ชีวิตและงานนิพนธ์ของม่อจื๊อ

Socail Like & Share

ม่อจื๊อ
“ความรักสากลอันเท่าเทียมกัน นั้นคือ
บ่อเกิดของสันติสุขของโลก
ความรักที่แบ่งชั้นวรรณะนั้น คือ
บ่อเกิดความหายนะของโลก”
บทนิพนธ์เรื่อง ม่อจื๊อ บทที่ 16

ม่อจื๊อ(Mo Tzu)
ในสมัยโบราณ ชื่อเสียงของ ม่อจื๊อ หรือ ม่อตี่ (Mo Ti) ผู้ก่อกำเนิดสำนักปรัชญาม่อจื๊อ นั้น มีความสำคัญมากพอๆ กับชื่อเสียงของขงจื๊อ คำสอนของม่อจื๊อ ก็มีอิทธิพลไม่ด้อยไปกว่าคำสอนของขงจื๊อแต่อย่างใด

สิ่งที่แตกต่างไปจากนักปรัชญาคนอื่นๆ ที่เราได้พิจารณามาแล้วนั้น ก็คือ ม่อจื๊อนั้น เป็นบุคคลที่มาจากชนชั้นที่ต่ำที่สุดของสังคม ผลงานอันสำคัญที่ม่อจื๊อสร้างขึ้นนั้นคือ ปรัชญาที่ถือคติแห่งประโยชน์ของชนส่วนใหญ่เป็นหลักสำคัญ จากหลักการอันนี้ ม่อจื๊อได้สร้างความคิดอันสมบูรณ์เกี่ยวกับสังคม รัฐ และศาสนาขึ้น เขามีความคิดขัดแย้งกับการมีพิธีการอันหรูหราของระบบศักดินา เขาเป็นผู้เผยแพร่คำสอนเรื่องความรักและเมตตาต่อบุคคลทั้งปวง ความคิดของเขาแต่ละอย่างทำให้สำนักปรัชญาขงจื๊อและปรัชญาเต๋า มีความโกรธแค้นเป็นอย่างยิ่ง

ชีวิตและงานนิพนธ์
ชีวิตของม่อจื๊อ ก็เหมือนกันกับชีวิตของบุคคลสำคัญอื่นๆ ในสมัยโบราณ คือ เต็มไปด้วยความมืดมน แม้กระทั่งชื่อของเขาก็เป็นเรื่องที่ยังไม่แน่นอน ทฤษฎีที่ยอมรับกันไปนั้น กล่าวว่า ม่อ นั้นเป็นชื่อสกุลของเขา และคำว่า ม่อ นี้ใช้หมายถึงสำนักปรัชญาหนึ่งที่มีความหมายทำนองเดียวกันกับ คำว่า “cynic-นักเสียดสีสังคม” ซึ่งเป็นสำนักปรัชญาของกรีกที่ก่อตั้งขึ้นโดยแอนติสเทนิส (Antisthenes) ความหมายเดิมของคำว่า “ม่อ” นั้นคือ “รอยสัก” ซึ่งเป็นลักษณะของการทำโทษพวกทาสอย่างหนึ่ง พวกทาสในสมัยโบราณนั้นเป็นอาชญากรหรือไม่ก็เป็นเชลยสงครามและมักจะอาศัยอยู่กันในท้องถิ่นเฉพาะของตนในเมืองใหญ่ๆ ต่อมาพวกเหล่านี้ ได้รับการฝึกฝนให้เป็นช่างฝีมือในงานหัตถกรรมบางอย่าง เพราะฉะนั้นจึงมีความเชื่อกันว่า พวกผู้นิยมในปรัชญาม่อจื๊อในสมัยโบราณนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นพวกช่างฝีมือ และ ม่อจื๊อเองก็เป็นช่างฝีมือคนหนึ่ง โดยมีรอยสักเป็นเครื่องหมายแสดง ในทำนองเดียวกันคำว่า ตี่ นั้นก็ไม่ใช่ชื่อตัวของเขา เพราะคำว่า ตี่ อาจหมายความว่า “ขนนก” ก็ได้ เพราะกล่าวกันว่า ม่อจื๊อ ผู้มีรอยสักนั้น ชอบปักขนนกตามธรรมเนียมของคนชาวชนบททั่วไป อย่างไรก็ตาม จากหลักฐานทั้งปวงที่มีอยู่ แสดงให้เห็นว่า ม่อจื๊อนั้นเป็นบุคคลที่มาจากสังคมชั้นต่ำ เรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญที่เราจะต้องระลึกถึงตลอดเวลาที่ศึกษาปรัชญาของม่อจื๊อ

เรื่องเกี่ยวกับเวลาเกิด เวลาตายของม่อจื๊อนั้น เรายังไม่มีความรู้ที่แน่นอน โดยคร่าวๆ แล้ว ม่อจื๊อ คงจะเกิดในเวลาระหว่างปี 480 กับ 465 ก่อน ค.ศ. และคงจะถึงแก่กรรมในระหว่างปี 390 กับ 375 ก่อน ค.ศ. ถึงแม้ว่าเวลาดังกล่าวจะเป็นเวลาที่คาดเอาโดยประมาณ แต่ก็พอจะทำให้เราทราบได้ว่า ม่อจื๊อนั้นมีชีวิตอยู่หลังขงจื๊อ แต่เป็นคนรุ่นเดียวกันกับหยางจื๊อ และมีอายุแก่กว่าเม่งจื๊อ

เกี่ยวกับสถานที่เกิดของม่อจื๊อนั้น มีหลักฐานที่ยืนยันเป็นที่ยอมรับกันทัวไปว่า ม่อจื๊อ เป็นผู้มีกำเนิดอยู่ในแคว้นหลูเหมือนกันกับขงจื๊อและเม่งจื๊อ เราทราบว่า ม่อจื๊อเคยรับราชการในตำแหน่งเล็กๆ ตำแหน่งในแคว้นซุง (Sung) และเขาเคยเดินทางท่องเที่ยวไปอย่างกว้างขวางถึงแคว้นฉี๋ (Ch’i) และแคว้นฉู๋ (Ch’u) อันเป็นแคว้นที่เขาถึงแก่มรณกรรมลง

เรื่องราวของชีวิตในวัยเยาว์ของม่อจื๊อ มีผู้รู้กันน้อยมาก เราทราบก็แต่ว่า เขาเคยศึกษาอยู่กับครูในลัทธิขงจื๊อ ชื่อ ซี จุย (Shih Chiu) ฉะนั้นเราอาจสันนิษฐานได้ว่า ม่อจื๊อนั้น มีความรู้ในปรัชญาขงจื๊อ และมีความคุ้นเคยกับผู้ที่นิยมเชื่อถือในปรัชญาขงจื๊อผู้มีชีวิตอยู่ในรุ่นเดียวกันกับเขา ถ้าเราสันนิษฐานเอาเช่นนี้แล้ว เรื่องดูเหมือนจะเป็นว่าต่อมา ม่อจื๊อ เกิดความเบื่อหน่ายในปรัชญาขงจื๊อ จนถึงขนาดที่ว่าเขาแยกตัวออกมาตั้งสำนักปรัชญาของเขาขึ้นเอง ในบทนิพนธ์เรื่อง ไฮว่ หนัน จื๊อ (Huai Nan Tzu) ซึ่งเป็นงานนิพนธ์ที่เขียนขึ้นในศตวรรษที่สองก่อน ค.ศ. นั้น เราอ่านพบข้อความว่า

ม่อจื๊อได้ศึกษาอยู่กับผู้นับถือปรัชญาขงจื๊อ และได้ศึกษาคำสอนของขงจื๊อจากบุคคลเหล่านั้น แต่ต่อมาเขาพบว่าพิธีการทั้งหลายแบบศักดินานั้น เป็นเรื่องที่น่ารำคาญและพิถีพิถันเกินความจำเป็น พิธีฝังศพ เป็นพิธีที่ฟุ่มเฟือย เป็นการทำลายเศรษฐกิจของประชาชน ระยะเวลาของการไว้ทุกข์ก็นานเกินไป ทำให้สูญเสียสวัสดิการของประชาชน เพราะฉะนั้น ม่อจื๊อ จึงเลิกทิ้งธรรมเนียมของราชวงศ์โจว แล้วหันมารับเอาธรรมเนียมของราชวงศ์เซี่ย

ถึงแม้ว่าคำสอนของขงจื๊อและของม่อจื๊อ จะแตกต่างกันอย่างมากมาย แต่นักปรัชญาทั้งสองท่านต่างก็ได้แรงบันดาลใจมาจากกษัตริย์นักปราชญ์ในสมัยโบราณเหมือนกัน ขงจื๊อนั้นมีมหาอุปราชแห่งแคว้นโจวเป็นแบบอย่าง ส่วนม่อจื๊อนั้น ยกย่องนับถือพระเจ้ายู้ (Yu) ผู้สถาปนาราชวงศ์เซี่ยในสมัยปรัมปรา (ประมาณปี 2305-1766 ก่อน ค.ศ.) เป็นแบบอย่าง พระเจ้ายู้ ผู้นี้เองที่เป็นบุคคลผู้สามารถต่อสู้แก้ไขภัยจากน้ำท่วมใหญ่ของเมืองจีนได้

ความสำเร็จของพระเจ้ายู้นั้น ยิ่งใหญ่ไม่มีอะไรจะเทียบได้ พละกำลังของพระเจ้ายู้นั้นช่างมหาศาลเสียเหลือเกิน ถ้าไม่มีพระเจ้ายู้แล้ว พวกเราทั้งหมดคงกลายเป็นปลาไปเสียแล้ว

นอกจากพระเจ้ายู้จะเป็นผู้ป่วยประชาชนให้พ้นจากอุทกภัยแล้ว พระเจ้ายู้ยังมีชื่อเสียงในด้านเสียสละความสุขส่วนตนเพื่อส่วนรวม และมีความจงรักภักดีต่อหน้าที่ของตน เล่ากันว่า ขณะที่พระเจ้ายู้ทรงต่อสู้กับอุทกภัยอยู่นั้น พระองค์ทรงใช้ความคิดในเรื่องการแก้ไขอุทกภัยอยู่เป็นอย่างมากจนไม่ทรงสนใจในเรื่องข้าวปลาอาหาร และการแต่งกายแต่อย่างใดเลย พระองค์ทรงเดินเข้าเดินออกจากประตูบ้านของพระองค์ถึงสามครั้ง แต่ก็ไม่ได้ยินเสียงร้องไห้ของบุตรชายทารกน้อยของพระองค์เลย เราได้รับคำบอกเล่าว่า “พระเจ้ายู้นั้น ทรงถือเอาการกรำฝนเป็นการอาบน้ำ ถือเอาสายลมที่พัดผ่านมาเป็นหวีสยายผม ถือเอาความทุกข์ทนและความยากลำบากจากการเดินทางเป็นเครื่องนวดเนื้อตัวให้นุ่ม”

น้ำใจและความรู้สึกนึกคิดของพระเจ้ายู้ มีลักษณะตรงกันกับน้ำใจและความรู้สึกนึกคิดของม่อจื๊อ ผู้มาจากชนชั้นต่ำของสังคม เขาจึงสอนและเผยแผ่ปรัชญาแห่งชีวิตที่มีลักษณะแบบสมถะเข้มงวด อันเป็นลักษณะของชนชั้นต่ำผู้ขัดสน ที่จริงแล้วม่อจื๊อไม่ได้ทำ เพียงสั่งสอนและเผยแพร่ความคิดเห็นของตนแต่อย่างเดียว แต่เขาดำรงชีวิตของตนด้วยความมีวินัยอันเข้มงวด และการทรมานตนเอง เขาและสานุศิษย์ของเขาพร้อมที่จะเผชิญความทุกข์ยากลำบากทุกชนิดเพื่อประโยชน์และความสุขของเพื่อนมนุษย์ เพราะน้ำใจและความรู้สึกอันเสียสละต่อส่วนรวม อันนี้เองที่ทำให้ม่อจื๊อ มีชื่อเสียงเลื่องลือถ่ายทอดมาถึงคนรุ่นหลัง ทำนองเดียวกันกับพระเจ้ายู้ ว่าเป็นบุคคลที่ยินดีทนทุกข์ยากลำบากเพื่อมนุษย์ชาติ ถึงแม้กายของตนจะต้องทนทุกข์ลำบากอย่างใดก็ยอม

ม่อจื๊อ มีลักษณะอย่างหนึ่งที่คล้ายกันกับขงจื๊อ คือสนใจในเรื่องการสร้างสังคมแบบอุดมคติ เขาใช้ชีวิตของตนส่วนใหญ่ไปในการเดินทางท่องเที่ยวไป เพื่อเผยแพร่ความคิดทางปรัชญาของเขาเรื่อง การมีเมตตาจิตต่อมนุษย์ทั้งปวง และการไม่รุกรานเบียดเบียนผู้ใด และม่อจื๊อ ถึงแม้จะไม่ใช่บุคคลคนเดียวที่มองเห็นภัยอันตรายจากสงคราม แต่เขาเป็นบุคคลคนเดียวที่ดำเนินการอันแน่นอนเพื่อแก้ไขอันตรายของสงคราม ม่อจื๊อตำหนิการสงครามที่เป็นฝ่ายรุกรานและอันตรายของสงครามจากฝ่ายรุกรานนั้น จะต้องแก้ด้วยวิธีการป้องกันที่มีประสิทธิภาพอย่างสูง เพราะฉะนั้น นอกจากม่อจื๊อจะเป็นนักอุดมคติ เผยแพร่สนับสนุนความคิดเรื่องการมีความปรารถนาอันดีงามต่อคนอื่น และมีการต่อต้านสงครามโดยไม่ใช้อาวุธแล้ว เขายังฝากความหวังไว้กับวิธีการ และการจัดกำลังป้องกันต่อสู้ชนิดพิเศษขึ้น เนื่องจากพวกผู้นิยมปรัชญาม่อจื๊อนั้นส่วนใหญ่เป็นพวกช่างฝีมือ เพราะฉะนั้นจึงเป็นผู้มีทั้งความรู้ในทางการช่างเป็นอย่างดี และมีความชำนาญในการรบทางทหารเป็นอย่างดีด้วย ยกตัวอย่างเช่น ม่อจื๊อเองได้คิดค้นวิธีการป้องกันเมืองจากการโจมตีของข้าศึกที่ใช้บันไดมาพาดกำแพงเมืองเข้ามา ซึ่งเป็นวิธีการตีเอาเมืองที่ ค๋ว-ซู-ปัน (Kung shu Pan) วิศวกรและสถาปนิก คนแรกของจีน เป็นผู้คิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ลักษณะที่สำคัญที่สุดของคำสอนของม่อจื๊อนั้น อยู่ที่การที่ม่อจื๊อย้ำความสำคัญของหลักแห่งสาธารณะประโยชน์ และหลักศาสนาเรื่องการมีความเมตตากรุณาแก่มนุษย์ชนทั้งปวง ในการปฏิบัติงานประจำวันนั้น ม่อจื๊อปฏิบัติงานด้วยความเข้มแข้งคล้ายกับว่าตนได้รับมอบหมายงานมาเป็นพิเศษจาก วิญญาณสวรรค์ ฉะนั้นเขาจึงสามารถสถาปนาสำนักปรัชญาม่อจื๊อของเขาขึ้นมาได้ และดำรงตนเป็นหัวหน้าสำนักมาตลอดเวลาจนถึงแก่กรรมลง มีบุคคลจำนวนไม่ต่ำกว่าสามร้อยคนที่มาสมัครอยู่ในสำนักปรัชญาของม่อจื๊อ ในจำนวนนี้มีอยู่หนึ่งร้อยแปดสิบคนที่สามารถเรียกได้ว่าเป็น สานุศิษย์ผู้ภักดีของม่อจื๊อ ซึ่ง ม่อจื๊อ สามารถสั่งให้เข้าไปในกองเพลิง หรือเดินย่ำไปบนคมดาบได้ และแม้กระทั่งความตายก็ไม่สามารถทำให้สานุศิษย์พวกนี้กลับหันหลังหนีได้เลย” ปรัชญาของม่อจื๊อมีลักษณะคล้ายกับสำนักศาสนา มีการจัดเป็นระเบียบวินัยอันเคร่งครัด หลักจริยธรรมอันสำคัญของสำนักปรัชญาม่อจื๊อ คือ สมาชิกทั้งหมดควรจะ “สุขเท่ากันและทุกข์เท่ากัน” ม่อจื๊อถือว่า คติอันนี้ของสำนักของเขาเป็นพื้นฐานทางปรัชญาอันสำคัญแล้วต่อมาได้ขยายปรับปรุงขึ้นเป็นคำสอนว่า “ทุกคนในโลกควรจะต้องเผื่อแผ่ความรักไปให้แก่บุคคลอื่นโดยเท่าเทียมกัน โดยไม่มีการแบ่งแยก”

น้ำใจ ความรู้สึกนึกคิด และระเบียบวินัยดังกล่าวนี้ ถึงแม้ม่อจื๊อจะล่วงลับไปแล้ว พวกสานุศิษย์ของเขาก็ยังยึดถือปฏิบัติอยู่โดยมีอาจารย์หัวหน้าสำนักเป็นผู้ควบคุมดูแลและเป็นผู้นำซึ่งเป็นบุคคลที่พวกสานุศิษย์ได้คัดเลือกจากผู้ที่มีศรัทธาอันมั่นคงต่อปรัชญาม่อจื๊อขึ้นเป็น ในลักษณะนี้สำนักปรัชญาม่อจื๊อ จึงเจริญรุ่งเรืองตลอดมาในยุคสมัยของการสงครามระหว่างแคว้นต่างๆ (480-222 ก่อน ค.ศ.) และมาเริ่มเสื่อมโทรมลงเมื่อถึงสมัยศตวรรษที่ 1 ก่อน ค.ศ. อย่างไรก็ดี สำนักปรัชญาม่อจื๊อนั้น ได้แบ่งแยกออกเป็นสามสาขา ในบทนิพนธ์เรื่อง จวงจื๊อ เราอ่านพบข้อความว่า

ในบรรดาสานุศิษย์ของ เสี่ยง ลี่ ฉิ๋น (Siang Li Ch’in) สานุศิษย์ของ หวู ฮั่ว (Wu Hou) และสานุศิษย์ของลัทธิม่อจื๊อฝ่ายใต้นั้นมี ขู เห่า (K’u Hao) จี๋ ฉี๊ (Chi Ch’ih) และเติ้งหลิง (Teng Ling) อยู่ด้วย บุคคลเหล่านี้ต่างศึกษาปรัชญาม่อจื๊อทั้งนั้น แต่มีความเห็นที่แตกต่างทรรศนะกันออกไป บุคคลเหล่านี้แต่ละคนอ้างว่า คำสอนของตนเป็นปรัชญาอันแท้จริงของม่อจื๊อและกลาวหาคำสอนของบุคคลอื่นว่าเป็นทรรศนะนอกรีต….แต่ละคนถือว่าอาจารย์หัวหน้าสำนักของตนเป็นปราชญ์ และอ้างว่าคำสอนของอาจารย์ของตนนั้นเป็นคำสอนที่ได้รับมาจากม่อจื๊อ….จึงเป็นการยากที่จะชี้ลงไปให้แน่ชัดได้ว่าบุคคลใดจะเป็นผู้ได้รับการถ่ายทอดคำสอนอันแท้จริงของม่อจื๊อมา

ความคิดทางปรัชญาของม่อจื๊อนั้น มีปรากฏอยู่ในหนังสือบทนิพนธ์ที่มีชื่อตามชื่อของเขาว่าม่อจื๊อ เนื้อหาส่วนใหญ่ของหนังสือเล่มนี้สันนิษฐานว่าเป็นข้อความที่เขียนขึ้นโดยสานุศิษย์และผู้นับถือในปรัชญาม่อจื๊อ หนังสือเล่มนี้แต่เดิมนั้นมีอยู่เจ็ดสิบสองบท แต่ฉบับที่มีอยู่ในปัจจุบันมีอยู่เพียงห้าสิบสามบท ในบรรดาบทเหล่านี้ บางบทที่แต่งขึ้นเทียมอย่างไม่ต้องสงสัย แบบลีลาของการเขียนของบทนิพนธ์เรื่องนี้มีลักษณะสั้น ข้อความเรียบง่ายและเป็นสำนวนแบบสนทนา และส่วนใหญ่เป็นข้อความที่อ่านเข้าใจยาก แต่ความเข้าใจยากนี้เป็นเจตนาของผู้เขียน ในบทนิพนธ์เรื่อง ฮั่น เฟย จื๊อ (Han Fei Tzu) นั้น เราอ่านพบข้อความว่า

เจ้าผู้ครองแคว้นฉู๋ กล่าวกับ เตี้ยน จุ้ย (Tien Chiu) สานุศิษย์คนหนึ่งของม่อจื๊อว่า “ปรัชญาของม่อตี่นั้นเป็นวิทยาการชั้นสูงยิ่ง…แต่ไฉนข้อความสำนวนส่วนมาก จึงอ่านเข้าใจยากเหลือเกิน?” เมื่อได้ยินคำถามเช่นนั้น เตี้ยน จุ้ย จึงกล่าวตอบว่า “….ท่านอาจารย์ม่อจื๊อ จะอธิบายและขยายปรัชญาข้อนี้ในการปภิปรายสนทนา หาไม่แล้วผู้ผ่านก็จะหลงชื่นชมยินดีอยู่กับลีลาของการเขียน แล้วละเลยที่จะนำเอาหลักปรัชญาของท่านไปปฏิบัติอย่างแท้จริง”

ที่มา:สกล  นิลวรรณ