ลักษณะของวรรณคดี

Socail Like & Share

ที่เรียกว่า วรรณคดี นั้น แปลตามศัพท์ว่าทางแห่งหนังสือ หมายถึง หนังสือที่แต่งขึ้น จะเป็นหนังสือชนิดใดก็แล้วแต่ แต่ในบรรดาหนังสือทั้ง หลายนั้น แยกออกเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ ๒ ประเภท คือ

๑. พวกหนังสือที่เป็นตำรับตำราและวิทยาการ
๒. พวกหนังสือที่เป็นอักษรศิลป์ หรือศิลปกรรม

คำว่า วรรณคดี โดยนัยแห่งนักประพันธ์ เพ่งเล็งถึงหนังสือจำพวก
ที่สองนี้

วรรณคดีอันเป็นอักษรศิลป์นั้น หมายความว่ากระไร ?
ตามปกติเมื่อเราอ่านหนังสือ เราย่อมทราบเรื่องราวจากข้อความที่ เขียนลงเป็นตัวอักษร เช่น ท่านอ่านหนังสือกฎหมายหรือตำราเลข ท่าน จะไม่มีความรู้สึกอะไรเกิดขึ้นเลย จะรู้สึกบ้างก็แต่ในเรื่องความยากง่าย เข้าใจ หรือไม่เข้าใจเท่านั้น หนังสือพวกนี้ไม่ได้เร้าอารมณ์ใดๆ ท่านอ่านเพื่อต้องการความรู้เท่านั้น แต่หนังสือบางเรื่อง ท่านอ่านแล้วลืมตัว อาจยิ้มและหัวเราะออกมาก็ได้ อาจรู้สึกเศร้าใจจนนํ้าตาไหล อาจเกิดความโกรธเคือง แค้น อาจเกิดความสำราญเป็นสุขใจ มีอารมณ์ต่างๆ เกิดขึ้นยิ่งกว่าอ่านตำรากฎหมายเป็นอันมาก สิ่งที่ทำให้ท่านเกิดอารมณ์ดังนี้ ก็คือ ศิลปะ ศิลปะแห่งวรรณคดี นี่แหละคือ วิชาของนักประพันธ์

วรรณคดีโดยนัยที่กล่าวแล้วนี้แบ่งออกเป็นสาขาใหญ่ได้ ๒ สาขา คือ สาขาร้อยแก้ว และสาขากาพย์กลอน

สาขาร้อยแก้ว คือ พวกวรรณคดีที่มีแบบเรียบเรียงคำอย่างที่เราพูดจา กันโดยปกติ ได้แก่ หนังสือ เช่น สามก๊ก ราชาธิราช และเรื่องของนักประพันธ์ ปัจจุบันสาขานี้ทางอังกฤษเรียกว่า Prose ซึ่งมาจากคำละตินว่า Prosa แปลว่า ตรงไปตรงมา ไม่มีกำหนดกฎเกณฑ์

สาขากาพย์กลอน (บางทีก็เรียกว่า กวีนิพนธ์บ้าง ร้อยกรองบ้าง) คือพวกวรรณคดีที่เรียบเรียงตามแบบกำหนด เช่น กำหนดเสียงหนักเบา กำหนดเสียงสูงต่ำ ที่สำคัญก็คือต้องมีสัมผัส วรรณคดีของไทยโบราณเป็นกาพย์ กลอนเกือบทั้งนั้น เช่น พระอภัยมณี ขุนช้างขุนแผน นิราศนรินทร์ พระนลคำหลวง เป็นอาทิ กาพย์กลอนนี้ นับถือกันว่าเป็นยอดแห่งวรรณคดี ทางอังกฤษเรียกว่า Poetry มาจากคำละตินว่า Poeta แปลว่า ผู้สร้างหรือผู้ทำกาพย์ กลอนของไทย ถ้าแบ่งตามแบบวิธีประพันธ์ก็แยกออกเป็นพวก กาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ ถ้าจะแบ่งตามลักษณะของเรื่องก็มีพวกคำหลวง คำฉันท์ คำโคลง ลิลิต นิราศ เพลงยาว แต่สมัยปัจจุบันนี้เป็นสมัยของร้อยแก้ว วงของนักประพันธ์เพ่งเล็งเฉพาะวรรณคดีร้อยแก้วเท่านั้น ผู้ที่สนใจในทางกลอนอาจหาระเบียบของกาพย์กลอนเรียนได้จากหนังสือฉันทลักษณะ

วรรณคดีสาขาร้อยแก้วแบ่งออกตามลักษณะของเรื่อง และวิธีเขียน เป็นหลายชนิดด้วยกัน ทั้งวิธีแบ่งก็ต่างๆ กัน ในที่นี้จะแบ่งตามแนวที่นัก ประพันธ์นิยมกัน คือ

ก. บันเทิงคดี (Fiction) เป็นประเภทใหญ่ที่สุด มีนักประพันธ์และผู้อ่านนิยมมากที่สุด พวกบันเทิงคดีแยกออกเป็นเรื่องสั้น (Short Story) นวนิยายสั้น (Novelette) และนวนิยาย (Novel)

ข. หัสคดี (Humour) เป็นจำพวกบันเทิงเหมือนกันแต่หนักไปในทางชวนหัว

ค. พาโรดี (Parody)

ง. ประวัติบุคคล (Biography)

จ. อนุทิน (Diary)

ฉ. บทเรียงความ (Essay)

หัวใจของนักประพันธ์อยู่ที่เรื่องจำพวกบันเทิงคดี แต่ถ้าบางท่าน มี “หัว” ในทางเขียนเรื่องพวกประเภทอื่น ก็ควรลอง “เล่น” ดูบ้าง เพราะ ในวงหนังสือของไทยบัดนี้ มีแต่พวกนวนิยายและเรื่องสั้นเป็นส่วนมาก

เมื่อท่านได้อ่านมาถึงตอนนี้ ก็เท่ากับท่านได้แลเห็นเค้าโครงของงานที่ท่านจะได้ศึกษาแล้ว ต่อไปนี้จะได้กล่าวถึงหลักแห่งบันเทิงคดี ซึ่งเท่ากับว่า ท่านกำลังย่างเท้าเข้าสู่โลกแห่งการประพันธ์

บันเทิงคดี
ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Fiction แปลว่าไม่ใช่ความจริง หมายความว่าเรื่องราวที่ประดิษฐ์คิดแต่งขึ้น ไม่ใช่เรื่องจริง คำภาษาอังกฤษให้ความ หมายไม่ได้ดีเท่ากับภาษาไทย เพราะจะเป็นนวนิยายก็ดี เรื่องสั้นก็ดี มีความมุ่งหมายสำคัญที่ความบันเทิง แต่เดิมเรารวมเรียกเรื่องเช่นนี้ว่าเรื่องอ่านเล่น คือ เป็นเรื่องที่อ่านเพื่อความสำราญ ความเพลิดเพลิน เมื่อผู้อ่านจับบันเทิงคดีเรื่องใดขึ้นอ่าน จะต้องถามตัวเองเสียก่อนว่าสนุกไหม นามปากกาที่คนนิยมแพร่หลาย เช่น ยาขอบ ดอกไม้สด ศรีบูรพา แม่อนงค์ หรือชื่อนักประพันธ์ที่สำคัญ เช่น วิลเลียมเลอเคอ, ดูมาส์, ฮิวโก, คอเรลลี เหล่านี้ จะต้องมีคำว่า “สนุกเพลิดเพลิน” ติดอยู่ด้วยเสมอ ชื่อเหล่านี้เป็นเหมือนเครื่องหมายแห่งความสนุกสำราญ ชื่อเหล่านี้เป็นเจ้าของเรื่องใด ผู้อ่านก็เชื่อว่าจะได้พบความเพลิดเพลินในเรื่องนั้น ตามธรรมดาเมื่อเราจะอ่านเรื่องใดนั้น มักจะได้รับคำบอกเล่ามาก่อนว่าสนุก หรือถ้าไม่รู้ก็จะถามตนเองหรือใครๆ ว่าเรื่องนั้นๆ จะสนุกไหม คนอ่านบันเทิงคดีเพื่อต้องการหย่อนใจ เพื่อฝัน เพื่อลืมภาระความวิตกกังวล นี่แหละเป็นปัญหาใหญ่ของนักประพันธ์ ทำอย่างไรจะให้ผู้อ่านสนุก ให้เพลิน ให้ลืมตัว ให้ติดใจ ถ้าท่านรู้สึกว่า ท่านสามารถทำอย่างนี้ได้แล้ว แปลว่า ท่านได้พรของสวรรค์ และการที่จะเป็นนักประพันธ์มีชื่อเสียงก็ง่ายเข้า

นักประพันธ์ที่คนอ่านติดใจ ก็คือคนที่ทำให้ผู้อ่านสนุก แต่นักเขียนที่จะมีชื่อเสียงยั่งยืนนั้น จะต้องมีสิ่งอื่นประกอบ นอกเหนือไปจากความ สนุก นักวิจารณ์เขาแยกเรื่องออกเป็น ๒ อย่างคือ เรื่องเฉพาะสมัย (Books of the Day) และเรื่องตลอดกาล (Books of all time) เรื่องเฉพาะสมัย คือ เรื่องที่มีคนนิยมฮือกันพักหนึ่ง พอเวลาล่วงไปก็ไม่มีใครคิดถึง ท่านลองคิดดูว่า ตั้งแต่ท่านอ่านบันเทิงคดีมา หรือจะกล่าวอย่างกว้างตั้งแต่เริ่มบทประพันธ์ร้อยแก้วขึ้นในเมืองเรา มีเรื่องอะไรบ้างที่เรายังระลึกได้ นวนิยาย และเรื่องสั้นใดบ้าง ที่พิมพ์ออกเมื่อต้นปี ยังมีคนพูดถึงอีก ณ บัดนี้ หนังสือที่แพร่หลายชั่วขณะ แล้วต่อมาเราพากันลืม เป็นพวกเรื่องเฉพาะสมัย แต่บางเรื่อง เช่น ขุนช้าง ขุนแผน พระอภัยมณี สามก๊ก เขียนมาตั้งร่วม ๒๐๐ ปี เรายังจดจำได้ และคนสมัยนี้ยังอ่านด้วยความพอใจจับใจ นี่คือ เรื่องตลอดกาล และนักประพันธ์จะได้ชื่อว่าเป็น อมตะ ก็โดยได้สร้างเรื่องเช่นนี้ เรื่องดังว่านี้มิได้มีแต่ความเพลิดเพลินอย่างเดียว แต่ยังได้ช่วยผู้อ่าน ให้เกิดสติปัญญา พาจิตใจให้สูงขึ้น ในเนื้อหาของความสนุกย่อมมีคติ และศีลธรรมแฝงอยู่ ยิ่งกว่านั้นยังประกอบด้วยสำนวนโวหารอันไม่พ้นสมัย

ในการเขียนเรื่องให้สนุกนี้ นักเขียนบางคนได้ทำเกินขอบเขต หรือบางทีเขียนโดยโจ่งแจ้งหยาบคาย เรื่องสนุกจริง แต่มันกลายเป็นเรื่องลามก อนาจาร มีตัวอย่างที่เกิดเป็นคดีเรื่องหนึ่งคือ เรื่อง มาดามโบวารี ซึ่ง ฟลอแบรต์ นักประพันธ์ฝรั่งเศสเป็นผู้แต่ง เรื่องนี้กล่าวถึงชีวิตเมียสาวของนายแพทย์ แต่โดยเหตุที่นางไม่สบใจสามี จึงเที่ยวเร่เล่นชู้ไม่เลือกหน้า ฟลอแบรต์ได้เขียนชัดเจนแจ่มแจ้ง จนอัยการฟ้องหาว่าฟลอแบรต์เขียนเรื่อง ประทุษร้ายต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน ได้มีการโต้เถียงกันในศาลมากมาย ในที่สุดศาลตัดสินว่า ไม่เป็นเรื่องลามก แต่เป็นศิลปะ นี่แหละเป็นสิ่งที่นักประพันธ์ต้องระวัง เพราะศิลปะในบางกรณีใกล้กับความลามกอยู่มาก สำหรับนักประพันธ์มีหลักจะยึดถือง่ายๆ ก็คือ อย่าเขียนเรื่องทำลายความรู้สึกอันดีของผู้อ่าน ท่านจะเขียนเรื่องให้รุนแรงอย่างเรื่องมาดามโบวารีก็ได้ แต่ท้องเรื่องต้องมีเหตุผลอันสมควร ท่านจะทำให้ผู้อ่านรักและสงสารผู้ร้ายใจอำมหิตก็ได้ แต่อย่าให้ผู้อ่านเห็นว่าท่านชมและเห็นดีกับความชั่วของโจรนั้น ท่านอาจเขียนเรื่องหญิงนครโสเภณี แต่อย่าให้ผู้อ่านเข้าใจว่าท่านนิยมชมชอบในเรื่องเช่นนั้น หน้าที่ของนักประพันธ์ คือ การวาดภาพแห่งชีวิต

เนื้อเรื่อง
แม้คำว่า ฟิคชั่น (Fiction) จะหมายถึงเรื่องอันไม่เป็นความจริง นัก ประพันธ์ก็ได้เรื่องจากชีวิตของมนุษย์เรานั่นแหละมาเขียน ไม่มีเรื่องอะไรจะยิ่งใหญ่ไปกว่าเรื่องของคน ท่านลองหยิบหนังสือนิตยสารต่างๆ ที่มีเรื่องบันเทิงคดี หรือหนังสือพิมพ์รายเดือนเก่าๆ ชั้น ศัพท์ไทย ไทยเขษม ท่านก็จะเห็นได้ว่านักประพันธ์ได้แสวงหาเรื่องราวต่างๆ มากำนัลผู้อ่าน บางเรื่องมีเค้าขบขัน บางเรื่องกินใจ บางเรื่องลึกลับซับซ้อน บางเรื่องก็ดาดๆ เผินๆ แต่บางเรื่องท่านต้องอุทานว่า เรื่องนี้ของเขาพิสดารจริง เป็นเรื่องราวของชีวิตที่แปลกประหลาดยิ่งกว่าเรื่องใดๆ ที่เคยอ่าน นักประพันธ์ต้องพยายามแสวงหาเรื่องชนิดนี้

แต่ทำไมท่านจะทำได้เช่นนั้น มันเกี่ยวกับเวลาและชีวิตของท่านเอง เวลาของนักประพันธ์ต้องมีไว้สำหรับฟัง ชีวิตสำหรับคิด เขาต้องเป็นคน หูไวตาไว รู้จักหยิบฉวยแง่ที่น่าสนใจ เขาต้องการรู้อยู่เสมอว่าคนพูดอย่างไร ทำอะไร เขาเป็นคนที่คลุกคลีอยู่ได้กับคนทุกชั้น เขาต้องเป็นนักเที่ยวทั้ง ไกลและซอกแซก เอช. ไรเดอร์ แฮกการ์ด, โรเบอร์ต หลุยส์ สตีเวนสัน, มาร์ก ทเวน, คอนราด ล้วนเป็นนักเที่ยวอย่างสำคัญ ท่านอ่านเรื่องของนักประพันธ์ปัจจุบันนี้ ท่านจะรู้สึกว่าส่วนมากเขาเป็นคนชอบเที่ยว มันทำให้เขาแลเห็นความจริง แต่การเที่ยวไปนี้ไม่สำคัญเท่ากับ คนช่างคิด นักประพันธ์ ย่อมคิดถึงทุกสิ่งและในสิ่งที่คนธรรมดาแลผ่านไป เขาก็จะหยิบสิ่งนั้นขึ้นอวด ชี้ให้เห็นและนึกขึ้นได้ สำหรับนักประพันธ์แม้บนใบหญ้าก็มีเรื่องราวปนอยู่

ความช่างคิดและมีอารมณ์ความรู้สึกต่างกับคนอื่นนี้ เป็นอุปนิสัยของผู้ที่จะเป็นนักประพันธ์ เมื่อคิดแล้วก็อดที่จะแสดงให้ผู้อื่นฟังไม่ได้ และ แสดงออกมาอย่างชัดเจนเป็นเสน่ห์หู นี่แหละเราเรียกว่าเขาเป็นนักประพันธ์โดยกำเนิด

เรื่องบางเรื่องสนุกและตื่นเต้นในตัวของมันเอง แต่ถึงกระนั้นก็ยัง ไม่สำคัญเท่าวิธีแต่ง ถ้าแบ่งออกเป็นสิบส่วน เนื้อเรื่องจะได้เพียงส่วนเดียว แต่วิธีแต่งจะได้ถึงเก้าส่วน ฉะนั้นเขาจึงถือว่าเรื่องไม่สำคัญ หัวใจของเรื่องอยู่ที่วิธีแต่ง เนื้อเรื่องจะดีวิเศษปานใด ถ้าไม่รู้จักแต่งก็เหลวหมด มาร์ก ได้เปรียบเทียบไว้ในหนังสือศิลปะการประพันธ์ของเขาว่า “ชาร์แดง เขียน ภาพหม้อไห แต่ทว่าเป็นศิลปะ ส่วนดาวิด เขียนภาพนโปเลียน แต่กลายเป็นโปสเตอร์ ที่จริงคนขอทานก็มีเรื่องน่าจับใจถ้าเรารู้จักดู ที่กระดิ่งโทรศัพท์ ก็อาจมีเรื่องที่น่าตื่นเต้น และที่ปลายหนวดก็มีเรื่องที่ชวนให้ขบขัน นักประพันธ์ธรรมดาจะเขียนเรื่องที่สำคัญเพียงใด เรื่องก็คงจะวิเศษไปไม่ได้ แต่ถ้านักประพันธ์เอกก็อาจเขียนเรื่องที่ไม่มีสาระให้เป็นที่นิยมชมชื่นกันได้ตลอดกาล

เพียงแต่ท่านได้เค้าโครงเรื่อง แล้วลงมือเขียนเท่านั้นยังไม่พอ เรื่องที่ท่านจะเขียนนั้นต้องเป็นเรื่องที่ทำให้ตื่นใจ จับอกจับใจท่านจริงๆ เสียก่อน แล้วท่านจงเขียนไปตามที่ท่านรู้-และรู้สึก นี่เป็นข้อแนะนำชั้นต้น จงเขียนเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวท่านก่อน อย่าเข้าใจว่าในวงความรู้ ในสิ่งที่อยู่รอบๆ ใกล้ๆ ท่านนั้น จะไม่มีเรื่องอะไร เมื่อท่านอยู่นครสวรรค์ก็พยายามเขียนเรื่องอันเกิดที่นครสวรรค์ หรือจังหวัดใกล้เคียง ถ้าท่านอยู่สงขลา ก็หาเรื่องเอาในสงขลา หรืออย่างกว้างก็ในปักษ์ใต้ เมื่อหูตาและความรู้ของท่านกว้าง และไกลแล้ว จึงหยิบเรื่องจากที่อื่นมาเขียนได้ ถ้าท่านเขียนเรื่องเกี่ยวกับสถานที่และภูมิประเทศที่ท่านยังไม่เคยเห็น จะทำให้ความเป็นจริงของเรื่องเกิดขึ้นไม่ได้ และจงเขียนเรื่องอันเป็นของท่านเองจริงๆ คือไม่ได้เอาแนวความคิดความรู้สึกของผู้อื่นมาเขียน

ในตอนต้นได้กล่าวว่า นักประพันธ์ย่อมมุ่งให้ความเพลิดเพลินแก่ผู้อ่านเป็นข้อแรก แต่ความเพลิดเพลินนี้ทำให้เกิดขึ้นได้อย่างไร

มีลักษณะอย่างหนึ่ง ซึ่งในทางจิตวิทยาเรียกว่า ความจูงใจ มนุษย์มีคุณสมบัติข้อนี้อยู่ในตัวทุกคน คืออาจจูงใจคนอื่นก็ได้ ถูกคนอื่นจูงไปก็ได้ นักประพันธ์ย่อมจูงใจผู้อ่านไปตามแนวเรื่อง ส่วนผู้อ่านนั้นแม้ว่าจะรู้อยู่ว่า เป็นเรื่องอ่านเล่นก็พร้อมที่จะถูกจูงใจ โดยนึกว่าเรื่องที่ตนอ่านนั้นเป็นเรื่องจริง หน้าที่ของนักเขียนก็คือต้องพยายามเขียนเรื่องอย่างที่ น่าจะเป็นจริง เมื่อใดผู้อ่านจับได้ว่า มันผิดความจริง เรื่องของท่านก็สูญ ความน่าจะเป็นจริง เกิดจากการพรรณนา บรรดาฉากในท้องเรื่องต้องตรงตามสภาพของมัน อย่าสร้างฉากซึ่งท่านไม่เคยเห็นไม่เคยรู้จัก เว้นแต่ว่าฉากนั้นเป็นฉากซึ่งคนในโลกก็ไม่รู้ ว่าความจริงเป็นอย่างไร โดยมากฉากทำนองนี้มักอยู่ในเรื่องของความคิดฝัน เช่นเรื่อง ใต้ทะเลเจ็ดพันโยชน์ ของ จูลเวิน โลกอนาคตของเวลส์ เป็นต้น

อีกข้อหนึ่ง อารมณ์ เป็นของประจำปุถุชน เรามี รัก เกลียด แค้น ดีใจ เสียใจ ตัวละครของเราจึงต้องมีลักษณะอย่างมนุษย์ และในการอ่าน บันเทิงคดีนั้น จิตใจของผู้อ่านย่อมเข้าไปรวมกับจิตใจของตัวละคร การที่ “นิจ” ของดอกไม้สด “จะเด็ด’’ ของยาขอบ รู้จักกันแพร่หลายเหมือนกับ เรารู้จักคนนั้นคนนี้ ก็เพราะผู้อ่านมีความรู้สึกร่วมกับ “นิจ’’ และ “จะเด็ด’’ ไม่มากก็น้อย เราย่อมเคยมีความหลัง เคยรัก เคยชํ้าใจ เคยสนุกสำราญ ถ้านักประพันธ์สามารถสร้างเรื่องให้ตัวละครมีอาการเช่นนี้บ้างแล้ว ก็เป็นอันแน่ใจได้ว่า ผู้อ่านจะต้องเพลินในเรื่องของท่าน

ตัวละคร
มักจะมีผู้ถามนักประพันธ์ว่า “ตัวละครของท่านนี่ได้มาจากคนจริงๆ หรือ” ผู้อ่านบางคนมักจะเอาตัวละครไปเทียบกับคนนั้นคนนี้ และว่านัก ประพันธ์ใช้คนนั้นๆ เป็นหุ่นตัวละครของเขา การที่นักประพันธ์เอาชีวิตคนจริงๆ มาเป็นตัวละคร และพรรณนาลักษณะท่าทางจนผู้อ่านเอาไปเทียบเคียงกับใครคนหนึ่งได้นี้ ได้ทำกันมาก และเป็นวิธีที่สะดวก แต่ไม่ใช่เป็นวิธีดีที่สุด

นักประพันธ์เหมือนพระผู้เป็นเจ้า เขาจะต้องสร้างโลกและมนุษย์ขึ้น โดยอานุภาพของเขาเอง ถ้าเราได้ตัวละครมาจากมนุษย์ที่เราเห็นกันอยู่ทุกวัน ตัวละครนั้นคงไม่มีอะไรพิเศษไปกว่าผู้อ่าน นักประพันธ์ต้องให้วิญญาณ และอะไรสักอย่างหนึ่งแก่ตัวละครเพิ่มขึ้นพิเศษ ท่านคงเคยอ่านเรื่องขุนช้าง ขุนแผน และคงรู้จักนางพิมพิลาไลย ท่านคงรู้สึกว่า นางพิมพิลาไลยนี่ก็เหมือนหญิงทั่วไป มีความสวยและความรัก แต่ขอให้ท่านลองพิเคราะห์ให้ดี จะเห็นว่านางพิมไม่ใช่หญิงอย่างที่พระผู้เป็นเจ้าสร้างมา ยังเป็นหญิงที่กวีได้นฤมิตขึ้นอีก ท่านเคยพบหญิงใดที่มีชีวิตอย่างนางพิม ที่มีความสุข ความเศร้าและความรักอย่างนางพิม ในหมื่นในพันจะหาได้สักคนหนึ่งหรือ ลักษณะตัวละครอย่างนี้แหละทีเป็นของนักประพันธ์เอก ตัวละครของเขา คือหญิงชายที่เขาสร้างขึ้นจากจินตนาการ แม้จะเหมือนมนุษย์ธรรมดา แต่มีอะไรพิเศษไปกว่ามนุษย์ธรรมดา และตัวละครเช่นนี้เท่านั้นที่จะยั่งยืนอยู่ในความจำของผู้อ่าน

เมื่อท่านได้ตัวละครแล้ว ท่านจะเสกด้วยศิลปะของท่านให้ตัวละครมีกิริยาอาการ และที่สำคัญที่สุดคือ พูดได้ เราเรียกว่า คำเจรจา หรือ Dia¬logue หลักของนักประพันธ์ ก็คือ ท่านต้องทำให้ตัวละครพูดโดยตัวละครเอง อย่าให้ผู้อ่านรู้สึกว่า นี่ไม่ใช่คนพูด หรือนี่เป็นคำพูดของนักเขียนต่างหาก นี่แหละเป็นปัญหายิ่งใหญ่ของนักประพันธ์ นักประพันธ์จะต้องมีอำนาจที่จะเข้าไปสิงอยู่ในตัว ละคร พิจารณาดวงใจของตัวละคร ปกติเราไม่สามารถ พูดอย่างนางสาวโน่น นางนี่ นายนั่น เจ้าคุณนี่ เราไม่สามารถพูดอย่างพระสงฆ์ อย่างนักปราชญ์ อย่างนักเลงโต อย่างเด็ก อย่างคนที่กำลังมีโทสะ หรือที่กำลังปลื้ม แต่นักประพันธ์จะต้องพูดภาษาของคนได้ทุกชนิด ข้อนี้แหละจะทำให้ตัวละครของท่านแยกออกจากกัน ไม่ใช่ตัวละครทั้งเรื่องพูดเหมือนกันหมด ตัวละครของท่านก็จะเป็นสิ่งที่มีชีวิตขึ้น พูดให้ผู้อ่านฟัง แสดงกิริยาให้ผู้อ่านเห็น ท่านจะทำได้ดังนี้ก็โดยฝึกอำนาจทางประดิษฐการ และวิจารณญาณ

หัสคดี (Humour)
ท่านจะเขียนเรื่องสั้น นวนิยาย บทความเรียงเป็นทำนอง ฮิวเมอร์ หรือ พาโรดี ก็ได้ และฮิวเมอร์กับพาโรดีนี้ เป็นทำนองของเรื่อง หรือ เนื้อความซึ่งจะปนอยู่ในที่ใดๆ ก็ได้ทั้งสิ้น ใคร่จะขอให้ท่านเข้าใจคำทั้งสองนี้เสียก่อน

ฮิวเมอร์ (Humour) แปลว่า ชวนหัว ขบขัน น่าหัวเราะ เราเคยใช้ในภาษาไทยว่า หัสคดี หัส แปลว่า ขบขัน ชวนหัว เรื่องทำนองฮิวเมอร์ (หัสคดี) ก็คือเรื่องที่ชวนยิ้มแย้ม ชวนให้ขบขัน จะเรียกว่า เรื่องชวนหัว ก็ได้ แต่หัสคดีที่ยกย่องกันว่า เป็นเรื่องดีนั้น ต้องมีความมุ่งหมายยิ่งกว่า ชวนหัวตามธรรมดา คือต้องมีความคมขำและชวนคิด ผู้เขียนเรื่องฮิวเมอร์ ย่อมแลเห็นแง่ขันในคำพูด กิริยาท่าทาง การแต่งกาย ตลอดจนความเป็นอยู่ของคน ท่านจะได้ยินเขาพูดกันว่า คนนั้นคนนี้ไม่มีเซ้นส์ออฟฮิวเมอร์ (Sense of Humour) คือ ไม่มีความรู้สึกเห็นขัน เป็นคนโกรธง่าย เห็นอะไรเป็นจริง เป็นจังไปหมด ผู้ที่มีอารมณ์ขัน “เซ้นส์ออฟฮิวเมอร์” อาจทำให้ความเคร่งเครียดของเหตุการณ์หย่อนลง หรือเปลี่ยนแง่ร้ายให้กลายเป็นดี อย่างเช่น เมื่อเลิกสงครามใหม่ๆ สมาชิกผู้แทนถามรัฐบาลว่า ประเทศไทยแพ้หรือชนะสงคราม เป็นปัญหาที่ตอบยาก ขณะนั้นสมาชิกก็กำลังหน้าดำหน้าแดงกันอยู่ แต่นายกรัฐมนตรีตอบว่า “เจ๊า” เลยฮากันครืน ทำให้ความเคร่งเครียดหายไปหมด (นี่ฟังตามข่าวหนังสือพิมพ์) ถ้าท่านได้อ่าน “ตำนาน ศรีปราชญ์” จะพบเรื่องว่า พระสงฆ์รูปหนึ่งเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จ พระนารายณ์ แต่มักจะเฝ้ารบกวนพระทัยในเรื่องที่สมเด็จพระนารายณ์ปกครองราษฎรโดยเข้มงวด สมเด็จพระนารายณ์จึงรับสั่งให้ศรีปราชญ์คิดแก้ไข ศรีปราชญ์จึงกราบทูลให้พระองค์ส่งลิงไปให้พระเลี้ยงที่กุฏิ และให้ปล่อยลิงอยู่ตามความพอใจของมัน ภิกษุองค์นั้นรับลิงเอาไปไว้ไม่นานก็ต้องเข้ามาร้องทุกข์ว่าลิงทำกุฏิป่นปี้หมด สมเด็จพระนารายณ์จึงตรัสว่าการปกครองต้องมีระเบียบข้อบังคับ บ้านเมืองจึงจะอยู่เย็นเป็นสุข ถ้ามิฉะนั้นก็จะเดือดร้อนเหมือนพระภิกษุที่ปล่อยลิงไว้ตามใจของมันนั่นเอง พระภิกษุองค์นั้นเลยเข้าใจ นี่เป็นฮิวเมอร์ของศรีปราชญ์ เรื่องศรีธนญชัยก็นับว่าเป็นตัวอย่างเรื่องประเภทฮิวเมอร์ได้อย่างดี

แต่การที่จะให้คนหัวเราะนี้ บางคนก็ทำให้หัวเราะอย่างโปกฮา แต่บางคนอาจทำให้หัวเราะพร้อมกับความรู้สึกว่า มีอะไรคมขำอยู่ในเรื่องที่ หัวเราะนั้น นักเขียนเรื่องฮิวเมอร์นี้ก็เช่นเดียวกัน บางคนอาจเขียนให้เรา อ่านแล้วหัวเราะคิกๆ แต่บางคนอาจทำให้เราหัวเราะพร้อมกับรู้สึกเวทนา หัวเราะทั้งนํ้าตา หรือหัวเราะแล้วนึกขำ ยิ่งกว่านั้นยังได้คติเป็นเนื้อหาจากการหัวเราะนั้นด้วย เรื่องฮิวเมอร์ที่ดีแท้ ต้องให้คนเห็นขบขัน แต่มีแง่ให้คนคิดอย่างหนึ่งอย่างใดอีกด้วย

เรื่องชวนหัวอาจเป็นเรื่องสั้น อย่างเรื่องชุด คุณถึก ของ “แสงทอง” อาจเป็นความเรียงคิดเล่นแผลงๆ อย่างเรื่องของ “ฮิวเมอร์รีสต์” อาจเป็น นวนิยาย เช่น นวนิยายของ พี.จี.โวดเฮาส์ (P.G. Wodehouse) หรืออาจจะเป็นเฉพาะบทเจรจาหรือลักษณะอันน่าขบขันของตัวละครตัวหนึ่งตัวใดก็ได้

หัวใจของเรื่องหัสคดีนี้ อยู่ที่วางเรื่องให้ตัวละครตกอยู่ในฐานะลำบาก กลืนไม่เข้าคายไม่ออก หรือทำอะไรเปิ่นๆ เซ่อๆ

จะขอยกตัวอย่างเรื่องฮิวเมอร์ชั้นเอกของโลก ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องไม่ตาย มีคนนิยมอ่านกันได้ทุกสมัย

เรื่องที่ ๑ เป็นนิทานชื่อ “ฉลองพระองค์ใหม่ของพระราชา” (The Emperor’s New Clothes) กล่าวถึงพระราชาองค์หนึ่ง โปรดฉลองพระองค์ที่หรูหรางดงาม ใครจัดเครื่องแต่งองค์แปลกๆ มาถวาย ก็เป็นที่พอพระทัยมาก อยู่มามีเจ้าคนฉลาดแกมโกงสองคน เข้ามารับอาสาจะทำฉลองพระองค์ใหม่ถวาย แต่ว่าฉลองพระองค์ใหม่นี้ ถ้าใครโง่เขลาไม่มีบุญบารมีจริงๆ แล้วก็มองไม่เห็น ชายทั้งสองตั้งพิธีทำใหญ่โต ตั้งแต่หาเส้นด้ายมาทอเป็นผ้า และตัดเป็นฉลองพระองค์ ที่จริงทอลมและตัดลมทั้งสิ้น พวกอำมาตย์ข้าราชการก็แลไม่เห็นว่าเป็นผ้าผ่อนอะไร แต่ทุกคนใคร่แสดงตนว่ามีบุญบารมี เลยชมว่าฉลองพระองค์นั้นสวยงามมาก พระราชาก็พลอยเป็นตามเขาด้วย เจ้าสองคนนั้นแกล้งตัดและเย็บลมอยู่หลายวัน ในที่สุดก็บอกว่าเสร็จแล้ว ใครๆ พากันชมว่าสวยงามมาก ความจริงโกหกตัวเองทั้งนั้น เจ้าสองคนนั้นจัดการแต่งองค์ให้พระราชา เพื่อเสด็จประพาสเลียบเมือง ใครๆ ก็ออกปากสรรเสริญว่า เครื่องทรงสวยมาก ที่แท้เห็นพระราชามีแต่ฉลองพระองค์กางเกงชั้นในตัวเดียว พระราชาปลื้มพระทัย ประทานรางวัลให้เจ้าสองคนมากมาย แต่งองค์แล้วเสด็จออกเลียบพระนคร แต่ไม่มีใครกล้าพูดว่าอะไร ถึงแม้จะเห็นพระราชาตัวล่อนจ้อน นอกจากชมว่าสวย เพราะกลัวถูกหาว่าเป็นคนโง่เง่า ไม่มีบุญ จนกระทั่งเด็กคนหนึ่งมาดูขบวนเห็นเข้าก็ตะโกนว่า พระราชาเปลือยกายเดินมา เกิดซุบซิบกันจนในที่สุดพูดกันเซ็งแซ่ว่า พระราชานุ่งฟ้า ไม่มีผ้าผ่อนอะไรเลย พระราชาเลยกลายเป็นตัวตลก
เรื่องนี้นอกจากชวนให้ขัน ยังมีคติบางประการแฝงอยู่ด้วย

เรื่องที่ ๒ เป็นของ วอชิงตัน เออร์วิง นักประพันธ์เอกของอเมริกา (เกิด ค.ศ. ๑๗๘๓ ตาย ค.ศ. ๑๘๕๙) เรื่องที่เขียนชื่อ ริปแวน วิงเกิล (Ripwan Winkle) กล่าวถึงชายคนหนึ่ง ชื่อ ริปแวน วิงเกิล หนีความเกรี้ยวกราดของเมียขึ้นไปนอนหลับบนภูเขา ซึ่งอยู่ใกล้ๆ บ้าน พอตื่นขึ้นลงมาที่บ้าน ซึ่งตนเคยอยู่เห็นอะไรๆ แปลกไปหมด เพราะปรากฏว่า เขานอนหลับไปถึง ๒๐ ปี ความขบขันของเรื่องนี้อยู่ที่ “การหลงเวลา’’ การหลง หรือการเข้าใจผิดนี้ นักเขียนหัสคดีชอบนำมาใช้มาก เยโรม เค. เยโรม นักเขียน หัสดีของอังกฤษเล่าเรื่องชายคนหนึ่งไปฟังนักร้องอันมีชื่อเสียงของเยอรมัน ร้องเพลง แต่เขาไม่เข้าใจเพลงและภาษาของเยอรมัน แต่อยากอวดตัวว่ามีภูมิ จึงถูกหลอกว่าเพลงที่นักร้องชาวเยอรมันจะร้องนั้นเป็นเพลงขบขัน พอชายคนนั้นได้ฟังก็ทำเป็นหัวเราะ ราวกับรู้สึกขันเสียเต็มประดา แต่ที่แท้ เพลงที่ร้องนั้นเป็นเพลงเศร้าสลด

เรื่องที่ ๓ เป็นนวนิยาย ชื่อ ดอน ควิโซต (Don Quixote) ของ เซวันเตส (Cervantes) นักเขียนชาวสเปน เนื้อเรื่องเป็นเรื่องเก่า แต่ยังคงอ่านกันได้สนุก และเป็นหนังสือวรรณคดีที่นักอักษรศาสตร์นับถือเรื่องหนึ่ง เซวันเตส เกิดเมื่อ ค.ศ. ๑๕๕๗ ตาย ค.ศ.๑๖๑๖ เป็นนักเขียนที่มีชีวิตยากเข็ญมาก แขนซ้ายขาดเมื่อคราวเป็นทหารออกรบ และเคยถูกโจรสลัดจับตัวไป เรื่อง ดอน ควิโซต พิมพ์จำหน่ายครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.๑๖๐๕ จะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องที่เก่าหลายร้อยปีมาแล้ว แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่มีคนชอบอ่านกันทุกสมัย

เรื่องนี้กล่าวถึงผู้ดียากจนคนหนึ่ง ชื่อ ดอน ควิโซต เป็นคนซื่อ ใจคอโอบอ้อมอารี แกอ่านหนังสือเกี่ยวกับการผจญภัยของพวกอัศวินมาก เกินไป เลยเผลอสติคิดไปว่าแกเป็นอัศวินคนหนึ่งเหมือนกัน อัศวินนี้เป็นนักรบพวกหนึ่ง มีขนบธรรมเนียมแปลกๆ เช่น ชอบท่องเที่ยวช่วยคนที่ตกทุกข์ได้ยาก โดยมากช่วยหญิงสาวที่อยู่ในอันตราย อัศวินนี้ย่อมมีขวัญใจของเขาคนหนึ่งและเขาจะพยายามทำทุกอย่างเพื่อขวัญใจของเขา เมื่อ ดอน ควิโซต คิดว่าตนเป็นอัศวิน ก็เที่ยวหาเกราะเก่าๆ กับดาบ และม้าผอมโซได้ตัวหนึ่ง (เกราะ ดาบ ม้า นี้เป็นสมบัติประจำตัวอัศวิน) ออกท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆ เขามีลูกน้องคนหนึ่ง ชื่อ ซานโชปันชา เป็นคนเบาเต็ง ทั้งสองคนได้เผชิญภัยอย่างบ้าๆ ต่างๆ จนในที่สุดเจ็บตายเพราะความชอกช้ำ อันเกิดจากการตกม้าบ้าง ไปต่อสู้กับกังหันลม ซึ่ง ดอน ควิโซตคิดว่า เป็นยักษ์จะมาทำอันตรายหญิงบ้าง บัดนี้ถ้าพูดว่า “เก่งอย่างดอน ควิโซต” ก็แปลว่า เก่งอย่างบ้าๆ ไม่เข้าท่า

ตัวอย่างที่ยกมาอ้างเป็นเรื่องเก่าๆ แต่เรื่องฮิวเมอร์ที่เขียนกันอยู่ในบัดนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตปัจจุบันโดยมาก ผู้เขียนอาจเห็นขำในพฤติการณ์หรือลักษณะของใครคนหนึ่ง แล้วนำมาผูกเขียนเป็นเรื่องขึ้น นักเขียน เรื่องฮิวเมอร์ที่นับว่าอยู่ในความนิยมของผู้อ่านบัดนี้ก็มี “แสงทอง’’ “อ.ร.ด.’’ “นายรำคาญ’’ “ฮิวเมอร์ริสต์” แต่ท่านควรจำไว้ว่า เรื่องชวนหัวที่ดีนั้น ต้อง ให้ผู้อ่านได้นึกขันขำ และคิด คือซ่อนความมุ่งหมายอะไรไว้ภายใต้เรื่องนั้น ด้วย

พาโรดี (Parody)
เรื่องทำนองนี้หาตัวอย่างมาแสดงได้ยาก พูดได้ว่า ในขณะนี้ไม่มี เรื่องทำนองพาโรดีในนิตยสารของเราเลย ตามความหมายเดิม พาโรดี หมายถึง กลอนตลกที่ล้อเลียนกลอนที่เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าจะยกตัวอย่างของไทยก็อาจพูดได้ว่า บทละครเรื่องระเด่นลันได เป็นพาโรดีของบทละครเรื่องอิเหนา

“อันสี่ธานีราชฐาน
กว้างใหญ่ไพศาลหนักหนา
เทเวศร์นฤมิตด้วยฤทธา
สนุกดังเมืองฟ้าสุราลัย
มีปราสาททั้งสามตามฤดู
เสด็จอยู่โดยจินดาอัชฌาสัย
หลังคาฝาผนังนอกใน
แล้วไปด้วยโมราศิลาทอง”
นี่เป็นกลอนในอิเหนา พรรณนาบ้านเมืองราชวังของอิเหนา แต่ในเรื่อง ระเด่นลันได ระเด่นลันได (ตัวพระเอก) มีบ้านเมืองเหมือนกัน แต่พระยามหามนตรี ผู้แต่ง ได้เขียนดังนี้

“อยู่ปราสาทเสาคอดยอดด้วน
กำแพงแก้วแล้วล้วนด้วยเรียวหนาม
มีทหารหอนเห่าเฝ้าโมงยาม
คอยปราบปรามปัจจามิตรที่คิดร้าย”

ท่านจะเห็นกลอนอันหลังนี้ ล้อ อันข้างต้น
เป็นธรรมดาวิสัยของมนุษย์ที่ชอบค่อนแคะ และสิ่งอะไรหรือใคร
ที่ภาคภูมิเกินสมควร เรามักอดสะกิดสะเกาไม่ได้ นี่คือที่เกิดของพาโรดี แต่การล้อหรือแคะได้นี้ ไม่ใช่ล้ออย่างหยาบๆ หรือมีความชิงชังปน ต้องล้อ หรือแคะได้อย่างสะกิดให้รู้สึกตัวว่า อย่าหลงหรือเหลิงเกินไป อย่างรัชกาลที่ ๖ ทรงเขียนไว้ที่หน้าหนังสือ ดุสิตสมิต ว่า “ถึงล้อก็ล้อเพียง กละเยี่ยง วิธีสหาย บ่อาจจะให้ร้าย และจะมุ่งประจานใคร” เรื่องพาโรดีที่นับว่ามีคุณค่านั้น ต้องมีลักษณะเป็นเชิงวิจารณ์ สะกิดให้รู้ตัว เพราะธรรมดาคนเราบางคนเตือนกันตรงๆ ไม่ได้ ต้องเปรียบเปรยให้เกิดฉุกใจขึ้นเอง

เรื่องทำนองพาโรดี ไม่จำเป็นต้องเขียนเป็นกลอน เขียนเป็นร้อยแก้ว ก็ได้ แต่หาตัวอย่างเรื่องไทยๆ มาอ้างยาก เคยมีอยู่คราวหนึ่งมีผู้เขียนเกร็ดพงศาวดารจีนล้อเรื่องสามก๊ก ให้ชื่อตัวละครว่า เกี้ยมซิงตี นางเกาลัด ให้อยู่เมืองแยนวอถอง แต่พาโรดีเช่นนี้เป็นอย่างตํ่า ไม่มีคุณค่าอย่างใด สมัยหนึ่งมีการเปิดป้ายสถานที่สำคัญๆ เชื้อเชิญคนสำคัญๆ มาเปิด มีคนอ่านรายงานและกล่าวสุนทรพจน์ออกจะมีบ่อยๆ และดูเหมือนจะทำกันเป็นพิธีเท่านั้น “ฮิวเมอริสต์” รู้สึกหมั่นไส้ขึ้นมา จึงเขียนพาโรดีในเรื่องชื่อ “สุนทรพจน์ในการเปิดส้วมสาธารณะ” เรื่องเช่นนี้ถ้าเขียนไม่ตีอาจกลายเป็นหยาบได้

ประวัติบุคคล (Biography)
เรื่องประวัติบุคคลนี้ มีเขียนกันบ้างประปราย แต่มักเป็นเรื่องสั้นๆ ไม่ละเอียดพิสดาร ในต่างประเทศนิยมเขียนกันมาก มักเป็นเรื่องชีวประวัติของบุคคลที่ขึ้นชื่อลือนาม ทั้งที่ได้ทำประโยชน์และที่เป็นภัยของโลก เช่น ชีวิตของเอดิสัน ผู้คิดไฟฟ้า ชีวิตของฮิตเลอร์ เจ้าตำรับลัทธิเผด็จการ ไทยเรามิใช่จะขาดบุคคลสำคัญที่ควรยกย่อง แต่อุปสรรคสำคัญน่าจะเป็นเพราะเราขาดเครื่องมือในการค้นคว้า การเขียนเรื่องชนิดนี้ต้องค้นคว้าหลักฐานมาก

เรื่องประวัติบุคคลเป็นเรื่องที่น่าอ่านน่าฟังเพราะเป็นเรื่องของคนจริงๆ ไม่ใช่คนสมมุติ

นักเขียนประวัติบุคคลจะต้องเป็นคนมีความรู้ลึกซึ้ง เข้าอกเข้าใจ เรื่องราวต่างๆ ได้รวดเร็ว ให้รู้ว่าอะไรสำคัญควรจดลงไว้ หรืออะไรไม่ สำคัญควรทิ้ง ความรู้จักเลือกเฟ้นเหตุการณ์ต่างๆ เป็นหัวใจของนักเขียนประวัติบุคคล เพราะถ้าเขียนละเอียดฟุ่มเฟือยเกินไป จะทำไห้ผู้อ่านหมดความเพลิดเพลิน การเขียนประวัตินี้ถ้าเขียนตามทางการ คือ เขียนอย่างพวกนักประวัติศาสตร์ ก็เป็นเพียงบันทึกลงไปว่า บุคคลนั้นๆ ได้ทำอะไรบ้าง แต่ถ้าเขียนตามศิลปะแห่งการเขียนประวัติบุคคลแล้ว ต้องแสดงให้ผู้อ่านเห็นว่า บุคคลนั้นๆ เป็นคนอย่างไร ไม่ใช่เขาได้ทำอะไรบ้าง ผู้เขียน ต้องถือตัวคนเป็นหลักสำคัญ ไม่ใช่กิจการที่เขาได้ทำไป หรือสิ่งอื่นๆ ที่อยู่รอบๆ ตัวเขา สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงของประกอบ ตัวบุคคลต้องเป็นจุดศูนย์กลาง ในวรรณคดีไทย เราเพิ่งจะมีเรื่องทำนองนี้บ้าง เช่น เฟรดเดอริก มหาราช และแคทรีนมหาราชินี พระนิพนธ์พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า จุลจักรพงษ์ อย่างไรก็ตาม เรื่องทั้งสองนี้ยังมีนํ้าเนื้อทางประวัติศาสตร์ปนอยู่มากด้วย

ส่วนสำคัญอีกข้อหนึ่งคือ การดำเนินเรื่อง ผู้เขียนประวัติบุคคล โดย มากดำเนินเรื่องอย่างปฏิทิน คือบรรยายเป็นลำดับวันและเวลา การเรียงเรื่องไปตามลำดับเช่นนี้ไม่สู้ดีนัก

ผู้เขียนประวัติบุคคลต้องทำใจให้เที่ยงตรงที่สุด ถ้าเกิดอคติขึ้น เช่น เยินยอกันเกินควร หรือติเตียนบุคคลอย่างไร้เหตุผล ก็จะทำให้เรื่องอ่อนไปมากทีเดียว

ข้อต่อไปอีกข้อหนึ่ง คือ ความมุ่งหมาย การเขียนประวัติบุคคล มิใช่แต่เพียงการแสดงเรื่องราวในชีวิตของเขาเท่านั้น แต่ควรให้เป็นคติแก่ผู้อ่านด้วย บุคคลที่เราเขียนประวัติ จำเป็นต้องมีลักษณะอะไรสักอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นที่สนใจแก่ผู้อ่าน เมื่อผู้อ่านได้อ่านไปจบเรื่องแล้ว ควรจะได้จดจำและนำลักษณะของบุคคลนั้นไปนึกคิด ถ้าผู้เขียนทำไม่ได้ดังนี้ ก็แปลว่า เรื่องที่เขียนนั้นยังใช้ไม่ได้

เพื่อจะให้เรื่องประวัติบุคคล แสดงชีวิตของคนอย่างแท้จริง ผู้เขียนควรแทรกเรื่องทำนองบันทึกรายวัน จดหมาย คำสนทนาของผู้นั้นไว้ด้วย

การเขียนประวัติบุคคลนี้ไม่จำเป็นต้องเขียนเรื่องของคนสำคัญๆ แม้ประวัติของคนธรรมดาก็อาจทำได้เช่นกัน ถ้าผู้เขียนรู้จักเขียน

การอ่านเรื่องประวัติบุคคลนี้ ย่อมทำให้เกิดความเพลิดเพลินด้วย
คล้ายกับว่าผู้อ่านได้พบปะสนทนากับบุคคลผู้นั้น เรื่องราวแห่งชีวิตของเขาย่อมเป็นบทเรียนอย่างดีแก่ผู้อ่าน

การเขียนบันทึกประจำวัน หรืออนุทิน (Diary)
นักเขียนสำคัญๆ ส่วนมากมีสมุดบันทึกประจำวัน ซึ่งเขาจดเหตุการณ์ ที่เขาได้พบปะ ได้กระทำ ตลอดจนความรู้สึกนึกคิดเป็นวันๆ ไป สมุดนี้จะช่วยให้เราเป็นคนช่างสังเกต ช่างจำ และช่างคิด สมุดประจำวันเป็นสมบัติเฉพาะตัว แม้ทุกคนไม่อาจทราบได้ว่า ตนจะมีชื่อเสียงขึ้นเมื่อไร และมีชื่อเสียงในทางไหน แต่ถ้าท่านเกิดมีชื่อเสียงขึ้น สมุดอนุทินก็เท่ากับเป็นสมบัติของชาติ เป็นเครื่องมือของนักประวัติศาสตร์ สมุดของท่านก็จะมีราคาขึ้น และใครๆ ก็อยากจะอ่าน ว่าคนมีชื่อเสียงนั้น วันหนึ่งๆ เขาทำอะไร คิดอะไรบ้าง ท่านอาจนึกว่าความที่จะมีชื่อเสียงนั้น เป็นเพียงความนึกฝัน อย่างไรก็ดี การเขียนอนุทินนี้ มันมีประโยชน์ในตัวของมันเอง เพราะมันเหมือนตู้ประวัติ และตู้เก็บความนึกคิดของท่าน และความคิดที่ท่านเขียนเก็บไว้ในสมุดนั้น อาจบันดาลประโยชน์แก่ท่านได้เหมือนกัน

ท่านเคยเขียนบันทึกประจำวันหรือเปล่า ถ้ายังท่านควรลองดู เมื่อแรกเขียนท่านอาจรู้สึกเบื่อหน่าย และอาจล้มเลิกในเจ็ดวันแรก เพราะไม่มี เวลาเขียนบ้าง ไม่มีเรื่องอะไรจะเขียนบ้าง เรื่องเวลานั้น ท่านควรหาได้ เช่นก่อนนอน ท่านเสียเวลาสัก ๑๕ นาที ก็เห็นจะไม่เป็นไรนัก ส่วนเรื่อง ที่จะบันทึกนั้น ถ้าท่านนึกให้ดี จะเห็นว่าชีวิตของท่านที่ผ่านไปแล้ว ๑ วัน นั้น มีเหตุการณ์อยู่มากมายนัก อีกประการหนึ่งขณะที่ท่านบันทึก ถ้ามีความคิดอะไรใหม่เกิดขึ้น เป็นต้นว่าโครงการต่างๆ ความนึกคิดที่ดีงาม ท่านก็อาจจดลงไปได้ คนสำคัญๆ มักมีสมุดบันทึกรายวันประจำตัว เพราะสมุดนี้ ช่วยท่านเหล่านั้นเป็นอันมาก ในการที่จะมองกลับไปข้างหลัง และดูไปข้างหน้าอย่างถูกต้องแน่นอน การเขียนบันทึกนี้ เป็นความเพลิดเพลินอย่างหนึ่ง เพราะท่านอาจพูด อาจคิด และอาจทำทุกสิ่งได้อย่างอิสระ ถ้าท่านไม่กล้าเถียงกับผู้บังคับบัญชาของท่าน ท่านก็อาจเถียงไว้ไนสมุดบันทึก ท่านไม่กล้าเอ่ยปากฝากรักไว้กับคนที่ท่านรัก ท่านก็อาจฝากรักไว้ในสมุดบันทึก ท่านมีเรื่องร้อนใจทิ้งมันไว้ไนสมุดบันทึก สิ่งสำคัญที่สุดในการบันทึก คือท่าน ต้องเขียนโดยความสัตย์จริงอย่างที่สุด ในการเขียนเรื่องนั้น ตามปกติเราเขียนให้ผู้อื่นอ่าน แต่การเขียนบันทึกรายวัน เราเขียนเพื่อเราคนเดียวอ่าน สมุดบันทึกย่อมเป็นที่รวมเรื่องในใจของท่าน

อาร์โนลด์ เบเนตต์ กล่าวว่า นักเขียนบันทึกรายวันประจำตัวอย่างแท้นั้นหาไม่ได้ เพราะไม่มีชายหญิงคนใดจะกล้าเขียนเรื่องที่เขาคิด เขาทำ และที่เขามีความรู้สึกอย่างแท้จริงลงไป ความรู้สึกและความคิดของมนุษย์นั้น มักต่ำและหยาบ ถ้าเป็นดังนี้แปลว่า เราหาไว้วางใจตัวของเราไม่ สมมุติว่าท่านมีความมั่นใจว่า จะไม่มีตาคู่ใดมาอ่านบันทึกของท่านได้ ท่านปิดประตู หน้าต่างเสียให้หมดทุกบาน และเมื่อท่านได้บันทึกความรู้สึกความคิดของท่านลงไปแล้ว ท่านจะเผากระดาษนั้นทันที แต่กระนั้น ท่านก็คงไม่ยอมเขียนความรู้สึกอะไรลงไปทั้งหมด เพราะความรู้สึกที่ท่านเขียนลงเป็นตัวหนังสือ อาจทำให้ท่านเกลียดและกลัวตัวท่านเอง แต่อารยชนย่อมเป็นคนเปิดเผย

นักเขียนบันทึกประจำตัวคนหนึ่ง ชื่อ ปิปส์ ได้ชื่อว่าเป็นผู้กล้าเขียน ความจริงในตนเอง เขาได้โกงใคร แอบไปทำเจ้าชู้กับเด็กสาวๆ ในโบสถ์ อย่างไร เขาบันทึกลงไปหมด

คนมีชื่อเสียงเช่น ปิปส์ (Pepys) คงจะมีอีกหลายคนที่ทำอะไรเหลวๆ ไหลๆ แต่แน่นอนทีเดียว ไม่ได้บันทึกเรื่องเหลวของเขาไว้ในสมุดประจำตัวของเขา

บันทึกของปิปส์เดิมเขียนเป็นอักษรลับ เจ้าของเข้าใจว่า มันคงจะ สาบสูญไปพร้อมกับชีวิตของเขา เพราะเข้าใจว่าคงจะไม่มีใครไขมันออกได้ แต่สองร้อยปีต่อมา สมิท (Smith) ก็ได้ถอดอักษรลับนี้ออกเป็นตัวหนังสือ ที่ทุกคนอ่านเข้าใจ เลยได้ความรู้ทางประวัติศาสตร์เพิ่มขึ้นอีกมาก เพราะ Pepys เป็นคนสำคัญคนหนึ่งของกองทัพเรืออังกฤษ สมัย ค.ศ.๑๖๗๙ การบันทึกประจำตัวนี้เขาเขียนสำหรับตนเองแท้ๆ ดังนั้น ท่านคงถามว่าจะเขียนไว้ทำไมกัน คำตอบในปัญหานี้ได้กล่าวไว้แล้วในตอนต้น อย่างไรก็ดี ถ้าบันทึกของเราตกไปถึงมือผู้อื่น ก็จะทำให้เกิดประโยชน์เป็นอันมาก แม้บันทึกนั้นจะสาวไส้เจ้าของออกมาให้โลกเห็น บันทึกของปิปส์ทำให้นักประวัติศาสตร์เข้าใจชีวิตความเป็นอยู่ และเหตุการณ์ในกองทัพสมัยปิปส์ได้อย่างดี การที่เราจะเข้าใจคนได้ชัดเจนนั้น ต้องเข้าใจจากการอ่านบันทึกประจำตัวของเขา เมื่อเขาเปิดหัวใจออกอย่างกว้างขวางที่สุด

การบันทึกที่ดีนั้น ผู้บันทึกต้องเป็นคนสนใจในกิจการทั่วๆ ไป การเมือง การศิลปะ การสมาคม และอะไรอื่นๆ ที่มนุษย์ทำ ผู้บันทึกต้องพยายาม รวบรวมบันทึกเป็นประจำวัน พร้อมกับความคิดความรู้สึกของเขา

เวลาที่ควรเขียนบันทึกรายวัน คือเวลาก่อนนอน ซึ่งเป็นเวลาที่ชีวิตคนสิ้นไปวันหนึ่งๆ รุ่งขึ้นเราก็พบของใหม่ ชีวิตใหม่ วันเก่าได้หายไปแล้ว เราจะมองดูวันเก่าได้ในสมุดบันทึกของเราเอง

ความคิดใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นแก่ท่านในชั่วขณะต่างๆ นั้นย่อมเป็นของมีค่า ท่านควรจดลงไว้ในสมุด อีกประการหนึ่งสมุดบันทึกนั้นเป็นที่รับรอง ความคับแค้นใจของท่านได้อย่างดี พวกนักเขียนบันทึกประจำตัวที่สำคัญๆ เช่น เซลลินี (Cellini) รูซโซ (Rousseau) เปียร์ซาล สมิท (Pearsal Smith) ล้วนไม่ปิดบังความเลวของเขา อย่างไรก็ตาม เมื่อเขาวายชนม์ไปแล้ว ผู้:อ่านบันทึกของเขาย่อมอ่านด้วยความเห็นใจหมดด้วยกันทุกคน

ความมุ่งหมายของผู้บันทึกประจำตัวนั้น คือ การแสดงสงครามแห่ง ชีวิต ว่าเขาได้ต่อสู้กับเหตุการณ์ต่างๆ อย่างไร เขาแพ้หรือชนะ

อย่างไรก็ตาม ถ้าท่านต้องการให้ความจำดี ความคิดดี ความรู้สึกดี ท่านควรลองพยายามเขียนบันทึกรายวันประจำตัว ท่านเขียนลงไปอย่างตรงที่สุด แล้วเก็บไว้มิดชิด เมื่อคืนวันผ่านพ้นไป หรือถึงวันเกิดของท่าน ท่านเอาสมุดบันทึกมาอ่านเงียบๆ ท่านจะแลเห็นชีวิตของท่านได้ชัดเจนขึ้น

ในอันดับนี้จะสรุปความที่ได้พูดมาแล้ว การที่เราจะประสบความสำเร็จในการเขียนเรื่องนั้น มีส่วนประกอบสำคัญอยู่ ๒ ประการ คือ คุณสมบัติภายในตนเอง กับหลักความรู้ในการประพันธ์ วิเซตเตลลี (Vizetelly) กล่าวว่า ผู้ที่มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ มีทางสำเร็จในการประพันธ์เร็วขึ้น

๑. ต้องเป็นผู้มีกำลังใจแรง ไม่ว่าจะทำงานอะไร ถ้าขาดกำลังใจ อันมั่นคงที่จะฝ่าอุปสรรคต่างๆ แล้ว ย่อมจะทำงานนั้นให้บรรลุผลได้โดย ยาก และการเป็นนักเขียนนี้ ต้องเป็นผู้มีความอดทนอยู่มิใช่น้อย ศรีบูรพา, ยาขอบ, สด กูรมะโรหิต, สันต์ เทวรักษ์, ดอกไม้สด, แสงทอง, กาญจนาคพันธุ์ เหล่านี้ต้องอดตาหลับขับตานอนมาคนละไม่ตํ่ากว่า ๑๐ ปี กว่า จะได้ชื่อเสียงปรากฏ ผู้ที่โชคดีประสบความสำเร็จโดยรวดเร็วนั้นมีน้อยราย ฉะนั้น ถ้าปราศจากนิสัยรักและความตั้งใจอันมั่นคงเสียแล้ว ผู้เริ่มฝึกก็อาจเกิดความเหนื่อยหน่ายเสียได้โดยง่าย

๒. คุณสมบัติประกอบอื่นๆ คือ ความเป็นคนตาคม มีความสังเกตดี มีจินตนาการแจ่มใส มีเซ้นส์ออฟฮิวเมอร์ (Sense of Humour) และรู้จักรวบรวมความคิดให้แน่วแน่ ไม่ให้ฟุ้งซ่าน คุณสมบัติดังว่านี้ ถ้าไม่มีอยู่ในตัวก็ควรหัดให้เกิดมีขึ้น

ในทางวิธีการประพันธ์ เขานิยมกันว่า บทประพันธ์ที่มีลักษณะดี ต้องประกอบด้วยคุณสมบัติดังต่อไปนี้

๑. ความบริสุทธิ์ (Purity) ซึ่งได้แก่การเลือกใช้ถ้อยคำที่เป็นภาษาของเราเอง การที่จะทำได้ดังนี้ เราต้อง เว้น

ก. การใช้ถ้อยคำ สำนวน อันเป็นแบบอย่างของต่างประเทศ เช่น บางคนที่ชำนาญภาษาอังกฤษ มัก เอาสำนวนฝรั่งมาเขียนเป็นไทย บางคนชอบคำศัพท์บาลี สันสกฤต ก็เอา คำศัพท์มาใช้จนดูรุงรังไปหมด

ข. คำที่เก่าพ้นสมัย เรียกในภาษาอังกฤษว่า อาร์เคก (Archaic) หรือ ออปโซลีท (Obsolete)

ค. ภาษาตลาด หรือ ภาษาสะแลง (Slang)

ง. ใช้ถ้อยคำอย่างเป็นสำบัดสำนวน หรือพูดประดิดประดอยจนเกินสมควร

๒. ความถูกต้อง (Propriety) คือ การเลือกสรรคำที่ได้ความหมายตรงกับความต้องการ แล้วเอาคำเหล่านั้นมาผูกเป็นประโยค ถูกต้องตาม หลักของไวยากรณ์ ใช้คำให้ถูกแบบแผน ถูกความนิยม

๓. ความกระชับ (Precision) คือ การประหยัดไม่ใช้คำฟุ่มเฟือย คำทุกคำที่เขียนลงไปนั้น ต้องเป็นคำที่มีความหมายไม่ซ้ำกับคำอื่นและเป็น ประโยชน์ ถ้าเราเขียนข้อความใดลงไปแล้วลองพิจารณาถ้อยคำที่ใช้ ถ้าเห็นว่าคำไหนตัดออกได้โดยไม่ทำให้ความเสีย ก็ควรตัดออก ความกระชับ รัดกุมนี้ ได้แก่การใช้คำแต่น้อย แต่ให้ได้ความดี ผู้เริ่มฝึกมักผิดในข้อนี้

๔. ความชัดเจน (Perspicuity) คือ ลักษณะของความที่อ่านแล้ว เข้าใจได้ชัด ไม่เคลือบคลุม ไม่กำกวม การที่จะทำได้เช่นนี้ก็โดยวิธีผูกประโยค คือต้องพิจารณาวางส่วนขยายให้ถูกที่ ให้ส่วนขยายและความหรือ คำที่มันขยายนั้นเกี่ยวต่อเนื่องกัน

ทั้ง ๔ ประการนี้ เป็นคุณสมบัติของบทประพันธ์ การที่จะทำให้บทประพันธ์ของท่านประกอบด้วยคุณสมบัติดังนี้ ขอให้ท่านพยายามอ่าน ทบทวนคำบรรยายอันดับที่ว่าด้วยการใช้คำ การสร้างหรือผูกประโยค

บทเรียงความ (Essay)
ในฐานะที่ท่านจะเป็นนักประพันธ์ต่อไป ท่านควรรู้แบบประพันธ์ทุกชนิด ครั้นแล้วเมื่อท่านรู้สึกว่า มี กิฟต์ (Gift) หรือถนัดทางใด ท่านก็อาจฝึกในทางนั้นโดยเฉพาะต่อไป ที่ท่านได้ผ่านมาแล้ว คือ วิธีเขียนบันเทิง คดี เรื่องสั้นกับนวนิยาย ซึ่งเป็นบทประพันธ์แพร่หลายที่สุด เป็นสินค้าวรรณคดีที่อยู่ในความนิยมทั้งในทางนักอ่าน และนักเขียน บัดนี้จะได้แนะนำให้ท่านรู้จักบทประพันธ์อีกแบบหนึ่ง ซึ่งได้ทำไห้ “ครูเทพ” (เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี) มีชื่อเสียง ทำให้ ยี.เค. เชสเตอร์ตัน (G.K. Chesterton) มีชื่อรู้จักทั่วโลก บทความเรียงไม่เป็นสินค้าวรรณคดีที่ซื้อง่าย ขายคล่อง แต่เขานับถือกันว่าเป็นวรรณกรรมของพวกนักคิดของผู้มีรสนิยมสูง สำหรับในเมืองไทยยังมีคน “เล่น” กันน้อย และหนังสือนิตยสารที่ตีพิมพ์จำหน่าย อยู่ในบัดนี้ หาบทความเรียงดีๆ อ่านไม่ได้บ่อยนัก

บทความเรียงนี้ เรียกในภาษาอังกฤษว่า เอสเซ่ย์ “Essay” ท่าน คงจะเคยพบคำ Essay นี้ เมื่อเรียนภาษาอังกฤษในมัธยมศึกษา ๔-๕ หรือ ในชั้นอุดมศึกษาแต่บทความเรียง (Essay) ตามความหมายในวรรณคดี มีลักษณะแตกต่างกับ Essay ในโรงเรียนหลายอย่างหลายประการ วรรณคดี ประเภทนี้ เพิ่งปรากฏในประวัติวรรณคดีไทย ฉะนั้นเราต้องพิจารณาที่มา และลักษณะของมันตามที่วรรณคดีอังกฤษกล่าวไว้

ในประวัติวรรณคดีอังกฤษมีว่า เมื่อ ค.ศ. ๑๕๗๑ ผู้มีตระกูลชาว ฝรั่งเศสคนหนึ่ง ชื่อ มองเตญ (Montagne) เกิดความเบื่อหน่ายโลก จึง เก็บตัวอยู่ในปราสาทของเขาเอง ค้นคว้าศึกษาเรื่องราวต่างๆ จากห้องสมุดอันใหญ่โตของเขา เมื่ออ่านหนังสือเรื่องอะไรไปแล้ว หรือเมื่อนั่งรำพึงอยู่คนเดียว เกิดความนึกคิดอะไรขึ้นมา ก็บันทึกลงไว้ในสมุด บางเรื่องสั้น บางเรื่องก็ยาว แล้วแต่อารมณ์ และความนึกคิดจะพาไป เรื่องต่างๆ เหล่านี้ เขาได้รวบรวมพิมพ์เป็นเล่มให้ชื่อในภาษาฝรั่งเศสว่า เอสเซยส์ “Essais” ซึ่งตามศัพท์ฝรั่งเศส แปลว่า ความพยายาม หรือ การทดลอง เพราะมองเตญ ถือว่า เรื่องต่างๆ ที่เขาจดๆ ลงไว้นั้น ยังไม่สำเร็จบริบูรณ์ เป็นเพียงความพยายามที่เขานึกอะไรได้ก็จดๆ ลงไว้ เมื่อเรื่องของมองเตญพิมพ์ออกจำหน่าย ครั้งนั้น ปรากฏว่า มีคนชอบอ่านกันมาก ต่อมาเรื่องนี้มีผู้แปลเป็นภาษาอังกฤษ และเอาคำ “Essai” (ถ้าเติม s เป็นพหูพจน์) ไปเปลี่ยนใช้ในภาษาอังกฤษ ว่า Essay ซึ่งตามศัพท์แปลว่า การพยายาม การทดลองเช่นเดียวกัน คำ Essay (เอสเซ่ย์) จึงเป็นชื่อวรรณกรรมประเภทหนึ่งแต่นั้นมา ที่เราแปลกันว่า บทความเรียง หรือเรียงความนั้น แปลเอาแต่ความหมาย ที่จริงไม่ตรงกับชื่อเดิมนัก บทความเรียงทางการเมือง ของอัศวพาหุ ที่เรียกว่า ปกิณกคดี ของ อัศวพาหุ นั้น คำว่า ปกิณกคดี ออกจะใกล้วรรณกรรม ที่เรียกว่า เอสเซย์ (Essay) มาก

อนึ่ง ขอให้เข้าใจไว้ด้วยว่า คำ Essay นี้เพิ่งปรากฏในสมัยของ มองเตญ แต่บทวรรณกรรมที่มีลักษณะอย่างเอสเซ่ย์นี้ มีมาก่อนมองเตญ นานแล้ว และบัดนี้คำว่าเอสเซ่ย์ ก็มิได้หมายความว่าบทความที่ลองขีดๆ เขียนๆ เล่นๆ อย่างที่มองเตญเคยทำ แต่เป็นเรื่องที่มีความมุ่งหมาย และจบสำเร็จเป็นเรื่องเป็นราว

บทความเรียงนี้ อาจมีความยาวตั้งแต่หน้ากระดาษเดียวถึงห้าหกร้อย หน้า แต่โดยมากมีความยาวขนาดเรื่องสัน และเขาถือว่าเรื่องใดๆ ถ้าไม่ใช่เป็นนิยายอย่างเรื่องสันหรือนวนิยาย นับเป็นพวกบทความเรียงทั้งนั้น บทความเรียงนี้อาจเป็นเรื่องชนิดหญ้าปากคอก เช่น เรื่องแว่นตา ประตูบ้าน ปลากัด มวยไทย ไปจนถึงเรื่องอันเป็นปรัชญาลึกซึ้ง เช่น บทความเรียงว่าด้วยความรู้ ความคิดของมนุษย์ (Essay concerning Human Understand¬ing) ของนักปราชญ์อังกฤษ ชื่อ ยอน ล็อก เป็นต้น

ในหนังสือรวมบทความเรียงเอกของโลก (The World’s Best Essays) ท่านจะพบชื่อเสียงแปลกๆ ซึ่งจะยกมาให้ท่านเห็น พอเป็นแนวทางแห่ง ความนึกคิด ดังต่อไปนี้

๑. ศิลปะแห่งการรับประทาน โดย ยวนเหม่ (จีน) เป็นเรื่องว่าด้วยการรับประทานอาหาร

๒. ว่าด้วยความสัตย์จริง โดย เบคอน นักประพันธ์อังกฤษ เป็นเรื่องปรัชญาแห่งความคิด

๓. เรื่องตัวของฉันเอง โดย คอเลย์ เป็นเรื่องความนึกคิด

๔. ว่าด้วยการหัวเราะ โดย แอดดิซัน นักเรียงความเอกของอังกฤษ ชื่อเรื่องก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นเรื่องอย่างไร

๕. เรื่องการท่องเที่ยว โดย เฮซลิตต์ นักเรียงความเอก

๖. ศิลปะแห่งการอยู่กับคนอื่น โดย เซอร์ อาร์เทอร์ เฮลป์ เป็นเรื่องทำนองวิจารณ์ และนึกคิด

๗. ว่าด้วยคนใจลอย โดย ลาบรูแยร์ นักประพันธ์ฝรั่งเศส

๘. เรื่องอยู่คนเดียวทำอะไร โดย กอร์กี นักประพันธ์รุสเซีย

๙. เรื่องเกี่ยวกับช่างตัดผม โดย มาร์ก ทเวน นักเขียนหัสคดีเอก ของอเมริกา

๑๐. เรื่องประตู โดย มอร์ เลย์ นักเขียนชาวอเมริกัน

ตามชื่อเรื่องต่างๆ ที่ได้ยกมาเป็นตัวอย่างนี้ ท่านจะเห็นว่า บทความ เรียงได้เปิดทางไว้อย่างกว้างขวาง สำหรับนักประพันธ์จะได้บันทึกความคิดของตน ผู้เขียนไม่จำเป็นต้องมีความรู้อะไรมากมาย ขอแต่ให้มีความคิดดีเท่านั้นก็เขียนได้ แต่ถ้ายิ่งเป็นคนพหูสูต รู้อะไรกว้างขวาง ก็จะเขียนบทความเรียงได้ดียิ่งขึ้น ทุกคนอาจเขียนได้ตามแนวความจัดเจนของตน ทหาร ตำรวจ นายอำเภอ ครู พ่อค้า ฯลฯ อาจเขียนอะไรที่อยู่ใกล้หูใกล้ตา ที่สะกิดความรู้สึกก็ได้ และจะเขียนอย่างเชิงวิจารณ์ เชิงชวนให้ขบขัน เชิงแนะนำสั่งสอน เชิงอธิบายความรู้ ก็ได้ตามใจชอบ

บทความเรียงเชิงสาระกับเชิงปกิณกะ
ในเชิงความมุ่งหมายและวิธีเขียนบทความเรียงแยกออกเป็นประเภท ใหญ่ ๒ ประเภท คือ เชิงสาระ (Formal Essay) กับ เชิงปกิณกะ (In¬formal Essay)

บทความเรียงเชิงสาระนั้นหนักไปในทางวิทยาการ ผู้เขียนต้องการ
อธิบายความรู้อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นเรื่องสำหรับนักศึกษาอ่านเพื่อหาความรู้ ในการเขียนบทความเรียงชนิดนี้ ผู้เขียนมีความประสงค์จะชี้แจงความรู้เป็นข้อใหญ่ ไม่คำนึงถึงการใช้สำนวนโวหาร และไม่นึกถึงความเพลิดเพลินของผู้อ่าน เพราะถือเสียว่าเป็นเรื่องความรู้ ผู้อ่านต้องการปัญญาความคิด ไม่ใช่ความสนุก ส่วนบทความเรียงปกิณกะนั้น แม้ผู้เขียนจะเพ่งเล็งที่จะแนะนำให้ความนึกคิดแก่ผู้อ่านก็จริง แต่ย่อมคำนึงที่จะให้ได้อ่านกันอย่างเพลิดเพลินเป็นขั้นต้น อย่างไรก็ตาม สำหรับนักเขียนฝีมือดีอาจเขียนเรื่องที่เป็นสาระ แต่ในเวลาเดียวกัน ทำให้ผู้อ่านต้องตรึงตราอยู่กับเรื่องด้วยความสนใจ

การเขียนบทความเรียงปกิณกะ
บทความเรียงชนิดนี้ เขียนเพื่อให้ความเพลิดเพลิน ให้เกิดความอยากอ่านเป็นข้อใหญ่ ปัญหาข้อแรกที่ผู้เขียนจะพึงแก้ให้ตก ก็คือ ทำอย่างไร จึงจะเขียนให้สะดุดใจ วิธีหนึ่งที่นิยมกันคือ เขตเรื่องด้วยเขียนประโยคที่มีคารมคมคายกินใจ หรือที่เป็นคำอันขัดแย้งกับความเชื่อถือของคนทั่วไป (Paradox) จะยกตัวอย่างตอนแรกเปิดความจากบทความเรียงต่างๆ ดังต่อไปนี้

“อันคนเรานี้ ครั้งเมื่อจะกำเนิดมาในโลกนี้นั้น เราก็ไม่รู้เนื้อรู้ตัวว่า เราได้สมัครมาหรือไม่ ครั้นถึงกำหนดที่เราจักต้องละ หรืออำลาจากโลกไปซิ อู แม่เจ้าโวย มันย่างประดักประเดิด ไม่สมัครไปเสียเหลือเกิน…”
ชีวิตของคนเรา โดยพระยาภักดีนรเศรษฐ์

“การทำอะไรต่างๆ ถ้าทำตามระเบียบแบบแผน หรือตามตัวอย่างผู้อื่นที่ทำมาแล้ว อย่างที่เรียก “เจริญรอยพระบาทพระศาสดา” แล้ว ก็เป็นการปลอดภัย ไม่มีการตำหนิติฉิน หรือแคะไค้ได้สมกับที่คนโบราณชอบพูดกัน และคนสมัยนี้ส่วนมากก็ยังนิยมถือเอาเป็นคติว่า “เดินตามรอยเท้าผู้ใหญ่หมาไม่กัด””

จากเรื่อง เดินตามรอยเท้าผู้ใหญ่หมาไม่กัด ไปพูดขัดเขาทำไมขัดใจเขา ของ นายสุกิจ นิมมานเหมินท์

“ผลอันสำคัญที่สุด ในการที่เราเกิดมาเป็นสัตว์โลก ก็คือ เราทุกคน
ต่างมีหลุมอันบรรจุไม่รู้จักเต็มประจำอยู่ทุกคน หลุมอันนี้ เราเรียกกันว่า ท้อง และเรื่องท้องนี้เองที่ได้สร้างอารยธรรมของโลก”
เรื่อง การมีกระเพาะอาหาร ของ หลิน ยูถัง

อีกวิธีหนึ่งคือ เปิดเรื่องอย่างกับว่า เป็นเรื่องนิยาย แต่ไม่ใช่เป็นเรื่องนิยาย เป็นแต่เพียงหยิบยกพฤติการณ์อย่างหนึ่งขึ้นมากล่าว แล้วจาก พฤติการณ์นั้น ชักโยงไปหาแนวความคิดที่เราต้องการเขียน บางทีผู้เขียนก่อความพิศวงขึ้นแก่ผู้อ่าน เช่น ในเรื่อง “โรคระบาดพบใหม่” ของ “ครู เทพ” ขึ้นต้นเรื่องดังนี้

“โรคพบใหม่ชนิดหนึ่ง กำลังระบาดทั้งกรุงเทพฯ และหัวเมือง ในกรุงเทพา เป็นดาษดื่น ตามโรงหนัง พนักสะพาน ศาลาวัด ลานวัด ฯลฯ ในหัวเมืองจะเห็นได้ตามสถานีรถไฟโดยมาก

อาการของโรคนี้กินลึกคล้ายวัณโรค คนไข้ไม่รู้ตัวว่าเป็นโรค และคอยปฏิเสธเสมอ แต่แพทย์และคนอื่นสังเกตได้ว่า ถ้าจับใครเข้าแล้ว ทำให้ แขวน เซ่น แขวนตามพนักสะพาน ตามหน้าโรงหนัง ตามโคนต้นไม้ข้างตลิ่ง ตามสถานีบ้านนอก และตามศาลาวัดที่ไม่ได้ใช้ เป็นต้น”

ผู้อ่านจะถามตัวเองว่า “นี่โรคอะไร” แต่ครูเทพจะทำให้ท่านผู้อ่าน
ต้องอ่านไปจนจบ และบอกท่านในประโยคสุดท้ายของเรื่องว่า โรคนี้คือ
โรคขี้เกียจ

การเขียนบทความเรียงประเภทนี้ นักเขียนต้องพยายามทำให้เรื่อง “เบา” ใช้คารมคมๆ ขำๆ ความคิดที่แสดงออกมาก็ไม่เคร่งเครียดรุนแรง คล้ายกับว่า เราพูดกันเล่นเพลินๆ ไนระหว่างมิตรสหาย แม้เรื่องที่เขียนนั้นจะสลักสำคัญ และผู้เขียนต้องการให้เห็นความสำคัญ ก็ต้องเขียนอย่างแสดงความมีอารมณ์ดี

ตัวอย่างและคำอธิบาย
ตัวอย่างบทความเรียงที่ดีจริงๆ หายาก เพราะนักเขียนบทความเรียงที่เรียกว่า เอสเซยิสต์ (Essayist) นั้นมีน้อยตัว ยิ่งในสมัยนี้ยิ่งหายากขึ้น ได้เลือกมาให้ดูเป็นตัวอย่าง ๒ เรื่อง คือ “เร่งทำช้าๆ” ของ นายสุกิจ
นิมมานเหมินทร์ กับ “ความสุข” ของ “นาคะประทีป”

เร่งทำช้าๆ
๑. ฉันยืนบนหัวเรือหางแมลงป่อง ซึ่งจอดอยู่ข้างตลิ่งแม่นํ้าปิง ตอน หน้าคุ้งนํ้าแห่งหนึ่ง ข้างๆ ฉันนั้นมีคนตกปลาอยู่สองคน คนหนึ่งตกปลา เล็กๆ เช่น ปลาสร้อย ปลาตะเพียน อยู่ข้าง “ปก” (“ปก” ก็คือที่ที่เขาเอากิ่งไม้มากองๆ ไว้ในแม่นํ้า ตอนที่ไม่สู้ลึกนัก เพื่อให้ปลาเข้ามาพักอาศัย อยู่) ส่วนอีกคนหนึ่งตกปลาทางนํ้าลึก ง่วนอยู่ต่างหาก ฉันสังเกตดูเป็นเวลานาน จึงได้เห็นวิธีตกเบ็ดทั้งสองคนว่าแตกต่างกันมาก และผลที่ได้รับก็ผิดกันมากจริงๆ เสียด้วย

๒. คนที่ตกปลาข้างๆ ปกนั้นใช้มันปูเป็นเหยื่อ เกี่ยวกับตัวเบ็ดซึ่งมีสายฟั่นจากรังบุ้งชนิดหนึ่ง (บุ้งชนิดนี้มักอยู่ตามต้นฝรั่ง ทำรังคล้ายๆ รัง ไหม และในที่สุดออกมาเป็นผีเสือช้าง ที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Atlas Myth) และมีทุ่นกลมๆ ทำด้วยหนามทองหลาง ซึ่งเบาลอยนํ้าเหมือนไม้ก๊อกติดอยู่ด้วย พอทอดเหยื่อลงไปสักครู่ใหญ่ๆ ก็เห็นทุ่นมีอาการขยับขึ้นๆ ลงๆ พอเห็นว่า ปลาตั้งต้นกลืนเบ็ดเข้าไปแล้ว คนตกปลาคนนั้น ก็วัดคันเบ็ดขึ้นมาพร้อมทั้งตัวปลาขนาดเล็กๆ ติดขึ้นมาด้วย เมื่อปลดปลาออกจากคันเบ็ดลงข้อง ซึ่งผูกติดกับบั้นเอวไว้แล้ว เขาก็จัดแจงเกี่ยวมันปูที่ตัวเบ็ดใหม่ แล้วก็ลงมือตกต่อไป ในไม่ช้าก็ได้ปลาอีก ฉันนึกอยากจะถามเขาเหมือนกันว่าวันหนึ่งๆ เขาได้ปลาพอที่จะคุ้มกับเวลาที่เสียไปทีเดียวหรือ เพราะเห็นปลาชนิดที่เขาตกได้ เป็นชนิดปลาสร้อย ปลาตะเพียนที่ไม่สู้มีราคาค่างวดอะไรนัก ถึงหากว่าได้เต็มข้องก็คงได้ไม่กี่สตางค์ แต่ก็ต้องอดกลั้นความกระหายอยากรู้ไว้ เพราะเคยได้ทราบว่า เป็นธรรมเนียมของพรานเบ็ดเขาถือกันนักว่า ถ้าระหว่างที่ตกเบ็ดนั้น หากมีใครถามว่าได้ปลามากหรือน้อย แล้วก็เป็นอันเชื่อได้ว่า วันนั้นเป็นต้องอับโชคทั้งวัน ปลาจะไม่ตอดเบ็ดเสียเลย (ข้อนี้เท็จจริงประการใด ฉันไม่เคยพิสูจน์) แต่ทว่า หน้าตาของพรานเบ็ดคนนั้น ดูบึ้งตึงขึงขัง ไม่น่าจะชักชวนให้สนทนาด้วยนัก คล้ายๆ กับว่าแกเกรงคนจะมาทักทายปราศรัย เพราะไม่ทราบถึงลัทธิซวยนี้ก็ได้ จึงต้องล้อมรั้วกั้นคนด้วยสีหน้าก่อน

๓. ส่วนอีกคนเล่า ถือคันเบ็ดเหมือนกัน ส่วนคันเบ็ดเขา แทนที่จะมีสายเบ็ดผูกมาจากปลายคันอย่างคนแรก กลับมีห่วงคล้ายๆ วงแหวนติดอยู่ สายเบ็ดนั้นพันกับกระบอกไม้ไผ่ ทำนองเดียวกับด้ายหลอดเย็บผ้าพันรอบๆ หลอด ฉะนั้น ส่วนอื่นๆ ก็คล้ายกันกับคนแรก ผิดกันก็ตรงที่ไม่มีทุ่น และสายยาวกว่ากันเท่านั้นเอง ชายคนนี้ใช้ยอดอ่อนของมะเดื่อเถาที่ขึ้นตามชายตลิ่งเป็นเหยื่อ ฉันเฝ้าดูเขาเป็นนาน เดี๋ยวเห็นเขาพันสายให้สั้นเข้า เดี๋ยวก็กลับผ่อนสายให้เพิ่มออกไป ดูๆ คล้ายกับชักว่าวในนํ้าก็ได้ ในชั่วเวลาที่ชายคนแรกตกได้ปลาเล็กๆ ตั้ง ๘-๙ ตัวแล้ว ดูเหมือนคนที่สองยังไม่ได้อะไรเสียเลย แต่พอสักครู่หนึ่ง ฉันเห็นสายเบ็ดของคนที่สองตั้งต้นจะตึงขึ้น เป็นปลาติดเบ็ดเข้าแล้วละ เขารีบพันสายเข้าเพื่อจะจับปลาทันทีหรือเปล่า ทั้งนั้น เขากลับปล่อยให้ปลาดึงไปจนจวนจะหมดสาย แล้วจึงค่อยๆ พันสายกลับ พอพันสายให้สั้นเข้าได้สักหน่อยก็ผ่อนสายให้คลายไปอีก นานๆ ทีก็ค่อยลองกระตุกๆ ดู จนในที่สุดเจ้าปลาตัวนั้นอ่อนหมดแรงลง สายไม่ค่อยจะแข็งแล้ว เขาจึงตั้งต้นม้วนสายเข้ามาจนกระทั่งในที่สุด ตัวปลาถูกดึงตามสายขึ้นมาจากผิวนํ้า มิน่าเขาจึงต้องปล่อยมันดึงไปดึงมาเสียนาน เพราะตัวมันเบ้อเร่อขนาดปลากะพงย่อมๆ ซึ่งก็นับว่าเป็นปลาน้ำจืดที่ใหญ่ถนัดอยู่ รูปร่าง และรสชาติคล้ายๆ ปลาเมืองจีนอย่างที่แขวนหน้าร้านขายอาหาร แถวราชวงศ์ ชาวพื้นเมืองเรียกว่า “ปลาสะพาก” ราคาขายไม่ต่ำกว่าบาท หนึ่งเป็นแน่

๔. สิ่งที่ฉันสังเกตเห็น จากพรานเบ็ดทั้งสอง รู้สึกว่าทำให้คิดไปต่างๆ นานา และคิดไปคิดมา ก็รู้สึกว่าเป็นการฟังเทศนา โดยเห็นอุทาหรณ์ จริงๆ คล้ายๆ กับพฤติการณ์ในชีวิตของมนุษย์เรา มีบางสิ่งบางอย่างที่ เราต้องการ และสามารถจะทำได้โดยเร็ว แต่สิ่งเหล่านั้นมักเป็นสิ่งที่ไม่สู้ จะมีราคาค่างวดสำหรับเรานัก มีงานบางชิ้นบางอัน ซึ่งกว่าจะสำเร็จเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้ ต้องการความเพียร ความอดทนมากนัก บางทีถึงกับเป็นงานตลอดชีวิตทีเดียว แต่เมื่อมาเพ่งดูผลที่ได้รับแล้ว รู้สึกว่า งานที่ได้ผลทันตาทันใจ ทำได้ง่ายๆ มักไม่สู้จะเป็นประโยชน์เท่าใดนัก ส่วนที่ทำไป โดยใช้ขันติวิริยภาพมากมายนั้น กลับปรากฏว่า นอกจากจะให้ความพอใจ และบันเทิงแก่ผู้ทำแล้ว ยังมักจะเป็นประโยชน์อันใหญ่หลวงแก่ผู้อื่นๆ ด้วย

๕. ส่วนใจของเราเล่า ถ้าเราเป็นคนใจเร็ว ฉุนเฉียว ไม่รอบคอบ คิดหน้าคิดหลังจริงๆ แล้ว ก็คงจะอยู่ไปได้เช่นเดียวกับป่านไหม สายเบ็ด ซึ่งทนได้ก็แต่ปลาเล็กๆ เท่านั้น หากเผชิญกับสิ่งที่สลักสำคัญจริงๆ ในชีวิต เช่นกับเมื่อมีปลาตัวใหญ่ๆ มาดึงทีเดียว สายเบ็ดก็คงขาดปุ๋ยไปในชั่วพริบตาเดียวเป็นแน่ แต่สมมุติว่า เรามีใจยาวรอบคอบประดุจสายป่านที่ยาวๆ แล้ว แม้จะมีสิ่งใดมากระทบ ทำให้ใจเรารู้สึกสั่นกระเทือนเฟือนไหวอย่างแรงๆ ก็ดี ถ้าเราจะกะผลีกะผลามรวบรัดทิ้งเอาโดยพลการ ตามอำเภอใจของเราผู้เดียวแล้ว ที่ไหนเลยเราจะสามารถตัดสินใจทำไปได้เล่า เหมือนกับชายตกปลาสองคน ซึ่งถ้าหากเขาตะกลามรีบร้อนจะจับเอาตัวปลาถ่ายเดียว โดยมิคำนึงถึงความต้านทานทนการดึงแห่งสายเบ็ดของตนแล้ว ที่ไหนเลยสายไหมอันเล็กๆ แบบบางเช่นนั้นจะทนได้ ในที่สุดสายเบ็ดก็จะขาดกลางคัน และลาภนั้นก็จะพลอยสูญไปเสียเปล่าๆ ด้วย การที่ทำใจเย็นรู้จักผ่อนสั้น ผ่อนยาว เอาใจเขามาใส่ใจเรา คิดหน้าคิดหลังชั่งใจให้ดี แล้วในที่สุดก็จะทำการใหญ่ๆ หรืองานที่สลักสำคัญสำเร็จไปได้ การด่วนโกรธ โดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกของผู้อื่น ไม่พยายามที่จะเข้าใจความหมายของอีกฝ่ายหนึ่ง แล้วมักเป็นเหตุให้เกิดความเข้าใจผิดอย่างร้ายแรงเสมอ หากเรารู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาวเข้าใจอีกฝ่ายหนึ่ง อย่างไรเสียก็ดี เราคงจะไม่มีข้อที่จะทำให้เรารู้สึกเสียใจได้เมื่อภายหลังเป็นแน่แท้ การเสียใจภายหลังย่อมจะไม่ทำ สิ่งที่ล่วงแล้วไปให้กลับดีขึ้นได้ อย่างดีที่สุดก็เพียงแต่จะเป็นบทเรียนให้ทำดียิ่งขึ้นกว่าเดิมเท่านั้น

คำอธิบาย
๑. ชื่อเรื่อง “เร่งทำช้าๆ ” ทำให้พิศวง เพราะเป็นความขัดกัน เร่ง กับ ช้าๆ บางคนชอบให้ชื่อเรื่องโลดโผนพิสดาร โดยเฉพาะบทความเรียงของ นายสุกิจ นิมมานเหมินท์ นี้ มีแปลกๆ เสมอ เช่น “อันน้องนี้ แต่กำเนิดเกิดมา จะหุงข้าวหุงปลาก็มีเคย” ซึ่งทำให้ผู้อ่านเกิดอยากรู้ว่า เรื่องจะเป็นอย่างไร แต่เราจะให้ชื่อเรื่องง่ายๆ เรียบๆ ก็ได้

๒. การบรรยายเรื่องคล้ายแบบนิยาย คือ มีตัวละคร แต่ทว่าไม่เหมือน นิยาย เพราะไม่มีพฤติการณ์อันใดติดต่อกัน เป็นแต่เพียงยกเรื่องมาอ้างนำข้อความที่จะได้พูดต่อไปเท่านั้น

๓. ตั้งแต่หมายเลข ๑-๒ และ ๓ กล่าวถึงผู้เขียนไปดูคนตกปลา ท่านจะเห็นว่า ไม่ต้องมีความรู้อะไรนัก เพียงแต่นำเอาสิ่งที่พบปะมากล่าว แต่ความดีอยู่ตรงไหน อยู่ตรงที่ผู้เขียนพรรณนาให้เราแลเห็นวิธีตกปลา พูด เรื่องสายเบ็ด เหยื่อ ทุ่นปลา และ “การถือ” ประเพณีของพวกพรานเบ็ด ของซึ่งมองดูไม่น่าสำคัญเหล่านี้ ถ้ารู้จักสังเกตหยิบมาพูดก็ทำให้น่าอ่านได้เหมือนกัน

๔. ในเลขหมาย ๔-๕ เป็นแนวคิด คือเอาเรื่องพรานเบ็ดมาเปรียบกับพฤติการณ์ในชีวิตของมนุษย์ อย่างที่เขาพูดว่า “ที่ใบไม้ใบหญ้านั้น ย่อมมีคำสอนใจติดอยู่” ผู้ที่รู้จักมองย่อมแลเห็นคำสอนใจนั้นได้ สำหรับ เรื่องนี้ผู้เขียนเห็นพรานเบ็ดสองคน ซึ่งดูเผินๆ ก็ไม่น่าสำคัญอย่างไร แต่ เมื่อเห็นแล้วตรองก็เกิดเป็นความนึกคิด เป็นข้อเตือนใจขึ้น สำหรับเราอ่านแล้วก็ได้รสเพลิดเพลินด้วย และได้คติด้วย ให้ท่านสังเกตว่า ถ้าเขียนเป็นคำสอนตรงไปตรงมา ก็จะแห้งแล้งไม่ชวนอ่าน

ตัวอย่างที่สอง
เรื่องนี้เป็นของ “นาคะประทีป” (พระสารประเสริฐ ถึงแก่กรรมแล้ว) จะคัดเฉพาะตอนต้นตอนเดียว

ความสุข
เตสํ วูปสโม สุโข ฯ
ความสงบแห่งสังขารทั้งหลายนั้น เป็นสุข
คดีโลก
เมื่อฉันเป็นเด็ก กินสำรับกับพ่อแม่ ช่างรู้สึกเป็นสุขเสียจริงๆ เสียแต่เมื่อเลิกวิ่งเล่นแล้ว หิวยังกินสำรับไม่ได้ ต้องคอยผู้ใหญ่ เมื่อทนไม่ไหว แม่ครัวคดข้าวราดแกงมาให้กินก่อน ถ้าต้องไปโรงเรียนเช้า ก็ไม่มีหวังจะได้ กินสำรับ มันให้นึกอยู่เสมอว่า ถ้าเราโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้น กินสำรับของเราเอง จะสุขมากทีเดียว หิวเป็นกินได้ ไม่ต้องคอยใคร ไม่ว่าเวลาไหน

มาถึงเวลาที่ฉันมีสำรับของฉันกินเอง หิวเป็นกินได้ไม่ต้องคอยใคร ไม่ว่าเวลาไหน แต่ โอ ความรู้สึกที่ว่าสุข ไม่เหมือนกับสุขเมื่ออยู่กับพ่อแม่
ครั้งนั้นตื่นเช้ากินข้าว ไปโรงเรียนกลับบ้านเล่น เลิกเล่นหิวก็กินขนมที่แม่เตรียมไว้ให้ หรือไม่พออิ่มก็กินข้าวเลย ตกกลางคืนทำการบ้าน นานๆ ทำที (เรื่องเข้าโรงเรียนกลางคืน สหศึกษา ขากลับส่งกันไปส่งกันมา สมัยนั้นยังไม่มีเรื่องท่องการภูมิศาสตร์อยู่จนดึกๆ ออสเตรเลียมีเนื้อที่เพาะปลูก ทั้งหมด ๕๐,๐๐๐,๐๐๐ ไร่ เป็นที่นาปลูกข้าวโอ๊ต ๔,๕๐๐,๐๐๐ ไร่ ปลูกข้าวบาเลย์ ๑,๔๐๐,๐๐๐ ไร่ ฯลฯ เช่นนี้ ครูไม่เคยกะเลย) กระนี้ ยังนึกกระเถิบอีกว่า ถ้ามีสำรับกินเอง จะสุขสบายยิ่งกว่านี้เทียวหนอ ครั้นมามีสำรับกินเองเข้าจริง มันกลับให้นึกอยู่เสมอว่า เมื่อมีกินสำรับวันนี้แล้ว จะมีกินสำรับวันหลังไหม (คือ วันที่ตามหลังวันนี้ ไม่ใช่วันหน้าซึ่งนำหน้าเลยไปแล้ว) และทำอย่างไรจะมีให้ลูกเต้ากินเสมอไป ไม่อดมื้อกินมื้อ ตกลงโอกาสแห่งสุขตามที่นึกกระหยิ่มไว้ กลายเป็นโอกาสแห่งวิตกกังวลเข้ามาเต็ม ความวิตกกังวล อันให้ต้องดิ้นรนเพื่อรอดพ้นความอดอยากต่อไป

รู้สึกว่าอยู่กับพ่อแม่ ถึงไม่มีสำรับกินเอง ก็ไม่มีความกังวล สบายดี กว่าที่มามีสำรับกินเองเข้ากลับมีความกังวล ความกังวลเข้ามาแย่งความคิดดีๆ เหมือนกาฝากแย่งอาหารต้นไม้ เมื่อเป็นเด็กไม่มีความกังวล มีความคิดเท่าใดใช้ไปในทางเรียนหนังสือเต็มที่ เมื่อถึงคราววัยที่ควรทำงาน ถ้าไม่มีกังวล จะได้ใช้ความคิดทับถมลงไปในทางทำประโยชน์เต็มส่วน แต่ความคิดกังวล เกิดมาแย่งความคิดทำประโยชน์เสีย เช่นงานกำลังเดินก็ถึงเวลากินข้าวกลางวัน ต้องวางมือก่อน ถึงกับมีผู้เคยบ่นว่า ถ้าไม่ต้องกินข้าวได้งานจะเปลืองอีกมาก

ดั่งนี้ ความสุข คือความไม่มีกังวล
และความกังวลนั้น เป็นความทุกข์

คำอธิบาย
๑. ในการเขียนบทความเรียง ทั้งเชิงสาระและปกิณกะ บางทีผู้เขียน ยกพุทธภาษิตหรือคำของนักปราชญ์มากล่าวนำ ภาษิตที่ยกมากล่าวนั้นต้องเป็นหลัก และเข้ากับเรื่องที่เราต้องการพูด เรื่องนี้ นาคะประทีป ต้องการพูดเรื่องความสุข และเชื่อตามพุทธภาษิตที่ว่า ความสงบแห่งสังขารทั้งหลายนั้น เป็นสุข จึงยกภาษิตบทหนึ่งมาประหน้าไว้

๒. ให้ท่านสังเกตว่า เรื่องความสุข เป็นเรื่องลึกซึ้ง อาจเขียนให้ เคร่งเครียดเอาจริงเอาจัง เพียบพร้อมไปด้วยหลักธรรมอย่างไรก็ได้ แต่ นาคะประทีป เพียงแต่สาธกยกอุทาหรณ์ที่เบาๆ ง่ายๆ มาแสดง เรื่องเบาๆ อย่างนี้จับใจผู้อ่านได้ดี เพราะผู้อ่านคงจะเคยรู้สึกมาบ้างเหมือนกัน

ในการเขียนบทความเรียงปกิณกะนี้ กล่าวโดยสรุป ก็คือ
๑. ผู้เขียนต้องมีความนึกคิดเสียก่อน ความนึกคิดนั้นจะดาดๆ เผินๆ ตื้นลึก อยู่ที่รสนิยม ความรู้ และความรู้สึกของผู้เขียน ในเรื่อง เร่งทำช้าๆ ผู้เขียนมีแนวคิดว่า “ความมีใจเยือกเย็น รู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว เป็นความดี” ในเรื่องความสุข ผู้เขียนต้องการแสดงแนวคิดว่า “คนเรามักแลเห็นความสุข ในสิ่งที่ตนยังไม่มี”

๒. เมื่อมีความคิดแล้ว แสดงความคิดนั้นให้น่าฟัง ผู้เขียนย่อมซ่อน แนวคิดของตนไว้ก่อน แล้วสาธกยกเอาเรื่องต่างๆ มาเปรียบเปรย ชักนำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกขึ้นได้เอง ไม่ใช่บอกกันตรงไปตรงมา กลเม็ดโดยการเขียน โดยเทียบเคียงเช่นนี้ก็มีอเนกนัย เฉพาะตัวอย่างสองเรื่องนั้น เรื่องแรกผู้เขียนนำเอาพฤติการณ์ ของพรานเบ็ดมาพูดคล้ายเล่าเรื่องให้ผู้อ่านฟัง เมื่อผู้อ่านฟังเพลิน จึงสะกิดให้เห็นว่า พฤติการณ์ของพรานเบ็ดนี้ ก็มีเรื่องน่าคิดอยู่ ส่วนเรื่องที่สอง ผู้เขียนนำเอาความจัดเจน เมื่อครั้งตนยังเป็นเด็กมากล่าว

๓. เรื่องที่ยกมาเป็นตัวอย่าง สองเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผู้เขียนต้องการแสดงแนวคิดทางธรรมและความประพฤติ แต่ดังที่ได้พูดมาข้างต้นแล้วว่า บทความเรียงนั้น เป็นเรื่องสารพัด ไม่มีวงจำกัด ใครเห็นเรื่องอะไรเป็น ที่ต้องใจ สบอารมณ์ สะดุดความสังเกต จะนำมาเขียนเป็นบทความเรียงได้ทั้งนั้น แต่ข้อสำคัญท่านต้องมี ความนึกคิด หรือจุดหมายเสียก่อน แล้วท่านจะเขียนอ้อมโดยปริยาย ตีวงเข้าหาจุดนั้นโดยวิธีใดก็ได้ ตามที่ท่านนึกว่า ผู้อ่านจะรู้สึกสนุก และน่าสนใจ ท่านจะเขียนอย่างไรก็ตาม เมื่อผู้อ่าน อ่านจบเรื่อง จะต้องได้แนวคิดหรือความรู้สึกตรงกับแนวความมุ่งหมายของท่าน

หลักการเขียนบทความเรียงเชิงสาระ
ในการที่แยกบทความเรียงออกเป็นสองชนิด คือ เรียงความเชิงสาระกับเรียงความเชิงปกิณกะนั้น ก็เพื่อความสะดวกในการอธิบายเป็นข้อใหญ่ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว เรียงความทั้งสองชนิดนี้ต่างกันโดยความมุ่งหมาย และสำนวนโวหาร กล่าวคือ เรียงความเชิงปกิณกะ แม้ผู้เขียนจะได้ตั้งใจ แสดงแนวคิดข้อธรรมะคำสอนอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ก็ต้องเคลือบสิ่งเหล่านี้ไว้โดยเนื้อเรื่อง และสำนวนโวหารอันคมคายชวนอ่าน ให้อ่านสนุกและเพลิดเพลิน ส่วนเรียงความเชิงสาระนั้น ผู้เขียนต้องการให้ความรู้ ไม่คำนึงว่าผู้อ่านจะสนุกหรือไม่สนุก อย่างไรก็ดี ถึงแม้จะเป็นเรียงความเชิงสาระ ถ้าผู้เขียนมีฝีมือ ก็อาจทำให้น่าอ่านได้เหมือนกัน เรียงความเรื่องต่างๆ ของครูเทพ โดยมากเป็นทั้งเชิงสาระและปกิณกะปนกัน

อนึ่ง หลักในการเขียนเรียงความทั้งสองชนิดนี้ ก็มิได้แยกกันเด็ดขาด แล้วแต่ผู้ศึกษาจะยึดถือและนำไปใช้ให้เหมาะสมกับความต้องการของแต่ละคน ตามปกติในการเขียนบทความเรียงชนิดนี้ท่านต้องคำนึงถึงหลัก ๓ ประการ

๑. ความมุ่งหมายอันแน่นอน คือท่านต้องรู้ว่า ท่านจะพูดอะไร และ เพื่อหวังผลสุดท้ายอย่างใด ก่อนที่จะลงมือเขียน ท่านต้องตั้งเข็มวัตถุประสงค์ให้แน่นอนเสียก่อน แล้วเขียนเข้าหาศูนย์ที่ท่านต้องการ มิฉะนั้นท่านจะพูด วกเวียน หรือหันเหออกนอกทาง เป็นเหตุให้เรียงความของท่านขาดเอกภาพ (Unity) และผู้อ่านก็จะหยิบสาระในเรื่องที่ท่านเขียนไม่ได้

๒. สัดส่วน (Proportion) ตามธรรมดาบทความเรียงย่อมแบ่งออกเป็น ๓ ส่วนเสมอ คือ คำนำเรื่อง (Introduction) ตัวเนื้อเรื่อง (Body) และ คำกล่าวปิดเรื่อง (Conclusion) ทั้ง ๓ ตอน เราจะแลเห็นจากย่อหน้า คำนำมักจะมีเพียงย่อหน้าเดียว ส่วนตัวเรื่องอาจมีได้ตั้งแต่ ๓ ย่อหน้าขึ้นไป แล้วแต่เนื้อเรื่องนั้นจะมีความสำคัญกี่ตอน ตอนหนึ่งๆ เราย่อมเขียนขึ้นย่อหน้าใหม่ จะเขียนติดต่อกันรวดเดียวจบเรื่องไม่ได้ ส่วนคำกล่าวปิดเรื่องนั้นอยู่ท้ายเรื่องสุด สัดส่วนนี้เป็นข้อสำคัญ เช่น ถ้าเขียนคำนำยืดยาว แต่เนื้อเรื่องมีนิดเดียว ก็เปรียบเหมือนคนหัวโตตัวเล็ก เรียกว่าไม่มีสัดส่วน

คำนำของเรื่องนั้น คือ การพูดเปิดเรื่อง เพื่อให้ผู้อ่านแลเห็นแนว ความคิด ตลอดจนเรื่องราวที่เราจะได้พูดต่อไป ในการเขียนคำนำเปิดเรื่องนี้ อาจทำได้ ๓ ทาง คือ

ก. บอกผู้อ่านตรงๆ ทันทีว่าเราจะพูดเรื่องอะไร และต้องการให้ผู้อ่านรู้หรือเข้าใจเรื่องอะไร คือ คล้ายๆ กับเป็นการดำเนินเรื่องไปในตัว เช่น ในบทความเรียงเรื่อง “การส่งนักเรียนไปศึกษาต่างประเทศ” ครูเทพ ได้เปิดเรื่องอย่างตรงๆ ว่า

“การส่งนักเรียนไปศึกษาที่ต่างประเทศนี้ ทำกันอยู่ทุกประเทศ นักเรียนผู้ไปเรียนนั้นเป็นนักเรียนที่รัฐบาลส่งก็มี นักเรียนที่ไปเรียนด้วยทุนของตัวเองก็มี สำหรับประเทศที่เพิ่งเริ่มจัดการศึกษา การส่งนักเรียนไปเรียน ที่ต่างประเทศเป็นการจำเป็นเท่ากับไปต่อวิชา หรือไปขนวิชาซึ่งประเทศ ของตัวยังบกพร่องอยู่”

ข. อาจเปิดเรื่องโดยวิธีอ้อม คือ ทำประหนึ่งว่า จะพูดเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แล้วตีวงเข้าจุดที่เรามุ่งหมาย เมื่อผู้อ่าน อ่านตอนคำนำเกือบจะไม่รู้ว่า เราจะพาไปทางไหน การเปิดเรื่องโดยวิธีนี้จะเห็นตัวอย่างได้จากเรื่อง “เร่ง ทำช้าๆ ” ทีให้ไว้แล้ว

ค. เขตเรื่องโดยแสดงแนวคิดของเราในทันที คือ หยิบหัวใจของเรื่องมาวางให้เห็น ต่อไปเป็นการพิสูจน์ หรือชี้ให้ผู้อ่านคิดเห็นตามแนวคิดของเรา เช่นในเรื่อง “ความหลงอย่างใหญ่” อัศวพาหุ ได้เปิดคำนำเรื่อง ดังนี้

“ชนชาวร่วมชาติของข้าพเจ้าทั้งหลายจงตื่นเถิด ท่านจงแลดูไปให้รอบข้างให้พ้นหลังคาครัวเรือนของท่าน ขอให้ท่านพิจารณาดูมหาสงคราม ที่ทำกันอยู่ในยุโรปเวลานี้ ขอให้ท่านแลดูให้ลึกลงไปกว่าการที่เขารบกัน เท่านั้น แล้วแลหยิบคติ ซึ่งอาจจะเอามาใช้เปรียบเทียบกับประเทศของเรา ได้”

เรื่องนี้มีรวมอยู่ในปกิณกคดี ของอัศวพาหุ (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า) ทรงพระราชนิพนธ์สมัยมหาสงครามครั้งแรก ค.ศ.๑๙๑๔-๑๙๑๘ การเปิดเรื่องโดยบอกกับผู้อ่านตรงๆ ว่า “ข้าพเจ้าจะได้พูดเรื่องนั้น เรื่องนี้ โดยมีความมุ่งหมายอย่างนั้นๆ ” เป็นวิธีที่ทื่อเกินไป ไม่ชวนให้น่าคิด คล้ายๆ ครูสอนนักเรียนโดยไม่คำนึงว่า นักเรียนจะรู้สึกสนใจหรือไม่

๓. การจัดลำดับเรื่อง ตอนนี้คือตอนตัวเรื่อง ผู้เขียนจะต้องนึกว่า จะพูดอะไรบ้าง จะพูดอะไรก่อนหลัง ผู้เริ่มเขียนควรทำโครงเรื่อง (Outlines)
ไว้เป็นแนวทาง ก่อนที่จะลงมือเขียนจริงๆ เรื่องทำนองบทความ ผู้เริ่มฝึกเขียนส่วนมากผิดในข้อนี้ คือ จัดลำดับเรื่องสับสนกัน เอาเรื่องที่พูดแล้วไปพูดซํ้าไปซํ้ามา ทำให้ความคิดของผู้อ่านพลอยยุ่งเหยิงไปด้วย ท่านควรจัดเรื่องให้เป็นลำดับรับกันไปเป็นห่วงประดุจลูกโซ่ เช่น จะพูด รูปร่างคน ท่านจะลำดับจากศีรษะไปหาเท้า หรือจากเท้าขึ้นไปหาศีรษะ ก็ยึดเอาทางใดทางหนึ่ง ถ้าพูดถึงหน้าแล้ว ไปพูดถึงเข่า กลับวนมาหาอก ก็จะทำให้เกิดสับสนสำหรับเรียงความเชิงสาระนี้ความแจ่มแจ้ง ชัดเจน อ่านเข้าใจง่าย เป็นสิ่งสำคัญที่สุด

การวางโครงเรื่องนี้ ท่านจะเขียนเป็นบันทึกคร่าวๆ ไว้ดังนี้ก็ได้ เช่น

เรื่อง คณะพรรคการเมือง
โครงเรื่อง (๑) คณะพรรคการเมืองคืออะไร (๒) ปร ะวัติ (๓) หลักการ (๔) คุณประโยชน์ (๕) โทษ (๖) ปิดเรื่อง

บันทึกย่อโครงเรื่อง
๑. คณะพรรคการเมืองเป็นสิ่งที่เพิ่งมีในประเทศไทย ได้มีมาช้านาน ในประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย ประเทศอังกฤษนับเป็น ประเทศตัวอย่างของพรรคการเมือง

ลักษณะทั่วไปของพรรคการเมือง-กลุ่มนักการเมืองที่มีความเห็นร่วม กัน-กลุ่มไหนได้เสียงมากในสภาเป็นฝ่ายได้บริหารกิจการของประเทศ-ส่วนอีกฝ่ายเป็นฝ่ายคอยทักหรือค้าน เรียกว่า ออปโปสสิชั่น(Opposition)

๒. พรรคการเมืองในประเทศเรากำลังเริ่มฟักตัว ถึงแม้จะมีกฎหมาย ควบคุมแล้ว ก็ยังเป็นพรรคการเมืองที่ไม่มั่นคงนัก

กล่าวถึงประวัติ เทียบเคียงกับต่างประเทศ

๓. พรรคการเมืองในประเทศเรามี พรรคสหชีพ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคก้าวหน้า นโยบายของแต่ละพรรค

๔-๕-๖ ฯลฯ
นี่เป็นตัวอย่างบันทึกสังเขป เมื่อท่านจะเขียนเรียงความชนิดนี้ จะเป็นเรื่องใดก็ตาม ท่านต้องมีความรู้เรื่องนั้นให้ถ่องแท้ ท่านต้องศึกษา
ค้นคว้าหาหลักฐาน และพินิจพิเคราะห์โดยภูมิปัญญาของท่านเอง การเขียนเรียงความเช่นนี้ ถ้าเป็นเชิงความเห็นอภิปรายหรือแถลงคารมอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็กลายเป็นทำนองบทนำ (Article) ในหนังสือพิมพ์

เมื่อท่านกำหนดโครงเรื่องที่จะเขียนดังนี้แล้วก็ลงมือเขียนได้ แต่ไม่จำต้องไปพะวงกับโครงเรื่องมากนัก เพราะจะทำให้ปากกาของท่านฝืด ต่อเมื่อท่านรู้สึกว่า ท่านกำลังจะเหออกนอกทาง หรือไปจนมุมอยู่ตอนหนึ่ง ตอนใด จึงหยิบเอาแนวที่วางไว้มานำทางต่อไป สำหรับผู้ที่มีความชำนาญแล้วโครงเรื่องย่อมคิดสร้างไว้ในสมอง ไม่จำต้องเขียนลงเป็นตัวหนังสือ

แต่สมมุติว่า ท่านจะเขียนบทความเรียงโดยไม่คิดที่จะวางโครงเสียก่อน เมื่อเขียนสำเร็จแล้ว ท่านต้องการทราบว่าเรื่องที่ท่านเขียนนั้น ถึงพร้อมด้วยองค์สามแห่งบทความ คือ เอกภาพ สัมพันธภาพ และสารัตถภาพ หรือเปล่า ท่านลองอ่านเรื่องที่ท่านเขียน แล้วบันทึกลงเป็นโครงเรื่อง แล้วท่านจะแลเห็นทันทีว่าหน้าตาแห่งบทความเรียง มีสัดส่วน ได้ลำดับดีหรือไม่ นี่เป็นวิธีวิจารณ์เรื่องของตนเองโดยตนเอง บางทีหัวของท่านกำลังแล่น ท่านอาจจะเขียนรีบรุดไปโดยเร็ว ถ้าท่านได้มาอ่านทบทวน และทอนเรื่องที่ท่านเขียนลงเป็นโครงเรื่องแล้ว ท่านอาจพบข้อบกพร่อง อันเกิดขึ้นจากการเขียนโดยรีบร้อนให้ทันหัวคิดที่กำลังแล่นเร็วนั้นได้ และก็อาจแก้ไขบทความเรียงของท่านให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ข้อแนะนำทั่วไป
บทความเรียงไม่ใช่เรื่องนิยาย จะได้มีเนื้อเรื่องให้อ่านเล่นเพลินๆ ฉะนั้นความดีของความเรียงอยู่ที่สำนวน ปัญญาความคิด และ ความช่างพูด (Eloquence) คำว่า อีโลเกว้นส์ (Eloquence) แปลว่า พูดคล่อง น่าฟัง ชวนให้ติดใจฟัง เรื่องดีจะต้องไม่ใช่เรื่องตื้นๆ ดาดๆ ท่านอาจพูดเรื่องตัดผมก็ได้ แต่ต้องมีอะไรพิเศษแฝงอยู่ในเรื่องของท่าน ปัญญา ความคิดเป็นสิ่งมีประจำตัว บางคนมีน้อย บางคนมีมาก บางคนคิดได้ตื้นๆ บางคนคิดได้ลึกซึ้ง เมื่อ “ครูเทพ” เห็นประเพณีทำศพของไทยเป็นอย่าง ตำนํ้าพริกละลายแม่นํ้า ท่านก็เขียนเรื่อง “คนตายขายคนเป็น” ชี้ให้เรา
เห็นว่าประเพณีการทำศพอย่างฟุ่มเฟือย ที่เคยทำกันมานั้นเป็นประเพณีที่ล้าสมัย คนตายก็ไม่ได้ประโยชน์ ซ้ำคนที่มีชีวิตต้องเปลืองเปล่า โดยไม่ได้อะไรดีขึ้นเลย เสฐียรโกเศศ เขียนเรื่อง “กินโต๊ะจีน” ดูก็ไม่ใช่เรื่องน่าสนุก แต่เราอ่านเพลิน เพราะผู้เขียนรู้จักพูดรู้จักสังเกต หยิบเอาเรื่องที่คนอื่นลืมสังเกตมาชี้ให้เราเห็น และพูดอย่างเป็นกันเอง ในภาษาอังกฤษ เรียกว่า แฟมมิลิอาร์ สไตล์ (Familiar Style) จะยกตัวอย่างมาให้อ่านสักตอน จากเรื่อง “กินโต๊ะจีน”

“เวลากิน ธรรมเนียมของจีนต้องทำเสียงกินให้ดังจั๊บๆ ถ้าเป็นนํ้าแกงต้องซดให้ดังโฮกๆ นี่เป็นเครื่องแสดงว่า อาหารที่เลี้ยงกินอร่อยมาก เป็นการให้เกียรติยศแก่ผู้เลี้ยง กินอิ่ม ‘ทางการ’ อนุญาตให้ท่านเรอ แสดงว่าเรากินเสียเอ้อเร้อ หมายความว่าอร่อยมาก กินเสียจนเรอ กินโต๊ะ ฝรั่งถ้าทำอย่างนี้เป็นโดนแหม่มทำตาเบิ่งแน่ แปลกอยู่หน่อย ที่จีนเรอแล้วไม่เห็นล้างปาก ทำกระพุ้งแก้มบุ๋มเข้าบุ๋มออกเสียงครอกๆ แล้วบ้วนปรูดลงกระโถน เคยเห็นแต่อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเขาไม่ใช้กระโถน

เวลากินยังไม่เสร็จ ถ้าต้องการแสดงอารี ท่านต้องเอาตะเกียบคีบชิ้น อาหารให้แก่ผู้ที่นั่งข้างท่าน เป็นอย่าง serve ถ้าจะให้อารีอารอบยิ่งขึ้น ตามธรรมเนียมเก่าของจีน ท่านต้องคีบใส่ปากให้ทีเดียว (เพียงเอาช้อนเปิบที่กำลังกินอยู่ ตักอาหารให้แก่ผู้ที่อยู่ข้างๆ นานๆ เห็นทีหนึ่ง) ถ้าท่านมีธุระจำเป็นต้องอิ่มก่อน ให้วางตะเกียบพาดบนปากชามเปล่า เจ้าภาพเห็นจะหยิบตะเกียบออกวางข้างล่าง และพูดว่า ‘ฮอหั่น’ เป็นอันเราลุกไปได้ ถ้าเป็นกันเอง ต้องการอิ่มก่อน เราลุกขึ้นและพูดว่า ‘นึ้งคัวๆ เจี๊ยะ’ แล้วไปได้”

ความมุ่งหมายของนักเขียนเรียงความ ก็คือ จะพูดอะไรสักอย่างหนึ่ง ต้องการแสดงความคิดให้คนอื่นฟัง ความคิดนี้เราแสดงโดยเขียนเป็น ประโยคๆ ติดต่อกันเป็นข้อความตอนหนึ่ง แต่เราจะทำอย่างไร ชั้นแรก ต้องเข้าใจว่าคนฟังไม่เคยรู้เรื่องที่เราจะพูด แต่ถ้าเรื่องที่เราจะพูดนั้น คนอ่านรู้กันเสียแล้ว หรือถ้าคนอ่านไม่เข้าใจเรื่องที่เราจะพูด บทความเรียงที่เขียนก็ปราศจากผล ฉะนั้นวิธีนำคนอ่านให้เข้าใจเรื่องของเรา ก็โดยชักเรื่องจากสิ่งที่ผู้อ่านรู้อยู่ก่อนแล้ววกไปหาเรื่องที่เราต้องการพูด เช่นจะพูดเรื่องพรรคการเมือง สิ่งที่ผู้อ่านรู้กันอยู่ก็คือ ในบ้านเมืองเรากำลังจะมีพรรคการเมือง เราเริ่มจากนี้นำไปหาเรื่องพรรคการเมืองที่เราต้องการจะพูด ตอนนำนี่แหละ ที่ท่านจะต้องถางทางให้เตียนสะอาด ให้น่าเดินตาม คือต้องให้ผู้อ่านเข้าใจตามได้ และมีความพอใจที่จะติดตามความคิดของเราไป ท่านจงนึกไว้เสมอว่า ผู้อ่านยังไม่รู้เรื่องของท่านเลย ฉะนั้นสิ่งที่ท่านนึกว่าท่านเข้าใจแล้วนั้น ผู้อ่านอาจยังไม่เข้าใจ ไม่รู้อะไรเลยก็ได้ ท่านจึงต้องอธิบายคำหรือแนวความนึกคิดของท่านให้ชัดเจน

ข้อแนะนำสุดท้ายก็คือ ท่านต้องมีความคิดอันแจ่มใส (Clear Thinking) เสียก่อน ต้องหลับตาเห็นภาพและเรื่องราวที่จะเขียนก่อนจะเขียนท่านต้องรู้เสียก่อนว่าจะตั้งต้นตรงไหน ก่อนจะเขียนลงไปท่านต้องนึกเสียก่อนว่า ท่านต้องการพูดว่ากระไร เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วเรื่องที่ท่านเขียนก็จะมีความชัดเจน ส่วนความน่าอ่าน ลักษณะที่ชวนให้ติดใจนั้นจะตามมาทีหลัง ที่จะทำอย่างนี้ได้ ผู้เริ่มฝึกเขียนมีอยู่ทางเดียว คือ ความมานะพยายาม ความละเอียดลออ ความระมัดระวัง ผู้ที่เริ่มเขียนเรื่องอย่างลวกๆ พอให้เสร็จไปทีนั้น เป็นการตั้งต้นผิดอย่างร้ายแรง

ตัวอย่างบทความเรียงเชิงสาระ
เรื่องนี้ชื่อ “ลูกเสือสยาม” คัดจากเรียงความเรื่องต่างๆ ของ “ครู เทพ” เล่ม ๑ เรื่องนี้ ครูเทพเขียนเมื่อวันที่ ๔ เมษายน ๒๔๗๔ เวลานั้นกำลังมีงานชุมนุมลูกเสือ เรียกว่า Amboree ในพระนคร

ลูกเสือสยาม
๑. ปฐมราชกรณีย์สำคัญแห่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชย์ คือ. ได้ทรงตั้งกองเสือป่าเป็นสมาคมสำหรับผู้ใหญ่ กับกองลูกเสือเป็นสมาคมสำหรับเด็ก ทรงตระหนักในพระราชหฤทัย ว่า การปลุกใจคนไทย เพาะ “เอสปรีต์ เดอะ คอร์ป” เป็นการจำเป็นอย่างยิงในสมัยนั้น ต่อจากการเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง วิธีการปกครองและความเป็นอยู่ของประชาราษฎร์ ซึ่งสมเด็จพระชนกาธิราช พระปิยมหาราชเจ้า ได้ทรงเริ่มขึ้นไว้เป็นปึกแผ่นดีแล้ว

๒. ขณะนั้น สยามตกอยู่ในยุคเปลี่ยนแปลงที่ อารยธรรมฝ่ายตะวันตก
กำลังแผ่พ่านมาถึงตะวันออกอย่างรวดเร็ว ความเป็นอยู่เพื่อชาติอย่างแต่ก่อนได้เปลี่ยนเป็น ความเป็นอยู่เพื่อระหว่างชาติสยามเก่าจำต้องเปลี่ยนเข้าหาภาวะอย่างใหม่ให้ทันท่วงทีเพื่อเอาตัวรอด ภูมิประเทศและความเป็นอยู่ของชาวสยาม ได้หันเหียนเปลี่ยนเข้าหาแบบใหม่แล้ว จิตใจอันเป็นกำลังใหญ่ของชาวสยามก็จำต้องเปลี่ยนไปให้เหมาะแก่ภาวะปรัตยุบันด้วย กล่าวคือทั้งส่วนรูปกับส่วนนาม จะต้องเปลี่ยนไปให้ทันกัน ความเปลี่ยนแปลงอย่างแรก ซึ่งได้เปลี่ยนอย่างรวดเร็ว แต่ความเปลี่ยนแปลงอย่างหลังเนิ่นช้าจวนจะตามไม่ทัน จึงเกิดความจำเป็นที่จะต้องหาอุบายเร่งรัดให้พอทันกันจงได้ ความเปลี่ยนแปลงทั้งคู่นี้จำต้องสมส่วนกัน มิฉะนั้นก็ไม่ปราศจากภัย นี้เป็นข้ออธิบายว่า ทำไมพอเสด็จขึ้นทรงราชย์ก็ได้ทรงตั้งกองเสือป่าและลูกเสือขึ้น

๓. เผอิญความเป็นอยู่ของเราในสมัยโน้นชวนให้นึกถึงส่วนตัวมาก ความเป็นไปตลอดจนอัธยาศัยของคนจึ่งหนักไปทางส่วนตัว พื้นดินมีธัญญาหารบริบูรณ์ ทำให้ไม่รู้จักอดตาย เมื่อ “ในนํ้ามีปลา ในนามีข้าว” ดั่งคำของพ่อขุนรามคำแหง แม้การช่วยตัวเองก็ไม่ลำบากยากเย็นหรือไม่สู้จำเป็นเสียแล้ว นํ้าใจที่จะคิดช่วยผู้อื่นจึ่งพลอยด้านไปด้วย ทางการปกครองบ้านเมืองเล่า ประเพณีของเราก็มอบกายถวายชีวิตสุขทุกข์ของประชาราษฎร์ ย่อมแล้วแต่พระบรมโพธิสมภาร เมื่อได้มอบถวายแล้วทุกอย่างเช่นนี้ ราษฎรเลยไม่สนใจในการปกครองบ้านเมืองเสียทีเดียว การศาสนาก็เหมือนกัน เมื่อในทางอื่นๆ ได้อบรมมาแต่ที่จะนึกถึงตัว การทำบุญทำทานแทนที่จะเพื่อให้สำเร็จประโยชน์แก่ผู้อื่น กลับเป็นเพื่อให้สำเร็จประโยชน์ตน คือ เพื่อตนได้บุญหาใช่เพื่อให้ผู้อื่นได้ความสุขไม่ เมื่อเรานึกถึงคนอื่นก็มักจะเป็นทางส่วนตัว เช่น ญาติมิตร ข้ากับเจ้า บ่าวกับนาย ฯลฯ แพทย์ของเรา เมื่อเห็นคนไข้เพียบไม่มีทางรอด ก็ไม่รับรักษา ถึงแม้จะมีแพทย์บางคน ไม่รับ ด้วยหมายจะให้เจ้าไข้หาหมออื่นที่สามารถมารักษา แต่แพทย์โดยมาก ไม่รับ เพราะเห็นแก่ตนมากเกินไป ไม่นึกถึงการบรรเทาทุกข์คนไข้ นึกแต่ว่าตนจะเสียชื่อ เมื่อคนไข้ตายคามือตน ผิดกับมรรยาทแพทย์แผนใหม่ที่ต้องรักษาไม่ว่าไข้หายหรือไข้ตาย เพราะแพทย์ต้องนึกถึงคนไข้ ไม่ใช่ นึกถึงตน

๔. แนวความนึก ที่นึกถึงตนและส่วนตนนี้ ในสมัยโน้นจะแลไปทาง
ไหนย่อมเห็นได้ไม่ยาก แม้ไนโรงเรียน เมื่อย้ายครู ศิษย์ก็ย้ายโรงเรียน ตามครูไปเป็นพรวน การทำความดีให้แก่โรงเรียน ดูเหมือนไม่มีใครนึก นึกแต่จะทำความดีให้แก่ตน หรือให้แก่ครู เด็กโตทำแก่เด็กเล็กก็เพื่อตน ไม่ใช่เพื่อโรงเรียน คือเป็นรังแก ไม่ใช่ลงโทษเพื่อสอน หัวหน้านักเรียนที่ ตั้งขึ้นเพื่อให้ทำหน้าที่โรงเรียนก็ยุไม่ค่อยขึ้น มักจะเป็นหัวหน้าแต่ชื่อเสีย โดยมาก เว้นแต่ในงานมอบหมายอันจะทำได้ลำพังตัว ไม่ต้องเกี่ยวกับคนอื่นๆ เช่นจดปรอทวัดร้อนหนาว เป็นต้น เหล่านี้ล้วนแสดงว่าเราได้เคยนึกถึงตัวและส่วนตัวกันมากเพียงใด

๕. เมื่อข้าพเจ้าอายุน้อยๆ ไม่เคยได้ยินคำรักชาติ แต่ความจงรักภักดีต่อเจ้านายตลอดจนพระมหากษัตริย์ของตัวนั้น เกือบจะว่าได้รู้มาตั้งแต่ พอรู้ความทีเดียว คำรักชาติเพิ่งมาชินหูเมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนรุ่นโตแล้ว สงสัยว่าจะเป็นคำแปลมาจากภาษาต่างประเทศด้วยซํ้า ทำนองเดียวกับความ รู้สึกของภิกษุที่เกิดขึ้นใหม่ ในหน้าที่ที่จะต้องสอนคนอื่นเพื่อตอบแทนการที่เขาเลี้ยงดู อันเป็นความรู้สึกถ่ายแบบมาจากที่อื่น แม้กระนั้นพวกนางชีที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้าได้เคยทรงชักชวนให้เข้าช่วยรักษาพยาบาลคนป่วยไข้ หรือเลี้ยงดูเด็กอย่างนางชีต่างประเทศ ก็ยังพากันปฏิเสธ สมัครแต่จะจำศีลภาวนาอยู่เงียบๆ และขอเขากินฝ่ายเดียวเท่านั้น กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ จะขอทำเพื่อตน และไม่ยอมทำเพื่อคนอื่น

๖. ความสำนึกของคนโดยมากในยุคนั้นยังเป็นไปเช่นนี้ พระองค์ ผู้ก่อกำเนิดกองลูกเสือทรงตระหนักถึงภัยอันอาจเกิดขึ้นเพราะอัธยาศัยคน เดินไม่ทันความเปลี่ยนแปลงแห่งภูมิประเทศและความเป็นอยู่ของมนุษย์ จึงทรงหาอุบายในอันจะเร่งรัดให้ความเปลี่ยนแปลงที่ล่าช้าอยู่นี้ได้เดินขึ้นมาทันความเปลี่ยนแปลงอื่นๆ พอสมควรจงได้ จึงได้ทรงตั้งกองเสือป่ากับกองลูกเสือขึ้นเป็นปฐมราชกรณีย์ ได้ทรงตรากตรำพระวรกาย เป็นผู้ทรงฝึกสอนเองทุกวันอยู่เป็นเวลาแรมปี ทรงวางตำรับเอง ทรงฝึกหัดผู้จะได้ไปหัดกันต่อๆ ไปด้วยพระองค์เองทั้งสิ้น พึงเห็นองค์พยานได้ในพระราชนิพนธ์ปลุกใจเสือป่า และตำราแบบสั่งสอนเสือป่ากับลูกเสือที่ยังคงใช้กันอยู่จนทุกวันนี้

๗. การเสือป่าแม้ได้เลิกไปแล้ว ก็ได้เกิดประโยชน์สมพระราชประสงค์
แล้ว การนึกถึงประโยชน์ผู้อื่น ทำคุณให้ผู้อื่น ทำตนให้เป็นประโยชน์แก่ คนทั้งหลายโดยมิได้หวังตอบแทน เหล่านี้อย่างน้อยก็พูดกันติดปากและชินหู การเรียกทหารอาสาได้รวดเร็วสำหรับราชการสงคราม ครั้งสงครามโลกที่แล้วมานี้ ก็เชื่อกันว่าเป็นผลของการเสือป่าที่ได้ทรงปลุกใจไว้ อนึ่งเราเป็นประเทศใช้พระราชบัญญัติเกณฑ์ชายหนุ่มรับราชการทหารไม่เลือกหน้า ประโยชน์ของเสือป่าในทางเป็นกำลังให้แก่บ้านเมืองนับวันแต่จะต้องหมดสิ้นไป เพราะจะหาชายฉกรรจ์ที่ไม่เคยเป็นทหารได้น้อยเข้าทุกที การเสือป่าจึงนับว่าเป็นการชั่วคราวแท้ เพื่อปลุกใจผู้ใหญ่ให้รู้สึกต่อหน้าที่ และคอยสนับสนุนเด็ก การที่มั่นคงและต้องกระทำเป็นนิตย์ไปนั้น ก็คือการลูกเสือ ซึ่งจะได้ฝึกฝนกันไปแต่ยังอ่อนๆ ทั้งในทางกายและทางใจ ตามภาษิตที่ว่า “ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก” ฉะนั้น

๘. สมาคมลูกเสือเคราะห์ร้าย ขาดพระองค์ผู้พระราชทานกำเนิด และปึกแผ่นให้แก่ลูกเสือโดยได้เสด็จ สวรรค์ครรไล ก็มีโชคดีที่ได้พระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์พระอนุชาธิราชเจ้า เป็นองค์สภานายกต่อมา และได้เสด็จเสนาบดีกระทรวงธรรมการเป็นอุปนายกผู้อำนวยการโดยตรง นับว่าการลูกเสือมีแต่จะก้าวหน้า บัดนี้กำลังมี “แชมบูรี” ใหญ่เป็นคำรบที่ ๒ ลูกเสือได้ชุมนุมกันในพระนครจากทิศต่างๆ ทั่วพระราชอาณาจักร ทั้งยังมีลูกเสือญี่ปุ่นมาเข้าสมทบแรมค่ายอยู่ด้วย เป็นครั้งแรกในประวัติการของลูกเสือสยาม นับว่าเป็นเกียรติยศยิ่ง มหาชนย่อมพากัน ประสาทพร ให้แก่ลูกเสือถ้วนหน้าอยู่แล้ว ขอความเจริญจงมีแก่ลูกเสือทั้งหลาย ชโย

คำอธิบาย
แนวความคิด (ทีม-Theme) ขณะนั้นเป็นเวลากำลังมีงานชุมนุม ลูกเสือ ผู้เขียนต้องการสนับสนุนกิจการของลูกเสือ และชักจูงให้คนแลเห็น ความสำคัญ ทั้งประสงค์ที่จะแสดงว่าการที่รัชกาลที่ ๖ ทรงตั้งกองลูกเสือขึ้นนั้น เป็นการสมควรแล้ว ผู้เขียนได้จัดลำดับเรื่องดังนี้
หมายเลข ๑ เป็นคำนำเปิดเรื่อง ผู้เขียนขมวดแนวคิดไว้ที่คำนำนี้ ผู้เขียนไม่ได้บอกตรงทื่อๆ ว่า เห็นด้วยกับกิจการลูกเสือ แต่ตามสำนวน ที่กล่าวนั้นบ่งว่าผู้เขียนไม่มีความเห็นขัดแย้ง

หมายเลข ๒-๓-๔-๕-๖-๗ เป็นตัวเรื่อง ซึ่งผู้เขียนได้แบ่งเป็น ๖ ตอน ตอนหนึ่งมีย่อหน้าครั้งหนึ่ง ท่านจะเห็นว่าในย่อหน้าตอนหนึ่งๆ มีเนื้อเรื่องโดยเฉพาะทุกๆ ตอน

หมายเลข ๒ กล่าวถึงเหตุแรกที่จะมีการตั้งกองลูกเสือ คืออารยธรรม แบบตะวันตกหลั่งไหลเข้ามา

หมายเลข ๓ สาเหตุที่สอง ความเป็นอยู่แต่โบราณของเรามีการเห็นแก่ตัวมาก

หมายเลข ๔ ขยายความในเลข ๓ เพราะในหมายเลข ๓ นั้น มีกล่าวเป็นหลักความจริงไว้ หลักความเช่นนี้อาจมีผู้ถกเถียงหรือไม่เห็นด้วย ก็ได้ จึงต้องอ้างแสดงหลักฐานสนับสนุนหลักความที่ได้วางไว้

หมายเลข ๕ สาเหตุที่สาม ความไม่เข้าใจเรื่องชาติ

หมายเลข ๖ สรุปรวมเหตุทั้ง ๓ ข้อ เกิดเป็นผลแห่งการจัดตั้งกองลูกเสือและเสือป่า

หมายเลข ๗ ผลที่ได้จากการตั้งกองเสือป่า ลูกเสือ

หมายเลข ๘ ปิดเรื่อง โดยผู้เขียนแสดงความหวังว่าการลูกเสือ คงจะเจริญต่อไป

อนึ่ง ใคร่ให้ท่านได้สังเกตคำบางคำที่พิมพ์ตัวดำไว้
ยุค = ตามความหมายแปลว่า ระยะเวลาของโลก ยุคหนึ่งๆ หลายล้านปี กำหนดเวลาของโลก แบ่งเป็น ๔ ยุค คือ กฤดายุค ไตรดายุค ทวาปรยุค กลียุค ตามความหมายทั่วไปแปลว่า คราว สมัย ก็ได้ คำว่า สมัย แปลว่า เวลา เวลาอันเหมาะสม โอกาส ในที่นี้เรามีคำเลือกดังนี้ คราว สมัย ยุค ผู้เขียนเลือกใช้คำ “ยุค” เพราะคำนี้มีความหมายถึงเวลาที่นานกว่า สมัย-คราว และเมื่อใช้คำว่า “ยุค” แล้ว เล็งถึงการเปลี่ยนแปลงอะไรต่างๆ มากมายด้วย

พ่าน = หมายความว่าหลายแห่ง มีเขตกว้าง คือ อารยธรรมตะวันตก ได้แผ่มาทางอินเดีย พม่า เขมร ญวน จีน

ภาวะ = ความเป็นไป อันเกิดโดยการกระทำของมนุษย์

สภาว สภาพ = ความเป็นไปตามธรรมชาติ

หันเหียน = เหียน เฉพาะตัวปทานุกรมแปลว่าคลื่นไส้ แต่ในที่นี้เป็น
สร้อยคำของ หัน และ ใส่ เหียน เข้า เพื่อคล้องกับ เปลี่ยน

ปรัตยุบัน = เป็นคำสันสกฤต มคธใช้ ปัจจุบัน เดิมต่างคนต่างใช้ ตามความพอใจ เดี๋ยวนี้ใช้ปัจจุบัน ส่วนมาก

ส่วนรูป (Material-Concrete) คือสิ่งที่แลเห็นจับต้องได้ ส่วนธรรม (Spiritual-Abstract) สิ่งที่เกี่ยวกับจิตใจ ผู้เขียนไม่อธิบาย เพราะถือว่า ศัพท์นี้เป็นศัพท์สามัญ ควรจะรู้กันทั่วไป

ธัญญาหาร = ข้าวผักหญ้า การใช้คำศัพท์ในที่นี้เพราะกระชับคำได้ดี ไม่ต้องพูดคำอื่นมาก

“ในนํ้ามีปลา ในนามีข้าว” เป็นคำในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง แต่หยิบเอามาใช้เพื่อเปลี่ยนรสของความ ไม่ต้องพูดว่ามีข้าวปลาอาหารบริบูรณ์

ขอให้ท่านหัดสังเกตคำที่เด่นๆ จะชวนให้ท่านเขียนมีสำนวนโวหารดีขึ้น เช่น อัธยาศัยคนเดินไม่ทันความเปลี่ยนแปลง เดิน เป็น อาการกิริยา ไปของคนหรือสัตว์ แต่เมื่อมาใช้กับอัธยาศัยเดิน ก็มีความหมายโดยนัยยะ คือ เสมือน อัธยาศัย เดินไป แต่ที่จริง เดิน ในที่นี้ก็คือ เจริญ นั่นเอง

ที่มา:เปลื้อง ณ นคร