สังคมในอุดมคติของม่อจื๊อ

Socail Like & Share

ปรัชญาแห่งความไม่เห็นแก่ตัว(Altruism)
ความสนใจอันสำคัญของม่อจื๊อ คือการสร้างสังคมในอุดมคติ ตามทรรศนะของม่อจื๊อนั้น สังคมในอุดมคติจะต้องยึดอยู่ในหลักการของ “การมีความรักต่อกันและกัน” และ “การแสวงหาสวัสดิการเพื่อคนอื่น” การมีความรักต่อกันและกันนั้นเป็นพื้นฐานทางทฤษฎีของปรัชญาม่อจื๊อ และการแสวงหาสวัสดิการเพื่อคนอื่นนั้นเป็นพื้นฐานทางปฏิบัติของปรัชญาม่อจื๊อ ม่อจื๊อถือว่าความไม่เห็นแก่ตัวหรือความเห็นแก่ประโยชน์ของคนอื่นนั้นเป็นรากเหง้าของคุณธรรมทั้งปวง และม่อจื๊อประกาศว่า ความรักสากลหรือความรักในมนุษยชาติทั้งปวงโดยเท่าเทียมกันนั้น เป็นหน้าที่ของมนุษย์ทุกคน นี้เป็นแก่นของปรัชญาของม่อจื๊อ

เมื่อพิจารณาตามหลักปรัชญาของม่อจื๊อแล้ว ความรักสากลนั้นมีขอบเขตและการใช้ประโยชน์กว้างขวางกว่าความรักที่เกิดจากมนุษยธรรม ตามทรรศนะของขงจื๊อ ตามทรรศนะของขงจื๊อนั้น ความรักแสดงออกเป็นระดับต่างๆ กัน ฉะนั้นความรักจึงมีขีดขั้นเป็นระดับๆ เช่น ความรักในบิดามารดา ความรักในพี่น้อง ความรักในคู่ครองของตน เป็นต้น แต่ม่อจื๊อนั้นยืนยันว่าเราควรจะมีความรักต่อเพื่อนมนุษย์โดยเท่าเทียมกันเหมือนกันทุกคน ความรักในความหมายของความรักสากลนี้ ม่อจื๊อมีความเห็นว่าจะเป็นโอกาสขนานเดียวที่จะเยียวยารักษาโลกที่เต็มไปด้วยความแก่งแย่งแข่งดีกันดังเช่นยุคสมัยของเขาได้

ในบทนิพนธ์เรื่อง ม่อจื๊อ นั้น มีข้อความอยู่สามบท ที่อุทิศให้กับเรื่องของความรักสากล ม่อจื๊อได้เริ่มการอภิปรายเรื่องความรักสากล ด้วยการกล่าวถึงอันตรายอันมหันต์ของโลก ดังนี้

…..ถ้าแคว้นใหญ่ โจมตีแคว้นเล็กแคว้นน้อย
ครอบครัวใหญ่ ทำร้ายครอบครัวเล็ก
คนแข็งแรงปล้นสะดมคนที่อ่อนแอ
กลุ่มคนที่มีจำนวนมาก กดขี่ ข่มเหง กลุ่มคนที่มีจำนวนน้อย
คนฉลาด หลอกลวงคนซื่อ
คนมียศศักดิ์ ดูหมิ่นคนชั้นผู้น้อย
….นี้คืออันตรายของโลก

แล้ว ม่อจื๊อ ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างสิ่งที่เขาเรียกว่า “ความรักที่แบ่งชั้นวรรณะ” กับ “ความรักสากล” ภายใต้ความรักที่แบ่งชั้นวรรณนะนั้น

…..บุตรจะรักตนเอง ไม่ใช่รักบิดา
ดังนั้นบุตรจะทำอันตรายบิดาเพื่อผลประโยชน์ของตน ผู้น้อยจะรักตนเอง ไม่ใช่รักผู้ใหญ่
และจะทำอันตรายผู้ใหญ่ เพื่อผลประโยชน์ของตน
เสนาบดี จะรักตนเอง ไม่ใช่รักพระเจ้าแผ่นดิน
และจะทำอันตรายพระเจ้าแผ่นดิน เพื่อผลประโยชน์ของตน

….ด้วยเหตุนี้ บิดาจึงไม่มีความรักฉันท์บิดาต่อบุตร
ผู้ใหญ่จึงไม่มีความรักฉันท์พี่น้องต่อผู้น้อย
พระเจ้าแผ่นดินจึงไม่มีความรักกรุณาต่อเสนาบดี
…..ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากหลักการแห่งความรักที่แบ่งชั้นวรรณะ
แต่ภายใต้หลักการของความรักสากลที่เท่าเทียมกันนั้น
…..บุคคลจะรักแคว้นอื่น เหมือนแคว้นของตน
บุคคลจะรักครอบครัวคนอื่น เหมือนครอบครัวของตน
บุคคลจะรักบุคคลอื่น เหมือนตัวของตน

เพราะฉะนั้น ถ้าหากพระเจ้าแผ่นดินของแคว้นทั้งหลายมีความรักต่อกันแล้ว การสงครามก็ไม่มี และถ้าเสนาบดีมีความรักต่อกันและกันแล้ว การต่อสู้เพื่อช่วงชิงอำนาจก็ไม่มี
ถ้าบุคคลทั้งหลายมีความรักต่อกันและกันแล้ว การลักขโมยก็ไม่มี…ผลก็คือ อันตรายทั้งหลายก็จะปลาสนาการไปจากโลก เพราะว่ามนุษย์ทั้งปวง ต่างมีความรักต่อกันและกัน

แล้วม่อจื๊อ ก็สรุปว่า หลักแห่งความรักสากลที่เท่าเทียมกันนั้น ควรจะเป็นมาตรฐานของการประพฤติปฏิบัติของมนุษย์ทั่วทั้งโลก ถ้าหากมนุษย์ทุกคนในโลก ประพฤติปฏิบัติตามหลักมาตรฐานของความรักสากลที่เท่าเทียมกันแล้ว

…..หูที่คอยเงี่ยฟัง ดวงตาที่คอยจ้องดูนั้น จะเกื้อกูลอนุเคราะห์กันและกัน แขนขาก็จะเสริมกำลังกันและกันเพื่อทำงานร่วมกัน และบุคคลผู้มีความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมที่ถูกต้องก็จะไม่รู้สึกเบื่อหน่ายที่จะเผยแพร่หลักธรรมคำสอนนั้นให้แก่บุคคลอื่น เช่นนี้แล้ว คนสูงอายุและหญิงหม้าย ก็จะได้รับการดูแลเลี้ยงดูตลอดไปจนสิ้นอายุขัยของตน และเด็กกำพร้าที่อ่อนแอและยากจนก็จะได้รับการอุปถัมภ์ให้มีชีวิตเจริญเติบโตขึ้นได้

กลาวอย่างสั้นๆ แล้ว นี้คือสังคมของมนุษย์ในอุดมคติของม่อจื๊อ ที่สร้างขึ้นด้วยการปฏิบัติตามหลักแห่งความรักสากลอันเท่าเทียมกันแต่อย่างเดียวเท่านั้น

ส่วนหลักแห่งการไม่รุกรานเบียดเบียนผู้อื่นนั้น เกิดสืบเนื่องขึ้นมาจากหลักการของความรักสากลอันเท่าเทียมกัน ตามทรรศนะของม่อจื๊อนั้น ท่านเห็นว่า หลักการแห่งความรักอันเท่าเทียมกันกับหลักการแห่งการไม่รุกรานเบียดเบียนผู้อื่นนั้น มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด บุคคลที่มีความรักในบุคคลอื่นนั้นจะต้องส่งเสริมสนับสนุนการไม่รุกรานเบียดเบียนบุคคลอื่นๆ และโดยกลับกันบุคคลที่ยึดมั่นในหลักการไม่รุกรานเบียดเบียนบุคคลอื่นนั้น ก็จะต้องมีความรักในบุคคลอื่นเป็นธรรมดา ม่อจื๊อได้อุทิศเนื้อที่ของหนังสือของเขาถึงสามบทเพื่ออธิบายและชี้แจงถึงหลักการแห่งการไม่รุกรานเบียดเบียนบุคคลอื่น ในบทแรกของบททั้งสามนั้น ม่อจื๊อได้ยกตัวอย่างมาประกอบการอธิบายดังนี้

สมมติว่ามีชายผู้หนึ่งขโมยผลลูกท้อ และผลลูกเกดไปจากสวนของคนอื่น ชายผู้นั้นจะต้องถูกประชาชนตำหนิ และถูกเจ้าหน้าที่ของบ้านเมืองลงโทษ ทั้งนี้เป็นเพราะว่าชายผู้นี้ประทุษร้ายต่อคนอื่นเพื่อผลประโยชน์ของตนต่อไป สมมติว่า มีชายอีกคนหนึ่งไปขโมยไก่ และหมูของบุคคลอื่น ชายผู้นี้ก็ยิ่งจะเลวยิ่งไปกว่าชายคนที่ขโมยผลลูกท้อและผลลูกเกด เพราะว่าการขโมยไก่และหมูของเขานั้นร้ายแรงกว่า การที่เขาเลวทรามกว่าคนขโมยผลไม้ ทำให้การประทุษร้ายของเขามีโทษหนักกว่า ทีนี้สมมติว่ามีชายอีกคนหนึ่งบุกรุกเข้าไปขโมยม้าและวัวของคนอื่น ชายผู้นี้ยิ่งมีศีลธรรมเลวทรามยิ่งกว่าชายคนที่ขโมยไก่และหมู….และสมมติต่อไปอีกว่า มีชายอีกคนหนึ่งไปฆ่าบุคคลที่บริสุทธิ์คนหนึ่ง ฉีกเสื้อผ้าของเขาแล้วคว้าเอาดาบไปด้วย ชายผู้นี้ยิ่งจะมีศีลธรรมเลวทรามยิ่งไปกว่าชายคนที่ขโมยม้าและวัว….เหตุการณ์ทั้งหมดนี้สำหรับบุคคลผู้มีคุณธรรมยิ่งแล้ว เห็นว่ามีความร้ายแรงเท่ากัน เพราะเป็นการฝ่าฝืนศีลธรรมอันดีทั้งหมด ทีนี้เจ้าผู้ครองแคว้นต่างๆ ยกกองทัพไปโจมตีแคว้นอื่น แต่กลับไม่มีผู้ใดตำหนิท่าน ซ้ำร้ายยิ่งไปกว่านั้น กลับไปสรรเสริญยกย่องท่านว่าท่านได้กระทำการอันถูกต้องตามทำนองคลองธรรมเสียอีก ถ้าเช่นนั้นแล้ว เราจะกล่าวได้อย่างไรว่า ความชอบธรรมกับความไม่ชอบธรรมนั้นมีลักษณะแตกต่างกันเล่า?….เช่นนี้ก็เหมือนกับกรณีที่ว่าชายคนหนึ่งไม่เคยเห็นสีดำเลย แต่เรียกสีที่เขาเห็นว่าเป็นสีดำ แต่ต่อมาเขาเห็นสีดำจริงๆ เข้า ซึ่งแตกต่างจากสีที่เขาเรียกว่าเป็นสีดำ เขาจึงเรียกมันว่าเป็นสีขาว หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง สมมติว่ามีชายคนหนึ่งไม่เคยลิ้มรสขมเลย แต่เขาก็รู้ว่ารสขมเป็นอย่างไร แต่ถ้าเขาคุ้นเคยกับการชิมรสขมบ่อยๆ เขาอาจจะเรียกรสขมนั้นว่ารสหวานก็ได้ โดยเหตุผลทำนองเดียวกันนี้ เราจึงตำหนิการทำผิดเล็กๆ น้อยๆ ของบุคคล แต่กลับไปสรรเสริญแคว้นที่ทำสงครามรุกรานแคว้นอื่นว่าเป็นการปฏิบัติตามทำนองคลองธรรม อย่างนี้เราจะกล่าวได้อย่างไรว่า ความชอบธรรมกับความไม่ชอบธรรมนั้น แตกต่างกัน? แต่บุคคลผู้มีคุณธรรมยิ่งแล้ว จะต้องเข้าใจได้ว่า ความชอบธรรมกับความไม่ชอบธรรมนั้นแตกต่างกันอย่างไร

ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว บุคคลผู้ปรารถนาจะเลิกสงครามนั้น มิใช่มีแต่ม่อจื๊อคนเดียว ในยุคสมัยที่เต็มไปด้วยการแก่งแย่งชิงดีกันและกัน ทั้งภายในแคว้นของตนและระหว่างแคว้นต่างๆ นั้น มีบุคคลจำนวนไม่น้อยที่หันมาสนใจในปัญหาเรื่องนี้ ยกตัวอย่างในปี 551 ก่อน ค.ศ. ได้มีการประชุมปรึกษาหารือกันเพื่อจะตำหนิการทำสงครามระหว่างแคว้นต่างๆ ขึ้น ซึ่งต่อมาได้มีข้อเสนอให้จัดแบ่งอาณาจักรจีนทั้งหมดออกเป็นเขตอิทธิพลสองเขต เขตตะวันออกเป็นเขตที่อยู่ในอำนาจของแคว้นฉี๋ (Ch’i) เขตตะวันตกเป็นเขตที่อยู่ในอำนาจของแคว้นฉิ๋น (Ch’in) แต่เรื่องการแบ่งเขตนี้เป็นเรื่องของทางการเมืองเป็นส่วนใหญ่ ฉะนั้นจึงเหลือตกมาเป็นหน้าที่ของม่อจื๊อ ที่จะต้องดำเนินการขั้นที่แน่นอนและเกิดผลต่อไปให้ได้  ม่อจื๊อได้กระทำไม่แต่เพียงสั่งสอนและเผยแพร่ทฤษฎีของตนเท่านั้น แต่ม่อจื๊อและสานุศิษย์ของตนยังได้เตรียมตัวเพื่อจะป้องกันพิทักษ์บุคคลที่ได้รับเคราะห์กรรมจากากรสงครามด้วย มีเรื่องเล่าว่า ม่อจื๊อเมื่อได้ทราบว่าแคว้นฉู๋ซึ่งเป็นแคว้นใหญ่มีกำลังกองทัพใหญ่โต เตรียมจะเข้าบุกรุกแคว้นซุง (Sung) นั้น ม่อจื๊อต้องเดินทางเป็นเวลาถึงสิบวันสิบคืนไปยังแคว้นฉู๋ (Ch’u) เพื่อชักจูงให้เจ้าผู้ครองแคว้นฉู๋ ระงับความประสงค์ที่จะทำสงคราม ขณะเดียวกันม่อจื๊อได้มอบหมายให้สานุศิษย์ผู้ที่ชำนาญการรบ มีจำนวนประมาณสามร้อยคน พร้อมด้วยอาวุธป้องกันที่เขาได้คิดประดิษฐ์ขึ้นไว้ให้ประจำอยู่บนกำแพงเมืองของแคว้นซุง เพื่อรอป้องกันการโจมตีของกองทหารของแคว้นฉู๋ด้วย

ที่มา:สกล  นิลวรรณ