สไตล์ (Style) หรือ สำนวน

Socail Like & Share

คำว่า สไตล์ (Style) แปลอย่างง่ายที่สุดก็ว่า แบบ ได้แก่รูปทรง หรือ ลักษณะโดยเฉพาะของสิ่งหนึ่งสิ่งใด ถ้าท่านดูภาพเขียนของ เหม เวชกร กับ พนม จะเห็นว่าการให้เส้น ให้เงา และรูปทรงของภาพผิดกัน เราจะเรียกว่า ภาพแบบของเหม เวชกร ภาพแบบพนม ก็ได้ ทีนี้ดูหนังสือพิมพ์ต่างๆ ท่านจะเห็นว่ารูปร่างหนังสือ การจัดหน้าต่างก็มีแบบไม่เหมือนกัน คนละสไตล์ ทีนี้ถ้าท่านสังเกตคำพูดของสหายหลายๆ คนของท่าน สิ่งที่สะดุดความสังเกตครั้งแรกของท่านก็คือ บางคนพูดเร็ว บางคนพูดช้า บ้างพูดเนือยๆ บ้างเสียงหนักแน่น ขึงขัง ต่อจากนั้นจะเห็นว่าบางคนใช้คำพูดคราวละคำสองคำสั้นๆ บางคนพูดคราวเดียวยืดยาว สังเกตต่อไปจะเห็นว่า บางคนใช้ถ้อยคำดาดๆ เผินๆ บางคำหยาบ บางคำฟังแล้วไม่เข้าใจ ว่าเขาหมายความว่ากระไร ต้องซักถาม แต่บางคนใช้ภาษาเรียบร้อย เข้าใจง่าย บางคนใช้คำนิ่มนวล บางคนเวลาพูดมักติดศัพท์ติดแสง นี่คือ แบบพูด ซึ่งเราเรียกกันว่า “สำนวน” ในการเขียน ก็เช่นเดียวกัน นับแต่ น.ม.ส., ครูเทพ, ดอกไม้สด, ศรีบูรพา, ยาขอบ, สันต์ เทวรักษ์ มาทีเดียว จะเห็นว่าสำนวนไม่เหมือนกันสักคนเดียว และถ้าท่านเป็นนักอ่านที่พินิจพิเคราะห์แล้ว ท่านอาจทายได้ว่าเรื่องนั้นเรื่องนี้ใครเขียน หนังสือกลอนเก่าๆ ที่เผอิญไม่มีบอกว่าใครแต่ง เขาต้องอาศัยสันนิษฐานสำนวน เช่น กลอนสุนทรภู่ มีลักษณะพิเศษประจำ พออ่านก็รู้ทีเดียวว่านี่ต้องเป็นกลอนของสุนทรภู่

ถ้าท่านเป็นนักอ่าน บางทีท่านจะพบเขาแปลคำ สไตล์ ซึ่งใช้กับการ ประพันธ์ว่าแบบเขียนบ้าง ทำนองเขียนบ้าง ท่วงทำนองบ้าง หนังสือนี้จะใช้คำว่า สำนวน เพราะเห็นว่าเป็นคำที่มีความหมาย เข้าใจง่าย และเหมาะเจาะกับการประพันธ์ เช่นถ้าจะพูดว่า สำนวนยาขอบ สำนวนดอกไม้สด สำนวน น.ม.ส. สำนวนหนังสือสามก๊ก สำนวนหนังสือเล่มละสิบสตางค์ (ซึ่งเป็นหนังสืออ่านที่ไม่พิถีพิถันในการประพันธ์) และบางทีท่านอาจพบประกาศขายหนังสือบางเล่มว่า เป็นสำนวนสะวิง ท่านอ่านแล้ว เข้าใจว่ากระไร ท่านอาจรู้สึกว่า ท่านจะแปลกใจ เกิดมีสำนวนใหม่ขึ้นมาอีกอย่างแล้วละ คำว่า ทำนองเขียนก็ดี แบบเขียนก็ดี สำนวนก็ดี เดิมเราใช้คำง่ายๆ ว่า “ฝีปาก” คนเก่าๆ เขาพูดกันว่า ฝีปากคนนั้น ฝีปากคนนี้ บางทียังใช้ คำว่า คารมอีกด้วย คำบัญญัติ (Technical Term) ในการประพันธ์ของเรา ยังไม่มีตำราใดตราไว้ชัดเจน จึงยังคงใช้แตกต่างกันตามความรู้ความคิดเห็นของผู้ใช้ สำหรับผู้ที่ศึกษาขอให้เข้าใจว่า คำ “สำนวน” ถ้า เทียบกับคำฝรั่งแล้ว ก็มุ่งหมายจะให้ตรงกับคำว่า สไตล์ (Style)

ทีนี้สมมุติว่า ท่านมีเพื่อนอยู่คนหนึ่ง ท่านลองสังเกตเวลาเขาพูด แล้วลองเลียนพูดอย่างเขาพูด ท่านจะเลียนได้ชั่วประเดี๋ยวเดียว แล้วก็จะ หวนพูดตามแบบตามสำนวนของท่านเอง ทั้งนี้คำพูดเลียนกันไม่ได้ กิริยา ท่าทางก็เลียนกันไม่ได้ ต่างคนต่างมีแบบของตัวโดยเฉพาะ การเขียนหนังสือ ก็เหมือนกัน เลียนแบบกันไม่ได้ สำนวนของใครก็ของคนนั้น ท่านอาจชอบสำนวนของ น.ม.ส. ท่านอ่านหนังสือ น.ม.ส. หลายเรื่อง อ่านซ้ำซากจนว่าขึ้นใจก็ได้ แต่ท่านจะเขียนให้เหมือนสำนวน น.ม.ส. ไม่ได้เป็นอันขาด มีคนจะเขียนอย่างสำนวน น.ม.ส. ได้คนเดียวเท่านั้น คือ ตัว น.ม.ส. เอง สตีเวนสัน (Stevenson) เขียน Dr. Jekyll and Mr. Hyde (หมอลามก) พยายามเลียนสำนวนของ เดโฟ (Defoe) ผู้เขียนเรื่อง โรบินสัน ครูโซ (Ro¬binson Crusoe) แต่ไม่สำเร็จ อันสำนวนนี้เป็นของท่านแต่ผู้เดียว ท่านจะเลียนใครหรือให้ใครเลียนก็ไม่ได้ ท่านต้องสร้างและบำรุงสำนวนของท่านขึ้นเอง เฮซลิตต์ (Hazlitt) ที่วรรณคดีอังกฤษ นิยมว่ามีสำนวนเป็นเอกคนหนึ่ง ในวรรณคดีอังกฤษนั้น ฝึกหัดเขียนอยู่ ๘ ปี

เมื่ออ่านมาถึงเพียงนี้ ท่านอาจจะถามว่าสำนวนนี้คืออะไรแน่ คำจำกัดความอย่างสั้นที่สุดก็คือ สำนวน คือ วิธีแสดงความคิดของเราออกเป็นภาษา สำนวนทองคนไหนก็เท่ากับกระจกเงาส่องให้เห็นลักษณะจิตใจ และอุปนิสัยของคนนั้น ท่านอาจจะพบนักเขียนเรื่องขบขันสักคน ที่ท่าน เห็นว่าเป็นคนหน้าตาย ไม่น่าเขียนเรื่องขันๆ ใช้คำตลกคะนอง แต่คงไม่มีใครทราบจิตใจของเขาดีกว่าตัวเขาเอง ถ้าท่านได้สนิทสนมกับเขาท่านก็คงรู้ว่า มีความสนุกขบขันซ่อนอยู่ภายในหน้าตายนั้น

หนังสือที่ไม่มีสำนวน มีหรือไม่ ? หนังสือเช่นนี้มีมากมาย แต่เป็นพวกหนังสือตำรับตำรากฎหมายอาญา ตำราภูมิศาสตร์ ตำราคณิตศาสตร์ เหล่านี้เป็นต้น เป็นพวกหนังสือที่ไม่มีสำนวน นอกจากจะอ่านยากอ่านง่ายแล้ว ก็ไม่มีรสอื่น ไม่ส่อลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดของผู้แต่ง การเขียนหนังสือที่เรียกว่า ไม่มีสำนวน (No Style) นี้ ภาษาอังกฤษเขาว่า ไม่มีสีสัน (Colourless) คือไม่มีแววลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดของผู้เขียน (Tinge of Personality) หนังสือพวกบันเทิงคดีย่อมมีสำนวนทั้งสิ้น แต่อาจเป็นสำนวนอย่างเลว ต่ำและน่าสะอิดสะเอียน ถ้าท่านเข้าไปฟังพวกชนชั้นตํ่า พูดให้เข้าใจง่ายก็ว่า พวกกุ๊ย พอท่านได้ยินเขาพูดกัน บางทีจะรู้สึกได้ว่า “น่าสะอิดสะเอียน” เป็นอย่างไร

เมื่อท่านจะแต่งเรื่อง ท่านจะนึกถึงหลักโน่นหลักนี่อยู่ไม่ได้ ถ้าทำเช่นนั้น สำนวนของท่านก็จะกระด้าง เปรียบเหมือนนักเต้นรำ ถ้าขณะจับคู่เต้นต้องนึกถึงสเตปท่าก้าวอยู่เสมอ ท่านก็เป็นนักเต้นรำที่ดีไม่ได้ ถ้าท่าน เขียนหนังสือ มัวแต่นึกสะกดตัว ท่านก็จะเทียนหนังสือคล่องไม่ได้ ท่าน อาจจะถามว่า เมื่อเป็นดังนี้ ท่านจะเรียนหลักการประพันธ์ไปทำไม หลักการประพันธ์จะคอยเตือนท่าน เมื่อท่านเขียนผิด และเมื่อท่านเขียนอะไรไปแล้ว ท่านจะรู้ว่าของท่านดี หรือบกพร่องตรงไหนก็โดยหลักการประพันธ์ นักประพันธ์ที่ดีทุกคนต้องรู้จักข้อบกพร่องในงานประพันธ์ของตน นี่แหละประโยชน์ของหลัก

คำจำกัดความที่ให้ไว้ตอนต้น บางทีอาจจะรู้สึกว่าสั้นไป และท่านจะยังเข้าใจความหมายไม่ได้ดีนัก ยอร์ช เซนต์บูรี (George Saintbury) ได้ ขยายความให้คำอธิบายต่อไปว่า “สำนวน คือ การเลือกสรรถ้อยคำและเรียบเรียงถ้อยคำให้ได้ความหมายตรงกับที่ต้องการ กล่าวคือเฟ้นหาคำที่จะแสดงความหมายชัดเจนตรงกับที่เราประสงค์ แล้วเอาคำนั้นมาเรียงกันเข้าเป็นวลี ประโยค และข้อความ” การเลือกคำและเรียงคำนี้ทำโดยจิตใจและความคิดของเรา ถ้าจิตหรือความคิด (คือตัวเรา) เป็นคนพิถีพิถัน ละเอียดลออ การเลือกและเรียงคำก็ประณีต ไม่สับสน เขาจึงว่าสำนวนคือตัวผู้เขียนนั่นเอง (Style is the man himself. – Buffon)

จะยกตัวอย่างสำนวนหนังสือ สามก๊ก (คือสำนวนของเจ้าพระยา พระคลัง หน) มาให้ท่านพิจารณาสักตอนหนึ่ง

“ฝ่ายเตียวหุยเสพย์สุราแล้วขี่ม้าจะไปเที่ยวเล่น ครั้นมาถึงตรงประตู ที่อยู่ต๊กอิ้ว เห็นคนแก่ยืนร้องให้อยู่ประมาณห้าสิบหกสิบคน เตียวหุยจึง ถามว่ามาร้องไห้อยู่นี่ด้วยเหตุอันใด คนทั้งปวงจึงบอกว่าต๊กอิ้วให้เอาปลัดมาโบยตี ให้ซัดว่าเล่าปี่ฉ้อราษฎร ครั้นข้าพเจ้าชวนกันจะเข้าไปขอโทษ นายประตูมิให้เข้าไป แล้วซ้ำตีข้าพเจ้าอีกเล่า ข้าพเจ้าได้ความเจ็บอาย จึงร้องให้อยู่ฉะนี้ เตียวหุยได้ยินดังนั้นก็โกรธ โจนลงจากหลังม้า วิ่งเข้าไปถึงประตู นายประตูห้ามก็มิฟัง ครั้นเตียวหุยเข้าไปในประตูเห็นปลัดต้องมัดมือมัดเท้าอยู่ ต๊กอิ้วนั้นนั่งอยู่บนเก้าอี้ เตียวหุยตวาดแล้วร้องว่า อ้ายขี้ฉ้อใหญ่ มึงรู้จักกูหรือไม่ ต๊กอิ้วตกใจ เงยขุ้นเห็นเตียวหุย ยังมิทันตอบประการใด เตียวหุยเข้าจับจิกผมกระชาก ต๊กอิ้วตกลงจากเก้าอี้ แล้วเอาผมกระหมวด มือลากออกมาถึงศาลากลาง จึงเอาผมต๊กอิ้วผูกกับหลังม้า แล้วหักเอากิ่งสน มาตีต๊กอิ้วเจ็บปวดสาหัส”

บางทีท่านอาจพูดว่า ไม่เห็นมีสำนวนอย่างไร อย่างนี้เป็นสำนวนเรียบๆ แต่รัดกุม สำนวนแบบสามก๊กนี้ นักเขียนพงศาวดารจีนมักเลียนแบบเสมอ แต่ก็ไม่มีใครทำได้เหมือน ขอให้สังเกตว่า

๑. ประโยคที่ใช้นั้นเป็นประโยคสั้นๆ ไม่ยืดยาว บางคนเขียนประโยค ยาวยืดกว่าจะอ่านรู้เรื่องก็ต้องกลั้นใจ บางทีต้องอ่านซ้ำจึงจะจับใจความได้

๒. ประโยคบางประโยคมีแบบเหมือนกัน เช่นประโยคที่ต่อด้วยคำ
“ครั้น……จึง” “แล้ว….. จึง” หรือ “เตียวหุยได้ฟังดังนั้น ก็ โกรธ”
“นายประตูห้าม ก็ มิฟัง”

๓. คำที่ใช้ แม้จะเป็นคำธรรมดา ก็เป็นคำที่ให้ความหมายชัดเจน
คำว่า “เสพย์สุรา” กับ “กินเหล้า” ความหมายก็เท่ากัน แต่ความรู้สึกซึ่งได้จากคำนี้ผิดกัน “กินเหล้า” ดูเป็นคำสำหรับพวกขี้เมา คนแก่ มีคำที่คล้ายกัน เช่น ผู้เฒ่า-คนสูงอายุ-คนชรา ท่านลองเอาคำ คนชรา ใส่แทนที่ “คนแก่” ในประโยคตัวอย่างดูจะรู้สึกว่าความแปลกไปจากเดิม “ราษฎร” มีคำอื่น เช่น พลเมือง ประชาชน แต่ “ราษฎร” ดีกว่า พลเมือง มักใช้ในที่หมายถึงจำนวน ส่วนประชาซน มักจะหมายเฉพาะกลุ่มหนึ่งๆ คำที่ใช้ส่วนมาก ไม่มีคำศัพท์เลย ถ้าใช้คำศัพท์แล้ว ท่านจะหาคำธรรมดาแทนให้เหมาะได้ยาก (คำศัพท์ คือ พวกคำบาลี สันสกฤต เขมร คำธรรมดาหมายถึงคำไทยแท้)

๔. คำไม่ฟุ่มเฟือย จะเห็นได้จากความ เช่น “ประตูที่อยู่ต๊กอิ้ว” ไม่ใช้คำว่า “ของต๊กอิ้ว” และ “ต๊กอิ้วตกใจเงยขึ้น” จะเห็นว่า ไม่ใช่ “เงยหน้า” เพราะไม่จำเป็น

ทีนี้ท่านลองอ่านสำนวนของอัศวพาหุบ้าง (คัดจากเรื่อง เมืองไทย จงตื่นเถิด ปกิณกคดีของอัศวพาหุ)

“ประเทศสยามต้องหวังหากำลังจากชาวไทย อาวุธไทยต้องรักษา แดนไทย และชาติไทยที่จะหวังมั่นคงอยู่ต่อไปได้ ก็ต้องอาศัยกำลังและ ความรู้สึกรักชาติอันแท้จริงแห่งบุคคลซึ่งเป็นไทยโดยเฉพาะ ถึงแม้ว่าเราอาจจะได้รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศในการบำรุงความสมบูรณ์แห่งประเทศเราก็ดี เมื่อถึงเวลายุคเข็ญเข้าแล้ว เราจะไปนั่งอาศัยความอุดหนุนแห่งเขานั้น ย่อมจะเป็นความคิดผิดอย่างร้ายแรง ซึ่งอาจนำมาซึ่งภยันตราย อันจะชัก ไปสู่ความพินาศได้”

เมื่ออ่านดูจะรู้สึกถึงลักษณะความเข้มแข็ง เร่งเร้า จะเห็นว่าบางตอน ยํ้าคำ เช่น ไทย ประโยคบางประโยคสั้นกระชับ บางประโยคยาว มีความหมายซ้อนๆ กัน คำที่ใช้ก็แสดงความเคร่งเครียด เช่น นั่งอาศัย-ยุคเข็ญ- ภยันตราย-ความพินาศ

ทีนี้ลองอ่านความตอนหนึ่ง ใน กถาสริตสาคร
“มีประเทศหนึ่งเลื่องชื่อว่า วัตสะ ประหนึ่งว่าพระธาดาทรงสร้างขึ้นในแผ่นดิน ให้ความหยิ่งแห่งสวรรค์เสื่อมเซาไป ในท่ามกลางแคว้นนั้นมี บุรีใหญ่ชื่อ เกาศามภี เป็นที่อยู่แห่งพระลักษมีวิลาศ โปรดยิ่งสำนักอื่น และอาจกล่าวได้ว่าเป็นกรรณิกาของโลก ออกพญาในกรุงนั้น คือ ท้าวศตานีกะ มีสมภพสืบมาแต่เผ่าปาณฑพ”

ข้อแรกที่ท่านจะสังเกตเห็นคือคำศัพท์ พระธาดา (พรหม) พระลักษมี (พระอุมา ความหมาย แห่งความรุ่งเรือง) กรรณิกา (ตุ้มหู) โวหารที่เปรียบเทียบก็มีชั้นเชิงพิสดาร คำที่ใช้มีคำสวยๆ สูงๆ เช่น เลื่องชื่อ บุรี สมภพ ที่ว่า ออกพญา แปลว่า เจ้าเมือง ที่ใช้ ออกพญา ทำให้รู้สึกถึงความเก่าแก่ และฟังดูสูงกว่าเจ้าเมือง เป็นสำนวนวิจิตรพริ้งพราย

ยังมีสำนวนอีกนานาประการ มีนักประพันธ์เท่าใดก็มีสำนวนเท่านั้น ตอนต้นได้พูดถึงสำนวนสะวิง หมายความว่ากระไร ถ้าท่านอ่านเรื่องของบางคน อาจรู้สึกเงียบๆ เย็นๆ เหมือนฟังดนตรีไทย แต่ของบางคนรู้สึกเร่งร้อน วูบวาบ อึกทึก ครึกครื้น เหมือนฟังเพลงสะวิงของดนตรีแจ๊ส นั่นแหละ คือสำนวนสะวิง แต่สำนวนบางสำนวนอ่านแล้วไม่ติดใจ บางสำนวนก็ดีชั่วแล่น อ่านไปๆ ก็จืด เบื่อง่าย ทั้งนี้เพราะว่า แม้จะมีสำนวนมากมายหลายอย่างก็จริง แต่ในเนื้อหาของสำนวนนั้นๆ จะต้องมีคุณสมบัติอะไรสักอย่างหนึ่ง ที่จะรักษาความยั่งยืนไว้ มิฉะนั้นเสื่อมเร็ว เปรียบเหมือนต้นไม้ที่ไม่มีรากแก้ว

คุณสมบัติของสำนวนที่ดี
ถึงแม้ว่านักประพันธ์จะมีสำนวนของตนเองแต่ละคนก็ตาม คุณสมบัติ ต่อไปนี้จะต้องมีอยู่ในสำนวนนั้น จึงจะเป็นสำนวนที่ดีได้

๑. ความชัดเจน
ได้แก่การใช้ถ้อยคำภาษา ที่ทำให้ผู้อ่านเข้าใจชัด และต้องให้เข้าใจ อย่างเดียวตรงตามความประสงค์ของผู้เขียน อย่าให้ผู้อ่านรู้สึกคลุมเครือ ตีความหมายคำที่เราใช้ไปได้หลายทาง ข้อนี้ผู้เริ่มฝึกหัดการประพันธ์มักจะบกพร่องกันเป็นส่วนมาก คือ เมื่อเขียนแล้วอ่านโดยตนเองก็รู้สึกว่าเข้าใจ นี่เป็นการรู้สึกโดยใจตนเองเท่านั้น เมื่อจะเขียนข้อความอะไรลงไป ท่านจะต้องนึกถึงผู้อ่านว่า คำเช่นนี้ ความเช่นนี้ ผู้อ่านจะเข้าใจว่ากระไร ผู้เริ่มฝึกมักจะเขียนเพื่ออ่านเข้าใจคนเดียว การที่จะเขียนให้ชัดนั้น ท่านต้องพิเคราะห์ถ้อยคำทุกคำที่ใช้ และเมื่อเอาคำเหล่านั้นรวมเข้าเป็นประโยคแล้ว ต้องอ่านทบทวน พิจารณาความหมายอย่างรอบคอบ ผู้ที่เขียนอย่างเลินเล่อ ขาดความใคร่ครวญ ไม่เอาใจใส่ในข้อความที่เขียนอย่างจริงจัง จะเขียนให้อ่านได้ความชัดเจนไม่ได้

๒. ความกระชับของถ้อยคำ
คำบางคำมีความหมายใกล้เคียงกันมาก ฉะนั้น เราต้องร่อนเอาคำที่มีความหมายใกล้กับที่เราต้องการที่สุด เช่นคำว่า ใกล้ เคียง ขอบ ข้าง ชาย ชิด ริม ท่านจะต้องการพูดว่า หมู่บ้านอยู่ริมป่า-ใกล้ป่า-ขอบป่า-ข้างป่า-ชายป่า-หรือชิดป่า ท่านต้องการจะใช้คำใด ต้องตรองแล้วตรองอีก อย่าเขียนลวกๆ

ได้เคยกล่าวมาบ้างแล้วว่า คำมีความหมายโดยตรง คือ ตามรูปศัพท์ อย่างหนึ่งกับโดยนัยยะอีกอย่างหนึ่ง ความหมายของคำทั้งสองชนิดนี้ ผู้เริ่มประพันธ์ควรหมั่นสังเกตไว้

คำ กตัญญู แปลว่า รู้คุณท่าน
กตเวที     ”      ตอบแทนคุณท่าน

นี่เป็นความหมายโดยตรงตามรูปศัพท์ แต่ทีนี้ลองนึกถึงคำเช่น บุตร- ลูก, สามีภรรยา-ผัวเมีย, บิดามารดา-พ่อแม่, ชายหญิง-ผู้เมีย, อรุโณทัย- ตะวันขึ้น คำที่เป็นคู่ๆ เหล่านี้ มีคำแปลตรงกัน แต่ความหมายโดยนัยยะ ผิดกัน เราจะพูดว่า บุตรช้างบุตรม้า ไม่ได้ หรือเราจะเขียนว่าอ้ายคง ผู้ร้ายสำคัญเป็นบุตรนายมี ก็ไม่เหมาะ คำต่างๆ เหล่านี้ต้องอยู่ในที่อันสมควรของมัน

๓. อำนาจ
อำนาจ ซึ่งมีในสำนวน ได้แก่ ลักษณะที่ปลุกอารมณ์ความรู้สึกอย่างใด อย่างหนึ่ง เมื่อท่านฟังดนตรี บางเพลงท่านรู้สึกเศร้า บางเพลงทำให้ท่านตื่นเต้นคึกคะนอง ทั้งนี้ก็โดยนักแต่งเพลงเลือกเอาเสียงดนตรีต่างๆ มาเรียงลำดับกัน เกิดเป็นเสียงที่มีอำนาจดลใจผู้ฟังให้เกิดอารมณ์อย่างหนึ่ง นักดนตรีต้องมีหูที่จะฟังให้ออกว่าเสียงดนตรีเสียงไหนทำให้ตื่นเต้น ให้เศร้า ให้น่ากลัว นักประพันธ์ก็ต้องมีหูและความรู้สึกเช่นเดียวกันที่จะให้รู้ว่า คำไหนทำให้เกิดอารมณ์เช่นใดแก่ผู้อ่าน

เสียงของคำ อาจให้ความรู้สึกและอารมณ์ได้ เช่น มะงุมมะงาหรา กะหนุงกะหนิง กระจุ๋มกระจิ๋ม ในปาฐกถาพิเศษเรื่อง สยามพากย์ ของ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร (กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์) ตอนหนึ่งมีดังนี้

“และในกระบวนเสียงนี้ เราควรจะสืบค้นอีกทางหนึ่ง คือ เสียง ชนิดใดมีความหมายไปในทางใด ข้าพเจ้าลองเปิดปทานุกรมดู และจดคำ ซึ่งขึ้นต้นด้วย “คล” กลํ้า ดังต่อไปนี้ คือ คลวง คลอ คลอก คลอง คล่อง คล้อง คลอด คล้อย คละ คลัก คลั่ง คลับคล้ายคลับคลา คล้า คลางแคลง คลาด คลาน คลาย คล้าย คล่าว คลำ คลํ่า คลํ้า คลิ้งโคลง คลิด คลิบ คลี คลี คลึง คลื่น คลุก คลุ้ง คลุม คลุ่ม คลุ้ม เคล่ง เคล็ด เคล้น เคลิบเคลิ้ม เคลี้ย คลึง เคลื่อน เคลือบ ถ้าสังเกตดูแล้วดูเหมือนนอกจากคำว่า คลวง และคลัง แล้ว ไม่มีคำใดแสดงภาวะที่นิ่ง หรือมักจะแสดงอาการเคลื่อนไหว หรือ เคลื่อนคลาด ที่ไม่เที่ยง หรือไม่บริสุทธิ์ทั้งนั้น”

เกี่ยวกับอำนาจของคำนี้ บางทีท่านอาจจะรู้สึกว่าเข้าใจยากอยู่สัก หน่อย ต่อไปเมื่อท่านได้อ่านเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เกิดความรู้สึกวังเวง เพลิดเพลิน เศร้า หรือ เคืองแค้นแล้วลองพิเคราะห์ถ้อยคำต่างๆ ที่นักเขียนใช้ ตลอดจนลักษณะคำที่เรียงกันอยู่เป็นประโยคท่านจะรู้สึกเข้าใจดีขึ้น

๔. ความไพเราะ
คือ คำ และ ประโยค ต่างๆ ที่เราได้เรียบเรียงขึ้น เมื่ออ่านแล้ว ต้องให้รู้สึกว่าราบรื่น ไม่ขัดหู ท่านจะสังเกตได้ โดยทดลองอ่านดังๆ และวิธีที่เขียนแล้วลองอ่านออกเสียงดู เป็นวิธีที่นักเขียนใช้กันอยู่หลายคน

การปรับสำนวนกับเรื่อง
ท่านที่เคยอ่านเรื่อง “เพื่อน-แพง” “มุมมืด” กับ “ผู้ชนะสิบทิศ” ของ ยาขอบ จะเห็นสำนวนที่เขียนไม่เหมือนกัน ทั้งนี้เพราะลักษณะของเรื่องไม่เหมือนกัน แต่อย่างไรก็ดี ยังเป็นสำนวนยาขอบอยู่นั่นเอง เปรียบ เหมือนท่าน ถ้าเป็นทหาร เวลาไปทำงานก็แต่งเครื่องแบบ เวลาเล่นเทนนิส ก็แต่งเครื่องกีฬา เวลาไปเที่ยวเตร่ก็แต่งกายอีกแบบหนึ่ง แต่ก็ยังเป็นท่านอยู่นั่นเอง บางทีถ้ายกตัวอย่างคำกลอนจะเห็นชัด เช่นหนังสือบทละครเรื่อง อิเหนา กับ เรื่องไกรทอง สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงนิพนธ์ทั้งสองเรื่อง แต่เรื่องไกรทองเป็นเรื่องชาวบ้าน จึงต้องใช้สำนวนอย่างชาวบ้าน ส่วนเรื่องอิเหนา เป็นเรื่องกษัตริย์ สำนวนจึงเพริศพราย มีคำศัพท์แสง อ่าน แล้วรู้สึกว่าเป็นผู้ดีๆ

เรื่องชวนหัว เรื่องเศร้า เรื่องลึกลับ เรื่องแบบความเรียง เรื่องของคนชั้นตํ่า เรื่องของคนชั้นสูง เหล่านี้ สำนวนที่เขียนต้องแปรรูปไปให้เหมาะกับสภาพของเรื่อง

ที่มา:เปลื้อง ณ นคร