ความหมายและลักษณะของเรื่องสั้น

ก่อนที่จะศึกษาวิธีเขียนเรื่องสั้น ควรจะเข้าใจไว้เสียก่อนว่าหลักต่างๆ ที่จะได้แนะนำต่อไปนี้ มิใช่กฎเกณฑ์ตายตัว เพราะการประพันธ์นี้เหมือน กับศิลปะประเภทอื่น ศิลปินย่อมดัดแปลงวิธีทำตามที่ตนเห็นดีเห็นชอบ แต่สำหรับผู้เริ่มฝึก หลักนี้จะช่วยได้มาก บางคราวเมื่อท่านต้องการเขียนเรื่อง แต่ท่านคิดไม่ออกว่าจะเขียนขึ้นต้นลงท้ายอย่างไร เรื่องที่ท่านเขียนดีหรือยัง มีขาดตกบกพร่องควรตกแต่งตรงไหน ตอนนี้แหละหลักการประพันธ์จะช่วยท่าน ทั้งจะช่วยให้ท่านรู้จักพิจารณาวรรณกรรมอื่นๆ ว่าของเขาดีชั่วอย่างไร ที่จริงกฎเกณฑ์แห่งการประพันธ์นั้น ตั้งขึ้นโดยการสังเกตและศึกษาวรรณกรรมของศิลปินที่มหาชนนิยมยกย่องกันแล้วนั่นเอง

ผู้ที่เริ่มฝึกหัดใหม่ไม่ควรจะใจร้อนเกินไป และควรมีความอดทน พอที่จะฟังข้อทักท้วงของผู้อื่น บางคนพอลงมือเขียนเรื่องก็จะให้ใช้ได้ทีเดียว ผู้ที่ทำได้สำเร็จผลเช่นนี้มีน้อยนัก นักเขียนสำคัญๆ ของเราเกือบทุกท่าน ได้เขียนเรื่องทิ้งเสียไม่รู้ว่ากี่เรื่องต่อกี่เรื่อง การมั่นใจและตีราคางานของตนจนเกินไปก็เป็นทางกีดกันนักเขียนมิให้บรรลุผลสำเร็จได้ นักเขียนเป็นนักศิลป์ จึงต้องเพ่งเล็งถึงความดียอดเยี่ยม ฉะนั้นจึงต้องคอยพยายามแก้ไข และรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นอยู่เป็นนิตย์ ถ้าเราไม่ยอมให้ใครติ จะเป็นนักเขียนที่ดีต่อไปไม่ได้

ความหมายของเรื่องสั้น
เรื่องสั้น (Short Story) เดิมมีความหมายถึงเรื่องซึ่งบรรจุคำประมาณ ๑,๐๐๐ คำ ถึง ๑๐,๐๐๐ คำ เป็นเรื่องที่อ่านรวดเดียวจบในเวลาตั้งแต่ ๕ ถึงอย่างมาก ๔๐ นาที เรื่องสั้นเป็นพวกบันเทิงคดีที่มีคนนิยมแพร่หลาย เพราะใช้เวลาอ่านน้อย ได้รู้เรื่องทันอกทันใจ เป็นเครื่องว่างของจิตใจเมื่อยามหมดธุระการงาน ระหว่างพักผ่อนอยู่เฉยๆ การอ่านเรื่องสั้นๆ ย่อมทำให้เกิดความเพลิดเพลิน ลืมภาระและความวิตกกังวลได้ชั่วขณะหนึ่ง นี่เป็นความต้องการของคนปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าในวงหนังสือพิมพ์ของประเทศเราบรรดานิตยสารต่างๆ มากมายหลายสิบฉบับ ได้พิมพ์เรื่องสั้นบำเรอความสำราญของผู้อ่านรวมแล้วสัปดาห์หนึ่งนับเป็นร้อยๆ เรื่อง เรื่องสั้นเหล่านี้ มีเค้าเรื่องหลากชนิด เป็นเรื่องรัก เรื่องผจญภัย เรื่องลึกลับ เรื่องตื่นเต้น เรื่องหวาดเสียวและอีกหลายเรื่อง แล้วแต่นักประพันธ์จะประดิษฐ์คิดเขียน

ในระหว่างนักศึกษาทางการประพันธ์ มีความเห็นว่า เรื่องสั้นมิใช่สักแต่ว่าสั้น แต่มีลักษณะอันพิเศษโดยเฉพาะ คำว่าเรื่องสั้นเป็นคำบัญญัติ (Technical Term) ทางวรรณคดี ดร.บล็องเช คอลตัน (Blanche Colton) ให้คำจำกัดความว่า “เรื่องสั้นคือนิยายอันประกอบด้วยศิลปะลักษณะ แสดงเรื่องของตัวละครอันตกอยู่ในสภาพแห่งความยากลำบากหรืออยู่ในที่ขัดข้อง อับจน แล้วต่อสู้หรือแก้ไขพฤติการณ์อันนั้นจนบรรลุผลที่สุดอย่างใดอย่างหนึ่ง”

คำว่า ตัวละคร (Character) นี้ยืมเอาคำทางการละครมาใช้ หมาย ความว่า ตัวซึ่งมีบทบาทอยู่ในเรื่อง

สมมุติว่ามีเรื่องดังนี้ ชายคนหนึ่งโดยสารมาในรถด่วน โดยเหตุที่ตนได้ประสบความยุ่งยากต่างๆ มาก เห็นว่าไม่ควรอยู่ทนทุกข์ทรมานต่อไป ในเวลากลางคืนขณะที่รถไฟกำลังแล่นผ่านเหว ชายคนนั้นก็เลี่ยงออกมาที่ชานรถ ยืนรีรออยู่ครู่หนึ่ง ในที่สุดตัดสินใจว่าจะกระโดดรถให้ตายเสีย (ตอนนี้คือ ตัวละครอยู่ในสภาพที่ต้องต่อสู้กับความลำบากอะไรอย่างหนึ่ง) พอเขาเตรียมจะกระโดดก็มีมือมาจับไหล่ไว้ คนที่มาใหม่เมื่อทราบเรื่องความทุกข์และความตั้งใจของชายนั้น ก็กล่าวชี้แจงปลอบโยนจนชายนั้นเปลี่ยนความตั้งใจ กลับเข้าไปข้างในรถ ชายคนที่มาทีหลังความจริงก็มีเรื่องกลุ้มใจ จะออกมาโดดรถไฟให้ตายเหมือนกัน ดังนั้นพอคนก่อนลับเข้าไปในรถ เขาก็ตัดใจพุ่งตัวออกไปนอกรถ (นี่คือผลสุดท้าย)

เมื่อท่านอ่านแล้วจะเห็นว่าเรื่องที่เล่ามานี้เป็นนิยายเหมือนกัน แต่ไม่มีรสชาติอันใด ทั้งนี้เพราะเรื่องที่เขียนนี้เป็นเพียงโครงเรื่อง ไม่ประกอบ ด้วยศิลปลักษณะ

เจ. แบร์ก เอเซนเวน (J. Berg Esenwein) ให้คำชี้แจงไว้ว่าเรื่องสั้นที่ดีจริงๆ ต้องประกอบด้วยคุณลักษณะดังนี้

๑. ต้องมีพฤติการณ์สำคัญอันเป็นต้นเรื่องแต่เพียงอย่างเดียว กล่าว คือในการเปิดเรื่องของเรื่องสั้น จะให้มีเหตุการณ์หลายอย่างไม่ได้ ต้องมี พฤติการณ์สำคัญที่จะทำไห้เรื่องดำเนินต่อไปเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ข้อนี้ จะเห็นว่าผิดกับนวนิยายมาก เพราะในนวนิยายนั้นมักจะมีพฤติการณ์ต่างๆ มาประชุมกันหลายอย่าง ซึ่งถ้าท่านอ่านนวนิยายแล้วจะเห็นได้ทันทีว่านักเขียนจะต้องเบิกตัวละครออกมาหลายตัวกว่าจะได้ดำเนินเรื่องกันอย่างจริงจัง

๒. ต้องมีตัวละครที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในท้องเรื่องแต่เพียงตัวเดียวเท่านั้น ตัวละครประกอบอื่นๆ จะมีก็โดยจำเป็น และเกี่ยวข้องกับตัวสำคัญจริงๆ และตามปกติแล้วไม่ควรให้มีเกิน ๕ ตัว

๓. ต้องมีจินตนาการหรือมโนคติ ซึ่งได้แก่ความสามารถที่จะสร้างภาพขึ้นในดวงจิต ทั้งของนักประพันธ์และของผู้อ่าน ก่อนที่จะประพันธ์เรื่อง นักประพันธ์จะต้องนึกเห็นภาพของท้องเรื่องให้แจ่มใส แล้วเขียน พรรณนาให้อ่านแล้วนึกเห็นภาพได้อย่างที่นักประพันธ์เห็น

๔. ต้องมีพล็อตหรือการผูกเค้าเรื่อง ซึ่งมักจะประกอบด้วย ปม หรือ ข้อความที่ทำให้ผู้อ่านฉงนและอยากรู้ว่าจะเกิดมีอะไรต่อไป แล้วดำเนิน เรื่องพาผู้อ่านให้ทึ่ง หรือสมใจยิ่งขึ้นทุกทีจนถึงยอดของเรื่อง ซึ่งเรียกกัน ว่า ไคลแมกซ์ (Climax)

๕. ต้องมีความแน่น เรื่องสั้นมีเนื้อที่น้อย สิ่งที่เราจะเขียนลงไปต้องมีประโยชน์ต่อเรื่อง ต้องเขียนอย่างรัดกุมเท่าที่จำเป็น ฉาก (Setting) การให้บทตัวละคร (Characterization) คำพูดหรือกิริยาอาการต่างๆ จะเขียนฟุ่มเฟือยไม่ได้ ต้องพยายามหาวิธีเขียนให้ใช้คำน้อย แต่ได้ความมาก

๖. ต้องมีการจัดรูป คือต้องวางรูปเรื่อง โดยถือตัวละครเป็นใหญ่ ให้พฤติการณ์เกิดมาจากตัวละคร จะต้องลำดับพฤติการณ์ให้มีชั้นเชิงชวน อ่าน จะเขียนอย่างจดหมายเหตุประจำวันไม่ได้
๗. ข้อสุดท้าย เรื่องจะต้องให้ความรู้สึกโดยเฉพาะอย่างหนึ่งอย่างใด เมื่อผู้อ่านอ่านจบแล้ว ควรจะได้รับรสหรือเกิดอารมณ์ขึ้นอย่างใดอย่างหนึ่ง จะเป็นความรู้สึกยินดี ตื่นเต้นสยดสยอง หมดหวัง ขบขัน หรือ เศร้าใจ ก็แล้วแต่

เนื้อเรื่อง
ในการเขียนเรื่อง เราต้องได้เรื่องมาก่อน แล้วนำมาเรียบเรียงให้ได้ศิลปลักษณะ ก็เรื่องนั้นได้มาจากไหน นี่เป็นปัญหาแรกที่เผชิญหน้าผู้เริ่มฝึกการประพันธ์ตามปกติเราย่อมได้เรื่องมาจากสองทาง ทางหนึ่งได้จาก มโนคติ คือนึกวาดภาพเรื่องขึ้นในหัว พูดง่ายๆ ว่าปั้นเรื่องขึ้นเอง หลัก สำคัญในการปั้นเรื่องขึ้นจากมโนคตินี้ ต้องพิเคราะห์ดูว่า เรื่องเช่นนั้นมันน่าจะเป็นจริง อย่าสร้างเรื่องอันเกินที่ปุถุชนจะยอมรับว่าเป็นความจริง อย่างไรก็ตาม เรื่องแปลกประหลาดพิสดารนั้น นักประพันธ์ผู้มีฝีมืออาจจะจูงใจให้ผู้อ่านเชื่อตามได้เหมือนกัน สำหรับผู้เริ่มฝึกยังไม่ควรพยายามทำ อีกทางหนึ่ง เรื่องย่อมได้มาจากสิ่งที่แวดล้อมตัวเราอยู่นั่นเอง ญาติพี่น้อง มิตรสหาย เพื่อนร่วมงาน เหตุการณ์ประจำวัน ข่าวในหนังสือพิมพ์ สิ่งต่างๆ ที่ได้ผ่านเราไป ล้วนมีเรื่องที่เราอาจเก็บมาเขียนได้ทั้งสิ้น

เรื่องสั้นสี่ชนิด
เรื่องสั้นที่เขียนกันอยู่ในเวลานี้มีอยู่ ๔ ชนิด คือ
๑. ชนิดผูกเรื่อง (Plot Story) คือชนิดที่มีเค้าเรื่องซับซ้อน น่าฉงนใจ และจบลงในลักษณะที่ผู้อ่านคาดหมายไม่ถึง หรือไม่นึกว่าจะเป็นเช่นนั้น

๒. ชนิดเพ่งที่จะแสดงลักษณะของตัวละคร (Character Story) เป็น ชนิดที่ผู้เขียนถือตัวละครเป็นใหญ่ และต้องการที่จะเสนอลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดของคนเป็นสำคัญ

๓. ชนิดที่ถือฉากเป็นส่วนสำคัญ (Atmosphere Story) โดยที่ผู้เขียน บรรยายสถานที่แห่งหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะทำไห้เกิดความรู้สึกนึกคิดไปต่างๆ พฤติการณ์และตัวละครเกี่ยวพันอยู่กับฉาก

๔. ชนิดที่แสดงแนวความคิดเห็น (Theme Story) โดยที่ผู้เขียนมีอุดมคติหรือต้องการชี้ให้เห็นความจริงอย่างหนึ่งของชีวิต

ผู้เริ่มฝึกการประพันธ์ ควรจะฝึกเรื่องชนิดที่ ๑, ๒, ๓ และ ๔ ตาม ลำดับ จะได้ชี้แจงโดยละเอียดดังต่อไปนี้

เรื่องสั้นชนิดผูกเรื่อง
มูลของเรื่องย่อมได้จากพฤติการณ์ สถานการณ์ หรือเกร็ดต่างๆ ที่เล่ากันมา จะเป็นเกร็ดทางประวัติศาสตร์ หรือนิทานสั้นๆ จากสิ่งเหล่านี้ นักเขียนนำมาผูกเป็นเรื่องราวขึ้น พฤติการณ์ ได้แก่สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ได้แก่ ข่าวในหนังสือพิมพ์ ความจัดเจนของผู้เขียน คำบอกเล่าของเพื่อน เรื่องที่เป็นมาในประวัติศาสตร์ ชีวประวัติ ส่วนสถานการณ์นั้น ได้แก่เหตุอันยุ่งยาก คับขัน หรือผิดปกติ เช่น เพื่อนสองคนเกิดรักผู้หญิงคนเดียวกัน ชายไปรักหญิง ซึ่งญาติฝ่ายหญิงเคยเป็นศัตรูกับบิดามารดาของตน คนๆ หนึ่งย่อมเสี่ยงชีวิตเพื่ออุดมคติของเขา อุปสรรคกีดขวางของความรัก คนรักที่ได้สูญหายไปพบกันใหม่ ความเข้าใจผิดระหว่างกัน เหล่านี้เป็นสถานการณ์ที่นำไปสู่ผลอันใดอันหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนตั้งขึ้นเป็นมูลเรื่อง และนำผู้อ่านไปสู่ความคลี่คลายอย่างหนึ่งอย่างใดในตอนท้าย

ตัวอย่างพฤติการณ์ และสถานการณ์ที่มีคุณค่า ควรนำมาเขียนเป็นเรื่องได้

เรื่องที่มีคุณค่าสมควรนำมาเขียนนั้นต้องไม่ใช่เรื่องที่เป็นสาธารณะ หรือเรื่องที่พบเห็นกันตามปกติ ถ้าท่านอ่านหนังสือพิมพ์พบข่าวผู้ร้ายเข้าไปขู่เจ้าของบ้าน ได้ทรัพย์แล้วก็หนีไป นี่เป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าผู้ร้ายนั้นต้องการแต่เพียงรูปถ่ายที่ใส่กรอบไว้รูปเดียว ไม่แตะต้องทรัพย์สมบัติอื่นๆ เลย เช่นนี้นับว่าเป็นเรื่องที่มีอะไรพิเศษอยู่ เมื่อท่านกลับมาบ้านลองนั่งทบทวนเรื่องที่ท่านได้ฟังจากเพื่อน จะเห็นได้ว่าเรื่องต่างๆ ที่ได้สนทนากันนั้น โดยมากก็คล้ายๆ กับที่ได้พูดกันอยู่ทุกวัน แต่บางทีเขาอาจจะกล่าวขวัญถึงการแต่งงานรายหนึ่ง ซึ่งพอรุ่งขึ้นจากวันวิวาห์ สามีชั่วคืนเดียวก็หย่าขาดจากภรรยาของเขา ท่านอาจจะได้ฟังเรื่องอันมีลับลมคมในแห่งการแต่งงานนั้น นี่แหละคือวัตถุดิบของนักประพันธ์ เมื่อได้วัตถุดิบมาแล้วเช่นนี้ ก็เป็นฝีมือของนักประพันธ์ที่จะตกแต่งให้วัตถุดิบเป็นวัตถุแห่งศิลปะต่อไป แต่ถ้าท่านไม่รู้รายละเอียด เพียงแต่ได้เค้ามาอย่างนี้ ก็เป็นการเพียงพอที่ท่านจะนิรมิตเรื่องให้เข้าร่องรอยกับเค้าที่ท่านได้ยินได้ฟังมา

ตัวอย่างอื่นๆ
๑. หญิงคนหนึ่งขโมยของ เพื่อจะนำไปขาย เอาเงินมาซื้อยาให้สามีที่กำลังเจ็บหนัก

๒. ชายคนหนึ่งถูกรถยนต์ชนล้มลง เขารีบลุกขึ้นและมองหาตำรวจ จราจร แต่ปรากฏว่าคนขับรถนั้น คือเมียของเขาเอง

๓. ลูกเลี้ยงเกลียดแม่เลี้ยงของเขาอย่างเข้ากระดูกดำ แต่เมื่อเห็นแม่เลี้ยงตกน้ำ และกำลังจะจมนํ้าตาย เขาตัดสินใจกระโดดลงไปช่วย

๔. บิดาเป็นกำนัน ไปตามจับผู้ร้ายสำคัญ ปรากฏว่าผู้ร้ายนั้นคือ ลูกชายของเขาเอง กำลังอยู่ในที่ล้อม เขาอาสาเจ้าหน้าที่เข้าไปเกลี้ยกล่อม ลูกชายให้ยอมให้จับเสียโดยดี แต่เมื่อเข้าไปถึงตัวลูกชาย ได้พูดกันแล้ว เขากลับช่วยลูกชายต่อสู้กับเจ้าหน้าที่

๕. พอแต่งงานกันเสร็จ ภรรยาจึงรู้ว่าสามีของเขาเป็นผู้ร้ายฆ่าคน บ้านเมืองกำลังตามจับตัว

๖. ชายคนหนึ่งได้รับความทุกข์ทรมานด้วยความยากจน จึงคิดจะยิงตัวตาย ในขณะที่ตัดสินใจเด็ดขาด คู่รักของเขากำลังนำข่าวดีมาบอก แต่ ไม่ทัน เขายกปืนขึ้นจี้ขมับลั่นไก เผอิญลูกปืนด้าน

๗. ชายคนหนึ่งย้ายบ้านมาอยู่บ้านเช่าแห่งหนึ่ง บ้านเช่าแถบนั้นมี ลักษณะเหมือนกันทุกบ้าน วันหนึ่งกลับบ้านดึก และบังเอิญลืมกุญแจบ้านไว้ในบ้าน จึงปีนหน้าต่างเข้าไป แต่ปรากฏว่าเขาเข้าผิดบ้าน

ตัวอย่างเหล่านี้เป็นเหมือนรากแก้วของเรื่อง การที่นักประพันธ์จะเสกสรรให้น่าอ่านน่าทึ่งนั้น ก็ต้องอาศัยวิธีเขียน เช่นในตัวอย่างข้อ ๗ จะต้องพรรณนาฉากบ้านเช่า ความมืดในตอนดึก และอาการของชายในขณะที่มาถึงบ้าน ทำให้ผู้อื่นเชื่อว่าชายคนนั้นจำบ้านของตนผิดได้อย่างไร และเมื่อเข้าผิดบ้านแล้ว เกิดมีอะไรขึ้น ผลสุดท้ายเป็นอย่างไร

เรื่องสั้นที่เพ่งเล็งจะแสดงลักษณะตัวละคร
ความมุ่งหมายของเรื่องชนิดนี้ คือ การวาดภาพบุคคล อันมีอุปนิสัย หรือลักษณะอันใดอันหนึ่ง ซึ่งเด่นชัดยิ่งกว่าปกติ แสะความที่มีอุปนิสัยและลักษณะอันนั้น นำผลอย่างใดอย่างหนึ่งมาสู่ตัวเอง หรือคนอื่น ลักษณะเหล่านี้มี เช่น ความเมตตากรุณา ความเฉียบแหลม ความสามารถพิจารณาหาเหตุผล ความริษยาอาฆาต ความตั้งใจจริง ความเชื่อ ความโง่ สิ่งเหล่านี้ อาจมีอยู่ในตัวบุคคลคนหนึ่งๆ อย่างละเล็กละน้อย แต่บางคนอาจมีประจำตัวจนเห็นชัด ตัวละครในเรื่องสั้นชนิดนี้จะต้องมีอุปนิสัยอย่างหนึ่งๆ แสดงออกมาโดยชัด เช่น ขี้ตระหนี่ จู้จี้ ตระหนี่ถี่เหนียว จนภรรยาอยู่ด้วยไม่ได้ คนที่ภักดีต่อนาย ก็ถึงยอมเสี่ยงภัยสละความสุขให้นายได้ คนที่เต็มไปด้วยอาฆาตก็จะต้องอยู่เป็นสุขไม่ได้ นอกจากจะแก้แค้นให้เสร็จไป แม้ตัวจะได้รับผลแห่งการกระทำนั้นอย่างไรก็ยอม

ตัวละครในเรื่องชนิดนี้มักได้มาจากบุคคลจริงๆ แต่เพื่อให้แลเห็นชัดเจน นักประพันธ์ต้องมาแต้มเติมให้เข้มยิ่งขึ้น บางทีนักประพันธ์นิรมิตตัวละครขึ้นเอง โดยให้ตัวละครนั้นเป็นแบบอย่างของลักษณะอันใดอันหนึ่ง และผู้เขียนมีความปรารถนาจะแสดงความรู้สึกนึกคิดของตน เกี่ยวกับคนในแบบนั้นๆ

เรื่องสั้นชนิดที่แสดงแนวความคิดเห็น
หัวใจของเรื่องชนิดนี้คือ ข้อคติ ความคิดเห็น หรือหลักการอย่างใด อย่างหนึ่ง ซึ่งนักเขียนต้องการจะแสดงแก่ผู้ฟัง แต่แทนที่เขาจะแสดงข้อคติ โดยวิธีชี้แจงแนะนำ เขาแสดงโดยทำเป็นเรื่องให้ดู เช่น ต้องการจะแสดงให้เห็นว่าเวลานี้ศีลธรรมของคนกำลังเสื่อม ก็ยกเรื่องหรือพฤติการณ์ที่กำลังเป็นไปขึ้นมาตั้งให้ผู้อ่านเห็น ถ้าท่านเห็นว่าการที่หญิงไทยไปมีสามีเป็นคนต่างด้าวนั้น เป็นภัยแก่ตัวและย่อมจะมีความสุขไม่ได้ ก็จะต้องเขียนเรื่องของหญิงคนหนึ่งซึ่งไปมีสามีเป็นคนต่างด้าว แล้วบรรยายให้ผู้อ่านเห็นชีวิตของหญิงคนนั้นว่าเมื่อไปอยู่กับสามีแล้วได้ประสบกับเหตุการณ์อย่างไรบ้าง ให้ผู้อ่านแลเห็นความลำบาก และความทุกข์ของหญิงนั้นโดยการบรรยายเป็นเรื่อง แทนที่จะบอกกันดื้อๆ ว่าหญิงไทยที่ไปแต่งงานกับชายชาติอื่น จะได้รับความลำบากอย่างนั้นๆ แต่ถ้านักประพันธ์มีความเห็นในทางตรงกันข้าม เขาก็บรรยายเรื่องไปในทางที่จะให้ผู้อ่านเห็นว่า ความรักย่อมไม่จำกัดชาติ และความที่ต่างชาติรักกันนั้นย่อมไม่เป็นเครื่องกีดกันหญิงชายที่จะรักและอยู่กันเป็นผัวเมีย ถ้าท่านอ่าน “ผิวเหลืองผิวขาว” ของ ท่าน อากาศดำเกิง จะเห็นว่าผู้ประพันธ์ได้ถกปัญหาเรื่องนี้ โดยเขียนนวนิยายให้เราอ่าน

แนวของเรื่องชนิดนี้อาจเป็นคติธรรม เช่น ทำดีย่อมได้ดี โชคลาภที่ได้มาโดยบังเอิญมักให้โทษ ผู้ที่เป็นเพื่อนกับทุกคนย่อมเหมือนไม่มีเพื่อน หรือบางทีก็เป็นคำพังเพยอย่าง ยาพิษในถ้วยทอง ของ แข ณ วังน้อย

เรื่องที่ถือฉากเป็นส่วนสำคัญ
ในการเขียนเรื่องสั้น บางทีนักประพันธ์เปิดเรื่องด้วยการพรรณนาฉาก (Setting) เอาฉากเป็นหลัก โดยถือว่าสถานที่บางแห่งมีลักษณะชี้ชวนให้เราเกิดความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่ง สตีเวนสัน นักนวนิยายเชิงเรื่องเผชิญภัย ได้กล่าวว่า “สถานที่บางแห่งบ่งตัวของมันเองอย่างชัดเจน สวนอันรกเรื้อ ชื้นแฉะย่อมประกาศดังๆ ว่ามันเป็นที่สำหรับฆาตกรรม บ้านเก่าโบราณทำให้เรารู้สึกว่ามีผีสิง ตามฝั่งทะเลบางแห่งมีลักษณะอย่างจะเป็นที่สำหรับเรือแตก” ที่จริงบรรดาสถานที่ต่างๆ ก็เป็นไปตามสภาพของมันนั่นเอง แต่ความรู้สึกของเรานั้น เมื่อได้เห็น เช่น เห็นโบสถ์เก่าปรักหักพัง มีพระพุทธรูปพระศอขาด สถานที่ครึ้ม เราก็คิดไปว่าจะต้องมีผีปีศาจสิงอยู่ บรรดาสถานที่ต่างๆ ย่อมนำความรู้สึกของเราให้เกิดได้ต่างๆ และนักเขียนย่อมวาดฉากขึ้น เพื่อเตรียมอารมณ์ของผู้อ่านให้เข้ากับเหตุการณ์ที่จะปรากฏขึ้นในฉากนั้นๆ

ในเรื่อง The House By the Headland ของ Sapper นับเป็นแบบอย่างของเรื่องสั้นชนิดนี้ได้ อรชุนได้แปลลงพิมพ์ในหนังสือมหา
วิทยาลัย เล่ม ๑๑ ฉบับที่ ๔ ชื่อว่า “เพื่อนรักเมียงาม” แซปเปอร์ได้สร้าง ฉากของท้องเรื่องชักนำให้เรารู้สึกว่า น่าจะมีอะไรพิสดารและลี้ลับเกิดขึ้น

เนื้อเรื่องกล่าวถึงชายเดินทางหลงเข้าไปในบ้านร้าง ซึ่งเดิมเป็นของสามีภรรยาคู่หนึ่ง ภรรยานอกใจสามีเลยฆ่าภรรยา ชายชู้ และตัวเอง ชายเดินทางถูกปีศาจของผู้เป็นสามีหลอกพาเข้าไปในบ้านร้าง แล้วผีทั้งสามตน ก็หลอกชายคนนั้นโดยแสดงตอนการวิวาทและฆ่ากันให้ดู ชายนั้นเข้าใจว่า เป็นเรื่องจริง รีบออกไปจากบ้านเพื่อจะแจ้งเหตุแก่คนที่อยู่ใกล้ๆ แต่ในที่สุดก็รู้ความจริงว่าตนถูกผีหลอก
แซปเปอร์ ได้เปิดฉากเวลาจวนค่ำ แล้วมีฝนตกฟ้าคะนอง เมื่อชายเดินทางเข้าไปในบ้านร้าง โดยคำชักชวนของปีศาจ แซปเปอร์ก็ได้วาดบ้าน หลังนั้นให้เห็นดังนี้

“เขานำข้าพเจ้าเข้าไปในบ้าน แม้แสงสว่างจะมีน้อยเพียงนั้น ข้าพเจ้า ก็สามารถสังเกตเห็นสวนเล็กๆ ข้างบ้านนั้นรกร้าง ปราศจากความเอาใจใส่ และทางเล็กๆ ที่จะนำเราไปยังประตูหน้าของเรือนนั้น ก็ปกคลุมไปด้วยต้นหญ้า พุ่มใบของต้นไม้อันถูกประพรมด้วยหยาดฝนย้อยลงสู่พื้นดิน และระหน้าเราเมื่อเดินผ่านไป บันไดสองขั้นหน้าประตูนั้นตะไคร่นํ้าจับเป็นคราบ เราเข้าไปภายในห้องใหญ่ มืดทึบ และข้าพเจ้าก็รออยู่ที่นั่น เมื่อเขาเปิดประตูเข้าไปยังอีกห้องหนึ่ง ข้าพเจ้าได้ยินเขาคลำหาไม้ขีดไฟเสียงกุกกักๆ และในขณะนั้นแสงสว่างแห่งสายฟ้าก็ปรากฏขึ้นอีก คล้ายแสงสว่างในเวลากลางวัน ในชั่วเวลาที่มีแสงสว่างประเดี๋ยวเดียวนั้น ข้าพเจ้าสังเกตเห็นบันไดสั้นๆ เตี้ยๆ เหนือบันไดขึ้นไปมีหน้าต่างบานหนึ่ง เห็นประตูสองบาน บานหนึ่งเปิดเข้าไปห้องพักของคนใช้ อีกบานหนึ่งอยู่ตรงข้ามกับห้องที่เจ้าของบ้านเปิดเข้าไปเมื่อสักครู่นี้ และส่วนใหญ่ที่ข้าพเจ้าได้เห็นชั่วเวลานั้นก็คือ สภาพของห้องนั้นเอง เหนือศีรษะข้าพเจ้าขึ้นไปสักสามหรือสี่ฟุต มีตะเกียง ใช้น้ำมันเก่าคร่ำดวงหนึ่ง แขวนห้อยลงมาจากเพดาน และดูเหมือนทุกด้านของตะเกียง มีใยแมงมุมขึงพาดไปยังทุกๆ ด้าน และปกคลุมไปด้วยฝุ่นละอองสกปรก มันขึงพาดไปบนกรอบประตูทุกบาน ไปยังรูปภาพข้างฝา อะไรไม่ทราบห้อยยาวเกือบกระทบกับหน้าข้าพเจ้า แล้วในขณะนั้นความรู้สึกกลัว อันไร้เหตุผลก็บังเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้า”

นี่คือฉากตอนสำคัญของเรื่อง มันมีลักษณะว่า เป็นบ้านร้างชัดๆ แต่โดยเหตุที่เรื่องเกิดขึ้นในเวลาค่ำ ฝนก็ตก แสงไฟก็ไม่มี อาศัยแต่แสงฟ้าแลบ ทำให้ “ข้าพเจ้า” หรือคนเดินทางไม่อาจสงสัยว่าเป็นบ้านร้างจริงๆเพราะสังเกตอะไรไม่ถนัด ในทางผู้อ่านก็รู้สึกว่า ความเข้าใจผิดของคน เดินทางนั้นมีเหตุผลเพียงพอ

ที่มา:เปลื้อง ณ นคร