การเขียนนวนิยาย

เพื่อให้ผู้ศึกษาได้แลเห็นเค้าเรื่อง และชั้นเชิงในการเขียนอย่างละเอียด ข้าพเจ้าจะนำนวนิยาย ๒ เรื่องที่คนรู้จักมาก มาแยกแยะให้ท่านเห็น ที่จริงมีนวนิยายของต่างประเทศ และของไทยที่ควรยกมาให้ผู้ศึกษาได้พิจารณาอีกมากเรื่อง แต่รู้สึกว่าถ้าได้ศึกษาโดยละเอียดเพียงสองเรื่อง ก็เป็นการพอเพียงแล้ว เรื่องอื่นๆ จะรวบรวมกล่าวในตอนที่ว่าด้วยการวิจารณ์ เฉพาะคำบรรยายอันดับที่ ๗ และที่ ๘ จะเลือกเรื่อง “ละครแห่งชีวิต” ของ ม.จ.อากาศดำเกิง กับ “ความพยาบาท” ของ แม่วัน มาชี้แจง

เรื่อง “ละครแห่งชีวิต” ยาวประมาณ ๗๘,๐๐๐ คำ เมื่อพิมพ์ออก จำหน่ายก็ได้มีการตื่นเต้นกันมาก ทั้งในวงนักอ่าน นักเขียน นักวิจารณ์ หนังสือจำหน่ายหมดในเวลาอันรวดเร็ว และผู้เขียนก็ได้ก้าวขึ้นสู่ความมีชื่อเสียงในพริบตาเดียว นวนิยายนี้เป็นเชิงชีวประวัติ บางตอนมีลักษณะเป็นเชิงจิตวิทยา บางตอนเป็นเชิงพรรณนาการท่องเที่ยว และผู้เขียนได้แสดงความคิดเห็น และอุดมคติไว้หลายอย่าง สิ่งเหล่านี้ช่วยให้นวนิยายเชิงชีวประวัติดูเป็นจริงเป็นจังขึ้น ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ ผู้เขียนได้แสดงชีวิตของนักหนังสือพิมพ์ไว้อย่างชัดเจนดีมาก

ในการประพันธ์เรื่องนี้ ม.จ.อากาศฯ สมมุติ ให้ นายวิสูตร ศุภลักษณ์ ณ อยุธยา เป็นผู้เล่าเรื่องของตนเอง ใช้คำแทนชื่อในเรื่องว่า “ข้าพเจ้า”
ชีวิตของนายวิสูตรนี้ ที่แท้ก็มีเรื่องชีวิตของผู้แต่งปนอยู่เป็นอันมาก นวนิยายเชิงชีวประวัติ ซึ่งเขียนเป็นประวัติของบุคคลสมมุติ บางทีผู้เขียนเพ่งจะเขียนชีวประวัติของตนนั้นเอง แต่ถ้าเอาตัวเองใส่เข้าไปในเรื่อง จะกลายเป็นเรื่องจริง แทนที่จะเป็นนวนิยาย ฉากของเรื่องเริ่มในกรุงเทพฯ จากกรุงเทพฯ ไปลอนดอน ระหว่างกรุงเทพฯ ไปลอนดอน ผู้เขียนได้เขียน เป็นทำนองการเดินทาง ฉากลอนดอนเป็นพฤติการณ์ของชีวิตตอนหนึ่ง ต่อจากนั้นฉากเคลื่อนที่ไปหลายแห่ง เช่น ปารีส มอนติคาโล นิวยอร์ก และ โตเกียว ผู้เขียนได้เคยผ่านไปตามเมืองเหล่านั้นจริงๆ ไม่ใช่นึกเห็น การที่นวนิยายดำเนินเรื่องออกไปถึงถิ่นฐานบ้านเมืองไกลนี้ ทำให้เกิดรสใหม่ขึ้นแก่ผู้อ่าน เพราะแต่ก่อนถ้าเป็นนวนิยายไทยๆ เรื่องก็วนเวียนอยู่ในพระนคร หรือจังหวัดใกล้ๆ นั่นเอง แต่การที่จะเขียนได้อย่างนี้ ต้องมีโอกาสได้ท่องเที่ยวไป ส่วนท่านที่ยังไม่ได้ไปไหน ก็ไม่จำเป็นต้องเดือดร้อนอันใด เพราะรอบๆ ตัวของท่านน่ะแหละ ท่านก็อาจจะพบ “นวนิยาย” ได้เหมือนกัน

ผู้เขียนได้แบ่งเรื่องออกเป็นบทใหญ่ๆ ๒๔ บท และในบทใหญ่นี้ ได้ซอยออกเป็นตอนเล็กๆ อีกบทละหลายตอน

บทที่ ๑ ปฐมวัย
ในการเขียนนวนิยายเชิงชีวประวัติ มักจะเริ่มต้นโดยกล่าวถึงปฐมวัย ก่อน เป็นการวางพื้น นำผู้อ่านให้รู้จักสนิทสนมกับตัวละคร ให้เห็นสิ่งแวดล้อม ที่สร้างลักษณะนิสัยให้เห็นความเป็นอยู่ต่างๆ ที่มีอิทธิพลผันแปรความนึกคิด และอารมณ์ของตัวละคร

เมื่อเปิดเรื่อง ท่านจะได้รู้จัก นายวิสูตร ศุภลักษณ์ อายุ ๒๘ ปี เขากำลังเล่าเรื่องตั้งแต่เขายังเล็กๆ อยู่ จนถึงอายุในขณะที่เขากำลังเล่าเรื่อง เขาได้แสดงอารมณ์และความระทมขมขื่นที่เคยได้รับมาเมื่อเยาว์ “อะไรเล่า ที่ร้ายยิ่งไปกว่าความไม่เสมอหน้า และความอยุติรรรม” เขาพูดถึงการที่ บิดาละทิ้ง และไม่เหลียวแล ไม่รักเขาเสมอพี่ๆ น้องๆ ของเขา และได้ ขมวดเรื่องไว้ว่า “ข้าพเจ้าเคยเป็นเด็กทั้งสองชนิด เคยเป็นเด็กอาภัพจนถึงนํ้าตาเช็ดหัวเข่า และเป็นเด็กที่สามารถหัวเราะเยาะโลกได้ทุกเวลา เมื่อท่านได้อ่านเรื่องของข้าพเจ้าจบแล้ว ข้าพเจ้าก็ยังเดาไม่ถูกแน่ ว่าท่านจะรู้สึกชิงชังเจ้าของเรื่องสักเพียงไหน” เมื่อพูดดังนี้ เท่ากับชักจูงความสนเท่ห์ ขึ้นแก่ผู้อ่าน ชีวิตของคนๆ นี้เป็นมาอย่างไร

ในตอนปฐมวัย นายวิสูตร ชักนำให้เรารู้จักเด็กหญิง บุญเฮียง เพื่อน เด็กที่ต่างชั้นกับยายพร้อมพี่เลี้ยง พระยาวิเศษศุภลักษณ์ บิดา และมารดาของตนเอง แต่การพูดถึงคนอื่น เป็นแต่พูดอย่าง “บอกเล่า” ให้ผู้อ่านทราบ อย่างตรงไปตรงมา เช่น พูดถึงบิดา ก็ว่า

“ท่านบิดาของข้าพเจ้า เป็นข้าราชการผู้ใหญ่คนหนึ่ง ในกระทรวง มหาดไทย และมักจะมีราชการไปตามจังหวัดต่างๆ ฯลฯ บอกให้เรารู้ว่า บิดาเป็นคนใหญ่โต พูดถึงความรักระหว่างบิดากับมารดา บอกให้เรารู้ว่า บิดาไม่ใคร่รัก และให้ความเอาใจใส่กับตน ที่เขียนอย่างนี้ เพราะไม่มีความจำเป็นอย่างใด ที่ต้องให้มีการทำบทบาท บอกลักษณะนิสัย (Characterization) แต่เมื่อพูดถึงยายพร้อมพี่เลี้ยง ผู้เขียนได้ให้คำพูด กิริยาและพรรณนาลักษณะไว้ด้วย เพราะมีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับตัวละคร เช่น

“ยายพร้อมเป็นคนโบราณ อย่างเช่นพี่เลี้ยงทั้งหลายในครอบครัว ขุนนางสมัยนั้น หน้าตาแกน่าเกลียด แต่ภายในแววตา และแววตาเท่านั้น ที่ทำให้ข้าพเจ้าเห็นได้ว่า แกเป็นคนสามารถจะสละชีวิตของแกเพื่อข้าพเจ้าได้ ไม่ว่าเวลาใด นิสัยของแกชอบนุ่งผ้าเก่าหยักรั้ง สวมเสื้อกระบอกรัดตัว ไม่ว่าหน้าร้อนหน้าหนาว กินหมากจนปากแดง แดงแล้วดำ ดำแล้วไหม้ คล้ายถูกไฟเผา นานๆ ก็สูบบุหรี่ ผ. ผี เสียตัวหนึ่งเต็มๆ แกเป็นคนกินข้าวกินกับจุที่สุดคนหนึ่ง ที่ข้าพเจ้าเคยเห็นมา”

นี้คือภาพยายพร้อม ที่ผู้เขียนวาดเสนอท่านด้วยตัวอักษร ลักษณะที่นำมากล่าวนั้น เฉพาะลักษณะที่เด่นชัดประจำบุคคล และขอให้สังเกตวิธีพูดใช้แบบขัดกัน (Contrast) หน้าตาน่าเกลียด น่ากลัว แต่ใจดี ถ้าพูดว่าหน้ายักษ์ใจมนุษย์ หรือหน้าเสือใจพระ คงไม่งดงาม และชัดเจนเท่า

อีกตอนหนึ่ง เป็นตอนที่พี่ๆ น้องๆ ได้รับแจกเงินไปเที่ยวงานออกร้านวัดเบญจมฯ แต่ตัวนายวิสูตรคนเดียวไม่ได้รับแจก นอนร้องไห้เสียใจอยู่

“สักครู่ ยายพร้อมได้หอบร่างอันทุเรศของแกเข้ามาหาข้าพเจ้า มือขวาถือกระโถนใบใหญ่ มือซ้ายถือผ้าขี้ริ้วผืนหนึ่ง พอเห็นข้าพเจ้านอนร้องให้อยู่บนเตียง แกก็เข้าใจทันที แกวางกระโถนและผ้าขี้ริ้วไว้ข้างเตียง แล้วก้มลงเอามือลูบหลังข้าพเจ้า”

“คุณไม่ได้รับแจกเงินหรือคะ?” แกถาม
“จ้ะ! ยายพร้อม” ข้าพเจ้าตอบ
“พุทโธ่ เท่านั้นก็ต้องร้องไห้ด้วย มาไปกับพร้อม อีฉันมีเงินอยู่หกบาทอีฉันจะพาคุณไป แต่เราไม่เข้าไปที่ในบริเวณ เพราะค่าเข้าประตูแพง นัก เราไปที่สำเพ็งดีกว่า ไปแทงตกเบ็ด ไปรถเจ๊กประเดี๋ยวก็ถึง”

“ข้าพเจ้ารู้ว่า ยายพร้อมพยายามที่จะกล่อมนํ้าใจข้าพเจ้า และพยายามที่จะหัวเราะ แต่ในระหว่างที่แกพูด ข้าพเจ้าแลเห็นนํ้าตาแกไหลลงอาบแก้มอันเหี่ยวทั้งสองของแก ข้าพเจ้าโผกายเข้ากอดยายพร้อม พร้อมด้วยความรักอันสูงสุด เวลานั้นข้าพเจ้าไม่เห็นใครอีกแล้ว นอกจากยายพร้อม- ยายพร้อม! ”

นี่คือวิธีให้บทบาท (Dramatization) ให้สังเกตตอนท้าย ยํ้าคำ ยาย พร้อม สองครั้งเป็นการเน้น แล้วยังให้เครื่องหมาย อัศเจรีย์กำกับอีกด้วย ในตอนที่ว่า “เอามือลูบหลัง” ถ้าเราจะพูดว่า “ปลอบ” ก็เท่ากับเป็นการบอกเล่า ไม่ชัด ไม่เห็นกิริยาเหมือนพูดว่า “เอามือลูบหลัง”

ธรรมดาชีวิตในปฐมวัยนี้ ย่อมมีพฤติการณ์หลายอย่าง แต่ผู้เขียนได้หยิบยกเฉพาะพฤติการณ์ที่มีอิทธิพลเหนือชีวิตของตัวละครมากล่าวเท่านั้น เช่นกล่าวถึง นายวิสูตร ถูกยายพร้อมชักนำไปเล่นตกเบ็ด นายวิสูตรมีโชคดี เลยชอบพนัน และต่อมาได้ลักลอบเล่นเนืองๆ จนจับได้ ถูกทำโทษ แต่นิสัยการพนัน หรือนิสัยนักเลงได้เริ่มก่อขึ้นในจิตใจของนายวิสูตรเสียแล้ว ในการเล่าถึงวงศาคณาญาติ และสภาพชีวิตของตัวละครนี้ ถ้าผู้เขียน พูดเพ้อเจ้อ ฟุ่มเฟือยก็ทำให้ผู้อ่านเหนื่อยหน่าย ไม่ติดใจที่จะตามเรื่องต่อไป แต่เรื่องนี้ ผู้เขียนได้หยิบยกเฉพาะที่เด่นพรรณนาด้วยสำนวนโวหารที่ตรงไปตรงมา ชัดเจนคล้ายกับว่าผู้เขียนได้เคยผ่านมาเช่นนั้นจริง อารมณ์ที่ระบายออกมา ก็คล้ายกับอารมณ์ที่ออกมาจากผู้ที่ได้รับความบีบคั้นทางใจจริงๆ การจะทำเซ่นนี้ได้ก็โดย

๑. ผู้เขียนได้เคยประสบชีวิตเช่นนั้นมาจริง
๒. ผู้เขียนไม่เคยประสบ แต่เคยได้สังเกตและนำมาพินิจพิจารณา
๓. ผู้เขียน เขียนโดยมโนคติ แต่ในข้อ ๓ นี้ แม้ผู้เขียนจะมีมโนคติ แจ่มใสประการใด ถ้าไม่เคยมีความจัดเจน คือ ไม่ได้ผ่านพบมาก่อนบ้าง ก็จะทำให้เห็นจริงได้โดยยาก

เมื่อจะจบบทที่ ๑ ผู้เขียนได้ถอดความนึกคิดไว้ว่า

“นี่คือปฐมวัยตอนหนึ่งของข้าพเจ้า แม้ว่าจะเศร้าสักเพียงใด ก็คงเป็นเรื่องที่จริง ความจริงมักเศร้าเสมอ… ”

“ความจริงมักเศร้าเสมอ” จะว่าเป็นภาษิตเป็นคติก็ได้ เมื่อท่านจะไปเขียนดังนี้บ้างก็ต้องระวังอย่าให้เป็นความคิดตื้นๆ ดาดๆ

บทที่ ๒ ประดิษฐ์ บุญญารัตน์
ในบทนี้ กล่าวถึงชีวิตในโรงเรียน วิสูตร ศุภลักษณ์ คงได้รู้จักกับนักเรียน และครูบาอาจารย์หลายคน แต่ผู้เขียนละเว้นหมด คงกล่าวถึงแต่การรู้จักกับ นายประดิษฐ์ บุญญารัตน์ ลูกชายเจ้าคุณบรรลือ เพราะนักเรียนคนนี้จะได้เกี่ยวข้องกับนายวิสูตรต่อไป ทั้งเป็นตัวละครที่จะดำเนินเรื่องก้าวไปในตอนอื่นอีกด้วย ชีวิตในโรงเรียนโดยมากก็คือ มักชกกัน แล้วอาจารย์ไปพบจับมาเฆี่ยนเสีย เรื่องนี้ก็เช่นนั้น แต่วิธีบรรยายแนบเนียนให้ความรู้ดี คำพูดและกิริยาของตัวละครดี วิสูตร ศุภลักษณ์ ได้รับความน้อยเนื้อต่ำใจมาจากบ้าน เลยกลายเป็นเด็กเกกมะเหรกของโรงเรียน แต่…

“ประดิษฐ์ บุญญารัตน์ เป็นเด็กที่มีรูปโฉมสง่างาม แต่งตัวเรียบร้อย เสมอ แม้จะมีอายุเพียง ๑๗ ปี ก็เป็นคนมีร่างโต นิสัยเป็นผู้ใหญ่ ชอบ ทำงาน เล่าเรียนเก่ง เงียบหงอย ไม่ค่อยพูดจากับใคร เมื่อพูดก็พูดแต่สิ่งที่เป็นแก่นสารเกี่ยวแก่วิชาความรู้โดยมาก ประดิษฐ์ ไม่เคยเยี่ยมกรายเข้าไปในห้องกายกรรม ไม่เคยชกต่อยกับใคร ไม่เคยไปดูหรือไปเล่นฟุตบอลที่ไหน กิจวัตรประจำวันของเขาก็คือ มาเรียนตอนเช้า พอโรงเรียนเลิกก็เดินไปขึ้นรถรางกลับบ้าน ไม่เคยไปที่อื่น”

วิธีเขียนอย่างนี้เป็นเชิงพรรณนา (Description) ไม่ใช่เชิงวาดนิสัย หรือลักษณะตัวละคร โดยบทบาท (Characterization) ผู้เขียนต้องรู้ว่า ตอน ใดควรจะใช้วิธีไหน ทั้งนี้ต้องแล้วแต่ความเหมาะสมของเนื้อความในเรื่อง เป็นเกณฑ์

วิสูตร เรียนห้องเดียวกับประดิษฐ์ และมูลเหตุที่ทำให้เกิดวิวาท ก็คือ ประดิษฐ์ ชอบแอบดูวิสูตรเสมอ วิสูตร ซึ่งมีนิสัยเกเรอยู่แล้วก็ชวนวิวาท ในที่สุดก็ไปชกกันในวัด ขณะที่ชกกันนั้นอาจารย์ผู้ปกครองจับได้ จึงพาตัวไปชำระ ประดิษฐ์ยอมรับผิดฝ่ายเดียว แม้เขาจะไม่ใช่เป็นผู้ก่อเรื่อง ก็ตาม วิสูตรซึ่งมีนิสัยเกเร แต่ความเป็นนักเลงก็มีอยู่ในตัว อึกอักอยู่ว่า จะคัดค้านและสารภาพความจริงหรืออย่างไร แต่อาจารย์ผู้ปกครองขึงตาไล่ให้ออกไปเสียก่อน…

“…ข้าพเจ้าจึงเดินช้าๆ ออกไป พลางคิด…คิด แต่ก็หามีผลอะไรไม่ ข้าพเจ้าเดินลงบันไดมาถึงห้องล่าง ทีแรกตั้งใจว่าจะเดินไปขึ้นรถกลับ บ้าน แต่ก็มาคิดลังเลใจขึ้นในบัดนั้น กลัวว่าประดิษฐ์จะต้องรับโทษเพราะความผิดของข้าพเจ้า สงครามความรู้สึกของข้าพเจ้าก็ยังต่อสู้กันอยู่ ในที่สุดความรู้สึกที่ดีเป็นฝ่ายมีชัย ข้าพเจ้าวิ่งจะขึ้นบันไดไปยังห้องท่านอาจารย์ผู้ปกครองไปเพื่อจะสารภาพผิด ให้ประดิษฐ์พ้นโทษ แต่-อนิจจา-พอข้าพเจ้าวิ่งขึ้นไปได้ครึ่งทาง ก็ต้องหยุดชะงักอยู่กลางบันได เพราะข้าพเจ้าได้ยินเสียงประดิษฐ์ถูกตีดังสนั่น ถูกตี-ทีหนึ่ง-สอง-สาม-สี่-ห้า-หก ครั้ง เพราะความผิดของข้าพเจ้า แล้วเสียงตีก็เงียบหายไป ทันใดนั้นข้าพเจ้าก็เดินหวนลงบันไดกลับมายืนที่ห้องกลางนั้นอีกแต่ผู้เดียว นํ้าตาไหลลงอาบหน้า คิด- คิดถึงความชั่วร้ายต่างๆ ที่ข้าพเจ้าเคยทำมาแล้ว คิดเห็นตัวอยู่ในกระจกแห่งความลามกต่างๆ ทุกชนิด”

การพรรณนา กระแสความรู้สึกสะเทือนใจตอนนี้นับว่าดี เรียงความ รู้สึกและกิริยาต่อเนื่องกันเป็นลำดับ ให้สังเกตว่า ผู้เขียนกล่าวถึงการที่นายประดิษฐ์ถูกตี ๖ ครั้ง โดยเขียนแยกเป็น หนึ่ง สอง-เท่ากับให้ผู้อ่านได้ความรู้สึกถึงการนับและคำว่า คิด ก็ใช้สองคำต่อเนื่องกัน เป็นการเน้นความให้แลเห็นความคิด ซึ่งยืดเยื้ออยู่ในใจของตัวละคร อนึ่ง การที่ตัวละครที่เคยเป็นคนเกเร พอตัดสินใจจะทำดีกลับคลาดแคล้วไปอย่างนี้ เป็นรสอย่างหนึ่งที่กระเทือนอารมณ์ผู้อ่าน กับขอให้สังเกตว่า ในการพรรณนา แยกแยะความรู้สึก ลำดับกิริยาและพฤติการณ์ ดังตัวอย่างนี้ ถ้าผู้แต่งเองมีอารมณ์ต่างๆ ท่วมตัว ก็จะเขียนดังนี้ไม่ได้เลย นักประพันธ์ย่อมพินิจอารมณ์ของตนอย่างรอบคอบ และหยิบยกพรรณนาผลของการพินิจนั้นแก่ผู้อ่าน

บทที่ ๓ ลำจวน
การวิวาทกับประดิษฐ์ บุญญารัตน์ ทำให้วิสูตรรู้สึกตัวขึ้นเป็นอันมาก และในที่สุดกลับเป็นมิตรที่รักของประดิษฐ์ ประดิษฐ์ให้วิสูตรได้รู้จักลำจวนน้องสาวของตนด้วย ที่บ้านของเพื่อนใหม่นี้ วิสูตรได้พบกับการต้อนรับอย่างอารี โดยเฉพาะลำจวนได้เอาใจใส่กับวิสูตรมาก จนอาจจะพูดได้ว่า มีความมุ่งรักต่อกัน

ข้อนี้เป็นลักษณะดำเนินเรื่องอีกแบบหนึ่งคือ ให้ตัวละครได้รับความ ระทมขมขื่นใจจากที่หนึ่ง ซึ่งเราต้องเห็นอกเห็นใจ ครั้นแล้วผู้เขียนนำ ตัวละครให้มาพบกับที่อีกแห่งหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะตรงข้ามกับตอนก่อนหมดทุกอย่าง ตัวละครกลับพบกับความสุขความเพลิดเพลิน เท่ากับเป็นการชักนำอารมณ์ผู้อ่านให้สับเปลี่ยนกัน ระหว่างความทุกข์และความสุข

ขณะที่วิสูตร พอจะมีความรู้สึกเห็นแง่ดีของโลก และพบกับความชื่นบานนี้ บิดาของเขาก็ถึงแก่กรรม “ในปลายปีนั้น ท่านบิดาถึงอนิจกรรม ในพินัยกรรมของท่านปรากฏว่า เรา-คุณแม่-หนูสำรวย และข้าพเจ้า ไม่ได้มีส่วนในกองมรดกของท่านเลย ท่านปล่อยให้เราทั้งสามต่อสู้กับชีวิตอันทารุณ โดยปราศจากความช่วยเหลือ…” นี่เป็นตอนที่สุขทุกข์ ความขมขื่นคละกัน

เรื่องเชิงชีวประวัตินี้ ไม่มีพล็อต คือไม่ต้องการเงื่อนงำ ปม ที่น่าตื่นเต้น แต่ผู้อ่านนวนิยายเชิงชีวประวัติด้วยความดูดดื่ม ก็เพราะเขามีความ รู้สึกร่วมกับตัวละครเอก อยากจะรู้ว่าชีวิตตัวละครเอกนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป ก็การที่ผู้อ่านจะมีความรู้สึกร่วมด้วยนั้น ผู้เขียนจะต้องให้ตัวละครมีความคิด มีอารมณ์ พบความสุข ความทุกข์ ความแค้น ความปลื้ม ในอาการต่างๆ กัน อารมณ์เช่นนี้ย่อมมีในตัวผู้อ่านทุกคน ในการเขียนเรื่องนี้ ม.จ.อากาศฯ ได้ให้นายวิสูตรแสดงความคิดในสิ่งต่างๆ ที่เขาได้ประสบ เมื่อเข้าโรงเรียนเทพสิรินทร์ก็ให้ความเห็นเกี่ยวกับโรงเรียนนี้ เมื่อเห็นบิดาของตน และของเพื่อนมีภรรยาน้อย ก็แสดงความเห็นเกลียดชังการมีเมียหลายคน และการที่บิดามีเมียหลายคนนี้แหละที่ทำให้เขาไม่ได้รับความยุติธรรมตามสมควร

บทที่ ๔ ไปเมืองนอก
เมื่อขึ้นบทที่ ๔ ผู้ประพันธ์ได้ระบายสภาพความรู้สึกของวิสูตรไว้
ดังนี้

“ตลอดเวลาสิบแปดเดือนเศษ ที่ข้าพเจ้าได้เป็นเพื่อนอันสนิทสนมกับลำจวน และประดิษฐ์ ไม่มีนาทีใดที่ข้าพเจ้าไม่เป็นสุข เราไม่เคยมีความ แหนงใจซึ่งกันและกันเลยแม้แต่น้อย และดูเหมือนว่าไม่มีอะไรในโลกที่อาจมาทำลายความมั่นคงแห่งความเป็นมิตรของเราเสียได้ ทุกอย่างที่แวดล้อม ความเป็นอยู่ของข้าพเจ้าดูสดชื่นผิดกว่าที่ได้เป็นมาแล้วหลายพันเท่า เปรียบประดุจความแตกต่างกันระหว่างดอกไม้สด และดอกไม้เหี่ยว ฟ้าและดิน ความรักอันแท้จริงของสหายทั้งสอง ซึ่งมีต่อข้าพเจ้านั้นมีค่าสูงเยี่ยม ประดุจนายแพทย์ผู้รักษาคนไข้หนักให้หายโรค ความรักนี้ช่วยให้ข้าพเจ้าลืมความหลัง และความชอกชํ้าระกำใจต่างๆ ที่ได้เคยคิดแค้นอยู่เสมอ ความรักอันนี้ ดูเหมือนว่ามีอำนาจลึกลับ คอยดัดแปลงนิสัยอันแข็งกระด้างให้อ่อนโยน ต้องตามความประสงค์ของสภาพแห่งความเป็นลูกผู้ชายที่ดี ตลอดเวลาที่เราอยู่ร่วมกัน ข้าพเจ้าเคยรู้สึกกลัวบ่อยๆ ว่า ถ้าจะมีอะไรมาพรากเราให้ห่างไกลกันเสีย ข้าพเจ้าคงจะไม่สามารถทนมีชีวิตอยู่ต่อไปได้…”

เมื่อผู้เขียนระบายความรู้สึกของวิสูตรดังนี้แล้ว ก็นำเหตุการณ์อีกอย่างหนึ่งเข้ามา คือ นายประดิษฐ์ไปเมืองนอก ส่วนลำจวนจะแต่งงานกับนายร้อยโท กมล จิตรปรีดี นายประดิษฐ์กับลำจวน ถึงแม้เคยรักชอบ กับวิสูตร เมื่อมาประสบเหตุการณ์ใหม่ ความรักนั้นก็คลายลง นายประดิษฐ์กลับไปสนใจกับเรื่องการไปเมืองนอก ลำจวนและครอบครัวของลำจวนกลับไปเอาใจใส่กับนายร้อยโทหัวนอก ทิ้งให้วิสูตรว้าเหว่อยู่ผู้เดียว สิ่งที่วิสูตรได้หวาดหวั่นนั้นได้เกิดขึ้นแล้ว

“วันหนึ่ง พอข้าพเจ้าไปถึงบ้านเจ้าคุณบรรลือฯ ก็พบนายร้อยโท หนุ่มคนหนึ่ง นั่งคุยอยู่กับเจ้าคุณและคุณหญิง ข้าพเจ้าถูกแนะนำให้รู้จัก และปรากฏว่า ชื่อ นายร้อยโทกมล จิตรปรีดี พึ่งกลับจากเมืองอังกฤษ ได้เพียงสิบสองวัน โดยไม่บอกกล่าวกับใครเลย เจ้าคุณและคุณหญิงรู้จัก กมล ตั้งแต่นายร้อยโทกมลยังเด็กๆ ”

“เออ นี่กมล แกจำลำจวนได้ไหม ? ” เจ้าคุณถาม

“เห็นจะจำได้ครับ แต่ก็เห็นจะเปลี่ยนไปมากทีเดียว” กมลตอบด้วยสำเนียงอันเป็นฝรั่งพูดไทยอยู่เล็กน้อย “เมื่อผมไปลำจวนยังเด็กอยู่มาก อยู่ที่ไหนเล่าครับ ? ”

“เดี๋ยวเขาจะลงมม” คุณหญิงตอบ

นายร้อยโท กมล จิตรปรีดี เป็นคนมีรูปร่างระหง หน้าแช่มชื่น อายุราวยี่สิบห้า ในระหว่างที่นั่งอยู่บนเก้าอี้ตรงหน้าเจ้าคุณ และคุณหญิง ดู กมลออกจะกระสับกระส่าย เหลียวไปเหลียวมา คล้ายกับจะพยายามดูเครื่องแต่งห้องให้ตลอดในเวลานั้น เดี๋ยวๆ ก็หันมาทางข้าพเจ้าเสียที

“เมืองไทย ดูไม่เห็นเปลี่ยนแปลงอะไรนี่ครับ” เขากล่าว

“เธออยู่ไปนานๆ ก็คงเห็น” คุณหญิงพูด

“นั่น!ลำจวนมาแล้ว”

ทันใดนั้น สตรีที่กล่าวนามได้เดินยิ้มละไมเข้ามาหา กมลยืนต้อนรับ พลางก็เชื้อเชิญให้หล่อนนั่งเก้าอี้ ที่ตนนั่งอยู่เมื่อกี้

“นั่งเถอะค่ะ เก้าอี้มีถมไป” ลำจวนตอบแล้วเดินไปลากมาจากมุมห้อง

“คุณจำดิฉันได้ไหมคะ”

“ถ้าไม่รู้มาก่อน ก็เห็นจะลำบาก” กมลตอบแล้วยิ้ม

“คุณเปลี่ยนไปมาก”

“การสนทนาคงดำเนินไปตามเรื่องของคนที่ไม่ได้พบกันมาตั้งแปดปี เศษ มีการเอาอกเอาใจกันอย่างที่ท่านนึกได้ถูก กมลเป็นคนค่อนข้างตลก พูดจาห้าวหาญตรงไปตรงมา พูดไทยยังไม่ค่อยคล่องประเดี๋ยวก็ปล่อยภาษาฝรั่งออกมาเสียยืดยาว พอรู้สึกตัวก็หวนไปพูดภาษาไทยเสียที เวลานั้นข้าพเจ้านั่งอยู่เบื้องหลังของกมลและไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องสนทนานั้นเลย อีกประการหนึ่ง ข้าพเจ้ารู้สึกไม่มีใครแยแสในตน ไม่มีใครเหลียวมาทักทายหรือพูดจาด้วย คุณหญิงดูตื่นเต้นมาก วิ่งเป็นกุลีกุจอหาของมาเลี้ยงดู เจ้าคุณบรรลือฯ ก็ส่งบุหรี่ฝรั่งให้กมลตัวแล้วตัวเล่า นั่งฟังกมลคุยถึงเรื่องจิปาถะ ด้วยความสนใจ ลำจวนก็นั่งฟังกมลพูดด้วยดวงหน้าอันยิ้มละไม หล่อนมิได้เหลียวหน้ามาดูข้าพเจ้าเลยแม้แต่สักครั้ง”

ให้ท่านสังเกตวิธีใช้คำบางคำ เช่น แยแส กุลีกุจอ จิปาถะ กระสับกระส่าย ยิ้มละไม เป็นคำง่ายๆ แต่มีความหมายดี ตอนนี้ท่านควรสังเกต วิธีเขียน จะเห็นว่า ผู้ประพันธ์ได้กล่าวบอกความเล่าโดยตรงบ้าง ได้เขียนโดยให้ตัวละครแสดงกิริยาพูดจาบ้าง เราจะต้องเลือกว่า ตอนไหนควรบอกเล่ากันตรงๆ ตอนไหนควรให้มีการทำบทมีหลักอยู่ว่า ถ้าต้องการให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึก หรือให้ผู้อ่านรู้สึกเหมือนหนึ่งได้อยู่ร่วมกับตัวละครด้วย ก็ต้องเขียนอย่างเป็นการทำบท เช่น ในตอนกมลสนทนากับเจ้าคุณและคุณหญิง

ในการดำเนินเรื่องต่อไป ผู้เขียนให้เราแลเห็นความผิดหวังของวิสูตร ประดิษฐ์ ลำจวน และบิดามารดาพากันเหินห่างวิสูตรหมด ความเป็นมิตรกันแต่ก่อนสูญสลาย ท่านจะแลเห็นว่าตัวละครต่างๆ ได้แปรเปลี่ยนไปตามเหตุการณ์ เมื่อวิสูตรมานั่งเศร้าอยู่ที่บ้าน ผู้เขียนได้วางบทบาทการสนทนาระหว่างวิสูตรกับมารดา ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านเห็นอกเห็นใจเป็นอย่างดี

“มันเป็นของธรรมดานี่ลูก” ท่านกล่าว “เราจน ใครเขาจะมามอง
ดูหน้า”

“นี่คุณแม่หมายความว่า พวกเจ้าคุณบรรลือฯ จะตัดพวกเราหรือครับ ? ” ข้าพเจ้าถามด้วยความสนเท่ห์

“โอ๊ย! เขาพยายามจะตัดมานานแล้ว” ท่านตอบ พลางหัวเราะ อย่างขมขื่น

“ดูซิเดี๋ยวนี้เขามาหาเราที่บ้านเมื่อไร ตั้งแต่รู้ว่า นายร้อยโท กมลจะมาที่บ้าน แต่ก่อนเขาเคยมาชวนให้ไปที่บ้าน และไปไหนต่อไหนด้วย เดี๋ยวนี้เขาทำอย่างไร ไง ทำไม จึงถาม ? เสียดายลำจวนหรือ ? ”

“เปล่าครับ ผมกำลังสึกถึงข้อสัญญาข้อหนึ่งที่รับไว้กับประดิษฐ์” ข้าพเจ้าตอบช้าๆ “ความจริง ผมไม่รักลำจวนเลย หรืออย่างน้อยผมไม่ เคยบอกลำจวนถึงเรื่องรักใคร่เลย ดังนั้น ผมจึงรู้สึกเสียดายมาก”

“ยังมีผู้หญิงอื่นอีกถมไป ลูกเอ๋ย” ท่านกล่าว

ขอให้ท่านสังเกตคำพูดของตัวละคร จะรู้สึกว่า เป็นลักษณะที่แม่พูดกับลูกจริงๆ และผู้เขียนเลือกเฟ้นคำพูดที่เฉพาะที่เป็นจุดสำคัญของเรื่อง คำพูดสุดท้ายของมารดา แม้ว่าจะดูเผินๆ แต่ให้ความรู้สึกซึ้งใจดีมาก

การดำเนินเรื่องในบทต่อไป คือ วิสูตรได้ไปเรียนเมืองนอก สมกับความทะเยอทะยาน วิสูตรอยากรู้ว่า คนไปเรียนเมืองนอกวิเศษอย่างไร พอกลับมาจึงหรูหรา มีคนนิยมหนักหนา ฉากของเรื่องเปลี่ยนเป็นการเดิน ทาง ในบทที่ ๕ เป็นเรื่องของการเดินทางทั้งหมด บทที่ ๖ กล่าวถึงชีวิต ในลอนดอน ซึ่งผู้เขียนบรรยายให้เราแลเห็นชีวิตของนักเรียนไทยที่กรุง ลอนดอน ม.จ.อากาศฯ นำผู้อ่านไปยังนครลอนดอน โดยให้นายวิสูตรเป็นผู้นำที่ลอนดอน วิสูตรได้พบกับประดิษฐ์ ซึ่งมีนิสัยเปลี่ยนแปลงไปมาก บทที่ ๙-๑๐ เป็นเรื่องที่วิสูตรได้คุ้นเคย และรักกับสตรีนักหนังสือพิมพ์ชาติอังกฤษ บทที่ ๑๑-๑๘ เป็นเรื่องชีวิตการเรียนของวิสูตร วิสูตรกลายเป็นนักหนังสือพิมพ์ มีชื่อเสียงในการเขียนบทนำ กลายเป็นนักข่าวได้ท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆ ตามวิสัยของนักหนังสือพิมพ์ บทที่ ๑๙-๒๐ เป็นเรื่องชีวิตของวิสูตรที่อเมริกา บทที่ ๒๐-๒๑ วิสูตรจากอเมริกามาญี่ปุ่น บทที่ ๒๔ วิสูตรกลับถึงพระนคร และได้พบลำจวนมีลูกสองคน แต่สามีถึงแก่กรรม เรื่องจบเพียงนี้

ท่านจะเห็นว่า เป็นนวนิยายชีวประวัติโดยแท้ ความดีอยู่ที่ผู้แต่งทำให้ เราได้สนิทกับวิสูตร ได้แลเห็นน้ำใจ เห็นความสุข ความทุกข์ ความหวัง ความสิ้นหวังและความคับแค้นใจของเขา อีกอย่างหนึ่งเราได้ไปเที่ยวกับวิสูตรรอบโลก ได้เห็นชีวิตของนักหนังสือพิมพ์ ผู้เขียนได้พรรณนาลักษณะบ้านเมือง และความเป็นอยู่ของคนต่างๆ ให้เราฟัง ในการพรรณนานั้น ก็ได้หยิบลักษณะอันเด่นเฉพาะ พร้อมกับแนวความคิดเห็นเกี่ยวกับสภาพบ้านเมืองที่ได้ผ่านพบ

“ลอนดอนเป็นที่เลื่องชื่อลือนามนักว่าเป็นนครที่ใหญ่ งาม และพิเศษที่สุดในโลกนครหนึ่ง ตั้งแต่มหาสงครามเลิก ไม่มีประเทศใดในยุโรป สวยเท่าประเทศอังกฤษ และลอนดอนเป็นนครหลวง เป็นที่ตั้งของสภารัฐมนตรี เป็นศูนย์กลางแห่งความเจริญ และความยิ่งใหญ่ของประเทศอังกฤษ ซึ่งมีอำนาจปกแผ่ไปทั่วสารทิศ เมื่อเข้าใจว่า เมืองลอนดอนเป็นดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ก็ย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่ข้าพเจ้าต้องนึกว่า จะได้เห็นลอนดอนงามสง่าดังเมืองสวรรค์ หรืออย่างน้อยก็คงเหมือนนครปารีสที่ข้าพเจ้าได้เห็นมาแล้ว แต่ข้าพเจ้าก็รู้สึกเสียดายที่ความจริงลอนดอนหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ ลอนดอนเป็นเมืองที่สะอาดสะอ้าน ใหญ่โตและมีผู้คนล้นหลาม แต่ถ้าจะว่าลอนดอนได้ก่อสร้างแก้ไขให้งามเลิศต้องด้วยศิลปอันดีที่โลกนิยมแล้ว ข้าพเจ้าจำเป็นต้องคัดค้าน ถ้าจะเปรียบลอนดอนกับปารีส ในเรื่องความงามต้องตากันแล้ว ลอนดอนยังห่างความเจริญในเชิงศิลปอยู่ใกลลิบ กรุงปารีสมี อเวนิว เดอ ชองเอลีเสย์ ปลาสเดสเซตวล ปลาส เดอลาคองคอร์ด มาดเดล็น และกร็องบูลวาร์ด ส่วนอังกฤษแม้จะมีเรียนต์สตรีต และปีกาดีลี กับ อ๊อกสฟอร์ด เซอกาส ก็จะหาถนน หรือสถานที่ใดๆ งามเท่านครปารีสไม่ได้ อนุสาวรีย์และรูปตามสี่แยกถนนต่างๆ ของกรุงปารีสแลดูงามเป็นรูปร่างกะทัดรัดทุกอย่างทุกชนิด ส่วนอนุสาวรีย์และรูปตั้งต่างๆ ในลอนดอนแลดูทึนทึก เกือบไม่รู้ว่าเป็นอะไรแน่ อนุสาวรีย์ใหญ่ที่สุดของเนลสัน ที่เรียกว่า เนลสันคอลัมน์อยู่ที่ทราฟัลการ์สแควร์ เป็นเสาหินมหึมาท่อนหนึ่ง สูงเทียมฟ้า บนยอดมีรูปเนลสัน ถ้าอยากจะเห็นเนลสันสักที ก็ต้องแหงนกันคอตั้งบ่า…”

การเขียนพรรณนาในนวนิยายนั้น ต้องนึกไว้เสมอว่า ไม่ใช่เขียน บทเรียนภูมิศาสตร์ ในตัวอย่างนี้ จะเห็นว่าผู้เขียนยกเอาแต่ลักษณะเฉพาะมากล่าว พร้อมกับแสดงความรู้สึก และความคิดของผู้เขียนไว้ด้วย การแสดงความรู้สึกนี้เป็น “รสนิยม” อย่างหนึ่ง คือ ถ้าผู้เขียนคิดตื้นไม่มีตาของตนเอง ความรู้แคบ “รสนิยม’’ ที่แสดงออกไปก็หยาบๆ ดาดๆ ไม่ชวนฟัง

มีข้อหนึ่งที่ได้ถกเถียงกันมาก เมื่อคราวนวนิยายนี้เริ่มจำหน่าย คือ ผู้เขียนได้เอาบุคคลจริงปนลงไปด้วย เช่น เมื่อพูดถึงราชทูต ก็อ้างชื่อราชทูตตัวจริง ที่ประจำอยู่ตามประเทศต่างๆ ในขณะนั้น การทำเช่นนี้ เป็นวิธีที่ทำให้เรื่องมีลักษณะเป็นจริงขึ้น แต่ข้อถกถียงกันก็คือ เมื่อนายวิสูตรเป็นคนสมมุติ แล้วเอาคนจริงเข้ามาเป็นตัวละครด้วยนั้น ดูเป็นการไม่สมควร ความเห็นของข้าพเจ้าก็ว่าวิธีนี้ไม่ดีนัก เรามีวิธีทำได้หลายอย่าง โดยไม่ต้องบอกชื่อจริงก็ได้ เช่น จะใช้ตำแหน่งแทนว่าอัครราชทูตก็พอ ไม่จำเป็นต้องว่าเจ้าคุณวิชิตวงศ์วุฒิไกร อัครราชทูตสยาม ที่เมืองวอชิงตันก็ได้

ท่านได้อ่านตัวอย่างที่ตัดตอนมาแล้ว จะแลเห็นว่า ผู้เขียนได้ใช้สำนวนโวหารอย่างตรงไปตรงมา อ่านเข้าใจง่าย แต่ผู้เขียนรู้จักเฟ้นคำพูด พรรณนาดี และเรื่องเป็นแนวใหม่ ผิดกับนวนิยายที่เขียนกันอยู่ในเมืองไทยขณะนั้น วงการหนังสือจึงได้ต้อนรับเรื่องนี้อย่างเกรียวกราวตื่นเต้น

จะนำนวนิยายเรื่อง “ความพยาบาท” มาให้ท่านศึกษาอีกเรื่องหนึ่ง เรื่องนี้ แม่วัน (นามปากกาของพระยาสุรินทร์ราชา) ได้แปลและเรียบเรียง จากเรื่องภาษาอังกฤษ ชื่อ เวน เดตตา (Ven Detta) ของ มารี คอเรลลี (Marie Corelli) ซึ่งเป็นนักประพันธ์สตรี เกิด ค.ศ.๑๘๕๔ ถึงแก่กรรม ค.ศ. ๑๙๒๔ นวนิยายต่างๆ ของ มารี คอเรลลี นับเป็นจำพวกหนังสือที่ขายดีที่สุด และมีผู้แปลออกเป็นภาษาไทยแล้วหลายเรื่อง เช่น เตลมา และ เถ้าสวาท เป็นต้น สำหรับเรื่องความพยาบาทนี้ แม้จะไม่ได้รับความยกย่องว่าเป็นหนังสือชั้นวรรณคดีสำคัญของโลก แต่เป็นเรื่องที่มีลักษณะสมกับบันเทิงคดีอย่างหนึ่ง คือความสนุกเพลิดเพลิน สำนวนที่แปลเป็นไทยนั้น แม้จะเป็นสำนวนตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ก็ยังเป็นสำนวนที่น่าฟัง ไม่คร่ำครึ อย่างเรื่องอื่นบางเรื่อง รัชกาลที่ ๕ ทรงยกย่องว่า เป็นหนังสือแปลดีอย่างยิ่งเรื่องหนึ่ง

เค้าเรื่อง
เรื่อง ความพยาบาท เป็นนวนิยายชนิดผูกเรื่อง (Plot Novel) ตัวละครสำคัญ (Main Character) มีเพียง ๓ ตัว คือ ฟาบีโอ โรมานี (ผัว) นีนนา (เมีย) กีโด (เพื่อนและชู้) ทั้งสามตัวนี้ ฟาบีโอ เป็นตัวที่มีบทบาทมากที่สุด และเป็นหัวใจของเรื่อง ฟาบีโอ เป็นบุตรของท่านเคานต์ ร่ำรวย บิดาถึงแก่กรรม ได้รับมรดกทรัพย์สมบัติของบิดาทั้งหมด เมื่ออายุ ๑๗ ปี เขาเป็นคนเฉยๆ กับผู้หญิง ชอบหาความรู้ ฟาบีโอมีเพื่อนสนิทเป็นช่างเขียนชื่อ กีโด อยู่มาฟาบีโอได้พบนีนนา ซึ่งเป็นสาวงามอยู่ในสำนักนางชี ฟาบีโอเกิดชอบใจแล้วได้แต่งงานกัน ต่อมาภรรยาของเขาไปลอบรักกับ กีโด ซึ่งฟาบีโอไม่ทราบระแคะระคายเลย คงเชื่อความสุจริตของสหายเก่า และความภักดีของเมียรักอยู่เสมอ ต่อมาจับความได้ เขาจึงหาทางแก้แค้น ฆ่าเสียทั้งสองคน เค้าเรื่องเช่นนี้ท่านจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องความรัก ความทรยศ อันมีอยู่เป็นนิจในโลก แต่ผู้เขียนได้บรรยายเรื่องราวถึง ๒๖ บท และทำให้อ่านเพลินแต่บทต้นถึงบทสุดท้าย ทั้งนี้ก็เพราะ ชั้นเชิงในการบรรยาย หรือจะเรียกว่า วิธีเขียน (Treatment) ก็ได้

วิธีเขียน
“ลักษณะสำคัญ ๔ ประการของนวนิยาย ได้แก่ การผูกเรื่อง (Plot) ตัวละคร (Character) ฉาก และการพรรณนา (description) บทเจรจา (dialogue)”

– ยอร์ช เซนต์บูรี (George Saintsbury)
ท่านได้อ่านเค้าเรื่องมาแล้ว ถ้าจะแต่งเรื่องขยายออกไปตามเค้าเดิม เรื่องก็ไม่น่าฉงน ไม่ดึงดูดใจผู้อ่าน ฉะนั้นจึงต้องผูกเรื่อง ซ่อนเงื่อนไว้ เสียก่อน วิธีซ่อนเงื่อนนี้เป็นศิลปะอย่างหนึ่ง แล้วแต่ใครจะมีกลเม็ดใน การงำเงื่อนอย่างไรก็ได้ ข้อสำคัญก็คือ อย่าให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องล่วงหน้า เสียก่อน ต่ออ่านจบจึงจะทราบเรื่องตลอด สำหรับเรื่องความพยาบาทนี้ ก็มีวิธีผูกเรื่องแบบหนึ่ง ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปนี้

เรื่องเท้าความ (Antecedent Action) ผู้เขียนได้เปิดเรื่อง โดยให้ ฟาบีโอ โรมานี เป็นผู้เล่าเรื่องของตนเอง

“ข้าพเจ้าผู้เขียนเรื่องนี้เป็นคนที่ถึงแก่กรรมแล้ว ถึงแก่กรรมจริงๆ ! ตายจริง ๆ …ตายอย่างที่มีผู้รู้เห็นว่าตาย…ตายแล้วและได้ฝัง…เสร็จแล้ว ! ”

เมื่อเปิดดเรื่องเช่นนี้ ผู้อ่านจะสงสัยว่าเรื่องเป็นมาอย่างไร โธมัส ฮาร์ดี (Thomas Hardy) นักเขียนสำคัญได้ให้คำแนะนำไว้ข้อหนึ่งว่า ธรรมดา เรื่องอ่านเล่น ควรให้เป็นเรื่องแปลกๆ พิสดารแหละดี ฟาบีโอ เล่าต่อไป ว่า ใน ค.ศ.๑๘๘๔ เกิดไข้ป่วงใหญ่ขึ้น ณ เมืองเนเปิลซ์ ฟาบีโอ ก็ตาย ด้วยโรคนั้น และถูกนำไปไว้ในกุฏิฝังศพของตระกูล แต่เวลานี้เขายังมีชีวิตอยู่ แต่ได้มาอยู่อย่างสันโดษไม่เกี่ยวข้องกับมนุษย์

“ข้าพเจ้าผู้มีชื่อว่า ฟาบีโอ โรมานี ที่ถึงแก่กรรมแล้ว ขอเขียน เรื่องในชั่วปีหนึ่ง ซึ่งมีเหตุพึงกล่าว…เป็นปีที่ได้รับทุกข์มาตลอดตราบเท่าบัดนี้ ปีสั้นนิดเดียว…เป็นปีที่เป็นกริชของพระยามัจจุราช! กริชนั้นได้แทงหัวใจข้าพเจ้า…แผลกริชนั้นยังไม่หาย โลหิตยังไหลซึมอยู่เสมอจนบัดนี้…,,

นี่เป็นเรื่องนำหรือเรื่องเท้าความ (Antecedent Action) บอกให้เรา ทราบเลาๆ ว่าเดิมเป็นมาอย่างไร เดี๋ยวนี้เป็นอย่างไร ครั้นแล้วจึงจับเรื่องบรรยายอย่างถี่ถ้วนต่อไป และเมื่อเราได้อ่านรู้ว่า คนที่ตายแล้วกลับคืนมีชีวิตมาเล่าเรื่อง ความที่เกริ่นไว้ก็รู้สึกว่ามีเลศนัยทรมานหัวใจอยู่ เราก็อยากติดตามเรื่องต่อไปว่าเป็นมาอย่างไรกัน

ในการวางฉาก ผู้อ่านจะเห็นว่า ผู้เขียนได้บ่งลงไปว่า ค.ศ ๑๘๘๔ เกิดไข้ป่วงใหญ่ในเมืองเนเปิลซ์ ถ้าดูตามเวลาจะเห็นว่าเป็นเรื่องตอนที่ผู้ เขียนกำลังมีชีวิตอยู่ และอายุ ๓๐ ปี ผู้เขียนหยิบเอาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มาประกอบเรื่องของเขา ฉากของเรื่องคือ เมืองเนเปิลซ์ ซึ่งเป็นเมืองที่ มารี คอเรลลี รู้จักดี และยิ่งกว่านั้น ชาวเมืองเนเปิลซ์นี้เป็นพวกที่มีความพยาบาทจัด ต้องตามล้างตามผลาญกันให้สมแค้น ซึ่งเรียกตามภาษาของชาวเมืองว่า “เวน เดตตา” การที่ฟาบีโอเป็นชาวเมืองเนเปิลซ์ก็เท่ากับผู้เขียน เริ่มให้ลักษณะนิสัยโดยทั่วไปของตัวละครนี้

การดำเนินเรื่อง (Movement of the Story) ถ้ายังไม่ลืม ท่านคงยังจำคำ สัมพันธภาพ (Coherence) ได้ ในการดำเนินเรื่องนวนิยายนี้ก็ต้อง ประกอบด้วยสัมพันธภาพ คือให้เรื่องโยงติดต่อกันไปเป็นลำดับ และเรื่องลำดับต่อๆ ไปนั้นต้องให้ยิ่งเร้าใจ ดึงดูดใจยิ่งขึ้น จะต้องให้ผู้อ่านรู้สึกว่า คงจะมีเหตุการณ์สำคัญรออยู่ข้างหน้า แต่เหตุการณ์นั้นผู้อ่านจะเดาก็เดาไม่ถูก หรือเพียงแต่คาดคะเนได้รางๆ ว่าเรื่องน่าจะเป็นอย่างไรต่อไป ความสนุกของเรื่องอยู่ที่วิธีหน่วงเหนี่ยว (Suspense) อย่าเปิดให้ผู้อ่านรู้อะไรเสียหมด ต้องให้รู้สึกพิศวงว่าเรื่องจะเป็นอย่างไรต่อไป

เมื่อเปิดเรื่องโดยการเท้าความเลาๆ แล้ว ผู้เขียนก็ดำเนินเรื่อง โดยให้ ฟาบีโอ เล่าถึงสาเหตุที่เขามาถือเอกาอยู่โดดเดี่ยว และเล่าถึงการที่เขา ตายและกลับฟื้นมีชีวิตโดยละเอียดต่อไป

ฟาบีโอ เล่าว่า เคานต์ฟาบิโอ ผู้บิดาของเขาถึงแก่กรรมเมื่อเขาอายุสิบเจ็ด เขาได้รับมรดกตกทอดมาจากบิดาหมดทุกอย่าง ได้อยู่เคหาสน์หรูหรา บริบูรณ์ด้วยทรัพย์สิน ให้สังเกตไว้อย่างหนึ่งว่านวนิยายแต่เดิม มักจะให้ตัวเอกเป็นคนใหญ่โต เป็นเจ้าบ้าง เป็นมหาเศรษฐีหนุ่มบ้าง ทั้งนี้เพราะเป็นเรื่องถูกใจคนอ่าน แต่บัดนี้ไม่ค่อยนิยมกันนัก ยิ่งพวกนักนวนิยายริอาลิสติก แล้วยิ่งไม่เอาใจใส่เลย ว่าตัวเอกจะเป็นคนชั้นใด

ฟาบีโอ เป็นคนไม่ชอบสมาคมกับหญิง แม้เขาจะมีความหนุ่ม บริบูรณ์ ด้วยสมบัติ…“ความเห็นของข้าพเจ้านั้น เห็นว่าเป็นทาสแห่งการคบ เพื่อนดี ดีกว่าเป็นทาสแห่งความรัก ในเวลานี้มีเพื่อนคนหนึ่ง เป็นเพื่อน อย่างสนิทที่จะฝากชีวิตไว้ในกำมือได้…เขามาติดต่ออยู่กับข้าพเจ้าอย่างสนิทสนมหาสองในโลกไม่มี เขาผู้มีนามอยู่ว่า ‘กีโด เฟอร์รารี ก็ได้ช่วยพวกเพื่อนอื่นล้อเลียนข้าพเจ้า ในเรื่องที่เกลียดผู้หญิงด้วย”

ผู้เขียนได้นำตัวละครออกมาอีกตัวหนึ่ง และให้เรารู้ว่ารักกับฟาบีโอ เหลือเกิน (แต่ภายหลังกีโดนี้ได้ทรยศต่อสหายรัก)

ครั้นแล้ว วันหนึ่งฟาบีโอได้พบหญิงสาวชื่อ นีนนา ในกระบวนแห่แม่พระ ก็เกิดความรักทันที และได้แต่งงานกันในไม่ช้า ผู้เขียนได้พูดตอนนี้ ราว ๔๐ คำเท่านั้น เพราะอะไร เพราะไม่มีความจำเป็นจะต้องพูดถึงการเกี้ยวพาราสี เนื้อหาของนวนิยายนี้เป็นคนละอย่างกับเรื่องอื่น ซึ่งเริ่มด้วยการรู้จักมักคุ้น พอสมประสงค์ความรักได้แต่งงานกันก็จบ แต่เรื่องนี้ขึ้นต้นเมื่อแต่งงานกันแล้ว จุดของนวนิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องภายหลังแต่งงาน ผู้เขียนจึงเว้น ไม่กล่าวถึงบทเกี้ยวพาราสี การรู้จักรวบรัดตัดความที่ไม่สู้จำเป็นนี้ เป็นสิ่งสำคัญสำหรับนักเขียน เพื่อไม่ให้การดำเนินเรื่องโอ้เอ้ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนก็ไม่เว้นที่จะเน้นให้เราเห็นความรักที่ฟาบีโอมีต่อภรรยา “ข้าพเจ้า ลืมสิ่งใดในโลกหมด จำได้แต่หล่อนคนเดียว ทุกลมหายใจเข้าหายใจออก ไม่มีนึกถึงอื่นนอกจากแม่นีนนา…” ผู้เขียนได้พยายามพรรณนาความรัก ของฟาบีโอ ต่อนีนนาอย่างรุนแรง เพื่อผลในการดำเนินเรื่องต่อไปอยู่ด้วยกันได้หนึ่งปี ก็ได้ลูกหญิงคนหนึ่งระหว่างนั้นกีโดได้มาเยี่ยมเยียนเสมอ และสนิทกับนีนนาเป็นอย่างดี นี่เป็นจบบทที่ ๑ แต่ท้ายบทผู้เขียนทำให้เราสงสัยว่าน่าจะมีอะไรระหว่างนีนนากับกีโดขึ้นบ้าง แต่ผู้เขียนไม่ได้ทำให้ชัดเจน จึงอยากจะฟังเรื่องต่อไป

เมื่อขึ้นบทที่ ๒ กล่าวถึงฤดูร้อนเมืองเมเปิลซ์ ค.ศ.๑๘๘๔ คนตายกันผล็อยๆ ด้วยโรคป่วง ผู้เขียนได้จัดให้ฟาบีโอเข้ามาในเมือง แล้วเกิดเป็น โรคป่วงโดยปัจจุบัน ฟาบีโอมีอาการร่อแร่ แต่ไม่ยอมให้ใครนำไปบ้าน เพราะเกรงจะพาเชื้อโรคไปติดลูกเมีย และในที่สุดเมื่อเห็นว่าตนไม่มีทางรอด ก็บอกสั่งบาทหลวงที่คอยพยาบาลว่าอย่าให้นำศพของเขาไปส่งบ้าน เมื่อสั่งบาทหลวงเสร็จ ก็แน่นิ่งสิ้นความรู้สึก

เขาตื่นขึ้นอีกทีก็รู้สึกว่าตัวได้มาอยู่ในโลงในกุฏิไว้ศพประจำตระกูล (นี่เล่าตามลำดับความในเรื่อง) จะเห็นว่าผู้เขียนได้งำความไว้เพียงฟาบีโอ สิ้นความรู้สึก แล้วไปเปิดฉากใหม่ที่ฮวงซุ้ย ครั้นแล้วจึงกลับทวนความให้เรารู้ว่า เมื่อฟาบีโอสิ้นสตินั้น ใครๆ ก็เชื่อว่าตาย บาทหลวงจัดการบอกให้นีนนารู้แล้วเลยนำร่างฟาบีโอไปเก็บไว้ในฮวงซุ้ย ที่จริงฟาบีโอเพียงแต่สลบไป แต่โดยที่พวกเนเปิลซ์กลัวโรคป่วงกันมาก ไม่ต้องพิจารณาให้รอบคอบ พอนึกว่าตายก็เอาไปฝังทีเดียว ฟาบีโอถูกทรมานอยู่ในฮวงซุ้ยดิ้นรนหาช่องทางหลุดออกมาได้ ยิ่งกว่านั้นยังได้พบสมบัติมหาศาล ซึ่งหัวหน้าโจรสลัดลอบเอาไปเก็บไว้ด้วย ผู้เขียนได้ใช้เนื้อที่บรรยาย ตอนที่ฟาบีโอติดอยู่ในฮวงซุ้ยถึง ๒ บท แต่ตอนนี้เป็นตอนที่จำเป็นสำหรับการดำเนินเรื่อง ต่อมาถึงบทที่ ๕-๗ เมื่อฟาบีโอออกมาจากฮวงซุ้ยได้แล้ว เดินทางเข้ามาในเมือง ตอนนี้เรื่องทวนต้นไปในตัว คือให้ฟาบีโอไปพบกับคนหลายคน แล้วได้รู้เรื่องซึ่งเกี่ยวกับตน และรู้ว่าตัวเองผมขาวหมดทั้งหัว เพราะความกลัวอย่างสาหัสที่เข้าไปตกอยู่ในระหว่างผีตายในฮวงซุ้ย ทั้งสองบทใช้วิธีบทบาท (Dramatization) เป็นส่วนมาก ผู้เขียนให้ฟาบีโอโอ้เอ้ด้วยความจำเป็นต่างๆ อยู่ในเมือง และให้รู้ว่ารูปร่างหน้าตาฟาบีโอแปลกไปจนไม่มีใครจำได้ พอค่ำก็เดินทางไปบ้าน มีความลิงโลดใจที่จะได้เห็นหน้าลูกและเมียที่รัก แต่ขณะที่เดินลัดเข้าไปทางในสวนนั้น ก็เห็นภาพที่เขาไม่นึกฝัน นีนนากับกีโด เดินคลอกันมา เขาหลบเข้าแอบในซุ้มไม้ และแล้วก็ทราบความจริงหมดว่า เพื่อนรักเมียงามได้ทรยศต่อเขาอย่างเลือดเย็นที่สุด และสิ่งที่ผู้อ่านสงสัยมาครันๆ ก็เปิดออกหมด นับว่าเป็นไคลแมกซ์แรกของเรื่อง

ตั้งแต่บทที่ ๙ ไปถึงบทสุดท้ายเป็นวิธีการพยาบาท เรื่องเร่งเร้า ยิ่งขึ้นทุกๆ บท เราอยากรู้ว่าการพยาบาทจะไปลงเอยสถานใด ผู้แต่งคิด ให้ฟาบีโอเปลี่ยนชื่อเป็นเคานต์โอลีวา จัดการปลอมตัวจนเมียและเพื่อนจำไม่ได้ และในที่สุด ฟาบีโอ (เคานต์โอลีวา) ก็แกล้งก่อความรักขึ้นกับเมียของตนเอง ฝ่ายกีโดเกิดความหึงหวง ในที่สุดดวลกันด้วยปืน ถูกฟาบีโอ ยิงตาย เมื่อจวนจะตายกีโดจึงรู้ว่า เคานต์โอลีวา คือ ฟาบีโอ นั่นเอง เมื่อประหารกีโดแล้ว ฟาบีโอได้แต่งงานกับนีนนา ในระหว่างที่มีพิธีเลี้ยง เขาก็ลวงนีนนาออกจากที่เลี้ยงนำไปยังสุสานฮวงซุ้ย และระบายความแค้น เปิดความทรยศแห่งภรรยาของเขา ทั้งแสดงตัวจริงของเขาแก่ภรรยา เขาเกือบใจอ่อนเสียก็หลายครั้ง ด้วยความรักความสงสารที่เคยมีแต่นีนนา เมื่ออยู่ในสภาพเช่นนั้น ก็มีความกลัวและตกใจจนเสียสติ ผู้เขียนไม่ยอมให้ฟาบีโอแก้แค้นจนถึงที่สุด แต่ให้เกิดมีแผ่นดินไหว หินเพดานฮวงซุ้ยหลุดลงมาทับนีนนาตายคาที่ เขาจึงกลับออกจากฮวงซุ้ย และหลบหนีออกจากเมืองเนเปิลซ์

ท่านจะรู้สึกว่าเรื่องจะสนุกน่าอ่านได้ ก็ต้องมีชั้นเชิงในการเขียนประกอบหลายอย่าง ข้อที่พึงสังเกตในเรื่องนี้ ก็คือ

การพรรณนา (Description) ตอนสำคัญๆ ผู้เขียนได้พยายามพรรณนา ให้เห็นอย่างเด่นชัด เช่น ความรู้สึกของคนจะตาย สภาพของผู้คนพลเมืองตอนเกิดโรคระบาด ความรู้สึกภายในใจ เช่น ตอนที่ฟาบีโอฟื้นขึ้น รู้สึกตัวว่าอยู่ในโลง ผู้เขียนไม่บอกเราตรงๆ แต่เริ่มด้วยการบรรยายดังต่อไปนี้

“ภายหลังข้าพเจ้าฟื้นขึ้น ! ไม่ทราบว่าตัวนั้นของตัวอยู่ที่ไหน ? อากาศ ที่จะหายใจนั้นอึดอัดเหลือเกิน…มืดราวกับอยู่ในถํ้า อาการแห่งกายของข้าพเจ้าค่อยๆ คืนกลับมาเข้าร่าง หวนนึกขึ้นมาได้ถึงความป่วยบาทหลวง…ตาเฒ่า เปโตร…อยู่ที่ไหนกัน ? แล้วรู้สึกว่าตัวของตัวนอนหงายอยู่บนกระดานแข็ง นี่เหตุไรเขาจึงเอาหมอนที่หนุนไปไหนเสียเล่า ? ข้าพเจ้าอึดอัดใจ ต้องการลมอากาศหายใจเสียนี่กระไร? อากาศ…อากาศ ข้าพเจ้าต้องการอากาศ! จึงยกมือขึ้นไป… ใจหายวาบ! มือไปต้องสิ่งที่แข็งอยู่เบื้องบน ความจริงแล่นกลับมายังใจข้าพเจ้าอย่างรวดเร็ว ดูประดุจประกายไฟฟ้า ข้าพเจ้าถูกเขาฝังเสียแล้ว… ถูกฝังทั้งเป็น… ถูกขังอยู่ในโลง โดยความโกรธและกลัว ข้าพเจ้าตั้งต้นจะกระทุ้งจะฉีกแผ่นกระดานด้วยมือและเล็บของตน แรงมีอยู่ในกายตัวกี่มากน้อย เอามาระดมลงที่แขนที่ไหล่จะพังให้ฝาโลงทลายจงได้ ผลของแรงที่ทำนั้นก็ยังมีปรากฏ ทำให้ข้าพเจ้ายิ่งบ้าด้วยความโกรธ และความกลัวมากขึ้น ข้าพเจ้าเกือบจะหายใจไม่ออกตายอยู่แล้ว…รู้สึกว่า ลูกตานั้นเหมือนกับจะทะเล้นออกมานอกกระบอก โลหิตไหลออกทางปาก และจมูก…เหงื่อหน้าผากราวกับถูกประด้วยนํ้าฝน หยุดกระทุ้งฝาโลง เพื่อดิ้นทุรนทุรายหายใจเสียที แล้วนึกว่าไหนๆ จะตายก็ลองอีกพัก คราวนี้เปลี่ยนด้านเอียงตัวเอามือดันทุบและกระทุ้งด้วยเต็มกำลัง มิได้คิดถึงความเจ็บปวดเลย โลงลั่น…ความคิดใหม่วิ่งมาสู่มันสมองทำเอาชะงักทันที คือ คิดว่าถ้าเขาขุดหลุมฝังโลงไว้ การที่กระทุ้งโลงจนทลายสำเร็จจะมีประใยชน์อย่างไรบ้าง เปล่าทั้งสิ้น พอโลงพังแล้วดินก็จะทลายลงมาจุกจมูก จุกปาก หู เข้าตา ทับถมกายตัวเข้าแบบแซ่ว…ตาย เมื่อคิดดังนั้นออกนึกหัวเราะ การดิ้นรนของตัวว่ายอมนิ่งตายอยู่ในโลงว่าไม่ดี อยากไปหาดินอุดจมูกอุดปากตายรู้สึกหายใจแปลกขึ้น ไม่รู้สึกแร้นแค้นเหมือนเมื่อแรก เออ อากาศ แล่นเข้าได้อย่างใดอย่างหนึ่ง ลมอากาศใหม่ทำให้ข้าพเจ้าชื่นบานมีเรี่ยวแรงขึ้นเท่ากับคนเดินทางข้ามทุ่งในตอนเที่ยง ได้รับประทานนํ้า เอามือทั้งสองค่อยคลำๆ ไปจนเจอะช่องชำรุดที่ข้าพเจ้ากระทุ้งลั่นจนแง้มออกไป ลม เดินเข้าได้สะดวก ตั้งต้นดันแผ่นกระดานข้างโลงอันนั้นจนหลุดออกทั้งแผ่น ยื่นมือออกไปกวัดแกว่งดูก็ไม่กระทบดิน คราวนี้ดันฝาโลงออกง่ายสมประสงค์ … ดินไม่ร่วงลงมาทับตัวดังคิดไว้… ลุกขึ้นนั่งเอามือกวัดก็แล้ว ลุกขึ้นยืน เอามือกวัดก็แล้ว มิได้กระทบวัตถุอะไรนอกจากลมอากาศโดยความที่เกลียดอ้ายโลงคุก ข้าพเจ้ารีบกระโดดออกไปตกหกคะมำลงไปบนสิ่งซึ่งดูเหมือนจะเป็นพื้นปูด้วยศิลา ทั้งมือทั้งเข่าถลอกปอกช้ำมาก ในขณะที่ตกลงมานั้นมีอะไรตกโครมครามลงมาด้วยข้างๆ ตัวข้าพเจ้า ความมืดที่นั่นมืดแท้ หลับตา หรือลืมตาเห็นไม่แปลกกัน แต่หายใจสบายอากาศเย็นและชื่นใจ อุตส่าห์ทนพยุงตัวของตัวเองให้ลุกขึ้นนั่ง ณ ที่คะมำลงไปนั้น แข้งขานอกจากเป็นแผล ยังเมื่อย และเป็นเหน็บชา ตัวสั่นระริกริ้วไปด้วยความเจ็บปวด ความคิดที่ยุ่งเหยิงค่อยกระจ่างใส เข้าหัวเงื่อนติดต่อข้อความกันได้ นี่ถูกเขาฝังทั้งเป็นแน่แล้ว…ไม่ต้องสงสัย”

ขอให้ท่านสังเกต จะเห็นว่ามีการใช้เครื่องหมายอัศเจรีย์ (!) ปรัศนี (?) ประโยคบางประโยคสั้น มีลักษณะขาดห้วน บางตอนมีจุดไข่ปลาเชื่อม เหล่านี้เป็นการช่วยความรู้สึกของผู้อ่านให้เห็นความสับสน ความกระสับกระส่ายของความคิด การลำดับความ ทำให้เรารู้สึกเช่นเดียวกับฟาบีโอ คือ ตอนแรกงง ไม่รู้ว่าเป็นอะไร แล้วค่อยๆ รู้สภาพที่เป็นอยู่ชัดเจนขึ้นเป็นลำดับ

ตอนต่อไปนี้พรรณนารูปร่างกิริยาของตาแก่เจ้าของร้านค้าจิปาถะ ให้สังเกตว่าจากวิธีพรรณนา เราจะเห็นว่า ตาแก่คนนี้มีลักษณะแลเห็นเด่นชัดทีเดียว

“…ลัดแลงมาถึงตรอกเล็กแห่งหนึ่ง มีร้านขายของสองสามอย่าง ขายของรุงรัง ปะการังบ้าง เปลือกหอยบ้าง ลูกปัดบ้าง ปลาแห้ง มะพร้าว นํ้าเต้า เขาสัตว์ ถ้วยบิ่นชามร้าว ของเก่าๆ มีเกือบสารพัด ดูทำนองอย่างโรงจำนำ เห็นตาแก่อ้วนตุ๊นั่งอยู่หน้าร้านคนหนึ่ง หน้าตาแกกะยู่กะยี่บู้บี้ราวกับยักษ์เด็กมันเขียนเล่น นั่งสูบกล้องปุ๋ยๆ อยู่ นัยน์ตากลมดำสอดส่ายเหลียวซ้ายแลขวา ดูว่าอะไรจะมาทางไหนบ้าง พอเห็นข้าพเจ้าเดินมาแต่ไกล แกทำไถลไปดูท้องฟ้า ต่อเดินมาใกล้ได้สักสองวา จึงได้ก้มหน้าลงมาจ้อง ตาเขม็ง”

คอนตราส (Contrast) คำนี้แปลว่า ตรงข้าม หรือ ขัดแย้งกัน ในการประพันธ์ หมายถึงการนำเอาลักษณะอันขัดแย้งเข้าควบกัน เป็นวิธีที่ ทำให้เกิดความสนุก เร้าอารมณ์ เช่นในเรื่องมาดามโบวารี ผัวเป็นคนซื่อๆ ทึ่มๆ ส่วนเมียเป็นคนชอบสนุก ชอบฟุ้งเฟ้อ อย่างนี้เป็นลักษณะที่ขัดแย้งกัน ในกรณีอื่นก็มีเช่นในเรื่องความพยาบาทนี้มีคอนตราสหลายแห่งทีเดียว ตอนที่ฟาบีโอติดอยู่ในฮวงซุ้ย ซึ่งเขาต้องต่อสู้กับความที่จะถูกขังตายทั้งเป็น เขากลับได้พบโชคลาภมหาศาล อย่างนี้ก็เป็นคอนตราสกับตอนต่อไปนี้

“ข้าพเจ้าได้ร้องอ้อนวอนด้วยเสียงอันดัง และเสียงนั้นไปก้องตาม คูหาในฮวงซุ้ย กระท้อนกลับมายังหู เสียงดังบ้างค่อยบ้าง ชัดคำบ้าง ทำให้ ข้าพเจ้ากลัวเสียงของข้าพเจ้าเอง ถ้าแม้ความทรมานนานไปอีกหน่อยแล้ว ข้าพเจ้าคงเป็นบ้าเป็นแน่ ไม่กล้านึกทำภาพขึ้นดูในใจ (นึกเป็นรูปภาพของตัวเอง ขังอยู่ในที่ของคนตาย และอยู่ในกลางความมืด อยู่ในกลางหมู่หีบ ซึ่งบรรจุศพเก่าแก่ราขึ้น ขมวนไช!) จึงหมอบนิ่ง เอามือปิดตา สะกดอก สะกดใจให้นิ่งแน่ว มิให้คิดถึงเรื่องฮวงซุ้ยอีก ฮะ ! นั่นเสียงอะไรอีกละ ช่างร้องเย็นจับใจจริง! ยกศีรษะขึ้นเงี่ยหูฟัง อ๋อ เสียงนกในติงเกลดอกหรือ เสียงช่างไพเราะเย็นจับใจเสียนี่กระไร! คนที่มีความทุกข์ความเศร้าโศก อาจบรรเทาขึ้นได้มาก เมื่อได้ยินเสียงของเจ้า!”

นี่ก็เป็นคอนตราส จะเห็นว่าตอนต้นพรรณนาความน่ากลัวในที่ไว้ศพ แต่ที่ใกล้ๆ กันข้างภายนอก เสียงนกไนติงเกลร้องอย่างร่าเริง ตรงข้าม ระหว่างความน่ากลัว กับความชื่นบาน ความมีอิสรภาพกับการที่ถูกติดขัง

เมื่อฟาบีโอหลุดจากที่ขังได้แล้ว มีความยินดีเต็มที่ นึกว่าไปถึงที่อยู่ จะได้เห็นภรรยาและลูกรักกำลังไว้ทุกข์ถึง เมื่อภรรยาเห็นเขาคงจะตกตะลึง แล้วคงจะดีใจจนพูดไม่ถูก แต่ครั้นแล้วเขากลับพบสิ่งที่ตรงข้าม เมียกำลังเพลินอยู่กับชู้ นี่ก็เป็นลักษณะคอนตราส ผลของการใช้คอนตราสนี้ ทำให้เกิดความรู้สึกหลายอย่าง ผิดหวัง เศร้า ดีใจ หรือบางทีทำให้ขบขันก็ได้

ดรามาติก ไอรอนนี (Dramatic Irony) ยังหาคำในภาษาไทยที่เหมาะๆ ไม่ได้ จึงขอใช้คำภาษาอังกฤษไปก่อน ดรามาติก ไอรอนนี ใช้ได้ทั้งในการละครและการประพันธ์ หมายถึงว่าตัวละครไม่รู้เรื่องกัน แต่ผู้ดูรู้ เช่นสามีปลอมเป็นคนแปลกหน้ามาหาภรรยา ภรรยาไม่รู้ว่าเป็นสามีของตน แต่คนดูละครหรือคนอ่านเรื่องรู้ ดังนี้เรียกว่า ดรามาติก ไอรอนนี ในเรื่องความพยาบาทนี้ มีลักษณะเป็น ดรามาติก ไอรอนนี เกือบตลอดเรื่อง เรารู้ว่า เคานต์โอลีวา คือ ฟาบีโอ ปลอมตัว แต่นีนนากับกีโดไม่รู้ เมื่อนีนนาพบฟาบีโอในฐานะคนเพิ่งรู้จักกัน แล้วเกิดมาเกี้ยวกัน และกีโดเกิดหึง ดังนี้เราก็จะรู้สึกขันไม่น้อย

บทเจรจา (Dialogue) ได้กล่าวมาแต่คำบรรยายอันดับก่อนแล้ว ขอ เพิ่มเติมอีกเล็กน้อยว่าบทเจรจานี้ เป็นเครื่องช่วยให้แลเห็นลักษณะตัวละครต่างกันออกไป ฉะนั้นท่านต้องพยายามอย่าให้ตัวละครพูดเป็นแบบเดียวกันหมด ท่านต้องนึกเห็น (Realize) ว่าคนเช่นนั้นๆ ควรจะพูดอย่างนั้นๆ

ท่านลองฟังคำของตาเจ้าของร้านขายของจิปาถะ ที่ท่านเห็นลักษณะที่มีตัวอย่างพรรณนาแล้วนั้น ตอนนี้เป็นตอนฟาบีโอไปขอซื้อเสื้อเก่าๆ จากแก

ตาเฒ่าอ้วนตุ๊นั้นชักกล้องออกจากปากแล้วว่า “อ้ายแก น่า กลัวอ้าย โรคห่าไหม อ้ายโรคลงรากหน้ะ ? ”

ข้าพเจ้าตอบเลี่ยงๆ ว่า “ไม่กลัวดอกคะตาฉันเพิ่งฟื้นจากโรคนั้นเมื่อ นี่เอง เนื้อจืดเสียแล้ว มันไม่ตามมากินดอกค่ะ”

ตาเฒ่านั้นมองดูข้าพเจ้าทั่วสรรพางค์กายแล้วหัวเราะว่า “อ้า ดี…ดี! เหมือนข้าอีกคนหนึ่ง…ไม่กลัว กลัวมันทำไม! อ้ายเรามันไม่ใช่คนขี้ขลาด นะแกนะ พระบนสวรรค์ท่านส่งอ้ายห่ามาหนะดีเสียอีก ข้าชอบพิลึก เสื้อผ้าที่อ้ายสัปเหร่อมันรึ้งมาจากผี ได้กี่มากน้อยโยนมาเถอะ ข้ากว้านไว้หมด แม้ยังใหม่ๆ เรี่ยมๆ ก็มี อ้ายแกเอ๋ย ข้าไม่ต้องซักฟอกลอกขี้ไคล…ใครมาซื้อก็ขายไป…ว่าเสียสดๆ …จะเป็นอะไร ? มนุษย์เราเกิดมาแล้วก็ต้องตายทุกคน ใครจะอยู่คํ้าฟ้า…ยิ่งเร็วยิ่งดี! ข้าต้องช่วยพระเจ้าเต็มมือเทียว”

ให้สังเกตคำว่า นะ เขียนเป็น น่า หนะ หน้ะ ให้ใกล้เสียงพูด แต่มีคำเก่าๆ อยู่คำหนึ่งคือ ค่ะ เดิมชายผู้ดีชอบใช้ เดี๋ยวนี้เด็กชายลูกผู้ดีก็ยัง ใช้อยู่

ท่านอ่านคำพูดของตาเฒ่าแล้ว รู้สึกว่าตาคนนี้มีลักษณะอย่างไร เชื่อ ว่าท่านคงนึกได้

เมื่อท่านจะเขียนบทเจรจา อย่าลืมนึกว่าตัวละครนั้นคือใคร มีความรู้สึกและอารมณ์อย่างไรในขณะที่พูด อย่าให้ตัวละครของท่านพูดอย่างนก แก้วนกขุนทอง

หลักของนวนิยายนี้ ได้มีนักวิจารณ์ให้ข้อสังเกตไว้หลายอย่าง เช่น ยอร์ช เซนต์บูรี ก็ว่าได้ดังที่ได้กล่าวข้างต้น ว่าลักษณะสำคัญของนวนิยาย ก็คือ การผูกเรื่อง ตัวละคร การพรรณนา และบทเจรจา ส่วน ซังต์ เบอเว (Saint Beuve) ได้พูดต่างออกไปอีกบ้างว่า ในการเขียนนวนิยายควรนึกถึงสิ่งสามประการ คือ ตัวละคร พฤติกรรม (Action) และสำนวน (Style)

สำหรับเรื่องความพยาบาทนี้ เป็นนวนิยายชนิดผูกเรื่อง ฉะนั้นความ สำคัญของลักษณะตัวละครจึงไม่จำต้องเขียนอย่างละเอียดนัก ตามเรื่องว่า กีโดเป็นชู้กับเมียของเพื่อนที่รักสนิท ส่วนนีนนาเป็นสาวสวย แต่ใจง่าย เป็นคนเห็นแก่ตัวมีความคิดตื้นๆ ไม่ค่อยนึกถึงธรรมอันใด แม้แต่สุนัขก็ไม่ชอบ เด็กก็เกลียด ในการปั้นตัวละคร ผู้เขียนอย่าไปเกลียดหรือรักตัวละคร เช่น ถ้าตัวโกงก็อย่าพยายามมอมหน้า และพรรณนาใส่ร้ายต่างๆ อย่างจะให้เป็นตัวโกงจริงๆ อย่างนี้จะเป็นการฝืนผู้อ่านจะรู้สึกว่าเป็นตุ๊กตาตัวโกง แทนที่จะเป็นคนจริงๆ

ว่าถึงพฤติกรรม (Action) หมายถึง การที่ตัวละครทำอะไรอย่างหนึ่ง โดยมากต้องเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น สำหรับเรื่องความพยาบาทมีพฤติกรรมสำคัญอยู่สองตอน คือตอน ฟาบีโอดวลกับกีโด และตอนฟาบีโอพานีนนาเข้าไปในฮวงซุ้ย เรื่องเผชิญภัย เรื่องนักสืบ เรื่องเกร็ดประวัติศาสตร์ มักจะเป็นเรื่องที่มีพฤติกรรมมาก

ที่มา:เปลื้อง ณ นคร