ฟรี ลานซ์ (Free Lance)

คำว่า ฟรี ลานซ์ ตามคำศัพท์เดิม หมายถึง ทหารอาสาสมัคร ไม่ใช่ทหารประจำการ เป็นทหารอาสาหรือรับจ้าง ในสมัยอัศวิน ลานซ์ แปลว่า หอก นักเขียนที่ไม่ทำงานประจำกับสำนักงานใดๆ เรียกตัวว่า ฟรี ลานซ์ คือ เปรียบปากกา ดังว่าเป็นหอกอัศวิน พวกนักเขียนซึ่งไม่สังกัดสำนักนี้ โดยมากมีอาชีพประจำ แต่ประพันธ์เรื่องเป็นงานอดิเรก หรือเป็นการหารายได้พิเศษ

ตามปกติหนังสือฉบับหนึ่งๆ ย่อมมีเจ้าหน้าที่และนักเขียนประจำ แต่ โดยที่งานประพันธ์เป็นงานที่มีขอบเขตกว้างขวาง บางเรื่องนักเขียนประจำไม่มีความรู้พอ บางทีนักเขียนประจำไม่อาจผลิตเรื่องที่จะพิมพ์ได้เพียงพอ หนังสือพิมพ์ต่างๆ จึงอาศัยพวก ฟรี ลานซ์ พวก ฟรี ลานซ์ อาจส่งเรื่องให้สำนักพิมพ์โดยตรง หรืออาจส่งให้สำนักงานกลาง (Syndicate) สำนักงานกลางทำการติดต่อจ่ายเรื่องให้สำนักพิมพ์อีกทอดหนึ่ง

นักศึกษาโรงเรียนการประพันธ์ (ทางไปรษณีย์) เช่น London School of Journalism ในอังกฤษ โดยมากต้องการเป็น ฟรี ลานซ์ และเมื่อเขียน เรื่องจนมีชื่อเสียงแล้ว และเห็นปากกาของตน “ทำเงิน” ให้อย่างแน่นอน มั่นคงแล้ว จึงละจากอาชีพอื่นมาทำงานประพันธ์แต่อย่างเดียยโดยเฉพาะ บางคนกลายเป็นบรรณาธิการ บางคนเป็นนักเขียนประจำสำนักพิมพ์ มีเงินเดือนประจำ และพวกฟรี ลานซ์ นี้ มักเริ่มต้นเขียนติดต่อกับหนังสือพิมพ์รายวันก่อน

เครื่องอุปกรณ์ของพวกฟรี ลานซ์
โรเยอส์ กล่าวว่า ผู้ที่จะเป็นฟรีลานซ์ไม่ต้องมีอะไรมาก เครื่องอุปกรณ์ สำคัญ คือเครื่องพิมพ์เครื่องเขียน กระดาษเปล่าๆ สักตั้งหนึ่ง ซองแสตมป์ และข้อสุดท้ายขอให้ “มีเรื่องอยู่ในพุง” มากๆ ถ้านักเขียนคนใดไม่มีเครื่องพิมพ์ ก็ต้องใช้หมึก ปากกา แต่ต้องเขียนลายมือดีๆ ให้อ่านง่าย ถ้าฟรี ลานซ์คนใดพิมพ์ดีดต้นฉบับเรื่อง (MSS.-Manuscripts) ส่ง บรรณาธิการ จะพอใจมากกว่าตัวเขียนลายมือ

งานเขียนของพวกฟรี ลานซ์
ขอบเขตของเรื่องที่พวก ฟรี ลานซ์ จะเขียนส่งหนังสือพิมพ์นั้นมี กว้างขวาง ซึ่งเราอาจเลือกตามความถนัด เช่น บทนำ บทไขข่าว บทวิจารณ์ บทรีวิวหนังสือ ศิลปะ การกีฬา การปาฐกถา ความรู้เบ็ดเตล็ด ความเห็นเกี่ยวกับการเมือง การคลัง การกสิกรรม วิทยาศาสตร์ การพาณิชย์ ความก้าวหน้าของโลก เรื่องการท่องเที่ยว ขนบประเพณี

เริ่มเป็นฟรี ลานซ์
เมื่อท่านเริ่มเขียนเรื่อง และส่งให้หนังสือพิมพ์ก็เท่ากับว่าท่านได้เป็น พวกฟรี ลานซ์ แล้ว แต่การติดต่อระหว่างหนังสือพิมพ์กับฟรีลานซ์นั้น มี ระเบียบและมารยาทอยู่บ้าง ตามที่ข้าพเจ้าได้รับทราบจากผู้เริ่มเขียนบางคนว่า เรื่องที่ส่งให้หนังสือพิมพ์นั้นไปสูญหายเสียเป็นอันมาก ผู้เขียนไม่เคย ได้รับตอบว่าได้รับเรื่องหรือเปล่า เรื่องใช้ได้หรือไม่ บางคนจะขอเรื่องกลับคืนก็ไม่ได้คืน ข้อนี้มักทำให้ผู้เริ่มเขียนมองหนังสือพิมพ์ในแง่ร้าย บางทีก็เกิดความท้อถอย หรือเข้าใจผิดไปได้ต่างๆ

ตามระเบียบปฏิบัติในต่างประเทศนั้นมีดังนี้
ก. นักเขียนนำเรื่องไปส่งที่สำนักงานและนัดหมายเวลาที่จะมาฟังว่า บรรณาธิการจะรับเรื่อง หรือจะมีข้อตกลงอย่างไร ถ้าทำตามฟ้อ ก. นี้ก็ ไม่มีปัญหา แต่โดยมากพวกฟรีลานซ์มักติดต่อกับสำนักพิมพ์โดยทางไปรษณีย์

ข. การติดต่อโดยทางไปรษณีย์นั้น ผู้เขียนจะต้องให้ความสะดวกแก่บรรณาธิการที่จะส่งเรื่องคืนหรือจะติดต่อกับเจ้าของเรื่อง ซึ่งมีระเบียบติดต่อ ดังนี้

๑. ต้นฉบับเรื่องควรพิมพ์หรือเขียนลายมือที่อ่านง่าย หน้าเดียว หน้า หลังห้ามเขียน การเตรียมต้นฉบับจะมีกล่าวเพิ่มเติมตอนท้าย

๒. การส่งต้นฉบับควรลงทะเบียน เพื่อป้องกันการสูญหาย ต้องสอด ซองมีจ่าหน้าถึงเจ้าของเรื่อง พร้อมแสตมป์ให้พอเพียงสำหรับส่งเรื่องคืน

๓. เมื่อบรรณาธิการได้รับต้นฉบับตามที่กล่าวในข้อ ๑ และ ๒ นั้น แล้ว ก็จะอ่านตรวจหรือส่งให้ผู้ช่วย บางทีมีเจ้าหน้าที่อ่านต้นฉบับโดยเฉพาะ ถ้าเรื่องใช้ไม่ได้ บรรณาธิการจะเขียนบันทึกบอกไปว่า ยังใช้ไม่ได้ แต่ถ้า เห็นว่าผู้เขียนมีแววจะเป็นนักประพันธ์ได้สำเร็จ เขาอาจจะบอกว่าอย่าเพ่อท้อใจ ให้พยายามใหม่ โดยมากบรรณาธิการไม่มีเวลาพอที่จะบอก หรือชี้แจงอย่างอื่นยิ่งไปกว่านั้น ถ้าบรรณาธิการรับต้นฉบับก็จะตอบจดหมาย พร้อมกับส่งเงินมาให้ทันที เงินค่าเรื่องนี้ตามสำนักงานเขามีกำหนดไว้แล้ว บางทีอาจจะตอบไปว่า เรื่องใช้ได้ จะลงพิมพ์ในหนังสือฉบับนั้นๆ ส่วนเงินจะส่งให้เมื่อเรื่องนั้นลงพิมพ์แล้วภายในเวลาเท่านั้นเท่านี้ และเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดขึ้น เจ้าของเรื่องควรบอกไปในหนังสือนำส่งว่า เรื่องนั้นจะขายหรือให้เปล่า

ตามปกติ บรรณาธิการ (หนังสือพิมพ์อเมริกันตามที่โรเยอส์บอกไว้) จะตอบให้เจ้าของเรื่องทราบภายในสองสัปดาห์เป็นอย่างช้า ถ้าในสองสัปดาห์ ผู้เขียนยังไม่ได้รับข่าว ก็หมายความว่าเรื่องเขามีหวังจะลงพิมพ์ได้ เพราะเรื่องที่ใช้ไม่ได้บรรณาธิการจะรีบส่งคืนเจ้าของ นี่เป็นมารยาทซึ่งเชื่อว่า หนังสือพิมพ์ของเราคงจะได้ปฏิบัติกันอยู่เหมือนกัน แต่ถ้าเวลาล่วงไปสักสี่ห้าสัปดาห์ ผู้เขียนยังไม่ได้รับข่าวอะไรเลย แปลว่า จะต้องมีอะไรผิด ผู้เขียนต้องมีหนังสือสอบถาม ผู้เริ่มเขียนต้องมีความเพียรและความอดทนอยู่บ้าง บางทีท่านอาจรู้สึกว่าอาณาจักรการประพันธ์ซึ่งท่านกำลังเดินทางเข้าไปด้วยหัวใจอันอิ่มเอิบนั้น ช่างทุรกันดารเสียจริงๆ กว่าท่านจะได้เป็นเจ้าเป็นใหญ่จนบรรณาธิการมางอนง้อเรื่องนั้น ท่านอาจต้องเขียนทิ้งเขียนขว้าง หรือแสดงความอดทนอย่างมากมาย

เหตุที่นักประพันธ์ประสบความไม่สำเร็จ
การที่ผู้เริ่มประพันธ์ไม่อาจขาย หรือทำให้เรื่องของตนดีถึงบรรณาธิการรับพิมพ์นั้น มีเหตุใหญ่สามประการ คือ

๑. หย่อนความสามารถ (Incompetence) ในทางเขียน นึกว่าการ ประพันธ์เป็นของง่ายเกินไป และเขียนเรื่องโดยอยากมีชื่อเสียง อยากได้ชื่อ การเข้าสู่วงการประพันธ์โดยไม่ได้ตระเตรียม ฝึกฝนและศึกษาวิชาการประพันธ์ตามสมควร ย่อมพบความสำเร็จช้า หรือไม่พบเลย ดังที่หลายคนเคยบ่นว่า ส่งเรื่องให้หนังสือพิมพ์ตั้งหลายเรื่องไม่ได้ลงพิมพ์สักครั้งเดียว

๒. เขียนเรื่องชนิดหนึ่ง แต่ส่งให้หนังสือพิมพ์ซึ่งมีเข็มการลงพิมพ์เรื่องอีกชนิดหนึ่ง ถึงเรื่องจะดีอย่างไร บรรณาธิการก็เอาลงไม่ได้ เพราะผิดวัตถุประสงค์หรือผิดแนวของหนังสือนั้นๆ

๓. เขียนเรื่องซึ่งประชาชนนไม่สนใจ ข้อนี้สำคัญมาก สำหรับผู้เริ่มฝึกมักต้องเขียน “ตามใจ” คนอ่านก่อน เมื่อ “เก่ง” แล้ว จึงเขียนตามใจ ตนเองได้ ถ้าผู้เริ่มฝึกได้อ่านหนังสือพิมพ์ต่างๆ แล้วหมั่นพิจารณาเรื่องที่ปรากฏในหน้ากระดาษ ก็พอจะคะเนได้ว่าประชาชนกำลังสนใจ หรือนิยมอ่านเรื่องอะไร

ตลาดหนังสือ
ผู้ที่จะ “เล่นการประพันธ์” ควรเอาใจใส่ในตลาดหนังสือ ในต่างประเทศเขามีสมุดแจ้งเรื่อง (Directory) ของบรรดาหนังสือพิมพ์และแมกกาซีน ที่กำลังออกจำหน่ายพร้อมชื่อบรรณาธิการ สำนักงาน และแนวของหนังสือนั้นๆ และยังมีหนังสือพิมพ์ออกเพื่อประโยชน์แก่การประพันธ์โดยเฉพาะ เช่น Author and Journalist, The Writer, และ The Writer’s Monthly เป็นต้น ในตลาดหนังสือเมืองไทย ยังไม่มีหนังสือชนิดนี้ ฉะนั้นผู้ที่เอาใจใส่ในการเขียน ควรรู้จักหนังสือพิมพ์ต่างๆ ที่กำลังพิมพ์จำหน่ายอยู่ในเมืองเรา ว่าหนังสือฉบับไหน ใครเป็นบรรณาธิการ อยู่ไหน ต้องการเรื่องอะไร ซึ่งเป็นการศึกษาที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง ผู้เริ่มเขียนต้องพยายามรู้จักติดต่อกับวงการประพันธ์ บรรณาธิการหรือนักเขียนที่มีชื่อเสียงไว้บ้าง

แนะนำผู้เริ่มฝึก
ผู้เริ่มฝึกที่มุ่งหมายความสำเร็จต้องเขียนมาก และอ่านมาก พยายาม อ่านหนังสือที่เขาถือกันว่าเป็นวรรณกรรมชั้นดี เพื่อจะได้ถือเป็นแบบอย่าง แม้หนังสือพวกชั้นตํ่าที่เรียกว่า “Cheap Literature” ใช้สำนวนภาษาต่ำๆ ที่วางขายอยู่ดาษดื่นก็ควรอ่านพวกหนังสือที่เขาเรียกว่า “สำนวนสิบสตางค์” นี้ อาจจะให้ความคิดแก่ท่านว่า เรื่องอย่างไรที่ไม่ควรเขียน แต่พวก “สำนวนสิบสตางค์” นี้ บางเรื่องก็อาจกลายเป็นเรื่องสำคัญไปได้เหมือนกัน

หนังสือชั้นเก่าที่ให้แบบอย่างสำนวนภาษาก็ดี เช่น

พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๕ เรื่องไกลบ้าน พระราชพิธี ๑๒ เดือน พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๖ เที่ยวเมืองพระร่วง ปกิณกคดีของอัศวพาหุ

นิพนธ์ของ น.ม.ส.-นิทานเวตาล จดหมายจางวางหร่ำ นิทานของ
น.ม.ส.

นิพนธ์ของ ครูเทพ-เรียงความบางเรื่องของครูเทพ

นิพนธ์ของเสฐียรโกเศศ และนาคะประทีป-กามนิต ทศมนตรี

เรื่องอื่นๆ มี มหาภารตยุทธ์ ของ ส.น. สามก๊ก ของ เจ้าพระยา พระคลังหน จดหมายเหตุ ความทรงจำพระนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เหล่านี้นับถือกันว่า เป็นแบบสำนวนภาษาที่ดียิ่ง

สำหรับสมัยปัจจุบันนี้ ท่านอาจเลือกเรื่องของนักประพันธ์ที่ท่านชอบ สักคนหนึ่ง พยายามอ่านและพิจารณาว่า ท่านชอบเพราะเหตุใด เขามีสำนวน และเค้าเรื่องที่เขียนอย่างไร

การที่แนะนำหนังสือต่างๆ เหล่านี้ รู้สึกว่านักศึกษาคงหาอ่านได้ยาก
เพราะเป็นหนังสือที่ไม่ค่อยได้พิมพ์มากมายแพร่หลาย อย่างไรก็ดี ถ้ามี โอกาสแล้วท่านควรหาอ่าน จะอ่านหนังสืออะไรก่อนก็ได้ ถ้าท่านพอใจจะเป็นฟรี ลานซ์ จะต้องอ่านหนังสือให้มากที่สุดที่จะมากได้ ทั้งพวกสารคดี และบันเทิงคดี

ส่วนการเขียนนั้น ท่านต้องเขียนอย่างใจเย็น อย่ารีบร้อน เมื่อเขียน เสร็จต้องอ่านตรองทบทวน ถ้าพอมีเพื่อนที่ท่านจะอ่านให้เขาฟังได้ก็ควรทำ เขียนเสร็จแล้วลองทิ้งไว้สักสองสามวัน แล้วหยิบมาอ่านใหม่ บางทีสิ่งที่ท่านรู้สึกว่าดีแล้วนั้น ยังมีข้อบกพร่องควรแก้ได้อีก ตอนนี้ผู้เริ่มต้องมีความอดทน อย่านึกพอใจตนเองง่ายๆ ทุกคำทุกประโยคต้องอ่านตรึกตรองอย่างละเอียด ถ้าท่านเริ่มโดยความละเอียดประณีต นับว่าท่านเริ่มถูก

ผู้ที่มีความประสงค์จะเขียนให้ดีพิเศษเฉพาะเรื่อง (Specialise) จะต้องหาความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่จะเขียนให้กว้างขวาง เช่น แผนกบทความใน เรื่องการเงิน การเมือง การกสิกรรม การค้า วิทยาศาสตร์ การประดิษฐ์ ค้นคว้า (Invention) ศิลปะ สถาปัตย์ ฯลฯ หนังสือพิมพ์รายวันย่อมต้องการบทความเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้อยู่เสมอ นักเขียนนอกจากเขียนเรื่องบันเทิงคดี (Fiction) อาจจะเขียนบทความที่ตนสนใจเรื่องหนึ่งเรื่องใดก็ได้ แต่ทุกเรื่อง ที่ท่านเขียน ท่านควรมีความรู้ในเรื่องนั้นๆ ให้เพียงพอ

ผลประโยชน์
ผู้เขียนเรื่องเป็นงานอดิเรกนั้น เพียงแต่เรื่องได้ลงพิมพ์เผยแพร่ก็เป็นที่พอใจ ส่วนประโยชน์ที่เป็นเงินเป็นทองนั้น สำหรับในเมืองไทยบัดนี้ นับว่าสูงขึ้น ก่อนหน้าสงคราม พวกฟรีลานซ์มักจะถูกเขียน “ฟรี” เสียโด มาก แต่บัดนี้วรรณกรรมเป็นสินค้าได้แล้ว แต่ราคาค่าเรื่องนั้นหนังสือพิมพ์ต่างๆ ยังไม่ได้ประกาศชัดแจ้งลงไป ในต่างประเทศ เช่นในอเมริกา เขาคิดราคาเรื่องตามจำนวนคำ และความสำคัญของเรื่องกับนามผู้เขียน อัตราธรรมดาระหว่างคำละหนึ่งเซนต์ถึงสิบเซนต์ โรเยอส์ซึ่งหนังสือ Journalistic Vocations ว่า อย่าไปหวังรวยกับการเป็นฟรี ลานซ์ ให้มากนัก ทางที่ดีควรมีอาชีพอะไรเป็นประจำ แล้วเขียนเรื่องเป็นการหารายได้พิเศษแหละดี

ท่านต้องตรวจตัวสะกดการันต์ การเว้นวรรค และเครื่องหมายวรรค ตอนให้ถูกต้อง หากเป็นสารคดี ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ถูก พวกวิสามานยนามต้องดูให้ถูกต้อง และควรบอกที่มาของหนังสือค้นคว้าไว้ในตอนท้ายด้วย

การเตรียมต้นฉบับ
ผู้เริ่มควรเขียนเป็นร่างก่อน เมื่อตรวจแก้ร่างจนเป็นที่พอใจแล้ว จงเขียนให้เรียบร้อยอีกครั้งหนึ่ง ไม่ต้องกลัวเสียเวลา การทำให้เรื่องของท่านอ่านง่ายและน่าดูเป็นสิ่งสำคัญ

๑. ควรใช้กระดาษฟุลสแกป หรือกระดาษไม่มีบรรทัดขนาดกระดาษ พิมพ์ดีด กว้าง ๘ นิ้ว ยาว ๑๒ นิ้ว

๒. ถ้าพิมพ์ต้นฉบับได้เป็นดี ถ้าจะเขียนควรใช้หมึกสีดำหรือนํ้าเงินแก่ ไม่ควรเขียนด้วยตัวดินสอ

๓. เขียนหรือพิมพ์หน้าเดียว เว้นหน้าซ้ายไว้ประมาณ ๑-๑ ๑/๒ นิ้ว
และต้องเขียนบอกหน้าไว้ทุกหน้า

๔. อย่าเขียนจนชิดขอบล่างหรือขอบบนนัก เหลือระยะระหว่างขอบไว้สักหนึ่งนิ้วเป็นดี

๕. ระวังตรวจตัวหนังสือของท่านให้ถูกต้อง อย่าให้ผู้อ่านสงสัย เพราะ ผู้รับเรื่องไม่อาจซักถามท่านได้

๖. การย่อหน้า และเครื่องหมายวรรคตอนต่างๆ ต้องให้แลเห็นชัดเจน

๗. ข้อสุดท้ายเมื่อเซ็นชื่อแล้ว อย่าลืมเขียนชื่อและตำบลที่อยู่ของท่านให้ชัดเจน

๘. จดหมายถึงบรรณาธิการ ไม่ต้องเขียนยืดยาว บอกแต่ว่า เรื่องที่ส่งมานั้น เป็นเรื่องสั้น บทนำ หรือสารคดี ท่านให้เปล่าหรือต้องการขาย ท่านจะไปฟังผลโดยตนเอง หรือต้องการให้ตอบไป ณ ที่ใด ไม่จำเป็นต้องแนะนำตนเองมากนัก

แบบการจัดต้นฉบับ

silapa-0225

วงการเขียนของพวกฟรี ลานซ์
ถ้าเราหยิบหนังสือพิมพ์ข่าว และนิตยสารหลายๆ ฉบับมาพิจารณาดู แล้วแยกเรื่องออกเป็นประเภทต่างๆ ก็จะได้ดังนี้

๑. ข่าว
๒. บทความ
๓. ความเรียงทั้งเชิงสาระและปกิณกะ
๔. นวนิยาย
๕. เรื่องสั้น
๖. ชีวประวัติ
๗. รีวิวหนังสือและปาฐกถา
๘. บันทึกการท่องเที่ยว หรือขนบประเพณีต่างๆ

เหล่านี้ พวกฟรี ลานซ์ อาจเขียนได้ทั้งนั้น

ที่มา:เปลื้อง ณ นคร

การเขียนนวนิยาย

เพื่อให้ผู้ศึกษาได้แลเห็นเค้าเรื่อง และชั้นเชิงในการเขียนอย่างละเอียด ข้าพเจ้าจะนำนวนิยาย ๒ เรื่องที่คนรู้จักมาก มาแยกแยะให้ท่านเห็น ที่จริงมีนวนิยายของต่างประเทศ และของไทยที่ควรยกมาให้ผู้ศึกษาได้พิจารณาอีกมากเรื่อง แต่รู้สึกว่าถ้าได้ศึกษาโดยละเอียดเพียงสองเรื่อง ก็เป็นการพอเพียงแล้ว เรื่องอื่นๆ จะรวบรวมกล่าวในตอนที่ว่าด้วยการวิจารณ์ เฉพาะคำบรรยายอันดับที่ ๗ และที่ ๘ จะเลือกเรื่อง “ละครแห่งชีวิต” ของ ม.จ.อากาศดำเกิง กับ “ความพยาบาท” ของ แม่วัน มาชี้แจง

เรื่อง “ละครแห่งชีวิต” ยาวประมาณ ๗๘,๐๐๐ คำ เมื่อพิมพ์ออก จำหน่ายก็ได้มีการตื่นเต้นกันมาก ทั้งในวงนักอ่าน นักเขียน นักวิจารณ์ หนังสือจำหน่ายหมดในเวลาอันรวดเร็ว และผู้เขียนก็ได้ก้าวขึ้นสู่ความมีชื่อเสียงในพริบตาเดียว นวนิยายนี้เป็นเชิงชีวประวัติ บางตอนมีลักษณะเป็นเชิงจิตวิทยา บางตอนเป็นเชิงพรรณนาการท่องเที่ยว และผู้เขียนได้แสดงความคิดเห็น และอุดมคติไว้หลายอย่าง สิ่งเหล่านี้ช่วยให้นวนิยายเชิงชีวประวัติดูเป็นจริงเป็นจังขึ้น ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ ผู้เขียนได้แสดงชีวิตของนักหนังสือพิมพ์ไว้อย่างชัดเจนดีมาก

ในการประพันธ์เรื่องนี้ ม.จ.อากาศฯ สมมุติ ให้ นายวิสูตร ศุภลักษณ์ ณ อยุธยา เป็นผู้เล่าเรื่องของตนเอง ใช้คำแทนชื่อในเรื่องว่า “ข้าพเจ้า”
ชีวิตของนายวิสูตรนี้ ที่แท้ก็มีเรื่องชีวิตของผู้แต่งปนอยู่เป็นอันมาก นวนิยายเชิงชีวประวัติ ซึ่งเขียนเป็นประวัติของบุคคลสมมุติ บางทีผู้เขียนเพ่งจะเขียนชีวประวัติของตนนั้นเอง แต่ถ้าเอาตัวเองใส่เข้าไปในเรื่อง จะกลายเป็นเรื่องจริง แทนที่จะเป็นนวนิยาย ฉากของเรื่องเริ่มในกรุงเทพฯ จากกรุงเทพฯ ไปลอนดอน ระหว่างกรุงเทพฯ ไปลอนดอน ผู้เขียนได้เขียน เป็นทำนองการเดินทาง ฉากลอนดอนเป็นพฤติการณ์ของชีวิตตอนหนึ่ง ต่อจากนั้นฉากเคลื่อนที่ไปหลายแห่ง เช่น ปารีส มอนติคาโล นิวยอร์ก และ โตเกียว ผู้เขียนได้เคยผ่านไปตามเมืองเหล่านั้นจริงๆ ไม่ใช่นึกเห็น การที่นวนิยายดำเนินเรื่องออกไปถึงถิ่นฐานบ้านเมืองไกลนี้ ทำให้เกิดรสใหม่ขึ้นแก่ผู้อ่าน เพราะแต่ก่อนถ้าเป็นนวนิยายไทยๆ เรื่องก็วนเวียนอยู่ในพระนคร หรือจังหวัดใกล้ๆ นั่นเอง แต่การที่จะเขียนได้อย่างนี้ ต้องมีโอกาสได้ท่องเที่ยวไป ส่วนท่านที่ยังไม่ได้ไปไหน ก็ไม่จำเป็นต้องเดือดร้อนอันใด เพราะรอบๆ ตัวของท่านน่ะแหละ ท่านก็อาจจะพบ “นวนิยาย” ได้เหมือนกัน

ผู้เขียนได้แบ่งเรื่องออกเป็นบทใหญ่ๆ ๒๔ บท และในบทใหญ่นี้ ได้ซอยออกเป็นตอนเล็กๆ อีกบทละหลายตอน

บทที่ ๑ ปฐมวัย
ในการเขียนนวนิยายเชิงชีวประวัติ มักจะเริ่มต้นโดยกล่าวถึงปฐมวัย ก่อน เป็นการวางพื้น นำผู้อ่านให้รู้จักสนิทสนมกับตัวละคร ให้เห็นสิ่งแวดล้อม ที่สร้างลักษณะนิสัยให้เห็นความเป็นอยู่ต่างๆ ที่มีอิทธิพลผันแปรความนึกคิด และอารมณ์ของตัวละคร

เมื่อเปิดเรื่อง ท่านจะได้รู้จัก นายวิสูตร ศุภลักษณ์ อายุ ๒๘ ปี เขากำลังเล่าเรื่องตั้งแต่เขายังเล็กๆ อยู่ จนถึงอายุในขณะที่เขากำลังเล่าเรื่อง เขาได้แสดงอารมณ์และความระทมขมขื่นที่เคยได้รับมาเมื่อเยาว์ “อะไรเล่า ที่ร้ายยิ่งไปกว่าความไม่เสมอหน้า และความอยุติรรรม” เขาพูดถึงการที่ บิดาละทิ้ง และไม่เหลียวแล ไม่รักเขาเสมอพี่ๆ น้องๆ ของเขา และได้ ขมวดเรื่องไว้ว่า “ข้าพเจ้าเคยเป็นเด็กทั้งสองชนิด เคยเป็นเด็กอาภัพจนถึงนํ้าตาเช็ดหัวเข่า และเป็นเด็กที่สามารถหัวเราะเยาะโลกได้ทุกเวลา เมื่อท่านได้อ่านเรื่องของข้าพเจ้าจบแล้ว ข้าพเจ้าก็ยังเดาไม่ถูกแน่ ว่าท่านจะรู้สึกชิงชังเจ้าของเรื่องสักเพียงไหน” เมื่อพูดดังนี้ เท่ากับชักจูงความสนเท่ห์ ขึ้นแก่ผู้อ่าน ชีวิตของคนๆ นี้เป็นมาอย่างไร

ในตอนปฐมวัย นายวิสูตร ชักนำให้เรารู้จักเด็กหญิง บุญเฮียง เพื่อน เด็กที่ต่างชั้นกับยายพร้อมพี่เลี้ยง พระยาวิเศษศุภลักษณ์ บิดา และมารดาของตนเอง แต่การพูดถึงคนอื่น เป็นแต่พูดอย่าง “บอกเล่า” ให้ผู้อ่านทราบ อย่างตรงไปตรงมา เช่น พูดถึงบิดา ก็ว่า

“ท่านบิดาของข้าพเจ้า เป็นข้าราชการผู้ใหญ่คนหนึ่ง ในกระทรวง มหาดไทย และมักจะมีราชการไปตามจังหวัดต่างๆ ฯลฯ บอกให้เรารู้ว่า บิดาเป็นคนใหญ่โต พูดถึงความรักระหว่างบิดากับมารดา บอกให้เรารู้ว่า บิดาไม่ใคร่รัก และให้ความเอาใจใส่กับตน ที่เขียนอย่างนี้ เพราะไม่มีความจำเป็นอย่างใด ที่ต้องให้มีการทำบทบาท บอกลักษณะนิสัย (Characterization) แต่เมื่อพูดถึงยายพร้อมพี่เลี้ยง ผู้เขียนได้ให้คำพูด กิริยาและพรรณนาลักษณะไว้ด้วย เพราะมีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับตัวละคร เช่น

“ยายพร้อมเป็นคนโบราณ อย่างเช่นพี่เลี้ยงทั้งหลายในครอบครัว ขุนนางสมัยนั้น หน้าตาแกน่าเกลียด แต่ภายในแววตา และแววตาเท่านั้น ที่ทำให้ข้าพเจ้าเห็นได้ว่า แกเป็นคนสามารถจะสละชีวิตของแกเพื่อข้าพเจ้าได้ ไม่ว่าเวลาใด นิสัยของแกชอบนุ่งผ้าเก่าหยักรั้ง สวมเสื้อกระบอกรัดตัว ไม่ว่าหน้าร้อนหน้าหนาว กินหมากจนปากแดง แดงแล้วดำ ดำแล้วไหม้ คล้ายถูกไฟเผา นานๆ ก็สูบบุหรี่ ผ. ผี เสียตัวหนึ่งเต็มๆ แกเป็นคนกินข้าวกินกับจุที่สุดคนหนึ่ง ที่ข้าพเจ้าเคยเห็นมา”

นี้คือภาพยายพร้อม ที่ผู้เขียนวาดเสนอท่านด้วยตัวอักษร ลักษณะที่นำมากล่าวนั้น เฉพาะลักษณะที่เด่นชัดประจำบุคคล และขอให้สังเกตวิธีพูดใช้แบบขัดกัน (Contrast) หน้าตาน่าเกลียด น่ากลัว แต่ใจดี ถ้าพูดว่าหน้ายักษ์ใจมนุษย์ หรือหน้าเสือใจพระ คงไม่งดงาม และชัดเจนเท่า

อีกตอนหนึ่ง เป็นตอนที่พี่ๆ น้องๆ ได้รับแจกเงินไปเที่ยวงานออกร้านวัดเบญจมฯ แต่ตัวนายวิสูตรคนเดียวไม่ได้รับแจก นอนร้องไห้เสียใจอยู่

“สักครู่ ยายพร้อมได้หอบร่างอันทุเรศของแกเข้ามาหาข้าพเจ้า มือขวาถือกระโถนใบใหญ่ มือซ้ายถือผ้าขี้ริ้วผืนหนึ่ง พอเห็นข้าพเจ้านอนร้องให้อยู่บนเตียง แกก็เข้าใจทันที แกวางกระโถนและผ้าขี้ริ้วไว้ข้างเตียง แล้วก้มลงเอามือลูบหลังข้าพเจ้า”

“คุณไม่ได้รับแจกเงินหรือคะ?” แกถาม
“จ้ะ! ยายพร้อม” ข้าพเจ้าตอบ
“พุทโธ่ เท่านั้นก็ต้องร้องไห้ด้วย มาไปกับพร้อม อีฉันมีเงินอยู่หกบาทอีฉันจะพาคุณไป แต่เราไม่เข้าไปที่ในบริเวณ เพราะค่าเข้าประตูแพง นัก เราไปที่สำเพ็งดีกว่า ไปแทงตกเบ็ด ไปรถเจ๊กประเดี๋ยวก็ถึง”

“ข้าพเจ้ารู้ว่า ยายพร้อมพยายามที่จะกล่อมนํ้าใจข้าพเจ้า และพยายามที่จะหัวเราะ แต่ในระหว่างที่แกพูด ข้าพเจ้าแลเห็นนํ้าตาแกไหลลงอาบแก้มอันเหี่ยวทั้งสองของแก ข้าพเจ้าโผกายเข้ากอดยายพร้อม พร้อมด้วยความรักอันสูงสุด เวลานั้นข้าพเจ้าไม่เห็นใครอีกแล้ว นอกจากยายพร้อม- ยายพร้อม! ”

นี่คือวิธีให้บทบาท (Dramatization) ให้สังเกตตอนท้าย ยํ้าคำ ยาย พร้อม สองครั้งเป็นการเน้น แล้วยังให้เครื่องหมาย อัศเจรีย์กำกับอีกด้วย ในตอนที่ว่า “เอามือลูบหลัง” ถ้าเราจะพูดว่า “ปลอบ” ก็เท่ากับเป็นการบอกเล่า ไม่ชัด ไม่เห็นกิริยาเหมือนพูดว่า “เอามือลูบหลัง”

ธรรมดาชีวิตในปฐมวัยนี้ ย่อมมีพฤติการณ์หลายอย่าง แต่ผู้เขียนได้หยิบยกเฉพาะพฤติการณ์ที่มีอิทธิพลเหนือชีวิตของตัวละครมากล่าวเท่านั้น เช่นกล่าวถึง นายวิสูตร ถูกยายพร้อมชักนำไปเล่นตกเบ็ด นายวิสูตรมีโชคดี เลยชอบพนัน และต่อมาได้ลักลอบเล่นเนืองๆ จนจับได้ ถูกทำโทษ แต่นิสัยการพนัน หรือนิสัยนักเลงได้เริ่มก่อขึ้นในจิตใจของนายวิสูตรเสียแล้ว ในการเล่าถึงวงศาคณาญาติ และสภาพชีวิตของตัวละครนี้ ถ้าผู้เขียน พูดเพ้อเจ้อ ฟุ่มเฟือยก็ทำให้ผู้อ่านเหนื่อยหน่าย ไม่ติดใจที่จะตามเรื่องต่อไป แต่เรื่องนี้ ผู้เขียนได้หยิบยกเฉพาะที่เด่นพรรณนาด้วยสำนวนโวหารที่ตรงไปตรงมา ชัดเจนคล้ายกับว่าผู้เขียนได้เคยผ่านมาเช่นนั้นจริง อารมณ์ที่ระบายออกมา ก็คล้ายกับอารมณ์ที่ออกมาจากผู้ที่ได้รับความบีบคั้นทางใจจริงๆ การจะทำเซ่นนี้ได้ก็โดย

๑. ผู้เขียนได้เคยประสบชีวิตเช่นนั้นมาจริง
๒. ผู้เขียนไม่เคยประสบ แต่เคยได้สังเกตและนำมาพินิจพิจารณา
๓. ผู้เขียน เขียนโดยมโนคติ แต่ในข้อ ๓ นี้ แม้ผู้เขียนจะมีมโนคติ แจ่มใสประการใด ถ้าไม่เคยมีความจัดเจน คือ ไม่ได้ผ่านพบมาก่อนบ้าง ก็จะทำให้เห็นจริงได้โดยยาก

เมื่อจะจบบทที่ ๑ ผู้เขียนได้ถอดความนึกคิดไว้ว่า

“นี่คือปฐมวัยตอนหนึ่งของข้าพเจ้า แม้ว่าจะเศร้าสักเพียงใด ก็คงเป็นเรื่องที่จริง ความจริงมักเศร้าเสมอ… ”

“ความจริงมักเศร้าเสมอ” จะว่าเป็นภาษิตเป็นคติก็ได้ เมื่อท่านจะไปเขียนดังนี้บ้างก็ต้องระวังอย่าให้เป็นความคิดตื้นๆ ดาดๆ

บทที่ ๒ ประดิษฐ์ บุญญารัตน์
ในบทนี้ กล่าวถึงชีวิตในโรงเรียน วิสูตร ศุภลักษณ์ คงได้รู้จักกับนักเรียน และครูบาอาจารย์หลายคน แต่ผู้เขียนละเว้นหมด คงกล่าวถึงแต่การรู้จักกับ นายประดิษฐ์ บุญญารัตน์ ลูกชายเจ้าคุณบรรลือ เพราะนักเรียนคนนี้จะได้เกี่ยวข้องกับนายวิสูตรต่อไป ทั้งเป็นตัวละครที่จะดำเนินเรื่องก้าวไปในตอนอื่นอีกด้วย ชีวิตในโรงเรียนโดยมากก็คือ มักชกกัน แล้วอาจารย์ไปพบจับมาเฆี่ยนเสีย เรื่องนี้ก็เช่นนั้น แต่วิธีบรรยายแนบเนียนให้ความรู้ดี คำพูดและกิริยาของตัวละครดี วิสูตร ศุภลักษณ์ ได้รับความน้อยเนื้อต่ำใจมาจากบ้าน เลยกลายเป็นเด็กเกกมะเหรกของโรงเรียน แต่…

“ประดิษฐ์ บุญญารัตน์ เป็นเด็กที่มีรูปโฉมสง่างาม แต่งตัวเรียบร้อย เสมอ แม้จะมีอายุเพียง ๑๗ ปี ก็เป็นคนมีร่างโต นิสัยเป็นผู้ใหญ่ ชอบ ทำงาน เล่าเรียนเก่ง เงียบหงอย ไม่ค่อยพูดจากับใคร เมื่อพูดก็พูดแต่สิ่งที่เป็นแก่นสารเกี่ยวแก่วิชาความรู้โดยมาก ประดิษฐ์ ไม่เคยเยี่ยมกรายเข้าไปในห้องกายกรรม ไม่เคยชกต่อยกับใคร ไม่เคยไปดูหรือไปเล่นฟุตบอลที่ไหน กิจวัตรประจำวันของเขาก็คือ มาเรียนตอนเช้า พอโรงเรียนเลิกก็เดินไปขึ้นรถรางกลับบ้าน ไม่เคยไปที่อื่น”

วิธีเขียนอย่างนี้เป็นเชิงพรรณนา (Description) ไม่ใช่เชิงวาดนิสัย หรือลักษณะตัวละคร โดยบทบาท (Characterization) ผู้เขียนต้องรู้ว่า ตอน ใดควรจะใช้วิธีไหน ทั้งนี้ต้องแล้วแต่ความเหมาะสมของเนื้อความในเรื่อง เป็นเกณฑ์

วิสูตร เรียนห้องเดียวกับประดิษฐ์ และมูลเหตุที่ทำให้เกิดวิวาท ก็คือ ประดิษฐ์ ชอบแอบดูวิสูตรเสมอ วิสูตร ซึ่งมีนิสัยเกเรอยู่แล้วก็ชวนวิวาท ในที่สุดก็ไปชกกันในวัด ขณะที่ชกกันนั้นอาจารย์ผู้ปกครองจับได้ จึงพาตัวไปชำระ ประดิษฐ์ยอมรับผิดฝ่ายเดียว แม้เขาจะไม่ใช่เป็นผู้ก่อเรื่อง ก็ตาม วิสูตรซึ่งมีนิสัยเกเร แต่ความเป็นนักเลงก็มีอยู่ในตัว อึกอักอยู่ว่า จะคัดค้านและสารภาพความจริงหรืออย่างไร แต่อาจารย์ผู้ปกครองขึงตาไล่ให้ออกไปเสียก่อน…

“…ข้าพเจ้าจึงเดินช้าๆ ออกไป พลางคิด…คิด แต่ก็หามีผลอะไรไม่ ข้าพเจ้าเดินลงบันไดมาถึงห้องล่าง ทีแรกตั้งใจว่าจะเดินไปขึ้นรถกลับ บ้าน แต่ก็มาคิดลังเลใจขึ้นในบัดนั้น กลัวว่าประดิษฐ์จะต้องรับโทษเพราะความผิดของข้าพเจ้า สงครามความรู้สึกของข้าพเจ้าก็ยังต่อสู้กันอยู่ ในที่สุดความรู้สึกที่ดีเป็นฝ่ายมีชัย ข้าพเจ้าวิ่งจะขึ้นบันไดไปยังห้องท่านอาจารย์ผู้ปกครองไปเพื่อจะสารภาพผิด ให้ประดิษฐ์พ้นโทษ แต่-อนิจจา-พอข้าพเจ้าวิ่งขึ้นไปได้ครึ่งทาง ก็ต้องหยุดชะงักอยู่กลางบันได เพราะข้าพเจ้าได้ยินเสียงประดิษฐ์ถูกตีดังสนั่น ถูกตี-ทีหนึ่ง-สอง-สาม-สี่-ห้า-หก ครั้ง เพราะความผิดของข้าพเจ้า แล้วเสียงตีก็เงียบหายไป ทันใดนั้นข้าพเจ้าก็เดินหวนลงบันไดกลับมายืนที่ห้องกลางนั้นอีกแต่ผู้เดียว นํ้าตาไหลลงอาบหน้า คิด- คิดถึงความชั่วร้ายต่างๆ ที่ข้าพเจ้าเคยทำมาแล้ว คิดเห็นตัวอยู่ในกระจกแห่งความลามกต่างๆ ทุกชนิด”

การพรรณนา กระแสความรู้สึกสะเทือนใจตอนนี้นับว่าดี เรียงความ รู้สึกและกิริยาต่อเนื่องกันเป็นลำดับ ให้สังเกตว่า ผู้เขียนกล่าวถึงการที่นายประดิษฐ์ถูกตี ๖ ครั้ง โดยเขียนแยกเป็น หนึ่ง สอง-เท่ากับให้ผู้อ่านได้ความรู้สึกถึงการนับและคำว่า คิด ก็ใช้สองคำต่อเนื่องกัน เป็นการเน้นความให้แลเห็นความคิด ซึ่งยืดเยื้ออยู่ในใจของตัวละคร อนึ่ง การที่ตัวละครที่เคยเป็นคนเกเร พอตัดสินใจจะทำดีกลับคลาดแคล้วไปอย่างนี้ เป็นรสอย่างหนึ่งที่กระเทือนอารมณ์ผู้อ่าน กับขอให้สังเกตว่า ในการพรรณนา แยกแยะความรู้สึก ลำดับกิริยาและพฤติการณ์ ดังตัวอย่างนี้ ถ้าผู้แต่งเองมีอารมณ์ต่างๆ ท่วมตัว ก็จะเขียนดังนี้ไม่ได้เลย นักประพันธ์ย่อมพินิจอารมณ์ของตนอย่างรอบคอบ และหยิบยกพรรณนาผลของการพินิจนั้นแก่ผู้อ่าน

บทที่ ๓ ลำจวน
การวิวาทกับประดิษฐ์ บุญญารัตน์ ทำให้วิสูตรรู้สึกตัวขึ้นเป็นอันมาก และในที่สุดกลับเป็นมิตรที่รักของประดิษฐ์ ประดิษฐ์ให้วิสูตรได้รู้จักลำจวนน้องสาวของตนด้วย ที่บ้านของเพื่อนใหม่นี้ วิสูตรได้พบกับการต้อนรับอย่างอารี โดยเฉพาะลำจวนได้เอาใจใส่กับวิสูตรมาก จนอาจจะพูดได้ว่า มีความมุ่งรักต่อกัน

ข้อนี้เป็นลักษณะดำเนินเรื่องอีกแบบหนึ่งคือ ให้ตัวละครได้รับความ ระทมขมขื่นใจจากที่หนึ่ง ซึ่งเราต้องเห็นอกเห็นใจ ครั้นแล้วผู้เขียนนำ ตัวละครให้มาพบกับที่อีกแห่งหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะตรงข้ามกับตอนก่อนหมดทุกอย่าง ตัวละครกลับพบกับความสุขความเพลิดเพลิน เท่ากับเป็นการชักนำอารมณ์ผู้อ่านให้สับเปลี่ยนกัน ระหว่างความทุกข์และความสุข

ขณะที่วิสูตร พอจะมีความรู้สึกเห็นแง่ดีของโลก และพบกับความชื่นบานนี้ บิดาของเขาก็ถึงแก่กรรม “ในปลายปีนั้น ท่านบิดาถึงอนิจกรรม ในพินัยกรรมของท่านปรากฏว่า เรา-คุณแม่-หนูสำรวย และข้าพเจ้า ไม่ได้มีส่วนในกองมรดกของท่านเลย ท่านปล่อยให้เราทั้งสามต่อสู้กับชีวิตอันทารุณ โดยปราศจากความช่วยเหลือ…” นี่เป็นตอนที่สุขทุกข์ ความขมขื่นคละกัน

เรื่องเชิงชีวประวัตินี้ ไม่มีพล็อต คือไม่ต้องการเงื่อนงำ ปม ที่น่าตื่นเต้น แต่ผู้อ่านนวนิยายเชิงชีวประวัติด้วยความดูดดื่ม ก็เพราะเขามีความ รู้สึกร่วมกับตัวละครเอก อยากจะรู้ว่าชีวิตตัวละครเอกนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป ก็การที่ผู้อ่านจะมีความรู้สึกร่วมด้วยนั้น ผู้เขียนจะต้องให้ตัวละครมีความคิด มีอารมณ์ พบความสุข ความทุกข์ ความแค้น ความปลื้ม ในอาการต่างๆ กัน อารมณ์เช่นนี้ย่อมมีในตัวผู้อ่านทุกคน ในการเขียนเรื่องนี้ ม.จ.อากาศฯ ได้ให้นายวิสูตรแสดงความคิดในสิ่งต่างๆ ที่เขาได้ประสบ เมื่อเข้าโรงเรียนเทพสิรินทร์ก็ให้ความเห็นเกี่ยวกับโรงเรียนนี้ เมื่อเห็นบิดาของตน และของเพื่อนมีภรรยาน้อย ก็แสดงความเห็นเกลียดชังการมีเมียหลายคน และการที่บิดามีเมียหลายคนนี้แหละที่ทำให้เขาไม่ได้รับความยุติธรรมตามสมควร

บทที่ ๔ ไปเมืองนอก
เมื่อขึ้นบทที่ ๔ ผู้ประพันธ์ได้ระบายสภาพความรู้สึกของวิสูตรไว้
ดังนี้

“ตลอดเวลาสิบแปดเดือนเศษ ที่ข้าพเจ้าได้เป็นเพื่อนอันสนิทสนมกับลำจวน และประดิษฐ์ ไม่มีนาทีใดที่ข้าพเจ้าไม่เป็นสุข เราไม่เคยมีความ แหนงใจซึ่งกันและกันเลยแม้แต่น้อย และดูเหมือนว่าไม่มีอะไรในโลกที่อาจมาทำลายความมั่นคงแห่งความเป็นมิตรของเราเสียได้ ทุกอย่างที่แวดล้อม ความเป็นอยู่ของข้าพเจ้าดูสดชื่นผิดกว่าที่ได้เป็นมาแล้วหลายพันเท่า เปรียบประดุจความแตกต่างกันระหว่างดอกไม้สด และดอกไม้เหี่ยว ฟ้าและดิน ความรักอันแท้จริงของสหายทั้งสอง ซึ่งมีต่อข้าพเจ้านั้นมีค่าสูงเยี่ยม ประดุจนายแพทย์ผู้รักษาคนไข้หนักให้หายโรค ความรักนี้ช่วยให้ข้าพเจ้าลืมความหลัง และความชอกชํ้าระกำใจต่างๆ ที่ได้เคยคิดแค้นอยู่เสมอ ความรักอันนี้ ดูเหมือนว่ามีอำนาจลึกลับ คอยดัดแปลงนิสัยอันแข็งกระด้างให้อ่อนโยน ต้องตามความประสงค์ของสภาพแห่งความเป็นลูกผู้ชายที่ดี ตลอดเวลาที่เราอยู่ร่วมกัน ข้าพเจ้าเคยรู้สึกกลัวบ่อยๆ ว่า ถ้าจะมีอะไรมาพรากเราให้ห่างไกลกันเสีย ข้าพเจ้าคงจะไม่สามารถทนมีชีวิตอยู่ต่อไปได้…”

เมื่อผู้เขียนระบายความรู้สึกของวิสูตรดังนี้แล้ว ก็นำเหตุการณ์อีกอย่างหนึ่งเข้ามา คือ นายประดิษฐ์ไปเมืองนอก ส่วนลำจวนจะแต่งงานกับนายร้อยโท กมล จิตรปรีดี นายประดิษฐ์กับลำจวน ถึงแม้เคยรักชอบ กับวิสูตร เมื่อมาประสบเหตุการณ์ใหม่ ความรักนั้นก็คลายลง นายประดิษฐ์กลับไปสนใจกับเรื่องการไปเมืองนอก ลำจวนและครอบครัวของลำจวนกลับไปเอาใจใส่กับนายร้อยโทหัวนอก ทิ้งให้วิสูตรว้าเหว่อยู่ผู้เดียว สิ่งที่วิสูตรได้หวาดหวั่นนั้นได้เกิดขึ้นแล้ว

“วันหนึ่ง พอข้าพเจ้าไปถึงบ้านเจ้าคุณบรรลือฯ ก็พบนายร้อยโท หนุ่มคนหนึ่ง นั่งคุยอยู่กับเจ้าคุณและคุณหญิง ข้าพเจ้าถูกแนะนำให้รู้จัก และปรากฏว่า ชื่อ นายร้อยโทกมล จิตรปรีดี พึ่งกลับจากเมืองอังกฤษ ได้เพียงสิบสองวัน โดยไม่บอกกล่าวกับใครเลย เจ้าคุณและคุณหญิงรู้จัก กมล ตั้งแต่นายร้อยโทกมลยังเด็กๆ ”

“เออ นี่กมล แกจำลำจวนได้ไหม ? ” เจ้าคุณถาม

“เห็นจะจำได้ครับ แต่ก็เห็นจะเปลี่ยนไปมากทีเดียว” กมลตอบด้วยสำเนียงอันเป็นฝรั่งพูดไทยอยู่เล็กน้อย “เมื่อผมไปลำจวนยังเด็กอยู่มาก อยู่ที่ไหนเล่าครับ ? ”

“เดี๋ยวเขาจะลงมม” คุณหญิงตอบ

นายร้อยโท กมล จิตรปรีดี เป็นคนมีรูปร่างระหง หน้าแช่มชื่น อายุราวยี่สิบห้า ในระหว่างที่นั่งอยู่บนเก้าอี้ตรงหน้าเจ้าคุณ และคุณหญิง ดู กมลออกจะกระสับกระส่าย เหลียวไปเหลียวมา คล้ายกับจะพยายามดูเครื่องแต่งห้องให้ตลอดในเวลานั้น เดี๋ยวๆ ก็หันมาทางข้าพเจ้าเสียที

“เมืองไทย ดูไม่เห็นเปลี่ยนแปลงอะไรนี่ครับ” เขากล่าว

“เธออยู่ไปนานๆ ก็คงเห็น” คุณหญิงพูด

“นั่น!ลำจวนมาแล้ว”

ทันใดนั้น สตรีที่กล่าวนามได้เดินยิ้มละไมเข้ามาหา กมลยืนต้อนรับ พลางก็เชื้อเชิญให้หล่อนนั่งเก้าอี้ ที่ตนนั่งอยู่เมื่อกี้

“นั่งเถอะค่ะ เก้าอี้มีถมไป” ลำจวนตอบแล้วเดินไปลากมาจากมุมห้อง

“คุณจำดิฉันได้ไหมคะ”

“ถ้าไม่รู้มาก่อน ก็เห็นจะลำบาก” กมลตอบแล้วยิ้ม

“คุณเปลี่ยนไปมาก”

“การสนทนาคงดำเนินไปตามเรื่องของคนที่ไม่ได้พบกันมาตั้งแปดปี เศษ มีการเอาอกเอาใจกันอย่างที่ท่านนึกได้ถูก กมลเป็นคนค่อนข้างตลก พูดจาห้าวหาญตรงไปตรงมา พูดไทยยังไม่ค่อยคล่องประเดี๋ยวก็ปล่อยภาษาฝรั่งออกมาเสียยืดยาว พอรู้สึกตัวก็หวนไปพูดภาษาไทยเสียที เวลานั้นข้าพเจ้านั่งอยู่เบื้องหลังของกมลและไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องสนทนานั้นเลย อีกประการหนึ่ง ข้าพเจ้ารู้สึกไม่มีใครแยแสในตน ไม่มีใครเหลียวมาทักทายหรือพูดจาด้วย คุณหญิงดูตื่นเต้นมาก วิ่งเป็นกุลีกุจอหาของมาเลี้ยงดู เจ้าคุณบรรลือฯ ก็ส่งบุหรี่ฝรั่งให้กมลตัวแล้วตัวเล่า นั่งฟังกมลคุยถึงเรื่องจิปาถะ ด้วยความสนใจ ลำจวนก็นั่งฟังกมลพูดด้วยดวงหน้าอันยิ้มละไม หล่อนมิได้เหลียวหน้ามาดูข้าพเจ้าเลยแม้แต่สักครั้ง”

ให้ท่านสังเกตวิธีใช้คำบางคำ เช่น แยแส กุลีกุจอ จิปาถะ กระสับกระส่าย ยิ้มละไม เป็นคำง่ายๆ แต่มีความหมายดี ตอนนี้ท่านควรสังเกต วิธีเขียน จะเห็นว่า ผู้ประพันธ์ได้กล่าวบอกความเล่าโดยตรงบ้าง ได้เขียนโดยให้ตัวละครแสดงกิริยาพูดจาบ้าง เราจะต้องเลือกว่า ตอนไหนควรบอกเล่ากันตรงๆ ตอนไหนควรให้มีการทำบทมีหลักอยู่ว่า ถ้าต้องการให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึก หรือให้ผู้อ่านรู้สึกเหมือนหนึ่งได้อยู่ร่วมกับตัวละครด้วย ก็ต้องเขียนอย่างเป็นการทำบท เช่น ในตอนกมลสนทนากับเจ้าคุณและคุณหญิง

ในการดำเนินเรื่องต่อไป ผู้เขียนให้เราแลเห็นความผิดหวังของวิสูตร ประดิษฐ์ ลำจวน และบิดามารดาพากันเหินห่างวิสูตรหมด ความเป็นมิตรกันแต่ก่อนสูญสลาย ท่านจะแลเห็นว่าตัวละครต่างๆ ได้แปรเปลี่ยนไปตามเหตุการณ์ เมื่อวิสูตรมานั่งเศร้าอยู่ที่บ้าน ผู้เขียนได้วางบทบาทการสนทนาระหว่างวิสูตรกับมารดา ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านเห็นอกเห็นใจเป็นอย่างดี

“มันเป็นของธรรมดานี่ลูก” ท่านกล่าว “เราจน ใครเขาจะมามอง
ดูหน้า”

“นี่คุณแม่หมายความว่า พวกเจ้าคุณบรรลือฯ จะตัดพวกเราหรือครับ ? ” ข้าพเจ้าถามด้วยความสนเท่ห์

“โอ๊ย! เขาพยายามจะตัดมานานแล้ว” ท่านตอบ พลางหัวเราะ อย่างขมขื่น

“ดูซิเดี๋ยวนี้เขามาหาเราที่บ้านเมื่อไร ตั้งแต่รู้ว่า นายร้อยโท กมลจะมาที่บ้าน แต่ก่อนเขาเคยมาชวนให้ไปที่บ้าน และไปไหนต่อไหนด้วย เดี๋ยวนี้เขาทำอย่างไร ไง ทำไม จึงถาม ? เสียดายลำจวนหรือ ? ”

“เปล่าครับ ผมกำลังสึกถึงข้อสัญญาข้อหนึ่งที่รับไว้กับประดิษฐ์” ข้าพเจ้าตอบช้าๆ “ความจริง ผมไม่รักลำจวนเลย หรืออย่างน้อยผมไม่ เคยบอกลำจวนถึงเรื่องรักใคร่เลย ดังนั้น ผมจึงรู้สึกเสียดายมาก”

“ยังมีผู้หญิงอื่นอีกถมไป ลูกเอ๋ย” ท่านกล่าว

ขอให้ท่านสังเกตคำพูดของตัวละคร จะรู้สึกว่า เป็นลักษณะที่แม่พูดกับลูกจริงๆ และผู้เขียนเลือกเฟ้นคำพูดที่เฉพาะที่เป็นจุดสำคัญของเรื่อง คำพูดสุดท้ายของมารดา แม้ว่าจะดูเผินๆ แต่ให้ความรู้สึกซึ้งใจดีมาก

การดำเนินเรื่องในบทต่อไป คือ วิสูตรได้ไปเรียนเมืองนอก สมกับความทะเยอทะยาน วิสูตรอยากรู้ว่า คนไปเรียนเมืองนอกวิเศษอย่างไร พอกลับมาจึงหรูหรา มีคนนิยมหนักหนา ฉากของเรื่องเปลี่ยนเป็นการเดิน ทาง ในบทที่ ๕ เป็นเรื่องของการเดินทางทั้งหมด บทที่ ๖ กล่าวถึงชีวิต ในลอนดอน ซึ่งผู้เขียนบรรยายให้เราแลเห็นชีวิตของนักเรียนไทยที่กรุง ลอนดอน ม.จ.อากาศฯ นำผู้อ่านไปยังนครลอนดอน โดยให้นายวิสูตรเป็นผู้นำที่ลอนดอน วิสูตรได้พบกับประดิษฐ์ ซึ่งมีนิสัยเปลี่ยนแปลงไปมาก บทที่ ๙-๑๐ เป็นเรื่องที่วิสูตรได้คุ้นเคย และรักกับสตรีนักหนังสือพิมพ์ชาติอังกฤษ บทที่ ๑๑-๑๘ เป็นเรื่องชีวิตการเรียนของวิสูตร วิสูตรกลายเป็นนักหนังสือพิมพ์ มีชื่อเสียงในการเขียนบทนำ กลายเป็นนักข่าวได้ท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆ ตามวิสัยของนักหนังสือพิมพ์ บทที่ ๑๙-๒๐ เป็นเรื่องชีวิตของวิสูตรที่อเมริกา บทที่ ๒๐-๒๑ วิสูตรจากอเมริกามาญี่ปุ่น บทที่ ๒๔ วิสูตรกลับถึงพระนคร และได้พบลำจวนมีลูกสองคน แต่สามีถึงแก่กรรม เรื่องจบเพียงนี้

ท่านจะเห็นว่า เป็นนวนิยายชีวประวัติโดยแท้ ความดีอยู่ที่ผู้แต่งทำให้ เราได้สนิทกับวิสูตร ได้แลเห็นน้ำใจ เห็นความสุข ความทุกข์ ความหวัง ความสิ้นหวังและความคับแค้นใจของเขา อีกอย่างหนึ่งเราได้ไปเที่ยวกับวิสูตรรอบโลก ได้เห็นชีวิตของนักหนังสือพิมพ์ ผู้เขียนได้พรรณนาลักษณะบ้านเมือง และความเป็นอยู่ของคนต่างๆ ให้เราฟัง ในการพรรณนานั้น ก็ได้หยิบลักษณะอันเด่นเฉพาะ พร้อมกับแนวความคิดเห็นเกี่ยวกับสภาพบ้านเมืองที่ได้ผ่านพบ

“ลอนดอนเป็นที่เลื่องชื่อลือนามนักว่าเป็นนครที่ใหญ่ งาม และพิเศษที่สุดในโลกนครหนึ่ง ตั้งแต่มหาสงครามเลิก ไม่มีประเทศใดในยุโรป สวยเท่าประเทศอังกฤษ และลอนดอนเป็นนครหลวง เป็นที่ตั้งของสภารัฐมนตรี เป็นศูนย์กลางแห่งความเจริญ และความยิ่งใหญ่ของประเทศอังกฤษ ซึ่งมีอำนาจปกแผ่ไปทั่วสารทิศ เมื่อเข้าใจว่า เมืองลอนดอนเป็นดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ก็ย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่ข้าพเจ้าต้องนึกว่า จะได้เห็นลอนดอนงามสง่าดังเมืองสวรรค์ หรืออย่างน้อยก็คงเหมือนนครปารีสที่ข้าพเจ้าได้เห็นมาแล้ว แต่ข้าพเจ้าก็รู้สึกเสียดายที่ความจริงลอนดอนหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ ลอนดอนเป็นเมืองที่สะอาดสะอ้าน ใหญ่โตและมีผู้คนล้นหลาม แต่ถ้าจะว่าลอนดอนได้ก่อสร้างแก้ไขให้งามเลิศต้องด้วยศิลปอันดีที่โลกนิยมแล้ว ข้าพเจ้าจำเป็นต้องคัดค้าน ถ้าจะเปรียบลอนดอนกับปารีส ในเรื่องความงามต้องตากันแล้ว ลอนดอนยังห่างความเจริญในเชิงศิลปอยู่ใกลลิบ กรุงปารีสมี อเวนิว เดอ ชองเอลีเสย์ ปลาสเดสเซตวล ปลาส เดอลาคองคอร์ด มาดเดล็น และกร็องบูลวาร์ด ส่วนอังกฤษแม้จะมีเรียนต์สตรีต และปีกาดีลี กับ อ๊อกสฟอร์ด เซอกาส ก็จะหาถนน หรือสถานที่ใดๆ งามเท่านครปารีสไม่ได้ อนุสาวรีย์และรูปตามสี่แยกถนนต่างๆ ของกรุงปารีสแลดูงามเป็นรูปร่างกะทัดรัดทุกอย่างทุกชนิด ส่วนอนุสาวรีย์และรูปตั้งต่างๆ ในลอนดอนแลดูทึนทึก เกือบไม่รู้ว่าเป็นอะไรแน่ อนุสาวรีย์ใหญ่ที่สุดของเนลสัน ที่เรียกว่า เนลสันคอลัมน์อยู่ที่ทราฟัลการ์สแควร์ เป็นเสาหินมหึมาท่อนหนึ่ง สูงเทียมฟ้า บนยอดมีรูปเนลสัน ถ้าอยากจะเห็นเนลสันสักที ก็ต้องแหงนกันคอตั้งบ่า…”

การเขียนพรรณนาในนวนิยายนั้น ต้องนึกไว้เสมอว่า ไม่ใช่เขียน บทเรียนภูมิศาสตร์ ในตัวอย่างนี้ จะเห็นว่าผู้เขียนยกเอาแต่ลักษณะเฉพาะมากล่าว พร้อมกับแสดงความรู้สึก และความคิดของผู้เขียนไว้ด้วย การแสดงความรู้สึกนี้เป็น “รสนิยม” อย่างหนึ่ง คือ ถ้าผู้เขียนคิดตื้นไม่มีตาของตนเอง ความรู้แคบ “รสนิยม’’ ที่แสดงออกไปก็หยาบๆ ดาดๆ ไม่ชวนฟัง

มีข้อหนึ่งที่ได้ถกเถียงกันมาก เมื่อคราวนวนิยายนี้เริ่มจำหน่าย คือ ผู้เขียนได้เอาบุคคลจริงปนลงไปด้วย เช่น เมื่อพูดถึงราชทูต ก็อ้างชื่อราชทูตตัวจริง ที่ประจำอยู่ตามประเทศต่างๆ ในขณะนั้น การทำเช่นนี้ เป็นวิธีที่ทำให้เรื่องมีลักษณะเป็นจริงขึ้น แต่ข้อถกถียงกันก็คือ เมื่อนายวิสูตรเป็นคนสมมุติ แล้วเอาคนจริงเข้ามาเป็นตัวละครด้วยนั้น ดูเป็นการไม่สมควร ความเห็นของข้าพเจ้าก็ว่าวิธีนี้ไม่ดีนัก เรามีวิธีทำได้หลายอย่าง โดยไม่ต้องบอกชื่อจริงก็ได้ เช่น จะใช้ตำแหน่งแทนว่าอัครราชทูตก็พอ ไม่จำเป็นต้องว่าเจ้าคุณวิชิตวงศ์วุฒิไกร อัครราชทูตสยาม ที่เมืองวอชิงตันก็ได้

ท่านได้อ่านตัวอย่างที่ตัดตอนมาแล้ว จะแลเห็นว่า ผู้เขียนได้ใช้สำนวนโวหารอย่างตรงไปตรงมา อ่านเข้าใจง่าย แต่ผู้เขียนรู้จักเฟ้นคำพูด พรรณนาดี และเรื่องเป็นแนวใหม่ ผิดกับนวนิยายที่เขียนกันอยู่ในเมืองไทยขณะนั้น วงการหนังสือจึงได้ต้อนรับเรื่องนี้อย่างเกรียวกราวตื่นเต้น

จะนำนวนิยายเรื่อง “ความพยาบาท” มาให้ท่านศึกษาอีกเรื่องหนึ่ง เรื่องนี้ แม่วัน (นามปากกาของพระยาสุรินทร์ราชา) ได้แปลและเรียบเรียง จากเรื่องภาษาอังกฤษ ชื่อ เวน เดตตา (Ven Detta) ของ มารี คอเรลลี (Marie Corelli) ซึ่งเป็นนักประพันธ์สตรี เกิด ค.ศ.๑๘๕๔ ถึงแก่กรรม ค.ศ. ๑๙๒๔ นวนิยายต่างๆ ของ มารี คอเรลลี นับเป็นจำพวกหนังสือที่ขายดีที่สุด และมีผู้แปลออกเป็นภาษาไทยแล้วหลายเรื่อง เช่น เตลมา และ เถ้าสวาท เป็นต้น สำหรับเรื่องความพยาบาทนี้ แม้จะไม่ได้รับความยกย่องว่าเป็นหนังสือชั้นวรรณคดีสำคัญของโลก แต่เป็นเรื่องที่มีลักษณะสมกับบันเทิงคดีอย่างหนึ่ง คือความสนุกเพลิดเพลิน สำนวนที่แปลเป็นไทยนั้น แม้จะเป็นสำนวนตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ก็ยังเป็นสำนวนที่น่าฟัง ไม่คร่ำครึ อย่างเรื่องอื่นบางเรื่อง รัชกาลที่ ๕ ทรงยกย่องว่า เป็นหนังสือแปลดีอย่างยิ่งเรื่องหนึ่ง

เค้าเรื่อง
เรื่อง ความพยาบาท เป็นนวนิยายชนิดผูกเรื่อง (Plot Novel) ตัวละครสำคัญ (Main Character) มีเพียง ๓ ตัว คือ ฟาบีโอ โรมานี (ผัว) นีนนา (เมีย) กีโด (เพื่อนและชู้) ทั้งสามตัวนี้ ฟาบีโอ เป็นตัวที่มีบทบาทมากที่สุด และเป็นหัวใจของเรื่อง ฟาบีโอ เป็นบุตรของท่านเคานต์ ร่ำรวย บิดาถึงแก่กรรม ได้รับมรดกทรัพย์สมบัติของบิดาทั้งหมด เมื่ออายุ ๑๗ ปี เขาเป็นคนเฉยๆ กับผู้หญิง ชอบหาความรู้ ฟาบีโอมีเพื่อนสนิทเป็นช่างเขียนชื่อ กีโด อยู่มาฟาบีโอได้พบนีนนา ซึ่งเป็นสาวงามอยู่ในสำนักนางชี ฟาบีโอเกิดชอบใจแล้วได้แต่งงานกัน ต่อมาภรรยาของเขาไปลอบรักกับ กีโด ซึ่งฟาบีโอไม่ทราบระแคะระคายเลย คงเชื่อความสุจริตของสหายเก่า และความภักดีของเมียรักอยู่เสมอ ต่อมาจับความได้ เขาจึงหาทางแก้แค้น ฆ่าเสียทั้งสองคน เค้าเรื่องเช่นนี้ท่านจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องความรัก ความทรยศ อันมีอยู่เป็นนิจในโลก แต่ผู้เขียนได้บรรยายเรื่องราวถึง ๒๖ บท และทำให้อ่านเพลินแต่บทต้นถึงบทสุดท้าย ทั้งนี้ก็เพราะ ชั้นเชิงในการบรรยาย หรือจะเรียกว่า วิธีเขียน (Treatment) ก็ได้

วิธีเขียน
“ลักษณะสำคัญ ๔ ประการของนวนิยาย ได้แก่ การผูกเรื่อง (Plot) ตัวละคร (Character) ฉาก และการพรรณนา (description) บทเจรจา (dialogue)”

– ยอร์ช เซนต์บูรี (George Saintsbury)
ท่านได้อ่านเค้าเรื่องมาแล้ว ถ้าจะแต่งเรื่องขยายออกไปตามเค้าเดิม เรื่องก็ไม่น่าฉงน ไม่ดึงดูดใจผู้อ่าน ฉะนั้นจึงต้องผูกเรื่อง ซ่อนเงื่อนไว้ เสียก่อน วิธีซ่อนเงื่อนนี้เป็นศิลปะอย่างหนึ่ง แล้วแต่ใครจะมีกลเม็ดใน การงำเงื่อนอย่างไรก็ได้ ข้อสำคัญก็คือ อย่าให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องล่วงหน้า เสียก่อน ต่ออ่านจบจึงจะทราบเรื่องตลอด สำหรับเรื่องความพยาบาทนี้ ก็มีวิธีผูกเรื่องแบบหนึ่ง ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปนี้

เรื่องเท้าความ (Antecedent Action) ผู้เขียนได้เปิดเรื่อง โดยให้ ฟาบีโอ โรมานี เป็นผู้เล่าเรื่องของตนเอง

“ข้าพเจ้าผู้เขียนเรื่องนี้เป็นคนที่ถึงแก่กรรมแล้ว ถึงแก่กรรมจริงๆ ! ตายจริง ๆ …ตายอย่างที่มีผู้รู้เห็นว่าตาย…ตายแล้วและได้ฝัง…เสร็จแล้ว ! ”

เมื่อเปิดดเรื่องเช่นนี้ ผู้อ่านจะสงสัยว่าเรื่องเป็นมาอย่างไร โธมัส ฮาร์ดี (Thomas Hardy) นักเขียนสำคัญได้ให้คำแนะนำไว้ข้อหนึ่งว่า ธรรมดา เรื่องอ่านเล่น ควรให้เป็นเรื่องแปลกๆ พิสดารแหละดี ฟาบีโอ เล่าต่อไป ว่า ใน ค.ศ.๑๘๘๔ เกิดไข้ป่วงใหญ่ขึ้น ณ เมืองเนเปิลซ์ ฟาบีโอ ก็ตาย ด้วยโรคนั้น และถูกนำไปไว้ในกุฏิฝังศพของตระกูล แต่เวลานี้เขายังมีชีวิตอยู่ แต่ได้มาอยู่อย่างสันโดษไม่เกี่ยวข้องกับมนุษย์

“ข้าพเจ้าผู้มีชื่อว่า ฟาบีโอ โรมานี ที่ถึงแก่กรรมแล้ว ขอเขียน เรื่องในชั่วปีหนึ่ง ซึ่งมีเหตุพึงกล่าว…เป็นปีที่ได้รับทุกข์มาตลอดตราบเท่าบัดนี้ ปีสั้นนิดเดียว…เป็นปีที่เป็นกริชของพระยามัจจุราช! กริชนั้นได้แทงหัวใจข้าพเจ้า…แผลกริชนั้นยังไม่หาย โลหิตยังไหลซึมอยู่เสมอจนบัดนี้…,,

นี่เป็นเรื่องนำหรือเรื่องเท้าความ (Antecedent Action) บอกให้เรา ทราบเลาๆ ว่าเดิมเป็นมาอย่างไร เดี๋ยวนี้เป็นอย่างไร ครั้นแล้วจึงจับเรื่องบรรยายอย่างถี่ถ้วนต่อไป และเมื่อเราได้อ่านรู้ว่า คนที่ตายแล้วกลับคืนมีชีวิตมาเล่าเรื่อง ความที่เกริ่นไว้ก็รู้สึกว่ามีเลศนัยทรมานหัวใจอยู่ เราก็อยากติดตามเรื่องต่อไปว่าเป็นมาอย่างไรกัน

ในการวางฉาก ผู้อ่านจะเห็นว่า ผู้เขียนได้บ่งลงไปว่า ค.ศ ๑๘๘๔ เกิดไข้ป่วงใหญ่ในเมืองเนเปิลซ์ ถ้าดูตามเวลาจะเห็นว่าเป็นเรื่องตอนที่ผู้ เขียนกำลังมีชีวิตอยู่ และอายุ ๓๐ ปี ผู้เขียนหยิบเอาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มาประกอบเรื่องของเขา ฉากของเรื่องคือ เมืองเนเปิลซ์ ซึ่งเป็นเมืองที่ มารี คอเรลลี รู้จักดี และยิ่งกว่านั้น ชาวเมืองเนเปิลซ์นี้เป็นพวกที่มีความพยาบาทจัด ต้องตามล้างตามผลาญกันให้สมแค้น ซึ่งเรียกตามภาษาของชาวเมืองว่า “เวน เดตตา” การที่ฟาบีโอเป็นชาวเมืองเนเปิลซ์ก็เท่ากับผู้เขียน เริ่มให้ลักษณะนิสัยโดยทั่วไปของตัวละครนี้

การดำเนินเรื่อง (Movement of the Story) ถ้ายังไม่ลืม ท่านคงยังจำคำ สัมพันธภาพ (Coherence) ได้ ในการดำเนินเรื่องนวนิยายนี้ก็ต้อง ประกอบด้วยสัมพันธภาพ คือให้เรื่องโยงติดต่อกันไปเป็นลำดับ และเรื่องลำดับต่อๆ ไปนั้นต้องให้ยิ่งเร้าใจ ดึงดูดใจยิ่งขึ้น จะต้องให้ผู้อ่านรู้สึกว่า คงจะมีเหตุการณ์สำคัญรออยู่ข้างหน้า แต่เหตุการณ์นั้นผู้อ่านจะเดาก็เดาไม่ถูก หรือเพียงแต่คาดคะเนได้รางๆ ว่าเรื่องน่าจะเป็นอย่างไรต่อไป ความสนุกของเรื่องอยู่ที่วิธีหน่วงเหนี่ยว (Suspense) อย่าเปิดให้ผู้อ่านรู้อะไรเสียหมด ต้องให้รู้สึกพิศวงว่าเรื่องจะเป็นอย่างไรต่อไป

เมื่อเปิดเรื่องโดยการเท้าความเลาๆ แล้ว ผู้เขียนก็ดำเนินเรื่อง โดยให้ ฟาบีโอ เล่าถึงสาเหตุที่เขามาถือเอกาอยู่โดดเดี่ยว และเล่าถึงการที่เขา ตายและกลับฟื้นมีชีวิตโดยละเอียดต่อไป

ฟาบีโอ เล่าว่า เคานต์ฟาบิโอ ผู้บิดาของเขาถึงแก่กรรมเมื่อเขาอายุสิบเจ็ด เขาได้รับมรดกตกทอดมาจากบิดาหมดทุกอย่าง ได้อยู่เคหาสน์หรูหรา บริบูรณ์ด้วยทรัพย์สิน ให้สังเกตไว้อย่างหนึ่งว่านวนิยายแต่เดิม มักจะให้ตัวเอกเป็นคนใหญ่โต เป็นเจ้าบ้าง เป็นมหาเศรษฐีหนุ่มบ้าง ทั้งนี้เพราะเป็นเรื่องถูกใจคนอ่าน แต่บัดนี้ไม่ค่อยนิยมกันนัก ยิ่งพวกนักนวนิยายริอาลิสติก แล้วยิ่งไม่เอาใจใส่เลย ว่าตัวเอกจะเป็นคนชั้นใด

ฟาบีโอ เป็นคนไม่ชอบสมาคมกับหญิง แม้เขาจะมีความหนุ่ม บริบูรณ์ ด้วยสมบัติ…“ความเห็นของข้าพเจ้านั้น เห็นว่าเป็นทาสแห่งการคบ เพื่อนดี ดีกว่าเป็นทาสแห่งความรัก ในเวลานี้มีเพื่อนคนหนึ่ง เป็นเพื่อน อย่างสนิทที่จะฝากชีวิตไว้ในกำมือได้…เขามาติดต่ออยู่กับข้าพเจ้าอย่างสนิทสนมหาสองในโลกไม่มี เขาผู้มีนามอยู่ว่า ‘กีโด เฟอร์รารี ก็ได้ช่วยพวกเพื่อนอื่นล้อเลียนข้าพเจ้า ในเรื่องที่เกลียดผู้หญิงด้วย”

ผู้เขียนได้นำตัวละครออกมาอีกตัวหนึ่ง และให้เรารู้ว่ารักกับฟาบีโอ เหลือเกิน (แต่ภายหลังกีโดนี้ได้ทรยศต่อสหายรัก)

ครั้นแล้ว วันหนึ่งฟาบีโอได้พบหญิงสาวชื่อ นีนนา ในกระบวนแห่แม่พระ ก็เกิดความรักทันที และได้แต่งงานกันในไม่ช้า ผู้เขียนได้พูดตอนนี้ ราว ๔๐ คำเท่านั้น เพราะอะไร เพราะไม่มีความจำเป็นจะต้องพูดถึงการเกี้ยวพาราสี เนื้อหาของนวนิยายนี้เป็นคนละอย่างกับเรื่องอื่น ซึ่งเริ่มด้วยการรู้จักมักคุ้น พอสมประสงค์ความรักได้แต่งงานกันก็จบ แต่เรื่องนี้ขึ้นต้นเมื่อแต่งงานกันแล้ว จุดของนวนิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องภายหลังแต่งงาน ผู้เขียนจึงเว้น ไม่กล่าวถึงบทเกี้ยวพาราสี การรู้จักรวบรัดตัดความที่ไม่สู้จำเป็นนี้ เป็นสิ่งสำคัญสำหรับนักเขียน เพื่อไม่ให้การดำเนินเรื่องโอ้เอ้ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนก็ไม่เว้นที่จะเน้นให้เราเห็นความรักที่ฟาบีโอมีต่อภรรยา “ข้าพเจ้า ลืมสิ่งใดในโลกหมด จำได้แต่หล่อนคนเดียว ทุกลมหายใจเข้าหายใจออก ไม่มีนึกถึงอื่นนอกจากแม่นีนนา…” ผู้เขียนได้พยายามพรรณนาความรัก ของฟาบีโอ ต่อนีนนาอย่างรุนแรง เพื่อผลในการดำเนินเรื่องต่อไปอยู่ด้วยกันได้หนึ่งปี ก็ได้ลูกหญิงคนหนึ่งระหว่างนั้นกีโดได้มาเยี่ยมเยียนเสมอ และสนิทกับนีนนาเป็นอย่างดี นี่เป็นจบบทที่ ๑ แต่ท้ายบทผู้เขียนทำให้เราสงสัยว่าน่าจะมีอะไรระหว่างนีนนากับกีโดขึ้นบ้าง แต่ผู้เขียนไม่ได้ทำให้ชัดเจน จึงอยากจะฟังเรื่องต่อไป

เมื่อขึ้นบทที่ ๒ กล่าวถึงฤดูร้อนเมืองเมเปิลซ์ ค.ศ.๑๘๘๔ คนตายกันผล็อยๆ ด้วยโรคป่วง ผู้เขียนได้จัดให้ฟาบีโอเข้ามาในเมือง แล้วเกิดเป็น โรคป่วงโดยปัจจุบัน ฟาบีโอมีอาการร่อแร่ แต่ไม่ยอมให้ใครนำไปบ้าน เพราะเกรงจะพาเชื้อโรคไปติดลูกเมีย และในที่สุดเมื่อเห็นว่าตนไม่มีทางรอด ก็บอกสั่งบาทหลวงที่คอยพยาบาลว่าอย่าให้นำศพของเขาไปส่งบ้าน เมื่อสั่งบาทหลวงเสร็จ ก็แน่นิ่งสิ้นความรู้สึก

เขาตื่นขึ้นอีกทีก็รู้สึกว่าตัวได้มาอยู่ในโลงในกุฏิไว้ศพประจำตระกูล (นี่เล่าตามลำดับความในเรื่อง) จะเห็นว่าผู้เขียนได้งำความไว้เพียงฟาบีโอ สิ้นความรู้สึก แล้วไปเปิดฉากใหม่ที่ฮวงซุ้ย ครั้นแล้วจึงกลับทวนความให้เรารู้ว่า เมื่อฟาบีโอสิ้นสตินั้น ใครๆ ก็เชื่อว่าตาย บาทหลวงจัดการบอกให้นีนนารู้แล้วเลยนำร่างฟาบีโอไปเก็บไว้ในฮวงซุ้ย ที่จริงฟาบีโอเพียงแต่สลบไป แต่โดยที่พวกเนเปิลซ์กลัวโรคป่วงกันมาก ไม่ต้องพิจารณาให้รอบคอบ พอนึกว่าตายก็เอาไปฝังทีเดียว ฟาบีโอถูกทรมานอยู่ในฮวงซุ้ยดิ้นรนหาช่องทางหลุดออกมาได้ ยิ่งกว่านั้นยังได้พบสมบัติมหาศาล ซึ่งหัวหน้าโจรสลัดลอบเอาไปเก็บไว้ด้วย ผู้เขียนได้ใช้เนื้อที่บรรยาย ตอนที่ฟาบีโอติดอยู่ในฮวงซุ้ยถึง ๒ บท แต่ตอนนี้เป็นตอนที่จำเป็นสำหรับการดำเนินเรื่อง ต่อมาถึงบทที่ ๕-๗ เมื่อฟาบีโอออกมาจากฮวงซุ้ยได้แล้ว เดินทางเข้ามาในเมือง ตอนนี้เรื่องทวนต้นไปในตัว คือให้ฟาบีโอไปพบกับคนหลายคน แล้วได้รู้เรื่องซึ่งเกี่ยวกับตน และรู้ว่าตัวเองผมขาวหมดทั้งหัว เพราะความกลัวอย่างสาหัสที่เข้าไปตกอยู่ในระหว่างผีตายในฮวงซุ้ย ทั้งสองบทใช้วิธีบทบาท (Dramatization) เป็นส่วนมาก ผู้เขียนให้ฟาบีโอโอ้เอ้ด้วยความจำเป็นต่างๆ อยู่ในเมือง และให้รู้ว่ารูปร่างหน้าตาฟาบีโอแปลกไปจนไม่มีใครจำได้ พอค่ำก็เดินทางไปบ้าน มีความลิงโลดใจที่จะได้เห็นหน้าลูกและเมียที่รัก แต่ขณะที่เดินลัดเข้าไปทางในสวนนั้น ก็เห็นภาพที่เขาไม่นึกฝัน นีนนากับกีโด เดินคลอกันมา เขาหลบเข้าแอบในซุ้มไม้ และแล้วก็ทราบความจริงหมดว่า เพื่อนรักเมียงามได้ทรยศต่อเขาอย่างเลือดเย็นที่สุด และสิ่งที่ผู้อ่านสงสัยมาครันๆ ก็เปิดออกหมด นับว่าเป็นไคลแมกซ์แรกของเรื่อง

ตั้งแต่บทที่ ๙ ไปถึงบทสุดท้ายเป็นวิธีการพยาบาท เรื่องเร่งเร้า ยิ่งขึ้นทุกๆ บท เราอยากรู้ว่าการพยาบาทจะไปลงเอยสถานใด ผู้แต่งคิด ให้ฟาบีโอเปลี่ยนชื่อเป็นเคานต์โอลีวา จัดการปลอมตัวจนเมียและเพื่อนจำไม่ได้ และในที่สุด ฟาบีโอ (เคานต์โอลีวา) ก็แกล้งก่อความรักขึ้นกับเมียของตนเอง ฝ่ายกีโดเกิดความหึงหวง ในที่สุดดวลกันด้วยปืน ถูกฟาบีโอ ยิงตาย เมื่อจวนจะตายกีโดจึงรู้ว่า เคานต์โอลีวา คือ ฟาบีโอ นั่นเอง เมื่อประหารกีโดแล้ว ฟาบีโอได้แต่งงานกับนีนนา ในระหว่างที่มีพิธีเลี้ยง เขาก็ลวงนีนนาออกจากที่เลี้ยงนำไปยังสุสานฮวงซุ้ย และระบายความแค้น เปิดความทรยศแห่งภรรยาของเขา ทั้งแสดงตัวจริงของเขาแก่ภรรยา เขาเกือบใจอ่อนเสียก็หลายครั้ง ด้วยความรักความสงสารที่เคยมีแต่นีนนา เมื่ออยู่ในสภาพเช่นนั้น ก็มีความกลัวและตกใจจนเสียสติ ผู้เขียนไม่ยอมให้ฟาบีโอแก้แค้นจนถึงที่สุด แต่ให้เกิดมีแผ่นดินไหว หินเพดานฮวงซุ้ยหลุดลงมาทับนีนนาตายคาที่ เขาจึงกลับออกจากฮวงซุ้ย และหลบหนีออกจากเมืองเนเปิลซ์

ท่านจะรู้สึกว่าเรื่องจะสนุกน่าอ่านได้ ก็ต้องมีชั้นเชิงในการเขียนประกอบหลายอย่าง ข้อที่พึงสังเกตในเรื่องนี้ ก็คือ

การพรรณนา (Description) ตอนสำคัญๆ ผู้เขียนได้พยายามพรรณนา ให้เห็นอย่างเด่นชัด เช่น ความรู้สึกของคนจะตาย สภาพของผู้คนพลเมืองตอนเกิดโรคระบาด ความรู้สึกภายในใจ เช่น ตอนที่ฟาบีโอฟื้นขึ้น รู้สึกตัวว่าอยู่ในโลง ผู้เขียนไม่บอกเราตรงๆ แต่เริ่มด้วยการบรรยายดังต่อไปนี้

“ภายหลังข้าพเจ้าฟื้นขึ้น ! ไม่ทราบว่าตัวนั้นของตัวอยู่ที่ไหน ? อากาศ ที่จะหายใจนั้นอึดอัดเหลือเกิน…มืดราวกับอยู่ในถํ้า อาการแห่งกายของข้าพเจ้าค่อยๆ คืนกลับมาเข้าร่าง หวนนึกขึ้นมาได้ถึงความป่วยบาทหลวง…ตาเฒ่า เปโตร…อยู่ที่ไหนกัน ? แล้วรู้สึกว่าตัวของตัวนอนหงายอยู่บนกระดานแข็ง นี่เหตุไรเขาจึงเอาหมอนที่หนุนไปไหนเสียเล่า ? ข้าพเจ้าอึดอัดใจ ต้องการลมอากาศหายใจเสียนี่กระไร? อากาศ…อากาศ ข้าพเจ้าต้องการอากาศ! จึงยกมือขึ้นไป… ใจหายวาบ! มือไปต้องสิ่งที่แข็งอยู่เบื้องบน ความจริงแล่นกลับมายังใจข้าพเจ้าอย่างรวดเร็ว ดูประดุจประกายไฟฟ้า ข้าพเจ้าถูกเขาฝังเสียแล้ว… ถูกฝังทั้งเป็น… ถูกขังอยู่ในโลง โดยความโกรธและกลัว ข้าพเจ้าตั้งต้นจะกระทุ้งจะฉีกแผ่นกระดานด้วยมือและเล็บของตน แรงมีอยู่ในกายตัวกี่มากน้อย เอามาระดมลงที่แขนที่ไหล่จะพังให้ฝาโลงทลายจงได้ ผลของแรงที่ทำนั้นก็ยังมีปรากฏ ทำให้ข้าพเจ้ายิ่งบ้าด้วยความโกรธ และความกลัวมากขึ้น ข้าพเจ้าเกือบจะหายใจไม่ออกตายอยู่แล้ว…รู้สึกว่า ลูกตานั้นเหมือนกับจะทะเล้นออกมานอกกระบอก โลหิตไหลออกทางปาก และจมูก…เหงื่อหน้าผากราวกับถูกประด้วยนํ้าฝน หยุดกระทุ้งฝาโลง เพื่อดิ้นทุรนทุรายหายใจเสียที แล้วนึกว่าไหนๆ จะตายก็ลองอีกพัก คราวนี้เปลี่ยนด้านเอียงตัวเอามือดันทุบและกระทุ้งด้วยเต็มกำลัง มิได้คิดถึงความเจ็บปวดเลย โลงลั่น…ความคิดใหม่วิ่งมาสู่มันสมองทำเอาชะงักทันที คือ คิดว่าถ้าเขาขุดหลุมฝังโลงไว้ การที่กระทุ้งโลงจนทลายสำเร็จจะมีประใยชน์อย่างไรบ้าง เปล่าทั้งสิ้น พอโลงพังแล้วดินก็จะทลายลงมาจุกจมูก จุกปาก หู เข้าตา ทับถมกายตัวเข้าแบบแซ่ว…ตาย เมื่อคิดดังนั้นออกนึกหัวเราะ การดิ้นรนของตัวว่ายอมนิ่งตายอยู่ในโลงว่าไม่ดี อยากไปหาดินอุดจมูกอุดปากตายรู้สึกหายใจแปลกขึ้น ไม่รู้สึกแร้นแค้นเหมือนเมื่อแรก เออ อากาศ แล่นเข้าได้อย่างใดอย่างหนึ่ง ลมอากาศใหม่ทำให้ข้าพเจ้าชื่นบานมีเรี่ยวแรงขึ้นเท่ากับคนเดินทางข้ามทุ่งในตอนเที่ยง ได้รับประทานนํ้า เอามือทั้งสองค่อยคลำๆ ไปจนเจอะช่องชำรุดที่ข้าพเจ้ากระทุ้งลั่นจนแง้มออกไป ลม เดินเข้าได้สะดวก ตั้งต้นดันแผ่นกระดานข้างโลงอันนั้นจนหลุดออกทั้งแผ่น ยื่นมือออกไปกวัดแกว่งดูก็ไม่กระทบดิน คราวนี้ดันฝาโลงออกง่ายสมประสงค์ … ดินไม่ร่วงลงมาทับตัวดังคิดไว้… ลุกขึ้นนั่งเอามือกวัดก็แล้ว ลุกขึ้นยืน เอามือกวัดก็แล้ว มิได้กระทบวัตถุอะไรนอกจากลมอากาศโดยความที่เกลียดอ้ายโลงคุก ข้าพเจ้ารีบกระโดดออกไปตกหกคะมำลงไปบนสิ่งซึ่งดูเหมือนจะเป็นพื้นปูด้วยศิลา ทั้งมือทั้งเข่าถลอกปอกช้ำมาก ในขณะที่ตกลงมานั้นมีอะไรตกโครมครามลงมาด้วยข้างๆ ตัวข้าพเจ้า ความมืดที่นั่นมืดแท้ หลับตา หรือลืมตาเห็นไม่แปลกกัน แต่หายใจสบายอากาศเย็นและชื่นใจ อุตส่าห์ทนพยุงตัวของตัวเองให้ลุกขึ้นนั่ง ณ ที่คะมำลงไปนั้น แข้งขานอกจากเป็นแผล ยังเมื่อย และเป็นเหน็บชา ตัวสั่นระริกริ้วไปด้วยความเจ็บปวด ความคิดที่ยุ่งเหยิงค่อยกระจ่างใส เข้าหัวเงื่อนติดต่อข้อความกันได้ นี่ถูกเขาฝังทั้งเป็นแน่แล้ว…ไม่ต้องสงสัย”

ขอให้ท่านสังเกต จะเห็นว่ามีการใช้เครื่องหมายอัศเจรีย์ (!) ปรัศนี (?) ประโยคบางประโยคสั้น มีลักษณะขาดห้วน บางตอนมีจุดไข่ปลาเชื่อม เหล่านี้เป็นการช่วยความรู้สึกของผู้อ่านให้เห็นความสับสน ความกระสับกระส่ายของความคิด การลำดับความ ทำให้เรารู้สึกเช่นเดียวกับฟาบีโอ คือ ตอนแรกงง ไม่รู้ว่าเป็นอะไร แล้วค่อยๆ รู้สภาพที่เป็นอยู่ชัดเจนขึ้นเป็นลำดับ

ตอนต่อไปนี้พรรณนารูปร่างกิริยาของตาแก่เจ้าของร้านค้าจิปาถะ ให้สังเกตว่าจากวิธีพรรณนา เราจะเห็นว่า ตาแก่คนนี้มีลักษณะแลเห็นเด่นชัดทีเดียว

“…ลัดแลงมาถึงตรอกเล็กแห่งหนึ่ง มีร้านขายของสองสามอย่าง ขายของรุงรัง ปะการังบ้าง เปลือกหอยบ้าง ลูกปัดบ้าง ปลาแห้ง มะพร้าว นํ้าเต้า เขาสัตว์ ถ้วยบิ่นชามร้าว ของเก่าๆ มีเกือบสารพัด ดูทำนองอย่างโรงจำนำ เห็นตาแก่อ้วนตุ๊นั่งอยู่หน้าร้านคนหนึ่ง หน้าตาแกกะยู่กะยี่บู้บี้ราวกับยักษ์เด็กมันเขียนเล่น นั่งสูบกล้องปุ๋ยๆ อยู่ นัยน์ตากลมดำสอดส่ายเหลียวซ้ายแลขวา ดูว่าอะไรจะมาทางไหนบ้าง พอเห็นข้าพเจ้าเดินมาแต่ไกล แกทำไถลไปดูท้องฟ้า ต่อเดินมาใกล้ได้สักสองวา จึงได้ก้มหน้าลงมาจ้อง ตาเขม็ง”

คอนตราส (Contrast) คำนี้แปลว่า ตรงข้าม หรือ ขัดแย้งกัน ในการประพันธ์ หมายถึงการนำเอาลักษณะอันขัดแย้งเข้าควบกัน เป็นวิธีที่ ทำให้เกิดความสนุก เร้าอารมณ์ เช่นในเรื่องมาดามโบวารี ผัวเป็นคนซื่อๆ ทึ่มๆ ส่วนเมียเป็นคนชอบสนุก ชอบฟุ้งเฟ้อ อย่างนี้เป็นลักษณะที่ขัดแย้งกัน ในกรณีอื่นก็มีเช่นในเรื่องความพยาบาทนี้มีคอนตราสหลายแห่งทีเดียว ตอนที่ฟาบีโอติดอยู่ในฮวงซุ้ย ซึ่งเขาต้องต่อสู้กับความที่จะถูกขังตายทั้งเป็น เขากลับได้พบโชคลาภมหาศาล อย่างนี้ก็เป็นคอนตราสกับตอนต่อไปนี้

“ข้าพเจ้าได้ร้องอ้อนวอนด้วยเสียงอันดัง และเสียงนั้นไปก้องตาม คูหาในฮวงซุ้ย กระท้อนกลับมายังหู เสียงดังบ้างค่อยบ้าง ชัดคำบ้าง ทำให้ ข้าพเจ้ากลัวเสียงของข้าพเจ้าเอง ถ้าแม้ความทรมานนานไปอีกหน่อยแล้ว ข้าพเจ้าคงเป็นบ้าเป็นแน่ ไม่กล้านึกทำภาพขึ้นดูในใจ (นึกเป็นรูปภาพของตัวเอง ขังอยู่ในที่ของคนตาย และอยู่ในกลางความมืด อยู่ในกลางหมู่หีบ ซึ่งบรรจุศพเก่าแก่ราขึ้น ขมวนไช!) จึงหมอบนิ่ง เอามือปิดตา สะกดอก สะกดใจให้นิ่งแน่ว มิให้คิดถึงเรื่องฮวงซุ้ยอีก ฮะ ! นั่นเสียงอะไรอีกละ ช่างร้องเย็นจับใจจริง! ยกศีรษะขึ้นเงี่ยหูฟัง อ๋อ เสียงนกในติงเกลดอกหรือ เสียงช่างไพเราะเย็นจับใจเสียนี่กระไร! คนที่มีความทุกข์ความเศร้าโศก อาจบรรเทาขึ้นได้มาก เมื่อได้ยินเสียงของเจ้า!”

นี่ก็เป็นคอนตราส จะเห็นว่าตอนต้นพรรณนาความน่ากลัวในที่ไว้ศพ แต่ที่ใกล้ๆ กันข้างภายนอก เสียงนกไนติงเกลร้องอย่างร่าเริง ตรงข้าม ระหว่างความน่ากลัว กับความชื่นบาน ความมีอิสรภาพกับการที่ถูกติดขัง

เมื่อฟาบีโอหลุดจากที่ขังได้แล้ว มีความยินดีเต็มที่ นึกว่าไปถึงที่อยู่ จะได้เห็นภรรยาและลูกรักกำลังไว้ทุกข์ถึง เมื่อภรรยาเห็นเขาคงจะตกตะลึง แล้วคงจะดีใจจนพูดไม่ถูก แต่ครั้นแล้วเขากลับพบสิ่งที่ตรงข้าม เมียกำลังเพลินอยู่กับชู้ นี่ก็เป็นลักษณะคอนตราส ผลของการใช้คอนตราสนี้ ทำให้เกิดความรู้สึกหลายอย่าง ผิดหวัง เศร้า ดีใจ หรือบางทีทำให้ขบขันก็ได้

ดรามาติก ไอรอนนี (Dramatic Irony) ยังหาคำในภาษาไทยที่เหมาะๆ ไม่ได้ จึงขอใช้คำภาษาอังกฤษไปก่อน ดรามาติก ไอรอนนี ใช้ได้ทั้งในการละครและการประพันธ์ หมายถึงว่าตัวละครไม่รู้เรื่องกัน แต่ผู้ดูรู้ เช่นสามีปลอมเป็นคนแปลกหน้ามาหาภรรยา ภรรยาไม่รู้ว่าเป็นสามีของตน แต่คนดูละครหรือคนอ่านเรื่องรู้ ดังนี้เรียกว่า ดรามาติก ไอรอนนี ในเรื่องความพยาบาทนี้ มีลักษณะเป็น ดรามาติก ไอรอนนี เกือบตลอดเรื่อง เรารู้ว่า เคานต์โอลีวา คือ ฟาบีโอ ปลอมตัว แต่นีนนากับกีโดไม่รู้ เมื่อนีนนาพบฟาบีโอในฐานะคนเพิ่งรู้จักกัน แล้วเกิดมาเกี้ยวกัน และกีโดเกิดหึง ดังนี้เราก็จะรู้สึกขันไม่น้อย

บทเจรจา (Dialogue) ได้กล่าวมาแต่คำบรรยายอันดับก่อนแล้ว ขอ เพิ่มเติมอีกเล็กน้อยว่าบทเจรจานี้ เป็นเครื่องช่วยให้แลเห็นลักษณะตัวละครต่างกันออกไป ฉะนั้นท่านต้องพยายามอย่าให้ตัวละครพูดเป็นแบบเดียวกันหมด ท่านต้องนึกเห็น (Realize) ว่าคนเช่นนั้นๆ ควรจะพูดอย่างนั้นๆ

ท่านลองฟังคำของตาเจ้าของร้านขายของจิปาถะ ที่ท่านเห็นลักษณะที่มีตัวอย่างพรรณนาแล้วนั้น ตอนนี้เป็นตอนฟาบีโอไปขอซื้อเสื้อเก่าๆ จากแก

ตาเฒ่าอ้วนตุ๊นั้นชักกล้องออกจากปากแล้วว่า “อ้ายแก น่า กลัวอ้าย โรคห่าไหม อ้ายโรคลงรากหน้ะ ? ”

ข้าพเจ้าตอบเลี่ยงๆ ว่า “ไม่กลัวดอกคะตาฉันเพิ่งฟื้นจากโรคนั้นเมื่อ นี่เอง เนื้อจืดเสียแล้ว มันไม่ตามมากินดอกค่ะ”

ตาเฒ่านั้นมองดูข้าพเจ้าทั่วสรรพางค์กายแล้วหัวเราะว่า “อ้า ดี…ดี! เหมือนข้าอีกคนหนึ่ง…ไม่กลัว กลัวมันทำไม! อ้ายเรามันไม่ใช่คนขี้ขลาด นะแกนะ พระบนสวรรค์ท่านส่งอ้ายห่ามาหนะดีเสียอีก ข้าชอบพิลึก เสื้อผ้าที่อ้ายสัปเหร่อมันรึ้งมาจากผี ได้กี่มากน้อยโยนมาเถอะ ข้ากว้านไว้หมด แม้ยังใหม่ๆ เรี่ยมๆ ก็มี อ้ายแกเอ๋ย ข้าไม่ต้องซักฟอกลอกขี้ไคล…ใครมาซื้อก็ขายไป…ว่าเสียสดๆ …จะเป็นอะไร ? มนุษย์เราเกิดมาแล้วก็ต้องตายทุกคน ใครจะอยู่คํ้าฟ้า…ยิ่งเร็วยิ่งดี! ข้าต้องช่วยพระเจ้าเต็มมือเทียว”

ให้สังเกตคำว่า นะ เขียนเป็น น่า หนะ หน้ะ ให้ใกล้เสียงพูด แต่มีคำเก่าๆ อยู่คำหนึ่งคือ ค่ะ เดิมชายผู้ดีชอบใช้ เดี๋ยวนี้เด็กชายลูกผู้ดีก็ยัง ใช้อยู่

ท่านอ่านคำพูดของตาเฒ่าแล้ว รู้สึกว่าตาคนนี้มีลักษณะอย่างไร เชื่อ ว่าท่านคงนึกได้

เมื่อท่านจะเขียนบทเจรจา อย่าลืมนึกว่าตัวละครนั้นคือใคร มีความรู้สึกและอารมณ์อย่างไรในขณะที่พูด อย่าให้ตัวละครของท่านพูดอย่างนก แก้วนกขุนทอง

หลักของนวนิยายนี้ ได้มีนักวิจารณ์ให้ข้อสังเกตไว้หลายอย่าง เช่น ยอร์ช เซนต์บูรี ก็ว่าได้ดังที่ได้กล่าวข้างต้น ว่าลักษณะสำคัญของนวนิยาย ก็คือ การผูกเรื่อง ตัวละคร การพรรณนา และบทเจรจา ส่วน ซังต์ เบอเว (Saint Beuve) ได้พูดต่างออกไปอีกบ้างว่า ในการเขียนนวนิยายควรนึกถึงสิ่งสามประการ คือ ตัวละคร พฤติกรรม (Action) และสำนวน (Style)

สำหรับเรื่องความพยาบาทนี้ เป็นนวนิยายชนิดผูกเรื่อง ฉะนั้นความ สำคัญของลักษณะตัวละครจึงไม่จำต้องเขียนอย่างละเอียดนัก ตามเรื่องว่า กีโดเป็นชู้กับเมียของเพื่อนที่รักสนิท ส่วนนีนนาเป็นสาวสวย แต่ใจง่าย เป็นคนเห็นแก่ตัวมีความคิดตื้นๆ ไม่ค่อยนึกถึงธรรมอันใด แม้แต่สุนัขก็ไม่ชอบ เด็กก็เกลียด ในการปั้นตัวละคร ผู้เขียนอย่าไปเกลียดหรือรักตัวละคร เช่น ถ้าตัวโกงก็อย่าพยายามมอมหน้า และพรรณนาใส่ร้ายต่างๆ อย่างจะให้เป็นตัวโกงจริงๆ อย่างนี้จะเป็นการฝืนผู้อ่านจะรู้สึกว่าเป็นตุ๊กตาตัวโกง แทนที่จะเป็นคนจริงๆ

ว่าถึงพฤติกรรม (Action) หมายถึง การที่ตัวละครทำอะไรอย่างหนึ่ง โดยมากต้องเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น สำหรับเรื่องความพยาบาทมีพฤติกรรมสำคัญอยู่สองตอน คือตอน ฟาบีโอดวลกับกีโด และตอนฟาบีโอพานีนนาเข้าไปในฮวงซุ้ย เรื่องเผชิญภัย เรื่องนักสืบ เรื่องเกร็ดประวัติศาสตร์ มักจะเป็นเรื่องที่มีพฤติกรรมมาก

ที่มา:เปลื้อง ณ นคร

นวนิยาย (Novel)

บ่อเกิด ในประเทศไทยเรายังไม่มีตัวเลขที่แน่นอน ว่าเราได้ใช้เงินในการซื้อเรื่องอ่านเล่นปีหนึ่งๆ เป็นจำนวนเท่าใด แต่คะเนดูเห็นจะหลายล้านบาท ส่วนในอังกฤษ อเมริกา นั้นต้องนับกันด้วยจำนวนร้อยล้าน ตาม สถิติของอเมริกาใน ค.ศ. ๑๙๓๓ เงินค่าใช้จ่ายในเรื่องการพิมพ์หนังสือ รวมทั้งหนังสือพิมพ์ด้วย เป็นจำนวนถึงพันล้านเหรียญเศษ การแต่งและจำหน่ายเรื่องอ่านเล่นนับเป็นศิลปะอุตสาหกรรมที่แพร่หลายยิ่ง ก็เหตุใดคนจึงชอบหนังสืออ่านเล่น เหตุที่จะยกมาอ้างนั้นมีอยู่หลายประการ แต่ต้นเหตุสำคัญก็คือ ความอยากฟังเป็นปัจจัยใหญ่ที่สุด ความอยากฟังเรื่องเป็นสิ่งที่ติดอยู่ในสายเลือดของมนุษย์ เรื่องอ่านเล่นหรือนิทานนี้เป็นของคู่มากับมนุษย์ ตั้งแต่เริ่มมีมนุษย์มาทีเดียว เรามีอะไรก็อยากเล่าให้คนอื่นฟัง คนอื่นก็อยากฟังเรื่อง จึงเกิดเป็นนิทานขึ้น

นิทานของคนโบราณเป็นเรื่องสั้นๆ ง่ายๆ อย่างเราเล่านิทานยายกะตาให้เด็กฟัง ต่อมานักคิดเห็นว่า นิทานเป็นข้ออุปมาอุปไมยให้เห็นความ ประพฤติอย่างหนึ่งอย่างใดได้ จึงแถมสุภาษิตเข้าข้างท้าย เกิดเป็นนิทานเทียบภาษิต เข้าใจว่าแต่เดิมนิทานคงเล่ากันตรงไปตรงมา เมื่อเล่าจืดเข้าก็ประดิษฐ์ตกแต่ง เสริมความให้พิสดารขึ้น บางทีก็คิดเขียนเป็นกาพย์กลอน จะเห็นตัวอย่างได้มากในนิทานไทยของเรา นิทานนี่แหละเป็นบ่อเกิดของนวนิยาย

คำว่า “นวนิยาย’’ ตามรูปศัพท์ คำนี้มีคำรวมกันสองคำ คือ นว แปลว่า ใหม่ นิยาย แปลว่า เรื่องเล่า ที่จริงเรื่องเช่นนี้เราเคยเรียกกันว่า เรื่องอ่านเล่นบ้าง เรื่องประโลมโลกบ้าง คำ นวนิยาย เป็นคำที่ผูกขึ้นใหม่ เพื่อให้ตรงกับศัพท์ โนเวล (Novel) คำ โนเวล นี้เดิมเป็นภาษาอิตาเลียนว่า โนเวลลา (Novella) คือ เมื่อราวปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๓ มีนักเขียนอิตาเลียนคิดแต่งเรื่องให้แปลกไปจากนิทานที่เคยเล่ากัน ให้มีเนื้อเรื่องเหมือนอย่างชีวิตที่เป็นอยู่ของคนจริงๆ ต่อมานักเขียนในอังกฤษ แปลเรื่องอิตาเลียนเป็นภาษาของตน มีคนชอบอ่านมาก นักเขียนอังกฤษจึงคิดเขียนเรื่องตามแบบนักประพันธ์อิตาเลียนบ้าง จึงเอาคำ Novella ของอิตาเลียนมาเปลี่ยนเป็น Novel ซึ่งตามศัพท์ก็แปลว่า ของใหม่ เพราะเป็นเรื่องใหม่ ไม่เคยมีมาก่อน แต่บัดนี้นวนิยายไม่ใช่ของใหม่มิได้

นวนิยายนี้เจริญมากในอังกฤษในศตวรรษที่ ๑๘ และพอถึงศตวรรษที่ ๑๙ นวนิยายก็เป็นวรรณคดีที่มีคนนิยมมากกว่าแขนงอื่น บรรดาพวก นักวิจารณ์และนักศึกษาก็พากันวิเคราะห์นวนิยายต่างๆ และวางเป็นหลักเกณฑ์ขึ้น สำหรับในเมืองเรา อาจพูดได้ว่า นวนิยายเพิ่งตั้งต้นเท่านั้น ตั้งแต่เริ่มบันเทิงคดีร้อยแก้วในสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา เรามีนวนิยายที่เป็นของเราเองไม่กี่เรื่อง

นวนิยาย กับ นักประพันธ์ นวนิยาย นับเป็นงานใหญ่ยิ่งของนักประพันธ์ เป็นงานที่จะเป็นอนุสาวรีย์ที่จะพาชื่อผู้แต่งพุ่งขึ้นสู่ชื่อเสียงในพริบตาเดียว แต่มันเป็นงานที่ต้องอาศัยอุตสาหะวิริยภาพมิใช่น้อย เวลาในการเขียนนวนิยายนี้อาจเป็นได้ระหว่างหนึ่งเดือนถึงสิบปี เขาต้องก้มหน้าก้มตาเขียน เขียนไป เขียนแล้วแก้ ตกเติม เปลี่ยนแปลง จนกว่าจะเป็น “ฝีมือศิลปะ’’ ที่เขาพอใจ นักเขียนนวนิยายที่มีชื่อเสียงเขียนนวนิยายโดยใจรัก เพื่อฝีมือและเพื่อศิลป์ แต่เมื่อสำเร็จ เขาจะได้รับผลอันน่าชื่นใจ มีนักนวนิยายมีชื่อเสียงหลายท่านที่ได้รับการศึกษาเล็กน้อย ไม่เคยผ่านมหาวิทยาลัย ไม่เคยรู้หลักการประพันธ์ เช่น ชาร์ล ดิกเก็นส์ (Charles Dickens) มิสซิส สโตว (Mrs. Stowe) ผู้เขียนนวนิยายเรื่อง “กระท่อมน้อยของลุงทอม” การศึกษาของนักนวนิยายพวกนี้คือความจัดเจนในชีวิต ประกอบด้วยมีนิสัยทางเขียน ฉะนั้นจึงมีบางคนเห็นว่าการที่จะเป็นนักประพันธ์นั้น ไม่ต้องเล่าเรียน เมื่อมีนิสัยแล้วก็เป็นเอง เขียนเองได้ การกล่าวดังนี้ ถ้าฟังเผินๆ แล้วก็น่าจะถูกต้อง แต่ความที่จริงแล้วนักเขียนย่อมเป็นนักศึกษา พยายามค้นคว้าหลักในการเขียนโดยตนเองอยู่เสมอ คือ เขียนไป และรู้ไป นักประพันธ์เหล่านี้บางท่าน มหาวิทยาลัยยังได้เชื้อเชิญไปบรรยายหลักแห่งการเขียนแก่นิสิต ทั้งนี้ย่อมแสดงว่า ในการเขียนนั้นเขาก็มีหลัก เกณฑ์อยู่เหมือนกัน

หลักแห่งนวนิยาย
ในคำบรรยายอันดับต้นๆ ท่านได้ศึกษาวิธีเขียนบันเทิงคดีเรื่องสั้นมาแล้ว หลักอันนั้นย่อมนำมาใช้กับนวนิยายได้เกือบทั้งสิ้น ในที่นี้จะได้กล่าวลักษณะ และประเภทต่างๆ ของนวนิยาย กับเพิ่มเติมคำแนะนำอีกบางประการ

นวนิยาย คือ เรื่องราวที่มีพฤติการณ์ต่อเนื่องกัน เรื่องเช่นนี้เป็นเรื่องที่สมมุติแต่งขึ้น แต่อาจมีมูลความจริงแฝงอยู่ก็ได้ ความมุ่งหมายของนวนิยายก็เพื่อความเพลิดเพลิน แต่บางทีนักเขียนก็ใช้เป็นเครื่องมือสำหรับเย้ยหยันเสียดแทง (Satire) แนะนำสั่งสอน หรือแสดงแนวความคิดทางการเมืองและหลักธรรมต่างๆ หลักการเขียนนวนิยายคล้ายกับเรื่องสั้น แต่เรื่องสั้นนั้นเค้าเรื่องต้องกระชับ มีพฤติการณ์สำคัญอย่างเดียวโดยเฉพาะ และมีความยาวตั้งแต่ ๑,๐๐๐-๑๐,๐๐๐ คำ ส่วนนวนิยายมีพฤติการณ์หลายอย่างเกี่ยวพันกัน ตัวละครก็ไม่กำหนด จะมีกี่ตัวก็ได้ ความยาวนั้นตั้งแต่ ๔๐,๐๐๐ คำขึ้นไป ส่วนนวนิยายสั้น (Novelette) ก็เหมือนนวนิยายทุกอย่าง ผิดกันเฉพาะความยาว ซึ่งมีกำหนดแต่ ๑๐,๐๐๐-๔๐,๐๐๐ คำ

จัดประเภทนวนิยาย
เรื่องนวนิยายมีหลายหลาก แล้วแต่นักเขียนจะถนัดเขียนเรื่องใด ที่เขาแยกประเภทไว้ก็มีต่างๆ กัน ตามที่ แฟรงก์ เอช วิเซตเตลลี แยกไว้มีดังนี้

๑. พวกนวนิยายเกี่ยวกับพฤติการณ์ แยกออกเป็น
ก. นวนิยายเรื่องเผชิญภัย
ข. นวนิยายประวัติบุคคล
ค. นวนิยายเกี่ยวกับเรื่องทหารและการกีฬา

๒. พวกนวนิยายทางประดิษฐ์เรื่อง คือคิดวางโครงเรื่องให้ซับซ้อน น่าฉงน แยกออกเป็น
ก. นวนิยายนักสืบ
ข. นวนิยายเรื่องลี้ลับมหัศจรรย์
ค. นวนิยายเกี่ยวกับความคิดฝัน

๓. พวกนวนิยายเกี่ยวกับเรื่องชีวิต ความเป็นไปของมนุษย์ แยก
ออกเป็นพวก
ก. นวนิยายที่มีจุดหมาย คือ ต้องการแสดงหลักธรรม หรือแนว
ความคิด
ข. นวนิยายรีอาลิสติก (Realistic)
๔. พวกนวนิยายซึ่งมุ่งจะแสดงผลอย่างใดอย่างหนึ่ง แยกออกเป็นพวก ก. นวนิยายเชิงปัญหา คือ นำเอาปัญหาความเป็นอยู่ของมนุษย์ มาแสดง และชี้ให้เห็นว่าผลของความเป็นอยู่นั้น จะประสบผลสุดท้ายอย่างไร

ข. นวนิยายวิเคราะห์นิสัยสันดานมนุษย์ เพ่งในทางที่จะแสดงนิสัยสันดานอย่างหนึ่งอย่างใดของมนุษย์ และเหตุการณ์ต่างๆ อันเกิดจาก นิสัยสันดานนั้นๆ

การแบ่งดังนี้ ถือตามเนื้อเรื่องเป็นเกณฑ์และออกจะละเอียดเกินไป เปอร์ซี มาร์ก ได้แบ่งนวนิยายโดยถือแนวเขียนเป็นหลัก เป็น ๓ อย่าง คือ
๑. นวนิยายชนิดผูกเรื่อง (Plot Novel)
๒. นวนิยายรีอาลิสติก (Realistic Novel)
๓. นวนิยายแนวจิตวิทยา (Psychological Novel)

การที่แบ่งเช่นนี้ มิใช่ว่าจะแบ่งเด็ดขาดออกไปทีเดียว นวนิยายบางเรื่องอาจมีลักษณะปนกันก็ได้ คือเป็นทั้งแนวจิตวิทยาและแนวรีอาลิสติกหรือเป็นอย่างผูกเรื่องและรีอาลิสติกก็ได้

นวนิยายชนิดผูกเรื่อง
ชนิดนี้มีวิธีเขียนเหมือนเรื่องสั้นชนิดผูกเรื่อง เว้นแต่มีความยาวมาก กว่า และมีพฤติการณ์ที่น่าตื่นเต้นหลายตอนด้วยกัน เรื่องเช่นนี้ผู้เขียนย่อมสร้างให้ตัวละครปลํ้าปลุกต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ เพื่อบรรลุผลความปรารถนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ส่วนมากเป็นเรื่องรัก เรื่องการเผชิญภัย เรื่องเกี่ยวกับการสืบสวนคดีลึกลับต่างๆ หัวใจของเรื่องต้องมีพฤติการณ์ที่น่าตื่นเต้นมากๆ การดำเนินเรื่องต้องมีแอคชั่น (Action) คือต้องมีเหตุการณ์ ความเคลื่อนไหว นวนิยายจะดำเนินเรื่องโดยใช้ฉากเพียงแห่งเดียว และมีเหตุการณ์อย่างเดียวไม่ได้ ฉากและพฤติการณ์อาจเริ่มที่กรุงเทพฯ แล้วพระตะบอง-ปารีส-แล้วไปจบเอาที่สิงคโปร์ก็ได้ แต่เรื่องราวต้องติดต่อเกี่ยวโยงกัน ฉะนั้นในการเขียนนวนิยายชนิดนี้ ผู้เขียนต้องวางโครงเรื่อง แยกออกเป็นบทๆ และเขียนเค้าเรื่องสั้นๆ ไว้ก่อน ผู้เขียนจะต้องวางแนวเรื่องให้ตลอดเสียก่อน เมื่อท่านเริ่มเขียนตอนที่ ๑ ท่านจะต้องรู้ว่า เรื่องในตอนที่ ๑ จะไปเกี่ยวข้องกับตอนที่ ๕ อย่างไรบ้าง

จะขอยกตัวอย่างเรื่อง มองเต คริสโต (Count of Monte Cristo) อันเป็นนวนิยายผูกเรื่องประเภทการเผชิญภัย ซึ่งเป็นนวนิยายที่มีชื่อเสียง ของโลกเล่มหนึ่ง มีผู้แปลเป็นภาษาไทยแล้ว แต่ไม่จบเพียงหนึ่งในสี่ของ เรื่องเดิม ดูเหมือนผู้แปลใช้นามปากกาว่า ศรีอัฐทิศ เรื่องนี้ อาเลกซังเดรอะ ดูมาส์ (Alexandre Dumas) นักนวนิยายฝรั่งเศสเป็นผู้แต่งต้นฉบับเดิมเป็นภาษาฝรั่งเศส ชื่อ คองต์ มองเต คริสโต (Conte Monte Cristo) ดูมาส์ มีชีวิตอยู่ระหว่าง ค.ศ.๑๘๐๓-๑๘๗๐ เป็นเจ้าของเรื่องนวนิยายเผชิญภัย และอิงประวัติศาสตร์หลายเรื่อง อาทิเรื่อง ทแกล้วทหารสามเกลอ

เค้าเรื่อง ชายหนุ่มคนหนึ่งชื่อ เอดมองด์ ตังเตส ได้ทำหน้าที่แทนกัปตัน ซึ่งถึงแก่กรรมโดยปัจจุบัน นำเรือชื่อ ฟาโรห์ เข้าเทียบท่าเมือง มาร์เซล เขากำลังจะมีโชคดีและจะได้แต่งงานกับหญิงที่รัก แต่ถูกเพื่อนลอบใส่ร้ายหาว่าเป็นพวกฝักใฝ่ทางนโปเลียน เลยถูกเจ้าหน้าที่จับไปจำไว้ที่เกาะ ชาโตดิฟ ต่อมาเขาหนีรอดมาได้ แล้วได้พบขุมทรัพย์ที่เกาะมหาสมบัติ เลยกลายเป็นมหาเศรษฐี กลับมาทำการแก้แค้นผู้ที่ใส่ร้ายเขา

เค้าเรื่องมีเท่านี้ แต่ ดูมาส์ ขยายเรื่องออกไปไม่ต่ำกว่าหกหมื่นคำ แบ่งออกเป็นบทๆ กว่า ๓๐ บท แต่ละบทมีเหตุการณ์ตื่นเต้น และเรื่องขยายกว้างออกไปทุกที

นวนิยายรีอาลิสติก
คำว่า รีอาลิสม์ (Realism) หมายถึงลัทธิ คำว่า รีอาลิสต์ (Realist) หมายถึงผู้นิยมลัทธิรีอาลิสม์ ส่วนคำ Realistic เป็นคำคุณศัพท์ ลัทธิรีอาลิสม์ นี้เดิมเป็นลัทธิทางปรัชญา ต่อมาได้ใช้เกี่ยวเนื่องกับทางศิลปกรรมและวรรณกรรมด้วย จะชี้แจงโดยละเอียดในคำบรรยายที่ว่าด้วยการวิจารณ์ กล่าวโดยย่อที่สุด ลัทธินี้หมายถึงการเล็งแลสิ่งต่างๆ ตามสภาพความเป็นจริงของมัน นวนิยายรีอาลิสติก (Realistic Novel) ก็คือนวนิยายที่เผยความเป็นจริงของชีวิต

ท่านได้อ่านลักษณะของนวนิยายชนิดผูกเรื่องในตอนก่อนมาแล้ว จะ เห็นว่าลักษณะสำคัญก็คือ การเล่าเรื่องให้สนุกโลดโผน ตัวละครในเรื่องมีบทบาทในการเผชิญชีวิต ต้องต่อสู้กับภยันตรายต่างๆ ภยันตรายและอุปสรรคต่างๆ นั้น นักเขียนคิดบรรยายให้ผู้อ่านแลเห็นจริงจังตามไปด้วย ในส่วนนวนิยายรีอาลิสติกนี้ เนื้อเรื่องมีความสำคัญชั้นสอง ความมุ่งหมายแห่งการเขียนก็คือการแสดงความเป็นไปของชีวิตตามความเป็นจริง และละเอียดถี่ถ้วนที่สุดที่จะเป็นไปได้ นวนิยายชนิดนี้ไม่ต้องผูกเรื่อง เพราะเท่ากับเป็นการบรรยายชีวิตของบุคคลคนใดคนหนึ่ง ในการพรรณนาฉาก หรือบุคคล ผู้เขียนจะไม่แต้มเติมอะไรเลย นอกจากหยิบเอาความเป็นจริงแง่หนึ่งแง่ใดของชีวิตมาตีแผ่แก่ผู้อ่าน

นักเขียนนวนิยายชนิดนี้ อาจทำผิดได้อย่างสำคัญสองข้อคือ หนึ่ง- ให้รายละเอียดเกินสมควรจนผู้อ่านเหนื่อยหน่าย สอง-ให้ความจริงจะแจ้ง จนเป็นที่แสลง

ข้อที่สองนี้สำคัญยิ่ง เพราะในการเอาความจริงมาตีแผ่นั้น ผู้เขียนต้องให้คำพูดหรือความประพฤติของตัวละคร อย่างที่มนุษย์ทำกันตามปกติ
ฉะนั้นบางทีนักเขียนทำเกินเลยไป จนถึงเอาคำหยาบคายน่ารังเกียจมาเขียน ธรรมดาคนเราเว้นจากการพูดหยาบไม่ค่อยได้ แต่คำพูดกับตัวหนังสือนั้นผิดกัน คำพูดนั้นพูดแล้ว แล้วไป คำหยาบๆ คายๆ นั้น บางทีเราฟังโดยไม่สู้ถือพาพิถีพิกันนัก แต่ถ้าเขียนลงเป็นตัวหนังสือแล้วมันจะปรากฏชัด อ่านแล้วชวนให้น่ารังเกียจ ถ้าเผอิญตัวละครของเราเป็นคนหยาบคาย ใจชั่ว ชอบพูดแต่คำสัปดน นักเขียนต้องหาทางเกลาคำพูด อย่าให้หยาบถึงขนาดผู้นั้นที่พูดจริงๆ และต้องเลือกหยิบเฉพาะคำเจรจาที่จะแสดงตัวละครนั้นให้เด่นขึ้น ข้อนี้เป็นกฎทั่วไป ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น

นวนิยายชนิดนี้ โดยมากนักเขียนมักแสดงแง่ในทางชั่วเลวทรามของ ชีวิตมนุษย์ ฉะนั้นการพูดถึงความประพฤติชั่ว น่าอดสู โดยไม่ต้องให้ผู้อ่านรู้สึกสะอิดสะเอียนนั้น ผู้อ่านต้องใช้ดุลพินิจให้ซึ้ง มิฉะนั้นเรื่องของท่านจะเป็นเรื่องลามก

นวนิยายรีอาลิสม์ ที่มีชื่อเสียงคือเรื่อง มาดามโบวารี เป็นเรื่องที่พาผู้เขียนและผู้พิมพ์ขึ้นศาลถูกอัยการหาว่าผู้เขียนให้ภาพจริงเกินเหตุ จน กลายเป็นลามกทำลายศีลธรรมของประชาชน เรื่องนี้ วิทย์ ศิวะศริยานนท์ ได้แปลเป็นภาษาไทยแล้ว ผู้เขียนเรื่องนี้คือ กุสตาฟ ฟลอแบรต์ (เกิด ค.ศ. ๑๘๒๑ ถึงแก่กรรม ค.ศ.๑๘๘๐) เขาเป็นนักนวนิยายรีอาลิสติกชั้นเอกของโลก

จะขอยกเรื่อง มาดามโบวารี มาให้ท่านเห็นเป็นตัวอย่าง ก่อนอื่นจะขอทำความเข้าใจกับนักศึกษาเสียก่อนว่า ตัวอย่างต่างๆ ที่ยกมาอ้างนั้น ข้าพเจ้าจะใช้ตัวอย่างเรื่องจากต่างประเทศเป็นเกณฑ์ เพราะเรื่องนั้น นักวิจารณ์และโลกวรรณคดียอมรับกันแล้วว่าเป็นแบบอย่างได้ ส่วนของไทยเรา ใช่ว่าจะไม่มีดีพอจะนำเอามาอ้างเป็นตัวอย่างได้ นักเขียนของเราหลายท่านได้สร้างนวนิยายชั้นดีมีเหมือนกัน แต่ถ้ายกมาอ้างอาจมีข้อโต้แย้งกันมากมาย เพราะเรายังขาดวงวิจารณ์ที่มีออทอริตี (Authority) คือ มีเสียง เป็นที่เชื่อและยึดถือได้ ความพยายามของข้าพเจ้าที่จะได้ก้าวต่อไปก็คือ จะหาทางยกนักประพันธ์ทั้งใหม่และเก่า ซึ่งได้สร้างวรรณกรรมดีๆ ขึ้น ให้สมกับคุณความดีของเขา

เค้าเรื่อง เค้าเรื่องมาดามโบวารีนี้ก็คือ ชีวิตของหญิงที่ชื่อ เอมมา ไปได้ผัวชื่อโบวารี ผัวเป็นคนเซื่องๆ หงิมๆ เมียมีนิสัยชอบสนุก จึงไม่พอใจอดรนทนความทึ่มของผัวไม่ได้ เลยมีชู้เสียหลายคน ในที่สุดใจแตก ใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือย เป็นหนี้สินเขานุงนัง เมื่อหาทางใช้หนี้ไม่ได้พวกชู้ก็ เอาใจออกห่าง หมดทางเข้ากินยาพิษตาย ส่วนผัวไม่รู้ความสกปรกของเมีย มีความเศร้าโศกมาก อยู่มาวันหนึ่งไปค้นลิ้นชักไว้ของภรรยา พบจดหมายต่างๆ เกี่ยวกับความสกปรกของภรรยาเลยช้ำใจตาย

ท่านจะเห็นว่าเรื่องนี้มีลักษณะการผูกเรื่องอยู่เหมือนกัน และมีไคลแมกซ์ ตอนมาดามโบวารีกินยาตาย แต่เมื่อท่านอ่านเรื่องจบแล้ว ท่านจะจำเนื้อเรื่องไม่ได้ดี เหมือนกับที่ท่านรู้จักมาดามโบวารีว่าเป็นคนอย่างไร นี่คือ ลักษณะของนวนิยายรีอาลิสติก คือ ต้องการแสดงความเป็นอยู่ของคนเป็นข้อใหญ่

ฟลอแบรต์ เป็นคนพิถีพิถันในการเขียนเรื่อง บางทีหน้ากระดาษเดียวเขียนอยู่ตั้ง ๗ วัน แก้แล้ว แก้อีก จนเห็นว่าไม่มีทางจะแก้ให้ดีขึ้นอีกแล้ว มีคำที่เขากล่าวแนะนำนักเขียนอื่นไว้ว่า “เมื่อเขียนเสร็จตอนหนึ่งๆ ลองอ่านดังๆ ถ้าฟังราบรื่นหู อ่านคล่องไม่อึดอัดใจแล้ว นับว่าความที่เรียงนั้นใช้ได้” ที่ริมหน้าต่างที่ฟลอแบรต์เขียนเรื่องมักจะมีเด็กมาแอบฟังเสมอ เพราะเขาอ่านดังๆ และทำสุ้มเสียงเป็นจังหวะตามคำพูดของตัวละคร และตามลักษณะข้อความที่เขาเรียบเรียง การที่ฟลอแบรต์ถูกขึ้น ศาล ก็เพราะบรรยายฉากการทำชู้โจ่งแจ้งเกินไป บรรดานักศิลป์ในฝรั่งเศสพากันทึ่งมาก ว่าคดีจะลงเอยด้วยประการใด แต่ในที่สุด เมื่อทนายได้แถลงคารมอย่างยืดยาว ศาลก็ตัดสินว่า “เรื่องนี้ไม่ปรากฏว่า ผู้เขียนมีความมุ่งหมายจะประพันธ์เรื่องเพื่อเร้าความรู้สึกทางลามกให้เกิดแก่ผู้อ่าน”

การดำเนินเรื่อง เรื่องมาดามโบวารี แบ่งออกเป็น ๒ ภาค ๓๖ ตอน จับเรื่องตอนที่หนึ่งผู้เขียนได้กล่าวถึงวงศาคณาญาติของนายโบวารีอย่างยืดยาว กล่าวถึงนายโบวารีเมื่อยังเป็นเด็กเข้าโรงเรียน แสดงให้เห็น ความทึ่ม และความเซื่องซึมของนายโบวารี จนกระทั่งโตเป็นหนุ่มและได้เมียคนแรก แล้วเมียคนแรกตาย ซึ่งถ้าเป็นนวนิยายชนิดผูกเรื่องแล้ว ตอนนี้ก็ไม่จำเป็น แต่การที่ฟลอแบรต์ได้ใช้ตอนนี้ ทั้งตอนบรรยายความเป็นไปของนายโบวารีนั้น ก็เพื่อจะให้เห็นความเป็นไปไนชีวิตจริงๆ เท่านั้น นว¬นยายรีอาลิสติกนี้ ลักษณะและนิสัยตัวละครต้องเด่นชัดมาก

ต่อมา นายโบวารีได้ไปรักษาไข้และได้เอมมาลูกสาวของคนไข้เป็น ภรรยา แม่เอมมานี้เดิมเรียนหนังสือประจำอยู่ในวัดนางชี เป็นคนชอบฝันในเรื่องชู้สาว ในเวลาอ่านเรื่องชีวิตนักบุญ เธอมักจะลอบเอาหนังสือเรื่องรักๆ ใคร่ๆ เข้าไปอ่าน เมื่อได้ผัวเธอนึกว่าคงจะมีชีวิตชื่นฉ่ำอย่างเรื่องในนิยายรัก แต่นายโบวารีเป็นคนไม่เข้าใจในเรื่องการโอ้โลมเสียเลย จะจูบเมียก็เป็นกำหนดเวลา เมียซึ่งเคยฝันว่าจะได้รับการโอ้โลมพะเน้าพะนอ ชักไม่พอใจยิ่งขึ้นทุกที ที่สุดไปพบเจ้าชู้ฉกรรจ์เข้าคนหนึ่ง เลยเสียตัวกับนายคนนั้น เบื่อคนนั้นไปลักลอบกับคนโน้นเรื่อยไป ผัวไม่รู้เรื่องอะไรเลย เวลาเมียเจ็บเพราะถูกชู้หักหลัง ก็นึกว่าเป็นไข้ธรรมดา อุตส่าห์รักษาเยียวยาอย่างเต็มกำลัง เอมมา (นางโบวารี) เอง ถึงแสนที่จะเกลียดผัว เมื่อตนจะตายได้กอดผัวแล้วรำพันว่า “โธ่เอ๋ยพ่อผัวรัก เธอช่างดีกับเมียจริงๆ ”

จะขอยกตัวอย่างการบรรยายมาให้ท่านเห็นสักสองตอน ตอนหนึ่งเป็นฉากงานสันนิบาต ที่คฤหาสน์ท่านวิสเคานต์ เอมมาเต้นรำเพลงวอลต์ กับท่านไวเคานต์

“เขาเริ่มออกเต้นช้าๆ แล้วค่อยเร็วขึ้นทุกที เขาหมุนตัว ดูทุกสิ่งทุกอย่างหมุนตามไปหมด ตะเกียง-เครื่องเรือน-กรอบไม้ที่ฝาห้อง พื้นห้อง รู้สึกว่าหมุนเคว้งคว้างเหมือนจานที่ควงอยู่บนปลายไม้ ตอนที่ทั้งคู่เต้นไปใกล้ประตูห้องนั้น กระโปรงตอนตะโพกของเอมมาเกี่ยวติดกับกางเกงของเขา ขาทั้งคู่ตระหวัดกันสนิทแนบ เขาก้มลงจ้องเธอ และเธอก็เงยหน้าขึ้นสบตา เขา เธอรู้สึกสะท้านไปทั่วกาย ต้องหยุดเต้นแล้วเขาก็เริ่มใหม่ หมุนเคลื่อนไปเร็วกว่าเดิม ท่านวิสเคานต์ เต้นพาเธอไปจนสุดปลายห้อง เธอหอบ เจียนล้ม ต้องซบศีรษะลงบนไหล่ของเขาครู่หนึ่ง แล้วเขาก็เต้นเคลื่อนกลับมาหมุนลอย แต่ช้าลงมาก จบเพลงเขาได้พาเธอไปส่งที่นั่ง- เธอนั่งลงเอนหลังพิง พลางเอามือทั้งสองปิดหน้า”

อีกตอนหนึ่ง ยุสแตง เด็กรับใช้ผู้ชายเข้าไปเห็นสาวใช้รีดผ้านาง โบวารีอยู่ ฟลอแบรต์ เขียนดังนี้

“เขาเอาข้อศอกยันม้ารีดผ้า ตาลุกวาว มองดูเสื้อผ้าผู้หญิงที่วางเกลื่อน กลาดอยู่ มีเปตติโคต ผ้าห่มสามเหลี่ยม กางเกงชั้นในชนิดมีเชือกร้อยกว้าง ตรงตะโพก ขาลีบ เจ้าหนุ่มเอามือจับสเกิ๊ตชั้นในแล้วถามว่า

“อ้ายนี้ เขาใช้ทำอะไร”

เฟลิซิเต (เด็กหญิงคนใช้) หัวเราะแล้วตอบว่า “แกไม่เคยเห็นบ้างรึ นายผู้หญิงของแกก็ใช้อย่างนี้เหมือนกัน”

ท่านจะแลเห็นว่าสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เขาก็หยิบมากล่าว เมื่อท่านอ่านแล้ว นอกจากรู้สึกว่าเป็นรายละเอียดเพื่อแสดงความเป็นอยู่ และคำสนทนา ของคนใช้แล้ว ยังมีอะไรแฝงอยู่บ้าง

นวนิยายแนวจิตวิทยา
เปอร์ซี มาร์กส์ ได้พูดเป็นเชิงเปรียบไว้ว่า การเขียนนวนิยายชนิดนี้ ถ้าจะเทียบก็เหมือนแพทย์จะเจาะหัวกะโหลกคนไข้ เขาจะต้องรู้ว่าเขากำลังทำอะไร ทำไมเขาจึงทำเช่นนี้ และจะทำอย่างไร การเจาะกะโหลกคนไข้ ไม่ใช่เป็นการผ่าตัดธรรมดา นายแพทย์ต้องเข้าใจดีว่างานที่เขาทำนั้นมีความสำคัญเพียงใด นักเขียนนวนิยายแนวจิตวิทยานี้ก็เช่นเดียวกัน ต้องอาศัยฝีไม้ลายมือและอารมณ์ความรู้สึกอยู่เป็นอันมาก และต้องเข้าใจว่ากำลังเขียนเรื่องที่จะทำให้น่าอ่านได้ยากที่สุด นักเขียนนวนิยายแนวนี้มี เช่น โยเซฟ คอนราด (Joseph Conrad) ในเรื่องลอร์ดจิม (Lord Jim) ดอสโตวสกี (Dostoevski) ในเรื่อง ไครม์ แอนด์ พันนิชเมนต์ (Crime and Punishment) ส่วนทางไทยเรามีที่พอจะยกตัวอย่างได้คือ “คนดีที่โลกไม่ต้องการ” ของ สด กูรมะโรหิต

นวนิยายชนิดนี้เขียนยาก และไม่มีเทคนิคโดยเฉพาะ ถ้าท่านได้อ่านนวนิยายชนิดนี้จะเห็นว่าไม่ค่อยมีแอคชั่น (Action) หรือพฤติการณ์ที่น่า ตื่นเต้น แต่เราจะแลเห็นการระบายจิตใจของตัวละครให้เราเห็นว่า เขามีความทุกข์ทรมานอย่างไร มีความกลัว ความใฝ่ฝัน ความหวัง ความแปรปรวน ไปตามวิถีชีวิตอย่างไรบ้าง ตัวละครจะพบกับชีวิตในแง่ต่างๆ พฤติการณ์ นั้นๆ กระทบกระเทือนความรู้สึกของเขา ความรู้สึกนั้นระบายออกมา และดูเหมือนว่าตัวละครอาจจะได้ทำอะไรที่น่าตื่นเต้นสักอย่างหนึ่ง แต่การกระทำอันนั้นมิได้เกิดขึ้น มันเป็นเพียงศึกภายในหัวใจซึ่งเปิดออกมาให้เราเห็น

เรื่องชนิดนี้ เขียนยาก และอ่านเอาสนุกก็ไม่ค่อยจะได้ ผู้เขียนต้องมีฝีมือจริงๆ ข้าพเจ้าอ่านเรื่อง “คนดีที่โลกไม่ต้องการ” ได้เพียงคราวละสามสี่หน้าเท่านั้น

ข้าพเจ้ายังไม่สนับสนุนผู้เริ่มฝึก จึงขออธิบายไว้เพียงเท่านี้ก่อน

ขอแนะนำท่านอีกครั้งหนึ่ง
หลักการประพันธ์บันเทิงคดี (Fiction) นั้นได้กล่าวไว้ละเอียดแล้วในอันดับต้น หลักเหล่านั้นย่อมนำมาใช้กับการเขียนนวนิยายได้เป็นส่วนมาก แต่จะขอกล่าวเพียงเพิ่มเติม เพื่อทบทวนอีกบ้าง

นวนิยายเป็นเรื่องยืดยาว ฉากในท้องเรื่องมีมาก ระยะเวลาของเรื่องก็ยาวนาน นวนิยายบางเรื่องกล่าวถึงชีวิตของคนตั้งแต่เกิด เติบโตเป็นหนุ่ม จนตายในที่สุด บางเรื่องยังกล่าวต่อไปถึงชั้นลูก ทั้งนี้ต่างกับเรื่องสั้น ซึ่งมีฉากเฉพาะ ฉากในท้องเรื่องสั้นโดยมากมีฉากเดียว เวลาก็จำกัดชั่วระยะที่เหตุการณ์นั้นๆ เกิดขึ้นเท่านั้น เช่นในเรื่อง “ฝนเดือนห้า” ฉากของเรื่อง คือศาลาวัด และระยะเวลาของเรื่องก็ชั่วเวลาที่ตัวละครพูดกันไม่กี่นาที ในเรื่อง “สร้อยคอเพชร” มีฉากที่ต้องพรรณนาละเอียดก็เฉพาะในบ้านนาง ลัวเซล ฉากอื่นๆ เป็นแต่เพียงฉากผ่าน อย่างเช่นในงานราตรีสโมสรในบ้านของรัฐมนตรีนั้น ผู้เขียนไม่ได้พรรณนาฉากอะไรเลย นอกจากกล่าวถึงความรู้สึก และความร่าเริงสำราญของนางลัวเซล ส่วนระยะเวลาที่ว่านางลัวเซล ทำงานตรากตรำอยู่ถึง ๑๐ ปีนั้น ผู้เขียนก็เพียงกล่าวสรุปไว้ไม่กี่บรรทัด

การที่นวนิยายมีเนื้อที่มากดังนี้ ผู้เขียนย่อมมีโอกาสที่จะพรรณนาฉาก หรือกล่าวความดำเนินเรื่องได้อย่างไม่จำกัด ไม่ต้องเขียนอย่างอยู่ในวงบังคับอย่างเรื่องสั้น แต่ท่านจะหยิบเรื่องอะไรมาเขียนนี่แหละเป็นปัญหา เมื่ออาเลกซังเดรอะ ดูมาส์ เดินทางมาในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ตอนชายฝั่งทะเลเมืองมาร์เซล เขาได้เห็นเกาะๆ หนึ่งภูมิฐานชอบกล จึงนึกไปว่า ถ้าสมมุติเกาะนี้เป็นเกาะขังนักโทษ แล้วสมมุติให้มีชายคนหนึ่งถูกใส่ความ แล้วถูกนำมาจองจำไว้ในคุกบนเกาะนี้ ต่อมานักโทษคนนั้นหนีได้ ตามไปแก้แค้นผู้ที่นำความทุกข์มาสู่เขา เมื่อมีความคิดเกิดขึ้นดังนั้น เขาเริ่มวางโครงในการเขียน จะทำอย่างไรให้เหตุการณ์คลี่คลายออกไปได้ เขานึกถึงเหตุทางการเมืองในฝรั่งเศส คือ ใน ค.ศ.๑๘๑๕ นโปเลียนถูกพันธมิตรจับไปคุมขังไว้ที่เกาะเอลบา แต่พระองค์ทราบว่าพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ นั้นราษฎรไม่ชอบ และคนฝรั่งเศสที่ยังภักดีต่อพระองค์ก็มีมาก ขณะนั้นชาวฝรั่งเศสแบ่งออกเป็นพวกนโปเลียนพวกหนึ่ง พวกพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ พวกหนึ่ง พวกฝ่ายพระเจ้านโปเลียนนั้นลักลอบสื่อข่าวติดต่อกันวางแผนการจะให้นโปเลียนหนีกลับมาครองราชสมบัติ เมื่อเหตุการณ์ทางการเมืองเป็นดังนี้ ดูมาส์จึงสมมุติตัวละครตัวหนึ่งในเรื่อง ซึ่งเขาตั้งชื่อว่า ดังเตส ถูกป้ายร้าย ว่าเป็นคณะของนโปเลียน ในที่สุดถูกเจ้าหน้าที่จับตัวไปขังไว้ ณ คุกบน เกาะนั้น

เพียงเท่านี้ เรื่องยังไม่เข้ม ยังไม่ปลุกอารมณ์ของผู้อ่านให้เห็นอกเห็นใจ และเกิดความรู้สึกแค้นเคืองพอ เขาจึงดำเนินเรื่องโดยให้ผู้อ่านรู้เรื่องภาวะของดังเตสว่า มีพ่อแก่ชรา มีคู่รักซึ่งรักกันมาก เขากำลังโชคดี และกำลังจะแต่งงานกับหญิงที่รัก กำลังจะมีความสุขอยู่แล้ว เมื่อถูกจับและ พรากจากพ่อซึ่งแก่ชรา พรากจากหญิงที่รัก โดยถูกป้ายความผิดจากคนที่มุ่งร้ายริษยาดังนี้ ผู้อ่านย่อมเอาใจของดังเตสมาใส่ในใจตน จะรู้สึกเดือดดาลมากทีเดียว

เมื่อดูมาส์ได้แนวความคิดดังนี้ จึงวางแผนการดำเนินเรื่อง เขาเปิดฉากของเรื่องโดยบอกศักราชว่า วันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๑๘๑๕ คือเอาศักราช นี้ไปคาบเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ เพราะต่อมาไม่ช้า พระเจ้านโปเลียนก็เสด็จหนีจากเกาะเอลบา และนำทัพฝรั่งเศสเข้ารบกับพันธมิตรที่ วอเตอร์ลู ในวันที่ ๑๘ มิถุนายน ค.ศ.๑๘๑๕ ดูมาส์เอาเรื่องเคานต์มองเต¬คริสโตอิงประวัติศาสตร์เฉพาะตอนนี้เท่านั้น เขาได้เปิดฉากท่าเรือเมืองมาร์เซล ทั้งนี้เพราะเมืองนี้เป็นเมืองท่าสำคัญ มีสายการเดินเรือหลายสาย และเรือบางลำแล่นผ่าน หรือมิฉะนั้นก็แวะที่เกาะเอลบา ซึ่งนโปเลียนถูกกักกันอยู่ เมื่อเปิดฉาก ดูมาส์ บรรยายเรือลำหนึ่ง ชื่อเรือฟาโรห์ กำลังเข้าเทียบท่า นายมอเรล เจ้าของเรือได้ขึ้นไปบนเรือ และได้ทราบจาก ดังเตส ซึ่งเป็นผู้ช่วยกัปตันว่า กัปตันได้ตายเสียแล้ว และเขาได้ทำหน้าที่กัปตันนำเรือมาได้โดยความเรียบร้อย ตังเตสได้เล่าเรื่องที่เรือได้แวะจอดที่เกาะเอลบา กัปตัน ได้ขึ้นเฝ้าพระเจ้านโปเลียน และเมื่อกัปตันถึงแก่กรรมนั้น ดังเตสได้รับมอบจดหมายลับ มาให้นายมอเรลฉบับหนึ่ง นายมอเรลเห็นความดีความชอบ จึงปรารภจะตั้งให้ดังเตสเป็นกัปตันเรือฟาโรห์ต่อไป ครั้นแล้วฉากเลื่อนไ เป็นบ้านของดังเตส ซึ่งบิดาผู้ชรากำลังคอยเขาอยู่ กล่าวถึงคาเดอรุสและดังกลาส ซึ่งเป็นศัตรูอย่างเงียบๆ ของดังเตส ครั้นแล้วฉากเลื่อนไปเป็น หมู่บ้านคาตาลันซึ่งดังเตสมาพบคู่รัก แมเซเดส แมเซเดสนี้มีชายมาหลงรักอีกคนหนึ่ง ชื่อเฟอร์นันด์ เมื่อไม่สมหวังก็เลยพาลโกรธ เลยสมคบกับคาเดอรุส และดังกลาสเพื่อหาทางทำลายโดยใส่ร้ายว่า ดังเตส เป็นสมัครพรรคพวกของนโปเลียน

นี่เป็นเค้าเรื่องตอนต้น ดูมาส์บรรยายให้เรารู้เรื่อง โดยคำพูดและ บทบาทของตัวละครทั้งสิ้น ในตอนแรกนี้ไคลแมกซ์ของเรื่อง คือ ดังเตส ถูกจับในตอนที่ตนกำลังมีการเลี้ยงดูระหว่างญาติ เมื่อได้แต่งงานกับแมเซเดส แล้ว ยังไม่ทันได้ร่วมห้อง ทหารก็เข้ามาคร่าตัวไป และถูกส่งไปจำไว้ที่คุกบนเกาะโดยไม่มีการไต่สวน ครั้นแล้วดูมาส์ก็เปิดฉากเกาะคุกที่ชื่อ ซา โต ดิฟ พรรณนาลักษณะของเกาะ ลักษณะของคุก คนอยู่ในคุก และระเบียบต่างๆ ของคุก ในขณะที่เรื่องราวคลี่คลายไปข้างหน้านั้น มีการเท้าความย้อนต้นมาบ่อยๆ เช่น เรื่องพ่อของดังเตส เรื่องของแมเซเดส ซึ่งกำลังวิ่งเต้นที่จะช่วยเหลือเขา แต่ไม่สำเร็จ เรื่อง เคานต์ มองเต คริสโต เป็นตัวอย่างอันดีของนวนิยายผูกเรื่อง (Plot Novel) ทั้งเป็นนวนิยายชนิดที่มีเหตุการณ์น่าตื่นเต้น มีการผจญชีวิตต่างๆ ถ้าท่านมีโอกาสควรหาอ่าน แล้วพิเคราะห์ดู

ในการคลี่คลายการดำเนินเรื่องนี้ ท่านต้องระวังให้เรื่องเกี่ยวโยงกัน ตัวละครก็ดี พฤติการณ์ต่างๆ ก็ดี สมัยเวลาก็ดี แม้อยู่ไกลๆ กัน เช่น ในบทหนึ่งกับบทสิบ ดังนี้ แต่ต้องเกี่ยวโยงกันอยู่เสมอ โดยที่นวนิยายเป็น เรื่องยืดยาว ผู้เขียนเขียนปลายอาจลืมต้น เขียนต้นโดยไม่ได้นึกถึงปลาย เรื่องก็จะสับสนและผิดความเป็นจริง

ในการหาเค้าเรื่องสำหรับเขียนนั้น มีมากมายไม่มีขอบเขตจำกัด ท่านมีความจัดเจนทางใด อาจสร้างเรื่องขึ้นจากแนวความจัดเจนของท่านได้ ทั้งสิ้น เรื่องบางเรื่องได้จากอารมณ์ความกระเทือนใจของนักเขียนต่อชีวิตในด้านต่างๆ ท่านอาจจะเขียนเรื่องของเด็กที่พอคลอดออกมาเห็นโลกใหม่ๆ แม่ก็นำมาทิ้ง ได้เติบโต ผจญชีวิต จนประสบผลกลายเป็นคนสำคัญ หรือกลายเป็นผู้ร้ายใจอำมหิต ท่านอาจจะพูดถึงหญิงที่เคยมีชื่อเสียหาย แล้วมากลับตัวดี แต่ก็ยังไม่มีใครเชื่อถือต้องผจญกรรมสร้างความดีจนเป็นที่ประจักษ์ในที่สุด ท่านอาจพูดถึงครอบครัวที่เคยมั่งคั่ง พอบิดาตาย มารดาก็ถูกฉ้อโกงทรัพย์ กลับเป็นคนเข็ญใจ พวกลูกๆ และมารดาต้องปลุกปลํ้าต่อสู้กับชีวิต โดยความลำบาก ซึ่งไม่ใช่ความผิดของตนสักนิดเดียว สิ่งเหล่านี้แหละคือ รากแก้วของนวนิยาย มันเป็นงานหนักที่จะเขียนเรื่องซึ่งมีความยาวตั้ง ๔๐,๐๐๐ คำ แต่นวนิยายนี่แหละที่ก่อความรุ่งโรจน์ให้แก่นักเขียน

ในการดำเนินเรื่องนั้น นวนิยายบางเรื่องดำเนินรวดเร็ว ประเดี๋ยวตัวละครนั้นออก ตัวนี้เข้าเหตุการณ์ต่างๆ เกิดกระชั้นชิด เช่นเรื่องทแกล้ว ทหารสามเกลอ หรือเรื่องสมาคมดอกไม้แดง (สคาร์เลต พิมเพอร์เนล) ของ บารอนเนส ออคซี บางเรื่องดำเนินไปช้าๆ เช่นเรื่อง คนดีที่โลกไม่ต้องการ ของ สด กูรมะโรหิต บางเรื่องผู้เขียนผ่อนตัวละครและพฤติการณ์ ไปโดยลำดับ สม่ำเสมอ เช่นเรื่องโดยมากของดอกไม้สด ธรรมดาผู้อ่านมักไม่ชอบเรื่องที่ยืดยาด อย่างไรก็ดี ถ้าท่านจะดำเนินเรื่องของท่านไปช้าๆ ก็ต้องหาทางป้องกันผู้อ่านเบื่อ โดยใช้สำนวนโวหารหรือการพรรณนาให้น่าฟัง

ตัวละครของนวนิยาย มีตัวชูโรงอยู่ ๒ ตัว อย่างที่เรียกว่า พระเอก และ ผู้ร้าย ขอให้สังเกตว่าคำที่ใช้ในการแต่งเรื่องนี้เป็นศัพท์อย่างเดียวกับ ศัพท์ละครเกือบทั้งสิ้น ทั้งนี้เพราะการละครกับเรื่องอ่านเล่นนั้นมีหลักใหญ่เหมือนกัน ละครนั้นมีตัวละครออกมาพูดให้เราฟัง แสดงท่าให้ดู ส่วนในเรื่องสั้นหรือนวนิยายนั้น เราบรรยายตัวละครโดยตัวอักษร เรื่องสั้นเปรียบเหมือนละครฉากเดียว นวนิยายเปรียบเหมือนละครหลายฉาก อนึ่ง ถ้าตัวละครออกมาแล้วบอกว่า “โอ้เศร้าใจ เศร้าใจจริง” อย่างนี้เท่ากับไม่มีบทบาท (Dramatization) การที่ตัวละครจะแสดงความเศร้านั้นย่อมทำได้โดยบทบาท เรียกอย่างหนึ่งว่า แอกท์ (Act) ในการเขียนก็เอาวิธีละคร คือ ให้ตัวละครในเรื่องแอกท์ท่า (โดยการบรรยายของเรา) ให้ผู้อ่านเห็นและรู้สึก

ได้พูดมาตอนต้นว่า ในนวนิยายนั้นย่อมมีตัวละครอยู่สองตัว นอกนั้น เป็นตัวรองๆ ลงไป เราต้องให้ตัวละครนี้เป็นศูนย์ของเรื่อง พฤติการณ์ที่เกิดขึ้นต้องให้เป็นไปเพื่อเชิดตัวละครสำคัญนั้นให้เด่นขึ้น การสร้างตัวละครเป็นเครื่องชี้ความสามารถของนักเขียน เราต้องการตัวละครที่มีชีวิตชีวาจริงๆ ไม่ใช่หุ่น พระอภัย นางสุวรรณมาลี อิเหนา เหล่านี้ แม้จะ มีอายุตั้งร้อยๆ ปี ก็ยังไม่ตาย การสร้างตัวละครให้มีคุณลักษณะเป็นมนุษย์จริงๆ จนมีคนกล่าวถึง นับเป็นศิลปะสำคัญของนักเขียน ในบรรดานวนิยาย ซึ่งเกิดขึ้นเดือนละหลายๆ เรื่องในยุคนี้ มีเรื่องใดบ้างที่ตัวละครมีลักษณะเด่นชัดจนมีนามติดริมฝีปากนักอ่าน รพินทร จะเด็ด ตละแม่ จันทรา นิจ วนิดา หลวงนฤบาล และอีกมากมายหลายชื่อ บางชื่อเราพบแล้วก็ผ่านพ้นไปจากความทรงจำ บางชื่อเรายังติดใจและนึกถึงอยู่ การสร้างตัวละครให้มีบุคลิกภาพ ไม่ใช่สักแต่ว่าเป็นชื่อเรียก เป็นเครื่องแสดงความสามารถของนักเขียน

ลักษณะของตัวละครย่อมผันแปรไปตามท้องเรื่อง พึงสังเกตว่าตัวละคร ได้กระทำปฏิกิริยาต่อพฤติการณ์ต่างๆ สมจริงอย่างมนุษย์ปุถุชนจะพึงทำ หรือเป็นเพียงกิริยาอันถูกปั้นขึ้นเท่านั้น เขาดีใจ เสียใจ โกรธ กลัว อย่างเราๆ หรือสักแต่ว่าแสดงกิริยาตามความนึกคิด ซึ่งนักเขียนสมมุติเข้าใจเอาเอง นักเขียนที่ดีต้องเป็นนักสังเกตรอบรู้จิตใจและลักษณะอาการต่างๆ ของคน ตัวละครของเขา (แม้ไม่จริงหรือคล้ายจริง) ต้องมีบทบาทตามความเป็นจริงแห่งชนิดของคนนั้นๆ ตัวเอกของเรื่องไม่จำเป็นต้องดีตลอด เรื่องตัวผู้ร้ายไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ร้ายเสมอไป เราจะเห็นได้ว่าแม้ตัวเราเอง อำนาจแห่งสิ่งแวดล้อมบังคับความคิดและความประพฤติให้เปลี่ยนไปได้นานาประการ ตัวละครต้องมีจิตใจเหมือนกับเรา คือต้องหวั่นไหวไปตามเหตุการณ์

สิ่งควรสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือ ฝีมือ บรรดาศิลปะทุกประเภทย่อม เกี่ยวกับการแสดงฝีมือ ซึ่งได้แก่การตกแต่งและปรับปรุงวัตถุดิบให้เป็นศิลปวัตถุ หินเป็นวัตถุดิบที่นายช่างจะแกะสลักให้เป็นรูปร่างต่างๆ ผ้าใบและสี เป็นวัตถุดิบของนักวาดเขียนที่จะใช้ประดิษฐ์ให้เป็นภาพอันงดงาม ในการประดิษฐ์นี้ นักศิลปะจะต้องทุ่มเทจิตใจทั้งหมดลงไปในงานของตน มิเช่นนั้น ศิลปะก็ไม่เกิด ถึงเกิดก็ไม่เป็นศิลปะเอก วัตถุดิบของนักประพันธ์คือถ้อยคำ เขาจะต้องมีความพากเพียร ที่จะเก็บคำมาร้อยกรองเป็นพวงมาลัยวรรณกรรม ถ้านักเขียนความหมายในการนำถ้อยคำมาร้อยกรอง พวงมาลัย วรรณกรรม
ก็จะสด มีกลิ่นอันชื่นชูใจ

คำ นับเป็นสิ่งสำคัญสำหรับวรรณกรรม นักเขียนบางคนใช้คำตื้นๆ ดาดๆ คำเหมือนดอกไม้ คำที่ดีต้องสีงาม รูปสวย กลิ่นหอม นักเขียนต้องมีตาดี จมูกดี เพื่อเด็ดดอกไม้แห่งคำมาประดับวรรณกรรมของเขา ผู้เริ่มฝึกเขียนควรบำเพ็ญตนเป็นนักอ่าน และควรสังเกตว่านักเขียนอื่นๆ มีความสามารถบังคับร้อยกรองคำให้บังเกิดผลที่ต้องการได้หรือไม่ บางทีเขาต้องการพาผู้อ่านไปยังแผ่นดินถิ่นอันห่างไกล หรือทำให้เราเกิดโทสะ โน้มใจให้เกิดความเมตตาปรานี ปลุกความหฤหรรษ์ให้มีในอารมณ์ เหล่านี้จะต้องใช้คำเป็นเครื่องมือ ควรดูอีกว่านักเขียนได้คำนึงใคร่ครวญถ้อยคำที่เขานำมาใช้ หรือเพียงแต่หยิบๆ มาเขียนโดยไม่ได้ตรึกตรอง ดูว่าเขามีความเข้าใจอารมณ์ของคนได้ลึกซึ้ง และใช้คำบรรยายได้แจ้งชัดหรือไม่ การหมั่นพิ¬เคราะห์และสังเกตงานของนักเขียนที่มีชื่อเสียง จะช่วยการฝึกฝนของท่านให้ก้าวหน้าไปโดยรวดเร็วขึ้น

ที่มา:เปลื้อง ณ นคร

ข้อแนะนำเบ็ดเตล็ดสำหรับนักประพันธ์

ในที่นี้ จะให้คำแนะนำเบ็ดเตล็ดชี้ข้อผิดต่างๆ เพื่อจะได้เป็นข้อสังเกตทั่วๆ กัน

๑. ความยืดยาดฟุ่มเฟือย
ข้อนี้ทำผิดกันเป็นส่วนมาก ได้พูดไว้แล้วว่า นักประพันธ์พึงเสียดายคำ ให้ใช้คำโดยความตระหนี่ อย่าพูดยืดยาดฟุ่มเฟือย เมื่อเขียนประโยคจบไปแล้ว ควรพิจารณาดูว่า คำไหนอาจตัดออกได้โดยไม่เสียความ ก็ควรตัดออก

ก. เครื่องนุ่งห่มร่างกายอาจทำให้คนผิดแปลกแตกต่างกันไปโดยรูปร่าง

คำ “ร่างกาย” ไม่จำเป็น และประโยคนี้ยืดยาดเร่อร่า ควรผูกประโยคใหม่ดังนี้ “เครื่องแต่งกายอาจทำให้รูปร่างของคนผิดแปลกไป”

ข. ยังมีครอบครัวพรานที่ยากจนครอบครัวหนึ่ง
ตัดออกได้หลายคำ เป็น “ยังมีพรานยากจนครอบครัวหนึ่ง” ได้ความเท่ากัน แต่ประโยคหลังใช้คำน้อยกว่า

ค. ยังมีตำบลหนึ่งอยู่ใกล้ป่าใหญ่ เป็นที่อาศัยของพวกพรานป่า ซึ่งหาเลี้ยงชีพด้วยการล่าสัตว์ ตัดไม้ในป่า และขุดกลอยขุดมันขาย

ประโยคนี้มีคำ “ป่า” รวมกันอยู่หลายคำ อ่านแล้วรกหู บางคำก็ตัดออกได้โดยไม่เสียความดังนี้ “มีตำบลหนึ่ง อยู่ใกล้ป่าใหญ่ เป็นที่อาศัยของพวกพราน ซึ่งหาเลี้ยงชีพด้วยการล่าสัตว์ ตัดไม้ และขุดกลอยมันไปขาย”

๒. ใช้คำโดยไม่พิจารณา
ก. ดอกเห็ดร่วงโรย
คำว่า “ร่วง” หรือ “ร่วงโรย” ไม่ควรใช้กับดอกเห็ด เพราะตามธรรมดาแล้วดอกเห็ดจะร่วง หรือ โรยไม่ได้ ถ้าใช้คำว่า เหี่ยวแห้ง จะสมกว่า

ข. เราพร้อมที่จะต่อสู้ฟาดฟันทุกสิ่งทุกอย่าง
คำว่า “ฟาดฟัน” พูดเป็นเชิงเทียบเคียงก็จริง แต่ไม่เหมาะ ถ้าว่า “ฟาดฟันอุปสรรค” พอไปได้ แต่ “ฟาดฟันทุกสิ่งทุกอย่าง” รู้สึกว่าเฝือไป การใช้คำโดยไม่ทันคิด จะว่าผิดก็ไม่ผิดแท้ แต่ขาดความประณีต เช่นนี้ เขาเรียกว่าภาษาหนังสือพิมพ์ (Journalese) เช่นว่า “เขาทำลายสถิติ” ดังนี้ ที่แท้เขาไม่ได้ทำลาย แต่เขา ชนะ สถิติหรือพูดว่า “ชาวจีนต้อนรับทูต เต็มเหวี่ยง” ดังนี้ “เต็มเหวี่ยง” ฟังกันเผินๆ ดูเหมือนจะเข้าใจ แต่ถ้าคิด ให้ซึ้งว่าเป็นอย่างไร ก็จะรู้สึกว่าเข้าใจยาก ที่จริงเราไปหยิบเอภาษาอังกฤษ มาแปล ทำลาย สถิติ Break Record, เต็มเหวี่ยง In Full Swing ในภาษาอังกฤษเขาเข้าใจของเขาดี แต่ถ้าแปลออกเป็นสำนวนไทยก็ดูตื้นเต็มที

ค. ใบไม้พริ้วตัวตามลม
คำว่า “พริ้ว” นี้เคยเป็นคำอยู่ในสมัย อะไรๆ ก็พริ้ว เพลงดังพริ้ว ลมเย็นพริ้ว ใครจะเป็นคนคิดคำนี้ขึ้นก็ตาม เขาคงได้ใช้ในที่และความอัน เหมาะเจาะที่สุด ผู้ที่ชอบใจนำเอามาใช้โดยไม่พิจารณาเลย ฟังขัดหูเต็มที

พริ้ว ในปทานุกรมไม่มี มีแต่ “พลิ้ว” แปลว่า บิด เบี้ยว ผิด พลาด

แต่คำ “พริ้ว” เป็นคำที่ใช้ในการประพันธ์ เช่น สั่นพริ้ว หมุนพริ้ว คำนี้ มีความหมายบ่งให้เห็นลักษณะไหวรัวเป็นคำที่เสียงดี และทำให้นึกเห็น ความหมายดี แต่ถ้านำมาใช้เลอะเทอะผิดที่ ก็เก้อ

วลีบางวลี เช่น “โดยเฉพาะอย่างยิ่ง” “สุดแสนที่จะทนทานได้”
เคยเป็นสมัยอยู่พักหนึ่ง ใช้กันฟุ่มเฟือยจนวลีที่กล่าวแล้วไม่มีราคาเลย บางคนก็นำไปใช้ผิดๆ ถ้าท่านจะใช้วลี หรือ คำใหม่ๆ แปลกๆ แล้ว จงทำความเข้าใจเสียให้ดีก่อน

ง. ลอยเหมือนฟองเมฆ
“ฟอง” ใช้กับเมฆไม่ได้

จ. ท่านสวมรองเท้าแตะ กางเกงแพร และเสื้อนอกแพร กลัดกระดุมทั้ง ๕ เม็ด เป็นพัสตราภรณ์ห่อร่างอันสมบูรณ์ของท่าน

คำว่า พัสตราภรณ์ เป็นคำศัพท์ แปลว่า เครื่องแต่งตัว ไม่จำเป็น ต้องใช้ในที่นี้ เป็นคำศัพท์หลง คือคำอื่นเป็นคำสามัญทั้งนั้น มีคำศัพท์หลงอยู่คำเดียว ผู้เริ่มเขียนควรระวังอย่าพยายามใช้คำศัพท์ นอกจากจำเป็น จริงๆ อีกคำหนึ่งคือ “กลัด” ใช้ผิดที่ถูกควรเป็น “ขัด” ขัดกระดุม

การเลือกเฟ้น
ในการพรรณนานั้น การรู้จักเลือกเฟ้น หยิบเฉพาะส่วนหรือลักษณะที่เด่นมาพูดเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เช่น การพรรณนาสุนัขที่กำลังโทสะ มีเขียน ดังนี้

“มันยืนจังก้า เตรียมพร้อมที่จะตะครุบขบกัด ริมฝีปากบนทั้งสองย่นขึ้น มองแลเห็นเขี้ยวขาวเรียงเป็นตับ เสียงคำรามฮื่อๆ อย่างดุเดือดอยู่ในลำคอ ดวงตาขุ่นขวาง กล้ามเนื้อเกร็ง หางแข็งไม่มีตก ขนตามตัวลุกชัน ขนหางพอง และจะไล่กวดอย่างเหยียดทีเดียว ถ้าศัตรูนั้นวิ่งหนี”

อย่างนี้เรียกว่า ไม่รู้จักเลือกเฟ้น ผู้อ่านมัวไปยุ่งกับรายละเอียดเสียหมด เลยไม่เห็นภาพส่วนรวม ท่านจะทำอย่างไร โดยหยิบลักษณะเด่นๆ มาพูดสองสามคำ ให้ผู้อ่านเห็นภาพทันที นี่แหละเป็นศิลป์ ที่จริงความ ข้างบนนั้นอาจย่นย่อลงได้ดังนี้

“มันยืนจังก้า แยกเขี้ยวขาว คำรามฮื่อๆ ตาขวาง ขนพอง เตรียมพร้อมจะกระโดดงับ” หรือ “ไล่กวด”

ก. แตรไซเรน ดัง กังวาน
คำว่า “ดัง” ให้ความหมายแคบ เพราะเป็นคำสามัญธรรมดาที่ใช้กันทั่วๆ ไป ควรเลือกหาคำอื่นที่มีความหมายว่า ดัง แต่แสดงลักษณะอย่างอื่นรวมอยู่ด้วย เช่น คราง-ครวญคราง

อนึ่ง วลี ต่างๆ เช่น เข้าด้ายเข้าเข็ม-หน้าสิวหน้าขวาน-หูดับตับไหม้ -เป็นฟืนเป็นไฟ-ไม่เป็นโล้เป็นพาย-สิ้นไร้ไม้ตอก-บอกบุญไม่รับ-แทบ สายตัวจะขาด-แทบเลือดตากระเด็น เหล่านี้ ถ้าท่านพยายามเก็บบันทึกไว้ แล้วเลือกสรรใช้ จะทำให้ข้อความที่ท่านเขียนมีรส และได้ความดีโดยไม่ต้องใช้คำอื่นๆ พูดให้มากคำ

การผูกประโยค
ข้อนี้พบผิดมากที่สุดในแบบฝึกหัดของผู้เริมฝึก และแม้ผู้ชำนาญแล้ว บางทีก็พลาด ถ้าไม่เป็นคนประณีตและหมั่นพิจารณาประโยคที่เขียน แล้ว ประโยคมักไม่ค่อยเรียบร้อย ในการผูกประโยคนั้น เราต้องการวางคำ ประธาน กริยา กรรม ส่วนขยาย เมื่ออ่านแล้วให้มีความชัดเจน กับให้ประโยคมีลักษณะกระชับรัดกุม แสดงความหมายชัดโดยใช้คำแต่น้อย อีกอย่างหนึ่งก็เพื่อให้อ่านราบรื่นอย่าให้ขัดหู

ก. ฝนเพิ่งหายตกใหม่ๆ
ประโยคนี้ ไม่ผิดอะไร แต่ความไม่รัดกุม ถ้าพูดว่า “ฝนเพิ่งขาดเม็ด” จะเห็นว่าจะแจ้งและรัดกุมกว่า

ข. ครีบของฉลาม เมื่อทำเป็นอาหารเสร็จแล้ว ที่เรียกว่า หูปลา ฉลามนั้น ดูเหมือนคนทุกชาติจะชอบกันทั้งนั้น

การจัดรูปประโยคไม่ดี จะเห็นว่าขัดๆ หูและความพร่า ควรเขียนใหม่ว่า “ครีบของฉลาม ที่เมื่อทำเป็นอาหารแล้วเรียกว่า หูปลาฉลาม นั้น ดูเหมือนคนทุกชาติจะชอบกันทั้งนั้น”

ค. เกล็ดที่คลุมหัวปลาฉลามอยู่นั้น เป็นเกล็ดที่มีขนาดเล็กก็จริง แต่เป็นวัตถุที่แข็งแรงที่สุด

ประโยคนี้ยาวโดยไม่จำเป็น “เกล็ดหัวปลาฉลามมีขนาดเล็กก็จริง แต่แข็งแรงที่สุด” เท่านี้ตรงไปตรงมาดี ไม่วนเวียน

ง. ให้นักเรียนมองดูครูทุกคน

ประโยคนี้ไม่ชัด ทุกคน ประกอบ ครู หรือ นักเรียน ที่จริงควรเป็น “ให้นักเรียนทุกคนมองดูครู”

จ. จิตรามองดูหมู่ชนที่ขวักไขว่ ขึ้นรถลงรถเดินไปมาอยู่ที่ชานชาลาสถานี

ประโยคนี้ ห้วน และรวบรัดเกินไป ต้องแยกความออกไปเพื่อให้แลเห็นชัด ดังนี้ “จิตรามองดูผู้คนที่ขวักไขว่อยู่บนชานชาลา ที่กำลังขึ้นรถก็มี กำลังลงจากรถก็มี ที่เดินไปเดินมาอยู่ก็มี”

ฉ. “ถึงแม้ว่า มองเตคริสโต และ ราชาวดีที่ปลูกไว้ในสวนหลังบ้าน ซึ่งมีเนื้อที่ไม่กว้างนัก กำลังชูช่อรับแสงแดดอ่อนตอนเช้า อันสาดแสงนวลทะลุเถาโปร่งฟ้าลงมา อากาศปลอดโปร่งแจ่มใสคล้ายกับเทพเจ้าจะยิ้มรับสัตว์โลก ที่ต้องประกอบสัมมาอาชีพใหม่ ก็ตาม หลวงพินิจกิจจานุเคราะห์ ประมุขของบ้าน มีอารมณ์ไม่สู้ดี นับแต่ลุกจากที่นอนมาแล้ว”

ความที่ยกมานี้ มีบกพร่องหลายอย่าง คือ

๑. ประโยค ความทั้งหมดนี้มีประโยคเดียว เป็นประโยคที่ยืดยาว เกินไป และความที่รับกันก็ถูกถ่างกันเสียห่างจนชนกันไม่ติด คือ “ถึงแม้ …ก็ตาม” ระหว่างนั้นมีอะไรต่ออะไรแทรกกลางเยอะแยะ ประโยคอย่างนี้ ไม่น่าฟัง ต้องแก้ใหม่

๒. คำที่ใช้ออกจะพิสดาร คือชื่ มองเตคริสโต กับ ราชาวดี นักเขียนบางคนชอบหาชื่อดอกไม้ ชื่อชนิดของผ้า ของเหล้า อย่างที่ไม่ค่อยมีใครได้ยินมาเขียน ที่จริงก็ทำให้ผู้อ่านพิศวงในความกว้างขวางของคนเขียน อยู่ดอก แต่ถ้าจะเขียนชื่ออันแปลกประหลาดพิสดาร ก็ควรเติมคำอะไรลงไปให้เข้าใจอีกเล็กน้อย เช่นว่า ต้นมองเตคริสโตกับต้นราชาวดี

๓. “ซึ่งมีเนื้อที่ไม่กว้างนัก”-ประโยคเล็ก (อนุประโยค) นี้ ไม่มีข้อความอะไรที่จำเป็นกับเนื้อเรื่องเลย
๔. การเปรียบเทียบ “เทพเจ้ายิ้มรับ…” ไม่เหมาะกับเรื่อง และไม่ทำให้ความดีขึ้น จะว่าเพื่อแสดงบรรยากาศอันมีความร่าเริง น่าสบาย เพื่อ ให้ตรงข้ามกับอารมณ์ของหลวงพินิจฯ แต่อ่านแล้วก็ไม่รู้สึกอย่างนั้น

๕. ประโยคใหม่น่าจะเป็นดังนี้ “ท้องฟ้าโปร่ง อากาศแจ่มใส ต้นมองเตคริสโต และ ต้นราชาวดี ชูช่อรับแสงแดดอ่อนตอนเช้า แม้ทุกสิ่งจะชวนให้เกิดรู้สึกเพลิดเพลิน แต่หลวงพินิจฯ อารมณ์ไม่สู้ดีตั้งแต่ลุกจากเตียงมาทีเดียว”

ช. ภายในสวนดอกไม้ อากาศตอนเช้าตรู่สดชื่นยิ่งนัก พรรณบุปผชาตินานาชูดอกไสว

ความในประโยคนี้ ไม่เป็นลำดับ คือขึ้นต้นพูดว่า “ภายในสวนดอกไม้” แล้วทิ้งห้วนไว้แค่นั้น ไปจับเอา “อากาศ” มาพูดต่อ ที่ถูกควรพูดกลับเสียใหม่ว่า “อากาศตอนเช้าตรู่สดชื่นยิ่งนัก ดอกไม้ต่างๆ ในสวนชูดอกไสว”

หลักที่ท่านควรคำนึง
ในการเขียนเรื่อง ซึ่งเป็นความร้อยแก้ว จะเป็นเรื่องชนิดใดก็ตาม เขานิยมกันว่า เรื่องซึ่งจะมีลักษณะดีนั้น ต้องเป็นดังนี้

๑. ความสะอาดหมดจด ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Purity พูดง่ายๆ ก็คือ ผู้เขียนใช้ถ้อยคำอันไม่เป็นมลทิน คำที่เป็นมลทินแก่ภาษานั้น คือ

ก. คำตลาด เป็นภาษาพูดของคนตามถนน เช่นคำว่า สวย แน่ ไป เลย ทำหน้า แหย ด่าโขมง โฉงเฉง พ่น เป็นไฟ

ข. คำศัพท์บัญญัติ เช่นคำว่า บรรยากาศ บริการ หรือศัพท์ที่เป็น เทคนิกัล เทอม (Technical Term) ทั่วๆ ไป ทางวรรณคดีไม่นิยมใช้ เพราะ เป็นศัพท์ที่คนทั่วไปไม่ค่อยรู้

ค. คำที่พ้นสมัย และ คำที่ใหม่เกินไป คำเปรียบเหมือนเครื่องแต่งกาย บางคำพ้นสมัย ถ้านำมาใช้ก็ดูเก้อ แต่บางคำเพิ่งเกิดใหม่ คนยังไม่คุ้นถ้านำมาใช้ก็รู้สึกแปลกหูแปลกตา

ง. คำภาษาต่างประเทศ อาทิภาษาอังกฤษเคยมีผู้เขียนว่า “เสื้อ สีฟ้าของเธอ แอตแตรคตีฟ ต่อสายตาเหลือเกิน” แอตแตรคตีฟ (Attractive) แปลว่า สะดุดตา ชวนให้มอง ใช้ภาษาไทยๆ ของเราก็ได้ ไม่จำเป็นต้อง ใช้ภาษาอังกฤษเลย

คำในลักษณะที่กล่าวตามข้อ ก. ข. ค. ง. นั้น ถ้าใช้เป็นคำพูดของตัวละครก็ได้ แต่ถ้าใช้เขียนในความเชิงพรรณนา หรืออธิบายแล้วไม่สมควร นี่เป็นข้อที่นักเลงหนังสือเขาถือกัน

๒. ความถูกต้อง ได้แก่ การใช้ คำ และ ผูกประโยคถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ คือ ใช้ราชาศัพท์ ใช้ “ความ…การ” ใช้ ลักษณะนามถูกต้อง ตามความนิยม ประโยคก็ต้องใช้ครบองค์ คือมี ประธาน-กริยา หรือประธาน- กริยา-กรรม คำสันธาน หรือ คำบุพบท กับ แก่ แต่ ต่อ เพราะว่า เพราะฉะนั้น เหล่านี้ต้องเอาใจใส่ใช้ให้ถูก

๓. ความชัดเจน หมายความถึงการเขียนให้ผู้อ่านเข้าใจตามที่เราต้องการ จะเข้าใจไปอย่างอื่นไม่ได้ ข้อนี้แหละผู้ที่เริ่มเขียนทำผิดกันมาก คือเมื่อเขียนอะไรลงไปแล้ว รู้สึกว่าตนเองเข้าใจดี แต่ถ้าให้คนอื่นอ่าน เขาจะไม่เข้าใจ หรือเข้าใจผิดกับที่เราต้องการให้เข้าใจก็ได้ เราจะเขียนโดยเพียงนึกว่าเราเข้าใจแล้วหาได้ไม่ ต้องพิเคราะห์ดูคำที่เราใช้ พิเคราะห์ดูประโยคที่เราผูกขึ้น ว่ามีข้อความกระชับรัดกุม หรือ กำกวมพร่า เคลือบ คลุมอย่างไรบ้าง เมื่อท่านเขียนอะไรแล้ว ต้องอ่านทวน และพิเคราะห์ทีละประโยค จนเป็นที่พอใจของท่านเสียก่อน ธรรมดานักเขียนเมื่อลงมือเขียน ก็เขียนเรื่อยไป ไม่เอาหลักเกณฑ์อันใดมาคำนึง แต่เมื่อเขียนแล้ว อ่านตรวจ ทาน ตอนนี้แหละเขาจะนึกถึงหลักเกณฑ์ ยิ่งนักเขียนสำคัญๆ ยิ่งพีถีพีถัน ในการตรวจมาก บางคนอ่านซํ้าซากพิจารณาเสียก่อนหลายๆ ครั้ง กว่าจะเป็นที่พอใจ

เครื่องหมายวรรคตอนและการเว้นวรรค
ท่านจะเขียนเรื่องอะไรก็ตาม อย่าลืมนึกถึงการเว้นวรรค มีหลายคน ทีเดียวที่เว้นวรรคไม่เป็น เขียนหนังสือติดกันมาเป็นพืด หลักสำคัญของการเว้นวรรคนี้มีอยู่ว่า เมื่อสิ้นความอย่างหนึ่งก็เว้นวรรคทีหนึ่ง เปรียบเหมือนการพูด เราไม่ได้พูดติดต่อกันรวดเดียวจบ แต่มีเว้นระยะหยุด เร็วบ้าง ช้าบ้าง การเว้นวรรคทีหนึ่งเท่ากับการหยุดพูดทีหนึ่ง การหยุดพูดหรือการเว้นวรรคนี้ เราต้องการให้ผู้ฟังหรือผู้อ่านเข้าใจเฉพาะตอนหนึ่งๆ ที่เราต้องการ และทำนองเดียวกัน ถ้าสิ่งใดที่เราต้องการพูดเกี่ยวเนื่องกัน แต่เรากลับเขียนเว้นวรรค ข้อความที่เราต้องการพูดก็เสีย

“หมู่บ้านใกล้ป่าแห่งหนึ่ง เป็นที่อาศัยของพวกพราน ซึ่งเลี้ยงชีพด้วยการล่าสัตว์ ตัดต้นไม้และขุดกลอยมัน ไปขายในย่านตำบลนั้น มีพราน ผู้หนึ่ง มีลูกหลายคน”

ตามตัวอย่างนี้แยกวรรคมากเกินไป ทำให้ความขาดเป็นห้วงๆ ที่ถูกควรเขียนดังนี้

“หมู่บ้านใกล้ป่าแห่งหนึ่งเป็นที่อาศัยของพวกพราน / ซึ่งเลี้ยงชีพด้วยการล่าสัตว์/ตัดต้นไม้และขุดกลอยมันไปขาย// ในย่านตำบลนั้นมีพรานผู้หนึ่ง / มีลูกหลายคน”

ที่ขีด / ขีดเดียว คือ เว้นวรรคเล็ก หมายความว่าข้อความที่ตามมา ยังเกี่ยวเชื่อมกับตอนก่อนที่ขีด // สองขีด แสดงว่าเป็นข้อความตอนใหม่ ต้องเว้นวรรคใหญ่ คือ ให้ระยะที่เว้นนั้นห่างประมาณสองเท่าวรรคเล็ก

“………” เรียกว่า อัญญประกาศ
๑. ใช้เขียนคร่อมข้อความที่เป็นคำพูด เช่น
“ขันก็หัวเราะนะซี” นายโชติตอบ

๒. ใช้เขียนคร่อมข้อความที่ผู้เขียนหยิบยกมาจากที่อื่น เช่น เมื่อสุนทรภู่เดินทางผ่านเมืองปทุมธานี ได้เขียนกลอนบรรยายไว้ว่า

“ถึงสามโคกโศกถวิลถึงปิ่นเกล้า พระพุทธเจ้าหลวงบำรุงซึ่งกรุงศรี ประทานนามสามโคกเป็นเมืองตรี ชื่อปทุมธานีเพราะมีบัว”

๓. ใช้เขียนคร่อมคำ ที่ต้องการให้เห็นเด่นชัดโดยเฉพาะ เช่น
พวกที่เราเรียกว่าเงาะมีหลายจำพวก ที่เขาตรวจพบปะ แต่ไม่จำเป็น ต้องยกมากล่าวในที่นี้ที่จะกล่าวบัดนี้ประสงค์เอาพวกที่ตัวมันเองเรียกตัวว่า “ก็อย”

มหัพภาค, จุลภาค
เครื่องหมายทั้งสองชนิดนี้ เดิมเป็นเครื่องหมายวรรคตอนภาษาต่างประเทศ ที่เรานำมาใช้ในภาษาไทยนั้น นิยมกันเฉพาะแสดงความหมายต่อไปนี้

ก. ใช้กำกับอักษร ดังนี้ พ.ศ. พ.ร.บ. เม.ย. (เมษายน)

ข. ถ้ามีอักษรย่อหลายตัวอยู่ชิดกันใช้ , (จุลภาค) แยก เพื่อกันสับสน เช่น
ป.ม., อ.บ., ว.ทบ.

เครื่องหมาย . (มหัพภาค) และ , (จุลภาค) นี้ เราไม่ได้ใช้กำกับวรรค อย่างภาษาอังกฤษ

! อัศเจรีย์ ? ปรัศนี
! เครื่องหมาย อัศเจรีย์ นี้ เขียนกำกับข้างหลังวรรคหรือคำเพื่อแสดงลักษณะอุทาน พิศวง อัศจรรย์ บอกลักษณะของเสียงดัง ซึ่งเราไม่อาจเขียนตัวหนังสือให้อ่านออกเสียงตรงกับเสียงนั้นได้

ตัวอย่าง
๑. “บ้าน !” คำนี้ที่จริงควรที่จะเป็นคำไพเราะที่สุดสำหรับมนุษย์

๒. พอฉันกลับถึงบ้านได้สักเจ็ดวัน คุณพ่อก็บอกว่าได้หาเมียไว้คนหนึ่งแล้ว !

๓. ฉันหวังใจว่าหน้าตาเจ้าหล่อนจะไม่เป็นนางงิ้วตุ้งแช่อะไรตัวหนึ่ง !

๑. ๒. ๓. คัดจากพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๖ เรื่องหัวใจชายหนุ่ม

? ปรัศนี ใช้กำกับความ หรือ คำ ที่แสดงความรู้สึกสงสัย ไม่เข้าใจ หรือเป็นคำถาม

ตัวอย่าง
๑. “คุณหัวเราะอะไร ?” แม่จวงถาม ออกชักฉิว

๒. “แม่ศรี? แกจำได้แน่นะ ว่าเป็นแม่ศรี”

………จุดไข่ปลา
ใช้เขียนตามหลังข้อความที่ยังไม่จบ และผู้เขียนต้องการให้ผู้อ่าน เดาความต่อไปเอาเอง หรือใช้แสดงว่าคำพูดนั้นชะงัก หรือไม่จบความ

ตัวอย่าง
๑. “ไอ้เราก็ไม่มียศศักดิ์อะไรเสียด้วย ไม่ยังงั้นก็……”
๒. ทั้งสองคนทำความเข้าใจกันเป็นอันดี ชายหนุ่มค่อยโอบหญิงสาว เข้ามาชิดกาย แล้ว…

ชี้ข้อบกพร่อง
๑. “มันยืนจังก้า เตรียมพร้อมที่จะตะครุบขบกัด ริมฝีปากบนทั้งสอง ย่นขึ้น มองแลเห็นเขี้ยวขาวเรียงเป็นตับ เสียงคำรามฮื่อๆ อย่างดุเดือดอยู่ ในลำคอ ดวงตาขุ่นขวาง กล้ามเนื้อเกร็ง หางแข็งไม่มีตก ขนตามตัวลุกตั้ง ขนหางพอง”

ความตอนนี้พรรณนาท่าทางทองสุนัขที่กำลังโกรธ ข้อผิดอย่างสำคัญ คือ ละเอียดเกินไป ขาดการเลือกเฟ้น (Selection) ผู้อ่านไม่ต้องการฟังคำอธิบายอย่างละเอียด ไม่ต้องการเรียนรู้กิริยาอะไรอย่างถี่ถ้วนเลย หน้าที่ของผู้เขียนคือการเลือกเฟ้น หยิบกิริยาหรืออาการอะไรอันหนึ่งที่แลเห็นได้ชัดเจนที่สุด เมื่อสังเกตหรือจับกิริยาอาการอันเด่นชัดนั้นได้แล้ว ก็เลือกหาคำที่แสดงความหมายรัดกุม แล้วเอาคำนั้นๆ มาเรียงเข้าเป็นข้อความ สำหรับข้างต้นนั้น เขียนว่า

“มันยืนจังก้า แยกเขี้ยวขาว คำรามฮื่อฮื่อ ตาลุกวาว

๒. “คนตระหนี่ชอบเที่ยวคนเดียว หรืออาจไม่เที่ยวเลย ไม่ชอบสังคม กินและใช้ของราคาถูก เห็นแก่ตัวก่อนอื่น แต่งกายด้วยเสื้อผ้าราคาถูก”

อย่างนี้เป็นการอธิบาย คือ บอกให้ผู้อ่านรู้ ถ้าเป็นเชิงพรรณนา ต้องให้ผู้อ่านเข้าใจ หรือเห็นได้เอง ดังนี้

“เขามีรายได้เดือนละหกร้อยบาท แต่ปล่อยให้เมียชักผ้า ถูบ้าน ไป ตลาด ทำครัว ตลอดวันมิได้พักหายใจ พอเมียบอกว่าได้เด็กมาช่วยแล้ว คนหนึ่ง เงินเดือนก็ไม่ต้องให้ เขาทำหน้าบึ้งฮึดฮัด บ่นว่า ‘เปลืองข้าวเปล่าๆ งานบ้านเท่านี้ ก็ต้องมีบ่าวช่วย’”

๓. “นํ้าตกดังอย่างเสียงทิพยดนตรีของเหล่าทวยเทพมาบรรเลงอยู่ที่ชะง่อนผา”
ไม่มีสัจธรรม และคำเปรียบเทียบนี้ยากที่ผู้อ่านจะนึกหรือรู้สึกตามได้ เพียง “เสียงนํ้าตก” นำไปเปรียบกับ “ทิพยดนตรี” นั้นเกินไป

๔. “แสงสุริยาทิตย์ยามเที่ยงแห่งคิมหันตฤดู ได้แผดเผามวลวัตถุธาตุในพื้นปัฐพีโลกให้ร้อนระอุ ดูทิวทัศน์เบื้องหน้าโน้นเป็นประกายยิบๆ เกิดพร่านัยน์ตาแก่ผู้ที่จะแลไป ณ ที่นั้น”

รุงรังไปด้วยคำศัพท์ ประดิษฐ์เขียนจนเกินสมควร ใช้คำมาก ได้ความนิดเดียว

๕. “แสงจันทร์เจ้ายามเดือนเพ็ญสาดแสงสุกสกาวแจ่มฟ้า เป็นนวลใยในท้องทะเลที่ราบเรียบ”

ไม่รู้จักประหยัดคำ “แสงจันทร์เจ้ายามเดือนเพ็ญ” เขียนว่า “จันทร์ เพ็ญ” หรือ “เดือนเต็มดวง” กระชับรัดกุมกว่า

๖. “ใต้ต้นยางใหญ่ โทน ฟากทุ่งตรงกันข้ามกับหมู่บ้าน ริมชายป่า ละเมาะมีพวกเหล่าร้ายนั่งจับกลุ่มกันอยู่สี่คน”

วางคำไม่ถูก ความที่ควรอยู่ใกล้กันกลับวางไว้ห่างกัน ที่ถูกควรเป็น

“ใต้ต้นยางใหญ่ โทน ริมชายป่าละเมาะ ฟากทุ่งตรงกันข้ามกับหมู่บ้าน มีพวกเหล่าร้ายนั่งจับกลุ่มกันอยู่” แต่ถ้าพิเคราะห์ให้ถี่ถ้วน จะเห็นว่า “ต้นยาง” กับ “พวกเหล่าร้าย” ควรจะอยู่ชิดกัน ในประโยคที่เขียนนั้น ยังมีความอื่นเข้ามาขวาง ทำให้ “ต้นยาง” กับ “พวกเหล่าร้าย” อยู่ไกลกัน จึงทำให้ความไม่ค่อยกระชับชัดเจน เมื่อเป็นดังนี้ควรผูกประโยคใหม่

“พวกเหล่าร้ายสี่คนกำลังนั่งจับกลุ่มกันอยู่ใต้ต้นยางใหญ่โทน ที่ตรงนั้นเป็นชายป่าละเมาะ อยู่ฟากทุ่งตรงกันข้ามกับหมู่บ้าน”

สรุปข้อแนะนำการเขียนเรื่องสั้น
ในหนังสือชุมนุมเรื่องสั้นเอกของโลก (Great Short Stories of the World) ได้รวมเรื่องสั้นซึ่งเก่าตั้งสามพันปีเศษจนถึงปัจจุบัน ในหนังสือนั้น กล่าวว่า แต่ก่อนถือกันว่าเรื่องสั้นก็คือไม่ยาว ไม่มีความหมายอย่างใดอีก นิทานก็จัดเป็นจำพวกเรื่องสั้น ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ คือ ตั้งแต่ ค.ศ.๑๘๐๑ เป็นต้นมา พวกคณาจารย์ทางการประพันธ์ได้พิจารณาเรื่องของนักเขียนเอกของโลก เช่น โมปัสซัง, เอดการ์ อะแลน โพ และ โอ เฮนรี่ เป็นต้น แล้ววางหลักลงไปว่า ที่เรียกว่าเรื่องสั้นนั้น มิได้หมายความว่าเป็นเรื่องที่ไม่ยาว แต่ยังเป็นเรื่องที่มีเทคนิค และทฤษฎีในการเขียนโดยเฉพาะ คำว่า เรื่องสั้น (Short Story) จึงกลายเป็นคำบัญญัติทางวรรณกรรม โดยถือว่า เรื่องสั้นต้องเป็นเรื่องที่

ก. มีพฤติการณ์อย่างเดียวโดยเฉพาะ
ข. มีความยาวในกำหนด

หลักทั้ง ก. และ ข. นี้ได้กล่าวไว้โดยละเอียดแล้วในคำบรรยายที่ว่าด้วยเรื่องสั้น สำหรับในข้อ ก. นั้น ผู้ศึกษายังทำผิดกันเป็นอันมาก คือ วางเค้าเรื่องโดยมีพฤติการณ์มากเกินไป

เค้าเรื่องกับวิธีเขียน
เรื่องสั้นที่นับว่าเป็นเอกนั้น ต้องมีเค้าเรื่องดีและวิธีเขียนดี แต่เค้าเรื่องที่ดีนั้นหาได้ยาก ฉะนั้นถ้าเป็นเค้าเรื่องธรรมดา วิธีเขียนจะต้องช่วย คือ ต้องให้มีสำนวนโวหารชวนอ่าน ผู้เริ่มฝึกยังไม่เฟื่องทั้งสำนวนและโวหาร จึงต้องคิดหาเค้าเรื่องแปลกๆ ก็นี่แหละเป็นงานหนัก เพราะเค้าเรื่องแปลกๆ ก็ไม่ใช่จะคิดได้หรือหาได้ง่ายๆ แต่ในชีวิตของเรานั้น เรื่องที่แปลกประหลาดพิสดารย่อมมีได้เสมอ สมมุติว่าได้เค้าเรื่องมาแล้ว ภาระที่สอง คือ การผูกเรื่อง ว่าจะจับเรื่องตรงไหน จึงจะยอกย้อนจับความสนใจ เหนี่ยวรั้ง ให้ผู้อ่านสงสัยสนเท่ห์ ว่าเรื่องจะลงเอยอย่างไร

ส่งท้ายเรื่องสั้น
เรื่องสั้นนี้ แม้จะมีผู้เขียนกันมาแล้วนับไม่ถ้วน แต่ก็มีเรื่องใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายทุกปี พูดได้ว่าตราบใดที่ยังมีมนุษย์อยู่ ก็ย่อมมีเรื่องที่จะให้ เขียนอยู่เสมอ โดยไม่ต้องกลัวว่าเรื่องจะหมดหรือไปซ้ำใคร นักเขียนย่อมดัดแปลง ยักย้าย คิดหาเนื้อเรื่อง แนวความคิด สำนวนหรือฉากในท้องเรื่องให้แตกต่างพิสดารไปจากของเก่าๆ ได้ ไม่รู้จักสิ้นสุด สำหรับผู้เริ่มฝึกนั้น ทางที่ดีที่สุดควรมองหาของที่ใกล้หูใกล้ตา ถ้าท่านเป็นตำรวจ เรื่องของท่านก็ควรเกี่ยวกับผู้ร้าย การโจรกรรม การสืบสวน เรื่องเกี่ยวกับทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ หาอ่านยาก ในหนังสือพิมพ์เมืองเรา จึงเป็นโอกาสของผู้ที่มีชีวิตอยู่กับทหาร ในที่นี้ต้องเข้าใจว่า ไม่ใช่เขียนกิจการทหาร เรื่องอ่านเล่น กับ เรื่องกิจการ ผิดกันมาก ผู้อยู่ตามชนบทอาจเขียนเรื่องตามชนบท ผู้เขียนย่อมมีโอกาสที่จะวางฉาก ตลอดจนหยิบขนบประเพณีของชนบทมาใส่ในท้องเรื่อง ผู้อ่านที่ไม่ได้อยู่ในถิ่นนั้นจะรู้สึกเพลิดเพลิน เพราะนอกจากจะได้อ่านเรื่องนิยายแล้ว ยังเท่ากับได้เที่ยวในท้องถิ่นนั้นๆ ด้วย

ที่มา:เปลื้อง ณ นคร

เทคนิคการเขียนเรื่องสั้น

บัดนี้จะได้กล่าวถึงเทคนิคแห่งการเขียนเรื่องสั้น จะให้ท่านเข้าใจชั้นเชิงในการเขียนโดยยกเรื่องสั้นที่ดีเยี่ยมสักสองสามเรื่องมาให้ท่านเห็นเป็นตัวอย่าง แล้วแยกแยะชี้ให้ท่านพิจารณาส่วนต่างๆ ของเรื่องเสียก่อน นักเขียนเรื่องสั้นชั้นเอก ซึ่งสากลวรรณคดียกย่อง คือ กีย์ เดอ โมปัสซัง (Guy de Maupassant) เรื่องสั้นต่างๆ ที่ท่านผู้นี้ประพันธ์นับถือกันว่าเป็นแบบฉบับได้ เวลานี้ได้มีผู้แปลออกเป็นพากย์ไทยแล้วหลายเรื่อง “เรียมเอง” ซึ่งเราออกชื่อกันว่าเป็นนักเขียนเรื่องสั้นที่ดีที่สุดคนหนึ่ง ก็ได้แบบและแนวจากเรื่องของโมปัสซังมิใช่น้อย เรื่องของโมปัสซังที่ชื่อว่า The Necklace คือ “สร้อยคอเพชร” เป็นเรื่องที่นักวิจารณ์ยกย่องกันว่าได้ลักษณะของเรื่องสั้นอย่างสมบูรณ์ ข้าพเจ้าเห็นว่าไม่มีทางใดจะดีไปกว่าถอดเรื่องสั้นเรื่องนี้ออกเป็นภาษาไทย แล้วให้เลขหมายกำกับตอนต่างๆ ไว้ เมื่อท่านอ่านจบแล้ว จะได้ชี้ให้เห็นว่าตอนนั้นๆ มีความสำคัญอย่างนั้นๆ

สร้อยคอเพชร
The Necklace ของ Guy de Maupassant
๑. เธอเป็นสาวที่จัดว่ารูปงามและน่ารักคนหนึ่ง แต่ดูประหนึ่งว่ามี
เคราะห์กรรม จึงได้ถือกำเนิดในครอบครัวของคนหาเช้ากินค่ำ แล้วทรัพย์สมบัติติดตัวสักน้อยก็หาไม่ เธอจึงไร้ทั้งความหวังและช่องทางที่จะทำให้พวกชายมั่งคั่งมีชื่อเสียงมาแยแสแลเหลียว ที่สุดเธอได้แต่งงานกับเสมียนคนหนึ่งซึ่งทำงานในกระทรวงศึกษาธิการ

๒. เธอแต่งกายด้วยเสื้อผ้าราคาถูก เพราะไม่มีเงินที่จะหาของดีๆ มาแต่ง เธอรู้สึกเหมือนกับว่าเป็นผู้ดีตกยาก หาความสบายไจไม่ได้ แต่ว่า สำหรับหญิงแล้ว จะเอาเรื่องตระกูลหรือความมีฐานะมาพูดหาได้ไม่ความงาม ความละมุนละม่อม ความน่ารัก นั่นต่างหากที่ทำให้เธอเป็นไพร่หรือผู้ดี ความรู้จักสงบเสงี่ยมเจียมตัว ความรู้จักสวยงาม ความอ่อนโยน เหล่านี้แหละ ที่ทำให้หญิงสามัญเทียบเคียงกับท่านหญิงผู้สูงศักดิ์ได้

๓. เธอมีความกลัดกลุ้มอยู่เป็นนิตย์ รู้สึกว่าหญิงอย่างเธอควรจะเกิด มาสำหรับใช้ของดีมีราคา และอยู่ในที่อันบริบูรณ์พูนสุข เธอเดือดร้อนรำคาญที่ต้องอยู่กับห้องอันเก่าคร่ำคร่า ฝาห้องก็ผุพังซอมซ่อ เก้าอี้ขาหักขาเก เครื่องใช้ไม้สอยไม่มีอะไรน่าดูน่าใช้ สำหรับหญิงอื่นซึ่งมีฐานะอย่างเดียวกับเธอ ไม่มีใครเอาสิ่งเหล่านี้มาเป็นอารมณ์ แต่เธอมีความขัดแค้นน้อยอกน้อยใจ ยิ่งได้เห็นเด็กรับใช้ชาวเบรต็อง ซึ่งเธอมีอยู่เพียงคนเดียว ก็ยิ่งขุ่นข้องใจ และคิดฟุ้งซ่านไปต่างๆ เธอฝันเห็นห้องนั่งพักเงียบๆ ประดับด้วยผ้าม่านสวยๆ ชนิดฝีมือทำในตะวันออก แล้วก็มีตะเกียงทองเหลืองเชิงสูงๆ จุดในยามค่ำ นึกเห็นคนรับใช้ชายท่าทางเคร่งครัด แต่งกายด้วยกางเกงขารวบ อย่างพวกมหาดเล็ก นึกเห็นพวกนี้นั่งคอยฟังเรียกตัวอยู่ในเก้าอี้นวมจนง่วงโงกไปเพราะความอบอุ่นของไฟในเตา เธอหลับตาเห็นห้องรับแขกแขวนม่านไหมอันเป็นของโบราณ นึกเห็นเครื่องเฟอร์นิเจอร์อันงดงามสำหรับวางของโชว์ที่มีค่าต่างๆ แล้วนึกเห็นห้องนั่งเล่นเล็กๆ น่าสบาย มีกลิ่นหอมอบอวล สำหรับเป็นที่นั่งเล่นเจรจาในยามค่ำกับเพื่อนฝูงที่สนิทชิดชอบ และคนที่มีชื่อเสียงกว้างขวางในวงสมาคม ซึ่งใครๆ ก็อยากรู้จัก เป็นที่ริษยาของหญิงอื่นที่อยากให้ชายนั้นเอาใจใส่กับตนด้วย

๔. ขณะที่เธอนั่งรับประทานอาหารบนโต๊ะกลม ซึ่งมีผ้าปูไม่ได้ซักตั้งสามวัน และเมื่อสามีที่นั่งกินอยู่ด้วย เปิดชามซุปแล้วร้องอย่างพอใจว่า “อา สตูเนื้อของดี ! พี่ไม่เคยกินอะไรอร่อยกว่านี้ !” เธอก็เคลิ้มนึกไปถึง
อาหารอันชวนกินอื่นๆ นึกเห็นจานเงินเป็นเงางาม นึกเห็นม่านห้อย ถัก เป็นรูปคนโบราณและนกรูปร่างแปลกๆ จับไม้อยู่ในสวรรค์ ฝันเห็นอาหารซึ่งปรุงแปลกๆ เป็นพิเศษ บรรจุอยู่ในจานรูปพิสดารต่างๆ ฝันเห็นคนคอยพะนอเอาใจ กระซิบคำอันไพเราะหู และยิ้มอย่างมีนัยยามเมื่อเธอลิ้มเนื้อสีชมพูของปลาเทราท์และปีกนกกระทา

๕. เธอไม่มีเสื้อคลุม ทองหยองอะไรก็ไม่มี แล้วก็สิ่งพวกนี้เท่านั้น ที่เธออยากได้ เธอรู้สึกว่าเกิดมาเพื่อจะใช้ของเหล่านี้เท่านั้น เธออยากให้ใครๆ พอใจ อยากให้ใครๆ อิจฉา อยากให้ใครๆ หลงและฝันถึง เธอมี เพื่อนหญิงที่มั่งคั่งคนหนึ่งเมื่อครั้งเรียนหนังสือ เพื่อนคนนี้ได้ห่างเหินกัน เสียนาน เพราะเธอไปเยี่ยมเขาทีไร กลับมาบ้านก็เกิดความกลุ้มใจทุกทีไป ต้องมานั่งร้องไห้หน้าบูดบึ้ง มึนซึม เศร้าใจและน้อยใจไปทั้งวัน

๖. อยู่มาวันหนึ่งสามีเดินอย่างภาคภูมิเข้ามาในห้อง มือถือซองจดหมายใบเขื่องมาด้วย เขาส่งซองจดหมายให้ภรรยาแล้วว่า

๗. “อ่านดูซิ มีเรื่องดีสำหรับน้อง”

๘. เธอรีบเปิดซองและดึงการ์ดแผ่นหนึ่งออกมา มีข้อความในการัด
ดังนี้

๙. “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และมาดาม ยอช รัมปองโย มีความยินดีขอเชิญนายและนางลัวเซล ไปร่วมในงานราตรีสโมสร ณ สำนักศึกษาธิการ ในวันจันทร์ที่ ๑๘ มกราคม”

๑๐. แทนที่เธอจะดีอกดีใจอย่างที่สามีคาดหมาย เธอกลับโยนบัตรเชิญ ลงบนโต๊ะ และพึมพำอย่างไม่พอใจว่า

๑๑. “คุณเอามาให้ฉันทำไมกัน”

๑๒. “โธ่ ! พี่นึกว่าน้องคงจะดีใจ เพราะไม่ค่อยได้ไปเที่ยวไหนกับเขาเลย แล้วครั้งนี้เป็นโอกาสดี เป็นเกียรติยศแก่เราด้วย กว่าจะได้บัตรเชิญ นี้มาลำบากไม่ใช่เล่น ใครๆ ก็อยากได้ แล้วมันก็มีจำกัด บัตรสำหรับให้ พวกเสมียนมีไม่กี่ใบ ถ้าน้องไปในงานนี้ คงจะได้เห็นข้าราชการสำคัญๆ มากหน้าหลายตาทีเดียว”

๑๓. เธอจ้องเขา สีหน้าแสดงความรำคาญและพูดสำเนียงไม่พอใจว่า

๑๔. “คุณจะให้ฉันเอาเสื้อผ้าที่ไหนแต่งไปอยากรู้นัก”

๑๕. เขาไม่ทันนึกถึงข้อนี้ เลยชักงงๆ

๑๖. “ก็ชุดที่น้องใส่ไปดูละครนั่นไงล่ะ ก็พอใช้ได้นี่นา พี่……”

๑๗. เขาตกตะลึง อ้าปากค้าง ที่เห็นภรรยาร้องไห้

๑๘. นํ้าตาเม็ดเขื่องๆ สองเม็ดค่อยไหลเลื่อนจากขอบตาลงมาที่มุมปาก
๑๙. “ร้องไห้ทำไมจ๊ะ จ๊ะ ?” เขาถามตะกุกตะกัก

๒๐. เธอพยายามหักใจอย่างที่สุด แล้วตอบเสียงปกติ พลางเอามือเช็ดนํ้าตาว่า

๒๑. “ไม่มีอะไรหรอกค่ะ งานนี้ฉันไม่รู้ว่าจะไปได้อย่างไร เครื่องแต่งตัวก็ไม่มี คุณเอาการ์ดนี้ไปให้เพื่อนของคุณที่เมียเขามีเครื่องแต่งตัวสวยๆ แต่งนั่นเถิด”

๒๒. เขารู้สึกช้ำใจ

๒๓. “มาทิลดา” เขาว่า “น้องลองกะดูซิว่าถ้าจะหาชุดที่พอไปวัดไปวา กับเขาได้ แล้วที่พอจะเก็บไว้ใช้ได้อีกในโอกาสอื่น จะตกราคาชุดละเท่าใด”

๒๔. เธอนิ่งคิดสองสามอึดใจ นึกกะราคาเสื้อ ตลอดจนคะเนว่า ราคาที่เธอบอกนั้น สามีผู้เป็นคนค่อนข้างมัธยัสถ์จะไม่ตบอกและรีบปฏิเสธ

๒๕. ในที่สุดเธอตอบไปทันทีว่า

๒๖. “ฉันก็ไม่รู้แน่ว่าจะราคาสักเท่าใด แต่คิดว่าคงพอหาได้ในราว ๔๐๐ ฟรังก์”

๒๗. ผู้สามีหน้าเสียเล็กน้อย เพราะเงินจำนวนนี้ เขาเก็บเล็กผสมน้อย ไว้เพื่อซื้อปืนสำหรับไปเที่ยวยิงสัตว์กับเพื่อนที่ป่านังแตร์ ในฤดูร้อนนี้

๒๘. แต่แล้วเขาพูดว่า

๒๙. “เอาเถอะน้อง พี่จะให้สี่ร้อยฟรังก์ เลือกซื้อเสื้อสวยๆ นะ”

๓๐. ใกล้ถึงวันงาน มาดามลัวเซล รู้สึกกระวนกระวายไม่สบายใจอีก แม้ว่าหล่อนจะได้เสื้อมาแล้ว

๓๑. เย็นวันหนึ่งสามีถามเธอว่า “เป็นไรไปเล่าน้อง สองสามวันนี้ดูหน้าตาไม่สบายเลย”

๓๒. เธอตอบว่า “ฉันกลุ้มว่าไม่มีอะไรแต่งติดตัวเลย เพชรสักเม็ดก็ยังดี โธ่ไปตัวเปล่าๆ ในงานอย่างนั้น อายเขาจะตาย คิดๆ ไม่อยากไปเสียแล้ว”

๓๓. “ปักดอกไม้เอาไม่ดีกว่าหรือ” สามีตอบ “เวลานี้เขากำลังนิยมกันอยู่เสียสักสิบฟรังก์ก็หากุหลาบงามๆ ได้”

๓๔. เธอไม่เห็นด้วย

๓๕. “ไม่ละ ไปทำซอมซ่อในหมู่พวกมั่งมีอย่างนั้น ก็ขายหน้าเขาแย่”

๓๖. ขณะนั้นผู้สามีร้องขึ้นว่า

๓๗. “น้องละเซ่อไปได้ ลองไปหาคุณฟอเรเตีย เพื่อนของน้องซิ ขอยืมเครื่องเพชรเขาสักอย่างหนึ่ง เขาคงไม่หวงดอกนะ”

๓๘. “เออจริงซิ” เธอร้องขึ้นด้วยความดีใจ “ฉันลืมไปสนิท”

๓๙. รุ่งขึ้นเธอก็ไปหาเพื่อน แล้วปรับทุกข์ให้ฟัง

๔๐. มาดาม ฟอเรเตีย เปิดตู้กระจก หยิบหีบเครื่องเพชรออกมา แล้ว บอกมาดามลัวเซล ว่า

๔๑. “เลือกเอาเถิดเพื่อนรัก”

๔๒. เธอลองหยิบกำไลมือมาสวมดูก่อน แล้วลองสร้อยคอไข่มุก แล้วก็เข็มเครื่องหมายกางเขน ฝีมือเวนิส ซึ่งทำด้วยทองประดับเพชร ฝีมือวิจิตร บรรจง ลองสวมพิศดูในกระจกเงาแล้วก็ให้ตันใจ ไม่อยากถอดคืนเจ้าของเสียเลย

๔๓. “มีอะไรอีกไหมเธอ” หล่อนอยากเห็นของอื่นๆ อีก

๔๔. “อ้อ มี นี่ไงล่ะ เลือกดูตามที่เธอชอบเถิด”

๔๕. ขณะนั้นเธอเห็นสร้อยคอเพชรอันงดงามยิ่งสายหนึ่ง อยู่ในหีบ กำมะหยี่ เธอใจเต้นระทึกด้วยความอยากได้ หยิบขึ้นมาด้วยมือสั่นเทา ลองสวมกับเสื้อคอสูง พิศดูเงาในกระจกอย่างปลาบปลื้มใจ

๔๖. เธอรีๆ รอๆ ไม่ค่อยกล้าออกปาก กลัวเจ้าของหวง

๔๗. “ขอยืมสายนี้ได้ไหมเธอ สายเดียวเท่านั้นแหละ”

๔๘. “อ้อ ยินดีเชียวเธอ เอาไปเถอะ”

๔๙. เธอฟุบหน้าลงบนไหล่ของเพื่อน กอดรัดอย่างรักใคร่ แล้วเธอก็นำสร้อยกลับบ้าน

๕๐. ถึงวันงานแล้ว มาดามลัวเซลประสบผลสำเร็จอย่างใหญ่หลวง เธอเป็นหญิงงามเลิศในบรรดาหญิงทั้งหลายที่ไปประชุมในงานคืนนั้น รูป ของเธอใครเห็นใครชม กิริยาอ่อนหวานยิ้มละไมอยู่เสมอ เธอชื่นฉ่ำลำพองใจ บรรดาชายกลุ้มรุมมอง ถามชื่อถามเสียง ขอทำความรู้จัก พวกทูตานุทูต ขอเต้นวอลท์กับเธอ ท่านรัฐมนตรีเข้ามาทักทายปราศรัย

๕๑. เธอเมาเต้นรำ งงงวยหลงปลื้มใจในความสนุกสำราญ ลืมนึก ถึงสิ่งใดๆ นอกจากชัยชนะแห่งความงาม ความเด่นเหนือหญิงทั้งหลาย บรรดาชายที่เข้ามากลุ้มรุมตอม กล่าวคำป้อยอสรรเสริญ ทำให้เธอเพลิน เมามัว ในชัยชนะอันเด็ดขาดของเธอในครั้งนี้

๕๒. เธอกลับบ้านราวเกือบตีสี่ เข้าไปปลุกสามีที่แอบไปนอนหลับอยู่ ในห้องรับแขก ซึ่งว่างเปล่าตั้งแต่เที่ยงคืน พร้อมกับชายอีกสามคนที่เมีย ของตนไปมัวระเริงเต้นรำอยู่กับชายอื่นๆ ในห้องลีลาศ

๕๓. เมื่อเมียมาปลุก เขาลุกขึ้นคว้าผ้าคลุมผืนเก่าๆ ที่ติดมาจากบ้าน คลุมให้เมีย ความคร่ำคร่าของผ้าคลุมนั้นมันช่างตรงข้ามกับเสื้อราตรีอันหรูหราที่เธอแต่งนั้นอย่างยิ่ง เธอรู้สึกในข้อนี้ จึงอยากจะออกไปเสียให้พ้นโดยเร็ว เพื่อไม่ให้หญิงอื่นซึ่งห่อหุ้มตัวด้วยขนสัตว์ราคาแพงๆ สังเกตเห็น

๕๔. นายลัวเซลฉุดเมียไว้ แล้วว่า

๕๕. “คอยประเดี๋ยว พี่จะไปเรียกรถมาก่อนน้องออกไปข้างนอกจะเป็นหวัด”

๕๖. แต่หล่อนไม่ฟังเสียง รีบก้าวลงบันไดไป เมื่อทั้งคู่ออกมานอกถนนแล้วก็ยังหารถไม่ได้เห็นคันไหนผ่านมาไกลๆ ก็ตะโกนเรียก แต่ก็ไม่ได้ ต้องพากันเดินต่อไป

๕๗. ทั้งสองคนหนาวสั่น ต้องพากันเดินต่อไปอย่างสิ้นหวัง จนถึงริม แม่นํ้าเซน จึงพบรถเก่าคร่ำคร่าคันหนึ่ง รถอย่างนี้จะเห็นในกรุงปารีสก็แต่ในเวลากลางคืนเท่านั้น คล้ายๆ กับว่ามันอายรูปร่างอันน่าทุเรศของมัน

๕๘. เขานั่งรถคันนี้ไปจนถึงบ้าน รูเดอร์มาตีร์ ปีนลงจากรถ แล้วเดินเข้าบ้านอย่างเศร้าๆ สำหรับหล่อนเป็นอันว่าไม่มีอะไรต้องเป็นห่วง แต่ พรุ่งนี้เขาจะต้องไปทำงานในเวลาสิบนาฬิกา

๕๙. เธอเปลื้องผ้าคลุมที่หน้ากระจก พลางชมร่างอันสวยจับตาอีก วาระหนึ่ง แต่ทันใดนั้นเธอร้องกรี๊ดด้วยความตกใจ สร้อยคอเพชรนั้นหลุดหายไปเสียแล้ว

๖๐. “อะไรกันน้อง” สามีถาม ขณะที่เตรียมจะนอนอยู่แล้ว

๖๑. หล่อนหน้าตื่น หันไปบอกเขาว่า

๖๒. “ฉัน-ง่า-ฉันทำสร้อยเพชรหายเสียแล้ว”

๖๓. เขาผุดลุกขึ้น หน้าตาเลิกลั่ก

๖๔. “อะไร หายไปได้อย่างไร”

๖๕. เขาช่วยกันหาตามกลีบเสื้อ ดูตามรอยพับ ค้นในกระเป๋า หาเท่าไรๆ ก็ไม่พบ

๖๖. “น้องจำได้แน่หรือว่าเมื่อออกจากห้องเต้นรำสายสร้อยยังอยู่” เขาถาม

๖๗. “ค่ะ เมื่อตอนลงบันได ฉันยังได้คลำดูเลย”

๖๘. “ถ้ามันตกในถนนเราคงได้ยินเสียง คงหล่นในรถนั่นแล้ว”

๖๙. “ค่ะ เห็นจะแน่ คุณจำเลขรถได้ไหม ? ”

๗๐. “จำไม่ได้ น้องล่ะ ? ”

๗๑. “ฉันก็ไม่ได้สังเกต”

๗๒. เขายืนตะลึงจ้องกัน รู้สึกอย่างถูกฟ้าผ่า ที่สุดนายลัวเซลก็หยิบ เสื้อกางเกงมาสวม

๗๓. “พี่จะออกไปเที่ยวหา” เขาว่า “เผื่อมีหวังจะพบมั่ง”

๗๔. แล้วเขาก็ออกจากห้องไป เธอทรุดตัวลงนั่งซบอยู่บนเก้าอี้ เสื้อ ราตรีก็มิได้ถอด หมดแรงที่จะไปนอน สิ้นขวัญ สิ้นความคิด

๗๕. สามีของเธอกลับบ้านราวโมงเช้า ไม่ได้ร่องรอยอะไรเลย

๗๖. แล้วเขาไปแจ้งความที่โรงพัก แจ้งความในหนังสือพิมพ์ ให้รางวัล แก่ผู้พบ เขาไปสืบที่บริษัทรถจ้าง ไปตามที่เล็กที่น้อย ซึ่งเขาคิดว่ามันอาจจะช่วยให้เขาได้สร้อยนั้นคืนมา

๗๗. เธอฟังข่าวอยู่กับบ้าน ตลอดวันร้อนรนใจ ปราศจากความสุข วิตกถึงความวิบัติอันร้ายแรงนี้

๗๘. นายลัวเซลกลับมาตอนค่ำ หน้าซีด ตาโรย ไม่ได้เรื่องอะไรมาเลย

๗๙. “น้องต้องเขียนจดหมายไปบอกเพื่อนของน้อง” เขาแนะนำ “บอกเขาว่าขอสายสร้อยหักกำลังให้ช่างแก้ เมื่อเรียบร้อยแล้วจะนำไปคืน”

๘๐. หล่อนเขียนตามคำที่เขาบอก

๘๑. ในปลายสัปดาห์เขาหมดหวังที่จะได้ของคืน

๘๒. นายลัวเซลหน้าตาแก่ลงไปสักห้าปี เขาบอกเมียว่า “เราต้องคิดหาของใช้คืนเขา”

๘๓. รุ่งขึ้นเขาพากันไปยังร้านเครื่องเพชรที่มีตราชื่อติดอยู่ที่หีบ เจ้าของร้านค้นบัญชีขายแล้วว่า

๘๔. “สร้อยนั้นไม่ได้ซื้อไปจากร้านผมดอกคุณ ผมขายไปเฉพาะหีบ”

๘๕. ทั้งสองคนไปเที่ยวดูตามร้านเครื่องทองต่างๆ เข้าร้านโน้นออกร้านนี้ เพื่อเลือกหาสร้อยที่มีรูปร่างลักษณะเหมือนกับสายที่หายไป หัวใจ เต็มไปด้วยความทุกข์และวิตก

๘๖. เขาไปได้ที่ร้านแห่งหนึ่งแถบ ปาเลส์โรยาล มีสายหนึ่งเหมือนกับ สายที่ตกหายมากที่สุด ราคาถึงสี่หมื่นฟรังก์ แต่ลดได้ เหลือเพียงสามหมื่นหก

๘๗. เขาสั่งเจ้าของร้านว่าอย่าเพิ่งขายให้ใคร เขาจะกลับมาซื้อภายใน สามวันนี้ และตกลงว่า ถ้าเขาพบสร้อยที่หายภายในเดือนมกราคม ขอให้เจ้าของร้านรับซื้อคืนในราคาสามหมื่นสี่พันฟรังก์

๘๘. นายลัวเซลมีเงินหมื่นแปดพันฟรังก์ เป็นมรดกที่ได้รับจากบิดา ส่วนที่ยังขาดก็ต้องเที่ยวกู้เขามาเพิ่ม

๘๙. เขาเที่ยวกู้ยืมใครต่อใครหลายคน คนละพันบ้าง ห้าร้อยบ้าง ที่รายย่อยๆ ก็มี ยอมทำสัญญาให้พวกเจ้าหนี้ขูดเลือดจนแทบสิ้นเนื้อประดา ตัว บรรดาสัญญาที่เซ็นไว้นั้น เขาคิดว่าจะต้องหาใช้จนตลอดชีวิต บางรายแม้เขาไม่เห็นลู่ทางว่าจะใช้คืนได้ตามสัญญา ก็ยอมเสี่ยง เขามองเห็นกาลภายหน้ามีแต่ความระทมขมขื่นใจ ไหนจะต้องอดมื้อกินมื้อ ไหนจะต้องเดือดร้อนรำคาญใจ ในที่สุดเขาก็หาเงินได้ครบ นำไปซื้อสร้อยสายนั้นมา

๙๐. เมื่อมาดามลัวเซลนำสร้อยไปคืน มาดามฟอเรเตียพูดอย่างไม่ ค่อยพอใจว่า

๙๑. “ทำไมส่งช้านักเล่าเธอ ฉันจำเป็นต้องใช้เหมือนกัน”

๙๒. มาดามฟอเรเตียไม่ได้เปิดหีบตรวจอย่างที่สหายของนางหวั่น นักหนา เพราะถ้าเจ้าของเห็นว่าสร้อยสายที่สหายนำมาส่งนี้ไม่ใช่สร้อยสายเดิม เจ้าของเขาจะว่าอย่างไร เขาอาจหาว่าเธอคิดโกงสร้อยเขาก็ได้

๙๓. มาดามลัวเซลได้เคยรู้ชีวิตอันแสนลำเค็ญของคนยาก แต่เธอก็ได้เผชิญหน้ากับชะตากรรมอย่างไม่ย่อท้อ หนี้รายมหึมานี้เธอต้องหาใช้
เขาให้ได้ ทั้งผัวเมียปลดคนใช้ที่มีอยู่คนเดียว หาที่อยู่ใหม่ ไปเช่าห้องแคบๆ ราคาถูกอยู่

๙๔. เธอต้องกวาดเรือน ถูบ้าน ซักผ้า ทำครัว ล้างชาม ล้างจานเอง หมดทุกอย่าง ต้องขัดถูหม้อกระทะ จนเล็บสีชมพูเหนอะหนะไปด้วย ไขมัน ทุกเช้าต้องไปหิ้วนํ้า กว่าจะกลับถึงบ้าน ต้องหยุดหอบเสียเป็นหลายทอด เธอแต่งตัวปอนๆ อย่างพวกคนจน หิ้วตะกร้าไปตลาด จะซื้ออะไรสักนิด สักหน่อยก็ต่อแล้วต่ออีก จนพวกขายผักขายเนื้อพากันดูถูกเหยียดหยามต่างๆ

๙๕. เขาช่วยกันปลดหนี้เดือนละรายสองราย บางรายก็ผัดผ่อนยืด สัญญาต่อไป

๙๖. สามีของเธอทำงานเวลาเย็น หารายได้พิเศษโดยช่วยทำบัญชีให้ พ่อค้า ตกค่ำรับจ้างพิมพ์หนังสือ ได้ค่าจ้างหน้าละห้าซูส์

๙๗. ชีวิตเช่นนี้ได้ผ่านไปสิบปี

๙๘. ในชั่วสิบปี เขาก็ปลดเปลื้องหนี้สินพร้อมกับดอกเบี้ยทบต้นอันสูงลิ่วนั้นหมดสิ้น

๙๙. บัดนี้มาดามลัวเซลดูแก่โทรมไปแล้ว เธอกลายเป็นคนกร้าว แข็งแรง เนื้อหยาบอย่างหญิงที่ทำงานตรากตรำทั้งหลาย ขณะที่เธอกวาดถูพื้น ปล่อยผมเผ้ายุ่ง ผ้านุ่งบิดไพล่เผล มือแดง พูดเสียงดัง แต่บางคราวเมื่อผัวไปทำงาน เธอจะนั่งที่หน้าต่าง รำพิงถึงคืนวันหนึ่งนานมาแล้ว อันเป็นคืนงานราตรีสโมสรซึ่งเธอเป็นหญิงสวยสะอาด ที่ใครเห็นใครชม

๑๐๐. ถ้าเธอไม่ทำสร้อยเพชรหายจะเป็นอย่างไร ใครเล่าจะรู้ ใครเล่า จะทายถูก อนิจจา ชีวิตนี้ช่างแปรเปลี่ยน และช่างน่าอัศจรรย์แท้ ของเล็กๆ น้อยๆ ทำให้ชีวิตแปรเปลี่ยนไปได้มิใช่เล่น

๑๐๑. อยู่มาวันอาทิตย์ วันหนึ่ง เธอออกไปเดินที่ ชองป์ เอลิเซ เพื่อพักผ่อนหย่อนใจจากงานที่ผจญมาสัปดาห์หนึ่ง ทันใดนั้นเธอเห็นหญิงคนหนึ่ง เดินจูงเด็ก มาดามฟอเรเตียนั้นเอง ยังสาว ยังสวย และยังน่ารัก

๑๐๒. มาดามลัวเซลอยากทัก อยากพูดอะไรสักอย่าง เธอควรจะบอก ความจริงได้แล้ว เพราะได้จัดชำระหนี้สินหมดสิ้น เห็นว่าไม่ควรต้องปิบัง กันอีก

๑๐๓. เธอเดินเข้าไปหา แล้วทักว่า

๑๐๔. “สวัสดี ยีน”

๑๐๕. อีกฝ่ายหนึ่งจำไม่ได้ รู้สึกแปลกใจว่า ใครหนอมาเรียกชื่อกัน อย่างสนิทอย่างนี้ จึงตอบอ้อมแอ้มไปว่า “คุณ-อ้า-ฉันไม่รู้จัก ถ้าจะทักผิดเสียแล้ว”

๑๐๖. “ไม่ผิดหรอกเธอ ก็ฉัน มาทิลดา ลัวเซล ไงล่ะ”

๑๐๗. เพื่อนเก่าร้องอุทาน แล้วว่า

๑๐๘. “โถ เพื่อนยาก เธอแก่ไปจนจำไม่ได้”

๑๐๙. “จ๊ะ ฉันต้องทนลำบากตรากตรำตั้งแต่ไปพบเธอครั้งนั้น…ต้อง ทนทุกข์ทรมาน เพราะเธอทีเดียว

๑๑๐. “เพราะฉัน…เรื่องอะไรกัน”

๑๑๑. “เธอจำสร้อยคอเพชรที่ให้ฉันยืมใส่ไปงานราตรีสโมสรได้ไหม”

๑๑๒. “จ๊ะ จำได้”

๑๑๓. “นั่นแหละ ฉันทำหาย”

๑๑๔. “เอ ก็เธอเอามาคืนให้ฉันแล้วนี่”

๑๑๕. “ฉันซื้อสายอื่นที่เหมือนกับสายของเธอไปให้ต่างหาก นี่แหละ ฉันต้องกู้เงินเขามาซื้อ และต้องหาเงินใช้เขาอยู่ถึงสิบปี เธอคงจะเข้าไจว่าคนจนๆ อย่างฉันจะต้องลำบากอย่างไรบ้าง แต่นี่ก็พ้นเคราะห์ไปแล้ว

๑๑๖. มาดามฟอเรเตียหยุดเดิน

๑๑๗. “เธอว่า เธอซื้อสร้อยคอเพชรแทนเส้นเก่าที่เธอทำหายให้ฉัน
งั้นรึ

๑๑๘. “จ๊ะ เธอคงไม่รู้สิ มันเหมือนกันมากทีเดียว”

๑๑๙. พูดแล้วยิ้มอย่างซื่อๆ และภูมิใจ

๑๒๐. มาดามพ่อเรเตียรู้สึกสลด จับมือทั้งสองของเพื่อนไว้ แล้วว่า

๑๒๑. “พุทโธ่ แม่มาทิลดา ทำไมไม่บอกฉัน ก็เส้นของฉันนั่นเพชรเทียมแท้ๆ ราคาอย่างแพงก็ห้าร้อยฟรังก์เท่านั้น”

เรื่องนี้ยาวประมาณ ๒,๕๐๐ คำ ขอให้ท่านลองอ่านและพิจารณาการวางเรื่อง ตลอดจนคำพูดและการบรรยายเรื่องต่อไปนี้จะชี้ให้ท่านเห็น เทคนิคของการเขียนโดยละเอียด

๑. การระบายสภาพ และบรรยากาศ
การระบายสภาพ เรียกในภาษาอังกฤษว่า Local Colour หมายถึง การพรรณนาวางพื้นของสภาพอันใดอันหนึ่ง เป็นเครื่องชักนำความคิดของ ผู้อ่านให้ซาบซึ้งในท้องเรื่อง ให้แลเห็นฉากที่เราวาดด้วยตัวอักษรนั้นชัดเจนเป็นจริงจังขึ้น การระบายสภาพนี้ได้แก่ พรรณนากิริยาท่าทาง ขนบธรรมเนียม ประเพณี เครื่องแต่งกาย ภาษาพูด และฉากภูมิภาพต่างๆ เช่นถ้าท่านวางฉากสถานีเพชรบุรี ทำอย่างไรถึงจะทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่าได้อยู่ที่นั่น ท่านก็อาจจะพูดถึงการแต่งกาย สำเนียงพูดของชาวเพชรบุรี ถ้าท่านวางฉากที่ ศรีราชา ท่านต้องพรรณนาให้เห็นลักษณะอันเด่นเฉพาะของศรีราชา จะพูดว่ามีทราย หอย หาดทรายยาวยืด ก็เท่ากับว่าเป็นหาดทรายธรรมดา ที่ไหนๆ ก็เหมือนกันหมด ไม่แปลกประหลาดอันใดไม่ทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่าเป็น ศรีราชาเลย

ในต้นเรื่อง นาฏลิกา ของ เสฐียรโกเศศ มีคำพรรณนาดังนี้

“นาฏลิกาเป็นตำนานของรูปหินอยู่ในนครร้าง แคว้นคอลกอนทะ ถนนหนทางในนครมีต้นหญ้างอกระหง รกเป็นพง อสรพิษเลื้อยคลานตาม เทวรูป ค้างคาวตกลูกในหูช้างหิน แมงมุมชักใยยุ่มย่ามภายในพระราช มณเฑียร หน้าแท่นบูชาเปรอะเปื้อนมูลนก พระเนตรของพระศิวะก็กลวงโบ๋ ด้วยถูกมนุษย์ใจบาปแคะควักลักเอาเพชรที่ฝังไว้ ดูทางไหนก็ล้วนแต่รกร้าง ปรักหักพัง”

ดังนี้ เท่ากับว่าได้พาผู้อ่านไปอยู่ในนครร้าง ซึ่งมีแต่ความเปล่าเปลี่ยว อ้างว้าง การระบายสภาพดังนี้ย่อมมีมากอย่างแล้วแต่ท้องเรื่อง เช่น สภาพความจน ความมั่งมี ความอลหม่าน ความสนุกรื่นเริง ความสกปรก ตลอดจนความเป็นอยู่ต่างๆ

ในเรื่องตัวอย่าง ตอนหมายเลข ๑ ระบายสภาพความคับแค้นของตัวละคร ในฝรั่งเศสสมัยนั้นถือว่า หญิงที่ไม่มีทรัพย์สมบัติติดตัว (เรียกใน ภาษาอังกฤษว่า Dowry คือเงินที่ได้รับมาเป็นมรดก) ย่อมหาสามียาก ในข้อ ๒๗, ๕๐ และ ๕๗ ซึ่งแม้เป็นข้อความสั้นๆ แต่เป็นข้อความที่ระบายสภาพต่างๆ กัน

บรรยากาศ (Atmosphere) คำนี้ถ้าจะใช้ภาษาไทยที่เข้าใจง่ายที่สุด ก็ “กลิ่นอาย” ในหลักของการประพันธ์ คำว่า บรรยากาศ หมายถึง ศิลป กรรม หรือ วรรณศิลป์ ซึ่งบันดาลให้ผู้เห็น หรือผู้ฟังบังเกิดอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าท่านเข้าไปในโบสถ์วัดป่าเลไลย์ หรือวัดพนัญเชิง ท่านจะรู้สึกว่ามีอะไรขลังและศักดิ์สิทธิ์ รู้สึกครั่นคร้าม ท่านดูภาพบางภาพ รู้สึกเพลิดเพลิน สบายใจ ดังนี้ เป็นอารมณ์ซึ่งศิลปกรรมบันดาลให้เกิดขึ้น ในทางวรรณกรรมหรือวรรณศิลป์ก็เข่นเดียวกัน ท่านต้องหาทางระบายเรื่องให้มีบรรยากาศ หรือ “กลิ่นอาย” ชักนำความรู้สึกของผู้อ่านไปในทางที่ท่านต้องการ

เอดการ์ อะแลน โป (Edgar Allan Poe) ซึ่งเป็นทั้งนักประพันธ์ และนักวิจารณ์กล่าวว่า ในเรื่องสั้นนั้น อย่าให้มีคำใดๆ ที่ไม่ช่วยชักนำความรู้สึกของผู้อ่านไปตามแนวที่เรามุ่งหมายไว้ กล่าวคือ ถ้าเราต้องการผล คือ ความโศกสลด ถ้อยคำและข้อความต่างๆ ต้องให้มีแนวชักนำไปสู่ความโศกสลด

ในเรื่องตัวอย่าง ตอน ๒, ๓, ๔ และ ๕ ผู้เขียนได้สร้างบรรยากาศ แห่งความตรอมตรม คือชักนำความรู้สึกของผู้อ่านให้กลมกลืนกับสภาพของตัวละครในเรื่อง

๒. การวางเค้าเรื่อง
การวางเค้าเรื่อง ปกติมี ๒ แบบ ดังลักษณะดังนี้

silapa-014011
แบบที่ ๑ ใช้กันมาก คือ เริ่มนำเรื่องอย่างใดอย่างหนึ่งที่
ก. แล้วพาผู้อ่านให้เกิดความพิศวง โดยจัดเรื่องให้มีความยุ่งยากขึ้นทุกที จนถึง เปลาะยอดที่

ข. แล้วจบเรื่องลงโดยเร็ว โดยให้ผู้อ่านโล่งใจ เข้าใจ หรือได้ความกระเทือนใจอย่างใดอย่างหนึ่ง

silapa-0141111
แบบที่ ๒ แบบนี้เป็นสองซ้อน คือ เริ่มต้นด้วยเหตุการณ์สำคัญอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วย้อนต้นกล่าวว่าเหตุการณ์สำคัญนั้นมีมูลมาอย่างไร ครั้นแล้วดำเนินเรื่องต่อไปเช่นเดียวกับแบบที่ ๑

เรื่อง สร้อยคอเพชร นี้ การวางเค้าเรื่องเป็นอย่างแบบที่ ๑ ท่านจะเห็น “มูล” หรือรากแก้วของเรื่อง ที่ชักให้เรื่องดำเนินต่อไปได้นั้นอยู่ตรงที่นายลัวเซล ผู้สามี ได้รับบัตรเชิญจากรัฐมนตรี ถ้ากรณีนี้ไม่มี เรื่องจะดำเนินต่อไปไม่ได้เลย จาก ก. เรื่องดำเนินสูงขึ้น คือมีเหตุการณ์ต่างๆ ที่น่าสนใจ ซับซ้อน เป็นปัญหา เกิดขึ้นเป็นลำดับจนถึงจุด ข. อันเป็นยอด ซึ่งเรียกในภาษาการประพันธ์ว่า ไคลแมกซ์ (Climax)

ท่านจะเห็นได้ว่ากรณีต่างๆ ที่เกิดเป็นลำดับ คือ นายลัวเซล ให้เงินภรรยา ๔๐๐ ฟรังก์ นางลัวเซลขอยืมสร้อยคอเพชร นางลัวเซลได้รับคำสรรเสริญในงานราตรีสโมสร สร้อยคอหาย การเที่ยวหาซื้อสร้อยคอใหม่ และซื้อมาได้ด้วยราคาสามหมื่นหกพันฟรังก์ นางลัวเซลคืนสร้อยคอแก่เจ้าของ นางลัวเซลพบเพื่อนเก่าที่ซังป์เอลิเซ ครั้นแล้วถึงไคลแมกซ์

ไคลแมกซ์ หรือ ยอดของเรื่อง (แสดงว่ากำลังจะปิดฉาก) อยู่ในตอนที่ ๑๒๑ ซึ่งเป็นตอนท้ายที่สุด เพียงสองสามประโยค ความยุ่งยาก ฉงนสนเท่ห์ของผู้อ่านก็ปลดเปลื้องได้หมด

บาเรตต์ (Barett) ว่า “ไคลแมกซ์ คือ เงื่อนงำของเนื้อเรื่อง เป็นยอดที่สุดของอารมณ์และความสนใจ”

สำหรับบางเรื่องพอถึงไคลแมกซ์แล้ว เรื่องยังเดินต่อไปอีกเล็กน้อย แต่ทางที่ดีที่สุดต้องพยายามทำให้เรื่องจบลงโดยเร็ว

ข้อสำคัญในการวางเค้าเรื่องนี้ ก็คือ พฤติการณ์อันเป็นเหตุผลแก่กัน ถ้าจะเขียนเรื่องการไปตากอากาศ เริ่มตั้งแต่ออกจากบ้าน ขึ้นรถไฟ นั่งใน รถไฟ ไปถึงสถานีนั้นเวลาเท่านั้นๆ แล้วนั่งรถไปยังที่พัก ดังนี้เท่ากับเป็นการลำดับพฤติการณ์อย่างปกติ หรือเท่ากับเขียนรายงาน ส่วนเค้าเรื่องนั้น จะต้องสร้างให้พฤติการณ์เป็นเหตุผลโยงต่อกัน เช่นในเรื่องตัวอย่าง การเชิญของรัฐมนตรีเป็นเหตุให้มีการซื้อเสื้อราตรี และยืมสร้อยคอเพชร แล้วก็เป็นเหตุให้นางลัวเซล หลงเพลิดเพลินในงาน กับทำสร้อยคอหาย การที่สร้อยคอหายเป็นเหตุให้เกิดการค้นหา แล้วต้องซื้อสายใหม่ให้นางฟอเรเตีย จนสามีภรรยาต้องทนลำบากอยู่ถึง ๑๐ ปี

การวางเค้าเรื่องต้องมีลักษณะพัวพัน ซับซ้อนและซ่อนเงื่อน ก่อให้ ผู้อ่านเกิดความฉงนอยากรู้ว่าเรื่องจะไปลงเอยด้วยประการอย่างไร โอ. เฮนรี่ (O. Henry) ซึ่งเป็นนักเขียนเรื่องสั้นคนสำคัญ ชอบใช้วิธีซ่อนเงื่อนโดยให้ตัวละครสำคัญแสดงบทบาทกลับตาลปัตรกัน เช่น ในเรื่อง “ของขวัญแห่งมากี” (The Gift of Magi) เดลลา (หญิง) กับ ยิม (ชาย) ปรารถนาจะซื้อของขวัญให้กันในวันคริสต์มาส แต่ทั้งคู่ขัดเงิน เดลลาแอบไปตัดผมมวยของตนขายเอาเงินมาซื้อสายนาฬิกาทองขาว จะนำไปให้ยิม ซึ่งมีนาฬิกาอยู่แล้ว ฝ่ายยิมก็แอบไปขายนาฬิกา เอาเงินมาซื้อหวีสับผมมวยจะเอาไปให้เดลลา ในที่สุดผิดหวังทั้งคู่

เค้าเรื่องซึ่งวางโดยให้มีการต่อสู้ แม้จะเป็นโดยทางกายหรือทางจิต ก็เป็นเค้าเรื่องที่ดี การต่อสู้นั้นอาจมีได้หลายลักษณะ เช่นมนุษย์กับธรรมชาติ มนุษย์กับสัตว์ มนุษย์ต่อมนุษย์ มนุษย์กับสิ่งลี้ลับ หรือมนุษย์สู้กับจิตใจของตนเอง เช่นท่านมีศัตรูตัวร้ายอยู่คนหนึ่ง ท่านรู้ว่ามีโจรจะเข้าปล้นบ้าน ศัตรูคนนั้น ดังนี้ท่านจะต้องสู้กับใจของท่านเองว่าควรบอกให้ศัตรูของท่านรู้ หรือจะปล่อยให้เขารับภัยจากโจร เค้าเรื่องชนิดนี้ ผู้อ่านมักจะติดตามอ่านจนจบ เพราะอยากรู้ว่าใครจะชนะในที่สุด แต่ต้องถือให้มั่นว่า จะต้องงำผลของเรื่องไว้ เอาไปเปิดในตอนท้ายที่สุด

๓. การจัดตัวละครและให้บทบาท
ตามปกติ เรื่องสั้นย่อมมีตัวละครในเรื่องไม่เกินหกคน และต้องมีคนหนึ่งซึ่งเป็นตัวสำคัญของเรื่อง ในเรื่อง สร้อยคอเพชร นี้ ตัวละคร ซึ่งมีบทเจรจา ก็มีนางลัวเซล นายลัวเซล นางฟอเรเตีย (ตัวอื่นๆ ซึ่งเป็นแต่เพียงอ้างถึง ไม่นับ) ในสามตัวนี้ นางลัวเซล เป็นตัวสำคัญ

ตัวละครสำคัญนี้จะต้องมีลักษณะนิสัยอย่างหนึ่งอย่างใดเด่นชัด จะเป็นคนอ่อนแอหรือทะเยอทะยาน มีอุดมคติ หัวดื้อ ตลบตะแลง ก็แล้วแต่ และการที่มีนิสัยอย่างหนึ่งอย่างใดนี่เอง ที่ก่อให้เกิดเป็นเรื่องราวขึ้น เช่น นางลัวเซล ท่านจะเห็นว่าชอบสวยชอบงาม อยากเป็นคนหรูหรามั่งมี ความอยากนี้ซักให้นางต้องไปยืมสร้อยคอของเพื่อนมาแต่งตัว แล้วก็เกิดเหตุขึ้น

ธรรมดาของมนุษย์ย่อมมีนิสัยประจำตัวคนละอย่าง บางคนแลไม่ค่อยเห็น บางคนก็แสดงออกมาเด่นชัด พอเราพบก็รู้เสียแล้วว่าคนนี้เป็นคนอย่างไร บางคนก็มีนิสัยขัดกัน เช่นเป็นนายทหารกล้าหาญ แต่พอแสดงตัวต่อหน้าประชาชนกลับประหม่า บางคนใจใหญ่ เลี้ยงเพื่อนฝูงไม่มีอั้น แต่เสียดายและหวงไม้ขีดไฟ บางคนใจบุญสุนทาน แต่เกลียดสัตว์ การที่จะวาดนิสัยใจคอของตัวละครได้จริงจังนั้น นักเขียนต้องเป็นคนช่างสังเกตลักษณะมนุษย์ นักศึกษามนุษย์กับนักเขียนต้องอยู่ด้วยกัน ท่านควรเอาใจใส่กิริยา มารยาท คำพูดความประพฤติของคนที่ผ่านมาในสายตาของท่านในวัด ในโรงภาพยนตร์ ในรถราง ในร้านอาหาร ท่านควรพยายามหัดมองคนให้ออก แต่โปรดอย่าไปจ้องหน้าเขา!

ในหลักการประพันธ์มีคำหนึ่งว่า Characterization คือให้บทบาท อันนี้สำคัญมาก นักเขียนที่ไม่ชำนาญมักทำผิดเสมอ นักเขียนเป็นแต่เพียง เสนอภาพชีวิตให้แก่ผู้อ่าน อย่าพยายามไปคิดแทนผู้อ่าน ถ้าท่านพูดว่า นายสำราญแต่งตัวสวย นายขจรเป็นคนเจ้าชู้ อย่างนี้เท่ากับไปคิดแทนผู้อ่าน ท่านต้องวาดภาพด้วยคำของท่าน ให้ผู้อ่านแลเห็นเอง คิดได้เอง ถ้าท่านว่า “นายขจรสวมหมวกเพล่ เนคไทสีแดงแจ๊ด รองเท้าขัดมันปลาบ เดินกรีดกราย หยิบหย่ง ท่าทางกรุ้มกริ่ม อยู่หน้าศาลาเฉลิมกรุง” ดังนี้ ผู้อ่าน จะอ่านออกเองว่านายขจรควรจะเป็นอย่างไร

การสร้างบทบาทตัวละครให้แสดงลักษณะของตัวเองนี้ ย่อมทำได้หลายอย่าง ที่ง่ายที่สุดก็คือกล่าวถึงกิริยา คำพูดของเขา ในเรื่องตัวอย่าง ท่านจะเห็นว่านายลัวเซลเป็นคนทึ่มๆ ซื่อๆ ไม่ค่อยรู้ใจผู้หญิง แต่ผู้แต่งไม่ได้บอกท่านเลย ตอน ๔, ๒๗, ๕๘, ๗๓, ๗๖, ๗๙ ล้วนแสดงลักษณะของนายลัวเซล โดยคำพูดและกิริยาของนายลัวเซลเอง นักประพันธ์ควรระลึกถึงข้อนี้ไว้ แต่ถ้าจำเป็นจริงๆ จะบอกผู้อ่านตรงๆ ก็ได้

อีกอย่างหนึ่ง คือ ให้ตัวละครนั้นเอง กล่าวขวัญแก่กัน เช่นให้สาวใช้ ชมนายสาวว่าสวย ให้เพื่อนติเพื่อนอีกคนหนึ่งว่า ขี้เหนียว ทั้งนี้แปลว่าผู้เขียน เป็นแต่เพียงนำเรื่องมาเสนอ ปล่อยให้ผู้อ่านแลเห็นและเข้าใจเอาเอง

จะขอยกตัวอย่างเรื่อง “คุณย่าเพิ้ง” ซึ่ง “เขียวหวาน” (เจ้าพระยา ธรรมศักดิ์มนตรี ผู้ใช้นามปากกาว่า ครูเทพ) เขียนไว้นานแล้ว สมัยหนังสือ ลักวิทยา

“พ่อหมอสุข บ้านเดิมอยู่บ้านหม้อ แล้วขายที่ไปอยู่โบสถ์พราหมณ์ แล้วถูกไล่มาอยู่ถนนใหม่ แล้วหนีรถไอมาอยู่พาหุรัด เดี๋ยวนี้มันตามแกมาอีก ได้ยินแกพูดว่า ถนนวรจักรก็ไม่เลว (หาเครื่องยาง่าย)

วันหนึ่งห้องเช่าของพ่อหมอ มีแขกสุภาพสตรีคนหนึ่ง ที่ทำให้พ่อหมอกำลังวุ่นผสมเครื่องยา ต้องทิ้งแก่นขี้เหล็ก ใบมะกา ฯลฯ กระจุยกระจายไว้ มาปัดกวาดกุลีกุจอยกขันนํ้า เชี่ยนหมากมารับแขก

“อ้อ เชิญย่ะ แม่เพิ้งสบายดีหรือ แหมฉันจำไม่ได้ มองอยู่เป็นนาน นึกว่าใครที่ไหนมา อื๊อ เต็มที่ มันชราลงทุกวัน หูตาไม่ค่อยจะเห็น เชิญ รับประทานหมากย่ะ” หยิบเชี่ยนหมากกับตะบับส่งให้”

เพียงเท่านี้ ท่านพอจะมองเห็นลักษณะ และนิสัยของพ่อหมอสุข
ได้แล้ว

๔. การบรรยายเรื่อง
การบรรยายมี ๒ วิธี คือ โดยให้ “ข้าพเจ้า” หรือ ผู้เขียน เข้าไป อยู่ในเรื่อง ตัวข้าพเจ้านี้ บางทีก็เป็นตัวผู้เขียนจริงๆ แต่บางทีอาจสมมุติ ใครคนหนึ่งเป็น “ข้าพเจ้า” ขึ้น เป็นผู้เล่าเรื่อง นักเขียนใหม่ๆ มักชอบใช้วิธีนี้ เป็นวิธีง่าย แต่ทำให้ดีได้ยาก อีกวิธีหนึ่งก็คือ วิธีใช้บุรุษที่สาม คือ ตัวละครแสดงบทบาทของตนเอง เป็นวิธีที่ดี เพราะผู้อ่านไม่ต้องไปคำนึง ถึงผู้แต่งที่เข้ามาปะปนในเรื่องนี้เลย เรื่องสร้อยคอเพชร ใช้วิธีอย่างที่สอง

๕. การเปิดเรื่อง
การเปิดเรื่องสั้น ไม่ควรให้ความนำยืดยาด บางคนก่อนจะดำเนินเรื่อง มักกล่าววนเวียนแสดงความรู้สึกนึกคิดต่างๆ เสียเป็นนาน วิธีนี้ไม่สู้เหมาะสำหรับผู้เริ่มฝึก แต่ผู้ชำนาญแล้วย่อมมีกลเม็ดที่จะพูด เพื่อยึดความสนใจของผู้อ่าน หลักของการเปิดเรื่อง คือต้องพยายามหาทางยึดความสนใจของผู้อ่าน

ถ้าท่านหยิบเรื่องสั้นมาพิจารณาแล้ว จะเห็นว่าวิธีเปิดเรื่อง มีวิธีต่างๆ ที่นิยมใช้กันดังนี้

๑. เปิดเรื่องโดยให้ตัวละครพูดกัน ต้องเป็นคำพูดที่น่าทึ่ง และเพื่อประโยชน์ของการดำเนินเรื่อง
๒. โดยการบรรยายตัวละคร
๓. โดยการวางฉากและบรรยายตัวละคร
๔. โดยบรรยายพฤติการณ์ และตัวละคร
๕. โดยการขมวดแนวคิด ใช้โวหารเผ็ดร้อน คมขำ น่าฟัง ขึ้นต้นสองสามประโยค

มีหลักอยู่ว่า เรื่องที่ประสงค์จะแสดงลักษณะนิสัยของบุคคล (Character Story) ควรเริ่มด้วยการแสดงเรื่องราวอันเกี่ยวกับตัวละคร เรื่องที่เกี่ยวกับบรรยากาศความรู้สึก (Atmosphere Story) ด้วยการพรรณนาฉาก เรื่องที่วางเค้า (Plot Story) ด้วยการเจรจาของตัวละคร

ท่านต้องนึกเสมอว่าหลักเหล่านี้ มิได้บังคับท่าน ท่านอาจมีแนวทางที่แนบเนียนดีกว่าก็ได้ แต่เมื่อใดท่านลังเลใจ ท่านต้องหยิบหลักขึ้นมาเป็นเครื่องนำทาง

๖. บทเจรจา
บทเจรจา หรือคำพูดของตัวละคร (Dialogue) นี้ได้กล่าวไว้ในข้างต้นบ้างแล้ว จะขอพูดเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย

การเขียนบทเจรจาเป็นของยาก เพราะข้อแรกต้องเขียนให้เป็นคำพูด ของมนุษย์ (หรืออย่างที่มนุษย์ควรจะพูดกันได้อย่างนั้น ซึ่งเป็นแบบของ โรมันติกซิสม์ เช่น “ผู้ชนะสิบทิศ” ของยาขอบ) ข้อสองต้องให้เหมาะกับตัวละคร และคำเจรจานี้ต้องให้เป็นประโยชน์แก่การเดินเรื่อง ปกติมนุษย์เราพูดกันวันละมากๆ ในเรื่องของเราจะทำเช่นนั้น ไม่ได้ต้องหยิบมาเฉพาะที่จะเป็นประโยชน์กับเรื่องจริงๆ

ในคำพูดของคนย่อมมีเสียงสูง เสียงต่ำ เสียงโกรธ เสียงดีใจ สำเนียง ที่เปล่งออกมาบอกให้รู้ แต่ตัวหนังสือไม่มีสำเนียง ฉะนั้นเราต้องช่วยโดย ใช้เครื่องหมาย เช่น ! ? หรือใช้คำบรรยาย คือแทนที่จะว่า เขาถาม เขาพูด เขาตอบ อาจจะใช้แปรผันไปตามเหตุ เช่น เขาคำราม เขาตะเบ็ง เสียง เขาอวด เขาคะยั้นคะยอ เขาเยาะ เขาสารภาพ เขาตะโกน เขาพูด ไม่มีหางเสียง พูดสะบัด พูดอย่างมะนาวไม่มีนํ้า กระซิบ พึมพำ เพ้อ ฯลฯ แล้วแต่จะคัดเลือกใช้ให้เหมาะกับเรื่อง

การที่จะให้คำพูดเป็นอย่างธรรมดา ฟังง่าย ควรจะใช้คำพูดสั้นๆ ให้มีตอนหยุดยั้ง เว้นระยะอย่างที่เราพูดกันตามปกติ ให้มีการถาม การตอบ การค้าน การแทรกพูดขัดจังหวะตามที่ควร

๗. ความแน่น
ความแน่น (Compression) นับว่าเป็นลักษณะสำคัญอย่างยิ่งของเรื่องสั้น เพราะเรื่องสั้นมีเนื้อที่น้อย ฉะนั้นต้องพยายามพูดโดยพิจารณา เลือกสรร คำ และ ความ ที่จำเป็นจริงๆ ยิ่งใช้คำสั้นๆ น้อยคำให้ได้ความมากยิ่งดี อย่าใช้คำโดยฟุ่มเฟือย และไม่จำเป็นแก่ท้องเรื่องเป็นอันขาด พูด ให้ตรงไปตรงมา ให้เข้าใจง่าย ลองพิจารณาบางตอนในเรื่องตัวอย่างที่ให้มา จะเห็นว่า ความหรือคำ ทุกตอนเป็นประโยชน์แก่ท้องเรื่อง เช่น ตอน ๕๕ พูดถึงหีบกำมะหยี่ เพื่อประโยชน์ในตอน ๘๓ ตอน ๖๐ พูดว่า สามีเตรียมจะนอน เพื่อให้รู้สึกเดือดร้อนรำคาญ ที่จะต้องลุกขึ้นมาใหม่และออกไปเที่ยวหาสร้อยเพชร ตอน ๕๕ กล่าวถึง เมียจะเป็นหวัด เพื่อให้ขัดแย้งกับความต้องการของเมีย

เรื่องสั้นจะเด่น และนับถือกันว่าดี เพราะลักษณะนี้

๘. จงทำตัวของท่านให้ชัดเจน
นี่เป็นคำแนะนำทั่วไป ไม่ว่าท่านจะเขียนเรื่องสั้น นวนิยาย หรือ บทความอันใด จงหัดทำตัวให้เป็นที่ชัดเจน คือก่อนจะเขียนอะไรลงไป ขอให้หลับตาดูภาพที่จะเขียน โดยจินตนาการของท่านให้แจ่มชัดเสียก่อน ถ้าพรรณนาฉากถนนเยาวราช ก็ลองหลับตามองดูด้วยตาในดวงจิตว่ารูปร่างลักษณะเป็นอย่างไร ถ้าภาพที่ท่านเห็นยังคลุมเครือ ท่านจะเขียนให้ผู้อ่านเห็นชัดแจ้งไม่ได้

ถ้าท่านนึกถึงคน ก็จะต้องนึกเห็นหน้าตา ผมยาวหรือสั้น-หงอกหรือดำ-แก้มตอบ-มีไฝ-คางเหลี่ยม-ฟันเรียบ-เหยิน-จมูกงุ้ม-โด่ง-แฟบ คือ ต้องฝึกหัดพิจารณาลักษณะต่างๆ อย่างละเอียด เมื่อหลับตาเห็นภาพชัดแล้ว จึงเขียนตามที่เห็น

ขอแนะนำวิธีหนึ่ง ที่ทำให้สิ่งที่พรรณนาชัดเจน คือ พูดในเชิงเปรียบ โดยจับลักษณะอันขัดแย้งมาคู่กัน เช่นในเรื่องตัวอย่าง ลักษณะของนาง ลัวเซล กับนายลัวเซล ขัดกัน เมื่อพรรณนาความเป็นอยู่อย่างยากจนของ นางลัวเซล ผู้เขียนก็ให้นางลัวเซลฝันเห็นความหรูหราขัดแย้งกับฐานะที่เป็นจริงของนาง

๙. การให้ชื่อตัวละครและชื่อเรื่อง
การให้ชื่อตัวละคร ควรพยายามให้ใกล้กับชื่อคนจริงๆ อย่าพยายาม ดัดตั้งชื่อให้โลดโผนจนผู้อ่านรู้สึกว่าคนอะไรชื่ออย่างนี้ ส่วนเรื่องที่เป็นชวน หัวขบขัน จะตั้งชื่อแผลงๆ พิสดารอย่างไรก็ได้ ชื่อ เทวี กับชื่อ นิจ ท่าน จะเห็นว่าชื่อ นิจ คุ้นกับท่านมากกว่าชื่อ เทวี วิไล อรอนงค์ ส่วนจันที เป็นชื่อที่ค่อนข้างแปลกหู

ชื่อเรื่อง ถ้ารู้จักตั้ง ก็ชวนให้อยากอ่านเรื่องผู้เริ่มการประพันธ์ควร พยายามคิดชื่อเรื่อง โดยใช้คำสั้นๆ เพียงสองสามคำ แต่ให้น่าทึ่ง น่าคิด ให้เป็นเงาฉายของตัวเรื่องที่ผู้อ่านจะได้อ่านต่อไป การคิดชื่อเรื่องนั้น นักเขียนบางคนเขียนเรื่องไปจนจบ แล้วตั้งชื่อภายหลัง บางคนก็ตั้งชื่อเสียก่อน บางคนส่งให้สำนักพิมพ์ตั้งชื่อเอาตามความพอใจ

การตั้งชื่อเรื่อง มีหลักบางอย่างดังนี้
ก. ตั้งโดยใช้ชื่อตัวละครสำคัญ เช่น นิจ กมลา

ข. ตั้งโดยขมวดปมของเนื้อเรื่อง เช่น ตาย ผิดตัว ผู้ไม่บริสุทธิ์
นัดตาย

ค. ตั้งโดยประสงค์จะแสดงคติ หรือความคิดเห็น เช่น สิ่งที่หนีไม่พ้น ความจำเป็นย่อมไม่มีธรรมะ อำนาจของความสัตย์

ท่านจะตั้งชื่อเรื่องของท่านอย่างไรก็ตาม แต่ต้องระวังอย่าให้ฟัง เก้อๆ เขินๆ หรือดาษๆ ฟังแล้วไม่มีรส

๑๐. การทำบท
ข้อแนะนำข้อสุดท้ายและเป็นข้อสำคัญ คือ การทำบท เรียกในภาษา อังกฤษว่า Dramatization คือต้องบรรยายเรื่องให้ตัวละครแสดงบทบาท เช่นเดียวกับการเล่นละคร ถ้าท่านพูดถึงตัวเอกหรืออย่างที่พูดว่า พระเอก (คือเอาศัพท์ละครมาใช้) นั่งเศร้าอยู่ที่หลุมฝังศพคู่รัก ดังนี้ ไม่มีบทบาทอันใด และผู้อ่านก็จะไม่รู้สึก เราต้องพรรณนาออกไปว่า เขามีท่าทางอย่างไร พูดอย่างไร ผู้อ่านจึงจะได้ความรู้สึกแห่งความโศก อย่าไปแสดงความรู้สึกแทนผู้อ่าน ในเรื่องสร้อยคอเพชร ตอนที่ ๕๘ ถึง ๗๔ เป็นตัวอย่างของการทำบท
เพื่อเป็นการทบทวนความเข้าใจ จะยกตัวอย่างเรื่องสั้นอีกเรื่องหนึ่งมาให้เป็นเครื่องศึกษาสังเกต เรื่องนี้คือเรื่อง “ฝนเดือนห้า” คัดจากหนังสือ รวมเรื่องสั้น ของ เวตาล เฉพาะ “ฝนเดือนห้า” ผู้ประพันธ์บอกว่า เป็น เรื่องเอกในบรรดาเรื่องอื่นๆ ของท่าน และนักวิจารณ์ก็ได้แลเห็นว่า มี ลักษณะถูกต้องกับหลักของเรื่องสั้น

เรื่องนี้ยาวประมาณ ๑,๒๐๐ คำ เค้าเรื่องมีว่า โจรคนหนึ่งลอบหนีคุกมาได้ เป็นเหตุให้ผู้คุมต้องรับโทษแทน ฝ่ายภรรยาของผู้คุมได้นิมนต์ พระสงฆ์ที่มีวิชาอาคมองค์หนึ่ง ให้ไปช่วยปัดเป่าสามีของตนให้รอดพ้นโทษ ทั้งสามคนเผอิญมาพบกันที่ศาลาหน้าวัด และได้ทักถามกัน พระสงฆ์องค์นั้น ได้ให้โอวาทแก่หญิงเกี่ยวกับเรื่องเคราะห์กรรม จนโจรได้ฟังแล้วเกิดความเลื่อมใส ในที่สุดก็แสดงตนให้พระสงฆ์และหญิงนั้นรู้จัก แล้วตกลงใจกลับไปรับโทษสนองความชั่วร้ายที่ตนได้ทำมา

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่แสดงการต่อสู้กับความรู้สึกภายในจิตใจ ขอให้ท่านสังเกตเงื่อนงำในการบรรยายเรื่อง ว่าผู้เขียนสร้างปมแห่งความสนเท่ห์ ไว้อย่างไร และคลี่คลายเรื่องกระจ่างในตอนจบอย่างไร

ฝนเดือนห้า
จาก รวมเรื่องสั้นของเวตาล
๑. ในกาลโพ้นล่วงแล้วหลายร้อยปี ชายหนุ่มอกกว้างใบหน้าเหี้ยม รูปร่างสูงใหญ่ผู้หนึ่ง เดินมุ่งตรงจะผ่านหน้าวัดประดู่ใต้ ซึ่งตั้งอยู่บนฟากฝั่งแม่นํ้าตรงข้ามเมืองกาญจนบุรีอย่างเร่งร้อน สังเกตจากเครื่องแต่งกายซึ่งมีแต่ผ้าพื้นสีเขียวแก่กับผ้าขาวม้าเก่าๆ คาดพุง และท่าทางอันระโหยโรยแรงนั้นแล้ว ย่อมทราบได้ว่า เขากำลังเหน็ดเหนื่อย และเดินทางมาอย่างรีบร้อน ชายผู้นี้เช็ดเหงื่อพลางแหงนหน้ามองดูเมฆสีดำกลุ่มใหญ่ ที่ถูกลมพัดละลิว ลอยตรงมาทางวัด ซึ่งไม่ช้าก็ค่อยๆ กระจายออกจนมืดมนทั่วทั้งท้องฟ้า ทันใดนั้นก็มีเสียงคำรามกระหึ่มมาจากเบื้องบน จากระยะไกล เมื่อสภาพการณ์เป็นเช่นนี้ เจ้าหนุ่มก็เหลียวดูภูมิประเทศโดยรอบ เพื่อหาที่กำบังพยับฝนที่กำลังคลานใกล้เข้ามาจวนถึงตัวแล้ว ศาลาน้อยที่ชาวบ้านสร้างไว้ ตรงบริเวณเยื้องหน้าวัดทางโน้น ทำให้เขาเปลี่ยนทิศทางเดิน แทนที่จะเดินผ่านหน้าวัด

๒. เขาหันมุ่งสาวเท้ารีบตรงไปยังศาลาน้อย พลางนึกในใจว่า

๓. “นี่อะไรกันนี่หว่า พายุฝนกลางเดือนห้า เราเกิดมายังไม่เคยเห็น เคราะห์ดีที่มีศาลาน้อยหน้าวัด ปลูกไว้พอให้ได้พักเอนหลังหลบฝน”

๔. เขาเดินตรงไปยังไม่ได้ครึ่งทางที่จะถึงตัวศาลา ฝนก็เริ่มปรอยเม็ดลงมาทำให้ต้องวิ่ง แต่มิใช่แต่เขาผู้เดียวเท่านั้นที่วิ่ง ยังมีพระภิกษุรูปหนึ่ง และหญิงสาวอีกคนหนึ่งวิ่งตามเขามายังศาลาหลังนี้ ภิกษุรูปนั้นคงเป็นพระที่จำพรรษาอยู่ที่วัดนั้นอย่างไม่มีปัญหา แต่แม่หญิงนั้นเล่า จากผ้าและเสื้อที่นุ่งอยู่ ส่อให้เห็นได้ว่าเป็นคนมาจากกรุงศรีอยุธยา ซึ่งในครั้งนั้นดำรงสภาพเป็นนครหลวงของแดนไทย

๕. เกือบจะกล่าวได้ว่าคนหลบฝนทั้งสาม ย่างเข้าไปในศาลาน้อย พร้อมๆ กัน และในทันใดนั้นฝนก็ตกลงมาซู่ใหญ่

๖. พระภิกษุรูปนั้นเอ่ยขึ้นว่า “นี่อะไร อาตมาไม่เข้าใจ ไฉนจึงมีฝนหน้าแล้งดังนี้ ดูเป็นที่น่าอัศจรรย์นัก”

๗. พ่อหนุ่มแอบชำเลือง สังเกตเห็นว่า แม่สาวนั่นนั่งก้มหน้านิ่งอยู่ เหมือนว่าจะไม่ได้ยิน ครั้นแม่หญิงแสดงท่ารู้ตัวมีคนแอบชำเลืองดูอยู่ เจ้าหนุ่มก็ทำไก๋แก้ชายพกเอาใบตองกับยาเส้นมามวนสูบ แล้วเอนตัวลงนอน

๘. แม่หญิงก็กระเถิบเท้าไปใกล้ภิกษุ พูดว่า “ชะรอยจะเป็นกรรมของเขาและของข้าแต่ชาติปางก่อน จึงพอท่านจะได้ไปแก้ให้เขารอดตายได้ทัน ฝนฟ้าเจ้ากรรมก็ตกลงมากั้นเสีย”

๙. พระภิกษุได้ฟังก็เวทนานัก ฉวยย่ามทำท่าจะก้าวฝ่าฝนไปพร้อมกับพูดว่า “เมื่อสีการ้อนใจใคร่จะขอให้อาตมาเร่งไปให้ถึงกรุงศรีอยุธยา อาตมาก็ยอมเปียกฝน”

๑๐. ถ้าแม้นว่ามิขัดกับพุทธบัญญัติ สาวเจ้าก็คงรั้งจีวรหลวงพ่อไว้ แต่นี่แม่กลัวไฟนรกจึงไม่กล้า เป็นแต่รีบห้ามว่า

๑๑. “อย่าลำบากตากฝนไปให้บาปตกแก่ข้าผู้มีกรรมมากแล้วเลยเจ้าข้า แม้เราจะเข้าไปศรีอยุธยาไม่ทันเวลาที่เขาประหารผัวข้า ก็ต้องจัดว่านับเป็นกรรม สงสารแต่แม่ของเขาที่เฝ้าตีอกชกหัวด้วยความเสียใจ”

๑๒. ภิกษุได้ยินก็ถอนใจด้วยจิตท่านมีเมตตาอยู่หนักหนา แล้วเอ่ยว่า

๑๓. “สีกากล่าวถึงกรรมชาติก่อน ชะรอยสีกาจะเป็นผู้รู้ในธรรมดี อันชีวิตคนเราเกิดมา มิใช่ว่าจะหนีทุกข์หาสุขได้ดังหวัง มันย่อมแล้วแต่กรรมที่ทำไว้ เปรียบได้ดังเรือที่เหหัวไปตามความประสงค์ของผู้ถือท้าย เรื่องของสีกาก็ดุจกันฉันนั้น อ้ายป้องผู้ร้ายใจทมิฬที่บ้านเมืองเตรียมจะทำการประหัตประหารนั้น ยังอาจเล็ดลอดอาชญาไปได้ ส่วนท่านขุนสาครผู้ผัวสีกานั้นเล่า ใคร ก็ลงความเห็นว่าเป็นข้าราชการที่จงรัก แต่กรรมนำพาให้ต้องมาเป็นผู้คุมอ้ายป้อง อาตมารู้ดีว่าทั้งท่านขุนและสีกามิได้คบคิดให้อ้ายป้องหนีดังลูกขุนมูลนายเขากล่าวหา แต่มันมิใช่เพราะกรรมที่ทำไว้แต่ชาติก่อนสนองดอกหรือสีกา อ้ายป้องจึงหนีคุกไปได้ จนท่านขุนต้องอาชญาถึงแก่จะต้องถูกประหารชีวิตแทนอ้ายป้องในฐานประมาท ปล่อยให้มันหนี นี่ย่อมเป็นการแสดงว่าอ้ายป้องมันทำกรรมดีไว้แต่ปางหลัง ผลกรรมจึงสนองให้มันรอดพ้นอาชญาแผ่นดินไปได้”

“สีกามาตามข้าให้ไปร่ายเวทมนตร์คาถาแก้สามีให้หลุดพ้นอาชญา ข้านี้เป็นภิกษุ เมื่อสีกานิมนต์ก็ต้องปฏิบัติตามศรัทธา แต่ใช่ว่าเวทมนตร์คาถาและบุญที่เกิดจากการศึกษาภาวนาพระธรรม จักช่วยปัดเป่ากรรมเก่าของสามีสีกาได้ก็หาไม่ อันกรรมดีกรรมชั่วนั้นย่อมมีประจำอยู่ทั่วทุกตัวคน แม้แต่พระพุทธองค์ก็หาสามารถแก้กรรมที่สร้างไว้แต่ปางหลังได้ไม่ แต่เอาเถิด เพื่อทำให้สีกาและมารดาของท่านขุนผู้สามีสีกาหายข้องใจ ข้าก็ยอมตากฝนไปปัดเป่าภาวนาให้ดังประสงค์”

๑๔. พูดแล้วภิกษุก็ออกเดินฝ่าสายฝนไป ไปได้พ้นชายคาไม่เท่าใด ทั้งแม่หญิงและเจ้าหนุ่มก็เห็นว่าสบงจีวรของพระสงฆ์องค์นั้นโชกชุ่มไปด้วยหยาดน้ำ

๑๕. เจ้าหนุ่มที่นอนเอกเขนกสูบยา ฟังภิกษุท่านว่า ก็ผลุนผลันลุกขึ้น นั่งคิ้วขมวดอยู่ในท่าไตร่ตรองหนัก แล้วหันไปกล่าวกับแม่หญิงว่า

๑๖. “สูเจ้า อย่าเอาหลวงพ่อท่านไปตากฝนให้สั่นหนาวต่อไปเลย สู เจ้าจงเอาเราซึ่งหลวงพ่อออกนามอยู่เมื่อกี้นี้ว่าอ้ายป้อง ไปศรีอยุธยาให้ บ้านเมืองเขาประหัตประหารแทนสามีของสูเจ้าเถิด มันมิใช่กรรมเก่าอย่างพระท่านว่าหรอกหรือสูเจ้า ที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ดลบันดาลให้ฝนตกลงมากลางเดือนห้าหน้าแล้งเช่นนี้ จนเป็นเหตุให้เราต้องมาพักร่วมศาลาน้อยแห่งเดียวกัน และได้ฟังคำภิกษุ ซึ่งทำลายความตั้งใจที่จะเดินทางหนีของข้าเสียสิ้น”

๑๗. พูดแล้วเจ้าหนุ่มก็เงยหน้ามองดูดวงตะวัน ซึ่งเวลานั้นส่องแสงจ้า อยู่บนท้องฟ้า ปราศจากเมฆหมอกอันเป็นพยับฝน และเวลานี้ไม่มีฝนตกลงมาเลยจนเม็ดเดียว

ข้อสังเกต
ตอนหมายเลข ๑ เวลาของเรื่องไม่บ่งเฉพาะ บอกแต่ว่านานมาแล้ว หลายร้อยปี เป็นนิทานประวัติ ที่จริงการบ่งเวลาให้เฉพาะเป็นสิ่งสำคัญ แต่เรื่องนี้เพ่งที่จะแสดงอุดมคติและหลักธรรมเป็นข้อใหญ่ เวลาจึงไม่จำต้องบ่งเฉพาะ เมื่อเปิดฉากเบิกตัวละคร พรรณนาลักษณะอาการกิริยาของเขา แต่ไม่บอกว่าเป็นใคร แล้วพรรณนาฉากซึ่งต้องการให้เห็นบรรยากาศหรือกลิ่นอายทางปาฏิหาริย์ เพราะเป็นพายุฝนกลางเดือนห้า ผู้เขียนไม่บอกท่าน แต่ให้ตัวละครรำพึงให้ท่านรู้ในตอน ๓ และ ๖

ตอนหมายเลข ๔ ปล่อยตัวละครอีก ๒ ตัว ให้สังเกตการบรรยาย
กิริยาของตัวละครในตอน ๕-๖-๗

ตอนหมายเลข ๘ ให้ผู้หญิงเป็นฝ่ายพูดนำเรื่อง ให้ผู้อ่านสนเท่ห์ ว่าเรื่องเป็นมาอย่างไร

ตอนหมายเลข ๙-๑๐-๑๑ ทำให้เราอยากรู้เรื่องยิ่งขึ้น

หมายเลข ๑๓ เป็นคำพูดยืดยาวของพระภิกษุ ซึ่งขัดกับหลักที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องแสดงแนวคิดหรือคติธรรม ย่อมจะพูดยาวได้ อนึ่ง ในคำพูดนี้ทำให้เรารู้เรื่องที่สงสัยมากระจ่างขึ้น เป็นการบรรยายเรื่องไปด้วยในตัว

ตอนหมายเลข ๑๖ เรื่องคลี่คลายออกหมด เป็นตอน ไคลแมกซ์

ตอนหมายเลข ๑๗ จะเห็นความขัดกันกับตอนหมายเลข ๑ ซึ่งเริ่มต้นด้วยพายุฝน มันหมายถึงจิตใจอันยังมัวเมาอยู่ ถึงตอน ๑๗ ฝนกลับ ขาดเม็ด ท้องฟ้าสว่าง เล็งถึงจิตใจที่เห็นแจ้งแล้ว…

เรื่องนี้มีตัวละครเพียง ๓ ตัว เป็นเรื่องสั้นที่ผูกเค้า (Plot Story)

ให้สังเกตคำพูด คำแทนชื่อ ซึ่งต้องให้เหมาะกับกาลสมัยนั้นด้วย

ตัวอย่างเรื่องสั้น The Ball of Fat
ของโมปัสซัง
นักเขียนเรื่องสั้น : ที่มีชื่อเสียงของโลกก็คือ กีย์ เดอ โมปัสซัง, โอ. เฮนรี่ (นามปากกาของ วิลเลียม ซิดนีย์ ปอร์เตียร์), เอดการ์ แอลัน โป ทางไทยเราก็มี มนัส จรรยงค์, ดอกไม้สด, หลวงวิจิตรวาทการ, และอาจินต์ ปัญจพรรค์

จะขอนำเรื่องของโมปัสซังมาให้เห็นเป็นตัวอย่าง คือ เรื่อง The Ball of Fat

โมปัสซังเป็นนักประพันธ์ชาวฝรั่งเศส เกิดเมื่อ ค.ศ.๑๘๕๐ ตาย ค.ศ. ๑๘๙๓ เรื่องของเขาอาจพ้นสมัยไปบ้าง แต่ในเชิงการประพันธ์ เราอาจถือเป็นแบบฉบับได้ เรื่องที่นำมาเป็นตัวอย่างนี้ได้จากฉบับแปลภาษาอังกฤษ ชื่อเรื่องเป็นชื่อสมญาของละครตัวสำคัญในเรื่อง เป็นหญิงหาเงิน เนื้อเรื่องทำนองจะเป็นเรื่องจริง คือโมปัสซังได้เอาเหตุการณ์ตอนฝรั่งเศสแพ้สงคราม ปรัสเชีย และข้าศึกกำลังยกพลเข้ายึดเมืองรูอ็อง

โมปัสซังเริ่มเรื่องโดยการพรรณนาฉาก ให้เห็นภาพทหารฝรั่งเศสที่ถอยหนีพวกปรัสเซียมาอย่างไม่เป็นส่ำ และพากันล่าถอยมายังเมืองรูอ็อง พวกทหารค่อยทยอยเข้ามาในเมืองอย่างกะปลกกะเปลี้ย ส่วนคนในเมือง ก็พากันตระหนกตกใจ เพราะทหารปรัสเซียกำลังรุกติดตามมาใกล้เมืองเต็มที โมปัสซังพรรณนาสภาพทหารที่ล่าถอยกลับบ้านเมือง ที่กำลังจะตกอยู่ในเงื้อมมือข้าศึกได้ชัดเจน ให้บรรยากาศดีมาก…

“ชีวิตทุกอย่างดูเหมือนจะหยุดนิ่ง ร้านค้าปิดหมด ถนนเป็นใบ้ ประชาชนที่หวาดขวัญในความเงียบ เดินไปตามถนนอย่างรีบร้อน ความทรมานใจที่ต้องรอคอยทำให้พวกประชาชนอยากให้ข้าศึกมาถึงเสียเร็วๆ ”

[จากนั้นทหารปรัสเซียก็เริ่มบุกเข้ามาในเมือง โดยปราศจากการ ต้านทาน โมปัสซังพรรณนาฉากให้เห็นสภาพของเมือง ที่มีทหารข้าศึก มาอยู่เต็ม…!

“ข้าศึกที่เข้าครองเมืองก็รีดไถเอาเงินจากชาวเมือง รีดเอามากๆ เสียด้วย ชาวเมืองก็ยอมให้โดยดี เพราะว่าเขามีจะให้ได้ แต่ว่าพวกพ่อค้า รวยๆ นั้นเจ็บอกเจ็บใจกันมาก ที่เห็นเงินทองของตนต้องผ่านไปสู่มือของคนอื่น

เพราะฉะนั้นตามลำแม่นํ้ากรัวเซท์ แม่นํ้าเดียปเปลเดล แม่นํ้าบีซาร์ต ได้เมืองไปสองสามไมล์ พวกชาวทะเลและประมงมักจะพบศพทหารเยอรมัน ทั้งยูนิฟอร์มขึ้นอืดอยู่ที่ก้นแม่นํ้า ศพเหล่านั้นมีรอยมืดแทงข้างหลังบ้าง รอยหัวถูกทุบด้วยก้อนหินบ้าง คือถูกลอบฆ่าแล้ว ก็ถูกโยนลงคลอง บางทีก็ถูกผลักตกลงจากสะพานสูงๆ ก้นแม่นํ้า ซึ่งเป็นหินปูนได้เป็นที่ฝังความแค้นใจอย่างลึกลับ มันเป็นการทารุณ แต่ทว่าถูกต้อง เป็นวีรกรรมอันไม่ปรากฏ เป็นการโจมตีอย่างเงียบๆ น่าสะพรึงกลัวยิ่งกว่าการประหารกันซึ่งหน้าในสนามรบ ทั้งมันไม่มีเสียงโห่ร้องแสดงความมีชัย เพราะว่าความเกลียดชัง ชนต่างด้าวนั้นย่อมปลุกคนใจเด็ดให้ยอมตายเพื่อกู้บ้านกู้เมืองได้…”

[เมื่อความโกลาหลอลหม่านในการที่ข้าศึกเข้ายึดครองเมืองเบาบางลง ทหารข้าศึกได้เข้าไปทำความรู้จักคุ้นเคยกับชาวเมือง กฎอัยการศึกที่ ศัตรูกำหนดก็ผ่อนปรนลง จากตรงนี้โมปัสซังก็เริ่มนำตัวละครเข้ามาในเรื่อง กล่าวถึงชาวเมืองรูอ็อง ๑๐ คน ได้รับอนุญาตให้ออกจากเมืองได้ พวกนี้ได้ไปกับรถเทียมม้าสี่ และกำหนดออกเดินทางตั้งแต่ยังไม่สาง]

“ในแสงเศร้าๆ ของยามเช้าตรู่ พวกคนในรถต่างมองกันอย่างอยากรู้ว่าใครเป็นใคร

ที่นั่งตอนหลัง ซึ่งเป็นที่ดีที่สุด นายลัวโซนั่งมากับเมีย นายลัวโซคนนี้เป็นพ่อค้าเหล้าองุ่นอยู่ที่ถนนแกรนด์ป็องต์ นายลัวโซรับเซ้งร้านค้าจาก พ่อค้าอีกคนหนึ่งซึ่งค้าขายขาดทุน พอนายลัวโซเซ้งร้านและการค้ามาได้แล้ว ก็ทำมาค้าขึ้น มั่งมีขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะแกเอาเหล้าเลวๆ มาขายแก่พ่อค้าช่วงในราคาแพงๆ ใครๆ ก็รู้ว่าแกเป็นคนสนุก แต่มีเล่ห์เหลี่ยม เต็มตัว…

คนที่นั่งข้างๆ นายลัวโซกับเมียคือ นายคาเร ลามาด็อง นั่งวางท่าภูมิฐานอย่างกะเป็นเจ้าใหญ่นายโต ที่จริงแกก็เป็นคนใหญ่อยู่ เพราะมีโรงปั่นฝ้ายถึงสามโรง เป็นสมาชิกสภาผู้แทน เคยเป็นทหารได้รับเหรียญ ลีย็อง ดองเนอร์…”

[โมปัสซังบรรยายเบื้องหลังของตัวละครที่สำคัญเป็นคนๆ ไป มีมาดาม คาเร ลามาด็อง เคานต์ กับ เคานเตสอูแบรต์ เบรวิลล์ ทั้งหกคนนี้ เป็นคนใหญ่ๆ โตๆ ทั้งนั้น เมื่อพูดถึงตัวละครอื่นๆ ที่นั่งรวมกันมาในรถ ให้ผู้อ่านเห็นฐานะว่าใครเป็นอย่างไรแล้ว ก็นำตัวละครตัวเอกในเรื่องมา พบกับผู้อ่าน]

“ในรถมีหญิงอีกคนหนึ่งนั่งมาด้วย เธอเป็นหญิงสังคม ได้สมญาว่า บอลล์ ออฟ แฟ็ต (แม่เจ้าเนื้อ) เป็นคนร่างเล็กท้วม นิ้วเต่งอย่างกับไส้ กรอก ผิวตึงเปล่งปลั่ง เต้ามหึมากระเพื่อมอยู่ในเสื้อ เธอเป็นคนยิ้มแย้ม แจ่มใสอารมณ์ดี มีผู้ชายพออกพอใจกันมาก หน้ากลม ลูกตาดำทั้งสองดูยิ้มยวนอยู่ทุกเวลา ริมฝีปากสวย เยิ้ม ชวนจุมพิต ฟันซี่เล็กๆ ขาววาว ใครๆ ก็ว่าเธอช่างน่าชมไปทุกส่วน

แต่พอพวกในรถรู้ว่าเธอเป็นใคร ก็มีเสียงซุบซิบจากหมู่หญิงผู้ดีว่า ผู้หญิงหาเงิน คนหน้าไม่อาย เสียงซุบซิบนี้ดังจนเข้าหูเธอ ทำให้เธอเงย
หน้าขึ้น แล้วจ้องแม่พวกปากจัดนั้นด้วยสายตาเก่งกล้าท้าทาย จนแม่พวกเหล่านั้นต้องพากันสงบปาก นั่งก้มหน้า เว้นแต่นายลัวโซคนเดียวที่ยังแอบมองเธออย่างครึ้มใจ”…

[โมปัสซังปูพื้นเรื่องค่อนข้างจะละเอียด ทำให้เรื่องเดินช้าไปหน่อยหนึ่ง แต่ก็มีการทดแทนที่ว่าเขาพรรณนาได้ชัดเจน ทำให้ตัวละครเหล่านั้น มีชีวิตชีวา ทำให้เห็นนิสัยใจคอของตัวละครแต่ละตัว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ ในการดำเนินเรื่องต่อไป]

“รถไปได้ช้ามาก เวลาสิบนาฬิกาเช้าวันนั้น เดินทางไปได้เพียงสี่ไมล์ พวกผู้ชายต้องลงจากรถสี่ครั้ง เพราะม้าลากรถขึ้นเขาไม่ไหว พวกนี้ชักอึดอัดใจ เพราะนึกไว้แต่แรกว่า เวลาสิบนาฬิกานี้ควรจะถึงเมืองโตตส์และได้กินอาหารเช้าแล้ว ถ้าเป็นอย่างนี้กว่าจะถึงก็น่าจะจวนค่ำ เวลารถตกหล่มหิมะ ต้องเสียเวลาเข็นกันถึงสองชั่วโมง ทุกคนต่างสอดส่ายตาดูว่าจะมีร้านอาหารระหว่างทางที่ไหนบ้าง

ร้านอาหารระหว่างทางที่เคยเปิดอยู่ก่อนนั้น เมื่อกองทัพปรัสเซีย บุกเข้ามา ต่างก็ตกใจเลิกการค้ากันหมด ครั้นหิวกันหนักขึ้น พวกผู้ชายก็ลงจากรถไปที่บ้านชาวนา เพื่อว่าจะหาซื้ออะไรกินได้บ้าง แต่เวลาที่ทหาร ปรัสเซียเที่ยวยื้อแย่งอาหารจากชาวบ้านอยู่นี้ พวกชาวนาก็เก็บอาหารซุกซ่อนหมด และไม่ยอมเจือจานให้แก่ใครทั้งนั้น

เวลาผ่านไปถึงสิบสามนาฬิกา นายลัวโซอุทธรณ์ออกมาดังๆ ว่าท้อง ว่างเต็มทีแล้ว ใครๆ ก็พากันหิวจนพูดไม่ออก…”

[โมปัสซังพรรณนาอาการหิวของคนได้ดีมากว่าพอหิวเข้าแล้ว แม้ผู้ดีที่เคยระวังกิริยาก็ลืมความเป็นผู้ดี…]

“บอลล์ ออฟ แฟ็ต พยายามเอามือคว้านไปใต้สะเกิ้ตคล้ายๆ กับว่าจะหาอะไรสักอย่าง จะหยิบอะไรออกมาก็รีๆ รอๆ มองตาพวกที่นั่งมาในรถ ในที่สุดเธอก็กลับนั่งนิ่งตัวตรง ทนหิวจนหน้าเผือด นายลัวโซพูด ออกมาตรงๆ ว่า เวลานี้ใครเอาหมูแฮมมาขายชิ้นละพันฟรังก์ก็ยอมซื้อ เมียทำอาการคล้ายๆ จะบอกสามีอย่าพูดอะไรเลอะเทอะไป แต่เธอก็ไม่ได้พูดออกมา เธอเป็นคนที่ไม่ชอบเอาเงินไปใช้อย่างฟุ่มเฟือย เพียงได้ยินผัวพูดอย่างนั้นก็ออกไม่ชอบใจเสียแล้ว “จริงนะ” ท่านเคานต์เอ่ยขึ้น “ไม่เข้าใจเลยว่าทำไมฉันถึงลืมเตรียมอาหารมา” คนอื่นๆ ก็เลยพลอยบ่นอย่างนั้น…”

[โมปัสซังได้พรรณนาให้เราพลอยรู้สึกว่า แต่ละคนหิวกันจนแสบท้อง]

“จนเวลาสิบห้านาฬิกา รถแล่นมาถึงกลางทุ่ง แลไปทางไหนไม่พบ บ้านเรือนคนเลย บอลล์ ออฟ แฟ็ต ก้มตัวลง ล้วงมือเข้าไปใต้ที่นั่งหยิบ ตะกร้าใบใหญ่ มีผ้าขาวคลุมออกมาอย่างรวดเร็ว

เธอหยิบจานกระเบื้องเคลือบกับถ้วยนํ้าชาเงินออกมาก่อน แล้วหยิบ จานใบโตออกมาจากตะกร้า ในจานมีไก่อบ ตัดเป็นชิ้นๆ หุ้มเยลลี่ถึงสองตัว ในตะกร้ายังมีของกิน ขนม ส้มสูกลูกไม้อีกหลายอย่าง กินไปสามวันก็ไม่หมด เห็นคอขวดเหล้าโผล่ออกมาสี่ขวด เธอหยิบปีกไก่ออกแทะกินอย่างกระมิดกระเมี้ยน พร้อมกับขนมปังอย่างดีชิ้นเล็กๆ

ทุกคนหันไปจ้อง กลิ่นอาหารกระจายไปทั้งรถ ทำเอาทุกคนสูดลม จมูกบาน นํ้าลายสอ และรู้สึกปวดกรามอยากเคี้ยวเต็มทน ส่วนพวกผู้หญิง ยิ่งรู้สึกชังนํ้าหน้า อยากจะจับเธอพร้อมตะกร้าอาหารโยนออกไปนอกรถเสียให้พ้นหูพ้นตา

นายลัวโซจ้องไก่ในจานตาเป็นมันทีเดียว “เคราะห์ดีนะ คุณคาดการณ์ล่วงหน้าได้ถูก รู้ว่าคงจะต้องมาหิวกลางทาง”

บอลล์ ออฟ แฟ็ต หันมาพูด “หากไม่รังเกียจก็เชิญซิคะ ไปไหนไกลๆ ฉันมักต้องเตรียมอาหารไปด้วยเสมอ”

เขาก้มศีรษะรับ “รังเกียจอะไรกันเล่าคุณ หิวจนใจจะขาดอยู่แล้ว ในเวลาสงครามอย่างนี้จะมาถือเนื้อถือตัวกันอย่างไร จริงไหมคุณ” เขาว่า แล้วหันไปมองคนอื่นๆ อย่างขอความเห็นใจ “ในเวลาคับขันอย่างนี้ ใคร จะไม่ยินดีละคุณ”
แล้วเขาก็กางกระดาษหนังสือพิมพ์ลงบนเข่า กันไม่ให้อะไรตกลงไป เปื้อนกางเกงล้วงมีดพับที่เขาพกติดกระเป๋าอยู่เสมอออกมา ใช้ปลายมืดทิ่มขาไก่ที่มีเยลลี่หุ้มใสแจ๋วป้อนเข้าปาก เคี้ยวกินอย่างเอร็ดอร่อย ทำเอาคนอื่นๆ กลืนนํ้าลายอยู่ในคอ”

[โมปัสซังบรรยายให้เห็นว่า เมื่อเวลาหิว ใครจะไปมัวนั่งถือเกียรติ ถือยศอยู่ได้ ดังนั้น แม้จะเป็นอาหารของผู้หญิงหาเงิน ทุกคนแม้จะอิดเอื้อนในตอนแรก ในที่สุดก็ยอมรับส่วนแบ่งจาก บอลล์ ออฟ แฟ็ต อย่างเต็มใจ จนดื่มเหล้าขวดเดียวกันโดยไม่มีแก้วก็ทำได้ และเมื่อต่างคนต่างอิ่ม ก็อาจพูดถ้อยคำอันไพเราะได้…]

“เขาจะกินอาหารของหญิงที่เขารังเกียจเปล่าๆ อย่างไรได้ ก็ต้องพูดเจรจาขอบบุญขอบคุณกันบ้าง แรกๆ แม่พวกหญิงผู้ดีก็พูดอย่างไว้ตัว แต่ เมื่อเห็นแม่ บอลล์ ออฟ แฟ็ต พูดโต้ตอบด้วยวาจาสุภาพเรียบร้อย ก็ค่อยแสดงความสนิทสนมมากขึ้น เหลือแต่มาดามลัวโซคนเดียว ที่ทนมากกว่าเพื่อน แต่ไม่ค่อยยอมพูดจากับแม่บอลล์ ออฟ แฟ็ต เสียเลย”

ต่างคนต่างเล่าเรื่องของตนมากขึ้น บอลล์ ออฟ แฟ็ต เล่าว่า

“ทีแรกฉันก็ไม่คิดจะอพยพหรอกค่ะ ฉันมีอาหารตุนไว้เยอะแยะ จะไปอยู่ที่อื่นก็ไม่รู้ว่าจะไปทางไหนดี แต่พวกทหารปรัสเซียน่ะซิคะ เลวจน ฉันทนไม่ไหว ฉันต้องร้องไห้ทุกคืน แหม นี่ฉันเป็นผู้ชายละ คอยดูซี แหม ทหารคนหนึ่งมาหาฉัน ทำบ้าๆ น่าเกลียดต่างๆ ฉันทนไม่ได้ พอได้ท่าก็ บีบคอมันเสียแน่น นี่ถ้าไม่มีใครมาจิกหัวฉันขึ้น ฉันคงบีบคอเจ้าทหารคนนั้นตายไปแล้ว เรื่องนี้แหละที่ทำให้ฉันต้องซ่อนอยู่แต่ในบ้าน พอได้โอกาสก็เลยหนีมากับรถนี่แหละค่ะ”

[โมปัสซังพรรณนาการเดินทางต่อไป ว่ารถได้มาถึงเมืองโตตส์เวลาค่ำ หยุดรถที่หน้าโรงแรม ชื่อ โฮเต็ล ออฟ คอมเมิซ แต่พอรถหยุดนึ่งก็ได้ยิน เสียงลากกระบี่กริ่งกร่าง แสดงว่าทหารปรัสเซียได้เข้าครองเมืองนี้ด้วย ทุกคนนั่งหน้าซีดอยู่ในรถทันใดนั้นประตูรถก็เปิดออก คนขับยืนชูตะเกียงอยู่หน้าประตู ข้างๆ คนรถมีนายทหารปรัสเซีย…]

เป็นหนุ่มร่างสูงโย่ง ผอม ผมสีเงิน สวมยูนิฟอร์มตึงเปรี๊ยะราวกับสาวที่ถูกรัดไว้ด้วยคอร์เซท บนหัวมีหมวกแก๊ปทำด้วยผ้านํ้ามัน ทำให้ดูเหมือนคนรับใช้ประจำโรงแรมในประเทศอังกฤษ หนวดดกเฟิ้มบนริมฝีปากนั้น เส้นยาวตรง และค่อยเรียวลงมาที่มุมปาก…

[นายทหารคนนี้พูดภาษาฝรั่งเศสได้ และเขาได้บอกให้คณะลงจากรถ แล้วตรวจดูหนังสือเดินทางจนเป็นที่พอใจ จึงสั่งให้ขึ้นไปพักที่โรงแรม ได้ ตรงนี้โมปัสซังได้พรรณนารูปร่างของนายทหารปรัสเซีย อย่างให้เรา นึกเห็นรูปร่างได้ และพรรณนากิริยาของพวกคนโดยสารตอนลงจากรถให้เรารู้สึกในบรรยากาศของการเดินทาง ในระหว่างที่ข้าศึกกำลังเข้ายึดบ้านเมือง ขณะที่คณะเดินทางกำลังรับประทานอาหารอยู่นั้น เจ้าของโรงแรม ก็เข้ามา…]

“คุณชื่อมิส อลิซเบท โรเซ็ท ใช่ไหม”

บอลล์ ออฟ แฟ็ต สะดุ้ง แล้วตอบว่า “ใช่”

“นายทหารปรัสเชียต้องการพบคุณเดี๋ยวนี้”

“พบฉัน เรื่องอะไร”

“ไม่ทราบ แต่เขาต้องการจะพูดกับคุณมิสโรเซ็ท”

เขาทำหน้าบึ้ง นึกอยู่สักครู่ แล้วตอบห้วนๆ ว่า

“ฉันชื่อโรเซ็ท ถูกแล้ว แต่ฉันไม่ไป”

พวกที่นั่งอยู่ด้วยกันพากันตกใจ และต่างก็พูดไต่ถามกันว่าจะมีเรื่อง อะไร เหตุใดจึงต้องเจาะจงที่ บอลล์ ออฟ แฟ็ต ท่านเคานต์เป็นคนพูด กับเธอว่า

“ฉันว่าการขัดคำสั่งเขาจะไม่ดีนา มันจะทำให้เกิดความยุ่งยากขึ้นมากทีเดียว ไม่ใช่แต่เธอเท่านั้น พวกเราก็คงจะต้องพลอยลำบากไปด้วย ฉันไม่เห็นว่าจะได้ประโยชน์อะไรที่จะไปขัดคำสั่งของผู้ที่กุมอำนาจอยู่ ฉัน เข้าใจว่าคงไม่มีเรื่องสลักสำคัญอะไร เขาอาจต้องการตรวจหนังสือเดินทางของคุณซํ้าอีกก็ได้”

ทุกคนต่างก็อ้อนวอนให้ บอลล์ ออฟ แฟ็ต ไปหานายทหารตามคำสั่ง จนเธอใจอ่อนยอมไปพบ เธอหายออกไปสักสิบนาทีก็กลับเข้ามาและ ร้องว่า “โอ คนอัปรีย์ คนอัปรีย์ ! ” ทุกคนสงสัยว่าจะมีเรื่องอะไร แต่เธอไม่ยอมพูด ท่านเคานต์พยายามถาม เธอก็บอกว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับใคร ทั้งนั้น แต่เธอก็ไม่บอกว่าเรื่องอะไร ในที่สุดต่างก็รับประทานอาหารกันต่อไป และสนทนาโต้เถียงกันเรื่องการสงคราม จนอิ่มหนำสำราญกันแล้วต่างก็แยกไปนอน ตอนนี้โมปัสซังได้บรรยายเรื่องความหื่นกระหายของท่านเคานต์ ที่ลอบติดตาม บอลล์ ออฟ แฟ็ต เข้าไปถึงห้องของเธอแล้วก็ขอนอนด้วย แต่เธอไม่ยินยอม ซึ่งทำให้ท่านเคานต์ประหลาดใจมาก ที่หญิงหาเงินเกิดไม่ยอมขายตัว อ้างว่าในเวลาเช่นนี้และในสถานะอย่างนี้มันไม่เหมาะที่เธอจะประพฤติอย่างนั้น

รุ่งขึ้นคณะเดินทางกำหนดจะออกเดินทาง เวลา ๘ นาฬิกา แต่พอถึงเวลาก็เห็นแต่รถเปล่า ม้าไม่มี คนขับก็หายไป เที่ยวตามหากันจนเกือบ สิ้นหวัง จึงไปพบคนรถนั่งดื่มกาแฟอยู่ในร้านแห่งหนึ่ง ถามได้ความว่า นายทหารปรัสเซียไม่ยอมให้เดินทางต่อไป ถามว่าเพราะเหตุใด ก็ไม่มีใครตอบได้ ต้องรอจนนายทหารปรัสเซียคนนั้นตื่น ผู้ชายในคณะสามคนจึงขออนุญาตขึ้นไปหา

ท่านเคานต์ทำหน้าที่เป็นคนพูด

“พวกเราใคร่จะขออนุญาตเดินต่อไปครับท่าน”

“ยังไปไม่ได้”

“กรุณาแจ้งเหตุผลให้ทราบจะขัดข้องไหมครับ”

“เหตุผลก็คือยังไม่อยากให้ไป”

“แต่ผมใคร่จะเรียนท่านว่าเรื่องการเดินทางครั้งนี้ ท่านผู้บัญชาการ สูงสุดได้อนุญาตให้เราเดินทางไปจนถึงเมืองไดเอปป์ ผมจึงสงสัยว่าเราได้ทำผิดพลาดอะไร จึงถูกห้ามมิให้เดินทางต่อไป”

“ฉันบอกว่ายังไม่ต้องการให้ไป กลับไปก่อนเถอะ”

ทั้งสามคนก็ต้องกลับออกมา

[สาเหตุสำคัญที่นายทหารปรัสเซีย ผู้บังคับการทหารที่เมืองนี้ไม่ยอมให้คณะออกเดินทางต่อไป ก็คือเขาต้องการหลับนอนกับ บอลล์ ออฟ แฟ็ต แต่ บอลล์ ออฟ แฟ็ต ก็ไม่ยินยอม ทั้งๆ ที่เธอเป็นหญิงหาเงิน คณะต้องค้างอยู่ที่เมืองโตตส์อีกสองคืน ต่างก็มีความร้อนใจ โมปัสซังได้บรรยาย ความอีหลักอิเหลื่อตอนนี้ได้ชัดเจนดีมาก บทพรรณนาของเขาทำให้นึกเห็นภาพเหตุการณ์ได้ชัด โมปัสซังดำเนินเรื่องโดยให้พวกผู้ดีเหล่านั้น รวมหัวกันเกลี้ยกล่อมให้ บอลล์ ออฟ แฟ็ต ตกลงปลงใจ ยอมตามความต้องการของนายทหารปรัสเซีย โมปัสซังบรรยายเรื่องตอนนี้ค่อนข้างจะละเอียด และในที่สุด บอลล์ ออฟ แฟ็ต หญิงคนซื่อก็ทนต่อชั้นเชิงการเกลี้ยกล่อมของพวกผู้ดีเหล่านั้นไม่ได้ ยอมหลับนอนกับนายทหารปรัสเซีย ซึ่งทำให้พวกนั้นโล่งอก และหัวร่อต่อกระซิกกันอย่างสนุก ในขณะที่ บอลล์ ออฟ แฟ็ต ต้องยอมตัวให้กับนายทหารที่เธอแสนจะรังเกียจคนนั้น

วันรุ่งขึ้น คณะเดินทางยิ้มแย้มแจ่มใสเตรียมข้าวของและอาหารไป อย่างบริบูรณ์ ทุกคนมาพร้อมกันที่รถแล้ว แต่ บอลล์ ออฟ แฟ็ต ยังไม่ ปรากฏตัว รอกันอยู่ครู่หนึ่ง จึงเห็นเธอออกมาจากโรงแรมด้วยท่าทางอิดโรย ก้มหน้าอย่างนึกละอายใจ พวกผู้ดีคณะเดินทางได้เปลี่ยนท่าทีไปหมดทุกคน บางคนก็แสดงความรังเกียจอย่างออกหน้า ทั้งๆ ที่เมื่อคืนก่อนได้กราบไหว้ วิงวอนเธออย่างอ่อนน้อมถ่อมตัว ทุกคนขึ้นรถ…]

“พวกนั้นทำเมิน เหมือนไม่แลเห็นเธอ มาดามลัวโซนั้นมองดูเธอ อยู่ห่างๆ และว่า “เคราะห์ดี ไม่ต้องนั่งใกล้กับแม่คนนี้”

รถอันหนักเริ่มออกเดินทาง ในตอนแรกๆ ไม่มีใครพูดอะไร บอลล์ ออฟ แฟ็ต นั่งก้มหน้าไม่ยอมเงย เธอรู้สึกโกรธแค้นพวกที่มาด้วยกับเธอ เวลาเดียวกันก็รู้สึกหม่นหมองใจ ที่พวกเหล่านั้นทำใจดี หลอกล่อให้เธอต้องยอมเข้าไปอยู่ในอ้อมแขนอันน่ารังเกียจของนายทหารปรัสเซียคนนั้น”

ครั้นรถออกวิ่งมาได้สักพัก พวกในรถจึงเริ่มพูดกันบ้าง แต่ไม่มีใครยอมพูดกับ บอลล์ ออฟ แฟ็ต สักคนเดียว สามชั่วโมงต่อมานายลัวโซ ร้องว่า หิวแล้ว เมียของเขาก็หยิบหีบกระดาษบรรจุเนื้อเย็นขึ้นมารับประทาน กับสามี ส่วนคนอื่นๆ ต่างก็เตรียมอาหารกันมาทุกคน ต่างหยิบออกมารับประทาน และหัวร่อต่อกระซิกกันอย่างชื่นบาน ขณะที่รับประทานกันนั้น ไม่มีใครมีแก่ใจนึกถึง บอลล์ ออฟ แฟ็ต เลย และเธอก็นั่งปากแห้งทนหิว เพราะการที่เธอต้องเสียสละตัวเพื่อเห็นแก่คนพวกนี้ ทำให้เธอต้องรีบร้อน เตรียมการเดินทางจนลืมที่จะเตรียมอาหารมาด้วย…

“บอลล์ ออฟ แฟ็ต ไม่สามารถจะกลั้นนํ้าตาไว้ได้ เธอนั่งนํ้าตาไหลพรากมาตลอดทาง บางครั้งก็มีเสียงสะอื้นดังเข้าหูพวกผู้ดีที่นั่งอยู่ในเงามืดของรถ เมื่อเวลาใกล้ค่ำ”
-จบเรื่อง-

เรื่องสั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องเชิงแนวคิด (Theme Story) ว่าความเป็นผู้ดีนั้น ไม่ได้อยู่ที่ความร่ำรวยหรืออยู่ที่ตระกูล แต่อยู่ที่นํ้าใจอันสูงส่งต่างหาก

ว่าถึงเนื้อเรื่อง ถ้าจะเล่าถึงแบบสรุปก็สั้นนิดเดียว แต่โมปัสซังได้ บรรยายโดยแสดงบทบาทตัวละคร ให้บทเจรจาหรือบทสนทนาของตัวละคร ทำให้การดำเนินเรื่องดูเป็นจริงขึ้น และเขาให้ผู้อ่านนึกเห็นเอาเองว่าใครน่ารักน่าชังอย่างไร บทพรรณนาก็ทำเฉพาะที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินเรื่อง อะไรที่ไม่ช่วยในการที่จะให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องดีขึ้น เขาก็งดเสีย เช่น รถม้าที่คณะอพยพนั่งมานั้น เขาพูดสั้นนิดเดียว เพราะไม่ใช่ส่วนสำคัญของเรื่อง ตอนที่เขาพรรณนายาว ก็คือตอนที่นายทหารปรัสเซียไม่ยอมให้คณะเดินทางต่อไป และคณะพวกผู้ดียอมลดตัวกราบไหว้วิงวอน บอลล์ ออฟ แฟ็ต

เรื่องสั้นเชิงแนวคิดนี้ หากผู้เขียนไม่เข้าถึงจิตใจของคนชนิดต่างๆ และให้คำพรรณนาบทบาท และบทเจรจาไม่ดี ก็จะทำให้เรื่องอ่อนจนไม่มี คุณค่าเลย

เรื่องสั้น ที่ถือตัวละครเป็นจุดเด่น (Character Story)
บางทีเมื่อท่านไปในสังคม หรือไปเที่ยวพบปะคนมากๆ ท่านคงจะสังเกตเห็นว่า ในบรรดาคนเหล่านั้นจะมีคนหนึ่งที่ดูเด่นกว่าคนอื่นๆ เขา อาจจะสูงโย่ง แต่เสียงเบา เขาอาจจะตัวเล็กแต่เสียงดังแสบหู เขาอาจจะสวมเสือแดงแปร๋ เขาอาจจะเถียงกับเด็กขายตั๋วเพียงเรื่องเล็กน้อย เขาอาจจะจู้จี้จุกจิกในเรื่องการสั่งอาหาร และบางที เมื่อท่านสนิทกับใครสักคนหนึ่ง ท่านจะรู้สึกว่า คนๆ นี้มีนิสัยแปลกกว่าคนอื่นๆ คนพวกนี้อาจก่อให้เกิดพฤติการณ์แปลกๆ ขึ้นได้เสมอ สามีที่ตระหนี่จนคิดถึงเรื่องเงินทุกกระเบียดนิ้ว อาจทำให้ภรรยาอยู่ด้วยไม่ได้ หญิงที่ขี้เล่น (กับไฟ) อาจต้องเสียตัว โดยไม่ทันรู้ตัว หญิงสวยที่ตั้งใจเลือกชายที่ดีทุกอย่าง กลับได้ผัวเลวๆ เหล่านี้เกี่ยวกับนิสัยใจคอและบุคลิกอันผิดเพื่อนของบุคคล นักเขียนอาจนำมาเติมแต่งเป็นเรื่องสั้นได้ คนอ่านก็ชอบ เพราะคนชอบเรื่องของคนอื่น

เรื่องสั้นที่ถือตัวละครเป็นจุดเด่น (บางทีเรียกว่า เรื่องสั้นประเภท แสดงนิสัยตัวละคร) ผู้เขียนมักหยิบยกตัวละครที่มีจุดเด่นพิเศษในทางเมตตา กรุณา เฉลียวฉลาดหลักแหลม ซื่อตรงต่อหน้าที่ ซื่อตรงต่อเจ้านาย มีความพยาบาทอาฆาตรุนแรง นํ้าใจเด็ดเดี่ยว หรือเป็นอาชญากรโดยกำเนิด มาเขียนเป็นเรื่องสั้นขึ้น ผู้เขียนต้องเป็นคนช่างสังเกต และติดตามให้รู้พฤติการณ์ของบุคคลพิเศษพวกนี้ แล้วนำมาเขียนเป็นเรื่องแสดงให้เห็นว่าความที่มีลักษณะพิเศษอย่างนั้นๆ นำให้เกิดพฤติการณ์อย่างนั้นๆ แต่เราต้องเข้าใจว่าในการเขียนนั้น นักเขียนจำต้องแต้มเติมเรื่องเพื่อให้ผู้อ่านได้รส เกิดจินตนาการชัดเจนขึ้น

การสร้างตัวละคร
โดยปกติเรื่องสั้นควรมีตัวละคร หรือตัวบุคคลในเรื่องไม่เกิน ๖ คน มีตัวเอกหรือตัวสำคัญที่มีบทบาทอยู่ตลอดเรื่องตัวหนึ่ง ละครตัวนี้จะต้องมี ลักษณะนิสัยเด่นพิเศษ อาจมีความปรารถนาที่แปลกประหลาด มีจุดอ่อนในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง มีอำนาจใหญ่ มีความทะเยอทะยาน มีอุดมคติซึ่งผิดแปลกแตกต่างจากคนปกติธรรมดา ลักษณะและนิสัยอันแปลกประหลาดเหล่านี้แหละ ที่ก่อให้เกิดพฤติการณ์ขึ้น คือเป็นแนวเรื่องที่นักเขียนจะนำมาเขียน อย่างเช่น แม่เจ้าเนื้อ (The Ball of Fat) ในเรื่องสั้นของโมปัสซัง ถึงเธอจะเป็นหญิงหาเงิน แต่ก็มีอุดมคติ คือ ไม่ยอมหาเงินกับพวกทหารของศัตรู และเมื่อไม่ใช่เวลาและสถานที่หาเงิน เธอก็ไม่ยินดีที่จะได้เงิน

ในเรื่อง ๑/๕๐๐ ของ ดอกไม้สด ดอกไม้สดได้สร้าง นายโชติ ศรีเพชร์ ซึ่งเป็นคนมีนิสัยแปลกเพื่อน

“นายโชติ ศรีเพชร์ เป็นเนติบัณฑิต ทำงานอยู่ในสำนักทนายความแห่งหนึ่ง อายุ ๒๔ ปี กับ ๘ เดือน…

..นายโชติมีนิสัยพิเศษอยู่อย่างหนึ่ง คือ นิสัยชอบ ‘ขวางโลก’ เป็นต้นว่า
สมัยหนึ่งนายโชติอยู่ในหมู่คนที่ชอบการฟ้อนรำแบบไทย เช่น โขน และละครรำ นายโชติเกลียดการฟ้อนรำเป็นที่สุด ถือว่าโขนและละครรำ ยืดยาด ซํ้าซาก และไม่มีการดัดแปลงให้ทันสมัย ทันใจมนุษย์ที่ ‘ไปเร็ว’ ขึ้นทุกวัน…

…ครั้นมาถึงสมัยที่คนเป็นส่วนมากมีความเห็นตรงกับนายโชติ ละคร ‘กำๆ แบๆ’ เฟื่องฟูขึ้นแทนการฟ้อนรำ นายโชติก็คอยสำเหนียกว่าจะมีการแสดงละครรำหรือโขนในที่ใด แล้วก็ต้องรีบซื้อตั๋วล่วงหน้า…,,

ลักษณะขวางโลกของนายโชตินี้ ทำให้เกิดพฤติการณ์ขำๆ ต่างๆ ซึ่งดอกไม้สดผูกขึ้นเป็นเรื่องอย่างสนุก

ผู้ที่รู้จักสังเกต จะเห็นคนที่มีลักษณะแปลกๆ ที่จะนำมาผูกเป็นเรื่องขึ้นได้เสมอ เช่น คนที่ใจบุญสุนทาน มีเมตตากรุณาต่อคนทั่วไป แต่มีนิสัยเกลียดแมว คนที่มั่งคั่งมีเงิน แต่เก็บรักษาของถี่ยิบ แม้แต่เชือกผูกของก็ไม่ยอมทิ้งเก็บของเป็นขยะไว้เต็มบ้าน

นักเขียนเรื่องสั้นแนวนี้ ต้องเป็นนักสังเกตเมื่อพบเห็นผู้ใด ไม่ว่าเด็ก หรือผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะในรถโดยสารหรือที่หนึ่งที่ใด ก็มองจับลักษณะที่แปลก ประหลาดอันมีอยู่ในบางคนได้

บทฝึกของท่าน
เขียนชีวประวัติของใครคนหนึ่ง ที่ท่านจะนำมาเป็นตัวละครสำคัญ ในเรื่องสั้นของท่าน อาจเป็นเพื่อนหรือใครคนหนึ่งก็ได้ ที่ท่านรู้จักพอสมควร และท่านควรเพิ่มเติมลักษณะของคนนั้นให้เข้มข้นขึ้น โดยจินตนาการของท่าน ในการเขียนชีวประวัตินี้ ให้ท่านบอกวัน เดือน ปีเกิด บิดามารดา ชีวิต เมื่อเยาว์ เมื่อเติบโตขึ้น การงาน ลักษณะนิสัย ลักษณะที่เด่นพิเศษ อารมณ์ กิริยาท่าที การแต่งกาย

ในการแสดงลักษณะนิสัยตัวละครนั้น วิธีที่ดีที่สุดก็โดยทางบรรยาย กิริยาท่าที การกระทำและการพูดจาของคนนั้นๆ แต่อาจจะใช้วิธีพรรณนาโดยตรง อย่างเรื่องนายโชติใน ๑/๕๐๐ ดอกไม้สดเริ่มโดยการพรรณนาลักษณะโดยตรงว่าเป็นอย่างไร

บทเจรจา
คำว่า บทเจรจา นี้มาจากการเล่นละครหมายถึงคำพูดโดยตรงของตัวละคร คือว่าตัวละครตัวหนึ่งก็มีคำพูด แบบพูดอย่างหนึ่ง ก็เหมือนกันกับคนจริงๆ ถ้าเราสังเกตจะเห็นว่ามีแบบพูดไม่เหมือนกัน บางคนพูดเร็ว บางคนพูดช้า บางคนพูดเล่นสำนวน บางคนพูดคำสบถคำ บางคนอดพูดคำหยาบไม่ได้ บางคนติดอ่าง ยังมีอีกสารพัด

บทเจรจานี้นับว่าสำคัญมากในการแต่งเรื่อง นักเขียนที่ขาดความ ชำนาญมักให้บทเจรจาของตัวละครเหมือนกันหมดทุกตัว เลยกลายเป็นบทเจรจาของผู้เขียนเอง ไม่ใช่ของตัวละคร อีกประการหนึ่ง บทเจรจานั้น ต้องเลือกเฟ้น โดยถือหลักว่า

ก. ต้องให้แสดงลักษณะและนิสัยใจคอของตัวละคร
ข. ต้องมีประโยชน์ในการดำเนินเรื่อง

คำพูดหรือบทเจรจาที่ไม่ให้ประโยชน์ ๒ ประการนี้ จะเอามาใช้ไม่ได้

อีกประการหนึ่งในบทเจรจา เราต้องเขียนว่า “เขาพูด” หรือ “เขาว่า”ทำนองนี้ แต่ถ้าใช้เพียงคำ “พูด’’ หรือ “ว่า’’ ก็ไม่แสดงให้เห็นกิริยาของ ตัวละคร เราจึงต้องดัดแปลง เป็น เขาตวาด เขาบ่น เขากระซิบ เขาเยาะ เขารับรอง หรืออะไรก็แล้วแต่ ที่จะเข้ากับบทบาทของตัวละคร

การที่จะให้บทเจรจามีชีวิตชีวานั้น ไม่ควรให้ตัวละครตัวหนึ่งๆ พูดยาวๆ ควรให้มีการขัดจังหวะกัน คำพูดพยายามให้ธรรมดาสามัญอย่างคนทั่วไปพูดกัน เรื่องนี้นักเขียนต้องเป็นคนช่างสังเกตตามเคย คือ สังเกต การพูด การใช้คำของคนต่างๆ เราจะเห็นว่า แพทย์พูดอย่างหนึ่ง หมอดู หมอความพูดอย่างหนึ่ง ถ้าเราเขียนเรื่องมีตัวละครเป็นหญิงแก่หมอนวด อย่างนี้เราต้องใช้คำเจรจาที่สมกับเป็นจริง จะทำอย่างนี้โดยผู้เขียนต้องเคยพบเคยสังเกตการพูดของหญิงแก่หมอนวด ซึ่งแน่นอนละ จะต้องมีอะไรแปลกไปจากคำพูดของคนอื่นๆ

ต่อไปนี้ เป็นบทเจรจาในเรื่อง ๑/๕๐๐ เป็นบทของนายโชติและแม่จวง ภรรยา ขณะนั้นเวลาดึก แม่จวงทะเลาะกับนายโชติ ทำงอนอยู่นอกมุ้ง แต่พอตกดึกเข้ารู้สึกว่าจะทนยุงไม่ไหว

“คุณคะ คุณคะ”
เรียกอยู่อย่างนั้น ๓ ครั้ง นายโชติก็พลิกตัว แต่ไม่ลืมตา

“คุณคะ คุณคะ” เสียงดังขึ้นกว่าเก่าอีกสองครั้ง นายโชติผุดลุกขึ้นนั่ง ถามอย่างตกใจ

“อะไรกัน”

“นอนเถอะ นอนเถอะ นอนพูดกันก็ได้ บอกให้นอนก็นอนเถอะนะ”

นายโชติทั้งง่วงทั้งงง ทั้งตกใจ ก็นอนลงตามคำสั่ง

“ไอ้ยานี่กินก่อนข้าวหรือทีหลังข้าวแน่”

“ยาอะไร” นายโชติลุกขึ้นเอกเขนกถาม

“ยานี่นะ” แม่จวงชูขวดให้เห็นถนัด
ในขณะนั้นเองนาฬิกาดังมาจากข้างล่าง นับได้สามครั้ง

“สามยามใช่ไหม”

“ค่ะสามยาม ว่าแต่ยานี่เถอะ”

“ใครเป็นอะไรไป จะลุกขึ้นกินยาเวลาสามยาม สเตอร์นไวน์ไม่ใช่ยา สำหรับปฐมพยาบาลนี่นา”

“รู้แล้ว ไม่ใช่ปฐมปะแถมอะไรทั้งนั้น อยากรู้ว่ากินเวลาไหน”
นายโชตินิ่งอั้นไปด้วยความที่เข้าใจภรรยาไม่ได้ จนไม่นึกที่จะโกรธ

“ว่ายังไงละคะ ให้กินเวลาไหน”
นายโชติยังนิ่งอั้นอยู่อีก เพราะพูดอะไรไม่ถูกจริงๆ

“คุณว่าฉันผิดๆ เห็นไหม เวลานี้พูดอะไรไม่ออก ตอบอะไรไม่ได้”
นายโชติถอนหายใจดังฮืด แขนขาสั่นไปหมดด้วยความโมโห นิ่งอั้นอยู่นานแล้วระเบิดออกมาว่า

“อีบ้า”
“……….”

นี่เป็นฉากในห้องนอนของสามีภรรยา ซึ่งต่างก็มีอะไรพิสดารด้วยกัน ตามเรื่องบอกว่าเป็นเวลาสามยาม ท่านอ่านแล้วนึกเห็นภาพกิริยาท่าทางจากตัวละครนี้ได้ดีทีเดียว ดอกไม้สดเป็นนักเขียนที่มีความสามารถในการให้บทเจรจาของตัวละครได้ดีมาก

ที่มา:เปลื้อง ณ นคร

ความหมายและลักษณะของเรื่องสั้น

ก่อนที่จะศึกษาวิธีเขียนเรื่องสั้น ควรจะเข้าใจไว้เสียก่อนว่าหลักต่างๆ ที่จะได้แนะนำต่อไปนี้ มิใช่กฎเกณฑ์ตายตัว เพราะการประพันธ์นี้เหมือน กับศิลปะประเภทอื่น ศิลปินย่อมดัดแปลงวิธีทำตามที่ตนเห็นดีเห็นชอบ แต่สำหรับผู้เริ่มฝึก หลักนี้จะช่วยได้มาก บางคราวเมื่อท่านต้องการเขียนเรื่อง แต่ท่านคิดไม่ออกว่าจะเขียนขึ้นต้นลงท้ายอย่างไร เรื่องที่ท่านเขียนดีหรือยัง มีขาดตกบกพร่องควรตกแต่งตรงไหน ตอนนี้แหละหลักการประพันธ์จะช่วยท่าน ทั้งจะช่วยให้ท่านรู้จักพิจารณาวรรณกรรมอื่นๆ ว่าของเขาดีชั่วอย่างไร ที่จริงกฎเกณฑ์แห่งการประพันธ์นั้น ตั้งขึ้นโดยการสังเกตและศึกษาวรรณกรรมของศิลปินที่มหาชนนิยมยกย่องกันแล้วนั่นเอง

ผู้ที่เริ่มฝึกหัดใหม่ไม่ควรจะใจร้อนเกินไป และควรมีความอดทน พอที่จะฟังข้อทักท้วงของผู้อื่น บางคนพอลงมือเขียนเรื่องก็จะให้ใช้ได้ทีเดียว ผู้ที่ทำได้สำเร็จผลเช่นนี้มีน้อยนัก นักเขียนสำคัญๆ ของเราเกือบทุกท่าน ได้เขียนเรื่องทิ้งเสียไม่รู้ว่ากี่เรื่องต่อกี่เรื่อง การมั่นใจและตีราคางานของตนจนเกินไปก็เป็นทางกีดกันนักเขียนมิให้บรรลุผลสำเร็จได้ นักเขียนเป็นนักศิลป์ จึงต้องเพ่งเล็งถึงความดียอดเยี่ยม ฉะนั้นจึงต้องคอยพยายามแก้ไข และรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นอยู่เป็นนิตย์ ถ้าเราไม่ยอมให้ใครติ จะเป็นนักเขียนที่ดีต่อไปไม่ได้

ความหมายของเรื่องสั้น
เรื่องสั้น (Short Story) เดิมมีความหมายถึงเรื่องซึ่งบรรจุคำประมาณ ๑,๐๐๐ คำ ถึง ๑๐,๐๐๐ คำ เป็นเรื่องที่อ่านรวดเดียวจบในเวลาตั้งแต่ ๕ ถึงอย่างมาก ๔๐ นาที เรื่องสั้นเป็นพวกบันเทิงคดีที่มีคนนิยมแพร่หลาย เพราะใช้เวลาอ่านน้อย ได้รู้เรื่องทันอกทันใจ เป็นเครื่องว่างของจิตใจเมื่อยามหมดธุระการงาน ระหว่างพักผ่อนอยู่เฉยๆ การอ่านเรื่องสั้นๆ ย่อมทำให้เกิดความเพลิดเพลิน ลืมภาระและความวิตกกังวลได้ชั่วขณะหนึ่ง นี่เป็นความต้องการของคนปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าในวงหนังสือพิมพ์ของประเทศเราบรรดานิตยสารต่างๆ มากมายหลายสิบฉบับ ได้พิมพ์เรื่องสั้นบำเรอความสำราญของผู้อ่านรวมแล้วสัปดาห์หนึ่งนับเป็นร้อยๆ เรื่อง เรื่องสั้นเหล่านี้ มีเค้าเรื่องหลากชนิด เป็นเรื่องรัก เรื่องผจญภัย เรื่องลึกลับ เรื่องตื่นเต้น เรื่องหวาดเสียวและอีกหลายเรื่อง แล้วแต่นักประพันธ์จะประดิษฐ์คิดเขียน

ในระหว่างนักศึกษาทางการประพันธ์ มีความเห็นว่า เรื่องสั้นมิใช่สักแต่ว่าสั้น แต่มีลักษณะอันพิเศษโดยเฉพาะ คำว่าเรื่องสั้นเป็นคำบัญญัติ (Technical Term) ทางวรรณคดี ดร.บล็องเช คอลตัน (Blanche Colton) ให้คำจำกัดความว่า “เรื่องสั้นคือนิยายอันประกอบด้วยศิลปะลักษณะ แสดงเรื่องของตัวละครอันตกอยู่ในสภาพแห่งความยากลำบากหรืออยู่ในที่ขัดข้อง อับจน แล้วต่อสู้หรือแก้ไขพฤติการณ์อันนั้นจนบรรลุผลที่สุดอย่างใดอย่างหนึ่ง”

คำว่า ตัวละคร (Character) นี้ยืมเอาคำทางการละครมาใช้ หมาย ความว่า ตัวซึ่งมีบทบาทอยู่ในเรื่อง

สมมุติว่ามีเรื่องดังนี้ ชายคนหนึ่งโดยสารมาในรถด่วน โดยเหตุที่ตนได้ประสบความยุ่งยากต่างๆ มาก เห็นว่าไม่ควรอยู่ทนทุกข์ทรมานต่อไป ในเวลากลางคืนขณะที่รถไฟกำลังแล่นผ่านเหว ชายคนนั้นก็เลี่ยงออกมาที่ชานรถ ยืนรีรออยู่ครู่หนึ่ง ในที่สุดตัดสินใจว่าจะกระโดดรถให้ตายเสีย (ตอนนี้คือ ตัวละครอยู่ในสภาพที่ต้องต่อสู้กับความลำบากอะไรอย่างหนึ่ง) พอเขาเตรียมจะกระโดดก็มีมือมาจับไหล่ไว้ คนที่มาใหม่เมื่อทราบเรื่องความทุกข์และความตั้งใจของชายนั้น ก็กล่าวชี้แจงปลอบโยนจนชายนั้นเปลี่ยนความตั้งใจ กลับเข้าไปข้างในรถ ชายคนที่มาทีหลังความจริงก็มีเรื่องกลุ้มใจ จะออกมาโดดรถไฟให้ตายเหมือนกัน ดังนั้นพอคนก่อนลับเข้าไปในรถ เขาก็ตัดใจพุ่งตัวออกไปนอกรถ (นี่คือผลสุดท้าย)

เมื่อท่านอ่านแล้วจะเห็นว่าเรื่องที่เล่ามานี้เป็นนิยายเหมือนกัน แต่ไม่มีรสชาติอันใด ทั้งนี้เพราะเรื่องที่เขียนนี้เป็นเพียงโครงเรื่อง ไม่ประกอบ ด้วยศิลปลักษณะ

เจ. แบร์ก เอเซนเวน (J. Berg Esenwein) ให้คำชี้แจงไว้ว่าเรื่องสั้นที่ดีจริงๆ ต้องประกอบด้วยคุณลักษณะดังนี้

๑. ต้องมีพฤติการณ์สำคัญอันเป็นต้นเรื่องแต่เพียงอย่างเดียว กล่าว คือในการเปิดเรื่องของเรื่องสั้น จะให้มีเหตุการณ์หลายอย่างไม่ได้ ต้องมี พฤติการณ์สำคัญที่จะทำไห้เรื่องดำเนินต่อไปเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ข้อนี้ จะเห็นว่าผิดกับนวนิยายมาก เพราะในนวนิยายนั้นมักจะมีพฤติการณ์ต่างๆ มาประชุมกันหลายอย่าง ซึ่งถ้าท่านอ่านนวนิยายแล้วจะเห็นได้ทันทีว่านักเขียนจะต้องเบิกตัวละครออกมาหลายตัวกว่าจะได้ดำเนินเรื่องกันอย่างจริงจัง

๒. ต้องมีตัวละครที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในท้องเรื่องแต่เพียงตัวเดียวเท่านั้น ตัวละครประกอบอื่นๆ จะมีก็โดยจำเป็น และเกี่ยวข้องกับตัวสำคัญจริงๆ และตามปกติแล้วไม่ควรให้มีเกิน ๕ ตัว

๓. ต้องมีจินตนาการหรือมโนคติ ซึ่งได้แก่ความสามารถที่จะสร้างภาพขึ้นในดวงจิต ทั้งของนักประพันธ์และของผู้อ่าน ก่อนที่จะประพันธ์เรื่อง นักประพันธ์จะต้องนึกเห็นภาพของท้องเรื่องให้แจ่มใส แล้วเขียน พรรณนาให้อ่านแล้วนึกเห็นภาพได้อย่างที่นักประพันธ์เห็น

๔. ต้องมีพล็อตหรือการผูกเค้าเรื่อง ซึ่งมักจะประกอบด้วย ปม หรือ ข้อความที่ทำให้ผู้อ่านฉงนและอยากรู้ว่าจะเกิดมีอะไรต่อไป แล้วดำเนิน เรื่องพาผู้อ่านให้ทึ่ง หรือสมใจยิ่งขึ้นทุกทีจนถึงยอดของเรื่อง ซึ่งเรียกกัน ว่า ไคลแมกซ์ (Climax)

๕. ต้องมีความแน่น เรื่องสั้นมีเนื้อที่น้อย สิ่งที่เราจะเขียนลงไปต้องมีประโยชน์ต่อเรื่อง ต้องเขียนอย่างรัดกุมเท่าที่จำเป็น ฉาก (Setting) การให้บทตัวละคร (Characterization) คำพูดหรือกิริยาอาการต่างๆ จะเขียนฟุ่มเฟือยไม่ได้ ต้องพยายามหาวิธีเขียนให้ใช้คำน้อย แต่ได้ความมาก

๖. ต้องมีการจัดรูป คือต้องวางรูปเรื่อง โดยถือตัวละครเป็นใหญ่ ให้พฤติการณ์เกิดมาจากตัวละคร จะต้องลำดับพฤติการณ์ให้มีชั้นเชิงชวน อ่าน จะเขียนอย่างจดหมายเหตุประจำวันไม่ได้
๗. ข้อสุดท้าย เรื่องจะต้องให้ความรู้สึกโดยเฉพาะอย่างหนึ่งอย่างใด เมื่อผู้อ่านอ่านจบแล้ว ควรจะได้รับรสหรือเกิดอารมณ์ขึ้นอย่างใดอย่างหนึ่ง จะเป็นความรู้สึกยินดี ตื่นเต้นสยดสยอง หมดหวัง ขบขัน หรือ เศร้าใจ ก็แล้วแต่

เนื้อเรื่อง
ในการเขียนเรื่อง เราต้องได้เรื่องมาก่อน แล้วนำมาเรียบเรียงให้ได้ศิลปลักษณะ ก็เรื่องนั้นได้มาจากไหน นี่เป็นปัญหาแรกที่เผชิญหน้าผู้เริ่มฝึกการประพันธ์ตามปกติเราย่อมได้เรื่องมาจากสองทาง ทางหนึ่งได้จาก มโนคติ คือนึกวาดภาพเรื่องขึ้นในหัว พูดง่ายๆ ว่าปั้นเรื่องขึ้นเอง หลัก สำคัญในการปั้นเรื่องขึ้นจากมโนคตินี้ ต้องพิเคราะห์ดูว่า เรื่องเช่นนั้นมันน่าจะเป็นจริง อย่าสร้างเรื่องอันเกินที่ปุถุชนจะยอมรับว่าเป็นความจริง อย่างไรก็ตาม เรื่องแปลกประหลาดพิสดารนั้น นักประพันธ์ผู้มีฝีมืออาจจะจูงใจให้ผู้อ่านเชื่อตามได้เหมือนกัน สำหรับผู้เริ่มฝึกยังไม่ควรพยายามทำ อีกทางหนึ่ง เรื่องย่อมได้มาจากสิ่งที่แวดล้อมตัวเราอยู่นั่นเอง ญาติพี่น้อง มิตรสหาย เพื่อนร่วมงาน เหตุการณ์ประจำวัน ข่าวในหนังสือพิมพ์ สิ่งต่างๆ ที่ได้ผ่านเราไป ล้วนมีเรื่องที่เราอาจเก็บมาเขียนได้ทั้งสิ้น

เรื่องสั้นสี่ชนิด
เรื่องสั้นที่เขียนกันอยู่ในเวลานี้มีอยู่ ๔ ชนิด คือ
๑. ชนิดผูกเรื่อง (Plot Story) คือชนิดที่มีเค้าเรื่องซับซ้อน น่าฉงนใจ และจบลงในลักษณะที่ผู้อ่านคาดหมายไม่ถึง หรือไม่นึกว่าจะเป็นเช่นนั้น

๒. ชนิดเพ่งที่จะแสดงลักษณะของตัวละคร (Character Story) เป็น ชนิดที่ผู้เขียนถือตัวละครเป็นใหญ่ และต้องการที่จะเสนอลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดของคนเป็นสำคัญ

๓. ชนิดที่ถือฉากเป็นส่วนสำคัญ (Atmosphere Story) โดยที่ผู้เขียน บรรยายสถานที่แห่งหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะทำไห้เกิดความรู้สึกนึกคิดไปต่างๆ พฤติการณ์และตัวละครเกี่ยวพันอยู่กับฉาก

๔. ชนิดที่แสดงแนวความคิดเห็น (Theme Story) โดยที่ผู้เขียนมีอุดมคติหรือต้องการชี้ให้เห็นความจริงอย่างหนึ่งของชีวิต

ผู้เริ่มฝึกการประพันธ์ ควรจะฝึกเรื่องชนิดที่ ๑, ๒, ๓ และ ๔ ตาม ลำดับ จะได้ชี้แจงโดยละเอียดดังต่อไปนี้

เรื่องสั้นชนิดผูกเรื่อง
มูลของเรื่องย่อมได้จากพฤติการณ์ สถานการณ์ หรือเกร็ดต่างๆ ที่เล่ากันมา จะเป็นเกร็ดทางประวัติศาสตร์ หรือนิทานสั้นๆ จากสิ่งเหล่านี้ นักเขียนนำมาผูกเป็นเรื่องราวขึ้น พฤติการณ์ ได้แก่สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ได้แก่ ข่าวในหนังสือพิมพ์ ความจัดเจนของผู้เขียน คำบอกเล่าของเพื่อน เรื่องที่เป็นมาในประวัติศาสตร์ ชีวประวัติ ส่วนสถานการณ์นั้น ได้แก่เหตุอันยุ่งยาก คับขัน หรือผิดปกติ เช่น เพื่อนสองคนเกิดรักผู้หญิงคนเดียวกัน ชายไปรักหญิง ซึ่งญาติฝ่ายหญิงเคยเป็นศัตรูกับบิดามารดาของตน คนๆ หนึ่งย่อมเสี่ยงชีวิตเพื่ออุดมคติของเขา อุปสรรคกีดขวางของความรัก คนรักที่ได้สูญหายไปพบกันใหม่ ความเข้าใจผิดระหว่างกัน เหล่านี้เป็นสถานการณ์ที่นำไปสู่ผลอันใดอันหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนตั้งขึ้นเป็นมูลเรื่อง และนำผู้อ่านไปสู่ความคลี่คลายอย่างหนึ่งอย่างใดในตอนท้าย

ตัวอย่างพฤติการณ์ และสถานการณ์ที่มีคุณค่า ควรนำมาเขียนเป็นเรื่องได้

เรื่องที่มีคุณค่าสมควรนำมาเขียนนั้นต้องไม่ใช่เรื่องที่เป็นสาธารณะ หรือเรื่องที่พบเห็นกันตามปกติ ถ้าท่านอ่านหนังสือพิมพ์พบข่าวผู้ร้ายเข้าไปขู่เจ้าของบ้าน ได้ทรัพย์แล้วก็หนีไป นี่เป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าผู้ร้ายนั้นต้องการแต่เพียงรูปถ่ายที่ใส่กรอบไว้รูปเดียว ไม่แตะต้องทรัพย์สมบัติอื่นๆ เลย เช่นนี้นับว่าเป็นเรื่องที่มีอะไรพิเศษอยู่ เมื่อท่านกลับมาบ้านลองนั่งทบทวนเรื่องที่ท่านได้ฟังจากเพื่อน จะเห็นได้ว่าเรื่องต่างๆ ที่ได้สนทนากันนั้น โดยมากก็คล้ายๆ กับที่ได้พูดกันอยู่ทุกวัน แต่บางทีเขาอาจจะกล่าวขวัญถึงการแต่งงานรายหนึ่ง ซึ่งพอรุ่งขึ้นจากวันวิวาห์ สามีชั่วคืนเดียวก็หย่าขาดจากภรรยาของเขา ท่านอาจจะได้ฟังเรื่องอันมีลับลมคมในแห่งการแต่งงานนั้น นี่แหละคือวัตถุดิบของนักประพันธ์ เมื่อได้วัตถุดิบมาแล้วเช่นนี้ ก็เป็นฝีมือของนักประพันธ์ที่จะตกแต่งให้วัตถุดิบเป็นวัตถุแห่งศิลปะต่อไป แต่ถ้าท่านไม่รู้รายละเอียด เพียงแต่ได้เค้ามาอย่างนี้ ก็เป็นการเพียงพอที่ท่านจะนิรมิตเรื่องให้เข้าร่องรอยกับเค้าที่ท่านได้ยินได้ฟังมา

ตัวอย่างอื่นๆ
๑. หญิงคนหนึ่งขโมยของ เพื่อจะนำไปขาย เอาเงินมาซื้อยาให้สามีที่กำลังเจ็บหนัก

๒. ชายคนหนึ่งถูกรถยนต์ชนล้มลง เขารีบลุกขึ้นและมองหาตำรวจ จราจร แต่ปรากฏว่าคนขับรถนั้น คือเมียของเขาเอง

๓. ลูกเลี้ยงเกลียดแม่เลี้ยงของเขาอย่างเข้ากระดูกดำ แต่เมื่อเห็นแม่เลี้ยงตกน้ำ และกำลังจะจมนํ้าตาย เขาตัดสินใจกระโดดลงไปช่วย

๔. บิดาเป็นกำนัน ไปตามจับผู้ร้ายสำคัญ ปรากฏว่าผู้ร้ายนั้นคือ ลูกชายของเขาเอง กำลังอยู่ในที่ล้อม เขาอาสาเจ้าหน้าที่เข้าไปเกลี้ยกล่อม ลูกชายให้ยอมให้จับเสียโดยดี แต่เมื่อเข้าไปถึงตัวลูกชาย ได้พูดกันแล้ว เขากลับช่วยลูกชายต่อสู้กับเจ้าหน้าที่

๕. พอแต่งงานกันเสร็จ ภรรยาจึงรู้ว่าสามีของเขาเป็นผู้ร้ายฆ่าคน บ้านเมืองกำลังตามจับตัว

๖. ชายคนหนึ่งได้รับความทุกข์ทรมานด้วยความยากจน จึงคิดจะยิงตัวตาย ในขณะที่ตัดสินใจเด็ดขาด คู่รักของเขากำลังนำข่าวดีมาบอก แต่ ไม่ทัน เขายกปืนขึ้นจี้ขมับลั่นไก เผอิญลูกปืนด้าน

๗. ชายคนหนึ่งย้ายบ้านมาอยู่บ้านเช่าแห่งหนึ่ง บ้านเช่าแถบนั้นมี ลักษณะเหมือนกันทุกบ้าน วันหนึ่งกลับบ้านดึก และบังเอิญลืมกุญแจบ้านไว้ในบ้าน จึงปีนหน้าต่างเข้าไป แต่ปรากฏว่าเขาเข้าผิดบ้าน

ตัวอย่างเหล่านี้เป็นเหมือนรากแก้วของเรื่อง การที่นักประพันธ์จะเสกสรรให้น่าอ่านน่าทึ่งนั้น ก็ต้องอาศัยวิธีเขียน เช่นในตัวอย่างข้อ ๗ จะต้องพรรณนาฉากบ้านเช่า ความมืดในตอนดึก และอาการของชายในขณะที่มาถึงบ้าน ทำให้ผู้อื่นเชื่อว่าชายคนนั้นจำบ้านของตนผิดได้อย่างไร และเมื่อเข้าผิดบ้านแล้ว เกิดมีอะไรขึ้น ผลสุดท้ายเป็นอย่างไร

เรื่องสั้นที่เพ่งเล็งจะแสดงลักษณะตัวละคร
ความมุ่งหมายของเรื่องชนิดนี้ คือ การวาดภาพบุคคล อันมีอุปนิสัย หรือลักษณะอันใดอันหนึ่ง ซึ่งเด่นชัดยิ่งกว่าปกติ แสะความที่มีอุปนิสัยและลักษณะอันนั้น นำผลอย่างใดอย่างหนึ่งมาสู่ตัวเอง หรือคนอื่น ลักษณะเหล่านี้มี เช่น ความเมตตากรุณา ความเฉียบแหลม ความสามารถพิจารณาหาเหตุผล ความริษยาอาฆาต ความตั้งใจจริง ความเชื่อ ความโง่ สิ่งเหล่านี้ อาจมีอยู่ในตัวบุคคลคนหนึ่งๆ อย่างละเล็กละน้อย แต่บางคนอาจมีประจำตัวจนเห็นชัด ตัวละครในเรื่องสั้นชนิดนี้จะต้องมีอุปนิสัยอย่างหนึ่งๆ แสดงออกมาโดยชัด เช่น ขี้ตระหนี่ จู้จี้ ตระหนี่ถี่เหนียว จนภรรยาอยู่ด้วยไม่ได้ คนที่ภักดีต่อนาย ก็ถึงยอมเสี่ยงภัยสละความสุขให้นายได้ คนที่เต็มไปด้วยอาฆาตก็จะต้องอยู่เป็นสุขไม่ได้ นอกจากจะแก้แค้นให้เสร็จไป แม้ตัวจะได้รับผลแห่งการกระทำนั้นอย่างไรก็ยอม

ตัวละครในเรื่องชนิดนี้มักได้มาจากบุคคลจริงๆ แต่เพื่อให้แลเห็นชัดเจน นักประพันธ์ต้องมาแต้มเติมให้เข้มยิ่งขึ้น บางทีนักประพันธ์นิรมิตตัวละครขึ้นเอง โดยให้ตัวละครนั้นเป็นแบบอย่างของลักษณะอันใดอันหนึ่ง และผู้เขียนมีความปรารถนาจะแสดงความรู้สึกนึกคิดของตน เกี่ยวกับคนในแบบนั้นๆ

เรื่องสั้นชนิดที่แสดงแนวความคิดเห็น
หัวใจของเรื่องชนิดนี้คือ ข้อคติ ความคิดเห็น หรือหลักการอย่างใด อย่างหนึ่ง ซึ่งนักเขียนต้องการจะแสดงแก่ผู้ฟัง แต่แทนที่เขาจะแสดงข้อคติ โดยวิธีชี้แจงแนะนำ เขาแสดงโดยทำเป็นเรื่องให้ดู เช่น ต้องการจะแสดงให้เห็นว่าเวลานี้ศีลธรรมของคนกำลังเสื่อม ก็ยกเรื่องหรือพฤติการณ์ที่กำลังเป็นไปขึ้นมาตั้งให้ผู้อ่านเห็น ถ้าท่านเห็นว่าการที่หญิงไทยไปมีสามีเป็นคนต่างด้าวนั้น เป็นภัยแก่ตัวและย่อมจะมีความสุขไม่ได้ ก็จะต้องเขียนเรื่องของหญิงคนหนึ่งซึ่งไปมีสามีเป็นคนต่างด้าว แล้วบรรยายให้ผู้อ่านเห็นชีวิตของหญิงคนนั้นว่าเมื่อไปอยู่กับสามีแล้วได้ประสบกับเหตุการณ์อย่างไรบ้าง ให้ผู้อ่านแลเห็นความลำบาก และความทุกข์ของหญิงนั้นโดยการบรรยายเป็นเรื่อง แทนที่จะบอกกันดื้อๆ ว่าหญิงไทยที่ไปแต่งงานกับชายชาติอื่น จะได้รับความลำบากอย่างนั้นๆ แต่ถ้านักประพันธ์มีความเห็นในทางตรงกันข้าม เขาก็บรรยายเรื่องไปในทางที่จะให้ผู้อ่านเห็นว่า ความรักย่อมไม่จำกัดชาติ และความที่ต่างชาติรักกันนั้นย่อมไม่เป็นเครื่องกีดกันหญิงชายที่จะรักและอยู่กันเป็นผัวเมีย ถ้าท่านอ่าน “ผิวเหลืองผิวขาว” ของ ท่าน อากาศดำเกิง จะเห็นว่าผู้ประพันธ์ได้ถกปัญหาเรื่องนี้ โดยเขียนนวนิยายให้เราอ่าน

แนวของเรื่องชนิดนี้อาจเป็นคติธรรม เช่น ทำดีย่อมได้ดี โชคลาภที่ได้มาโดยบังเอิญมักให้โทษ ผู้ที่เป็นเพื่อนกับทุกคนย่อมเหมือนไม่มีเพื่อน หรือบางทีก็เป็นคำพังเพยอย่าง ยาพิษในถ้วยทอง ของ แข ณ วังน้อย

เรื่องที่ถือฉากเป็นส่วนสำคัญ
ในการเขียนเรื่องสั้น บางทีนักประพันธ์เปิดเรื่องด้วยการพรรณนาฉาก (Setting) เอาฉากเป็นหลัก โดยถือว่าสถานที่บางแห่งมีลักษณะชี้ชวนให้เราเกิดความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่ง สตีเวนสัน นักนวนิยายเชิงเรื่องเผชิญภัย ได้กล่าวว่า “สถานที่บางแห่งบ่งตัวของมันเองอย่างชัดเจน สวนอันรกเรื้อ ชื้นแฉะย่อมประกาศดังๆ ว่ามันเป็นที่สำหรับฆาตกรรม บ้านเก่าโบราณทำให้เรารู้สึกว่ามีผีสิง ตามฝั่งทะเลบางแห่งมีลักษณะอย่างจะเป็นที่สำหรับเรือแตก” ที่จริงบรรดาสถานที่ต่างๆ ก็เป็นไปตามสภาพของมันนั่นเอง แต่ความรู้สึกของเรานั้น เมื่อได้เห็น เช่น เห็นโบสถ์เก่าปรักหักพัง มีพระพุทธรูปพระศอขาด สถานที่ครึ้ม เราก็คิดไปว่าจะต้องมีผีปีศาจสิงอยู่ บรรดาสถานที่ต่างๆ ย่อมนำความรู้สึกของเราให้เกิดได้ต่างๆ และนักเขียนย่อมวาดฉากขึ้น เพื่อเตรียมอารมณ์ของผู้อ่านให้เข้ากับเหตุการณ์ที่จะปรากฏขึ้นในฉากนั้นๆ

ในเรื่อง The House By the Headland ของ Sapper นับเป็นแบบอย่างของเรื่องสั้นชนิดนี้ได้ อรชุนได้แปลลงพิมพ์ในหนังสือมหา
วิทยาลัย เล่ม ๑๑ ฉบับที่ ๔ ชื่อว่า “เพื่อนรักเมียงาม” แซปเปอร์ได้สร้าง ฉากของท้องเรื่องชักนำให้เรารู้สึกว่า น่าจะมีอะไรพิสดารและลี้ลับเกิดขึ้น

เนื้อเรื่องกล่าวถึงชายเดินทางหลงเข้าไปในบ้านร้าง ซึ่งเดิมเป็นของสามีภรรยาคู่หนึ่ง ภรรยานอกใจสามีเลยฆ่าภรรยา ชายชู้ และตัวเอง ชายเดินทางถูกปีศาจของผู้เป็นสามีหลอกพาเข้าไปในบ้านร้าง แล้วผีทั้งสามตน ก็หลอกชายคนนั้นโดยแสดงตอนการวิวาทและฆ่ากันให้ดู ชายนั้นเข้าใจว่า เป็นเรื่องจริง รีบออกไปจากบ้านเพื่อจะแจ้งเหตุแก่คนที่อยู่ใกล้ๆ แต่ในที่สุดก็รู้ความจริงว่าตนถูกผีหลอก
แซปเปอร์ ได้เปิดฉากเวลาจวนค่ำ แล้วมีฝนตกฟ้าคะนอง เมื่อชายเดินทางเข้าไปในบ้านร้าง โดยคำชักชวนของปีศาจ แซปเปอร์ก็ได้วาดบ้าน หลังนั้นให้เห็นดังนี้

“เขานำข้าพเจ้าเข้าไปในบ้าน แม้แสงสว่างจะมีน้อยเพียงนั้น ข้าพเจ้า ก็สามารถสังเกตเห็นสวนเล็กๆ ข้างบ้านนั้นรกร้าง ปราศจากความเอาใจใส่ และทางเล็กๆ ที่จะนำเราไปยังประตูหน้าของเรือนนั้น ก็ปกคลุมไปด้วยต้นหญ้า พุ่มใบของต้นไม้อันถูกประพรมด้วยหยาดฝนย้อยลงสู่พื้นดิน และระหน้าเราเมื่อเดินผ่านไป บันไดสองขั้นหน้าประตูนั้นตะไคร่นํ้าจับเป็นคราบ เราเข้าไปภายในห้องใหญ่ มืดทึบ และข้าพเจ้าก็รออยู่ที่นั่น เมื่อเขาเปิดประตูเข้าไปยังอีกห้องหนึ่ง ข้าพเจ้าได้ยินเขาคลำหาไม้ขีดไฟเสียงกุกกักๆ และในขณะนั้นแสงสว่างแห่งสายฟ้าก็ปรากฏขึ้นอีก คล้ายแสงสว่างในเวลากลางวัน ในชั่วเวลาที่มีแสงสว่างประเดี๋ยวเดียวนั้น ข้าพเจ้าสังเกตเห็นบันไดสั้นๆ เตี้ยๆ เหนือบันไดขึ้นไปมีหน้าต่างบานหนึ่ง เห็นประตูสองบาน บานหนึ่งเปิดเข้าไปห้องพักของคนใช้ อีกบานหนึ่งอยู่ตรงข้ามกับห้องที่เจ้าของบ้านเปิดเข้าไปเมื่อสักครู่นี้ และส่วนใหญ่ที่ข้าพเจ้าได้เห็นชั่วเวลานั้นก็คือ สภาพของห้องนั้นเอง เหนือศีรษะข้าพเจ้าขึ้นไปสักสามหรือสี่ฟุต มีตะเกียง ใช้น้ำมันเก่าคร่ำดวงหนึ่ง แขวนห้อยลงมาจากเพดาน และดูเหมือนทุกด้านของตะเกียง มีใยแมงมุมขึงพาดไปยังทุกๆ ด้าน และปกคลุมไปด้วยฝุ่นละอองสกปรก มันขึงพาดไปบนกรอบประตูทุกบาน ไปยังรูปภาพข้างฝา อะไรไม่ทราบห้อยยาวเกือบกระทบกับหน้าข้าพเจ้า แล้วในขณะนั้นความรู้สึกกลัว อันไร้เหตุผลก็บังเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้า”

นี่คือฉากตอนสำคัญของเรื่อง มันมีลักษณะว่า เป็นบ้านร้างชัดๆ แต่โดยเหตุที่เรื่องเกิดขึ้นในเวลาค่ำ ฝนก็ตก แสงไฟก็ไม่มี อาศัยแต่แสงฟ้าแลบ ทำให้ “ข้าพเจ้า” หรือคนเดินทางไม่อาจสงสัยว่าเป็นบ้านร้างจริงๆเพราะสังเกตอะไรไม่ถนัด ในทางผู้อ่านก็รู้สึกว่า ความเข้าใจผิดของคน เดินทางนั้นมีเหตุผลเพียงพอ

ที่มา:เปลื้อง ณ นคร

ลักษณะของวรรณคดี

ที่เรียกว่า วรรณคดี นั้น แปลตามศัพท์ว่าทางแห่งหนังสือ หมายถึง หนังสือที่แต่งขึ้น จะเป็นหนังสือชนิดใดก็แล้วแต่ แต่ในบรรดาหนังสือทั้ง หลายนั้น แยกออกเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ ๒ ประเภท คือ

๑. พวกหนังสือที่เป็นตำรับตำราและวิทยาการ
๒. พวกหนังสือที่เป็นอักษรศิลป์ หรือศิลปกรรม

คำว่า วรรณคดี โดยนัยแห่งนักประพันธ์ เพ่งเล็งถึงหนังสือจำพวก
ที่สองนี้

วรรณคดีอันเป็นอักษรศิลป์นั้น หมายความว่ากระไร ?
ตามปกติเมื่อเราอ่านหนังสือ เราย่อมทราบเรื่องราวจากข้อความที่ เขียนลงเป็นตัวอักษร เช่น ท่านอ่านหนังสือกฎหมายหรือตำราเลข ท่าน จะไม่มีความรู้สึกอะไรเกิดขึ้นเลย จะรู้สึกบ้างก็แต่ในเรื่องความยากง่าย เข้าใจ หรือไม่เข้าใจเท่านั้น หนังสือพวกนี้ไม่ได้เร้าอารมณ์ใดๆ ท่านอ่านเพื่อต้องการความรู้เท่านั้น แต่หนังสือบางเรื่อง ท่านอ่านแล้วลืมตัว อาจยิ้มและหัวเราะออกมาก็ได้ อาจรู้สึกเศร้าใจจนนํ้าตาไหล อาจเกิดความโกรธเคือง แค้น อาจเกิดความสำราญเป็นสุขใจ มีอารมณ์ต่างๆ เกิดขึ้นยิ่งกว่าอ่านตำรากฎหมายเป็นอันมาก สิ่งที่ทำให้ท่านเกิดอารมณ์ดังนี้ ก็คือ ศิลปะ ศิลปะแห่งวรรณคดี นี่แหละคือ วิชาของนักประพันธ์

วรรณคดีโดยนัยที่กล่าวแล้วนี้แบ่งออกเป็นสาขาใหญ่ได้ ๒ สาขา คือ สาขาร้อยแก้ว และสาขากาพย์กลอน

สาขาร้อยแก้ว คือ พวกวรรณคดีที่มีแบบเรียบเรียงคำอย่างที่เราพูดจา กันโดยปกติ ได้แก่ หนังสือ เช่น สามก๊ก ราชาธิราช และเรื่องของนักประพันธ์ ปัจจุบันสาขานี้ทางอังกฤษเรียกว่า Prose ซึ่งมาจากคำละตินว่า Prosa แปลว่า ตรงไปตรงมา ไม่มีกำหนดกฎเกณฑ์

สาขากาพย์กลอน (บางทีก็เรียกว่า กวีนิพนธ์บ้าง ร้อยกรองบ้าง) คือพวกวรรณคดีที่เรียบเรียงตามแบบกำหนด เช่น กำหนดเสียงหนักเบา กำหนดเสียงสูงต่ำ ที่สำคัญก็คือต้องมีสัมผัส วรรณคดีของไทยโบราณเป็นกาพย์ กลอนเกือบทั้งนั้น เช่น พระอภัยมณี ขุนช้างขุนแผน นิราศนรินทร์ พระนลคำหลวง เป็นอาทิ กาพย์กลอนนี้ นับถือกันว่าเป็นยอดแห่งวรรณคดี ทางอังกฤษเรียกว่า Poetry มาจากคำละตินว่า Poeta แปลว่า ผู้สร้างหรือผู้ทำกาพย์ กลอนของไทย ถ้าแบ่งตามแบบวิธีประพันธ์ก็แยกออกเป็นพวก กาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ ถ้าจะแบ่งตามลักษณะของเรื่องก็มีพวกคำหลวง คำฉันท์ คำโคลง ลิลิต นิราศ เพลงยาว แต่สมัยปัจจุบันนี้เป็นสมัยของร้อยแก้ว วงของนักประพันธ์เพ่งเล็งเฉพาะวรรณคดีร้อยแก้วเท่านั้น ผู้ที่สนใจในทางกลอนอาจหาระเบียบของกาพย์กลอนเรียนได้จากหนังสือฉันทลักษณะ

วรรณคดีสาขาร้อยแก้วแบ่งออกตามลักษณะของเรื่อง และวิธีเขียน เป็นหลายชนิดด้วยกัน ทั้งวิธีแบ่งก็ต่างๆ กัน ในที่นี้จะแบ่งตามแนวที่นัก ประพันธ์นิยมกัน คือ

ก. บันเทิงคดี (Fiction) เป็นประเภทใหญ่ที่สุด มีนักประพันธ์และผู้อ่านนิยมมากที่สุด พวกบันเทิงคดีแยกออกเป็นเรื่องสั้น (Short Story) นวนิยายสั้น (Novelette) และนวนิยาย (Novel)

ข. หัสคดี (Humour) เป็นจำพวกบันเทิงเหมือนกันแต่หนักไปในทางชวนหัว

ค. พาโรดี (Parody)

ง. ประวัติบุคคล (Biography)

จ. อนุทิน (Diary)

ฉ. บทเรียงความ (Essay)

หัวใจของนักประพันธ์อยู่ที่เรื่องจำพวกบันเทิงคดี แต่ถ้าบางท่าน มี “หัว” ในทางเขียนเรื่องพวกประเภทอื่น ก็ควรลอง “เล่น” ดูบ้าง เพราะ ในวงหนังสือของไทยบัดนี้ มีแต่พวกนวนิยายและเรื่องสั้นเป็นส่วนมาก

เมื่อท่านได้อ่านมาถึงตอนนี้ ก็เท่ากับท่านได้แลเห็นเค้าโครงของงานที่ท่านจะได้ศึกษาแล้ว ต่อไปนี้จะได้กล่าวถึงหลักแห่งบันเทิงคดี ซึ่งเท่ากับว่า ท่านกำลังย่างเท้าเข้าสู่โลกแห่งการประพันธ์

บันเทิงคดี
ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Fiction แปลว่าไม่ใช่ความจริง หมายความว่าเรื่องราวที่ประดิษฐ์คิดแต่งขึ้น ไม่ใช่เรื่องจริง คำภาษาอังกฤษให้ความ หมายไม่ได้ดีเท่ากับภาษาไทย เพราะจะเป็นนวนิยายก็ดี เรื่องสั้นก็ดี มีความมุ่งหมายสำคัญที่ความบันเทิง แต่เดิมเรารวมเรียกเรื่องเช่นนี้ว่าเรื่องอ่านเล่น คือ เป็นเรื่องที่อ่านเพื่อความสำราญ ความเพลิดเพลิน เมื่อผู้อ่านจับบันเทิงคดีเรื่องใดขึ้นอ่าน จะต้องถามตัวเองเสียก่อนว่าสนุกไหม นามปากกาที่คนนิยมแพร่หลาย เช่น ยาขอบ ดอกไม้สด ศรีบูรพา แม่อนงค์ หรือชื่อนักประพันธ์ที่สำคัญ เช่น วิลเลียมเลอเคอ, ดูมาส์, ฮิวโก, คอเรลลี เหล่านี้ จะต้องมีคำว่า “สนุกเพลิดเพลิน” ติดอยู่ด้วยเสมอ ชื่อเหล่านี้เป็นเหมือนเครื่องหมายแห่งความสนุกสำราญ ชื่อเหล่านี้เป็นเจ้าของเรื่องใด ผู้อ่านก็เชื่อว่าจะได้พบความเพลิดเพลินในเรื่องนั้น ตามธรรมดาเมื่อเราจะอ่านเรื่องใดนั้น มักจะได้รับคำบอกเล่ามาก่อนว่าสนุก หรือถ้าไม่รู้ก็จะถามตนเองหรือใครๆ ว่าเรื่องนั้นๆ จะสนุกไหม คนอ่านบันเทิงคดีเพื่อต้องการหย่อนใจ เพื่อฝัน เพื่อลืมภาระความวิตกกังวล นี่แหละเป็นปัญหาใหญ่ของนักประพันธ์ ทำอย่างไรจะให้ผู้อ่านสนุก ให้เพลิน ให้ลืมตัว ให้ติดใจ ถ้าท่านรู้สึกว่า ท่านสามารถทำอย่างนี้ได้แล้ว แปลว่า ท่านได้พรของสวรรค์ และการที่จะเป็นนักประพันธ์มีชื่อเสียงก็ง่ายเข้า

นักประพันธ์ที่คนอ่านติดใจ ก็คือคนที่ทำให้ผู้อ่านสนุก แต่นักเขียนที่จะมีชื่อเสียงยั่งยืนนั้น จะต้องมีสิ่งอื่นประกอบ นอกเหนือไปจากความ สนุก นักวิจารณ์เขาแยกเรื่องออกเป็น ๒ อย่างคือ เรื่องเฉพาะสมัย (Books of the Day) และเรื่องตลอดกาล (Books of all time) เรื่องเฉพาะสมัย คือ เรื่องที่มีคนนิยมฮือกันพักหนึ่ง พอเวลาล่วงไปก็ไม่มีใครคิดถึง ท่านลองคิดดูว่า ตั้งแต่ท่านอ่านบันเทิงคดีมา หรือจะกล่าวอย่างกว้างตั้งแต่เริ่มบทประพันธ์ร้อยแก้วขึ้นในเมืองเรา มีเรื่องอะไรบ้างที่เรายังระลึกได้ นวนิยาย และเรื่องสั้นใดบ้าง ที่พิมพ์ออกเมื่อต้นปี ยังมีคนพูดถึงอีก ณ บัดนี้ หนังสือที่แพร่หลายชั่วขณะ แล้วต่อมาเราพากันลืม เป็นพวกเรื่องเฉพาะสมัย แต่บางเรื่อง เช่น ขุนช้าง ขุนแผน พระอภัยมณี สามก๊ก เขียนมาตั้งร่วม ๒๐๐ ปี เรายังจดจำได้ และคนสมัยนี้ยังอ่านด้วยความพอใจจับใจ นี่คือ เรื่องตลอดกาล และนักประพันธ์จะได้ชื่อว่าเป็น อมตะ ก็โดยได้สร้างเรื่องเช่นนี้ เรื่องดังว่านี้มิได้มีแต่ความเพลิดเพลินอย่างเดียว แต่ยังได้ช่วยผู้อ่าน ให้เกิดสติปัญญา พาจิตใจให้สูงขึ้น ในเนื้อหาของความสนุกย่อมมีคติ และศีลธรรมแฝงอยู่ ยิ่งกว่านั้นยังประกอบด้วยสำนวนโวหารอันไม่พ้นสมัย

ในการเขียนเรื่องให้สนุกนี้ นักเขียนบางคนได้ทำเกินขอบเขต หรือบางทีเขียนโดยโจ่งแจ้งหยาบคาย เรื่องสนุกจริง แต่มันกลายเป็นเรื่องลามก อนาจาร มีตัวอย่างที่เกิดเป็นคดีเรื่องหนึ่งคือ เรื่อง มาดามโบวารี ซึ่ง ฟลอแบรต์ นักประพันธ์ฝรั่งเศสเป็นผู้แต่ง เรื่องนี้กล่าวถึงชีวิตเมียสาวของนายแพทย์ แต่โดยเหตุที่นางไม่สบใจสามี จึงเที่ยวเร่เล่นชู้ไม่เลือกหน้า ฟลอแบรต์ได้เขียนชัดเจนแจ่มแจ้ง จนอัยการฟ้องหาว่าฟลอแบรต์เขียนเรื่อง ประทุษร้ายต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน ได้มีการโต้เถียงกันในศาลมากมาย ในที่สุดศาลตัดสินว่า ไม่เป็นเรื่องลามก แต่เป็นศิลปะ นี่แหละเป็นสิ่งที่นักประพันธ์ต้องระวัง เพราะศิลปะในบางกรณีใกล้กับความลามกอยู่มาก สำหรับนักประพันธ์มีหลักจะยึดถือง่ายๆ ก็คือ อย่าเขียนเรื่องทำลายความรู้สึกอันดีของผู้อ่าน ท่านจะเขียนเรื่องให้รุนแรงอย่างเรื่องมาดามโบวารีก็ได้ แต่ท้องเรื่องต้องมีเหตุผลอันสมควร ท่านจะทำให้ผู้อ่านรักและสงสารผู้ร้ายใจอำมหิตก็ได้ แต่อย่าให้ผู้อ่านเห็นว่าท่านชมและเห็นดีกับความชั่วของโจรนั้น ท่านอาจเขียนเรื่องหญิงนครโสเภณี แต่อย่าให้ผู้อ่านเข้าใจว่าท่านนิยมชมชอบในเรื่องเช่นนั้น หน้าที่ของนักประพันธ์ คือ การวาดภาพแห่งชีวิต

เนื้อเรื่อง
แม้คำว่า ฟิคชั่น (Fiction) จะหมายถึงเรื่องอันไม่เป็นความจริง นัก ประพันธ์ก็ได้เรื่องจากชีวิตของมนุษย์เรานั่นแหละมาเขียน ไม่มีเรื่องอะไรจะยิ่งใหญ่ไปกว่าเรื่องของคน ท่านลองหยิบหนังสือนิตยสารต่างๆ ที่มีเรื่องบันเทิงคดี หรือหนังสือพิมพ์รายเดือนเก่าๆ ชั้น ศัพท์ไทย ไทยเขษม ท่านก็จะเห็นได้ว่านักประพันธ์ได้แสวงหาเรื่องราวต่างๆ มากำนัลผู้อ่าน บางเรื่องมีเค้าขบขัน บางเรื่องกินใจ บางเรื่องลึกลับซับซ้อน บางเรื่องก็ดาดๆ เผินๆ แต่บางเรื่องท่านต้องอุทานว่า เรื่องนี้ของเขาพิสดารจริง เป็นเรื่องราวของชีวิตที่แปลกประหลาดยิ่งกว่าเรื่องใดๆ ที่เคยอ่าน นักประพันธ์ต้องพยายามแสวงหาเรื่องชนิดนี้

แต่ทำไมท่านจะทำได้เช่นนั้น มันเกี่ยวกับเวลาและชีวิตของท่านเอง เวลาของนักประพันธ์ต้องมีไว้สำหรับฟัง ชีวิตสำหรับคิด เขาต้องเป็นคน หูไวตาไว รู้จักหยิบฉวยแง่ที่น่าสนใจ เขาต้องการรู้อยู่เสมอว่าคนพูดอย่างไร ทำอะไร เขาเป็นคนที่คลุกคลีอยู่ได้กับคนทุกชั้น เขาต้องเป็นนักเที่ยวทั้ง ไกลและซอกแซก เอช. ไรเดอร์ แฮกการ์ด, โรเบอร์ต หลุยส์ สตีเวนสัน, มาร์ก ทเวน, คอนราด ล้วนเป็นนักเที่ยวอย่างสำคัญ ท่านอ่านเรื่องของนักประพันธ์ปัจจุบันนี้ ท่านจะรู้สึกว่าส่วนมากเขาเป็นคนชอบเที่ยว มันทำให้เขาแลเห็นความจริง แต่การเที่ยวไปนี้ไม่สำคัญเท่ากับ คนช่างคิด นักประพันธ์ ย่อมคิดถึงทุกสิ่งและในสิ่งที่คนธรรมดาแลผ่านไป เขาก็จะหยิบสิ่งนั้นขึ้นอวด ชี้ให้เห็นและนึกขึ้นได้ สำหรับนักประพันธ์แม้บนใบหญ้าก็มีเรื่องราวปนอยู่

ความช่างคิดและมีอารมณ์ความรู้สึกต่างกับคนอื่นนี้ เป็นอุปนิสัยของผู้ที่จะเป็นนักประพันธ์ เมื่อคิดแล้วก็อดที่จะแสดงให้ผู้อื่นฟังไม่ได้ และ แสดงออกมาอย่างชัดเจนเป็นเสน่ห์หู นี่แหละเราเรียกว่าเขาเป็นนักประพันธ์โดยกำเนิด

เรื่องบางเรื่องสนุกและตื่นเต้นในตัวของมันเอง แต่ถึงกระนั้นก็ยัง ไม่สำคัญเท่าวิธีแต่ง ถ้าแบ่งออกเป็นสิบส่วน เนื้อเรื่องจะได้เพียงส่วนเดียว แต่วิธีแต่งจะได้ถึงเก้าส่วน ฉะนั้นเขาจึงถือว่าเรื่องไม่สำคัญ หัวใจของเรื่องอยู่ที่วิธีแต่ง เนื้อเรื่องจะดีวิเศษปานใด ถ้าไม่รู้จักแต่งก็เหลวหมด มาร์ก ได้เปรียบเทียบไว้ในหนังสือศิลปะการประพันธ์ของเขาว่า “ชาร์แดง เขียน ภาพหม้อไห แต่ทว่าเป็นศิลปะ ส่วนดาวิด เขียนภาพนโปเลียน แต่กลายเป็นโปสเตอร์ ที่จริงคนขอทานก็มีเรื่องน่าจับใจถ้าเรารู้จักดู ที่กระดิ่งโทรศัพท์ ก็อาจมีเรื่องที่น่าตื่นเต้น และที่ปลายหนวดก็มีเรื่องที่ชวนให้ขบขัน นักประพันธ์ธรรมดาจะเขียนเรื่องที่สำคัญเพียงใด เรื่องก็คงจะวิเศษไปไม่ได้ แต่ถ้านักประพันธ์เอกก็อาจเขียนเรื่องที่ไม่มีสาระให้เป็นที่นิยมชมชื่นกันได้ตลอดกาล

เพียงแต่ท่านได้เค้าโครงเรื่อง แล้วลงมือเขียนเท่านั้นยังไม่พอ เรื่องที่ท่านจะเขียนนั้นต้องเป็นเรื่องที่ทำให้ตื่นใจ จับอกจับใจท่านจริงๆ เสียก่อน แล้วท่านจงเขียนไปตามที่ท่านรู้-และรู้สึก นี่เป็นข้อแนะนำชั้นต้น จงเขียนเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวท่านก่อน อย่าเข้าใจว่าในวงความรู้ ในสิ่งที่อยู่รอบๆ ใกล้ๆ ท่านนั้น จะไม่มีเรื่องอะไร เมื่อท่านอยู่นครสวรรค์ก็พยายามเขียนเรื่องอันเกิดที่นครสวรรค์ หรือจังหวัดใกล้เคียง ถ้าท่านอยู่สงขลา ก็หาเรื่องเอาในสงขลา หรืออย่างกว้างก็ในปักษ์ใต้ เมื่อหูตาและความรู้ของท่านกว้าง และไกลแล้ว จึงหยิบเรื่องจากที่อื่นมาเขียนได้ ถ้าท่านเขียนเรื่องเกี่ยวกับสถานที่และภูมิประเทศที่ท่านยังไม่เคยเห็น จะทำให้ความเป็นจริงของเรื่องเกิดขึ้นไม่ได้ และจงเขียนเรื่องอันเป็นของท่านเองจริงๆ คือไม่ได้เอาแนวความคิดความรู้สึกของผู้อื่นมาเขียน

ในตอนต้นได้กล่าวว่า นักประพันธ์ย่อมมุ่งให้ความเพลิดเพลินแก่ผู้อ่านเป็นข้อแรก แต่ความเพลิดเพลินนี้ทำให้เกิดขึ้นได้อย่างไร

มีลักษณะอย่างหนึ่ง ซึ่งในทางจิตวิทยาเรียกว่า ความจูงใจ มนุษย์มีคุณสมบัติข้อนี้อยู่ในตัวทุกคน คืออาจจูงใจคนอื่นก็ได้ ถูกคนอื่นจูงไปก็ได้ นักประพันธ์ย่อมจูงใจผู้อ่านไปตามแนวเรื่อง ส่วนผู้อ่านนั้นแม้ว่าจะรู้อยู่ว่า เป็นเรื่องอ่านเล่นก็พร้อมที่จะถูกจูงใจ โดยนึกว่าเรื่องที่ตนอ่านนั้นเป็นเรื่องจริง หน้าที่ของนักเขียนก็คือต้องพยายามเขียนเรื่องอย่างที่ น่าจะเป็นจริง เมื่อใดผู้อ่านจับได้ว่า มันผิดความจริง เรื่องของท่านก็สูญ ความน่าจะเป็นจริง เกิดจากการพรรณนา บรรดาฉากในท้องเรื่องต้องตรงตามสภาพของมัน อย่าสร้างฉากซึ่งท่านไม่เคยเห็นไม่เคยรู้จัก เว้นแต่ว่าฉากนั้นเป็นฉากซึ่งคนในโลกก็ไม่รู้ ว่าความจริงเป็นอย่างไร โดยมากฉากทำนองนี้มักอยู่ในเรื่องของความคิดฝัน เช่นเรื่อง ใต้ทะเลเจ็ดพันโยชน์ ของ จูลเวิน โลกอนาคตของเวลส์ เป็นต้น

อีกข้อหนึ่ง อารมณ์ เป็นของประจำปุถุชน เรามี รัก เกลียด แค้น ดีใจ เสียใจ ตัวละครของเราจึงต้องมีลักษณะอย่างมนุษย์ และในการอ่าน บันเทิงคดีนั้น จิตใจของผู้อ่านย่อมเข้าไปรวมกับจิตใจของตัวละคร การที่ “นิจ” ของดอกไม้สด “จะเด็ด’’ ของยาขอบ รู้จักกันแพร่หลายเหมือนกับ เรารู้จักคนนั้นคนนี้ ก็เพราะผู้อ่านมีความรู้สึกร่วมกับ “นิจ’’ และ “จะเด็ด’’ ไม่มากก็น้อย เราย่อมเคยมีความหลัง เคยรัก เคยชํ้าใจ เคยสนุกสำราญ ถ้านักประพันธ์สามารถสร้างเรื่องให้ตัวละครมีอาการเช่นนี้บ้างแล้ว ก็เป็นอันแน่ใจได้ว่า ผู้อ่านจะต้องเพลินในเรื่องของท่าน

ตัวละคร
มักจะมีผู้ถามนักประพันธ์ว่า “ตัวละครของท่านนี่ได้มาจากคนจริงๆ หรือ” ผู้อ่านบางคนมักจะเอาตัวละครไปเทียบกับคนนั้นคนนี้ และว่านัก ประพันธ์ใช้คนนั้นๆ เป็นหุ่นตัวละครของเขา การที่นักประพันธ์เอาชีวิตคนจริงๆ มาเป็นตัวละคร และพรรณนาลักษณะท่าทางจนผู้อ่านเอาไปเทียบเคียงกับใครคนหนึ่งได้นี้ ได้ทำกันมาก และเป็นวิธีที่สะดวก แต่ไม่ใช่เป็นวิธีดีที่สุด

นักประพันธ์เหมือนพระผู้เป็นเจ้า เขาจะต้องสร้างโลกและมนุษย์ขึ้น โดยอานุภาพของเขาเอง ถ้าเราได้ตัวละครมาจากมนุษย์ที่เราเห็นกันอยู่ทุกวัน ตัวละครนั้นคงไม่มีอะไรพิเศษไปกว่าผู้อ่าน นักประพันธ์ต้องให้วิญญาณ และอะไรสักอย่างหนึ่งแก่ตัวละครเพิ่มขึ้นพิเศษ ท่านคงเคยอ่านเรื่องขุนช้าง ขุนแผน และคงรู้จักนางพิมพิลาไลย ท่านคงรู้สึกว่า นางพิมพิลาไลยนี่ก็เหมือนหญิงทั่วไป มีความสวยและความรัก แต่ขอให้ท่านลองพิเคราะห์ให้ดี จะเห็นว่านางพิมไม่ใช่หญิงอย่างที่พระผู้เป็นเจ้าสร้างมา ยังเป็นหญิงที่กวีได้นฤมิตขึ้นอีก ท่านเคยพบหญิงใดที่มีชีวิตอย่างนางพิม ที่มีความสุข ความเศร้าและความรักอย่างนางพิม ในหมื่นในพันจะหาได้สักคนหนึ่งหรือ ลักษณะตัวละครอย่างนี้แหละทีเป็นของนักประพันธ์เอก ตัวละครของเขา คือหญิงชายที่เขาสร้างขึ้นจากจินตนาการ แม้จะเหมือนมนุษย์ธรรมดา แต่มีอะไรพิเศษไปกว่ามนุษย์ธรรมดา และตัวละครเช่นนี้เท่านั้นที่จะยั่งยืนอยู่ในความจำของผู้อ่าน

เมื่อท่านได้ตัวละครแล้ว ท่านจะเสกด้วยศิลปะของท่านให้ตัวละครมีกิริยาอาการ และที่สำคัญที่สุดคือ พูดได้ เราเรียกว่า คำเจรจา หรือ Dia¬logue หลักของนักประพันธ์ ก็คือ ท่านต้องทำให้ตัวละครพูดโดยตัวละครเอง อย่าให้ผู้อ่านรู้สึกว่า นี่ไม่ใช่คนพูด หรือนี่เป็นคำพูดของนักเขียนต่างหาก นี่แหละเป็นปัญหายิ่งใหญ่ของนักประพันธ์ นักประพันธ์จะต้องมีอำนาจที่จะเข้าไปสิงอยู่ในตัว ละคร พิจารณาดวงใจของตัวละคร ปกติเราไม่สามารถ พูดอย่างนางสาวโน่น นางนี่ นายนั่น เจ้าคุณนี่ เราไม่สามารถพูดอย่างพระสงฆ์ อย่างนักปราชญ์ อย่างนักเลงโต อย่างเด็ก อย่างคนที่กำลังมีโทสะ หรือที่กำลังปลื้ม แต่นักประพันธ์จะต้องพูดภาษาของคนได้ทุกชนิด ข้อนี้แหละจะทำให้ตัวละครของท่านแยกออกจากกัน ไม่ใช่ตัวละครทั้งเรื่องพูดเหมือนกันหมด ตัวละครของท่านก็จะเป็นสิ่งที่มีชีวิตขึ้น พูดให้ผู้อ่านฟัง แสดงกิริยาให้ผู้อ่านเห็น ท่านจะทำได้ดังนี้ก็โดยฝึกอำนาจทางประดิษฐการ และวิจารณญาณ

หัสคดี (Humour)
ท่านจะเขียนเรื่องสั้น นวนิยาย บทความเรียงเป็นทำนอง ฮิวเมอร์ หรือ พาโรดี ก็ได้ และฮิวเมอร์กับพาโรดีนี้ เป็นทำนองของเรื่อง หรือ เนื้อความซึ่งจะปนอยู่ในที่ใดๆ ก็ได้ทั้งสิ้น ใคร่จะขอให้ท่านเข้าใจคำทั้งสองนี้เสียก่อน

ฮิวเมอร์ (Humour) แปลว่า ชวนหัว ขบขัน น่าหัวเราะ เราเคยใช้ในภาษาไทยว่า หัสคดี หัส แปลว่า ขบขัน ชวนหัว เรื่องทำนองฮิวเมอร์ (หัสคดี) ก็คือเรื่องที่ชวนยิ้มแย้ม ชวนให้ขบขัน จะเรียกว่า เรื่องชวนหัว ก็ได้ แต่หัสคดีที่ยกย่องกันว่า เป็นเรื่องดีนั้น ต้องมีความมุ่งหมายยิ่งกว่า ชวนหัวตามธรรมดา คือต้องมีความคมขำและชวนคิด ผู้เขียนเรื่องฮิวเมอร์ ย่อมแลเห็นแง่ขันในคำพูด กิริยาท่าทาง การแต่งกาย ตลอดจนความเป็นอยู่ของคน ท่านจะได้ยินเขาพูดกันว่า คนนั้นคนนี้ไม่มีเซ้นส์ออฟฮิวเมอร์ (Sense of Humour) คือ ไม่มีความรู้สึกเห็นขัน เป็นคนโกรธง่าย เห็นอะไรเป็นจริง เป็นจังไปหมด ผู้ที่มีอารมณ์ขัน “เซ้นส์ออฟฮิวเมอร์” อาจทำให้ความเคร่งเครียดของเหตุการณ์หย่อนลง หรือเปลี่ยนแง่ร้ายให้กลายเป็นดี อย่างเช่น เมื่อเลิกสงครามใหม่ๆ สมาชิกผู้แทนถามรัฐบาลว่า ประเทศไทยแพ้หรือชนะสงคราม เป็นปัญหาที่ตอบยาก ขณะนั้นสมาชิกก็กำลังหน้าดำหน้าแดงกันอยู่ แต่นายกรัฐมนตรีตอบว่า “เจ๊า” เลยฮากันครืน ทำให้ความเคร่งเครียดหายไปหมด (นี่ฟังตามข่าวหนังสือพิมพ์) ถ้าท่านได้อ่าน “ตำนาน ศรีปราชญ์” จะพบเรื่องว่า พระสงฆ์รูปหนึ่งเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จ พระนารายณ์ แต่มักจะเฝ้ารบกวนพระทัยในเรื่องที่สมเด็จพระนารายณ์ปกครองราษฎรโดยเข้มงวด สมเด็จพระนารายณ์จึงรับสั่งให้ศรีปราชญ์คิดแก้ไข ศรีปราชญ์จึงกราบทูลให้พระองค์ส่งลิงไปให้พระเลี้ยงที่กุฏิ และให้ปล่อยลิงอยู่ตามความพอใจของมัน ภิกษุองค์นั้นรับลิงเอาไปไว้ไม่นานก็ต้องเข้ามาร้องทุกข์ว่าลิงทำกุฏิป่นปี้หมด สมเด็จพระนารายณ์จึงตรัสว่าการปกครองต้องมีระเบียบข้อบังคับ บ้านเมืองจึงจะอยู่เย็นเป็นสุข ถ้ามิฉะนั้นก็จะเดือดร้อนเหมือนพระภิกษุที่ปล่อยลิงไว้ตามใจของมันนั่นเอง พระภิกษุองค์นั้นเลยเข้าใจ นี่เป็นฮิวเมอร์ของศรีปราชญ์ เรื่องศรีธนญชัยก็นับว่าเป็นตัวอย่างเรื่องประเภทฮิวเมอร์ได้อย่างดี

แต่การที่จะให้คนหัวเราะนี้ บางคนก็ทำให้หัวเราะอย่างโปกฮา แต่บางคนอาจทำให้หัวเราะพร้อมกับความรู้สึกว่า มีอะไรคมขำอยู่ในเรื่องที่ หัวเราะนั้น นักเขียนเรื่องฮิวเมอร์นี้ก็เช่นเดียวกัน บางคนอาจเขียนให้เรา อ่านแล้วหัวเราะคิกๆ แต่บางคนอาจทำให้เราหัวเราะพร้อมกับรู้สึกเวทนา หัวเราะทั้งนํ้าตา หรือหัวเราะแล้วนึกขำ ยิ่งกว่านั้นยังได้คติเป็นเนื้อหาจากการหัวเราะนั้นด้วย เรื่องฮิวเมอร์ที่ดีแท้ ต้องให้คนเห็นขบขัน แต่มีแง่ให้คนคิดอย่างหนึ่งอย่างใดอีกด้วย

เรื่องชวนหัวอาจเป็นเรื่องสั้น อย่างเรื่องชุด คุณถึก ของ “แสงทอง” อาจเป็นความเรียงคิดเล่นแผลงๆ อย่างเรื่องของ “ฮิวเมอร์รีสต์” อาจเป็น นวนิยาย เช่น นวนิยายของ พี.จี.โวดเฮาส์ (P.G. Wodehouse) หรืออาจจะเป็นเฉพาะบทเจรจาหรือลักษณะอันน่าขบขันของตัวละครตัวหนึ่งตัวใดก็ได้

หัวใจของเรื่องหัสคดีนี้ อยู่ที่วางเรื่องให้ตัวละครตกอยู่ในฐานะลำบาก กลืนไม่เข้าคายไม่ออก หรือทำอะไรเปิ่นๆ เซ่อๆ

จะขอยกตัวอย่างเรื่องฮิวเมอร์ชั้นเอกของโลก ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องไม่ตาย มีคนนิยมอ่านกันได้ทุกสมัย

เรื่องที่ ๑ เป็นนิทานชื่อ “ฉลองพระองค์ใหม่ของพระราชา” (The Emperor’s New Clothes) กล่าวถึงพระราชาองค์หนึ่ง โปรดฉลองพระองค์ที่หรูหรางดงาม ใครจัดเครื่องแต่งองค์แปลกๆ มาถวาย ก็เป็นที่พอพระทัยมาก อยู่มามีเจ้าคนฉลาดแกมโกงสองคน เข้ามารับอาสาจะทำฉลองพระองค์ใหม่ถวาย แต่ว่าฉลองพระองค์ใหม่นี้ ถ้าใครโง่เขลาไม่มีบุญบารมีจริงๆ แล้วก็มองไม่เห็น ชายทั้งสองตั้งพิธีทำใหญ่โต ตั้งแต่หาเส้นด้ายมาทอเป็นผ้า และตัดเป็นฉลองพระองค์ ที่จริงทอลมและตัดลมทั้งสิ้น พวกอำมาตย์ข้าราชการก็แลไม่เห็นว่าเป็นผ้าผ่อนอะไร แต่ทุกคนใคร่แสดงตนว่ามีบุญบารมี เลยชมว่าฉลองพระองค์นั้นสวยงามมาก พระราชาก็พลอยเป็นตามเขาด้วย เจ้าสองคนนั้นแกล้งตัดและเย็บลมอยู่หลายวัน ในที่สุดก็บอกว่าเสร็จแล้ว ใครๆ พากันชมว่าสวยงามมาก ความจริงโกหกตัวเองทั้งนั้น เจ้าสองคนนั้นจัดการแต่งองค์ให้พระราชา เพื่อเสด็จประพาสเลียบเมือง ใครๆ ก็ออกปากสรรเสริญว่า เครื่องทรงสวยมาก ที่แท้เห็นพระราชามีแต่ฉลองพระองค์กางเกงชั้นในตัวเดียว พระราชาปลื้มพระทัย ประทานรางวัลให้เจ้าสองคนมากมาย แต่งองค์แล้วเสด็จออกเลียบพระนคร แต่ไม่มีใครกล้าพูดว่าอะไร ถึงแม้จะเห็นพระราชาตัวล่อนจ้อน นอกจากชมว่าสวย เพราะกลัวถูกหาว่าเป็นคนโง่เง่า ไม่มีบุญ จนกระทั่งเด็กคนหนึ่งมาดูขบวนเห็นเข้าก็ตะโกนว่า พระราชาเปลือยกายเดินมา เกิดซุบซิบกันจนในที่สุดพูดกันเซ็งแซ่ว่า พระราชานุ่งฟ้า ไม่มีผ้าผ่อนอะไรเลย พระราชาเลยกลายเป็นตัวตลก
เรื่องนี้นอกจากชวนให้ขัน ยังมีคติบางประการแฝงอยู่ด้วย

เรื่องที่ ๒ เป็นของ วอชิงตัน เออร์วิง นักประพันธ์เอกของอเมริกา (เกิด ค.ศ. ๑๗๘๓ ตาย ค.ศ. ๑๘๕๙) เรื่องที่เขียนชื่อ ริปแวน วิงเกิล (Ripwan Winkle) กล่าวถึงชายคนหนึ่ง ชื่อ ริปแวน วิงเกิล หนีความเกรี้ยวกราดของเมียขึ้นไปนอนหลับบนภูเขา ซึ่งอยู่ใกล้ๆ บ้าน พอตื่นขึ้นลงมาที่บ้าน ซึ่งตนเคยอยู่เห็นอะไรๆ แปลกไปหมด เพราะปรากฏว่า เขานอนหลับไปถึง ๒๐ ปี ความขบขันของเรื่องนี้อยู่ที่ “การหลงเวลา’’ การหลง หรือการเข้าใจผิดนี้ นักเขียนหัสคดีชอบนำมาใช้มาก เยโรม เค. เยโรม นักเขียน หัสดีของอังกฤษเล่าเรื่องชายคนหนึ่งไปฟังนักร้องอันมีชื่อเสียงของเยอรมัน ร้องเพลง แต่เขาไม่เข้าใจเพลงและภาษาของเยอรมัน แต่อยากอวดตัวว่ามีภูมิ จึงถูกหลอกว่าเพลงที่นักร้องชาวเยอรมันจะร้องนั้นเป็นเพลงขบขัน พอชายคนนั้นได้ฟังก็ทำเป็นหัวเราะ ราวกับรู้สึกขันเสียเต็มประดา แต่ที่แท้ เพลงที่ร้องนั้นเป็นเพลงเศร้าสลด

เรื่องที่ ๓ เป็นนวนิยาย ชื่อ ดอน ควิโซต (Don Quixote) ของ เซวันเตส (Cervantes) นักเขียนชาวสเปน เนื้อเรื่องเป็นเรื่องเก่า แต่ยังคงอ่านกันได้สนุก และเป็นหนังสือวรรณคดีที่นักอักษรศาสตร์นับถือเรื่องหนึ่ง เซวันเตส เกิดเมื่อ ค.ศ. ๑๕๕๗ ตาย ค.ศ.๑๖๑๖ เป็นนักเขียนที่มีชีวิตยากเข็ญมาก แขนซ้ายขาดเมื่อคราวเป็นทหารออกรบ และเคยถูกโจรสลัดจับตัวไป เรื่อง ดอน ควิโซต พิมพ์จำหน่ายครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.๑๖๐๕ จะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องที่เก่าหลายร้อยปีมาแล้ว แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่มีคนชอบอ่านกันทุกสมัย

เรื่องนี้กล่าวถึงผู้ดียากจนคนหนึ่ง ชื่อ ดอน ควิโซต เป็นคนซื่อ ใจคอโอบอ้อมอารี แกอ่านหนังสือเกี่ยวกับการผจญภัยของพวกอัศวินมาก เกินไป เลยเผลอสติคิดไปว่าแกเป็นอัศวินคนหนึ่งเหมือนกัน อัศวินนี้เป็นนักรบพวกหนึ่ง มีขนบธรรมเนียมแปลกๆ เช่น ชอบท่องเที่ยวช่วยคนที่ตกทุกข์ได้ยาก โดยมากช่วยหญิงสาวที่อยู่ในอันตราย อัศวินนี้ย่อมมีขวัญใจของเขาคนหนึ่งและเขาจะพยายามทำทุกอย่างเพื่อขวัญใจของเขา เมื่อ ดอน ควิโซต คิดว่าตนเป็นอัศวิน ก็เที่ยวหาเกราะเก่าๆ กับดาบ และม้าผอมโซได้ตัวหนึ่ง (เกราะ ดาบ ม้า นี้เป็นสมบัติประจำตัวอัศวิน) ออกท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆ เขามีลูกน้องคนหนึ่ง ชื่อ ซานโชปันชา เป็นคนเบาเต็ง ทั้งสองคนได้เผชิญภัยอย่างบ้าๆ ต่างๆ จนในที่สุดเจ็บตายเพราะความชอกช้ำ อันเกิดจากการตกม้าบ้าง ไปต่อสู้กับกังหันลม ซึ่ง ดอน ควิโซตคิดว่า เป็นยักษ์จะมาทำอันตรายหญิงบ้าง บัดนี้ถ้าพูดว่า “เก่งอย่างดอน ควิโซต” ก็แปลว่า เก่งอย่างบ้าๆ ไม่เข้าท่า

ตัวอย่างที่ยกมาอ้างเป็นเรื่องเก่าๆ แต่เรื่องฮิวเมอร์ที่เขียนกันอยู่ในบัดนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตปัจจุบันโดยมาก ผู้เขียนอาจเห็นขำในพฤติการณ์หรือลักษณะของใครคนหนึ่ง แล้วนำมาผูกเขียนเป็นเรื่องขึ้น นักเขียน เรื่องฮิวเมอร์ที่นับว่าอยู่ในความนิยมของผู้อ่านบัดนี้ก็มี “แสงทอง’’ “อ.ร.ด.’’ “นายรำคาญ’’ “ฮิวเมอร์ริสต์” แต่ท่านควรจำไว้ว่า เรื่องชวนหัวที่ดีนั้น ต้อง ให้ผู้อ่านได้นึกขันขำ และคิด คือซ่อนความมุ่งหมายอะไรไว้ภายใต้เรื่องนั้น ด้วย

พาโรดี (Parody)
เรื่องทำนองนี้หาตัวอย่างมาแสดงได้ยาก พูดได้ว่า ในขณะนี้ไม่มี เรื่องทำนองพาโรดีในนิตยสารของเราเลย ตามความหมายเดิม พาโรดี หมายถึง กลอนตลกที่ล้อเลียนกลอนที่เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าจะยกตัวอย่างของไทยก็อาจพูดได้ว่า บทละครเรื่องระเด่นลันได เป็นพาโรดีของบทละครเรื่องอิเหนา

“อันสี่ธานีราชฐาน
กว้างใหญ่ไพศาลหนักหนา
เทเวศร์นฤมิตด้วยฤทธา
สนุกดังเมืองฟ้าสุราลัย
มีปราสาททั้งสามตามฤดู
เสด็จอยู่โดยจินดาอัชฌาสัย
หลังคาฝาผนังนอกใน
แล้วไปด้วยโมราศิลาทอง”
นี่เป็นกลอนในอิเหนา พรรณนาบ้านเมืองราชวังของอิเหนา แต่ในเรื่อง ระเด่นลันได ระเด่นลันได (ตัวพระเอก) มีบ้านเมืองเหมือนกัน แต่พระยามหามนตรี ผู้แต่ง ได้เขียนดังนี้

“อยู่ปราสาทเสาคอดยอดด้วน
กำแพงแก้วแล้วล้วนด้วยเรียวหนาม
มีทหารหอนเห่าเฝ้าโมงยาม
คอยปราบปรามปัจจามิตรที่คิดร้าย”

ท่านจะเห็นกลอนอันหลังนี้ ล้อ อันข้างต้น
เป็นธรรมดาวิสัยของมนุษย์ที่ชอบค่อนแคะ และสิ่งอะไรหรือใคร
ที่ภาคภูมิเกินสมควร เรามักอดสะกิดสะเกาไม่ได้ นี่คือที่เกิดของพาโรดี แต่การล้อหรือแคะได้นี้ ไม่ใช่ล้ออย่างหยาบๆ หรือมีความชิงชังปน ต้องล้อ หรือแคะได้อย่างสะกิดให้รู้สึกตัวว่า อย่าหลงหรือเหลิงเกินไป อย่างรัชกาลที่ ๖ ทรงเขียนไว้ที่หน้าหนังสือ ดุสิตสมิต ว่า “ถึงล้อก็ล้อเพียง กละเยี่ยง วิธีสหาย บ่อาจจะให้ร้าย และจะมุ่งประจานใคร” เรื่องพาโรดีที่นับว่ามีคุณค่านั้น ต้องมีลักษณะเป็นเชิงวิจารณ์ สะกิดให้รู้ตัว เพราะธรรมดาคนเราบางคนเตือนกันตรงๆ ไม่ได้ ต้องเปรียบเปรยให้เกิดฉุกใจขึ้นเอง

เรื่องทำนองพาโรดี ไม่จำเป็นต้องเขียนเป็นกลอน เขียนเป็นร้อยแก้ว ก็ได้ แต่หาตัวอย่างเรื่องไทยๆ มาอ้างยาก เคยมีอยู่คราวหนึ่งมีผู้เขียนเกร็ดพงศาวดารจีนล้อเรื่องสามก๊ก ให้ชื่อตัวละครว่า เกี้ยมซิงตี นางเกาลัด ให้อยู่เมืองแยนวอถอง แต่พาโรดีเช่นนี้เป็นอย่างตํ่า ไม่มีคุณค่าอย่างใด สมัยหนึ่งมีการเปิดป้ายสถานที่สำคัญๆ เชื้อเชิญคนสำคัญๆ มาเปิด มีคนอ่านรายงานและกล่าวสุนทรพจน์ออกจะมีบ่อยๆ และดูเหมือนจะทำกันเป็นพิธีเท่านั้น “ฮิวเมอริสต์” รู้สึกหมั่นไส้ขึ้นมา จึงเขียนพาโรดีในเรื่องชื่อ “สุนทรพจน์ในการเปิดส้วมสาธารณะ” เรื่องเช่นนี้ถ้าเขียนไม่ตีอาจกลายเป็นหยาบได้

ประวัติบุคคล (Biography)
เรื่องประวัติบุคคลนี้ มีเขียนกันบ้างประปราย แต่มักเป็นเรื่องสั้นๆ ไม่ละเอียดพิสดาร ในต่างประเทศนิยมเขียนกันมาก มักเป็นเรื่องชีวประวัติของบุคคลที่ขึ้นชื่อลือนาม ทั้งที่ได้ทำประโยชน์และที่เป็นภัยของโลก เช่น ชีวิตของเอดิสัน ผู้คิดไฟฟ้า ชีวิตของฮิตเลอร์ เจ้าตำรับลัทธิเผด็จการ ไทยเรามิใช่จะขาดบุคคลสำคัญที่ควรยกย่อง แต่อุปสรรคสำคัญน่าจะเป็นเพราะเราขาดเครื่องมือในการค้นคว้า การเขียนเรื่องชนิดนี้ต้องค้นคว้าหลักฐานมาก

เรื่องประวัติบุคคลเป็นเรื่องที่น่าอ่านน่าฟังเพราะเป็นเรื่องของคนจริงๆ ไม่ใช่คนสมมุติ

นักเขียนประวัติบุคคลจะต้องเป็นคนมีความรู้ลึกซึ้ง เข้าอกเข้าใจ เรื่องราวต่างๆ ได้รวดเร็ว ให้รู้ว่าอะไรสำคัญควรจดลงไว้ หรืออะไรไม่ สำคัญควรทิ้ง ความรู้จักเลือกเฟ้นเหตุการณ์ต่างๆ เป็นหัวใจของนักเขียนประวัติบุคคล เพราะถ้าเขียนละเอียดฟุ่มเฟือยเกินไป จะทำไห้ผู้อ่านหมดความเพลิดเพลิน การเขียนประวัตินี้ถ้าเขียนตามทางการ คือ เขียนอย่างพวกนักประวัติศาสตร์ ก็เป็นเพียงบันทึกลงไปว่า บุคคลนั้นๆ ได้ทำอะไรบ้าง แต่ถ้าเขียนตามศิลปะแห่งการเขียนประวัติบุคคลแล้ว ต้องแสดงให้ผู้อ่านเห็นว่า บุคคลนั้นๆ เป็นคนอย่างไร ไม่ใช่เขาได้ทำอะไรบ้าง ผู้เขียน ต้องถือตัวคนเป็นหลักสำคัญ ไม่ใช่กิจการที่เขาได้ทำไป หรือสิ่งอื่นๆ ที่อยู่รอบๆ ตัวเขา สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงของประกอบ ตัวบุคคลต้องเป็นจุดศูนย์กลาง ในวรรณคดีไทย เราเพิ่งจะมีเรื่องทำนองนี้บ้าง เช่น เฟรดเดอริก มหาราช และแคทรีนมหาราชินี พระนิพนธ์พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า จุลจักรพงษ์ อย่างไรก็ตาม เรื่องทั้งสองนี้ยังมีนํ้าเนื้อทางประวัติศาสตร์ปนอยู่มากด้วย

ส่วนสำคัญอีกข้อหนึ่งคือ การดำเนินเรื่อง ผู้เขียนประวัติบุคคล โดย มากดำเนินเรื่องอย่างปฏิทิน คือบรรยายเป็นลำดับวันและเวลา การเรียงเรื่องไปตามลำดับเช่นนี้ไม่สู้ดีนัก

ผู้เขียนประวัติบุคคลต้องทำใจให้เที่ยงตรงที่สุด ถ้าเกิดอคติขึ้น เช่น เยินยอกันเกินควร หรือติเตียนบุคคลอย่างไร้เหตุผล ก็จะทำให้เรื่องอ่อนไปมากทีเดียว

ข้อต่อไปอีกข้อหนึ่ง คือ ความมุ่งหมาย การเขียนประวัติบุคคล มิใช่แต่เพียงการแสดงเรื่องราวในชีวิตของเขาเท่านั้น แต่ควรให้เป็นคติแก่ผู้อ่านด้วย บุคคลที่เราเขียนประวัติ จำเป็นต้องมีลักษณะอะไรสักอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นที่สนใจแก่ผู้อ่าน เมื่อผู้อ่านได้อ่านไปจบเรื่องแล้ว ควรจะได้จดจำและนำลักษณะของบุคคลนั้นไปนึกคิด ถ้าผู้เขียนทำไม่ได้ดังนี้ ก็แปลว่า เรื่องที่เขียนนั้นยังใช้ไม่ได้

เพื่อจะให้เรื่องประวัติบุคคล แสดงชีวิตของคนอย่างแท้จริง ผู้เขียนควรแทรกเรื่องทำนองบันทึกรายวัน จดหมาย คำสนทนาของผู้นั้นไว้ด้วย

การเขียนประวัติบุคคลนี้ไม่จำเป็นต้องเขียนเรื่องของคนสำคัญๆ แม้ประวัติของคนธรรมดาก็อาจทำได้เช่นกัน ถ้าผู้เขียนรู้จักเขียน

การอ่านเรื่องประวัติบุคคลนี้ ย่อมทำให้เกิดความเพลิดเพลินด้วย
คล้ายกับว่าผู้อ่านได้พบปะสนทนากับบุคคลผู้นั้น เรื่องราวแห่งชีวิตของเขาย่อมเป็นบทเรียนอย่างดีแก่ผู้อ่าน

การเขียนบันทึกประจำวัน หรืออนุทิน (Diary)
นักเขียนสำคัญๆ ส่วนมากมีสมุดบันทึกประจำวัน ซึ่งเขาจดเหตุการณ์ ที่เขาได้พบปะ ได้กระทำ ตลอดจนความรู้สึกนึกคิดเป็นวันๆ ไป สมุดนี้จะช่วยให้เราเป็นคนช่างสังเกต ช่างจำ และช่างคิด สมุดประจำวันเป็นสมบัติเฉพาะตัว แม้ทุกคนไม่อาจทราบได้ว่า ตนจะมีชื่อเสียงขึ้นเมื่อไร และมีชื่อเสียงในทางไหน แต่ถ้าท่านเกิดมีชื่อเสียงขึ้น สมุดอนุทินก็เท่ากับเป็นสมบัติของชาติ เป็นเครื่องมือของนักประวัติศาสตร์ สมุดของท่านก็จะมีราคาขึ้น และใครๆ ก็อยากจะอ่าน ว่าคนมีชื่อเสียงนั้น วันหนึ่งๆ เขาทำอะไร คิดอะไรบ้าง ท่านอาจนึกว่าความที่จะมีชื่อเสียงนั้น เป็นเพียงความนึกฝัน อย่างไรก็ดี การเขียนอนุทินนี้ มันมีประโยชน์ในตัวของมันเอง เพราะมันเหมือนตู้ประวัติ และตู้เก็บความนึกคิดของท่าน และความคิดที่ท่านเขียนเก็บไว้ในสมุดนั้น อาจบันดาลประโยชน์แก่ท่านได้เหมือนกัน

ท่านเคยเขียนบันทึกประจำวันหรือเปล่า ถ้ายังท่านควรลองดู เมื่อแรกเขียนท่านอาจรู้สึกเบื่อหน่าย และอาจล้มเลิกในเจ็ดวันแรก เพราะไม่มี เวลาเขียนบ้าง ไม่มีเรื่องอะไรจะเขียนบ้าง เรื่องเวลานั้น ท่านควรหาได้ เช่นก่อนนอน ท่านเสียเวลาสัก ๑๕ นาที ก็เห็นจะไม่เป็นไรนัก ส่วนเรื่อง ที่จะบันทึกนั้น ถ้าท่านนึกให้ดี จะเห็นว่าชีวิตของท่านที่ผ่านไปแล้ว ๑ วัน นั้น มีเหตุการณ์อยู่มากมายนัก อีกประการหนึ่งขณะที่ท่านบันทึก ถ้ามีความคิดอะไรใหม่เกิดขึ้น เป็นต้นว่าโครงการต่างๆ ความนึกคิดที่ดีงาม ท่านก็อาจจดลงไปได้ คนสำคัญๆ มักมีสมุดบันทึกรายวันประจำตัว เพราะสมุดนี้ ช่วยท่านเหล่านั้นเป็นอันมาก ในการที่จะมองกลับไปข้างหลัง และดูไปข้างหน้าอย่างถูกต้องแน่นอน การเขียนบันทึกนี้ เป็นความเพลิดเพลินอย่างหนึ่ง เพราะท่านอาจพูด อาจคิด และอาจทำทุกสิ่งได้อย่างอิสระ ถ้าท่านไม่กล้าเถียงกับผู้บังคับบัญชาของท่าน ท่านก็อาจเถียงไว้ไนสมุดบันทึก ท่านไม่กล้าเอ่ยปากฝากรักไว้กับคนที่ท่านรัก ท่านก็อาจฝากรักไว้ในสมุดบันทึก ท่านมีเรื่องร้อนใจทิ้งมันไว้ไนสมุดบันทึก สิ่งสำคัญที่สุดในการบันทึก คือท่าน ต้องเขียนโดยความสัตย์จริงอย่างที่สุด ในการเขียนเรื่องนั้น ตามปกติเราเขียนให้ผู้อื่นอ่าน แต่การเขียนบันทึกรายวัน เราเขียนเพื่อเราคนเดียวอ่าน สมุดบันทึกย่อมเป็นที่รวมเรื่องในใจของท่าน

อาร์โนลด์ เบเนตต์ กล่าวว่า นักเขียนบันทึกรายวันประจำตัวอย่างแท้นั้นหาไม่ได้ เพราะไม่มีชายหญิงคนใดจะกล้าเขียนเรื่องที่เขาคิด เขาทำ และที่เขามีความรู้สึกอย่างแท้จริงลงไป ความรู้สึกและความคิดของมนุษย์นั้น มักต่ำและหยาบ ถ้าเป็นดังนี้แปลว่า เราหาไว้วางใจตัวของเราไม่ สมมุติว่าท่านมีความมั่นใจว่า จะไม่มีตาคู่ใดมาอ่านบันทึกของท่านได้ ท่านปิดประตู หน้าต่างเสียให้หมดทุกบาน และเมื่อท่านได้บันทึกความรู้สึกความคิดของท่านลงไปแล้ว ท่านจะเผากระดาษนั้นทันที แต่กระนั้น ท่านก็คงไม่ยอมเขียนความรู้สึกอะไรลงไปทั้งหมด เพราะความรู้สึกที่ท่านเขียนลงเป็นตัวหนังสือ อาจทำให้ท่านเกลียดและกลัวตัวท่านเอง แต่อารยชนย่อมเป็นคนเปิดเผย

นักเขียนบันทึกประจำตัวคนหนึ่ง ชื่อ ปิปส์ ได้ชื่อว่าเป็นผู้กล้าเขียน ความจริงในตนเอง เขาได้โกงใคร แอบไปทำเจ้าชู้กับเด็กสาวๆ ในโบสถ์ อย่างไร เขาบันทึกลงไปหมด

คนมีชื่อเสียงเช่น ปิปส์ (Pepys) คงจะมีอีกหลายคนที่ทำอะไรเหลวๆ ไหลๆ แต่แน่นอนทีเดียว ไม่ได้บันทึกเรื่องเหลวของเขาไว้ในสมุดประจำตัวของเขา

บันทึกของปิปส์เดิมเขียนเป็นอักษรลับ เจ้าของเข้าใจว่า มันคงจะ สาบสูญไปพร้อมกับชีวิตของเขา เพราะเข้าใจว่าคงจะไม่มีใครไขมันออกได้ แต่สองร้อยปีต่อมา สมิท (Smith) ก็ได้ถอดอักษรลับนี้ออกเป็นตัวหนังสือ ที่ทุกคนอ่านเข้าใจ เลยได้ความรู้ทางประวัติศาสตร์เพิ่มขึ้นอีกมาก เพราะ Pepys เป็นคนสำคัญคนหนึ่งของกองทัพเรืออังกฤษ สมัย ค.ศ.๑๖๗๙ การบันทึกประจำตัวนี้เขาเขียนสำหรับตนเองแท้ๆ ดังนั้น ท่านคงถามว่าจะเขียนไว้ทำไมกัน คำตอบในปัญหานี้ได้กล่าวไว้แล้วในตอนต้น อย่างไรก็ดี ถ้าบันทึกของเราตกไปถึงมือผู้อื่น ก็จะทำให้เกิดประโยชน์เป็นอันมาก แม้บันทึกนั้นจะสาวไส้เจ้าของออกมาให้โลกเห็น บันทึกของปิปส์ทำให้นักประวัติศาสตร์เข้าใจชีวิตความเป็นอยู่ และเหตุการณ์ในกองทัพสมัยปิปส์ได้อย่างดี การที่เราจะเข้าใจคนได้ชัดเจนนั้น ต้องเข้าใจจากการอ่านบันทึกประจำตัวของเขา เมื่อเขาเปิดหัวใจออกอย่างกว้างขวางที่สุด

การบันทึกที่ดีนั้น ผู้บันทึกต้องเป็นคนสนใจในกิจการทั่วๆ ไป การเมือง การศิลปะ การสมาคม และอะไรอื่นๆ ที่มนุษย์ทำ ผู้บันทึกต้องพยายาม รวบรวมบันทึกเป็นประจำวัน พร้อมกับความคิดความรู้สึกของเขา

เวลาที่ควรเขียนบันทึกรายวัน คือเวลาก่อนนอน ซึ่งเป็นเวลาที่ชีวิตคนสิ้นไปวันหนึ่งๆ รุ่งขึ้นเราก็พบของใหม่ ชีวิตใหม่ วันเก่าได้หายไปแล้ว เราจะมองดูวันเก่าได้ในสมุดบันทึกของเราเอง

ความคิดใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นแก่ท่านในชั่วขณะต่างๆ นั้นย่อมเป็นของมีค่า ท่านควรจดลงไว้ในสมุด อีกประการหนึ่งสมุดบันทึกนั้นเป็นที่รับรอง ความคับแค้นใจของท่านได้อย่างดี พวกนักเขียนบันทึกประจำตัวที่สำคัญๆ เช่น เซลลินี (Cellini) รูซโซ (Rousseau) เปียร์ซาล สมิท (Pearsal Smith) ล้วนไม่ปิดบังความเลวของเขา อย่างไรก็ตาม เมื่อเขาวายชนม์ไปแล้ว ผู้:อ่านบันทึกของเขาย่อมอ่านด้วยความเห็นใจหมดด้วยกันทุกคน

ความมุ่งหมายของผู้บันทึกประจำตัวนั้น คือ การแสดงสงครามแห่ง ชีวิต ว่าเขาได้ต่อสู้กับเหตุการณ์ต่างๆ อย่างไร เขาแพ้หรือชนะ

อย่างไรก็ตาม ถ้าท่านต้องการให้ความจำดี ความคิดดี ความรู้สึกดี ท่านควรลองพยายามเขียนบันทึกรายวันประจำตัว ท่านเขียนลงไปอย่างตรงที่สุด แล้วเก็บไว้มิดชิด เมื่อคืนวันผ่านพ้นไป หรือถึงวันเกิดของท่าน ท่านเอาสมุดบันทึกมาอ่านเงียบๆ ท่านจะแลเห็นชีวิตของท่านได้ชัดเจนขึ้น

ในอันดับนี้จะสรุปความที่ได้พูดมาแล้ว การที่เราจะประสบความสำเร็จในการเขียนเรื่องนั้น มีส่วนประกอบสำคัญอยู่ ๒ ประการ คือ คุณสมบัติภายในตนเอง กับหลักความรู้ในการประพันธ์ วิเซตเตลลี (Vizetelly) กล่าวว่า ผู้ที่มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ มีทางสำเร็จในการประพันธ์เร็วขึ้น

๑. ต้องเป็นผู้มีกำลังใจแรง ไม่ว่าจะทำงานอะไร ถ้าขาดกำลังใจ อันมั่นคงที่จะฝ่าอุปสรรคต่างๆ แล้ว ย่อมจะทำงานนั้นให้บรรลุผลได้โดย ยาก และการเป็นนักเขียนนี้ ต้องเป็นผู้มีความอดทนอยู่มิใช่น้อย ศรีบูรพา, ยาขอบ, สด กูรมะโรหิต, สันต์ เทวรักษ์, ดอกไม้สด, แสงทอง, กาญจนาคพันธุ์ เหล่านี้ต้องอดตาหลับขับตานอนมาคนละไม่ตํ่ากว่า ๑๐ ปี กว่า จะได้ชื่อเสียงปรากฏ ผู้ที่โชคดีประสบความสำเร็จโดยรวดเร็วนั้นมีน้อยราย ฉะนั้น ถ้าปราศจากนิสัยรักและความตั้งใจอันมั่นคงเสียแล้ว ผู้เริ่มฝึกก็อาจเกิดความเหนื่อยหน่ายเสียได้โดยง่าย

๒. คุณสมบัติประกอบอื่นๆ คือ ความเป็นคนตาคม มีความสังเกตดี มีจินตนาการแจ่มใส มีเซ้นส์ออฟฮิวเมอร์ (Sense of Humour) และรู้จักรวบรวมความคิดให้แน่วแน่ ไม่ให้ฟุ้งซ่าน คุณสมบัติดังว่านี้ ถ้าไม่มีอยู่ในตัวก็ควรหัดให้เกิดมีขึ้น

ในทางวิธีการประพันธ์ เขานิยมกันว่า บทประพันธ์ที่มีลักษณะดี ต้องประกอบด้วยคุณสมบัติดังต่อไปนี้

๑. ความบริสุทธิ์ (Purity) ซึ่งได้แก่การเลือกใช้ถ้อยคำที่เป็นภาษาของเราเอง การที่จะทำได้ดังนี้ เราต้อง เว้น

ก. การใช้ถ้อยคำ สำนวน อันเป็นแบบอย่างของต่างประเทศ เช่น บางคนที่ชำนาญภาษาอังกฤษ มัก เอาสำนวนฝรั่งมาเขียนเป็นไทย บางคนชอบคำศัพท์บาลี สันสกฤต ก็เอา คำศัพท์มาใช้จนดูรุงรังไปหมด

ข. คำที่เก่าพ้นสมัย เรียกในภาษาอังกฤษว่า อาร์เคก (Archaic) หรือ ออปโซลีท (Obsolete)

ค. ภาษาตลาด หรือ ภาษาสะแลง (Slang)

ง. ใช้ถ้อยคำอย่างเป็นสำบัดสำนวน หรือพูดประดิดประดอยจนเกินสมควร

๒. ความถูกต้อง (Propriety) คือ การเลือกสรรคำที่ได้ความหมายตรงกับความต้องการ แล้วเอาคำเหล่านั้นมาผูกเป็นประโยค ถูกต้องตาม หลักของไวยากรณ์ ใช้คำให้ถูกแบบแผน ถูกความนิยม

๓. ความกระชับ (Precision) คือ การประหยัดไม่ใช้คำฟุ่มเฟือย คำทุกคำที่เขียนลงไปนั้น ต้องเป็นคำที่มีความหมายไม่ซ้ำกับคำอื่นและเป็น ประโยชน์ ถ้าเราเขียนข้อความใดลงไปแล้วลองพิจารณาถ้อยคำที่ใช้ ถ้าเห็นว่าคำไหนตัดออกได้โดยไม่ทำให้ความเสีย ก็ควรตัดออก ความกระชับ รัดกุมนี้ ได้แก่การใช้คำแต่น้อย แต่ให้ได้ความดี ผู้เริ่มฝึกมักผิดในข้อนี้

๔. ความชัดเจน (Perspicuity) คือ ลักษณะของความที่อ่านแล้ว เข้าใจได้ชัด ไม่เคลือบคลุม ไม่กำกวม การที่จะทำได้เช่นนี้ก็โดยวิธีผูกประโยค คือต้องพิจารณาวางส่วนขยายให้ถูกที่ ให้ส่วนขยายและความหรือ คำที่มันขยายนั้นเกี่ยวต่อเนื่องกัน

ทั้ง ๔ ประการนี้ เป็นคุณสมบัติของบทประพันธ์ การที่จะทำให้บทประพันธ์ของท่านประกอบด้วยคุณสมบัติดังนี้ ขอให้ท่านพยายามอ่าน ทบทวนคำบรรยายอันดับที่ว่าด้วยการใช้คำ การสร้างหรือผูกประโยค

บทเรียงความ (Essay)
ในฐานะที่ท่านจะเป็นนักประพันธ์ต่อไป ท่านควรรู้แบบประพันธ์ทุกชนิด ครั้นแล้วเมื่อท่านรู้สึกว่า มี กิฟต์ (Gift) หรือถนัดทางใด ท่านก็อาจฝึกในทางนั้นโดยเฉพาะต่อไป ที่ท่านได้ผ่านมาแล้ว คือ วิธีเขียนบันเทิง คดี เรื่องสั้นกับนวนิยาย ซึ่งเป็นบทประพันธ์แพร่หลายที่สุด เป็นสินค้าวรรณคดีที่อยู่ในความนิยมทั้งในทางนักอ่าน และนักเขียน บัดนี้จะได้แนะนำให้ท่านรู้จักบทประพันธ์อีกแบบหนึ่ง ซึ่งได้ทำไห้ “ครูเทพ” (เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี) มีชื่อเสียง ทำให้ ยี.เค. เชสเตอร์ตัน (G.K. Chesterton) มีชื่อรู้จักทั่วโลก บทความเรียงไม่เป็นสินค้าวรรณคดีที่ซื้อง่าย ขายคล่อง แต่เขานับถือกันว่าเป็นวรรณกรรมของพวกนักคิดของผู้มีรสนิยมสูง สำหรับในเมืองไทยยังมีคน “เล่น” กันน้อย และหนังสือนิตยสารที่ตีพิมพ์จำหน่าย อยู่ในบัดนี้ หาบทความเรียงดีๆ อ่านไม่ได้บ่อยนัก

บทความเรียงนี้ เรียกในภาษาอังกฤษว่า เอสเซ่ย์ “Essay” ท่าน คงจะเคยพบคำ Essay นี้ เมื่อเรียนภาษาอังกฤษในมัธยมศึกษา ๔-๕ หรือ ในชั้นอุดมศึกษาแต่บทความเรียง (Essay) ตามความหมายในวรรณคดี มีลักษณะแตกต่างกับ Essay ในโรงเรียนหลายอย่างหลายประการ วรรณคดี ประเภทนี้ เพิ่งปรากฏในประวัติวรรณคดีไทย ฉะนั้นเราต้องพิจารณาที่มา และลักษณะของมันตามที่วรรณคดีอังกฤษกล่าวไว้

ในประวัติวรรณคดีอังกฤษมีว่า เมื่อ ค.ศ. ๑๕๗๑ ผู้มีตระกูลชาว ฝรั่งเศสคนหนึ่ง ชื่อ มองเตญ (Montagne) เกิดความเบื่อหน่ายโลก จึง เก็บตัวอยู่ในปราสาทของเขาเอง ค้นคว้าศึกษาเรื่องราวต่างๆ จากห้องสมุดอันใหญ่โตของเขา เมื่ออ่านหนังสือเรื่องอะไรไปแล้ว หรือเมื่อนั่งรำพึงอยู่คนเดียว เกิดความนึกคิดอะไรขึ้นมา ก็บันทึกลงไว้ในสมุด บางเรื่องสั้น บางเรื่องก็ยาว แล้วแต่อารมณ์ และความนึกคิดจะพาไป เรื่องต่างๆ เหล่านี้ เขาได้รวบรวมพิมพ์เป็นเล่มให้ชื่อในภาษาฝรั่งเศสว่า เอสเซยส์ “Essais” ซึ่งตามศัพท์ฝรั่งเศส แปลว่า ความพยายาม หรือ การทดลอง เพราะมองเตญ ถือว่า เรื่องต่างๆ ที่เขาจดๆ ลงไว้นั้น ยังไม่สำเร็จบริบูรณ์ เป็นเพียงความพยายามที่เขานึกอะไรได้ก็จดๆ ลงไว้ เมื่อเรื่องของมองเตญพิมพ์ออกจำหน่าย ครั้งนั้น ปรากฏว่า มีคนชอบอ่านกันมาก ต่อมาเรื่องนี้มีผู้แปลเป็นภาษาอังกฤษ และเอาคำ “Essai” (ถ้าเติม s เป็นพหูพจน์) ไปเปลี่ยนใช้ในภาษาอังกฤษ ว่า Essay ซึ่งตามศัพท์แปลว่า การพยายาม การทดลองเช่นเดียวกัน คำ Essay (เอสเซ่ย์) จึงเป็นชื่อวรรณกรรมประเภทหนึ่งแต่นั้นมา ที่เราแปลกันว่า บทความเรียง หรือเรียงความนั้น แปลเอาแต่ความหมาย ที่จริงไม่ตรงกับชื่อเดิมนัก บทความเรียงทางการเมือง ของอัศวพาหุ ที่เรียกว่า ปกิณกคดี ของ อัศวพาหุ นั้น คำว่า ปกิณกคดี ออกจะใกล้วรรณกรรม ที่เรียกว่า เอสเซย์ (Essay) มาก

อนึ่ง ขอให้เข้าใจไว้ด้วยว่า คำ Essay นี้เพิ่งปรากฏในสมัยของ มองเตญ แต่บทวรรณกรรมที่มีลักษณะอย่างเอสเซ่ย์นี้ มีมาก่อนมองเตญ นานแล้ว และบัดนี้คำว่าเอสเซ่ย์ ก็มิได้หมายความว่าบทความที่ลองขีดๆ เขียนๆ เล่นๆ อย่างที่มองเตญเคยทำ แต่เป็นเรื่องที่มีความมุ่งหมาย และจบสำเร็จเป็นเรื่องเป็นราว

บทความเรียงนี้ อาจมีความยาวตั้งแต่หน้ากระดาษเดียวถึงห้าหกร้อย หน้า แต่โดยมากมีความยาวขนาดเรื่องสัน และเขาถือว่าเรื่องใดๆ ถ้าไม่ใช่เป็นนิยายอย่างเรื่องสันหรือนวนิยาย นับเป็นพวกบทความเรียงทั้งนั้น บทความเรียงนี้อาจเป็นเรื่องชนิดหญ้าปากคอก เช่น เรื่องแว่นตา ประตูบ้าน ปลากัด มวยไทย ไปจนถึงเรื่องอันเป็นปรัชญาลึกซึ้ง เช่น บทความเรียงว่าด้วยความรู้ ความคิดของมนุษย์ (Essay concerning Human Understand¬ing) ของนักปราชญ์อังกฤษ ชื่อ ยอน ล็อก เป็นต้น

ในหนังสือรวมบทความเรียงเอกของโลก (The World’s Best Essays) ท่านจะพบชื่อเสียงแปลกๆ ซึ่งจะยกมาให้ท่านเห็น พอเป็นแนวทางแห่ง ความนึกคิด ดังต่อไปนี้

๑. ศิลปะแห่งการรับประทาน โดย ยวนเหม่ (จีน) เป็นเรื่องว่าด้วยการรับประทานอาหาร

๒. ว่าด้วยความสัตย์จริง โดย เบคอน นักประพันธ์อังกฤษ เป็นเรื่องปรัชญาแห่งความคิด

๓. เรื่องตัวของฉันเอง โดย คอเลย์ เป็นเรื่องความนึกคิด

๔. ว่าด้วยการหัวเราะ โดย แอดดิซัน นักเรียงความเอกของอังกฤษ ชื่อเรื่องก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นเรื่องอย่างไร

๕. เรื่องการท่องเที่ยว โดย เฮซลิตต์ นักเรียงความเอก

๖. ศิลปะแห่งการอยู่กับคนอื่น โดย เซอร์ อาร์เทอร์ เฮลป์ เป็นเรื่องทำนองวิจารณ์ และนึกคิด

๗. ว่าด้วยคนใจลอย โดย ลาบรูแยร์ นักประพันธ์ฝรั่งเศส

๘. เรื่องอยู่คนเดียวทำอะไร โดย กอร์กี นักประพันธ์รุสเซีย

๙. เรื่องเกี่ยวกับช่างตัดผม โดย มาร์ก ทเวน นักเขียนหัสคดีเอก ของอเมริกา

๑๐. เรื่องประตู โดย มอร์ เลย์ นักเขียนชาวอเมริกัน

ตามชื่อเรื่องต่างๆ ที่ได้ยกมาเป็นตัวอย่างนี้ ท่านจะเห็นว่า บทความ เรียงได้เปิดทางไว้อย่างกว้างขวาง สำหรับนักประพันธ์จะได้บันทึกความคิดของตน ผู้เขียนไม่จำเป็นต้องมีความรู้อะไรมากมาย ขอแต่ให้มีความคิดดีเท่านั้นก็เขียนได้ แต่ถ้ายิ่งเป็นคนพหูสูต รู้อะไรกว้างขวาง ก็จะเขียนบทความเรียงได้ดียิ่งขึ้น ทุกคนอาจเขียนได้ตามแนวความจัดเจนของตน ทหาร ตำรวจ นายอำเภอ ครู พ่อค้า ฯลฯ อาจเขียนอะไรที่อยู่ใกล้หูใกล้ตา ที่สะกิดความรู้สึกก็ได้ และจะเขียนอย่างเชิงวิจารณ์ เชิงชวนให้ขบขัน เชิงแนะนำสั่งสอน เชิงอธิบายความรู้ ก็ได้ตามใจชอบ

บทความเรียงเชิงสาระกับเชิงปกิณกะ
ในเชิงความมุ่งหมายและวิธีเขียนบทความเรียงแยกออกเป็นประเภท ใหญ่ ๒ ประเภท คือ เชิงสาระ (Formal Essay) กับ เชิงปกิณกะ (In¬formal Essay)

บทความเรียงเชิงสาระนั้นหนักไปในทางวิทยาการ ผู้เขียนต้องการ
อธิบายความรู้อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นเรื่องสำหรับนักศึกษาอ่านเพื่อหาความรู้ ในการเขียนบทความเรียงชนิดนี้ ผู้เขียนมีความประสงค์จะชี้แจงความรู้เป็นข้อใหญ่ ไม่คำนึงถึงการใช้สำนวนโวหาร และไม่นึกถึงความเพลิดเพลินของผู้อ่าน เพราะถือเสียว่าเป็นเรื่องความรู้ ผู้อ่านต้องการปัญญาความคิด ไม่ใช่ความสนุก ส่วนบทความเรียงปกิณกะนั้น แม้ผู้เขียนจะเพ่งเล็งที่จะแนะนำให้ความนึกคิดแก่ผู้อ่านก็จริง แต่ย่อมคำนึงที่จะให้ได้อ่านกันอย่างเพลิดเพลินเป็นขั้นต้น อย่างไรก็ตาม สำหรับนักเขียนฝีมือดีอาจเขียนเรื่องที่เป็นสาระ แต่ในเวลาเดียวกัน ทำให้ผู้อ่านต้องตรึงตราอยู่กับเรื่องด้วยความสนใจ

การเขียนบทความเรียงปกิณกะ
บทความเรียงชนิดนี้ เขียนเพื่อให้ความเพลิดเพลิน ให้เกิดความอยากอ่านเป็นข้อใหญ่ ปัญหาข้อแรกที่ผู้เขียนจะพึงแก้ให้ตก ก็คือ ทำอย่างไร จึงจะเขียนให้สะดุดใจ วิธีหนึ่งที่นิยมกันคือ เขตเรื่องด้วยเขียนประโยคที่มีคารมคมคายกินใจ หรือที่เป็นคำอันขัดแย้งกับความเชื่อถือของคนทั่วไป (Paradox) จะยกตัวอย่างตอนแรกเปิดความจากบทความเรียงต่างๆ ดังต่อไปนี้

“อันคนเรานี้ ครั้งเมื่อจะกำเนิดมาในโลกนี้นั้น เราก็ไม่รู้เนื้อรู้ตัวว่า เราได้สมัครมาหรือไม่ ครั้นถึงกำหนดที่เราจักต้องละ หรืออำลาจากโลกไปซิ อู แม่เจ้าโวย มันย่างประดักประเดิด ไม่สมัครไปเสียเหลือเกิน…”
ชีวิตของคนเรา โดยพระยาภักดีนรเศรษฐ์

“การทำอะไรต่างๆ ถ้าทำตามระเบียบแบบแผน หรือตามตัวอย่างผู้อื่นที่ทำมาแล้ว อย่างที่เรียก “เจริญรอยพระบาทพระศาสดา” แล้ว ก็เป็นการปลอดภัย ไม่มีการตำหนิติฉิน หรือแคะไค้ได้สมกับที่คนโบราณชอบพูดกัน และคนสมัยนี้ส่วนมากก็ยังนิยมถือเอาเป็นคติว่า “เดินตามรอยเท้าผู้ใหญ่หมาไม่กัด””

จากเรื่อง เดินตามรอยเท้าผู้ใหญ่หมาไม่กัด ไปพูดขัดเขาทำไมขัดใจเขา ของ นายสุกิจ นิมมานเหมินท์

“ผลอันสำคัญที่สุด ในการที่เราเกิดมาเป็นสัตว์โลก ก็คือ เราทุกคน
ต่างมีหลุมอันบรรจุไม่รู้จักเต็มประจำอยู่ทุกคน หลุมอันนี้ เราเรียกกันว่า ท้อง และเรื่องท้องนี้เองที่ได้สร้างอารยธรรมของโลก”
เรื่อง การมีกระเพาะอาหาร ของ หลิน ยูถัง

อีกวิธีหนึ่งคือ เปิดเรื่องอย่างกับว่า เป็นเรื่องนิยาย แต่ไม่ใช่เป็นเรื่องนิยาย เป็นแต่เพียงหยิบยกพฤติการณ์อย่างหนึ่งขึ้นมากล่าว แล้วจาก พฤติการณ์นั้น ชักโยงไปหาแนวความคิดที่เราต้องการเขียน บางทีผู้เขียนก่อความพิศวงขึ้นแก่ผู้อ่าน เช่น ในเรื่อง “โรคระบาดพบใหม่” ของ “ครู เทพ” ขึ้นต้นเรื่องดังนี้

“โรคพบใหม่ชนิดหนึ่ง กำลังระบาดทั้งกรุงเทพฯ และหัวเมือง ในกรุงเทพา เป็นดาษดื่น ตามโรงหนัง พนักสะพาน ศาลาวัด ลานวัด ฯลฯ ในหัวเมืองจะเห็นได้ตามสถานีรถไฟโดยมาก

อาการของโรคนี้กินลึกคล้ายวัณโรค คนไข้ไม่รู้ตัวว่าเป็นโรค และคอยปฏิเสธเสมอ แต่แพทย์และคนอื่นสังเกตได้ว่า ถ้าจับใครเข้าแล้ว ทำให้ แขวน เซ่น แขวนตามพนักสะพาน ตามหน้าโรงหนัง ตามโคนต้นไม้ข้างตลิ่ง ตามสถานีบ้านนอก และตามศาลาวัดที่ไม่ได้ใช้ เป็นต้น”

ผู้อ่านจะถามตัวเองว่า “นี่โรคอะไร” แต่ครูเทพจะทำให้ท่านผู้อ่าน
ต้องอ่านไปจนจบ และบอกท่านในประโยคสุดท้ายของเรื่องว่า โรคนี้คือ
โรคขี้เกียจ

การเขียนบทความเรียงประเภทนี้ นักเขียนต้องพยายามทำให้เรื่อง “เบา” ใช้คารมคมๆ ขำๆ ความคิดที่แสดงออกมาก็ไม่เคร่งเครียดรุนแรง คล้ายกับว่า เราพูดกันเล่นเพลินๆ ไนระหว่างมิตรสหาย แม้เรื่องที่เขียนนั้นจะสลักสำคัญ และผู้เขียนต้องการให้เห็นความสำคัญ ก็ต้องเขียนอย่างแสดงความมีอารมณ์ดี

ตัวอย่างและคำอธิบาย
ตัวอย่างบทความเรียงที่ดีจริงๆ หายาก เพราะนักเขียนบทความเรียงที่เรียกว่า เอสเซยิสต์ (Essayist) นั้นมีน้อยตัว ยิ่งในสมัยนี้ยิ่งหายากขึ้น ได้เลือกมาให้ดูเป็นตัวอย่าง ๒ เรื่อง คือ “เร่งทำช้าๆ” ของ นายสุกิจ
นิมมานเหมินทร์ กับ “ความสุข” ของ “นาคะประทีป”

เร่งทำช้าๆ
๑. ฉันยืนบนหัวเรือหางแมลงป่อง ซึ่งจอดอยู่ข้างตลิ่งแม่นํ้าปิง ตอน หน้าคุ้งนํ้าแห่งหนึ่ง ข้างๆ ฉันนั้นมีคนตกปลาอยู่สองคน คนหนึ่งตกปลา เล็กๆ เช่น ปลาสร้อย ปลาตะเพียน อยู่ข้าง “ปก” (“ปก” ก็คือที่ที่เขาเอากิ่งไม้มากองๆ ไว้ในแม่นํ้า ตอนที่ไม่สู้ลึกนัก เพื่อให้ปลาเข้ามาพักอาศัย อยู่) ส่วนอีกคนหนึ่งตกปลาทางนํ้าลึก ง่วนอยู่ต่างหาก ฉันสังเกตดูเป็นเวลานาน จึงได้เห็นวิธีตกเบ็ดทั้งสองคนว่าแตกต่างกันมาก และผลที่ได้รับก็ผิดกันมากจริงๆ เสียด้วย

๒. คนที่ตกปลาข้างๆ ปกนั้นใช้มันปูเป็นเหยื่อ เกี่ยวกับตัวเบ็ดซึ่งมีสายฟั่นจากรังบุ้งชนิดหนึ่ง (บุ้งชนิดนี้มักอยู่ตามต้นฝรั่ง ทำรังคล้ายๆ รัง ไหม และในที่สุดออกมาเป็นผีเสือช้าง ที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Atlas Myth) และมีทุ่นกลมๆ ทำด้วยหนามทองหลาง ซึ่งเบาลอยนํ้าเหมือนไม้ก๊อกติดอยู่ด้วย พอทอดเหยื่อลงไปสักครู่ใหญ่ๆ ก็เห็นทุ่นมีอาการขยับขึ้นๆ ลงๆ พอเห็นว่า ปลาตั้งต้นกลืนเบ็ดเข้าไปแล้ว คนตกปลาคนนั้น ก็วัดคันเบ็ดขึ้นมาพร้อมทั้งตัวปลาขนาดเล็กๆ ติดขึ้นมาด้วย เมื่อปลดปลาออกจากคันเบ็ดลงข้อง ซึ่งผูกติดกับบั้นเอวไว้แล้ว เขาก็จัดแจงเกี่ยวมันปูที่ตัวเบ็ดใหม่ แล้วก็ลงมือตกต่อไป ในไม่ช้าก็ได้ปลาอีก ฉันนึกอยากจะถามเขาเหมือนกันว่าวันหนึ่งๆ เขาได้ปลาพอที่จะคุ้มกับเวลาที่เสียไปทีเดียวหรือ เพราะเห็นปลาชนิดที่เขาตกได้ เป็นชนิดปลาสร้อย ปลาตะเพียนที่ไม่สู้มีราคาค่างวดอะไรนัก ถึงหากว่าได้เต็มข้องก็คงได้ไม่กี่สตางค์ แต่ก็ต้องอดกลั้นความกระหายอยากรู้ไว้ เพราะเคยได้ทราบว่า เป็นธรรมเนียมของพรานเบ็ดเขาถือกันนักว่า ถ้าระหว่างที่ตกเบ็ดนั้น หากมีใครถามว่าได้ปลามากหรือน้อย แล้วก็เป็นอันเชื่อได้ว่า วันนั้นเป็นต้องอับโชคทั้งวัน ปลาจะไม่ตอดเบ็ดเสียเลย (ข้อนี้เท็จจริงประการใด ฉันไม่เคยพิสูจน์) แต่ทว่า หน้าตาของพรานเบ็ดคนนั้น ดูบึ้งตึงขึงขัง ไม่น่าจะชักชวนให้สนทนาด้วยนัก คล้ายๆ กับว่าแกเกรงคนจะมาทักทายปราศรัย เพราะไม่ทราบถึงลัทธิซวยนี้ก็ได้ จึงต้องล้อมรั้วกั้นคนด้วยสีหน้าก่อน

๓. ส่วนอีกคนเล่า ถือคันเบ็ดเหมือนกัน ส่วนคันเบ็ดเขา แทนที่จะมีสายเบ็ดผูกมาจากปลายคันอย่างคนแรก กลับมีห่วงคล้ายๆ วงแหวนติดอยู่ สายเบ็ดนั้นพันกับกระบอกไม้ไผ่ ทำนองเดียวกับด้ายหลอดเย็บผ้าพันรอบๆ หลอด ฉะนั้น ส่วนอื่นๆ ก็คล้ายกันกับคนแรก ผิดกันก็ตรงที่ไม่มีทุ่น และสายยาวกว่ากันเท่านั้นเอง ชายคนนี้ใช้ยอดอ่อนของมะเดื่อเถาที่ขึ้นตามชายตลิ่งเป็นเหยื่อ ฉันเฝ้าดูเขาเป็นนาน เดี๋ยวเห็นเขาพันสายให้สั้นเข้า เดี๋ยวก็กลับผ่อนสายให้เพิ่มออกไป ดูๆ คล้ายกับชักว่าวในนํ้าก็ได้ ในชั่วเวลาที่ชายคนแรกตกได้ปลาเล็กๆ ตั้ง ๘-๙ ตัวแล้ว ดูเหมือนคนที่สองยังไม่ได้อะไรเสียเลย แต่พอสักครู่หนึ่ง ฉันเห็นสายเบ็ดของคนที่สองตั้งต้นจะตึงขึ้น เป็นปลาติดเบ็ดเข้าแล้วละ เขารีบพันสายเข้าเพื่อจะจับปลาทันทีหรือเปล่า ทั้งนั้น เขากลับปล่อยให้ปลาดึงไปจนจวนจะหมดสาย แล้วจึงค่อยๆ พันสายกลับ พอพันสายให้สั้นเข้าได้สักหน่อยก็ผ่อนสายให้คลายไปอีก นานๆ ทีก็ค่อยลองกระตุกๆ ดู จนในที่สุดเจ้าปลาตัวนั้นอ่อนหมดแรงลง สายไม่ค่อยจะแข็งแล้ว เขาจึงตั้งต้นม้วนสายเข้ามาจนกระทั่งในที่สุด ตัวปลาถูกดึงตามสายขึ้นมาจากผิวนํ้า มิน่าเขาจึงต้องปล่อยมันดึงไปดึงมาเสียนาน เพราะตัวมันเบ้อเร่อขนาดปลากะพงย่อมๆ ซึ่งก็นับว่าเป็นปลาน้ำจืดที่ใหญ่ถนัดอยู่ รูปร่าง และรสชาติคล้ายๆ ปลาเมืองจีนอย่างที่แขวนหน้าร้านขายอาหาร แถวราชวงศ์ ชาวพื้นเมืองเรียกว่า “ปลาสะพาก” ราคาขายไม่ต่ำกว่าบาท หนึ่งเป็นแน่

๔. สิ่งที่ฉันสังเกตเห็น จากพรานเบ็ดทั้งสอง รู้สึกว่าทำให้คิดไปต่างๆ นานา และคิดไปคิดมา ก็รู้สึกว่าเป็นการฟังเทศนา โดยเห็นอุทาหรณ์ จริงๆ คล้ายๆ กับพฤติการณ์ในชีวิตของมนุษย์เรา มีบางสิ่งบางอย่างที่ เราต้องการ และสามารถจะทำได้โดยเร็ว แต่สิ่งเหล่านั้นมักเป็นสิ่งที่ไม่สู้ จะมีราคาค่างวดสำหรับเรานัก มีงานบางชิ้นบางอัน ซึ่งกว่าจะสำเร็จเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้ ต้องการความเพียร ความอดทนมากนัก บางทีถึงกับเป็นงานตลอดชีวิตทีเดียว แต่เมื่อมาเพ่งดูผลที่ได้รับแล้ว รู้สึกว่า งานที่ได้ผลทันตาทันใจ ทำได้ง่ายๆ มักไม่สู้จะเป็นประโยชน์เท่าใดนัก ส่วนที่ทำไป โดยใช้ขันติวิริยภาพมากมายนั้น กลับปรากฏว่า นอกจากจะให้ความพอใจ และบันเทิงแก่ผู้ทำแล้ว ยังมักจะเป็นประโยชน์อันใหญ่หลวงแก่ผู้อื่นๆ ด้วย

๕. ส่วนใจของเราเล่า ถ้าเราเป็นคนใจเร็ว ฉุนเฉียว ไม่รอบคอบ คิดหน้าคิดหลังจริงๆ แล้ว ก็คงจะอยู่ไปได้เช่นเดียวกับป่านไหม สายเบ็ด ซึ่งทนได้ก็แต่ปลาเล็กๆ เท่านั้น หากเผชิญกับสิ่งที่สลักสำคัญจริงๆ ในชีวิต เช่นกับเมื่อมีปลาตัวใหญ่ๆ มาดึงทีเดียว สายเบ็ดก็คงขาดปุ๋ยไปในชั่วพริบตาเดียวเป็นแน่ แต่สมมุติว่า เรามีใจยาวรอบคอบประดุจสายป่านที่ยาวๆ แล้ว แม้จะมีสิ่งใดมากระทบ ทำให้ใจเรารู้สึกสั่นกระเทือนเฟือนไหวอย่างแรงๆ ก็ดี ถ้าเราจะกะผลีกะผลามรวบรัดทิ้งเอาโดยพลการ ตามอำเภอใจของเราผู้เดียวแล้ว ที่ไหนเลยเราจะสามารถตัดสินใจทำไปได้เล่า เหมือนกับชายตกปลาสองคน ซึ่งถ้าหากเขาตะกลามรีบร้อนจะจับเอาตัวปลาถ่ายเดียว โดยมิคำนึงถึงความต้านทานทนการดึงแห่งสายเบ็ดของตนแล้ว ที่ไหนเลยสายไหมอันเล็กๆ แบบบางเช่นนั้นจะทนได้ ในที่สุดสายเบ็ดก็จะขาดกลางคัน และลาภนั้นก็จะพลอยสูญไปเสียเปล่าๆ ด้วย การที่ทำใจเย็นรู้จักผ่อนสั้น ผ่อนยาว เอาใจเขามาใส่ใจเรา คิดหน้าคิดหลังชั่งใจให้ดี แล้วในที่สุดก็จะทำการใหญ่ๆ หรืองานที่สลักสำคัญสำเร็จไปได้ การด่วนโกรธ โดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกของผู้อื่น ไม่พยายามที่จะเข้าใจความหมายของอีกฝ่ายหนึ่ง แล้วมักเป็นเหตุให้เกิดความเข้าใจผิดอย่างร้ายแรงเสมอ หากเรารู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาวเข้าใจอีกฝ่ายหนึ่ง อย่างไรเสียก็ดี เราคงจะไม่มีข้อที่จะทำให้เรารู้สึกเสียใจได้เมื่อภายหลังเป็นแน่แท้ การเสียใจภายหลังย่อมจะไม่ทำ สิ่งที่ล่วงแล้วไปให้กลับดีขึ้นได้ อย่างดีที่สุดก็เพียงแต่จะเป็นบทเรียนให้ทำดียิ่งขึ้นกว่าเดิมเท่านั้น

คำอธิบาย
๑. ชื่อเรื่อง “เร่งทำช้าๆ ” ทำให้พิศวง เพราะเป็นความขัดกัน เร่ง กับ ช้าๆ บางคนชอบให้ชื่อเรื่องโลดโผนพิสดาร โดยเฉพาะบทความเรียงของ นายสุกิจ นิมมานเหมินท์ นี้ มีแปลกๆ เสมอ เช่น “อันน้องนี้ แต่กำเนิดเกิดมา จะหุงข้าวหุงปลาก็มีเคย” ซึ่งทำให้ผู้อ่านเกิดอยากรู้ว่า เรื่องจะเป็นอย่างไร แต่เราจะให้ชื่อเรื่องง่ายๆ เรียบๆ ก็ได้

๒. การบรรยายเรื่องคล้ายแบบนิยาย คือ มีตัวละคร แต่ทว่าไม่เหมือน นิยาย เพราะไม่มีพฤติการณ์อันใดติดต่อกัน เป็นแต่เพียงยกเรื่องมาอ้างนำข้อความที่จะได้พูดต่อไปเท่านั้น

๓. ตั้งแต่หมายเลข ๑-๒ และ ๓ กล่าวถึงผู้เขียนไปดูคนตกปลา ท่านจะเห็นว่า ไม่ต้องมีความรู้อะไรนัก เพียงแต่นำเอาสิ่งที่พบปะมากล่าว แต่ความดีอยู่ตรงไหน อยู่ตรงที่ผู้เขียนพรรณนาให้เราแลเห็นวิธีตกปลา พูด เรื่องสายเบ็ด เหยื่อ ทุ่นปลา และ “การถือ” ประเพณีของพวกพรานเบ็ด ของซึ่งมองดูไม่น่าสำคัญเหล่านี้ ถ้ารู้จักสังเกตหยิบมาพูดก็ทำให้น่าอ่านได้เหมือนกัน

๔. ในเลขหมาย ๔-๕ เป็นแนวคิด คือเอาเรื่องพรานเบ็ดมาเปรียบกับพฤติการณ์ในชีวิตของมนุษย์ อย่างที่เขาพูดว่า “ที่ใบไม้ใบหญ้านั้น ย่อมมีคำสอนใจติดอยู่” ผู้ที่รู้จักมองย่อมแลเห็นคำสอนใจนั้นได้ สำหรับ เรื่องนี้ผู้เขียนเห็นพรานเบ็ดสองคน ซึ่งดูเผินๆ ก็ไม่น่าสำคัญอย่างไร แต่ เมื่อเห็นแล้วตรองก็เกิดเป็นความนึกคิด เป็นข้อเตือนใจขึ้น สำหรับเราอ่านแล้วก็ได้รสเพลิดเพลินด้วย และได้คติด้วย ให้ท่านสังเกตว่า ถ้าเขียนเป็นคำสอนตรงไปตรงมา ก็จะแห้งแล้งไม่ชวนอ่าน

ตัวอย่างที่สอง
เรื่องนี้เป็นของ “นาคะประทีป” (พระสารประเสริฐ ถึงแก่กรรมแล้ว) จะคัดเฉพาะตอนต้นตอนเดียว

ความสุข
เตสํ วูปสโม สุโข ฯ
ความสงบแห่งสังขารทั้งหลายนั้น เป็นสุข
คดีโลก
เมื่อฉันเป็นเด็ก กินสำรับกับพ่อแม่ ช่างรู้สึกเป็นสุขเสียจริงๆ เสียแต่เมื่อเลิกวิ่งเล่นแล้ว หิวยังกินสำรับไม่ได้ ต้องคอยผู้ใหญ่ เมื่อทนไม่ไหว แม่ครัวคดข้าวราดแกงมาให้กินก่อน ถ้าต้องไปโรงเรียนเช้า ก็ไม่มีหวังจะได้ กินสำรับ มันให้นึกอยู่เสมอว่า ถ้าเราโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้น กินสำรับของเราเอง จะสุขมากทีเดียว หิวเป็นกินได้ ไม่ต้องคอยใคร ไม่ว่าเวลาไหน

มาถึงเวลาที่ฉันมีสำรับของฉันกินเอง หิวเป็นกินได้ไม่ต้องคอยใคร ไม่ว่าเวลาไหน แต่ โอ ความรู้สึกที่ว่าสุข ไม่เหมือนกับสุขเมื่ออยู่กับพ่อแม่
ครั้งนั้นตื่นเช้ากินข้าว ไปโรงเรียนกลับบ้านเล่น เลิกเล่นหิวก็กินขนมที่แม่เตรียมไว้ให้ หรือไม่พออิ่มก็กินข้าวเลย ตกกลางคืนทำการบ้าน นานๆ ทำที (เรื่องเข้าโรงเรียนกลางคืน สหศึกษา ขากลับส่งกันไปส่งกันมา สมัยนั้นยังไม่มีเรื่องท่องการภูมิศาสตร์อยู่จนดึกๆ ออสเตรเลียมีเนื้อที่เพาะปลูก ทั้งหมด ๕๐,๐๐๐,๐๐๐ ไร่ เป็นที่นาปลูกข้าวโอ๊ต ๔,๕๐๐,๐๐๐ ไร่ ปลูกข้าวบาเลย์ ๑,๔๐๐,๐๐๐ ไร่ ฯลฯ เช่นนี้ ครูไม่เคยกะเลย) กระนี้ ยังนึกกระเถิบอีกว่า ถ้ามีสำรับกินเอง จะสุขสบายยิ่งกว่านี้เทียวหนอ ครั้นมามีสำรับกินเองเข้าจริง มันกลับให้นึกอยู่เสมอว่า เมื่อมีกินสำรับวันนี้แล้ว จะมีกินสำรับวันหลังไหม (คือ วันที่ตามหลังวันนี้ ไม่ใช่วันหน้าซึ่งนำหน้าเลยไปแล้ว) และทำอย่างไรจะมีให้ลูกเต้ากินเสมอไป ไม่อดมื้อกินมื้อ ตกลงโอกาสแห่งสุขตามที่นึกกระหยิ่มไว้ กลายเป็นโอกาสแห่งวิตกกังวลเข้ามาเต็ม ความวิตกกังวล อันให้ต้องดิ้นรนเพื่อรอดพ้นความอดอยากต่อไป

รู้สึกว่าอยู่กับพ่อแม่ ถึงไม่มีสำรับกินเอง ก็ไม่มีความกังวล สบายดี กว่าที่มามีสำรับกินเองเข้ากลับมีความกังวล ความกังวลเข้ามาแย่งความคิดดีๆ เหมือนกาฝากแย่งอาหารต้นไม้ เมื่อเป็นเด็กไม่มีความกังวล มีความคิดเท่าใดใช้ไปในทางเรียนหนังสือเต็มที่ เมื่อถึงคราววัยที่ควรทำงาน ถ้าไม่มีกังวล จะได้ใช้ความคิดทับถมลงไปในทางทำประโยชน์เต็มส่วน แต่ความคิดกังวล เกิดมาแย่งความคิดทำประโยชน์เสีย เช่นงานกำลังเดินก็ถึงเวลากินข้าวกลางวัน ต้องวางมือก่อน ถึงกับมีผู้เคยบ่นว่า ถ้าไม่ต้องกินข้าวได้งานจะเปลืองอีกมาก

ดั่งนี้ ความสุข คือความไม่มีกังวล
และความกังวลนั้น เป็นความทุกข์

คำอธิบาย
๑. ในการเขียนบทความเรียง ทั้งเชิงสาระและปกิณกะ บางทีผู้เขียน ยกพุทธภาษิตหรือคำของนักปราชญ์มากล่าวนำ ภาษิตที่ยกมากล่าวนั้นต้องเป็นหลัก และเข้ากับเรื่องที่เราต้องการพูด เรื่องนี้ นาคะประทีป ต้องการพูดเรื่องความสุข และเชื่อตามพุทธภาษิตที่ว่า ความสงบแห่งสังขารทั้งหลายนั้น เป็นสุข จึงยกภาษิตบทหนึ่งมาประหน้าไว้

๒. ให้ท่านสังเกตว่า เรื่องความสุข เป็นเรื่องลึกซึ้ง อาจเขียนให้ เคร่งเครียดเอาจริงเอาจัง เพียบพร้อมไปด้วยหลักธรรมอย่างไรก็ได้ แต่ นาคะประทีป เพียงแต่สาธกยกอุทาหรณ์ที่เบาๆ ง่ายๆ มาแสดง เรื่องเบาๆ อย่างนี้จับใจผู้อ่านได้ดี เพราะผู้อ่านคงจะเคยรู้สึกมาบ้างเหมือนกัน

ในการเขียนบทความเรียงปกิณกะนี้ กล่าวโดยสรุป ก็คือ
๑. ผู้เขียนต้องมีความนึกคิดเสียก่อน ความนึกคิดนั้นจะดาดๆ เผินๆ ตื้นลึก อยู่ที่รสนิยม ความรู้ และความรู้สึกของผู้เขียน ในเรื่อง เร่งทำช้าๆ ผู้เขียนมีแนวคิดว่า “ความมีใจเยือกเย็น รู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว เป็นความดี” ในเรื่องความสุข ผู้เขียนต้องการแสดงแนวคิดว่า “คนเรามักแลเห็นความสุข ในสิ่งที่ตนยังไม่มี”

๒. เมื่อมีความคิดแล้ว แสดงความคิดนั้นให้น่าฟัง ผู้เขียนย่อมซ่อน แนวคิดของตนไว้ก่อน แล้วสาธกยกเอาเรื่องต่างๆ มาเปรียบเปรย ชักนำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกขึ้นได้เอง ไม่ใช่บอกกันตรงไปตรงมา กลเม็ดโดยการเขียน โดยเทียบเคียงเช่นนี้ก็มีอเนกนัย เฉพาะตัวอย่างสองเรื่องนั้น เรื่องแรกผู้เขียนนำเอาพฤติการณ์ ของพรานเบ็ดมาพูดคล้ายเล่าเรื่องให้ผู้อ่านฟัง เมื่อผู้อ่านฟังเพลิน จึงสะกิดให้เห็นว่า พฤติการณ์ของพรานเบ็ดนี้ ก็มีเรื่องน่าคิดอยู่ ส่วนเรื่องที่สอง ผู้เขียนนำเอาความจัดเจน เมื่อครั้งตนยังเป็นเด็กมากล่าว

๓. เรื่องที่ยกมาเป็นตัวอย่าง สองเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผู้เขียนต้องการแสดงแนวคิดทางธรรมและความประพฤติ แต่ดังที่ได้พูดมาข้างต้นแล้วว่า บทความเรียงนั้น เป็นเรื่องสารพัด ไม่มีวงจำกัด ใครเห็นเรื่องอะไรเป็น ที่ต้องใจ สบอารมณ์ สะดุดความสังเกต จะนำมาเขียนเป็นบทความเรียงได้ทั้งนั้น แต่ข้อสำคัญท่านต้องมี ความนึกคิด หรือจุดหมายเสียก่อน แล้วท่านจะเขียนอ้อมโดยปริยาย ตีวงเข้าหาจุดนั้นโดยวิธีใดก็ได้ ตามที่ท่านนึกว่า ผู้อ่านจะรู้สึกสนุก และน่าสนใจ ท่านจะเขียนอย่างไรก็ตาม เมื่อผู้อ่าน อ่านจบเรื่อง จะต้องได้แนวคิดหรือความรู้สึกตรงกับแนวความมุ่งหมายของท่าน

หลักการเขียนบทความเรียงเชิงสาระ
ในการที่แยกบทความเรียงออกเป็นสองชนิด คือ เรียงความเชิงสาระกับเรียงความเชิงปกิณกะนั้น ก็เพื่อความสะดวกในการอธิบายเป็นข้อใหญ่ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว เรียงความทั้งสองชนิดนี้ต่างกันโดยความมุ่งหมาย และสำนวนโวหาร กล่าวคือ เรียงความเชิงปกิณกะ แม้ผู้เขียนจะได้ตั้งใจ แสดงแนวคิดข้อธรรมะคำสอนอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ก็ต้องเคลือบสิ่งเหล่านี้ไว้โดยเนื้อเรื่อง และสำนวนโวหารอันคมคายชวนอ่าน ให้อ่านสนุกและเพลิดเพลิน ส่วนเรียงความเชิงสาระนั้น ผู้เขียนต้องการให้ความรู้ ไม่คำนึงว่าผู้อ่านจะสนุกหรือไม่สนุก อย่างไรก็ดี ถึงแม้จะเป็นเรียงความเชิงสาระ ถ้าผู้เขียนมีฝีมือ ก็อาจทำให้น่าอ่านได้เหมือนกัน เรียงความเรื่องต่างๆ ของครูเทพ โดยมากเป็นทั้งเชิงสาระและปกิณกะปนกัน

อนึ่ง หลักในการเขียนเรียงความทั้งสองชนิดนี้ ก็มิได้แยกกันเด็ดขาด แล้วแต่ผู้ศึกษาจะยึดถือและนำไปใช้ให้เหมาะสมกับความต้องการของแต่ละคน ตามปกติในการเขียนบทความเรียงชนิดนี้ท่านต้องคำนึงถึงหลัก ๓ ประการ

๑. ความมุ่งหมายอันแน่นอน คือท่านต้องรู้ว่า ท่านจะพูดอะไร และ เพื่อหวังผลสุดท้ายอย่างใด ก่อนที่จะลงมือเขียน ท่านต้องตั้งเข็มวัตถุประสงค์ให้แน่นอนเสียก่อน แล้วเขียนเข้าหาศูนย์ที่ท่านต้องการ มิฉะนั้นท่านจะพูด วกเวียน หรือหันเหออกนอกทาง เป็นเหตุให้เรียงความของท่านขาดเอกภาพ (Unity) และผู้อ่านก็จะหยิบสาระในเรื่องที่ท่านเขียนไม่ได้

๒. สัดส่วน (Proportion) ตามธรรมดาบทความเรียงย่อมแบ่งออกเป็น ๓ ส่วนเสมอ คือ คำนำเรื่อง (Introduction) ตัวเนื้อเรื่อง (Body) และ คำกล่าวปิดเรื่อง (Conclusion) ทั้ง ๓ ตอน เราจะแลเห็นจากย่อหน้า คำนำมักจะมีเพียงย่อหน้าเดียว ส่วนตัวเรื่องอาจมีได้ตั้งแต่ ๓ ย่อหน้าขึ้นไป แล้วแต่เนื้อเรื่องนั้นจะมีความสำคัญกี่ตอน ตอนหนึ่งๆ เราย่อมเขียนขึ้นย่อหน้าใหม่ จะเขียนติดต่อกันรวดเดียวจบเรื่องไม่ได้ ส่วนคำกล่าวปิดเรื่องนั้นอยู่ท้ายเรื่องสุด สัดส่วนนี้เป็นข้อสำคัญ เช่น ถ้าเขียนคำนำยืดยาว แต่เนื้อเรื่องมีนิดเดียว ก็เปรียบเหมือนคนหัวโตตัวเล็ก เรียกว่าไม่มีสัดส่วน

คำนำของเรื่องนั้น คือ การพูดเปิดเรื่อง เพื่อให้ผู้อ่านแลเห็นแนว ความคิด ตลอดจนเรื่องราวที่เราจะได้พูดต่อไป ในการเขียนคำนำเปิดเรื่องนี้ อาจทำได้ ๓ ทาง คือ

ก. บอกผู้อ่านตรงๆ ทันทีว่าเราจะพูดเรื่องอะไร และต้องการให้ผู้อ่านรู้หรือเข้าใจเรื่องอะไร คือ คล้ายๆ กับเป็นการดำเนินเรื่องไปในตัว เช่น ในบทความเรียงเรื่อง “การส่งนักเรียนไปศึกษาต่างประเทศ” ครูเทพ ได้เปิดเรื่องอย่างตรงๆ ว่า

“การส่งนักเรียนไปศึกษาที่ต่างประเทศนี้ ทำกันอยู่ทุกประเทศ นักเรียนผู้ไปเรียนนั้นเป็นนักเรียนที่รัฐบาลส่งก็มี นักเรียนที่ไปเรียนด้วยทุนของตัวเองก็มี สำหรับประเทศที่เพิ่งเริ่มจัดการศึกษา การส่งนักเรียนไปเรียน ที่ต่างประเทศเป็นการจำเป็นเท่ากับไปต่อวิชา หรือไปขนวิชาซึ่งประเทศ ของตัวยังบกพร่องอยู่”

ข. อาจเปิดเรื่องโดยวิธีอ้อม คือ ทำประหนึ่งว่า จะพูดเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แล้วตีวงเข้าจุดที่เรามุ่งหมาย เมื่อผู้อ่าน อ่านตอนคำนำเกือบจะไม่รู้ว่า เราจะพาไปทางไหน การเปิดเรื่องโดยวิธีนี้จะเห็นตัวอย่างได้จากเรื่อง “เร่ง ทำช้าๆ ” ทีให้ไว้แล้ว

ค. เขตเรื่องโดยแสดงแนวคิดของเราในทันที คือ หยิบหัวใจของเรื่องมาวางให้เห็น ต่อไปเป็นการพิสูจน์ หรือชี้ให้ผู้อ่านคิดเห็นตามแนวคิดของเรา เช่นในเรื่อง “ความหลงอย่างใหญ่” อัศวพาหุ ได้เปิดคำนำเรื่อง ดังนี้

“ชนชาวร่วมชาติของข้าพเจ้าทั้งหลายจงตื่นเถิด ท่านจงแลดูไปให้รอบข้างให้พ้นหลังคาครัวเรือนของท่าน ขอให้ท่านพิจารณาดูมหาสงคราม ที่ทำกันอยู่ในยุโรปเวลานี้ ขอให้ท่านแลดูให้ลึกลงไปกว่าการที่เขารบกัน เท่านั้น แล้วแลหยิบคติ ซึ่งอาจจะเอามาใช้เปรียบเทียบกับประเทศของเรา ได้”

เรื่องนี้มีรวมอยู่ในปกิณกคดี ของอัศวพาหุ (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า) ทรงพระราชนิพนธ์สมัยมหาสงครามครั้งแรก ค.ศ.๑๙๑๔-๑๙๑๘ การเปิดเรื่องโดยบอกกับผู้อ่านตรงๆ ว่า “ข้าพเจ้าจะได้พูดเรื่องนั้น เรื่องนี้ โดยมีความมุ่งหมายอย่างนั้นๆ ” เป็นวิธีที่ทื่อเกินไป ไม่ชวนให้น่าคิด คล้ายๆ ครูสอนนักเรียนโดยไม่คำนึงว่า นักเรียนจะรู้สึกสนใจหรือไม่

๓. การจัดลำดับเรื่อง ตอนนี้คือตอนตัวเรื่อง ผู้เขียนจะต้องนึกว่า จะพูดอะไรบ้าง จะพูดอะไรก่อนหลัง ผู้เริ่มเขียนควรทำโครงเรื่อง (Outlines)
ไว้เป็นแนวทาง ก่อนที่จะลงมือเขียนจริงๆ เรื่องทำนองบทความ ผู้เริ่มฝึกเขียนส่วนมากผิดในข้อนี้ คือ จัดลำดับเรื่องสับสนกัน เอาเรื่องที่พูดแล้วไปพูดซํ้าไปซํ้ามา ทำให้ความคิดของผู้อ่านพลอยยุ่งเหยิงไปด้วย ท่านควรจัดเรื่องให้เป็นลำดับรับกันไปเป็นห่วงประดุจลูกโซ่ เช่น จะพูด รูปร่างคน ท่านจะลำดับจากศีรษะไปหาเท้า หรือจากเท้าขึ้นไปหาศีรษะ ก็ยึดเอาทางใดทางหนึ่ง ถ้าพูดถึงหน้าแล้ว ไปพูดถึงเข่า กลับวนมาหาอก ก็จะทำให้เกิดสับสนสำหรับเรียงความเชิงสาระนี้ความแจ่มแจ้ง ชัดเจน อ่านเข้าใจง่าย เป็นสิ่งสำคัญที่สุด

การวางโครงเรื่องนี้ ท่านจะเขียนเป็นบันทึกคร่าวๆ ไว้ดังนี้ก็ได้ เช่น

เรื่อง คณะพรรคการเมือง
โครงเรื่อง (๑) คณะพรรคการเมืองคืออะไร (๒) ปร ะวัติ (๓) หลักการ (๔) คุณประโยชน์ (๕) โทษ (๖) ปิดเรื่อง

บันทึกย่อโครงเรื่อง
๑. คณะพรรคการเมืองเป็นสิ่งที่เพิ่งมีในประเทศไทย ได้มีมาช้านาน ในประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย ประเทศอังกฤษนับเป็น ประเทศตัวอย่างของพรรคการเมือง

ลักษณะทั่วไปของพรรคการเมือง-กลุ่มนักการเมืองที่มีความเห็นร่วม กัน-กลุ่มไหนได้เสียงมากในสภาเป็นฝ่ายได้บริหารกิจการของประเทศ-ส่วนอีกฝ่ายเป็นฝ่ายคอยทักหรือค้าน เรียกว่า ออปโปสสิชั่น(Opposition)

๒. พรรคการเมืองในประเทศเรากำลังเริ่มฟักตัว ถึงแม้จะมีกฎหมาย ควบคุมแล้ว ก็ยังเป็นพรรคการเมืองที่ไม่มั่นคงนัก

กล่าวถึงประวัติ เทียบเคียงกับต่างประเทศ

๓. พรรคการเมืองในประเทศเรามี พรรคสหชีพ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคก้าวหน้า นโยบายของแต่ละพรรค

๔-๕-๖ ฯลฯ
นี่เป็นตัวอย่างบันทึกสังเขป เมื่อท่านจะเขียนเรียงความชนิดนี้ จะเป็นเรื่องใดก็ตาม ท่านต้องมีความรู้เรื่องนั้นให้ถ่องแท้ ท่านต้องศึกษา
ค้นคว้าหาหลักฐาน และพินิจพิเคราะห์โดยภูมิปัญญาของท่านเอง การเขียนเรียงความเช่นนี้ ถ้าเป็นเชิงความเห็นอภิปรายหรือแถลงคารมอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็กลายเป็นทำนองบทนำ (Article) ในหนังสือพิมพ์

เมื่อท่านกำหนดโครงเรื่องที่จะเขียนดังนี้แล้วก็ลงมือเขียนได้ แต่ไม่จำต้องไปพะวงกับโครงเรื่องมากนัก เพราะจะทำให้ปากกาของท่านฝืด ต่อเมื่อท่านรู้สึกว่า ท่านกำลังจะเหออกนอกทาง หรือไปจนมุมอยู่ตอนหนึ่ง ตอนใด จึงหยิบเอาแนวที่วางไว้มานำทางต่อไป สำหรับผู้ที่มีความชำนาญแล้วโครงเรื่องย่อมคิดสร้างไว้ในสมอง ไม่จำต้องเขียนลงเป็นตัวหนังสือ

แต่สมมุติว่า ท่านจะเขียนบทความเรียงโดยไม่คิดที่จะวางโครงเสียก่อน เมื่อเขียนสำเร็จแล้ว ท่านต้องการทราบว่าเรื่องที่ท่านเขียนนั้น ถึงพร้อมด้วยองค์สามแห่งบทความ คือ เอกภาพ สัมพันธภาพ และสารัตถภาพ หรือเปล่า ท่านลองอ่านเรื่องที่ท่านเขียน แล้วบันทึกลงเป็นโครงเรื่อง แล้วท่านจะแลเห็นทันทีว่าหน้าตาแห่งบทความเรียง มีสัดส่วน ได้ลำดับดีหรือไม่ นี่เป็นวิธีวิจารณ์เรื่องของตนเองโดยตนเอง บางทีหัวของท่านกำลังแล่น ท่านอาจจะเขียนรีบรุดไปโดยเร็ว ถ้าท่านได้มาอ่านทบทวน และทอนเรื่องที่ท่านเขียนลงเป็นโครงเรื่องแล้ว ท่านอาจพบข้อบกพร่อง อันเกิดขึ้นจากการเขียนโดยรีบร้อนให้ทันหัวคิดที่กำลังแล่นเร็วนั้นได้ และก็อาจแก้ไขบทความเรียงของท่านให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ข้อแนะนำทั่วไป
บทความเรียงไม่ใช่เรื่องนิยาย จะได้มีเนื้อเรื่องให้อ่านเล่นเพลินๆ ฉะนั้นความดีของความเรียงอยู่ที่สำนวน ปัญญาความคิด และ ความช่างพูด (Eloquence) คำว่า อีโลเกว้นส์ (Eloquence) แปลว่า พูดคล่อง น่าฟัง ชวนให้ติดใจฟัง เรื่องดีจะต้องไม่ใช่เรื่องตื้นๆ ดาดๆ ท่านอาจพูดเรื่องตัดผมก็ได้ แต่ต้องมีอะไรพิเศษแฝงอยู่ในเรื่องของท่าน ปัญญา ความคิดเป็นสิ่งมีประจำตัว บางคนมีน้อย บางคนมีมาก บางคนคิดได้ตื้นๆ บางคนคิดได้ลึกซึ้ง เมื่อ “ครูเทพ” เห็นประเพณีทำศพของไทยเป็นอย่าง ตำนํ้าพริกละลายแม่นํ้า ท่านก็เขียนเรื่อง “คนตายขายคนเป็น” ชี้ให้เรา
เห็นว่าประเพณีการทำศพอย่างฟุ่มเฟือย ที่เคยทำกันมานั้นเป็นประเพณีที่ล้าสมัย คนตายก็ไม่ได้ประโยชน์ ซ้ำคนที่มีชีวิตต้องเปลืองเปล่า โดยไม่ได้อะไรดีขึ้นเลย เสฐียรโกเศศ เขียนเรื่อง “กินโต๊ะจีน” ดูก็ไม่ใช่เรื่องน่าสนุก แต่เราอ่านเพลิน เพราะผู้เขียนรู้จักพูดรู้จักสังเกต หยิบเอาเรื่องที่คนอื่นลืมสังเกตมาชี้ให้เราเห็น และพูดอย่างเป็นกันเอง ในภาษาอังกฤษ เรียกว่า แฟมมิลิอาร์ สไตล์ (Familiar Style) จะยกตัวอย่างมาให้อ่านสักตอน จากเรื่อง “กินโต๊ะจีน”

“เวลากิน ธรรมเนียมของจีนต้องทำเสียงกินให้ดังจั๊บๆ ถ้าเป็นนํ้าแกงต้องซดให้ดังโฮกๆ นี่เป็นเครื่องแสดงว่า อาหารที่เลี้ยงกินอร่อยมาก เป็นการให้เกียรติยศแก่ผู้เลี้ยง กินอิ่ม ‘ทางการ’ อนุญาตให้ท่านเรอ แสดงว่าเรากินเสียเอ้อเร้อ หมายความว่าอร่อยมาก กินเสียจนเรอ กินโต๊ะ ฝรั่งถ้าทำอย่างนี้เป็นโดนแหม่มทำตาเบิ่งแน่ แปลกอยู่หน่อย ที่จีนเรอแล้วไม่เห็นล้างปาก ทำกระพุ้งแก้มบุ๋มเข้าบุ๋มออกเสียงครอกๆ แล้วบ้วนปรูดลงกระโถน เคยเห็นแต่อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเขาไม่ใช้กระโถน

เวลากินยังไม่เสร็จ ถ้าต้องการแสดงอารี ท่านต้องเอาตะเกียบคีบชิ้น อาหารให้แก่ผู้ที่นั่งข้างท่าน เป็นอย่าง serve ถ้าจะให้อารีอารอบยิ่งขึ้น ตามธรรมเนียมเก่าของจีน ท่านต้องคีบใส่ปากให้ทีเดียว (เพียงเอาช้อนเปิบที่กำลังกินอยู่ ตักอาหารให้แก่ผู้ที่อยู่ข้างๆ นานๆ เห็นทีหนึ่ง) ถ้าท่านมีธุระจำเป็นต้องอิ่มก่อน ให้วางตะเกียบพาดบนปากชามเปล่า เจ้าภาพเห็นจะหยิบตะเกียบออกวางข้างล่าง และพูดว่า ‘ฮอหั่น’ เป็นอันเราลุกไปได้ ถ้าเป็นกันเอง ต้องการอิ่มก่อน เราลุกขึ้นและพูดว่า ‘นึ้งคัวๆ เจี๊ยะ’ แล้วไปได้”

ความมุ่งหมายของนักเขียนเรียงความ ก็คือ จะพูดอะไรสักอย่างหนึ่ง ต้องการแสดงความคิดให้คนอื่นฟัง ความคิดนี้เราแสดงโดยเขียนเป็น ประโยคๆ ติดต่อกันเป็นข้อความตอนหนึ่ง แต่เราจะทำอย่างไร ชั้นแรก ต้องเข้าใจว่าคนฟังไม่เคยรู้เรื่องที่เราจะพูด แต่ถ้าเรื่องที่เราจะพูดนั้น คนอ่านรู้กันเสียแล้ว หรือถ้าคนอ่านไม่เข้าใจเรื่องที่เราจะพูด บทความเรียงที่เขียนก็ปราศจากผล ฉะนั้นวิธีนำคนอ่านให้เข้าใจเรื่องของเรา ก็โดยชักเรื่องจากสิ่งที่ผู้อ่านรู้อยู่ก่อนแล้ววกไปหาเรื่องที่เราต้องการพูด เช่นจะพูดเรื่องพรรคการเมือง สิ่งที่ผู้อ่านรู้กันอยู่ก็คือ ในบ้านเมืองเรากำลังจะมีพรรคการเมือง เราเริ่มจากนี้นำไปหาเรื่องพรรคการเมืองที่เราต้องการจะพูด ตอนนำนี่แหละ ที่ท่านจะต้องถางทางให้เตียนสะอาด ให้น่าเดินตาม คือต้องให้ผู้อ่านเข้าใจตามได้ และมีความพอใจที่จะติดตามความคิดของเราไป ท่านจงนึกไว้เสมอว่า ผู้อ่านยังไม่รู้เรื่องของท่านเลย ฉะนั้นสิ่งที่ท่านนึกว่าท่านเข้าใจแล้วนั้น ผู้อ่านอาจยังไม่เข้าใจ ไม่รู้อะไรเลยก็ได้ ท่านจึงต้องอธิบายคำหรือแนวความนึกคิดของท่านให้ชัดเจน

ข้อแนะนำสุดท้ายก็คือ ท่านต้องมีความคิดอันแจ่มใส (Clear Thinking) เสียก่อน ต้องหลับตาเห็นภาพและเรื่องราวที่จะเขียนก่อนจะเขียนท่านต้องรู้เสียก่อนว่าจะตั้งต้นตรงไหน ก่อนจะเขียนลงไปท่านต้องนึกเสียก่อนว่า ท่านต้องการพูดว่ากระไร เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วเรื่องที่ท่านเขียนก็จะมีความชัดเจน ส่วนความน่าอ่าน ลักษณะที่ชวนให้ติดใจนั้นจะตามมาทีหลัง ที่จะทำอย่างนี้ได้ ผู้เริ่มฝึกเขียนมีอยู่ทางเดียว คือ ความมานะพยายาม ความละเอียดลออ ความระมัดระวัง ผู้ที่เริ่มเขียนเรื่องอย่างลวกๆ พอให้เสร็จไปทีนั้น เป็นการตั้งต้นผิดอย่างร้ายแรง

ตัวอย่างบทความเรียงเชิงสาระ
เรื่องนี้ชื่อ “ลูกเสือสยาม” คัดจากเรียงความเรื่องต่างๆ ของ “ครู เทพ” เล่ม ๑ เรื่องนี้ ครูเทพเขียนเมื่อวันที่ ๔ เมษายน ๒๔๗๔ เวลานั้นกำลังมีงานชุมนุมลูกเสือ เรียกว่า Amboree ในพระนคร

ลูกเสือสยาม
๑. ปฐมราชกรณีย์สำคัญแห่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชย์ คือ. ได้ทรงตั้งกองเสือป่าเป็นสมาคมสำหรับผู้ใหญ่ กับกองลูกเสือเป็นสมาคมสำหรับเด็ก ทรงตระหนักในพระราชหฤทัย ว่า การปลุกใจคนไทย เพาะ “เอสปรีต์ เดอะ คอร์ป” เป็นการจำเป็นอย่างยิงในสมัยนั้น ต่อจากการเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง วิธีการปกครองและความเป็นอยู่ของประชาราษฎร์ ซึ่งสมเด็จพระชนกาธิราช พระปิยมหาราชเจ้า ได้ทรงเริ่มขึ้นไว้เป็นปึกแผ่นดีแล้ว

๒. ขณะนั้น สยามตกอยู่ในยุคเปลี่ยนแปลงที่ อารยธรรมฝ่ายตะวันตก
กำลังแผ่พ่านมาถึงตะวันออกอย่างรวดเร็ว ความเป็นอยู่เพื่อชาติอย่างแต่ก่อนได้เปลี่ยนเป็น ความเป็นอยู่เพื่อระหว่างชาติสยามเก่าจำต้องเปลี่ยนเข้าหาภาวะอย่างใหม่ให้ทันท่วงทีเพื่อเอาตัวรอด ภูมิประเทศและความเป็นอยู่ของชาวสยาม ได้หันเหียนเปลี่ยนเข้าหาแบบใหม่แล้ว จิตใจอันเป็นกำลังใหญ่ของชาวสยามก็จำต้องเปลี่ยนไปให้เหมาะแก่ภาวะปรัตยุบันด้วย กล่าวคือทั้งส่วนรูปกับส่วนนาม จะต้องเปลี่ยนไปให้ทันกัน ความเปลี่ยนแปลงอย่างแรก ซึ่งได้เปลี่ยนอย่างรวดเร็ว แต่ความเปลี่ยนแปลงอย่างหลังเนิ่นช้าจวนจะตามไม่ทัน จึงเกิดความจำเป็นที่จะต้องหาอุบายเร่งรัดให้พอทันกันจงได้ ความเปลี่ยนแปลงทั้งคู่นี้จำต้องสมส่วนกัน มิฉะนั้นก็ไม่ปราศจากภัย นี้เป็นข้ออธิบายว่า ทำไมพอเสด็จขึ้นทรงราชย์ก็ได้ทรงตั้งกองเสือป่าและลูกเสือขึ้น

๓. เผอิญความเป็นอยู่ของเราในสมัยโน้นชวนให้นึกถึงส่วนตัวมาก ความเป็นไปตลอดจนอัธยาศัยของคนจึ่งหนักไปทางส่วนตัว พื้นดินมีธัญญาหารบริบูรณ์ ทำให้ไม่รู้จักอดตาย เมื่อ “ในนํ้ามีปลา ในนามีข้าว” ดั่งคำของพ่อขุนรามคำแหง แม้การช่วยตัวเองก็ไม่ลำบากยากเย็นหรือไม่สู้จำเป็นเสียแล้ว นํ้าใจที่จะคิดช่วยผู้อื่นจึ่งพลอยด้านไปด้วย ทางการปกครองบ้านเมืองเล่า ประเพณีของเราก็มอบกายถวายชีวิตสุขทุกข์ของประชาราษฎร์ ย่อมแล้วแต่พระบรมโพธิสมภาร เมื่อได้มอบถวายแล้วทุกอย่างเช่นนี้ ราษฎรเลยไม่สนใจในการปกครองบ้านเมืองเสียทีเดียว การศาสนาก็เหมือนกัน เมื่อในทางอื่นๆ ได้อบรมมาแต่ที่จะนึกถึงตัว การทำบุญทำทานแทนที่จะเพื่อให้สำเร็จประโยชน์แก่ผู้อื่น กลับเป็นเพื่อให้สำเร็จประโยชน์ตน คือ เพื่อตนได้บุญหาใช่เพื่อให้ผู้อื่นได้ความสุขไม่ เมื่อเรานึกถึงคนอื่นก็มักจะเป็นทางส่วนตัว เช่น ญาติมิตร ข้ากับเจ้า บ่าวกับนาย ฯลฯ แพทย์ของเรา เมื่อเห็นคนไข้เพียบไม่มีทางรอด ก็ไม่รับรักษา ถึงแม้จะมีแพทย์บางคน ไม่รับ ด้วยหมายจะให้เจ้าไข้หาหมออื่นที่สามารถมารักษา แต่แพทย์โดยมาก ไม่รับ เพราะเห็นแก่ตนมากเกินไป ไม่นึกถึงการบรรเทาทุกข์คนไข้ นึกแต่ว่าตนจะเสียชื่อ เมื่อคนไข้ตายคามือตน ผิดกับมรรยาทแพทย์แผนใหม่ที่ต้องรักษาไม่ว่าไข้หายหรือไข้ตาย เพราะแพทย์ต้องนึกถึงคนไข้ ไม่ใช่ นึกถึงตน

๔. แนวความนึก ที่นึกถึงตนและส่วนตนนี้ ในสมัยโน้นจะแลไปทาง
ไหนย่อมเห็นได้ไม่ยาก แม้ไนโรงเรียน เมื่อย้ายครู ศิษย์ก็ย้ายโรงเรียน ตามครูไปเป็นพรวน การทำความดีให้แก่โรงเรียน ดูเหมือนไม่มีใครนึก นึกแต่จะทำความดีให้แก่ตน หรือให้แก่ครู เด็กโตทำแก่เด็กเล็กก็เพื่อตน ไม่ใช่เพื่อโรงเรียน คือเป็นรังแก ไม่ใช่ลงโทษเพื่อสอน หัวหน้านักเรียนที่ ตั้งขึ้นเพื่อให้ทำหน้าที่โรงเรียนก็ยุไม่ค่อยขึ้น มักจะเป็นหัวหน้าแต่ชื่อเสีย โดยมาก เว้นแต่ในงานมอบหมายอันจะทำได้ลำพังตัว ไม่ต้องเกี่ยวกับคนอื่นๆ เช่นจดปรอทวัดร้อนหนาว เป็นต้น เหล่านี้ล้วนแสดงว่าเราได้เคยนึกถึงตัวและส่วนตัวกันมากเพียงใด

๕. เมื่อข้าพเจ้าอายุน้อยๆ ไม่เคยได้ยินคำรักชาติ แต่ความจงรักภักดีต่อเจ้านายตลอดจนพระมหากษัตริย์ของตัวนั้น เกือบจะว่าได้รู้มาตั้งแต่ พอรู้ความทีเดียว คำรักชาติเพิ่งมาชินหูเมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนรุ่นโตแล้ว สงสัยว่าจะเป็นคำแปลมาจากภาษาต่างประเทศด้วยซํ้า ทำนองเดียวกับความ รู้สึกของภิกษุที่เกิดขึ้นใหม่ ในหน้าที่ที่จะต้องสอนคนอื่นเพื่อตอบแทนการที่เขาเลี้ยงดู อันเป็นความรู้สึกถ่ายแบบมาจากที่อื่น แม้กระนั้นพวกนางชีที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้าได้เคยทรงชักชวนให้เข้าช่วยรักษาพยาบาลคนป่วยไข้ หรือเลี้ยงดูเด็กอย่างนางชีต่างประเทศ ก็ยังพากันปฏิเสธ สมัครแต่จะจำศีลภาวนาอยู่เงียบๆ และขอเขากินฝ่ายเดียวเท่านั้น กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ จะขอทำเพื่อตน และไม่ยอมทำเพื่อคนอื่น

๖. ความสำนึกของคนโดยมากในยุคนั้นยังเป็นไปเช่นนี้ พระองค์ ผู้ก่อกำเนิดกองลูกเสือทรงตระหนักถึงภัยอันอาจเกิดขึ้นเพราะอัธยาศัยคน เดินไม่ทันความเปลี่ยนแปลงแห่งภูมิประเทศและความเป็นอยู่ของมนุษย์ จึงทรงหาอุบายในอันจะเร่งรัดให้ความเปลี่ยนแปลงที่ล่าช้าอยู่นี้ได้เดินขึ้นมาทันความเปลี่ยนแปลงอื่นๆ พอสมควรจงได้ จึงได้ทรงตั้งกองเสือป่ากับกองลูกเสือขึ้นเป็นปฐมราชกรณีย์ ได้ทรงตรากตรำพระวรกาย เป็นผู้ทรงฝึกสอนเองทุกวันอยู่เป็นเวลาแรมปี ทรงวางตำรับเอง ทรงฝึกหัดผู้จะได้ไปหัดกันต่อๆ ไปด้วยพระองค์เองทั้งสิ้น พึงเห็นองค์พยานได้ในพระราชนิพนธ์ปลุกใจเสือป่า และตำราแบบสั่งสอนเสือป่ากับลูกเสือที่ยังคงใช้กันอยู่จนทุกวันนี้

๗. การเสือป่าแม้ได้เลิกไปแล้ว ก็ได้เกิดประโยชน์สมพระราชประสงค์
แล้ว การนึกถึงประโยชน์ผู้อื่น ทำคุณให้ผู้อื่น ทำตนให้เป็นประโยชน์แก่ คนทั้งหลายโดยมิได้หวังตอบแทน เหล่านี้อย่างน้อยก็พูดกันติดปากและชินหู การเรียกทหารอาสาได้รวดเร็วสำหรับราชการสงคราม ครั้งสงครามโลกที่แล้วมานี้ ก็เชื่อกันว่าเป็นผลของการเสือป่าที่ได้ทรงปลุกใจไว้ อนึ่งเราเป็นประเทศใช้พระราชบัญญัติเกณฑ์ชายหนุ่มรับราชการทหารไม่เลือกหน้า ประโยชน์ของเสือป่าในทางเป็นกำลังให้แก่บ้านเมืองนับวันแต่จะต้องหมดสิ้นไป เพราะจะหาชายฉกรรจ์ที่ไม่เคยเป็นทหารได้น้อยเข้าทุกที การเสือป่าจึงนับว่าเป็นการชั่วคราวแท้ เพื่อปลุกใจผู้ใหญ่ให้รู้สึกต่อหน้าที่ และคอยสนับสนุนเด็ก การที่มั่นคงและต้องกระทำเป็นนิตย์ไปนั้น ก็คือการลูกเสือ ซึ่งจะได้ฝึกฝนกันไปแต่ยังอ่อนๆ ทั้งในทางกายและทางใจ ตามภาษิตที่ว่า “ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก” ฉะนั้น

๘. สมาคมลูกเสือเคราะห์ร้าย ขาดพระองค์ผู้พระราชทานกำเนิด และปึกแผ่นให้แก่ลูกเสือโดยได้เสด็จ สวรรค์ครรไล ก็มีโชคดีที่ได้พระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์พระอนุชาธิราชเจ้า เป็นองค์สภานายกต่อมา และได้เสด็จเสนาบดีกระทรวงธรรมการเป็นอุปนายกผู้อำนวยการโดยตรง นับว่าการลูกเสือมีแต่จะก้าวหน้า บัดนี้กำลังมี “แชมบูรี” ใหญ่เป็นคำรบที่ ๒ ลูกเสือได้ชุมนุมกันในพระนครจากทิศต่างๆ ทั่วพระราชอาณาจักร ทั้งยังมีลูกเสือญี่ปุ่นมาเข้าสมทบแรมค่ายอยู่ด้วย เป็นครั้งแรกในประวัติการของลูกเสือสยาม นับว่าเป็นเกียรติยศยิ่ง มหาชนย่อมพากัน ประสาทพร ให้แก่ลูกเสือถ้วนหน้าอยู่แล้ว ขอความเจริญจงมีแก่ลูกเสือทั้งหลาย ชโย

คำอธิบาย
แนวความคิด (ทีม-Theme) ขณะนั้นเป็นเวลากำลังมีงานชุมนุม ลูกเสือ ผู้เขียนต้องการสนับสนุนกิจการของลูกเสือ และชักจูงให้คนแลเห็น ความสำคัญ ทั้งประสงค์ที่จะแสดงว่าการที่รัชกาลที่ ๖ ทรงตั้งกองลูกเสือขึ้นนั้น เป็นการสมควรแล้ว ผู้เขียนได้จัดลำดับเรื่องดังนี้
หมายเลข ๑ เป็นคำนำเปิดเรื่อง ผู้เขียนขมวดแนวคิดไว้ที่คำนำนี้ ผู้เขียนไม่ได้บอกตรงทื่อๆ ว่า เห็นด้วยกับกิจการลูกเสือ แต่ตามสำนวน ที่กล่าวนั้นบ่งว่าผู้เขียนไม่มีความเห็นขัดแย้ง

หมายเลข ๒-๓-๔-๕-๖-๗ เป็นตัวเรื่อง ซึ่งผู้เขียนได้แบ่งเป็น ๖ ตอน ตอนหนึ่งมีย่อหน้าครั้งหนึ่ง ท่านจะเห็นว่าในย่อหน้าตอนหนึ่งๆ มีเนื้อเรื่องโดยเฉพาะทุกๆ ตอน

หมายเลข ๒ กล่าวถึงเหตุแรกที่จะมีการตั้งกองลูกเสือ คืออารยธรรม แบบตะวันตกหลั่งไหลเข้ามา

หมายเลข ๓ สาเหตุที่สอง ความเป็นอยู่แต่โบราณของเรามีการเห็นแก่ตัวมาก

หมายเลข ๔ ขยายความในเลข ๓ เพราะในหมายเลข ๓ นั้น มีกล่าวเป็นหลักความจริงไว้ หลักความเช่นนี้อาจมีผู้ถกเถียงหรือไม่เห็นด้วย ก็ได้ จึงต้องอ้างแสดงหลักฐานสนับสนุนหลักความที่ได้วางไว้

หมายเลข ๕ สาเหตุที่สาม ความไม่เข้าใจเรื่องชาติ

หมายเลข ๖ สรุปรวมเหตุทั้ง ๓ ข้อ เกิดเป็นผลแห่งการจัดตั้งกองลูกเสือและเสือป่า

หมายเลข ๗ ผลที่ได้จากการตั้งกองเสือป่า ลูกเสือ

หมายเลข ๘ ปิดเรื่อง โดยผู้เขียนแสดงความหวังว่าการลูกเสือ คงจะเจริญต่อไป

อนึ่ง ใคร่ให้ท่านได้สังเกตคำบางคำที่พิมพ์ตัวดำไว้
ยุค = ตามความหมายแปลว่า ระยะเวลาของโลก ยุคหนึ่งๆ หลายล้านปี กำหนดเวลาของโลก แบ่งเป็น ๔ ยุค คือ กฤดายุค ไตรดายุค ทวาปรยุค กลียุค ตามความหมายทั่วไปแปลว่า คราว สมัย ก็ได้ คำว่า สมัย แปลว่า เวลา เวลาอันเหมาะสม โอกาส ในที่นี้เรามีคำเลือกดังนี้ คราว สมัย ยุค ผู้เขียนเลือกใช้คำ “ยุค” เพราะคำนี้มีความหมายถึงเวลาที่นานกว่า สมัย-คราว และเมื่อใช้คำว่า “ยุค” แล้ว เล็งถึงการเปลี่ยนแปลงอะไรต่างๆ มากมายด้วย

พ่าน = หมายความว่าหลายแห่ง มีเขตกว้าง คือ อารยธรรมตะวันตก ได้แผ่มาทางอินเดีย พม่า เขมร ญวน จีน

ภาวะ = ความเป็นไป อันเกิดโดยการกระทำของมนุษย์

สภาว สภาพ = ความเป็นไปตามธรรมชาติ

หันเหียน = เหียน เฉพาะตัวปทานุกรมแปลว่าคลื่นไส้ แต่ในที่นี้เป็น
สร้อยคำของ หัน และ ใส่ เหียน เข้า เพื่อคล้องกับ เปลี่ยน

ปรัตยุบัน = เป็นคำสันสกฤต มคธใช้ ปัจจุบัน เดิมต่างคนต่างใช้ ตามความพอใจ เดี๋ยวนี้ใช้ปัจจุบัน ส่วนมาก

ส่วนรูป (Material-Concrete) คือสิ่งที่แลเห็นจับต้องได้ ส่วนธรรม (Spiritual-Abstract) สิ่งที่เกี่ยวกับจิตใจ ผู้เขียนไม่อธิบาย เพราะถือว่า ศัพท์นี้เป็นศัพท์สามัญ ควรจะรู้กันทั่วไป

ธัญญาหาร = ข้าวผักหญ้า การใช้คำศัพท์ในที่นี้เพราะกระชับคำได้ดี ไม่ต้องพูดคำอื่นมาก

“ในนํ้ามีปลา ในนามีข้าว” เป็นคำในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง แต่หยิบเอามาใช้เพื่อเปลี่ยนรสของความ ไม่ต้องพูดว่ามีข้าวปลาอาหารบริบูรณ์

ขอให้ท่านหัดสังเกตคำที่เด่นๆ จะชวนให้ท่านเขียนมีสำนวนโวหารดีขึ้น เช่น อัธยาศัยคนเดินไม่ทันความเปลี่ยนแปลง เดิน เป็น อาการกิริยา ไปของคนหรือสัตว์ แต่เมื่อมาใช้กับอัธยาศัยเดิน ก็มีความหมายโดยนัยยะ คือ เสมือน อัธยาศัย เดินไป แต่ที่จริง เดิน ในที่นี้ก็คือ เจริญ นั่นเอง

ที่มา:เปลื้อง ณ นคร

ประดิษฐการและสัจธรรม

ประดิษฐการ (Invention) และ สัจธรรม (Sincerity)
ประพันธศาสตร์ตอนนี้นับว่าเป็นหัวใจของผู้ที่มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นนักประพันธ์ เมื่อท่านอ่านบทนี้จบ ท่านพอจะตัดสินได้ว่า การศึกษาศิลปะ การประพันธ์ของท่านนั้นจะบรรลุผลสำเร็จเพียงใด ผู้ที่ใคร่จะเป็นนักเขียน เดิมทีก็มีความประสงค์อยากรู้หลักและคำแนะนำ แต่เมื่อได้ศึกษาไปสักหน่อย ก็เกิดเป็นปัญหาขึ้นในใจว่าหลักที่ท่านได้ไปนั้นจะช่วยเหลือท่าน หรือกลับขึงพืดท่านไว้ภายในข่ายแห่งกฎเกณฑ์ หลักแห่งศิลป์ไม่เหมือนสูตรคณิตศาสตร์ คือ ไม่แข็ง ไม่ตายตัว และไม่บีบคั้นท่านให้ยึดมั่นตามหลัก แต่หลักเป็นดวงประทีปส่องทางเมื่อท่านรู้สึกมืด หลักและคำแนะนำจะช่วยส่องทางให้ท่าน

ศิลปะแห่งการประพันธ์ก็เหมือนศิลป์ทั้งหลาย คือผู้ที่ขาดความดูดดื่ม ในศิลปะนั้น จะบรรลุถึงชื่อเสียงเกียรติคุณไม่ได้ มีคำกล่าวในภาษาอังกฤษ ว่า Art for art’s sake. คือ ศิลป์เพื่อศิลป์ การที่เราเขียนเรื่องนั้น ต้องไม่ใช่เพราะอยากจะได้ชื่อเสียง หรือเพื่อความหรูหรา ไม่ใช่เพราะอยากให้ใครๆ พูดถึงยกย่อง ไม่ใช่เพราะต้องการผลประโยชน์ ต้องเป็นเพราะเรารักงานประพันธ์ ถ้าท่านเริ่มต้นโดยเพ่งเล็งในชื่อเสียงและผลประโยชน์ นับว่าเป็นการตั้งต้นผิด ทางไปสู่ความสำเร็จจะยืดยาวและขรุขระ เราเขียนเรื่องเพราะรักที่จะเขียน ถ้าเป็นอย่างนี้ก็เท่ากับว่าเป็นสัญญาณแห่งความสำเร็จ แล้วชื่อเสียงและผลประโยชน์ก็จะตามมาภายหลัง เป็นชื่อเสียงและผลประโยชน์ที่มั่นคง

ความรักที่จะเขียนนี้ย่อมเป็นนิสัยภายในตัวของแต่ละคน อย่างไรก็ดี นิสัยอันนี้อาจปลูกฝังขึ้นภายหลังก็ได้ ศาสตราจารย์ เกนนุง แห่งมหาวิทยาลัย ลิปซิกได้ยืนยันว่า นิสัยอยากขีดเขียนนี้จะเจริญขึ้นได้ก็โดยการฝึกฝนอย่างมีระเบียบเท่านั้น เพียงแต่มีนิสัยยังไม่พอที่จะทำให้เราบรรลุความสำเร็จในงานของเราได้ ฉะนั้นท่านจึงพูดได้ว่า Author is born and made. – นักเขียนย่อมเป็นเองและถูกฝึก

รัสกิน (Ruskin) ผู้เป็นอาจารย์สำคัญทางศิลป์ได้สอนพวกนักเขียน ภาพว่า เหตุที่จะทำให้นักเขียนภาพประสบความล้มเหลวนั้นมีอะไรบ้าง สาเหตุที่ท่านกล่าวนี้ใช้ได้กับนักศิลป์ทั่วไป ตลอดจนนักเขียน คือ

๑. ความรู้สึกเท็จ คือพูดในสิ่งที่ไม่เป็นจริงตามความรู้สึกของตนเอง เรียกในศิลป์ว่า อสัจธรรม (อินซินเซียริตี – Insincerity) ซึ่งตรงกันข้าม กับสัจธรรม (ซินซียริตี – Sincerity)

๒. การคิด หรือ ทำอย่างลวกๆ เลินเล่อ ไม่พยายามฝึกฝนพิจารณา หาความจริง ขาดความสุขุมใคร่ครวญทั้งในการคิดและการเขียน

๓. เรตอริก แวนนิตี (Rhetoric Vanity) คือ ถือสำนวนโวหารสำคัญยิ่งกว่าความคิด ได้แก่ การใช้ประโยคยาวยืดยาด คิดหาคำศัพท์โก้ๆ หรือ พูดเล่นลิ้นเล่นสำนวน แต่ไม่มีเนื้อหาสาระอย่างใด สำนวนหรือถ้อยคำหรูๆ แต่ปราศจาก “แนวคิด” ไม่ทำให้เราเป็นนักเขียนที่ดีได้

นี่เป็นโทษสามประการของนักเขียน ส่วนคุณสองประการ ซึ่งนักเขียน ควรปลูกฝังในตน คือ ประดิษฐการ และสัจธรรม

ประดิษฐการ (Invention)
คำ อินเวนชั่น (Invention) นี้ คำแปลตามปทานุกรมว่า การคิดค้น อะไรขึ้นได้ใหม่ สำหรับคำไทยขอใช้ว่า ประดิษฐการ การคิดอะไรใหม่นี้ บางทีก็ใหม่เอี่ยม ไม่เคยมีในโลก บางทีก็เป็นการดัดแปลงจากของเก่า ใน เชิงศิลปวรรณกรรมก็มีความหมายเช่นเดียวกัน นักเขียนต้องรู้จักนิรมิตงานของเขาขึ้น ให้ท่านสังเกตว่า นักเขียนที่สะดุดความสนใจของผู้อ่านนั้น จะต้องสร้างอะไรใหม่ขึ้นเป็นพิเศษ อาจเป็นการสร้างตัวละครอย่างบุษบา นางสุวรรณมาลี จะเด็ด อาจสร้างเรื่องอย่างละครแห่งชีวิตของ ม.จ. อากาศ ดำเกิง อาจสร้างแบบเขียนและแนวคิดอย่างเรื่องของ “ดาวหาง” อาจสร้าง สำนวนอย่าง วิตต์ สุทธเสถียร หรือ “อิงอร” แต่อย่าลืมว่า วรรณกรรมที่ท่านประดิษฐ์ขึ้นและพาท่านร่อนขึ้นเหนือเมฆนั้น บางทีก็พาท่านหัวปักลงดินได้เหมือนกัน มีนักเขียนหลายท่านที่พยายามประดิษฐ์แนวใหม่ขึ้นในวรรณกรรมไทย แต่ล้มเหลวในที่สุด หรือบางทีเปรียบเหมือนอาหารพิเศษ รับได้ครั้งเดียวก็เบื่อ และอีกประการหนึ่งที่ควรระวังให้มาก ก็คือ นาร์ซิซิสม์ (Narcissism) ความหลงรูปทองตนเอง คำนี้มาจาก นาร์ซิสซัส (Narcissus) ในเทพนิยายเป็นชายหนุ่มรูปงาม วันหนึ่งนั่งอยู่ริมสระเห็นเงาของตัวในนํ้าก็ติดใจ เฝ้าชมอยู่จนตัวตายอยู่กับที่นั่นเอง ต่อมาจึงเกิดดอกไม้ชนิดหนึ่งขึ้นตรงนั้น บัดนี้มีดอกไม้ชนิดหนึ่งชื่อ ดอกนาร์ซิสซัส คำนาร์ซิซิสม์ก็ได้มาจากคำนี้ พูดง่ายๆ ก็คือลัทธิยกย่องหรือหลงในตัวเอง ชอบแต่ยอ ใครจะติไม่ได้ และมั่นใจว่างานทองตนดีสมบูรณ์แล้วทุกประการ ถ้าผู้เริ่มฝึก มีโรคชนิดนี้จะเยียวยาได้ยากมาก

ถึงจะมีประวัติวรรณคดีมาตั้งพันปี มีเรื่องที่เขียนแล้วนับไม่ถ้วน แต่ในโลกวรรณกรรมนั้นย่อมมีของเกิดขึ้นใหม่ได้เสมอ มันสมองของมนุษย์ ย่อมสร้างจักรวาลได้ใหญ่ยิ่งกว่าจักรวาลที่เราแลเห็นกันอยู่ด้วยตา ท่านอาจคิดเค้าเรื่องแปลกๆ ใหม่ๆ อาจคิดหาตัวละครที่มีลักษณะพิเศษ คิดหาฉากของเรื่องที่แปลกตา อาจคิดสำนวนโวหาร คิดวิธีผูกประโยค คิดถ้อยคำอะไรขึ้นใหม่ เหล่านี้อยู่ในเขตของประดิษฐการทั้งสิ้น ตัวอย่างง่ายๆ ของความปราศจากประดิษฐการ เช่น ในแบบฝึกหัด ที่ให้เขียนพรรณนากิริยาเหยียดหยามนั้น เท่าที่พบแล้ว “เธอมองเขาตั้งแต่หัวตลอดตีน” ทำนองนี้ ร้อยเปอร์เซ็นต์ การเอาข้อความที่พูดกันจนชินหูมาเขียนนั้น ย่อมไม่มีรส

ศาสตราจารย์ เกนนุง แบ่งประดิษฐการออกเป็น ๓ ชั้น คือ
๑. ชั้นเอก ออริยิเนติฟ อินเวนชั่น (Originative Invention) ได้แก่ การมีจินตนาการไพศาล ความคิดลึกซึ้ง ประดิษฐ์สิ่งอันใหม่แท้ ในอังกฤษ
เขายกย่องบุคคลเหล่านี้เป็นประดิษฐกรเอก เช็กสเปียร์ประดิษฐ์แบบกลอน สก็อต ประดิษฐ์บันเทิงคดี นิวตัน ประดิษฐ์วิทยาศาสตร์ คือพบการดึงดูดของโลก บุคคลเหล่านี้ได้คิดสิ่งอันยังไม่มีผู้ใดได้พบเห็นมาก่อนในประเทศ ไทยเราอาจยกให้สุนทรภู่เป็นประดิษฐกรเอกทางกลอนแปด น.ม.ส. ประดิษฐ์สยามมณีฉันท์ ดังนี้ก็ได้ ประดิษฐกรเอกย่อมเห็นอะไรกว้างขวางพิเศษ ไปกว่าตาสามัญชน และจากที่เขาเห็นนั้นเขาสร้างมันขึ้นเพื่อให้เราได้ดูกัน เขาคิด เขาเขียนโดยไม่เอาอย่างใคร

๒. ชั้นรองลงมา เรียกว่า รีโปรดักตีฟ อินเวนชั่น (Reproductive Invention) ได้แก่การประดิษฐ์โดยเอาของที่มีอยู่แล้วมารวบรวมขึ้นเป็นเรื่องราวใหม่ ได้แก่ พวกที่ค้นคว้าเรื่องต่างๆ ที่มีอยู่แล้วมาเรียบเรียงขึ้นใหม่

๓. ชั้นตํ่า เรียกว่า เมทอไดซิงค์ อินเวนชั่น (Methodizing Invention) ได้แก่พวกแปลเรื่องเก็บเรื่องต่างๆ มารวมกันเป็นหมวดหมู่

พวกชั้น ๒-๓ นี้ อาศัยความคิดของคนอื่น แต่ความคิดของผู้อื่นนั้น บางทีก็ยังกระจัดกระจายอยู่ ก็เก็บมารวบรวมเป็นเรื่องให้สะดวกแก่ผู้ ต้องการอ่านต้องการรู้

การที่เราจะปลูกคุณสมบัติทางประดิษฐการขึ้นได้นั้น จะทำได้โดย

๑. อบรมตนเองให้มีนิสัยเป็นคนช่างสังเกต คือให้ หูไว ตาคม สามารถแลเห็นและได้ยินอะไรมากกว่าคนอื่น และจงมีความรักที่แสวงหา ความจริงของสิ่งต่างๆ นักเขียนสำคัญๆ มักมีนิสัยเป็นปรัชญา เมื่อพูดถึงปรัชญา ก็มีเรื่องมาก แต่จะขอพูดสั้นๆ ว่า นักเขียนสำคัญ ย่อมถอนตัวออกไปจากโลก ไม่หลงในลาภยศ ไม่หลงในคำเยินยอ ไม่สะดุ้งสะเทือนต่อภัย ไม่ปล่อยใจตามอารมณ์โกรธแค้น แต่เขาจะพินิจพิเคราะห์สิ่งเหล่านี้ด้วยจิตใจอันสงบ ว่ามันคืออะไรกันแน่ สิ่งต่างๆ ที่ปรากฏแก่เราที่เราเห็นกันเผินๆ ว่ามันเป็นความจริง เช่น อำนาจวาสนา ความสวยงาม ความร่ำรวยนั้น ถ้าท่านรู้จักมอง ท่านอาจสงสัยในความจริงของมัน

๒. อบรมให้มีความคิดชัดเจน คือ คิดอะไรให้เป็นระเบียบ ให้เรื่องราวเป็นไปตามลำดับ และอย่าให้ความคิดความรู้สึกผ่านไปอย่างมืดๆ มัวๆ
๓. จงเป็นนักอ่าน ท่านควรให้เวลาแก่การอ่านทุกวัน จะเป็นวันละกี่นาทีก็ตาม ในขณะอ่านท่านควรมีดินสอและสมุดบันทึกไว้ใกล้ๆ เมื่อพบอะไรดีจากเรื่องที่อ่าน เมื่อท่านเกิดความนึกคิดอะไรขึ้นจดลงไว้ นี่แหละจะเป็นสมบัติอันประเสริฐของท่าน นักเขียนสำคัญเป็นนักอ่านทุกคน สำหรับท่าน ท่านควรอ่านหนังสือที่ถูกใจท่านสักเล่มหนึ่ง อ่านอย่างละเอียด อย่างพินิจพิเคราะห์ ดูสำนวน ดูถ้อยคำ อ่านจนกระทั่งท่านรู้สึกว่า ผู้เขียนเรื่องนั้นมานั่งอยู่ใกล้ๆ ท่าน เมื่อท่านอ่านหนังสือที่ถูกใจจนฉ่ำแล้ว ท่านควรอ่านหนังสือที่เหมาะกับรสนิยมของท่าน และในที่สุดท่านต้องอ่านหนังสือให้มากเรื่องมากอย่างที่สุดที่จะเป็นได้

นี่แหละ ท่านอาจเห็นว่า ทางไปสู่ความเป็นนักเขียนนั้น ไม่ใช่ของง่าย ถ้าท่านไม่มีใจรักอยู่เป็นทุนเดิม ท่านอาจวางปากกา หันหลังให้การประพันธ์เสียได้โดยง่าย

สัจธรรม (Sincerity)
“รากฐานแห่งวรรณกรรมที่ทรงคุณค่าและมีความยั่งยืนนั้นอยู่ที่สัจธรรม ซึ่งนักประพันธ์มีต่อตนเอง ต่อความจัดเจนในชีวิต ต่อความเป็นจริง ของสิ่งทั้งหลาย ซึ่งนักเขียนพบเห็นโดยตาของเขาเอง”
(เปลโต) (Plato)

“บรรดาศิลปะทุกชิ้นทุกชนิดย่อมเป็นความพยายามที่ดำรงไว้ซึ่งสัจธรรม”
(กิปลิง) (Kipling)

คำ สัจธรรม หรือ ซินเซียริตี แปลเหมือนกันว่า ความซื่อตรง การยึดถือความจริง คุณธรรมข้อนี้เป็นคุณธรรมของมนุษย์ทั่วไป แต่สำหรับนักประพันธ์ หรือนักศิลปะมีความหมายกว้างออกไปอีก ธรรมดานักเขียน ย่อมเสนอเรื่องของเขาแก่ประชาชนจากความรู้สึก และความจัดเจนของเขาเอง เมื่อไร เขาเหออกนอกทาง เรื่องของเขามักจะขาดสัจธรรม

สิ่งที่ทำให้ขาดสัจธรรมได้ ก็คือ ความจัดเจนไม่พอ ขาดความถี่ถ้วน รอบคอบ นักวิจารณ์เขาว่า ฟลอแบรต์ (ชื่อนี้ท่านได้ผ่านมาแล้วแต่อันดับก่อน) เขียนเรื่องอย่างมีสัจธรรมยิ่ง ทั้งนี้เพราะฟลอแบรต์ บรรยายเรื่องให้เราอ่าน และให้เห็นอย่างจะแจ้งตามความเป็นจริงของคนนั้นๆ สิ่งนั้นๆ ถ้าท่านเขียนให้ผู้อ่านเห็นภาพและมีความรู้ชัดเจน อย่างท่านดูเงาของท่านในกระจก นั่นคือมีสัจธรรม

ในบทฝึกหัดที่ให้ท่านพรรณนาแสงพระอาทิตย์ในหน้าร้อน มีหลายคน ทีเดียวเขียนมาว่า “แสงพระอาทิตย์ร้อนแรงประหนึ่งว่าจะเผาผลาญสิ่งทั้งหลายบนพื้นโลกให้เป็นจุณ” นี่ไม่ใช่ความรู้สึกและความจัดเจนของผู้เขียน เป็นแต่ยืมวลีหรือข้อความเปรียบเทียบเก่าๆ มาเขียนเท่านั้นเอง เรียกได้ว่า ปราศจากสัจธรรม นักเขียนใหม่ไม่ค่อยได้ใช้ความคิดความรู้สึกอันแท้จริงของตน มักฉวยเอาของผู้อื่นมาใช้ แต่นี่เป็นสิ่งปกติ เพราะความยียวนของศิลป์ชักให้เราเลียนแบบได้เสมอ ผู้เริ่มเขียนต้องสำนึกข้อนี้ไว้ให้มาก

โจรวรรณกรรม (Plagiarism) เมื่อต้นสมัยรัชกาลที่ ๕ เราเริ่มนิยมเขียนและอ่านเรื่องร้อยแก้ว บางคนอยากมีชื่อเร็วๆ แต่เขียนไม่เป็นหรือขาดความพยายาม จึงเที่ยวหยิบฉวยเรื่องที่โน่นที่นี่มาปะติดปะต่อกัน เลย มีผู้ออกหนังสือพิมพ์ล้อ ชื่อหนังสือพิมพ์ลักวิทยา ลักษณะที่หยิบเอาความคิด สำนวน หรือบางทีลอกเรื่องมาทั้งตอน เขาเรียกว่า โจรวรรณกรรม หรือ เพลชเยียรีสต์ (Plagiarist) การเป็นโจรวรรณกรรมโดยอนุโลม โดยเราไม่ รู้สึกตัว คือ การพยายามเขียนเอาแบบคนอื่น ความที่อยากมีชื่อเสียงเร็ว บางคนมักเลียนแบบเรื่อง สำนวน บางทีเลียนแบบนามปากกา ทั้งนี้ อาจเป็นความรู้สึกยกย่องและพออกพอใจเท่านั้น ไม่ได้คิดอย่างอื่นก็ได้ แต่ลักษณะนี้ เป็นลักษณะที่ขาด สัจธรรม

ข้อสุดท้าย คือ จงเขียนอย่างมีความจริงต่อตัวท่านเอง ไม่ใช่เขียนเพื่อประจบคนโน้นคนนี้ เพื่อทรัพย์ หรือเพื่อเกียรติ แต่ต้องเพื่อศิลป์ เมื่อท่านเริ่มเขียนเพื่อศิลป์อย่างแท้จริงแล้ว ทางที่ท่านจะไปสู่เกียรติและ โชคลาภ ก็สั้น ราบรื่นและมั่นคง

ที่มา:เปลื้อง ณ นคร

โวหาร

คำพูดเป็นสิ่งมีรส แต่ถ้าเราพูดกันตรงไปตรงมาบ่อยๆ มักชินหู เลยทำให้ความที่พูดนั้นชืด บางทีคำที่พูดให้ความหมายหรือให้ผู้อ่านคิดเห็น ไม่ได้กว้างขวางพอ เช่น ถ้าเราพูดว่า “ชาวนาเป็นกำลังสำคัญยิ่งของชาติ” ดังนี้ เราเข้าใจได้ดีเหมือนกัน แต่ถ้าพูดว่า “ชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติ” นอกจากจะให้ความเข้าใจแล้ว ยังให้นึกคิดเปรียบเทียบระหว่าง ประเทศ กับ ร่างกาย กำลังสำคัญ กับกระดูกสันหลัง ซึ่งให้รู้สึกถึงความสำคัญได้เด่นชัดยิ่งขึ้น นักประพันธ์ย่อมประดิษฐ์ พูดให้ผิดแปลกออกให้หลายอย่าง เช่น ถ้าจะพูดว่า “ดวงดาวส่องแสงระยิบ” หรือ “พระจันทร์ ลอยอยู่ในฟ้า” ดังนี้เป็นการพูดใช้ถ้อยคำอย่างตรงไปตรงมา ฟังบ่อยๆ ชัก ให้จืดหู ฉะนั้น เราจึงพูดเสียใหม่ “ดวงเนตรแห่งราตรีส่องแสงระยิบ” หรือ “โคมสวรรค์แขวนอยู่กลางฟ้า” แทนที่เราจะพูดว่า “เขาเล่นบิลเลียร์ด เก่งมาก” เราพูดเสียว่า “เขาเป็นเสือบิลเลียร์ด” การพูดโดยวิธีนี้เรียกว่า พูดโดยโวหาร โวหารช่วยนักประพันธ์ได้มาก แต่โวหารนี้เปรียบเหมือนมีดสองคม มีทั้งคุณและโทษ ถ้าใช้บ่อยกลายเป็น เฝือ หรือกลายเป็น เล่นลิ้น ถ้าใช้โดยไม่ตริตรองก็ไม่มีรส หรือทำให้ผู้อ่านรำคาญ เรื่องอ่านเล่นที่มีเค้าเรื่องธรรมดา อาจจะทำให้น่าอ่านได้โดย โวหาร ในภาษาอังกฤษเรียกว่า ฟิกเกอร์ ออฟ เรตอริค (Figure of Rhetoric) หรือ ฟิกเกอร์ ออฟ สปีช (Figure of Speech)
บางคนเรียกตามภาษาอังกฤษว่า ภาพพจน์ ลักษณะของโวหารนี้ ยังไม่มีในตำราภาษาไทย ฉะนั้นจะบรรยายตามแนวที่มีในตำรา ภาษาอังกฤษ ซึ่งเขาได้รวบรวมโวหารของนักประพันธ์ขึ้นไว้เป็นหมวดหมู่ แล้วตั้งชื่อเรียกว่า พูดอย่างนั้นๆ เรียกว่าโวหารอย่างนั้นๆ ที่เขาได้ตั้งชื่อไว้ก็เพื่อสะดวกในการที่จะเขียนเป็นตำรับตำราสำหรับนักประพันธ์ไม่จำต้องไปกังวลจดจำอะไรนัก ที่สำคัญก็คือให้รู้จักสังเกตความและถ้อยคำที่ใช้ในโวหารนั้นๆ

๑. โวหารเชิงอุปมาอุปไมย
ในการพรรณนาให้ผู้อ่านนึกเห็นลักษณะของสิ่งต่างๆ นั้น บางที ถ้าหาคำมา ขยาย โดยตรงแล้ว ยังรู้สึกว่า ยังทำให้ผู้อ่านนึกเห็นภาพไม่ได้ ชัดเจน หรือบางทีเราหาคำ ขยาย ที่เหมาะๆ ไม่ได้ ฉะนั้น เราจึงหันเห พูดโดยวิธีเทียบเคียง เอาสิ่งที่เราต้องการพรรณนาไปเทียบเข้ากับอีกสิ่งหนึ่ง เช่นจะพูดว่า ดำปี๋ ขาวจ๊วก คำว่า ปี๋ จ๊วก เป็นคำขยาย แต่ทั้งสองคำนี้ บางทีเรายังไม่พอใจ เพราะรู้สึกว่าเป็นคำดาดๆ ความหมายก็แคบ เราจึงพูดว่า “ดำยังกับหมัก-ดำเหมือนนิล ขาวเป็นปุยฝ้าย-ขาวราวกับงาช้าง” หรืออย่างเช่น น.ม.ส. พูดว่า “ผิวขาวเหมือนจะเย้ยดอกมะลิให้ได้อาย” คือขาวยิ่งกว่าดอกมะลิ

ในการพูดโดยอุปมาอุปไมยนี้ อาจทำได้สามทาง คือ

ก. เปรียบเทียบตามข้อเท็จจริงที่ได้เคยรู้เห็นกัน เช่น เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า พระชนกมีความเพียรมาก (ตามเรื่องทศชาติ) เสือเป็นสัตว์ดุร้าย ไก่แจ้เห็นตัวเมียแล้วทำป้อ เราจึงพูดว่า มีความเพียรเหมือนพระชนก ดุราวกับเสือ หรือว่าเป็นเจ้าชู้ไก่แจ้ การเปรียบเทียบดังนี้ ถ้านักเขียนยืมเอาที่คนอื่นเขาเขียนไว้แล้วมาใช้ก็ไม่ค่อยได้ผลอย่างที่เขาเรียกกันตํ่าๆ ว่า “จำเอาขี้ปากเขามาพูด” หรือถ้าจะเทียบในสิ่งที่ผู้อ่านแลเห็นตามไม่ได้ เช่นว่า “เขาเล่นฟุตบอลเก่งยังกับอะไรดี” ดังนี้ก็ไม่ทำให้เกิดรสชาติอย่างไร

ข. เปรียบเทียบตามลักษณะอันคล้ายคลึงกัน (ตามความคิด) เช่น
๑. ผู้ชายย่อมมีนํ้าใจเป็นโจรทั้งหมด และผู้หญิงซึ่งยอมเป็นมิตรกับ ชายนั้น เสมอกับงูเห่ามาเลี้ยงไว้บนอก
(นิทานเวตาล)

๒. ความยอนั้นเปรียบเหมือนหินกับเหล็ก ซึ่งทำให้เพลิงแห่งความรัก
เกิดได้
(นิทานเวตาล)

๓. พระราชา ๑ หญิง ๑ ไม้เลื้อย ๑ ย่อมรักผู้และสิ่งที่อยู่ใกล้
(นิทานเวตาล)

ให้สังเกตว่า
๑. งูเห่า อาจกัดเมื่อไรก็ได้ เป็นอันตรายอยู่เสมอ เอาลักษณะนี้ไปเทียบกับลักษณะของผู้ชาย

๒. หินกับเหล็ก เมื่อกระทบกันเข้าเกิดเป็นประกายไฟ เอาลักษณะนี้ไปเทียบกับคำ ยอ

๓. ไม้เลื้อย แลเห็นได้ชัดที่สุดคือ เมื่ออยู่ใกล้อะไรก็จะเลื้อยเกาะสิ่งนั้น ทำไห้เราเห็นลักษณะของพระราชาและหญิงได้ถนัดขึ้น

ค. การเทียบเคียงอย่าง ก. และ ข. นั้น มีทั้ง ตัวตั้ง และ ตัวเทียบ คู่กัน เช่น ในข้อ ข. ๑ ผู้ชาย (ตัวตั้ง) งูเห่า (ตัวเทียบ) ในข้อ ข. ๒ ความยอ (ตัวตั้ง) หินกับเหล็ก (ตัวเทียบ) เราพูดโดยยกมาเทียบกับเป็นคู่ๆ แต่เราอาจจะพูดเทียบได้อีกอย่างหนึ่ง โดยไม่ต้องเอ่ยถึงตัวเทียบเลย เช่น พูดว่า “นายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้เข้าถือบังเหียนการเมือง” เราใช้คำว่า “บังเหียน” คล้ายๆ กับว่าการเมืองนั้นคือรถเทียมม้า หรือ “เวลานี้เขาทอดสมอเสียแล้ว” ซึ่งเทียบกับการแล่นเรือ แต่ไม่เอ่ยถึงเรือเลย “ทอดสมอ เสียแล้ว” แปลว่าเลิกการท่องเที่ยว ตั้งตนเป็นหลักแหล่ง หรือบางทีที่พูดกันหยาบๆ ว่า “นั่งจนก้นงอกราก ” เอาไปเทียบกับต้นไม้ การเทียบดังนี้ ไม่ได้เอ่ย ตัวเทียบ เลย แต่ใช้กิริยา (หรือคำใดก็ตาม) ซึ่งเป็นคำประจำกับสิ่งนั้นๆ เช่น บังเหียน-ม้า ทอดสมอ-เรือ งอกราก-ต้นไม้

การเทียบโดยนัยยะอย่างนี้ ยังทำได้อีกหลายทาง เช่น
๑. หนาวอย่าง ทารุณ ความเหี้ยมโหด ของพายุ ตามที่จริงความหนาว กับ พายุ เป็นสิ่งไม่มีจิตใจ จะ ทารุณ หรือ โหดเหี้ยมไม่ได้ แต่พูดโดยเทียบกับความรู้สึกของผู้เขียนเอง อย่างที่ได้เคยพูดในคำบรรยาย บทก่อนแล้วว่าเป็น พาเทติก ฟาลาซี (Pathetic Fallacy)

๒. หนังสือพิมพ์ของเรายังอยู่ใน ปฐมวัย เขาได้ก้าวไปถึง ยอด ของความที่มีชื่อเสียง

ปฐมวัย เทียบกับอายุของคน ยอด เทียบกับส่วนของต้นไม้หรือภูเขา

๓. ก. “ซึ่งจะฆ่าไก่และจะเอามีดฆ่าโคมาฆ่านั้นมิควร”
ข. “ถ้าไม่มีวัวตัวเมียก็ต้องรีดนมวัวตัวผู้แทน”
ค. “เสือจะกลายเป็นลูกแกะนั้นยังไม่เคยมี”
ง. “พริกไทยนั้นเมล็ดเล็กก็จริง ถ้าลิ้มเข้าไปถึงลิ้นแล้วก็จะมีพิษเผ็ดร้อน”
จ. “ยาดีกินขมปาก แต่เป็นประโยชน์แก่คนไข้”
ฉ. “อย่าหักด้ามพร้าด้วยเข่า”
ซ. “ตำนํ้าพริกละลายแม่นํ้า”

เหล่านี้เป็นเชิงพูดเทียบเคียงเหมือนกัน แต่ประณีตกว่า ๑ และ ๒ เพราะต้องการให้ผู้อ่านคิดเข้าใจเอาเอง ผู้เขียนไม่มุ่งหมายให้ผู้อ่านเข้าใจตรงตามที่เขียนไว้ เช่น ใน ก. ต้องการจะให้เข้าใจว่าไม่ควรใช้คนสำคัญไปทำงานเล็กๆ น้อยๆ และ ข. เมื่อหาคนที่เหมาะสมใช้ไม่ได้ ก็ต้องหาคนใช้ไปตามบุญตามกรรมก่อน

๒. โวหารเชิงขัดแย้ง
ขอให้ดูตัวอย่างดังต่อไปนี้
ก. “พูดโกหกแยบคายอุบายปด
คนทั้งหมดนิ่งฟังไม่กังขา
ที่พูดซื่อถือแท้แน่เจรจา
เขาก็ว่าพูดปดทุกบทไป”

ข. “คุณกับโทษสองแพร่งแรงข้างไหน
คุณถึงใหญ่ให้ผลคนไม่เห็น
โทษสักเท่าหัวเหาและเท่าเล็น
ให้ผลเห็นแผ่ซ่านทั่วบ้านเมือง”

ค. “ผู้ที่มีเพื่อนมาก คือ ผู้ที่ไม่มีเพื่อนเลย”

ง. “ทารกนะแหละ คือ บิดาของผู้ใหญ่”

จ. “หงิมๆ หยิบชิ้นปลามัน”

ฉ. “รักยาวให้บั่น รักสันให้ต่อ”

ข้อ ก. และ ข. นั้นเป็นคำกลอน จากภาษิตอิศริญาณ จะเป็นกลอน หรือร้อยแก้วก็ตาม แบบโวหารย่อมใช้เหมือนกัน เมื่อท่านอ่านตัวอย่างแล้ว จะเห็นว่า ทุกข้อมีความขัดหรือแย้งกัน ธรรมดาโลกมักเป็นเช่นนี้ แต่บางข้อ เช่น ข้อ ค. หรือ ง. จะเห็นว่าขัดกับความเป็นจริง และต้องตีความต่อไปอีกชั้นหนึ่ง เช่น ข้อ ค. “ผู้ที่มีเพื่อนมากย่อมจะหาเพื่อนที่แท้จริงไม่ได้” และข้อ ง. ทารกนั้นเมื่อเติบโตขึ้น ก็จะเป็นผู้พิทักษ์ผู้ใหญ่ จึงเปรียบว่าเหมือนบิดาของผู้ใหญ่

๓. เล่นคำ
ยังหาตัวอย่างที่เป็นร้อยแก้วไม่ได้เหมาะ จึงขอยกตัวอย่างจากคำ กลอนมาให้เห็น ๒ ข้อ ดังนี้

ก. ไม่ เมา เหล้าแล้วแต่เรายัง เมา รัก
สุดจะหักห้ามจิตคิดไฉน
ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป
แต่ เมา ใจนี่ประจำทุกค่ำคืน

ข. โอ้เรือพ้น วน มาในสาชล
ใจยัง วน หลังสวาทไม่คลาดคลา

การเล่นคำนี้ คือ การใช้คำๆ เดียว แต่ให้มีความหมายได้หลายอย่าง เช่น วน ในข้อ ข. หมายถึง นํ้า วน กับ วนเวียน

การใช้คำชื่อเทียบเคียง
เช่น ก. จาก เปล ไปสู่ หลุม ศพ
เปล = ทารก เยาว์วัย
หลุมศพ = ความชรา มรณะ

ข. เขาทำงานจน ผมหงอก แล้วยังไม่ได้ดี
ผมหงอก = ความชรา

ค. เรื่องราวหลัง ฉาก
หลังฉาก เทียบเคียงกับ สิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ข้างใน

ง. ปากกา มีอำนาจกว่า ดาบ
ปากกา หมายถึง ปัญญา ดาบ หมายถึง กำลัง

วิธีพูดโดยโวหารเช่นนี้ ก็คือ ไม่นำชื่อสิ่งที่เราต้องการพูดมากล่าว โดยตรง แต่ใช้คำชื่ออื่น ซึ่งแสดงลักษณะของสิ่งนั้นๆ มากล่าวแทน

เหล่านี้เป็นโวหารที่ใช้กันอยู่เสมอในการประพันธ์ ยังมีพวกโวหาร เบ็ดเตล็ดอีกหลายอย่าง ซึ่งจะได้รวบรวมชี้ให้เห็นเป็นคราวๆ ไป ความ มุ่งหมายของโวหารนี้เพื่อให้ถ้อยคำเกิดรสแปลกขึ้น ผู้เริ่มการประพันธ์พึงระวังอย่าใช้โวหารอย่างฟุ่มเฟือย

ที่มา:เปลื้อง ณ นคร

สไตล์ (Style) หรือ สำนวน

คำว่า สไตล์ (Style) แปลอย่างง่ายที่สุดก็ว่า แบบ ได้แก่รูปทรง หรือ ลักษณะโดยเฉพาะของสิ่งหนึ่งสิ่งใด ถ้าท่านดูภาพเขียนของ เหม เวชกร กับ พนม จะเห็นว่าการให้เส้น ให้เงา และรูปทรงของภาพผิดกัน เราจะเรียกว่า ภาพแบบของเหม เวชกร ภาพแบบพนม ก็ได้ ทีนี้ดูหนังสือพิมพ์ต่างๆ ท่านจะเห็นว่ารูปร่างหนังสือ การจัดหน้าต่างก็มีแบบไม่เหมือนกัน คนละสไตล์ ทีนี้ถ้าท่านสังเกตคำพูดของสหายหลายๆ คนของท่าน สิ่งที่สะดุดความสังเกตครั้งแรกของท่านก็คือ บางคนพูดเร็ว บางคนพูดช้า บ้างพูดเนือยๆ บ้างเสียงหนักแน่น ขึงขัง ต่อจากนั้นจะเห็นว่าบางคนใช้คำพูดคราวละคำสองคำสั้นๆ บางคนพูดคราวเดียวยืดยาว สังเกตต่อไปจะเห็นว่า บางคนใช้ถ้อยคำดาดๆ เผินๆ บางคำหยาบ บางคำฟังแล้วไม่เข้าใจ ว่าเขาหมายความว่ากระไร ต้องซักถาม แต่บางคนใช้ภาษาเรียบร้อย เข้าใจง่าย บางคนใช้คำนิ่มนวล บางคนเวลาพูดมักติดศัพท์ติดแสง นี่คือ แบบพูด ซึ่งเราเรียกกันว่า “สำนวน” ในการเขียน ก็เช่นเดียวกัน นับแต่ น.ม.ส., ครูเทพ, ดอกไม้สด, ศรีบูรพา, ยาขอบ, สันต์ เทวรักษ์ มาทีเดียว จะเห็นว่าสำนวนไม่เหมือนกันสักคนเดียว และถ้าท่านเป็นนักอ่านที่พินิจพิเคราะห์แล้ว ท่านอาจทายได้ว่าเรื่องนั้นเรื่องนี้ใครเขียน หนังสือกลอนเก่าๆ ที่เผอิญไม่มีบอกว่าใครแต่ง เขาต้องอาศัยสันนิษฐานสำนวน เช่น กลอนสุนทรภู่ มีลักษณะพิเศษประจำ พออ่านก็รู้ทีเดียวว่านี่ต้องเป็นกลอนของสุนทรภู่

ถ้าท่านเป็นนักอ่าน บางทีท่านจะพบเขาแปลคำ สไตล์ ซึ่งใช้กับการ ประพันธ์ว่าแบบเขียนบ้าง ทำนองเขียนบ้าง ท่วงทำนองบ้าง หนังสือนี้จะใช้คำว่า สำนวน เพราะเห็นว่าเป็นคำที่มีความหมาย เข้าใจง่าย และเหมาะเจาะกับการประพันธ์ เช่นถ้าจะพูดว่า สำนวนยาขอบ สำนวนดอกไม้สด สำนวน น.ม.ส. สำนวนหนังสือสามก๊ก สำนวนหนังสือเล่มละสิบสตางค์ (ซึ่งเป็นหนังสืออ่านที่ไม่พิถีพิถันในการประพันธ์) และบางทีท่านอาจพบประกาศขายหนังสือบางเล่มว่า เป็นสำนวนสะวิง ท่านอ่านแล้ว เข้าใจว่ากระไร ท่านอาจรู้สึกว่า ท่านจะแปลกใจ เกิดมีสำนวนใหม่ขึ้นมาอีกอย่างแล้วละ คำว่า ทำนองเขียนก็ดี แบบเขียนก็ดี สำนวนก็ดี เดิมเราใช้คำง่ายๆ ว่า “ฝีปาก” คนเก่าๆ เขาพูดกันว่า ฝีปากคนนั้น ฝีปากคนนี้ บางทียังใช้ คำว่า คารมอีกด้วย คำบัญญัติ (Technical Term) ในการประพันธ์ของเรา ยังไม่มีตำราใดตราไว้ชัดเจน จึงยังคงใช้แตกต่างกันตามความรู้ความคิดเห็นของผู้ใช้ สำหรับผู้ที่ศึกษาขอให้เข้าใจว่า คำ “สำนวน” ถ้า เทียบกับคำฝรั่งแล้ว ก็มุ่งหมายจะให้ตรงกับคำว่า สไตล์ (Style)

ทีนี้สมมุติว่า ท่านมีเพื่อนอยู่คนหนึ่ง ท่านลองสังเกตเวลาเขาพูด แล้วลองเลียนพูดอย่างเขาพูด ท่านจะเลียนได้ชั่วประเดี๋ยวเดียว แล้วก็จะ หวนพูดตามแบบตามสำนวนของท่านเอง ทั้งนี้คำพูดเลียนกันไม่ได้ กิริยา ท่าทางก็เลียนกันไม่ได้ ต่างคนต่างมีแบบของตัวโดยเฉพาะ การเขียนหนังสือ ก็เหมือนกัน เลียนแบบกันไม่ได้ สำนวนของใครก็ของคนนั้น ท่านอาจชอบสำนวนของ น.ม.ส. ท่านอ่านหนังสือ น.ม.ส. หลายเรื่อง อ่านซ้ำซากจนว่าขึ้นใจก็ได้ แต่ท่านจะเขียนให้เหมือนสำนวน น.ม.ส. ไม่ได้เป็นอันขาด มีคนจะเขียนอย่างสำนวน น.ม.ส. ได้คนเดียวเท่านั้น คือ ตัว น.ม.ส. เอง สตีเวนสัน (Stevenson) เขียน Dr. Jekyll and Mr. Hyde (หมอลามก) พยายามเลียนสำนวนของ เดโฟ (Defoe) ผู้เขียนเรื่อง โรบินสัน ครูโซ (Ro¬binson Crusoe) แต่ไม่สำเร็จ อันสำนวนนี้เป็นของท่านแต่ผู้เดียว ท่านจะเลียนใครหรือให้ใครเลียนก็ไม่ได้ ท่านต้องสร้างและบำรุงสำนวนของท่านขึ้นเอง เฮซลิตต์ (Hazlitt) ที่วรรณคดีอังกฤษ นิยมว่ามีสำนวนเป็นเอกคนหนึ่ง ในวรรณคดีอังกฤษนั้น ฝึกหัดเขียนอยู่ ๘ ปี

เมื่ออ่านมาถึงเพียงนี้ ท่านอาจจะถามว่าสำนวนนี้คืออะไรแน่ คำจำกัดความอย่างสั้นที่สุดก็คือ สำนวน คือ วิธีแสดงความคิดของเราออกเป็นภาษา สำนวนทองคนไหนก็เท่ากับกระจกเงาส่องให้เห็นลักษณะจิตใจ และอุปนิสัยของคนนั้น ท่านอาจจะพบนักเขียนเรื่องขบขันสักคน ที่ท่าน เห็นว่าเป็นคนหน้าตาย ไม่น่าเขียนเรื่องขันๆ ใช้คำตลกคะนอง แต่คงไม่มีใครทราบจิตใจของเขาดีกว่าตัวเขาเอง ถ้าท่านได้สนิทสนมกับเขาท่านก็คงรู้ว่า มีความสนุกขบขันซ่อนอยู่ภายในหน้าตายนั้น

หนังสือที่ไม่มีสำนวน มีหรือไม่ ? หนังสือเช่นนี้มีมากมาย แต่เป็นพวกหนังสือตำรับตำรากฎหมายอาญา ตำราภูมิศาสตร์ ตำราคณิตศาสตร์ เหล่านี้เป็นต้น เป็นพวกหนังสือที่ไม่มีสำนวน นอกจากจะอ่านยากอ่านง่ายแล้ว ก็ไม่มีรสอื่น ไม่ส่อลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดของผู้แต่ง การเขียนหนังสือที่เรียกว่า ไม่มีสำนวน (No Style) นี้ ภาษาอังกฤษเขาว่า ไม่มีสีสัน (Colourless) คือไม่มีแววลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดของผู้เขียน (Tinge of Personality) หนังสือพวกบันเทิงคดีย่อมมีสำนวนทั้งสิ้น แต่อาจเป็นสำนวนอย่างเลว ต่ำและน่าสะอิดสะเอียน ถ้าท่านเข้าไปฟังพวกชนชั้นตํ่า พูดให้เข้าใจง่ายก็ว่า พวกกุ๊ย พอท่านได้ยินเขาพูดกัน บางทีจะรู้สึกได้ว่า “น่าสะอิดสะเอียน” เป็นอย่างไร

เมื่อท่านจะแต่งเรื่อง ท่านจะนึกถึงหลักโน่นหลักนี่อยู่ไม่ได้ ถ้าทำเช่นนั้น สำนวนของท่านก็จะกระด้าง เปรียบเหมือนนักเต้นรำ ถ้าขณะจับคู่เต้นต้องนึกถึงสเตปท่าก้าวอยู่เสมอ ท่านก็เป็นนักเต้นรำที่ดีไม่ได้ ถ้าท่าน เขียนหนังสือ มัวแต่นึกสะกดตัว ท่านก็จะเทียนหนังสือคล่องไม่ได้ ท่าน อาจจะถามว่า เมื่อเป็นดังนี้ ท่านจะเรียนหลักการประพันธ์ไปทำไม หลักการประพันธ์จะคอยเตือนท่าน เมื่อท่านเขียนผิด และเมื่อท่านเขียนอะไรไปแล้ว ท่านจะรู้ว่าของท่านดี หรือบกพร่องตรงไหนก็โดยหลักการประพันธ์ นักประพันธ์ที่ดีทุกคนต้องรู้จักข้อบกพร่องในงานประพันธ์ของตน นี่แหละประโยชน์ของหลัก

คำจำกัดความที่ให้ไว้ตอนต้น บางทีอาจจะรู้สึกว่าสั้นไป และท่านจะยังเข้าใจความหมายไม่ได้ดีนัก ยอร์ช เซนต์บูรี (George Saintbury) ได้ ขยายความให้คำอธิบายต่อไปว่า “สำนวน คือ การเลือกสรรถ้อยคำและเรียบเรียงถ้อยคำให้ได้ความหมายตรงกับที่ต้องการ กล่าวคือเฟ้นหาคำที่จะแสดงความหมายชัดเจนตรงกับที่เราประสงค์ แล้วเอาคำนั้นมาเรียงกันเข้าเป็นวลี ประโยค และข้อความ” การเลือกคำและเรียงคำนี้ทำโดยจิตใจและความคิดของเรา ถ้าจิตหรือความคิด (คือตัวเรา) เป็นคนพิถีพิถัน ละเอียดลออ การเลือกและเรียงคำก็ประณีต ไม่สับสน เขาจึงว่าสำนวนคือตัวผู้เขียนนั่นเอง (Style is the man himself. – Buffon)

จะยกตัวอย่างสำนวนหนังสือ สามก๊ก (คือสำนวนของเจ้าพระยา พระคลัง หน) มาให้ท่านพิจารณาสักตอนหนึ่ง

“ฝ่ายเตียวหุยเสพย์สุราแล้วขี่ม้าจะไปเที่ยวเล่น ครั้นมาถึงตรงประตู ที่อยู่ต๊กอิ้ว เห็นคนแก่ยืนร้องให้อยู่ประมาณห้าสิบหกสิบคน เตียวหุยจึง ถามว่ามาร้องไห้อยู่นี่ด้วยเหตุอันใด คนทั้งปวงจึงบอกว่าต๊กอิ้วให้เอาปลัดมาโบยตี ให้ซัดว่าเล่าปี่ฉ้อราษฎร ครั้นข้าพเจ้าชวนกันจะเข้าไปขอโทษ นายประตูมิให้เข้าไป แล้วซ้ำตีข้าพเจ้าอีกเล่า ข้าพเจ้าได้ความเจ็บอาย จึงร้องให้อยู่ฉะนี้ เตียวหุยได้ยินดังนั้นก็โกรธ โจนลงจากหลังม้า วิ่งเข้าไปถึงประตู นายประตูห้ามก็มิฟัง ครั้นเตียวหุยเข้าไปในประตูเห็นปลัดต้องมัดมือมัดเท้าอยู่ ต๊กอิ้วนั้นนั่งอยู่บนเก้าอี้ เตียวหุยตวาดแล้วร้องว่า อ้ายขี้ฉ้อใหญ่ มึงรู้จักกูหรือไม่ ต๊กอิ้วตกใจ เงยขุ้นเห็นเตียวหุย ยังมิทันตอบประการใด เตียวหุยเข้าจับจิกผมกระชาก ต๊กอิ้วตกลงจากเก้าอี้ แล้วเอาผมกระหมวด มือลากออกมาถึงศาลากลาง จึงเอาผมต๊กอิ้วผูกกับหลังม้า แล้วหักเอากิ่งสน มาตีต๊กอิ้วเจ็บปวดสาหัส”

บางทีท่านอาจพูดว่า ไม่เห็นมีสำนวนอย่างไร อย่างนี้เป็นสำนวนเรียบๆ แต่รัดกุม สำนวนแบบสามก๊กนี้ นักเขียนพงศาวดารจีนมักเลียนแบบเสมอ แต่ก็ไม่มีใครทำได้เหมือน ขอให้สังเกตว่า

๑. ประโยคที่ใช้นั้นเป็นประโยคสั้นๆ ไม่ยืดยาว บางคนเขียนประโยค ยาวยืดกว่าจะอ่านรู้เรื่องก็ต้องกลั้นใจ บางทีต้องอ่านซ้ำจึงจะจับใจความได้

๒. ประโยคบางประโยคมีแบบเหมือนกัน เช่นประโยคที่ต่อด้วยคำ
“ครั้น……จึง” “แล้ว….. จึง” หรือ “เตียวหุยได้ฟังดังนั้น ก็ โกรธ”
“นายประตูห้าม ก็ มิฟัง”

๓. คำที่ใช้ แม้จะเป็นคำธรรมดา ก็เป็นคำที่ให้ความหมายชัดเจน
คำว่า “เสพย์สุรา” กับ “กินเหล้า” ความหมายก็เท่ากัน แต่ความรู้สึกซึ่งได้จากคำนี้ผิดกัน “กินเหล้า” ดูเป็นคำสำหรับพวกขี้เมา คนแก่ มีคำที่คล้ายกัน เช่น ผู้เฒ่า-คนสูงอายุ-คนชรา ท่านลองเอาคำ คนชรา ใส่แทนที่ “คนแก่” ในประโยคตัวอย่างดูจะรู้สึกว่าความแปลกไปจากเดิม “ราษฎร” มีคำอื่น เช่น พลเมือง ประชาชน แต่ “ราษฎร” ดีกว่า พลเมือง มักใช้ในที่หมายถึงจำนวน ส่วนประชาซน มักจะหมายเฉพาะกลุ่มหนึ่งๆ คำที่ใช้ส่วนมาก ไม่มีคำศัพท์เลย ถ้าใช้คำศัพท์แล้ว ท่านจะหาคำธรรมดาแทนให้เหมาะได้ยาก (คำศัพท์ คือ พวกคำบาลี สันสกฤต เขมร คำธรรมดาหมายถึงคำไทยแท้)

๔. คำไม่ฟุ่มเฟือย จะเห็นได้จากความ เช่น “ประตูที่อยู่ต๊กอิ้ว” ไม่ใช้คำว่า “ของต๊กอิ้ว” และ “ต๊กอิ้วตกใจเงยขึ้น” จะเห็นว่า ไม่ใช่ “เงยหน้า” เพราะไม่จำเป็น

ทีนี้ท่านลองอ่านสำนวนของอัศวพาหุบ้าง (คัดจากเรื่อง เมืองไทย จงตื่นเถิด ปกิณกคดีของอัศวพาหุ)

“ประเทศสยามต้องหวังหากำลังจากชาวไทย อาวุธไทยต้องรักษา แดนไทย และชาติไทยที่จะหวังมั่นคงอยู่ต่อไปได้ ก็ต้องอาศัยกำลังและ ความรู้สึกรักชาติอันแท้จริงแห่งบุคคลซึ่งเป็นไทยโดยเฉพาะ ถึงแม้ว่าเราอาจจะได้รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศในการบำรุงความสมบูรณ์แห่งประเทศเราก็ดี เมื่อถึงเวลายุคเข็ญเข้าแล้ว เราจะไปนั่งอาศัยความอุดหนุนแห่งเขานั้น ย่อมจะเป็นความคิดผิดอย่างร้ายแรง ซึ่งอาจนำมาซึ่งภยันตราย อันจะชัก ไปสู่ความพินาศได้”

เมื่ออ่านดูจะรู้สึกถึงลักษณะความเข้มแข็ง เร่งเร้า จะเห็นว่าบางตอน ยํ้าคำ เช่น ไทย ประโยคบางประโยคสั้นกระชับ บางประโยคยาว มีความหมายซ้อนๆ กัน คำที่ใช้ก็แสดงความเคร่งเครียด เช่น นั่งอาศัย-ยุคเข็ญ- ภยันตราย-ความพินาศ

ทีนี้ลองอ่านความตอนหนึ่ง ใน กถาสริตสาคร
“มีประเทศหนึ่งเลื่องชื่อว่า วัตสะ ประหนึ่งว่าพระธาดาทรงสร้างขึ้นในแผ่นดิน ให้ความหยิ่งแห่งสวรรค์เสื่อมเซาไป ในท่ามกลางแคว้นนั้นมี บุรีใหญ่ชื่อ เกาศามภี เป็นที่อยู่แห่งพระลักษมีวิลาศ โปรดยิ่งสำนักอื่น และอาจกล่าวได้ว่าเป็นกรรณิกาของโลก ออกพญาในกรุงนั้น คือ ท้าวศตานีกะ มีสมภพสืบมาแต่เผ่าปาณฑพ”

ข้อแรกที่ท่านจะสังเกตเห็นคือคำศัพท์ พระธาดา (พรหม) พระลักษมี (พระอุมา ความหมาย แห่งความรุ่งเรือง) กรรณิกา (ตุ้มหู) โวหารที่เปรียบเทียบก็มีชั้นเชิงพิสดาร คำที่ใช้มีคำสวยๆ สูงๆ เช่น เลื่องชื่อ บุรี สมภพ ที่ว่า ออกพญา แปลว่า เจ้าเมือง ที่ใช้ ออกพญา ทำให้รู้สึกถึงความเก่าแก่ และฟังดูสูงกว่าเจ้าเมือง เป็นสำนวนวิจิตรพริ้งพราย

ยังมีสำนวนอีกนานาประการ มีนักประพันธ์เท่าใดก็มีสำนวนเท่านั้น ตอนต้นได้พูดถึงสำนวนสะวิง หมายความว่ากระไร ถ้าท่านอ่านเรื่องของบางคน อาจรู้สึกเงียบๆ เย็นๆ เหมือนฟังดนตรีไทย แต่ของบางคนรู้สึกเร่งร้อน วูบวาบ อึกทึก ครึกครื้น เหมือนฟังเพลงสะวิงของดนตรีแจ๊ส นั่นแหละ คือสำนวนสะวิง แต่สำนวนบางสำนวนอ่านแล้วไม่ติดใจ บางสำนวนก็ดีชั่วแล่น อ่านไปๆ ก็จืด เบื่อง่าย ทั้งนี้เพราะว่า แม้จะมีสำนวนมากมายหลายอย่างก็จริง แต่ในเนื้อหาของสำนวนนั้นๆ จะต้องมีคุณสมบัติอะไรสักอย่างหนึ่ง ที่จะรักษาความยั่งยืนไว้ มิฉะนั้นเสื่อมเร็ว เปรียบเหมือนต้นไม้ที่ไม่มีรากแก้ว

คุณสมบัติของสำนวนที่ดี
ถึงแม้ว่านักประพันธ์จะมีสำนวนของตนเองแต่ละคนก็ตาม คุณสมบัติ ต่อไปนี้จะต้องมีอยู่ในสำนวนนั้น จึงจะเป็นสำนวนที่ดีได้

๑. ความชัดเจน
ได้แก่การใช้ถ้อยคำภาษา ที่ทำให้ผู้อ่านเข้าใจชัด และต้องให้เข้าใจ อย่างเดียวตรงตามความประสงค์ของผู้เขียน อย่าให้ผู้อ่านรู้สึกคลุมเครือ ตีความหมายคำที่เราใช้ไปได้หลายทาง ข้อนี้ผู้เริ่มฝึกหัดการประพันธ์มักจะบกพร่องกันเป็นส่วนมาก คือ เมื่อเขียนแล้วอ่านโดยตนเองก็รู้สึกว่าเข้าใจ นี่เป็นการรู้สึกโดยใจตนเองเท่านั้น เมื่อจะเขียนข้อความอะไรลงไป ท่านจะต้องนึกถึงผู้อ่านว่า คำเช่นนี้ ความเช่นนี้ ผู้อ่านจะเข้าใจว่ากระไร ผู้เริ่มฝึกมักจะเขียนเพื่ออ่านเข้าใจคนเดียว การที่จะเขียนให้ชัดนั้น ท่านต้องพิเคราะห์ถ้อยคำทุกคำที่ใช้ และเมื่อเอาคำเหล่านั้นรวมเข้าเป็นประโยคแล้ว ต้องอ่านทบทวน พิจารณาความหมายอย่างรอบคอบ ผู้ที่เขียนอย่างเลินเล่อ ขาดความใคร่ครวญ ไม่เอาใจใส่ในข้อความที่เขียนอย่างจริงจัง จะเขียนให้อ่านได้ความชัดเจนไม่ได้

๒. ความกระชับของถ้อยคำ
คำบางคำมีความหมายใกล้เคียงกันมาก ฉะนั้น เราต้องร่อนเอาคำที่มีความหมายใกล้กับที่เราต้องการที่สุด เช่นคำว่า ใกล้ เคียง ขอบ ข้าง ชาย ชิด ริม ท่านจะต้องการพูดว่า หมู่บ้านอยู่ริมป่า-ใกล้ป่า-ขอบป่า-ข้างป่า-ชายป่า-หรือชิดป่า ท่านต้องการจะใช้คำใด ต้องตรองแล้วตรองอีก อย่าเขียนลวกๆ

ได้เคยกล่าวมาบ้างแล้วว่า คำมีความหมายโดยตรง คือ ตามรูปศัพท์ อย่างหนึ่งกับโดยนัยยะอีกอย่างหนึ่ง ความหมายของคำทั้งสองชนิดนี้ ผู้เริ่มประพันธ์ควรหมั่นสังเกตไว้

คำ กตัญญู แปลว่า รู้คุณท่าน
กตเวที     ”      ตอบแทนคุณท่าน

นี่เป็นความหมายโดยตรงตามรูปศัพท์ แต่ทีนี้ลองนึกถึงคำเช่น บุตร- ลูก, สามีภรรยา-ผัวเมีย, บิดามารดา-พ่อแม่, ชายหญิง-ผู้เมีย, อรุโณทัย- ตะวันขึ้น คำที่เป็นคู่ๆ เหล่านี้ มีคำแปลตรงกัน แต่ความหมายโดยนัยยะ ผิดกัน เราจะพูดว่า บุตรช้างบุตรม้า ไม่ได้ หรือเราจะเขียนว่าอ้ายคง ผู้ร้ายสำคัญเป็นบุตรนายมี ก็ไม่เหมาะ คำต่างๆ เหล่านี้ต้องอยู่ในที่อันสมควรของมัน

๓. อำนาจ
อำนาจ ซึ่งมีในสำนวน ได้แก่ ลักษณะที่ปลุกอารมณ์ความรู้สึกอย่างใด อย่างหนึ่ง เมื่อท่านฟังดนตรี บางเพลงท่านรู้สึกเศร้า บางเพลงทำให้ท่านตื่นเต้นคึกคะนอง ทั้งนี้ก็โดยนักแต่งเพลงเลือกเอาเสียงดนตรีต่างๆ มาเรียงลำดับกัน เกิดเป็นเสียงที่มีอำนาจดลใจผู้ฟังให้เกิดอารมณ์อย่างหนึ่ง นักดนตรีต้องมีหูที่จะฟังให้ออกว่าเสียงดนตรีเสียงไหนทำให้ตื่นเต้น ให้เศร้า ให้น่ากลัว นักประพันธ์ก็ต้องมีหูและความรู้สึกเช่นเดียวกันที่จะให้รู้ว่า คำไหนทำให้เกิดอารมณ์เช่นใดแก่ผู้อ่าน

เสียงของคำ อาจให้ความรู้สึกและอารมณ์ได้ เช่น มะงุมมะงาหรา กะหนุงกะหนิง กระจุ๋มกระจิ๋ม ในปาฐกถาพิเศษเรื่อง สยามพากย์ ของ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร (กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์) ตอนหนึ่งมีดังนี้

“และในกระบวนเสียงนี้ เราควรจะสืบค้นอีกทางหนึ่ง คือ เสียง ชนิดใดมีความหมายไปในทางใด ข้าพเจ้าลองเปิดปทานุกรมดู และจดคำ ซึ่งขึ้นต้นด้วย “คล” กลํ้า ดังต่อไปนี้ คือ คลวง คลอ คลอก คลอง คล่อง คล้อง คลอด คล้อย คละ คลัก คลั่ง คลับคล้ายคลับคลา คล้า คลางแคลง คลาด คลาน คลาย คล้าย คล่าว คลำ คลํ่า คลํ้า คลิ้งโคลง คลิด คลิบ คลี คลี คลึง คลื่น คลุก คลุ้ง คลุม คลุ่ม คลุ้ม เคล่ง เคล็ด เคล้น เคลิบเคลิ้ม เคลี้ย คลึง เคลื่อน เคลือบ ถ้าสังเกตดูแล้วดูเหมือนนอกจากคำว่า คลวง และคลัง แล้ว ไม่มีคำใดแสดงภาวะที่นิ่ง หรือมักจะแสดงอาการเคลื่อนไหว หรือ เคลื่อนคลาด ที่ไม่เที่ยง หรือไม่บริสุทธิ์ทั้งนั้น”

เกี่ยวกับอำนาจของคำนี้ บางทีท่านอาจจะรู้สึกว่าเข้าใจยากอยู่สัก หน่อย ต่อไปเมื่อท่านได้อ่านเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เกิดความรู้สึกวังเวง เพลิดเพลิน เศร้า หรือ เคืองแค้นแล้วลองพิเคราะห์ถ้อยคำต่างๆ ที่นักเขียนใช้ ตลอดจนลักษณะคำที่เรียงกันอยู่เป็นประโยคท่านจะรู้สึกเข้าใจดีขึ้น

๔. ความไพเราะ
คือ คำ และ ประโยค ต่างๆ ที่เราได้เรียบเรียงขึ้น เมื่ออ่านแล้ว ต้องให้รู้สึกว่าราบรื่น ไม่ขัดหู ท่านจะสังเกตได้ โดยทดลองอ่านดังๆ และวิธีที่เขียนแล้วลองอ่านออกเสียงดู เป็นวิธีที่นักเขียนใช้กันอยู่หลายคน

การปรับสำนวนกับเรื่อง
ท่านที่เคยอ่านเรื่อง “เพื่อน-แพง” “มุมมืด” กับ “ผู้ชนะสิบทิศ” ของ ยาขอบ จะเห็นสำนวนที่เขียนไม่เหมือนกัน ทั้งนี้เพราะลักษณะของเรื่องไม่เหมือนกัน แต่อย่างไรก็ดี ยังเป็นสำนวนยาขอบอยู่นั่นเอง เปรียบ เหมือนท่าน ถ้าเป็นทหาร เวลาไปทำงานก็แต่งเครื่องแบบ เวลาเล่นเทนนิส ก็แต่งเครื่องกีฬา เวลาไปเที่ยวเตร่ก็แต่งกายอีกแบบหนึ่ง แต่ก็ยังเป็นท่านอยู่นั่นเอง บางทีถ้ายกตัวอย่างคำกลอนจะเห็นชัด เช่นหนังสือบทละครเรื่อง อิเหนา กับ เรื่องไกรทอง สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงนิพนธ์ทั้งสองเรื่อง แต่เรื่องไกรทองเป็นเรื่องชาวบ้าน จึงต้องใช้สำนวนอย่างชาวบ้าน ส่วนเรื่องอิเหนา เป็นเรื่องกษัตริย์ สำนวนจึงเพริศพราย มีคำศัพท์แสง อ่าน แล้วรู้สึกว่าเป็นผู้ดีๆ

เรื่องชวนหัว เรื่องเศร้า เรื่องลึกลับ เรื่องแบบความเรียง เรื่องของคนชั้นตํ่า เรื่องของคนชั้นสูง เหล่านี้ สำนวนที่เขียนต้องแปรรูปไปให้เหมาะกับสภาพของเรื่อง

ที่มา:เปลื้อง ณ นคร