ภูมิหลังและบ่อเกิดของปรัชญาม่อจื๊อ

Socail Like & Share

คำสอนของม่อจื๊อ มีความเกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งกับเหตุการณ์ทางการเมือง ทางสังคม และทางจริยธรรมของยุคสมัยนั้นเป็นอย่างมาก ม่อจื๊อนั้นมีชีวิตอยู่ในกองเลือดและความปั่นป่วนวุ่นวายของยุคสมัยแห่งการสงครามระหว่างแคว้นต่างๆ พระเจ้าแผ่นดินในพระราชวงศ์โจว ซึ่งเป็นพระเจ้าจักรพรรดินั้น ยังทรงเป็นประมุขแต่ในนามอยู่ แต่พระราชอำนาจอันแท้จริงนั้นแผ่คลุมไปเพียงในอาณาเขตส่วนน้อยของอาณาจักรทั้งหมดเท่านั้น แคว้นแต่ละแคว้นต่างมีเจ้าผู้ครองแคว้นของตน หรือกษัตริย์ของตนผู้สลัดความอยู่ใต้พระราชอำนาจของพระจักรพรรดิทิ้งไป และต่างก็แสวงหาหนทางที่จะสนองความทะเยอทะยานของตน เมื่ออำนาจจากพระจักรพรรดิ ในส่วนกลางเสื่อมโทรมลง ประกอบกับการเสื่อมสลายลงของศักดินา ฉะนั้น สภาพของบ้านเมืองทั่วไปจึงอยู่ในภาวะที่ไร้กฎหมาย ไม่มีหลักจริยธรรม ไม่มีความสุขสงบในสังคมแต่อย่างใด ในขณะที่แคว้นใหญ่ๆ ต่างต่อสู้แก่งแย่งกันเพื่ออำนาจราชศักดิ์นั้นๆ แคว้นเล็กๆ ต่างก็ต่อสู้กันเพื่อความปลอดภัยและความอยู่รอดของตน เพื่อเป็นการป้องกันผู้ที่มีกำลังน้อยให้พ้นจากการข่มเหงของผู้มีกำลังมากนั้นเอง ที่ม่อจื๊อและสานุศิษย์ของเขา ได้คิดค้นวิธีการต่อสู้การสงครามแบบป้องกันตัวและวิธีการต่างๆ เพื่อสร้างอุปกรณ์ต่างๆ ขึ้นมาป้องกันกำแพงบ้านเมืองของตนและเพื่อเป็นการแก้ไขภาวะการณ์อันระส่ำระสายของสังคม ม่อจื๊อจึงประกาศคำสอนเรื่องการมีความเมตตากรุณาต่อมนุษยชาติทั้งหมด และการไม่รุกรานเบียดเบียนบุคคลอื่นขึ้น แผนการของม่อจื๊อนั้น อาจถือเอาได้ว่าเป็นแผนการที่สบอารมณ์ของประชาชนผู้เบื่อหน่ายในสงคราม ผู้ไม่ต้องการความหรูหราของสังคมเช่นพิธีการและดนตรี เหมือนกับความต้องการในอาหารเครื่องนุ่งห่ม และความสุขสงบของบ้านเมือง วิธีการที่ธรรมดาสามัญและเหมาะสมกับภาวการณ์เช่นนี้ แหละคือ สาระสำคัญของปรัชญาทางการเมืองและสังคมของม่อจื๊อ ฉะนั้นจึงเป็นหัวใจที่แสดงความแตกต่างขัดแย้งกันกับปรัชญาขงจื๊อด้วย

การที่จะเข้าใจวิธีการและเหตุผลของทรรศนะทางปรัชญาที่แตกต่างกันของปรัชญาม่อจื๊อ และปรัชญาเล่าจื๊อนั้น จำเป็นจะต้องมีความเข้าใจภูมิหลังของชนชั้นต่ำในสังคมของม่อจื๊อด้วยในระบบศักดินาภายใต้การปกครองของราชวงศ์โจวนั้น คนชั้นสูงกับสามัญชนมีความเป็นอยู่ที่แตกต่างกันเป็นอย่างมาก พวกคนชั้นสูงซึ่งรวมทั้งพวกเจ้านายและพวกซี (Shih) หรือพวกผู้มีการศึกษาดีนั้น เป็นผู้มีฐานะอยู่เหนือสามัญชน และพวกสามัญชนต้องเป็นผู้อุปถัมภ์ เลี้ยงดูพวกคนชั้นสูงได้แก่พวกผู้มีความรู้พวกนักการปกครอง พวกนักการทูต ส่วนสามัญชนนั้นได้แก่ พวกที่เป็นชาวนา เกิดมาจากท้องนา และทำงานอยู่ในท้องนา โดยไม่มีความหวังที่จะก้าวหน้าแต่อย่างใดในชีวิตเลย ในบทนิพนธ์เรื่อง เม่งจื๊อ นั้น ได้กล่าวถึงสภาพของสังคมของสมัยนั้นไว้ชัดเจนดังนี้

…..มีคำกล่าวไว้ว่า “คนบางคนทำงานด้วยสมอง คนบางคนทำงานด้วยแรงกาย คนที่ทำงานด้วยสมองเป็นนักการปกครอง ส่วนคนที่ทำงานด้วยแรงกายเป็นผู้ที่ถูกปกครอง ผู้ถูกปกครองเป็นผู้ที่อุปถัมภ์ค้ำจุนผู้เป็นนักการปกครอง” นี้เป็นหลักการที่ยอมรับกันโดยทั่วไป

ในฐานะที่ตนเองเป็นสมาชิกของชนชั้นที่ถูกกดขี่ ซึ่งมีมันสมองอันเฉียบแหลมและจิตใจอันมั่นคงแน่วแน่ ม่อจื๊อจึงขึ้นเสียงลุกขึ้นต่อต้านเรื่องการแบ่งแยกชนชั้น โดยประกาศเผยแพร่หลักคำสอนเรื่องความเป็นธรรมในสังคม และสาธารณประโยชน์ของสังคม

นอกจากนี้แล้ว ม่อจื๊อ คล้ายกับเล่าจื๊อ คือต่อต้านกับพิธีการในระบบศักดินาและชีวิตอันหรูหรา อันเป็นสิ่งที่รักและยกย่องของขงจื๊อเป็นอย่างยิ่งทั้งหมด แต่ม่อจื๊อมีเหตุผลที่แตกต่างไปจากเล่าจื๊อ เล่าจื๊อวิจารณ์ขนบธรรมเนียมประเพณีของขงจื๊อว่าเป็นอันตรายต่อการแสดงออก อันอิสระของความเป็นตัวตนอันแท้จริงของมนุษย์ แต่สำหรับม่อจื๊อนักปรัชญาแห่งสามัญชนนั้น เขาเห็นว่า ความประณีตหรูหราทางสังคม เช่น พิธีการและดนตรีนั้นเป็นของฟุ่มเฟือย ไม่มีประโยชน์แก่ชีวิตในทางด้านปฏิบัติเลย ซ้ำยังเป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจของประชาชน ผู้เสียสละหยดเหงื่อและหยาดเลือดมาอุปถัมภ์ค้ำจุนพวกคนชั้นสูง ผู้มัวเมาเพลิดเพลินอยู่กับความหรูหรา และการแสวงหาความสุขสำราญทางเนื้อหนังอยู่ตลอดเวลาอีกด้วย และม่อจื๊อก็ไม่มีความพิสมัยอันใดกับ ปรัชญาเต๋าในเรื่อง “สภาพแห่งธรรมชาติ” แต่อย่างใดด้วยเหมือนกัน ม่อจื๊อเห็นว่าตามปรัชญาสภาพแห่งธรรมชาติของเล่าจื๊อนั้น สังคมจะไม่มีอะไรดีขึ้นเลย นอกจากความปั่นป่วนวุ่นวาย และความไม่สงบ ม่อจื๊อมีความเห็นว่าสถาบันต่างๆ ของสังคมนั้น ควรจะต้องอยู่บนเหตุผลที่ดีและสมบูรณ์กว่านี้

ฉะนั้น ก็เป็นที่หวังได้ว่า ทรรศนะที่มีลักษณะเป็นการปฏิรูปสังคมของม่อจื๊อนี้ ทำให้สำนักปรัชญาขงจื๊อ และสำนักปรัชญาเต๋าโกรธเคืองม่อจื๊อมาก นักปรัชญาของทั้งสองสำนักต่างกล่าวหาว่าม่อจื๊อเป็นผู้ทำลายวัฒนธรรม และสิ่งสวยงามทั้งปวงของชีวิต โดยมีแต่ความเห็นแก่ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจแต่ฝ่ายเดียว แต่ม่อจื๊อนั้นได้คาดการณ์เรื่องจะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างนี้ไว้ล่วงหน้าแล้ว และได้เตรียมหาเหตุผลที่จะป้องกันทรรศนะทางปรัชญาของตนไว้แล้ว โดยยกเอาโองการของสวรรค์มากล่าวอ้าง ถ้าจะกล่าวให้สั้นแล้ว ม่อจื๊อสรุปปรัชญาของตนลงด้วยการใช้ศาสนามาเป็นพลังจูงใจเพื่อประกาสคำสอนของตนเรื่อง สาธารณประโยชน์ของสังคมให้แพร่หลายในหมู่ประชาชน

ที่มา:สกล  นิลวรรณ