ประดิษฐการและสัจธรรม

Socail Like & Share

ประดิษฐการ (Invention) และ สัจธรรม (Sincerity)
ประพันธศาสตร์ตอนนี้นับว่าเป็นหัวใจของผู้ที่มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นนักประพันธ์ เมื่อท่านอ่านบทนี้จบ ท่านพอจะตัดสินได้ว่า การศึกษาศิลปะ การประพันธ์ของท่านนั้นจะบรรลุผลสำเร็จเพียงใด ผู้ที่ใคร่จะเป็นนักเขียน เดิมทีก็มีความประสงค์อยากรู้หลักและคำแนะนำ แต่เมื่อได้ศึกษาไปสักหน่อย ก็เกิดเป็นปัญหาขึ้นในใจว่าหลักที่ท่านได้ไปนั้นจะช่วยเหลือท่าน หรือกลับขึงพืดท่านไว้ภายในข่ายแห่งกฎเกณฑ์ หลักแห่งศิลป์ไม่เหมือนสูตรคณิตศาสตร์ คือ ไม่แข็ง ไม่ตายตัว และไม่บีบคั้นท่านให้ยึดมั่นตามหลัก แต่หลักเป็นดวงประทีปส่องทางเมื่อท่านรู้สึกมืด หลักและคำแนะนำจะช่วยส่องทางให้ท่าน

ศิลปะแห่งการประพันธ์ก็เหมือนศิลป์ทั้งหลาย คือผู้ที่ขาดความดูดดื่ม ในศิลปะนั้น จะบรรลุถึงชื่อเสียงเกียรติคุณไม่ได้ มีคำกล่าวในภาษาอังกฤษ ว่า Art for art’s sake. คือ ศิลป์เพื่อศิลป์ การที่เราเขียนเรื่องนั้น ต้องไม่ใช่เพราะอยากจะได้ชื่อเสียง หรือเพื่อความหรูหรา ไม่ใช่เพราะอยากให้ใครๆ พูดถึงยกย่อง ไม่ใช่เพราะต้องการผลประโยชน์ ต้องเป็นเพราะเรารักงานประพันธ์ ถ้าท่านเริ่มต้นโดยเพ่งเล็งในชื่อเสียงและผลประโยชน์ นับว่าเป็นการตั้งต้นผิด ทางไปสู่ความสำเร็จจะยืดยาวและขรุขระ เราเขียนเรื่องเพราะรักที่จะเขียน ถ้าเป็นอย่างนี้ก็เท่ากับว่าเป็นสัญญาณแห่งความสำเร็จ แล้วชื่อเสียงและผลประโยชน์ก็จะตามมาภายหลัง เป็นชื่อเสียงและผลประโยชน์ที่มั่นคง

ความรักที่จะเขียนนี้ย่อมเป็นนิสัยภายในตัวของแต่ละคน อย่างไรก็ดี นิสัยอันนี้อาจปลูกฝังขึ้นภายหลังก็ได้ ศาสตราจารย์ เกนนุง แห่งมหาวิทยาลัย ลิปซิกได้ยืนยันว่า นิสัยอยากขีดเขียนนี้จะเจริญขึ้นได้ก็โดยการฝึกฝนอย่างมีระเบียบเท่านั้น เพียงแต่มีนิสัยยังไม่พอที่จะทำให้เราบรรลุความสำเร็จในงานของเราได้ ฉะนั้นท่านจึงพูดได้ว่า Author is born and made. – นักเขียนย่อมเป็นเองและถูกฝึก

รัสกิน (Ruskin) ผู้เป็นอาจารย์สำคัญทางศิลป์ได้สอนพวกนักเขียน ภาพว่า เหตุที่จะทำให้นักเขียนภาพประสบความล้มเหลวนั้นมีอะไรบ้าง สาเหตุที่ท่านกล่าวนี้ใช้ได้กับนักศิลป์ทั่วไป ตลอดจนนักเขียน คือ

๑. ความรู้สึกเท็จ คือพูดในสิ่งที่ไม่เป็นจริงตามความรู้สึกของตนเอง เรียกในศิลป์ว่า อสัจธรรม (อินซินเซียริตี – Insincerity) ซึ่งตรงกันข้าม กับสัจธรรม (ซินซียริตี – Sincerity)

๒. การคิด หรือ ทำอย่างลวกๆ เลินเล่อ ไม่พยายามฝึกฝนพิจารณา หาความจริง ขาดความสุขุมใคร่ครวญทั้งในการคิดและการเขียน

๓. เรตอริก แวนนิตี (Rhetoric Vanity) คือ ถือสำนวนโวหารสำคัญยิ่งกว่าความคิด ได้แก่ การใช้ประโยคยาวยืดยาด คิดหาคำศัพท์โก้ๆ หรือ พูดเล่นลิ้นเล่นสำนวน แต่ไม่มีเนื้อหาสาระอย่างใด สำนวนหรือถ้อยคำหรูๆ แต่ปราศจาก “แนวคิด” ไม่ทำให้เราเป็นนักเขียนที่ดีได้

นี่เป็นโทษสามประการของนักเขียน ส่วนคุณสองประการ ซึ่งนักเขียน ควรปลูกฝังในตน คือ ประดิษฐการ และสัจธรรม

ประดิษฐการ (Invention)
คำ อินเวนชั่น (Invention) นี้ คำแปลตามปทานุกรมว่า การคิดค้น อะไรขึ้นได้ใหม่ สำหรับคำไทยขอใช้ว่า ประดิษฐการ การคิดอะไรใหม่นี้ บางทีก็ใหม่เอี่ยม ไม่เคยมีในโลก บางทีก็เป็นการดัดแปลงจากของเก่า ใน เชิงศิลปวรรณกรรมก็มีความหมายเช่นเดียวกัน นักเขียนต้องรู้จักนิรมิตงานของเขาขึ้น ให้ท่านสังเกตว่า นักเขียนที่สะดุดความสนใจของผู้อ่านนั้น จะต้องสร้างอะไรใหม่ขึ้นเป็นพิเศษ อาจเป็นการสร้างตัวละครอย่างบุษบา นางสุวรรณมาลี จะเด็ด อาจสร้างเรื่องอย่างละครแห่งชีวิตของ ม.จ. อากาศ ดำเกิง อาจสร้างแบบเขียนและแนวคิดอย่างเรื่องของ “ดาวหาง” อาจสร้าง สำนวนอย่าง วิตต์ สุทธเสถียร หรือ “อิงอร” แต่อย่าลืมว่า วรรณกรรมที่ท่านประดิษฐ์ขึ้นและพาท่านร่อนขึ้นเหนือเมฆนั้น บางทีก็พาท่านหัวปักลงดินได้เหมือนกัน มีนักเขียนหลายท่านที่พยายามประดิษฐ์แนวใหม่ขึ้นในวรรณกรรมไทย แต่ล้มเหลวในที่สุด หรือบางทีเปรียบเหมือนอาหารพิเศษ รับได้ครั้งเดียวก็เบื่อ และอีกประการหนึ่งที่ควรระวังให้มาก ก็คือ นาร์ซิซิสม์ (Narcissism) ความหลงรูปทองตนเอง คำนี้มาจาก นาร์ซิสซัส (Narcissus) ในเทพนิยายเป็นชายหนุ่มรูปงาม วันหนึ่งนั่งอยู่ริมสระเห็นเงาของตัวในนํ้าก็ติดใจ เฝ้าชมอยู่จนตัวตายอยู่กับที่นั่นเอง ต่อมาจึงเกิดดอกไม้ชนิดหนึ่งขึ้นตรงนั้น บัดนี้มีดอกไม้ชนิดหนึ่งชื่อ ดอกนาร์ซิสซัส คำนาร์ซิซิสม์ก็ได้มาจากคำนี้ พูดง่ายๆ ก็คือลัทธิยกย่องหรือหลงในตัวเอง ชอบแต่ยอ ใครจะติไม่ได้ และมั่นใจว่างานทองตนดีสมบูรณ์แล้วทุกประการ ถ้าผู้เริ่มฝึก มีโรคชนิดนี้จะเยียวยาได้ยากมาก

ถึงจะมีประวัติวรรณคดีมาตั้งพันปี มีเรื่องที่เขียนแล้วนับไม่ถ้วน แต่ในโลกวรรณกรรมนั้นย่อมมีของเกิดขึ้นใหม่ได้เสมอ มันสมองของมนุษย์ ย่อมสร้างจักรวาลได้ใหญ่ยิ่งกว่าจักรวาลที่เราแลเห็นกันอยู่ด้วยตา ท่านอาจคิดเค้าเรื่องแปลกๆ ใหม่ๆ อาจคิดหาตัวละครที่มีลักษณะพิเศษ คิดหาฉากของเรื่องที่แปลกตา อาจคิดสำนวนโวหาร คิดวิธีผูกประโยค คิดถ้อยคำอะไรขึ้นใหม่ เหล่านี้อยู่ในเขตของประดิษฐการทั้งสิ้น ตัวอย่างง่ายๆ ของความปราศจากประดิษฐการ เช่น ในแบบฝึกหัด ที่ให้เขียนพรรณนากิริยาเหยียดหยามนั้น เท่าที่พบแล้ว “เธอมองเขาตั้งแต่หัวตลอดตีน” ทำนองนี้ ร้อยเปอร์เซ็นต์ การเอาข้อความที่พูดกันจนชินหูมาเขียนนั้น ย่อมไม่มีรส

ศาสตราจารย์ เกนนุง แบ่งประดิษฐการออกเป็น ๓ ชั้น คือ
๑. ชั้นเอก ออริยิเนติฟ อินเวนชั่น (Originative Invention) ได้แก่ การมีจินตนาการไพศาล ความคิดลึกซึ้ง ประดิษฐ์สิ่งอันใหม่แท้ ในอังกฤษ
เขายกย่องบุคคลเหล่านี้เป็นประดิษฐกรเอก เช็กสเปียร์ประดิษฐ์แบบกลอน สก็อต ประดิษฐ์บันเทิงคดี นิวตัน ประดิษฐ์วิทยาศาสตร์ คือพบการดึงดูดของโลก บุคคลเหล่านี้ได้คิดสิ่งอันยังไม่มีผู้ใดได้พบเห็นมาก่อนในประเทศ ไทยเราอาจยกให้สุนทรภู่เป็นประดิษฐกรเอกทางกลอนแปด น.ม.ส. ประดิษฐ์สยามมณีฉันท์ ดังนี้ก็ได้ ประดิษฐกรเอกย่อมเห็นอะไรกว้างขวางพิเศษ ไปกว่าตาสามัญชน และจากที่เขาเห็นนั้นเขาสร้างมันขึ้นเพื่อให้เราได้ดูกัน เขาคิด เขาเขียนโดยไม่เอาอย่างใคร

๒. ชั้นรองลงมา เรียกว่า รีโปรดักตีฟ อินเวนชั่น (Reproductive Invention) ได้แก่การประดิษฐ์โดยเอาของที่มีอยู่แล้วมารวบรวมขึ้นเป็นเรื่องราวใหม่ ได้แก่ พวกที่ค้นคว้าเรื่องต่างๆ ที่มีอยู่แล้วมาเรียบเรียงขึ้นใหม่

๓. ชั้นตํ่า เรียกว่า เมทอไดซิงค์ อินเวนชั่น (Methodizing Invention) ได้แก่พวกแปลเรื่องเก็บเรื่องต่างๆ มารวมกันเป็นหมวดหมู่

พวกชั้น ๒-๓ นี้ อาศัยความคิดของคนอื่น แต่ความคิดของผู้อื่นนั้น บางทีก็ยังกระจัดกระจายอยู่ ก็เก็บมารวบรวมเป็นเรื่องให้สะดวกแก่ผู้ ต้องการอ่านต้องการรู้

การที่เราจะปลูกคุณสมบัติทางประดิษฐการขึ้นได้นั้น จะทำได้โดย

๑. อบรมตนเองให้มีนิสัยเป็นคนช่างสังเกต คือให้ หูไว ตาคม สามารถแลเห็นและได้ยินอะไรมากกว่าคนอื่น และจงมีความรักที่แสวงหา ความจริงของสิ่งต่างๆ นักเขียนสำคัญๆ มักมีนิสัยเป็นปรัชญา เมื่อพูดถึงปรัชญา ก็มีเรื่องมาก แต่จะขอพูดสั้นๆ ว่า นักเขียนสำคัญ ย่อมถอนตัวออกไปจากโลก ไม่หลงในลาภยศ ไม่หลงในคำเยินยอ ไม่สะดุ้งสะเทือนต่อภัย ไม่ปล่อยใจตามอารมณ์โกรธแค้น แต่เขาจะพินิจพิเคราะห์สิ่งเหล่านี้ด้วยจิตใจอันสงบ ว่ามันคืออะไรกันแน่ สิ่งต่างๆ ที่ปรากฏแก่เราที่เราเห็นกันเผินๆ ว่ามันเป็นความจริง เช่น อำนาจวาสนา ความสวยงาม ความร่ำรวยนั้น ถ้าท่านรู้จักมอง ท่านอาจสงสัยในความจริงของมัน

๒. อบรมให้มีความคิดชัดเจน คือ คิดอะไรให้เป็นระเบียบ ให้เรื่องราวเป็นไปตามลำดับ และอย่าให้ความคิดความรู้สึกผ่านไปอย่างมืดๆ มัวๆ
๓. จงเป็นนักอ่าน ท่านควรให้เวลาแก่การอ่านทุกวัน จะเป็นวันละกี่นาทีก็ตาม ในขณะอ่านท่านควรมีดินสอและสมุดบันทึกไว้ใกล้ๆ เมื่อพบอะไรดีจากเรื่องที่อ่าน เมื่อท่านเกิดความนึกคิดอะไรขึ้นจดลงไว้ นี่แหละจะเป็นสมบัติอันประเสริฐของท่าน นักเขียนสำคัญเป็นนักอ่านทุกคน สำหรับท่าน ท่านควรอ่านหนังสือที่ถูกใจท่านสักเล่มหนึ่ง อ่านอย่างละเอียด อย่างพินิจพิเคราะห์ ดูสำนวน ดูถ้อยคำ อ่านจนกระทั่งท่านรู้สึกว่า ผู้เขียนเรื่องนั้นมานั่งอยู่ใกล้ๆ ท่าน เมื่อท่านอ่านหนังสือที่ถูกใจจนฉ่ำแล้ว ท่านควรอ่านหนังสือที่เหมาะกับรสนิยมของท่าน และในที่สุดท่านต้องอ่านหนังสือให้มากเรื่องมากอย่างที่สุดที่จะเป็นได้

นี่แหละ ท่านอาจเห็นว่า ทางไปสู่ความเป็นนักเขียนนั้น ไม่ใช่ของง่าย ถ้าท่านไม่มีใจรักอยู่เป็นทุนเดิม ท่านอาจวางปากกา หันหลังให้การประพันธ์เสียได้โดยง่าย

สัจธรรม (Sincerity)
“รากฐานแห่งวรรณกรรมที่ทรงคุณค่าและมีความยั่งยืนนั้นอยู่ที่สัจธรรม ซึ่งนักประพันธ์มีต่อตนเอง ต่อความจัดเจนในชีวิต ต่อความเป็นจริง ของสิ่งทั้งหลาย ซึ่งนักเขียนพบเห็นโดยตาของเขาเอง”
(เปลโต) (Plato)

“บรรดาศิลปะทุกชิ้นทุกชนิดย่อมเป็นความพยายามที่ดำรงไว้ซึ่งสัจธรรม”
(กิปลิง) (Kipling)

คำ สัจธรรม หรือ ซินเซียริตี แปลเหมือนกันว่า ความซื่อตรง การยึดถือความจริง คุณธรรมข้อนี้เป็นคุณธรรมของมนุษย์ทั่วไป แต่สำหรับนักประพันธ์ หรือนักศิลปะมีความหมายกว้างออกไปอีก ธรรมดานักเขียน ย่อมเสนอเรื่องของเขาแก่ประชาชนจากความรู้สึก และความจัดเจนของเขาเอง เมื่อไร เขาเหออกนอกทาง เรื่องของเขามักจะขาดสัจธรรม

สิ่งที่ทำให้ขาดสัจธรรมได้ ก็คือ ความจัดเจนไม่พอ ขาดความถี่ถ้วน รอบคอบ นักวิจารณ์เขาว่า ฟลอแบรต์ (ชื่อนี้ท่านได้ผ่านมาแล้วแต่อันดับก่อน) เขียนเรื่องอย่างมีสัจธรรมยิ่ง ทั้งนี้เพราะฟลอแบรต์ บรรยายเรื่องให้เราอ่าน และให้เห็นอย่างจะแจ้งตามความเป็นจริงของคนนั้นๆ สิ่งนั้นๆ ถ้าท่านเขียนให้ผู้อ่านเห็นภาพและมีความรู้ชัดเจน อย่างท่านดูเงาของท่านในกระจก นั่นคือมีสัจธรรม

ในบทฝึกหัดที่ให้ท่านพรรณนาแสงพระอาทิตย์ในหน้าร้อน มีหลายคน ทีเดียวเขียนมาว่า “แสงพระอาทิตย์ร้อนแรงประหนึ่งว่าจะเผาผลาญสิ่งทั้งหลายบนพื้นโลกให้เป็นจุณ” นี่ไม่ใช่ความรู้สึกและความจัดเจนของผู้เขียน เป็นแต่ยืมวลีหรือข้อความเปรียบเทียบเก่าๆ มาเขียนเท่านั้นเอง เรียกได้ว่า ปราศจากสัจธรรม นักเขียนใหม่ไม่ค่อยได้ใช้ความคิดความรู้สึกอันแท้จริงของตน มักฉวยเอาของผู้อื่นมาใช้ แต่นี่เป็นสิ่งปกติ เพราะความยียวนของศิลป์ชักให้เราเลียนแบบได้เสมอ ผู้เริ่มเขียนต้องสำนึกข้อนี้ไว้ให้มาก

โจรวรรณกรรม (Plagiarism) เมื่อต้นสมัยรัชกาลที่ ๕ เราเริ่มนิยมเขียนและอ่านเรื่องร้อยแก้ว บางคนอยากมีชื่อเร็วๆ แต่เขียนไม่เป็นหรือขาดความพยายาม จึงเที่ยวหยิบฉวยเรื่องที่โน่นที่นี่มาปะติดปะต่อกัน เลย มีผู้ออกหนังสือพิมพ์ล้อ ชื่อหนังสือพิมพ์ลักวิทยา ลักษณะที่หยิบเอาความคิด สำนวน หรือบางทีลอกเรื่องมาทั้งตอน เขาเรียกว่า โจรวรรณกรรม หรือ เพลชเยียรีสต์ (Plagiarist) การเป็นโจรวรรณกรรมโดยอนุโลม โดยเราไม่ รู้สึกตัว คือ การพยายามเขียนเอาแบบคนอื่น ความที่อยากมีชื่อเสียงเร็ว บางคนมักเลียนแบบเรื่อง สำนวน บางทีเลียนแบบนามปากกา ทั้งนี้ อาจเป็นความรู้สึกยกย่องและพออกพอใจเท่านั้น ไม่ได้คิดอย่างอื่นก็ได้ แต่ลักษณะนี้ เป็นลักษณะที่ขาด สัจธรรม

ข้อสุดท้าย คือ จงเขียนอย่างมีความจริงต่อตัวท่านเอง ไม่ใช่เขียนเพื่อประจบคนโน้นคนนี้ เพื่อทรัพย์ หรือเพื่อเกียรติ แต่ต้องเพื่อศิลป์ เมื่อท่านเริ่มเขียนเพื่อศิลป์อย่างแท้จริงแล้ว ทางที่ท่านจะไปสู่เกียรติและ โชคลาภ ก็สั้น ราบรื่นและมั่นคง

ที่มา:เปลื้อง ณ นคร