จวงจื๊อกับจริยศาสตร์

Socail Like & Share

ความเป็นไปตามธรรมชาติของชีวิตเป็นสิ่งที่ประทับใจของจวงจื๊อมากที่สุด เขามองเห็นมนุษย์ในสภาพดั้งเดิมนั้นมีความสุข แต่ต่อมามีความทุกข์ เพราะการเปลี่ยนแปลงอันเป็นการปรุงแต่งขึ้นของมนุษย์ที่พยายามจะเปลี่ยนแปลงธรรมชาติ และพยายามนำเอาความคิดเห็นของตนไปเยียดยัดให้คนอื่น จวงจื๊อกล่าวว่า

จงถนอมสิ่งที่มีอยู่ภายใต้ตัวของท่าน
จงปิดตน ให้พ้นจากสิ่งภายนอกทั้งปวง
เพราะว่าการมีความรู้มากเกินไปนั้นเป็นอัปมงคล

เขาระบุเหตุห้าประการที่นำมาซึ่งการทำลายธรรมชาติดั้งเดิมของมนุษย์
เหตุแรกคือสีทั้งห้า ซึ่งทำให้ตาพร่า และทำให้ไม่สามารถจะมองเห็นได้ชัดเจน
เหตุที่สองคือ เสียงระดับทั้งห้า ทำให้หูอื้อ และทำให้ไม่สามารถจะฟังเสียงได้ชัดเจน
เหตุที่สามคือกลิ่นทั้งห้า ที่ทิ่มแทงจมูก และทำให้ประสาทแห่งการรับรู้กลิ่นมึนชา
เหตุที่สี่คือ รสทั้งห้า ที่ประดังเข้ามาหาประสาทลิ้น จนทำให้ความไวของประสาทเชื่องช้าลง
เหตุที่ห้า คือ ความชอบและความไม่ชอบ ซึ่งทำให้หัวใจไม่อยู่กับร่องกับรอย ด้วยเหตุห้าประการนี้ สภาพตามธรรมชาติของมนุษย์จึงเสื่อมเลวทรามลง เหตุห้าประการนี้คือความชั่วห้าประการในชีวิต

ฉะนั้นจวงจื๊อ จึงให้คำแนะนำว่า

ขอให้มีความสงบใจอย่างยิ่งที่สุด และมีความบริสุทธิ์ใจอย่างยิ่งที่สุด อย่าทำให้ร่างกายต้องเมื่อยล้า หรือทำลายความกระปรี้กระเปร่าของชีวิตแล้วท่านจะมีชีวิตอยู่อย่างยืดยาวตลอดกลาง เพราะถ้าตาไม่มองดูอะไร หูไม่ฟังอะไร และวิญญาณก็จะไม่มีความรู้สึกรับรู้ร่างกาย แล้วร่างกายก็จะดำรงชีวิตอยู่ตลอดกาล

สิ่งที่มนุษย์ต้องการนั้นคือ การเข้าใจธรรมชาติของสิ่งทั้งหลายทั้งปวงว่า ชีวิตและความตายนั้นเป็นแต่เพียงส่วนหนึ่งของกระบวนการส่วนใหญ่ แห่งการทวนวิถีของวิวัฒนาการเหมือนกับการสืบต่อเนื่องของกลางวันและกลางคืน และการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลฉะนั้น

โดยอุดมคติแล้ว มนุษย์
……หารู้ไม่ว่าเรานั้นมาจากที่ใด จึงมามีชีวิตขึ้นมา และเมื่อตายไปแล้วจะไปสู่ที่ใด….ไม่ทราบว่า ชีวิตมาก่อนความตายหรือความตายมาก่อนชีวิต มนุษย์พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงไปเป็นสิ่งอื่น โดยไม่สนใจว่าตนจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นอะไร

ภาวะอันเป็นอุดมคติอันสูงส่งนี้ เมื่อกล่าวถึงเป็นตัวอย่างไว้ในเรื่องอัตชีวประวัติของจวงจื๊อ ดังนี้

ครั้งหนึ่ง จวงจื๊อ ฝันว่าตนเองเป็นผีเสื้อ บินฉวัดเฉวียนไปมา…เขารู้สึกอย่างแท้จริงว่า ตนเองนั้นเป็นผีเสื้ออย่างแท้จริง โดย…..หารู้ไม่ว่าที่แท้แล้วมันคือ จวงจื๊อ ทันใดนั้นเขาตื่นขึ้น กลับกลายเป็นจวงจื๊อคนเดิม แต่เขาก็หารู้ไม่ว่า เขานั้นคือจวงจื๊อ ฝันไปว่าตนเองเป็นผีเสื้อ หรือว่าเขานั้นคือผีเสื้อ ที่ฝันไปว่าตัวมันนั้นคือจวงจื๊อกันแน่

จวงจื๊อถือว่า ความกลัวตายเป็นบ่อเกิดอันสำคัญของความทุกข์ของมนุษย์ แต่ถ้าได้มีความเข้าใจธรรมชาติของชีวิตตามที่เขาสอนแล้ว ความกลัวตายก็จะเป็นสิ่งที่ไร้ความหมายไป เรื่องของจวงจื๊อกับหัวกะโหลก เป็นเรื่องที่เตือนใจเราถึงเรื่องความกลัวตายของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี

ครั้งหนึ่ง ขณะที่จวงจื๊อกำลังเดินทางไปสู่แคว้นฉู๋ จวงจื๊อได้พบกระโหลกคนตายอันหนึ่งอยู่ที่ข้างถนน จวงจื๊อจึงใช้แซ่ม้าของตน เคาะหัวกะโหลกนั้น พร้อมกับก้มลงไปถามว่า
“ท่านเอ๋ย ท่านต้องมามีสภาพเป็นอย่างนี้นั้น ด้วยเหตุเพราะท่านมีความทะเยอทะยานไม่รู้จักอิ่มหรือมีตัณหาอย่างไม่รู้จักประมาณ? ความล่มจมของบ้านเมืองทำให้ท่านต้องมาตายลงเพราะคมขวานและหอกดาบลงเช่นนั้นหรือ? หรือว่าท่านได้ดำรงชีวิตอยู่อย่างเลวทราม ที่ให้ชื่อสกุลต้องมัวหมอง ต้องมาจบชีวิตลงเช่นนี้ หรือว่าเพราะความหิว ความหนาว หรือเพราะความชราตามอายุขัย ทำให้ท่านต้องประสบกับชะตากรรมแห่งชีวิตเช่นนี้?

ครั้นแล้ว จวงจื๊อก็เก็บหัวกะโหลกไปหนุนศีรษะแทนหมอนนอนหลับไป ในตอนกลางคืนหัวกะโหลกนั้นปรากฏตนขึ้นในความฝันของจวงจื๊อ และเล่าใหเขาฟังถึงความสุขของบุคคลที่ตายไปแล้ว แต่จวงจื๊อไม่เชื่อคำบอกเล่าของหัวกะโหลกนั้นจึงถามไปว่า หัวกะโหลกนั้นอยากจะกลับมาเกิดมีชีวิตใหม่แล้วกลับไปยังบ้านเดิมของตนหรือไม่

เมื่อได้ฟังจวงจื๊อถามเช่นนั้น  หัวกะโหลกนั้นจึงลืมตา แล้วขมวดคิ้วขึ้น พูดว่า “ทำไมท่านถึงมาคิดว่า ข้าพเจ้าจะทิ้งความสุขที่ยิ่งใหญ่กว่าความสุขของกษัตริย์ไป เพียงเพื่อจะกลับไปสู่ความทุกข์ยากลำบากของโลกแห่งชีวิตเช่นนั้นอีกเล่า?

ผลอันเป็นวัตถุประสงค์หรืออุดมคติของชีวิตนั้น ตามทรรศนะของ
จวงจื๊อคือ ภาวะที่มนุษย์
….จะฝังทองคำไว้ที่เชิงเขา และเหวี่ยงไข่มุก ทิ้งลงทะเล มนุษย์จะไม่ต่อสู้กันเพื่อโภคทรัพย์ หรือเพื่อชื่อเสียง มนุษย์จะไม่ปิติยินดีเพราะมีอายุยืน หรือเศร้าโศกเสียใจ เพราะมีอายุสั้น มนุษย์จะไม่สุขสำราญบานใจ เพราะประสบความสำเร็จ หรือรู้สึกเป็นทุกข์เพราะไม่สมหวังมนุษย์จะไม่ถือว่า บัลลังก์ของบ้านเมืองเป็นผลประโยชน์ส่วนตัว หรืออ้างเอาว่า อาณาจักรของโลกคือเกียรติยศส่วนตัว เกียรติยศของมนุษย์นั้นคือการมีความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งว่า สรรพสิ่งทั้งปวงเป็นหนึ่ง และชีวิตกับความตายนั้นคือสิ่งเดียวกัน

สภาพที่มีความสุขอันประเสริฐอย่างยิ่งนี้ ไม่มีความปรารถนา จิตรู้สำนึกหรือความรู้แต่อย่างใดเป็นนิมิตรหมาย แต่เป็นสภาพที่มนุษย์เป็นเหมือนเด็ก ผู้ดำเนินชีวิตของตนตามธรรมชาติอย่างบริสุทธิ์ และ “เคลื่อนไหวไปมาโดยไม่มีความรู้ว่าทำไมจะต้องหยุด… ไม่มีความรู้สึกสำนึกในสิ่งใดๆ เลย มีแต่การปรับตัวให้เข้ากับสภาพของชีวิตที่เป็นไปตามธรรมชาติเท่านั้น….” นี้คือ ชีวิตในอุดมคติของจวงจื๊อ ซึ่งจวงจื๊อเรียกว่า “การทัศนาจรที่มีความสุข (The Happy Excursion)

จากบทอภิปรายข้างต้น เราจะเห็นได้ว่าจวงจื๊อนั้นมีทรรศนะว่าการปกครองนั้นเป็นสิ่งไม่มีประโยชน์ เขาโต้แย้งว่า อารยธรรมนั้นคือโครงสร้างที่เป็นของเทียม ที่ทำหน้าที่คอยหยุดรั้งมนุษย์และป้องกันมนุษย์ไม่ให้ดำรงชีวิตตามสัญชาตญาณธรรมชาติของตน เขายืนยันว่าสังคมอันแท้จริงของมนุษย์นั้นคือสังคมดั้งเดิมที่มีคุณลักษณะแบบธรรมชาติ และมีความเป็นมนุษย์อันสุจริตแบบธรรมชาติ เหมือนดังที่มนุษย์ไม่มีความสุข เมื่อสูญเสียสภาวะตามธรรมชาติเหมือนเด็กของตนไป ฉันใด สังคมก็มีสภาพสับสน เมื่อมนุษย์พันธนาการสังคมด้วยจารีตประเพณี ข้อกำหนดทางศีลธรรมและความผูกพันทางสังคมต่างๆ

แต่จวงจื๊อ ไม่ได้ประณามว่าการสร้างอารยธรรมขึ้นมานั้นเป็นความผิดพลาดของบุคคลผู้เป็นปราชญ์

เมื่อบุคคลผู้เป็นปราชญ์ปรากฏขึ้น พวกเขาทำให้ประชาชนต้องเป็นกังวลด้วยเรื่องพิธีการและดนตรีเพื่อปรับตนให้สอดคล้องเข้ากับสิ่งทั้งสอง พวกปราชญ์ล่อหลอกประชาชนด้วยสิ่งที่เรียกว่ามนุษยธรรม และความยึดมั่นอยู่ในศีลธรรมเพื่อสนองความต้องการของพวกนักปราชญ์เอง ด้วยเหตุนี้ประชาชนจึงเริ่มพัฒนารสนิยมเพื่อแสวงหาความรู้และเริ่มต่อสู้กันและกัน เพื่อแสวงหาผลประโยชน์

พร้อมกับการเกิดขึ้นมาของสถาบันทางสังคมต่างๆ นั้น  จวงจื๊อสรุปเป็นความเห็นด้วยความโกรธว่า “ทำให้เกิดพวกนักเลงอันธพาลขึ้นมาด้วย”

เขาเปรียบเทียบการกระทำของพวกนักปราชญ์กับการกระทำของกษัตริย์แห่งแคว้นหลู ผู้ทำให้นกที่จับมาจากทะเลต้องตาย เพราะถูกเลี้ยงดูด้วยเหล้าองุ่น เนื้อ และดนตรีทางศาสนา เหตุอันน่าสลดใจนี้เนื่องมาจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของกษัตริย์แห่งหลูในเรื่อง ธรรมชาติของนก  ทำให้พระองค์ปฏิบัติต่อนกเหมือนกับว่านกเป็นบุคคลเช่นกษัตริย์

ถ้าหากว่ากษัตริย์แห่งแคว้นหลูได้ปฏิบัติต่อนกตามฐานะที่มันเป็นนกแล้วไซร้ ท่านคงจะปล่อยนกให้อยู่ในป่าทึบ ให้ท่องเที่ยวไปในที่โล่งอย่างอิสระ ให้ว่ายน้ำเล่นในลำธารและทะเลสาบ จับปลากินเป็นอาหาร บินถลาร่อนไปมา และพักผ่อนตามธรรมชาติของมันอย่างสงบ

การปกครองนั้นก็เป็นเหมือนกษัตริย์แห่งแคว้นหลู ประชาชนนั้นเป็นเหมือนนก ประชาชนก็คงจะมีแต่ความทุกข์เหมือนนก ถ้าหากจะต้องประพฤติปฏิบัติตามสิ่งที่บุคคลอื่นเห็นว่าเป็นของดีและถูกต้องสำหรับตน และก็เป็นเช่นเดียวกันกับนกที่จะทำให้เชื่องได้ก็ต้องใช้อำนาจอย่างใดอย่างหนึ่งบีบบังคับ ประชาชนก็เช่นกัน การที่จะปกครองให้ได้นั้นก็ต้องใช้อำนาจอย่างใดอย่างหนึ่งบังคับ เพราะฉะนั้นความมุ่งหมายของการปกครองก็คือการใช้อำนาจบังคับ ด้วยเหตุนี้ จวงจื๊อ จึงสรุปเป็นทรรศนะอันสำคัญว่า การปกครองที่ดีนั้นก็คือ การไม่มีการปกครองแต่อย่างใดเลยนั้นเอง

ในอุดมคติของการปกครองเช่นนั้น จวงจื๊อเจริญรอยตามทรรศนะของอาจารย์ของเขา คือเล่าจื๊อ ถึงแม้ว่าเขาจะมีเหตุผลที่แตกต่างไปจากเหตุผลของ เล่าจื๊อบ้างก็ตาม เล่าจื๊อนั้นมีเหตุผลโดยยึดหลักการว่า “การทวนวิถีนั้นคือ การเคลื่อนไหวของเต๋า” โดยมีข้อโต้แย้งว่า ยิ่งมีการปกครองมากเท่าใด ความสำเร็จก็ยิ่งมีน้อยลงเท่านั้น ส่วนจวงจื๊อนั้นเน้นความสำคัญในเรื่อง ความเจริญของมนุษย์นั้นต้องเป็นไปตามธรรมชาติอย่างอิสระ เขาเรียกร้องให้ปล่อยให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ของตนโดยลำพัง

ที่มา:สกล  นิลวรรณ