ม่อจื๊อกับคติความคิดทางศาสนา

Socail Like & Share

ในบทนิพนธ์เรื่องม่อจื๊อนั้น ได้อุทิศเนื้อที่ของหนังสือถึงสามบท ให้แก่การอธิบายถึงเรื่องเจตน์จำนงของสวรรค์ มีการบรรยายถึงชีวิตของภูติผีปีศาจและเทวดา และการประณามถึงคติความเชื่อเรื่องบุรพลิขิตของชะตากรรมของบุคคล เรื่องทั้งสามนี้ คือสาระสำคัญของคติความคิดในทางศาสนาของม่อจื๊อ คำสอนของม่อจื๊อนั้นเกิดขึ้นจากประชาชนและมีความมุ่งหมายเพื่อประชาชน สำหรับชนกลุ่มใหญ่ที่เป็นสามัญชนนั้น จะมีสิ่งใดที่จะดึงดูดความสนใจของพวกตนได้ดี…..โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยของประวัติศาสตร์ที่มีแต่ความระส่ำระสาย….ยิ่งไปกว่านั้นความคิดเรื่องเทพยดาฟ้าดินผู้เป็นใหญ่ที่คอยดูแลความสุข ความทุกข์ของประชาชนพลเมืองอยู่ตลอดเวลาได้เล่า? ม่อจื๊อเข้าใจสภาพของจิตใจของประชาชนเป็นอย่างดี และคิดว่าจำเป็นจะต้องมีพื้นฐานทางจิตวิทยาอันมั่นคง เพื่อสนับสนุนทรรศนะของตนในเรื่องความรักสากล ที่มีต่อปวงมนุษยชนโดยเท่าเทียมกัน ด้วยเหตุนี้ ม่อจื๊อจึงยืนยันความคิดของตนว่า ทฤษฏีเรื่องความรักสากลของตนนั้นสอดคล้องกับเจตน์จำนงของสวรรค์เป็นอย่างดี เขามีความคิดว่า สวรรค์นั้นคือผู้เป็นใหญ่อันสูงสุด หรือชางตี่ (Shang Ti) ซึ่งมีความรักในมนุษยชาติและมีเจตน์จำนงว่า มนุษยชาติทั้งปวงควรจะมีความรักต่อกันและกัน ม่อจื๊อให้เหตุผลต่อไปว่า

เราจะรู้ได้อย่างไรว่า สวรรค์นั้นมีความรักต่อมนุษย์ทั้งปวง?
เราจะรู้ได้ เพราะว่า สวรรค์ประทานความรู้ให้แก่เรา
เรารู้ได้อย่างไรว่า สวรรค์นั้นประทานความรู้ให้แก่เรา?
เรารู้ได้ เพราะว่า สวรรค์นั้นเป็นเจ้าของความรู้ทั้งหมดทั้งปวง
เรารู้ได้อย่างไรว่า สวรรค์นั้นเป็นเจ้าของความรู้ทั้งหมดทั้งปวง?
เรารู้ได้ เพราะว่า สวรรค์ยินดีรับการเส้นสรวงบูชาจากมนุษย์ทั้งปวง
มนุษย์ทั้งปวงอยู่ภายใต้อำนาจของสวรรค์ แล้วทำไมสวรรค์จึงจะไม่มีความรักต่อปวงมนุษย์เล่า?
เพราะว่าบุคคลที่ประทุษร้าย ต่อชีวิตของผู้บริสุทธิ์นั้นจะต้องถูกลงโทษโดยการได้รับความทุกข์ต่างๆ นานา
ใครคือผู้ประทุษร้ายต่อชีวิตของผู้บริสุทธิ์? มนุษย์
ใครคือผู้กำหนดความทุกข์ให้แก่มนุษย์?
สวรรค์ ถ้าสวรรค์ไม่มีความรักต่อมนุษย์ทั้งปวง ทำไมสวรรค์จึงลงโทษทัณฑ์แก่คนอธรรมโดยการบันดาลความทุกข์ทั้งหลายให้เกิดขึ้นกับเขาเล่า?
เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงรู้ว่า สวรรค์นั้นมีความรักต่อมนุษย์ทั้งปวงของโลก

ถ้าหากจะยอมรับว่า คำอธิบายนี้ยังไม่เป็นที่น่าพอใจที่จะพิสูจน์ว่า สวรรค์นั้นมีอยู่จริงก็ตาม แต่จุดสำคัญที่ควรจะระลึกถึงนั้นคือว่า ม่อจื๊อนั้นไม่ได้มีความเชื่อว่า มนุษย์นั้นโดยธรรมชาติแล้ว มีความรักต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ม่อจื๊อใช้ศาสนาเป็นพลังจูงใจในการเผยแพร่คำสอนเรื่องความรักสากลต่อเพื่อนมนุษย์โดยเท่าเทียมกันของเขา มีข้อความบางบทกล่าวถึง “เจตน์จำนงของสวรรค์” ซึ่งม่อจื๊อกล่าวถึงน้อยมาก หรือแทบจะไม่กลาวถึงเลยถึงเรื่องอมตภาพของดวงวิญญาณ หรือ “ดินแดนแห่งความสุขของพระเจ้า” ทั้งนี้เป็นเพราะว่าความสนใจอันสำคัญของม่อจื๊อนั้นอยู่ที่สวัสดิภาพของดวงวิญญาณ หรือ “ดินแดนแห่งความสุขของพระเจ้า” ทั้งนี้เป็นเพราะว่าความสนใจอันสำคัญของม่อจื๊อนั้นอยู่ที่สวัสดิภาพของผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ และความต้องการของเขาที่จะสร้างสังคมแห่งอุดมคติขึ้นมา ในแง่ของความคิดที่สอดคล้องกับภาวะอันแท้จริงของชีวิตเช่นนี้นั้น คำสอนของม่อจื๊อจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งแก่มนุษย์ และการดำรงชีวิตของมนุษย์ในโลกปัจจุบัน ทำนองเดียวกันกับคำสอนของขงจื๊อ

ม่อจื๊อ ตำหนิคนในรุ่นเดียวกันกับเขาอย่างรุนแรงในการที่ไม่ยอมเชื่อถือในเรื่องการเคารพเทพยดาฟ้าดิน ซึ่งกษัตริย์ผู้เป็นนักปราชญ์แต่อดีตเคยเคารพนับถือกันมา ในหนังสือของเขาบทที่ชื่อว่า “ข้อพิสูจน์ว่าเทพยดาฟ้าดินนั้นมีจริง” นั้น เขากล่าวถึงเทพยดา ผู้กระทำหน้าที่คอยให้รางวัลแก่ผู้ทำความดีและคอยลงโทษแก่ผู้ทำความชั่ว อย่างเดียวกันกับหน้าที่ของสวรรค์

นับตั้งแต่กษัตริย์ผู้เป็นนักปราชญ์ของราชวงศ์สุดท้ายสามราชวงศ์นั้น ได้สิ้นพระชนม์ไปแล้ว ไม่มีความยุติธรรมอันใดเหลืออยู่ในโลกเลย นอกจากความป่าเถื่อน…..โลกเต็มไปด้วยความระส่ำระสาย อะไรคือเหตุของความระส่ำระสายนี้? เหตุก็คือประชาชนไม่มีความเชื่อถือว่าเทพยดาฟ้าดินนั้นมีอยู่จริง และไม่ยอมเชื่อว่าเทพยดาฟ้าดินนั้นให้รางวัลคนที่กระทำความดี และลงโทษทัณฑ์แก่คนที่ทำกรรมชั่ว

ม่อจื๊อ ยกตัวอย่างมากมายมาพิสูจน์ว่า เทพยดาฟ้าดินนั้นมีอยู่จริง แต่ตัวอย่างที่ยกมาทั้งหมดนี้ มีความเชื่อที่งมงายหลายประการแอบแฝงอยู่ด้วย จึงเป็นตัวอย่างที่เชื่อถือไม่ได้ แต่ม่อจื๊อในฐานะที่เป็นนักประสิทธิผลนิยม (pragmatist) จึงไม่มีความสนใจในเรื่องที่เป็นอภิปรัชญาที่บริสุทธิ์ ความเชื่อทางศาสนาของม่อจื๊อ ตามที่ได้ให้ข้อสังเกตไว้นั้นมีสาระสำคัญ เน้นเรื่องสาธารณประโยชน์ กล่าวคือ ความเชื่อของมนุษย์ที่ว่า เทพยดาฟ้าดินนั้นให้รางวัลแก่บุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติตามหลักของความรักสากลต่อมนุษย์ชาติทั้งปวงโดยเท่าเทียมกัน และลงโทษทัณฑ์แก่บุคคลผู้ปฏิบัติตามหลักของความรักที่มีการแบ่งชั้นวรรณะ นั้นเป็นแรงจูงใจอันสำคัญ ที่ทำให้ประชาชนยอมรับเอาคำสอนของม่อจื๊อ ข้อความที่ยกมากล่าวต่อไปนี้จะให้ความเข้าใจอย่างดีแก่เราในเรื่องนี้

เมื่อม่อจื๊อกำลังนอนเจ็บอยู่ เตี่ย ปี่ (Tieh Pi) สานุศิษย์ของเขา เข้ามาเยี่ยมและถามขึ้นว่า “อาจารย์ครับ อาจารย์สอนว่า เทพยดาฟ้าดินนั้นเป็นผู้ล่วงรู้ และเป็นผู้ให้รางวัลแก่คนทำดี และลงโทษทัณฑ์แก่คนทำชั่ว แต่ท่านอาจารย์เป็นผู้มีสติปัญญาเป็นเลิศ ไฉน ท่านอาจารย์จึงมาล้มเจ็บลงได้เล่า? คำสอนทั้งหมดของท่านอาจารย์อาจจะผิด หรือไม่ก็ เทพยดาฟ้าดิน ไม่มีญาณทิพย์ที่จะล่วงรู้ได้กระมัง?”

ม่อจื๊อ ตอบว่า “ถึงแม้ว่าข้าพเจ้าจะนอนเจ็บ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เทพยดาฟ้าดินไม่มีญาณล่วงรู้ คนจะล้มเจ็บลงได้ด้วยเหตุนานาประการ บางคนเจ็บป่วยเพราะถูกอากาศหนาว บางคนเจ็บป่วยเพราะทำงานมากเกินไป อุปมาเหมือนบ้านที่มีประตูร้อยประตู ถ้าปิดประตูไว้บานหนึ่ง ขโมยจะเข้าบ้านโดยทางประตูบานอื่นบ้างจะไม่ได้เลยหรือ?

ในบทนิพนธ์เรื่องม่อจื๊อนี้ ได้กล่าวถึงหลักคำสอนเรื่องผลกรรที่เทพยดาฟ้าดินเป็นผู้บันดาลให้ไว้ ม่อจื๊อประกาศและเผยแพร่คำสอนนี้โดยไม่อ้างถึงความหลัง หรือความกลัวที่จะได้รับในเรื่องชาติหน้าเลย ม่อจื๊อมีปรัชญาเป็นแบบประโยชน์นิยม ฉะนั้นเขาจึงประณามความเชื่อถือในเรื่องพรหมลิขิต โดยยืนยันว่ามนุษย์นั้น สามารถจะสร้างตนเองให้สมบูรณ์ได้ด้วยความพยายามของตนเอง ในแง่นี้ มีสิ่งที่น่าสนใจที่ควรสังเกตก็คือ การแปลความหมายของชะตากรรมแห่งชีวิตที่แตกต่างกัน ตามทรรศนะของเล่าจื๊อ ของขงจื๊อ และของม่อจื๊อ ในบทนิพนธ์ของปรัชญาเต๋านั้น ชะตากรรมของชีวิตถูกนำมาใช้แทนที่คำว่าธรรมชาติอยู่เสมอ เล่าจื๊อกล่าวว่า

…..สรรพสิ่งทั้งปวงเปลี่ยนแปลง และไม่เคยอยู่นิ่งอยู่ตลอดเวลา แต่สิ่งทั้งหลายแต่ละอย่างก็กำลังทวนวิถีของมันกลับไปสู่จุดเริ่มต้นของตน การทวนย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นนั้นคือ วิถีการไปสู่ความสงบ สภาพแห่งวิถีการไปสู่ความสงบนั้น คือ การปฏิบัติหน้าที่อันสมบูรณ์ของชะตากรรมแห่งชีวิต

ตามทรรศนะของเล่าจื๊อนั้น ชะตากรรมแห่งชีวิตหมายถึงสภาพที่เป็นอยู่ของโลกจักรวาลทั้งหมด กล่าวคือเป็น “ภาวะ-เพื่อ-ความเป็นภาวะนั้นเอง” สรรพสิ่งทั้งปวงมีการเกิดขึ้นและสลายลงเหมือนกัน มีความเจริญและความเสื่อมเหมือนกัน แต่เหนือสิ่งเหล่านี้ คือต่างก็ได้รับภาวะของตนมาจากปฐมกำหนดที่เป็นอภาวะ แล้วก็โคจรกลับไปสู่อภาวะเหมือนอย่างเดิม สภาพการณ์ทั้งหมดนี้คือ วิถีทางแห่งธรรมชาติ และเป็นวิถีทางแห่งชะตากรรมของชีวิตของสรรพสิ่งทั้งปวงด้วย

ขงจื๊อนั้น แปลความหมายของชะตากรรมแห่งชีวิตเป็นสองนัยแตกต่างกัน นัยที่หนึ่งชะตากรรมแห่งชีวิตหมายถึงเจตน์จำนงของสวรรค์ หรือโองการของสวรรค์ ขงจื๊อกล่าวว่า

ถ้าคำสอนของข้าพเจ้าจะเผยแพร่ไปทั่วโลกแล้ว นั้นก็เป็นเรื่องสุดแต่ชะตากรรม และถ้าคำสอนของข้าพเจ้าจะสลายลงเป็นผงธุลีแล้วนั้นก็เป็นเรื่องสุดแต่ชะตากรรม (หมิง-ming) เหมือนกัน

ขงจื๊อได้พยายามอย่างเต็มสติกำลังของตนแล้ว แต่เรื่องของความสำเร็จและความล้มเหลวนั้น ปล่อยให้เป็นเรื่องของเจตน์จำนงของสวรรค์

นัยที่สอง ขงจื๊อมีความเห็นว่า ชะตากรรมของชีวิตนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยตัวของมันเอง ไม่อยู่ในอำนาจของความพยายามแต่อย่างใด ฉะนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราจะต้องรู้ “ชะตากรรมของชีวิตของคน” ขงจื๊อกล่าวว่า

เมื่อข้าพเจ้าอายุได้ห้าสิบสี่ ข้าพเจ้ารู้จักชะตากรรมแห่งชีวิตและ
บุคคลที่ไม่รู้จักชะตากรรมแล้ว ไม่สามารถจะเป็นบุคคลชั้นพิเศษได้เลย

สำหรับม่อจื๊อนั้น มีทรรศนะตรงกันข้ามกับนักปรัชญาทั้งสองท่านนี้ ม่อจื๊อปฏิเสธความเชื่อเรื่องชะตากรรม และอุทิศบทนิพนธ์ของตนถึงสามบท เพื่อปฏิเสธความเชื่อเรื่องชะตากรรมเหตุผลโต้แย้งของม่อจื๊อนั้นพอจะสรุปได้ดังต่อไปนี้ ประการที่หนึ่ง ทฤษฎีเรื่องชะตากรรมไม่สอดคล้องกับคติความเชื่อของปราชญ์ในอดีต ม่อจื๊อกล่าว่า

ในอดีตกาลนั้น สิ่งที่พระเจ้าเจี่ย (Chieh) กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์เซี่ย ทำให้ระส่ำระสายนั้น ถูกจัดให้มีความเรียบร้อยสงบลงโดยพระเจ้าถัง (T’ang) ผู้สถาปนาราชวงศ์ซ้อง สิ่งที่พระเจ้าเจา (Chow) กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ซ้อง ทำให้ระส่ำระสายนั้นถูกจัดให้มีความเรียบร้อยสงบลง โดยพระเจ้าหวู (Wu) ผู้สถาปนาราชวงศ์โจว สรรพสิ่งทั้งปวงในโลกคงสภาพอยู่อย่างเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลง ประชาชนพลเมืองคงมีสภาพอย่างเดิม ในสมัยของพระเจ้าเจี่ย และพระเจ้าเจา โลกเผชิญกับสภาพที่โกลาหลวุ่นวายอย่างสาหัส แต่ในสมัยของพระเจ้าถังและพระเจ้าหวู โลกอยู่ในความสุขสงบ ฉะนั้นจะกล่าวได้อย่างไรว่า มีสิ่งที่เรียกว่าชะตากรรม เล่า?

ประการที่สอง คติความคิดเรื่องชะตากรรม นั้นไม่สอดคล้องสัมพันธ์กับประสบการณ์ของชีวิตที่มีอยู่ในปัจจุบัน

การที่จะมีชะตากรรมจริงหรือไม่นั้น เป็นปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยด้วยประสาทตาและประสาทหู ถ้าตาของเราสามารถมองเห็นชะตากรรมและหูของเราสามารถได้ยินชะตากรรมแล้ว ชะตากรรมก็มีอยู่จริงโดยนัยตรงกันข้าม ถ้าตาของเราไม่สามารถมองเห็นชะตากรรม หูของเราไม่สามารถได้ยินชะตากรรมแล้ว ชะตากรรมก็ไม่มี เท่าที่ประสบการณ์ของเราที่เคยพบนั้น เราเคยเห็นสิ่งที่เรียกว่าชะตากรรมบ้างไหม เราเคยได้ยินเสียงของชะตากรรมบ้างไหม?

และอีกประการหนึ่ง ทฤษฎีเรื่องชะตากรรมนั้นไม่สอดคล้องกับผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ถ้าผู้ปกครองบ้านเมืองเชื่อในเรื่องชะตากรรมแล้ว ท่านก็คงจะไม่เอาใจใส่ในเรื่องการปกครองบ้านเมือง แล้วพวกเสนาบดีทั้งหลายก็จะละเลย ในเรื่องการปฏิบัติราชการของตน ประชาชนทั่วไปก็จะไม่เอาใจใส่ในการทำสวนทำนา เหล่าสตรีทั้งหลายก็จะไม่สนใจเรื่องการทอหูกหั่นฝ้าย….ผลก็คือ สิ่งทั้งหลายในโลกก็จะระส่ำระสาย…และประชาชนพลเมือง ก็จะได้รับความทุกข์ยากเพราะขาดแคลนอาหารและเครื่องนุ่งหุ่ม

จากเหตุผลทั้งหมดนี้ ม่อจื๊อสรุปความเห็นว่า ชะตากรรมนั้นไม่มี เขาย้ำว่า ถ้าทุกสิ่งทุกอย่างที่บังเกิดขึ้นในโลกเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดโดยโชคชะตามาก่อนแล้ว มนุษย์ก็ไม่ควรเกรงกลัวการถูกโทษทัณฑ์จากการทำชั่ว หรือสนใจในผลดีของการทำความดี แต่อย่างไรก็ตาม ความกระวนกระวายใคร่รู้เรื่องในอนาคตนั้น เป็นเหตุผลอันหนึ่งที่ทำให้มนุษย์อยากรู้เรื่องชะตากรรม ด้วยเหตุนี้ม่อจื๊อ จึงเสนอแนะว่า

เมื่อเราไม่สามารถวินิจฉัยสิ่งที่เรากำลังพิจารณาอยู่ได้แล้ว เราก็ควรพิจารณาดูอดีต เพื่อที่จะได้รู้เรื่องของอนาคต

การกระทำเช่นนี้ จะขจัดความกระวนกระวายใคร่รู้เรื่องในอนาคตให้หมดไป เมื่อปราศจากความกระวนกระวายแล้ว ยังจะต้องมีเหตุผลอันใดเหลืออีกจะทำให้กระหายใคร่รู้เรื่องชะตากรรมอยู่อีกเล่า?

ที่มา:สกล  นิลวรรณ