นวนิยาย (Novel)

บ่อเกิด ในประเทศไทยเรายังไม่มีตัวเลขที่แน่นอน ว่าเราได้ใช้เงินในการซื้อเรื่องอ่านเล่นปีหนึ่งๆ เป็นจำนวนเท่าใด แต่คะเนดูเห็นจะหลายล้านบาท ส่วนในอังกฤษ อเมริกา นั้นต้องนับกันด้วยจำนวนร้อยล้าน ตาม สถิติของอเมริกาใน ค.ศ. ๑๙๓๓ เงินค่าใช้จ่ายในเรื่องการพิมพ์หนังสือ รวมทั้งหนังสือพิมพ์ด้วย เป็นจำนวนถึงพันล้านเหรียญเศษ การแต่งและจำหน่ายเรื่องอ่านเล่นนับเป็นศิลปะอุตสาหกรรมที่แพร่หลายยิ่ง ก็เหตุใดคนจึงชอบหนังสืออ่านเล่น เหตุที่จะยกมาอ้างนั้นมีอยู่หลายประการ แต่ต้นเหตุสำคัญก็คือ ความอยากฟังเป็นปัจจัยใหญ่ที่สุด ความอยากฟังเรื่องเป็นสิ่งที่ติดอยู่ในสายเลือดของมนุษย์ เรื่องอ่านเล่นหรือนิทานนี้เป็นของคู่มากับมนุษย์ ตั้งแต่เริ่มมีมนุษย์มาทีเดียว เรามีอะไรก็อยากเล่าให้คนอื่นฟัง คนอื่นก็อยากฟังเรื่อง จึงเกิดเป็นนิทานขึ้น

นิทานของคนโบราณเป็นเรื่องสั้นๆ ง่ายๆ อย่างเราเล่านิทานยายกะตาให้เด็กฟัง ต่อมานักคิดเห็นว่า นิทานเป็นข้ออุปมาอุปไมยให้เห็นความ ประพฤติอย่างหนึ่งอย่างใดได้ จึงแถมสุภาษิตเข้าข้างท้าย เกิดเป็นนิทานเทียบภาษิต เข้าใจว่าแต่เดิมนิทานคงเล่ากันตรงไปตรงมา เมื่อเล่าจืดเข้าก็ประดิษฐ์ตกแต่ง เสริมความให้พิสดารขึ้น บางทีก็คิดเขียนเป็นกาพย์กลอน จะเห็นตัวอย่างได้มากในนิทานไทยของเรา นิทานนี่แหละเป็นบ่อเกิดของนวนิยาย

คำว่า “นวนิยาย’’ ตามรูปศัพท์ คำนี้มีคำรวมกันสองคำ คือ นว แปลว่า ใหม่ นิยาย แปลว่า เรื่องเล่า ที่จริงเรื่องเช่นนี้เราเคยเรียกกันว่า เรื่องอ่านเล่นบ้าง เรื่องประโลมโลกบ้าง คำ นวนิยาย เป็นคำที่ผูกขึ้นใหม่ เพื่อให้ตรงกับศัพท์ โนเวล (Novel) คำ โนเวล นี้เดิมเป็นภาษาอิตาเลียนว่า โนเวลลา (Novella) คือ เมื่อราวปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๓ มีนักเขียนอิตาเลียนคิดแต่งเรื่องให้แปลกไปจากนิทานที่เคยเล่ากัน ให้มีเนื้อเรื่องเหมือนอย่างชีวิตที่เป็นอยู่ของคนจริงๆ ต่อมานักเขียนในอังกฤษ แปลเรื่องอิตาเลียนเป็นภาษาของตน มีคนชอบอ่านมาก นักเขียนอังกฤษจึงคิดเขียนเรื่องตามแบบนักประพันธ์อิตาเลียนบ้าง จึงเอาคำ Novella ของอิตาเลียนมาเปลี่ยนเป็น Novel ซึ่งตามศัพท์ก็แปลว่า ของใหม่ เพราะเป็นเรื่องใหม่ ไม่เคยมีมาก่อน แต่บัดนี้นวนิยายไม่ใช่ของใหม่มิได้

นวนิยายนี้เจริญมากในอังกฤษในศตวรรษที่ ๑๘ และพอถึงศตวรรษที่ ๑๙ นวนิยายก็เป็นวรรณคดีที่มีคนนิยมมากกว่าแขนงอื่น บรรดาพวก นักวิจารณ์และนักศึกษาก็พากันวิเคราะห์นวนิยายต่างๆ และวางเป็นหลักเกณฑ์ขึ้น สำหรับในเมืองเรา อาจพูดได้ว่า นวนิยายเพิ่งตั้งต้นเท่านั้น ตั้งแต่เริ่มบันเทิงคดีร้อยแก้วในสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา เรามีนวนิยายที่เป็นของเราเองไม่กี่เรื่อง

นวนิยาย กับ นักประพันธ์ นวนิยาย นับเป็นงานใหญ่ยิ่งของนักประพันธ์ เป็นงานที่จะเป็นอนุสาวรีย์ที่จะพาชื่อผู้แต่งพุ่งขึ้นสู่ชื่อเสียงในพริบตาเดียว แต่มันเป็นงานที่ต้องอาศัยอุตสาหะวิริยภาพมิใช่น้อย เวลาในการเขียนนวนิยายนี้อาจเป็นได้ระหว่างหนึ่งเดือนถึงสิบปี เขาต้องก้มหน้าก้มตาเขียน เขียนไป เขียนแล้วแก้ ตกเติม เปลี่ยนแปลง จนกว่าจะเป็น “ฝีมือศิลปะ’’ ที่เขาพอใจ นักเขียนนวนิยายที่มีชื่อเสียงเขียนนวนิยายโดยใจรัก เพื่อฝีมือและเพื่อศิลป์ แต่เมื่อสำเร็จ เขาจะได้รับผลอันน่าชื่นใจ มีนักนวนิยายมีชื่อเสียงหลายท่านที่ได้รับการศึกษาเล็กน้อย ไม่เคยผ่านมหาวิทยาลัย ไม่เคยรู้หลักการประพันธ์ เช่น ชาร์ล ดิกเก็นส์ (Charles Dickens) มิสซิส สโตว (Mrs. Stowe) ผู้เขียนนวนิยายเรื่อง “กระท่อมน้อยของลุงทอม” การศึกษาของนักนวนิยายพวกนี้คือความจัดเจนในชีวิต ประกอบด้วยมีนิสัยทางเขียน ฉะนั้นจึงมีบางคนเห็นว่าการที่จะเป็นนักประพันธ์นั้น ไม่ต้องเล่าเรียน เมื่อมีนิสัยแล้วก็เป็นเอง เขียนเองได้ การกล่าวดังนี้ ถ้าฟังเผินๆ แล้วก็น่าจะถูกต้อง แต่ความที่จริงแล้วนักเขียนย่อมเป็นนักศึกษา พยายามค้นคว้าหลักในการเขียนโดยตนเองอยู่เสมอ คือ เขียนไป และรู้ไป นักประพันธ์เหล่านี้บางท่าน มหาวิทยาลัยยังได้เชื้อเชิญไปบรรยายหลักแห่งการเขียนแก่นิสิต ทั้งนี้ย่อมแสดงว่า ในการเขียนนั้นเขาก็มีหลัก เกณฑ์อยู่เหมือนกัน

หลักแห่งนวนิยาย
ในคำบรรยายอันดับต้นๆ ท่านได้ศึกษาวิธีเขียนบันเทิงคดีเรื่องสั้นมาแล้ว หลักอันนั้นย่อมนำมาใช้กับนวนิยายได้เกือบทั้งสิ้น ในที่นี้จะได้กล่าวลักษณะ และประเภทต่างๆ ของนวนิยาย กับเพิ่มเติมคำแนะนำอีกบางประการ

นวนิยาย คือ เรื่องราวที่มีพฤติการณ์ต่อเนื่องกัน เรื่องเช่นนี้เป็นเรื่องที่สมมุติแต่งขึ้น แต่อาจมีมูลความจริงแฝงอยู่ก็ได้ ความมุ่งหมายของนวนิยายก็เพื่อความเพลิดเพลิน แต่บางทีนักเขียนก็ใช้เป็นเครื่องมือสำหรับเย้ยหยันเสียดแทง (Satire) แนะนำสั่งสอน หรือแสดงแนวความคิดทางการเมืองและหลักธรรมต่างๆ หลักการเขียนนวนิยายคล้ายกับเรื่องสั้น แต่เรื่องสั้นนั้นเค้าเรื่องต้องกระชับ มีพฤติการณ์สำคัญอย่างเดียวโดยเฉพาะ และมีความยาวตั้งแต่ ๑,๐๐๐-๑๐,๐๐๐ คำ ส่วนนวนิยายมีพฤติการณ์หลายอย่างเกี่ยวพันกัน ตัวละครก็ไม่กำหนด จะมีกี่ตัวก็ได้ ความยาวนั้นตั้งแต่ ๔๐,๐๐๐ คำขึ้นไป ส่วนนวนิยายสั้น (Novelette) ก็เหมือนนวนิยายทุกอย่าง ผิดกันเฉพาะความยาว ซึ่งมีกำหนดแต่ ๑๐,๐๐๐-๔๐,๐๐๐ คำ

จัดประเภทนวนิยาย
เรื่องนวนิยายมีหลายหลาก แล้วแต่นักเขียนจะถนัดเขียนเรื่องใด ที่เขาแยกประเภทไว้ก็มีต่างๆ กัน ตามที่ แฟรงก์ เอช วิเซตเตลลี แยกไว้มีดังนี้

๑. พวกนวนิยายเกี่ยวกับพฤติการณ์ แยกออกเป็น
ก. นวนิยายเรื่องเผชิญภัย
ข. นวนิยายประวัติบุคคล
ค. นวนิยายเกี่ยวกับเรื่องทหารและการกีฬา

๒. พวกนวนิยายทางประดิษฐ์เรื่อง คือคิดวางโครงเรื่องให้ซับซ้อน น่าฉงน แยกออกเป็น
ก. นวนิยายนักสืบ
ข. นวนิยายเรื่องลี้ลับมหัศจรรย์
ค. นวนิยายเกี่ยวกับความคิดฝัน

๓. พวกนวนิยายเกี่ยวกับเรื่องชีวิต ความเป็นไปของมนุษย์ แยก
ออกเป็นพวก
ก. นวนิยายที่มีจุดหมาย คือ ต้องการแสดงหลักธรรม หรือแนว
ความคิด
ข. นวนิยายรีอาลิสติก (Realistic)
๔. พวกนวนิยายซึ่งมุ่งจะแสดงผลอย่างใดอย่างหนึ่ง แยกออกเป็นพวก ก. นวนิยายเชิงปัญหา คือ นำเอาปัญหาความเป็นอยู่ของมนุษย์ มาแสดง และชี้ให้เห็นว่าผลของความเป็นอยู่นั้น จะประสบผลสุดท้ายอย่างไร

ข. นวนิยายวิเคราะห์นิสัยสันดานมนุษย์ เพ่งในทางที่จะแสดงนิสัยสันดานอย่างหนึ่งอย่างใดของมนุษย์ และเหตุการณ์ต่างๆ อันเกิดจาก นิสัยสันดานนั้นๆ

การแบ่งดังนี้ ถือตามเนื้อเรื่องเป็นเกณฑ์และออกจะละเอียดเกินไป เปอร์ซี มาร์ก ได้แบ่งนวนิยายโดยถือแนวเขียนเป็นหลัก เป็น ๓ อย่าง คือ
๑. นวนิยายชนิดผูกเรื่อง (Plot Novel)
๒. นวนิยายรีอาลิสติก (Realistic Novel)
๓. นวนิยายแนวจิตวิทยา (Psychological Novel)

การที่แบ่งเช่นนี้ มิใช่ว่าจะแบ่งเด็ดขาดออกไปทีเดียว นวนิยายบางเรื่องอาจมีลักษณะปนกันก็ได้ คือเป็นทั้งแนวจิตวิทยาและแนวรีอาลิสติกหรือเป็นอย่างผูกเรื่องและรีอาลิสติกก็ได้

นวนิยายชนิดผูกเรื่อง
ชนิดนี้มีวิธีเขียนเหมือนเรื่องสั้นชนิดผูกเรื่อง เว้นแต่มีความยาวมาก กว่า และมีพฤติการณ์ที่น่าตื่นเต้นหลายตอนด้วยกัน เรื่องเช่นนี้ผู้เขียนย่อมสร้างให้ตัวละครปลํ้าปลุกต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ เพื่อบรรลุผลความปรารถนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ส่วนมากเป็นเรื่องรัก เรื่องการเผชิญภัย เรื่องเกี่ยวกับการสืบสวนคดีลึกลับต่างๆ หัวใจของเรื่องต้องมีพฤติการณ์ที่น่าตื่นเต้นมากๆ การดำเนินเรื่องต้องมีแอคชั่น (Action) คือต้องมีเหตุการณ์ ความเคลื่อนไหว นวนิยายจะดำเนินเรื่องโดยใช้ฉากเพียงแห่งเดียว และมีเหตุการณ์อย่างเดียวไม่ได้ ฉากและพฤติการณ์อาจเริ่มที่กรุงเทพฯ แล้วพระตะบอง-ปารีส-แล้วไปจบเอาที่สิงคโปร์ก็ได้ แต่เรื่องราวต้องติดต่อเกี่ยวโยงกัน ฉะนั้นในการเขียนนวนิยายชนิดนี้ ผู้เขียนต้องวางโครงเรื่อง แยกออกเป็นบทๆ และเขียนเค้าเรื่องสั้นๆ ไว้ก่อน ผู้เขียนจะต้องวางแนวเรื่องให้ตลอดเสียก่อน เมื่อท่านเริ่มเขียนตอนที่ ๑ ท่านจะต้องรู้ว่า เรื่องในตอนที่ ๑ จะไปเกี่ยวข้องกับตอนที่ ๕ อย่างไรบ้าง

จะขอยกตัวอย่างเรื่อง มองเต คริสโต (Count of Monte Cristo) อันเป็นนวนิยายผูกเรื่องประเภทการเผชิญภัย ซึ่งเป็นนวนิยายที่มีชื่อเสียง ของโลกเล่มหนึ่ง มีผู้แปลเป็นภาษาไทยแล้ว แต่ไม่จบเพียงหนึ่งในสี่ของ เรื่องเดิม ดูเหมือนผู้แปลใช้นามปากกาว่า ศรีอัฐทิศ เรื่องนี้ อาเลกซังเดรอะ ดูมาส์ (Alexandre Dumas) นักนวนิยายฝรั่งเศสเป็นผู้แต่งต้นฉบับเดิมเป็นภาษาฝรั่งเศส ชื่อ คองต์ มองเต คริสโต (Conte Monte Cristo) ดูมาส์ มีชีวิตอยู่ระหว่าง ค.ศ.๑๘๐๓-๑๘๗๐ เป็นเจ้าของเรื่องนวนิยายเผชิญภัย และอิงประวัติศาสตร์หลายเรื่อง อาทิเรื่อง ทแกล้วทหารสามเกลอ

เค้าเรื่อง ชายหนุ่มคนหนึ่งชื่อ เอดมองด์ ตังเตส ได้ทำหน้าที่แทนกัปตัน ซึ่งถึงแก่กรรมโดยปัจจุบัน นำเรือชื่อ ฟาโรห์ เข้าเทียบท่าเมือง มาร์เซล เขากำลังจะมีโชคดีและจะได้แต่งงานกับหญิงที่รัก แต่ถูกเพื่อนลอบใส่ร้ายหาว่าเป็นพวกฝักใฝ่ทางนโปเลียน เลยถูกเจ้าหน้าที่จับไปจำไว้ที่เกาะ ชาโตดิฟ ต่อมาเขาหนีรอดมาได้ แล้วได้พบขุมทรัพย์ที่เกาะมหาสมบัติ เลยกลายเป็นมหาเศรษฐี กลับมาทำการแก้แค้นผู้ที่ใส่ร้ายเขา

เค้าเรื่องมีเท่านี้ แต่ ดูมาส์ ขยายเรื่องออกไปไม่ต่ำกว่าหกหมื่นคำ แบ่งออกเป็นบทๆ กว่า ๓๐ บท แต่ละบทมีเหตุการณ์ตื่นเต้น และเรื่องขยายกว้างออกไปทุกที

นวนิยายรีอาลิสติก
คำว่า รีอาลิสม์ (Realism) หมายถึงลัทธิ คำว่า รีอาลิสต์ (Realist) หมายถึงผู้นิยมลัทธิรีอาลิสม์ ส่วนคำ Realistic เป็นคำคุณศัพท์ ลัทธิรีอาลิสม์ นี้เดิมเป็นลัทธิทางปรัชญา ต่อมาได้ใช้เกี่ยวเนื่องกับทางศิลปกรรมและวรรณกรรมด้วย จะชี้แจงโดยละเอียดในคำบรรยายที่ว่าด้วยการวิจารณ์ กล่าวโดยย่อที่สุด ลัทธินี้หมายถึงการเล็งแลสิ่งต่างๆ ตามสภาพความเป็นจริงของมัน นวนิยายรีอาลิสติก (Realistic Novel) ก็คือนวนิยายที่เผยความเป็นจริงของชีวิต

ท่านได้อ่านลักษณะของนวนิยายชนิดผูกเรื่องในตอนก่อนมาแล้ว จะ เห็นว่าลักษณะสำคัญก็คือ การเล่าเรื่องให้สนุกโลดโผน ตัวละครในเรื่องมีบทบาทในการเผชิญชีวิต ต้องต่อสู้กับภยันตรายต่างๆ ภยันตรายและอุปสรรคต่างๆ นั้น นักเขียนคิดบรรยายให้ผู้อ่านแลเห็นจริงจังตามไปด้วย ในส่วนนวนิยายรีอาลิสติกนี้ เนื้อเรื่องมีความสำคัญชั้นสอง ความมุ่งหมายแห่งการเขียนก็คือการแสดงความเป็นไปของชีวิตตามความเป็นจริง และละเอียดถี่ถ้วนที่สุดที่จะเป็นไปได้ นวนิยายชนิดนี้ไม่ต้องผูกเรื่อง เพราะเท่ากับเป็นการบรรยายชีวิตของบุคคลคนใดคนหนึ่ง ในการพรรณนาฉาก หรือบุคคล ผู้เขียนจะไม่แต้มเติมอะไรเลย นอกจากหยิบเอาความเป็นจริงแง่หนึ่งแง่ใดของชีวิตมาตีแผ่แก่ผู้อ่าน

นักเขียนนวนิยายชนิดนี้ อาจทำผิดได้อย่างสำคัญสองข้อคือ หนึ่ง- ให้รายละเอียดเกินสมควรจนผู้อ่านเหนื่อยหน่าย สอง-ให้ความจริงจะแจ้ง จนเป็นที่แสลง

ข้อที่สองนี้สำคัญยิ่ง เพราะในการเอาความจริงมาตีแผ่นั้น ผู้เขียนต้องให้คำพูดหรือความประพฤติของตัวละคร อย่างที่มนุษย์ทำกันตามปกติ
ฉะนั้นบางทีนักเขียนทำเกินเลยไป จนถึงเอาคำหยาบคายน่ารังเกียจมาเขียน ธรรมดาคนเราเว้นจากการพูดหยาบไม่ค่อยได้ แต่คำพูดกับตัวหนังสือนั้นผิดกัน คำพูดนั้นพูดแล้ว แล้วไป คำหยาบๆ คายๆ นั้น บางทีเราฟังโดยไม่สู้ถือพาพิถีพิกันนัก แต่ถ้าเขียนลงเป็นตัวหนังสือแล้วมันจะปรากฏชัด อ่านแล้วชวนให้น่ารังเกียจ ถ้าเผอิญตัวละครของเราเป็นคนหยาบคาย ใจชั่ว ชอบพูดแต่คำสัปดน นักเขียนต้องหาทางเกลาคำพูด อย่าให้หยาบถึงขนาดผู้นั้นที่พูดจริงๆ และต้องเลือกหยิบเฉพาะคำเจรจาที่จะแสดงตัวละครนั้นให้เด่นขึ้น ข้อนี้เป็นกฎทั่วไป ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น

นวนิยายชนิดนี้ โดยมากนักเขียนมักแสดงแง่ในทางชั่วเลวทรามของ ชีวิตมนุษย์ ฉะนั้นการพูดถึงความประพฤติชั่ว น่าอดสู โดยไม่ต้องให้ผู้อ่านรู้สึกสะอิดสะเอียนนั้น ผู้อ่านต้องใช้ดุลพินิจให้ซึ้ง มิฉะนั้นเรื่องของท่านจะเป็นเรื่องลามก

นวนิยายรีอาลิสม์ ที่มีชื่อเสียงคือเรื่อง มาดามโบวารี เป็นเรื่องที่พาผู้เขียนและผู้พิมพ์ขึ้นศาลถูกอัยการหาว่าผู้เขียนให้ภาพจริงเกินเหตุ จน กลายเป็นลามกทำลายศีลธรรมของประชาชน เรื่องนี้ วิทย์ ศิวะศริยานนท์ ได้แปลเป็นภาษาไทยแล้ว ผู้เขียนเรื่องนี้คือ กุสตาฟ ฟลอแบรต์ (เกิด ค.ศ. ๑๘๒๑ ถึงแก่กรรม ค.ศ.๑๘๘๐) เขาเป็นนักนวนิยายรีอาลิสติกชั้นเอกของโลก

จะขอยกเรื่อง มาดามโบวารี มาให้ท่านเห็นเป็นตัวอย่าง ก่อนอื่นจะขอทำความเข้าใจกับนักศึกษาเสียก่อนว่า ตัวอย่างต่างๆ ที่ยกมาอ้างนั้น ข้าพเจ้าจะใช้ตัวอย่างเรื่องจากต่างประเทศเป็นเกณฑ์ เพราะเรื่องนั้น นักวิจารณ์และโลกวรรณคดียอมรับกันแล้วว่าเป็นแบบอย่างได้ ส่วนของไทยเรา ใช่ว่าจะไม่มีดีพอจะนำเอามาอ้างเป็นตัวอย่างได้ นักเขียนของเราหลายท่านได้สร้างนวนิยายชั้นดีมีเหมือนกัน แต่ถ้ายกมาอ้างอาจมีข้อโต้แย้งกันมากมาย เพราะเรายังขาดวงวิจารณ์ที่มีออทอริตี (Authority) คือ มีเสียง เป็นที่เชื่อและยึดถือได้ ความพยายามของข้าพเจ้าที่จะได้ก้าวต่อไปก็คือ จะหาทางยกนักประพันธ์ทั้งใหม่และเก่า ซึ่งได้สร้างวรรณกรรมดีๆ ขึ้น ให้สมกับคุณความดีของเขา

เค้าเรื่อง เค้าเรื่องมาดามโบวารีนี้ก็คือ ชีวิตของหญิงที่ชื่อ เอมมา ไปได้ผัวชื่อโบวารี ผัวเป็นคนเซื่องๆ หงิมๆ เมียมีนิสัยชอบสนุก จึงไม่พอใจอดรนทนความทึ่มของผัวไม่ได้ เลยมีชู้เสียหลายคน ในที่สุดใจแตก ใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือย เป็นหนี้สินเขานุงนัง เมื่อหาทางใช้หนี้ไม่ได้พวกชู้ก็ เอาใจออกห่าง หมดทางเข้ากินยาพิษตาย ส่วนผัวไม่รู้ความสกปรกของเมีย มีความเศร้าโศกมาก อยู่มาวันหนึ่งไปค้นลิ้นชักไว้ของภรรยา พบจดหมายต่างๆ เกี่ยวกับความสกปรกของภรรยาเลยช้ำใจตาย

ท่านจะเห็นว่าเรื่องนี้มีลักษณะการผูกเรื่องอยู่เหมือนกัน และมีไคลแมกซ์ ตอนมาดามโบวารีกินยาตาย แต่เมื่อท่านอ่านเรื่องจบแล้ว ท่านจะจำเนื้อเรื่องไม่ได้ดี เหมือนกับที่ท่านรู้จักมาดามโบวารีว่าเป็นคนอย่างไร นี่คือ ลักษณะของนวนิยายรีอาลิสติก คือ ต้องการแสดงความเป็นอยู่ของคนเป็นข้อใหญ่

ฟลอแบรต์ เป็นคนพิถีพิถันในการเขียนเรื่อง บางทีหน้ากระดาษเดียวเขียนอยู่ตั้ง ๗ วัน แก้แล้ว แก้อีก จนเห็นว่าไม่มีทางจะแก้ให้ดีขึ้นอีกแล้ว มีคำที่เขากล่าวแนะนำนักเขียนอื่นไว้ว่า “เมื่อเขียนเสร็จตอนหนึ่งๆ ลองอ่านดังๆ ถ้าฟังราบรื่นหู อ่านคล่องไม่อึดอัดใจแล้ว นับว่าความที่เรียงนั้นใช้ได้” ที่ริมหน้าต่างที่ฟลอแบรต์เขียนเรื่องมักจะมีเด็กมาแอบฟังเสมอ เพราะเขาอ่านดังๆ และทำสุ้มเสียงเป็นจังหวะตามคำพูดของตัวละคร และตามลักษณะข้อความที่เขาเรียบเรียง การที่ฟลอแบรต์ถูกขึ้น ศาล ก็เพราะบรรยายฉากการทำชู้โจ่งแจ้งเกินไป บรรดานักศิลป์ในฝรั่งเศสพากันทึ่งมาก ว่าคดีจะลงเอยด้วยประการใด แต่ในที่สุด เมื่อทนายได้แถลงคารมอย่างยืดยาว ศาลก็ตัดสินว่า “เรื่องนี้ไม่ปรากฏว่า ผู้เขียนมีความมุ่งหมายจะประพันธ์เรื่องเพื่อเร้าความรู้สึกทางลามกให้เกิดแก่ผู้อ่าน”

การดำเนินเรื่อง เรื่องมาดามโบวารี แบ่งออกเป็น ๒ ภาค ๓๖ ตอน จับเรื่องตอนที่หนึ่งผู้เขียนได้กล่าวถึงวงศาคณาญาติของนายโบวารีอย่างยืดยาว กล่าวถึงนายโบวารีเมื่อยังเป็นเด็กเข้าโรงเรียน แสดงให้เห็น ความทึ่ม และความเซื่องซึมของนายโบวารี จนกระทั่งโตเป็นหนุ่มและได้เมียคนแรก แล้วเมียคนแรกตาย ซึ่งถ้าเป็นนวนิยายชนิดผูกเรื่องแล้ว ตอนนี้ก็ไม่จำเป็น แต่การที่ฟลอแบรต์ได้ใช้ตอนนี้ ทั้งตอนบรรยายความเป็นไปของนายโบวารีนั้น ก็เพื่อจะให้เห็นความเป็นไปไนชีวิตจริงๆ เท่านั้น นว¬นยายรีอาลิสติกนี้ ลักษณะและนิสัยตัวละครต้องเด่นชัดมาก

ต่อมา นายโบวารีได้ไปรักษาไข้และได้เอมมาลูกสาวของคนไข้เป็น ภรรยา แม่เอมมานี้เดิมเรียนหนังสือประจำอยู่ในวัดนางชี เป็นคนชอบฝันในเรื่องชู้สาว ในเวลาอ่านเรื่องชีวิตนักบุญ เธอมักจะลอบเอาหนังสือเรื่องรักๆ ใคร่ๆ เข้าไปอ่าน เมื่อได้ผัวเธอนึกว่าคงจะมีชีวิตชื่นฉ่ำอย่างเรื่องในนิยายรัก แต่นายโบวารีเป็นคนไม่เข้าใจในเรื่องการโอ้โลมเสียเลย จะจูบเมียก็เป็นกำหนดเวลา เมียซึ่งเคยฝันว่าจะได้รับการโอ้โลมพะเน้าพะนอ ชักไม่พอใจยิ่งขึ้นทุกที ที่สุดไปพบเจ้าชู้ฉกรรจ์เข้าคนหนึ่ง เลยเสียตัวกับนายคนนั้น เบื่อคนนั้นไปลักลอบกับคนโน้นเรื่อยไป ผัวไม่รู้เรื่องอะไรเลย เวลาเมียเจ็บเพราะถูกชู้หักหลัง ก็นึกว่าเป็นไข้ธรรมดา อุตส่าห์รักษาเยียวยาอย่างเต็มกำลัง เอมมา (นางโบวารี) เอง ถึงแสนที่จะเกลียดผัว เมื่อตนจะตายได้กอดผัวแล้วรำพันว่า “โธ่เอ๋ยพ่อผัวรัก เธอช่างดีกับเมียจริงๆ ”

จะขอยกตัวอย่างการบรรยายมาให้ท่านเห็นสักสองตอน ตอนหนึ่งเป็นฉากงานสันนิบาต ที่คฤหาสน์ท่านวิสเคานต์ เอมมาเต้นรำเพลงวอลต์ กับท่านไวเคานต์

“เขาเริ่มออกเต้นช้าๆ แล้วค่อยเร็วขึ้นทุกที เขาหมุนตัว ดูทุกสิ่งทุกอย่างหมุนตามไปหมด ตะเกียง-เครื่องเรือน-กรอบไม้ที่ฝาห้อง พื้นห้อง รู้สึกว่าหมุนเคว้งคว้างเหมือนจานที่ควงอยู่บนปลายไม้ ตอนที่ทั้งคู่เต้นไปใกล้ประตูห้องนั้น กระโปรงตอนตะโพกของเอมมาเกี่ยวติดกับกางเกงของเขา ขาทั้งคู่ตระหวัดกันสนิทแนบ เขาก้มลงจ้องเธอ และเธอก็เงยหน้าขึ้นสบตา เขา เธอรู้สึกสะท้านไปทั่วกาย ต้องหยุดเต้นแล้วเขาก็เริ่มใหม่ หมุนเคลื่อนไปเร็วกว่าเดิม ท่านวิสเคานต์ เต้นพาเธอไปจนสุดปลายห้อง เธอหอบ เจียนล้ม ต้องซบศีรษะลงบนไหล่ของเขาครู่หนึ่ง แล้วเขาก็เต้นเคลื่อนกลับมาหมุนลอย แต่ช้าลงมาก จบเพลงเขาได้พาเธอไปส่งที่นั่ง- เธอนั่งลงเอนหลังพิง พลางเอามือทั้งสองปิดหน้า”

อีกตอนหนึ่ง ยุสแตง เด็กรับใช้ผู้ชายเข้าไปเห็นสาวใช้รีดผ้านาง โบวารีอยู่ ฟลอแบรต์ เขียนดังนี้

“เขาเอาข้อศอกยันม้ารีดผ้า ตาลุกวาว มองดูเสื้อผ้าผู้หญิงที่วางเกลื่อน กลาดอยู่ มีเปตติโคต ผ้าห่มสามเหลี่ยม กางเกงชั้นในชนิดมีเชือกร้อยกว้าง ตรงตะโพก ขาลีบ เจ้าหนุ่มเอามือจับสเกิ๊ตชั้นในแล้วถามว่า

“อ้ายนี้ เขาใช้ทำอะไร”

เฟลิซิเต (เด็กหญิงคนใช้) หัวเราะแล้วตอบว่า “แกไม่เคยเห็นบ้างรึ นายผู้หญิงของแกก็ใช้อย่างนี้เหมือนกัน”

ท่านจะแลเห็นว่าสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เขาก็หยิบมากล่าว เมื่อท่านอ่านแล้ว นอกจากรู้สึกว่าเป็นรายละเอียดเพื่อแสดงความเป็นอยู่ และคำสนทนา ของคนใช้แล้ว ยังมีอะไรแฝงอยู่บ้าง

นวนิยายแนวจิตวิทยา
เปอร์ซี มาร์กส์ ได้พูดเป็นเชิงเปรียบไว้ว่า การเขียนนวนิยายชนิดนี้ ถ้าจะเทียบก็เหมือนแพทย์จะเจาะหัวกะโหลกคนไข้ เขาจะต้องรู้ว่าเขากำลังทำอะไร ทำไมเขาจึงทำเช่นนี้ และจะทำอย่างไร การเจาะกะโหลกคนไข้ ไม่ใช่เป็นการผ่าตัดธรรมดา นายแพทย์ต้องเข้าใจดีว่างานที่เขาทำนั้นมีความสำคัญเพียงใด นักเขียนนวนิยายแนวจิตวิทยานี้ก็เช่นเดียวกัน ต้องอาศัยฝีไม้ลายมือและอารมณ์ความรู้สึกอยู่เป็นอันมาก และต้องเข้าใจว่ากำลังเขียนเรื่องที่จะทำให้น่าอ่านได้ยากที่สุด นักเขียนนวนิยายแนวนี้มี เช่น โยเซฟ คอนราด (Joseph Conrad) ในเรื่องลอร์ดจิม (Lord Jim) ดอสโตวสกี (Dostoevski) ในเรื่อง ไครม์ แอนด์ พันนิชเมนต์ (Crime and Punishment) ส่วนทางไทยเรามีที่พอจะยกตัวอย่างได้คือ “คนดีที่โลกไม่ต้องการ” ของ สด กูรมะโรหิต

นวนิยายชนิดนี้เขียนยาก และไม่มีเทคนิคโดยเฉพาะ ถ้าท่านได้อ่านนวนิยายชนิดนี้จะเห็นว่าไม่ค่อยมีแอคชั่น (Action) หรือพฤติการณ์ที่น่า ตื่นเต้น แต่เราจะแลเห็นการระบายจิตใจของตัวละครให้เราเห็นว่า เขามีความทุกข์ทรมานอย่างไร มีความกลัว ความใฝ่ฝัน ความหวัง ความแปรปรวน ไปตามวิถีชีวิตอย่างไรบ้าง ตัวละครจะพบกับชีวิตในแง่ต่างๆ พฤติการณ์ นั้นๆ กระทบกระเทือนความรู้สึกของเขา ความรู้สึกนั้นระบายออกมา และดูเหมือนว่าตัวละครอาจจะได้ทำอะไรที่น่าตื่นเต้นสักอย่างหนึ่ง แต่การกระทำอันนั้นมิได้เกิดขึ้น มันเป็นเพียงศึกภายในหัวใจซึ่งเปิดออกมาให้เราเห็น

เรื่องชนิดนี้ เขียนยาก และอ่านเอาสนุกก็ไม่ค่อยจะได้ ผู้เขียนต้องมีฝีมือจริงๆ ข้าพเจ้าอ่านเรื่อง “คนดีที่โลกไม่ต้องการ” ได้เพียงคราวละสามสี่หน้าเท่านั้น

ข้าพเจ้ายังไม่สนับสนุนผู้เริ่มฝึก จึงขออธิบายไว้เพียงเท่านี้ก่อน

ขอแนะนำท่านอีกครั้งหนึ่ง
หลักการประพันธ์บันเทิงคดี (Fiction) นั้นได้กล่าวไว้ละเอียดแล้วในอันดับต้น หลักเหล่านั้นย่อมนำมาใช้กับการเขียนนวนิยายได้เป็นส่วนมาก แต่จะขอกล่าวเพียงเพิ่มเติม เพื่อทบทวนอีกบ้าง

นวนิยายเป็นเรื่องยืดยาว ฉากในท้องเรื่องมีมาก ระยะเวลาของเรื่องก็ยาวนาน นวนิยายบางเรื่องกล่าวถึงชีวิตของคนตั้งแต่เกิด เติบโตเป็นหนุ่ม จนตายในที่สุด บางเรื่องยังกล่าวต่อไปถึงชั้นลูก ทั้งนี้ต่างกับเรื่องสั้น ซึ่งมีฉากเฉพาะ ฉากในท้องเรื่องสั้นโดยมากมีฉากเดียว เวลาก็จำกัดชั่วระยะที่เหตุการณ์นั้นๆ เกิดขึ้นเท่านั้น เช่นในเรื่อง “ฝนเดือนห้า” ฉากของเรื่อง คือศาลาวัด และระยะเวลาของเรื่องก็ชั่วเวลาที่ตัวละครพูดกันไม่กี่นาที ในเรื่อง “สร้อยคอเพชร” มีฉากที่ต้องพรรณนาละเอียดก็เฉพาะในบ้านนาง ลัวเซล ฉากอื่นๆ เป็นแต่เพียงฉากผ่าน อย่างเช่นในงานราตรีสโมสรในบ้านของรัฐมนตรีนั้น ผู้เขียนไม่ได้พรรณนาฉากอะไรเลย นอกจากกล่าวถึงความรู้สึก และความร่าเริงสำราญของนางลัวเซล ส่วนระยะเวลาที่ว่านางลัวเซล ทำงานตรากตรำอยู่ถึง ๑๐ ปีนั้น ผู้เขียนก็เพียงกล่าวสรุปไว้ไม่กี่บรรทัด

การที่นวนิยายมีเนื้อที่มากดังนี้ ผู้เขียนย่อมมีโอกาสที่จะพรรณนาฉาก หรือกล่าวความดำเนินเรื่องได้อย่างไม่จำกัด ไม่ต้องเขียนอย่างอยู่ในวงบังคับอย่างเรื่องสั้น แต่ท่านจะหยิบเรื่องอะไรมาเขียนนี่แหละเป็นปัญหา เมื่ออาเลกซังเดรอะ ดูมาส์ เดินทางมาในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ตอนชายฝั่งทะเลเมืองมาร์เซล เขาได้เห็นเกาะๆ หนึ่งภูมิฐานชอบกล จึงนึกไปว่า ถ้าสมมุติเกาะนี้เป็นเกาะขังนักโทษ แล้วสมมุติให้มีชายคนหนึ่งถูกใส่ความ แล้วถูกนำมาจองจำไว้ในคุกบนเกาะนี้ ต่อมานักโทษคนนั้นหนีได้ ตามไปแก้แค้นผู้ที่นำความทุกข์มาสู่เขา เมื่อมีความคิดเกิดขึ้นดังนั้น เขาเริ่มวางโครงในการเขียน จะทำอย่างไรให้เหตุการณ์คลี่คลายออกไปได้ เขานึกถึงเหตุทางการเมืองในฝรั่งเศส คือ ใน ค.ศ.๑๘๑๕ นโปเลียนถูกพันธมิตรจับไปคุมขังไว้ที่เกาะเอลบา แต่พระองค์ทราบว่าพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ นั้นราษฎรไม่ชอบ และคนฝรั่งเศสที่ยังภักดีต่อพระองค์ก็มีมาก ขณะนั้นชาวฝรั่งเศสแบ่งออกเป็นพวกนโปเลียนพวกหนึ่ง พวกพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ พวกหนึ่ง พวกฝ่ายพระเจ้านโปเลียนนั้นลักลอบสื่อข่าวติดต่อกันวางแผนการจะให้นโปเลียนหนีกลับมาครองราชสมบัติ เมื่อเหตุการณ์ทางการเมืองเป็นดังนี้ ดูมาส์จึงสมมุติตัวละครตัวหนึ่งในเรื่อง ซึ่งเขาตั้งชื่อว่า ดังเตส ถูกป้ายร้าย ว่าเป็นคณะของนโปเลียน ในที่สุดถูกเจ้าหน้าที่จับตัวไปขังไว้ ณ คุกบน เกาะนั้น

เพียงเท่านี้ เรื่องยังไม่เข้ม ยังไม่ปลุกอารมณ์ของผู้อ่านให้เห็นอกเห็นใจ และเกิดความรู้สึกแค้นเคืองพอ เขาจึงดำเนินเรื่องโดยให้ผู้อ่านรู้เรื่องภาวะของดังเตสว่า มีพ่อแก่ชรา มีคู่รักซึ่งรักกันมาก เขากำลังโชคดี และกำลังจะแต่งงานกับหญิงที่รัก กำลังจะมีความสุขอยู่แล้ว เมื่อถูกจับและ พรากจากพ่อซึ่งแก่ชรา พรากจากหญิงที่รัก โดยถูกป้ายความผิดจากคนที่มุ่งร้ายริษยาดังนี้ ผู้อ่านย่อมเอาใจของดังเตสมาใส่ในใจตน จะรู้สึกเดือดดาลมากทีเดียว

เมื่อดูมาส์ได้แนวความคิดดังนี้ จึงวางแผนการดำเนินเรื่อง เขาเปิดฉากของเรื่องโดยบอกศักราชว่า วันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๑๘๑๕ คือเอาศักราช นี้ไปคาบเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ เพราะต่อมาไม่ช้า พระเจ้านโปเลียนก็เสด็จหนีจากเกาะเอลบา และนำทัพฝรั่งเศสเข้ารบกับพันธมิตรที่ วอเตอร์ลู ในวันที่ ๑๘ มิถุนายน ค.ศ.๑๘๑๕ ดูมาส์เอาเรื่องเคานต์มองเต¬คริสโตอิงประวัติศาสตร์เฉพาะตอนนี้เท่านั้น เขาได้เปิดฉากท่าเรือเมืองมาร์เซล ทั้งนี้เพราะเมืองนี้เป็นเมืองท่าสำคัญ มีสายการเดินเรือหลายสาย และเรือบางลำแล่นผ่าน หรือมิฉะนั้นก็แวะที่เกาะเอลบา ซึ่งนโปเลียนถูกกักกันอยู่ เมื่อเปิดฉาก ดูมาส์ บรรยายเรือลำหนึ่ง ชื่อเรือฟาโรห์ กำลังเข้าเทียบท่า นายมอเรล เจ้าของเรือได้ขึ้นไปบนเรือ และได้ทราบจาก ดังเตส ซึ่งเป็นผู้ช่วยกัปตันว่า กัปตันได้ตายเสียแล้ว และเขาได้ทำหน้าที่กัปตันนำเรือมาได้โดยความเรียบร้อย ตังเตสได้เล่าเรื่องที่เรือได้แวะจอดที่เกาะเอลบา กัปตัน ได้ขึ้นเฝ้าพระเจ้านโปเลียน และเมื่อกัปตันถึงแก่กรรมนั้น ดังเตสได้รับมอบจดหมายลับ มาให้นายมอเรลฉบับหนึ่ง นายมอเรลเห็นความดีความชอบ จึงปรารภจะตั้งให้ดังเตสเป็นกัปตันเรือฟาโรห์ต่อไป ครั้นแล้วฉากเลื่อนไ เป็นบ้านของดังเตส ซึ่งบิดาผู้ชรากำลังคอยเขาอยู่ กล่าวถึงคาเดอรุสและดังกลาส ซึ่งเป็นศัตรูอย่างเงียบๆ ของดังเตส ครั้นแล้วฉากเลื่อนไปเป็น หมู่บ้านคาตาลันซึ่งดังเตสมาพบคู่รัก แมเซเดส แมเซเดสนี้มีชายมาหลงรักอีกคนหนึ่ง ชื่อเฟอร์นันด์ เมื่อไม่สมหวังก็เลยพาลโกรธ เลยสมคบกับคาเดอรุส และดังกลาสเพื่อหาทางทำลายโดยใส่ร้ายว่า ดังเตส เป็นสมัครพรรคพวกของนโปเลียน

นี่เป็นเค้าเรื่องตอนต้น ดูมาส์บรรยายให้เรารู้เรื่อง โดยคำพูดและ บทบาทของตัวละครทั้งสิ้น ในตอนแรกนี้ไคลแมกซ์ของเรื่อง คือ ดังเตส ถูกจับในตอนที่ตนกำลังมีการเลี้ยงดูระหว่างญาติ เมื่อได้แต่งงานกับแมเซเดส แล้ว ยังไม่ทันได้ร่วมห้อง ทหารก็เข้ามาคร่าตัวไป และถูกส่งไปจำไว้ที่คุกบนเกาะโดยไม่มีการไต่สวน ครั้นแล้วดูมาส์ก็เปิดฉากเกาะคุกที่ชื่อ ซา โต ดิฟ พรรณนาลักษณะของเกาะ ลักษณะของคุก คนอยู่ในคุก และระเบียบต่างๆ ของคุก ในขณะที่เรื่องราวคลี่คลายไปข้างหน้านั้น มีการเท้าความย้อนต้นมาบ่อยๆ เช่น เรื่องพ่อของดังเตส เรื่องของแมเซเดส ซึ่งกำลังวิ่งเต้นที่จะช่วยเหลือเขา แต่ไม่สำเร็จ เรื่อง เคานต์ มองเต คริสโต เป็นตัวอย่างอันดีของนวนิยายผูกเรื่อง (Plot Novel) ทั้งเป็นนวนิยายชนิดที่มีเหตุการณ์น่าตื่นเต้น มีการผจญชีวิตต่างๆ ถ้าท่านมีโอกาสควรหาอ่าน แล้วพิเคราะห์ดู

ในการคลี่คลายการดำเนินเรื่องนี้ ท่านต้องระวังให้เรื่องเกี่ยวโยงกัน ตัวละครก็ดี พฤติการณ์ต่างๆ ก็ดี สมัยเวลาก็ดี แม้อยู่ไกลๆ กัน เช่น ในบทหนึ่งกับบทสิบ ดังนี้ แต่ต้องเกี่ยวโยงกันอยู่เสมอ โดยที่นวนิยายเป็น เรื่องยืดยาว ผู้เขียนเขียนปลายอาจลืมต้น เขียนต้นโดยไม่ได้นึกถึงปลาย เรื่องก็จะสับสนและผิดความเป็นจริง

ในการหาเค้าเรื่องสำหรับเขียนนั้น มีมากมายไม่มีขอบเขตจำกัด ท่านมีความจัดเจนทางใด อาจสร้างเรื่องขึ้นจากแนวความจัดเจนของท่านได้ ทั้งสิ้น เรื่องบางเรื่องได้จากอารมณ์ความกระเทือนใจของนักเขียนต่อชีวิตในด้านต่างๆ ท่านอาจจะเขียนเรื่องของเด็กที่พอคลอดออกมาเห็นโลกใหม่ๆ แม่ก็นำมาทิ้ง ได้เติบโต ผจญชีวิต จนประสบผลกลายเป็นคนสำคัญ หรือกลายเป็นผู้ร้ายใจอำมหิต ท่านอาจจะพูดถึงหญิงที่เคยมีชื่อเสียหาย แล้วมากลับตัวดี แต่ก็ยังไม่มีใครเชื่อถือต้องผจญกรรมสร้างความดีจนเป็นที่ประจักษ์ในที่สุด ท่านอาจพูดถึงครอบครัวที่เคยมั่งคั่ง พอบิดาตาย มารดาก็ถูกฉ้อโกงทรัพย์ กลับเป็นคนเข็ญใจ พวกลูกๆ และมารดาต้องปลุกปลํ้าต่อสู้กับชีวิต โดยความลำบาก ซึ่งไม่ใช่ความผิดของตนสักนิดเดียว สิ่งเหล่านี้แหละคือ รากแก้วของนวนิยาย มันเป็นงานหนักที่จะเขียนเรื่องซึ่งมีความยาวตั้ง ๔๐,๐๐๐ คำ แต่นวนิยายนี่แหละที่ก่อความรุ่งโรจน์ให้แก่นักเขียน

ในการดำเนินเรื่องนั้น นวนิยายบางเรื่องดำเนินรวดเร็ว ประเดี๋ยวตัวละครนั้นออก ตัวนี้เข้าเหตุการณ์ต่างๆ เกิดกระชั้นชิด เช่นเรื่องทแกล้ว ทหารสามเกลอ หรือเรื่องสมาคมดอกไม้แดง (สคาร์เลต พิมเพอร์เนล) ของ บารอนเนส ออคซี บางเรื่องดำเนินไปช้าๆ เช่นเรื่อง คนดีที่โลกไม่ต้องการ ของ สด กูรมะโรหิต บางเรื่องผู้เขียนผ่อนตัวละครและพฤติการณ์ ไปโดยลำดับ สม่ำเสมอ เช่นเรื่องโดยมากของดอกไม้สด ธรรมดาผู้อ่านมักไม่ชอบเรื่องที่ยืดยาด อย่างไรก็ดี ถ้าท่านจะดำเนินเรื่องของท่านไปช้าๆ ก็ต้องหาทางป้องกันผู้อ่านเบื่อ โดยใช้สำนวนโวหารหรือการพรรณนาให้น่าฟัง

ตัวละครของนวนิยาย มีตัวชูโรงอยู่ ๒ ตัว อย่างที่เรียกว่า พระเอก และ ผู้ร้าย ขอให้สังเกตว่าคำที่ใช้ในการแต่งเรื่องนี้เป็นศัพท์อย่างเดียวกับ ศัพท์ละครเกือบทั้งสิ้น ทั้งนี้เพราะการละครกับเรื่องอ่านเล่นนั้นมีหลักใหญ่เหมือนกัน ละครนั้นมีตัวละครออกมาพูดให้เราฟัง แสดงท่าให้ดู ส่วนในเรื่องสั้นหรือนวนิยายนั้น เราบรรยายตัวละครโดยตัวอักษร เรื่องสั้นเปรียบเหมือนละครฉากเดียว นวนิยายเปรียบเหมือนละครหลายฉาก อนึ่ง ถ้าตัวละครออกมาแล้วบอกว่า “โอ้เศร้าใจ เศร้าใจจริง” อย่างนี้เท่ากับไม่มีบทบาท (Dramatization) การที่ตัวละครจะแสดงความเศร้านั้นย่อมทำได้โดยบทบาท เรียกอย่างหนึ่งว่า แอกท์ (Act) ในการเขียนก็เอาวิธีละคร คือ ให้ตัวละครในเรื่องแอกท์ท่า (โดยการบรรยายของเรา) ให้ผู้อ่านเห็นและรู้สึก

ได้พูดมาตอนต้นว่า ในนวนิยายนั้นย่อมมีตัวละครอยู่สองตัว นอกนั้น เป็นตัวรองๆ ลงไป เราต้องให้ตัวละครนี้เป็นศูนย์ของเรื่อง พฤติการณ์ที่เกิดขึ้นต้องให้เป็นไปเพื่อเชิดตัวละครสำคัญนั้นให้เด่นขึ้น การสร้างตัวละครเป็นเครื่องชี้ความสามารถของนักเขียน เราต้องการตัวละครที่มีชีวิตชีวาจริงๆ ไม่ใช่หุ่น พระอภัย นางสุวรรณมาลี อิเหนา เหล่านี้ แม้จะ มีอายุตั้งร้อยๆ ปี ก็ยังไม่ตาย การสร้างตัวละครให้มีคุณลักษณะเป็นมนุษย์จริงๆ จนมีคนกล่าวถึง นับเป็นศิลปะสำคัญของนักเขียน ในบรรดานวนิยาย ซึ่งเกิดขึ้นเดือนละหลายๆ เรื่องในยุคนี้ มีเรื่องใดบ้างที่ตัวละครมีลักษณะเด่นชัดจนมีนามติดริมฝีปากนักอ่าน รพินทร จะเด็ด ตละแม่ จันทรา นิจ วนิดา หลวงนฤบาล และอีกมากมายหลายชื่อ บางชื่อเราพบแล้วก็ผ่านพ้นไปจากความทรงจำ บางชื่อเรายังติดใจและนึกถึงอยู่ การสร้างตัวละครให้มีบุคลิกภาพ ไม่ใช่สักแต่ว่าเป็นชื่อเรียก เป็นเครื่องแสดงความสามารถของนักเขียน

ลักษณะของตัวละครย่อมผันแปรไปตามท้องเรื่อง พึงสังเกตว่าตัวละคร ได้กระทำปฏิกิริยาต่อพฤติการณ์ต่างๆ สมจริงอย่างมนุษย์ปุถุชนจะพึงทำ หรือเป็นเพียงกิริยาอันถูกปั้นขึ้นเท่านั้น เขาดีใจ เสียใจ โกรธ กลัว อย่างเราๆ หรือสักแต่ว่าแสดงกิริยาตามความนึกคิด ซึ่งนักเขียนสมมุติเข้าใจเอาเอง นักเขียนที่ดีต้องเป็นนักสังเกตรอบรู้จิตใจและลักษณะอาการต่างๆ ของคน ตัวละครของเขา (แม้ไม่จริงหรือคล้ายจริง) ต้องมีบทบาทตามความเป็นจริงแห่งชนิดของคนนั้นๆ ตัวเอกของเรื่องไม่จำเป็นต้องดีตลอด เรื่องตัวผู้ร้ายไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ร้ายเสมอไป เราจะเห็นได้ว่าแม้ตัวเราเอง อำนาจแห่งสิ่งแวดล้อมบังคับความคิดและความประพฤติให้เปลี่ยนไปได้นานาประการ ตัวละครต้องมีจิตใจเหมือนกับเรา คือต้องหวั่นไหวไปตามเหตุการณ์

สิ่งควรสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือ ฝีมือ บรรดาศิลปะทุกประเภทย่อม เกี่ยวกับการแสดงฝีมือ ซึ่งได้แก่การตกแต่งและปรับปรุงวัตถุดิบให้เป็นศิลปวัตถุ หินเป็นวัตถุดิบที่นายช่างจะแกะสลักให้เป็นรูปร่างต่างๆ ผ้าใบและสี เป็นวัตถุดิบของนักวาดเขียนที่จะใช้ประดิษฐ์ให้เป็นภาพอันงดงาม ในการประดิษฐ์นี้ นักศิลปะจะต้องทุ่มเทจิตใจทั้งหมดลงไปในงานของตน มิเช่นนั้น ศิลปะก็ไม่เกิด ถึงเกิดก็ไม่เป็นศิลปะเอก วัตถุดิบของนักประพันธ์คือถ้อยคำ เขาจะต้องมีความพากเพียร ที่จะเก็บคำมาร้อยกรองเป็นพวงมาลัยวรรณกรรม ถ้านักเขียนความหมายในการนำถ้อยคำมาร้อยกรอง พวงมาลัย วรรณกรรม
ก็จะสด มีกลิ่นอันชื่นชูใจ

คำ นับเป็นสิ่งสำคัญสำหรับวรรณกรรม นักเขียนบางคนใช้คำตื้นๆ ดาดๆ คำเหมือนดอกไม้ คำที่ดีต้องสีงาม รูปสวย กลิ่นหอม นักเขียนต้องมีตาดี จมูกดี เพื่อเด็ดดอกไม้แห่งคำมาประดับวรรณกรรมของเขา ผู้เริ่มฝึกเขียนควรบำเพ็ญตนเป็นนักอ่าน และควรสังเกตว่านักเขียนอื่นๆ มีความสามารถบังคับร้อยกรองคำให้บังเกิดผลที่ต้องการได้หรือไม่ บางทีเขาต้องการพาผู้อ่านไปยังแผ่นดินถิ่นอันห่างไกล หรือทำให้เราเกิดโทสะ โน้มใจให้เกิดความเมตตาปรานี ปลุกความหฤหรรษ์ให้มีในอารมณ์ เหล่านี้จะต้องใช้คำเป็นเครื่องมือ ควรดูอีกว่านักเขียนได้คำนึงใคร่ครวญถ้อยคำที่เขานำมาใช้ หรือเพียงแต่หยิบๆ มาเขียนโดยไม่ได้ตรึกตรอง ดูว่าเขามีความเข้าใจอารมณ์ของคนได้ลึกซึ้ง และใช้คำบรรยายได้แจ้งชัดหรือไม่ การหมั่นพิ¬เคราะห์และสังเกตงานของนักเขียนที่มีชื่อเสียง จะช่วยการฝึกฝนของท่านให้ก้าวหน้าไปโดยรวดเร็วขึ้น

ที่มา:เปลื้อง ณ นคร