กรมหลวงโยธาทิพ กรมหลวงโยธาเทพ

Socail Like & Share

กรมหลวงโยธาทิพ มีพระนามเดิมว่า สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าศรีสุพรรณ บางแห่งเรียก พระราชกัลยาณี ส่วน กรมหลวงโยธาเทพ มีพระนามเดิมว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุดาวดี

กรมหลวงโยธาทิพ และกรมหลวงโยธาเทพ เป็นเจ้านายฝ่ายในซึ่งดำรงพระอิสริยยศชั้นเจ้าฟ้าในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา

มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์เป็นต้นว่า พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับต่างๆ รวมถึงเอกสารบันทึกของชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังราชสำนักกรุงศรีอยุธยาครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้พรรณนาเรื่องราวที่เป็นพระชะตาชีวิตของเจ้านายทั้งสองพระองค์ไว้มีความใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะเมื่อสิ้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแล้ว พระอำนาจวาสนาดูจะผันผวนตามพระอัธยาศัยของพระเจ้าแผ่นดินแต่ละพระองค์เป็นสำคัญ ดังจะแยกกล่าวโดยลำดับดังต่อไปนี้

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช โปรดให้กรมหลวงโยธาทิพ ซึ่งเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ อยู่ใกล้พระองค์มาแต่ยังมิได้เสวยราชย์ เช่นในรัชกาลเจ้าฟ้าไชย เมื่อทรงคิดการกับพระศรีสุธรรมราชาพระเจ้าอา จะกำจัดเจ้าฟ้าไชยออกจากราชสมบัติ เมื่อจะลอบออกจากพระราชฐาน พระราชพงศาวดารบันทึกไว้ว่า

“…ครั้นเพลาค่ำ พระนารายณ์เป็นเจ้าก็พาพระขนิษฐาของพระองค์ลอบหนีออกทางประตู ตัดสระแก้วไปหาพระเจ้าอาพระศรีสุธรรมราชา…”

เมื่อพระศรีสุธรรมราชาได้ขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๗ ทรงสถาปนาสมเด็จพระนารายณ์เป็นมหาอุปราช เสด็จไปประทับ ณ พระราชวังบวรสถานมงคล ส่วนพระขนิษฐายังคงประทับที่พระตำหนักในเขตพระราชฐานชั้นในดังเดิม ภายหลังเกิดเหตุให้ต้องเสด็จหนีราชภัยออกมาเฝ้าสมเด็จพระ นารายณ์ฯ เพราะพระศรีสุธรรมราชาต้องพระราชหฤทัยในพระสิริโฉมโปรดให้ขึ้นไปเฝ้า แต่พระนางมิทรงปลงพระทัยด้วยจึงลอบหนีออกมา ดังความในพระราชพงศาวดารบันทึกไว้ว่า

“…พระราชกัลยาณีมิได้ขึ้นไป หนีลงมาพระตำหนักแล้วบอกเหตุกับพระนม พระนมจึงเชิญพระราชกัลยาณีเข้าไปในตู้พระสมุดแล้วหามออกมา แสร้งว่าจะเอาพระสมุดไปยังพระราชวังบวรสถานมงคล นายประตูก็มิได้สงสัย ครั้นไปถึงพระราชวังบวรสถานมงคลแล้ว พระราชกัลยาณีก็ออกจากตู้เข้าไปเฝ้าสมเด็จพระเชษฐาริราช ทรงพระกันแสงทูลประพฤติเหตุทั้งปวง”

ด้วยเหตุที่พระศรีสุธรรมราชาประพฤติพระองค์ไม่สมควรดังกล่าว สมเด็จพระนารายณ์มหาราชจึงทรงยึดพระราชอำนาจ สำเร็จโทษพระศรีสุธรรมราชา แล้วเสด็จขึ้นครองราชย์ ในครั้งนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระขนิษฐาขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ ภายหลังทรงตั้งเป็น กรมหลวงโยธาทิพ คู่กับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ซึ่งทรงตั้งเป็น กรมหลวงโยธาเทพ

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์บิดาแห่งวิชาประวัติศาสตร์ไทย ทรงอธิบายการตั้งกรมหลวงโยธาทิพ กรมหลวงโยธาเทพ ว่ามิใช่เป็นการสถาปนาพระอิสริยยศ

“…ความจริงคือโปรดให้รวมคนเข้าสังกัดหมวดหมู่ตั้งขึ้นเป็นกรมใหม่ ๒ กรม ให้เจ้ากรมเป็นหลวงมีชื่อว่า หลวงโยธาทิพ กรม ๑ หลวงโยธาเทพ กรม ๑ กรมหลวงโยธาทิพ ให้ขึ้นในสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟื้าศรีสุพรรณ กรมหลวงโยธาเทพให้ขึ้นในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุดาวดี คนทั้งหลายจึงเรียกพระนามสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอพระองค์นั้นว่า เจ้ากรมหลวงโยธาทิพ และเรียกสมเด็จพระเจ้าลูกเธอว่า เจ้ากรมหลวงโยธาเทพ ไม่ใช่เป็นพระนามส่วนพระองค์…”

การตั้งพระราชวงศ์ฝ่ายในให้ทรงกรมมีขึ้นในโอกาสนั้นเป็นครั้งแรก ในประวัติศาสตร์ กรมหลวงโยธาทิพ กรมหลวงโยธาเทพ จึงเป็นเจ้านายฝ่ายในสองพระองค์แรกที่ได้ทรงกรม

เมื่อสิ้นรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เปลี่ยนเป็นแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา พระเจ้าแผ่นดินพระองศ์ใหม่ทรงสถาปนากรมหลวงโยธาทิพเป็นพระอัครมเหสีฝ่ายขวา มีพระราชโอรสพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าพระขวัญ ซึ่งทรงได้รับการเฉลิมพระเกียรติยศ โดยโปรดให้มีการพระราชพิธีโสกันต์ พระราชทานตามราชประเพณีโบราณ เมื่อทรงเจริญพระชันษา มีข้าไทและคนทั้งปวงนับถือมาก กรมพระราชวังบวรฯ คือ ขุนหลวงสรศักดิ์จึงวางแผนลวงไปสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ เจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาทิพจึงต้องทรงพบกับการสูญเสียที่ทรงพระโศกาอาดูรมาก เมื่อขุนหลวงสรศักดิ์ขึ้นเสวยราชสมบัติจึงกราบถวายบังคมทูลลาออกไปประทับ ณ พระตำหนักตึกริมวัดพุทไธสวรรย์ ซึ่งได้เสด็จประทับสืบมาจนสิ้นพระชนม์ ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ดังมีความในพระราชพงศาวดารว่า
“…ในปีนั้น (ปีมะสัปตศก) เจ้าพระอัยกี กรมหลวงโยธาทิพ ทิวงคต ณ พระตำหนักตึกริมวัดพุทไธสวรรย์นั้น สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินให้ช่างไม้กระทำการเมรุ ขื่อยาวห้าวาสองศอก โดยสูงยี่สิบวาสองศอก แลพระเมรุทองกลาง แลการพระเมรุทั้งปวงนั้น หกเดือนเศษจึ่งแล้ว เชิญพระโกศทองขึ้นราชรถพร้อมเครื่องอลงกตแห่แหนเป็นอันมาก นำมาสู่พระเมรุทอง แลการที่บูชาให้ทานทั้งปวงตามอย่างพระราชประเพณีมาแต่ก่อน สมโภชเจ็ดวัน การศพนั้นสำเร็จบริบูรณ์…”

ส่วนกรมหลวงโยธาเทพเป็นพระราชธิดาที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงโปรดปรานเช่นกัน มีพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุดาวดี แต่ผู้คนทั่วไปเรียกตามนามกรม ที่ทรงกำกับดูแลว่า เจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาเทพ

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยามิได้กล่าวถึงพระอุปนิสัยพระราชจริยวัตร หรือพระราชกิจที่ชัดเจนในกรมหลวงโยธาเทพ แต่เอกสารของชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาติดต่อทางพระราชไมตรีในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พรรณนารายละเอียดไว้อย่างสนใจยิ่งว่า เป็นพระราชธิดาที่สมเด็จพระชนกนาถ ไว้วางพระราชหฤทัยให้ทรงกำกับดูแลการต่างๆ ในพระราชสำนัก ด้วยทรงพระปรีชาชาญกว่าราชนารี พระองค์ใดในสมัยนั้น

ลาลูแบร์ ราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเดินทางมากรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ได้เขียนจดหมายเหตุการเดินทาง เล่าเรื่องถึงความสำคัญของเจ้าฟ้าสุดาวดี กรมหลวงโยธาเทพ ไว้ดังนี้

“…พระราชธิดาพระองค์นั้น ทรงพระเกียรติยศและเสด็จประทับ ณ พระมนทิราลัย เยี่ยงพระอัครมเหสี พระชายาของพระมหากษัตริย์… ล้วนยำเกรงพระราชธิดาทั้งสิ้น และนับถือพระราชธิดาเสมอว่าเป็นแม่เจ้าชีวิตของตน เมื่อมีคดีอย่างไรเกิดขึ้น พระสนมเหล่านี้ก็ตกอยู่ในการพิจารณาทางยุติธรรม โดยทำนองเดียวกันกับพวกนางพระกำนัลและพวกขันทีทั้งปวง ด้วยบุคคลเหล่านี้ไม่สามารถจะออกมาข้างหน้าเพื่อร้องเรียนยังโรงศาลได้ พระราชธิดาจึงจำเป็นต้องทรงเป็นผู้ชำระตัดสินและลงพระอาญา เพื่อป้องกันมิให้วิวาทต่อกัน อันเป็นการทำลายความสงบเรียบร้อยภายในพระราชนิเวศน์…”

นอกจากสมเด็จกรมหลวงโยธาเทพจะทรงรับพระราชภาระกำกับดูแลราชการในพระราชสำนักฝ่ายในต่างพระเนตรพระกรรณแล้ว สันนิษฐานว่าน่าจะทรงมีบทบาทในการติดต่อกับชาวต่างประเทศในส่วนที่เป็นการรับรองคณะราชทูตและคณะผู้แทนทางการค้า การศาสนาที่เข้ามาหลายกลุ่มหลายพวก ดังพบหลักฐานในจดหมายเหตุของ เซเบเรต์ ราชทูตฝรั่งเศสที่เข้ามาเจริญทางพระราชไมตรีระหว่าง พ.ศ. ๒๒๓๐ – ๒๒๓๑ ซึ่งราชทูตผู้นี้ได้พยายามที่จะขอเข้าเฝ้าสมเด็จกรมหลวงโยธาเทพ เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายของต่างๆ เมื่อขึ้นไปเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์ที่พระราชวังเมืองลพบุรี บันทึกว่า

“…เราได้พยายามหลายครั้งแล้วที่จะหาโอกาสเฝ้าสมเด็จพระราชธิดาของพระเจ้ากรุงสยาม…”

“ในระหว่างที่รอรับประทานอาหารอยู่นั้น เราได้พูดกับมองซิเออร์คอนซตันซ์อีกครั้งหนึ่ง ขอให้จัดการให้เราได้เฝ้าสมเด็จพระราชธิดา เพื่อเราจะได้นำของต่างๆ ของมกุฏราชกุมารีฝรั่งเศสถวาย มองซิเออร์คอนซตันซ์จึงบอกกับเราว่า เวลานี้สมเด็จพระราชธิดากำลังประชวรพระโรคหืดอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา และพระบาทก็แพลงมาช้านานแล้ว ซึ่งไม่มีใครจะรักษาให้หายได้เลย มองซิเออร์คอนซตันซ์จึงเชื่อว่า สมเด็จพระราชธิดาคงจะไม่เสด็จออกให้เราเฝ้า แต่คงจะโปรดให้เจ้าพนักงานมารับของถวายจากเราเป็นแน่แล้ว มองซิเออร์คอนซตันซ์ได้ยอพระเกียรติยกคุณความดีต่างๆ ของสมเด็จพระราชธิดาให้เราฟัง…”

ความที่ คอนซแตนติน ฟอลคอน หรือเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ เล่าให้ราชทูตฟังตามที่ราชทูตบันทึกไว้ก็คือ

“… พระเจ้ากรุงสยามผู้เป็นชนกทรงรักใคร่โปรดปรานสมเด็จพระราชธิดาเป็นอันมาก และได้ทรงมอบการฝ่ายในให้อยู่ในความดูแลของสมเด็จพระราชธิดาเหมือนกับพระมเหสีในประเทศสยาม ได้เคยดูแลการฝ่ายในแต่โบราณราชประเพณีมา … ในส่วนที่เกี่ยวด้วยมหาดเล็กเด็กชานั้น สมเด็จพระราชธิดาก็ทรงปกครองว่ากล่าวได้ทั้งสิ้น และทรงพระเมตตากรุณาแก่พวกมหาดเล็กเด็กชา จนพวกนี้กลายเป็นคนหยิ่งจองหองไปหมด…”

อย่างไรก็ดี ของขวัญที่มกุฎราชกุมารีฝรั่งเศสที่ราชทูตฝรั่งเศสอัญเชิญมาเพื่อถวายสมเด็จกรมหลวงโยธาเทพในครั้งนั้น เจ้าพนักงานภูษามาลาได้เป็นผู้มาอัญเชิญไปถวาย ดังที่ราชทูตเซเบแรต์ เล่าไว้ต่อมาว่า

“…เมื่อได้รับประทานอาหารเสร็จแล้ว เจ้าพนักงานภูษามาลาของพระเจ้ากรุงสยาม…ได้มาหาเราเพื่อมารับของที่มกุฎราชกุมารีฝรั่งเศสได้ส่งมาถวายสมเด็จพระราช¬ธิดา…”

“เจ้าพนักงานเหล่านี้จึงได้บอกกับเราว่า สมเด็จพระราชธิดาทรงขอบใจมกุฎราชกุมารีที่ได้ส่งของมาถวายดังนี้ และทรงเสียพระทัยเป็นอย่างมากที่พระองค์ต้องประทับอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา หาได้ตามเสด็จพระราชบิดาขึ้นมาเมืองลพบุรีไม่ เพราะเหตุที่ยังทรงพระประชวรอยู่ จึงเป็นการจำเป็นที่จะเสด็จออกให้เราเฝ้ายังไม่ได้…”

การถวายของขวัญแก่กันระหว่างราชกุมารีพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส กับสมเด็จกรมหลวงโยธาเทพ พระราชธิดาพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาน่าจะเป็นธรรมเนียมทางการทูตอย่างเป็นทางการ ซึ่งสมเด็จกรมหลวง โยธาเทพได้ทรงปฏิบัติอย่างสมพระเกียรติยศแห่งราชสำนักฝ่ายในของสยามโดยไม่ขาดตกบกพร่อง ดังมี หลักฐานบาญชีของที่โปรดเกล้าฯ พระราชทานไปยังมกุฎราชกุมารีในจดหมายของมองซิเออร์เวเรต์ ในปี ค.ศ. ๑๖๘๗ ตรงกับ พ.ศ. ๒๒๓๐ ซึ่งน่าจะเป็นมูลเหตุที่ราชกุมารีฝรั่งเศสโปรดให้ราชทูตเซเบเรต์ เชิญของมาถวายตอบแทนก็อาจเป็นได้

บาญชีสิ่งของที่สมเด็จกรมหลวงโยธาเทพ โปรดให้นำไปถวายมกุฎราชกุมารีฝรั่งเศสนั้น ล้วนเป็นของมีค่าหายาก ซึ่งราชสำนักสยามเลือกซื้อหาไว้ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าจากประเทศญี่ปุ่นแทบทั้งสิ้น เช่น กานํ้า ทองคำฝีมือญี่ปุ่น หม้อใส่ชอกอเล็ตทำด้วยทองคำ หีบปิดทอง ถ้วยทองคำ ขวดเงิน โถเงิน ตุ๊กตาผู้หญิง ญี่ปุ่นทำด้วยเงินกาไหล่ทองลงยามือถือถ้วย มีลานไขให้เดินได้ ฉากญี่ปุ่นมีรูปนกและรูปต้นไม้ เสื้อญี่ปุ่นงามอย่างที่สุด กระปุกหมึก ที่สำหรับใส่หนังสือเลี่ยมเงิน เครื่องลายครามอย่างงามที่สุด ๖๔๐ ชิ้น และยังมีของอื่นๆ อีกมาก

ซึ่งนอกจากของถวายราชกุมารีฝรั่งเศสแล้ว ในคราวเดียวกัน สมเด็จกรมหลวงโยธาเทพยังทรงจัดของมีค่าไปถวาย ดุกเดอบรุกอยน์ ด้วย

ตลอดรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช น่าจะถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาของความรุ่งโรจน์สูงสุดแห่งพระชนม์ชีพ เพราะเมื่อสิ้นแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระเพทราชาขึ้นเสวยราชสมบัติต่อมา ได้ทรงสถาปนาสมเด็จกรมหลวงโยธาเทพเป็นพระอัครมเหสีฝ่ายซ้าย คู่กับสมเด็จกรมหลวงโยธาทิพ ซึ่งเป็นพระอัครมเหสีฝ่ายขวา แต่ในพระราชพงศาวดาร พรรณนาความในทำนองว่า สมเด็จกรมหลวงโยธาเทพไม่ทรงปลงพระทัยที่จะดำรงตำแหน่งดังกล่าว จนสมเด็จพระเพทราชาต้องทรงใช้คุณไสย ดังความที่บันทึกไว้ว่า

“…ทรงพระกรุณาให้หมอทำเสน่ห์ ครั้นได้หมอมาแล้ว ก็ให้กระทำตามวิธีเสน่ห์ แลกรมหลวงโยธาเทพก็คลั่งไคล้ใหลหลง ทรงพระกันแสงถึงพระเจ้าอยู่หัวเป็นกำลัง…”
สมเด็จกรมหลวงโยธาเทพทรงพระครรภ์ประสูติพระราชโอรส พระญาติวงศ์ทั้งหลายถวายพระนามว่า เจ้าพระตรัสน้อย แต่สมเด็จพระเพทราชาพระชนกนาถตรัสเรียกว่า สำมะยัง

เมื่อสิ้นรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา สมเด็จกรมหลวงโยธาเทพทรงพาเจ้าพระตรัสน้อยเสด็จออกไปประทับ ณ พระตำหนักริมวัดพุทไธสวรรย์ เช่นเดียวกับสมเด็จกรมหลวงโยธาทิพ และน่าจะเป็นเพราะทรงเกรงราชภัยจะมีมาถึงพระราชโอรสเช่นเดียวกับเจ้าพระขวัญ พระราชนัดดา จึงโปรดให้เจ้าพระตรัสน้อยทรงผนวชอยู่ในผ้ากาสาวพัสตร์ ณ วัดพุทไธสวรรย์มาจนตลอดแผ่นดินขุนหลวงสรศักดิ์ พระเจ้าท้ายสระ และแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศนี้เอง ที่พระภิกษุเจ้าพระตรัสน้อย พระโอรสในสมเด็จกรมหลวงโยธาเทพ ซึ่งในพระราชพงศาวดารขานพระนามว่า “เจ้าพระ” เกือบจะต้องได้รับอันตรายอันเนื่องมาจากความหวาดระแวงของราชสำนัก เมื่อครั้งเกิดกบฏจีนนายก่ายเข้าปล้นพระราชวังหลวง ขณะที่พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับ ณ เมืองลพบุรี เจ้าพระตรัสน้อย เสด็จเข้ามาช่วยป้องกันรักษา พระราชวัง ดังที่ความในพระราชพงศาวดารบันทึกไว้ว่า
“…จึงพระยาเพชรพิชัยและข้าราชการทั้งหลาย ซึ่งอยู่รักษาพระนครนั้นก็แต่งหนังสือบอกให้เรือเร็วถือขึ้นไป ณ เมืองลพบุรี กราบทูลพระกรุณาให้ทราบเหตุนั้นทุกประการ ดำรัสว่า พระสมีสำมยัง นั้นจะเอาราชสมบัติเองหรือประการใด ฝ่ายเจ้าพระวัดพุทไธสวรรย์ ก็เสด็จลงเรือเร็วขึ้นไป ณ เมืองลพบุรี เข้าไปเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินถวายพระพรแถลงเหตุนั้นให้ทราบ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระโสมนัสยินดีหายที่ข้อทรงพระวิตก…”

ภายหลังจากเกิดเหตุที่พระโอรสเกือบต้องราชภัย ราว ๑ ปี สมเด็จกรมหลวงโยธาเทพ ซึ่งทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระอัยกีในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศก็สิ้นพระชนม์ โปรดเกล้าฯ ให้มีงานพระเมรุ ณ วัด พุทไธสวรรย์ ซึ่งเป็นพระอารามที่เจ้าพระตรัสน้อย พระโอรสทรงผนวชประทับจำพรรษาอยู่ ดังปรากฏความอยู่ในพระราชพงศาวดารว่า

“..ในปีเถาะนั้น สมเด็จพระอัยกีกรมหลวงโยธาเทพ ซึ่งเสด็จอยู่ ณ พระตำหนักริมวัดพุทไธสวรรย์นั้น ดับสูญสิ้นพระชนม์ จึงโปรดให้ทำพระเมรุมาศขนาดน้อย ณ วัดพุทไธสวรรย์นั้น แล้วเชิญพระโกศขึ้นพระยานุมาศแห่เข้าพระเมรุ พระราชทานพระสงฆ์ สดัปกรณ์และมีงานมหรสพสามวัน แล้วเสด็จไปพระราชทานเพลิงศพตามโบราณราชประเพณีสืบๆ กันมา…”

หลังจากสมเด็จกรมหลวงโยธาเทพสิ้นพระชนม์แล้ว สันนิษฐานว่า เจ้าพระตรัสน้อยคงจะทรงผนวชอยู่ ณ วัดพุทไธสวรรย์ โดยสงบเงียบสืบมาโดยไม่ทรงเกี่ยวข้องกับราชการบ้านเมืองแต่อย่างใด เพราะไม่ปรากฏเรื่องราวที่กล่าวถึงเจ้านายพระองค์นี้อีกเลย

กรมหลวงโยธาทิพ กรมหลวงโยธาเทพ ราชนารีแห่งราชสำนักกรุงศรีอยุธยานับเป็นสตรีไทยที่มีโอกาสได้ปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบภารกิจอันเป็นเรื่องราชการบ้านเมือง โดยทรงเป็นเจ้านายผู้หญิงที่ได้รับ พระราชทานให้ทรงกรมเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การปกครองของไทย

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: บุหลง ศรีกนก