ทรรศนะทางสังคมของหยางจื๊อ

Socail Like & Share

ทรรศนะทางสังคมและการเมือง-เอกัตถบุคคลนิยม(Individualism)

ผลของทรรศนะทางปรัชญาที่ว่า มนุษย์ควรจะดำรงชีวิตตามชะตากรรมของตน อดทนและแสวงหาความสุขให้ได้มากที่สุดจากชะตากรรมของตน โดยไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวในเรื่องกิจการของบุคคลอื่นนั้น ทำให้
หยางจื๊อมีความเห็นต่อไปว่า ไม่ควรจะมีหลักแห่งจริยธรรมและกฎเกณฑ์ทางสังคมอันใดที่เป็นเครื่องพันธนาการมนุษย์ ที่ขัดกับความปรารถนาของมนุษย์ เพราะว่าความเกษมสำราญเป็นวัตถุประสงค์ประการเดียวของชีวิต การที่จะกำหนดหลักจริยธรรมและกฎเกณฑ์ทางสังคมบังคับมนุษย์จากภายนอกนั้น เป็นสิ่งที่ทำลายล้างวัตถุประสงค์อันสำคัญของชีวิตของมนุษย์หมด ไม่มีอะไรในชีวิตของมนุษย์ที่เลวทราม ไม่มีอะไรในชีวิตของมนุษย์ที่ชั่วช้าสามานย์ ตราบใดที่สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นสามารถสนองความกระหายในความเกษมสำราญของมนุษย์ได้  กฎหมายและหลักเกณฑ์เป็น “อุปสรรคที่ขวางกั้นความเกษมสำราญ” เพราะฉะนั้นจึงเป็น “บ่อเกิดของความรำคาญใจที่เจ็บปวดอย่างยิ่งที่สุด”

มนุษย์ถูกเตือน ถูกกระตุ้น โดยการลงโทษและการให้รางวัล ถูกฉุดรั้งให้ชาลงด้วยเกียรติยศ ชื่อเสียง และกฎหายทำให้เป็นบุคคลที่มีแต่ความกระวนกระวายใจอยู่ตลอดเวลา…การที่มนุษย์ต้องมาใคร่ครวญถึงสิ่งที่ตนควรจะฟัง ควรจะมองดู ควรจะกระทำ และควรจะคิดนั้นทำให้มนุษย์ต้องสูญเสียความเกษมสำราญที่ควรจะได้รับ และไม่สามารถปล่อยตัวให้สนองความอยากทางเนื้อหนังของตนได้เช่นนั้นแล้วมนุษย์จะแตกต่างไปจากอาชญากรที่ถูกล่ามโซ่ไว้ที่ตรงไหน?

อุดมคติของหยางจื๊อในเรื่องบุคคลผู้มีสติปัญญานั้น ไม่ใช่บุคคลผู้เป็นปราชญ์ แต่เป็นบุคคลที่อยู่ในวิถีแห่งโลกียสุข มุ่งหน้าเพื่อแสวงหาความเกษมสำราญแต่ประการเดียวไม่มีกฎเกณฑ์ อำนาจ หรือประเพณีอันใดมาขัดขวางยับยั้งแต่อย่างใด เพราะฉะนั้นสังคมจึงเป็นสิ่งที่ขัดขวางหนทางแห่งปัญญา ความคิดของหยางจื๊อเรื่องการกลับคืนสู่สภาพแห่งชีวิตที่เรียบง่ายแบบดั้งเดิมนั้น เป็นความคิดของปรัชญาเต๋าที่บริสุทธิ์ หยางจื๊อได้ก้าวไปไกลกว่านั้นอีกก้าวหนึ่ง โดยต้องการให้สนองความอยากอันเป็นธรรมชาติของมนุษย์เพิ่มขึ้น

สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ ผลของปรัชญานิยมเอกัตภาพแห่งบุคคลอย่างรุนแรง และความเห็นแก่ประโยชน์ตนเองอย่างที่สุดนั้นเป็นสิ่งทำลายบ้านเมือง ทำลายสถาบัน ทำลายอำนาจ ทำลายขนบธรรมเนียมประเพณีทั้งหลายที่เคยมีมาแต่เดิมจนหมด นี้เป็นหนทางที่ง่ายที่สุดที่จะแก้ไขปัญหาอันสลับซับซ้อนของโลก แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าเราพิจารณาปัญหาทั้งหลายในด้านทรรศนะของบุคคลผู้แสวงหาอำนาจและประโยชน์และ คำสอนของหยางจื๊อในเรื่องเอกัตภาพของบุคคลนั้น ก็เป็นสิ่งที่ชวนให้มีความเห็นคล้อยตามได้ง่าย

บทวิจารณ์
ความเกษมสำราญ คือ พื้นฐานอันสำคัญทั้งหมดของปรัชญาของ

หยางจื๊อ ส่วนทรรศนะอื่นๆ นั้น เป็นแต่เพียงความพยายามที่จะแปลความหมายของความเกษมสำราญออกไปเท่านั้นเอง จากการสร้างปรัชญาแห่งความเกษมสำราญของหยางจื๊อนี้อง ต่อมาได้กลายเป็นจุดบกพร่องของปรัชญาของหยางจื๊อ

ในประการแรก หยางจื๊อ มีความเห็นว่าความเกษมสำราญนั้น ต้องเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัด เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อสนองความต้องการของตน ปัญหายุ่งยากอันสำคัญก็คือ เมื่อเกิดความต้องการขึ้นหลายอย่างนั้น ความขัดแย้งกันของความต้องการหลายๆ อย่างนั้นก็เกิดขึ้นด้วยดูเหมือนว่า หยางจื๊อจะจำแนกความเกษมสำราญในปัจจุบัน กับความเกษมสำราญในระยะไกล และความเกษมสำราญทางกาย กับความเกษมสำราญทางจิตใจ ถึงแม้กระนั้นปัญหาที่ยุ่งยากก็ยังมีอยู่ ตามทรรศนะของหยางจื๊อนั้น ถึงแม้ว่าเราจะเลือกเอาความเกษมสำราญในปัจจุบันมากกว่า ความเกษมสำราญในระยะไกล และความเกษมสำราญทางกายมากกว่าความเกษมสำราญทางจิตใจ ก็ตาม ก็ยังมีความขัดแย้งกันอยู่ในระหว่างความต้องการที่แตกต่างกัน และในระหว่างบุคคลที่มีความต้องการ หยางจื๊อดูเหมือนจะมองข้ามข้อเท็จจริงข้อนี้ไป หยางจื๊อไม่ได้พยายามแสวงหาภาวะสมดุล ระหว่างความต้องการของมนุษย์กับการสนองความต้องการของมนุษย์ หยางจื๊อมีความต้องการแต่เพียงว่าต้องสอนงความต้องการของมนุษย์ให้ได้โดยสมบูรณ์ ผลก็คือ ทรรศนะทางจริยธรรมของขงจื๊อ มาสิ้นสุดลงที่การดำรงชีวิตชนิดที่ปล่อยตัวตามความอยาก จนปราศจากความพอดี เป็นทรรศนะที่ต่อต้านกับการดำรงชีวิตแบบมัชฌิมาปฏิปทา

ประการที่สอง หยางจื๊อต้องการความเกษมสำราญในปัจจุบัน ที่สามารถจะสนองได้โดยตรงทันทีทันใด มากกว่าความเกษมสำราญที่ได้มาโดยวิธีการที่อ้อมค้อม แต่ความเกษมสำราญนั้น ไม่ว่าจะเป็นปัจจุบันขนาดไหน ก็มีจุดหมายปลายทางอยู่ในตัวของมันเอง วิธีการที่นำไปสู่จุดหมายนั้น ในบางครั้งก็เป็นวิธีการที่ต้องใช้ความตั้งใจและเหน็ดเหนื่อย บุคคลที่พยายาม เพื่อให้บรรลุจุดหมายอย่างใดอย่างหนึ่งโดยไม่ยอมเสียสละสิ่งใดเลยนั้น ก็คือการปฏิเสธตนเองไม่ให้บรรลุถึงจุดหมายที่ตนต้องการ นี้คือเหตุผลที่นักปรัชญาของนักปรัชญาเอปิคูเรียน (Epicureans) พยายามจะขยายปรับปรุงปรัชญาของนักปรัชญาพวกซีเรนาอิคส์ (Cyrenaics) โดยขยายความว่า ความมุ่งหมายประการเดียวของชีวิตนั้นคือ การไม่มีความทุกข์ การมีจิตใจอันสูงสง่า ซึ่งเป็นภาวะแห่งความเกษมสำราญอันแท้จริง หยางจื๊อไม่สนใจในความสุขของชีวิตในด้านฝ่ายลบเลยก็ไม่ เพราะเขากล่าวว่า

จงใช้ชีวิตอย่างสุขสำราญ และแสวงหาความสบายอย่างเต็มที่ เพราะว่าบุคคลผู้รู้จักใช้ชีวิตของตนอย่างสุขสำราญนั้น จะไม่มีวันยากจน บุคคลผู้ใช้ชีวิตอย่างสบายนั้นจะไม่มีความต้องการในทรัพย์สมบัติอันใดอีกเลย

ถึงแม้หยางจื๊อจะมีทรรศนะแบบนักปรัชญาเอปิคูเรียน ดังกล่าวมาแล้ว แต่หยางจื๊อก็มีความเห็นโน้มเอียงไปในปรัชญาเกษมสำราญที่เป็นฝ่ายบวกมากกว่าเป็นสิ่งที่ให้ความสุขอย่างเข้มข้น และมีพลังมากกว่าปรัชญาเกษมสำราญที่เป็นฝ่ายลบ

อุดมคติของหยางจื๊อในเรื่องของความสุข ไม่ได้ฝืนหลักของการกลับคืนไปสู่ “สวรรค์ที่สูญสิ้นไป” หรือ การยืนยันว่าจะได้รับชีวิตอันอมตะ แต่ถือหลักว่าจะแสวงหาความเกษมสำราญเอา ณ ที่นี่และในขณะนี้ ถ้าหากว่าสามารถแสวงหาความเกษมสำราญได้ดังนี้แล้ว มนุษย์ก็จะอยู่ในสภาพที่ไม่ยึดมั่นในอดีต ไม่ฝากความหวังไว้กับอนาคต แต่จะชื่นชมยินดีกับชีวิตในปัจจุบัน จนกว่ากระทั่งจะถึงวันตาย

สภาพเช่นนี้ อาจเป็นสภาพที่ดี แต่เป็นสภาพที่ไม่ค่อยจะแจ่มใส เพราะว่ามนุษย์ผู้มีอุดมคติ คือการแสวงหาความสุขสำราญนั้น มักจะมีทรรศนะของตนเจือปนด้วย ความรู้สึกที่มองโลกไปในแง่ร้ายอย่างอ่อนๆ อยู่ด้วย คำสอนของหยางจื๊อเป็นคำสอนที่ขัดแย้งกับคำสอนของขงจื๊อ ที่ย้ำความสำคัญของจริยธรรม และขัดแย้งกับคำสอนของม่อจื๊อ ที่ย้ำความสำคัญของการดำรงชีวิตอยู่อย่างแบบสมถะ ความรู้สึกที่มองโลกในแง่ร้าย ที่แฝงอยู่ในปรัชญาของหยางจื๊อนั้น ไม่สามารถจะตอบสนองความต้องการของชีวิตประจำวัน อันแท้จริงของมนุษย์ที่มีอยู่ตลอดเวลาได้เลย

ที่มา:สกล  นิลวรรณ