ชีวิตและงานนิพนธ์ของหยางจื๊อ

Socail Like & Share

หยางจื๊อ
“อะไรคือสิ่งที่ทำให้ชีวิตมีค่าควรแก่การดำรงอยู่เล่า?
สิ่งเหล่านั้นก็คือ การสนองความต้องการทางเนื้อหนัง เช่น ความเกษมสำราญจากอาหารและเครื่องแต่งกาย ความชื่นชมยินดี ในดนตรีและสิ่งสวยงามต่างๆ
จาก บทนิพนธ์ เหลีย จื๊อ บทที่ว่าด้วย “หยางจื๊อ”

หยางจื๊อ (Yang Chu)
สิ่งที่ทำให้หยางจื๊อยังคงติดอยู่ในความจำของบุคคลทั่วไปอยู่ก็คือ คำสอนของเขาเรื่องความรักตัวเอง และการแสวงหาความเกษมสำราญทางกาม ถึงแม้ว่าการจะจัดความคิดทางปรัชญาของหยางจื๊อว่าอยู่ในปรัชญาสำนักใด จะกระทำได้ยากก็ตาม แต่ดูเหมือนว่าปรัชญาของเขาค่อนข้างจะใกล้ชิดไปทางปรัชญาเต๋า เพราะว่าเขามีปรัชญาว่าชีวิตนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ต้องอาศัยจริยธรรม และมีความเชื่อว่า ความตายของบุคคลนั้นเป็นเรื่องของชะตากรรมของชีวิต

ดูเหมือนว่า มรณกรรมของเล่าจื๊อ นำไปสู่การแบ่งแยกปรัชญาเต๋าออกเป็นสองสำนัก สำนักที่หนึ่งมีผู้แทนคือ จวงจื๊อตามที่เราได้ทราบมาแล้วว่า เขาแปลความหมายของ เต๋า ว่าเป็นภาวะที่เป็นไปเองตามธรรมชาติอย่างสมบูรณ์ยิ่งของสรรพสิ่งทั้งปวงในสากลโลก ปล่อยให้สรรพสิ่งทั้งปวงเป็นไปตามวิถีทางแห่งธรรมชาติของมัน สำนักปรัชญาเต๋าสำนักนี้อาจจัดเอาได้ว่าเป็นปรัชญาเต๋าลักษณะธรรมชาตินิยม (naturalistic Taoism) ส่วนสำนักที่สองคือ สำนักของหยางจื๊อ เขามีความเห็นว่า เต๋า เป็นพลังงานทางธรรมชาติที่มืดบอด อันเป็นสิ่งที่สร้างโลก หาใช่ด้วยการมีแผนการที่แสดงเจตน์จำนงอันใดแต่อย่างใดไม่ แต่ด้วยโดยการบังเอิญ หรือ โดยภาวะบังคับที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ปรัชญาสำนักนี้คือ ปรัชญาเต๋าลักษณะวัตถุนิยม (materialistic Taoism) ทรรศนะของปรัชญาทั้งสองลักษณะนี้ มีบันทึกไว้ในบทนิพนธ์ของนักปรัชญาเต๋า ซึ่งเป็นบุคคลในสมัยปรัมปรา มีชื่อว่า เหลีย จื๊อ (Lieh Tzu)

ชีวิตและงานนิพนธ์
เรื่องราวของชีวิตของหยางจื๊อนั้น เป็นที่รู้กันน้อยมาก เขาเป็นชาวเมืองแคว้นเจา (Chao) ปัจจุบันคือมณฑลชานสี (Shansi) แคว้นเจาเป็นแคว้นหนึ่งในบรรดาแคว้นเล็กๆ สามแคว้น ที่แตกออกมาจากแคว้นซิน (Tzin) การแตกสลายของแคว้นซินเป็นสามแคว้นนี้ ทำให้เกิดการเริ่มต้นของยุคสมัยแห่งการรบของแคว้นต่างๆ (480-222 ก่อน ค.ศ.) หยางจื๊อมาจากครอบครัวที่มีฐานะเป็นที่เคารพนับถือกันมาก ซึ่งอาจสืบสาวเหล่ากอได้ไปจนถึงราชวงศ์โจว (Chou) บิดาของเขา เป็นราชบุตรองค์เล็กของพระเจ้าซ่วน (King Hsuan) ซึ่งมีพระชนมายุอยู่ระหว่างปี 827-781ก.ค.ศ. เป็นเจ้าผู้ครองแคว้นหยาง (Yang) ซึ่งต่อมาถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นซิน ฉะนั้นจึงมีเหตุผลพอที่จะสันนิษฐานได้ว่า หยางจื๊อ มีทรัพย์สมบัติมากพอที่จะไม่ต้องทำการงานอันใด และสามารถใช้เวลานั้นเพื่ออุทิศชีวิตให้แก่การแสวงหาความรู้ทางปรัชญา และก็มีเหตุผลเพียงพอที่จะกำหนดได้ว่าหยางจื๊อนั้น มีชีวิตอยู่ระหว่างศตวรรษที่ห้า กับศตวรรษที่สี่ ก่อน ค.ศ. ในบทนิพนธ์เรื่อง ไฮว หนัน จื๊อ (Huai-Nan Tzu) นั้น มีข้อความแสดงนัยว่า หยางจื๊อมีอายุอ่อนกว่า ม่อจื๊อ (Mo Tzu) ซึ่งมีชีวิตอยู่ระหว่างปี 468-390 ก.ค.ศ. และมีอายุแก่กว่า เม่งจื๊อ (Mencius) ซึ่งมีชีวิตอยู่ระหว่างปี 372-289 ก.ค.ศ.

หยางจื๊อ เป็นผู้คัดค้านปรัชญาของมอจื๊อ และเม่งจื๊อ เป็นผู้คัดค้านปรัชญาของหยางจื๊อ

หลักฐานที่ให้ความรู้เกี่ยวกับปรัชญาของหยางจื๊ออันเดียวที่เรามีอยู่นั้น มีลักษณะที่น่าสงสัย คือ ข้อความบทหนึ่งที่ปรากฏในนิพนธ์ของปรัชญาเต๋า มีชื่อว่า เหลีย จื๊อ ที่เราได้กล่าวถึงในตอนต้น แต่ความคิดอันเป็นหลักปรัชญาของหยางจื๊อนั้นอาจจะพบได้อีกในบทนิพนธ์อื่นๆ ของปรัชญาเต๋า

หลักคำสอนของหยางจื๊อ-ความเชื่อในชะตากรรม
คำสอนของหยางจื๊อนั้น เป็นคำสอนที่สืบเนื่องมาจากหลักคำสอนเรื่อง หวู เว่ย (การไม่ทำอะไร) หยางจื๊อกล่าวว่า สิ่งทั้งปวงที่บังเกิดขึ้นในโลกจักรวาลนั้น มีชะตากรรมเป็นเครื่องกำหนดมาก่อนทั้งสิ้น ชีวิตและความตาย ความสำเร็จและความล้มเหลว โภคทรัพย์และอำนาจ ทั้งหมดนี้ถูกกำหนดโดยชะตากรรมทั้งสิ้น สิ่งที่เรียกว่าเจตน์จำนงอันอิสระ แผนการ หรือความมุ่งหมาย ไม่ว่าจะเป็นของพระเจ้าหรือของมนุษย์นั้น ไม่มีบทบาทเข้ามาเกี่ยวข้องแต่อย่างใดเลย หลักความเชื่อในชะตากรรมนี้ เป็นข้ออ้างที่ดีสำหรับมนุษย์ที่จะปล่อยตนให้กับการแสวงหาความเกษมสำราญได้อย่างเต็มที่ ในบทนิพนธ์เรื่อง เหลีย จื๊อ นั้นมีข้อความอยู่บทหนึ่ง ชื่อว่า “ความพยายามและชะตากรรม” นั้นได้ให้เรื่องราวประกอบความหมายของความเชื่อในชะตากรรมได้เป็นอย่างดี

ความพยายามกล่าวกับชะตากรรมว่า “ความสำเร็จของท่านหาเท่าเทียมกับความสำเร็จของข้าพเจ้าไม่”

ชะตากรรมจึงย้อนถามว่า “กรุณาเล่าเรื่องความสำเร็จของท่านให้ข้าพเจ้าฟังบ้างจะได้หรือไม่ เผื่อว่าท่านจะได้เปรียบเทียบกับความสำเร็จของข้าพเจ้าได้?”

ความพยายามกล่าวตอบว่า “ทำไมจะไม่ได้เล่า ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จหรือโภคทรัพย์ต่างอยู่ในความควบคุมของข้าพเจ้าทั้งสิ้น”

เมื่อได้ฟังดังนั้น ชะตากรรมจึงโต้ว่า “สติปัญญาของ เป้งจื๊อ (peng Tzu) ก็ไม่ได้เกินสติปัญญาของพระเจ้าเย้าและพระเจ้าซุ่น (กษัตริย์นักปราชญ์ ในสมัยปรัมปรา) แต่เป้งจื๊อ ก็ยังมีชีวิตอยู่นานถึงแปดร้อยปี ความสามารถของ เย็นหยวน (Yen Yuan) สานุศิษย์คนโปรดของขงจื๊อ ก็ไม่ด้อยไปกว่าความสามารถของบุคคลทั่วไป แม้กระนั้นเขาก็ตายไปตั้งแต่เมื่ออายุสามสิบสองปี คุณธรรมของขงจื๊อก็ไม่ต่ำต้อยไปกว่าเจ้าผู้ครองแคว้นคนใดเลย แต่ถึงกระนั้น ขงจื๊อก็ยังต้องมาตกระกำลำบากไม่มีอะไรจะกิน เมื่ออยู่ในแคว้นเจน (Chen) และแคว้นไซ (Tsai) ความประพฤติของพระเจ้าเจ๋า (Chow) กษัตริย์ผู้เลวทรามของแคว้นชาง (Shang) ก็ไม่ดีไปกว่าความประพฤติของบรรดาเสนาบดีของท่าน แต่ท่านก็ยังได้เป็นกษัตริย์ผู้ครองแคว้น…ถ้าหากว่าสิ่งเหล่านี้อยู่ในอำนาจของความพยายามของท่านแล้วไซร้ ไฉนท่านจึงปล่อยให้เป้งจื๊อมีอายุถึงแปดร้อยปี และให้เย็นหยวน มีอายุสั้นเพียงสามสิบสองปี ไฉนท่านจึงทำให้ท่านปรมาจารย์ขงจื๊อ ต้องตกระกำลำบาก และให้คนที่ไม่มีคุณธรรมประสบความเจริญรุ่งเรือง ไฉนท่านจึงทำให้บุคคลผู้มีสติปัญญาต้องได้รับความอดสู และคนโง่กลับได้รับการสรรเสริญยกย่องให้มีเกียรติ คนดีกลับยากจน และคนชั่วช้าสามานย์กลับเจริญด้วยโภคทรัพย์เล่า?”

ความพยายามแย้งว่า “ถ้าหากว่า การณ์เป็นไปดังท่านว่าแล้วไซร้ ข้าพเจ้าก็คงไม่มีอำนาจควบคุมเหนือเหตุการณ์ทั้งหลายได้จริง ถ้าเช่นนั้นก็เป็นเพราะการจัดแจงของท่านละซี่ ที่ทำให้สิ่งต่างๆ ทั้งหลายเป็นไปในสภาพการณ์ดังกล่าว?”

ตรงจุดนี้ ชะตากรรมจึงได้ตอบว่า “ชื่อของคำว่าชะตากรรมนั้น ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ไม่มีการจัดแจงแต่อย่างใด เมื่อหนทางมันตรงข้าพเจ้าก็ดันมันไป ถ้าหนทางมันคดข้าพเจ้าก็ให้มัดคดไป อายุยืนหรืออายุสั้น ความล้มเหลวหรือความสำเร็จ การมียศศักดิ์สูงหรือมีฐานะต่ำ ความมั่งมีและความยากจน ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติของมันด้วยตัวของมันเอง อะไรคือเหตุที่ทำให้มันต้องเป็นไปในสภาพเช่นนั้น ข้าพเจ้าไม่อาจทราบได้ ไฉนมันจึงไม่เป็นไปในลักษณะอื่น บ้างเล่า?”

ฉะนั้น สิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่บังเกิดขึ้นมาในโลกนี้ จึงเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดมาก่อนทั้งสิ้นและเป็นสิ่งที่อยู่เหนืออำนาจการควบคุมของความพยายามของมนุษย์ สิ่งที่เราจำเป็นจะต้องทำก็คือดำรงชีวิตของเราให้สอดคล้องกับชะตากรรมของเรา และเมื่อดำรงชีวิตตามชะตากรรมของเราแล้ว ก็จะเพิ่มรสชาติของชีวิตลงไปในชะตากรรมนั้น ด้วยการแสวงหาความเกษมสำราญจากชีวิตให้เต็มที่ ข้อโต้แย้งของหยางจื๊อนั้น ถือเอา การสังเกตเห็นความไม่แน่นอนของชีวิตเป็นหลัก

ขอบเขตของชีวิตอันยืนยาวของมนุษย์นั้น คือหนึ่งร้อยปี

แต่ก็ไม่มีบุคคลใดแม้แต่หนึ่งในพัน ที่บรรลุถึงได้

และถึงแม้เราจะมีอายุยืนถึงหนึ่งร้อยปี หยางจื๊อแย้ง ชีวิตส่วนใหญ่ของเราก็จะใช้หมดไปในวัยของทารกที่ปราศจากความรู้สึก สำนึกอันใดกับวัยชรา ที่หมดไปเพราะการนอนความเจ็บป่วย ความทุกข์ ความเศร้าโศก และความหวาดกลัว ผลก็คือ

ไม่มีเวลาใดแม้แต่ชั่วโมงเดียวที่จะปราศจากความกังวล ถ้าเช่นนั้น ชีวิตนี้จะมีอยู่เพื่อประโยชน์อันใดกัน? และความสุขของชีวิตนั้นคืออะไร? ความสุขของชีวิตนั้น คือ อาหารอันโอชะ เสื้อผ้าอันสวยงาม ดนตรีที่ไพเราะ และสิ่งสวยงามเจริญตาเจริญใจทั้งปวง

ผลก็คือ ปรัชญาแห่งการแสวงหาความเกษมสำราญ เพราะว่าโลกตามที่เรารู้จักนั้นคือโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง โลกแห่งความไม่แน่นอน ชื่อเสียงและคำสรรเสริญเป็นของไม่จีรังยั่งยืน หนทางอันกว้างใหญ่ที่จะนำชีวิตไปสู่ความสุขนั้นคือ การสนองความอยากในทางกาม เช่นความเกษมสำราญจากอาหาร และเครื่องแต่งกาย การชื่นชมยินดีในดนตรีและความงามทั้งปวง หยางจื๊อ สรุปความคิดเห็นของเขาลงอย่างหนักแน่นว่า

ภาวะที่สิ่งทั้งหลังมีความแตกต่างกันนั้น คือชีวิต
ภาวะที่สิ่งทั้งหลายมีความเหมือนกันนั้น คือ ความตาย
ในชีวิตมีแต่ความแตกต่าง ดังเช่นระหว่างความฉลาดกับความโง่เขลา เกียรติยศกับความชั่วช้าสามานย์ แต่ในความตายนั้น มีอยู่ก็แต่เพียงความเสมอภาคแห่งความเน่าเปื่อยผุพัง อันเป็นสิ่งที่ไม่มีผู้ใดจะหลีกเลี่ยงหนีได้
…….บางคนตายเมื่ออายุสิบปี บางคนตายเมื่ออายุหนึ่งร้อยปี คนฉลาด คนมีเมตตากรุณาก็ต้องตายอย่างเดียวกันกับคนโง่เง่าและคนโหดร้ายอำมหิต เพราะฉะนั้น ขอให้เราจงเร่งขวนขวายหาความอภิรมย์จากชีวิตอย่าสนใจในเรื่องของความตายเลย

หนทางที่ดี ที่จะแสวงหาความอภิรมย์จากชีวิตนั้น คือ
….ปล่อยชีวิตให้เป็นไปอย่างเสรี อย่าไปขัดขวาง หรือฉุดรั้งไว้…ปล่อยให้หูฟังสิ่งที่มันชอบ ปล่อยให้ตาดูสิ่งที่มันปรารถนา ปล่อยให้ปากได้พูดสิ่งที่มันพอใจ ปล่อยให้กายได้สัมผัสกับสิ่งที่มันต้องการ ปล่อยให้จิตใจจินตนาการตามที่พึงประสงค์

ยิ่งสนองความอยากได้มากเท่าไร ชีวิตก็ยิ่งมีค่าควรแก่การดำรงมากยิ่งขึ้นเท่านั้น ฉะนั้น การขัดขวางความอยากจึงเป็น…..บ่อเกิดของความรำคาญอันปวดร้าวอย่างยิ่ง การทำลายบ่อเกิดของความรำคาญที่ว่านี้ แล้วใช้ชีวิต แสวงหาความเกษมสำราญอย่างสงบ ชั่ววัน ชั่วเดือน ชั่วปี จนกว่าจะถึงวาระแห่งความตาย นั้นคือ ความหมายของการใช้ชีวิตอย่างเกษมสำราญ

ที่มา:สกล  นิลวรรณ