หยางจื๊อกับอุดมคติแห่งอัตนิยม

Socail Like & Share

อุดมคติของชีวิต-อัตนิยม ทุกอย่างเพื่อตนเอง
อุดมคติแห่งอัตนิยม หรือทุกอย่างเพื่อตนเองนี้คือ สาระสำคัญของปรัชญาของหยางจื๊อ เป็นปรัชญาที่ยึดหลักของความคิดที่สำคัญสองประการ ประการแรกคือ “แต่ละคนเพื่อตนเอง” ความคิดประการที่สองคือ “รังเกียจวัตถุสิ่งของ และยกย่องคุณค่าของชีวิต” เหตุผลที่อยู่เบื้องหลังอุดมคติอันนี้ มีปรากฏอยู่ในเรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้

ฉิ๋น จื๊อ (Ch’in Tzu) ถามหยางจื๊อว่า “ถ้าท่านยอมให้ถอนขนกายของท่านมาเส้นหนึ่ง แล้วท่านจะสามารถช่วยโลกให้ปลอดภัย ท่านยินดีจะให้หรือไม่?”

หยางจื๊อ ตอบว่า “โลกไม่ใช่สิ่งที่จะช่วยให้รอดได้ด้วยขนกายเพียงหนึ่งเส้น”

ฉิ๋น จื๊อ ถาม “แต่สมมติว่ามันช่วยได้ล่ะ ท่านจะยินยอมให้ขนกายของท่านหนึ่งเส้นไหมล่ะ?”

หยางจื๊อไม่ตอบ ฉิ๋นจื๊อจึงไปถามเม่งซุนหยาง (Meng Sun Yang) เม่งซุนหยางตอบว่า “ท่านไม่เข้าใจความคิดของท่านปรมาจารย์หยางจื๊อ ข้าพเจ้าจะอธิบายให้ฟัง สมมติว่าถ้าจะลอกผิวเนื้อของท่านออกมา แล้วจะให้เงินแก่ท่านเป็นทองคำหมื่นแท่งท่านจะเอาไหมล่ะ?”

ฉิ๋น จื๊อ ตอบว่า “ข้าพเจ้ายินดีจะเอา”
“สมมติว่า ถ้าตัดขาข้างหนึ่งของท่าน แล้วจะให้อาณาจักรแก่ท่าน ท่านจะเอาไหม?”
เม่งซุนหยาง ถามต่อไป
ฉิ๋นจื๊อ นิ่งเงียบ
ครั้นแล้ว เม่งซุนหยางจึงตอบว่า “ขนกายเส้นหนึ่งไม่มีความสำคัญอันใด เมื่อเปรียบเทียบกับผิวหนัง และผิวหนังไม่มีความสำคัญอันใด เมื่อเปรียบเทียบกับแขนขา แต่อย่างไรก็ตาม แต่เมื่อเอาขนกายทั้งหมดมารวมกันเข้า มันก็จะมีความสำคัญเท่ากับผิวหนัง และผิวหนังทั้งหมดรวมกันเข้า ก็จะมีความสำคัญเท่ากับแขนขา เพราะฉะนั้นขนกายหนึ่งเส้นก็เท่ากับหนึ่งในหมื่นส่วนของร่างกายเช่นนั้นแล้ว เราจะถือว่าขนกายนั้นไม่มีความสำคัญได้อย่างไร?”

ปรัชญาอัตนิยม หรือการทำทุกสิ่งเพื่อตนเองนี้ ได้รับอิทธิพลมาจากปรัชญาเต๋าด้วยตามทรรศนะของหยางจื๊อนั้น โลกจักรวาลอันยิ่งใหญ่มีลักษณะเป็นมูลสสาร (substance) อันใหญ่ และตัวตนของมนุษย์นั้นเป็นมูลสสารอันเล็กที่เกิดจากมูลสสารอันใหญ่นั้น กายของเราเป็นรูปแบบของมูลสสารอันเล็ก รูปแบบนั้นไม่อาจจะคงอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง แต่ต้องอาศัยมูลสสารเป็นหลักมูลสสารนั้นมีสัจจภาวะของมันเอง สำหรับหยางจื๊อนั้น ถือว่าสัจจภาวะของมูลสสารมีลักษณะสมบูรณ์อยู่ในตัวของมัน คือสิ่งที่เรียกว่าอัตตา เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่ามนุษย์เรานั้นจะมีรูปแบบแตกต่างกัน แต่เนื้อแท้หรือมูลสสารของมนุษย์ทั้งหมดเป็นมูลสสารอันเดียวกัน ถ้ามนุษย์ทั้งปวงแสวงหาความเกษมสำราญต่างๆ ตามลักษณะที่แตกต่างของตนแล้ว มนุษย์ก็จะมีความพอใจ และโลกก็จะมีสันติสุขและความสมานฉันท์กลมกลืนกัน ด้วยเหตุนี้ หยางจื๊อจึงมีหลักปรัชญาว่า “แต่ละคนเพื่อตนเอง” ถ้ากล่าวเป็นหลักการฝ่ายบวกก็คือ “บุคคลแต่ละคนต้องดูแลเอาใจใส่ธุรกิจของตน” ถ้ากล่าวเป็นหลักการฝ่ายลบก็คือ “จงอย่าเข้าไปยุ่งเกี่ยวในเรื่องของคนอื่น” หลักการอันนี้ สอดคล้องกันเป็นอย่างดีกับหลักตรรกวิทยาของปรัชญาเต๋าทั้งหมด

ในบทเรื่อง หยางจื๊อ ในหนังสือเรื่อง เหลียจื๊อ นั้น ได้มีข้อความบันทึกว่า หยางจื๊อ กล่าวว่า

มนุษย์ในอดีตกาลนั้น ถึงแม้ว่าการทำลายเส้นขนเพียงหนึ่งเส้นเพื่อเป็นการทำประโยชน์ให้แก่โลก เขาก็จะไม่ยอมทำ ถึงแม้ว่าจะยกโลกทั้งหมดนี้ให้เป็นสมบัติส่วนตัวของเขา เขาก็จะไม่ยอมรับ เพราะว่าไม่มีบุคคลใดจะยอมทำลายเส้นขนแม้แต่เพียงเส้นเดียว และไม่มีบุคคลใดจะยอมทำประโยชน์อันใดเพื่อเป็นเจ้าของโลก เพราะฉะนั้นโลกจึงเป็นโลกที่มีความสงบเรียบร้อยอย่างสมบูรณ์

ทรรศนะอันนี้ ชี้ให้เห็นถึงปรัชญาอัตนิยมในอีกลักษณะหนึ่ง คือ หลักการแห่ง “การรังเกียจสิ่งของและยกย่องคุณค่าของชีวิต” เหตุผลของหลักการอันนี้มีปรากฏอยู่ในข้อความต่อไปนี้

มนุษย์ดำรงชีวิตอยู่ในโลก มีธรรมชาติประกอบด้วยธาตุทั้งห้า เป็นสัตว์ที่มีสติปัญญาเป็นเลิศในหมู่สัตว์ทั้งปวง แต่จะใช้แขนขาป้องกันตนเองก็ไม่ได้ จะใช้ผิวกายป้องกันการโจมตีก็ไม่ได้ จะวิ่งหนีอันตรายก็ไม่พ้น มนุษย์ไม่มีขน ไม่มีปีกที่จะใช้ต่อต้านความร้อนความหนาว มนุษย์ต้องอาศัยสิ่งต่างๆ เป็นอาหาร ธรรมชาติของมนุษย์มิใช่เป็นไปเพื่อใช้กำลัง แต่เพื่อใช้เหตุผลเป็นสิ่งที่มีค่า เพราะว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายในตัวมนุษย์เอง ส่วนพลังนั้น เป็นสิ่งที่ไม่มีค่า เพราะว่าเป็นสิ่งที่นำเข้ามาจากภายนอกตัว

ในทำนองเดียวกัน “เส้นขนเส้นเดียว” คือสิ่งที่ “เกิดขึ้นมาจากภายในตัวของตนเอง” เพราะฉะนั้นจึงเป็นสิ่งที่มีค่า “โลกคือสิ่งที่ “นำเข้ามาจากภายนอกตัว” เพราะฉะนั้นจึงเป็นสิ่งที่ไม่มีค่า

นอกจากนั้นแล้ว หยางจื๊อโต้แย้งว่า
มนุษย์ไม่สามารถจะดำรงชีวิตอยู่อย่างสบายได้ เพราะว่ามนุษย์ปรารถนาสิ่งสี่ประการ คือ อายุยืน ชื่อเสียง ยศศักดิ์ และโภคทรัพย์ ซึ่งเมื่อได้มาแล้ว จะทำให้มนุษย์ต้องกลัวผี กลัวคน กลัวผู้มีอำนาจ และกลัวโทษทัณฑ์ เพราะฉะนั้น มนุษย์จึงขัดกับธรรมชาติ…. และถูกครอบงำโดยสภาพการณ์ภายนอกทั้งหลาย แต่ถ้ามนุษย์ดำรงชีวิตคล้อยตามชะตากรรม มนุษย์คงจะไม่ปรารถนาสิ่งทั้งสี่นี้…มนุษย์จะเป็นบุคคลที่คล้อยตามธรรมชาติและถูกควบคุมโดยอัตตา ซึ่งอยู่ภายในตัวของตน

ทรรศนะของหยางจื๊อ ดังกล่าวนี้ เป็นผลพลอยได้ตามธรรมดาของความรู้สึกอันรุนแรงที่หยางจื๊อมีต่อโลก ในฐานะที่โลกคือ สภาพที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงและความแปรปรวน เขาให้เหตุผลว่า การที่มนุษย์มาเป็นกังวลอยู่แต่ วัฏจักรของชีวิตที่มีแต่ความแปรปรวนไม่แน่นอนนั้น ทำให้มนุษย์ไม่สามารถจะหวังอะไรได้มากจากชีวิต

ทรรศนะในอุดมคติของหยางจื๊อนั้น ถึงแม้จะต้องเผชิญกับความลึกลับอันใหญ่ยิ่งที่สุดของชีวิต คือความลึกลับแห่งความตายก็ตาม ก็ยังแสดงออกมาให้เห็นได้ชัดเจน ในข้อความต่อไปนี้

เพราะว่า ชีวิตมีอยู่ ก็จงปล่อยชีวิตให้เป็นไปตามวิถีทางแห่งธรรมชาติของมัน ฉะนั้นจงแสวงหาหนทางตอบสนองความอยาก ก่อนที่ความตายจะมาถึง เพราะว่าความตายนั้น กำลังคืบคลานใกล้เข้ามา จงปล่อยให้ความตายเป็นไปตามวิถีทางแห่งธรรมชาติของมัน ฉะนั้นจงแสวงหาความเกษมสำราญให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะแสวงหาได้….ไฉนเราจะต้องมากังวลทำไมว่าความตายจะมาถึงเมื่อไร ทำไมกัน?

ความรู้สึกนึกคิดของหยางจื๊อ ในลักษณะนี้ ทำให้เราระลึกถึง เอปิคูรัส (Epicurus) ผู้กล่าวว่า

….ความรู้อันถูกต้องของความจริงที่ว่าความตายนั้นไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องมาเป็นกังวล ทำให้เราเกิดความรู้สึกว่าความตายนั้นเป็นสิ่งที่รื่นรมย์สำหรับเรา เพราะเหตุว่าความตายไม่ได้กำหนดเวลาอันแน่นอนให้เราได้ทราบ เพราะฉะนั้นความปรารถนาที่อยากจะมีชีวิตเป็นอมตะของเราก็ไม่มี ในบรรดาความเลวร้ายที่น่าสะพรึงกลัวที่สุดของมนุษย์ อันได้แก่ความตายนั้น จะไม่มีความหมายอันใดแก่เราเลย เพราะว่าตราบใดที่เรายังมีชีวิตอยู่ ตราบนั้นความตายก็ยังไม่ปรากฏให้เราเห็นและเมื่อความตายปรากฏขึ้น เราก็ไม่มีชีวิตอยู่ที่จะได้เห็นความตายเลย

เพราะฉะนั้น มนุษย์ผู้ปราศจากความกลัวในเรื่องของความตาย จึงไม่มีความกังวลอันใด นอกจาก “แสวงหาความเกษมสำราญจากความงามทั้งหลายของชีวิตให้เต็มที่ และสุขเกษมเปรมปรีดิ์กับปัจจุบันจนถึงที่สุด” เท่านั้นเอง

ที่มา:สกล  นิลวรรณ