สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี

Socail Like & Share

ในสมัยโบราณแม้สตรีไทยจะมิได้มีบทบาททางการเมืองและการปกครอง แต่ก็มีบทบาทและความสำคัญอย่างยิ่งในการปกครองบ้านเรือน และการอบรมดูแลบุตรธิดา บริหารงานบ่าวไพร่ดำเนินกิจการ เป็นผลประโยชน์แก่ครอบครัว โดยเฉพาะครอบครัวที่ผู้นำเป็นทหาร และอยู่ในยุคที่ต้องกอบกู้บ้านเมือง หรือปราบปรามอริราชศัตรู เสริมสร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศชาติ ภรรยาจึงต้องเป็นผู้มีความเข้มแข็ง อดทน สามารถปกครองครัวเรือนได้ ซึ่งเท่ากับช่วยสนับสนุนกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่การงานแก่สามีด้วย เอกสารหลักฐานเกี่ยวกับพระราชประวัติของสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี หลายฉบับกล่าวว่า สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี มีพระอุปนิสัยเด็ดเดี่ยว เข้มแข็ง ต้องตามลักษณะที่ได้กล่าวมาแล้ว เป็นที่เกรงพระทัยของสมเด็จพระราชสวามี พระราชโอรส พระราชธิดา และพระราชนัดดาตลอดมา

สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี เป็นพระบรมราชินีพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ คือ เป็นสมเด็จพระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ พระนามเดิมว่า “นาก” เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ แรม ๕ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะเส็ง จุลศักราช ๑๐๙๙ ตรงกับวันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๒๘๐ พระชนกพระนามว่า “ทอง” พระชนนีพระนามว่า “สั้น” ซึ่งในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ประกาศเฉลิมพระนามพระอํฐิว่า “สมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารี” มีนิวาสสถานเดิมอยู่ที่ตำบลบางช้าง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม พระชนกนั้นถึงแก่พิราลัยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยายังเป็นราชธานี ส่วนพระชนนีนั้นภายหลังผนวชเป็นรูปชี ประทับ ณ วัดอัมพวันเจติยาราม จนถึงรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

พระประยูรญาติร่วมพระชนกชนนีของสมเด็จพระอมรินทรา บรมราชินี ที่ปรากฏในหนังสือเรื่อง อธิบายราชินิกูลบางช้าง มีดังนี้
๑. เจ้าคุณหญิงแวน
๒. เจ้าคุณหญิงทองอยู่ หรือเรียกกันว่า เจ้าคุณผู้ใหญ่ ได้สมรสกับท่านตาขุนทองผู้เป็นญาติกัน
๓. เจ้าคุณชายชูโต มีภรรยาชื่อทองดี เป็นต้นตระกูลชูโต สวัสดิ-ชูโต และ แสง-ชูโต
๔. สมเด็จพระอมรินทรา บรมราชินี
๕. เจ้าคุณชายแตง
๖. เจ้าคุณหญิงชีโพ
๗. เจ้าคุณชายพู
๘. เจ้าคุณหญิงเสม
๙. เจ้าคุณหญิงนวล หรือที่เรียกว่าเจ้าคุณโต ต่อมาสมรสกับเจ้าพระยาอัครมหาเสนาบดี ต้นตระกูลบุนนาค
๑๐. เจ้าคุณหญิงแก้ว หรือเรียกว่า เจ้าคุณบางช้าง สมรสกับพระยาสมุทรสงคราม (ศร) ต้นตระกูล ณ บางช้าง

บุรพชนของสมเด็จพระอมรินทรา บรมราชินี เป็นคหบดีผู้มีชื่อเสียงในเขตอัมพวา เมื่อสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ทรงเจริญวัย มีพระสิริโฉมงดงาม เพียบพร้อมด้วยความรู้และคุณสมบัติของกุลสตรีในตระกูลสูง กิตติศัพท์จึงเลื่องลือทั่วไป มีเรื่องเล่าว่า ครั้งปลายกรุงศรีอยุธยานั้น พระเจ้าแผ่นดินโปรดให้สืบหาสตรีรูปงามผู้มีตระกูลและทรัพย์ทั้งในและนอกกรุงไปเป็นบาทบริจาริกา ได้มีผู้มาขอทาบทามกับพระชนกพระชนนีของสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี แต่ทั้งสองพระองค์ไม่ประสงค์จะให้พระธิดาประทับห่างไกล ณ สถานที่อันเข้มงวดด้วยจารีตประเพณีเช่นนั้น จึงได้จัดคนไปกราบบังคมทูลสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก ซึ่งรับราชการอยู่ในกรุงศรีอยุธยา ให้ทรงช่วยหาทางผ่อนผัน สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกจึงนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า ได้ทรงสู่ขอสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ไว้ให้แก่พระราชโอรสแล้ว พระเจ้าแผ่นดินจึงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ตามที่กราบบังคมทูลขอ ต่อมา เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้เสด็จไปรับราชการในตำแหน่งหลวงยกกระบัตร เมืองราชบุรี ได้ทรงสมรสกับสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี และประทับ ณ นิวาสสถานที่ตำบลอัมพวานั้น ต่อมาหลังจากกรุงศรีอยุธยาเสียอิสรภาพแก่พม่า ใน พ.ศ. ๒๓๑๐ มีพระราชโอรสพระราชธิดารวมทั้งสิ้น ๙ พระองค์ ดังนี้

๑. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง สิ้นพระชนม์ตั้งแต่สมัยอยุธยา

๒. สมเด็จเจ้าฟ้าชาย สิ้นพระชนม์ตั้งแต่สมัยอยุธยา

๓. สมเด็จเจ้าฟ้าฉิมใหญ่ เป็นพระราชชายาในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระราชมารดาของ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนกระษัตรานุชิต

๔. สมเด็จเจ้าฟ้าชายฉิม คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

๔. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงแจ่ม คือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพ

๖. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ทรงพระเยาว์

๗. สมเด็จเจ้าฟ้าชายจุ้ย คือ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์

๘. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ทรงพระเยาว์

๙. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงเอี้ยง คือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพยวดี

ถึงสมัยธนบุรี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้เข้ารับราชการในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงได้รับเลื่อนตำแหน่งราชการและบรรดาศักดิ์สูงขึ้นตามลำดับ ท้ายสุดคือ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ในฐานะภรรยาขุนนางขั้นผู้ใหญ่ ก็ได้ทรงมีบรรดาศักดิ์สูงตามพระราชสวามีไปด้วย ในระหว่างนี้ได้ประทับ ณ ทำเนียบเจ้าพระยาอุปราช อันป็นตำแหน่งที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงดำรงเทียบเท่า ทำเนียบนี้อยู่ในบริเวณกรมอู่ทหารเรือปัจจุบัน นอกจากนี้ยังเสด็จเข้าประทับค้างแรมกับพระธิดาพระองค์ใหญ่ (เจ้าฟ้าฉิมใหญ่) ซึ่งเป็นพระราชชายาของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และเป็นพระมารดาของเจ้าฟ้ากรมขุนกระษัตรานุชิต ณ พระตำหนักในพระราชวังเสมอ จนกระทั่งพระราชธิดา (เจ้าฟ้าฉิมใหญ่) สิ้นพระชนม์ พ.ศ. ๒๓๒๒

ก่อนเกิดจลาจลในกรุงธนบุรี พ.ศ. ๒๓๒๕ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งดำรงตำแหน่งสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เสด็จไปราชการสงคราม ณ ประเทศกัมพูชา นั้นปรากฏว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมีพระสัญญาวิปลาส เกิดความหวาดระแวงบุคคลแวดล้อม ตั้งแต่พระภิกษุสงฆ์ ข้าราชการฝ่ายใน จนถึงพ่อค้าประชาชนทั่วไป ประกอบกับมีผู้กราบบังคมทูลยุยงให้หลงผิด ดังนั้นจึงมีผู้ต้องพระราชอาญาจำจอง โบยตี หรือประหาร เป็นจำนวนไม่น้อย ในบรรดาผู้ต้องพระราชอาญานี้ มีสมเด็จพระอมรินทรา บรมราชินี ตลอดจนพระประยูรญาติรวมอยู่ด้วย แต่ไม่ปรากฏว่าทรงกระทำความผิดเรื่องใด จึงนับว่าทรงได้รับทุขเวทนาจากความผันผวนของบ้านเมือง

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงปราบปรามจลาจลราบคาบและทรงปราบดาภิเษกขึ้นครองกรุงรัตนโกสินทร์นั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระราชินี แต่สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ก็ยังคงประทับ ณ พระตำหนักเดิมทางฝั่งธนบุรี มิได้เสด็จมาประทับในพระบรมมหาราชวัง เป็นแต่เสด็จเข้ามาเป็นครั้งคราว คงจะเป็นด้วยขณะนั้นเจริญพระชนมายุถึง ๔๕ พรรษาแล้ว จึงมีพระราชประสงค์จะประทับอยู่อย่างสงบ ร่วมกับพระราชโอรสมากกว่า พ.ศ. ๒๓๔๙ เมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ได้รับพระราชทานอุปราชาภิเษกเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ได้เสด็จประทับในพระราชวังเดิมธนบุรี สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ก็ทรงเข้าประทับ ณ ที่นั้นด้วยจนกระทั่งสิ้นรัชกาลที่ ๑

พ.ศ. ๒๓๕๓ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ได้ทรงสถาปนาพระเกียรติสมเด็จพระราชชนนีเป็น “สมเด็จกรมพระอมรินทรามาตย์” เทียบอย่างกรมพระเทพามาตย์ที่สมเด็จพระราชชนนีพันปีหลวงตามโบราณราชประเพณี ดังความในจดหมายเหตุเรื่องทรงตั้งพระบรมวงศานุวงศ์กรุงรัตนโกสินทร์ ต่อไปนี้

“ตั้งกรมสมเด็จพระพันปีหลวง
ณ วัน ๒ ฯ ๑๐ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๗๒ ปีมะเมียโทศก เพลาเช้า ๒ โมง ๖ บาท
พญารักษ์ ๑
พระอาลักษณ์ ๑
พระราชสมบัติ ๑
พระโหรา ๑
ขุนโชติ ๑
ขุนสารประเสริฐ ๑
นายชำนิโวหาร ๑
นายเทียรฆราช ๑
นั่งพร้อมกัน ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เจ้าพนักงานตั้งเครื่อง

ใบศรีแก้ว ใบศรีทอง ใบศรีเงิน มโหรีปี่พาทย์ฆ้องไชยพร้อม ลงพระนามสมเด็จพระพันปีหลวงเป็นพระอมรินทรามาตย์

หมื่นสุวรรณอักษรจาฤกแผ่นพระสุพรรณบัฏเป็นอักษร ๓ บรรทัด แผ่นพระสุพรรณบัฏ กว้าง ๗ นิ้ว ยาว ๑๔ นิ้ว หนัก ๑ ๓/๓

ทองร่อนบางตะพาน พระหีบเงินถมยาคำตะทองหนัก ๑๓ ส่วน ใส่พานทอง มอบหลวงธรรมเสนาไว้ในพระอุโบสถ

ครั้น ณ วัน ๖ฯ๗ ๑๑ ค่ำ จึงเชิญพานพระสุพรรณบัฏขึ้นเหนือพระเสลี่ยงอันวิจิตรไปด้วย

ราชาอาสน์อภิรม ราชาอาสน์ชุมสาย ราชาอาสน์พัดโบก ราชาอาสน์จ่ามอน เป็นอินทร์พรหมเทวดาเกณฑ์แห่แตรสังข์ แห่ไปที่พระมณฑลพระตำหนักตึก

พระสงฆ์ ๑๕ รูป มีสมเด็จพระสังฆราชเป็นต้น สวดพระพุทธมนต์ ๓ วัน

ครั้น ณ วัน ๒๑๐ ฯ ๑๑ ค่ำ เพลาเช้า ๑ โมง กับ ๒ บาท เสด็จสรงมุระธาภิเษก

พระสังฆราช พระพนรัจน์ พระญาณสังวร ถวายนํ้าพระพุทธมนต์ พราหมณถวายนํ้าสังข์ กรด เสร็จแล้ว เสด็จออกมาถวายเข้าสงฆ์ พระสงฆ์ฉันแล้ว ได้ฤกษ ๓ โมง กับ ๕ บาท ขุนสารประเสริฐ ขุนมหาสิทธิ์ เชิญพานพระสุพรรณบัฏเข้าไป พระอาลักษณ์เป็นผู้ถวายต่อพระหัตถ์ เจ้าฟ้ากรมหลวง (พิทักษมนตรี) ถวายตราประจำที่แล้วพระราชทานให้เลี้ยงข้าราชการผู้ใหญ่ ผู้น้อยพร้อมกัน

ในรัชกาลนี้ เข้าใจว่าได้เสด็จเข้ามาประทับในพระบรมมหาราชวัง แต่อาจจะไม่ประทับเป็นการถาวร เนื่องจากหลักฐานบางแห่งว่าประทับ ณ พระตำหนักเดิมที่ฝั่งธนบุรีตลอดพระชนม์ชีพ ในช่วงปลายแห่งพระชนม์ชีพนั้น ปรากฏว่าสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ทรงพระราชศรัทธาในพระบวรพุทธศาสนามาก เสด็จไปทรงศีลและบำเพ็ญพระราชกุศล ณ วัดระฆังโฆสิตารามเป็นนิจ ทรงสถาปนาและบูรณปฏิสังขรณ์ พระอารามต่างๆ เช่น ทรงสถาปนาวัดเงิน ซึ่งเป็นวัดโบราณตั้งอยู่ในท้องที่คลองบางพรหมใหม่ และทรงบูรณะวัดอัมพวันเจติยาราม ตำบลบางช้าง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งสมเด็จพระรูป ศิริโสภาคย์มหานาคนารี พระราชชนนี ทรงสร้าง ณ บริเวณนิวาสสถานเดิม เป็นต้น

สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี เป็นเจ้านายอีกพระองค์หนึ่งที่มีพระชนมพรรษายืนยาวถึง ๓ รัชกาล คือ ดำรงพระชนม์ชีพจนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้นถึงวันพฤหัสบดี แรม ๕ ค่ำ เดือน ๖ จ.ศ. ๑๑๘๘ ตรงกับวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๖๓ จึงเสด็จสวรรคต พระชนมพรรษาได้ ๘๙ พรรษา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง จัดเป็นพิธีใหญ่อย่างสมพระเกียรติ และอัญเชิญพระบรมอัฐิเข้าประดิษฐานในพระบรมมหาราชวัง ปรากฏรายละเอียดในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ ดังนี้

“ในปีชวดนั้น ทรงพระดำริว่า กองทัพศึกค่อยสงบลงแล้ว พระศพสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ยังค้างอยู่ จึงรับสั่งให้เจ้าพนักงานซ่อมแซมประดับประดาพระเมรุให้งดงามดีดังเก่า การสารพัดทั้งปวงเหมือนพระบรมศพอย่างใหญ่เสร็จแล้ว ครั้น ณ เดือน ๖ ขึ้น ๙ ค่ำ (อังคารที่ ๒๒ เมษายน ๒๓๗๑) ได้เชิญพระบรมสารีริกธาตุออกมาสู่พระเมรุ มีการมหรสพ ๑ วัน ๑ คืน เชิญพระบรมสารีริกธาตุกลับเข้าพระบรมมหาราชวัง รุ่งขึ้น ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๖ ขึ้น ๑๑ ค่ำ (วันที่ ๒๔ เมษายน) ได้เชิญพระบรมอัฐิออกสู่พระเมรุ มีการมหรสพวัน 9 ครั้น ณ วันศุกร์ เดือน ๖ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ได้เชิญพระบรมอัฐิกลับ ครั้น ณ วันเสาร์ เดือน ๖ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ได้เชิญพระโกศพระบรมศพสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ แห่มาขึ้นพระมหาพิไชยราชรถ แห่กระบวนใหญ่เข้าสู่พระเมรุ ได้มีการมหรสพสมโภช ๗ วัน ๗ คืน และบำเพ็ญพระราชกุศลถวายไทยทานแก่พระสงฆ์ราชาคณะฐานานุกรมเปรียญเป็นอันมาก ครั้น ณ วันศุกร์ เดือน ๖ แรม ๔ คา (วันที่ ๒ พฤษภาคม) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับพระราชวงศานุวงศ์ ข้าราชการและท้าวพระยาหัวเมืองประเทศราช พร้อมกันกราบถวายบังคมถวายพระเพลิงพระบรมศพ แล้วสมโภชพระบรมอัฐิอีก ๓ วัน ๓ คืน เป็นคำรบ ๑๐ วัน ๑๐ คืน ครั้น ณ เดือน ๖ แรม ๘ ค่ำ แห่พระบรมอัฐิเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง”

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์จะเทิดพระเกียรติสมเด็จพระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง ในรัชกาลก่อนๆ ที่เคยดำรงตำแหน่งพระอัครมเหสีให้สูงขึ้น จึงทรงประกาศเฉลิมพระนามใหม่ สมเด็จพระอมรินทรามาตย์ ได้เฉลิมพระนามใหม่เป็น “สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี”

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: ฉวีงาม มาเจริญ