โวหาร

Socail Like & Share

คำพูดเป็นสิ่งมีรส แต่ถ้าเราพูดกันตรงไปตรงมาบ่อยๆ มักชินหู เลยทำให้ความที่พูดนั้นชืด บางทีคำที่พูดให้ความหมายหรือให้ผู้อ่านคิดเห็น ไม่ได้กว้างขวางพอ เช่น ถ้าเราพูดว่า “ชาวนาเป็นกำลังสำคัญยิ่งของชาติ” ดังนี้ เราเข้าใจได้ดีเหมือนกัน แต่ถ้าพูดว่า “ชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติ” นอกจากจะให้ความเข้าใจแล้ว ยังให้นึกคิดเปรียบเทียบระหว่าง ประเทศ กับ ร่างกาย กำลังสำคัญ กับกระดูกสันหลัง ซึ่งให้รู้สึกถึงความสำคัญได้เด่นชัดยิ่งขึ้น นักประพันธ์ย่อมประดิษฐ์ พูดให้ผิดแปลกออกให้หลายอย่าง เช่น ถ้าจะพูดว่า “ดวงดาวส่องแสงระยิบ” หรือ “พระจันทร์ ลอยอยู่ในฟ้า” ดังนี้เป็นการพูดใช้ถ้อยคำอย่างตรงไปตรงมา ฟังบ่อยๆ ชัก ให้จืดหู ฉะนั้น เราจึงพูดเสียใหม่ “ดวงเนตรแห่งราตรีส่องแสงระยิบ” หรือ “โคมสวรรค์แขวนอยู่กลางฟ้า” แทนที่เราจะพูดว่า “เขาเล่นบิลเลียร์ด เก่งมาก” เราพูดเสียว่า “เขาเป็นเสือบิลเลียร์ด” การพูดโดยวิธีนี้เรียกว่า พูดโดยโวหาร โวหารช่วยนักประพันธ์ได้มาก แต่โวหารนี้เปรียบเหมือนมีดสองคม มีทั้งคุณและโทษ ถ้าใช้บ่อยกลายเป็น เฝือ หรือกลายเป็น เล่นลิ้น ถ้าใช้โดยไม่ตริตรองก็ไม่มีรส หรือทำให้ผู้อ่านรำคาญ เรื่องอ่านเล่นที่มีเค้าเรื่องธรรมดา อาจจะทำให้น่าอ่านได้โดย โวหาร ในภาษาอังกฤษเรียกว่า ฟิกเกอร์ ออฟ เรตอริค (Figure of Rhetoric) หรือ ฟิกเกอร์ ออฟ สปีช (Figure of Speech)
บางคนเรียกตามภาษาอังกฤษว่า ภาพพจน์ ลักษณะของโวหารนี้ ยังไม่มีในตำราภาษาไทย ฉะนั้นจะบรรยายตามแนวที่มีในตำรา ภาษาอังกฤษ ซึ่งเขาได้รวบรวมโวหารของนักประพันธ์ขึ้นไว้เป็นหมวดหมู่ แล้วตั้งชื่อเรียกว่า พูดอย่างนั้นๆ เรียกว่าโวหารอย่างนั้นๆ ที่เขาได้ตั้งชื่อไว้ก็เพื่อสะดวกในการที่จะเขียนเป็นตำรับตำราสำหรับนักประพันธ์ไม่จำต้องไปกังวลจดจำอะไรนัก ที่สำคัญก็คือให้รู้จักสังเกตความและถ้อยคำที่ใช้ในโวหารนั้นๆ

๑. โวหารเชิงอุปมาอุปไมย
ในการพรรณนาให้ผู้อ่านนึกเห็นลักษณะของสิ่งต่างๆ นั้น บางที ถ้าหาคำมา ขยาย โดยตรงแล้ว ยังรู้สึกว่า ยังทำให้ผู้อ่านนึกเห็นภาพไม่ได้ ชัดเจน หรือบางทีเราหาคำ ขยาย ที่เหมาะๆ ไม่ได้ ฉะนั้น เราจึงหันเห พูดโดยวิธีเทียบเคียง เอาสิ่งที่เราต้องการพรรณนาไปเทียบเข้ากับอีกสิ่งหนึ่ง เช่นจะพูดว่า ดำปี๋ ขาวจ๊วก คำว่า ปี๋ จ๊วก เป็นคำขยาย แต่ทั้งสองคำนี้ บางทีเรายังไม่พอใจ เพราะรู้สึกว่าเป็นคำดาดๆ ความหมายก็แคบ เราจึงพูดว่า “ดำยังกับหมัก-ดำเหมือนนิล ขาวเป็นปุยฝ้าย-ขาวราวกับงาช้าง” หรืออย่างเช่น น.ม.ส. พูดว่า “ผิวขาวเหมือนจะเย้ยดอกมะลิให้ได้อาย” คือขาวยิ่งกว่าดอกมะลิ

ในการพูดโดยอุปมาอุปไมยนี้ อาจทำได้สามทาง คือ

ก. เปรียบเทียบตามข้อเท็จจริงที่ได้เคยรู้เห็นกัน เช่น เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า พระชนกมีความเพียรมาก (ตามเรื่องทศชาติ) เสือเป็นสัตว์ดุร้าย ไก่แจ้เห็นตัวเมียแล้วทำป้อ เราจึงพูดว่า มีความเพียรเหมือนพระชนก ดุราวกับเสือ หรือว่าเป็นเจ้าชู้ไก่แจ้ การเปรียบเทียบดังนี้ ถ้านักเขียนยืมเอาที่คนอื่นเขาเขียนไว้แล้วมาใช้ก็ไม่ค่อยได้ผลอย่างที่เขาเรียกกันตํ่าๆ ว่า “จำเอาขี้ปากเขามาพูด” หรือถ้าจะเทียบในสิ่งที่ผู้อ่านแลเห็นตามไม่ได้ เช่นว่า “เขาเล่นฟุตบอลเก่งยังกับอะไรดี” ดังนี้ก็ไม่ทำให้เกิดรสชาติอย่างไร

ข. เปรียบเทียบตามลักษณะอันคล้ายคลึงกัน (ตามความคิด) เช่น
๑. ผู้ชายย่อมมีนํ้าใจเป็นโจรทั้งหมด และผู้หญิงซึ่งยอมเป็นมิตรกับ ชายนั้น เสมอกับงูเห่ามาเลี้ยงไว้บนอก
(นิทานเวตาล)

๒. ความยอนั้นเปรียบเหมือนหินกับเหล็ก ซึ่งทำให้เพลิงแห่งความรัก
เกิดได้
(นิทานเวตาล)

๓. พระราชา ๑ หญิง ๑ ไม้เลื้อย ๑ ย่อมรักผู้และสิ่งที่อยู่ใกล้
(นิทานเวตาล)

ให้สังเกตว่า
๑. งูเห่า อาจกัดเมื่อไรก็ได้ เป็นอันตรายอยู่เสมอ เอาลักษณะนี้ไปเทียบกับลักษณะของผู้ชาย

๒. หินกับเหล็ก เมื่อกระทบกันเข้าเกิดเป็นประกายไฟ เอาลักษณะนี้ไปเทียบกับคำ ยอ

๓. ไม้เลื้อย แลเห็นได้ชัดที่สุดคือ เมื่ออยู่ใกล้อะไรก็จะเลื้อยเกาะสิ่งนั้น ทำไห้เราเห็นลักษณะของพระราชาและหญิงได้ถนัดขึ้น

ค. การเทียบเคียงอย่าง ก. และ ข. นั้น มีทั้ง ตัวตั้ง และ ตัวเทียบ คู่กัน เช่น ในข้อ ข. ๑ ผู้ชาย (ตัวตั้ง) งูเห่า (ตัวเทียบ) ในข้อ ข. ๒ ความยอ (ตัวตั้ง) หินกับเหล็ก (ตัวเทียบ) เราพูดโดยยกมาเทียบกับเป็นคู่ๆ แต่เราอาจจะพูดเทียบได้อีกอย่างหนึ่ง โดยไม่ต้องเอ่ยถึงตัวเทียบเลย เช่น พูดว่า “นายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้เข้าถือบังเหียนการเมือง” เราใช้คำว่า “บังเหียน” คล้ายๆ กับว่าการเมืองนั้นคือรถเทียมม้า หรือ “เวลานี้เขาทอดสมอเสียแล้ว” ซึ่งเทียบกับการแล่นเรือ แต่ไม่เอ่ยถึงเรือเลย “ทอดสมอ เสียแล้ว” แปลว่าเลิกการท่องเที่ยว ตั้งตนเป็นหลักแหล่ง หรือบางทีที่พูดกันหยาบๆ ว่า “นั่งจนก้นงอกราก ” เอาไปเทียบกับต้นไม้ การเทียบดังนี้ ไม่ได้เอ่ย ตัวเทียบ เลย แต่ใช้กิริยา (หรือคำใดก็ตาม) ซึ่งเป็นคำประจำกับสิ่งนั้นๆ เช่น บังเหียน-ม้า ทอดสมอ-เรือ งอกราก-ต้นไม้

การเทียบโดยนัยยะอย่างนี้ ยังทำได้อีกหลายทาง เช่น
๑. หนาวอย่าง ทารุณ ความเหี้ยมโหด ของพายุ ตามที่จริงความหนาว กับ พายุ เป็นสิ่งไม่มีจิตใจ จะ ทารุณ หรือ โหดเหี้ยมไม่ได้ แต่พูดโดยเทียบกับความรู้สึกของผู้เขียนเอง อย่างที่ได้เคยพูดในคำบรรยาย บทก่อนแล้วว่าเป็น พาเทติก ฟาลาซี (Pathetic Fallacy)

๒. หนังสือพิมพ์ของเรายังอยู่ใน ปฐมวัย เขาได้ก้าวไปถึง ยอด ของความที่มีชื่อเสียง

ปฐมวัย เทียบกับอายุของคน ยอด เทียบกับส่วนของต้นไม้หรือภูเขา

๓. ก. “ซึ่งจะฆ่าไก่และจะเอามีดฆ่าโคมาฆ่านั้นมิควร”
ข. “ถ้าไม่มีวัวตัวเมียก็ต้องรีดนมวัวตัวผู้แทน”
ค. “เสือจะกลายเป็นลูกแกะนั้นยังไม่เคยมี”
ง. “พริกไทยนั้นเมล็ดเล็กก็จริง ถ้าลิ้มเข้าไปถึงลิ้นแล้วก็จะมีพิษเผ็ดร้อน”
จ. “ยาดีกินขมปาก แต่เป็นประโยชน์แก่คนไข้”
ฉ. “อย่าหักด้ามพร้าด้วยเข่า”
ซ. “ตำนํ้าพริกละลายแม่นํ้า”

เหล่านี้เป็นเชิงพูดเทียบเคียงเหมือนกัน แต่ประณีตกว่า ๑ และ ๒ เพราะต้องการให้ผู้อ่านคิดเข้าใจเอาเอง ผู้เขียนไม่มุ่งหมายให้ผู้อ่านเข้าใจตรงตามที่เขียนไว้ เช่น ใน ก. ต้องการจะให้เข้าใจว่าไม่ควรใช้คนสำคัญไปทำงานเล็กๆ น้อยๆ และ ข. เมื่อหาคนที่เหมาะสมใช้ไม่ได้ ก็ต้องหาคนใช้ไปตามบุญตามกรรมก่อน

๒. โวหารเชิงขัดแย้ง
ขอให้ดูตัวอย่างดังต่อไปนี้
ก. “พูดโกหกแยบคายอุบายปด

คนทั้งหมดนิ่งฟังไม่กังขา
ที่พูดซื่อถือแท้แน่เจรจา
เขาก็ว่าพูดปดทุกบทไป”

ข. “คุณกับโทษสองแพร่งแรงข้างไหน
คุณถึงใหญ่ให้ผลคนไม่เห็น
โทษสักเท่าหัวเหาและเท่าเล็น
ให้ผลเห็นแผ่ซ่านทั่วบ้านเมือง”

ค. “ผู้ที่มีเพื่อนมาก คือ ผู้ที่ไม่มีเพื่อนเลย”

ง. “ทารกนะแหละ คือ บิดาของผู้ใหญ่”

จ. “หงิมๆ หยิบชิ้นปลามัน”

ฉ. “รักยาวให้บั่น รักสันให้ต่อ”

ข้อ ก. และ ข. นั้นเป็นคำกลอน จากภาษิตอิศริญาณ จะเป็นกลอน หรือร้อยแก้วก็ตาม แบบโวหารย่อมใช้เหมือนกัน เมื่อท่านอ่านตัวอย่างแล้ว จะเห็นว่า ทุกข้อมีความขัดหรือแย้งกัน ธรรมดาโลกมักเป็นเช่นนี้ แต่บางข้อ เช่น ข้อ ค. หรือ ง. จะเห็นว่าขัดกับความเป็นจริง และต้องตีความต่อไปอีกชั้นหนึ่ง เช่น ข้อ ค. “ผู้ที่มีเพื่อนมากย่อมจะหาเพื่อนที่แท้จริงไม่ได้” และข้อ ง. ทารกนั้นเมื่อเติบโตขึ้น ก็จะเป็นผู้พิทักษ์ผู้ใหญ่ จึงเปรียบว่าเหมือนบิดาของผู้ใหญ่

๓. เล่นคำ
ยังหาตัวอย่างที่เป็นร้อยแก้วไม่ได้เหมาะ จึงขอยกตัวอย่างจากคำ กลอนมาให้เห็น ๒ ข้อ ดังนี้

ก. ไม่ เมา เหล้าแล้วแต่เรายัง เมา รัก
สุดจะหักห้ามจิตคิดไฉน
ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป
แต่ เมา ใจนี่ประจำทุกค่ำคืน

ข. โอ้เรือพ้น วน มาในสาชล
ใจยัง วน หลังสวาทไม่คลาดคลา

การเล่นคำนี้ คือ การใช้คำๆ เดียว แต่ให้มีความหมายได้หลายอย่าง เช่น วน ในข้อ ข. หมายถึง นํ้า วน กับ วนเวียน

การใช้คำชื่อเทียบเคียง
เช่น ก. จาก เปล ไปสู่ หลุม ศพ
เปล = ทารก เยาว์วัย
หลุมศพ = ความชรา มรณะ

ข. เขาทำงานจน ผมหงอก แล้วยังไม่ได้ดี
ผมหงอก = ความชรา

ค. เรื่องราวหลัง ฉาก
หลังฉาก เทียบเคียงกับ สิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ข้างใน

ง. ปากกา มีอำนาจกว่า ดาบ
ปากกา หมายถึง ปัญญา ดาบ หมายถึง กำลัง

วิธีพูดโดยโวหารเช่นนี้ ก็คือ ไม่นำชื่อสิ่งที่เราต้องการพูดมากล่าว โดยตรง แต่ใช้คำชื่ออื่น ซึ่งแสดงลักษณะของสิ่งนั้นๆ มากล่าวแทน

เหล่านี้เป็นโวหารที่ใช้กันอยู่เสมอในการประพันธ์ ยังมีพวกโวหาร เบ็ดเตล็ดอีกหลายอย่าง ซึ่งจะได้รวบรวมชี้ให้เห็นเป็นคราวๆ ไป ความ มุ่งหมายของโวหารนี้เพื่อให้ถ้อยคำเกิดรสแปลกขึ้น ผู้เริ่มการประพันธ์พึงระวังอย่าใช้โวหารอย่างฟุ่มเฟือย

ที่มา:เปลื้อง ณ นคร