสังคมจึงเป็นสิ่งที่ขัดขวางหนทางแห่งปัญญา ความคิดของหยางจื๊อเรื่องการกลับคืนสู่สภาพแห่งชีวิตที่เรียบง่ายแบบดั้งเดิมนั้น เป็นความคิดของปรัชญาเต๋าที่บริสุทธิ์ หยางจื๊อได้ก้าวไปไกลกว่านั้นอีกก้าวหนึ่ง โดยต้องการให้สนองความอยากอันเป็นธรรมชาติของมนุษย์เพิ่มขึ้น

สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ ผลของปรัชญานิยมเอกัตภาพแห่งบุคคลอย่างรุนแรง และความเห็นแก่ประโยชน์ตนเองอย่างที่สุดนั้นเป็นสิ่งทำลายบ้านเมือง ทำลายสถาบัน ทำลายอำนาจ ทำลายขนบธรรมเนียมประเพณีทั้งหลายที่เคยมีมาแต่เดิมจนหมด นี้เป็นหนทางที่ง่ายที่สุดที่จะแก้ไขปัญหาอันสลับซับซ้อนของโลก แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าเราพิจารณาปัญหาทั้งหลายในด้านทรรศนะของบุคคลผู้แสวงหาอำนาจและประโยชน์และ คำสอนของหยางจื๊อในเรื่องเอกัตภาพของบุคคลนั้น ก็เป็นสิ่งที่ชวนให้มีความเห็นคล้อยตามได้ง่าย

บทวิจารณ์
ความเกษมสำราญ คือ พื้นฐานอันสำคัญทั้งหมดของปรัชญาของ
หยางจื๊อ ส่วนทรรศนะอื่นๆ นั้น เป็นแต่เพียงความพยายามที่จะแปลความหมายของความเกษมสำราญออกไปเท่านั้นเอง จากการสร้างปรัชญาแห่งความเกษมสำราญของหยางจื๊อนี้อง ต่อมาได้กลายเป็นจุดบกพร่องของปรัชญาของหยางจื๊อ

ในประการแรก หยางจื๊อ มีความเห็นว่าความเกษมสำราญนั้น ต้องเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัด เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อสนองความต้องการของตน ปัญหายุ่งยากอันสำคัญก็คือ เมื่อเกิดความต้องการขึ้นหลายอย่างนั้น ความขัดแย้งกันของความต้องการหลายๆ อย่างนั้นก็เกิดขึ้นด้วยดูเหมือนว่า หยางจื๊อจะจำแนกความเกษมสำราญในปัจจุบัน กับความเกษมสำราญในระยะไกล และความเกษมสำราญทางกาย กับความเกษมสำราญทางจิตใจ ถึงแม้กระนั้นปัญหาที่ยุ่งยากก็ยังมีอยู่ ตามทรรศนะของหยางจื๊อนั้น ถึงแม้ว่าเราจะเลือกเอาความเกษมสำราญในปัจจุบันมากกว่า ความเกษมสำราญในระยะไกล และความเกษมสำราญทางกายมากกว่าความเกษมสำราญทางจิตใจ ก็ตาม ก็ยังมีความขัดแย้งกันอยู่ในระหว่างความต้องการที่แตกต่างกัน และในระหว่างบุคคลที่มีความต้องการ หยางจื๊อดูเหมือนจะมองข้ามข้อเท็จจริงข้อนี้ไป หยางจื๊อไม่ได้พยายามแสวงหาภาวะสมดุล ระหว่างความต้องการของมนุษย์กับการสนองความต้องการของมนุษย์ หยางจื๊อมีความต้องการแต่เพียงว่าต้องสอนงความต้องการของมนุษย์ให้ได้โดยสมบูรณ์ ผลก็คือ ทรรศนะทางจริยธรรมของขงจื๊อ มาสิ้นสุดลงที่การดำรงชีวิตชนิดที่ปล่อยตัวตามความอยาก จนปราศจากความพอดี เป็นทรรศนะที่ต่อต้านกับการดำรงชีวิตแบบมัชฌิมาปฏิปทา

ประการที่สอง หยางจื๊อต้องการความเกษมสำราญในปัจจุบัน ที่สามารถจะสนองได้โดยตรงทันทีทันใด มากกว่าความเกษมสำราญที่ได้มาโดยวิธีการที่อ้อมค้อม แต่ความเกษมสำราญนั้น ไม่ว่าจะเป็นปัจจุบันขนาดไหน ก็มีจุดหมายปลายทางอยู่ในตัวของมันเอง วิธีการที่นำไปสู่จุดหมายนั้น ในบางครั้งก็เป็นวิธีการที่ต้องใช้ความตั้งใจและเหน็ดเหนื่อย บุคคลที่พยายาม เพื่อให้บรรลุจุดหมายอย่างใดอย่างหนึ่งโดยไม่ยอมเสียสละสิ่งใดเลยนั้น ก็คือการปฏิเสธตนเองไม่ให้บรรลุถึงจุดหมายที่ตนต้องการ นี้คือเหตุผลที่นักปรัชญาของนักปรัชญาเอปิคูเรียน (Epicureans) พยายามจะขยายปรับปรุงปรัชญาของนักปรัชญาพวกซีเรนาอิคส์ (Cyrenaics) โดยขยายความว่า ความมุ่งหมายประการเดียวของชีวิตนั้นคือ การไม่มีความทุกข์ การมีจิตใจอันสูงสง่า ซึ่งเป็นภาวะแห่งความเกษมสำราญอันแท้จริง หยางจื๊อไม่สนใจในความสุขของชีวิตในด้านฝ่ายลบเลยก็ไม่ เพราะเขากล่าวว่า

จงใช้ชีวิตอย่างสุขสำราญ และแสวงหาความสบายอย่างเต็มที่ เพราะว่าบุคคลผู้รู้จักใช้ชีวิตของตนอย่างสุขสำราญนั้น จะไม่มีวันยากจน บุคคลผู้ใช้ชีวิตอย่างสบายนั้นจะไม่มีความต้องการในทรัพย์สมบัติอันใดอีกเลย

ถึงแม้หยางจื๊อจะมีทรรศนะแบบนักปรัชญาเอปิคูเรียน ดังกล่าวมาแล้ว แต่หยางจื๊อก็มีความเห็นโน้มเอียงไปในปรัชญาเกษมสำราญที่เป็นฝ่ายบวกมากกว่าเป็นสิ่งที่ให้ความสุขอย่างเข้มข้น และมีพลังมากกว่าปรัชญาเกษมสำราญที่เป็นฝ่ายลบ

อุดมคติของหยางจื๊อในเรื่องของความสุข ไม่ได้ฝืนหลักของการกลับคืนไปสู่ “สวรรค์ที่สูญสิ้นไป” หรือ การยืนยันว่าจะได้รับชีวิตอันอมตะ แต่ถือหลักว่าจะแสวงหาความเกษมสำราญเอา ณ ที่นี่และในขณะนี้ ถ้าหากว่าสามารถแสวงหาความเกษมสำราญได้ดังนี้แล้ว มนุษย์ก็จะอยู่ในสภาพที่ไม่ยึดมั่นในอดีต ไม่ฝากความหวังไว้กับอนาคต แต่จะชื่นชมยินดีกับชีวิตในปัจจุบัน จนกว่ากระทั่งจะถึงวันตาย

สภาพเช่นนี้ อาจเป็นสภาพที่ดี แต่เป็นสภาพที่ไม่ค่อยจะแจ่มใส เพราะว่ามนุษย์ผู้มีอุดมคติ คือการแสวงหาความสุขสำราญนั้น มักจะมีทรรศนะของตนเจือปนด้วย ความรู้สึกที่มองโลกไปในแง่ร้ายอย่างอ่อนๆ อยู่ด้วย คำสอนของหยางจื๊อเป็นคำสอนที่ขัดแย้งกับคำสอนของขงจื๊อ ที่ย้ำความสำคัญของจริยธรรม และขัดแย้งกับคำสอนของม่อจื๊อ ที่ย้ำความสำคัญของการดำรงชีวิตอยู่อย่างแบบสมถะ ความรู้สึกที่มองโลกในแง่ร้าย ที่แฝงอยู่ในปรัชญาของหยางจื๊อนั้น ไม่สามารถจะตอบสนองความต้องการของชีวิตประจำวัน อันแท้จริงของมนุษย์ที่มีอยู่ตลอดเวลาได้เลย

ที่มา:สกล  นิลวรรณ

หยางจื๊อกับอุดมคติแห่งอัตนิยม

อุดมคติของชีวิต-อัตนิยม ทุกอย่างเพื่อตนเอง
อุดมคติแห่งอัตนิยม หรือทุกอย่างเพื่อตนเองนี้คือ สาระสำคัญของปรัชญาของหยางจื๊อ เป็นปรัชญาที่ยึดหลักของความคิดที่สำคัญสองประการ ประการแรกคือ “แต่ละคนเพื่อตนเอง” ความคิดประการที่สองคือ “รังเกียจวัตถุสิ่งของ และยกย่องคุณค่าของชีวิต” เหตุผลที่อยู่เบื้องหลังอุดมคติอันนี้ มีปรากฏอยู่ในเรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้

ฉิ๋น จื๊อ (Ch’in Tzu) ถามหยางจื๊อว่า “ถ้าท่านยอมให้ถอนขนกายของท่านมาเส้นหนึ่ง แล้วท่านจะสามารถช่วยโลกให้ปลอดภัย ท่านยินดีจะให้หรือไม่?”

หยางจื๊อ ตอบว่า “โลกไม่ใช่สิ่งที่จะช่วยให้รอดได้ด้วยขนกายเพียงหนึ่งเส้น”

ฉิ๋น จื๊อ ถาม “แต่สมมติว่ามันช่วยได้ล่ะ ท่านจะยินยอมให้ขนกายของท่านหนึ่งเส้นไหมล่ะ?”

หยางจื๊อไม่ตอบ ฉิ๋นจื๊อจึงไปถามเม่งซุนหยาง (Meng Sun Yang) เม่งซุนหยางตอบว่า “ท่านไม่เข้าใจความคิดของท่านปรมาจารย์หยางจื๊อ ข้าพเจ้าจะอธิบายให้ฟัง สมมติว่าถ้าจะลอกผิวเนื้อของท่านออกมา แล้วจะให้เงินแก่ท่านเป็นทองคำหมื่นแท่งท่านจะเอาไหมล่ะ?”

ฉิ๋น จื๊อ ตอบว่า “ข้าพเจ้ายินดีจะเอา”
“สมมติว่า ถ้าตัดขาข้างหนึ่งของท่าน แล้วจะให้อาณาจักรแก่ท่าน ท่านจะเอาไหม?”
เม่งซุนหยาง ถามต่อไป
ฉิ๋นจื๊อ นิ่งเงียบ
ครั้นแล้ว เม่งซุนหยางจึงตอบว่า “ขนกายเส้นหนึ่งไม่มีความสำคัญอันใด เมื่อเปรียบเทียบกับผิวหนัง และผิวหนังไม่มีความสำคัญอันใด เมื่อเปรียบเทียบกับแขนขา แต่อย่างไรก็ตาม แต่เมื่อเอาขนกายทั้งหมดมารวมกันเข้า มันก็จะมีความสำคัญเท่ากับผิวหนัง และผิวหนังทั้งหมดรวมกันเข้า ก็จะมีความสำคัญเท่ากับแขนขา เพราะฉะนั้นขนกายหนึ่งเส้นก็เท่ากับหนึ่งในหมื่นส่วนของร่างกายเช่นนั้นแล้ว เราจะถือว่าขนกายนั้นไม่มีความสำคัญได้อย่างไร?”

ปรัชญาอัตนิยม หรือการทำทุกสิ่งเพื่อตนเองนี้ ได้รับอิทธิพลมาจากปรัชญาเต๋าด้วยตามทรรศนะของหยางจื๊อนั้น โลกจักรวาลอันยิ่งใหญ่มีลักษณะเป็นมูลสสาร (substance) อันใหญ่ และตัวตนของมนุษย์นั้นเป็นมูลสสารอันเล็กที่เกิดจากมูลสสารอันใหญ่นั้น กายของเราเป็นรูปแบบของมูลสสารอันเล็ก รูปแบบนั้นไม่อาจจะคงอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง แต่ต้องอาศัยมูลสสารเป็นหลักมูลสสารนั้นมีสัจจภาวะของมันเอง สำหรับหยางจื๊อนั้น ถือว่าสัจจภาวะของมูลสสารมีลักษณะสมบูรณ์อยู่ในตัวของมัน คือสิ่งที่เรียกว่าอัตตา เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่ามนุษย์เรานั้นจะมีรูปแบบแตกต่างกัน แต่เนื้อแท้หรือมูลสสารของมนุษย์ทั้งหมดเป็นมูลสสารอันเดียวกัน ถ้ามนุษย์ทั้งปวงแสวงหาความเกษมสำราญต่างๆ ตามลักษณะที่แตกต่างของตนแล้ว มนุษย์ก็จะมีความพอใจ และโลกก็จะมีสันติสุขและความสมานฉันท์กลมกลืนกัน ด้วยเหตุนี้ หยางจื๊อจึงมีหลักปรัชญาว่า “แต่ละคนเพื่อตนเอง” ถ้ากล่าวเป็นหลักการฝ่ายบวกก็คือ “บุคคลแต่ละคนต้องดูแลเอาใจใส่ธุรกิจของตน” ถ้ากล่าวเป็นหลักการฝ่ายลบก็คือ “จงอย่าเข้าไปยุ่งเกี่ยวในเรื่องของคนอื่น” หลักการอันนี้ สอดคล้องกันเป็นอย่างดีกับหลักตรรกวิทยาของปรัชญาเต๋าทั้งหมด

ในบทเรื่อง หยางจื๊อ ในหนังสือเรื่อง เหลียจื๊อ นั้น ได้มีข้อความบันทึกว่า หยางจื๊อ กล่าวว่า

มนุษย์ในอดีตกาลนั้น ถึงแม้ว่าการทำลายเส้นขนเพียงหนึ่งเส้นเพื่อเป็นการทำประโยชน์ให้แก่โลก เขาก็จะไม่ยอมทำ ถึงแม้ว่าจะยกโลกทั้งหมดนี้ให้เป็นสมบัติส่วนตัวของเขา เขาก็จะไม่ยอมรับ เพราะว่าไม่มีบุคคลใดจะยอมทำลายเส้นขนแม้แต่เพียงเส้นเดียว และไม่มีบุคคลใดจะยอมทำประโยชน์อันใดเพื่อเป็นเจ้าของโลก เพราะฉะนั้นโลกจึงเป็นโลกที่มีความสงบเรียบร้อยอย่างสมบูรณ์

ทรรศนะอันนี้ ชี้ให้เห็นถึงปรัชญาอัตนิยมในอีกลักษณะหนึ่ง คือ หลักการแห่ง “การรังเกียจสิ่งของและยกย่องคุณค่าของชีวิต” เหตุผลของหลักการอันนี้มีปรากฏอยู่ในข้อความต่อไปนี้

มนุษย์ดำรงชีวิตอยู่ในโลก มีธรรมชาติประกอบด้วยธาตุทั้งห้า เป็นสัตว์ที่มีสติปัญญาเป็นเลิศในหมู่สัตว์ทั้งปวง แต่จะใช้แขนขาป้องกันตนเองก็ไม่ได้ จะใช้ผิวกายป้องกันการโจมตีก็ไม่ได้ จะวิ่งหนีอันตรายก็ไม่พ้น มนุษย์ไม่มีขน ไม่มีปีกที่จะใช้ต่อต้านความร้อนความหนาว มนุษย์ต้องอาศัยสิ่งต่างๆ เป็นอาหาร ธรรมชาติของมนุษย์มิใช่เป็นไปเพื่อใช้กำลัง แต่เพื่อใช้เหตุผลเป็นสิ่งที่มีค่า เพราะว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายในตัวมนุษย์เอง ส่วนพลังนั้น เป็นสิ่งที่ไม่มีค่า เพราะว่าเป็นสิ่งที่นำเข้ามาจากภายนอกตัว

ในทำนองเดียวกัน “เส้นขนเส้นเดียว” คือสิ่งที่ “เกิดขึ้นมาจากภายในตัวของตนเอง” เพราะฉะนั้นจึงเป็นสิ่งที่มีค่า “โลกคือสิ่งที่ “นำเข้ามาจากภายนอกตัว” เพราะฉะนั้นจึงเป็นสิ่งที่ไม่มีค่า

นอกจากนั้นแล้ว หยางจื๊อโต้แย้งว่า
มนุษย์ไม่สามารถจะดำรงชีวิตอยู่อย่างสบายได้ เพราะว่ามนุษย์ปรารถนาสิ่งสี่ประการ คือ อายุยืน ชื่อเสียง ยศศักดิ์ และโภคทรัพย์ ซึ่งเมื่อได้มาแล้ว จะทำให้มนุษย์ต้องกลัวผี กลัวคน กลัวผู้มีอำนาจ และกลัวโทษทัณฑ์ เพราะฉะนั้น มนุษย์จึงขัดกับธรรมชาติ…. และถูกครอบงำโดยสภาพการณ์ภายนอกทั้งหลาย แต่ถ้ามนุษย์ดำรงชีวิตคล้อยตามชะตากรรม มนุษย์คงจะไม่ปรารถนาสิ่งทั้งสี่นี้…มนุษย์จะเป็นบุคคลที่คล้อยตามธรรมชาติและถูกควบคุมโดยอัตตา ซึ่งอยู่ภายในตัวของตน

ทรรศนะของหยางจื๊อ ดังกล่าวนี้ เป็นผลพลอยได้ตามธรรมดาของความรู้สึกอันรุนแรงที่หยางจื๊อมีต่อโลก ในฐานะที่โลกคือ สภาพที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงและความแปรปรวน เขาให้เหตุผลว่า การที่มนุษย์มาเป็นกังวลอยู่แต่ วัฏจักรของชีวิตที่มีแต่ความแปรปรวนไม่แน่นอนนั้น ทำให้มนุษย์ไม่สามารถจะหวังอะไรได้มากจากชีวิต

ทรรศนะในอุดมคติของหยางจื๊อนั้น ถึงแม้จะต้องเผชิญกับความลึกลับอันใหญ่ยิ่งที่สุดของชีวิต คือความลึกลับแห่งความตายก็ตาม ก็ยังแสดงออกมาให้เห็นได้ชัดเจน ในข้อความต่อไปนี้

เพราะว่า ชีวิตมีอยู่ ก็จงปล่อยชีวิตให้เป็นไปตามวิถีทางแห่งธรรมชาติของมัน ฉะนั้นจงแสวงหาหนทางตอบสนองความอยาก ก่อนที่ความตายจะมาถึง เพราะว่าความตายนั้น กำลังคืบคลานใกล้เข้ามา จงปล่อยให้ความตายเป็นไปตามวิถีทางแห่งธรรมชาติของมัน ฉะนั้นจงแสวงหาความเกษมสำราญให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะแสวงหาได้….ไฉนเราจะต้องมากังวลทำไมว่าความตายจะมาถึงเมื่อไร ทำไมกัน?

ความรู้สึกนึกคิดของหยางจื๊อ ในลักษณะนี้ ทำให้เราระลึกถึง เอปิคูรัส (Epicurus) ผู้กล่าวว่า

….ความรู้อันถูกต้องของความจริงที่ว่าความตายนั้นไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องมาเป็นกังวล ทำให้เราเกิดความรู้สึกว่าความตายนั้นเป็นสิ่งที่รื่นรมย์สำหรับเรา เพราะเหตุว่าความตายไม่ได้กำหนดเวลาอันแน่นอนให้เราได้ทราบ เพราะฉะนั้นความปรารถนาที่อยากจะมีชีวิตเป็นอมตะของเราก็ไม่มี ในบรรดาความเลวร้ายที่น่าสะพรึงกลัวที่สุดของมนุษย์ อันได้แก่ความตายนั้น จะไม่มีความหมายอันใดแก่เราเลย เพราะว่าตราบใดที่เรายังมีชีวิตอยู่ ตราบนั้นความตายก็ยังไม่ปรากฏให้เราเห็นและเมื่อความตายปรากฏขึ้น เราก็ไม่มีชีวิตอยู่ที่จะได้เห็นความตายเลย

เพราะฉะนั้น มนุษย์ผู้ปราศจากความกลัวในเรื่องของความตาย จึงไม่มีความกังวลอันใด นอกจาก “แสวงหาความเกษมสำราญจากความงามทั้งหลายของชีวิตให้เต็มที่ และสุขเกษมเปรมปรีดิ์กับปัจจุบันจนถึงที่สุด” เท่านั้นเอง

ที่มา:สกล  นิลวรรณ

ชีวิตและงานนิพนธ์ของหยางจื๊อ

หยางจื๊อ
“อะไรคือสิ่งที่ทำให้ชีวิตมีค่าควรแก่การดำรงอยู่เล่า?
สิ่งเหล่านั้นก็คือ การสนองความต้องการทางเนื้อหนัง เช่น ความเกษมสำราญจากอาหารและเครื่องแต่งกาย ความชื่นชมยินดี ในดนตรีและสิ่งสวยงามต่างๆ
จาก บทนิพนธ์ เหลีย จื๊อ บทที่ว่าด้วย “หยางจื๊อ”

หยางจื๊อ (Yang Chu)
สิ่งที่ทำให้หยางจื๊อยังคงติดอยู่ในความจำของบุคคลทั่วไปอยู่ก็คือ คำสอนของเขาเรื่องความรักตัวเอง และการแสวงหาความเกษมสำราญทางกาม ถึงแม้ว่าการจะจัดความคิดทางปรัชญาของหยางจื๊อว่าอยู่ในปรัชญาสำนักใด จะกระทำได้ยากก็ตาม แต่ดูเหมือนว่าปรัชญาของเขาค่อนข้างจะใกล้ชิดไปทางปรัชญาเต๋า เพราะว่าเขามีปรัชญาว่าชีวิตนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ต้องอาศัยจริยธรรม และมีความเชื่อว่า ความตายของบุคคลนั้นเป็นเรื่องของชะตากรรมของชีวิต

ดูเหมือนว่า มรณกรรมของเล่าจื๊อ นำไปสู่การแบ่งแยกปรัชญาเต๋าออกเป็นสองสำนัก สำนักที่หนึ่งมีผู้แทนคือ จวงจื๊อตามที่เราได้ทราบมาแล้วว่า เขาแปลความหมายของ เต๋า ว่าเป็นภาวะที่เป็นไปเองตามธรรมชาติอย่างสมบูรณ์ยิ่งของสรรพสิ่งทั้งปวงในสากลโลก ปล่อยให้สรรพสิ่งทั้งปวงเป็นไปตามวิถีทางแห่งธรรมชาติของมัน สำนักปรัชญาเต๋าสำนักนี้อาจจัดเอาได้ว่าเป็นปรัชญาเต๋าลักษณะธรรมชาตินิยม (naturalistic Taoism) ส่วนสำนักที่สองคือ สำนักของหยางจื๊อ เขามีความเห็นว่า เต๋า เป็นพลังงานทางธรรมชาติที่มืดบอด อันเป็นสิ่งที่สร้างโลก หาใช่ด้วยการมีแผนการที่แสดงเจตน์จำนงอันใดแต่อย่างใดไม่ แต่ด้วยโดยการบังเอิญ หรือ โดยภาวะบังคับที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ปรัชญาสำนักนี้คือ ปรัชญาเต๋าลักษณะวัตถุนิยม (materialistic Taoism) ทรรศนะของปรัชญาทั้งสองลักษณะนี้ มีบันทึกไว้ในบทนิพนธ์ของนักปรัชญาเต๋า ซึ่งเป็นบุคคลในสมัยปรัมปรา มีชื่อว่า เหลีย จื๊อ (Lieh Tzu)

ชีวิตและงานนิพนธ์
เรื่องราวของชีวิตของหยางจื๊อนั้น เป็นที่รู้กันน้อยมาก เขาเป็นชาวเมืองแคว้นเจา (Chao) ปัจจุบันคือมณฑลชานสี (Shansi) แคว้นเจาเป็นแคว้นหนึ่งในบรรดาแคว้นเล็กๆ สามแคว้น ที่แตกออกมาจากแคว้นซิน (Tzin) การแตกสลายของแคว้นซินเป็นสามแคว้นนี้ ทำให้เกิดการเริ่มต้นของยุคสมัยแห่งการรบของแคว้นต่างๆ (480-222 ก่อน ค.ศ.) หยางจื๊อมาจากครอบครัวที่มีฐานะเป็นที่เคารพนับถือกันมาก ซึ่งอาจสืบสาวเหล่ากอได้ไปจนถึงราชวงศ์โจว (Chou) บิดาของเขา เป็นราชบุตรองค์เล็กของพระเจ้าซ่วน (King Hsuan) ซึ่งมีพระชนมายุอยู่ระหว่างปี 827-781ก.ค.ศ. เป็นเจ้าผู้ครองแคว้นหยาง (Yang) ซึ่งต่อมาถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นซิน ฉะนั้นจึงมีเหตุผลพอที่จะสันนิษฐานได้ว่า หยางจื๊อ มีทรัพย์สมบัติมากพอที่จะไม่ต้องทำการงานอันใด และสามารถใช้เวลานั้นเพื่ออุทิศชีวิตให้แก่การแสวงหาความรู้ทางปรัชญา และก็มีเหตุผลเพียงพอที่จะกำหนดได้ว่าหยางจื๊อนั้น มีชีวิตอยู่ระหว่างศตวรรษที่ห้า กับศตวรรษที่สี่ ก่อน ค.ศ. ในบทนิพนธ์เรื่อง ไฮว หนัน จื๊อ (Huai-Nan Tzu) นั้น มีข้อความแสดงนัยว่า หยางจื๊อมีอายุอ่อนกว่า ม่อจื๊อ (Mo Tzu) ซึ่งมีชีวิตอยู่ระหว่างปี 468-390 ก.ค.ศ. และมีอายุแก่กว่า เม่งจื๊อ (Mencius) ซึ่งมีชีวิตอยู่ระหว่างปี 372-289 ก.ค.ศ.

หยางจื๊อ เป็นผู้คัดค้านปรัชญาของมอจื๊อ และเม่งจื๊อ เป็นผู้คัดค้านปรัชญาของหยางจื๊อ

หลักฐานที่ให้ความรู้เกี่ยวกับปรัชญาของหยางจื๊ออันเดียวที่เรามีอยู่นั้น มีลักษณะที่น่าสงสัย คือ ข้อความบทหนึ่งที่ปรากฏในนิพนธ์ของปรัชญาเต๋า มีชื่อว่า เหลีย จื๊อ ที่เราได้กล่าวถึงในตอนต้น แต่ความคิดอันเป็นหลักปรัชญาของหยางจื๊อนั้นอาจจะพบได้อีกในบทนิพนธ์อื่นๆ ของปรัชญาเต๋า

หลักคำสอนของหยางจื๊อ-ความเชื่อในชะตากรรม
คำสอนของหยางจื๊อนั้น เป็นคำสอนที่สืบเนื่องมาจากหลักคำสอนเรื่อง หวู เว่ย (การไม่ทำอะไร) หยางจื๊อกล่าวว่า สิ่งทั้งปวงที่บังเกิดขึ้นในโลกจักรวาลนั้น มีชะตากรรมเป็นเครื่องกำหนดมาก่อนทั้งสิ้น ชีวิตและความตาย ความสำเร็จและความล้มเหลว โภคทรัพย์และอำนาจ ทั้งหมดนี้ถูกกำหนดโดยชะตากรรมทั้งสิ้น สิ่งที่เรียกว่าเจตน์จำนงอันอิสระ แผนการ หรือความมุ่งหมาย ไม่ว่าจะเป็นของพระเจ้าหรือของมนุษย์นั้น ไม่มีบทบาทเข้ามาเกี่ยวข้องแต่อย่างใดเลย หลักความเชื่อในชะตากรรมนี้ เป็นข้ออ้างที่ดีสำหรับมนุษย์ที่จะปล่อยตนให้กับการแสวงหาความเกษมสำราญได้อย่างเต็มที่ ในบทนิพนธ์เรื่อง เหลีย จื๊อ นั้นมีข้อความอยู่บทหนึ่ง ชื่อว่า “ความพยายามและชะตากรรม” นั้นได้ให้เรื่องราวประกอบความหมายของความเชื่อในชะตากรรมได้เป็นอย่างดี

ความพยายามกล่าวกับชะตากรรมว่า “ความสำเร็จของท่านหาเท่าเทียมกับความสำเร็จของข้าพเจ้าไม่”

ชะตากรรมจึงย้อนถามว่า “กรุณาเล่าเรื่องความสำเร็จของท่านให้ข้าพเจ้าฟังบ้างจะได้หรือไม่ เผื่อว่าท่านจะได้เปรียบเทียบกับความสำเร็จของข้าพเจ้าได้?”

ความพยายามกล่าวตอบว่า “ทำไมจะไม่ได้เล่า ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จหรือโภคทรัพย์ต่างอยู่ในความควบคุมของข้าพเจ้าทั้งสิ้น”

เมื่อได้ฟังดังนั้น ชะตากรรมจึงโต้ว่า “สติปัญญาของ เป้งจื๊อ (peng Tzu) ก็ไม่ได้เกินสติปัญญาของพระเจ้าเย้าและพระเจ้าซุ่น (กษัตริย์นักปราชญ์ ในสมัยปรัมปรา) แต่เป้งจื๊อ ก็ยังมีชีวิตอยู่นานถึงแปดร้อยปี ความสามารถของ เย็นหยวน (Yen Yuan) สานุศิษย์คนโปรดของขงจื๊อ ก็ไม่ด้อยไปกว่าความสามารถของบุคคลทั่วไป แม้กระนั้นเขาก็ตายไปตั้งแต่เมื่ออายุสามสิบสองปี คุณธรรมของขงจื๊อก็ไม่ต่ำต้อยไปกว่าเจ้าผู้ครองแคว้นคนใดเลย แต่ถึงกระนั้น ขงจื๊อก็ยังต้องมาตกระกำลำบากไม่มีอะไรจะกิน เมื่ออยู่ในแคว้นเจน (Chen) และแคว้นไซ (Tsai) ความประพฤติของพระเจ้าเจ๋า (Chow) กษัตริย์ผู้เลวทรามของแคว้นชาง (Shang) ก็ไม่ดีไปกว่าความประพฤติของบรรดาเสนาบดีของท่าน แต่ท่านก็ยังได้เป็นกษัตริย์ผู้ครองแคว้น…ถ้าหากว่าสิ่งเหล่านี้อยู่ในอำนาจของความพยายามของท่านแล้วไซร้ ไฉนท่านจึงปล่อยให้เป้งจื๊อมีอายุถึงแปดร้อยปี และให้เย็นหยวน มีอายุสั้นเพียงสามสิบสองปี ไฉนท่านจึงทำให้ท่านปรมาจารย์ขงจื๊อ ต้องตกระกำลำบาก และให้คนที่ไม่มีคุณธรรมประสบความเจริญรุ่งเรือง ไฉนท่านจึงทำให้บุคคลผู้มีสติปัญญาต้องได้รับความอดสู และคนโง่กลับได้รับการสรรเสริญยกย่องให้มีเกียรติ คนดีกลับยากจน และคนชั่วช้าสามานย์กลับเจริญด้วยโภคทรัพย์เล่า?”

ความพยายามแย้งว่า “ถ้าหากว่า การณ์เป็นไปดังท่านว่าแล้วไซร้ ข้าพเจ้าก็คงไม่มีอำนาจควบคุมเหนือเหตุการณ์ทั้งหลายได้จริง ถ้าเช่นนั้นก็เป็นเพราะการจัดแจงของท่านละซี่ ที่ทำให้สิ่งต่างๆ ทั้งหลายเป็นไปในสภาพการณ์ดังกล่าว?”

ตรงจุดนี้ ชะตากรรมจึงได้ตอบว่า “ชื่อของคำว่าชะตากรรมนั้น ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ไม่มีการจัดแจงแต่อย่างใด เมื่อหนทางมันตรงข้าพเจ้าก็ดันมันไป ถ้าหนทางมันคดข้าพเจ้าก็ให้มัดคดไป อายุยืนหรืออายุสั้น ความล้มเหลวหรือความสำเร็จ การมียศศักดิ์สูงหรือมีฐานะต่ำ ความมั่งมีและความยากจน ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติของมันด้วยตัวของมันเอง อะไรคือเหตุที่ทำให้มันต้องเป็นไปในสภาพเช่นนั้น ข้าพเจ้าไม่อาจทราบได้ ไฉนมันจึงไม่เป็นไปในลักษณะอื่น บ้างเล่า?”

ฉะนั้น สิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่บังเกิดขึ้นมาในโลกนี้ จึงเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดมาก่อนทั้งสิ้นและเป็นสิ่งที่อยู่เหนืออำนาจการควบคุมของความพยายามของมนุษย์ สิ่งที่เราจำเป็นจะต้องทำก็คือดำรงชีวิตของเราให้สอดคล้องกับชะตากรรมของเรา และเมื่อดำรงชีวิตตามชะตากรรมของเราแล้ว ก็จะเพิ่มรสชาติของชีวิตลงไปในชะตากรรมนั้น ด้วยการแสวงหาความเกษมสำราญจากชีวิตให้เต็มที่ ข้อโต้แย้งของหยางจื๊อนั้น ถือเอา การสังเกตเห็นความไม่แน่นอนของชีวิตเป็นหลัก

ขอบเขตของชีวิตอันยืนยาวของมนุษย์นั้น คือหนึ่งร้อยปี

แต่ก็ไม่มีบุคคลใดแม้แต่หนึ่งในพัน ที่บรรลุถึงได้

และถึงแม้เราจะมีอายุยืนถึงหนึ่งร้อยปี หยางจื๊อแย้ง ชีวิตส่วนใหญ่ของเราก็จะใช้หมดไปในวัยของทารกที่ปราศจากความรู้สึก สำนึกอันใดกับวัยชรา ที่หมดไปเพราะการนอนความเจ็บป่วย ความทุกข์ ความเศร้าโศก และความหวาดกลัว ผลก็คือ

ไม่มีเวลาใดแม้แต่ชั่วโมงเดียวที่จะปราศจากความกังวล ถ้าเช่นนั้น ชีวิตนี้จะมีอยู่เพื่อประโยชน์อันใดกัน? และความสุขของชีวิตนั้นคืออะไร? ความสุขของชีวิตนั้น คือ อาหารอันโอชะ เสื้อผ้าอันสวยงาม ดนตรีที่ไพเราะ และสิ่งสวยงามเจริญตาเจริญใจทั้งปวง

ผลก็คือ ปรัชญาแห่งการแสวงหาความเกษมสำราญ เพราะว่าโลกตามที่เรารู้จักนั้นคือโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง โลกแห่งความไม่แน่นอน ชื่อเสียงและคำสรรเสริญเป็นของไม่จีรังยั่งยืน หนทางอันกว้างใหญ่ที่จะนำชีวิตไปสู่ความสุขนั้นคือ การสนองความอยากในทางกาม เช่นความเกษมสำราญจากอาหาร และเครื่องแต่งกาย การชื่นชมยินดีในดนตรีและความงามทั้งปวง หยางจื๊อ สรุปความคิดเห็นของเขาลงอย่างหนักแน่นว่า

ภาวะที่สิ่งทั้งหลังมีความแตกต่างกันนั้น คือชีวิต
ภาวะที่สิ่งทั้งหลายมีความเหมือนกันนั้น คือ ความตาย
ในชีวิตมีแต่ความแตกต่าง ดังเช่นระหว่างความฉลาดกับความโง่เขลา เกียรติยศกับความชั่วช้าสามานย์ แต่ในความตายนั้น มีอยู่ก็แต่เพียงความเสมอภาคแห่งความเน่าเปื่อยผุพัง อันเป็นสิ่งที่ไม่มีผู้ใดจะหลีกเลี่ยงหนีได้
…….บางคนตายเมื่ออายุสิบปี บางคนตายเมื่ออายุหนึ่งร้อยปี คนฉลาด คนมีเมตตากรุณาก็ต้องตายอย่างเดียวกันกับคนโง่เง่าและคนโหดร้ายอำมหิต เพราะฉะนั้น ขอให้เราจงเร่งขวนขวายหาความอภิรมย์จากชีวิตอย่าสนใจในเรื่องของความตายเลย

หนทางที่ดี ที่จะแสวงหาความอภิรมย์จากชีวิตนั้น คือ
….ปล่อยชีวิตให้เป็นไปอย่างเสรี อย่าไปขัดขวาง หรือฉุดรั้งไว้…ปล่อยให้หูฟังสิ่งที่มันชอบ ปล่อยให้ตาดูสิ่งที่มันปรารถนา ปล่อยให้ปากได้พูดสิ่งที่มันพอใจ ปล่อยให้กายได้สัมผัสกับสิ่งที่มันต้องการ ปล่อยให้จิตใจจินตนาการตามที่พึงประสงค์

ยิ่งสนองความอยากได้มากเท่าไร ชีวิตก็ยิ่งมีค่าควรแก่การดำรงมากยิ่งขึ้นเท่านั้น ฉะนั้น การขัดขวางความอยากจึงเป็น…..บ่อเกิดของความรำคาญอันปวดร้าวอย่างยิ่ง การทำลายบ่อเกิดของความรำคาญที่ว่านี้ แล้วใช้ชีวิต แสวงหาความเกษมสำราญอย่างสงบ ชั่ววัน ชั่วเดือน ชั่วปี จนกว่าจะถึงวาระแห่งความตาย นั้นคือ ความหมายของการใช้ชีวิตอย่างเกษมสำราญ

ที่มา:สกล  นิลวรรณ

ทรรศนะและความรู้ของจวงจื๊อ

ตามทรรศนะของจวงจื๊อ ความรู้นั้นมีเป็นสองระดับ ความรู้ที่ศึกษาโดยทางประสาทสัมผัสเรียกว่า “ความรู้ระดับต่ำ” ความรู้ที่เกิดจากการใช้ความคิดอยู่ในใจนั้นเรียกว่า “ความรู้ระดับสูง” จวงจื๊อรู้สึกเสียดายที่ว่าในความเป็นจริงนั้น มนุษย์มักจะพอใจกับความรู้ระดับต่ำได้ง่าย ฉะนั้นจึงละเลยความรู้ระดับสูง

เรื่องต่อไปนี้เป็นเรื่องประกอบที่จะใช้อธิบายถึงความหมายของความรู้ระดับต่ำตามทรรศนะของจวงจื๊อได้เป็นอย่างดี

เป็นสมัยฤดูน้ำหลากในฤดูใบไม้ร่วง เมื่อน้ำในลำธารทั้งหลายไหล รวมตัวกันสู่แม่น้ำ จนท่วมท้นฝั่งไปทั่วทุกหนทุกแห่ง… เทวดาประจำแม่น้ำมีความดีใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นว่าบรรดาสิ่งสวยงามทั้งหลายในโลกต่างหลั่งไหลมาสู่แม่น้ำทั้งสิ้น เทวดาประจำแม่น้ำจึงเดินทางร่วมไปกับกระแสน้ำไปทางทิศตะวันออก จนกระทั่งออกไปถึงมหาสมุทร เมื่อถึงมหาสมุทรแล้วเทวดาประจำแม่น้ำก็หันหน้ามองไปทางทิศตะวันออกสุดออกไปเห็นแต่น้ำจนหาที่สุดมิได้ เทวดาประจำแม่น้ำจึงหันมากล่าวกับเทวดาประจำมหาสมุทรพร้อมกับถอนใจว่า “มีสุภาษิตอยู่บทหนึ่งว่าบุคคลที่รู้เรื่องของ เต๋า บ้างเล็กน้อย ก็คิดว่าไม่มีผู้ใดมีความรู้มากเท่าตน ข้าพเจ้าก็เป็นเหมือนเช่นบุคคลผู้นั้น ถ้าหากข้าพเจ้ายังไม่มาถึงถิ่นที่อยู่ของท่านแล้ว ข้าพเจ้าก็คงจะเป็นตัวตลกที่น่าหัวเราะอยู่อย่างนั้นแหละ”

เมื่อได้ฟังคำกล่าวของเทวดาประจำแม่น้ำเช่นนั้น เทวดาประจำมหาสมุทรจึงกล่าวตอบว่า

“ท่านจะพูดเรื่องมหาสมุทรให้แก่กบที่อยู่ในบ่อน้อยให้เข้าใจได้อย่างไรกัน เพราะขอบเขตความรู้ของกบในบ่อน้ำนั้นจำกัด ท่านไม่อาจจะพูดเรื่องน้ำแข็งให้ตัวแมลงในฤดูร้อนเข้าใจได้ เพราะความรู้ของแมลงในฤดูร้อนนั้น ถูกจำกัดด้วยเวลา ท่านจะพูดเรื่อง เต๋า ให้แก่คนที่เป็นครูเข้าใจได้อย่างไร เพราะขอบเขตของครูนั้นจำกัดอยู่ก็แต่เรื่องที่ตนสอน แต่บัดนี้ท่านได้ออกมาจากอาณาจักรอันแคบๆ ของท่าน ได้มาเห็นมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ ท่านได้รู้จักความไม่สลักสำคัญของตัวท่านเองแล้ว ฉะนั้นข้าพเจ้าจึงพร้อมที่จะพูดเรื่องความรู้อันสำคัญอย่างยิ่งให้ท่านฟังได้”

เทวดาประจำแม่น้ำ ซึ่งมีความรู้ดั้งเดิมของตนโดยจำกัดนั้น เปรียบเทียบได้กับบุคคลที่ยึดมั่นแต่ความรู้อันเกิดจากประจักษ์พยานในทางประสาทสัมผัสของตนเท่านั้น ปัญหาคือว่าบุคคลผู้มีความรู้ที่ถูกจำกัดเช่นนั้น หรือตามคำพูดของจวงจื๊อ “บุคคลผู้ไม่สามารถบรรลุถึงอาณาจักรแห่งฝ่ายลบ และฝ่ายบวก ได้นั้น” จะไม่สามารถเข้าใจ “ความรู้อันสำคัญยิ่ง” ได้เลย เพราะว่าความรู้ที่บุคคลผู้นั้นมีอยู่นั้น เป็นความรู้ที่ประกอบด้วยความรู้จากประสาทสัมผัสเท่านั้น เพราะฉะนั้นจึงเป็นความรู้ที่แสดงแต่ลักษณะที่ขัดแย้งตรงกันข้ามกันเท่านั้นเอง  โดยที่เป็นความรู้ที่มีขอบเขตจำกัดเช่นนั้น จึงไม่สามารถจะให้มาตรฐานที่เป็นรูปธรรมเพื่อวัดความจริงได้ ด้วยเหตุนี้ จวงจื๊อจึงกล่าวว่า “สิ่“ที่ข้าพเจ้ารู้ คนอื่นอาจไม่รู้ สิ่งที่คนอื่นรู้ ข้าพเจ้าอาจจะไม่รู้ก็ได้”

ในบทที่ 2 ของบทนิพนธ์จวงจื๊อ มีชื่อว่า “จี หวู่ หลัน-Chi Wu Lun” หรือ “ว่าด้วยเรื่องความเสมอภาคของสรรพสิ่งทั้งปวง จวงจื๊อได้อภิปรายถึงเรื่องความรู้อย่างละเอียด จวงจื๊อมีความเห็นว่าความรู้ในความหมายที่ใช้กันตามปกตินั้น เนื่องจากเป็นความรู้ที่มีขอบเขตจำกัด ฉะนั้นจึงทำให้เกิดมีการโต้เถียง และไม่สามารถหาข้อยุติได้ ข้อเท็จจริงที่ประชาชนทุ่มเถียงกันในเรื่องใดเรื่องหนึ่งนั้น แสดงให้เห็นว่าพวกเขามีความเชื่อในเรื่องของความจริงที่เป็นรูปธรรม แต่เนื่องจากความรู้ไม่ได้ให้สิ่งที่เป็นรูปธรรม ฉะนั้นจึงไม่มีหนทางอันใดที่จะกำหนดลงได้ว่า ความรู้ใดเป็นความรู้ที่ถูกความรู้ใดเป็นความรู้ที่ผิด ด้วยเหตุนี้จวงจื๊อจึงกล่าวว่า

สมมติว่าข้าพเจ้ากำลังโต้เถียงอยู่กับท่าน และท่านเอาชนะข้าพเจ้าได้ การที่ท่านโต้เถียงเอาชนะข้าพเจ้าได้นั้น แสดงว่าความคิดของท่านถูก และความคิดของข้าพเจ้าผิดเช่นนั้นหรือ? หรือถ้าหากว่าข้าพเจ้าเอาชนะท่านได้นั้นแปลว่า ข้าพเจ้าเป็นฝ่ายถูกและท่านเป็นฝ่ายผิดเช่นนั้นหรือ? ในเรื่องนี้นั้น คนใดคนหนึ่งในระหว่างเราสองคนจะต้องเป็นผู้ถูก และอีกคนหนึ่งจะต้องเป็นผู้ผิดเช่นนั้นหรือ? หรือว่าเราทั้งสองคนอาจจะถูกทั้งคู่ หรืออาจจะผิดทั้งคู่? ทั้งหมดนี้ทั้งท่านและข้าพเจ้าไม่อาจจะล่วงรู้ได้เลย….

สิ่งที่ดูเหมือนว่า จวงจื๊อใช้เป็นเหตุผลสนับสนุนข้อโต้แย้งของตนเกี่ยวกับความรู้ระดับต่ำนั้น คือข้อเท็จจริงที่ว่า ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติโดยสมบูรณ์นั้น สรรพสิ่งทั้งปวงเป็นสิ่งที่เท่าเทียมกัน และความจริงอันสูงสุดยิ่งกับความดีอันสูงสุดยิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะล่วงรู้ได้ ในโลกของมนุษย์นั้นมโนคติ เรื่องถูกและผิดนั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเอง โดยถือหลักของทรรศนะของตนแต่ฝ่ายเดียว เพราะฉะนั้น “ไม่มีสิ่งอันใดที่ไม่ดี ไม่มีสิ่งอันใดที่ไม่เลว” ความคิดเห็นทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของความรู้สึกเปรียบเทียบ ไม่มีหนทางอันใดที่จะรู้ได้อย่างแน่นอนตายตัวว่า อะไรถูกและอะไรผิด ตราบใดที่มนุษย์ยังคงยึดอยู่แต่ความรู้ระดับต่ำเท่านั้น

ความรู้ระดับสูงนั้น เป็นความรู้อันเดียวกันกับ “ความเข้าใจ” ที่กล่าวถึงข้างต้นว่า เป็นความรู้ที่จำเป็นสำหรับมนุษย์จะได้เข้าใจว่าตนนั้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับโลกจักรวาล และธรรมชาติ สำหรับความรู้ในระดับสูงนี้ จวงจื๊อกล่าวว่า

ความรู้ของบุคคลในสมัยโบราณเป็นความรู้ที่สมบูรณ์ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? ประการแรก คนในสมัยโบราณยังไม่ทราบว่ามีสิ่งต่างๆ ทั้งหลาย ความรู้อันนี้เป็นความรู้ที่สมบูรณ์ที่สุด ไม่มีสิ่งใดที่จะต้องเสริมอีกแล้ว ต่อมาพวกเขาเริ่มมีความรู้ขึ้นมาว่า มีสิ่งต่างๆ ทั้งหลายอยู่ แต่เขายังไม่ได้จำแนกสิ่งทั้งหลายนั้นออกจากกันและกัน แต่พวกเขาก็ยังไม่มีการวินิจฉัยดีเลวอันใดเกี่ยวกับสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น แต่เมื่อเขามีข้อวินิจฉัยดีเลวเกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้นขึ้นแล้ว ความเป็นส่วนรวมอันหนึ่งอันเดียวกัน (เต๋า) ก็ถูกทำลายไปหมดสิ้น เมื่อความเป็นส่วนรวมอันหนึ่งอันเดียวกันถูกทำลายลง ความมีอคติของบุคคลก็เกิดขึ้น

ความรู้ในระดับต่ำตามที่ได้อธิบายมานี้ มุ่งไปที่การจำแนกสิ่งต่างๆ ออกเป็นสิ่งที่ถูกกับสิ่งที่ผิด ความเป็นสิ่งนี้กับสิ่งนั้น ชีวิตกับความตาย สิ่งที่เป็นตัวฉันและสิ่งที่ไม่ใช่ตัวฉัน เพราะฉะนั้น การละทิ้งความรู้ระดับต่ำทิ้งไปนั้นก็คือการลืม การจำแนกสิ่งต่างๆ ดังกล่าวมานี้ทั้งหมด เมื่อความแตกต่างระหว่างสิ่งทั้งหลายถูกลืมไปหมดสิ้นแล้ว สิ่งที่เหลืออยู่ก็คือหนึ่ง ซึ่งเป็นส่วนรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งหมดอันยิ่งใหญ่นั้นเอง ความคิดที่อยู่เหนือความแตกต่างกันของสิ่งทั้งหลายนั้นประกอบกันเป็นความรู้ระดับสูง อันเป็นสิ่งที่จวงจื๊อเรียกว่า “ความรู้ที่ไม่ใช่ความรู้” ความรู้ระดับสูงนี้คือความรู้ที่เรียนรู้ได้โดยประสาทสัมผัสทางกาย เป็นความรู้ที่เป็นความเจริญงอกงามตามธรรมชาติที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ที่ความมุ่งหมายของมนุษย์ไม่มีบทบาทอันใดเกี่ยวข้องด้วยเลข ดังข้อความที่มีปรากฏในบทที่ 2 เรื่อง “จี หวู หลัน” ดังนี้

สิ่งที่เป็น “นี้” คือ สิ่งที่เป็น “นั้น” ด้วย สิ่งที่เป็น “นั้น” ก็เป็นสิ่งที่เป็น “นี้” ด้วยสิ่ง “นั้น” มีระบบของความคิดเรื่องผิดชอบชั่วดีของตน และสิ่ง “นี้” ก็มีระบบของความคิดเรื่องผิดชอบชั่วดีของตนเหมือนกัน ฉะนั้นตามความเป็นจริงแล้ว มีความแตกต่างอันใดระหว่าง “นี้” กับ “นั้น” อยู่เล่า? หรือ ตามความเป็นจริงแล้ว ไม่มีความแตกต่างอันใดระหว่าง “นี้” กับ “นั้น” ใช่หรือไม่? ที่ว่า “นั้น” กับ “นี้” ไม่เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามอีกต่อไปนั้นคือแก่นแท้ของเต๋า เฉพาะแต่แก่นแท้ซึ่งเป็นหลักของสิ่งนั้นนั่นเองที่เป็นจุดศูนย์กลางของวงกลมที่มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอันไม่มีที่สิ้นสุดอยู่ตลอดเวลานั้น สิ่งที่ถูกคือ การเปลี่ยนแปลงอันไม่มีที่สิ้นสุด สิ่งที่ผิดก็คือ การเปลี่ยนแปลงอันไม่มีที่สิ้นสุด

หรือถ้าจะพูดอีกนัยหนึ่ง ความตรงกันข้ามกันทั้งหมดนี้นั้นเป็นเหมือนวงกลมที่หมุนอยู่ตลอดเวลา และโดยการหมุนนั้นเองทำให้ความตรงกันข้ามหลอมเข้าเป็นหนึ่งอันไม่มีขอบเขตจำกัดเป็นเต๋าที่คงอยู่ชั่วนิรันดร ที่มีอยู่ในสถานที่ทุกหนทุกแห่ง

ยิ่งกว่านั้น แก่นแท้ของเต๋า คือ การไม่มองดูสิ่งใด การไม่ฟังสิ่งใด และการไม่กระทำสิ่งใด

จงปล่อยให้การฟังของท่านหยุดลง ปล่อยให้จิตใจของท่านหยุด ปล่อยให้จิตใจของท่านเป็นเหมือนผืนผ้าอันว่างเปล่า ที่พร้อมที่รับเอาสิ่งต่างๆ จากภายนอก โดยอาการอันสงบ ในสภาพที่เปิดกว้างพร้อมที่จะรับเอาเช่นนั้นแหละ เป็นสภาพที่เต๋าจะอาศัยอยู่

เป้าหมายอันสุดท้ายคือ ความปิติสุขอันเกิดจากการถูกรวมเข้าไปอยู่ในส่วนรวม เป็นภาวะที่มีลักษณะเป็นความสบาย ความเงียบสงบ ความกลมกลืน ความไม่มีการเคลื่อนไหวอันใด บุคคลไม่อาจจะผลักดันตนเองให้เข้าไปสู่ภาวะอันนี้ได้ ภาวะอันนี้ต้องเกิดขึ้นตามสภาพของมันเอง โดยภาวะที่เป็นไปตามธรรมชาติของมันอย่างสมบูรณ์ ภาวะอันนี้คือสิ่งที่วิลเลี่ยม เจมส์ (William James) เรียกว่า “ความปิติยินดีแห่งชีวิตทางด้านความรู้สึกในจิตใจ-felicity of the sensorial life” ซึ่งเป็นผลที่เกิดขึ้นเองในจิตใจตามธรรมชาติ แต่ไม่ใช่ผลที่เกิดขึ้นโดยการมีความพยายามตั้งใจจะให้เกิด

จากความเข้าใจในอุดมคติอันนี้ ความพยายามทั้งหมดของมนุษย์ที่กระทำไปด้วยความรู้สำนึก ดังที่แสดงออกเป็นโครงสร้างทางสังคมและอารยธรรมนั้น สำหรับขงจื๊อแล้วเขาเห็นว่า ไม่แต่เพียงเป็นสิ่งที่โง่เขลาทั้งนั้นไม่ แต่เป็นสิ่งที่เลวที่สุดและเป็นอันตรายอย่างที่สุดสำหรับมนุษย์อีกด้วย

บทวิจารณ์
จวงจื๊อ มีลักษณะอยู่สามประการที่ร่วมกันกับอาจารย์ของเขาคือเล่าจื๊อ ประการแรกนักปรัชญาทั้งสองท่านนี้ถือว่า ธรรมชาติของมนุษย์นั้นคือความดี และภาวะแห่งธรรมชาติเป็นเกณฑ์มาตรฐานของชีวิต ทั้งสองท่านยกย่องในความเป็นเอกัตถภาพของบุคคลที่เป็นอิสระไม่อยู่ในอำนาจของสิ่งใด และมีความเห็นขัดแย้งกับสถาบันและสิ่งต่างๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้น ด้วยเหตุนี้ ทั้งเล่าจื๊อและจวงจื๊อจึงสอนเรื่องการเลิกทิ้งสิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรม ส่งเสริมการปกครองที่มีการปกครอง ควบคุม่น้อยที่สุด เพื่อให้มนุษย์ได้กลับคืนไปสู่สภาพธรรมชาติดั้งเดิมของตน ซึ่งมีลักษณะสำคัญคือ สภาพที่เป็นไปตามธรรมชาติโดยปราศจากการปรุงแต่ง

ประการที่สอง ปรัชญาของท่านทั้งสอง ขณะที่ยอมรับเอาความจริงขั้นสูงสุดว่ามีอยู่จริง แต่ถือว่าความจริงขั้นสูงสุดนี้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถจะบรรลุถึงได้ โดยวิธีการทางสติปัญญา การที่จะบรรลุถึงความจริงขั้นสูงสุดให้ไดนั้น จะต้องอาศัยการบำเพ็ญภาวนาจิตใจและการมีความรู้แจ้งภายใน เป็นประการสำคัญ ด้วยเหตุนี้ แทนที่จะสอนเรื่องคุณธรรมที่เป็นการปรุงแต่งเช่นมนุษยธรรมและการยึดมั่นอยู่ในศีลธรรม นักปรัชญาทั้งสองกลับสอนในเรื่องหลักของหวู เว่ย หรือ “การไม่ทำอะไร” (ที่เป็นการฝืนภาวะธรรมชาติ)

ประการที่สาม  นักปรัชญาทั้งสองกล่าวว่าโลกที่มองเห็นได้นี้นั้น ไม่ใช่โลกที่เป็นจิรง เรามีความจำเป็นต้องปฏิบัติให้คล้อยตาม “เต๋า” ซึ่งทำให้นักปรัชญาทั้งสองเป็นผู้มีความคิดโน้มน้อมไปในทางจิตญาณที่ลึกลับ

จวงจื๊อมีลักษณะที่แตกต่างไปจากเล่าจื๊ออยู่สามประการเหมือนกัน ประการแรกความคิดเห็นในเรื่องที่เกี่ยวกับเต๋านั้น แตกต่างกัน เล่าจื๊อนั้นถือว่า เต๋า เป็นเอกภาพแห่งภาวะและอภาวะ “สรรพสิ่งทั้งปวงในสากลโลกเกิดขึ้นจากภาวะ และภาวะนั้นเกิดขึ้นจากอภาวะ” ด้วยเหตุนี้ การเปลี่ยนแปลงจากอภาวะไปสู่ภาวะและอภาวะนั้น มีความเกี่ยวข้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่สำหรับจวงจื๊อนั้น เต๋า คือ เอกภาวะของอภาวะ ซึ่งเป็นอภาวะและเป็นเอกภาวะของภาวะ ซึ่งเป็นอภาวะ “สรรพสิ่งทั้งปวงเกิดขึ้นจากอภาวะ ซึ่งเป็นภาวะ เพราะว่าภาวะนั้นไม่อาจเกิดขึ้นจากตัวของมันเอง ซึ่งเป็นภาวะได้ แต่ต้องเกิดจากอภาวะซึ่งเป็นภาวะ” ด้วยเหตุนี้ถึงแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงจากอภาวะไปสู่ภาวะ การเปลี่ยนแปลงก็ไม่ได้หยุดลง ณ ตรงนั้น แต่มีการเปลี่ยนแปลงก้าวหน้าต่อไปใหม่เป็นยุคใหม่ของชีวิตเป็นโลกใหม่ขึ้น เพราะฉะนั้นแทนที่จวงจื๊อจะสอนเรื่องภาวะวัฏจักรอันเป็นภาวะปกติของเต๋า ตามทรรศนะของเล่าจื๊อ จวงจื๊อกลับสอนเรื่อง “การเปลี่ยนแปลงของเต๋า”

ประการที่สอง นักปรัชญาทั้งสองมีทรรศนะแตกต่างกันในเรื่องวิวัฒนาการของโลกจักรวาล เล่าจื๊อย้ำความสำคัญของหลักการทั่วไปที่ว่า “การทวนวิถีนั้นเป็นการเคลื่อนไหวของเต๋า กล่าวคือ การเคลื่อนไหวใดๆ ดำเนินไปจนถึงที่สุดแล้ว การเคลื่อนไหวนั้นก็จะย้อนทวนกลับมา “พายุใต้ฝุ่นไม่อาจจะพัดอยู่ได้ตลอดเช้า หรือพายุฝน ไม่อาจจะตกอยู่ได้ตลอดวัน” นี้แสดงถึงกฎอันถาวรของธรรมชาติ ถ้าหากโลกจักรวาลไม่เป็นไปตามกฎแห่งธรรมชาติอันถาวรนี้แล้ว โลกจักรวาลก็ไม่อาจดำรงอยู่ได้ต่อไป แต่จวงจื๊อนั้นยึดมั่นอยู่ในหลักการของกระแสแห่งธรรมชาติที่เป็นไปเองตามสภาพของมัน นี้เป็นหลักมูลฐานของกระแสแห่งการกลับไปสู่ธรรมชาติของจวงจื๊อ ฉะนั้นเมื่อเรากล่าวว่า “เต๋า ก่อให้เกิดสรรพสิ่งทั้งปวงนั้น เราหมายถึงแต่เพียงความจริงที่ว่า สรรพสิ่งทั้งปวงสร้างตัวของมันเองขึ้นมาตามธรรมชาติและเป็นตามสภาพที่แท้จริงของมัน ความแตกต่างของทรรศนะของนักปรัชญาทั้งสองนี้ จะเห็นได้อย่างชัดเจนในเหตุผลที่ท่านทั้งสองแสดงเกี่ยวกับความต้องการปกครอง ที่ไม่มีการปกครองควบคุมแต่อย่างใด

ประการที่สาม ซึ่งเป็นประการสุดท้าย นักปรัชญาทั้งสองมีความคิดแตกต่างกันในเรื่องชีวิตแบบอุดมคติ ทั้งสองท่านสอนเราควรจะถอนจากอารยธรรมแล้วกลับคืนไปสู่สภาพตามธรรมชาติดั้งเดิม สำหรับเล่าจื๊อนั้น ถือว่าการกระทำเช่นนี้เป็นหนทางอันสำคัญที่จะนำไปสู่การมีสังคมแบบอุดมคติ ถึงแม้ว่าการมีชีวิตอยู่อย่างเรียบง่ายจะปฏิเสธอารยธรรม แต่เล่าจื๊อก็ไม่ได้ปฏิเสธโลก แต่สำหรับจวงจื๊อนั้น การถอยหลังไปสู่ธรรมชาติคือหนทางอันสำคัญที่นำไปสู่สิ่งที่จวงจื๊อเรียกว่า “การทัศนาจรที่มีความสุข เป็นสิ่งที่อยู่เหนือพ้นสังคมที่แท้จริงทั้งหมด ด้วยเหตุนี้จวงจื๊อกล่าวว่า “บุคคลผู้เป็นเลิศนั้น จะต้องสถาปนาตนเองอยู่นอกสวรรค์แผ่นดิน ถอนออกจากทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อไปสู่สถานที่ที่ไม่มีสิ่งใดอันจะพันธนาการวิญญาณของตนได้อีกต่อไป”

ที่มา:สกล  นิลวรรณ

จวงจื๊อกับจริยศาสตร์

ความเป็นไปตามธรรมชาติของชีวิตเป็นสิ่งที่ประทับใจของจวงจื๊อมากที่สุด เขามองเห็นมนุษย์ในสภาพดั้งเดิมนั้นมีความสุข แต่ต่อมามีความทุกข์ เพราะการเปลี่ยนแปลงอันเป็นการปรุงแต่งขึ้นของมนุษย์ที่พยายามจะเปลี่ยนแปลงธรรมชาติ และพยายามนำเอาความคิดเห็นของตนไปเยียดยัดให้คนอื่น จวงจื๊อกล่าวว่า

จงถนอมสิ่งที่มีอยู่ภายใต้ตัวของท่าน
จงปิดตน ให้พ้นจากสิ่งภายนอกทั้งปวง
เพราะว่าการมีความรู้มากเกินไปนั้นเป็นอัปมงคล

เขาระบุเหตุห้าประการที่นำมาซึ่งการทำลายธรรมชาติดั้งเดิมของมนุษย์
เหตุแรกคือสีทั้งห้า ซึ่งทำให้ตาพร่า และทำให้ไม่สามารถจะมองเห็นได้ชัดเจน
เหตุที่สองคือ เสียงระดับทั้งห้า ทำให้หูอื้อ และทำให้ไม่สามารถจะฟังเสียงได้ชัดเจน
เหตุที่สามคือกลิ่นทั้งห้า ที่ทิ่มแทงจมูก และทำให้ประสาทแห่งการรับรู้กลิ่นมึนชา
เหตุที่สี่คือ รสทั้งห้า ที่ประดังเข้ามาหาประสาทลิ้น จนทำให้ความไวของประสาทเชื่องช้าลง
เหตุที่ห้า คือ ความชอบและความไม่ชอบ ซึ่งทำให้หัวใจไม่อยู่กับร่องกับรอย ด้วยเหตุห้าประการนี้ สภาพตามธรรมชาติของมนุษย์จึงเสื่อมเลวทรามลง เหตุห้าประการนี้คือความชั่วห้าประการในชีวิต

ฉะนั้นจวงจื๊อ จึงให้คำแนะนำว่า

ขอให้มีความสงบใจอย่างยิ่งที่สุด และมีความบริสุทธิ์ใจอย่างยิ่งที่สุด อย่าทำให้ร่างกายต้องเมื่อยล้า หรือทำลายความกระปรี้กระเปร่าของชีวิตแล้วท่านจะมีชีวิตอยู่อย่างยืดยาวตลอดกลาง เพราะถ้าตาไม่มองดูอะไร หูไม่ฟังอะไร และวิญญาณก็จะไม่มีความรู้สึกรับรู้ร่างกาย แล้วร่างกายก็จะดำรงชีวิตอยู่ตลอดกาล

สิ่งที่มนุษย์ต้องการนั้นคือ การเข้าใจธรรมชาติของสิ่งทั้งหลายทั้งปวงว่า ชีวิตและความตายนั้นเป็นแต่เพียงส่วนหนึ่งของกระบวนการส่วนใหญ่ แห่งการทวนวิถีของวิวัฒนาการเหมือนกับการสืบต่อเนื่องของกลางวันและกลางคืน และการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลฉะนั้น

โดยอุดมคติแล้ว มนุษย์
……หารู้ไม่ว่าเรานั้นมาจากที่ใด จึงมามีชีวิตขึ้นมา และเมื่อตายไปแล้วจะไปสู่ที่ใด….ไม่ทราบว่า ชีวิตมาก่อนความตายหรือความตายมาก่อนชีวิต มนุษย์พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงไปเป็นสิ่งอื่น โดยไม่สนใจว่าตนจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นอะไร

ภาวะอันเป็นอุดมคติอันสูงส่งนี้ เมื่อกล่าวถึงเป็นตัวอย่างไว้ในเรื่องอัตชีวประวัติของจวงจื๊อ ดังนี้

ครั้งหนึ่ง จวงจื๊อ ฝันว่าตนเองเป็นผีเสื้อ บินฉวัดเฉวียนไปมา…เขารู้สึกอย่างแท้จริงว่า ตนเองนั้นเป็นผีเสื้ออย่างแท้จริง โดย…..หารู้ไม่ว่าที่แท้แล้วมันคือ จวงจื๊อ ทันใดนั้นเขาตื่นขึ้น กลับกลายเป็นจวงจื๊อคนเดิม แต่เขาก็หารู้ไม่ว่า เขานั้นคือจวงจื๊อ ฝันไปว่าตนเองเป็นผีเสื้อ หรือว่าเขานั้นคือผีเสื้อ ที่ฝันไปว่าตัวมันนั้นคือจวงจื๊อกันแน่

จวงจื๊อถือว่า ความกลัวตายเป็นบ่อเกิดอันสำคัญของความทุกข์ของมนุษย์ แต่ถ้าได้มีความเข้าใจธรรมชาติของชีวิตตามที่เขาสอนแล้ว ความกลัวตายก็จะเป็นสิ่งที่ไร้ความหมายไป เรื่องของจวงจื๊อกับหัวกะโหลก เป็นเรื่องที่เตือนใจเราถึงเรื่องความกลัวตายของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี

ครั้งหนึ่ง ขณะที่จวงจื๊อกำลังเดินทางไปสู่แคว้นฉู๋ จวงจื๊อได้พบกระโหลกคนตายอันหนึ่งอยู่ที่ข้างถนน จวงจื๊อจึงใช้แซ่ม้าของตน เคาะหัวกะโหลกนั้น พร้อมกับก้มลงไปถามว่า
“ท่านเอ๋ย ท่านต้องมามีสภาพเป็นอย่างนี้นั้น ด้วยเหตุเพราะท่านมีความทะเยอทะยานไม่รู้จักอิ่มหรือมีตัณหาอย่างไม่รู้จักประมาณ? ความล่มจมของบ้านเมืองทำให้ท่านต้องมาตายลงเพราะคมขวานและหอกดาบลงเช่นนั้นหรือ? หรือว่าท่านได้ดำรงชีวิตอยู่อย่างเลวทราม ที่ให้ชื่อสกุลต้องมัวหมอง ต้องมาจบชีวิตลงเช่นนี้ หรือว่าเพราะความหิว ความหนาว หรือเพราะความชราตามอายุขัย ทำให้ท่านต้องประสบกับชะตากรรมแห่งชีวิตเช่นนี้?

ครั้นแล้ว จวงจื๊อก็เก็บหัวกะโหลกไปหนุนศีรษะแทนหมอนนอนหลับไป ในตอนกลางคืนหัวกะโหลกนั้นปรากฏตนขึ้นในความฝันของจวงจื๊อ และเล่าใหเขาฟังถึงความสุขของบุคคลที่ตายไปแล้ว แต่จวงจื๊อไม่เชื่อคำบอกเล่าของหัวกะโหลกนั้นจึงถามไปว่า หัวกะโหลกนั้นอยากจะกลับมาเกิดมีชีวิตใหม่แล้วกลับไปยังบ้านเดิมของตนหรือไม่

เมื่อได้ฟังจวงจื๊อถามเช่นนั้น  หัวกะโหลกนั้นจึงลืมตา แล้วขมวดคิ้วขึ้น พูดว่า “ทำไมท่านถึงมาคิดว่า ข้าพเจ้าจะทิ้งความสุขที่ยิ่งใหญ่กว่าความสุขของกษัตริย์ไป เพียงเพื่อจะกลับไปสู่ความทุกข์ยากลำบากของโลกแห่งชีวิตเช่นนั้นอีกเล่า?

ผลอันเป็นวัตถุประสงค์หรืออุดมคติของชีวิตนั้น ตามทรรศนะของ
จวงจื๊อคือ ภาวะที่มนุษย์
….จะฝังทองคำไว้ที่เชิงเขา และเหวี่ยงไข่มุก ทิ้งลงทะเล มนุษย์จะไม่ต่อสู้กันเพื่อโภคทรัพย์ หรือเพื่อชื่อเสียง มนุษย์จะไม่ปิติยินดีเพราะมีอายุยืน หรือเศร้าโศกเสียใจ เพราะมีอายุสั้น มนุษย์จะไม่สุขสำราญบานใจ เพราะประสบความสำเร็จ หรือรู้สึกเป็นทุกข์เพราะไม่สมหวังมนุษย์จะไม่ถือว่า บัลลังก์ของบ้านเมืองเป็นผลประโยชน์ส่วนตัว หรืออ้างเอาว่า อาณาจักรของโลกคือเกียรติยศส่วนตัว เกียรติยศของมนุษย์นั้นคือการมีความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งว่า สรรพสิ่งทั้งปวงเป็นหนึ่ง และชีวิตกับความตายนั้นคือสิ่งเดียวกัน

สภาพที่มีความสุขอันประเสริฐอย่างยิ่งนี้ ไม่มีความปรารถนา จิตรู้สำนึกหรือความรู้แต่อย่างใดเป็นนิมิตรหมาย แต่เป็นสภาพที่มนุษย์เป็นเหมือนเด็ก ผู้ดำเนินชีวิตของตนตามธรรมชาติอย่างบริสุทธิ์ และ “เคลื่อนไหวไปมาโดยไม่มีความรู้ว่าทำไมจะต้องหยุด… ไม่มีความรู้สึกสำนึกในสิ่งใดๆ เลย มีแต่การปรับตัวให้เข้ากับสภาพของชีวิตที่เป็นไปตามธรรมชาติเท่านั้น….” นี้คือ ชีวิตในอุดมคติของจวงจื๊อ ซึ่งจวงจื๊อเรียกว่า “การทัศนาจรที่มีความสุข (The Happy Excursion)

จากบทอภิปรายข้างต้น เราจะเห็นได้ว่าจวงจื๊อนั้นมีทรรศนะว่าการปกครองนั้นเป็นสิ่งไม่มีประโยชน์ เขาโต้แย้งว่า อารยธรรมนั้นคือโครงสร้างที่เป็นของเทียม ที่ทำหน้าที่คอยหยุดรั้งมนุษย์และป้องกันมนุษย์ไม่ให้ดำรงชีวิตตามสัญชาตญาณธรรมชาติของตน เขายืนยันว่าสังคมอันแท้จริงของมนุษย์นั้นคือสังคมดั้งเดิมที่มีคุณลักษณะแบบธรรมชาติ และมีความเป็นมนุษย์อันสุจริตแบบธรรมชาติ เหมือนดังที่มนุษย์ไม่มีความสุข เมื่อสูญเสียสภาวะตามธรรมชาติเหมือนเด็กของตนไป ฉันใด สังคมก็มีสภาพสับสน เมื่อมนุษย์พันธนาการสังคมด้วยจารีตประเพณี ข้อกำหนดทางศีลธรรมและความผูกพันทางสังคมต่างๆ

แต่จวงจื๊อ ไม่ได้ประณามว่าการสร้างอารยธรรมขึ้นมานั้นเป็นความผิดพลาดของบุคคลผู้เป็นปราชญ์

เมื่อบุคคลผู้เป็นปราชญ์ปรากฏขึ้น พวกเขาทำให้ประชาชนต้องเป็นกังวลด้วยเรื่องพิธีการและดนตรีเพื่อปรับตนให้สอดคล้องเข้ากับสิ่งทั้งสอง พวกปราชญ์ล่อหลอกประชาชนด้วยสิ่งที่เรียกว่ามนุษยธรรม และความยึดมั่นอยู่ในศีลธรรมเพื่อสนองความต้องการของพวกนักปราชญ์เอง ด้วยเหตุนี้ประชาชนจึงเริ่มพัฒนารสนิยมเพื่อแสวงหาความรู้และเริ่มต่อสู้กันและกัน เพื่อแสวงหาผลประโยชน์

พร้อมกับการเกิดขึ้นมาของสถาบันทางสังคมต่างๆ นั้น  จวงจื๊อสรุปเป็นความเห็นด้วยความโกรธว่า “ทำให้เกิดพวกนักเลงอันธพาลขึ้นมาด้วย”

เขาเปรียบเทียบการกระทำของพวกนักปราชญ์กับการกระทำของกษัตริย์แห่งแคว้นหลู ผู้ทำให้นกที่จับมาจากทะเลต้องตาย เพราะถูกเลี้ยงดูด้วยเหล้าองุ่น เนื้อ และดนตรีทางศาสนา เหตุอันน่าสลดใจนี้เนื่องมาจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของกษัตริย์แห่งหลูในเรื่อง ธรรมชาติของนก  ทำให้พระองค์ปฏิบัติต่อนกเหมือนกับว่านกเป็นบุคคลเช่นกษัตริย์

ถ้าหากว่ากษัตริย์แห่งแคว้นหลูได้ปฏิบัติต่อนกตามฐานะที่มันเป็นนกแล้วไซร้ ท่านคงจะปล่อยนกให้อยู่ในป่าทึบ ให้ท่องเที่ยวไปในที่โล่งอย่างอิสระ ให้ว่ายน้ำเล่นในลำธารและทะเลสาบ จับปลากินเป็นอาหาร บินถลาร่อนไปมา และพักผ่อนตามธรรมชาติของมันอย่างสงบ

การปกครองนั้นก็เป็นเหมือนกษัตริย์แห่งแคว้นหลู ประชาชนนั้นเป็นเหมือนนก ประชาชนก็คงจะมีแต่ความทุกข์เหมือนนก ถ้าหากจะต้องประพฤติปฏิบัติตามสิ่งที่บุคคลอื่นเห็นว่าเป็นของดีและถูกต้องสำหรับตน และก็เป็นเช่นเดียวกันกับนกที่จะทำให้เชื่องได้ก็ต้องใช้อำนาจอย่างใดอย่างหนึ่งบีบบังคับ ประชาชนก็เช่นกัน การที่จะปกครองให้ได้นั้นก็ต้องใช้อำนาจอย่างใดอย่างหนึ่งบังคับ เพราะฉะนั้นความมุ่งหมายของการปกครองก็คือการใช้อำนาจบังคับ ด้วยเหตุนี้ จวงจื๊อ จึงสรุปเป็นทรรศนะอันสำคัญว่า การปกครองที่ดีนั้นก็คือ การไม่มีการปกครองแต่อย่างใดเลยนั้นเอง

ในอุดมคติของการปกครองเช่นนั้น จวงจื๊อเจริญรอยตามทรรศนะของอาจารย์ของเขา คือเล่าจื๊อ ถึงแม้ว่าเขาจะมีเหตุผลที่แตกต่างไปจากเหตุผลของ เล่าจื๊อบ้างก็ตาม เล่าจื๊อนั้นมีเหตุผลโดยยึดหลักการว่า “การทวนวิถีนั้นคือ การเคลื่อนไหวของเต๋า” โดยมีข้อโต้แย้งว่า ยิ่งมีการปกครองมากเท่าใด ความสำเร็จก็ยิ่งมีน้อยลงเท่านั้น ส่วนจวงจื๊อนั้นเน้นความสำคัญในเรื่อง ความเจริญของมนุษย์นั้นต้องเป็นไปตามธรรมชาติอย่างอิสระ เขาเรียกร้องให้ปล่อยให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ของตนโดยลำพัง

ที่มา:สกล  นิลวรรณ