ม่อจื๊อกับปรัชญาแห่งประโยชน์นิยม

Socail Like & Share

ปรัชญาแห่งประโยชน์นิยม(Utilitarnism)
ความคิดที่เป็นฐานทั้งหมดของม่อจื๊อนั้น คือความคิดเรื่องประโยชน์ของสาธารณะซึ่งเป็นเครื่องนำเขาให้เผยแพร่ความคิดเรื่องการถือเอาผลประโยชน์และอันตรายว่าเป็นมาตรฐานสำหรับการพิจารณาความผิดชอบชั่วดี ม่อจื๊อกล่าวว่า

ผลประโยชน์คือสิ่งที่เราพอใจอยากได้อยากมี
อันตราย คือสิ่งที่เราไม่พอใจอยากได้อยากมี

คำสอนทั้งสองนี้ ต้องการคำอธิบายเพิ่มต่อไปอีก ตามทรรศนะของม่อจื๊อนั้นเห็นว่าสิ่งที่ก่อให้เกิดผลดีมากกว่าผลร้ายถือว่าเป็นผลประโยชน์ สิ่งที่ก่อให้เกิดผลร้ายมากกว่าผลดีถือว่าเป็นอันตราย ม่อจื๊อกล่าวว่า

การตัดนิ้วมือทิ้งไปเพื่อรักษาแขนได้นั้น คือการถือเอาผลประโยชน์มากที่สุด โดยมีอันตรายน้อยที่สุด การมีอันตรายน้อยที่สุดเช่นนั้นไม่ใช่การได้รับอันตราย แต่เป็นการถือเอาประโยชน์มากที่สุด

ความหมายในที่นี้คือ เราต้องเสียสละผลประโยชน์ของเราถ้าหากการเสียสละนั้นจะนำไปสู่การได้รับผลประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่กว่าในบั้นปลาย

ในทรรศนะของม่อจื๊อนั้น เขามีความเห็นอีกต่อไปว่า สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนจำนวนมากที่สุดนั้นคือ ผลประโยชน์และสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนจำนวนน้อยที่สุดนั้นคือ อันตรายดังจะขอยกตัวอย่าง

….ยาที่สามารถรักษาคนป่วยในจำนวนหมื่นคนให้หายได้เพียงสี่คนหรือห้าคนนั้น ไม่สามารถจะเรียกได้ว่าเป็นยารักษาโรคที่ดีได้

ในทำนองเดียวกัน

…..ถึงแม้ว่าการสงครามจะทำให้เกิดประโยชน์แก่บางประเทศ ประมาณสี่หรือห้าประเทศก็ตาม แต่เราก็ไม่อาจถือเอาได้ว่า การทำสงครามเป็นนโยบายที่ประเทศควรกระทำ

ในทางตรงกันข้าม
….ถ้าบุคคลทำลายชีวิตของตนเพื่อเห็นแก่ประโยชน์ของโลก การทำลายชีวิตของบุคคลผู้นั้นถือว่าเป็นประโยชน์

ทรรศนะอันนี้คือ ความเห็นที่ เจเรมี เบนแทม (Jeremy Bentham) ในสมัยหลังจากม่อจื๊ออย่างมากมาย เรียกว่า “มหาประโยชน์แห่งมหาชน-The greatest good of the greatest number”

ในการแก้ไขปัญหาขัดแย้งกันระหว่างผลประโยชน์กับอันตรายนั้น ม่อจื๊อ มีความเห็นว่า

เราถือประโยชน์มากที่สุด…และ….มีอันตรายน้อยที่สุดเป็นหลัก

ในการที่จะปฏิบัติตามหลักการอันนี้ จำเป็นจะต้องมีมาตรฐานที่เป็นรูปแบบอยู่ภายนอกเพื่อใช้วินิจฉัยผลประโยชน์และอันตราย นอกเหนือไปจากสิ่งที่เราได้กล่าวถึงมาแล้ว ด้วยเหตุนี้ม่อจื๊อ จึงกล่าวว่า

ในการทดสอบข้อโต้แย้งนั้น เรามีมาตรฐานอยู่สามอย่าง คือ…สืบสาวเรื่องราว ตรวจสอบพิจารณา และลองนำมาใช้ จะสืบสาวเรื่องราวของข้อโต้แย้งนั้นได้ที่ไหน? สืบสาวเรื่องราวข้อโต้แย้งนั้นว่ามีความสัมพันธ์สอดคล้องกับคติของกษัตริย์ผู้เป็นนักปราชญ์ในสมัยอดีตหรือไม่ จะตรวจสอบพิจารณาข้อโต้แย้งนั้นได้ที่ไหน จงตรวจสอบพิจารณาข้อโต้แย้งนั้นกับข้อเท็จจริงที่สามัญชนทั่วไปได้เห็นได้ยินมาแล้วจะลองนำข้อโต้แย้งนั้นมาใช้ได้อย่างไร? จงนำมาลองปฏิบัติดูว่าข้อโต้แย้งนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศและประชาชนมากน้อยอย่างไร

ที่จริงแล้วมาตรฐานทดสอบข้อโต้แย้งทั้งสามประการนี้ คือวิธีการของการศึกษาสามประการนั้นเอง คือ การศึกษาโดยวิธีประวัติศาสตร์ การศึกษาโดยการทดสอบพิสูจน์ และการศึกษาโดยปฏิบัติเพื่อหาประสิทธิผล วิธีการศึกษาโดยวิธีประวัติศาสตร์ประกอบด้วยการถือเอาหลักฐานของอดีตมาเป็นเกณฑ์วัด วิธีการศึกษาโดยการพิสูจน์ทดลองนั้นคือการตรวจสอบและการพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่มีอยู่ในปัจจุบัน และการศึกษาโดยปฏิบัติเพื่อหาประสิทธิผลนั้น ก็คือการคาดคะเนถึงผลที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

ในบรรดาวิธีการทั้งสามประการนี้ วิธีการที่สำคัญที่สุดนั้นคือ วิธีการปฏิบัติเพื่อประสิทธิผล ตามทรรศนะของม่อจื๊อนั้นสิ่งที่ให้คุณประโยชน์นั้นคือ สิ่งที่ชอบธรรมและสิ่งที่มีคุณค่าหรือจะพูดอีกนัยหนึ่งว่าสิ่งที่ไม่มีประโยชน์และเป็นอันตรายนั้น คือ สิ่งที่ไม่ชอบธรรมและเป็นสิ่งที่ไม่มีคุณค่า ด้วยเหตุนี้ ม่อจื๊อจึงประเมินค่าของสิ่งต่างๆ โดยการใช้หลักของผลประโยชน์ที่จะเกิดแก่ประเทศและประชาชนเป็นเกณฑ์

ข้าพเจ้าถามพวกสาวกในลัทธิขงจื๊อว่า ท่านมีดนตรีไว้เพื่อประโยชน์อันใด พวกนั้นตอบว่า “ดนตรีเป็นการพักผ่อนหย่อนใจ”

ข้าพเจ้าจึงกล่าวกับพวกเขาว่า “พวกท่านไม่ได้ตอบคำถามของข้าพเจ้าเลย ถ้าข้าพเจ้าถามท่านว่า ทำไมท่านจึงสร้างบ้าน แล้วพวกท่านตอบว่า บ้านนั้นสร้างขึ้นเพื่อป้องกันความหนาวในฤดูหนาว และป้องกันความร้อนในฤดูร้อน และเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยแยกต่างหากกันของคนต่างเพศ อย่างนี้แปลว่า ท่านให้เหตุผลของการสร้างบ้านแก่ข้าพเจ้า แต่เมื่อข้าพเจ้าถามท่านว่าทำไมท่านจึงต้องมีดนตรี แล้วท่านตอบว่า ดนตรีคือ การพักผ่อนหย่อนใจอย่างหนึ่ง เช่นนี้ ก็เท่ากับท่านตอบว่าบ้านก็คือบ้าน นั่นเอง

กล่าวโดยสรุปแล้ว
หลักคำสอนใดที่สามารถนำไปปฏิบัติได้ผลเท่านั้นที่เป็นหลักคำสอนที่ควรยกย่องนับถือ หลักคำสอนใดที่ไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้ผลได้นั้น เป็นแต่เพียงกลุ่มของถ้อยคำเท่านั้นเอง

แต่ปัญหาก็ยังคงมีอยู่ว่า อะไรคือสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศและแก่ประชาชน? ตามทรรศนะของม่อจื๊อนั้น คำตอบของเขาคือโภคทรัพย์และประชากร การเพิ่มพูนปริมาณของโภคทรัพย์และปริมาณของประชากร คือ หัวใจของการปกครองบ้านเมืองที่ดี ในเรื่องของการเพิ่มพูนปริมาณของโภคทรัพย์นั้น ม่อจื๊อกล่าวว่า

เมื่อกษัตริย์ผู้เป็นนักปราชญ์ปกครองบ้านเมืองนั้น โภคทรัพย์ของบ้านเมืองจะเพิ่มพูนเป็นทวีคูณ การที่โภคทรัพย์ของบ้านเมืองเพิ่มพูนเป็นทวีคูณขึ้นนั้นไม่ใช่จากการทำให้คนอื่นจนลง แต่เป็นเพราะการปรับปรุงบ้านเมืองโดยการใช้ให้เป็นประโยชน์มากขึ้น และการตัดทอนรายจ่ายที่ไร้ประโยชน์ลง

“การปรับปรุงบ้านเมืองโดยการใช้ให้เป็นประโยชน์มากขึ้น” นั้นคือ การเพิ่มผลผลิต และ “การตัดทอนรายจ่ายที่ไร้ประโยชน์ลง” นั้นคือ การมัธยัสถ์ เพราะฉะนั้นการเพิ่มผลผลิตและการมัธยัสถ์ จึงเป็นสิ่งจำเป็นของการเพิ่มพูนโภคทรัพย์ของบ้านเมือง

ในเรื่องของการเพิ่มจำนวนประชากรนั้น ม่อจื๊อกล่าวว่า

เรื่องของประชากรนั้น การจะเพิ่มจำนวนให้เป็นทวีคุณนั้นเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก แต่ก็มีหนทางที่จะทำได้ กษัตริย์ผู้เป็นนักปราชญ์ได้ออกกฎหมายว่า “เมื่อชายมีอายุถึงสิบห้าปีแล้วจะต้องมีคู่ครอง” …..ถ้าเราออกกฎหมายให้ประชาชนทั้งหมดแต่งงานเมื่ออายุน้อย เช่นนี้แล้วจำนวนประชากรจะไม่ทวีเป็นสองเท่าได้อย่างไร?

สำหรับขงจื๊อนั้น อายุมาตรฐานสำหรับชายที่จะแต่งงานนั้นคือสามสิบปี และสำหรับหญิงนั้นคือยี่สิบปี ม่อจื๊อเห็นว่าถ้าประชาชนแต่งงานเร็วขึ้นกว่าเกณฑ์อายุที่ขงจื๊อกำหนดไว้แล้วเมื่อนั้น…..โดยเฉลี่ยแล้ว สามีภรรยาคู่หนึ่งจะให้กำเนิดบุตรหนึ่งคนในเวลาทุกๆ สามปี ภายในระยะเวลาสิบปี สามีภรรยาคู่นั้นจะให้กำเนิดบุตรได้ถึงสามคน

โดยการถือเอาว่าการเพิ่มพูนโภคทรัพย์และประชากรนั้น คือมหาประโยชน์ของบ้านเมืองและของประชาชนเช่นนี้แล้ว ม่อจื๊อดำเนินการต่อไปโดยการต่อต้านเรื่องความหรูหราฟุ่มเฟือย ประเพณีเผาศพที่สิ้นเปลือง ระยะเวลาของการไว้ทุกข์อันยาวนาน ตลอดทั้งพิธีการศักดินาทั้งหลายและดนตรี ซึ่งเกี่ยวพันกับการหมดเปลืองเงินทองทั้งสิ้น เงินทองที่สิ้นเปลืองไปโดยเปล่าประโยชน์เหล่านี้ ควรจะนำมาใช้จ่ายเพื่อหาอาหารและเครื่องนุ่งห่มของประชาชนพลเมืองมากกว่า ม่อจื๊อ ได้เขียนโจมตีพิธีการฝังศพอันฟุ่มเฟือยหรูหราที่ปฏิบัติกันในยุคสมัยของเขาว่า

แม้แต่สามัญชนธรรมดาตายลง ค่าใช้จ่ายในการทำพิธีศพนั้น ก็มากมายจนทำให้ครอบครัวยากจนลงแทบจะเป็นคนขอทาน แต่เมื่อผู้ปกครองบ้านเมืองตายลงแล้วจะต้องนำเอาทองและหยก ไข่มุกดีและเพชรนิลจินดามาวางไว้ข้างพระศพ ห่อพระศพด้วยผ้าแพรพรรณอันวิจิตร พร้อมทั้งนำเอารถเทียมม้า พร้อมทั้งโต๊ะ เก้าอี้ กลอง ตุ่มไห ถ้วยชาม ขวานมีด ม่าน ฉาก ธง และวัตถุต่างๆ ที่ทำด้วยงาและหนัง เข้าไปฝังบรรจุไว้ในที่ฝังศพด้วยแล้ว เมื่อนั้นท้องพระคลังของบ้านเมืองก็แทบจะหมดเกลี้ยงไม่มีทรัพย์สินอันใดเหลืออยู่เลย

การปฏิบัติตามประเพณีและพิธีการต่างๆ จนเป็นการทำลายทรัพย์สมบัติของบ้านเมือง ในลักษณะเช่นนี้ ตามทรรศนะของม่อจื๊อนั้น เป็นความเลวทรามอย่างที่สุดอย่างหนึ่งของยุคสมัยนั้น

ที่มา:สกล  นิลวรรณ