ฟรี ลานซ์ (Free Lance)

คำว่า ฟรี ลานซ์ ตามคำศัพท์เดิม หมายถึง ทหารอาสาสมัคร ไม่ใช่ทหารประจำการ เป็นทหารอาสาหรือรับจ้าง ในสมัยอัศวิน ลานซ์ แปลว่า หอก นักเขียนที่ไม่ทำงานประจำกับสำนักงานใดๆ เรียกตัวว่า ฟรี ลานซ์ คือ เปรียบปากกา ดังว่าเป็นหอกอัศวิน พวกนักเขียนซึ่งไม่สังกัดสำนักนี้ โดยมากมีอาชีพประจำ แต่ประพันธ์เรื่องเป็นงานอดิเรก หรือเป็นการหารายได้พิเศษ

ตามปกติหนังสือฉบับหนึ่งๆ ย่อมมีเจ้าหน้าที่และนักเขียนประจำ แต่ โดยที่งานประพันธ์เป็นงานที่มีขอบเขตกว้างขวาง บางเรื่องนักเขียนประจำไม่มีความรู้พอ บางทีนักเขียนประจำไม่อาจผลิตเรื่องที่จะพิมพ์ได้เพียงพอ หนังสือพิมพ์ต่างๆ จึงอาศัยพวก ฟรี ลานซ์ พวก ฟรี ลานซ์ อาจส่งเรื่องให้สำนักพิมพ์โดยตรง หรืออาจส่งให้สำนักงานกลาง (Syndicate) สำนักงานกลางทำการติดต่อจ่ายเรื่องให้สำนักพิมพ์อีกทอดหนึ่ง

นักศึกษาโรงเรียนการประพันธ์ (ทางไปรษณีย์) เช่น London School of Journalism ในอังกฤษ โดยมากต้องการเป็น ฟรี ลานซ์ และเมื่อเขียน เรื่องจนมีชื่อเสียงแล้ว และเห็นปากกาของตน “ทำเงิน” ให้อย่างแน่นอน มั่นคงแล้ว จึงละจากอาชีพอื่นมาทำงานประพันธ์แต่อย่างเดียยโดยเฉพาะ บางคนกลายเป็นบรรณาธิการ บางคนเป็นนักเขียนประจำสำนักพิมพ์ มีเงินเดือนประจำ และพวกฟรี ลานซ์ นี้ มักเริ่มต้นเขียนติดต่อกับหนังสือพิมพ์รายวันก่อน

เครื่องอุปกรณ์ของพวกฟรี ลานซ์
โรเยอส์ กล่าวว่า ผู้ที่จะเป็นฟรีลานซ์ไม่ต้องมีอะไรมาก เครื่องอุปกรณ์ สำคัญ คือเครื่องพิมพ์เครื่องเขียน กระดาษเปล่าๆ สักตั้งหนึ่ง ซองแสตมป์ และข้อสุดท้ายขอให้ “มีเรื่องอยู่ในพุง” มากๆ ถ้านักเขียนคนใดไม่มีเครื่องพิมพ์ ก็ต้องใช้หมึก ปากกา แต่ต้องเขียนลายมือดีๆ ให้อ่านง่าย ถ้าฟรี ลานซ์คนใดพิมพ์ดีดต้นฉบับเรื่อง (MSS.-Manuscripts) ส่ง บรรณาธิการ จะพอใจมากกว่าตัวเขียนลายมือ

งานเขียนของพวกฟรี ลานซ์
ขอบเขตของเรื่องที่พวก ฟรี ลานซ์ จะเขียนส่งหนังสือพิมพ์นั้นมี กว้างขวาง ซึ่งเราอาจเลือกตามความถนัด เช่น บทนำ บทไขข่าว บทวิจารณ์ บทรีวิวหนังสือ ศิลปะ การกีฬา การปาฐกถา ความรู้เบ็ดเตล็ด ความเห็นเกี่ยวกับการเมือง การคลัง การกสิกรรม วิทยาศาสตร์ การพาณิชย์ ความก้าวหน้าของโลก เรื่องการท่องเที่ยว ขนบประเพณี

เริ่มเป็นฟรี ลานซ์
เมื่อท่านเริ่มเขียนเรื่อง และส่งให้หนังสือพิมพ์ก็เท่ากับว่าท่านได้เป็น พวกฟรี ลานซ์ แล้ว แต่การติดต่อระหว่างหนังสือพิมพ์กับฟรีลานซ์นั้น มี ระเบียบและมารยาทอยู่บ้าง ตามที่ข้าพเจ้าได้รับทราบจากผู้เริ่มเขียนบางคนว่า เรื่องที่ส่งให้หนังสือพิมพ์นั้นไปสูญหายเสียเป็นอันมาก ผู้เขียนไม่เคย ได้รับตอบว่าได้รับเรื่องหรือเปล่า เรื่องใช้ได้หรือไม่ บางคนจะขอเรื่องกลับคืนก็ไม่ได้คืน ข้อนี้มักทำให้ผู้เริ่มเขียนมองหนังสือพิมพ์ในแง่ร้าย บางทีก็เกิดความท้อถอย หรือเข้าใจผิดไปได้ต่างๆ

ตามระเบียบปฏิบัติในต่างประเทศนั้นมีดังนี้
ก. นักเขียนนำเรื่องไปส่งที่สำนักงานและนัดหมายเวลาที่จะมาฟังว่า บรรณาธิการจะรับเรื่อง หรือจะมีข้อตกลงอย่างไร ถ้าทำตามฟ้อ ก. นี้ก็ ไม่มีปัญหา แต่โดยมากพวกฟรีลานซ์มักติดต่อกับสำนักพิมพ์โดยทางไปรษณีย์

ข. การติดต่อโดยทางไปรษณีย์นั้น ผู้เขียนจะต้องให้ความสะดวกแก่บรรณาธิการที่จะส่งเรื่องคืนหรือจะติดต่อกับเจ้าของเรื่อง ซึ่งมีระเบียบติดต่อ ดังนี้

๑. ต้นฉบับเรื่องควรพิมพ์หรือเขียนลายมือที่อ่านง่าย หน้าเดียว หน้า หลังห้ามเขียน การเตรียมต้นฉบับจะมีกล่าวเพิ่มเติมตอนท้าย

๒. การส่งต้นฉบับควรลงทะเบียน เพื่อป้องกันการสูญหาย ต้องสอด ซองมีจ่าหน้าถึงเจ้าของเรื่อง พร้อมแสตมป์ให้พอเพียงสำหรับส่งเรื่องคืน

๓. เมื่อบรรณาธิการได้รับต้นฉบับตามที่กล่าวในข้อ ๑ และ ๒ นั้น แล้ว ก็จะอ่านตรวจหรือส่งให้ผู้ช่วย บางทีมีเจ้าหน้าที่อ่านต้นฉบับโดยเฉพาะ ถ้าเรื่องใช้ไม่ได้ บรรณาธิการจะเขียนบันทึกบอกไปว่า ยังใช้ไม่ได้ แต่ถ้า เห็นว่าผู้เขียนมีแววจะเป็นนักประพันธ์ได้สำเร็จ เขาอาจจะบอกว่าอย่าเพ่อท้อใจ ให้พยายามใหม่ โดยมากบรรณาธิการไม่มีเวลาพอที่จะบอก หรือชี้แจงอย่างอื่นยิ่งไปกว่านั้น ถ้าบรรณาธิการรับต้นฉบับก็จะตอบจดหมาย พร้อมกับส่งเงินมาให้ทันที เงินค่าเรื่องนี้ตามสำนักงานเขามีกำหนดไว้แล้ว บางทีอาจจะตอบไปว่า เรื่องใช้ได้ จะลงพิมพ์ในหนังสือฉบับนั้นๆ ส่วนเงินจะส่งให้เมื่อเรื่องนั้นลงพิมพ์แล้วภายในเวลาเท่านั้นเท่านี้ และเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดขึ้น เจ้าของเรื่องควรบอกไปในหนังสือนำส่งว่า เรื่องนั้นจะขายหรือให้เปล่า

ตามปกติ บรรณาธิการ (หนังสือพิมพ์อเมริกันตามที่โรเยอส์บอกไว้) จะตอบให้เจ้าของเรื่องทราบภายในสองสัปดาห์เป็นอย่างช้า ถ้าในสองสัปดาห์ ผู้เขียนยังไม่ได้รับข่าว ก็หมายความว่าเรื่องเขามีหวังจะลงพิมพ์ได้ เพราะเรื่องที่ใช้ไม่ได้บรรณาธิการจะรีบส่งคืนเจ้าของ นี่เป็นมารยาทซึ่งเชื่อว่า หนังสือพิมพ์ของเราคงจะได้ปฏิบัติกันอยู่เหมือนกัน แต่ถ้าเวลาล่วงไปสักสี่ห้าสัปดาห์ ผู้เขียนยังไม่ได้รับข่าวอะไรเลย แปลว่า จะต้องมีอะไรผิด ผู้เขียนต้องมีหนังสือสอบถาม ผู้เริ่มเขียนต้องมีความเพียรและความอดทนอยู่บ้าง บางทีท่านอาจรู้สึกว่าอาณาจักรการประพันธ์ซึ่งท่านกำลังเดินทางเข้าไปด้วยหัวใจอันอิ่มเอิบนั้น ช่างทุรกันดารเสียจริงๆ กว่าท่านจะได้เป็นเจ้าเป็นใหญ่จนบรรณาธิการมางอนง้อเรื่องนั้น ท่านอาจต้องเขียนทิ้งเขียนขว้าง หรือแสดงความอดทนอย่างมากมาย

เหตุที่นักประพันธ์ประสบความไม่สำเร็จ
การที่ผู้เริ่มประพันธ์ไม่อาจขาย หรือทำให้เรื่องของตนดีถึงบรรณาธิการรับพิมพ์นั้น มีเหตุใหญ่สามประการ คือ

๑. หย่อนความสามารถ (Incompetence) ในทางเขียน นึกว่าการ ประพันธ์เป็นของง่ายเกินไป และเขียนเรื่องโดยอยากมีชื่อเสียง อยากได้ชื่อ การเข้าสู่วงการประพันธ์โดยไม่ได้ตระเตรียม ฝึกฝนและศึกษาวิชาการประพันธ์ตามสมควร ย่อมพบความสำเร็จช้า หรือไม่พบเลย ดังที่หลายคนเคยบ่นว่า ส่งเรื่องให้หนังสือพิมพ์ตั้งหลายเรื่องไม่ได้ลงพิมพ์สักครั้งเดียว

๒. เขียนเรื่องชนิดหนึ่ง แต่ส่งให้หนังสือพิมพ์ซึ่งมีเข็มการลงพิมพ์เรื่องอีกชนิดหนึ่ง ถึงเรื่องจะดีอย่างไร บรรณาธิการก็เอาลงไม่ได้ เพราะผิดวัตถุประสงค์หรือผิดแนวของหนังสือนั้นๆ

๓. เขียนเรื่องซึ่งประชาชนนไม่สนใจ ข้อนี้สำคัญมาก สำหรับผู้เริ่มฝึกมักต้องเขียน “ตามใจ” คนอ่านก่อน เมื่อ “เก่ง” แล้ว จึงเขียนตามใจ ตนเองได้ ถ้าผู้เริ่มฝึกได้อ่านหนังสือพิมพ์ต่างๆ แล้วหมั่นพิจารณาเรื่องที่ปรากฏในหน้ากระดาษ ก็พอจะคะเนได้ว่าประชาชนกำลังสนใจ หรือนิยมอ่านเรื่องอะไร

ตลาดหนังสือ
ผู้ที่จะ “เล่นการประพันธ์” ควรเอาใจใส่ในตลาดหนังสือ ในต่างประเทศเขามีสมุดแจ้งเรื่อง (Directory) ของบรรดาหนังสือพิมพ์และแมกกาซีน ที่กำลังออกจำหน่ายพร้อมชื่อบรรณาธิการ สำนักงาน และแนวของหนังสือนั้นๆ และยังมีหนังสือพิมพ์ออกเพื่อประโยชน์แก่การประพันธ์โดยเฉพาะ เช่น Author and Journalist, The Writer, และ The Writer’s Monthly เป็นต้น ในตลาดหนังสือเมืองไทย ยังไม่มีหนังสือชนิดนี้ ฉะนั้นผู้ที่เอาใจใส่ในการเขียน ควรรู้จักหนังสือพิมพ์ต่างๆ ที่กำลังพิมพ์จำหน่ายอยู่ในเมืองเรา ว่าหนังสือฉบับไหน ใครเป็นบรรณาธิการ อยู่ไหน ต้องการเรื่องอะไร ซึ่งเป็นการศึกษาที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง ผู้เริ่มเขียนต้องพยายามรู้จักติดต่อกับวงการประพันธ์ บรรณาธิการหรือนักเขียนที่มีชื่อเสียงไว้บ้าง

แนะนำผู้เริ่มฝึก
ผู้เริ่มฝึกที่มุ่งหมายความสำเร็จต้องเขียนมาก และอ่านมาก พยายาม อ่านหนังสือที่เขาถือกันว่าเป็นวรรณกรรมชั้นดี เพื่อจะได้ถือเป็นแบบอย่าง แม้หนังสือพวกชั้นตํ่าที่เรียกว่า “Cheap Literature” ใช้สำนวนภาษาต่ำๆ ที่วางขายอยู่ดาษดื่นก็ควรอ่านพวกหนังสือที่เขาเรียกว่า “สำนวนสิบสตางค์” นี้ อาจจะให้ความคิดแก่ท่านว่า เรื่องอย่างไรที่ไม่ควรเขียน แต่พวก “สำนวนสิบสตางค์” นี้ บางเรื่องก็อาจกลายเป็นเรื่องสำคัญไปได้เหมือนกัน

หนังสือชั้นเก่าที่ให้แบบอย่างสำนวนภาษาก็ดี เช่น

พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๕ เรื่องไกลบ้าน พระราชพิธี ๑๒ เดือน พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๖ เที่ยวเมืองพระร่วง ปกิณกคดีของอัศวพาหุ

นิพนธ์ของ น.ม.ส.-นิทานเวตาล จดหมายจางวางหร่ำ นิทานของ
น.ม.ส.

นิพนธ์ของ ครูเทพ-เรียงความบางเรื่องของครูเทพ

นิพนธ์ของเสฐียรโกเศศ และนาคะประทีป-กามนิต ทศมนตรี

เรื่องอื่นๆ มี มหาภารตยุทธ์ ของ ส.น. สามก๊ก ของ เจ้าพระยา พระคลังหน จดหมายเหตุ ความทรงจำพระนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เหล่านี้นับถือกันว่า เป็นแบบสำนวนภาษาที่ดียิ่ง

สำหรับสมัยปัจจุบันนี้ ท่านอาจเลือกเรื่องของนักประพันธ์ที่ท่านชอบ สักคนหนึ่ง พยายามอ่านและพิจารณาว่า ท่านชอบเพราะเหตุใด เขามีสำนวน และเค้าเรื่องที่เขียนอย่างไร

การที่แนะนำหนังสือต่างๆ เหล่านี้ รู้สึกว่านักศึกษาคงหาอ่านได้ยาก
เพราะเป็นหนังสือที่ไม่ค่อยได้พิมพ์มากมายแพร่หลาย อย่างไรก็ดี ถ้ามี โอกาสแล้วท่านควรหาอ่าน จะอ่านหนังสืออะไรก่อนก็ได้ ถ้าท่านพอใจจะเป็นฟรี ลานซ์ จะต้องอ่านหนังสือให้มากที่สุดที่จะมากได้ ทั้งพวกสารคดี และบันเทิงคดี

ส่วนการเขียนนั้น ท่านต้องเขียนอย่างใจเย็น อย่ารีบร้อน เมื่อเขียน เสร็จต้องอ่านตรองทบทวน ถ้าพอมีเพื่อนที่ท่านจะอ่านให้เขาฟังได้ก็ควรทำ เขียนเสร็จแล้วลองทิ้งไว้สักสองสามวัน แล้วหยิบมาอ่านใหม่ บางทีสิ่งที่ท่านรู้สึกว่าดีแล้วนั้น ยังมีข้อบกพร่องควรแก้ได้อีก ตอนนี้ผู้เริ่มต้องมีความอดทน อย่านึกพอใจตนเองง่ายๆ ทุกคำทุกประโยคต้องอ่านตรึกตรองอย่างละเอียด ถ้าท่านเริ่มโดยความละเอียดประณีต นับว่าท่านเริ่มถูก

ผู้ที่มีความประสงค์จะเขียนให้ดีพิเศษเฉพาะเรื่อง (Specialise) จะต้องหาความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่จะเขียนให้กว้างขวาง เช่น แผนกบทความใน เรื่องการเงิน การเมือง การกสิกรรม การค้า วิทยาศาสตร์ การประดิษฐ์ ค้นคว้า (Invention) ศิลปะ สถาปัตย์ ฯลฯ หนังสือพิมพ์รายวันย่อมต้องการบทความเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้อยู่เสมอ นักเขียนนอกจากเขียนเรื่องบันเทิงคดี (Fiction) อาจจะเขียนบทความที่ตนสนใจเรื่องหนึ่งเรื่องใดก็ได้ แต่ทุกเรื่อง ที่ท่านเขียน ท่านควรมีความรู้ในเรื่องนั้นๆ ให้เพียงพอ

ผลประโยชน์
ผู้เขียนเรื่องเป็นงานอดิเรกนั้น เพียงแต่เรื่องได้ลงพิมพ์เผยแพร่ก็เป็นที่พอใจ ส่วนประโยชน์ที่เป็นเงินเป็นทองนั้น สำหรับในเมืองไทยบัดนี้ นับว่าสูงขึ้น ก่อนหน้าสงคราม พวกฟรีลานซ์มักจะถูกเขียน “ฟรี” เสียโด มาก แต่บัดนี้วรรณกรรมเป็นสินค้าได้แล้ว แต่ราคาค่าเรื่องนั้นหนังสือพิมพ์ต่างๆ ยังไม่ได้ประกาศชัดแจ้งลงไป ในต่างประเทศ เช่นในอเมริกา เขาคิดราคาเรื่องตามจำนวนคำ และความสำคัญของเรื่องกับนามผู้เขียน อัตราธรรมดาระหว่างคำละหนึ่งเซนต์ถึงสิบเซนต์ โรเยอส์ซึ่งหนังสือ Journalistic Vocations ว่า อย่าไปหวังรวยกับการเป็นฟรี ลานซ์ ให้มากนัก ทางที่ดีควรมีอาชีพอะไรเป็นประจำ แล้วเขียนเรื่องเป็นการหารายได้พิเศษแหละดี

ท่านต้องตรวจตัวสะกดการันต์ การเว้นวรรค และเครื่องหมายวรรค ตอนให้ถูกต้อง หากเป็นสารคดี ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ถูก พวกวิสามานยนามต้องดูให้ถูกต้อง และควรบอกที่มาของหนังสือค้นคว้าไว้ในตอนท้ายด้วย

การเตรียมต้นฉบับ
ผู้เริ่มควรเขียนเป็นร่างก่อน เมื่อตรวจแก้ร่างจนเป็นที่พอใจแล้ว จงเขียนให้เรียบร้อยอีกครั้งหนึ่ง ไม่ต้องกลัวเสียเวลา การทำให้เรื่องของท่านอ่านง่ายและน่าดูเป็นสิ่งสำคัญ

๑. ควรใช้กระดาษฟุลสแกป หรือกระดาษไม่มีบรรทัดขนาดกระดาษ พิมพ์ดีด กว้าง ๘ นิ้ว ยาว ๑๒ นิ้ว

๒. ถ้าพิมพ์ต้นฉบับได้เป็นดี ถ้าจะเขียนควรใช้หมึกสีดำหรือนํ้าเงินแก่ ไม่ควรเขียนด้วยตัวดินสอ

๓. เขียนหรือพิมพ์หน้าเดียว เว้นหน้าซ้ายไว้ประมาณ ๑-๑ ๑/๒ นิ้ว
และต้องเขียนบอกหน้าไว้ทุกหน้า

๔. อย่าเขียนจนชิดขอบล่างหรือขอบบนนัก เหลือระยะระหว่างขอบไว้สักหนึ่งนิ้วเป็นดี

๕. ระวังตรวจตัวหนังสือของท่านให้ถูกต้อง อย่าให้ผู้อ่านสงสัย เพราะ ผู้รับเรื่องไม่อาจซักถามท่านได้

๖. การย่อหน้า และเครื่องหมายวรรคตอนต่างๆ ต้องให้แลเห็นชัดเจน

๗. ข้อสุดท้ายเมื่อเซ็นชื่อแล้ว อย่าลืมเขียนชื่อและตำบลที่อยู่ของท่านให้ชัดเจน

๘. จดหมายถึงบรรณาธิการ ไม่ต้องเขียนยืดยาว บอกแต่ว่า เรื่องที่ส่งมานั้น เป็นเรื่องสั้น บทนำ หรือสารคดี ท่านให้เปล่าหรือต้องการขาย ท่านจะไปฟังผลโดยตนเอง หรือต้องการให้ตอบไป ณ ที่ใด ไม่จำเป็นต้องแนะนำตนเองมากนัก

แบบการจัดต้นฉบับ

silapa-0225

วงการเขียนของพวกฟรี ลานซ์
ถ้าเราหยิบหนังสือพิมพ์ข่าว และนิตยสารหลายๆ ฉบับมาพิจารณาดู แล้วแยกเรื่องออกเป็นประเภทต่างๆ ก็จะได้ดังนี้

๑. ข่าว
๒. บทความ
๓. ความเรียงทั้งเชิงสาระและปกิณกะ
๔. นวนิยาย
๕. เรื่องสั้น
๖. ชีวประวัติ
๗. รีวิวหนังสือและปาฐกถา
๘. บันทึกการท่องเที่ยว หรือขนบประเพณีต่างๆ

เหล่านี้ พวกฟรี ลานซ์ อาจเขียนได้ทั้งนั้น

ที่มา:เปลื้อง ณ นคร