พระบรมดิลก

Socail Like & Share

สมเด็จพระมหาจักรพรรดิกับพระสุริโยทัยอัครมเหสี มีพระราชโอรสและพระราชธิดารวม ๕ พระองค์ พระราชโอรสคือ พระราเมศวร และพระมหินทร ส่วนพระราชธิดาคือ พระวิสุทธิกษัตรี พระบรมดิลก และพระเทพกษัตรี

เรื่องราวที่เล่าถึงพระบรมดิลก มีเอกสารอยู่เพียง ๒ ฉบับคือ พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐ และคำให้การชาวกรุงเก่า

พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐ ว่า
พ.ศ. ๒๐๙๑ เมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสวยราชย์ได้ ๗ เดือน พระยาหงสาวดีคือ พระเจ้าตเบ็งชเวตี้ ได้ยกทัพมาล้อมพระนครศรีอยุธยาในเดือน ๔ เมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสด็จออกรบศึกหงสาวดีนั้น สมเด็จพระอัครมเหสี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระราชบุตรีเสด็จทรงช้างออกไปโดยเสด็จด้วย และเมื่อได้รบกับทัพหน้าแตกมาปะทัพหลวงเป็นโกลาหล และสมเด็จพระอัครมเหสี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระราชบุตรีนั้น ได้รบด้วยข้าศึกสิ้นพระชนม์กับคอช้าง ศึกครั้งนั้นสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระราเมศวรถูกจับ ต้องส่งพระยาช้างต้น ๒ ช้างไปแลกถึงเมืองกำแพงเพชร

แต่พระราชพงศาวดารฉบับความพิสดาร ที่กล่าวถึงสมเด็จพระสุริโยทัยเพียงพระองค์เดียว เช่น พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา บันทึกว่า

เมื่อกองทัพทั้งสองฝ่ายปะทะกันนั้น สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงขับพระคชาธารเข้าชนช้างกองหน้าพระเจ้าหงสาวดี พระคชาธารเสียทีให้หลังข้าศึกเอาไว้ไม่อยู่ พระเจ้าแปรได้ท้ายข้าศึกก็ขับพระคชาธารตามไล่พระมหาจักรพรรดิ สมเด็จพระสุริโยทัยทรงเห็นพระราชสวามีเสียทีจะไม่พ้นมือข้าศึก ทรงพระกตัญญูภาพ ก็ขับพระคชาธารสะอึกออกรับ พระคชาธารพระเจ้าแปรได้ล่างแบกถนัด พระคชาธารสมเด็จพระสุริโยทัยแหงนหงายเสียที พระเจ้าแปรก็จ้วงฟันด้วยพระแสงของ้าว ต้องพระอังสาสมเด็จพระสุริโยทัยขาดถึงราวพระถัน พระราเมศวรกับพระมหินทราธิราชก็ขับพระคชาธารถลันจะเข้าแก้พระราชชนนีแต่ไม่ทันท่วงที พระราชชนนีสิ้นพระชนม์กับคอช้าง ทั้งสองพี่น้องจึงถอยรอรับข้าศึกกันพระศพสมเด็จพระราชมารดาเข้าพระนคร ทัพพระนครแตกพ่ายล้มตายเป็นจำนวนมาก สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงเชิญพระศพพระอัครมเหสีมาไว้ตำบลสวนหลวง เมื่อเสร็จศึกหงสาวดีแล้ว จึงโปรดให้แต่งการพระราชทานเพลิงพระศพและสถาปนาที่พระราชทานเพลิงนั้นเป็นพระเจดีย์วิหาร พระราชทานนามวัดสบสวรรค์

แต่คำให้การชาวกรุงเก่า เป็นเอกสารฉบับเดียวที่ระบุพระนามของ พระบรมดิลก และได้เล่าถึงวีรกรรมของพระองค์ไว้อย่างละเอียดมีความว่า

พระเจ้าหงสาวดีทรงขอช้างเผือกจากพระมหาจักรวรรดิ(สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ) ไม่ได้ จึงยกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยา ได้สู้รบกันหลายครั้ง ในที่สุดจึงทรงนัดหมายจะออกทำยุทธหัตถีในอีก ๗ วันข้างหน้า ปรากฏว่าเมื่อถึงกำหนดนัดหมาย พระมหาจักรวรรดิทรงพระประชวรมาก พระมหาเทวีผู้เป็นอัครมเหสีจึงประชุมพระราชวงศ์และข้าราชการทั้งปวง เพราะหากไม่ออกทำยุทธหัตถีตามสัญญา จะต้องยอมเสียราชสมบัติให้ข้าศึก พระบรมดิลกพระราชธิดาซึ่งมีพระชนม์ได้ ๑๖ พรรษา จึงกราบบังคมทูล รับอาสาออกไปชนช้างกับพระเจ้าหงสาวดี ฉลองพระคุณสมเด็จพระราชบิดาถึงแม้จะต้องเสียชีวิตในท่ามกลางข้าศึกก็มิได้คิด จะเอาชื่อให้ปรากฏไว้ในแผ่นดินชั่วกัลปาวสาน

แม้พระมหาเทวีจะทรงห้ามปรามหลายครั้ง แต่พระบรมดิลกก็ยังยืนกรานว่าจะออกรบ พระมหาเทวีจึงต้องทรงอนุญาตให้ไป

เมื่อพระบรมดิลกทรงเครื่องพิชัยยุทธอย่างพระมหาอุปราช ก็เข้าเฝ้ารับพระพรจากสมเด็จพระราชบิดาและพระราชมารดา ถวายบังคมลา โดยทรงช้างบรมฉัททันต์ที่กำลังคลั่งตกมัน การทำยุทธหัตถีที่ทุ่งมโนรมย์ พระบรมดิลกไม่มีความชำนาญในการขับขี่ช้าง จึงเสียทีแก่พระเจ้าหงสาวดี เมื่อช้างบรมฉัททันต์เบนท้าย พระเจ้าหงสาวดีก็ทรงพระแสงของ้าวฟันถูกพระบรมดิลกตกจากช้างทรง ก่อนจะสิ้นพระชนม์พระบรมดิลกก็ทรงร้องออกมาได้คำเดียว เมื่อพระเจ้าหงสาวดีรู้ว่าเป็นสตรีก็เสียพระทัย ละอายไพร่พล และนานาประเทศ ว่าทำยุทธนากับสตรีจะเป็นที่เลื่องลือไปนานว่าเป็นคนขลาด จึงยกทัพกลับหงสาวดี

พวกแม่ทัพนายกองของกรุงศรีอยุธยาจึงเชิญพระศพของพระบรมดิลกกลับพระนคร พระมหาจักรวรรดิและพระมหาเทวีมีความเศร้าเสียพระทันมาก รับสั่งให้ทำเมรุเชิญพระศพขึ้นประดิษฐาน จัดพระราชพิธีพระราชทานเพลิงอย่างสมพระเกียรติ เมรุที่พระราชทานเพลิงได้ก่อเป็นเจดีย์บรรจุพระอัฐิของพระบรมดิลก มีชื่อว่า ตำบลเนินเจ้า พระราชธิดาของพระมหาจักรวรรดิและพระมหาเทวีทรงเป็นที่เสน่หาอาลัยดังชีวิตของพระองค์ จึงรับสั่งให้ช่างหล่อพระรูปของพระบรมดิลก ด้วยทองคำหนัก ๒๗๐ บาท ประดับเพชรนิลจินดาที่มีค่าถึง ๕๐๐๐ แล้วให้เชิญพระรูปไว้ข้างที่พระบรรทม แต่ในรัชกาลหลังๆ ก็ได้อัญเชิญไปไว้ที่หอพระเป็นทีสักการบูชา ซึ่งยังปรากฏอยู่จนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒

ในสงครามยุทธหัตถีแม้ในคำให้การชาวกรุงเก่าจะมิได้ระบุว่า พระมหาเทวีหรือสมเด็จพระสุริโยทัยสวรรคต เมื่อประมวลจากหลักฐานทั้งพระราชพงศาวดารฉบับสังเขปแต่มีความแม่นยำเรื่องศักราชอย่างพระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐ และพระราชพงศาวดารความพิสดาร ซึ่งล้วนระบุวีรกรรมของสมเด็จพระสุริโยทัยแล้ว พระบรมดิลกคงสละพระชนม์ชีพเพื่อสมเด็จพระชนก และเพื่อชาติบ้านเมือง พร้อมกับสมเด็จพระราชชนนี และพระเจดีย์ศรีสุริโยทัยที่วัดสบสวรรค์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยานั้น เดิมก็มีพระเจดีย์ ๒ องค์คู่กัน แต่อีกองค์หนึ่งชำรุดทรุดโทรมไปจนเหลือเพียงองค์เดียว จึงบูรณะปฏิสังขรณ์เพียงองค์เดียว พร้อมทั้งได้รับนามพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ว่า พระเจดีย์ศรีสุริโยทัย

แม้จะไม่มีวัตถุสถานโบราณชิ้นใดเหลือเป็นอนุสรณ์ถึงพระบรมดิลกในปัจจุบัน แต่จารึกในเอกสารประวัติศาสตร์ทั้งฉบับหลวงและฉบับราษฎร์ ๒ ฉบับแม้เพียงเสี้ยว ก็นับว่าเพียงพอที่จะเป็นหลักฐานให้ชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ ได้น้อมรำลึก ได้ยึดถือและเชิดชู พระบรมดิลกวีรสตรีไทยผู้รักชาติ รักราชบัลลังก์ยิ่ง อีกพระองค์หนึ่ง

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: วีณา โรจนราธา