ข้อแนะนำเบ็ดเตล็ดสำหรับนักประพันธ์

Socail Like & Share

ในที่นี้ จะให้คำแนะนำเบ็ดเตล็ดชี้ข้อผิดต่างๆ เพื่อจะได้เป็นข้อสังเกตทั่วๆ กัน

๑. ความยืดยาดฟุ่มเฟือย
ข้อนี้ทำผิดกันเป็นส่วนมาก ได้พูดไว้แล้วว่า นักประพันธ์พึงเสียดายคำ ให้ใช้คำโดยความตระหนี่ อย่าพูดยืดยาดฟุ่มเฟือย เมื่อเขียนประโยคจบไปแล้ว ควรพิจารณาดูว่า คำไหนอาจตัดออกได้โดยไม่เสียความ ก็ควรตัดออก

ก. เครื่องนุ่งห่มร่างกายอาจทำให้คนผิดแปลกแตกต่างกันไปโดยรูปร่าง

คำ “ร่างกาย” ไม่จำเป็น และประโยคนี้ยืดยาดเร่อร่า ควรผูกประโยคใหม่ดังนี้ “เครื่องแต่งกายอาจทำให้รูปร่างของคนผิดแปลกไป”

ข. ยังมีครอบครัวพรานที่ยากจนครอบครัวหนึ่ง
ตัดออกได้หลายคำ เป็น “ยังมีพรานยากจนครอบครัวหนึ่ง” ได้ความเท่ากัน แต่ประโยคหลังใช้คำน้อยกว่า

ค. ยังมีตำบลหนึ่งอยู่ใกล้ป่าใหญ่ เป็นที่อาศัยของพวกพรานป่า ซึ่งหาเลี้ยงชีพด้วยการล่าสัตว์ ตัดไม้ในป่า และขุดกลอยขุดมันขาย

ประโยคนี้มีคำ “ป่า” รวมกันอยู่หลายคำ อ่านแล้วรกหู บางคำก็ตัดออกได้โดยไม่เสียความดังนี้ “มีตำบลหนึ่ง อยู่ใกล้ป่าใหญ่ เป็นที่อาศัยของพวกพราน ซึ่งหาเลี้ยงชีพด้วยการล่าสัตว์ ตัดไม้ และขุดกลอยมันไปขาย”

๒. ใช้คำโดยไม่พิจารณา
ก. ดอกเห็ดร่วงโรย
คำว่า “ร่วง” หรือ “ร่วงโรย” ไม่ควรใช้กับดอกเห็ด เพราะตามธรรมดาแล้วดอกเห็ดจะร่วง หรือ โรยไม่ได้ ถ้าใช้คำว่า เหี่ยวแห้ง จะสมกว่า

ข. เราพร้อมที่จะต่อสู้ฟาดฟันทุกสิ่งทุกอย่าง
คำว่า “ฟาดฟัน” พูดเป็นเชิงเทียบเคียงก็จริง แต่ไม่เหมาะ ถ้าว่า “ฟาดฟันอุปสรรค” พอไปได้ แต่ “ฟาดฟันทุกสิ่งทุกอย่าง” รู้สึกว่าเฝือไป การใช้คำโดยไม่ทันคิด จะว่าผิดก็ไม่ผิดแท้ แต่ขาดความประณีต เช่นนี้ เขาเรียกว่าภาษาหนังสือพิมพ์ (Journalese) เช่นว่า “เขาทำลายสถิติ” ดังนี้ ที่แท้เขาไม่ได้ทำลาย แต่เขา ชนะ สถิติหรือพูดว่า “ชาวจีนต้อนรับทูต เต็มเหวี่ยง” ดังนี้ “เต็มเหวี่ยง” ฟังกันเผินๆ ดูเหมือนจะเข้าใจ แต่ถ้าคิด ให้ซึ้งว่าเป็นอย่างไร ก็จะรู้สึกว่าเข้าใจยาก ที่จริงเราไปหยิบเอภาษาอังกฤษ มาแปล ทำลาย สถิติ Break Record, เต็มเหวี่ยง In Full Swing ในภาษาอังกฤษเขาเข้าใจของเขาดี แต่ถ้าแปลออกเป็นสำนวนไทยก็ดูตื้นเต็มที

ค. ใบไม้พริ้วตัวตามลม
คำว่า “พริ้ว” นี้เคยเป็นคำอยู่ในสมัย อะไรๆ ก็พริ้ว เพลงดังพริ้ว ลมเย็นพริ้ว ใครจะเป็นคนคิดคำนี้ขึ้นก็ตาม เขาคงได้ใช้ในที่และความอัน เหมาะเจาะที่สุด ผู้ที่ชอบใจนำเอามาใช้โดยไม่พิจารณาเลย ฟังขัดหูเต็มที

พริ้ว ในปทานุกรมไม่มี มีแต่ “พลิ้ว” แปลว่า บิด เบี้ยว ผิด พลาด

แต่คำ “พริ้ว” เป็นคำที่ใช้ในการประพันธ์ เช่น สั่นพริ้ว หมุนพริ้ว คำนี้ มีความหมายบ่งให้เห็นลักษณะไหวรัวเป็นคำที่เสียงดี และทำให้นึกเห็น ความหมายดี แต่ถ้านำมาใช้เลอะเทอะผิดที่ ก็เก้อ

วลีบางวลี เช่น “โดยเฉพาะอย่างยิ่ง” “สุดแสนที่จะทนทานได้”
เคยเป็นสมัยอยู่พักหนึ่ง ใช้กันฟุ่มเฟือยจนวลีที่กล่าวแล้วไม่มีราคาเลย บางคนก็นำไปใช้ผิดๆ ถ้าท่านจะใช้วลี หรือ คำใหม่ๆ แปลกๆ แล้ว จงทำความเข้าใจเสียให้ดีก่อน

ง. ลอยเหมือนฟองเมฆ
“ฟอง” ใช้กับเมฆไม่ได้

จ. ท่านสวมรองเท้าแตะ กางเกงแพร และเสื้อนอกแพร กลัดกระดุมทั้ง ๕ เม็ด เป็นพัสตราภรณ์ห่อร่างอันสมบูรณ์ของท่าน

คำว่า พัสตราภรณ์ เป็นคำศัพท์ แปลว่า เครื่องแต่งตัว ไม่จำเป็น ต้องใช้ในที่นี้ เป็นคำศัพท์หลง คือคำอื่นเป็นคำสามัญทั้งนั้น มีคำศัพท์หลงอยู่คำเดียว ผู้เริ่มเขียนควรระวังอย่าพยายามใช้คำศัพท์ นอกจากจำเป็น จริงๆ อีกคำหนึ่งคือ “กลัด” ใช้ผิดที่ถูกควรเป็น “ขัด” ขัดกระดุม

การเลือกเฟ้น
ในการพรรณนานั้น การรู้จักเลือกเฟ้น หยิบเฉพาะส่วนหรือลักษณะที่เด่นมาพูดเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เช่น การพรรณนาสุนัขที่กำลังโทสะ มีเขียน ดังนี้

“มันยืนจังก้า เตรียมพร้อมที่จะตะครุบขบกัด ริมฝีปากบนทั้งสองย่นขึ้น มองแลเห็นเขี้ยวขาวเรียงเป็นตับ เสียงคำรามฮื่อๆ อย่างดุเดือดอยู่ในลำคอ ดวงตาขุ่นขวาง กล้ามเนื้อเกร็ง หางแข็งไม่มีตก ขนตามตัวลุกชัน ขนหางพอง และจะไล่กวดอย่างเหยียดทีเดียว ถ้าศัตรูนั้นวิ่งหนี”

อย่างนี้เรียกว่า ไม่รู้จักเลือกเฟ้น ผู้อ่านมัวไปยุ่งกับรายละเอียดเสียหมด เลยไม่เห็นภาพส่วนรวม ท่านจะทำอย่างไร โดยหยิบลักษณะเด่นๆ มาพูดสองสามคำ ให้ผู้อ่านเห็นภาพทันที นี่แหละเป็นศิลป์ ที่จริงความ ข้างบนนั้นอาจย่นย่อลงได้ดังนี้

“มันยืนจังก้า แยกเขี้ยวขาว คำรามฮื่อๆ ตาขวาง ขนพอง เตรียมพร้อมจะกระโดดงับ” หรือ “ไล่กวด”

ก. แตรไซเรน ดัง กังวาน
คำว่า “ดัง” ให้ความหมายแคบ เพราะเป็นคำสามัญธรรมดาที่ใช้กันทั่วๆ ไป ควรเลือกหาคำอื่นที่มีความหมายว่า ดัง แต่แสดงลักษณะอย่างอื่นรวมอยู่ด้วย เช่น คราง-ครวญคราง

อนึ่ง วลี ต่างๆ เช่น เข้าด้ายเข้าเข็ม-หน้าสิวหน้าขวาน-หูดับตับไหม้ -เป็นฟืนเป็นไฟ-ไม่เป็นโล้เป็นพาย-สิ้นไร้ไม้ตอก-บอกบุญไม่รับ-แทบ สายตัวจะขาด-แทบเลือดตากระเด็น เหล่านี้ ถ้าท่านพยายามเก็บบันทึกไว้ แล้วเลือกสรรใช้ จะทำให้ข้อความที่ท่านเขียนมีรส และได้ความดีโดยไม่ต้องใช้คำอื่นๆ พูดให้มากคำ

การผูกประโยค
ข้อนี้พบผิดมากที่สุดในแบบฝึกหัดของผู้เริมฝึก และแม้ผู้ชำนาญแล้ว บางทีก็พลาด ถ้าไม่เป็นคนประณีตและหมั่นพิจารณาประโยคที่เขียน แล้ว ประโยคมักไม่ค่อยเรียบร้อย ในการผูกประโยคนั้น เราต้องการวางคำ ประธาน กริยา กรรม ส่วนขยาย เมื่ออ่านแล้วให้มีความชัดเจน กับให้ประโยคมีลักษณะกระชับรัดกุม แสดงความหมายชัดโดยใช้คำแต่น้อย อีกอย่างหนึ่งก็เพื่อให้อ่านราบรื่นอย่าให้ขัดหู

ก. ฝนเพิ่งหายตกใหม่ๆ
ประโยคนี้ ไม่ผิดอะไร แต่ความไม่รัดกุม ถ้าพูดว่า “ฝนเพิ่งขาดเม็ด” จะเห็นว่าจะแจ้งและรัดกุมกว่า

ข. ครีบของฉลาม เมื่อทำเป็นอาหารเสร็จแล้ว ที่เรียกว่า หูปลา ฉลามนั้น ดูเหมือนคนทุกชาติจะชอบกันทั้งนั้น

การจัดรูปประโยคไม่ดี จะเห็นว่าขัดๆ หูและความพร่า ควรเขียนใหม่ว่า “ครีบของฉลาม ที่เมื่อทำเป็นอาหารแล้วเรียกว่า หูปลาฉลาม นั้น ดูเหมือนคนทุกชาติจะชอบกันทั้งนั้น”

ค. เกล็ดที่คลุมหัวปลาฉลามอยู่นั้น เป็นเกล็ดที่มีขนาดเล็กก็จริง แต่เป็นวัตถุที่แข็งแรงที่สุด

ประโยคนี้ยาวโดยไม่จำเป็น “เกล็ดหัวปลาฉลามมีขนาดเล็กก็จริง แต่แข็งแรงที่สุด” เท่านี้ตรงไปตรงมาดี ไม่วนเวียน

ง. ให้นักเรียนมองดูครูทุกคน

ประโยคนี้ไม่ชัด ทุกคน ประกอบ ครู หรือ นักเรียน ที่จริงควรเป็น “ให้นักเรียนทุกคนมองดูครู”

จ. จิตรามองดูหมู่ชนที่ขวักไขว่ ขึ้นรถลงรถเดินไปมาอยู่ที่ชานชาลาสถานี

ประโยคนี้ ห้วน และรวบรัดเกินไป ต้องแยกความออกไปเพื่อให้แลเห็นชัด ดังนี้ “จิตรามองดูผู้คนที่ขวักไขว่อยู่บนชานชาลา ที่กำลังขึ้นรถก็มี กำลังลงจากรถก็มี ที่เดินไปเดินมาอยู่ก็มี”

ฉ. “ถึงแม้ว่า มองเตคริสโต และ ราชาวดีที่ปลูกไว้ในสวนหลังบ้าน ซึ่งมีเนื้อที่ไม่กว้างนัก กำลังชูช่อรับแสงแดดอ่อนตอนเช้า อันสาดแสงนวลทะลุเถาโปร่งฟ้าลงมา อากาศปลอดโปร่งแจ่มใสคล้ายกับเทพเจ้าจะยิ้มรับสัตว์โลก ที่ต้องประกอบสัมมาอาชีพใหม่ ก็ตาม หลวงพินิจกิจจานุเคราะห์ ประมุขของบ้าน มีอารมณ์ไม่สู้ดี นับแต่ลุกจากที่นอนมาแล้ว”

ความที่ยกมานี้ มีบกพร่องหลายอย่าง คือ

๑. ประโยค ความทั้งหมดนี้มีประโยคเดียว เป็นประโยคที่ยืดยาว เกินไป และความที่รับกันก็ถูกถ่างกันเสียห่างจนชนกันไม่ติด คือ “ถึงแม้ …ก็ตาม” ระหว่างนั้นมีอะไรต่ออะไรแทรกกลางเยอะแยะ ประโยคอย่างนี้ ไม่น่าฟัง ต้องแก้ใหม่

๒. คำที่ใช้ออกจะพิสดาร คือชื่ มองเตคริสโต กับ ราชาวดี นักเขียนบางคนชอบหาชื่อดอกไม้ ชื่อชนิดของผ้า ของเหล้า อย่างที่ไม่ค่อยมีใครได้ยินมาเขียน ที่จริงก็ทำให้ผู้อ่านพิศวงในความกว้างขวางของคนเขียน อยู่ดอก แต่ถ้าจะเขียนชื่ออันแปลกประหลาดพิสดาร ก็ควรเติมคำอะไรลงไปให้เข้าใจอีกเล็กน้อย เช่นว่า ต้นมองเตคริสโตกับต้นราชาวดี

๓. “ซึ่งมีเนื้อที่ไม่กว้างนัก”-ประโยคเล็ก (อนุประโยค) นี้ ไม่มีข้อความอะไรที่จำเป็นกับเนื้อเรื่องเลย
๔. การเปรียบเทียบ “เทพเจ้ายิ้มรับ…” ไม่เหมาะกับเรื่อง และไม่ทำให้ความดีขึ้น จะว่าเพื่อแสดงบรรยากาศอันมีความร่าเริง น่าสบาย เพื่อ ให้ตรงข้ามกับอารมณ์ของหลวงพินิจฯ แต่อ่านแล้วก็ไม่รู้สึกอย่างนั้น

๕. ประโยคใหม่น่าจะเป็นดังนี้ “ท้องฟ้าโปร่ง อากาศแจ่มใส ต้นมองเตคริสโต และ ต้นราชาวดี ชูช่อรับแสงแดดอ่อนตอนเช้า แม้ทุกสิ่งจะชวนให้เกิดรู้สึกเพลิดเพลิน แต่หลวงพินิจฯ อารมณ์ไม่สู้ดีตั้งแต่ลุกจากเตียงมาทีเดียว”

ช. ภายในสวนดอกไม้ อากาศตอนเช้าตรู่สดชื่นยิ่งนัก พรรณบุปผชาตินานาชูดอกไสว

ความในประโยคนี้ ไม่เป็นลำดับ คือขึ้นต้นพูดว่า “ภายในสวนดอกไม้” แล้วทิ้งห้วนไว้แค่นั้น ไปจับเอา “อากาศ” มาพูดต่อ ที่ถูกควรพูดกลับเสียใหม่ว่า “อากาศตอนเช้าตรู่สดชื่นยิ่งนัก ดอกไม้ต่างๆ ในสวนชูดอกไสว”

หลักที่ท่านควรคำนึง
ในการเขียนเรื่อง ซึ่งเป็นความร้อยแก้ว จะเป็นเรื่องชนิดใดก็ตาม เขานิยมกันว่า เรื่องซึ่งจะมีลักษณะดีนั้น ต้องเป็นดังนี้

๑. ความสะอาดหมดจด ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Purity พูดง่ายๆ ก็คือ ผู้เขียนใช้ถ้อยคำอันไม่เป็นมลทิน คำที่เป็นมลทินแก่ภาษานั้น คือ

ก. คำตลาด เป็นภาษาพูดของคนตามถนน เช่นคำว่า สวย แน่ ไป เลย ทำหน้า แหย ด่าโขมง โฉงเฉง พ่น เป็นไฟ

ข. คำศัพท์บัญญัติ เช่นคำว่า บรรยากาศ บริการ หรือศัพท์ที่เป็น เทคนิกัล เทอม (Technical Term) ทั่วๆ ไป ทางวรรณคดีไม่นิยมใช้ เพราะ เป็นศัพท์ที่คนทั่วไปไม่ค่อยรู้

ค. คำที่พ้นสมัย และ คำที่ใหม่เกินไป คำเปรียบเหมือนเครื่องแต่งกาย บางคำพ้นสมัย ถ้านำมาใช้ก็ดูเก้อ แต่บางคำเพิ่งเกิดใหม่ คนยังไม่คุ้นถ้านำมาใช้ก็รู้สึกแปลกหูแปลกตา

ง. คำภาษาต่างประเทศ อาทิภาษาอังกฤษเคยมีผู้เขียนว่า “เสื้อ สีฟ้าของเธอ แอตแตรคตีฟ ต่อสายตาเหลือเกิน” แอตแตรคตีฟ (Attractive) แปลว่า สะดุดตา ชวนให้มอง ใช้ภาษาไทยๆ ของเราก็ได้ ไม่จำเป็นต้อง ใช้ภาษาอังกฤษเลย

คำในลักษณะที่กล่าวตามข้อ ก. ข. ค. ง. นั้น ถ้าใช้เป็นคำพูดของตัวละครก็ได้ แต่ถ้าใช้เขียนในความเชิงพรรณนา หรืออธิบายแล้วไม่สมควร นี่เป็นข้อที่นักเลงหนังสือเขาถือกัน

๒. ความถูกต้อง ได้แก่ การใช้ คำ และ ผูกประโยคถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ คือ ใช้ราชาศัพท์ ใช้ “ความ…การ” ใช้ ลักษณะนามถูกต้อง ตามความนิยม ประโยคก็ต้องใช้ครบองค์ คือมี ประธาน-กริยา หรือประธาน- กริยา-กรรม คำสันธาน หรือ คำบุพบท กับ แก่ แต่ ต่อ เพราะว่า เพราะฉะนั้น เหล่านี้ต้องเอาใจใส่ใช้ให้ถูก

๓. ความชัดเจน หมายความถึงการเขียนให้ผู้อ่านเข้าใจตามที่เราต้องการ จะเข้าใจไปอย่างอื่นไม่ได้ ข้อนี้แหละผู้ที่เริ่มเขียนทำผิดกันมาก คือเมื่อเขียนอะไรลงไปแล้ว รู้สึกว่าตนเองเข้าใจดี แต่ถ้าให้คนอื่นอ่าน เขาจะไม่เข้าใจ หรือเข้าใจผิดกับที่เราต้องการให้เข้าใจก็ได้ เราจะเขียนโดยเพียงนึกว่าเราเข้าใจแล้วหาได้ไม่ ต้องพิเคราะห์ดูคำที่เราใช้ พิเคราะห์ดูประโยคที่เราผูกขึ้น ว่ามีข้อความกระชับรัดกุม หรือ กำกวมพร่า เคลือบ คลุมอย่างไรบ้าง เมื่อท่านเขียนอะไรแล้ว ต้องอ่านทวน และพิเคราะห์ทีละประโยค จนเป็นที่พอใจของท่านเสียก่อน ธรรมดานักเขียนเมื่อลงมือเขียน ก็เขียนเรื่อยไป ไม่เอาหลักเกณฑ์อันใดมาคำนึง แต่เมื่อเขียนแล้ว อ่านตรวจ ทาน ตอนนี้แหละเขาจะนึกถึงหลักเกณฑ์ ยิ่งนักเขียนสำคัญๆ ยิ่งพีถีพีถัน ในการตรวจมาก บางคนอ่านซํ้าซากพิจารณาเสียก่อนหลายๆ ครั้ง กว่าจะเป็นที่พอใจ

เครื่องหมายวรรคตอนและการเว้นวรรค
ท่านจะเขียนเรื่องอะไรก็ตาม อย่าลืมนึกถึงการเว้นวรรค มีหลายคน ทีเดียวที่เว้นวรรคไม่เป็น เขียนหนังสือติดกันมาเป็นพืด หลักสำคัญของการเว้นวรรคนี้มีอยู่ว่า เมื่อสิ้นความอย่างหนึ่งก็เว้นวรรคทีหนึ่ง เปรียบเหมือนการพูด เราไม่ได้พูดติดต่อกันรวดเดียวจบ แต่มีเว้นระยะหยุด เร็วบ้าง ช้าบ้าง การเว้นวรรคทีหนึ่งเท่ากับการหยุดพูดทีหนึ่ง การหยุดพูดหรือการเว้นวรรคนี้ เราต้องการให้ผู้ฟังหรือผู้อ่านเข้าใจเฉพาะตอนหนึ่งๆ ที่เราต้องการ และทำนองเดียวกัน ถ้าสิ่งใดที่เราต้องการพูดเกี่ยวเนื่องกัน แต่เรากลับเขียนเว้นวรรค ข้อความที่เราต้องการพูดก็เสีย

“หมู่บ้านใกล้ป่าแห่งหนึ่ง เป็นที่อาศัยของพวกพราน ซึ่งเลี้ยงชีพด้วยการล่าสัตว์ ตัดต้นไม้และขุดกลอยมัน ไปขายในย่านตำบลนั้น มีพราน ผู้หนึ่ง มีลูกหลายคน”

ตามตัวอย่างนี้แยกวรรคมากเกินไป ทำให้ความขาดเป็นห้วงๆ ที่ถูกควรเขียนดังนี้

“หมู่บ้านใกล้ป่าแห่งหนึ่งเป็นที่อาศัยของพวกพราน / ซึ่งเลี้ยงชีพด้วยการล่าสัตว์/ตัดต้นไม้และขุดกลอยมันไปขาย// ในย่านตำบลนั้นมีพรานผู้หนึ่ง / มีลูกหลายคน”

ที่ขีด / ขีดเดียว คือ เว้นวรรคเล็ก หมายความว่าข้อความที่ตามมา ยังเกี่ยวเชื่อมกับตอนก่อนที่ขีด // สองขีด แสดงว่าเป็นข้อความตอนใหม่ ต้องเว้นวรรคใหญ่ คือ ให้ระยะที่เว้นนั้นห่างประมาณสองเท่าวรรคเล็ก

“………” เรียกว่า อัญญประกาศ
๑. ใช้เขียนคร่อมข้อความที่เป็นคำพูด เช่น
“ขันก็หัวเราะนะซี” นายโชติตอบ

๒. ใช้เขียนคร่อมข้อความที่ผู้เขียนหยิบยกมาจากที่อื่น เช่น เมื่อสุนทรภู่เดินทางผ่านเมืองปทุมธานี ได้เขียนกลอนบรรยายไว้ว่า

“ถึงสามโคกโศกถวิลถึงปิ่นเกล้า พระพุทธเจ้าหลวงบำรุงซึ่งกรุงศรี ประทานนามสามโคกเป็นเมืองตรี ชื่อปทุมธานีเพราะมีบัว”

๓. ใช้เขียนคร่อมคำ ที่ต้องการให้เห็นเด่นชัดโดยเฉพาะ เช่น
พวกที่เราเรียกว่าเงาะมีหลายจำพวก ที่เขาตรวจพบปะ แต่ไม่จำเป็น ต้องยกมากล่าวในที่นี้ที่จะกล่าวบัดนี้ประสงค์เอาพวกที่ตัวมันเองเรียกตัวว่า “ก็อย”

มหัพภาค, จุลภาค
เครื่องหมายทั้งสองชนิดนี้ เดิมเป็นเครื่องหมายวรรคตอนภาษาต่างประเทศ ที่เรานำมาใช้ในภาษาไทยนั้น นิยมกันเฉพาะแสดงความหมายต่อไปนี้

ก. ใช้กำกับอักษร ดังนี้ พ.ศ. พ.ร.บ. เม.ย. (เมษายน)

ข. ถ้ามีอักษรย่อหลายตัวอยู่ชิดกันใช้ , (จุลภาค) แยก เพื่อกันสับสน เช่น
ป.ม., อ.บ., ว.ทบ.

เครื่องหมาย . (มหัพภาค) และ , (จุลภาค) นี้ เราไม่ได้ใช้กำกับวรรค อย่างภาษาอังกฤษ

! อัศเจรีย์ ? ปรัศนี
! เครื่องหมาย อัศเจรีย์ นี้ เขียนกำกับข้างหลังวรรคหรือคำเพื่อแสดงลักษณะอุทาน พิศวง อัศจรรย์ บอกลักษณะของเสียงดัง ซึ่งเราไม่อาจเขียนตัวหนังสือให้อ่านออกเสียงตรงกับเสียงนั้นได้

ตัวอย่าง
๑. “บ้าน !” คำนี้ที่จริงควรที่จะเป็นคำไพเราะที่สุดสำหรับมนุษย์

๒. พอฉันกลับถึงบ้านได้สักเจ็ดวัน คุณพ่อก็บอกว่าได้หาเมียไว้คนหนึ่งแล้ว !

๓. ฉันหวังใจว่าหน้าตาเจ้าหล่อนจะไม่เป็นนางงิ้วตุ้งแช่อะไรตัวหนึ่ง !

๑. ๒. ๓. คัดจากพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๖ เรื่องหัวใจชายหนุ่ม

? ปรัศนี ใช้กำกับความ หรือ คำ ที่แสดงความรู้สึกสงสัย ไม่เข้าใจ หรือเป็นคำถาม

ตัวอย่าง
๑. “คุณหัวเราะอะไร ?” แม่จวงถาม ออกชักฉิว

๒. “แม่ศรี? แกจำได้แน่นะ ว่าเป็นแม่ศรี”

………จุดไข่ปลา
ใช้เขียนตามหลังข้อความที่ยังไม่จบ และผู้เขียนต้องการให้ผู้อ่าน เดาความต่อไปเอาเอง หรือใช้แสดงว่าคำพูดนั้นชะงัก หรือไม่จบความ

ตัวอย่าง
๑. “ไอ้เราก็ไม่มียศศักดิ์อะไรเสียด้วย ไม่ยังงั้นก็……”
๒. ทั้งสองคนทำความเข้าใจกันเป็นอันดี ชายหนุ่มค่อยโอบหญิงสาว เข้ามาชิดกาย แล้ว…

ชี้ข้อบกพร่อง
๑. “มันยืนจังก้า เตรียมพร้อมที่จะตะครุบขบกัด ริมฝีปากบนทั้งสอง ย่นขึ้น มองแลเห็นเขี้ยวขาวเรียงเป็นตับ เสียงคำรามฮื่อๆ อย่างดุเดือดอยู่ ในลำคอ ดวงตาขุ่นขวาง กล้ามเนื้อเกร็ง หางแข็งไม่มีตก ขนตามตัวลุกตั้ง ขนหางพอง”

ความตอนนี้พรรณนาท่าทางทองสุนัขที่กำลังโกรธ ข้อผิดอย่างสำคัญ คือ ละเอียดเกินไป ขาดการเลือกเฟ้น (Selection) ผู้อ่านไม่ต้องการฟังคำอธิบายอย่างละเอียด ไม่ต้องการเรียนรู้กิริยาอะไรอย่างถี่ถ้วนเลย หน้าที่ของผู้เขียนคือการเลือกเฟ้น หยิบกิริยาหรืออาการอะไรอันหนึ่งที่แลเห็นได้ชัดเจนที่สุด เมื่อสังเกตหรือจับกิริยาอาการอันเด่นชัดนั้นได้แล้ว ก็เลือกหาคำที่แสดงความหมายรัดกุม แล้วเอาคำนั้นๆ มาเรียงเข้าเป็นข้อความ สำหรับข้างต้นนั้น เขียนว่า

“มันยืนจังก้า แยกเขี้ยวขาว คำรามฮื่อฮื่อ ตาลุกวาว

๒. “คนตระหนี่ชอบเที่ยวคนเดียว หรืออาจไม่เที่ยวเลย ไม่ชอบสังคม กินและใช้ของราคาถูก เห็นแก่ตัวก่อนอื่น แต่งกายด้วยเสื้อผ้าราคาถูก”

อย่างนี้เป็นการอธิบาย คือ บอกให้ผู้อ่านรู้ ถ้าเป็นเชิงพรรณนา ต้องให้ผู้อ่านเข้าใจ หรือเห็นได้เอง ดังนี้

“เขามีรายได้เดือนละหกร้อยบาท แต่ปล่อยให้เมียชักผ้า ถูบ้าน ไป ตลาด ทำครัว ตลอดวันมิได้พักหายใจ พอเมียบอกว่าได้เด็กมาช่วยแล้ว คนหนึ่ง เงินเดือนก็ไม่ต้องให้ เขาทำหน้าบึ้งฮึดฮัด บ่นว่า ‘เปลืองข้าวเปล่าๆ งานบ้านเท่านี้ ก็ต้องมีบ่าวช่วย’”

๓. “นํ้าตกดังอย่างเสียงทิพยดนตรีของเหล่าทวยเทพมาบรรเลงอยู่ที่ชะง่อนผา”
ไม่มีสัจธรรม และคำเปรียบเทียบนี้ยากที่ผู้อ่านจะนึกหรือรู้สึกตามได้ เพียง “เสียงนํ้าตก” นำไปเปรียบกับ “ทิพยดนตรี” นั้นเกินไป

๔. “แสงสุริยาทิตย์ยามเที่ยงแห่งคิมหันตฤดู ได้แผดเผามวลวัตถุธาตุในพื้นปัฐพีโลกให้ร้อนระอุ ดูทิวทัศน์เบื้องหน้าโน้นเป็นประกายยิบๆ เกิดพร่านัยน์ตาแก่ผู้ที่จะแลไป ณ ที่นั้น”

รุงรังไปด้วยคำศัพท์ ประดิษฐ์เขียนจนเกินสมควร ใช้คำมาก ได้ความนิดเดียว

๕. “แสงจันทร์เจ้ายามเดือนเพ็ญสาดแสงสุกสกาวแจ่มฟ้า เป็นนวลใยในท้องทะเลที่ราบเรียบ”

ไม่รู้จักประหยัดคำ “แสงจันทร์เจ้ายามเดือนเพ็ญ” เขียนว่า “จันทร์ เพ็ญ” หรือ “เดือนเต็มดวง” กระชับรัดกุมกว่า

๖. “ใต้ต้นยางใหญ่ โทน ฟากทุ่งตรงกันข้ามกับหมู่บ้าน ริมชายป่า ละเมาะมีพวกเหล่าร้ายนั่งจับกลุ่มกันอยู่สี่คน”

วางคำไม่ถูก ความที่ควรอยู่ใกล้กันกลับวางไว้ห่างกัน ที่ถูกควรเป็น

“ใต้ต้นยางใหญ่ โทน ริมชายป่าละเมาะ ฟากทุ่งตรงกันข้ามกับหมู่บ้าน มีพวกเหล่าร้ายนั่งจับกลุ่มกันอยู่” แต่ถ้าพิเคราะห์ให้ถี่ถ้วน จะเห็นว่า “ต้นยาง” กับ “พวกเหล่าร้าย” ควรจะอยู่ชิดกัน ในประโยคที่เขียนนั้น ยังมีความอื่นเข้ามาขวาง ทำให้ “ต้นยาง” กับ “พวกเหล่าร้าย” อยู่ไกลกัน จึงทำให้ความไม่ค่อยกระชับชัดเจน เมื่อเป็นดังนี้ควรผูกประโยคใหม่

“พวกเหล่าร้ายสี่คนกำลังนั่งจับกลุ่มกันอยู่ใต้ต้นยางใหญ่โทน ที่ตรงนั้นเป็นชายป่าละเมาะ อยู่ฟากทุ่งตรงกันข้ามกับหมู่บ้าน”

สรุปข้อแนะนำการเขียนเรื่องสั้น
ในหนังสือชุมนุมเรื่องสั้นเอกของโลก (Great Short Stories of the World) ได้รวมเรื่องสั้นซึ่งเก่าตั้งสามพันปีเศษจนถึงปัจจุบัน ในหนังสือนั้น กล่าวว่า แต่ก่อนถือกันว่าเรื่องสั้นก็คือไม่ยาว ไม่มีความหมายอย่างใดอีก นิทานก็จัดเป็นจำพวกเรื่องสั้น ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ คือ ตั้งแต่ ค.ศ.๑๘๐๑ เป็นต้นมา พวกคณาจารย์ทางการประพันธ์ได้พิจารณาเรื่องของนักเขียนเอกของโลก เช่น โมปัสซัง, เอดการ์ อะแลน โพ และ โอ เฮนรี่ เป็นต้น แล้ววางหลักลงไปว่า ที่เรียกว่าเรื่องสั้นนั้น มิได้หมายความว่าเป็นเรื่องที่ไม่ยาว แต่ยังเป็นเรื่องที่มีเทคนิค และทฤษฎีในการเขียนโดยเฉพาะ คำว่า เรื่องสั้น (Short Story) จึงกลายเป็นคำบัญญัติทางวรรณกรรม โดยถือว่า เรื่องสั้นต้องเป็นเรื่องที่

ก. มีพฤติการณ์อย่างเดียวโดยเฉพาะ
ข. มีความยาวในกำหนด

หลักทั้ง ก. และ ข. นี้ได้กล่าวไว้โดยละเอียดแล้วในคำบรรยายที่ว่าด้วยเรื่องสั้น สำหรับในข้อ ก. นั้น ผู้ศึกษายังทำผิดกันเป็นอันมาก คือ วางเค้าเรื่องโดยมีพฤติการณ์มากเกินไป

เค้าเรื่องกับวิธีเขียน
เรื่องสั้นที่นับว่าเป็นเอกนั้น ต้องมีเค้าเรื่องดีและวิธีเขียนดี แต่เค้าเรื่องที่ดีนั้นหาได้ยาก ฉะนั้นถ้าเป็นเค้าเรื่องธรรมดา วิธีเขียนจะต้องช่วย คือ ต้องให้มีสำนวนโวหารชวนอ่าน ผู้เริ่มฝึกยังไม่เฟื่องทั้งสำนวนและโวหาร จึงต้องคิดหาเค้าเรื่องแปลกๆ ก็นี่แหละเป็นงานหนัก เพราะเค้าเรื่องแปลกๆ ก็ไม่ใช่จะคิดได้หรือหาได้ง่ายๆ แต่ในชีวิตของเรานั้น เรื่องที่แปลกประหลาดพิสดารย่อมมีได้เสมอ สมมุติว่าได้เค้าเรื่องมาแล้ว ภาระที่สอง คือ การผูกเรื่อง ว่าจะจับเรื่องตรงไหน จึงจะยอกย้อนจับความสนใจ เหนี่ยวรั้ง ให้ผู้อ่านสงสัยสนเท่ห์ ว่าเรื่องจะลงเอยอย่างไร

ส่งท้ายเรื่องสั้น
เรื่องสั้นนี้ แม้จะมีผู้เขียนกันมาแล้วนับไม่ถ้วน แต่ก็มีเรื่องใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายทุกปี พูดได้ว่าตราบใดที่ยังมีมนุษย์อยู่ ก็ย่อมมีเรื่องที่จะให้ เขียนอยู่เสมอ โดยไม่ต้องกลัวว่าเรื่องจะหมดหรือไปซ้ำใคร นักเขียนย่อมดัดแปลง ยักย้าย คิดหาเนื้อเรื่อง แนวความคิด สำนวนหรือฉากในท้องเรื่องให้แตกต่างพิสดารไปจากของเก่าๆ ได้ ไม่รู้จักสิ้นสุด สำหรับผู้เริ่มฝึกนั้น ทางที่ดีที่สุดควรมองหาของที่ใกล้หูใกล้ตา ถ้าท่านเป็นตำรวจ เรื่องของท่านก็ควรเกี่ยวกับผู้ร้าย การโจรกรรม การสืบสวน เรื่องเกี่ยวกับทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ หาอ่านยาก ในหนังสือพิมพ์เมืองเรา จึงเป็นโอกาสของผู้ที่มีชีวิตอยู่กับทหาร ในที่นี้ต้องเข้าใจว่า ไม่ใช่เขียนกิจการทหาร เรื่องอ่านเล่น กับ เรื่องกิจการ ผิดกันมาก ผู้อยู่ตามชนบทอาจเขียนเรื่องตามชนบท ผู้เขียนย่อมมีโอกาสที่จะวางฉาก ตลอดจนหยิบขนบประเพณีของชนบทมาใส่ในท้องเรื่อง ผู้อ่านที่ไม่ได้อยู่ในถิ่นนั้นจะรู้สึกเพลิดเพลิน เพราะนอกจากจะได้อ่านเรื่องนิยายแล้ว ยังเท่ากับได้เที่ยวในท้องถิ่นนั้นๆ ด้วย

ที่มา:เปลื้อง ณ นคร