กระบวนความเชิงอธิบาย

ในหลักแห่งกระบวนความเชิงพรรณนา มุ่งหมายให้ท่านเข้าใจวิธีวาดภาพด้วยตัวอักษร ท่านจะเขียนเรื่องบันเทิงคดี บทความเรียง เรื่องเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ย่อมจำต้องใช้กระบวนความพรรณนาประกอบทั้งสิ้น คำบรรยายนี้จะได้กล่าวถึงกระบวนความอีกอย่างหนึ่งซึ่งเห็นว่าเป็นสิ่งที่นักประพันธ์ควรรู้ เพราะในบางโอกาสท่านอาจจะต้องเขียนบทนำในหนังสือพิมพ์ชี้แจงเรื่องบางอย่างแก่ผู้อ่าน

กระบวนความเชิงอธิบาย
กระบวนความเชิงอธิบายได้แก่การเรียบเรียงข้อความชี้แจงเรื่องหนึ่ง เรื่องใด ให้ผู้อ่านเข้าใจแจ่มแจ้ง และให้ข้อความนั้นน่าอ่านน่าฟัง สมมุติ ว่าท่านเป็นนักหนังสือพิมพ์ แล้วท่านต้องการให้ผู้อ่านรู้เรื่อง “ยูโน” ท่าน จะเขียนอย่างไรถึงจะให้คนทั่วๆ ไปอ่านเข้าใจ บางคนรู้เรื่องอะไรดีแต่ พูดให้ผู้อื่นเข้าใจไม่ได้ ท่านจะพูดอย่างไรให้คนธรรมดาสามัญเข้าใจว่า อะตอมมิกบอมบ์สร้างขึ้นอย่างไร แน่ละท่านต้องมีความรู้เรื่องอะตอมมิกบอมบ์เสียก่อน บางคนแม้จะรู้เรื่องอะตอมมิกบอมบ์ดี แต่ก็อธิบายให้คนอื่นเข้าใจไม่ได้ สมมุติว่าท่านเป็นนายอำเภอเป็นครู หรือเป็นทหาร เผอิญท่านได้รับมอบให้อธิบาย “การปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ” ให้ตาสีตาสาเข้าใจ ท่านจะพูดอย่างไร ท่านอาจเคยรู้สึกกับตนเองว่า “เรื่องนี้ข้าพเจ้ารู้ แต่พูดไม่ถูก” นี่แหละ ท่านควรศึกษาหลักแห่งกระบวนความเชิงอธิบาย

ลักษณะสำคัญแห่งกระบวนความเชิงอธิบายก็คือ
๑. เรื่อง เมื่อจะพูดเรื่องอะไรก็ให้เพ่งเฉพาะเรื่องนั้นจริงๆ อย่าเอาเรื่องอื่นมาปน

๒. ความคิดเห็น ต้องเป็นไปตามความรู้ความเข้าใจของท่านเอง อย่าไปยืมความคิดเห็นของคนอื่นมาพูด ท่านจะอ้างความเห็นความเข้าใจ ของคนอื่นบ้างก็ได้ แต่อย่าให้ความเห็นของคนอื่นอยู่เหนือความคิดความเห็นของท่าน

๓. ความรู้ เมื่อท่านจะพูดอะไร ท่านต้องรู้เรื่องนั้นโดยละเอียดเสียก่อน ถ้าท่านไม่รู้เรื่องที่จะพูดแจ่มแจ้ง ท่านก็จะเขียนให้คนอื่นเข้าใจแจ่มแจ้งไม่ได้ ถ้าท่านรู้สึกว่าท่านรู้เรื่องที่จะพูดไม่พอ ท่านต้องค้นคว้าหา หลักฐาน หาตำรับตำราอ่านและย่อเรื่องที่ท่านอ่านจนซึมซาบเสียก่อน ไม่ใช่หยิบเอาของเขามาทั้งดุ้น

๔. ความน่าอ่านน่าฟัง คือต้องเรียบเรียงความ ใช้ถ้อยคำอันเป็นที่สนใจของคนอ่าน ต้องเข้าใจว่า การอธิบายนี้มิใช่ครูอธิบายบทเรียน หรือผู้เชี่ยวชาญอธิบายความรู้ทางเทคนิค ต้องพยายามเว้นคำบัญญัติ ที่เรียกว่า เทคนิกัล เทอม (Technical Term)

๕. ต้องให้เข้าใจง่าย

๖. ต้องมีข้อความเป็นลำดับติดต่อกัน

ในการที่จะเขียนนั้น มีหลักที่ท่านควรรู้ดังต่อไปนี้

๑. นิยาม
สมมุติว่าท่านจะเขียนเรื่อง อารยธรรม ปัญหาข้อแรกก็คือ จะพูดว่า กระไร ท่านอาจต้องนิ่งอึ้งอยู่เป็นนาน ไม่ทราบว่าจะเริ่มพูดอย่างไร จะถามว่า ท่านรู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับอารยธรรมบ้างไหม ท่านมีความคิดความรู้สึกอย่างไร ท่านตอบว่า “รู้บ้างเล็กน้อย เพราะไม่ค่อยได้เอาใจใส่นัก” รู้บ้างเล็กน้อยนั่นแหละ เขียนลงไปเถิด พอให้ปากกาเดินเสียหน่อย แล้วก็เขียนต่อไปได้เอง อย่างไรก็ตาม ความไม่รู้นี้เป็นอุปสรรคสำคัญ วิธีที่จะแก้ความไม่รู้ก็คือ ต้องทำตัวให้เป็นพหูสูต หมั่นอ่าน ฟัง จำ สังเกตแล้วคิด นี่เป็นคุณสมบัติของนักเขียน เมื่อท่านมีความรู้รอบตัวพอแล้ว การที่จะเขียนก็สะดวก และวิธีเปิดเรื่องเชิงอธิบายนี้ ทางที่ดีและง่ายคือ การให้นิยาม

นิยาม คือการกำหนดความหมาย บางทีก็เรียกว่า คำจำกัดความ (Definition) เป็นการให้ความหมายของเรื่องที่จะพูด เป็นการวางขอบเขต และแนวทางที่ท่านจะพูดต่อไป เช่น ถ้าท่านจะพูดเรื่อง “อารยธรรมทำให้ คนเป็นสุขขึ้นหรือไม่? ” ดังนี้ ถ้าท่านไม่เข้าใจความหมายของคำอารยธรรม ท่านก็คงจะเขียนอะไรต่อไปให้ถูกต้องไม่ได้ การให้นิยามนี้แบ่งอย่างกว้างๆ เป็น ๒ ประเภท คือ

ก. นิยามสิ่งซึ่งเป็นนามธรรม ท่านอาจให้ความหมายได้ตามความรู้สึกนึกคิด และความเข้าใจของท่านเอง เช่น ความทะเยอทะยาน ความรัก ความสัตย์ ความยุติธรรม

ยกตัวอย่าง นิยาม “ความรัก”
“ความรักเป็นงานของคนเกียจคร้าน เป็นเครื่องหย่อนใจของคนขยัน เป็นความล่มจมของผู้เป็นใหญ่”
(นโปเลียน)

“ความรักคือความบ้าอย่างหนึ่งนั้นเอง”
(เช็กสเปียร์)

“ความรักนี้เป็นของน่าพิศวงมาก เป็นแสงจากฟ้า ฉายความสุขมายังแผ่นดินอันมืดและเต็มไปด้วยความซึมเซา เป็นมนต์ซึ่งทำให้เรารำลึกถึงความมีชาติสูงกว่านี้เป็นความสุขในขณะนี้และเป็นทางให้คิดถึงความสุขในเบื้องหน้า ทำให้ความขี้ริ้วกลับเป็นความงาม ทำให้ความโง่กลับเป็นความฉลาด ทำให้ความแก่กลายเป็นหนุ่ม ทำให้บาปเป็นบุญ ทำให้ความซึมเซาเป็นความแช่มชื่น ทำให้ใจแคบเป็นใจกว้าง ความรักนี้เป็นโอสถอย่างเอก”
(นิทานเวตาล ของ น.ม.ส.)

ท่านจะเห็นว่า นิยามชนิดนี้ ไม่ต้องการความรู้เท่าใด แต่ท่านต้องมีความรู้สึกประณีตลึกซึ้ง มิฉะนั้นความที่ท่านเขียนลงไปจะดาดๆ ตื้นๆ และไม่ชวนฟัง

ข. นิยาม ซึ่งเกี่ยวกับหลักความรู้หรือหลักวิชาการ เช่น รัฐธรรมนูญ ชาติ วัฒนธรรม เป็นต้น แม้ท่านจะพูดตามความรู้สึกนึกคิดของท่านเอง ท่านจะต้องเข้าใจเรื่องราวของสิ่งเหล่านี้ให้แจ่มแจ้งเสียก่อน การให้คำนิยาม ต้องกระชับ รัดกุม และมีหลัก

ตัวอย่าง
“อันคำว่า ต่างภาษา นั้นคืออะไร
เมื่อแลดูเผินๆ ก็ดูไม่น่าจะเป็นปัญหาที่ยากเย็นอะไร แต่ถึงเช่นนั้น ก็ดี ข้อความซึ่งข้าพเจ้าได้ตอบปัญหานี้ในครั้งก่อนนั้น เป็นเหตุให้คนจำพวกหนึ่งร้องคัดค้าน และแสดงความเห็นต่างๆ เป็นอันมาก ข้าพเจ้าจึงต้องยกเหตุนี้ขึ้นเป็นข้อแก้ตัวในการที่จะกล่าวในเรื่องนี้อีกในที่นี้

คำตอบปัญหาที่กล่าวข้างบนนี้ ควรเราจะหารือพจนานุกรมดูว่า เขาจะแปลว่าอย่างไร

๑. พจนานุกรมอังกฤษ ของ เชมเบอร์ อธิบายคำ ต่างภาษา ว่าดังนี้

“ต่างภาษา” (คุณศัพท์) แปลว่า “ต่างประเทศ ต่างกันด้วยนิสัย และลักษณะ (นาม) คนหรือสิ่งที่เป็นของต่างประเทศ คนที่ไม่มีความชอบ ธรรมโดยเต็มแห่งพลเมือง”

เพราะฉะนั้น ถ้าจะว่ากันให้ตรงแท้สำหรับคนไทยแล้ว คำนี้ต้องแปลว่า คนอื่นๆ ทุกคน ซึ่งมิใช่ไทย ก็เป็นคนต่างภาษาทั้งสิ้นหรืออีกนัยหนึ่ง ถ้าท่านจะพอใจมากกว่า จะเรียกว่าชาวต่างประเทศก็ได้”
(จากเรื่อง ชาวต่างภาษา ปกิณกคดี ของ อัศวพาหุ)

ตั้งแต่หมายเลข ๑ เป็นคำนิยาม จะเห็นว่ามีการอ้างหลักฐาน แต่ หลักฐานเท่านั้นยังไม่พอ ต้องสรุปความตามที่ผู้เขียนเข้าใจแสดงไว้ด้วย

๒. การจัดหัวข้อเรื่อง
การจัดหัวข้อเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะมันจะป้องกันมิให้ข้อความ สับสนกันทั้งจะเป็นจุดหมายที่ท่านจะพูดขยายเรื่องให้ได้แจ่มแจ้ง มีข้อความต่อเนื่องกัน เช่น ถ้าท่านจะเขียนอธิบายเรื่องการปกครองโดยมีคณะพรรคการเมือง ท่านก็อาจจัดหัวเรื่องดังนี้

การปกครอง โดยมีคณะพรรคการเมือง
๑. ความหมายของการปกครองโดยมีพรรค
๒. ประวัติ
๓. หลักการ
๔. ประโยชน์
๕. ทางเสีย
๖. สรุปความเห็นของท่าน

กระบวนความเชิงอธิบายที่ท่านจะถือเป็นแบบฉบับได้ก็คือ พระนิพนธ์ ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทุกเรื่อง พระราชนิพนธ์ในรัชกาล ที่ ๕. เรื่อง พระราชพิธี ๑๒ เดือน หนังสือนี้กรรมการวรรณคดีสโมสร ซึ่งตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติ ใน พ.ศ. ๒๔๕๗ ได้ประชุมเห็นพร้อมกันว่า เป็นยอดของความเรียงเชิงอธิบาย หนังสือที่กล่าวนี้ อย่าว่าแต่ผู้อยู่ต่างจังหวัดเลย แม้คนในพระนครก็คงหาอ่านได้ไม่ง่ายนัก เพราะหนังสือเหล่านี้ไม่ได้ตีพิมพ์แพร่หลาย เมื่อเอ่ยอ้างหนังสืออะไร รู้ว่าผู้ศึกษาคงยากใจที่จะหาอ่านหนังสือที่อ้างนั้นมาอ่านได้ มีอยู่ทางเดียวที่พอจะทำได้ก็คือตัดตอนเรื่องมาเสียเลยทีเดียว แต่การทำดังนี้ก็ทำได้เพียงส่วนน้อย พอให้ผู้ศึกษาได้แลเห็นแนวทาง

ในที่นี้จะนำข้อความตอนหนึ่งในเรื่อง ตำราฟ้อนรำ พระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มาเป็นตัวอย่าง

อธิบายตำนานการฟ้อนรำ
ก. ๑. การฟ้อนรำย่อมเป็นประเพณี มีในเหล่ามนุษย์ทุกชาติทุกภาษา ไม่เลือกว่าจะอยู่ ณ ประเทศถิ่นสถานที่ใดในพิภพนี้ คงมีวิธีฟ้อนรำตาม วิสัยชาติของตนด้วยกันทั้งนั้น ๒. อย่าว่าแต่มนุษย์เลย ถึงแม้สัตว์เดรัจฉาน ก็มีวิธีฟ้อนรำ ๓. ข้อนี้จะพึงสังเกตเห็นโดยง่าย ดังเช่นสุนัขและไก่กา เป็นต้นน เวลาใดสบอารมณ์ของมัน เท้ามันก็เต้นโลดกรีดกรายทำกิริยาท่าทางได้ต่างๆ ก็คือ การฟ้อนรำตามวิสัยสัตว์นั้นเอง ๔. ปราชญ์ผู้คิดค้นหามูลเหตุแห่งการฟ้อนรำ จึงลงเนื้อเห็นเป็นยุติว่า การฟ้อนรำนี้มูลรากเกิดแต่วิสัยสัตว์ เมื่อเวทนาเสวยอารมณ์จะเป็นสุขเวทนาก็ตาม หรือทุกขเวทนาก็ตาม ถ้าเสวยอารมณ์แรงกล้าไม่กลั้นไว้ได้ ก็แล่นออกมาเป็นกิริยาให้ปรากฏ ๕. ยกเป็นนิทัศน์อุทาหรณ์ ดังเช่นธรรมดาทารก เวลาอารมณ์เสวยสุขเวทนา ก็เต้นแร้งเต้นแฉ่งสนุกสนาน ถ้าอารมณ์เสวยทุกขเวทนาก็ดิ้นโดยโหยไห้ แสดงกิริยาปรากฏออกให้รู้ว่าอารมณ์เป็นอย่างไร ยิ่งเติบใหญ่รู้เดียงสาขึ้นเพียงใด กิริยาที่อารมณ์แล่นออกมาก็ยิ่งมากมายหลายอย่างออกไป จนถึงกิริยาที่แสดงความกำหนัดยินดีมีในกามารมณ์ และกิริยาซึ่งแสดงความอาฆาต โกรธแค้น เป็นต้น ๖. กิริยาอันเกิดแต่เสวยอารมณ์นี้นับเป็นขั้นต้นของการฟ้อนรำ

ข. ๗. ต่อมาอีกขั้นหนึ่ง เกิดแต่คนรู้ความหมายของกิริยาต่างๆ เช่น กล่าวมา ก็ใช้กิริยาเหล่านั้น เช่น ภาษาอันหนึ่ง เมื่อประสงค์จะแสดงให้ ปรากฏแก่ผู้อื่น โดยจริงใจก็ดีหรือโดยมายา เช่นในเวลาเล่นหัวก็ดี ว่าตนมีอารมณ์อย่างไร ก็แสดงกิริยาอันเป็นเครื่องหมายอารมณ์อย่างนั้น ๘. เป็นต้นว่า ถ้าจะแสดงความเสน่หา ก็ทำกิริยายิ้มแย้มกรีดกราย จะแสดงความรื่นเริง บันเทิงใจก็ขับร้องฟ้อนรำ จะขู่ให้ผู้อื่นกลัวก็ทำหน้าตาถมึงทึงแลโลดเต้น คุกคาม ๙. จึงเกิดเป็นแบบแผนท่าทางที่แสดงอารมณ์ต่างๆ อันเป็นต้นของกระบวนฟ้อนรำขึ้นด้วยประการฉะนี้ นับเป็นขั้นที่สอง

ค. ๑๐. ต่อมาอีกขั้นหนึ่ง เกิดแต่มีผู้ฉลาดเลือกเอากิริยาท่าทาง ซึ่ง แสดงอารมณ์ต่างๆ นั้นมาเรียบเรียงสอดคล้องติดต่อกันเป็นกระบวนฟ้อนรำ ให้เห็นงาม ก็ต้องตาติดใจคน จึงเกิดมีกระบวนฟ้อนรำขึ้น นับเป็นขั้นที่สาม ๑๑. ความเช่นกล่าวมานี้เป็นสามัญแก่มนุษย์ทั้งปวงทั่วทุกชาติทุกภาษา จึงเกิดมีประเพณีการฟ้อนรำตามกระบวนซึ่งพวกของตนเห็นว่างามด้วยกันทุกประเทศ

คำอธิบาย
ในการเขียนเรื่องไม่ว่าเรื่องใด ท่านจะต้องนึกถึงหลัก ๓ ประการ ที่ได้กล่าวแล้ว คือ เอกภาพ (Unity) สัมพันธภาพ (Coherence) และ สารัตถภาพ (Emphasis)

ตอน ก. กล่าวถึงมูลเหตุแห่งการฟ้อนรำ มีใจความสำคัญคือ กิริยา อันเกิดแต่เวทนาเสวยอารมณ์อันเป็นขั้นต้นของการเต้นรำ

ตอน ข. ค. กล่าวถึงการเรียงท่าทางเข้าเป็นกระบวนฟ้อนรำ ท่านจะเห็นว่าทั้งสามตอนนี้มีใจความเกี่ยวโยงกันเป็นลำดับ ขณะที่ท่านอ่านห้วงความคิดเชื่อมกันไม่ขาดตอนเลย

ทีนี้ขอให้ท่านพิจารณาตอน ก. ในประโยคหมายเลข ๑-๒ เป็น ความนำ เป็นการบอกเล่าอ้างความเป็นจริง (Statement of Fact) ในประโยค ๓ ยกตัวอย่างสนับสนุนประโยค ๑-๒ ประโยคหมายเลข ๔ สรุปความให้ นิยามของการฟ้อนรำ ประโยคในหมายเลข ๕ อธิบายคำนิยามนั้นให้ชัดเจน ครั้นแล้วก็ถึงประโยคสุดท้ายของตอน ก. คือสรุปความที่กล่าวมาแล้วตั้งแต่ประโยค ๑-๒-๓-๔-๕ ให้ท่านสังเกตว่าความเชื่อมติดต่อกันโดยตลอด ที่ของสารัตถภาพคือประโยคหมายเลข ๖ อันอยู่ตอนสุดท้ายของตอน ก. และความในประโยคอื่นล้วนสนับสนุนความในประโยคหมายเลข ๖ ทั้งสิ้น

ท่านอาจนำคำอธิบายสำหรับตอน ก. ไปใช้กับตอน ข. และค. ได้ เช่นเดียวกัน

ก็การที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงเรียบเรียงคำ อธิบายไว้ดังนี้ พระองค์ท่านต้องทรงสืบค้นหลักฐานตำรับตำรา (Authority) เสียก่อน ดังที่ได้ทรงชี้แจงไว้ในคำนำว่า

“ในการเรียบเรียงหนังสือตำราฟ้อนรำเล่มนี้ได้จัดเรื่องเป็น ๓ ตอน ตอนที่ ๑ ว่าด้วยตำนานการฟ้อนรำ ในตอนนี้ได้ให้ศาสตราจารย์ เซเดส์ บรรณารักษ์ใหญ่หอพระสมุดช่วยค้นเรื่องในหนังสือซึ่งมีแปลเป็นภาษาฝรั่ง ให้พราหมณ์ กุปปุสสวามี อาจารย์ภาษาสันสกฤตในหอพระสมุดฯ ช่วยค้น ตำราภาษาสันสกฤตที่มีอยู่ในหอพระสมุดฯ เอาเรื่องมาเรียบเรียง ฯลฯ”

เมื่อทรงได้หลักฐานต่างๆ แล้วก็ทรงใคร่ครวญจับเอาใจความสำคัญมาเรียบเรียง โดยพระดำริของพระองค์เอง นี่คือหลักอันหนึ่งในการเขียน ความเชิงอธิบาย “อย่ายกเอาหลักฐานต่างๆ มาอ้างทั้งดุ้น ท่านต้องพินิจพิเคราะห์ใคร่ครวญเสียก่อนแล้วเขียนตามความเข้าใจของท่าน”

อนึ่ง ในการเขียนความเชิงอธิบายนี้ คือการบอกเล่าเรื่องราวจาก
ก. ความรู้ที่ท่านได้มาจากการสังเกตพิจารณาหรือ
ข. ความรู้ที่ท่านได้มาจากการศึกษาสืบค้นหรือ
ค. ความคิดอ่านอย่างหนึ่งอย่างใด อันเกิดในใจของท่าน

ลักษณะสำคัญของการอธิบาย คือความแจ่มแจ้งชัดเจน กับความน่าอ่าน และในการเขียนนั้น ท่านจะใส่อารมณ์ของท่านลงไปด้วยไม่ได้ ท่านต้องเขียนอย่างมีอุเบกขา เพราะความมุ่งหมายของความเชิงอธิบายนี้ คือการให้ความรู้

ที่มา:เปลื้อง ณ นคร

หลักแห่งกระบวนความพรรณนา

พรรณนา แปลตามปทานุกรมว่า เล่าความขยายความ แต่เมื่อเป็นคำเทคนิคทางประพันธศาสตร์ ก็หมายถึง การเล่าให้นึกเห็นภาพอันใดอันหนึ่งได้ คำว่า “ภาพนี้’’ คลุมถึง

ก. รูปร่างลักษณะทองสิ่งต่างๆ อาทิเช่น คน สัตว์ บ้านเรือน วัตถุ สิ่งของ ภูมิประเทศ

ข. สิ่งที่สัมผัสทางหู ได้แก่ เสียงต่างๆ

ค. สิ่งที่สัมผัสทางจมูก ได้แก่ กลิ่นต่างๆ

ง. สิ่งที่สัมผัสทางลิ้น ได้แก่ รสต่างๆ

จ. สิ่งที่สัมผัสทางกาย ได้แก่ ลักษณะ นุ่ม หยาบ ละเอียด แข็ง คาย คม เปียก ฯลฯ

บรรดาสิ่งต่างๆ ที่เราได้ผ่านพบมาโดยประสาทสัมผัส จะโดยทาง ตา ทางหู ทางจมูกก็ดี ถ้าเราต้องการให้ผู้อ่านได้เห็น ได้รู้สึกอย่างเดียวกับ เราแล้ว นักประพันธ์ย่อมทำได้โดยกระบวนความพรรณนา ถ้าเรากินส้มโอแล้วต้องการให้ผู้อ่านรู้สึกรสของส้มโอนั้น โดยไม่ต้องกินส้มโอลูกนั้นด้วย เราก็ต้องว่า ส้มโอนั้นรสเปรี้ยว หวาน หวานปะแล่มๆ หวานแหลม ฯลฯ ตามรสที่เรารู้สึกด้วยลิ้น อันความรู้สึกในรสต่างๆ เหล่านี้ ผู้อ่านย่อมรู้สึก นึกเห็นได้ทุกคน และถ้านักเขียนรู้จักเลือกสรรถ้อยคำมาใช้ได้เหมาะสมแล้วผู้อ่านก็จะเข้าใจได้ทันที

ในการเขียนเรื่อง เราจะหลีกไปจากการกล่าวถึงเรื่องของบุคคล (ตัว ละครในเรื่อง) ภูมิประเทศ วัตถุต่างๆ หรือลักษณะความเป็นไปในกาลสมัยหนึ่งๆ เสียมิได้ และก็การที่ผู้อ่านจะเข้าใจเรื่องของเราถนัดชัดเจน เราต้องทำให้ภาพของสิ่งเหล่านี้ปรากฏขึ้นในมโนคติทองผู้อ่านอย่างเด่นชัด พูด อย่างภาษาสามัญ คือ ให้หลับตาเห็นได้ เราจะทำได้ดังนี้ โดยใช้ถ้อยคำพรรณนา

หลักเบื้องต้น และเป็นหลักสำคัญที่นักประพันธ์พึงยึด มีอยู่ ๒ ข้อ
คือ
๑. จงพูดตามความเป็นจริง (Truth)
๒. จงมีสัจธรรม (Sincerity)

จงพูดตามความเป็นจริง
เคล็ดสำคัญของหลักนี้คือการสังเกตพิจารณา ถ้าท่านต้องการเป็น นักเขียนที่ดี ท่านต้องเป็นคนพิถีพิถัน ละเอียดลออ ฟังให้ชัด ดูอะไรให้เห็นถี่ถ้วนทุกแง่ทุกมุม อย่ามองแต่เผินๆ หรือฟังแต่แว่วๆ นี่คือหลักแห่งการสังเกตพิจารณา เมื่อท่านรับประทานอาหารอิ่มแล้ว แม่ครัวยกจานกับข้าวกลับไป ท่านยังจำได้ไหมว่า กับข้าวจานไหนตั้งตรงไหน และในจานผักจิ้มนั้นมีผักอะไรวางเรียงกันอย่างไร ถ้าท่านยังนึกเห็นภาพออก เรียกว่าท่าน มีความสังเกตพิจารณาดี การสังเกตพิจารณานี้ บางคนก็มีอุปนิสัยเป็นเอง บางคนต้องฝึกอบรมตนเอง จนมีคุณสมบัติอันนี้ประจำตัว ถ้าท่านไม่เอาใจใส่ กับการสังเกตพิจารณาแล้วจะพรรณนาอะไรให้ถูกต้องตามความเป็นจริงไม่ได้เลย

สัจธรรม
หมายถึง ความแท้ ความซื่อตรง ในที่นี้จะพูดเฉพาะที่เกี่ยวกับการพรรณนาก่อน ในการที่จะพรรณนา ถึงสิ่งอันใด นอกจากจะให้เป็นไปตามความเป็นจริงของสิ่งนั้นๆ ยังต้องทำให้น่าเชื่อได้ด้วย และก็การที่ให้ “น่าเชื่อ” ได้นี้ ผู้เขียนต้องมีความซื่อตรงต่อตนเอง ดังนี้คือ สัจธรรม นักเขียนต้องบอกผู้อ่านตามที่นักเขียน เห็น และต้องชวนให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกอย่างเดียวกับผู้เขียน อย่าไปยืม ความรู้สึกของผู้อื่นมาใช้ หรือนึกเอาเองว่าควรจะเป็นอย่างนั้นๆ ถ้าท่านเดินไปกลางทุ่งยามเที่ยงในฤดูร้อน เห็นแสงแดดเป็นประกายยิบๆ ร้อน จนแสบผิวหนัง ท่านก็ว่าไปตามที่ท่านเห็นและรู้สึก ไม่จำเป็นเลยที่จะพูดว่า “ร้อนราวจะเผาผลาญสิ่งต่างๆ บนพื้นโลกให้ไหม้เกรียม” อย่างนี้เป็นการพรรณนาที่เฝือเต็มที และเป็นสำนวนอย่างตื้นๆ

เพื่อให้เป็นไปตามข้อแนะนำเบื้องต้นนี้ นักประพันธ์มีวิธีปฏิบัติในเชิงพรรณนานี้อย่างไรบ้าง

๑. ความเฉพาะและรูปธรรม
การที่ท่านจะให้สิ่งที่ท่านพรรณนาเป็นไปตามจริง และเด่นชัดได้นั้น ท่านจะต้องรู้จักหยิบลักษณะความเฉพาะของสิ่งนั้นๆ มากล่าว บรรดา บุคคล สถานที่ วัตถุต่างๆ ย่อมมีลักษณะเฉพาะประจำ ซึ่งทำให้สิ่งนั้น บุคคลนั้นแตกต่าง และแยกออกจากสิ่งหรือบุคคลทั่วๆ ไป ในบทก่อนท่านได้อ่านตัวอย่างเรื่องเมืองเวนิส พอเริ่มต้นผู้เขียนก็หยิบเอาลักษณะเฉพาะของเมืองเวนิสมากล่าวก่อนทีเดียว แล้วพรรณนาลักษณะอื่นๆ ละเอียดออกไป

การพรรณนาลักษณะของสิ่งต่างๆ โดยละเอียดนั้น ก็เพื่อจะทำให้เกิดภาพในความนึกชัดเจนและจำกัดภาพให้เด่นขึ้น ว่าสิ่งนั้นอยู่ที่นั่นๆ ใน สมัยนั้นๆ ถ้าไม่ทำอย่างนี้ สิ่งที่เราพรรณนาก็พร่า

ปัญหาอีกข้อหนึ่งก็คือ การพรรณนาของท่านนั้นรู้สึกว่าเป็นจริงเป็นจัง หรือไม่ ท่านได้ทำให้ผู้อ่านเห็นและรู้สึกได้เช่นเดียวกับท่านหรือเปล่า ท่าน จะแก้ปัญหานี้ได้โดยใช้คำที่มีความหมายเกี่ยวกับสิ่งที่เป็น รูปธรรม รูปธรรม คู่กับ นามธรรม รูปธรรม คือ สิ่งที่อาจได้ยิน ชิม ดม สัมผัส หรือแลเห็นได้

คำที่ความหมายเกี่ยวกับรูปธรรม เช่นดังนี้
ก. ทางหู โครมคราม ซู่ซ่า เกรียวกราว ฯลฯ
ข. ทางลิ้น เปรี้ยว ขม ขื่น ฝาด ฯลฯ
ค. ทางจมูก หอม ฉุน เหม็น ฯลฯ

ส่วนคำที่มีความหมายเกี่ยวกับนามธรรมนั้น ได้แก่พวกคำ เช่น ชั่ว ดี น่าฟัง สวย งาม โหดร้าย เมตตา กรุณา เพ่งเล็ง ในทางความรู้สึกทาง ใจ เป็นคำที่ไม่เหมาะสำหรับการพรรณนา ให้สังเกตไว้ด้วยว่า ที่พูดว่า ไม่เหมาะนี้ มิได้หมายความว่าบังคับเด็ดขาด ไม่ให้ใช้คำเช่นนี้ถ้าใช้ถูกที่ของมันก็ไม่มีเสียหายอย่างไร

ตัวอย่าง
๑. ชายคนนี้ร่างสูง มีข้อลำ ผิวสีนํ้าตาล ไว้ผมเปีย ซึ่งเขลอะไปด้วยน้ำมัน ห้อยลงมาพาดที่ไหล่เสื้อสีนํ้าเงิน ซึ่งดำมอมแมม มือทั้งสองของ เขาเป็นริ้วรอยและเต็มไปด้วยแผลเป็น เล็บนิ้วมือดำและแตก แก้มทั้งสองมีรอยแผลดาบพาดตลอดผิวหน้าซีดช้ำๆ

(แปลจากเรื่อง เกาะมหาสมบัติ (Treasure Island) ของสตีเวนสัน ตอนนี้ เป็นตอนที่เขาพรรณนาลักษณะของตัวละครสำคัญในเรื่อง ขอให้สังเกตถึงความถี่ถ้วนลักษณะเฉพาะ และหาคำที่เป็นคำมีความหมายทางรูปธรรมทั้งสิ้น)

๒. ขนาดของเวตาลนั้นสูงประมาณ ๒ ถึง ๓ ฟุต กว้างฟุตครึ่ง
หนาตั้งแต่อกถึงหลังครึ่งฟุตถึงหนึ่งฟุต ผมบนหัวยาวและดก ขนที่ตัวยาวและยืดเหยียด หัวกลม หน้ารูปไข่ ตากลมและถลน จมูกยาวเป็นขอเหมือนปากเหยี่ยว ปากอ้า แก้มตอบ คางและขาตะไกรกว้าง ฟันเป็นซ่อม แขน และมือสั้น ขาสั้น ท้องพลุ้ย เล็บคม ปีกมีแรงมาก

(พรรณนาลักษณะตัวเวตาลในหนังสือเวตาล การพรรณนาโดยให้ผู้อ่านหลับตานึกเห็นภาพ หรืออาจเขียนเป็นรูปภาพขึ้นได้นั้น เรียกกันว่า ภาพปลายปากกา (Pen-Picture) หรือเขียนภาพด้วยหนังสือ)

๓. วันนี้ท้องฟ้า สลัว แดดอ่อน มีลมเย็น ทะเลราบเหมือนหน้ากระจกสีนํ้าเงินใสแจ่ม

๔. ปลาบางพวกชอบซุกๆ นอนซ้อนๆ กันอยู่ หรือนอนอยู่บนต้นปะการังซึ่งอ่อน เยิ่น กระดิกตัวก็ไหว ดูตัวมันจะเบาเต็มที่ ซ้อนกันลงไป สองสามตัวก็ไม่เห็นว่าไรกัน มีกุ้งทะเลตัวใหญ่ตัวหนึ่ง น่าดูเต็มที สีก็เป็น สีนํ้าเงินอ่อนงาม เจ้าพวกกุ้งทั้งปวงที่เดินถอยหลังกรูดๆ ตะกลาม มากกว่าเพื่อน ปลาซาดินทั้งตัวทิ้งลงไป กอดไว้ตามไล่แย่งกันโดด โหยงๆ ตะพาบนํ้าพึ่งได้แลเห็นว่ามันว่ายนํ้าอย่างไร มันไม่ได้ว่ายแบน ๆ เช่นคะเนว่าจะเป็นเช่นนั้น ว่ายตัวตั้ง เอาหัวขึ้นสองมือตะกาย เวลาจะหยุดพักไม่ใช่ลงไปแบนๆ อยู่กับพื้น เอาหลัง แหมะ เข้ากับฝาเฝืองอะไรก็ได้ แล้วทิ้งเค้เก้ ลอยอยู่เช่นนั้น ไม่เห็นลงถึงพื้น

(ข้อ ๓-๔ ได้จากพระราชนิพนธ์เรื่อง ไกลบ้านให้สังเกตคำที่ใช้ตัวพิมพ์ หนาว่า ให้ความหมายชัดเจนเพียงใด ในข้อ ๓ นั้นพรรณนาถึงกุ้งปลาที่เขาชัง ไว้ในตู้กระจกสวนสัตว์นํ้า ซึ่งเรียกว่าอะควาเรียม)

๒. จงระวังคำที่มีความหมายพร่าเลือน
ผู้เริ่มฝึกต้องจำใส่ใจไว้อย่างหนึ่งว่าเราเขียนเรื่องให้ผู้อื่นอ่าน ฉะนั้น จงพิเคราะห์ดูว่าที่เราเขียนไปแล้ว ผู้อ่านจะเข้าใจได้เพียงใด อย่านึกว่าถ้า เราอ่านเข้าใจเองแล้วผู้อื่นจะเข้าใจด้วย แม้ตัวเราเองถ้าลองพิเคราะห์ข้อความที่เราเขียนให้ถี่ถ้วน บางทีจะรู้ว่า ตัวเราเองอ่านแล้วก็มีปัญหาเหมือนกัน

คำบางคำ ความหมายไม่ค่อยรัดกุม เช่นคำว่า ดี หรือ ชั่ว คำทั้งสองนี้ใช้กันอย่างพร่ำเพรื่อ และใช้ได้ในความหมายมากอย่าง เช่น คนดี อาหาร ดี ขายดี พูดดี คิดชั่ว คนชั่ว อาจมีความหมายสองแง่หรือคลุมเครือ เช่น อาหารดี อาจหมายความว่า อาหารที่มีประโยชน์ อาหารอร่อย อาหารที่ ไม่เน่าก็ได้ ท่านพึงพยายามหาคำที่มีความหมายใกล้ชิด หรือตรงกับที่ท่านต้องการมากที่สุด

๓. เอกภาพ ความมุ่งหมาย และการลำดับความ
สมมุติว่าท่านจะพรรณนาฉากในท้องเรื่องของท่าน ซึ่งเป็นสถานี ท่านอาจหยิบสมุดดินสอตรงไปยังสถานีรถไฟ (ถ้าท่านอยู่ใกล้กับสถานที่ นั้น) แล้วจดอะไรทุกๆ อย่างที่ท่านได้สังเกตเห็นลงไป เมื่อได้ทำดังนี้แล้ว ท่านอาจรู้สึกว่าท่านคงจะได้วาดภาพสถานีรถไฟตามความจริงแล้ว แต่เหตุต่อไปนี้จะทำให้ท่านผิดหวัง

ก. สิ่งอันใดก็ตาม ถ้าเราเข้าไปอยู่ใกล้ชิด เราจะเห็นให้ทั่วไม่ได้ เรียกในภาษาช่างเขียนว่าเปอร์สเปกตีฟ (Perspective) คือการเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยทั่วจากที่ไกล เช่นถ้าท่านอยู่ที่เชิงเขา หรือที่ตอนหนึ่งตอนใดของภูเขา ท่านจะแลเห็นภูเขาลูกนั้นไม่ได้เลยว่ารูปร่างทั้งหมดเป็นอย่างไร ท่านต้องออกมาให้ไกล จึงจะเห็นรูปร่างภูเขาลูกนั้นได้ ถ้าท่านอยู่ในป่า บางทีท่านอาจไม่เห็นป่าเห็นแต่ต้นไม้ คือว่า “เห็นพฤกษ์ แต่ไม่เห็นไทร” ฉะนั้นการเห็นอะไรให้ทั่วถึงในคราวเดียว ท่านต้องดูจากที่ไกล

ข. ท่านอาจพรรณนาละเอียดจนเกินความจำเป็น บรรดาสิ่งต่างๆ มีรูปร่างลักษณะสีสันร้อยแปดประการ นักประพันธ์ต้องรู้จักหยิบเฉพาะสิ่งที่เขาต้องการ ที่เป็นประโยชน์กับท้องเรื่องมาพูด รายละเอียดอื่นๆ ตัดทิ้งหมด

ค. ท่านอาจจะเขียนอย่างสับสน เหมือนภาพที่ระบายสีเปรอะไปหมด เมื่อเป็นดังนี้ผู้อ่านจะเห็นภาพชัดเจนไม่ได้

ข้อ ก. ข. และ ค. นี้หมายถึง เอกภาพ ความมุ่งหมายและการลำดับ
ความ

เอกภาพ (Unity) นี้ ท่านเคยผ่านมาแล้ว หมายถึงลักษณะที่เป็นอย่างหนึ่งอย่างเดียว เมื่อท่านจะพรรณนา ฉาก หรือสิ่งอันหนึ่งอันใด ท่าน ควรถามตัวเองเสียก่อนว่า ท่านพรรณนาเพื่อผลอันใด สิ่งที่ท่านหยิบยกขึ้นมากล่าวต้องเป็นประโยชน์แก่ท้องเรื่อง สิ่งอะไรที่เผินๆ ดาดๆ เป็นสิ่งสามัญ ที่เมื่อพูดแล้วไม่ให้ความอะไรชัดเจน หรือไม่เป็นประโยชน์แก่ท้องเรื่อง ท่านก็ต้องละเว้น อย่านำมากล่าว

อนึ่งในการพรรณนานั้น ที่จริงก็นั่งเขียนอยู่กับโต๊ะนั่นเอง ใช่ว่าท่านจะไปเขียนอยู่ ณ สถานที่ต่างๆ เมื่อไร ฉะนั้นท่านจึงต้องเรียกภาพ ความรู้สึกต่างๆ ที่ได้เคยผ่านหูผ่านตาของท่านขึ้นมาปรากฏในดวงความนึกคิด อย่างที่เรียกในภาษาจิตวิทยาว่าสร้างมโนภาพ เมื่อท่านแลเห็นสิ่งต่างๆ ในมโนภาพชัดเจนแล้ว จึงหยิบเอาสิ่งที่จะเป็นประโยชน์กับท้องเรื่องมากล่าว และกล่าวให้เป็นลำดับ อย่าให้สับสน เช่นถ้าจะพูดถึงเรือน ก็กล่าว ถึงรูปร่างส่วนรวมก่อนว่าเป็นเรือนทรงอะไร กล่าวถึงหลังคา ฝา หน้าต่าง ประตู พื้น และห้องภายในเรือน ถ้าจะพูดถึงหลังคาก็พูดเสียให้หมดความ แล้วจึงพูดถึงสิ่งอื่น ไม่ใช่พูดกลับไปกลับมา ที่ท่านจะเรียกมโนภาพต่างๆ ให้ปรากฏขึ้นได้อย่างเด่นชัดนั้น ก็เพราะคุณสมบัติอย่างเดียวในตัวท่าน คือเป็นคนช่างสังเกต

๔. ประดิษฐการ (Invention)
คำว่า ประดิษฐการ (Invention) นี้ หมายถึง การสร้างของใหม่ขึ้น เช่น การทำบอมบ์อะตอมิกเป็นประดิษฐการทางวิทยาศาสตร์ ในทางการ ประพันธ์ก็มีเหมือนกัน แต่ในที่นี้จะพูดเฉพาะที่เกี่ยวกับการพรรณนา

ในการพรรณนานั้น ท่านอาจจะกล่าวถึงสิ่งที่เคยผ่านหูผ่านตา หรือ มีความชัดเจน (Experience) มาแต่ก่อนอย่างหนึ่ง และอาจจะต้องกล่าว ถึงสิ่งที่ท่านยังไม่เคยพบเห็นอีกอย่างหนึ่ง ท่านอาจถามว่าสิ่งที่เรายังไม่เคยพบเคยเห็น เราจะพูดให้แลเห็นเป็นจริงเป็นจังได้อย่างไร ข้อนี้จะทำได้โดยวิธีประดิษฐการ

สมมุติว่า ท่านไม่เคยเห็นบ้านร้างเลย แต่ในท้องเรื่องที่ท่านแต่งนั้น จำต้องกล่าวถึงบ้านร้าง ท่านจะทำอย่างไร ข้อแรกทีเดียวท่านนึกว่า บ้านร้างควรมีสภาพอย่างไร การนึกนี้ก็คือการระลึกถึงความรู้สึกพิมพ์ใจ (Im¬pression) ต่างๆ ที่เกิดแก่ท่านในเวลาที่ล่วงมาแล้ว ความรู้สึกพิมพ์ใจนั้น ท่านอาจได้จากการพบเห็นสิ่งต่างๆ ได้จากการอ่านหนังสือ ท่านอาจจะเคยได้เห็นหน้าอันแดงระเรื่อ ตาฉ่ำเป็นประกายของเจ้าสาว ท่านก็รู้สึกว่า เขากำลังเต็มไปด้วยความสุข นี่เป็นภาพพิมพ์ใจอันหนึ่ง

ในชั้นต้น ท่านนึกเห็น “บ้าน” จะเป็นบ้านหลังหนึ่งหลังใดที่ท่านเคยเห็นมาแล้ว หรือจะเป็นบ้านในมโนภาพของท่าน ไม่เฉพาะเจาะจงถึงบ้านหลังใดๆ ทั้งสิ้น ครั้นแล้วท่านนึกถึงคำว่า “ร้าง” สภาพของความร้าง ท่านคงเคยเห็นเคยผ่านมาบ้างแล้ว ทั้งรู้สึกในความหมายของคำนี้ ร้างนี้ หมายความว่า ไม่มีคนอยู่ หมายถึงการทิ้งจากไป หมายถึงการปล่อยปละละเลย ยังหมายถึงความรกรุงรัง ความผุพัง ความสกปรก ท่านลองนึกถึงสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในสภาพเช่นนี้ แล้วนำไปคาบเกี่ยวกับ “บ้าน” หลังนั้น ท่านยิ่งใช้เวลานึกตรึกตรองนาน ภาพ “บ้านร้าง” ที่เกิดก็จะชัดเจนยิ่งขึ้น

ประดิษฐการนี้ได้แก่การเก็บรวบรวม และเลือกเฟ้นภาพพิมพ์ใจเก่าๆ มาสร้างเป็นภาพใหม่ขึ้นนั่นเอง การที่นักค้นคว้าประดิษฐ์เครื่องบินขึ้น ในชั้นต้น เขาก็เก็บเอาภาพพิมพ์ใจซึ่งได้จากเห็นอาการบินของนก มาเป็นฐานแห่งการประดิษฐ์นั้นเอง ฉะนั้น ควรจดจำไว้ว่า การประดิษฐ์พรรณนา สภาพหรือฉากใดๆ ก็ตาม ต้องมีความจริงเป็นรากฐาน สภาพหรือฉากอย่างหนึ่งอย่างใด แม้มันจะเป็นความจริงไม่ได้ แต่ถ้าท่านเขียนโดยมีหลักความจริงหนุนอยู่ ผู้อ่านก็จะนึกว่ามันน่าจะเป็นจริงได้ ถึงแม้เขายังไม่เชื่อก็ตาม

เพื่อให้ท่านเห็นวิธีนึกและลำดับภาพต่างๆ จะยกอุทาหรณ์ให้เห็น คือสมมุติว่า ข้าพเจ้าจะเขียนเรื่อง และพรรณนาฉากบ้านร้าง ซึ่งมีในท้องเรื่อง ข้าพเจ้าจะทำอย่างไร

บ้านหลังที่ข้าพเจ้าต้องการพรรณนานี้ อยู่ในชนบท ตั้งลํ้าเข้าไปจาก ทาง ยืนที่ถนนจะมองตัวบ้านไม่เห็น เพราะต้นไม้สูงขึ้นบัง มีทางแยกจากถนนไปยังบ้าน แต่เป็นทางอ้อมวก บ้านหลังนี้ใหญ่โตดังบ้านคนร่ำรวย มีสนาม สวนดอกไม้ และบริเวณบ้านกว้าง เมื่อนึกได้รายละเอียดดังนี้แล้ว จึงเขียนเป็นบันทึกเลาๆ ไว้ เพื่อจะเป็นหลักให้การพรรณนาจับอยู่กับเรื่อง ไม่เถลไถลไปทางอื่น สำหรับการบันทึกนี้ บางคนก็บันทึกโดยสมองไม่ต้องเขียนลงเป็นตัวหนังสือเลย

การบันทึกพฤติการณ์ต่างๆ ที่จะช่วยให้ภาพที่พรรณนา แลเป็นจริงเป็นจังขึ้น เช่น ฤดูกาล-สมมุติว่าฤดูฝน เวลา-ก่อนพระอาทิตย์ตกเล็กน้อย ดินฟ้าอากาศมีฝนปรอย จะระลึกถึงทิศทางต่างๆ เพราะอาจจะต้องอ้างถึง แล้วทำเป็นรายการ

เหล่านี้เป็นรายการที่คิดจัดลำดับขึ้น เพื่อให้การพรรณนาเด่นชัด ไม่ คลุมเครือ แต่ดังได้พูดแล้วสำหรับผู้มีความชำนาญ สิ่งต่างๆ ย่อมสำเร็จได้ภายในหัวสมอง

เมื่อได้รายการต่างๆ ดังนี้แล้ว ขั้นที่สองก็คือ เอารายการต่างๆ นี้มาเรียบเรียงให้เป็นลำดับ มีเนื้อเรื่องโยงติดต่อกัน แต่ใช่ว่า จะเขียนลงไปในเรื่องทุกรายการก็หามิได้ แต่อาจหยิบยกเอามาเฉพาะสิ่งที่จะเป็นประโยชน์แก่เรื่องเท่านั้น การเลือกเฟ้นนี้เป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการพรรณนา การพรรณนาฉากนี้เพื่อต้องการให้เรื่องเป็นจริงขึ้น และผู้อ่านก็ไม่ต้องการเห็นอะไรละเอียดมากไปกว่าที่จะให้เข้าใจเรื่องเท่านั้น บรรยากาศ (Atmosphere) ของฉากจะต้องเข้าเค้ากับท้องเรื่อง กล่าวคือ ฉากบ้านร้างนี้ ถ้าท้องเรื่องเกี่ยวกับภูตผีปีศาจ ก็จะต้องพรรณนาให้มีบรรยากาศแตกต่างจากท้องเรื่องที่เกี่ยวกับผู้ร้ายเข้ามาอาศัยทำการทุจริต

การลำดับความว่าจะพูดอะไรก่อนหลังนี้ ไม่มีหลักตายตัว ข้อสำคัญก็คืออย่าให้ความสับสน เช่น ในเรื่องบ้านร้างนั้น เริ่มแต่ปากทางที่เข้าไปยังตัวบ้านผ่านถนน ต้นไม้ริมถนน ตอนหัวโค้งและบันไดบ้านตามลำดับ

รายการ

ภาพ

ความรู้สึก

ประตูบ้าน

ถนน

 

เหล็ก-สนิม-บานพับฝืด ถนนโรยกรวด หญ้าขึ้นรก ใบไม้แห้งหล่นเกลื่อน กิ่งไม้ยื่นออกมาขวางถนนสองข้างทางมีต้นมะขามบ้าง มะม่วงบ้าง มีต้นก้ามปูใหญ่ร่มครึ้ม แปลกใจ

 

ขณะที่เดินไปตามถนน เงียบ-ได้ยินแต่เสียงใบไม้ เสียงนกเล็กๆ ในสุมทุม ได้กลิ่นใบไม้เน่า รู้สึกครึ้มๆ วังเวง
เมื่อเลี้ยวโค้งถึงตัวตึก เห็นมุขกว้าง บันไดทำด้วยหินก้อนใหญ่ๆ มีเถาวัลย์เลื้อยตามเสา ที่หินมีตะไคร่น้ำ

ฯลฯ

        ฯลฯ                  ฯลฯ

ฯลฯ

การที่จะเขียนฉากทองเรื่องเช่นนี้ให้ถูกต้อง ท่านจำเป็นต้องอาศัย หนังสือที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และโบราณคดี ต้องดูภาพเรื่องโบราณคดี ดูแผนที่ เป็นต้น ระวังอย่าเขียนอย่างงมๆ และเลื่อนลอย ถ้าท่านไม่มีความรู้ความเข้าใจในฉาก และเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์อย่างถ่องแท้แล้ว ระวังอย่าเขียนเรื่องที่จำต้องพรรณนาฉากเป็นอันขาด ท่านอาจจะเขียนเรื่องทำนองประวัติศาสตร์ได้บางเรื่อง โดยไม่จำต้องพรรณนาฉากอะไรมากมายนักในข้อ ๔ กล่าวถึงประดิษฐการแห่งการพรรณนาถึงสิ่งที่อยู่ไกลหู ไกลตา เป็นการคิดวาดภาพขึ้นเอง แต่อย่างไรก็ดี สิ่งที่ท่านวาดขึ้นนั้นเกิดจากผลแห่งความจัดเจนแห่งการที่ท่านได้เคยผ่านพบมาแล้ว แต่ถ้าเผอิญ ท้องเรื่องของท่านเกิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา สมมุติว่า พ.ศ.๒๓๐๐ ท่านจะทำอย่างไร อยู่เฉยๆ ท่านจะหลับตาเห็นภาพกรุงศรีอยุธยาเมื่อร้อยๆ ปี มาแล้วไม่ได้เลย แล้วท่านจะเขียนให้ถูกต้องชัดเจนได้อย่างไร

สมมุติว่า ท่านจะต้องเขียนเรื่องอันเกิดขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหง และท่านจำเป็นจะต้องสร้างฉากถนนหนทาง บ้านเรือน และความเป็นอยู่ ของคนในสมัยนั้น ท่านควรค้นหาหลักฐานบางอย่างดังต่อไปนี้

๑. ท่านควรรู้จักภูมิฐานของนครสุโขทัยสมัยพ่อขุนรามคำแหง โดยดูหลักฐานจากศิลาจารึก หนังสือเรื่องเที่ยวเมืองพระร่วง-พระราชนิพนธ์ รัชกาลที่ ๖ ดูให้รู้แผนที่ของเมือง ดูภาพโบราณวัตถุของสุโขทัย และถ้าทำได้ ท่านควรเข้าไปเยี่ยมพิพิธภัณฑ์ดูโบราณวัตถุสมัยสุโขทัย สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้มโนภาพของท่านกระจ่างขึ้น

๒. หาหลักฐานในที่ต่างๆ ที่พอจะให้ความรู้แก่ท่านในเรื่องลักษณะของถนนหนทาง บ้านช่อง ร้านรวง พาหนะ เครื่องแต่งกาย ขนบธรรมเนียม ต่างๆ

๓. เมื่อท่านได้หลักฐานเพียงพอแล้ว จึงลงมือวาดภาพฉาก สิ่งสำคัญ ในตอนนี้ คือท่านต้องทำให้ผู้อ่านเลื่อนลอยจากสภาพปัจจุบัน เข้าไปอยู่ในสมัยพ่อขุนรามคำแหง ในข้อนี้ท่านต้องเป็นผู้นำ เมื่อท่านพรรณนาฉาก ต้องเขียนให้เป็นประหนึ่งว่า ท่านเป็นคนในสมัยนั้นจริงๆ ท่านอาจจะ “มุข” ละครตัวหนึ่งตัวใดในเรื่องขึ้นแทนท่านก็ได้ ให้ตัวละครตัวนี้เป็นผู้บอก เล่าชักนำความรู้สึกของผู้อ่านเข้าไปอยู่ในสมัยที่กล่าวแล้ว

การเขียนเรื่องทำนองประวัติศาสตร์ ผู้เขียนควรจะมีพื้นความรู้ทาง โบราณคดีอยู่บ้าง และควรมีความรู้รอบตัวหลายอย่าง

๖. พาเทติก ฟาลาซี (Pathetic fallacy)
พาเทติก แปลว่า ความซาบซึ้งใจ ฟาลาซี แปลว่า คลาดเคลื่อน
ผิดความจริง คำ พาเทติก ฟาลาซี (Pathetic fallacy) นี้ รัชกิน (Ruskin) ได้กำหนดขึ้น สำหรับโวหารในการพรรณนา กล่าวคือ ภาพธรรมชาติ หรือ ปรากฏการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ทำให้นักเขียนเกิดอารมณ์ซึ้งใจ และนักเขียนรู้สึกว่าสิ่งนั้นๆ คงจะมีอารมณ์เช่นเดียวกับตัวเขา ซึ่งตามที่แท้จริงแล้ว สิ่งนั้น ไม่มีชีวิตวิญญาณอันใดเลย

นักศิลป์ กวี นักประพันธ์ มักมีอารมณ์พิเศษกว่าคนธรรมดา เสียง และรูปที่เข้าสู่สัมผัสของเขา มักไม่เหมือนกับที่เราเห็นและได้ยิน บางทีเขา ยังได้แลเห็นภาพและฟังเสียงซึ่งพ้นไปจากประสาทสัมผัสของเราขึ้นไป ยืนบนสะพานพุทธยอดฟ้า ทอดสายตาไปตามลำนํ้า ท่านจะเห็นกระแสนํ้า เรือแพและตึกรามบ้านช่องทั้งสองฝั่ง มันก็เป็นทิวทัศน์ธรรมดานั่นเอง ลองสวมแว่นสีเขียวแดงหรือเหลือง สิ่งที่เราเห็นจะมีลักษณะแปลกออกไป อาการ เห็นของนักเขียนมักจะเป็นไปทำนองนี้ สำหรับนักเขียนแม้สิ่งต่างๆ จะไม่มีอารมณ์ ไม่มีชีวิต แต่เขาก็มีความรู้สึกว่า สิ่งเหล่านั้นมีอารมณ์ได้เหมือนเขา เมื่อนักเขียนเดินเข้าไปในสำเพ็งในยามดึกสงัด คนเขาอาจเห็นไปว่า ห้องแถวสองฟากพยักพเยิดแก่กัน บางทีเขาจะเห็นว่าลมที่พัดหมวกปลิวจากศีรษะหญิงเป็นลมอันซุกซน เหล่านี้แหละที่เรียกว่า พาเทติก ฟาลาซี ท่าน อาจจะพบ พาเทติก ฟาลาซี ในโวหาร เช่น

พระจันทร์ลอยเศร้าอยู่ในท้องฟ้า
พระอาทิตย์อาลัยที่จะจากโลกไป
ใบหญ้าซบเซาอยู่ในแสงแดด
ดอกกุหลาบยิ้มรับแสงแดดเช้า

การพูดโดยโวหาร พาเทติก ฟาลาซี นี้ มิใช่ของง่าย ถ้าเราไม่มีอารมณ์ที่แท้จริงเกิดขึ้นแล้ว ก็จะทำให้รู้สึกเขินๆ และกลายเป็นของขัน ถ้าท่านจะพูดว่า “พระอาทิตย์อาลัยที่จะจากโลกไป” ท่านต้องมีความรู้สึกซึ้ง และเข้าใจในคำที่ท่านพูด อย่าเขียนโดยนึกว่ามันคงจะอย่างนั้นๆ หรือเอาความรู้สึกของผู้อื่นมาเป็นของท่าน หรือใช้โวหารดาดๆ ตื้นๆ ข้อที่พึงจำไว้ คือ

เมื่อท่านไม่มีอารมณ์อะไร ก็อย่าเขียนอย่างว่าท่านมีอารมณ์นั้น มันจะเป็นความจริงไม่ได้

ถ้าท่านมีอารมณ์แรงเกินไป อารมณ์ก็จะท่วมตัวท่าน แล้วท่านก็จะ เขียนอะไรให้ผู้อ่านเข้าใจไม่ได้เลย คนที่โกรธจัดย่อมจะพูดอะไรไม่ถูก ถ้านักเขียนมีความโกรธ เกลียด ริษยา โลภ รัก พยาบาท ท่วมตัวแล้ว เขาย่อมจะพรรณนาลักษณะเหล่านี้ให้ชัดเจนไม่ได้เลย นักเขียนมีอารมณ์ต่างๆ รุนแรงก็จริง แต่เขาย่อมเป็นนายแห่งอารมณ์นั้นๆ

ตัวอย่าง
(๑)
“สักครู่หนึ่งถึงกลางป่าช้า พระราชาทอดพระเนตรเห็นสิ่งซึ่งเป็นที่น่ารังเกียจต่างๆ อยู่ล้อมกองไฟ ซึ่งได้เผาศพใหม่ๆ ภูตผีปีศาจปรากฏแก่ตารอบข้าง เสือคำรามอยู่ก็มี ช้างฟาดงวงอยู่ก็มี หมาในซึ่งขนเรืองๆ อยู่ในที่มืดก็กินซากศพ ซึ่งกระจัดกระจายเป็นชิ้นเป็นท่อน หมาจิ้งจอกก็ต่อสู้กันแย่งอาหาร คือ เนื้อและกระดูกมนุษย์ หมีก็ยืนเคี้ยวกินตับแห่งทารก ในที่ใกล้กองไฟเห็นรูปผีนั่งยืน และลอยอยู่เป็นอันมาก ทั้งมีเสียงลมและฝน เสียงสุนัขเห่าหอน เสียงนกเค้าแมวร้อง และเสียงกระแสนํ้าไหลกลบกันไป”

คัดจากเรื่อง เวตาล ของ น.ม.ส. ตอนพระราชาวิกรมาทิตย์ และพระราชบุตรดำเนินเข้าไปในป่าช้า

ข้อสังเกต
๑. จะเห็นว่าคำที่ใช้เป็นคำที่มีความหมายทางรูปธรรมเกือบทั้งหมด

๒. เมื่อเราอ่าน เราจะรู้สึกเหมือนว่าเราได้เข้าไปอยู่ที่นั่นด้วย ทั้งนี้เพราะผู้เขียนตั้งให้พระราชาวิกรมาทิตย์ทำหน้าที่เห็นสิ่งต่างๆ แทนท่าน

๓. เรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับสิ่งลี้ลับอัศจรรย์ ภาพที่พรรณนานี้ ล้วนเกิดจากประดิษฐการทั้งสิ้น

(๒)
เรื่องต่อไปนี้คัดจากพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๕ เรื่องพระทันตธาตุ เมื่อ
รัชกาลที่ ๕ เสด็จเมืองแกนดี และได้เสด็จไปนมัสการพระบรมธาตุ ได้ทรงพรรณนาถึงลักษณะพระบรมธาตุ และสถานที่ประดิษฐาน นับเป็นการพรรณนาจากของจริง ตัวอย่างนี้เพื่อให้ผู้ศึกษาแลเห็นอำนาจแห่งการสังเกตพิจารณา

“พระธาตุนั้นร้อยอยู่ในห่วงลวด ซึ่งปักอยู่ในกลางดอกอุบลทำด้วย ทองคำ มีพระเจดีย์ครอบเป็นชั้นๆ จนถึงชั้นในที่สุดเป็นกล่องประดับด้วย เพชรพลอย พระเจดีย์บางองค์ในเจ็ดชั้นนั้นประดับเพชรพลอยงามดี องค์นอกที่สุดมีสังวาลหลายอย่าง สังเกตได้แต่ว่าเป็นอย่างพม่านั้นสายหนึ่งสวมอยู่ สัณฐานพระธาตุก็ไม่ผิดอันใดกับที่จำลองนัก แต่จะเป็นด้วยเก่าหรือสีดอกพิกุลแห้ง จึงได้มีสีคลํ้ามัวเหมือนงาที่ทำเครื่องมืออันใดใช้เก่าๆ แต่ไม่เป็นสีเดียวเสมอกัน

ที่ซึ่งเก็บนั้นเป็นห้องไม่มีหน้าต่าง มีแต่ประตูด้านเดียว มีกุญแจ สามดอก ผู้ซึ่งรักษาวัดซึ่งเรียกว่า รเตมหัตตเมยะ ซึ่งแต่งตัวนุ่งผ้ายาว ๒ วา เก็บดอกหนึ่ง พระเก็บสองดอก ในนั้นมีสิ่งอื่นๆ ที่มีราคาหลายอย่าง แต่ยากที่จะเห็นได้ถนัด เพราะมืดต้องจุดไฟ และไม่จุดหลายดวงนัก ดูเหมือนเจ้าพนักงานผู้รักษาจะพอใจให้เป็นเช่นนั้นด้วย การที่จะบูชาด้วยประทีป ย่อมไม่สู้เป็นที่ต้องใจของผู้รักษา

ข้าพเจ้าได้เห็นหนังสือเขียนด้วยลานทองสองผูก ผูกหนึ่งซึ่งเข้าใจว่า ส่งไปแต่สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์กรุงสยาม ๑๕๐ ปีเศษมาแล้ว ข้าพเจ้า พลิกดู ร้อยลานกลับต้นเป็นปลาย เขียนด้วยอักษรขอม ขึ้นต้นเป็นวิธีอุปสมบท และกฐิน ผูกและถอนสีมา ข้างปลายมีบานแผนกเขียนแปลร้อย ได้คัดที่จารึกนั้นมา ศักราชลงว่า ๑๐๐๕ ถ้าจะเข้าใจโดยคำว่าพันห้า ก็เป็นก่อนเวลาแผ่นดินบรมโกษฐ์ และทั้งสังเกตดูถ้อยคำในนั้นประกอบด้วยรูปตัวอักษรเห็นเป็นหนังสือขอมที่เขมรเขียน หาใช่ไปจากกรุงสยามไม่ อีกผูกหนึ่งนั้น ไม่ได้ดูด้วยผู้รักษาหวงแหนเสียเหลือเกิน ราวกับว่าผู้หนึ่งผู้ใด จะวิ่งราวไปจากที่นั้น

ยังมีพระแก้วอีกองค์หนึ่ง ซึ่งหน้าตักกว้างประมาณ ๔ นิ้ว สังเกต ดูไม่ใช่ฝีมือลังกา สีคล้ายมรกตส่องโปร่ง มีที่ชำรุดบ้าง จะสังเกตว่าเป็นเนื้อศิลาหรืออันใดก็ยาก ด้วยสว่างไม่พอ และเขาไม่สู้จะให้ดูนานนัก ทั้งในห้องนั้นก็ไม่มีทางลมซึ่งจะหายใจได้มาก คนก็เข้าไปเต็มแน่น ถ้าผู้ใด
ยืนอยู่ช้าอาจเป็นลมได้ ด้วยต้องการลมสำหรับหายใจ…”

(๓)
ตอนนี้คัดจาก “Romance ซ้อนเรื่องจริง” นวนิยายขนาดสั้นของ “ดอกไม้สด” ตอนที่คัดมานี้เป็นตอนที่ตัวละครในเรื่องพากันไปฟังเทศน์มหาชาติที่วัด สมณาราม ซึ่งตั้งอยู่บนเขาวัง

“…ระยะทางไม่ถึงเส้นก็ถึงตีนเขา ขึ้นบันไดซีเมนต์สูงไม่ใช่น้อย จึงบรรลุถึงอาราม ทางซ้ายมือมีกุฏิสงฆ์เล็กๆ ปลูกอยู่เป็นหมู่ ทางขวามือ มีต้นสนขึ้นเป็นหย่อมๆ เดินตรงไปอีกถึงประตูช่องกุฏิ ต่อจากนั้นจึงเห็นองค์พระอุโบสถเล็กกะทัดรัด ตั้งอยู่บนเขาเล็กยอดหนึ่ง แต่ในเวลากลางคืน แสงจันทร์ขับสีขาวที่ฝาโบสถ์นั้นให้เด่นชัดขึ้นกว่าสิ่งใดๆ จึงดูประดุจว่า พระอุโบสถนั้นลอยเด่นอยู่กลางอากาศ พอเข้าเขตพัทธสีมาก็ได้เห็นแสงสว่างแห่งโคมและเทียนส่องจ้าออกมาตามหน้าต่าง ภายในพระอุโบสถมีคนสดับพระสัทธรรมเทศนาอยู่แออัดจนล้นหลามออกมาถึงภายนอกประตู เมื่อพระยานรราชและคณะไปยืนอยู่ที่ตรงประตูนั้น ได้ทำให้สมาธิอุบาสกอุบาสิกาเลื่อนลอยไปครู่ใหญ่ โดยที่ทุกคนพากันหันมามองดูท่าน ครั้นเห็นลักษณะว่าเป็นคนใหญ่โตก็หลีกทางให้เข้าไปข้างใน ขณะนั้นพระสงฆ์กำลังแสดงเทศนา เรื่องประถมสมโพธิ สำเนียงของท่านแปร่งอย่างสำเนียงชาวเพชรบุรี จึงทำให้ฟังเข้าใจยาก ดังนั้นชาวกรุง เว้นแต่เจ้าคุณนรราชจึงนั่งสอดส่ายดูสิ่งต่างๆ ในโบสถ์นั้นแทนที่จะฟังเทศนา
แท้จริงภาพภายในพระอุโบสถนี้เป็นภาพที่แปลกกว่าความงามใดๆ ทั้งสิ้น แสงโคมที่ห้อยลงมาจากเพดานรวมทั้งแสงเทียนบนที่บูชาส่องแสงสว่างจ้าทั่วบริเวณ พระประธานองค์ใหญ่ทรงไว้ซึ่งรัศมีอันไพโรจน์ ลวดลายที่เขียนด้วยทองตามฝาผนังและเพดานเบ่งสีสุกปลั่งขึ้น เทียนขึ้ผึ้งเล่มใหญ่ หลายสิบเล่มล้วนแต่ถูกหุ้มห่อด้วยดอกไม้สดสีต่างๆ อันชาวบ้านได้ร้อยกรองอย่างเต็มฝีมือตามวิสัยบ้านนอก ผ้ากาสาวพัสตร์สีเหลืองที่พระภิกษุครองอยู่ ธรรมาสน์ปิดทองล่องชาด สิ่งเหล่านี้รวมกันเข้าแล้วดูเป็นภาพที่สดใสและตระการตาน่าชมยิ่งนัก นอกจากนั้นในสีหน้าของอุบาสกอุบาสิกา ที่มาชุมนุมกันในที่นี้ ล้วนแต่มีลักษณะเคร่งขรึมเยือกเย็นปานๆ กันทั้งสิ้น

อุบาสกมีทั้งแก่และหนุ่ม แต่งก่ายด้วยเสื้อผ้าเก่าๆ แต่กระนั้นก็ยังดูสะอาดตา อุบาสิกาที่เป็นชี สวมเครื่องแต่งกายขาวบริสุทธิ์ ชาวเมืองที่สาวๆ สวมเครื่องแต่งกายสีฉูดฉาด พวกลาวซ่งนุ่งซิ่นพื้นดำลายขาว สวมเสื้อดำทั้งตัว แต่มีกระดุมเงินขัดเป็นมันวาวติดอยู่ที่หน้าอกเป็นระดับตั้งแต่เอวจนถึงคอ นอกเสื้อมีสไบสีชมพูแก่หรือสีแสดแช้ด สไบเฉียงตัดกับสีดำของเสื้อ และ สีขาวของลูกกระดุม บนศีรษะประดับด้วยดอกไม้สีเดียวกับผ้าห่ม ทุกๆ คน นั่งพับเพียบพนมมือ ตาจ้องจับอยู่ที่หน้าของพระสงฆ์ ผู้สถิตอยู่บนธรรมาสน์”

ขอให้สังเกตการลำดับความ และการพรรณนาสภาพของตอนนี้ ตอนที่พรรณนาการแต่งกายของลาวซ่ง นับว่าชัดเจนดี

คำและความบางอย่างที่ท่านควรรู้
๑. ลม (กริยา) โกรก พัด โชย กระโชก กระพือ
ฝน (กริยา) ตก โปรย พรำ สาด เท

๒. สงัด กับ เงียบ ไม่เหมือนกัน
เงียบ มักหมายถึง เงียบเสียง ส่วน สงัด หมายถึง เงียบหมด สงบนิ่ง ไม่มีผู้คน อย่างเช่นในคำที่ว่า ดึกสงัดสัตว์สิงห์ไม่ส่งเสียง -ดึกสงัดลมพัดมาอ่อนๆ -ครั้นเวลาดึกสงัดเขาสะพัดสามรอบเข้าล้อมเขตนิเวศนวัง

๓. ฤดูใบไม้ผลิได้โปรยปรมาณูสีเขียวสดลงมาจากห้องฟ้าสีคราม เบื้องบน
ท่านเข้าใจว่ากระไร ถ้าไม่เข้าใจลองถามคนอื่น ถ้าใครๆ ไม่เข้าใจ ท่านอย่าเขียนข้อความเช่นนี้

๔. หล่อนโถมเข้ากอดร่างของข้าพเจ้าระดมจูบกราวลงมาที่แก้มและตา
โวหารเผ็ดร้อนดี และคำว่า กราว ก็ให้ความหมายดี

๕. ดอกเห็ดร่วงโรย
พิเคราะห์ดูว่า ดอกเห็ดจะร่วงได้หรือไม่

๖. เสียงเพลงสะวิงตํ่าๆ ภาษาต่างประเทคอ้อแอ้ๆ ออกมาจากห้องพักหัวมุม
ประโยคนี้ความไม่ชัด คำ อ้อแอ้ หมายถึงเสียงเด็กหรือคนเมา

ภาษาต่างประเทศนี้ถ้าใช้ เพลงฝรั่งจะแคบเข้า ต่างประเทศนั้น นอกจากไทยแล้ว เป็นต่างประเทศทั้งนั้น เสียงเพลงสะวิง ต่ำๆ ความพร่ามาก

(ท่านควรมีสมุดเล่มหนึ่ง บันทึกคำที่ท่านอ่านแล้วสะดุดใจ หรือเป็นที่ ชอบใจของท่าน)

ที่มา:เปลื้อง ณ นคร

ลักษณะของข้อความ

บทนี้ท่านอาจรู้สึกว่าเข้าใจยาก ฉะนั้น ขอให้อ่านด้วยความตรึกตรองระมัดระวัง จะคัดข้อความตอนหนึ่งจากเรื่อง รักษาชาติ ศาสนา ในหนังสือปลุกใจเสือป่า พระราชนิพนธ์ รัชกาลที่ ๖ ดังต่อไปนี้

๑. “คำว่า “ชาติ” นี้ ตามศัพท์เดิมแปลว่า ตระกูล หรือประเภทแห่งบุคคล เช่น ชาติพราหมณ์ คือ ตระกูลบุคคล ที่เป็นนักบุญติดต่อเนื่อง กันหลายๆ ชั่วคน ชาติกษัตริย์ คือ ตระกูลบุคคลที่เป็นนักรบตามกัน ดังนี้ เป็นต้น “ชาติ” ก็แปลตรงๆ ว่ากำเนิดเท่านั้น ชาติพราหมณ์ ก็คือเกิดมาเป็นพราหมณ์ ชาติกษัตริย์ก็คือเกิดมาเป็นกษัตริย์ ต่อมมาภายหลังไทยเราจึงมาใช้เรียกคณะชนที่อยู่รวมกันว่า ‘‘ชาติ” ซึ่งอันที่จริงก็ไม่ผิด เพราะคน “ชาติไทย” ก็คือเกิดเป็นไทย เกิดในหมู่ชนที่เรียกนามตนว่า “ไทย”

๒. ส่วนเหตุที่เราทั้งหลาย ควรจะรักชาติของเราอย่างไร ควรรู้สึกเป็นหน้าที่ต่อสู้ศัตรู เพื่อป้องกันรักษาชาติเราอย่างไร ควรกระทำหน้าที่ต่อชาติอย่างไร ไม่จำเป็นต้องมาอธิบายซ้ำอีก

๓. ภัยอันตรายที่จะเป็นเครื่องทำลายชาติอาจจะเกิดขึ้นและมีมาได้
ทั้งแต่ภายนอกทั้งที่ภายใน อันตรายที่จะมีมาแต่ภายนอกนั้น ก็คือข้าศึกศัตรูยกมาย่ำยีตีบ้านตีเมืองเรา การที่ข้าศึกศัตรูจะมาตีนั้น เขาย่อมจะต้องเลือกหาเวลาใดเวลาหนึ่ง ซึ่งชาติกำลังอ่อนอยู่ และมิได้เตรียมตัวไว้พร้อมเพื่อต่อสู้ป้องกันตน เพราะฉะนั้นในบทที่ ๒ ข้าพเจ้าจึงได้เตือนท่านทั้งหลายอย่างได้เผลอตัว แต่ข้อสำคัญที่สุด ซึ่งเป็นเครื่องทอนกำลัง และทำให้เสียหลักความมั่นคงของชาติ คือความไม่สงบภายในชาตินั่นเอง จึ่งควรอธิบายความข้อนี้สักหน่อย

๔. ความไม่สงบที่จะบังเกิดขึ้นภายในเมืองใด คงจะเป็นไปเพราะ
เหตุที่ราษฎรถูกกดขี่ และไม่ได้รับความยุติธรรมประการหนึ่ง……..ฯลฯ”
(ตัวเลขข้างหน้านั้น ได้เขียนกำกับไว้เพื่อสะดวกแก่การชี้แจง)

เมื่อท่านอ่านจบแล้ว จะเห็นได้ว่าข้อความที่ท่านอ่านนี้ ไม่ใช่เรื่อง บันเทิงคดี เป็นบทความ เป็นสารคดี ในฐานะที่ท่านจะบำเพ็ญตนเป็นนักเขียน ท่านอาจมีโอกาสเขียนเรื่องทำนองบทนำในหนังสือพิมพ์ เขียนบทความ สารคดีต่างๆ เขียนข่าว ฉะนั้น การศึกษาให้เข้าใจลักษณะของการเรียบเรียงข้อความ จึงเป็นสิ่งจำเป็น และแม้ในบันเทิงคดีในบางคราวก็ต้องเขียนเป็นข้อความดังกล่าวนี้เหมือนกัน

ให้สังเกตว่าตั้งแต่ข้อ ๑ ถึง ๔ มีย่อหน้า การย่อหน้านี้เรียกในภาษา ไวยากรณ์ว่ามหรรถสัญญา แปลว่า เครื่องหมายแสดงข้อความตอนหนึ่งๆ เมื่อเขียนจบข้อความตอนหนึ่ง ก็ต้องย่อหน้าครั้งหนึ่ง ตามตัวอย่างมีย่อหน้า ๔ แห่ง ก็คือ มีข้อความต่างๆ กันอยู่สี่ตอน

ท่านอ่านตอนเลข ๑ จะเห็นว่าความตอนนี้เกี่ยวกับเรื่องความหมาย ของคำว่า ชาติ ตอนเลข ๒ เท้าความที่ได้กล่าวมาแล้ว ตอนที่ ๓ กล่าว ถึงภัยของชาติ ตอนที่ ๔ กล่าวถึงความไม่สงบอันเป็นภัยอย่างหนึ่งของชาติ

ทั้ง ๔ ตอนนี้ ข้อความย่อมต่อเนื่องกัน และมีข้อความมุ่งที่จะให้ท่านเข้าใจถึงเรื่องรักชาติศาสนาอันเป็นหัวข้อของบทความบทนี้ ถ้าจะเปรียบก็เหมือนเรือน ส่วนใหญ่ที่ประกอบขึ้นเป็นเรือนก็คือ เสา พื้น ฝา หลังคา และสิ่งเหล่านี้ก็มีส่วนประกอบย่อยๆ ลงไปอีก บทความเรื่องหนึ่งย่อมประกอบด้วยข้อความหลายๆ ตอน ข้อความตอนหนึ่งย่อมประกอบด้วยประโยค ประโยคหนึ่งย่อมประกอบด้วยคำ เสา พื้น ฝา หลังคา เมื่อยังแยกกันอยู่ ก็จะเป็นรูปเรือนไม่ได้ฉันใด คำและประโยค ข้อความ ถ้าไม่เรียบเรียง ประกอบกันให้มีเนื้อความติดต่อกัน ก็จะเป็นบทความไม่ได้ฉันนั้น

ท่านได้ศึกษาเรื่อง คำ เรื่องประโยค มาแล้ว ในที่นี้ก็จะได้ศึกษา เรื่องการเรียบเรียงประโยคขึ้นเป็นข้อความ

ข้อความตอนหนึ่งๆ คือ ประโยค จะเป็นประโยคเดียวหรือหลาย ประโยคก็ได้ แสดงข้อความอย่างใดอย่างหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียว

เช่นในตอนที่ ๑ กล่าวถึงเรื่องความหมายของชาติ ตอนที่ ๓ กล่าว ถึงภัยของชาติ ในการเรียบเรียงข้อความตอนหนึ่งๆ นั้น มีหลักดังนี้

ใจความ
เพื่อไม่ให้ท่านเข้าใจสับสน ขอให้สังเกตว่า บทความ คือ ตัวเรื่องๆ หนึ่ง ข้อความ คือเนื้อเรื่องตอนหนึ่งๆ ใจความ คือ จุดสำคัญของเรื่อง ในตอนที่ ๑ ตั้งแต่ “คำว่า ‘ชาติ’…ถึง… ‘ไทย” เป็นข้อความ ส่วนใจความ ก็คือ ความหมายของชาติ

เมื่อท่านมีใจความอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพูด ท่านจะต้องหาทางทำให้ คนเข้าใจ ซึ่งจะทำได้ดังนี้

ก. อธิบายความหมายของเรื่องที่จะพูด
ข. ยกตัวอย่างให้แลเห็น
ข้อ ก. และ ข. จะเห็นได้ในตอน ๑ คือ อธิบายคำว่า ชาติ พร้อมกับยกตัวอย่าง
ค. แสดงเหตุผลแห่งความคิดของท่าน
ง. อธิบายแจกแจงเรื่องให้ละเอียดออกไป
ข้อ ง. นี้ ท่านจะเห็นได้ในตอน ๓
จ. อ้างหลักฐานสนับสนุนความคิดของท่าน

ใจความ นี้เรียกในภาษาอังกฤษว่า Topic บ้าง Theme บ้าง ใน ข้อความตอนหนึ่งๆ ต้องมีประโยคสำคัญแสดงใจความที่ท่านต้องการพูด ประโยคนี้ท่านจะวางไว้ตอนต้น ตอนกลาง หรือตอนปลายก็ได้ แต่ที่ดีที่สุด คือ อยู่ตอนต้นของข้อความ เพราะดึงดูดความสนใจได้ดี ในตัวอย่าง ตอนหมายเลข ๑ และ ๓ ใจความของเรื่องอยู่ที่ประโยคแรกทั้งสองตอน ข้อความตอนหนึ่งๆ ต้องมีลักษณะ ๓ อย่าง คือ

๑. เอกภาพ (Unity)
ในข้อความตอนหนึ่งๆ เมื่อท่านจะพูดอะไรก็ให้พูดแต่เฉพาะเรื่องนั้นเรื่องเดียว ข้อความทุกอย่างจะต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ท่านต้องการพูด เท่านั้น อย่างนี้เรียกว่า เอกภาพ ข้อความทุกตอนต้องมีเอกภาพ จึงจะนับว่า ดี วิธีที่ท่านจะตรวจว่า ข้อความที่ท่านเขียนมีเอกภาพหรือไม่นั้น ให้ถามตัวเองว่า ข้อความที่เขียนนั้นมีใจความสำคัญกี่อย่าง ถ้ามีแต่อย่างเดียวก็ เรียกว่ามี เอกภาพ

๒. สัมพันธภาพ (Coherence)
สัมพันธภาพ ได้แก่ความเกี่ยวเนื่องของประโยค ประโยคที่เขียนต้องมีความต่อเนื่องเท้าถึงกัน ท่านจะต้องรู้จักเรียงประโยคให้มีความคิดติดต่อ เป็นลำดับ อย่าให้สับสนกัน

การที่ข้อความจะเกี่ยวโยงกันได้นั้นโดยปกติเราใช้คำต่อซึ่งเรียกใน ไวยากรณ์ว่าคำสันธาน

๓. สารัตถภาพ (Emphasis)
สารัตถภาพ ได้แก่การเน้นใจความสำคัญ ในข้อความตอนหนึ่งๆ ย่อมประกอบด้วยใจความและพลความ ใจความนั้นเป็นสิ่งที่เราต้องการให้ ผู้อ่านเข้าใจชัดเจน ฉะนั้น อะไรที่เป็นใจความ เราต้องพูดสิ่งนั้นให้มาก ส่วนพลความกล่าวเฉพาะที่จำเป็น การที่เขากล่าวกันว่า พูดนํ้าท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหรงนั้นคือ พูดพลความมากมายเกินสมควร ที่เป็นใจความมีนิดเดียว

อีกประการหนึ่ง ใจความต้องอยู่ในที่เด่น ในข้อความตอนหนึ่งที่เด่น คือ ตอนต้นกับตอนท้าย

เอกภาพ (Unity) สัมพันธภาพ (Coherence) สารัตถภาพ (Emphasis) สามอย่างนี้เป็นหลักสำคัญแห่งการเรียบเรียงข้อความตอนหนึ่งๆ แต่คำ สามคำนี้เป็นคำบัญญัติเฉพาะ เมื่อท่านอ่านคำอธิบายแล้ว บางท่านคงจะรู้สึกว่าเข้าใจยาก จึงขอยกตัวอย่างมาชี้ให้เห็นอีกอันหนึ่ง

ตัวอย่างนี้คัดมาจาก “เรื่องของนักเรียนเมืองอังกฤษ” ซึ่ง น.ม.ส. (กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์) ทรงนิพนธ์ไว้เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๙ แต่นับถือกันว่า เป็นความเรียงที่ดีเรื่องหนึ่ง

ก. ๑. เมืองเวนิสเป็นเมืองประหลาดเมืองหนึ่งในโลกนี้ คือเป็นเมืองที่มีคลองแทนถนนไปทุกแห่งทุกถนน ๒. คนบางจำพวกเขาว่ากรุงเทพฯ เรานี้เป็นเมืองเวนิสในทิศตะวันออก เพราะมีคลองมากเหมือนกัน ส่วนตัว ข้าพเจ้าเองนั้นจะได้เห็นกรุงเทพฯ เหมือนเมืองเวนิสมากกว่าเรือนยายกะตาในดวงพระจันทร์นั้นหามิได้ ถ้าจะเรียกกรุงเทพฯ ว่าเหมือนเมืองเวนิส เหตุต่างเมืองต่างมีคลองแล้ว จะเรียกกรุงเทพฯ ว่าเหมือนลอนดอนก็ได้ เพราะต่างเมืองก็ต่างมีถนนเหมือนกัน

ข. ๓. คลองในเมืองเวนิสนั้นมีประมาณ ๑๕๐ คลอง มีสะพาน ๓๗๘ สะพาน ทำให้เมืองที่ยาว ๑๐,๐๐๐ เส้น กว้างถึง ๓,๖๐๐ เส้น เป็น เกาะเล็ก ๆ ๆ ๆ ไปถึง ๑๑๗ เกาะ ๔. เรือที่ใช้นั้นคือ เรือโบด หัวงอน ท้ายงอน ที่เรียกกอนโดลา มีประมาณ ๕,๐๐๐ ลำ ทาดำทั้งสิ้น ด้วยมี กฎหมายบังคับให้เป็นดังนั้น เวลามีงานอะไรแล้วเรือเหล่านี้มาประชุมกัน ดูงามมาก ๕. ตึกบ้านเรือนทั้งหลายนั้นเป็นอย่างที่เขาเรียกว่า หัวกะไดลงนํ้า โดยมาก และขอให้ผู้อ่านคิดดูว่าคลองแคบๆ ขนาดสักครึ่งคลองตลาดดังนี้ มีกำแพงเรือนลงมาจดน้ำทั้งสองข้าง และกำแพงนั้นเป็นกำแพงสูงอย่างเกลี้ยงๆ ไกลจากความสะอาดเป็นอันมาก ดังนี้ คลองนั้นจะงามหรือไม่

ค. ๖. คลองทั้งเวนิสเป็นคลองเล็กๆ เช่นนี้ทั้งนั้น มีใหญ่อยู่ที่เรียก แกรนด์คแนลคลองเดียว ๗. ใครจะเห็นว่าเมืองเวนิสเป็นเมืองงามก็ตามใจ ข้าพเจ้าเองเป็นไม่เห็นด้วยคนหนึ่ง ถ้าจะไปเที่ยวแต่สามวันสี่วันแล้ว จะว่าสนุกก็ตามที แต่ถ้าไปอยู่ตั้งสองอาทิตย์ขึ้นไปแล้ว ถ้าใครชอบคนนั้นก็ไม่มีความเห็นอย่างเดียวกับข้าพเจ้า

ง. ๘. ถนนในเมืองเวนิสนั้น ใหญ่สักเท่าถนนสำเพ็งเรานี้เอง มีที่เขื่องหน่อยอยู่แต่ถนนริมคลอง ที่เรียก แกรนด์คแนล เท่านั้น ๙. ร้านขายของมีดีๆ พอใช้ๆ ได้ เพราะการช่างประเทศอิตาลีเป็นเก่งทีเดียว ของ
ที่ซื้อนั้นราคาไม่สู้เสมอกันนัก บางร้านก็ยังต่อลดราคากันได้อยู่

จ. ๑๐. เมืองเวนิสเป็นเมืองมีชื่อเสียง มีคนไปมามาก และเป็นเมือง
มีอำนาจมาแต่โบราณดังที่กล่าวมาแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าจะเล่าให้ละเอียดแล้วเห็นจะเต็มสมุดสามก๊ก เป็นอันต้องเขียนแต่เล็กน้อย ที่ระลึกได้ในเวลานี้เท่านั้น

ตอน ก. ข. ค. ง. และ จ. รวมกันเป็นบทความเรื่องหนึ่ง

ถาม-ใจความของบทความเรื่องนี้คืออะไร ?
ตอบ-คือเรื่องพรรณนาเมืองเวนิส

ถาม-ใจความของตอน ก. ข. ค. ง. คืออะไร ?
ตอบ-ใจความตอน ก. เมืองเวนิสเป็นเมืองประหลาด ตอน ข. เมืองเวนิส มีคลองมาก ตอน ค. คลองใหญ่ของเมืองเวนิส ตอน ง. ถนนในเมืองเวนิส

ถาม-อะไรเป็นพลความในตอน ก. ?
ตอบ-พลความในตอน ก. คือประโยคต่างๆ ที่อยู่ในหมายเลข ๒ พลความเหล่านี้ อธิบายแจกแจงข้อความออกไป เพื่อให้ผู้อ่านได้ความรู้ความเข้าใจเรื่องเมืองเวนิสมากขึ้น โดยการนำเมืองเวนิสมาเปรียบกับกรุงเทพฯ และพลความเหล่านี้ล้วนเพ่งจะเสริมความในประโยคหมายเลข ๑ ให้ชัดเจนกว้างขวางขึ้น

ถาม-อะไรเป็น เอกภาพ สัมพันธภาพ และสารัตถภาพ ในตอน ข. ?
ตอบ-เอกภาพในตอน ข. นี้คือ การกล่าวด้วยเรื่องคลอง ไม่มีเรื่องอื่น ปนเลย แม้ในประโยคหมายเลข ๕ จะกล่าวถึงตึกบ้านเรือน ก็เกี่ยว เนื่องกับคลองนั้นเอง สัมพันธภาพ จะเห็นได้ว่าเนื้อเรื่องติดต่อกันเป็นลำดับ คือ พูดเรื่องคลอง-สะพาน-เกาะ-เรือ-และตึกที่อยู่ริมคลอง สารัตถภาพนั้น จะเห็นว่าในตอน ข. นี้พูดเรื่องคลอง ตอนที่เด่น ก็คือตอนต้น ขึ้นถึงก็กล่าวเรื่องคลองทีเดียว และประโยคต่อมาก็พูด เรื่องคลอง ขยายความตอนต้นอีกหลายประโยค

ถาม-อะไรเป็นคำต่อให้ข้อความเกี่ยวโยงกันบ้าง ?
ตอบ-คำต่อไปนี้เป็นคำที่ทำให้ข้อความต่อกัน มีคำว่า “เพราะ-ส่วน-ถ้า-ที่- ด้วย-และ-แต่-บาง-เพราะฉะนั้น” ถ้าเอาคำเหล่านี้ออกเสียแล้ว ความจะขาดห้วน

อนึ่งขอให้สังเกตคำที่ว่า “เป็นเกาะเล็กๆๆๆ”ใช้ไม้ยมกถึง ๓ อัน ความผิดกับ “เล็ก ๆ ” มากทีเดียว

ที่มา:เปลื้อง ณ นคร

ลักษณะแห่งประโยค

บางทีจะเกิดความสงสัยว่า คำ ประพันธศาสตร์ นี้หมายถึงอะไร คำประพันธศาสตร์นี้ได้บัญญัติขึ้นแทนคำภาษาอังกฤษว่า Rhetoric ซึ่งหมายถึง วิชาแห่งการจัดคำพูดให้เหมาะสมกับ เรื่องและโอกาส หรืออีกนัยหนึ่งหมายถึง ศิลปะแห่งการใช้ถ้อยคำให้บังเกิดผลสมตามความมุ่งหมาย วิชานี้เป็นรากฐานของการประพันธ์ ไม่ว่าเราจะเขียนเรื่องอะไรต้องอาศัยหลักประพันธศาสตร์ทั้งสิ้น

คำว่า ประพันธศาสตร์ หรือ Rhetoric นี้ ฟังดูเป็นคำใหญ่โต แต่ตามธรรมดาศิลปะแห่งการเรียบเรียงถ้อยคำนี้ ย่อมมีอยู่ในตัวคนไม่มากก็น้อย ถ้าเราได้ฟังยายแก่ขอทาน เล่าประวัติของแก เราได้ฟังจนเราเปล่ง อุทานว่า “โธ่ น่าสงสาร” ดังนี้ แปลว่า ยายแก่ขอทานนั้นได้พูดปลุกอารมณ์อย่างหนึ่งขึ้นในจิตของเราแล้ว แต่แกจะเข้าใจหรือเคยเรียนวิชาประพันธศาสตร์ก็หาไม่ อย่างไรก็ดี สิ่งต่างๆ ที่เราปรารถนาจะให้เป็นหลักฐาน ให้มีลักษณะที่จะเจริญก้าวหน้า เราต้องจับเอาสิ่งนั้นมาพิจารณาแยกแยะตั้งเป็นหลักวิชาขึ้น อาจารย์ทางประพันธศาสตร์นับตั้งแต่อริสโตเติล (Aristotle) ซิเซโร (Cicero) เป็นต้นมา จึงได้พิจารณาวรรณคดีที่สำคัญๆ ศึกษาห้วงความนึกคิดของมนุษย์ แล้วตั้งเป็นหลักหรือกฎเกณฑ์ขึ้น แต่กฎนี้มิได้ตั้งขึ้นสำหรับบังคับ เป็นเพียงหลักแนะนำและชี้ให้เข้าใจเท่านั้น
บทวรรณกรรมต่างๆ ย่อมประกอบด้วย “คำ” เป็นหน่วยเล็กที่สุด นักประพันธ์เอาคำมาลำดับกันเข้าเป็นข้อความ เรียกในไวยากรณ์ว่า ประโยค แล้วก็เรียงประโยคต่างๆ ให้มีข้อความติดต่อกันเป็นสำดับ รวมเรียกว่า เนื้อความ หรือข้อความตอนหนึ่ง เนื้อความหลายๆ ตอนรวมกันเป็นเรื่องหนึ่ง บทวรรณกรรมต่างๆ จะพ้นไปจาก คำ ประโยค เนื้อความ ไปไม่ได้เลย สิ่งทั้งสามประการนี้ดูเผินๆ ก็เป็นธรรมดาสามัญ แต่ก็เปรียบเหมือนใบไม้ใบเดียว นักพฤกษศาสตร์ อาจให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่เราได้มิใช่น้อย

ต่อไปนี้จะได้แสดง หลักแห่งการนำถ้อยคำมารวมลำดับกันเป็นข้อความ ซึ่งเรียกว่า ประโยค

ลักษณะของประโยค
ประโยค คือคำหลายคำรวมกันแสดงข้อความจบลงเพียงข้อความเดียว

ตัวอย่าง
๑. ทรัพย์นั้นเป็นผลของความอยู่ในธรรม
๒. ความสุขเป็นผลของความมีทรัพย์

เมื่ออ่านตัวอย่างนี้ ท่านจะได้ข้อความสองอย่าง คือ ๑ และ ๒ ข้อ ผิดของนักเขียนในเรื่องนี้มักจะเกิดจากความเลินเล่อ คือ พูดข้อความไป ด้วนเสียเฉยๆ ผู้อ่านยังไม่ทราบเรื่องบริบูรณ์ก็ขึ้นข้อความใหม่ ฉะนั้นเมื่อเขียนเรื่องจงระวัง อ่านประโยคทุกประโยคที่เขียนลงไปว่าได้ความสมบูรณ์ หรือขาดห้วน

ถ้านำเอาประโยคต่างๆ มาพิจารณา จะเห็นลักษณะต่อไปนี้

ประโยคสามัญที่สุด ซึ่งเรียกในภาษาไวยากรณ์ว่า เอกัตถประโยค ประโยคชนิดนี้ย่อมมี

ก. ประธาน      กริยา
โจโฉ        โกรธ
แม่ฉวี       ยิ้ม
ข. ประธาน      กริยา   กรรม
เทา         ถอด    เสื้อ
นายบรรจง   ยิง     นก

ค. ประธาน      กริยา   คำประกอบกริยา
รถ          ตก     คลอง
นายขจร      เป็น    นักมวย

นี่เป็นแบบประโยคอย่างสามัญที่สุด เป็นความรู้ของนักเรียนชั้นประถม สามประถมสี่ แต่ที่พบเขียนผิดนั้นคือในข้อ ข. ซึ่งเกิดจากความไม่รอบคอบเป็นส่วนมาก ถ้าท่านใช้ ประธาน กับ กริยา แล้ว กริยานั้นยังไม่บอกความบริบูรณ์ก็ต้องหา กรรม หรือคำประกอบ มาเติมให้ได้ความ และถ้ามี กริยา ก็ต้องมี ประธาน

ประโยคที่ผู้เริ่มเขียนมักจะผิดเป็นดังนี้
๑. งานฉลองรัฐธรรมนูญ เจ้าหน้าที่ได้จัดให้มีทั่วพระราชอาณาจักร งานฉลองรัฐธรรมนูญเป็นกรรมของกริยา จัด ควรเอาไว้ติดหลัง จัด และการที่เอามาไว้ข้างต้นประโยคดังนี้ ก็ไม่ได้ทำให้ความเด่นขึ้นเลย

๒. รองเท้า มันเป็นเครื่องแต่งกายที่จำเป็น มัน เป็นประธานที่ใส่เข้าไปโดยไม่มีประโยชน์ เพราะคำ รองเท้า ก็มีอยู่แล้ว

๓. ความสุข ซึ่งเป็นของข้าพเจ้าสักครู่นี้ มันได้หายไปสิ้น ความสุข เป็นประธาน แต่ไม่มีกริยา ตัวกริยาของความสุข คือ ได้หาย แต่คำว่า มัน มาเป็นประธานซ้อนอยู่ เช่นนี้ผิด คำว่า มัน ไม่ต้องใช้

๔. ศรีปราชญ์ ที่คนทั้งหลายยกย่อง เขาเป็นปฏิภาณกวีที่รุ่งโรจน์ เช่นเดียวกับข้อ ๓ คำว่า “เขา” ไม่ต้องใช้

๕. เขานึกถึงเรื่องอิเหนาที่ได้คุยกับเพื่อนๆ เมื่อตอนเช้า ประโยคนี้ไม่ชัด ต้องเติม “เขา” ระหว่างคำว่า ที่ กับ ได้ เพราะคำ ได้คุย ไม่มีประธาน
แต่ประโยคสามัญย่อมไม่พอกับความต้องการของนักเขียน ที่จะบรรยายข้อความอย่างหนึ่งอย่างใด ฉะนั้นเราจึงขยายประโยคออกไป ซึ่งจะทำได้ ๒ วิธี คือ

ก. หาคำมาขยาย
ข. หาข้อความมาขยาย

คำ ที่มาขยายนั้นได้แก่คำวิเศษณ์ หรือที่เคยเรียกกันว่า คำคุณศัพท์ และกริยาวิเศษณ์ ส่วนข้อความที่มาขยายได้แก่ประโยคอื่นๆ ซึ่งมีเนื้อความเกี่ยวเนื่องกัน และการที่ความจะเกี่ยวเนื่องกันได้ก็ต้องอาศัยคำต่อ ซึ่งเรียก ในไวยากรณ์ว่า คำบุพบท สันธาน ประพันธสรรพนามและประพันธวิเศษณ์

เมื่อเป็นเช่นนี้ ข้อความในประโยคก็จะซับซ้อน ถ้าไม่รู้จักวางรูป ประโยค ไม่เข้าใจการลำดับความ ก็จะทำให้เรื่องที่เราประสงค์จะกล่าว หย่อนรส ทำให้ความหมายคลุมเครือ หรือทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิดไปจากความประสงค์ของเราก็ได้

สำหรับการตั้งประโยค มีหลักที่ควรยึดถือดังนี้

๑. หลักแห่งความใกล้ชิด
ข้อความใดที่จะต้องพูดรวมกัน ต้องพยายามเรียงข้อความนั้นให้อยู่ ใกล้ชิดติดกัน

ตัวอย่าง
๑. ไหมเป็นสินค้าสำคัญ ซึ่งได้มาจากตัวหนอนเล็กๆ

ประโยคนี้ ถ้าฟังเผินๆ ก็พอจะเข้าใจได้ แต่ทว่าไม่ชัดเจนเท่ากับ ไหม ซึ่งได้มาจากตัวหนอนเล็กๆ เป็นสินค้าสำคัญ “ซึ่งได้มาจากตัวหนอนเล็กๆ” เป็นข้อความที่จะขยายคำว่า “หนอน” ฉะนั้นต้องเรียงข้อความนี้ไว้ติดกับคำ “ไหม” การที่แยกห่างจากคำ “ไหม” ไปไว้ข้างหลัง “สินค้าสำคัญ” ทำให้คิดเขวไปได้ว่า “ซึ่งได้มาจากตัวหนอนเล็กๆ” นี้ ขยายคำว่า “สินค้าสำคัญ”

หลักข้อนี้เกี่ยวพันกับห้วงความคิด คือ ความอันใดที่คิดควบกัน ต้องให้ความนั้นอยู่ใกล้ชิดกัน ถ้าเราเอาความนั้นไว้เสียคนละที่แล้ว ห้วงความคิดก็ขาดระยะ ทำให้ความหมายเปลี่ยนไปได้

๒. จะมีสัปเปอร์ และเต้นรำต่อจากการเล่นรีวิวของนักเรียนไทย ซึ่งศึกษาในเมืองอังกฤษ ณ วันเสาร์ที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ที่โรงโขนหลวง

การลำดับความในประโยคนี้ ผิดหลักที่กล่าวแล้ว ที่ถูกควรลำดับความ ใหม่ดังนี้

ก. ณ วันเสาร์ที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ จะมีสัปเปอร์และเต้นรำที่โรงโขนหลวง ต่อจากการเล่นรีวิวของนักเรียนไทย ซึ่งศึกษาในเมืองอังกฤษ หรือ

ข. ณ วันเสาร์ที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ที่โรงโขนหลวงจะมีสัปเปอร์และเต้นรำ ต่อจากการเล่นรีวิวของนักเรียนไทยซึ่งศึกษาในเมืองอังกฤษ

๓. ก. นายแสงถูกฟ้องฐานวิ่งราวทรัพย์ในศาลอาญา

ข. นายแสงถูกฟ้องในศาลอาญา ฐานวิงราวทรัพย์

ความใน ก. และ ข. ต่างกันมาก ใน ก. “ในศาลอาญา” อยู่ชิด กับ “วิ่งราวทรัพย์” ฉะนั้นทำให้เข้าใจว่า “วิ่งราวทรัพย์ในศาลอาญา” แต่คนอ่านอาจฉงนว่า ท่านต้องการพูดว่า “วิ่งราวทรัพย์ในศาลอาญา” หรือ “ฟ้องในศาลอาญา”

ถ้าประโยคใดมีความกำกวมเช่นนี้ ท่านจะต้องตรวจรูปประโยคทันที เพราะท่านอาจเขียนประโยคโดยละเมิดหลักที่กล่าวแล้ว

๒. ฐานแห่งนํ้าหนัก
ในประโยคหนึ่งๆ อาจแบ่งได้เป็นสามตอน คือ ต้นประโยค กลาง ประโยค และปลายประโยค ทั้งสามตอนนี้มีนํ้าหนักยิ่งหย่อนกว่ากัน ปลายประโยคนํ้าหนักมากที่สุด ถัดมาต้นประโยค ตอนกลางน้ำหนักเบากว่าเพื่อน ฉะนั้นถ้าท่านต้องการจะเน้นความข้อใด ควรตั้งประโยคให้ความที่ต้องการเน้นอยู่ในตอนที่มีนํ้าหนักมากที่สุด

ตัวอย่าง
๑. ชนชาวร่วมชาติของข้าพเจ้าทั้งหลายจง ตื่นเถิด

๒. โคลนซึ่งติดล้อแห่งความเจริญของชาติเรา ก้อนที่หนึ่งและก้อนที่ ร้ายที่สุดนั้น คือ การเอาอย่างโดยไม่ตริตรอง

๓. การทำตนให้ตํ่าต้อย อนิจจา แม้แต่ชื่อก็เย้ยตัวเอง เราทั้งหลาย เรียกตัวว่า ไทย กลับเป็นทาสแห่งความประพฤติดุจทาสนั้นเอง คือ ความประพฤติที่ทำตนให้ต่ำต้อย
(ตัวอย่างทั้งสามนี้ ได้จากปกิณกคดี ของ อัศวพาหุ)

๓. การสรุปความ
ถ้ามีประธานหลายตัวอยู่ในกริยาอันเดียวกัน ควรให้มีคำรวมเสีย คำหนึ่ง จะทำให้ประโยคชัดเจนขึ้น

ตัวอย่าง
๑. พระราชาโง่ ผู้เย่อหยิ่งเพราะมีทรัพย์มาก เด็กอ่อนแอ ทั้งสามสิ่งนี้ ประสงค์สิ่งซึ่งไม่อาจได้มาดังประสงค์

๒. ชาวยุโรปก็ดี ญี่ปุ่นก็ดี อินเดียก็ดี ล้วน เป็นคนต่างภาษาทั้งสิ้น

๓. ความเกิด ๑ ความวิวาหะ ๑ ความตาย ๑ ทั้งสามนี้ ย่อมเป็นไป แล้วแต่เทวดาจะบัญญัติ

“ทั้งสามสิ่งนี้-ล้วน-ทั้งสามนี้” เป็นคำรวม นอกจากคำที่ยกมาเป็น ตัวอย่าง ท่านจะหาคำอื่นมาใช้อีกก็ได้

๔. การถ่วงความ
การที่จะทำให้ข้อความที่กล่าวนั้น มีนํ้าหนักหรือรสดีขึ้น อาจทำได้โดยการถ่วงความให้ห้วงความคิดเกี่ยวโยงกัน เพราะเมื่อพูดถึงสิ่งอันหนึ่ง ใจผู้ฟังย่อมอยากรู้ถึงสิ่งอีกอันหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวกับสิ่งอันต้น และการถ่วงความนี้ จะทำได้โดยใช้สันธานคู่ดังนี้

ตัวอย่าง
ก. สิ่งที่จะทำได้วันนี้เป็นดีที่สุด
ข. สิ่งใดที่จะทำได้วันนี้ สิ่งนั้นเป็นดีที่สุด

จะเห็นได้ว่า ความใน ข.ชวนให้คิด และน่าฟังกว่า ลักษณะเช่นนี้
ท่านจะพบตัวอย่างบ่อยๆ เช่น

๑. เมื่อใด ความเห็นแก่ประโยชน์ตนเข้าครอบงำคน เมื่อนั้น ขวาก็กลับเป็นซ้าย ซ้ายก็กลายเป็นขวา

๒. ชาย ใด มีความจำนงความไม่เปลี่ยนแปลงในโลกนี้ ชาย นั้น เป็นคนโง่

ข้อควรจำในการใช้ประโยคเช่นนี้คือ ระวังจะเป็นประโยคลุ่น คือมี ฉันใด แล้ว ไม่มี ฉันนั้น หรือมี ใด แล้วไม่มี นั้น เช่นว่า
ชายใดมีความจำนงความไม่เปลี่ยนแปลงในโลก เขาก็เป็นคนโง่ ดังนี้
ผิด

๕. การซ้ำคำ
ในบางประโยค บางข้อความ ถ้าเราต้องการเน้น จะใช้คำซํ้า ซ้อนกันสองคำก็ได้ เช่น

ข้าพเจ้า ไม่ยอม ไม่ยอม เป็นอันขาด

๖. การขัดความ
การตั้งประโยคให้เนื้อความขัดกัน จะทำให้ความที่กล่าวมีรสและชวนฟังยิ่งขึ้น เช่น

๑. ยาดี กินขมปาก แต่เป็นประโยชน์แก่คนไข้

๒. บุรุษควรมีความรักเป็นเครื่องนำความมีภริยา ไม่ใช่มีภริยาเป็น เครื่องนำความรัก

๗. แบบประโยค
มีแบบประโยคอยู่สองแบบ ที่ท่านควรเอาใจใส่ เรียกตามภาษาประพันธศาสตร์ว่า ประโยคกระชับ กับ ประโยคหลวม

ประโยคกระชับ คือประโยคที่เรียงความให้สิ้นกระแสความในตอนสุดของประโยค ผู้อ่านจะต้องอ่านไปจนจบประโยค มิฉะนั้นจะไม่เข้าใจ เรื่องประโยคลักษณะนี้เป็นประโยคที่ดี เพราะยึดความสนใจของผู้อ่านไว้ได้ ประโยคหลวม คือประโยคที่พูดใจความสำคัญจบเสียก่อน แล้ว ต่อไปกล่าวพลความ ประโยคนี้ไม่น่าฟัง ไม่มีรส

ตัวอย่างประโยคกระชับ
๑. ประเทศเบลเยียมนั้น มีกองทัพซึ่งเล็กก็จริงอยู่ แต่มีความกล้าหาญ เพราะทหารล้วนเป็นคนรักชาติบ้านเกิดเมืองนอนของเขาโดยแท้จริง ถึง แม้ว่ามีกำลังน้อยกว่าข้าศึกเป็นอันมาก ก็ยังได้กระทำการสำเร็จเป็นครั้งคราว

ตัวอย่างประโยคหลวม
๒. ประเทศเบลเยียม ได้ทำการสำเร็จเป็นครั้งคราว ถึงแม้ว่ามีกำลัง น้อยกว่าข้าศึกเป็นอันมาก และมีกองทัพซึ่งเล็กก็จริง แต่มีความกล้าหาญ เพราะทหารล้วนเป็นคนรักชาติบ้านเกิดเมืองนอนของเขาโดยแท้จริง

ให้สังเกตว่า ความตอนใช้ตัวเน้นนั้นอยู่ต่างที่กัน ท่านอ่านประโยคที่ ๑ จะต้องอ่านไปจนจบประโยคจึงจะได้กระแสความ แต่สำหรับประโยคที่ ๒ พอขึ้นต้นก็อ่านได้ความเสียแล้ว ความต่อจากนั้นเป็นเรื่องปลีกย่อย

ท่านลองอ่านข้อความในประโยคซึ่งคัดมาจากหนังสือเวตาล ต่อไปนี้

“ใครบ้างไม่เคยได้ทุกข์เพราะหญิง เหตุว่าหญิงนั้น ผู้ใดจะบังคับให้อยู่ในถ้อยคำก็บังคับไม่ได้ แม้จะบังคับด้วยให้ของที่ชอบ หรือบังคับด้วย ความกรุณา หรือบังคับด้วยปฏิบัติดีต่อ หรือบังคับด้วยรับทำการให้อย่างดีที่สุด หรือบังคับด้วยนิติธรรม หรือบังคับด้วยการลงโทษ ก็บังคับ
ไม่ได้ทั้งนั้น เพราะหญิง ไม่รู้จักผิดและชอบ”

ถ้าเอาความที่ใช้ตัวเน้นไปไว้เสียในตอนต้นๆ จะทำให้หย่อนรสไปเป็นอันมากทั้งนี้ตามธรรมดาของจิตใจ ถ้าเรารู้ความสำคัญเสียแล้วความ ย่อยๆ เราก็ไม่ค่อยติดใจ ฉะนั้นในการตั้งประโยคจึงควรจัดความย่อยไว้ก่อน ชักนำไปหาความสำคัญและพอถึงความสำคัญก็ควรจบประโยคทันที

๘. ประโยคสั้น ประโยคยาว
ประโยคสั้นอ่านเข้าใจง่าย แต่แสดงความไม่ได้เต็มที่ ส่วนประโยคยาวแสดงความหมายได้มาก แต่ถ้าหากไม่รู้จักลำดับความ จะพาให้สับสน วนเวียน ผู้เริ่มเขียนไม่ควรใช้ประโยคยืดยาวซับซ้อน

ประโยคที่ดีที่สุด จะเห็นตัวอย่างได้จากหนังสือสามก๊ก ขอให้ลองอ่านตอนต่อไปนี้

๑. เกนหวนคิดการครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก
๒. หากท่านรู้สึกตัวจึงรอดชีวิต
๓. ซึ่งฆ่าเกนหวนเสียนั้น เหมือนหนึ่งฟันต้นหญ้าจะให้ตาย
๔. ขันทีสิบคนเหมือนหนึ่งรากหญ้า
๕. ตายแต่ต้นนั้น เห็นไม่สิ้นเชิง รากกจะงอกขึ้นมา
๖. ภายหน้าเห็นอันตรายจะมีแก่ท่านเป็นมั่นคง

สำนวนใหม่ๆ มักจะใช้ประโยคยาว แต่อ่านรู้สึกอึดอัด และไม่ให้ความซัดในทันทีทันใด เช่น

ข้าพเจ้ากล้าพูดอย่างเปิดเผย ทั้งในส่วนตัวข้าพเจ้าและส่วนรวม คือในนามสยามนิกรว่า เราได้มีและได้รับจาก ซึ่งความรู้สึกของเพื่อน หนังสือพิมพ์ทั้งหลายเป็นอย่างดียิ่ง

เมื่อท่านได้อ่านถึงตอนนี้ บางทีจะรู้สึกอึดอัดใจอยู่บ้าง แต่หลักต่างๆ เหล่านี้เป็นเหมือนเครื่องนำทาง ไม่ใช่เครื่องบังคับท่าน แต่ถ้าเมื่อใดท่านต้องการรู้ว่าประโยคที่ท่านเขียนได้ความชัดหรือไม่ มีนํ้าหนักหรือไม่ เมื่อนั้นแหละ ท่านควรเอาหลักที่กล่าวแล้วมาเป็นเครื่องตัดสิน เมื่อท่านเขียน ท่านต้องนึกถึงใจคนอ่าน บางทีท่านนึกว่าท่านเข้าใจดีแล้ว แต่เมื่อให้คนอื่น อ่าน เขาอาจไม่เข้าใจก็ได้ ดังนี้จะต้องมีอะไรผิดสักอย่าง นี่เป็นข้อบกพร่องข้อหนึ่งที่สำนักหนังสือพิมพ์จะบอกว่าเรื่องของท่านยังอ่อนอยู่

ที่มา:เปลื้อง ณ นคร

การใช้คำ

เมื่อเราอ่านเรื่องของนักประพันธ์ต่างๆ เรามักเพ่งเล็งเฉพาะเนื้อเรื่อง หรืออย่างมากก็สังเกตสำนวนโวหารของเขา น้อยครั้งทีเดียวที่เราจะได้สังเกตไปถึงถ้อยคำที่เขาใช้ แปลว่าเราได้รับแต่รสของเนื้อเรื่องและสำนวนโวหาร ส่วนรสของถ้อยคำนั้นเราหาได้รู้สึกไม่ ผู้ที่ฝึกเป็นนักประพันธ์จะต้องสร้างอุปนิสัยในการสังเกตคำที่ผู้อื่นใช้ มิใช่ว่าจะอ่านเผินๆ ไปเท่านั้น นักประพันธ์สำคัญๆ หรือผู้ที่เป็นอาจารย์ทางอักษรศาสตร์ ย่อมมีความระวังในการใช้คำ คำทุกคำที่เขาเขียนลงไปล้วนเป็นคำที่มีประโยชน์ต่อข้อความที่เขาต้องการแสดง และเป็นคำที่มีความหมายโดยเฉพาะ เขาย่อมไม่ใช้คำที่มีความหมาย พร่าหรือใช้คำผิดๆ ถูกๆ เป็นอันขาด

ในหนังสือเรื่อง “ชีวิตพระสารประเสริฐที่ข้าพเจ้ารู้’’ เสฐียรโกเศศ ได้เล่าถึงการแปลหนังสือเรื่อง “กามนิต’’ จากภาษาอังกฤษ ตอนหนึ่งใน หน้า ๑๔๓ มีข้อความที่ผู้เริ่มประพันธ์พึงสังเกตว่านักประพันธ์สำคัญๆ ย่อม ใช้คำโดยความตั้งใจอย่างไร

“การแปลภาคบนพื้นดิน ตอนที่กามนิตโต้ตอบกับพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้า จงใจแปลให้เป็นคำดาดๆ ง่ายๆ ให้มีคำศัพท์แสงน้อยที่สุด และขอร้องไม่ให้ พระสารประเสริฐแก้เป็นคำศัพท์ นอกจากจำเป็นจริงๆ ส่วนภาคบนสวรรค์ จะใช้ศัพท์สูงๆ อย่างไรก็ได้ เพราะฉะนั้นท่านที่เคยอ่านเรื่องกามนิต จะเห็นข้อความตอนภาคสวรรค์แพรวพราวไปด้วยศัพท์เพราะๆงามๆ ข้าพเจ้าจำได้ว่า แปลคำว่า Mat ในภาษาอังกฤษว่า อาสนะ เพราะเป็นเรื่องพระพุทธเจ้าทรงลาดอาสนะลง พระสารประเสริฐเห็นแล้วก็หัวเราะ บอกว่าที่รองนั่งของพระพุทธเจ้าเขาไม่เรียกว่า อาสนะ เขามีคำใช้เฉพาะเรียกว่า นิสีทนสันถัด ต่างหาก แล้วก็กล่าวต่อไปว่า จะติก็ติไม่ลง เพราะเป็นเรื่องของศาสนา ถ้าไม่ได้เรียนก็ไม่รู้ อย่างไรก็ดี หนังสือกามนิตสำเร็จเป็นภาษาไทยได้อย่างงดงาม เป็นเพราะพระสารประเสริฐเลือกหาคำมาใช้ได้เหมาะๆ เป็นอย่างที่ในภาษาอังกฤษว่า คำเหมาะอยู่ในที่เหมาะ”

ในการใช้คำ ขอให้ท่านระลึกถึงหลักต่อไปนี้
๑. จงพยายามหาคำที่ตรงกับความหมายที่ต้องการ

๒. จงใช้คำที่คนส่วนมากควรจะเข้าใจ คือ คำที่เรานิยมใช้กันอยู่ ในปัจจุบัน ไม่ใช่คำที่เก่าเกินไป หรือใหม่เกินไป

๓. พึงหลีกเลี่ยงคำต่างประเทศ

๔. พึงใช้คำสามัญ เว้นคำศัพท์

๕. พึงใช้คำสั้นๆ เว้นคำที่ยืดยาว

๖. อย่าใช้คำฟุ่มเฟือยโดยไม่จำเป็น หรือไม่ให้ความหมายอันใด

๗. เมื่อจะใช้คำศัพท์บาลี สันสกฤต ควรรู้ความหมายของคำนั้นให้ แน่นอนเสียก่อน

เพื่อให้ท่านรู้ว่าคำใดควรและไม่ควร ผิด ถูก อย่างไร ขอให้สังเกตจากตัวอย่างต่อไปนี้

๑. เวลานี้ รัฐบาลโซเวียตได้ดำริก่อสร้างยุทธาคารตามพรมแดน ระหว่างโซเวียตและแมนจูเกา

คำว่า ยุทธาคาร เป็นคำรวมของ ยุทธ กับ อาคาร อาคาร แปลว่า บ้านเรือนสถานที่ ยุทธ แปลว่า สงคราม คำ ยุทธาคาร นี้เป็นคำศัพท์ซึ่ง ยังไม่อยู่ในความนิยมและไม่ให้ความเข้าใจแก่ผู้อ่านชัดเจน

๒. กลองนั้นตีด้วยมือบ้าง เอาศอกกระทุ้งบ้าง บางทีสบท่าเหมาะอย่างอุกฤษฏ์เข้า ลงนอนกลิ้งตีไป

คำ อุกฤษฏ์ แปลว่า เลิศลอย วิเศษ ยิ่งใหญ่ มักใช้ในข้อความ
ที่สำคัญกว่านี้ ในที่นี้คำว่า “อย่างอุกฤษฏ์” ไม่ต้องใช้เลยก็ได้ความดีแล้ว แต่คำว่า “กระทุ้ง” เป็นคำกริยาที่เหมาะกับคำ “ศอก” ซึ่งเป็นประธานอย่างยิ่ง จะใช้คำกริยาอื่นไม่ดีกว่านี้

๓. ถ้าเราใช้ความสังเกตสังกาให้ถี่ถ้วน เราก็จะพบความจริงที่มีอยู่ว่า งานของผู้ที่ประสบความสำเร็จนั้น เริ่มต้นขึ้นด้วยการตัดสินใจภายในเวลาอันฉับพลัน

“สังกา” ไม่มีความหมายอันใดเลย ฟุ่มเฟือยเปล่าๆ ทั้งทำให้ข้อความที่กล่าวหย่อนความหนักแน่น ภาษาไทยเรามีสร้อยบทเช่นนี้อยู่มาก เช่น ถ้วยชามรามไหม ลูกเต้า แขนแมน ลำเลิกเบิกชา ถ้าไม่ใช่เป็นคำพูดของตัวละครแล้ว ผู้เริ่มฝึกเขียนควรเลี่ยง เพราะจะใช้คำเช่นนี้ให้เหมาะสมได้ยาก

๔. ข้าพเจ้าขอวิงวอนให้ท่านทั้งหลายร่วมสมานฉันท์กับข้าพเจ้า ในอันจะตั้งสัตย์อธิษฐาน ขอคุณพระศรีรัตนตรัยได้ช่วยอภิบาลประเทศชาติ ของเรา

คำ วิงวอน ถ้าผู้เขียนตั้งใจใช้ให้หมายว่า พร่ำขอร้องก็นับว่าถูก แต่การอธิษฐานเพื่อชาตินี้ จำเป็นจะต้องวิงวอนด้วยหรือ ถ้าใช้คำว่า เชิญชวน จะดีกว่า

๕. ท่านสวมรองเท้าแตะ นุ่งกางเกงแพร และสวมเสื้อแพร กลัดกระดุมทั้งห้าเมล็ด เป็นพัสตราภรณ์ห่อร่างอันสมบูรณ์ของท่าน

ที่จริงควรใช้ขัดกระดุม เมล็ด ใช้สำหรับเมล็ดพันธุ์ที่เพาะให้งอกได้ ถ้าเป็นกระดุมต้องใช้ เม็ด คำ พัสตราภรณ์ เร่อร่า ไม่สมกับความ ใช้คำ สามัญดีกว่า

๖. แทนที่จะแนะนำว่า ท่านควรมีความพยายาม (วายามะ) ท่านควรมีความเพียร (วิริยะ) ข้าพเจ้าขอแนะนำว่า ท่านควรมีความบากบั่น ซึ่ง เป็นคำไทยที่มีความหมายแรงดี

ท่านรู้สีกว่า ความพยายาม ความเพียร ความบากบั่น สามคำนี้ คำไหนที่ให้ท่านเข้าใจชัดเจนที่สุด ความบากบั่น ชัดและมีนํ้าหนักดี

๗. เมื่อเขากลับมาถึงปารีสไม่นานนัก บลุมได้ปราศรัยกับข้าราชการ ที่เป็นคณะพรรคด้วยสุนทรกถาเกี่ยวกับการเมืองอย่างสำคัญ คำปราศรัยของเขายังคงเผยให้เห็นความเฉียบขาดอย่างเก่าในการวินิจฉัย และท่วงท่าอันสูงส่งซึ่งเคยมี

“ภารกิจ ซึ่งเผชิญหน้าคณะพรรคอยู่บัดนี้เป็นภาระยุ่งยากยิ่งนัก”
บลุมว่า

คำ “สุนทรกถา” และ “ท่วงท่า” ยังพร่า ลองถามตัวท่านเองว่า หมายความว่าอย่างไร คงตอบให้ถูกยาก ส่วนคำ “ภารกิจ” เป็นคำผูกขึ้นใหม่ตรงกับคำอังกฤษ Mission เป็นคำทางการเมือง ยิ่งกว่าคำทางการประพันธ์

๘. ตอนต่อไปนี้คัดจากเรื่องไกลบ้าน พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๕ เป็น ตอนที่ทรงกล่าวถึงคนที่อยู่ในเมืองเอเดน

“คนที่เมืองนี้ดูชอบกล ฝรั่งก็มี แขกเต๊อกก็มี แขกอาหรับก็มี กิริยา อาการมันคล้ายกันหมด คือ เสือกเข้ามาพูดอะไรต่ออะไร ชวนแลกเงิน ขอทาน รับนำทาง รับขนของ เดินโดนหัวไหล่ แทรกเบียดพร้อมทุกอย่าง ถ้าทำงานแล้วเหมือนไม่มีวิญญาณ เป็นต้นว่าเรือกระเชียงเน่าเฟอะ คนตีกระเชียงไม่เหมือนกันสักคนเดียว อ้ายบ้างก็นุ่งกางเกงไม่มีเสื้อ อ้ายบ้างก็มีเสื้อนุ่งขัดเตี่ยว อ้ายบ้างก็ห่มดองนุ่งผ้าขาว เหมือนพระพอลงเรือแล้วอ้ายบางคนตี อ้ายบางคนหยุด จนเรือไม่เดินเลย”

ให้สังเกตว่าคำต่างๆ ในที่นี้เป็นคำไทยสามัญๆ ที่เรารู้และเข้าใจกัน ทั้งนั้น และเป็นคำสั้นๆ จะมีที่เป็นคำศัพท์ก็คือคำกิริยาอาการ วิญญาณ แต่ถ้าจะพูดไปก็คุ้นกับหูเราแล้ว และคำต่างๆ ที่ใช้ในตอนนี้ ล้วนเป็นคำที่ทำให้เราคิดเห็นภาพได้ทั้งสิ้น

การหลากคำ
ถ้าเราใช้คำใดบ่อยครั้งก็มักจืดหู ขัดหู ฉะนั้นนักประพันธ์จึงต้องมีวิธีหาคำที่มีความหมายคล้ายคลึงกันมาสับเปลี่ยน หลักข้อนี้เรียกในวิธีประพันธ์ว่า “การหลากคำ” หรือ Elegant Variation นักเขียนบางคนยึดถือมั่นว่า ภายในประโยคชิดๆ กัน จะมีคำซ้ำกันไม่ได้ ตามปกติ คำที่จะต้องสับเปลี่ยนนั้นคือคำนาม เช่น ถ้าเราจะเขียนเรื่องประวัติของสุนทรภู่ ก็มีความจำเป็นจะต้องใช้คำสุนทรภู่บ่อยๆ ซึ่งทำให้เฝือและไม่น่าฟัง จึงต้องหาคำสรรพนามมาใช้แทน แต่คำสรรพนามนี้ถ้าใช้ติดๆ กันก็ขัดหูอีก หรือบางทีทำให้เกิดเข้าใจกำกวม ฉะนั้นจึงต้องคิดคำชื่อสมญาให้ เช่นเรียกสุนทรภู่ว่า บรมครู แห่งกลอนตลาด ดังนี้ การหลากคำมีหลักอันควรยึดถือดังนี้

๑. ควรทำเมื่อประโยคที่เราเขียนนั้นมีคำซ้ำกันจนอ่านขัดหู

๒. ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ควรหลากคำเฉพาะคำนาม ซึ่งใช้คำสรรพนาม สับเปลี่ยนเท่านั้น

ตัวอย่าง
๑. เกือบจะเป็นสิ่งที่เหลือเชื่อ เมื่อได้ทราบว่าสมรจะหมั้นกับหมอ มานิต รักประยูร ชายหนุ่มคนนี้เข้าเรียนแพทย์พร้อมกับข้าพเจ้า ชายหนุ่มคนนี้ ใช้แทน หมอมานิต

๒. ความเป็นสุภาพบุรุษอย่างน่าเคารพของเขา ก่อให้เกิดความเคารพ ขึ้นในใจของหญิงสาว

ประโยคนี้ฟังค่อนข้างขัดหู เคารพ อยู่ชิดๆ กันสองคำ

๓. มาร์คแอนโตนีเป็นสหายสนิทของซีซาร์ เมื่อซีซารัถึงแก่กรรมลง มาร์คแอนโตนีก็ได้ประกาศตนว่าจะเป็นผู้แก้แค้นแทนซีซาร์ และได้เข้าทำสงครามกับผู้กระทำฆาตกรรมซีซาร์

ประโยคข้างบนนี้มีคำนามซ้ำมาก และจะเปลี่ยนใช้สรรพนามแทน ความก็คงจะไม่ชัดเจน ถ้าอยู่ในลักษณะเช่นนี้จะต้องวางรูปประโยคใหม่

การประหยัดคำ
ถึงแม้คำพูดเป็นสิ่งที่ไม่ต้องซื้อหา แต่นักเขียนที่ดีย่อมเป็นผู้รู้จัก เสียดายคำ ใช้คำโดยการประหยัด การประหยัดคำ (Economy) ย่อมทำให้เนื้อความกระชับรัดกุม อันเป็นลักษณะที่ดีของการประพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชนิดใด ฉะนั้นเมื่อท่านจะเขียนเรื่องจงระวังอย่าใช้คำที่ไม่จำเป็น ซึ่งได้แก่คำที่ไม่มีความหมาย หรือไม่ให้ความชัดเจนอันใดเป็นพิเศษ เช่นคำว่า ใหญ่โตมหึมา พิศวงสงสัย ในภาษาไทยคำที่มักใช้เกินไปโดยไม่จำเป็นคือ คำบุพบท เช่นในประโยคที่ว่า เขาให้เงินแก่ลูก เขาสั่งแก่ฉัน คำว่า “แก่” ไม่จำเป็นเลย

ไวยากรณ คือหลักแห่งภาษา ไวยากรณ์ได้วางระเบียบวิธีใช้คำไว้ หลายอย่าง นักประพันธ์ควรระวัง ที่มักเห็นเขียนผิดๆ กันอยู่ก็คือ

๑. อาการนาม ได้แก่คำที่มี การ และ ความ นำหน้า เช่น
ความสุข ความทุกข์ ความเร่าร้อน ความกังวล การพักผ่อน การบำรุง การโฆษณา การแต่งกาย

หลักเบื้องต้นของการใช้ การ และ ความ มีดังนี้
“เมื่อจะเปลี่ยนคำกริยาเป็นอาการนาม ให้ใช้คำการนำ ถ้าเปลี่ยน คำวิเศษณ์เป็นอาการนาม ใช้ความ แต่ถ้าคำกริยาที่มีความหมายเกี่ยวกับ จิตใจ มี เป็น เกิด ดับ เจริญ เสื่อม ให้ใช้ความ”

แต่บางคราวท่านจะพบคำว่า “การดี” ซึ่งตามหลักข้างต้นก็ใช้ไม่ได้ แต่ทั้งนี้เป็นความตั้งใจของผู้เขียนที่ต้องการให้คำมีลักษณะชี้ไปในทางการ กระทำ คำว่า การทุกข์ การสุข นี้ก็ใช้ได้ แต่มีความหมายต่างกับ ความทุกข์ ความสุข

๒. ลักษณะนาม คำนามในภาษาไทยย่อมมีลักษณะนามเป็นคู่ ฉะนั้น ต้องระวังใช้ให้ถูกคู่ เช่น คัน ใช้กับ รถ แร้ว ไถ เบ็ด ปาก ใช้กับ แห อวน สวิง ตน ใช้สำหรับ ยักษ์ อสุรกาย ถ้าพูดถึง ขลุ่ย ปี ก็ว่า ขลุ่ยสองเลา สามเลา

๓. คำบุพบท มีคำ กับ แก่ แต่ ต่อ เป็นคำที่ต้องใช้บ่อยๆ จงระวัง คำ กับ และ แก่ ซึ่งมักใช้ปะปนกันจนความหมายคลาดเคลื่อน

๔. คำราชาศัพท์ ไม่ใช่คำศัพท์ที่ใช้กับพระราชาเจ้านาย แต่หมายถึง คำประเพณีซึ่งเขานิยมใช้กันว่าเป็นคำสุภาพและถูกภาษา เช่น ถ้าให้พระสงฆ์ ใช้คำแทนตนเองว่า ฉัน ก็ผิดระเบียบ

คำเหล่านี้ นับว่าเป็นความรู้เบื้องต้นของนักเรียนสามัญ แต่นักประพันธ์ ก็ต้องเอาใจใส่

ที่มา:เปลื้อง ณ นคร

ลักษณะแห่งคำ

การเขียน คือการแสดงความคิด ความรู้สึกและความรู้ ซึ่งอยู่ในใจออกให้ผู้อื่นรู้ เช่นเดียวกับการพูดเหมือนกัน ฉะนั้นสื่อแห่งความเข้าใจก็คือ ถ้อยคำ หรือจะเรียกสั้นๆ ก็ว่า คำ คำนี้คือสมบัติของนักเขียน นักเขียน รู้คำมากเท่าใด วงที่เขาจะพูดก็กว้างยิ่งขึ้น นักเขียนจะต้องเป็นนักสะสมคำ เพียงแต่คำที่เราใช้พูดกันตามธรรมดา ไม่เพียงพอสำหรับนักประพันธ์จะใช้บรรยายเรื่องได้ เพียงแต่รู้คำว่า เดิน คำเดียว ยังไม่พอที่จะแสดงกิริยาของ การไป ได้ เพราะมี ย่าง ก้าว ย่อง คลาน กระดิบ นวยนาด เหล่านี้ ย่อมให้ภาพแห่ง การไป ต่างกันทั้งสิ้น

เมื่อเราสะสมคำแล้ว เราต้องพิจารณาคำนั้นให้รู้ความหมายอันแท้จริง ของมัน แม้ว่าคำบางคำจะมีความหมายเหมือนกันก็จริง แต่ทุกคำมีความหมายโดยเฉพาะของมัน แม้คำว่า หัตถ์ จะแปลว่า มือ ถ้าท่านใช้รวมเข้าเป็นข้อความแล้ว คำว่า หัตถ์ และ มือ ก็มีความหมายโดยเฉพาะของมัน ถ้า ในที่ควรใช้ หัตถ์ ท่านไปใช้ มือ ข้อความที่ท่านกล่าวอาจทรามไป แต่ ถ้าในที่ควรใช้ มือ ท่านไปใช้ หัตถ์ ก็เก้อ ดูรุ่มร่ามเหมือนคนแต่งตัวไม่เป็น

ผู้ที่เริ่มฝึกหัดเขียน ถ้าหมั่นอ่านวรรณกรรมของนักประพันธ์ที่คนนิยม แล้วสังเกตคำที่เขาใช้ พิจารณาว่าเขาใช้คำอะไรในที่อย่างไร คำนั้นๆ มีความหมายอย่างไร แล้วจะรู้จักคำดีขึ้น

ในการใช้คำ จงอย่าใช้อย่างประมาท จงพิจารณาคำที่ท่านต้องการใช้ให้ถ่องแท้ ถ้านึกคำอะไรได้ก็เขียนลงไปอย่างลวกๆ ท่านจะไม่ทำให้ ผู้อ่านเข้าใจและรู้สึกอย่างที่ท่านต้องการได้เลย บรรดาภาพต่างๆ จะเป็นภาพกิริยาท่าทาง ภาพบุคคล สัตว์ สิ่งของ ภาพของอาการแห่งความเศร้า ความดีใจ ล้วนมีคำพูดประจำ และเมื่อท่านกล่าวคำนั้นๆออกมา ท่านจะทำให้ผู้ฟังหรือผู้อ่านนึกเห็นภาพ เราเรียกว่า ภาพพจน์ (Image-Making Words)

ในการใช้คำให้ตรงกับความหมายที่ท่านต้องการนั้น ย่อม
๑. เป็นการประหยัด ไม่ต้องใช้คำอธิบายจนยืดยาวฟุ่มเฟือย ไม่ เสียเวลาของท่านและของผู้อ่าน

๒. จะทำให้เข้าใจได้ทันที

๓. จะทำให้ข้อความเด่นชัด

อนึ่งควรเข้าใจด้วยว่า คำ มีลักษณะประจำตัวของมันเช่นเดียวกับ มนุษย์ บางคำงุ่มง่าม บางคำแก่คร่ำเครอะ บางคำทะมัดทะแมง บางคำสะสวยงดงาม บางคำมีสง่า บางคำมีลักษณะเป็นไพร่ บางคำจืดไม่มีรส บางคำเผ็ดร้อน บางคำอ่อนหวาน ลักษณะเหล่านี้จะอธิบายให้ท่านเข้าใจทันทีได้ยาก แต่จะได้ชี้ให้ท่านเห็นต่อไป

ลักษณะคำที่ใช้ในภาษาไทย
อาจารย์กวีแต่โบราณกล่าวไว้ว่า ผู้ที่จะเป็นกวีพึงรู้พากย์ คือคำต่างๆ ดังนี้ สยามพากย์ กัมพุชพากย์ (ภาษาเขมร) ชวาพากย์ มคธพากย์ ตะเลงพากย์ พุกามพากย์ สันสกฤตพากย์ หริภุญไชยพากย์ คำสยามพากย์นั้นเป็นคำของไทยเราเอง ส่วนพากย์อื่นๆ เป็นคำที่ไทยนำมาใช้ เหตุสำคัญที่เรานำคำของชาติอื่นมาใช้ ก็เพราะคำของเรามีไม่พอที่จะแสดงความหมายให้ครบถ้วน แต่พากย์เหล่านี้ท่านบัญญัติไว้สำหรับผู้เป็นกวี คำเขมร คำชวา คำมอญ คำหริภุญไชย นั้นเราใช้ในกวีนิพนธ์เป็นส่วนมาก เกี่ยวกับร้อยแก้ว คำที่เรานำมาใช้มากที่สุด คือ มคธและสันสกฤต

คำกับความหมาย
คำ มีความหมาย ๒ อย่างคือ ความหมายโดยตรง กับ ความหมาย โดยนัยยะ ถ้าเปิดปทานุกรมดู ท่านจะพบคำอธิบายความหมายของคำต่างๆ ซึ่งเป็นความหมายโดยตรง เช่นคำว่า เสือ ท่านจะได้คำแปลว่าสัตว์สี่เท้า รูปคล้ายแมว แต่ตัวใหญ่กว่า กินสัตว์เป็นอาหาร มีหลายชนิด เช่น เสือโคร่ง เสือดาว ฯลฯ นี่เป็นความหมายโดยตรง แต่เรายังพูดกันอีกว่า ทหารเสือ เสือผู้หญิง มือชั้นเสือ แล้วก็อ้ายเสือ คำว่า “เสือ” ในตัวอย่างหลังนี้เป็นความหมายโดยนัยยะทั้งสิ้น และความหมายของคำโดยนัยยะนี่แหละเป็นสิ่งสำคัญของนักประพันธ์ เพราะจะช่วยให้คำพูดของเขามีรสน่าฟัง

ทีนี้ถ้าท่านพลิกดูคำว่า สงสาร ท่านจะทราบว่าเป็นคำว่า มคธ เป็น คำนาม แปลว่า การไป การท่องเที่ยวไป ทางไป การผ่านไป การเวียนตาย เวียนเกิด ดังนี้ แต่ที่เราใช้นั้น หมายความว่า ปรานี เอ็นดู ดังนี้เป็นความหมายโดยนัยยะ และความหมายเดิมของคำได้เปลี่ยนไปเสียแล้ว ถ้าท่านใช้ คำภาษามคธ สันสกฤต ท่านต้องให้แน่ใจเสียก่อนว่า ท่านเข้าใจคำนั้นถูกต้อง ถ้าท่านสามารถรู้ว่าคำศัพท์นั้นๆ เดิมเป็นอย่างไร เปลี่ยนมาอย่างไรแล้ว เท่ากับว่าท่านรู้จักคำนั้นลึกซึ้งยิ่งขึ้น เช่นคำว่า วรรณคดี ถ้าท่านรู้ว่า มาจากคำว่า วรรณ รวมกับ คดี วรรณ แปลว่า ตัวอักษร คดี มาจากคำว่า คติ คติ มา จาก คต และ คต มาจาก คม ซึ่งแปลว่า ไป เช่นนี้ก็เท่ากับว่าท่านเข้าใจ คำลึกซึ้งยิ่งขึ้น

การสะสมคำ
ได้พูดมาแต่ตอนต้นว่า นักประพันธ์พึงสะสมคำ ฉะนั้นทางที่ดีที่สุด ท่านควรมีสมุดบันทึกสักเล่มหนึ่งจดคำแปลกๆ ที่ท่านพบ หรือที่ท่านยังไม่รู้ แล้วศึกษาให้เข้าใจคำที่ท่านควรรู้ คือ

คำสามานยนาม ได้แก่ ซื่อสัตว์ ดอกไม้ เครื่องใช้ สี เครื่องเรือน ส่วนต่างๆ ของเรือ ของบ้าน และอะไรอีกจิปาถะ เพราะนักเขียนย่อมมี โอกาสจะต้องใช้คำ โดยไม่ได้คาดหมายไว้ก่อน เช่น ท่านต้องการวางฉากของเรื่องในวัด ซึ่งมีการเทศน์มหาชาติ ถ้าท่านไม่รู้จักชื่อสิ่งของต่างๆ ในวัด หรือในบริเวณที่มีเทศน์แล้ว ท่านก็จะพูดอะไรไม่ถูก ถ้าท่านจะพรรณนาเครื่องแต่งกายของบุคคลในเรื่อง ถ้าท่านไม่รู้ชนิดของเสื้อ หมวก สี และ ผ้า ฯลฯ แล้วท่านจะให้ผู้อ่านแลเห็นภาพที่ท่านพรรณนาได้อย่างไร

คำกริยา ซึ่งเป็นคำที่แสดงกิริยาอาการต่างๆ

คำอาการนาม อันเกี่ยวกับนามธรรม คือสิ่งที่ไม่เห็นด้วยตา ต้อง นึกเห็นเอาเอง

คำวิเศษณ์ อันเป็นคำแต่งให้ข้อความแตกต่างพิสดารออกไป

คำพวกที่มีข้อความคล้ายคลึงกัน เช่น เคารพ นับถือ ยำเกรง เกลอ มิตรสหาย เพื่อน ใหญ่ โต ขนบ ธรรมเนียม ประเพณี ระเบียบ ข้อบังคับ กฎ คำเหล่านี้ให้ท่านสังเกตจากหนังสือที่รับรองกันว่าเป็นหนังสือชั้นดี เช่น เวตาล และเรื่องของ น.ม.ส. พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๕ และที่ ๖ เป็นต้น

การเก็บสะสมคำนี้ ท่านอาจจะรู้สึกลำบาก แต่ไม่ต้องวิตก เพียงแต่ท่านจะจดคำที่ท่านพบใหม่วันละ ๕ คำก็พอแล้ว ข้อสำคัญยิ่งก็คือ นักประพันธ์ชั้นเยี่ยมทุกคนล้วนเป็นคนสนใจใน คำ ทั้งนั้น คำ นี่แหละเป็นเครื่องมือของนักประพันธ์ เปรียบเหมือน สิ่ว ขวาน เป็นเครื่องมือของช่างไม้ ช่างไม้ ซึ่งมีแต่สิ่วขวานจะสร้างเรือนให้ใหญ่โตไม่ได้ฉันใด นักประพันธ์ที่รู้คำน้อยจะสร้างวรรณกรรมเอกหาได้ไม่

ตัวอย่าง
๑. คน ซื่อกล่าวคำ ไม่ไพเราะหู แต่เป็นประโยชน์แก่กาลภายหน้า ให้สังเกตว่า ซื่อ นี่แปลว่าอย่างไร ถ้าเอาคำ จริง มี ความสัตย์ หรือ สุจริต ใส่แทนจะได้ความหมายดีเท่าเดิมหรือไม่

กล่าวคำ แปลว่า พูด แต่ถ้าใช้ พูด จะจืดไปมาก เพราะ พูด นั้น เป็นคำกว้างเกินไป
๒. คำโบราณกล่าวไว้แต่ก่อนว่า ถ้าผู้ใดจะเป็นเจ้าบ้านผ่านเมือง ให้ เกลี้ยกล่อม ซ่องสุม ผู้คนซึ่งมีสติปัญญา และทหารที่มี ฝีมือ ให้จงมาก

ให้สังเกตคำว่า เกลี้ยกล่อม ซ่องสุม ฝีมือ ท่านคิดว่าจะหาคำใดที่ดีกว่านี้ได้หรือไม่

๓. ลิ้นคนนั้น ตัด คอคนเสียมากต่อมากแล้ว
ถ้าท่านใช้คำว่า เชือด หรือ ฟัน ก็ไม่กระชับเท่าคำว่า ตัด

๔. (ก) พักตร์นางเหมือนพระจันทร์ยามเพ็ญ ผมเหมือนหมู่ผึ้งอันเกาะห้อยอยู่บนช่อดอกไม้ ปลายโขนงยาวจดถึงกรรณ โอบฐ์มีรสเหมือนจันทรามฤต

(ข) นางนั้นมีหน้าเหมือนพระจันทร์วันเพ็ญ มีผมเหมือนเมฆสีนิลโลหิต ซึ่งอุ้มฝนอยู่ในท้องฟ้า มีผิวซึ่งเย้ยดอกมะลิให้ได้อาย มีตาเหมือนเนื้อทรายระแวงภัย ริมฝีปากเหมือนดอกทับทิม

การพรรณนาของ ก. และ ข. คล้ายกัน แต่ข้อ ก. ใช้คำศัทพ์มาก ส่วน ข. นับว่าไม่มีคำศัพท์เลย การใช้คำต่างกันดังนี้ ท่านอ่านได้ผลอย่างไร
ก. ทำให้เห็นภาพเป็นความฝัน ส่วน ข. ให้เห็นภาพชัดกว่า

๕. คนที่ สำรวม ความยินดียินร้ายไม่ได้นั้น มีชีวิต ป่วยการ เปล่า
คำ สำรวม นี้เหมาะที่สุด ท่านจะหาคำอื่นมาแทนให้ได้ความดีเท่านี้ ไม่ได้ คำว่า ป่วยการ ก็เข้าใจง่าย สนิทหูกว่า “เสียเวลา”

๖. บุรุษควรมีความรักเป็นเครื่องนำความมีภริยา ไม่ใช่มีภริยาเป็น เครื่องนำความรัก

ถ้าใช้คำว่า ชาย และ เมีย จะทำให้รู้สึกว่าต่ำไป และดูดาดๆ ไม่ เป็นหลักฐาน

๗. อันธรรมดาเกิดมาเป็นชาย ครั้นมิได้มีแม่เรือน จะทำการสิ่งใด ก็มักขัดขวางไม่ใคร่จะสำเร็จ เหมือนเรือนไม่มีพื้น

ท่านคิดว่าถ้าใช้ ขัดข้อง จะดีกว่า ขัดขวาง ไหม คำว่า ขัดขวาง นี้ นอกจากมีความหมายโดยตรงแล้ว ยังมีความหมายโดยนัยยะอีกด้วย

๘. จากทัศนียภาพในทัศนวิสัยที่ปรากฏแล้วเมื่อวานนี้ โดยที่อาณาประชาราษฎรได้สโมสรสันนิบาตเฝ้าเสด็จ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เพื่อชมบุญญาธิการ ตามท้องแถวราชมารค ที่พระองค์เสด็จผ่านไปอย่างคับคั่ง เนืองนองมิขาดสาย แสนจะมเหาฬารยิ่งใหญ่กว่าทุกๆงาน เท่าที่ประจักษ์กันในยุคนี้

ท่านเห็นว่าอย่างไร ไม่มีรส ไม่ให้ความเข้าใจชัดเจนอะไร คำที่ใช้ ก็เก้อๆ และแลดูรุ่มร่าม

ที่มา:เปลื้อง ณ นคร

การที่จะเป็นนักเขียน

นักเขียนก็เช่นเดียวกับนักละคร ดาราภาพยนตร์ นักเพลงและจิตรกร สร้างงานที่เขาเห็นว่าจะนำความเพลินตาเพลินใจมาให้แก่ตนเองและผู้อื่น บางคนเป็นนักเขียนโดยไม่ตั้งใจ และโดยไม่เคยเล่าเรียนวิชาการประพันธ์มาก่อน อย่างเช่น โคแนลดอยล์ เดิมเรียนจะเป็นแพทย์ กลายเป็นนักเขียน นวนิยายเชิงสืบสวน เรื่องนักสืบเชอร์ล็อคโฮม ซึ่งเป็นชุดนวนิยายการสืบสวนที่ยังหาที่เทียบไม่ได้จนทุกวันนี้ โธมัส ฮาร์ดี เรียนทางสถาปัตยกรรมตั้งใจจะเป็นช่างก่อสร้าง กลายเป็นนักเขียนนวนิยายชีวิต ที่คนอ่านยังนิยมอยู่จนทุกวันนี้ ดอกไม้สด เดิมเป็นครู เริ่มเขียนเรื่องเพื่อความเพลิดเพลินของตนเอง นักเขียนแล้วกลายเป็นนักประพันธ์สตรีที่เขียนเรื่องชีวิตคนชั้นกลางและชั้นผู้ดีได้อย่างยอดเยี่ยม และมีอยู่หลายคนที่ตั้งใจจะเป็นนักเขียน ได้สนใจเล่าเรียนวิชาการประพันธ์ แต่ก็เขียนอะไรไม่ได้จนแล้วจนรอด หรือเขียนได้ก็ไม่ค่อยจะเป็นเรื่องเป็นราวนัก

ดังนี้จึงเชื่อกันว่า การเป็นนักเขียนนั้นเป็นมาแต่กำเนิด มีพรสวรรค์ หรือมีหัวทางขีดเขียน ที่กล่าวดังนี้ก็เป็นการถูกต้อง แต่คนที่มีหัวในการเขียน ถ้าไม่ได้รับการแนะนำที่ถูกต้อง ก็จะเขียนให้ดีได้ยาก คนที่ไม่มีหัวในการเขียน อาจสร้าง “หัว” ขึ้นได้ หากได้ศึกษาเล่าเรียนในเชิงการเขียนและมีความเพียรพอเพียง เพราะทุกคนย่อมมีแนวความคิด แนวความคิดนี่แหละ เป็นต้นทุนสำคัญของนักเขียน คนที่จะเป็นนักเขียนไม่ได้จริงๆ ก็คือคนที่ไม่มีแนวคิดเสียเลย

แต่งานเขียนเป็นงานแสนยาก ราวกับการไต่ผาสูงชัน คนที่ไม่มีใจชอบและขาดอดทน ไม่สามารถจะขึ้นไปยืนบนยอดผา มองเห็นทิวทัศน์อัน ตระการตาที่กระจายอยู่เบื้องล่าง

นักเขียนบางคนถือเอาการเขียนเป็นอาชีพโดยตรง ตั้งแต่เริ่มแรก ประกอบอาชีพทีเดียว ประเภทนี้มักจะต้องล้มลุกคลุกคลาน ใช้นํ้าลูบท้อง บางคนเป็นอย่างนี้อยู่นาน บางคนเป็นอยู่ตลอดชีวิต ตายแล้วจึงทำให้คนข้างหลังรวย บางคนพรวดเดียวก็ขึ้นถึงยอดเขาราวกับปาฏิหาริย์ แต่ใครก็ตามที่อยากเป็นนักประพันธ์ต้องทำใจให้รู้เสียแต่เบื้องต้นว่า จะต้องอดๆ อยากๆ ความทุกข์และความอดอยากนี่เป็นนํ้าทิพย์ของนักเขียน ศิลปะเยี่ยมๆ มักเกิดจากความเจ็บปวด

หลักสำคัญข้อแรก
หลักข้อต้นสำหรับนักเขียน คือ ความพิถีพิถัน นี่เป็นหลักสำคัญที่สุด สำหรับศิลปะทั่วไป การทำอะไรอย่างลวกๆ เอาแต่ได้นั้นเป็นปฏิปักษ์กับศิลปะ การที่จะต้องพิถีพิถันนั้นมีอยู่สองอย่าง คือ พิถีพิถันในทางคิด กับการพิถีพิถันในการเขียนต้นฉบับ
เมื่อท่านเขียนเรื่อง ท่านก็อยากให้คนอื่นอ่านหรือพูดกันให้สั้นเข้า ก็คือเขียนส่งให้หนังสือพิมพ์หรือสำนักพิมพ์ เรียกว่า การทำต้นฉบับ ผู้ที่จะ เขียนเรื่องส่งหนังสือพิมพ์ ต้องถือว่าเรื่องนี้สำคัญมาก และเป็นการแสดงว่าท่านเข้าใจการเขียนอย่างเป็นอาชีพ จำเป็นอย่างยิ่งที่นักเขียนหน้าใหม่จะต้องทำต้นฉบับให้ถูกต้องตามหลักอาชีพการประพันธ์ ไม่ใช่หยิบกระดาษอะไรได้ก็ลงมือเขียน เขียนแล้วใครจะอ่านออกหรือไม่ก็ช่าง ถ้าเป็นดังนี้ ก็อาจพูดได้ว่า ไม่มีวันที่ท่านจะเข้าไปอยู่ในโลกการประพันธ์ได้ สำนักพิมพ์บางแห่งไม่ยอมอ่านต้นฉบับที่เขียนด้วยลายมือ เพราะฉะนั้นต้นฉบับที่เป็นพิมพ์ดีดดีที่สุด เพราะเจ้าของจะมีสำเนาไว้กับตนเอง หากฉบับที่ส่งไปเกิดสูญหายขึ้น ในการพิมพ์นั้นถ้าไปจ้างเขาพิมพ์ให้ก็ตกหน้าละประมาณ ๑๕ บาท ฉะนั้นนักเขียนอาชีพโดยมากจึงต้องพิมพ์ดีดเป็น สมัยก่อนนักเขียน เขียนเรื่องฟรีทางหนังสือพิมพ์ลงเรื่องให้ก็ดีเกินไปแล้ว ดังนั้นท่านจะเขียนลายมือยุ่งๆ อย่างไรก็ได้ แต่ถ้าจะเขียนเพื่อขาย มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำต้นฉบับให้เรียบร้อย นี่เป็นเรื่องสำคัญมาก

พิถีพิถันในเรื่องความคิด
ศิลปินไม่ว่าในทางไหน ย่อมสร้างงานเพื่อให้คนชอบคนชม คนเราจะชมกันได้ในเรื่องหลายอย่าง แต่ในการประพันธ์ เขาชมกันในเรื่องแนวคิด การที่จะคิดให้ลึกให้กว้าง และให้มีแนวใหม่นั้น เราจะคิดลวกๆ ไม่ได้ กุสตาฟ ฟลอแบรต์ นักเขียนนวนิยายชาวฝรั่งเศส บางทีคิดอยู่ตั้งหกเจ็ดวัน เพื่อหาประโยคเดียวที่จะบรรยายในเรื่องของเขา นี่คือคิดหาถ้อยคำ ยังเรื่องความคิดเกี่ยวกับอารมณ์ จิตใจมนุษย์ เช่น เรื่องความรัก ความแค้น อะไรเหล่านี้ ต้องดูลงไปให้ซึ้งถึงนํ้าใจของมนุษย์ เมื่อจะพูดถึงรูปร่างลักษณะ กิริยาท่าทีของตน ก็พิถีพิถันดูให้เห็น จับลักษณะที่เด่นให้ได้ ต้องเป็นคนช่างสังเกตและตาไวที่จะจับลักษณะที่เด่นของสิ่งทั้งหลาย เรื่องนี้ฝึกยากสักหน่อย แต่ไม่มีอะไรง่ายสำหรับศิลปิน มันจะง่ายเมื่อท่านบรรลุความเป็นศิลปินแล้ว กว่า “ยาขอบ” จะเขียน ผู้ชนะสิบทิศ ได้ ก็ต้องจนและต้องทรมานตัวอยู่นาน

มีเรื่องหนึ่งที่สำคัญมาก คือนักเขียนต้องเป็นตัวของตัวเอง ทั้งในเชิงการประพันธ์ และในชีวิตจริงของตัวเอง ในเชิงความเป็นตัวของตนเองนั้น ทำให้เรามักเห็นนักเขียนเป็นคนหยิ่งๆ ทั้งนี้เพราะความเป็นตัวของ ตัวเองแสดงออกมาแรงเกินไป ถึงแม้นักเขียนจะต้องอ่านนวนิยาย หรือ วรรณกรรมของนักเขียนอื่น แต่เขาก็จะไม่ลอกแบบของคนอื่น อย่าง “ไม้เมืองเดิม” เขียนเรื่องแหวกแนวทั้งความคิดและสำนวน คนที่เขียนเอาอย่างเขาไม่อาจทำได้ดีเลย นักเขียนต้องเป็นเอกอิสระในตัวเอง แต่ในเวลาเดียวกันต้องรู้จักแลเห็นลักษณะดีของนักเขียนอื่นด้วย

ในวงการของการประพันธ์
ในหมู่นักเขียนนั้น อาจแยกออกตามหน้าที่ได้เป็น ๓ พวกคือ
๑. พวกเจ้าหน้าที่ประจำ (Permanent Staff) คือพวกนักเขียนที่อยู่ ประจำสำนักงานหนังสือพิมพ์ พวกนี้ถ้าพูดตามทางธุรการ ก็ต้องอยู่กับหนังสือพิมพ์นั้นๆ จริงๆ จะเขียนให้หนังสือพิมพ์อื่นไม่ได้

๒. พวกส่งเรื่องประจำ (Permanent Contributor) คือพวกที่สัญญา กับหนังสือพิมพ์ว่า จะส่งเรื่องให้เดือนละกี่เรื่อง หรือกี่หน้า มีข้อตกลงกันในเรื่องค่าเขียน นักเขียนประเภทนี้อาจทำสัญญากับหนังสือพิมพ์หลายๆ ฉบับก็ได้

๓. พวกไม่มีสังกัด (Free Lance) ในภาษาอังกฤษแปลตามตัวว่า พวกหอกอิสระคือ ไม่เป็นลูกแถวทองกองทัพไหน เขาเปรียบหอก (Lance) กับปากกา พวกนี้เขียนเรื่องแล้วเสนอขายให้สำนักพิมพ์หรือหนังสือพิมพ์

ผู้เริ่มเขียนมักจะเป็นพวกไม่มีสังกัด เพราะถ้าใครจะรับเราเข้าสังกัด เขาก็ต้องได้เห็นฝีไม้ลายมือของเราเสียก่อน อีกประการหนึ่ง ในการประพันธ์นั้น มีคติของพวกนักประพันธ์เก่าๆ เตือนไว้ด้วยความเวทนาว่า ใครจะเป็นนักเขียน ควรหาอาชีพอะไรให้เป็นหลักฐานเสียก่อน การแต่งเรื่องในชั้นต้น ควรทำเป็นงานอดิเรก หรือเรียกตามสำนวนไทยๆ ว่าเป็นการหาลำไพ่พิเศษ และพวกที่เขียนเป็นงานอดิเรกนี้ ภายหลังกลายเป็นนักเขียนอาชีพก็มีตัวอย่างอยู่หลายคน คือแปลว่าชื่อของตนติดตลาดและงานของตนราคาดี

ผู้ที่สนใจในการประพันธ์ หากได้เข้าทำงานอยู่กับหนังสือพิมพ์ ทางของท่านก็จะตรงยิ่งขึ้น เพราะท่านจะได้ฝึกการเขียนไปในตัว และมีเงินเดือนประจำ การที่จะเข้าทำงานหนังสือพิมพ์นั้น ถึงแม้เขาจะเชื่อถือผู้ที่เคยงานหนังสือพิมพ์มากกว่าเชื่อถือประกาศนียบัตรหรือปริญญาทางวารสารศาสตร์ก็ตาม ต่อไปผู้ที่ได้ศึกษาวิชาการหนังสือพิมพ์ และได้รับประกาศนียบัตรรับรองจะมีโอกาสมากขึ้น

การทำงานหนังสือพิมพ์นั้น ท่านก็อาจเป็นนักข่าว เป็นผู้เขียนข่าว เขียนบทนำ เขียนสารคดีเชิงข่าว เขียนคอลัมน์ ตรวจปรู๊ฟ จัดหน้า ทั้งนี้ แล้วแต่ความถนัด หรือตามที่เขาจะมอบหมายให้ทำ เขาว่ากันว่างานหนังสือพิมพ์นั้น ใครเข้าไปได้กลิ่นหมึกก็ติด เช่นเดียวกับคนที่เล่นการเมือง ส่วนใครจะไปได้ดีแค่ไหนก็แล้วแต่ความสามารถของตนเอง

หากท่านไม่ได้ทำงานในสำนักงานหนังสือพิมพ์ ท่านก็อาจเป็นนักเขียน อิสระ คือเขียนเรื่องส่งหนังสือพิมพ์ ซึ่งอาจทำโดยมีสัญญากัน หรือซื้อขายกันเป็นเรื่องๆ ไป เรื่องสัญญานี้เขามักทำกับนักเขียนที่มีชื่อเสียงแล้ว การเขียนเรื่องเพื่อขายนั้น ก็มีเรื่องอยู่หลายชนิด ดังต่อไปนี้

นวนิยาย เป็นบันเทิงคดีหรือเรื่องอ่านเล่นขนาดยาวประมาณ ๑๐๐ หน้า (หน้าละ ๒๕ บรรทัด) ขึ้นไป หรืออาจเป็นอนุนวนิยาย ราว ๕๐ ถึง ๑๐๐ หน้า การเขียนนวนิยายนี้ ออกจะยากสำหรับนักเขียนหน้าใหม่ เพราะต้องใช้เวลามาก และเมื่อเขียนเสร็จแล้ว ก็ไม่แน่ใจว่าจะขายได้ แต่ถ้านักเขียนหน้าใหม่จะเขียนในเวลาว่าง จะจบเมื่อไรก็ได้ และเขียนทิ้งไว้เป็นการทดลองกำลังความสามารถของตนเองก็ควร การเขียนทิ้งไว้นี้เท่ากับเป็น “ของเก่า” เราอาจมีเวลาต่อเติมแก้ไข และถ้าเรามีชื่อเสียงแล้ว เราอาจเอา “ของเก่า” มาขายได้ อย่างเช่น นายโนโบกอฟ ที่ได้ชื่อเสียงจากเรื่อง โลลิตา ต่อมางัดเอาเรื่องเก่าๆ ที่เขียนไว้ตั้งแต่อายุ ๒๒ มาขายได้เงินดีเสียด้วย

นวนิยายที่เขียนกันอยู่บัดนี้ เป็นพวกเขียน “ผ่อนส่ง” เสียโดยมาก คือนักเขียนกำหนดโครงเรื่องไว้ (บางคนก็ไม่กำหนด แล้วแต่เหตุการณ์จะ พาไป) เขียนตอนแรกๆ สองสามบท หรืออาจถึงสิบบทให้หนังสือพิมพ์ เมื่อหนังสือพิมพ์รับไว้ ตกลงกันแล้วก็เขียนส่งเป็นงวดๆ ไป เวลานี้นวนิยายที่มีคนติดก็กลายเป็นละครวิทยุ เป็นภาพยนตร์ เป็นรายได้พิเศษของเจ้าของเรื่องเพิ่มขึ้น

เรื่องสั้น คือเรื่องบันเทิงคดีหรือเรื่องอ่านเล่นสั้นๆ ประมาณ ๗ หน้า ถึง ๔๐ หน้า เหมาะที่สุดสำหรับผู้ที่เริ่มเขียนเรื่อง ว่าถึงการขายก็ง่าย เวลา ที่ใช้ในการเขียนอาจจะจบในวันเดียวได้ หากเราสามารถเขียนได้เดือนละ ๔ เรื่อง ก็อาจทำเงินได้ปานกลางพออยู่ได้สำหรับนักเขียน เพราะนักเขียนเมื่อยังไม่มีชื่อเสียง ต้องหัดเป็นคนกินน้อยใช้น้อย แต่ว่าต้องใช้หัวคิดมาก และทำงานมาก

ที่มา:เปลื้อง ณ นคร

โคลงกลอนเกี่ยวกับปลา

ปลานั้นมีชื่อต่างๆ กัน ตามลักษณะที่คนเรามองเห็น เช่นปลาแก้มช้ำ ก็เพราะตรงแก้มของมันเป็นสีดำเหมือนแก้มช้ำ กวีของเราชมปลาแล้วเปรียบเทียบกับคนรักไว้หลายท่านเหมือนกัน ท่านหนึ่งคือเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ กวีสมัยกรุงศรีอยุธยาซึ่งทรงนิพนธ์เห่ชมปลาไว้ว่าปลาตะเพียน

พิศพรรณปลาว่ายเคล้า        คลึงกัน
ถวิลสุดาดวงจันทร์            แจ่มหน้า
มัศยายังพัวพัน                พิศวาส
ควรฤพรากน้องข้า        ชวนเคล้าคลึงชม

พิศพรรณปลาว่ายเคล้า    คิดถึงเจ้าเศร้าอารมณ์
มัศยายังรู้ชม            สมสาใจไม่พามา
นวลจันทร์เป็นนวลจริง     เจ้างามพริ้งยิ่งนวลปลา
คางเบือนเบือนหน้ามา    ไม่งามเท่าเจ้าเบือนชาย

เพียนทองงามดั่งทอง        ไม่เหมือนน้องห่มตาดพราย
กระแหแหห่างชาย        ดังสายสวาสดิ์คลาดจากสม

แก้มช้ำช้ำใครต้อง        อันแก้มน้องช้ำเพราะชม
ปลาทุกทุกข์อกตรม        เหมือนทุกข์พี่ที่จากนาง

น้ำเงินคือน้ำยวง            ขาวพรายช่วงสีสำอาง
ไม่เทียบเปรียบโฉมนาง        งามเรืองเรื่อเนื้อสองสี

ปลากรายว่ายเคียงคู่            เคล้ากันอยู่ดูงามดี
แต่นางห่างเหินพี่                เห็นปลาเคล้าเศร้าใจจร

ทีนี้มาลองฟังสำนวนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ดูบ้างซิครับว่าคารมไพเราะพอๆ กันหรือไม่

หางไก่ว่ายแหวกว่าย        หางไก่คล้ายไม่มีหงอน
คิดอนงค์องค์เอวอร        ผมประบ่าอ่าเอี่ยมไร

ปลาสร้อยลอยล่องชล        ว่ายเวียนวนปนกันไป
เหมือนสร้อยทรงทรามวัย    ไม่เห็นเจ้าเศร้าบ่วาย

เนื้ออ่อนอ่อนแต่ชื่อ        เนื้อน้องฤาอ่อนทั้งกาย
ใครต้องข้องจิตชาย        ไม่วายนึกตรึกตรึงทรวง

ปลาเสือเหลือที่ตา        เลื่อมแหลมกว่าปลาทั้งปวง
เหมือนตาสุดาดวง        ดูแหลมล้ำขำเพราคม

แมลงภู่คู่เคียงว่าย        เห็นคล้ายคล้ายน่าเชยชม
คิดความยามเมื่อสม        สนิทเคล้าเจ้าเอวบาง

หวีเกศเพศชื่อปลา        คิดสุดาอ่าองค์นาง
หวีเกล้าเจ้าสระสาง        เส้นเกศาสลวยรวยกลิ่นหอม

ชะแวงแฝงฝั่งแนบ        ชะวาดแอบแปบปนปลอม
เหมือนพี่แนบแอบถนอม    จอมสวาทดินาฎบังอร

พิศดูหมู่มัจฉา            ว่ายแหวกมาในสาคร
คะนึงนุชสุดสายสมร        มาด้วยพี่จะดีใจ

เห่ชมปลาตอนหลังนี้เข้าใจกันว่าเป็นพระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

นี้ด้วยด้วยปลาในทัศนของกวี ทีนี้มาดูปลาในทัศนของนักปราชญ์บ้าง เรื่องนี้ก็เห็นจะหนีไม่พ้นคำพังเพยที่เกี่ยวกับปลาซึ่งก็มีอยู่ ๒-๓ คำ

“ปลากระดี่ได้น้ำ” –คำนี้หมายความว่า แสดงกิริยาท่าทางดีใจดีดดิ้นร่าเริงเหมือนฝนตกน้ำไหลใหม่ๆ พวกปลากระดี่พากันดีใจแหวกว่ายทวนน้ำอย่างร่าเริง

“ปลาข้องเดียวกัน” –มีความหมายว่า ปลาซึ่งเก็บไว้ในที่เดียวกัน ถ้าเน่าเสียตัวหนึ่งก็พลอยทำให้ปลาตัวอื่นเน่าไปด้วย เหมือนคนทำงานอยู่ในที่แห่งเดียวกัน คนหนึ่งทำความชั่วคนก็เหมาเอาว่าคนในที่ทำงานนั้นชั่วเหมือนกันหมด

“ปลาหมอตายเพราะปาก” –มีความหมายว่า พูดพล่อยๆ ไปจนตัวเองต้องเป็นอันตราย ทำไมจึงว่าปลาหมอตายเพราะปาก ก็เพราะว่าธรรมดาปลาหมอนั้น ชอบขึ้นมาหายใจทำปากปะหงับๆ ให้คนเห็นว่าอยู่ที่ไหน คนก็เอาแหเหวี่ยงลงไปจับมาเป็นอาหารเสียนั่นเอง

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

รำพันพิลาป

อันโลกีย์วิสัยที่ในโลก                ความสุขโศกสิ้นกายก็หายสูญ
เป็นมนุษย์สุดแต่ขอให้บริบูรณ์        ได้เพิ่มพูนผาสุกสนุกสบาย
ขอบุญพระจะให้อยู่ชมพูทวีป        ช่วยชุบชีพชูเชิดให้เฉิดฉาย
ไม่ชื่นเหมือนเพื่อนมนุษย์ก็สุดอาย        สู้ไปตายตีนเขาลำเนาเนิน

เรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวที่ตั้งชื่อผิดไปจากนิราศอื่นๆ ตามคำนำของกรมศิลปากรว่า แต่งในปีรัชกาลที่ ๓ เสวยราชย์ คือ พ.ศ. ๒๓๖๗ และสุนทรภู่ถูกถอดในปีเดียวกันนั้น พอถูกถอดสุนทรภู่ก็บวช เที่ยวหัวเมืองเสียพักหนึ่ง แล้วก็มาจำพรรษาที่วัดราชบูรณะ

เนื้อนิราศ

สุนทรภู่ฝันถึงเทพธิดาผู้ปรารถนาดีต่อท่าน

“เมื่ออยากฝันนั้นว่านึกนั่งตรึกตรอง    เดือนหงายส่องแสงสว่างดังกลางวัน
เห็นโฉมยงองค์เอกเมขลา        ชูจินดาดวงสว่างมากลางสวรรค์
รัศมีสีเปล่งดังเพ็งจันทร์        พระรำพันกรุณาด้วยปรานี
ว่านวลหงส์องค์นั้นอยู่ชั้นฟ้า        ชื่อโฉม เทพธิดา มิ่งมารศรี
วิมานเรียงเคียงกันทุกวันนี้        เหมือนหนึ่งพี่น้องสนิทร่วมจิตใจ
จะให้แก้วแล้วก็ว่าไปหาเถิด        มิให้เกิดการระแวงแหนงไฉน
ที่ขัดข้องหมองหมางเป็นอย่างไร    จะผันแปรแก้ไขด้วยใกล้เคียง

แล้วสุนทรภู่ก็เคลิบเคลิ้มรำพันรัก แต่ตอนหลังก็คิดได้จึงสารภาพไว้ว่า

“โอ้ปีนี้ปีขาลบันดาลฝัน    ที่หมายมั่นเหมือนจะหมางระคางเขิน
ก็คิดเห็นเป็นเคราะห์จำเพาะเผชิญ    ให้ห่างเหินโหยหวนรำจวนใจ
จึงแต่งความตามฝันรำพันพิลาป        ให้ศิษย์ทราบสุนทราอัชฌาสัย
จะสั่งสาวชาวบางกอกทั้งนอกใจ        ก็กลัวภัยให้ขยาดพระอาชญา
จึงเอื้อมอ้างนางสวรรค์ตามฝันเห็น    ให้อ่านเล่นเป็นเล่ห์เสน่หา
ไม่รักใครในแผ่นดินถิ่นสุธา            รักแต่เทพธิดาสุราลัย
ได้ครวญคร่ำร่ำเรืองเป็นเครื่องสูง        พอพยุงยกย่องให้ผ่องใส
ทั้งสาวแก่แม่ลูกอ่อนลาวมอญไทย    เด็กผู้ใหญ่อย่าเฉลียวว่าเกี้ยวพาน
พระภู่แต่งแกล้งกล่าวสาวสาวเอ๋ย        อย่าถือเลยเคยเจนเหมือนเหลนหลาน
นักเลงกลอนนอนฝันเป็นสันดาน        เคยเขียนอ่านอดใจมิใคร่ฟัง

แล้วสุนทรภู่ก็บอกเหตุที่จะต้องจากวัดเทพธิดาไปด้วยความอาลัย

“โอ้ยามนี้ปีขาลสงสารวัด    เคยโสมนัสในอารามสามวษา
สิ้นกุศลผลบุญการุณา        จะจำลาเลยลับไปนับนาน

ตอนหนึ่งได้รำพึงถึงศิษย์ คือพระสิงหะ (หมายถึงเจ้าฟ้าอาภรณ์) กับพระอภัย (หมายถึง เจ้าฟ้ากลาง) ว่า

พระสิงหะพระอภัยพระทัยจืด        ไม่ยาวยืดยกยอฉลอเฉลิม
เมื่อกระนั้นจันทน์และกระแจะเจิม        ได้พูนเพิ่มเหิมฮึกอยู่ตึกราม

ด้วยเหตุที่เป็นเรื่องฝัน สุนทรภู่ได้ใช้จินตนาการถึงเรื่องต่างประเทศตามความรู้ของตน คือคิดจะพานางในฝันไปเที่ยวต่างประเทศ ว่า

“แล้วจะใช้ใบเยื้องไปเมืองเทศ    ชมประเภทพวกแขกแปลกภาษา
ทั้งหนุ่มสาวเกล้ามวยสวยโสภา    แต่งกายาอย่างพราหมณ์งามงามดี
ล้วนนุ่งห่มโขมพัสตร์ถือสัตย์ศิล    ใส่เพชรนิลแนบประดับสลับสี
แลพิลึกตึกตั้งล้วนมั่งมี            ชาวบุรีขี่รถบทจร
จะเชิญแก้วแววเนตรขึ้นเขตแคว้น        จัดซื้อแหวนเพชรรัตน์ประภัสสร
ให้สร่างทรวงดวงสุดาสัตถาวร        สว่างร้อนรับขวัญทุกวันคืน
จะระวังนั่งประคองเคียงน้องน้อย        ให้ใช้สอยสารพัดไม่ขัดขืน
กลืนไว้ได้ในอุระก็จะกลืน            ให้แช่มชื่นชมชะเลทุกเวลา
แล้วจะชวนนวลละอองตระกองอุ้ม    ให้ชมเพลินเนินมะงุมมะงาหรา
ไปเกาะที่อีเหนาชาวชวา            วงศ์อะสัญแดหวาน่าหัวเราะ
จมูกโด่งโง้งงุ้มทั้งหนุ่มสาว            ไม่เหมือนกล่าวราวเรื่องหูเหืองเจาะ
ไม่เพริศพริ้งหญิงชายคล้ายคล้ายเงาะ        ไม่มีเหมาะหมดจดไม่งดงาม
ไม่แง่งอนอ้อนแอ้นแขนไม่อ่อน            ไม่เหมือนสมรเสมอภาษาสยาม
รูปก็งามนามก็เพราะเสนาะนาม        จะพาข้ามเข้าละเมาะเกาะมาลากา
เดิมของแขกแตกฝาหรั่งไปตั้งตึก        แลพิลึกครึกครื้นขายปืนผา
เมื่อครั้งนั้นปันหยีอุ้มวิยะดา            ชี้ชมสัตว์มัจฉาในสาคร
แม้นเหมือนหมายสายสุดใจไปด้วยพี่    จะช่วยชี้ชมตลิ่งเหล่าสิงขร
ประคองเคียงเอียงเอกเขนกนอน        ร้องละครอิเหนาเข้ามาลากา
แล้วจะใช้ใบบากออกจากฝั่ง            ไปชมละเมาะเกาะวังกัลปังหา
เกิดในน้ำดำนิลดังศิลา            เหมือนรุกขาขึ้นสล้างหว่างคีริน
ชะเลรอบขอบเขาเป็นเงาง้ำ        เวลาน้ำขึ้นกระเพื่อมถึงเงื้อมหิน
เห็นหุบห้องปล่องชะลาฝูงนาคิน    ขึ้นหากินเกยนอนฉะอ้อนเนิน
ภูเขานั้นวันหนึ่งแล่นจึงรอบ        เป็นเขตขอบเทพเจ้าจอมเขาเขิน
จะชื่นชวนนวลละอองประคองเดิน    เลียบเหลี่ยมเนินเพลินชมพนมนิล
จริงน่ะจ๋ะจะเก็บทั้งกัลปังหา        เม็ดมุกดาคลื่นสาดกลางหาดหิน
เบี้ยอี้แก้แลรอบขอบคีริน        ระรื่นกลิ่นไม้หอมมีพร้อมเพรียง
สะพรั่งต้นผลดอกออกไม่ขาด    ศิลาลาดลดหลั่นชั้นเฉลียง
จะค่อยเลียบเหยียบย่องประคองเคียง    เป็นพี่เลี้ยงเพียงพี่ร่วมชีวา
จำปาดะองุ่นหอมกรุ่นกลิ่น        ก้าแฝ่ฝิ่นสุนธุต้นบุหงา
ด้วยเกาะนี้ที่ทำเลเทวดา        แต่นกกาก็มิได้ไปใกล้กราย
แล้วจะใช้ใบไปดู เมื่องสุหรัด        ถ้าคลื่นซัดซึ้งวนชลสาย
ตั้งตึกรามตามตลิ่งแขกหญิงชาย    แต้มผ้าลายกะลาสีพวกตีพิมพ์
พื้นม่วงตองทองช้ำย่ำมะหวาด    ฉีกวิลาศลายลำยองเขียนทองจิ้ม
ทำที่อยู่ดูพิลึกล้วนตึกทิม        เรียบเรียงริมฝั่งสมุทรแลสุดตา
จะตามใจให้เพลินเจริญเนตร    ชมประเภทพราหมณ์แขกแปลกภาษา
ได้แย้มสรวลชวนใช้ใบลีลา        ไปมั่งกล่า ฝาหรั่งระวังกระเวน
กำปั่นไฟใหญ่น้อยออกลอยเที่ยว    ตลบเลี้ยวแลวิ่งดังจิ้งเหลน
ถ้วนเดือนหนึ่งจึงจะผลัดพวกหัศเกน    เวียนกระเวนไปมาทั้งตาปี
เมืองมังกล่าฝาปรั่งอยู่ทั้งแขก        พวกเจ๊กแซกแปลกหน้าทำภาษี
แลพิลึกตึกรามงามงามดี            ตึกเศรษฐีมีทรัพย์ประดับประดา
ดูวาวแววแก้วกระหนกกระจกกระจ่าง    ประตูหน้าต่างติดเครื่องรอบเฝืองฝา
ล้วนขายเพชรเจ็ดสีมีราคา            วางไว้หน้าตึกร้านใส่จานราย
แล้วตัวไปไม่นั่งระวังของ            คนซื้อร้องเรียกหาจึงมาขาย
ด้วยไม่มีตีโบยขโมยขะมาย            ทั้งหญิงชายเช้าค่ำเขาสำราญ
นอกกำแพงแขวงเขตประเทศถิ่น        เป็นสวนอินตะผาลำ ทับน้ำหวาน
รองอ่างไว้ใช้ทำแทนน้ำตาล            ต้องแต่งงานขันหมากเหลือหลากจริง
ถึงขวบปีมีจันทน์ทำขวัญต้น            แต่งเหมือนคนขอสู่นางผู้หญิง
แม้นถึงปีมีลูกใครปลูกทิ้ง            ไม่ออกจริงจั่นหล่นลำต้นตาย
บ้านตลาดกวาดเลี่ยนเตียนตล่ง        ถึงของหลงลืมไว้ก็ไม่หาย
ไปชมเล่นเช่นฉันว่าประสาสบาย        บ้านเมืองรายหลายประเทศต่างเพศพันธุ์
จะพาไปให้สร้างทางกุศล            ขึ้นสิงหลเห็นจะได้ไปสวรรค์
ไหว้เจดีย์ที่ทำเลเวฬุวัน            พระรากขวัญอันเป็นยิ่งเขาสิ่งคุตร
คิดจะใช้ใบข้ามไปตามเข็ม        เขียนมาเต็มเล่มแล้วจะสิ้นสมุด
เหมือนหมายทางต่างทวีปเรือรีบรุด    พอสิ้นสุดสายมหาอารณพ
เหมือนเรื่องรักจักประเวศประเทศถิ่น     มิทันสิ้นสุดคำก็จำจบ
แม้นขืนเคืองเปลื้องปลิดไม่คิดคบ        จะเศร้าซบโศกสะอื้นทุกคืนวัน
เหมือนยักษีที่สิงขรต้องศรกก        ปักตรึงอกอานุภาพซ้ำสาปสรร
อยู่นพบูรีที่ตรงหว่างเขานางประจัญ    เสียงไก่ขันขึ้นนนทรีคอยตีซ้ำ
แสนวิตกอกพระยาอุนนาราช        สุดหมายมาดไม่มีที่อุปถัมภ์
ศรสะเทือนเหมือนอุระจะระยำ        ต้องตีซ้ำซ้ำในฤาทัยระทม
ถึงกระไรได้อุตส่าห์อาสาสมัคร        ขอเห็นรักสักเท่าซีกกระผีกผม
พอชื่นใจได้สว่างสร่างอารมณ์        เหมือนนิยมสมคะเนเถิดเทวัญ
ถวิลหวังสังวาสสวาทแสวง            ให้แจ่มแจ้งแต่งตามเรื่องความฝัน
ฝากฝีปากฝากคำที่สำคัญ            ชื่อรำพันพิลาปล้ำกาพย์กลอน
เปรียบเหมือนกับขับกล่อมสนอมเสน่ห์    สำเนียงเห่เทวัญริมบรรจถรณ์
เสวยสวัสดิ์วัฒนาสถาวร            วานฟังกลอนกลอยแก่เถิดแม่เอย ฯ

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด

ศิลปะการประพันธ์นิราศวัดเจ้าฟ้า

พูดโดยส่วนรวมศิลปะการประพันธ์ในนิราศวัดเจ้าฟ้าดูเหมือนจะหย่อนกว่านิราศเรื่องอื่นๆ หลายเรื่อง สุนทรภู่จึงใช้สำนวนเณรหนูพัดแทนตน จะอย่างไรก็ดีนิราศวัดเจ้าฟ้ายังมีรสเพราะอยู่หลายตอน

ว่าถึงศิลปะทางกลอนก็ราบรื่น มีการเล่นคำ ซํ้าคำที่ไพเราะและดีดดิ้นน่าพังเช่น

“ตลาคขวัญขวัญฉันนี้ขวัญหาย        ใครเขาขายขวัญหรือจะซื้อขวัญ
แม้ขวัญฟ้าหน้าอ่อนเหมือนท่อนจันทน์    จะรับขวัญเช้าเย็นไม่เว้นว่าง…”

และ

“เห็นสวาทขาดทิ้งกิ่งสนัด    เปีนรอยตัดต้นสวาทให้ขาดสาย
สวาทนี้พี่ก็ขาดสวาทวาย    แสนเสียดายสายสวาทที่ขาดรอย (ลอย?)’’

อนึ่ง โวหารเปรียบเทียบเชิงปรัชญาก็น่าฟัง เช่น

“ถึงบางพรหมพรหมมีอยู่สี่พักตร์        คนรู้จักแจ้งจิตทั่วทิศา
ทุกวันนี้มีมนุษย์อยุธยา            เป็นร้อยหน้าพันหน้ายิ่งกว่าพรหม’’

เป็นการด่ามนุษย์หน้าไหว้หลังหลอกและล่อลวงได้อย่างไพเราะ ดุดัน เสียจริงๆ

“อันอินทรีย์วิบัติอนัตตา        ที่ป่าช้านี้แหละเหมือนกับเรือนตาย
กลับกายกลัวมัวเมาไม่เข้าบ้าน    พระนิพพานเพิ่มพูนเพียงสูญหาย
อันรูปเหมือนเรือนโรคให้โศกสบาย    แล้วต่างตายตามกันเป็นมั่นคง…”

นี่คือการปลงสังเวชในความเป็นอนัตตาของสังขารโดยอมตกวีผู้ครองสมณเพศ

ทีนี้จะพูดถึงกระบวนพรรณนาและบรรยาย บทพรรณนาไปเด่นอยู่ที่ประวัติและตำนาน เช่น นกยางไม่มีตัวผู้ ประวัติสามโคก (ปทุมธานี) สมัยพระเจ้าอู่ทองจนสมัยรัชกาลที่ ๒ ประวัติพระใหญ่วัดพนัญเชิง และประวัติวัดเจ้าฟ้าอากาศ ส่วนบทบรรยายเช่นธรรมชาติมีอยู่ทั่วไป

‘‘…เวลาเย็นเห็นนกวิหคบิน        ไปที่ถิ่นทำรังประนังนอน
บ้างแนบคู่ชูคอเข้าซ้อแซ้        เสียงจอแจโจนจับสลับสลอน
บ้างคลอเข้าเคล้าเคียงประเอียงอร    เอาปากป้อนปีกปกกกประคอง
ที่ไร้คู่อยู่เปลี่ยวเที่ยวเดี่ยวโดด    ไม่เต้นโลดแลเหงาเหมือนเศร้าหมอง
ลูกน้อยน้อยคอยแลชะแง้มอง    เหมือนนกน้องตามน้อยกลอยฤทัย
มาตามติดบิดากำพร้าแม่        สุดจะแลเหลียวหาที่อาศัย
เห็นลูกนกอกน้องนี้หมองใจ        ที่ฝากไข้ฝากผีไม่ม่เลย…’’
พูดถึงบทพิศวาสในนิราศวัดเจ้าฟ้าผิดกับนิราศเรื่องอื่น เพราะในเรื่องนี้สุนทรภู่วางตัวอยู่หลังฉากพิศวาสเสียแล้ว คือวางตัวเป็นนักบวช สุนทรภู่ปรารภว่าเมื่อเขียนนิราศนี้ไม่มีคนรักว่า

“ไม่อ่อนหวานปานเพราะเสนาะโสต    ด้วยอายโอฐมิได้อ้างถึงนางไหน
ที่เขามีที่ฝากจากอาลัย            ได้ร่ำไรเรื่องหญิงจึงพริ้งเพราะ ที่กล่าวแกล้งแต่งเล่นเพราะเป็นหม้าย…”

เมื่อสุนทรภู่มอบเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ให้แก่เด็ก ก็จำต้องเขียนทำนองพิศวาสไปตามทำนองกลางๆ ไม่เกี่ยวข้องกับความรักของตนเอง

“ถึงเกาะเรียนเรียนรักก็หนักอก    แสนวิตกเต็มตรองเจียวน้องเอ๋ย
เมื่อเรียนกันจนจบถึงกบเกย        ไม่ยากเลยเรียนได้ดังใจจง
แต่เรียนรักรักนักก็มักหน่าย        รักละม้ายมิได้ชมสมประสงค์
ยิ่งรักมากพากเพียรยิ่งเวียนวง    มีแต่หลงลมลวงน่าทรวงโทรม”

“…โอ้ดูสุริยงจะลงลับ            มิใคร่ดับดวงได้อาลัยหลัง
สอดแสงแฝงรถเข้าบดบัง        เหมือนจะสั่งโลกาให้อาลัย
แต่คนเราชาววังทั้งทวีป        มาเร็วรีบร้างมิตรพิสมัย
ไม่รอรั้งสั่งสวาทประหลาดใจ    โอ้อาลัยแลลับกับวิญญา… ”

”นารีใดไร้รักอย่างหนักหน่วง    จะโรยร่วงรกเรี้ยวแห้งเหี่ยวหาย
ที่เมตตาอยู่ก็อยากจะฝากกาย    อย่าหมิ่นชายเชิญตรึกให้ลึกซึ้ง
เหมือนภุมรินบินหาซึ่งสาโรช    ถึงร้อยโยชน์แย้มกลิ่นคงบินถึง
แต่ดอกไม้ไทท้าวในดาวดึงส์        ไม่พ้นซึ่งพวกหมู่แมงภู่ชม…”

ในตอนสุดท้ายของนิราศวัดเจ้าฟ้า สุนทรภู่ได้พรรณนาไว้ตอนท้ายว่า

จึงจดหมายรายเรื่องที่เคืองเข็ญ        ไปเที่ยวเล่นลายแทงแสวงหา
เห็นสิ่งไรในจังหวัดรัถยา            ได้จดมาเหมือนหนึ่งมีแผนที่ไว้
ไม่อ่อนหวานขานเพราะเสนาะโสต    ด้วยอายโอฐมิได้อ้างถึงนางไหน
ที่เขามีที่จากฝากอาลัย            ได้รํ่าไรเรื่องหญิงจึงพริ้งเพราะ
นี่กล่าวแกล้งแต่งเล่นเพราะเป็นหม่าย    เหมือนเร่ขายคอนเรือมะเขือเปราะ
คิดคะนึงถึงตัวน่าหัวเราะ            เกือบกระเทาะหน้าแว่นแสนเสียดาย
นารีใดไร้รักอย่างหนักหน่วง            จะโรยร่วงรกเรี้ยวแห้งเหี่ยวหาย
ที่เมตตาอยู่ก็อยากจะฝากกาย        อย่าหมิ่นชายเชิญตรึกให้ลึกซึ้ง
เหมือนภุมรินบินหาซึ่งสาโรช        ถึงร้อยโยชน์แย้มกลิ่นคงบินถึง
แต่ดอกไม้ไทท้าวในดาวดึงส์            ไม่พ้นซึ่งพวกหมู่แมงภู่ชม
เช่นกระต่ายกายสิทธิ์นั้นผิดเพื่อน        ขึ้นแต้มเดือนได้จนชิดสนิทสนม
เสน่ห์หาอาลัยใจนิยม                จะใคร่ชมเช่นกระต่ายไม่วายตรอม
แต่เกรงเหมือนเดือนแรมไม่แจ่มแจ้ง    สุดจะแฝงฝากเงาเฝ้าถนอม
ขอเดชะจะได้พึ่งให้ถึงจอม            ขอให้น้อมโน้มสวาทอย่าคลาดคลา
ไม่เคลื่อนคลายหน่ายแหนงจะแฝงเฝ้า    ให้เหมือนเงาตามติดขนิษฐา
ทุกค่ำคืนชื่นชุ่มพุ่มผกา            มิให้แก้วแววตาอนาทร
มณฑาทิพย์กลีบบานตระการกลิ่น    ภุมรินหรือจะร้างห่างเกสร
จงทราบความตามใจอาลัยวอน        เดชะกลอนกล่าวปลอบให้ตอบคำ
จะคอยฟังดังหนึ่งคอยสอยสวาท        แม้นเหมือนมาดหมายจะชิมให้อิ่มหนำ
ถ้าครั้งนี้มิได้เยื้อนยังเอื้อนอำ        จะต้องครํ่าคร่าเปล่าแล้วเราเอย ฯ

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด