ทรรศนะและความรู้ของจวงจื๊อ

Socail Like & Share

ตามทรรศนะของจวงจื๊อ ความรู้นั้นมีเป็นสองระดับ ความรู้ที่ศึกษาโดยทางประสาทสัมผัสเรียกว่า “ความรู้ระดับต่ำ” ความรู้ที่เกิดจากการใช้ความคิดอยู่ในใจนั้นเรียกว่า “ความรู้ระดับสูง” จวงจื๊อรู้สึกเสียดายที่ว่าในความเป็นจริงนั้น มนุษย์มักจะพอใจกับความรู้ระดับต่ำได้ง่าย ฉะนั้นจึงละเลยความรู้ระดับสูง

เรื่องต่อไปนี้เป็นเรื่องประกอบที่จะใช้อธิบายถึงความหมายของความรู้ระดับต่ำตามทรรศนะของจวงจื๊อได้เป็นอย่างดี

เป็นสมัยฤดูน้ำหลากในฤดูใบไม้ร่วง เมื่อน้ำในลำธารทั้งหลายไหล รวมตัวกันสู่แม่น้ำ จนท่วมท้นฝั่งไปทั่วทุกหนทุกแห่ง… เทวดาประจำแม่น้ำมีความดีใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นว่าบรรดาสิ่งสวยงามทั้งหลายในโลกต่างหลั่งไหลมาสู่แม่น้ำทั้งสิ้น เทวดาประจำแม่น้ำจึงเดินทางร่วมไปกับกระแสน้ำไปทางทิศตะวันออก จนกระทั่งออกไปถึงมหาสมุทร เมื่อถึงมหาสมุทรแล้วเทวดาประจำแม่น้ำก็หันหน้ามองไปทางทิศตะวันออกสุดออกไปเห็นแต่น้ำจนหาที่สุดมิได้ เทวดาประจำแม่น้ำจึงหันมากล่าวกับเทวดาประจำมหาสมุทรพร้อมกับถอนใจว่า “มีสุภาษิตอยู่บทหนึ่งว่าบุคคลที่รู้เรื่องของ เต๋า บ้างเล็กน้อย ก็คิดว่าไม่มีผู้ใดมีความรู้มากเท่าตน ข้าพเจ้าก็เป็นเหมือนเช่นบุคคลผู้นั้น ถ้าหากข้าพเจ้ายังไม่มาถึงถิ่นที่อยู่ของท่านแล้ว ข้าพเจ้าก็คงจะเป็นตัวตลกที่น่าหัวเราะอยู่อย่างนั้นแหละ”

เมื่อได้ฟังคำกล่าวของเทวดาประจำแม่น้ำเช่นนั้น เทวดาประจำมหาสมุทรจึงกล่าวตอบว่า

“ท่านจะพูดเรื่องมหาสมุทรให้แก่กบที่อยู่ในบ่อน้อยให้เข้าใจได้อย่างไรกัน เพราะขอบเขตความรู้ของกบในบ่อน้ำนั้นจำกัด ท่านไม่อาจจะพูดเรื่องน้ำแข็งให้ตัวแมลงในฤดูร้อนเข้าใจได้ เพราะความรู้ของแมลงในฤดูร้อนนั้น ถูกจำกัดด้วยเวลา ท่านจะพูดเรื่อง เต๋า ให้แก่คนที่เป็นครูเข้าใจได้อย่างไร เพราะขอบเขตของครูนั้นจำกัดอยู่ก็แต่เรื่องที่ตนสอน แต่บัดนี้ท่านได้ออกมาจากอาณาจักรอันแคบๆ ของท่าน ได้มาเห็นมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ ท่านได้รู้จักความไม่สลักสำคัญของตัวท่านเองแล้ว ฉะนั้นข้าพเจ้าจึงพร้อมที่จะพูดเรื่องความรู้อันสำคัญอย่างยิ่งให้ท่านฟังได้”

เทวดาประจำแม่น้ำ ซึ่งมีความรู้ดั้งเดิมของตนโดยจำกัดนั้น เปรียบเทียบได้กับบุคคลที่ยึดมั่นแต่ความรู้อันเกิดจากประจักษ์พยานในทางประสาทสัมผัสของตนเท่านั้น ปัญหาคือว่าบุคคลผู้มีความรู้ที่ถูกจำกัดเช่นนั้น หรือตามคำพูดของจวงจื๊อ “บุคคลผู้ไม่สามารถบรรลุถึงอาณาจักรแห่งฝ่ายลบ และฝ่ายบวก ได้นั้น” จะไม่สามารถเข้าใจ “ความรู้อันสำคัญยิ่ง” ได้เลย เพราะว่าความรู้ที่บุคคลผู้นั้นมีอยู่นั้น เป็นความรู้ที่ประกอบด้วยความรู้จากประสาทสัมผัสเท่านั้น เพราะฉะนั้นจึงเป็นความรู้ที่แสดงแต่ลักษณะที่ขัดแย้งตรงกันข้ามกันเท่านั้นเอง  โดยที่เป็นความรู้ที่มีขอบเขตจำกัดเช่นนั้น จึงไม่สามารถจะให้มาตรฐานที่เป็นรูปธรรมเพื่อวัดความจริงได้ ด้วยเหตุนี้ จวงจื๊อจึงกล่าวว่า “สิ่“ที่ข้าพเจ้ารู้ คนอื่นอาจไม่รู้ สิ่งที่คนอื่นรู้ ข้าพเจ้าอาจจะไม่รู้ก็ได้”

ในบทที่ 2 ของบทนิพนธ์จวงจื๊อ มีชื่อว่า “จี หวู่ หลัน-Chi Wu Lun” หรือ “ว่าด้วยเรื่องความเสมอภาคของสรรพสิ่งทั้งปวง จวงจื๊อได้อภิปรายถึงเรื่องความรู้อย่างละเอียด จวงจื๊อมีความเห็นว่าความรู้ในความหมายที่ใช้กันตามปกตินั้น เนื่องจากเป็นความรู้ที่มีขอบเขตจำกัด ฉะนั้นจึงทำให้เกิดมีการโต้เถียง และไม่สามารถหาข้อยุติได้ ข้อเท็จจริงที่ประชาชนทุ่มเถียงกันในเรื่องใดเรื่องหนึ่งนั้น แสดงให้เห็นว่าพวกเขามีความเชื่อในเรื่องของความจริงที่เป็นรูปธรรม แต่เนื่องจากความรู้ไม่ได้ให้สิ่งที่เป็นรูปธรรม ฉะนั้นจึงไม่มีหนทางอันใดที่จะกำหนดลงได้ว่า ความรู้ใดเป็นความรู้ที่ถูกความรู้ใดเป็นความรู้ที่ผิด ด้วยเหตุนี้จวงจื๊อจึงกล่าวว่า

สมมติว่าข้าพเจ้ากำลังโต้เถียงอยู่กับท่าน และท่านเอาชนะข้าพเจ้าได้ การที่ท่านโต้เถียงเอาชนะข้าพเจ้าได้นั้น แสดงว่าความคิดของท่านถูก และความคิดของข้าพเจ้าผิดเช่นนั้นหรือ? หรือถ้าหากว่าข้าพเจ้าเอาชนะท่านได้นั้นแปลว่า ข้าพเจ้าเป็นฝ่ายถูกและท่านเป็นฝ่ายผิดเช่นนั้นหรือ? ในเรื่องนี้นั้น คนใดคนหนึ่งในระหว่างเราสองคนจะต้องเป็นผู้ถูก และอีกคนหนึ่งจะต้องเป็นผู้ผิดเช่นนั้นหรือ? หรือว่าเราทั้งสองคนอาจจะถูกทั้งคู่ หรืออาจจะผิดทั้งคู่? ทั้งหมดนี้ทั้งท่านและข้าพเจ้าไม่อาจจะล่วงรู้ได้เลย….

สิ่งที่ดูเหมือนว่า จวงจื๊อใช้เป็นเหตุผลสนับสนุนข้อโต้แย้งของตนเกี่ยวกับความรู้ระดับต่ำนั้น คือข้อเท็จจริงที่ว่า ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติโดยสมบูรณ์นั้น สรรพสิ่งทั้งปวงเป็นสิ่งที่เท่าเทียมกัน และความจริงอันสูงสุดยิ่งกับความดีอันสูงสุดยิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะล่วงรู้ได้ ในโลกของมนุษย์นั้นมโนคติ เรื่องถูกและผิดนั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเอง โดยถือหลักของทรรศนะของตนแต่ฝ่ายเดียว เพราะฉะนั้น “ไม่มีสิ่งอันใดที่ไม่ดี ไม่มีสิ่งอันใดที่ไม่เลว” ความคิดเห็นทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของความรู้สึกเปรียบเทียบ ไม่มีหนทางอันใดที่จะรู้ได้อย่างแน่นอนตายตัวว่า อะไรถูกและอะไรผิด ตราบใดที่มนุษย์ยังคงยึดอยู่แต่ความรู้ระดับต่ำเท่านั้น

ความรู้ระดับสูงนั้น เป็นความรู้อันเดียวกันกับ “ความเข้าใจ” ที่กล่าวถึงข้างต้นว่า เป็นความรู้ที่จำเป็นสำหรับมนุษย์จะได้เข้าใจว่าตนนั้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับโลกจักรวาล และธรรมชาติ สำหรับความรู้ในระดับสูงนี้ จวงจื๊อกล่าวว่า

ความรู้ของบุคคลในสมัยโบราณเป็นความรู้ที่สมบูรณ์ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? ประการแรก คนในสมัยโบราณยังไม่ทราบว่ามีสิ่งต่างๆ ทั้งหลาย ความรู้อันนี้เป็นความรู้ที่สมบูรณ์ที่สุด ไม่มีสิ่งใดที่จะต้องเสริมอีกแล้ว ต่อมาพวกเขาเริ่มมีความรู้ขึ้นมาว่า มีสิ่งต่างๆ ทั้งหลายอยู่ แต่เขายังไม่ได้จำแนกสิ่งทั้งหลายนั้นออกจากกันและกัน แต่พวกเขาก็ยังไม่มีการวินิจฉัยดีเลวอันใดเกี่ยวกับสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น แต่เมื่อเขามีข้อวินิจฉัยดีเลวเกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้นขึ้นแล้ว ความเป็นส่วนรวมอันหนึ่งอันเดียวกัน (เต๋า) ก็ถูกทำลายไปหมดสิ้น เมื่อความเป็นส่วนรวมอันหนึ่งอันเดียวกันถูกทำลายลง ความมีอคติของบุคคลก็เกิดขึ้น

ความรู้ในระดับต่ำตามที่ได้อธิบายมานี้ มุ่งไปที่การจำแนกสิ่งต่างๆ ออกเป็นสิ่งที่ถูกกับสิ่งที่ผิด ความเป็นสิ่งนี้กับสิ่งนั้น ชีวิตกับความตาย สิ่งที่เป็นตัวฉันและสิ่งที่ไม่ใช่ตัวฉัน เพราะฉะนั้น การละทิ้งความรู้ระดับต่ำทิ้งไปนั้นก็คือการลืม การจำแนกสิ่งต่างๆ ดังกล่าวมานี้ทั้งหมด เมื่อความแตกต่างระหว่างสิ่งทั้งหลายถูกลืมไปหมดสิ้นแล้ว สิ่งที่เหลืออยู่ก็คือหนึ่ง ซึ่งเป็นส่วนรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งหมดอันยิ่งใหญ่นั้นเอง ความคิดที่อยู่เหนือความแตกต่างกันของสิ่งทั้งหลายนั้นประกอบกันเป็นความรู้ระดับสูง อันเป็นสิ่งที่จวงจื๊อเรียกว่า “ความรู้ที่ไม่ใช่ความรู้” ความรู้ระดับสูงนี้คือความรู้ที่เรียนรู้ได้โดยประสาทสัมผัสทางกาย เป็นความรู้ที่เป็นความเจริญงอกงามตามธรรมชาติที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ที่ความมุ่งหมายของมนุษย์ไม่มีบทบาทอันใดเกี่ยวข้องด้วยเลข ดังข้อความที่มีปรากฏในบทที่ 2 เรื่อง “จี หวู หลัน” ดังนี้

สิ่งที่เป็น “นี้” คือ สิ่งที่เป็น “นั้น” ด้วย สิ่งที่เป็น “นั้น” ก็เป็นสิ่งที่เป็น “นี้” ด้วยสิ่ง “นั้น” มีระบบของความคิดเรื่องผิดชอบชั่วดีของตน และสิ่ง “นี้” ก็มีระบบของความคิดเรื่องผิดชอบชั่วดีของตนเหมือนกัน ฉะนั้นตามความเป็นจริงแล้ว มีความแตกต่างอันใดระหว่าง “นี้” กับ “นั้น” อยู่เล่า? หรือ ตามความเป็นจริงแล้ว ไม่มีความแตกต่างอันใดระหว่าง “นี้” กับ “นั้น” ใช่หรือไม่? ที่ว่า “นั้น” กับ “นี้” ไม่เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามอีกต่อไปนั้นคือแก่นแท้ของเต๋า เฉพาะแต่แก่นแท้ซึ่งเป็นหลักของสิ่งนั้นนั่นเองที่เป็นจุดศูนย์กลางของวงกลมที่มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอันไม่มีที่สิ้นสุดอยู่ตลอดเวลานั้น สิ่งที่ถูกคือ การเปลี่ยนแปลงอันไม่มีที่สิ้นสุด สิ่งที่ผิดก็คือ การเปลี่ยนแปลงอันไม่มีที่สิ้นสุด

หรือถ้าจะพูดอีกนัยหนึ่ง ความตรงกันข้ามกันทั้งหมดนี้นั้นเป็นเหมือนวงกลมที่หมุนอยู่ตลอดเวลา และโดยการหมุนนั้นเองทำให้ความตรงกันข้ามหลอมเข้าเป็นหนึ่งอันไม่มีขอบเขตจำกัดเป็นเต๋าที่คงอยู่ชั่วนิรันดร ที่มีอยู่ในสถานที่ทุกหนทุกแห่ง

ยิ่งกว่านั้น แก่นแท้ของเต๋า คือ การไม่มองดูสิ่งใด การไม่ฟังสิ่งใด และการไม่กระทำสิ่งใด

จงปล่อยให้การฟังของท่านหยุดลง ปล่อยให้จิตใจของท่านหยุด ปล่อยให้จิตใจของท่านเป็นเหมือนผืนผ้าอันว่างเปล่า ที่พร้อมที่รับเอาสิ่งต่างๆ จากภายนอก โดยอาการอันสงบ ในสภาพที่เปิดกว้างพร้อมที่จะรับเอาเช่นนั้นแหละ เป็นสภาพที่เต๋าจะอาศัยอยู่

เป้าหมายอันสุดท้ายคือ ความปิติสุขอันเกิดจากการถูกรวมเข้าไปอยู่ในส่วนรวม เป็นภาวะที่มีลักษณะเป็นความสบาย ความเงียบสงบ ความกลมกลืน ความไม่มีการเคลื่อนไหวอันใด บุคคลไม่อาจจะผลักดันตนเองให้เข้าไปสู่ภาวะอันนี้ได้ ภาวะอันนี้ต้องเกิดขึ้นตามสภาพของมันเอง โดยภาวะที่เป็นไปตามธรรมชาติของมันอย่างสมบูรณ์ ภาวะอันนี้คือสิ่งที่วิลเลี่ยม เจมส์ (William James) เรียกว่า “ความปิติยินดีแห่งชีวิตทางด้านความรู้สึกในจิตใจ-felicity of the sensorial life” ซึ่งเป็นผลที่เกิดขึ้นเองในจิตใจตามธรรมชาติ แต่ไม่ใช่ผลที่เกิดขึ้นโดยการมีความพยายามตั้งใจจะให้เกิด

จากความเข้าใจในอุดมคติอันนี้ ความพยายามทั้งหมดของมนุษย์ที่กระทำไปด้วยความรู้สำนึก ดังที่แสดงออกเป็นโครงสร้างทางสังคมและอารยธรรมนั้น สำหรับขงจื๊อแล้วเขาเห็นว่า ไม่แต่เพียงเป็นสิ่งที่โง่เขลาทั้งนั้นไม่ แต่เป็นสิ่งที่เลวที่สุดและเป็นอันตรายอย่างที่สุดสำหรับมนุษย์อีกด้วย

บทวิจารณ์
จวงจื๊อ มีลักษณะอยู่สามประการที่ร่วมกันกับอาจารย์ของเขาคือเล่าจื๊อ ประการแรกนักปรัชญาทั้งสองท่านนี้ถือว่า ธรรมชาติของมนุษย์นั้นคือความดี และภาวะแห่งธรรมชาติเป็นเกณฑ์มาตรฐานของชีวิต ทั้งสองท่านยกย่องในความเป็นเอกัตถภาพของบุคคลที่เป็นอิสระไม่อยู่ในอำนาจของสิ่งใด และมีความเห็นขัดแย้งกับสถาบันและสิ่งต่างๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้น ด้วยเหตุนี้ ทั้งเล่าจื๊อและจวงจื๊อจึงสอนเรื่องการเลิกทิ้งสิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรม ส่งเสริมการปกครองที่มีการปกครอง ควบคุม่น้อยที่สุด เพื่อให้มนุษย์ได้กลับคืนไปสู่สภาพธรรมชาติดั้งเดิมของตน ซึ่งมีลักษณะสำคัญคือ สภาพที่เป็นไปตามธรรมชาติโดยปราศจากการปรุงแต่ง

ประการที่สอง ปรัชญาของท่านทั้งสอง ขณะที่ยอมรับเอาความจริงขั้นสูงสุดว่ามีอยู่จริง แต่ถือว่าความจริงขั้นสูงสุดนี้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถจะบรรลุถึงได้ โดยวิธีการทางสติปัญญา การที่จะบรรลุถึงความจริงขั้นสูงสุดให้ไดนั้น จะต้องอาศัยการบำเพ็ญภาวนาจิตใจและการมีความรู้แจ้งภายใน เป็นประการสำคัญ ด้วยเหตุนี้ แทนที่จะสอนเรื่องคุณธรรมที่เป็นการปรุงแต่งเช่นมนุษยธรรมและการยึดมั่นอยู่ในศีลธรรม นักปรัชญาทั้งสองกลับสอนในเรื่องหลักของหวู เว่ย หรือ “การไม่ทำอะไร” (ที่เป็นการฝืนภาวะธรรมชาติ)

ประการที่สาม  นักปรัชญาทั้งสองกล่าวว่าโลกที่มองเห็นได้นี้นั้น ไม่ใช่โลกที่เป็นจิรง เรามีความจำเป็นต้องปฏิบัติให้คล้อยตาม “เต๋า” ซึ่งทำให้นักปรัชญาทั้งสองเป็นผู้มีความคิดโน้มน้อมไปในทางจิตญาณที่ลึกลับ

จวงจื๊อมีลักษณะที่แตกต่างไปจากเล่าจื๊ออยู่สามประการเหมือนกัน ประการแรกความคิดเห็นในเรื่องที่เกี่ยวกับเต๋านั้น แตกต่างกัน เล่าจื๊อนั้นถือว่า เต๋า เป็นเอกภาพแห่งภาวะและอภาวะ “สรรพสิ่งทั้งปวงในสากลโลกเกิดขึ้นจากภาวะ และภาวะนั้นเกิดขึ้นจากอภาวะ” ด้วยเหตุนี้ การเปลี่ยนแปลงจากอภาวะไปสู่ภาวะและอภาวะนั้น มีความเกี่ยวข้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่สำหรับจวงจื๊อนั้น เต๋า คือ เอกภาวะของอภาวะ ซึ่งเป็นอภาวะและเป็นเอกภาวะของภาวะ ซึ่งเป็นอภาวะ “สรรพสิ่งทั้งปวงเกิดขึ้นจากอภาวะ ซึ่งเป็นภาวะ เพราะว่าภาวะนั้นไม่อาจเกิดขึ้นจากตัวของมันเอง ซึ่งเป็นภาวะได้ แต่ต้องเกิดจากอภาวะซึ่งเป็นภาวะ” ด้วยเหตุนี้ถึงแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงจากอภาวะไปสู่ภาวะ การเปลี่ยนแปลงก็ไม่ได้หยุดลง ณ ตรงนั้น แต่มีการเปลี่ยนแปลงก้าวหน้าต่อไปใหม่เป็นยุคใหม่ของชีวิตเป็นโลกใหม่ขึ้น เพราะฉะนั้นแทนที่จวงจื๊อจะสอนเรื่องภาวะวัฏจักรอันเป็นภาวะปกติของเต๋า ตามทรรศนะของเล่าจื๊อ จวงจื๊อกลับสอนเรื่อง “การเปลี่ยนแปลงของเต๋า”

ประการที่สอง นักปรัชญาทั้งสองมีทรรศนะแตกต่างกันในเรื่องวิวัฒนาการของโลกจักรวาล เล่าจื๊อย้ำความสำคัญของหลักการทั่วไปที่ว่า “การทวนวิถีนั้นเป็นการเคลื่อนไหวของเต๋า กล่าวคือ การเคลื่อนไหวใดๆ ดำเนินไปจนถึงที่สุดแล้ว การเคลื่อนไหวนั้นก็จะย้อนทวนกลับมา “พายุใต้ฝุ่นไม่อาจจะพัดอยู่ได้ตลอดเช้า หรือพายุฝน ไม่อาจจะตกอยู่ได้ตลอดวัน” นี้แสดงถึงกฎอันถาวรของธรรมชาติ ถ้าหากโลกจักรวาลไม่เป็นไปตามกฎแห่งธรรมชาติอันถาวรนี้แล้ว โลกจักรวาลก็ไม่อาจดำรงอยู่ได้ต่อไป แต่จวงจื๊อนั้นยึดมั่นอยู่ในหลักการของกระแสแห่งธรรมชาติที่เป็นไปเองตามสภาพของมัน นี้เป็นหลักมูลฐานของกระแสแห่งการกลับไปสู่ธรรมชาติของจวงจื๊อ ฉะนั้นเมื่อเรากล่าวว่า “เต๋า ก่อให้เกิดสรรพสิ่งทั้งปวงนั้น เราหมายถึงแต่เพียงความจริงที่ว่า สรรพสิ่งทั้งปวงสร้างตัวของมันเองขึ้นมาตามธรรมชาติและเป็นตามสภาพที่แท้จริงของมัน ความแตกต่างของทรรศนะของนักปรัชญาทั้งสองนี้ จะเห็นได้อย่างชัดเจนในเหตุผลที่ท่านทั้งสองแสดงเกี่ยวกับความต้องการปกครอง ที่ไม่มีการปกครองควบคุมแต่อย่างใด

ประการที่สาม ซึ่งเป็นประการสุดท้าย นักปรัชญาทั้งสองมีความคิดแตกต่างกันในเรื่องชีวิตแบบอุดมคติ ทั้งสองท่านสอนเราควรจะถอนจากอารยธรรมแล้วกลับคืนไปสู่สภาพตามธรรมชาติดั้งเดิม สำหรับเล่าจื๊อนั้น ถือว่าการกระทำเช่นนี้เป็นหนทางอันสำคัญที่จะนำไปสู่การมีสังคมแบบอุดมคติ ถึงแม้ว่าการมีชีวิตอยู่อย่างเรียบง่ายจะปฏิเสธอารยธรรม แต่เล่าจื๊อก็ไม่ได้ปฏิเสธโลก แต่สำหรับจวงจื๊อนั้น การถอยหลังไปสู่ธรรมชาติคือหนทางอันสำคัญที่นำไปสู่สิ่งที่จวงจื๊อเรียกว่า “การทัศนาจรที่มีความสุข เป็นสิ่งที่อยู่เหนือพ้นสังคมที่แท้จริงทั้งหมด ด้วยเหตุนี้จวงจื๊อกล่าวว่า “บุคคลผู้เป็นเลิศนั้น จะต้องสถาปนาตนเองอยู่นอกสวรรค์แผ่นดิน ถอนออกจากทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อไปสู่สถานที่ที่ไม่มีสิ่งใดอันจะพันธนาการวิญญาณของตนได้อีกต่อไป”

ที่มา:สกล  นิลวรรณ