เทคนิคการเขียนเรื่องสั้น

Socail Like & Share

บัดนี้จะได้กล่าวถึงเทคนิคแห่งการเขียนเรื่องสั้น จะให้ท่านเข้าใจชั้นเชิงในการเขียนโดยยกเรื่องสั้นที่ดีเยี่ยมสักสองสามเรื่องมาให้ท่านเห็นเป็นตัวอย่าง แล้วแยกแยะชี้ให้ท่านพิจารณาส่วนต่างๆ ของเรื่องเสียก่อน นักเขียนเรื่องสั้นชั้นเอก ซึ่งสากลวรรณคดียกย่อง คือ กีย์ เดอ โมปัสซัง (Guy de Maupassant) เรื่องสั้นต่างๆ ที่ท่านผู้นี้ประพันธ์นับถือกันว่าเป็นแบบฉบับได้ เวลานี้ได้มีผู้แปลออกเป็นพากย์ไทยแล้วหลายเรื่อง “เรียมเอง” ซึ่งเราออกชื่อกันว่าเป็นนักเขียนเรื่องสั้นที่ดีที่สุดคนหนึ่ง ก็ได้แบบและแนวจากเรื่องของโมปัสซังมิใช่น้อย เรื่องของโมปัสซังที่ชื่อว่า The Necklace คือ “สร้อยคอเพชร” เป็นเรื่องที่นักวิจารณ์ยกย่องกันว่าได้ลักษณะของเรื่องสั้นอย่างสมบูรณ์ ข้าพเจ้าเห็นว่าไม่มีทางใดจะดีไปกว่าถอดเรื่องสั้นเรื่องนี้ออกเป็นภาษาไทย แล้วให้เลขหมายกำกับตอนต่างๆ ไว้ เมื่อท่านอ่านจบแล้ว จะได้ชี้ให้เห็นว่าตอนนั้นๆ มีความสำคัญอย่างนั้นๆ

สร้อยคอเพชร
The Necklace ของ Guy de Maupassant
๑. เธอเป็นสาวที่จัดว่ารูปงามและน่ารักคนหนึ่ง แต่ดูประหนึ่งว่ามี
เคราะห์กรรม จึงได้ถือกำเนิดในครอบครัวของคนหาเช้ากินค่ำ แล้วทรัพย์สมบัติติดตัวสักน้อยก็หาไม่ เธอจึงไร้ทั้งความหวังและช่องทางที่จะทำให้พวกชายมั่งคั่งมีชื่อเสียงมาแยแสแลเหลียว ที่สุดเธอได้แต่งงานกับเสมียนคนหนึ่งซึ่งทำงานในกระทรวงศึกษาธิการ

๒. เธอแต่งกายด้วยเสื้อผ้าราคาถูก เพราะไม่มีเงินที่จะหาของดีๆ มาแต่ง เธอรู้สึกเหมือนกับว่าเป็นผู้ดีตกยาก หาความสบายไจไม่ได้ แต่ว่า สำหรับหญิงแล้ว จะเอาเรื่องตระกูลหรือความมีฐานะมาพูดหาได้ไม่ความงาม ความละมุนละม่อม ความน่ารัก นั่นต่างหากที่ทำให้เธอเป็นไพร่หรือผู้ดี ความรู้จักสงบเสงี่ยมเจียมตัว ความรู้จักสวยงาม ความอ่อนโยน เหล่านี้แหละ ที่ทำให้หญิงสามัญเทียบเคียงกับท่านหญิงผู้สูงศักดิ์ได้

๓. เธอมีความกลัดกลุ้มอยู่เป็นนิตย์ รู้สึกว่าหญิงอย่างเธอควรจะเกิด มาสำหรับใช้ของดีมีราคา และอยู่ในที่อันบริบูรณ์พูนสุข เธอเดือดร้อนรำคาญที่ต้องอยู่กับห้องอันเก่าคร่ำคร่า ฝาห้องก็ผุพังซอมซ่อ เก้าอี้ขาหักขาเก เครื่องใช้ไม้สอยไม่มีอะไรน่าดูน่าใช้ สำหรับหญิงอื่นซึ่งมีฐานะอย่างเดียวกับเธอ ไม่มีใครเอาสิ่งเหล่านี้มาเป็นอารมณ์ แต่เธอมีความขัดแค้นน้อยอกน้อยใจ ยิ่งได้เห็นเด็กรับใช้ชาวเบรต็อง ซึ่งเธอมีอยู่เพียงคนเดียว ก็ยิ่งขุ่นข้องใจ และคิดฟุ้งซ่านไปต่างๆ เธอฝันเห็นห้องนั่งพักเงียบๆ ประดับด้วยผ้าม่านสวยๆ ชนิดฝีมือทำในตะวันออก แล้วก็มีตะเกียงทองเหลืองเชิงสูงๆ จุดในยามค่ำ นึกเห็นคนรับใช้ชายท่าทางเคร่งครัด แต่งกายด้วยกางเกงขารวบ อย่างพวกมหาดเล็ก นึกเห็นพวกนี้นั่งคอยฟังเรียกตัวอยู่ในเก้าอี้นวมจนง่วงโงกไปเพราะความอบอุ่นของไฟในเตา เธอหลับตาเห็นห้องรับแขกแขวนม่านไหมอันเป็นของโบราณ นึกเห็นเครื่องเฟอร์นิเจอร์อันงดงามสำหรับวางของโชว์ที่มีค่าต่างๆ แล้วนึกเห็นห้องนั่งเล่นเล็กๆ น่าสบาย มีกลิ่นหอมอบอวล สำหรับเป็นที่นั่งเล่นเจรจาในยามค่ำกับเพื่อนฝูงที่สนิทชิดชอบ และคนที่มีชื่อเสียงกว้างขวางในวงสมาคม ซึ่งใครๆ ก็อยากรู้จัก เป็นที่ริษยาของหญิงอื่นที่อยากให้ชายนั้นเอาใจใส่กับตนด้วย

๔. ขณะที่เธอนั่งรับประทานอาหารบนโต๊ะกลม ซึ่งมีผ้าปูไม่ได้ซักตั้งสามวัน และเมื่อสามีที่นั่งกินอยู่ด้วย เปิดชามซุปแล้วร้องอย่างพอใจว่า “อา สตูเนื้อของดี ! พี่ไม่เคยกินอะไรอร่อยกว่านี้ !” เธอก็เคลิ้มนึกไปถึง
อาหารอันชวนกินอื่นๆ นึกเห็นจานเงินเป็นเงางาม นึกเห็นม่านห้อย ถัก เป็นรูปคนโบราณและนกรูปร่างแปลกๆ จับไม้อยู่ในสวรรค์ ฝันเห็นอาหารซึ่งปรุงแปลกๆ เป็นพิเศษ บรรจุอยู่ในจานรูปพิสดารต่างๆ ฝันเห็นคนคอยพะนอเอาใจ กระซิบคำอันไพเราะหู และยิ้มอย่างมีนัยยามเมื่อเธอลิ้มเนื้อสีชมพูของปลาเทราท์และปีกนกกระทา

๕. เธอไม่มีเสื้อคลุม ทองหยองอะไรก็ไม่มี แล้วก็สิ่งพวกนี้เท่านั้น ที่เธออยากได้ เธอรู้สึกว่าเกิดมาเพื่อจะใช้ของเหล่านี้เท่านั้น เธออยากให้ใครๆ พอใจ อยากให้ใครๆ อิจฉา อยากให้ใครๆ หลงและฝันถึง เธอมี เพื่อนหญิงที่มั่งคั่งคนหนึ่งเมื่อครั้งเรียนหนังสือ เพื่อนคนนี้ได้ห่างเหินกัน เสียนาน เพราะเธอไปเยี่ยมเขาทีไร กลับมาบ้านก็เกิดความกลุ้มใจทุกทีไป ต้องมานั่งร้องไห้หน้าบูดบึ้ง มึนซึม เศร้าใจและน้อยใจไปทั้งวัน

๖. อยู่มาวันหนึ่งสามีเดินอย่างภาคภูมิเข้ามาในห้อง มือถือซองจดหมายใบเขื่องมาด้วย เขาส่งซองจดหมายให้ภรรยาแล้วว่า

๗. “อ่านดูซิ มีเรื่องดีสำหรับน้อง”

๘. เธอรีบเปิดซองและดึงการ์ดแผ่นหนึ่งออกมา มีข้อความในการัด
ดังนี้

๙. “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และมาดาม ยอช รัมปองโย มีความยินดีขอเชิญนายและนางลัวเซล ไปร่วมในงานราตรีสโมสร ณ สำนักศึกษาธิการ ในวันจันทร์ที่ ๑๘ มกราคม”

๑๐. แทนที่เธอจะดีอกดีใจอย่างที่สามีคาดหมาย เธอกลับโยนบัตรเชิญ ลงบนโต๊ะ และพึมพำอย่างไม่พอใจว่า

๑๑. “คุณเอามาให้ฉันทำไมกัน”

๑๒. “โธ่ ! พี่นึกว่าน้องคงจะดีใจ เพราะไม่ค่อยได้ไปเที่ยวไหนกับเขาเลย แล้วครั้งนี้เป็นโอกาสดี เป็นเกียรติยศแก่เราด้วย กว่าจะได้บัตรเชิญ นี้มาลำบากไม่ใช่เล่น ใครๆ ก็อยากได้ แล้วมันก็มีจำกัด บัตรสำหรับให้ พวกเสมียนมีไม่กี่ใบ ถ้าน้องไปในงานนี้ คงจะได้เห็นข้าราชการสำคัญๆ มากหน้าหลายตาทีเดียว”

๑๓. เธอจ้องเขา สีหน้าแสดงความรำคาญและพูดสำเนียงไม่พอใจว่า

๑๔. “คุณจะให้ฉันเอาเสื้อผ้าที่ไหนแต่งไปอยากรู้นัก”

๑๕. เขาไม่ทันนึกถึงข้อนี้ เลยชักงงๆ

๑๖. “ก็ชุดที่น้องใส่ไปดูละครนั่นไงล่ะ ก็พอใช้ได้นี่นา พี่……”

๑๗. เขาตกตะลึง อ้าปากค้าง ที่เห็นภรรยาร้องไห้

๑๘. นํ้าตาเม็ดเขื่องๆ สองเม็ดค่อยไหลเลื่อนจากขอบตาลงมาที่มุมปาก
๑๙. “ร้องไห้ทำไมจ๊ะ จ๊ะ ?” เขาถามตะกุกตะกัก

๒๐. เธอพยายามหักใจอย่างที่สุด แล้วตอบเสียงปกติ พลางเอามือเช็ดนํ้าตาว่า

๒๑. “ไม่มีอะไรหรอกค่ะ งานนี้ฉันไม่รู้ว่าจะไปได้อย่างไร เครื่องแต่งตัวก็ไม่มี คุณเอาการ์ดนี้ไปให้เพื่อนของคุณที่เมียเขามีเครื่องแต่งตัวสวยๆ แต่งนั่นเถิด”

๒๒. เขารู้สึกช้ำใจ

๒๓. “มาทิลดา” เขาว่า “น้องลองกะดูซิว่าถ้าจะหาชุดที่พอไปวัดไปวา กับเขาได้ แล้วที่พอจะเก็บไว้ใช้ได้อีกในโอกาสอื่น จะตกราคาชุดละเท่าใด”

๒๔. เธอนิ่งคิดสองสามอึดใจ นึกกะราคาเสื้อ ตลอดจนคะเนว่า ราคาที่เธอบอกนั้น สามีผู้เป็นคนค่อนข้างมัธยัสถ์จะไม่ตบอกและรีบปฏิเสธ

๒๕. ในที่สุดเธอตอบไปทันทีว่า

๒๖. “ฉันก็ไม่รู้แน่ว่าจะราคาสักเท่าใด แต่คิดว่าคงพอหาได้ในราว ๔๐๐ ฟรังก์”

๒๗. ผู้สามีหน้าเสียเล็กน้อย เพราะเงินจำนวนนี้ เขาเก็บเล็กผสมน้อย ไว้เพื่อซื้อปืนสำหรับไปเที่ยวยิงสัตว์กับเพื่อนที่ป่านังแตร์ ในฤดูร้อนนี้

๒๘. แต่แล้วเขาพูดว่า

๒๙. “เอาเถอะน้อง พี่จะให้สี่ร้อยฟรังก์ เลือกซื้อเสื้อสวยๆ นะ”

๓๐. ใกล้ถึงวันงาน มาดามลัวเซล รู้สึกกระวนกระวายไม่สบายใจอีก แม้ว่าหล่อนจะได้เสื้อมาแล้ว

๓๑. เย็นวันหนึ่งสามีถามเธอว่า “เป็นไรไปเล่าน้อง สองสามวันนี้ดูหน้าตาไม่สบายเลย”

๓๒. เธอตอบว่า “ฉันกลุ้มว่าไม่มีอะไรแต่งติดตัวเลย เพชรสักเม็ดก็ยังดี โธ่ไปตัวเปล่าๆ ในงานอย่างนั้น อายเขาจะตาย คิดๆ ไม่อยากไปเสียแล้ว”

๓๓. “ปักดอกไม้เอาไม่ดีกว่าหรือ” สามีตอบ “เวลานี้เขากำลังนิยมกันอยู่เสียสักสิบฟรังก์ก็หากุหลาบงามๆ ได้”

๓๔. เธอไม่เห็นด้วย

๓๕. “ไม่ละ ไปทำซอมซ่อในหมู่พวกมั่งมีอย่างนั้น ก็ขายหน้าเขาแย่”

๓๖. ขณะนั้นผู้สามีร้องขึ้นว่า

๓๗. “น้องละเซ่อไปได้ ลองไปหาคุณฟอเรเตีย เพื่อนของน้องซิ ขอยืมเครื่องเพชรเขาสักอย่างหนึ่ง เขาคงไม่หวงดอกนะ”

๓๘. “เออจริงซิ” เธอร้องขึ้นด้วยความดีใจ “ฉันลืมไปสนิท”

๓๙. รุ่งขึ้นเธอก็ไปหาเพื่อน แล้วปรับทุกข์ให้ฟัง

๔๐. มาดาม ฟอเรเตีย เปิดตู้กระจก หยิบหีบเครื่องเพชรออกมา แล้ว บอกมาดามลัวเซล ว่า

๔๑. “เลือกเอาเถิดเพื่อนรัก”

๔๒. เธอลองหยิบกำไลมือมาสวมดูก่อน แล้วลองสร้อยคอไข่มุก แล้วก็เข็มเครื่องหมายกางเขน ฝีมือเวนิส ซึ่งทำด้วยทองประดับเพชร ฝีมือวิจิตร บรรจง ลองสวมพิศดูในกระจกเงาแล้วก็ให้ตันใจ ไม่อยากถอดคืนเจ้าของเสียเลย

๔๓. “มีอะไรอีกไหมเธอ” หล่อนอยากเห็นของอื่นๆ อีก

๔๔. “อ้อ มี นี่ไงล่ะ เลือกดูตามที่เธอชอบเถิด”

๔๕. ขณะนั้นเธอเห็นสร้อยคอเพชรอันงดงามยิ่งสายหนึ่ง อยู่ในหีบ กำมะหยี่ เธอใจเต้นระทึกด้วยความอยากได้ หยิบขึ้นมาด้วยมือสั่นเทา ลองสวมกับเสื้อคอสูง พิศดูเงาในกระจกอย่างปลาบปลื้มใจ

๔๖. เธอรีๆ รอๆ ไม่ค่อยกล้าออกปาก กลัวเจ้าของหวง

๔๗. “ขอยืมสายนี้ได้ไหมเธอ สายเดียวเท่านั้นแหละ”

๔๘. “อ้อ ยินดีเชียวเธอ เอาไปเถอะ”

๔๙. เธอฟุบหน้าลงบนไหล่ของเพื่อน กอดรัดอย่างรักใคร่ แล้วเธอก็นำสร้อยกลับบ้าน

๕๐. ถึงวันงานแล้ว มาดามลัวเซลประสบผลสำเร็จอย่างใหญ่หลวง เธอเป็นหญิงงามเลิศในบรรดาหญิงทั้งหลายที่ไปประชุมในงานคืนนั้น รูป ของเธอใครเห็นใครชม กิริยาอ่อนหวานยิ้มละไมอยู่เสมอ เธอชื่นฉ่ำลำพองใจ บรรดาชายกลุ้มรุมมอง ถามชื่อถามเสียง ขอทำความรู้จัก พวกทูตานุทูต ขอเต้นวอลท์กับเธอ ท่านรัฐมนตรีเข้ามาทักทายปราศรัย

๕๑. เธอเมาเต้นรำ งงงวยหลงปลื้มใจในความสนุกสำราญ ลืมนึก ถึงสิ่งใดๆ นอกจากชัยชนะแห่งความงาม ความเด่นเหนือหญิงทั้งหลาย บรรดาชายที่เข้ามากลุ้มรุมตอม กล่าวคำป้อยอสรรเสริญ ทำให้เธอเพลิน เมามัว ในชัยชนะอันเด็ดขาดของเธอในครั้งนี้

๕๒. เธอกลับบ้านราวเกือบตีสี่ เข้าไปปลุกสามีที่แอบไปนอนหลับอยู่ ในห้องรับแขก ซึ่งว่างเปล่าตั้งแต่เที่ยงคืน พร้อมกับชายอีกสามคนที่เมีย ของตนไปมัวระเริงเต้นรำอยู่กับชายอื่นๆ ในห้องลีลาศ

๕๓. เมื่อเมียมาปลุก เขาลุกขึ้นคว้าผ้าคลุมผืนเก่าๆ ที่ติดมาจากบ้าน คลุมให้เมีย ความคร่ำคร่าของผ้าคลุมนั้นมันช่างตรงข้ามกับเสื้อราตรีอันหรูหราที่เธอแต่งนั้นอย่างยิ่ง เธอรู้สึกในข้อนี้ จึงอยากจะออกไปเสียให้พ้นโดยเร็ว เพื่อไม่ให้หญิงอื่นซึ่งห่อหุ้มตัวด้วยขนสัตว์ราคาแพงๆ สังเกตเห็น

๕๔. นายลัวเซลฉุดเมียไว้ แล้วว่า

๕๕. “คอยประเดี๋ยว พี่จะไปเรียกรถมาก่อนน้องออกไปข้างนอกจะเป็นหวัด”

๕๖. แต่หล่อนไม่ฟังเสียง รีบก้าวลงบันไดไป เมื่อทั้งคู่ออกมานอกถนนแล้วก็ยังหารถไม่ได้เห็นคันไหนผ่านมาไกลๆ ก็ตะโกนเรียก แต่ก็ไม่ได้ ต้องพากันเดินต่อไป

๕๗. ทั้งสองคนหนาวสั่น ต้องพากันเดินต่อไปอย่างสิ้นหวัง จนถึงริม แม่นํ้าเซน จึงพบรถเก่าคร่ำคร่าคันหนึ่ง รถอย่างนี้จะเห็นในกรุงปารีสก็แต่ในเวลากลางคืนเท่านั้น คล้ายๆ กับว่ามันอายรูปร่างอันน่าทุเรศของมัน

๕๘. เขานั่งรถคันนี้ไปจนถึงบ้าน รูเดอร์มาตีร์ ปีนลงจากรถ แล้วเดินเข้าบ้านอย่างเศร้าๆ สำหรับหล่อนเป็นอันว่าไม่มีอะไรต้องเป็นห่วง แต่ พรุ่งนี้เขาจะต้องไปทำงานในเวลาสิบนาฬิกา

๕๙. เธอเปลื้องผ้าคลุมที่หน้ากระจก พลางชมร่างอันสวยจับตาอีก วาระหนึ่ง แต่ทันใดนั้นเธอร้องกรี๊ดด้วยความตกใจ สร้อยคอเพชรนั้นหลุดหายไปเสียแล้ว

๖๐. “อะไรกันน้อง” สามีถาม ขณะที่เตรียมจะนอนอยู่แล้ว

๖๑. หล่อนหน้าตื่น หันไปบอกเขาว่า

๖๒. “ฉัน-ง่า-ฉันทำสร้อยเพชรหายเสียแล้ว”

๖๓. เขาผุดลุกขึ้น หน้าตาเลิกลั่ก

๖๔. “อะไร หายไปได้อย่างไร”

๖๕. เขาช่วยกันหาตามกลีบเสื้อ ดูตามรอยพับ ค้นในกระเป๋า หาเท่าไรๆ ก็ไม่พบ

๖๖. “น้องจำได้แน่หรือว่าเมื่อออกจากห้องเต้นรำสายสร้อยยังอยู่” เขาถาม

๖๗. “ค่ะ เมื่อตอนลงบันได ฉันยังได้คลำดูเลย”

๖๘. “ถ้ามันตกในถนนเราคงได้ยินเสียง คงหล่นในรถนั่นแล้ว”

๖๙. “ค่ะ เห็นจะแน่ คุณจำเลขรถได้ไหม ? ”

๗๐. “จำไม่ได้ น้องล่ะ ? ”

๗๑. “ฉันก็ไม่ได้สังเกต”

๗๒. เขายืนตะลึงจ้องกัน รู้สึกอย่างถูกฟ้าผ่า ที่สุดนายลัวเซลก็หยิบ เสื้อกางเกงมาสวม

๗๓. “พี่จะออกไปเที่ยวหา” เขาว่า “เผื่อมีหวังจะพบมั่ง”

๗๔. แล้วเขาก็ออกจากห้องไป เธอทรุดตัวลงนั่งซบอยู่บนเก้าอี้ เสื้อ ราตรีก็มิได้ถอด หมดแรงที่จะไปนอน สิ้นขวัญ สิ้นความคิด

๗๕. สามีของเธอกลับบ้านราวโมงเช้า ไม่ได้ร่องรอยอะไรเลย

๗๖. แล้วเขาไปแจ้งความที่โรงพัก แจ้งความในหนังสือพิมพ์ ให้รางวัล แก่ผู้พบ เขาไปสืบที่บริษัทรถจ้าง ไปตามที่เล็กที่น้อย ซึ่งเขาคิดว่ามันอาจจะช่วยให้เขาได้สร้อยนั้นคืนมา

๗๗. เธอฟังข่าวอยู่กับบ้าน ตลอดวันร้อนรนใจ ปราศจากความสุข วิตกถึงความวิบัติอันร้ายแรงนี้

๗๘. นายลัวเซลกลับมาตอนค่ำ หน้าซีด ตาโรย ไม่ได้เรื่องอะไรมาเลย

๗๙. “น้องต้องเขียนจดหมายไปบอกเพื่อนของน้อง” เขาแนะนำ “บอกเขาว่าขอสายสร้อยหักกำลังให้ช่างแก้ เมื่อเรียบร้อยแล้วจะนำไปคืน”

๘๐. หล่อนเขียนตามคำที่เขาบอก

๘๑. ในปลายสัปดาห์เขาหมดหวังที่จะได้ของคืน

๘๒. นายลัวเซลหน้าตาแก่ลงไปสักห้าปี เขาบอกเมียว่า “เราต้องคิดหาของใช้คืนเขา”

๘๓. รุ่งขึ้นเขาพากันไปยังร้านเครื่องเพชรที่มีตราชื่อติดอยู่ที่หีบ เจ้าของร้านค้นบัญชีขายแล้วว่า

๘๔. “สร้อยนั้นไม่ได้ซื้อไปจากร้านผมดอกคุณ ผมขายไปเฉพาะหีบ”

๘๕. ทั้งสองคนไปเที่ยวดูตามร้านเครื่องทองต่างๆ เข้าร้านโน้นออกร้านนี้ เพื่อเลือกหาสร้อยที่มีรูปร่างลักษณะเหมือนกับสายที่หายไป หัวใจ เต็มไปด้วยความทุกข์และวิตก

๘๖. เขาไปได้ที่ร้านแห่งหนึ่งแถบ ปาเลส์โรยาล มีสายหนึ่งเหมือนกับ สายที่ตกหายมากที่สุด ราคาถึงสี่หมื่นฟรังก์ แต่ลดได้ เหลือเพียงสามหมื่นหก

๘๗. เขาสั่งเจ้าของร้านว่าอย่าเพิ่งขายให้ใคร เขาจะกลับมาซื้อภายใน สามวันนี้ และตกลงว่า ถ้าเขาพบสร้อยที่หายภายในเดือนมกราคม ขอให้เจ้าของร้านรับซื้อคืนในราคาสามหมื่นสี่พันฟรังก์

๘๘. นายลัวเซลมีเงินหมื่นแปดพันฟรังก์ เป็นมรดกที่ได้รับจากบิดา ส่วนที่ยังขาดก็ต้องเที่ยวกู้เขามาเพิ่ม

๘๙. เขาเที่ยวกู้ยืมใครต่อใครหลายคน คนละพันบ้าง ห้าร้อยบ้าง ที่รายย่อยๆ ก็มี ยอมทำสัญญาให้พวกเจ้าหนี้ขูดเลือดจนแทบสิ้นเนื้อประดา ตัว บรรดาสัญญาที่เซ็นไว้นั้น เขาคิดว่าจะต้องหาใช้จนตลอดชีวิต บางรายแม้เขาไม่เห็นลู่ทางว่าจะใช้คืนได้ตามสัญญา ก็ยอมเสี่ยง เขามองเห็นกาลภายหน้ามีแต่ความระทมขมขื่นใจ ไหนจะต้องอดมื้อกินมื้อ ไหนจะต้องเดือดร้อนรำคาญใจ ในที่สุดเขาก็หาเงินได้ครบ นำไปซื้อสร้อยสายนั้นมา

๙๐. เมื่อมาดามลัวเซลนำสร้อยไปคืน มาดามฟอเรเตียพูดอย่างไม่ ค่อยพอใจว่า

๙๑. “ทำไมส่งช้านักเล่าเธอ ฉันจำเป็นต้องใช้เหมือนกัน”

๙๒. มาดามฟอเรเตียไม่ได้เปิดหีบตรวจอย่างที่สหายของนางหวั่น นักหนา เพราะถ้าเจ้าของเห็นว่าสร้อยสายที่สหายนำมาส่งนี้ไม่ใช่สร้อยสายเดิม เจ้าของเขาจะว่าอย่างไร เขาอาจหาว่าเธอคิดโกงสร้อยเขาก็ได้

๙๓. มาดามลัวเซลได้เคยรู้ชีวิตอันแสนลำเค็ญของคนยาก แต่เธอก็ได้เผชิญหน้ากับชะตากรรมอย่างไม่ย่อท้อ หนี้รายมหึมานี้เธอต้องหาใช้
เขาให้ได้ ทั้งผัวเมียปลดคนใช้ที่มีอยู่คนเดียว หาที่อยู่ใหม่ ไปเช่าห้องแคบๆ ราคาถูกอยู่

๙๔. เธอต้องกวาดเรือน ถูบ้าน ซักผ้า ทำครัว ล้างชาม ล้างจานเอง หมดทุกอย่าง ต้องขัดถูหม้อกระทะ จนเล็บสีชมพูเหนอะหนะไปด้วย ไขมัน ทุกเช้าต้องไปหิ้วนํ้า กว่าจะกลับถึงบ้าน ต้องหยุดหอบเสียเป็นหลายทอด เธอแต่งตัวปอนๆ อย่างพวกคนจน หิ้วตะกร้าไปตลาด จะซื้ออะไรสักนิด สักหน่อยก็ต่อแล้วต่ออีก จนพวกขายผักขายเนื้อพากันดูถูกเหยียดหยามต่างๆ

๙๕. เขาช่วยกันปลดหนี้เดือนละรายสองราย บางรายก็ผัดผ่อนยืด สัญญาต่อไป

๙๖. สามีของเธอทำงานเวลาเย็น หารายได้พิเศษโดยช่วยทำบัญชีให้ พ่อค้า ตกค่ำรับจ้างพิมพ์หนังสือ ได้ค่าจ้างหน้าละห้าซูส์

๙๗. ชีวิตเช่นนี้ได้ผ่านไปสิบปี

๙๘. ในชั่วสิบปี เขาก็ปลดเปลื้องหนี้สินพร้อมกับดอกเบี้ยทบต้นอันสูงลิ่วนั้นหมดสิ้น

๙๙. บัดนี้มาดามลัวเซลดูแก่โทรมไปแล้ว เธอกลายเป็นคนกร้าว แข็งแรง เนื้อหยาบอย่างหญิงที่ทำงานตรากตรำทั้งหลาย ขณะที่เธอกวาดถูพื้น ปล่อยผมเผ้ายุ่ง ผ้านุ่งบิดไพล่เผล มือแดง พูดเสียงดัง แต่บางคราวเมื่อผัวไปทำงาน เธอจะนั่งที่หน้าต่าง รำพิงถึงคืนวันหนึ่งนานมาแล้ว อันเป็นคืนงานราตรีสโมสรซึ่งเธอเป็นหญิงสวยสะอาด ที่ใครเห็นใครชม

๑๐๐. ถ้าเธอไม่ทำสร้อยเพชรหายจะเป็นอย่างไร ใครเล่าจะรู้ ใครเล่า จะทายถูก อนิจจา ชีวิตนี้ช่างแปรเปลี่ยน และช่างน่าอัศจรรย์แท้ ของเล็กๆ น้อยๆ ทำให้ชีวิตแปรเปลี่ยนไปได้มิใช่เล่น

๑๐๑. อยู่มาวันอาทิตย์ วันหนึ่ง เธอออกไปเดินที่ ชองป์ เอลิเซ เพื่อพักผ่อนหย่อนใจจากงานที่ผจญมาสัปดาห์หนึ่ง ทันใดนั้นเธอเห็นหญิงคนหนึ่ง เดินจูงเด็ก มาดามฟอเรเตียนั้นเอง ยังสาว ยังสวย และยังน่ารัก

๑๐๒. มาดามลัวเซลอยากทัก อยากพูดอะไรสักอย่าง เธอควรจะบอก ความจริงได้แล้ว เพราะได้จัดชำระหนี้สินหมดสิ้น เห็นว่าไม่ควรต้องปิบัง กันอีก

๑๐๓. เธอเดินเข้าไปหา แล้วทักว่า

๑๐๔. “สวัสดี ยีน”

๑๐๕. อีกฝ่ายหนึ่งจำไม่ได้ รู้สึกแปลกใจว่า ใครหนอมาเรียกชื่อกัน อย่างสนิทอย่างนี้ จึงตอบอ้อมแอ้มไปว่า “คุณ-อ้า-ฉันไม่รู้จัก ถ้าจะทักผิดเสียแล้ว”

๑๐๖. “ไม่ผิดหรอกเธอ ก็ฉัน มาทิลดา ลัวเซล ไงล่ะ”

๑๐๗. เพื่อนเก่าร้องอุทาน แล้วว่า

๑๐๘. “โถ เพื่อนยาก เธอแก่ไปจนจำไม่ได้”

๑๐๙. “จ๊ะ ฉันต้องทนลำบากตรากตรำตั้งแต่ไปพบเธอครั้งนั้น…ต้อง ทนทุกข์ทรมาน เพราะเธอทีเดียว

๑๑๐. “เพราะฉัน…เรื่องอะไรกัน”

๑๑๑. “เธอจำสร้อยคอเพชรที่ให้ฉันยืมใส่ไปงานราตรีสโมสรได้ไหม”

๑๑๒. “จ๊ะ จำได้”

๑๑๓. “นั่นแหละ ฉันทำหาย”

๑๑๔. “เอ ก็เธอเอามาคืนให้ฉันแล้วนี่”

๑๑๕. “ฉันซื้อสายอื่นที่เหมือนกับสายของเธอไปให้ต่างหาก นี่แหละ ฉันต้องกู้เงินเขามาซื้อ และต้องหาเงินใช้เขาอยู่ถึงสิบปี เธอคงจะเข้าไจว่าคนจนๆ อย่างฉันจะต้องลำบากอย่างไรบ้าง แต่นี่ก็พ้นเคราะห์ไปแล้ว

๑๑๖. มาดามฟอเรเตียหยุดเดิน

๑๑๗. “เธอว่า เธอซื้อสร้อยคอเพชรแทนเส้นเก่าที่เธอทำหายให้ฉัน
งั้นรึ

๑๑๘. “จ๊ะ เธอคงไม่รู้สิ มันเหมือนกันมากทีเดียว”

๑๑๙. พูดแล้วยิ้มอย่างซื่อๆ และภูมิใจ

๑๒๐. มาดามพ่อเรเตียรู้สึกสลด จับมือทั้งสองของเพื่อนไว้ แล้วว่า

๑๒๑. “พุทโธ่ แม่มาทิลดา ทำไมไม่บอกฉัน ก็เส้นของฉันนั่นเพชรเทียมแท้ๆ ราคาอย่างแพงก็ห้าร้อยฟรังก์เท่านั้น”

เรื่องนี้ยาวประมาณ ๒,๕๐๐ คำ ขอให้ท่านลองอ่านและพิจารณาการวางเรื่อง ตลอดจนคำพูดและการบรรยายเรื่องต่อไปนี้จะชี้ให้ท่านเห็น เทคนิคของการเขียนโดยละเอียด

๑. การระบายสภาพ และบรรยากาศ
การระบายสภาพ เรียกในภาษาอังกฤษว่า Local Colour หมายถึง การพรรณนาวางพื้นของสภาพอันใดอันหนึ่ง เป็นเครื่องชักนำความคิดของ ผู้อ่านให้ซาบซึ้งในท้องเรื่อง ให้แลเห็นฉากที่เราวาดด้วยตัวอักษรนั้นชัดเจนเป็นจริงจังขึ้น การระบายสภาพนี้ได้แก่ พรรณนากิริยาท่าทาง ขนบธรรมเนียม ประเพณี เครื่องแต่งกาย ภาษาพูด และฉากภูมิภาพต่างๆ เช่นถ้าท่านวางฉากสถานีเพชรบุรี ทำอย่างไรถึงจะทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่าได้อยู่ที่นั่น ท่านก็อาจจะพูดถึงการแต่งกาย สำเนียงพูดของชาวเพชรบุรี ถ้าท่านวางฉากที่ ศรีราชา ท่านต้องพรรณนาให้เห็นลักษณะอันเด่นเฉพาะของศรีราชา จะพูดว่ามีทราย หอย หาดทรายยาวยืด ก็เท่ากับว่าเป็นหาดทรายธรรมดา ที่ไหนๆ ก็เหมือนกันหมด ไม่แปลกประหลาดอันใดไม่ทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่าเป็น ศรีราชาเลย

ในต้นเรื่อง นาฏลิกา ของ เสฐียรโกเศศ มีคำพรรณนาดังนี้

“นาฏลิกาเป็นตำนานของรูปหินอยู่ในนครร้าง แคว้นคอลกอนทะ ถนนหนทางในนครมีต้นหญ้างอกระหง รกเป็นพง อสรพิษเลื้อยคลานตาม เทวรูป ค้างคาวตกลูกในหูช้างหิน แมงมุมชักใยยุ่มย่ามภายในพระราช มณเฑียร หน้าแท่นบูชาเปรอะเปื้อนมูลนก พระเนตรของพระศิวะก็กลวงโบ๋ ด้วยถูกมนุษย์ใจบาปแคะควักลักเอาเพชรที่ฝังไว้ ดูทางไหนก็ล้วนแต่รกร้าง ปรักหักพัง”

ดังนี้ เท่ากับว่าได้พาผู้อ่านไปอยู่ในนครร้าง ซึ่งมีแต่ความเปล่าเปลี่ยว อ้างว้าง การระบายสภาพดังนี้ย่อมมีมากอย่างแล้วแต่ท้องเรื่อง เช่น สภาพความจน ความมั่งมี ความอลหม่าน ความสนุกรื่นเริง ความสกปรก ตลอดจนความเป็นอยู่ต่างๆ

ในเรื่องตัวอย่าง ตอนหมายเลข ๑ ระบายสภาพความคับแค้นของตัวละคร ในฝรั่งเศสสมัยนั้นถือว่า หญิงที่ไม่มีทรัพย์สมบัติติดตัว (เรียกใน ภาษาอังกฤษว่า Dowry คือเงินที่ได้รับมาเป็นมรดก) ย่อมหาสามียาก ในข้อ ๒๗, ๕๐ และ ๕๗ ซึ่งแม้เป็นข้อความสั้นๆ แต่เป็นข้อความที่ระบายสภาพต่างๆ กัน

บรรยากาศ (Atmosphere) คำนี้ถ้าจะใช้ภาษาไทยที่เข้าใจง่ายที่สุด ก็ “กลิ่นอาย” ในหลักของการประพันธ์ คำว่า บรรยากาศ หมายถึง ศิลป กรรม หรือ วรรณศิลป์ ซึ่งบันดาลให้ผู้เห็น หรือผู้ฟังบังเกิดอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าท่านเข้าไปในโบสถ์วัดป่าเลไลย์ หรือวัดพนัญเชิง ท่านจะรู้สึกว่ามีอะไรขลังและศักดิ์สิทธิ์ รู้สึกครั่นคร้าม ท่านดูภาพบางภาพ รู้สึกเพลิดเพลิน สบายใจ ดังนี้ เป็นอารมณ์ซึ่งศิลปกรรมบันดาลให้เกิดขึ้น ในทางวรรณกรรมหรือวรรณศิลป์ก็เข่นเดียวกัน ท่านต้องหาทางระบายเรื่องให้มีบรรยากาศ หรือ “กลิ่นอาย” ชักนำความรู้สึกของผู้อ่านไปในทางที่ท่านต้องการ

เอดการ์ อะแลน โป (Edgar Allan Poe) ซึ่งเป็นทั้งนักประพันธ์ และนักวิจารณ์กล่าวว่า ในเรื่องสั้นนั้น อย่าให้มีคำใดๆ ที่ไม่ช่วยชักนำความรู้สึกของผู้อ่านไปตามแนวที่เรามุ่งหมายไว้ กล่าวคือ ถ้าเราต้องการผล คือ ความโศกสลด ถ้อยคำและข้อความต่างๆ ต้องให้มีแนวชักนำไปสู่ความโศกสลด

ในเรื่องตัวอย่าง ตอน ๒, ๓, ๔ และ ๕ ผู้เขียนได้สร้างบรรยากาศ แห่งความตรอมตรม คือชักนำความรู้สึกของผู้อ่านให้กลมกลืนกับสภาพของตัวละครในเรื่อง

๒. การวางเค้าเรื่อง
การวางเค้าเรื่อง ปกติมี ๒ แบบ ดังลักษณะดังนี้

silapa-014011
แบบที่ ๑ ใช้กันมาก คือ เริ่มนำเรื่องอย่างใดอย่างหนึ่งที่
ก. แล้วพาผู้อ่านให้เกิดความพิศวง โดยจัดเรื่องให้มีความยุ่งยากขึ้นทุกที จนถึง เปลาะยอดที่

ข. แล้วจบเรื่องลงโดยเร็ว โดยให้ผู้อ่านโล่งใจ เข้าใจ หรือได้ความกระเทือนใจอย่างใดอย่างหนึ่ง

silapa-0141111
แบบที่ ๒ แบบนี้เป็นสองซ้อน คือ เริ่มต้นด้วยเหตุการณ์สำคัญอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วย้อนต้นกล่าวว่าเหตุการณ์สำคัญนั้นมีมูลมาอย่างไร ครั้นแล้วดำเนินเรื่องต่อไปเช่นเดียวกับแบบที่ ๑

เรื่อง สร้อยคอเพชร นี้ การวางเค้าเรื่องเป็นอย่างแบบที่ ๑ ท่านจะเห็น “มูล” หรือรากแก้วของเรื่อง ที่ชักให้เรื่องดำเนินต่อไปได้นั้นอยู่ตรงที่นายลัวเซล ผู้สามี ได้รับบัตรเชิญจากรัฐมนตรี ถ้ากรณีนี้ไม่มี เรื่องจะดำเนินต่อไปไม่ได้เลย จาก ก. เรื่องดำเนินสูงขึ้น คือมีเหตุการณ์ต่างๆ ที่น่าสนใจ ซับซ้อน เป็นปัญหา เกิดขึ้นเป็นลำดับจนถึงจุด ข. อันเป็นยอด ซึ่งเรียกในภาษาการประพันธ์ว่า ไคลแมกซ์ (Climax)

ท่านจะเห็นได้ว่ากรณีต่างๆ ที่เกิดเป็นลำดับ คือ นายลัวเซล ให้เงินภรรยา ๔๐๐ ฟรังก์ นางลัวเซลขอยืมสร้อยคอเพชร นางลัวเซลได้รับคำสรรเสริญในงานราตรีสโมสร สร้อยคอหาย การเที่ยวหาซื้อสร้อยคอใหม่ และซื้อมาได้ด้วยราคาสามหมื่นหกพันฟรังก์ นางลัวเซลคืนสร้อยคอแก่เจ้าของ นางลัวเซลพบเพื่อนเก่าที่ซังป์เอลิเซ ครั้นแล้วถึงไคลแมกซ์

ไคลแมกซ์ หรือ ยอดของเรื่อง (แสดงว่ากำลังจะปิดฉาก) อยู่ในตอนที่ ๑๒๑ ซึ่งเป็นตอนท้ายที่สุด เพียงสองสามประโยค ความยุ่งยาก ฉงนสนเท่ห์ของผู้อ่านก็ปลดเปลื้องได้หมด

บาเรตต์ (Barett) ว่า “ไคลแมกซ์ คือ เงื่อนงำของเนื้อเรื่อง เป็นยอดที่สุดของอารมณ์และความสนใจ”

สำหรับบางเรื่องพอถึงไคลแมกซ์แล้ว เรื่องยังเดินต่อไปอีกเล็กน้อย แต่ทางที่ดีที่สุดต้องพยายามทำให้เรื่องจบลงโดยเร็ว

ข้อสำคัญในการวางเค้าเรื่องนี้ ก็คือ พฤติการณ์อันเป็นเหตุผลแก่กัน ถ้าจะเขียนเรื่องการไปตากอากาศ เริ่มตั้งแต่ออกจากบ้าน ขึ้นรถไฟ นั่งใน รถไฟ ไปถึงสถานีนั้นเวลาเท่านั้นๆ แล้วนั่งรถไปยังที่พัก ดังนี้เท่ากับเป็นการลำดับพฤติการณ์อย่างปกติ หรือเท่ากับเขียนรายงาน ส่วนเค้าเรื่องนั้น จะต้องสร้างให้พฤติการณ์เป็นเหตุผลโยงต่อกัน เช่นในเรื่องตัวอย่าง การเชิญของรัฐมนตรีเป็นเหตุให้มีการซื้อเสื้อราตรี และยืมสร้อยคอเพชร แล้วก็เป็นเหตุให้นางลัวเซล หลงเพลิดเพลินในงาน กับทำสร้อยคอหาย การที่สร้อยคอหายเป็นเหตุให้เกิดการค้นหา แล้วต้องซื้อสายใหม่ให้นางฟอเรเตีย จนสามีภรรยาต้องทนลำบากอยู่ถึง ๑๐ ปี

การวางเค้าเรื่องต้องมีลักษณะพัวพัน ซับซ้อนและซ่อนเงื่อน ก่อให้ ผู้อ่านเกิดความฉงนอยากรู้ว่าเรื่องจะไปลงเอยด้วยประการอย่างไร โอ. เฮนรี่ (O. Henry) ซึ่งเป็นนักเขียนเรื่องสั้นคนสำคัญ ชอบใช้วิธีซ่อนเงื่อนโดยให้ตัวละครสำคัญแสดงบทบาทกลับตาลปัตรกัน เช่น ในเรื่อง “ของขวัญแห่งมากี” (The Gift of Magi) เดลลา (หญิง) กับ ยิม (ชาย) ปรารถนาจะซื้อของขวัญให้กันในวันคริสต์มาส แต่ทั้งคู่ขัดเงิน เดลลาแอบไปตัดผมมวยของตนขายเอาเงินมาซื้อสายนาฬิกาทองขาว จะนำไปให้ยิม ซึ่งมีนาฬิกาอยู่แล้ว ฝ่ายยิมก็แอบไปขายนาฬิกา เอาเงินมาซื้อหวีสับผมมวยจะเอาไปให้เดลลา ในที่สุดผิดหวังทั้งคู่

เค้าเรื่องซึ่งวางโดยให้มีการต่อสู้ แม้จะเป็นโดยทางกายหรือทางจิต ก็เป็นเค้าเรื่องที่ดี การต่อสู้นั้นอาจมีได้หลายลักษณะ เช่นมนุษย์กับธรรมชาติ มนุษย์กับสัตว์ มนุษย์ต่อมนุษย์ มนุษย์กับสิ่งลี้ลับ หรือมนุษย์สู้กับจิตใจของตนเอง เช่นท่านมีศัตรูตัวร้ายอยู่คนหนึ่ง ท่านรู้ว่ามีโจรจะเข้าปล้นบ้าน ศัตรูคนนั้น ดังนี้ท่านจะต้องสู้กับใจของท่านเองว่าควรบอกให้ศัตรูของท่านรู้ หรือจะปล่อยให้เขารับภัยจากโจร เค้าเรื่องชนิดนี้ ผู้อ่านมักจะติดตามอ่านจนจบ เพราะอยากรู้ว่าใครจะชนะในที่สุด แต่ต้องถือให้มั่นว่า จะต้องงำผลของเรื่องไว้ เอาไปเปิดในตอนท้ายที่สุด

๓. การจัดตัวละครและให้บทบาท
ตามปกติ เรื่องสั้นย่อมมีตัวละครในเรื่องไม่เกินหกคน และต้องมีคนหนึ่งซึ่งเป็นตัวสำคัญของเรื่อง ในเรื่อง สร้อยคอเพชร นี้ ตัวละคร ซึ่งมีบทเจรจา ก็มีนางลัวเซล นายลัวเซล นางฟอเรเตีย (ตัวอื่นๆ ซึ่งเป็นแต่เพียงอ้างถึง ไม่นับ) ในสามตัวนี้ นางลัวเซล เป็นตัวสำคัญ

ตัวละครสำคัญนี้จะต้องมีลักษณะนิสัยอย่างหนึ่งอย่างใดเด่นชัด จะเป็นคนอ่อนแอหรือทะเยอทะยาน มีอุดมคติ หัวดื้อ ตลบตะแลง ก็แล้วแต่ และการที่มีนิสัยอย่างหนึ่งอย่างใดนี่เอง ที่ก่อให้เกิดเป็นเรื่องราวขึ้น เช่น นางลัวเซล ท่านจะเห็นว่าชอบสวยชอบงาม อยากเป็นคนหรูหรามั่งมี ความอยากนี้ซักให้นางต้องไปยืมสร้อยคอของเพื่อนมาแต่งตัว แล้วก็เกิดเหตุขึ้น

ธรรมดาของมนุษย์ย่อมมีนิสัยประจำตัวคนละอย่าง บางคนแลไม่ค่อยเห็น บางคนก็แสดงออกมาเด่นชัด พอเราพบก็รู้เสียแล้วว่าคนนี้เป็นคนอย่างไร บางคนก็มีนิสัยขัดกัน เช่นเป็นนายทหารกล้าหาญ แต่พอแสดงตัวต่อหน้าประชาชนกลับประหม่า บางคนใจใหญ่ เลี้ยงเพื่อนฝูงไม่มีอั้น แต่เสียดายและหวงไม้ขีดไฟ บางคนใจบุญสุนทาน แต่เกลียดสัตว์ การที่จะวาดนิสัยใจคอของตัวละครได้จริงจังนั้น นักเขียนต้องเป็นคนช่างสังเกตลักษณะมนุษย์ นักศึกษามนุษย์กับนักเขียนต้องอยู่ด้วยกัน ท่านควรเอาใจใส่กิริยา มารยาท คำพูดความประพฤติของคนที่ผ่านมาในสายตาของท่านในวัด ในโรงภาพยนตร์ ในรถราง ในร้านอาหาร ท่านควรพยายามหัดมองคนให้ออก แต่โปรดอย่าไปจ้องหน้าเขา!

ในหลักการประพันธ์มีคำหนึ่งว่า Characterization คือให้บทบาท อันนี้สำคัญมาก นักเขียนที่ไม่ชำนาญมักทำผิดเสมอ นักเขียนเป็นแต่เพียง เสนอภาพชีวิตให้แก่ผู้อ่าน อย่าพยายามไปคิดแทนผู้อ่าน ถ้าท่านพูดว่า นายสำราญแต่งตัวสวย นายขจรเป็นคนเจ้าชู้ อย่างนี้เท่ากับไปคิดแทนผู้อ่าน ท่านต้องวาดภาพด้วยคำของท่าน ให้ผู้อ่านแลเห็นเอง คิดได้เอง ถ้าท่านว่า “นายขจรสวมหมวกเพล่ เนคไทสีแดงแจ๊ด รองเท้าขัดมันปลาบ เดินกรีดกราย หยิบหย่ง ท่าทางกรุ้มกริ่ม อยู่หน้าศาลาเฉลิมกรุง” ดังนี้ ผู้อ่าน จะอ่านออกเองว่านายขจรควรจะเป็นอย่างไร

การสร้างบทบาทตัวละครให้แสดงลักษณะของตัวเองนี้ ย่อมทำได้หลายอย่าง ที่ง่ายที่สุดก็คือกล่าวถึงกิริยา คำพูดของเขา ในเรื่องตัวอย่าง ท่านจะเห็นว่านายลัวเซลเป็นคนทึ่มๆ ซื่อๆ ไม่ค่อยรู้ใจผู้หญิง แต่ผู้แต่งไม่ได้บอกท่านเลย ตอน ๔, ๒๗, ๕๘, ๗๓, ๗๖, ๗๙ ล้วนแสดงลักษณะของนายลัวเซล โดยคำพูดและกิริยาของนายลัวเซลเอง นักประพันธ์ควรระลึกถึงข้อนี้ไว้ แต่ถ้าจำเป็นจริงๆ จะบอกผู้อ่านตรงๆ ก็ได้

อีกอย่างหนึ่ง คือ ให้ตัวละครนั้นเอง กล่าวขวัญแก่กัน เช่นให้สาวใช้ ชมนายสาวว่าสวย ให้เพื่อนติเพื่อนอีกคนหนึ่งว่า ขี้เหนียว ทั้งนี้แปลว่าผู้เขียน เป็นแต่เพียงนำเรื่องมาเสนอ ปล่อยให้ผู้อ่านแลเห็นและเข้าใจเอาเอง

จะขอยกตัวอย่างเรื่อง “คุณย่าเพิ้ง” ซึ่ง “เขียวหวาน” (เจ้าพระยา ธรรมศักดิ์มนตรี ผู้ใช้นามปากกาว่า ครูเทพ) เขียนไว้นานแล้ว สมัยหนังสือ ลักวิทยา

“พ่อหมอสุข บ้านเดิมอยู่บ้านหม้อ แล้วขายที่ไปอยู่โบสถ์พราหมณ์ แล้วถูกไล่มาอยู่ถนนใหม่ แล้วหนีรถไอมาอยู่พาหุรัด เดี๋ยวนี้มันตามแกมาอีก ได้ยินแกพูดว่า ถนนวรจักรก็ไม่เลว (หาเครื่องยาง่าย)

วันหนึ่งห้องเช่าของพ่อหมอ มีแขกสุภาพสตรีคนหนึ่ง ที่ทำให้พ่อหมอกำลังวุ่นผสมเครื่องยา ต้องทิ้งแก่นขี้เหล็ก ใบมะกา ฯลฯ กระจุยกระจายไว้ มาปัดกวาดกุลีกุจอยกขันนํ้า เชี่ยนหมากมารับแขก

“อ้อ เชิญย่ะ แม่เพิ้งสบายดีหรือ แหมฉันจำไม่ได้ มองอยู่เป็นนาน นึกว่าใครที่ไหนมา อื๊อ เต็มที่ มันชราลงทุกวัน หูตาไม่ค่อยจะเห็น เชิญ รับประทานหมากย่ะ” หยิบเชี่ยนหมากกับตะบับส่งให้”

เพียงเท่านี้ ท่านพอจะมองเห็นลักษณะ และนิสัยของพ่อหมอสุข
ได้แล้ว

๔. การบรรยายเรื่อง
การบรรยายมี ๒ วิธี คือ โดยให้ “ข้าพเจ้า” หรือ ผู้เขียน เข้าไป อยู่ในเรื่อง ตัวข้าพเจ้านี้ บางทีก็เป็นตัวผู้เขียนจริงๆ แต่บางทีอาจสมมุติ ใครคนหนึ่งเป็น “ข้าพเจ้า” ขึ้น เป็นผู้เล่าเรื่อง นักเขียนใหม่ๆ มักชอบใช้วิธีนี้ เป็นวิธีง่าย แต่ทำให้ดีได้ยาก อีกวิธีหนึ่งก็คือ วิธีใช้บุรุษที่สาม คือ ตัวละครแสดงบทบาทของตนเอง เป็นวิธีที่ดี เพราะผู้อ่านไม่ต้องไปคำนึง ถึงผู้แต่งที่เข้ามาปะปนในเรื่องนี้เลย เรื่องสร้อยคอเพชร ใช้วิธีอย่างที่สอง

๕. การเปิดเรื่อง
การเปิดเรื่องสั้น ไม่ควรให้ความนำยืดยาด บางคนก่อนจะดำเนินเรื่อง มักกล่าววนเวียนแสดงความรู้สึกนึกคิดต่างๆ เสียเป็นนาน วิธีนี้ไม่สู้เหมาะสำหรับผู้เริ่มฝึก แต่ผู้ชำนาญแล้วย่อมมีกลเม็ดที่จะพูด เพื่อยึดความสนใจของผู้อ่าน หลักของการเปิดเรื่อง คือต้องพยายามหาทางยึดความสนใจของผู้อ่าน

ถ้าท่านหยิบเรื่องสั้นมาพิจารณาแล้ว จะเห็นว่าวิธีเปิดเรื่อง มีวิธีต่างๆ ที่นิยมใช้กันดังนี้

๑. เปิดเรื่องโดยให้ตัวละครพูดกัน ต้องเป็นคำพูดที่น่าทึ่ง และเพื่อประโยชน์ของการดำเนินเรื่อง
๒. โดยการบรรยายตัวละคร
๓. โดยการวางฉากและบรรยายตัวละคร

๔. โดยบรรยายพฤติการณ์ และตัวละคร
๕. โดยการขมวดแนวคิด ใช้โวหารเผ็ดร้อน คมขำ น่าฟัง ขึ้นต้นสองสามประโยค

มีหลักอยู่ว่า เรื่องที่ประสงค์จะแสดงลักษณะนิสัยของบุคคล (Character Story) ควรเริ่มด้วยการแสดงเรื่องราวอันเกี่ยวกับตัวละคร เรื่องที่เกี่ยวกับบรรยากาศความรู้สึก (Atmosphere Story) ด้วยการพรรณนาฉาก เรื่องที่วางเค้า (Plot Story) ด้วยการเจรจาของตัวละคร

ท่านต้องนึกเสมอว่าหลักเหล่านี้ มิได้บังคับท่าน ท่านอาจมีแนวทางที่แนบเนียนดีกว่าก็ได้ แต่เมื่อใดท่านลังเลใจ ท่านต้องหยิบหลักขึ้นมาเป็นเครื่องนำทาง

๖. บทเจรจา
บทเจรจา หรือคำพูดของตัวละคร (Dialogue) นี้ได้กล่าวไว้ในข้างต้นบ้างแล้ว จะขอพูดเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย

การเขียนบทเจรจาเป็นของยาก เพราะข้อแรกต้องเขียนให้เป็นคำพูด ของมนุษย์ (หรืออย่างที่มนุษย์ควรจะพูดกันได้อย่างนั้น ซึ่งเป็นแบบของ โรมันติกซิสม์ เช่น “ผู้ชนะสิบทิศ” ของยาขอบ) ข้อสองต้องให้เหมาะกับตัวละคร และคำเจรจานี้ต้องให้เป็นประโยชน์แก่การเดินเรื่อง ปกติมนุษย์เราพูดกันวันละมากๆ ในเรื่องของเราจะทำเช่นนั้น ไม่ได้ต้องหยิบมาเฉพาะที่จะเป็นประโยชน์กับเรื่องจริงๆ

ในคำพูดของคนย่อมมีเสียงสูง เสียงต่ำ เสียงโกรธ เสียงดีใจ สำเนียง ที่เปล่งออกมาบอกให้รู้ แต่ตัวหนังสือไม่มีสำเนียง ฉะนั้นเราต้องช่วยโดย ใช้เครื่องหมาย เช่น ! ? หรือใช้คำบรรยาย คือแทนที่จะว่า เขาถาม เขาพูด เขาตอบ อาจจะใช้แปรผันไปตามเหตุ เช่น เขาคำราม เขาตะเบ็ง เสียง เขาอวด เขาคะยั้นคะยอ เขาเยาะ เขาสารภาพ เขาตะโกน เขาพูด ไม่มีหางเสียง พูดสะบัด พูดอย่างมะนาวไม่มีนํ้า กระซิบ พึมพำ เพ้อ ฯลฯ แล้วแต่จะคัดเลือกใช้ให้เหมาะกับเรื่อง

การที่จะให้คำพูดเป็นอย่างธรรมดา ฟังง่าย ควรจะใช้คำพูดสั้นๆ ให้มีตอนหยุดยั้ง เว้นระยะอย่างที่เราพูดกันตามปกติ ให้มีการถาม การตอบ การค้าน การแทรกพูดขัดจังหวะตามที่ควร

๗. ความแน่น
ความแน่น (Compression) นับว่าเป็นลักษณะสำคัญอย่างยิ่งของเรื่องสั้น เพราะเรื่องสั้นมีเนื้อที่น้อย ฉะนั้นต้องพยายามพูดโดยพิจารณา เลือกสรร คำ และ ความ ที่จำเป็นจริงๆ ยิ่งใช้คำสั้นๆ น้อยคำให้ได้ความมากยิ่งดี อย่าใช้คำโดยฟุ่มเฟือย และไม่จำเป็นแก่ท้องเรื่องเป็นอันขาด พูด ให้ตรงไปตรงมา ให้เข้าใจง่าย ลองพิจารณาบางตอนในเรื่องตัวอย่างที่ให้มา จะเห็นว่า ความหรือคำ ทุกตอนเป็นประโยชน์แก่ท้องเรื่อง เช่น ตอน ๕๕ พูดถึงหีบกำมะหยี่ เพื่อประโยชน์ในตอน ๘๓ ตอน ๖๐ พูดว่า สามีเตรียมจะนอน เพื่อให้รู้สึกเดือดร้อนรำคาญ ที่จะต้องลุกขึ้นมาใหม่และออกไปเที่ยวหาสร้อยเพชร ตอน ๕๕ กล่าวถึง เมียจะเป็นหวัด เพื่อให้ขัดแย้งกับความต้องการของเมีย

เรื่องสั้นจะเด่น และนับถือกันว่าดี เพราะลักษณะนี้

๘. จงทำตัวของท่านให้ชัดเจน
นี่เป็นคำแนะนำทั่วไป ไม่ว่าท่านจะเขียนเรื่องสั้น นวนิยาย หรือ บทความอันใด จงหัดทำตัวให้เป็นที่ชัดเจน คือก่อนจะเขียนอะไรลงไป ขอให้หลับตาดูภาพที่จะเขียน โดยจินตนาการของท่านให้แจ่มชัดเสียก่อน ถ้าพรรณนาฉากถนนเยาวราช ก็ลองหลับตามองดูด้วยตาในดวงจิตว่ารูปร่างลักษณะเป็นอย่างไร ถ้าภาพที่ท่านเห็นยังคลุมเครือ ท่านจะเขียนให้ผู้อ่านเห็นชัดแจ้งไม่ได้

ถ้าท่านนึกถึงคน ก็จะต้องนึกเห็นหน้าตา ผมยาวหรือสั้น-หงอกหรือดำ-แก้มตอบ-มีไฝ-คางเหลี่ยม-ฟันเรียบ-เหยิน-จมูกงุ้ม-โด่ง-แฟบ คือ ต้องฝึกหัดพิจารณาลักษณะต่างๆ อย่างละเอียด เมื่อหลับตาเห็นภาพชัดแล้ว จึงเขียนตามที่เห็น

ขอแนะนำวิธีหนึ่ง ที่ทำให้สิ่งที่พรรณนาชัดเจน คือ พูดในเชิงเปรียบ โดยจับลักษณะอันขัดแย้งมาคู่กัน เช่นในเรื่องตัวอย่าง ลักษณะของนาง ลัวเซล กับนายลัวเซล ขัดกัน เมื่อพรรณนาความเป็นอยู่อย่างยากจนของ นางลัวเซล ผู้เขียนก็ให้นางลัวเซลฝันเห็นความหรูหราขัดแย้งกับฐานะที่เป็นจริงของนาง

๙. การให้ชื่อตัวละครและชื่อเรื่อง
การให้ชื่อตัวละคร ควรพยายามให้ใกล้กับชื่อคนจริงๆ อย่าพยายาม ดัดตั้งชื่อให้โลดโผนจนผู้อ่านรู้สึกว่าคนอะไรชื่ออย่างนี้ ส่วนเรื่องที่เป็นชวน หัวขบขัน จะตั้งชื่อแผลงๆ พิสดารอย่างไรก็ได้ ชื่อ เทวี กับชื่อ นิจ ท่าน จะเห็นว่าชื่อ นิจ คุ้นกับท่านมากกว่าชื่อ เทวี วิไล อรอนงค์ ส่วนจันที เป็นชื่อที่ค่อนข้างแปลกหู

ชื่อเรื่อง ถ้ารู้จักตั้ง ก็ชวนให้อยากอ่านเรื่องผู้เริ่มการประพันธ์ควร พยายามคิดชื่อเรื่อง โดยใช้คำสั้นๆ เพียงสองสามคำ แต่ให้น่าทึ่ง น่าคิด ให้เป็นเงาฉายของตัวเรื่องที่ผู้อ่านจะได้อ่านต่อไป การคิดชื่อเรื่องนั้น นักเขียนบางคนเขียนเรื่องไปจนจบ แล้วตั้งชื่อภายหลัง บางคนก็ตั้งชื่อเสียก่อน บางคนส่งให้สำนักพิมพ์ตั้งชื่อเอาตามความพอใจ

การตั้งชื่อเรื่อง มีหลักบางอย่างดังนี้
ก. ตั้งโดยใช้ชื่อตัวละครสำคัญ เช่น นิจ กมลา

ข. ตั้งโดยขมวดปมของเนื้อเรื่อง เช่น ตาย ผิดตัว ผู้ไม่บริสุทธิ์
นัดตาย

ค. ตั้งโดยประสงค์จะแสดงคติ หรือความคิดเห็น เช่น สิ่งที่หนีไม่พ้น ความจำเป็นย่อมไม่มีธรรมะ อำนาจของความสัตย์

ท่านจะตั้งชื่อเรื่องของท่านอย่างไรก็ตาม แต่ต้องระวังอย่าให้ฟัง เก้อๆ เขินๆ หรือดาษๆ ฟังแล้วไม่มีรส

๑๐. การทำบท
ข้อแนะนำข้อสุดท้ายและเป็นข้อสำคัญ คือ การทำบท เรียกในภาษา อังกฤษว่า Dramatization คือต้องบรรยายเรื่องให้ตัวละครแสดงบทบาท เช่นเดียวกับการเล่นละคร ถ้าท่านพูดถึงตัวเอกหรืออย่างที่พูดว่า พระเอก (คือเอาศัพท์ละครมาใช้) นั่งเศร้าอยู่ที่หลุมฝังศพคู่รัก ดังนี้ ไม่มีบทบาทอันใด และผู้อ่านก็จะไม่รู้สึก เราต้องพรรณนาออกไปว่า เขามีท่าทางอย่างไร พูดอย่างไร ผู้อ่านจึงจะได้ความรู้สึกแห่งความโศก อย่าไปแสดงความรู้สึกแทนผู้อ่าน ในเรื่องสร้อยคอเพชร ตอนที่ ๕๘ ถึง ๗๔ เป็นตัวอย่างของการทำบท
เพื่อเป็นการทบทวนความเข้าใจ จะยกตัวอย่างเรื่องสั้นอีกเรื่องหนึ่งมาให้เป็นเครื่องศึกษาสังเกต เรื่องนี้คือเรื่อง “ฝนเดือนห้า” คัดจากหนังสือ รวมเรื่องสั้น ของ เวตาล เฉพาะ “ฝนเดือนห้า” ผู้ประพันธ์บอกว่า เป็น เรื่องเอกในบรรดาเรื่องอื่นๆ ของท่าน และนักวิจารณ์ก็ได้แลเห็นว่า มี ลักษณะถูกต้องกับหลักของเรื่องสั้น

เรื่องนี้ยาวประมาณ ๑,๒๐๐ คำ เค้าเรื่องมีว่า โจรคนหนึ่งลอบหนีคุกมาได้ เป็นเหตุให้ผู้คุมต้องรับโทษแทน ฝ่ายภรรยาของผู้คุมได้นิมนต์ พระสงฆ์ที่มีวิชาอาคมองค์หนึ่ง ให้ไปช่วยปัดเป่าสามีของตนให้รอดพ้นโทษ ทั้งสามคนเผอิญมาพบกันที่ศาลาหน้าวัด และได้ทักถามกัน พระสงฆ์องค์นั้น ได้ให้โอวาทแก่หญิงเกี่ยวกับเรื่องเคราะห์กรรม จนโจรได้ฟังแล้วเกิดความเลื่อมใส ในที่สุดก็แสดงตนให้พระสงฆ์และหญิงนั้นรู้จัก แล้วตกลงใจกลับไปรับโทษสนองความชั่วร้ายที่ตนได้ทำมา

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่แสดงการต่อสู้กับความรู้สึกภายในจิตใจ ขอให้ท่านสังเกตเงื่อนงำในการบรรยายเรื่อง ว่าผู้เขียนสร้างปมแห่งความสนเท่ห์ ไว้อย่างไร และคลี่คลายเรื่องกระจ่างในตอนจบอย่างไร

ฝนเดือนห้า
จาก รวมเรื่องสั้นของเวตาล
๑. ในกาลโพ้นล่วงแล้วหลายร้อยปี ชายหนุ่มอกกว้างใบหน้าเหี้ยม รูปร่างสูงใหญ่ผู้หนึ่ง เดินมุ่งตรงจะผ่านหน้าวัดประดู่ใต้ ซึ่งตั้งอยู่บนฟากฝั่งแม่นํ้าตรงข้ามเมืองกาญจนบุรีอย่างเร่งร้อน สังเกตจากเครื่องแต่งกายซึ่งมีแต่ผ้าพื้นสีเขียวแก่กับผ้าขาวม้าเก่าๆ คาดพุง และท่าทางอันระโหยโรยแรงนั้นแล้ว ย่อมทราบได้ว่า เขากำลังเหน็ดเหนื่อย และเดินทางมาอย่างรีบร้อน ชายผู้นี้เช็ดเหงื่อพลางแหงนหน้ามองดูเมฆสีดำกลุ่มใหญ่ ที่ถูกลมพัดละลิว ลอยตรงมาทางวัด ซึ่งไม่ช้าก็ค่อยๆ กระจายออกจนมืดมนทั่วทั้งท้องฟ้า ทันใดนั้นก็มีเสียงคำรามกระหึ่มมาจากเบื้องบน จากระยะไกล เมื่อสภาพการณ์เป็นเช่นนี้ เจ้าหนุ่มก็เหลียวดูภูมิประเทศโดยรอบ เพื่อหาที่กำบังพยับฝนที่กำลังคลานใกล้เข้ามาจวนถึงตัวแล้ว ศาลาน้อยที่ชาวบ้านสร้างไว้ ตรงบริเวณเยื้องหน้าวัดทางโน้น ทำให้เขาเปลี่ยนทิศทางเดิน แทนที่จะเดินผ่านหน้าวัด

๒. เขาหันมุ่งสาวเท้ารีบตรงไปยังศาลาน้อย พลางนึกในใจว่า

๓. “นี่อะไรกันนี่หว่า พายุฝนกลางเดือนห้า เราเกิดมายังไม่เคยเห็น เคราะห์ดีที่มีศาลาน้อยหน้าวัด ปลูกไว้พอให้ได้พักเอนหลังหลบฝน”

๔. เขาเดินตรงไปยังไม่ได้ครึ่งทางที่จะถึงตัวศาลา ฝนก็เริ่มปรอยเม็ดลงมาทำให้ต้องวิ่ง แต่มิใช่แต่เขาผู้เดียวเท่านั้นที่วิ่ง ยังมีพระภิกษุรูปหนึ่ง และหญิงสาวอีกคนหนึ่งวิ่งตามเขามายังศาลาหลังนี้ ภิกษุรูปนั้นคงเป็นพระที่จำพรรษาอยู่ที่วัดนั้นอย่างไม่มีปัญหา แต่แม่หญิงนั้นเล่า จากผ้าและเสื้อที่นุ่งอยู่ ส่อให้เห็นได้ว่าเป็นคนมาจากกรุงศรีอยุธยา ซึ่งในครั้งนั้นดำรงสภาพเป็นนครหลวงของแดนไทย

๕. เกือบจะกล่าวได้ว่าคนหลบฝนทั้งสาม ย่างเข้าไปในศาลาน้อย พร้อมๆ กัน และในทันใดนั้นฝนก็ตกลงมาซู่ใหญ่

๖. พระภิกษุรูปนั้นเอ่ยขึ้นว่า “นี่อะไร อาตมาไม่เข้าใจ ไฉนจึงมีฝนหน้าแล้งดังนี้ ดูเป็นที่น่าอัศจรรย์นัก”

๗. พ่อหนุ่มแอบชำเลือง สังเกตเห็นว่า แม่สาวนั่นนั่งก้มหน้านิ่งอยู่ เหมือนว่าจะไม่ได้ยิน ครั้นแม่หญิงแสดงท่ารู้ตัวมีคนแอบชำเลืองดูอยู่ เจ้าหนุ่มก็ทำไก๋แก้ชายพกเอาใบตองกับยาเส้นมามวนสูบ แล้วเอนตัวลงนอน

๘. แม่หญิงก็กระเถิบเท้าไปใกล้ภิกษุ พูดว่า “ชะรอยจะเป็นกรรมของเขาและของข้าแต่ชาติปางก่อน จึงพอท่านจะได้ไปแก้ให้เขารอดตายได้ทัน ฝนฟ้าเจ้ากรรมก็ตกลงมากั้นเสีย”

๙. พระภิกษุได้ฟังก็เวทนานัก ฉวยย่ามทำท่าจะก้าวฝ่าฝนไปพร้อมกับพูดว่า “เมื่อสีการ้อนใจใคร่จะขอให้อาตมาเร่งไปให้ถึงกรุงศรีอยุธยา อาตมาก็ยอมเปียกฝน”

๑๐. ถ้าแม้นว่ามิขัดกับพุทธบัญญัติ สาวเจ้าก็คงรั้งจีวรหลวงพ่อไว้ แต่นี่แม่กลัวไฟนรกจึงไม่กล้า เป็นแต่รีบห้ามว่า

๑๑. “อย่าลำบากตากฝนไปให้บาปตกแก่ข้าผู้มีกรรมมากแล้วเลยเจ้าข้า แม้เราจะเข้าไปศรีอยุธยาไม่ทันเวลาที่เขาประหารผัวข้า ก็ต้องจัดว่านับเป็นกรรม สงสารแต่แม่ของเขาที่เฝ้าตีอกชกหัวด้วยความเสียใจ”

๑๒. ภิกษุได้ยินก็ถอนใจด้วยจิตท่านมีเมตตาอยู่หนักหนา แล้วเอ่ยว่า

๑๓. “สีกากล่าวถึงกรรมชาติก่อน ชะรอยสีกาจะเป็นผู้รู้ในธรรมดี อันชีวิตคนเราเกิดมา มิใช่ว่าจะหนีทุกข์หาสุขได้ดังหวัง มันย่อมแล้วแต่กรรมที่ทำไว้ เปรียบได้ดังเรือที่เหหัวไปตามความประสงค์ของผู้ถือท้าย เรื่องของสีกาก็ดุจกันฉันนั้น อ้ายป้องผู้ร้ายใจทมิฬที่บ้านเมืองเตรียมจะทำการประหัตประหารนั้น ยังอาจเล็ดลอดอาชญาไปได้ ส่วนท่านขุนสาครผู้ผัวสีกานั้นเล่า ใคร ก็ลงความเห็นว่าเป็นข้าราชการที่จงรัก แต่กรรมนำพาให้ต้องมาเป็นผู้คุมอ้ายป้อง อาตมารู้ดีว่าทั้งท่านขุนและสีกามิได้คบคิดให้อ้ายป้องหนีดังลูกขุนมูลนายเขากล่าวหา แต่มันมิใช่เพราะกรรมที่ทำไว้แต่ชาติก่อนสนองดอกหรือสีกา อ้ายป้องจึงหนีคุกไปได้ จนท่านขุนต้องอาชญาถึงแก่จะต้องถูกประหารชีวิตแทนอ้ายป้องในฐานประมาท ปล่อยให้มันหนี นี่ย่อมเป็นการแสดงว่าอ้ายป้องมันทำกรรมดีไว้แต่ปางหลัง ผลกรรมจึงสนองให้มันรอดพ้นอาชญาแผ่นดินไปได้”

“สีกามาตามข้าให้ไปร่ายเวทมนตร์คาถาแก้สามีให้หลุดพ้นอาชญา ข้านี้เป็นภิกษุ เมื่อสีกานิมนต์ก็ต้องปฏิบัติตามศรัทธา แต่ใช่ว่าเวทมนตร์คาถาและบุญที่เกิดจากการศึกษาภาวนาพระธรรม จักช่วยปัดเป่ากรรมเก่าของสามีสีกาได้ก็หาไม่ อันกรรมดีกรรมชั่วนั้นย่อมมีประจำอยู่ทั่วทุกตัวคน แม้แต่พระพุทธองค์ก็หาสามารถแก้กรรมที่สร้างไว้แต่ปางหลังได้ไม่ แต่เอาเถิด เพื่อทำให้สีกาและมารดาของท่านขุนผู้สามีสีกาหายข้องใจ ข้าก็ยอมตากฝนไปปัดเป่าภาวนาให้ดังประสงค์”

๑๔. พูดแล้วภิกษุก็ออกเดินฝ่าสายฝนไป ไปได้พ้นชายคาไม่เท่าใด ทั้งแม่หญิงและเจ้าหนุ่มก็เห็นว่าสบงจีวรของพระสงฆ์องค์นั้นโชกชุ่มไปด้วยหยาดน้ำ

๑๕. เจ้าหนุ่มที่นอนเอกเขนกสูบยา ฟังภิกษุท่านว่า ก็ผลุนผลันลุกขึ้น นั่งคิ้วขมวดอยู่ในท่าไตร่ตรองหนัก แล้วหันไปกล่าวกับแม่หญิงว่า

๑๖. “สูเจ้า อย่าเอาหลวงพ่อท่านไปตากฝนให้สั่นหนาวต่อไปเลย สู เจ้าจงเอาเราซึ่งหลวงพ่อออกนามอยู่เมื่อกี้นี้ว่าอ้ายป้อง ไปศรีอยุธยาให้ บ้านเมืองเขาประหัตประหารแทนสามีของสูเจ้าเถิด มันมิใช่กรรมเก่าอย่างพระท่านว่าหรอกหรือสูเจ้า ที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ดลบันดาลให้ฝนตกลงมากลางเดือนห้าหน้าแล้งเช่นนี้ จนเป็นเหตุให้เราต้องมาพักร่วมศาลาน้อยแห่งเดียวกัน และได้ฟังคำภิกษุ ซึ่งทำลายความตั้งใจที่จะเดินทางหนีของข้าเสียสิ้น”

๑๗. พูดแล้วเจ้าหนุ่มก็เงยหน้ามองดูดวงตะวัน ซึ่งเวลานั้นส่องแสงจ้า อยู่บนท้องฟ้า ปราศจากเมฆหมอกอันเป็นพยับฝน และเวลานี้ไม่มีฝนตกลงมาเลยจนเม็ดเดียว

ข้อสังเกต
ตอนหมายเลข ๑ เวลาของเรื่องไม่บ่งเฉพาะ บอกแต่ว่านานมาแล้ว หลายร้อยปี เป็นนิทานประวัติ ที่จริงการบ่งเวลาให้เฉพาะเป็นสิ่งสำคัญ แต่เรื่องนี้เพ่งที่จะแสดงอุดมคติและหลักธรรมเป็นข้อใหญ่ เวลาจึงไม่จำต้องบ่งเฉพาะ เมื่อเปิดฉากเบิกตัวละคร พรรณนาลักษณะอาการกิริยาของเขา แต่ไม่บอกว่าเป็นใคร แล้วพรรณนาฉากซึ่งต้องการให้เห็นบรรยากาศหรือกลิ่นอายทางปาฏิหาริย์ เพราะเป็นพายุฝนกลางเดือนห้า ผู้เขียนไม่บอกท่าน แต่ให้ตัวละครรำพึงให้ท่านรู้ในตอน ๓ และ ๖

ตอนหมายเลข ๔ ปล่อยตัวละครอีก ๒ ตัว ให้สังเกตการบรรยาย
กิริยาของตัวละครในตอน ๕-๖-๗

ตอนหมายเลข ๘ ให้ผู้หญิงเป็นฝ่ายพูดนำเรื่อง ให้ผู้อ่านสนเท่ห์ ว่าเรื่องเป็นมาอย่างไร

ตอนหมายเลข ๙-๑๐-๑๑ ทำให้เราอยากรู้เรื่องยิ่งขึ้น

หมายเลข ๑๓ เป็นคำพูดยืดยาวของพระภิกษุ ซึ่งขัดกับหลักที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องแสดงแนวคิดหรือคติธรรม ย่อมจะพูดยาวได้ อนึ่ง ในคำพูดนี้ทำให้เรารู้เรื่องที่สงสัยมากระจ่างขึ้น เป็นการบรรยายเรื่องไปด้วยในตัว

ตอนหมายเลข ๑๖ เรื่องคลี่คลายออกหมด เป็นตอน ไคลแมกซ์

ตอนหมายเลข ๑๗ จะเห็นความขัดกันกับตอนหมายเลข ๑ ซึ่งเริ่มต้นด้วยพายุฝน มันหมายถึงจิตใจอันยังมัวเมาอยู่ ถึงตอน ๑๗ ฝนกลับ ขาดเม็ด ท้องฟ้าสว่าง เล็งถึงจิตใจที่เห็นแจ้งแล้ว…

เรื่องนี้มีตัวละครเพียง ๓ ตัว เป็นเรื่องสั้นที่ผูกเค้า (Plot Story)

ให้สังเกตคำพูด คำแทนชื่อ ซึ่งต้องให้เหมาะกับกาลสมัยนั้นด้วย

ตัวอย่างเรื่องสั้น The Ball of Fat
ของโมปัสซัง
นักเขียนเรื่องสั้น : ที่มีชื่อเสียงของโลกก็คือ กีย์ เดอ โมปัสซัง, โอ. เฮนรี่ (นามปากกาของ วิลเลียม ซิดนีย์ ปอร์เตียร์), เอดการ์ แอลัน โป ทางไทยเราก็มี มนัส จรรยงค์, ดอกไม้สด, หลวงวิจิตรวาทการ, และอาจินต์ ปัญจพรรค์

จะขอนำเรื่องของโมปัสซังมาให้เห็นเป็นตัวอย่าง คือ เรื่อง The Ball of Fat

โมปัสซังเป็นนักประพันธ์ชาวฝรั่งเศส เกิดเมื่อ ค.ศ.๑๘๕๐ ตาย ค.ศ. ๑๘๙๓ เรื่องของเขาอาจพ้นสมัยไปบ้าง แต่ในเชิงการประพันธ์ เราอาจถือเป็นแบบฉบับได้ เรื่องที่นำมาเป็นตัวอย่างนี้ได้จากฉบับแปลภาษาอังกฤษ ชื่อเรื่องเป็นชื่อสมญาของละครตัวสำคัญในเรื่อง เป็นหญิงหาเงิน เนื้อเรื่องทำนองจะเป็นเรื่องจริง คือโมปัสซังได้เอาเหตุการณ์ตอนฝรั่งเศสแพ้สงคราม ปรัสเชีย และข้าศึกกำลังยกพลเข้ายึดเมืองรูอ็อง

โมปัสซังเริ่มเรื่องโดยการพรรณนาฉาก ให้เห็นภาพทหารฝรั่งเศสที่ถอยหนีพวกปรัสเซียมาอย่างไม่เป็นส่ำ และพากันล่าถอยมายังเมืองรูอ็อง พวกทหารค่อยทยอยเข้ามาในเมืองอย่างกะปลกกะเปลี้ย ส่วนคนในเมือง ก็พากันตระหนกตกใจ เพราะทหารปรัสเซียกำลังรุกติดตามมาใกล้เมืองเต็มที โมปัสซังพรรณนาสภาพทหารที่ล่าถอยกลับบ้านเมือง ที่กำลังจะตกอยู่ในเงื้อมมือข้าศึกได้ชัดเจน ให้บรรยากาศดีมาก…

“ชีวิตทุกอย่างดูเหมือนจะหยุดนิ่ง ร้านค้าปิดหมด ถนนเป็นใบ้ ประชาชนที่หวาดขวัญในความเงียบ เดินไปตามถนนอย่างรีบร้อน ความทรมานใจที่ต้องรอคอยทำให้พวกประชาชนอยากให้ข้าศึกมาถึงเสียเร็วๆ ”

[จากนั้นทหารปรัสเซียก็เริ่มบุกเข้ามาในเมือง โดยปราศจากการ ต้านทาน โมปัสซังพรรณนาฉากให้เห็นสภาพของเมือง ที่มีทหารข้าศึก มาอยู่เต็ม…!

“ข้าศึกที่เข้าครองเมืองก็รีดไถเอาเงินจากชาวเมือง รีดเอามากๆ เสียด้วย ชาวเมืองก็ยอมให้โดยดี เพราะว่าเขามีจะให้ได้ แต่ว่าพวกพ่อค้า รวยๆ นั้นเจ็บอกเจ็บใจกันมาก ที่เห็นเงินทองของตนต้องผ่านไปสู่มือของคนอื่น

เพราะฉะนั้นตามลำแม่นํ้ากรัวเซท์ แม่นํ้าเดียปเปลเดล แม่นํ้าบีซาร์ต ได้เมืองไปสองสามไมล์ พวกชาวทะเลและประมงมักจะพบศพทหารเยอรมัน ทั้งยูนิฟอร์มขึ้นอืดอยู่ที่ก้นแม่นํ้า ศพเหล่านั้นมีรอยมืดแทงข้างหลังบ้าง รอยหัวถูกทุบด้วยก้อนหินบ้าง คือถูกลอบฆ่าแล้ว ก็ถูกโยนลงคลอง บางทีก็ถูกผลักตกลงจากสะพานสูงๆ ก้นแม่นํ้า ซึ่งเป็นหินปูนได้เป็นที่ฝังความแค้นใจอย่างลึกลับ มันเป็นการทารุณ แต่ทว่าถูกต้อง เป็นวีรกรรมอันไม่ปรากฏ เป็นการโจมตีอย่างเงียบๆ น่าสะพรึงกลัวยิ่งกว่าการประหารกันซึ่งหน้าในสนามรบ ทั้งมันไม่มีเสียงโห่ร้องแสดงความมีชัย เพราะว่าความเกลียดชัง ชนต่างด้าวนั้นย่อมปลุกคนใจเด็ดให้ยอมตายเพื่อกู้บ้านกู้เมืองได้…”

[เมื่อความโกลาหลอลหม่านในการที่ข้าศึกเข้ายึดครองเมืองเบาบางลง ทหารข้าศึกได้เข้าไปทำความรู้จักคุ้นเคยกับชาวเมือง กฎอัยการศึกที่ ศัตรูกำหนดก็ผ่อนปรนลง จากตรงนี้โมปัสซังก็เริ่มนำตัวละครเข้ามาในเรื่อง กล่าวถึงชาวเมืองรูอ็อง ๑๐ คน ได้รับอนุญาตให้ออกจากเมืองได้ พวกนี้ได้ไปกับรถเทียมม้าสี่ และกำหนดออกเดินทางตั้งแต่ยังไม่สาง]

“ในแสงเศร้าๆ ของยามเช้าตรู่ พวกคนในรถต่างมองกันอย่างอยากรู้ว่าใครเป็นใคร

ที่นั่งตอนหลัง ซึ่งเป็นที่ดีที่สุด นายลัวโซนั่งมากับเมีย นายลัวโซคนนี้เป็นพ่อค้าเหล้าองุ่นอยู่ที่ถนนแกรนด์ป็องต์ นายลัวโซรับเซ้งร้านค้าจาก พ่อค้าอีกคนหนึ่งซึ่งค้าขายขาดทุน พอนายลัวโซเซ้งร้านและการค้ามาได้แล้ว ก็ทำมาค้าขึ้น มั่งมีขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะแกเอาเหล้าเลวๆ มาขายแก่พ่อค้าช่วงในราคาแพงๆ ใครๆ ก็รู้ว่าแกเป็นคนสนุก แต่มีเล่ห์เหลี่ยม เต็มตัว…

คนที่นั่งข้างๆ นายลัวโซกับเมียคือ นายคาเร ลามาด็อง นั่งวางท่าภูมิฐานอย่างกะเป็นเจ้าใหญ่นายโต ที่จริงแกก็เป็นคนใหญ่อยู่ เพราะมีโรงปั่นฝ้ายถึงสามโรง เป็นสมาชิกสภาผู้แทน เคยเป็นทหารได้รับเหรียญ ลีย็อง ดองเนอร์…”

[โมปัสซังบรรยายเบื้องหลังของตัวละครที่สำคัญเป็นคนๆ ไป มีมาดาม คาเร ลามาด็อง เคานต์ กับ เคานเตสอูแบรต์ เบรวิลล์ ทั้งหกคนนี้ เป็นคนใหญ่ๆ โตๆ ทั้งนั้น เมื่อพูดถึงตัวละครอื่นๆ ที่นั่งรวมกันมาในรถ ให้ผู้อ่านเห็นฐานะว่าใครเป็นอย่างไรแล้ว ก็นำตัวละครตัวเอกในเรื่องมา พบกับผู้อ่าน]

“ในรถมีหญิงอีกคนหนึ่งนั่งมาด้วย เธอเป็นหญิงสังคม ได้สมญาว่า บอลล์ ออฟ แฟ็ต (แม่เจ้าเนื้อ) เป็นคนร่างเล็กท้วม นิ้วเต่งอย่างกับไส้ กรอก ผิวตึงเปล่งปลั่ง เต้ามหึมากระเพื่อมอยู่ในเสื้อ เธอเป็นคนยิ้มแย้ม แจ่มใสอารมณ์ดี มีผู้ชายพออกพอใจกันมาก หน้ากลม ลูกตาดำทั้งสองดูยิ้มยวนอยู่ทุกเวลา ริมฝีปากสวย เยิ้ม ชวนจุมพิต ฟันซี่เล็กๆ ขาววาว ใครๆ ก็ว่าเธอช่างน่าชมไปทุกส่วน

แต่พอพวกในรถรู้ว่าเธอเป็นใคร ก็มีเสียงซุบซิบจากหมู่หญิงผู้ดีว่า ผู้หญิงหาเงิน คนหน้าไม่อาย เสียงซุบซิบนี้ดังจนเข้าหูเธอ ทำให้เธอเงย
หน้าขึ้น แล้วจ้องแม่พวกปากจัดนั้นด้วยสายตาเก่งกล้าท้าทาย จนแม่พวกเหล่านั้นต้องพากันสงบปาก นั่งก้มหน้า เว้นแต่นายลัวโซคนเดียวที่ยังแอบมองเธออย่างครึ้มใจ”…

[โมปัสซังปูพื้นเรื่องค่อนข้างจะละเอียด ทำให้เรื่องเดินช้าไปหน่อยหนึ่ง แต่ก็มีการทดแทนที่ว่าเขาพรรณนาได้ชัดเจน ทำให้ตัวละครเหล่านั้น มีชีวิตชีวา ทำให้เห็นนิสัยใจคอของตัวละครแต่ละตัว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ ในการดำเนินเรื่องต่อไป]

“รถไปได้ช้ามาก เวลาสิบนาฬิกาเช้าวันนั้น เดินทางไปได้เพียงสี่ไมล์ พวกผู้ชายต้องลงจากรถสี่ครั้ง เพราะม้าลากรถขึ้นเขาไม่ไหว พวกนี้ชักอึดอัดใจ เพราะนึกไว้แต่แรกว่า เวลาสิบนาฬิกานี้ควรจะถึงเมืองโตตส์และได้กินอาหารเช้าแล้ว ถ้าเป็นอย่างนี้กว่าจะถึงก็น่าจะจวนค่ำ เวลารถตกหล่มหิมะ ต้องเสียเวลาเข็นกันถึงสองชั่วโมง ทุกคนต่างสอดส่ายตาดูว่าจะมีร้านอาหารระหว่างทางที่ไหนบ้าง

ร้านอาหารระหว่างทางที่เคยเปิดอยู่ก่อนนั้น เมื่อกองทัพปรัสเซีย บุกเข้ามา ต่างก็ตกใจเลิกการค้ากันหมด ครั้นหิวกันหนักขึ้น พวกผู้ชายก็ลงจากรถไปที่บ้านชาวนา เพื่อว่าจะหาซื้ออะไรกินได้บ้าง แต่เวลาที่ทหาร ปรัสเซียเที่ยวยื้อแย่งอาหารจากชาวบ้านอยู่นี้ พวกชาวนาก็เก็บอาหารซุกซ่อนหมด และไม่ยอมเจือจานให้แก่ใครทั้งนั้น

เวลาผ่านไปถึงสิบสามนาฬิกา นายลัวโซอุทธรณ์ออกมาดังๆ ว่าท้อง ว่างเต็มทีแล้ว ใครๆ ก็พากันหิวจนพูดไม่ออก…”

[โมปัสซังพรรณนาอาการหิวของคนได้ดีมากว่าพอหิวเข้าแล้ว แม้ผู้ดีที่เคยระวังกิริยาก็ลืมความเป็นผู้ดี…]

“บอลล์ ออฟ แฟ็ต พยายามเอามือคว้านไปใต้สะเกิ้ตคล้ายๆ กับว่าจะหาอะไรสักอย่าง จะหยิบอะไรออกมาก็รีๆ รอๆ มองตาพวกที่นั่งมาในรถ ในที่สุดเธอก็กลับนั่งนิ่งตัวตรง ทนหิวจนหน้าเผือด นายลัวโซพูด ออกมาตรงๆ ว่า เวลานี้ใครเอาหมูแฮมมาขายชิ้นละพันฟรังก์ก็ยอมซื้อ เมียทำอาการคล้ายๆ จะบอกสามีอย่าพูดอะไรเลอะเทอะไป แต่เธอก็ไม่ได้พูดออกมา เธอเป็นคนที่ไม่ชอบเอาเงินไปใช้อย่างฟุ่มเฟือย เพียงได้ยินผัวพูดอย่างนั้นก็ออกไม่ชอบใจเสียแล้ว “จริงนะ” ท่านเคานต์เอ่ยขึ้น “ไม่เข้าใจเลยว่าทำไมฉันถึงลืมเตรียมอาหารมา” คนอื่นๆ ก็เลยพลอยบ่นอย่างนั้น…”

[โมปัสซังได้พรรณนาให้เราพลอยรู้สึกว่า แต่ละคนหิวกันจนแสบท้อง]

“จนเวลาสิบห้านาฬิกา รถแล่นมาถึงกลางทุ่ง แลไปทางไหนไม่พบ บ้านเรือนคนเลย บอลล์ ออฟ แฟ็ต ก้มตัวลง ล้วงมือเข้าไปใต้ที่นั่งหยิบ ตะกร้าใบใหญ่ มีผ้าขาวคลุมออกมาอย่างรวดเร็ว

เธอหยิบจานกระเบื้องเคลือบกับถ้วยนํ้าชาเงินออกมาก่อน แล้วหยิบ จานใบโตออกมาจากตะกร้า ในจานมีไก่อบ ตัดเป็นชิ้นๆ หุ้มเยลลี่ถึงสองตัว ในตะกร้ายังมีของกิน ขนม ส้มสูกลูกไม้อีกหลายอย่าง กินไปสามวันก็ไม่หมด เห็นคอขวดเหล้าโผล่ออกมาสี่ขวด เธอหยิบปีกไก่ออกแทะกินอย่างกระมิดกระเมี้ยน พร้อมกับขนมปังอย่างดีชิ้นเล็กๆ

ทุกคนหันไปจ้อง กลิ่นอาหารกระจายไปทั้งรถ ทำเอาทุกคนสูดลม จมูกบาน นํ้าลายสอ และรู้สึกปวดกรามอยากเคี้ยวเต็มทน ส่วนพวกผู้หญิง ยิ่งรู้สึกชังนํ้าหน้า อยากจะจับเธอพร้อมตะกร้าอาหารโยนออกไปนอกรถเสียให้พ้นหูพ้นตา

นายลัวโซจ้องไก่ในจานตาเป็นมันทีเดียว “เคราะห์ดีนะ คุณคาดการณ์ล่วงหน้าได้ถูก รู้ว่าคงจะต้องมาหิวกลางทาง”

บอลล์ ออฟ แฟ็ต หันมาพูด “หากไม่รังเกียจก็เชิญซิคะ ไปไหนไกลๆ ฉันมักต้องเตรียมอาหารไปด้วยเสมอ”

เขาก้มศีรษะรับ “รังเกียจอะไรกันเล่าคุณ หิวจนใจจะขาดอยู่แล้ว ในเวลาสงครามอย่างนี้จะมาถือเนื้อถือตัวกันอย่างไร จริงไหมคุณ” เขาว่า แล้วหันไปมองคนอื่นๆ อย่างขอความเห็นใจ “ในเวลาคับขันอย่างนี้ ใคร จะไม่ยินดีละคุณ”
แล้วเขาก็กางกระดาษหนังสือพิมพ์ลงบนเข่า กันไม่ให้อะไรตกลงไป เปื้อนกางเกงล้วงมีดพับที่เขาพกติดกระเป๋าอยู่เสมอออกมา ใช้ปลายมืดทิ่มขาไก่ที่มีเยลลี่หุ้มใสแจ๋วป้อนเข้าปาก เคี้ยวกินอย่างเอร็ดอร่อย ทำเอาคนอื่นๆ กลืนนํ้าลายอยู่ในคอ”

[โมปัสซังบรรยายให้เห็นว่า เมื่อเวลาหิว ใครจะไปมัวนั่งถือเกียรติ ถือยศอยู่ได้ ดังนั้น แม้จะเป็นอาหารของผู้หญิงหาเงิน ทุกคนแม้จะอิดเอื้อนในตอนแรก ในที่สุดก็ยอมรับส่วนแบ่งจาก บอลล์ ออฟ แฟ็ต อย่างเต็มใจ จนดื่มเหล้าขวดเดียวกันโดยไม่มีแก้วก็ทำได้ และเมื่อต่างคนต่างอิ่ม ก็อาจพูดถ้อยคำอันไพเราะได้…]

“เขาจะกินอาหารของหญิงที่เขารังเกียจเปล่าๆ อย่างไรได้ ก็ต้องพูดเจรจาขอบบุญขอบคุณกันบ้าง แรกๆ แม่พวกหญิงผู้ดีก็พูดอย่างไว้ตัว แต่ เมื่อเห็นแม่ บอลล์ ออฟ แฟ็ต พูดโต้ตอบด้วยวาจาสุภาพเรียบร้อย ก็ค่อยแสดงความสนิทสนมมากขึ้น เหลือแต่มาดามลัวโซคนเดียว ที่ทนมากกว่าเพื่อน แต่ไม่ค่อยยอมพูดจากับแม่บอลล์ ออฟ แฟ็ต เสียเลย”

ต่างคนต่างเล่าเรื่องของตนมากขึ้น บอลล์ ออฟ แฟ็ต เล่าว่า

“ทีแรกฉันก็ไม่คิดจะอพยพหรอกค่ะ ฉันมีอาหารตุนไว้เยอะแยะ จะไปอยู่ที่อื่นก็ไม่รู้ว่าจะไปทางไหนดี แต่พวกทหารปรัสเซียน่ะซิคะ เลวจน ฉันทนไม่ไหว ฉันต้องร้องไห้ทุกคืน แหม นี่ฉันเป็นผู้ชายละ คอยดูซี แหม ทหารคนหนึ่งมาหาฉัน ทำบ้าๆ น่าเกลียดต่างๆ ฉันทนไม่ได้ พอได้ท่าก็ บีบคอมันเสียแน่น นี่ถ้าไม่มีใครมาจิกหัวฉันขึ้น ฉันคงบีบคอเจ้าทหารคนนั้นตายไปแล้ว เรื่องนี้แหละที่ทำให้ฉันต้องซ่อนอยู่แต่ในบ้าน พอได้โอกาสก็เลยหนีมากับรถนี่แหละค่ะ”

[โมปัสซังพรรณนาการเดินทางต่อไป ว่ารถได้มาถึงเมืองโตตส์เวลาค่ำ หยุดรถที่หน้าโรงแรม ชื่อ โฮเต็ล ออฟ คอมเมิซ แต่พอรถหยุดนึ่งก็ได้ยิน เสียงลากกระบี่กริ่งกร่าง แสดงว่าทหารปรัสเซียได้เข้าครองเมืองนี้ด้วย ทุกคนนั่งหน้าซีดอยู่ในรถทันใดนั้นประตูรถก็เปิดออก คนขับยืนชูตะเกียงอยู่หน้าประตู ข้างๆ คนรถมีนายทหารปรัสเซีย…]

เป็นหนุ่มร่างสูงโย่ง ผอม ผมสีเงิน สวมยูนิฟอร์มตึงเปรี๊ยะราวกับสาวที่ถูกรัดไว้ด้วยคอร์เซท บนหัวมีหมวกแก๊ปทำด้วยผ้านํ้ามัน ทำให้ดูเหมือนคนรับใช้ประจำโรงแรมในประเทศอังกฤษ หนวดดกเฟิ้มบนริมฝีปากนั้น เส้นยาวตรง และค่อยเรียวลงมาที่มุมปาก…

[นายทหารคนนี้พูดภาษาฝรั่งเศสได้ และเขาได้บอกให้คณะลงจากรถ แล้วตรวจดูหนังสือเดินทางจนเป็นที่พอใจ จึงสั่งให้ขึ้นไปพักที่โรงแรม ได้ ตรงนี้โมปัสซังได้พรรณนารูปร่างของนายทหารปรัสเซีย อย่างให้เรา นึกเห็นรูปร่างได้ และพรรณนากิริยาของพวกคนโดยสารตอนลงจากรถให้เรารู้สึกในบรรยากาศของการเดินทาง ในระหว่างที่ข้าศึกกำลังเข้ายึดบ้านเมือง ขณะที่คณะเดินทางกำลังรับประทานอาหารอยู่นั้น เจ้าของโรงแรม ก็เข้ามา…]

“คุณชื่อมิส อลิซเบท โรเซ็ท ใช่ไหม”

บอลล์ ออฟ แฟ็ต สะดุ้ง แล้วตอบว่า “ใช่”

“นายทหารปรัสเชียต้องการพบคุณเดี๋ยวนี้”

“พบฉัน เรื่องอะไร”

“ไม่ทราบ แต่เขาต้องการจะพูดกับคุณมิสโรเซ็ท”

เขาทำหน้าบึ้ง นึกอยู่สักครู่ แล้วตอบห้วนๆ ว่า

“ฉันชื่อโรเซ็ท ถูกแล้ว แต่ฉันไม่ไป”

พวกที่นั่งอยู่ด้วยกันพากันตกใจ และต่างก็พูดไต่ถามกันว่าจะมีเรื่อง อะไร เหตุใดจึงต้องเจาะจงที่ บอลล์ ออฟ แฟ็ต ท่านเคานต์เป็นคนพูด กับเธอว่า

“ฉันว่าการขัดคำสั่งเขาจะไม่ดีนา มันจะทำให้เกิดความยุ่งยากขึ้นมากทีเดียว ไม่ใช่แต่เธอเท่านั้น พวกเราก็คงจะต้องพลอยลำบากไปด้วย ฉันไม่เห็นว่าจะได้ประโยชน์อะไรที่จะไปขัดคำสั่งของผู้ที่กุมอำนาจอยู่ ฉัน เข้าใจว่าคงไม่มีเรื่องสลักสำคัญอะไร เขาอาจต้องการตรวจหนังสือเดินทางของคุณซํ้าอีกก็ได้”

ทุกคนต่างก็อ้อนวอนให้ บอลล์ ออฟ แฟ็ต ไปหานายทหารตามคำสั่ง จนเธอใจอ่อนยอมไปพบ เธอหายออกไปสักสิบนาทีก็กลับเข้ามาและ ร้องว่า “โอ คนอัปรีย์ คนอัปรีย์ ! ” ทุกคนสงสัยว่าจะมีเรื่องอะไร แต่เธอไม่ยอมพูด ท่านเคานต์พยายามถาม เธอก็บอกว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับใคร ทั้งนั้น แต่เธอก็ไม่บอกว่าเรื่องอะไร ในที่สุดต่างก็รับประทานอาหารกันต่อไป และสนทนาโต้เถียงกันเรื่องการสงคราม จนอิ่มหนำสำราญกันแล้วต่างก็แยกไปนอน ตอนนี้โมปัสซังได้บรรยายเรื่องความหื่นกระหายของท่านเคานต์ ที่ลอบติดตาม บอลล์ ออฟ แฟ็ต เข้าไปถึงห้องของเธอแล้วก็ขอนอนด้วย แต่เธอไม่ยินยอม ซึ่งทำให้ท่านเคานต์ประหลาดใจมาก ที่หญิงหาเงินเกิดไม่ยอมขายตัว อ้างว่าในเวลาเช่นนี้และในสถานะอย่างนี้มันไม่เหมาะที่เธอจะประพฤติอย่างนั้น

รุ่งขึ้นคณะเดินทางกำหนดจะออกเดินทาง เวลา ๘ นาฬิกา แต่พอถึงเวลาก็เห็นแต่รถเปล่า ม้าไม่มี คนขับก็หายไป เที่ยวตามหากันจนเกือบ สิ้นหวัง จึงไปพบคนรถนั่งดื่มกาแฟอยู่ในร้านแห่งหนึ่ง ถามได้ความว่า นายทหารปรัสเซียไม่ยอมให้เดินทางต่อไป ถามว่าเพราะเหตุใด ก็ไม่มีใครตอบได้ ต้องรอจนนายทหารปรัสเซียคนนั้นตื่น ผู้ชายในคณะสามคนจึงขออนุญาตขึ้นไปหา

ท่านเคานต์ทำหน้าที่เป็นคนพูด

“พวกเราใคร่จะขออนุญาตเดินต่อไปครับท่าน”

“ยังไปไม่ได้”

“กรุณาแจ้งเหตุผลให้ทราบจะขัดข้องไหมครับ”

“เหตุผลก็คือยังไม่อยากให้ไป”

“แต่ผมใคร่จะเรียนท่านว่าเรื่องการเดินทางครั้งนี้ ท่านผู้บัญชาการ สูงสุดได้อนุญาตให้เราเดินทางไปจนถึงเมืองไดเอปป์ ผมจึงสงสัยว่าเราได้ทำผิดพลาดอะไร จึงถูกห้ามมิให้เดินทางต่อไป”

“ฉันบอกว่ายังไม่ต้องการให้ไป กลับไปก่อนเถอะ”

ทั้งสามคนก็ต้องกลับออกมา

[สาเหตุสำคัญที่นายทหารปรัสเซีย ผู้บังคับการทหารที่เมืองนี้ไม่ยอมให้คณะออกเดินทางต่อไป ก็คือเขาต้องการหลับนอนกับ บอลล์ ออฟ แฟ็ต แต่ บอลล์ ออฟ แฟ็ต ก็ไม่ยินยอม ทั้งๆ ที่เธอเป็นหญิงหาเงิน คณะต้องค้างอยู่ที่เมืองโตตส์อีกสองคืน ต่างก็มีความร้อนใจ โมปัสซังได้บรรยาย ความอีหลักอิเหลื่อตอนนี้ได้ชัดเจนดีมาก บทพรรณนาของเขาทำให้นึกเห็นภาพเหตุการณ์ได้ชัด โมปัสซังดำเนินเรื่องโดยให้พวกผู้ดีเหล่านั้น รวมหัวกันเกลี้ยกล่อมให้ บอลล์ ออฟ แฟ็ต ตกลงปลงใจ ยอมตามความต้องการของนายทหารปรัสเซีย โมปัสซังบรรยายเรื่องตอนนี้ค่อนข้างจะละเอียด และในที่สุด บอลล์ ออฟ แฟ็ต หญิงคนซื่อก็ทนต่อชั้นเชิงการเกลี้ยกล่อมของพวกผู้ดีเหล่านั้นไม่ได้ ยอมหลับนอนกับนายทหารปรัสเซีย ซึ่งทำให้พวกนั้นโล่งอก และหัวร่อต่อกระซิกกันอย่างสนุก ในขณะที่ บอลล์ ออฟ แฟ็ต ต้องยอมตัวให้กับนายทหารที่เธอแสนจะรังเกียจคนนั้น

วันรุ่งขึ้น คณะเดินทางยิ้มแย้มแจ่มใสเตรียมข้าวของและอาหารไป อย่างบริบูรณ์ ทุกคนมาพร้อมกันที่รถแล้ว แต่ บอลล์ ออฟ แฟ็ต ยังไม่ ปรากฏตัว รอกันอยู่ครู่หนึ่ง จึงเห็นเธอออกมาจากโรงแรมด้วยท่าทางอิดโรย ก้มหน้าอย่างนึกละอายใจ พวกผู้ดีคณะเดินทางได้เปลี่ยนท่าทีไปหมดทุกคน บางคนก็แสดงความรังเกียจอย่างออกหน้า ทั้งๆ ที่เมื่อคืนก่อนได้กราบไหว้ วิงวอนเธออย่างอ่อนน้อมถ่อมตัว ทุกคนขึ้นรถ…]

“พวกนั้นทำเมิน เหมือนไม่แลเห็นเธอ มาดามลัวโซนั้นมองดูเธอ อยู่ห่างๆ และว่า “เคราะห์ดี ไม่ต้องนั่งใกล้กับแม่คนนี้”

รถอันหนักเริ่มออกเดินทาง ในตอนแรกๆ ไม่มีใครพูดอะไร บอลล์ ออฟ แฟ็ต นั่งก้มหน้าไม่ยอมเงย เธอรู้สึกโกรธแค้นพวกที่มาด้วยกับเธอ เวลาเดียวกันก็รู้สึกหม่นหมองใจ ที่พวกเหล่านั้นทำใจดี หลอกล่อให้เธอต้องยอมเข้าไปอยู่ในอ้อมแขนอันน่ารังเกียจของนายทหารปรัสเซียคนนั้น”

ครั้นรถออกวิ่งมาได้สักพัก พวกในรถจึงเริ่มพูดกันบ้าง แต่ไม่มีใครยอมพูดกับ บอลล์ ออฟ แฟ็ต สักคนเดียว สามชั่วโมงต่อมานายลัวโซ ร้องว่า หิวแล้ว เมียของเขาก็หยิบหีบกระดาษบรรจุเนื้อเย็นขึ้นมารับประทาน กับสามี ส่วนคนอื่นๆ ต่างก็เตรียมอาหารกันมาทุกคน ต่างหยิบออกมารับประทาน และหัวร่อต่อกระซิกกันอย่างชื่นบาน ขณะที่รับประทานกันนั้น ไม่มีใครมีแก่ใจนึกถึง บอลล์ ออฟ แฟ็ต เลย และเธอก็นั่งปากแห้งทนหิว เพราะการที่เธอต้องเสียสละตัวเพื่อเห็นแก่คนพวกนี้ ทำให้เธอต้องรีบร้อน เตรียมการเดินทางจนลืมที่จะเตรียมอาหารมาด้วย…

“บอลล์ ออฟ แฟ็ต ไม่สามารถจะกลั้นนํ้าตาไว้ได้ เธอนั่งนํ้าตาไหลพรากมาตลอดทาง บางครั้งก็มีเสียงสะอื้นดังเข้าหูพวกผู้ดีที่นั่งอยู่ในเงามืดของรถ เมื่อเวลาใกล้ค่ำ”
-จบเรื่อง-

เรื่องสั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องเชิงแนวคิด (Theme Story) ว่าความเป็นผู้ดีนั้น ไม่ได้อยู่ที่ความร่ำรวยหรืออยู่ที่ตระกูล แต่อยู่ที่นํ้าใจอันสูงส่งต่างหาก

ว่าถึงเนื้อเรื่อง ถ้าจะเล่าถึงแบบสรุปก็สั้นนิดเดียว แต่โมปัสซังได้ บรรยายโดยแสดงบทบาทตัวละคร ให้บทเจรจาหรือบทสนทนาของตัวละคร ทำให้การดำเนินเรื่องดูเป็นจริงขึ้น และเขาให้ผู้อ่านนึกเห็นเอาเองว่าใครน่ารักน่าชังอย่างไร บทพรรณนาก็ทำเฉพาะที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินเรื่อง อะไรที่ไม่ช่วยในการที่จะให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องดีขึ้น เขาก็งดเสีย เช่น รถม้าที่คณะอพยพนั่งมานั้น เขาพูดสั้นนิดเดียว เพราะไม่ใช่ส่วนสำคัญของเรื่อง ตอนที่เขาพรรณนายาว ก็คือตอนที่นายทหารปรัสเซียไม่ยอมให้คณะเดินทางต่อไป และคณะพวกผู้ดียอมลดตัวกราบไหว้วิงวอน บอลล์ ออฟ แฟ็ต

เรื่องสั้นเชิงแนวคิดนี้ หากผู้เขียนไม่เข้าถึงจิตใจของคนชนิดต่างๆ และให้คำพรรณนาบทบาท และบทเจรจาไม่ดี ก็จะทำให้เรื่องอ่อนจนไม่มี คุณค่าเลย

เรื่องสั้น ที่ถือตัวละครเป็นจุดเด่น (Character Story)
บางทีเมื่อท่านไปในสังคม หรือไปเที่ยวพบปะคนมากๆ ท่านคงจะสังเกตเห็นว่า ในบรรดาคนเหล่านั้นจะมีคนหนึ่งที่ดูเด่นกว่าคนอื่นๆ เขา อาจจะสูงโย่ง แต่เสียงเบา เขาอาจจะตัวเล็กแต่เสียงดังแสบหู เขาอาจจะสวมเสือแดงแปร๋ เขาอาจจะเถียงกับเด็กขายตั๋วเพียงเรื่องเล็กน้อย เขาอาจจะจู้จี้จุกจิกในเรื่องการสั่งอาหาร และบางที เมื่อท่านสนิทกับใครสักคนหนึ่ง ท่านจะรู้สึกว่า คนๆ นี้มีนิสัยแปลกกว่าคนอื่นๆ คนพวกนี้อาจก่อให้เกิดพฤติการณ์แปลกๆ ขึ้นได้เสมอ สามีที่ตระหนี่จนคิดถึงเรื่องเงินทุกกระเบียดนิ้ว อาจทำให้ภรรยาอยู่ด้วยไม่ได้ หญิงที่ขี้เล่น (กับไฟ) อาจต้องเสียตัว โดยไม่ทันรู้ตัว หญิงสวยที่ตั้งใจเลือกชายที่ดีทุกอย่าง กลับได้ผัวเลวๆ เหล่านี้เกี่ยวกับนิสัยใจคอและบุคลิกอันผิดเพื่อนของบุคคล นักเขียนอาจนำมาเติมแต่งเป็นเรื่องสั้นได้ คนอ่านก็ชอบ เพราะคนชอบเรื่องของคนอื่น

เรื่องสั้นที่ถือตัวละครเป็นจุดเด่น (บางทีเรียกว่า เรื่องสั้นประเภท แสดงนิสัยตัวละคร) ผู้เขียนมักหยิบยกตัวละครที่มีจุดเด่นพิเศษในทางเมตตา กรุณา เฉลียวฉลาดหลักแหลม ซื่อตรงต่อหน้าที่ ซื่อตรงต่อเจ้านาย มีความพยาบาทอาฆาตรุนแรง นํ้าใจเด็ดเดี่ยว หรือเป็นอาชญากรโดยกำเนิด มาเขียนเป็นเรื่องสั้นขึ้น ผู้เขียนต้องเป็นคนช่างสังเกต และติดตามให้รู้พฤติการณ์ของบุคคลพิเศษพวกนี้ แล้วนำมาเขียนเป็นเรื่องแสดงให้เห็นว่าความที่มีลักษณะพิเศษอย่างนั้นๆ นำให้เกิดพฤติการณ์อย่างนั้นๆ แต่เราต้องเข้าใจว่าในการเขียนนั้น นักเขียนจำต้องแต้มเติมเรื่องเพื่อให้ผู้อ่านได้รส เกิดจินตนาการชัดเจนขึ้น

การสร้างตัวละคร
โดยปกติเรื่องสั้นควรมีตัวละคร หรือตัวบุคคลในเรื่องไม่เกิน ๖ คน มีตัวเอกหรือตัวสำคัญที่มีบทบาทอยู่ตลอดเรื่องตัวหนึ่ง ละครตัวนี้จะต้องมี ลักษณะนิสัยเด่นพิเศษ อาจมีความปรารถนาที่แปลกประหลาด มีจุดอ่อนในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง มีอำนาจใหญ่ มีความทะเยอทะยาน มีอุดมคติซึ่งผิดแปลกแตกต่างจากคนปกติธรรมดา ลักษณะและนิสัยอันแปลกประหลาดเหล่านี้แหละ ที่ก่อให้เกิดพฤติการณ์ขึ้น คือเป็นแนวเรื่องที่นักเขียนจะนำมาเขียน อย่างเช่น แม่เจ้าเนื้อ (The Ball of Fat) ในเรื่องสั้นของโมปัสซัง ถึงเธอจะเป็นหญิงหาเงิน แต่ก็มีอุดมคติ คือ ไม่ยอมหาเงินกับพวกทหารของศัตรู และเมื่อไม่ใช่เวลาและสถานที่หาเงิน เธอก็ไม่ยินดีที่จะได้เงิน

ในเรื่อง ๑/๕๐๐ ของ ดอกไม้สด ดอกไม้สดได้สร้าง นายโชติ ศรีเพชร์ ซึ่งเป็นคนมีนิสัยแปลกเพื่อน

“นายโชติ ศรีเพชร์ เป็นเนติบัณฑิต ทำงานอยู่ในสำนักทนายความแห่งหนึ่ง อายุ ๒๔ ปี กับ ๘ เดือน…

..นายโชติมีนิสัยพิเศษอยู่อย่างหนึ่ง คือ นิสัยชอบ ‘ขวางโลก’ เป็นต้นว่า
สมัยหนึ่งนายโชติอยู่ในหมู่คนที่ชอบการฟ้อนรำแบบไทย เช่น โขน และละครรำ นายโชติเกลียดการฟ้อนรำเป็นที่สุด ถือว่าโขนและละครรำ ยืดยาด ซํ้าซาก และไม่มีการดัดแปลงให้ทันสมัย ทันใจมนุษย์ที่ ‘ไปเร็ว’ ขึ้นทุกวัน…

…ครั้นมาถึงสมัยที่คนเป็นส่วนมากมีความเห็นตรงกับนายโชติ ละคร ‘กำๆ แบๆ’ เฟื่องฟูขึ้นแทนการฟ้อนรำ นายโชติก็คอยสำเหนียกว่าจะมีการแสดงละครรำหรือโขนในที่ใด แล้วก็ต้องรีบซื้อตั๋วล่วงหน้า…,,

ลักษณะขวางโลกของนายโชตินี้ ทำให้เกิดพฤติการณ์ขำๆ ต่างๆ ซึ่งดอกไม้สดผูกขึ้นเป็นเรื่องอย่างสนุก

ผู้ที่รู้จักสังเกต จะเห็นคนที่มีลักษณะแปลกๆ ที่จะนำมาผูกเป็นเรื่องขึ้นได้เสมอ เช่น คนที่ใจบุญสุนทาน มีเมตตากรุณาต่อคนทั่วไป แต่มีนิสัยเกลียดแมว คนที่มั่งคั่งมีเงิน แต่เก็บรักษาของถี่ยิบ แม้แต่เชือกผูกของก็ไม่ยอมทิ้งเก็บของเป็นขยะไว้เต็มบ้าน

นักเขียนเรื่องสั้นแนวนี้ ต้องเป็นนักสังเกตเมื่อพบเห็นผู้ใด ไม่ว่าเด็ก หรือผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะในรถโดยสารหรือที่หนึ่งที่ใด ก็มองจับลักษณะที่แปลก ประหลาดอันมีอยู่ในบางคนได้

บทฝึกของท่าน
เขียนชีวประวัติของใครคนหนึ่ง ที่ท่านจะนำมาเป็นตัวละครสำคัญ ในเรื่องสั้นของท่าน อาจเป็นเพื่อนหรือใครคนหนึ่งก็ได้ ที่ท่านรู้จักพอสมควร และท่านควรเพิ่มเติมลักษณะของคนนั้นให้เข้มข้นขึ้น โดยจินตนาการของท่าน ในการเขียนชีวประวัตินี้ ให้ท่านบอกวัน เดือน ปีเกิด บิดามารดา ชีวิต เมื่อเยาว์ เมื่อเติบโตขึ้น การงาน ลักษณะนิสัย ลักษณะที่เด่นพิเศษ อารมณ์ กิริยาท่าที การแต่งกาย

ในการแสดงลักษณะนิสัยตัวละครนั้น วิธีที่ดีที่สุดก็โดยทางบรรยาย กิริยาท่าที การกระทำและการพูดจาของคนนั้นๆ แต่อาจจะใช้วิธีพรรณนาโดยตรง อย่างเรื่องนายโชติใน ๑/๕๐๐ ดอกไม้สดเริ่มโดยการพรรณนาลักษณะโดยตรงว่าเป็นอย่างไร

บทเจรจา
คำว่า บทเจรจา นี้มาจากการเล่นละครหมายถึงคำพูดโดยตรงของตัวละคร คือว่าตัวละครตัวหนึ่งก็มีคำพูด แบบพูดอย่างหนึ่ง ก็เหมือนกันกับคนจริงๆ ถ้าเราสังเกตจะเห็นว่ามีแบบพูดไม่เหมือนกัน บางคนพูดเร็ว บางคนพูดช้า บางคนพูดเล่นสำนวน บางคนพูดคำสบถคำ บางคนอดพูดคำหยาบไม่ได้ บางคนติดอ่าง ยังมีอีกสารพัด

บทเจรจานี้นับว่าสำคัญมากในการแต่งเรื่อง นักเขียนที่ขาดความ ชำนาญมักให้บทเจรจาของตัวละครเหมือนกันหมดทุกตัว เลยกลายเป็นบทเจรจาของผู้เขียนเอง ไม่ใช่ของตัวละคร อีกประการหนึ่ง บทเจรจานั้น ต้องเลือกเฟ้น โดยถือหลักว่า

ก. ต้องให้แสดงลักษณะและนิสัยใจคอของตัวละคร
ข. ต้องมีประโยชน์ในการดำเนินเรื่อง

คำพูดหรือบทเจรจาที่ไม่ให้ประโยชน์ ๒ ประการนี้ จะเอามาใช้ไม่ได้

อีกประการหนึ่งในบทเจรจา เราต้องเขียนว่า “เขาพูด” หรือ “เขาว่า”ทำนองนี้ แต่ถ้าใช้เพียงคำ “พูด’’ หรือ “ว่า’’ ก็ไม่แสดงให้เห็นกิริยาของ ตัวละคร เราจึงต้องดัดแปลง เป็น เขาตวาด เขาบ่น เขากระซิบ เขาเยาะ เขารับรอง หรืออะไรก็แล้วแต่ ที่จะเข้ากับบทบาทของตัวละคร

การที่จะให้บทเจรจามีชีวิตชีวานั้น ไม่ควรให้ตัวละครตัวหนึ่งๆ พูดยาวๆ ควรให้มีการขัดจังหวะกัน คำพูดพยายามให้ธรรมดาสามัญอย่างคนทั่วไปพูดกัน เรื่องนี้นักเขียนต้องเป็นคนช่างสังเกตตามเคย คือ สังเกต การพูด การใช้คำของคนต่างๆ เราจะเห็นว่า แพทย์พูดอย่างหนึ่ง หมอดู หมอความพูดอย่างหนึ่ง ถ้าเราเขียนเรื่องมีตัวละครเป็นหญิงแก่หมอนวด อย่างนี้เราต้องใช้คำเจรจาที่สมกับเป็นจริง จะทำอย่างนี้โดยผู้เขียนต้องเคยพบเคยสังเกตการพูดของหญิงแก่หมอนวด ซึ่งแน่นอนละ จะต้องมีอะไรแปลกไปจากคำพูดของคนอื่นๆ

ต่อไปนี้ เป็นบทเจรจาในเรื่อง ๑/๕๐๐ เป็นบทของนายโชติและแม่จวง ภรรยา ขณะนั้นเวลาดึก แม่จวงทะเลาะกับนายโชติ ทำงอนอยู่นอกมุ้ง แต่พอตกดึกเข้ารู้สึกว่าจะทนยุงไม่ไหว

“คุณคะ คุณคะ”
เรียกอยู่อย่างนั้น ๓ ครั้ง นายโชติก็พลิกตัว แต่ไม่ลืมตา

“คุณคะ คุณคะ” เสียงดังขึ้นกว่าเก่าอีกสองครั้ง นายโชติผุดลุกขึ้นนั่ง ถามอย่างตกใจ

“อะไรกัน”

“นอนเถอะ นอนเถอะ นอนพูดกันก็ได้ บอกให้นอนก็นอนเถอะนะ”

นายโชติทั้งง่วงทั้งงง ทั้งตกใจ ก็นอนลงตามคำสั่ง

“ไอ้ยานี่กินก่อนข้าวหรือทีหลังข้าวแน่”

“ยาอะไร” นายโชติลุกขึ้นเอกเขนกถาม

“ยานี่นะ” แม่จวงชูขวดให้เห็นถนัด
ในขณะนั้นเองนาฬิกาดังมาจากข้างล่าง นับได้สามครั้ง

“สามยามใช่ไหม”

“ค่ะสามยาม ว่าแต่ยานี่เถอะ”

“ใครเป็นอะไรไป จะลุกขึ้นกินยาเวลาสามยาม สเตอร์นไวน์ไม่ใช่ยา สำหรับปฐมพยาบาลนี่นา”

“รู้แล้ว ไม่ใช่ปฐมปะแถมอะไรทั้งนั้น อยากรู้ว่ากินเวลาไหน”
นายโชตินิ่งอั้นไปด้วยความที่เข้าใจภรรยาไม่ได้ จนไม่นึกที่จะโกรธ

“ว่ายังไงละคะ ให้กินเวลาไหน”
นายโชติยังนิ่งอั้นอยู่อีก เพราะพูดอะไรไม่ถูกจริงๆ

“คุณว่าฉันผิดๆ เห็นไหม เวลานี้พูดอะไรไม่ออก ตอบอะไรไม่ได้”
นายโชติถอนหายใจดังฮืด แขนขาสั่นไปหมดด้วยความโมโห นิ่งอั้นอยู่นานแล้วระเบิดออกมาว่า

“อีบ้า”
“……….”

นี่เป็นฉากในห้องนอนของสามีภรรยา ซึ่งต่างก็มีอะไรพิสดารด้วยกัน ตามเรื่องบอกว่าเป็นเวลาสามยาม ท่านอ่านแล้วนึกเห็นภาพกิริยาท่าทางจากตัวละครนี้ได้ดีทีเดียว ดอกไม้สดเป็นนักเขียนที่มีความสามารถในการให้บทเจรจาของตัวละครได้ดีมาก

ที่มา:เปลื้อง ณ นคร