พระสุพรรณกัลยา

Socail Like & Share

พระสุพรรณกัลยาเป็นพระราชธิดาของสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชและพระวิสุทธิกษัตรี พระนามที่ปรากฏในเอกสารต่างๆ มีต่างกันบ้าง เช่น พระปก พระสุวรรณ พระสุวรรณกัลยา พระสุวรรณเทวี พระสุพรรณกัลยาณี และพระสุพรรณกัลยาพระสุพรรณกัลยา

ในหนังสือพระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ มีส่วนที่เกี่ยวพันกับพระสุพรรณกัลยาว่า

สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จสมภพที่เมืองพิษณุโลกเมื่อ พ.ศ. ๒๐๙๘ พระองค์เป็นราชโอรสของสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช พระราชชนนีคือ พระวิสุทธิกษัตรี ราชธิดาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิอันเกิดด้วยพระสุริโยทัย สมเด็จพระนเรศวรฯ มีพระพี่นางองค์ ๑ ทรงพระนามว่า พระสุพรรณกัลยาณี และพระน้องยาองค์ ๑ ทรงพระนามว่า พระเอกาทศรถ

คราวพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองยกทัพมาใน พ.ศ. ๒๑๐๖ เมื่อมีชัยชนะได้ตรัสขอสมเด็จพระนเรศวรฯ ไปเลี้ยงเป็นราชบุตรบุญธรรม สมเด็จพระนเรศวรฯ จึงต้องเสด็จออกไปอยู่เมืองหงสาวดี เมื่อพระชันษาได้ ๙ ปี

ก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. ๒๑๑๒ สมเด็จพระมหาธรรมราชาเสด็จไปหงสาวดีทูลฟ้องพระเจ้าบุเรงนองว่า ถูกสมเด็จพระมหินทราธิราชปองร้าย ทางกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้เสด็จไปรับพระวิสุทธิกษัตรีกับพระโอรสธิดาจากพิษณุโลกมาอยู่ในพระนครศรีอยุธยา

เมื่อพระเจ้าบุเรงนองเคลื่อนกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาในเดือน๑๑ พ.ศ. ๒๑๑๑ นั้น สมเด็จพระนเรศวรฯ พระชันษาได้ ๑๕ ปี ได้ตามเสด็จมาในกองทัพหลวงด้วย เมื่อตีกรุงศรีอยุธยาได้ใน พ.ศ. ๒๑๑๒ พระเจ้าบุเรงนอง ทรงตั้งให้สมเด็จพระมหาธรรมราชาปกครองกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระมหาธรรมราชาได้ถวายพระสุพรรณกัลยาณีแก่พระเจ้าบุเรงนอง เป็นตัวจำนำแทนสมเด็จพระนเรศวรฯ ทำให้สมเด็จพระนเรศวรฯ ได้ช่วยสมเด็จพระชนกปกครองบ้านเมือง

แท้ที่จริงแล้ว บันทึกเรื่องราวของพระสุพรรณกัลยา และเรื่องสมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงเป็นตัวประกันอยู่ที่กรุงหงสาวดี ไม่มีในพระราชพงศาวดาร หรือพงศาวดารฉบับหลวงของไทยฉบับใด แต่มีเรื่องราวในพงศาวดารฉบับราษฎร์ และเอกสารต่างประเทศที่พอจะประมวลกันได้ ที่ปรากฏข้อเท็จจริงของพระประวัติอยู่ ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ไว้ข้างต้น

คำให้การขุนหลวงหาวัด
(เป็นเอกสารที่มีอยู่ในหอหลวง แปลในรัชกาลที่ ๔ จากภาษามอญ ซึ่ง แปลจากภาษาพม่าอีกชั้นหนึ่ง) และคำให้การชาวกรุงเก่า (เป็นเอกสารที่ได้จากหอสมุดรัฐบาลพม่าที่เมืองร่างกุ้งใน พ.ศ. ๒๔๕๓ เป็นภาษาพม่าคัดมาแปลเป็นภาษาไทย) บันทึกเกี่ยวกับพระสุพรรณกัลยาไว้ตรงกัน มีต่างกันบ้างในรายละเอียดเพียงเล็กน้อย ซึ่งประมวลได้ว่า

พระสุวรรณกัลยา เป็นพระราชธิดาพระสุธรรมราชาและพระบรมเทวี มีพระอนุชา ๒ พระองค์ คือ พระนเรศวรฯ และพระเอกาทศรถ

เมื่อพระเจ้าหงสาวดียกทัพมาถึงเมืองพิษณุโลก พระสุธรรมราชาเห็นว่าสู้รบต้านทานไม่ได้ ก็แต่งเครื่องบรรณาการแล้วพาพระราชธิดาและพระราชโอรสออกไปเฝ้า และตามเสด็จพระเจ้าหงสาวดีมาล้อมพระนครศรีอยุธยา

เมื่อตีกรุงศรีอยุธยาได้แล้ว พระเจ้าหงสาวดีมอบราชสมบัติให้พระสุธรรมราชา แล้วนำพระมหินทร์ พระสุวรรณกัลยา และพระนเรศวรฯ ไปเมืองหงสาวดี ทรงตั้งพระสุวรรณกัลยาเป็นอัครมเหสี พระนเรศวรฯ นั้นก็โปรดปรานเหมือนพระราชบุตร

วันหนึ่งพระนเรศวรฯ เล่นชนไก่กับพระมหาอุปราชา ไก่พระมหาอุปราชาแพ้ พระมหาอุปราชาก็ขัดใจแกล้งพูดเยาะเย้ยว่า ไก่เชลยเก่ง พระนเรศวรฯ ทรงแค้นพระทัยคิดอุบายหนี แล้วทูลชวนพระพี่นาง แต่พระสุวรรณกัลยาทรงขอให้พระนเรศวรเสด็จหนีไปโดยไม่ต้องห่วงพระนาง

ต่อมาเมื่อพระนเรศวรฯ ชนช้างกับพระมหาอุปราชา ได้ฟันพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์ได้รับชัยชนะ พระเจ้าหงสาวดีทรงแค้นเคืองจึงฟันพระสุวรรณกัลยาสินพระชนม์ คำให้การขุนหลวงหาวัดว่า พร้อมพระราชโอรส คำให้การชาวกรุงเก่าว่า พร้อมพระราชธิดา

หลักฐาน ๒ ชิ้นนี้ เก็บจากคำบอกเล่าของบุคคลที่ถูกกวาดต้อนไปพม่า ครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. ๒๓๑๐ ซึ่งห่างจากเหตุการณ์จริงร่วม ๒๐๐ ปี ทั้งผ่านกระบวนการแปลกลับไปกลับมา ความวิปลาสคลาดเคลื่อนจึงมีอยู่มาก

สังคีติยวงศ์
(เป็นหนังสือภาษามคธ ที่สมเด็จพระวันรัตน วัดพระเชตุพน แต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๒ ในรัชกาลที่ ๑ พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาลลักษมณ) แปลในรัชกาลที่ ๖) กล่าวถึงพระสุพรรณกัลยาว่า

“พระราชบุตรของพระมหาธรรมราชาสินั้นทรงพระนามว่า สมเด็จพระนริสสราช สมเด็จพระราชบิดาได้ถวายแก่พระเจ้าหงษาพร้อมกับสมเด็จพระราชธิดา พระเจ้าหงษาจึงได้พาไปเมืองหงษานคร พระองค์ได้อยู่ในเมืองหงษานครกับด้วยพระภาดาหลายปี

เมื่อได้โอกาสก็หนีจากหงษานครนั้นมาอยู่ในกรุงอโยชฌนคร พระอุปราชราชบุตรของพระเจ้าหงษาราชได้ติดตามมา แล้วทำสงครามกัน พระองค์ได้ชนช้างกับด้วยพระอุปราช ฟันพระเศียรพระอุปราชขาดด้วยดาบดํ้ายาว (ของ้าว) ได้ฆ่าอุปราชตายในสนามรบ พระองค์จึงได้มีไชยเหนือคอช้าง พระองค์จึงเป็นมหายศมหาเดชยิ่งกว่าพระราชาในสมัยนั้น”

ในเอกสารชาวต่างประเทศที่เข้ามาสมัยกรุงศรีอยุธยาหลายฉบับ โดยเฉพาะเรื่องสมเด็จพระนเรศวรฯ ต้องทรงเป็นตัวประกันอยู่กรุงหงสาวดีนั้น พบว่ามีการพรรณนาเรื่องอาณาจักรสยาม (Description of the Kingdom of Siam) เยเรเมียส ฟาน ฟลีต ชาวดัตช์ บันทึกเมื่อ พ.ศ. ๒๑๕๔) ฉบับแปลของสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ว่า

“…ประเทศสยามได้ส่งเครื่องบรรณาการให้อังวะหลายปี แต่ในที่สุดพวกสยามกับความช่วยเหลือของชายผู้หนึ่ง ซึ่งคนทั้งหลายเรียกว่า “พระองค์ดำ” (The black King) ได้สลัดแอกของต่างชาติไปได้ พระองค์ทรงเป็นรัชทายาทของบัลลังก์สยาม และเมื่อทรงพระเยาว์ พระองค์ทรงไปเป็นตัวประกันที่ราชสำนักหงสาวดี อย่างใดก็ตาม เนื่องจากพระองค์ทรงอดทนต่อการดูถูกหมิ่นประมาทมามากจนทำให้ทรงคิดหนี คืนหนึ่งพระองค์ทรงหนีไปกับพวกขุนนาง ๓๐๐ คน ซึ่งล้วนแต่เป็นบริวารของพระองค์ พระองค์และพวกเขาได้เดินทางกลับประเทศสยาม”

ในช่วง พ.ศ. ๒๑๕๔ – ๒๑๕๘ จดหมายเหตุของ Peter Floris ชาวดัตช์ ซึ่งเดินทางเข้ามาทำงานกับบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษได้ กล่าวถึงเรื่องสยามเป็นเมืองขึ้นของพะโค (หงสาวดี) และว่าทั้งสมเด็จพระนเรศวรฯ และสมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงได้รับการเลี้ยงดูจนเติบใหญ่ในราชสำนักพะโค แล้วหนีกลับกรุงศรีอยุธยาว่า

“Siam is an auncient Kingdome and hath alwayes bene very mightye, but afterwards it hath bene subdued by the King of Pegu, becomming tributaries unto him. Butt it continued not long in that estate, for this King, Dying, lefte issue 2 sonnes, which were brought upp in the Kings courte of Pegu; who flying from thence to Siam, whereas the eldeste, called Raja Api, in the Maleys language the Fyery King, but by the Portingalls and other nations the Blacke King…”

The Ship of Sulaiman (บันทึกของทูตเปอร์เซียซึ่งเดินทางเข้ามาสยามในช่วงหลังของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗) ก็กล่าวถึงเรื่องที่สมเด็จพระนเรศวรฯ ต้องประทับเป็นตัวประกันอยู่ที่พะโคเช่นกัน และทรงเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าหงสาวดี จนเป็นที่อิจฉาของพระมหาอุปราชาว่า

“It happened that the son of the Siamese governor was at the royal court employed in waiting upon the king but unfortunately the young man’s honest character and the large amount of favor that the king accorded him only served to arouse the jealousy of the King’s son, for such was the faulty nature of the crown prince. It was not long before the relationship between these two young men took a turn for the worse”

ส่วนเรื่องถวายพระสุพรรณกัลยาให้พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองนั้น บันทึกไว้ชัดเจนในพงศาวดารฉบับหอแก้วของพม่า (Hmannan Yazawin Dawgyi ซึ่งพระเจ้าจักกายแมงของพม่า โปรดให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตชำระเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้นายต่อแปลเป็นภาษาไทยชื่อ มหาราชวงษ์พงศาวดารพม่า)ว่า

“ในขณะนั้นออกยาพิศนุโลกผู้ครองราชสมบัติกรุงศรีอยุธยา ได้ถวายบุตรีพระชนม์ ๑๗ ปี กับพระพี่เลี้ยง ๑๕ คน ทรงพระนามพระราชบุตรีนั้นว่า พระสุวรรณ (Bra Thawan) พระเจ้าหงษาวดีก็ทรงรับไว้ แล้วพระองค์รับสั่งให้ตามเสด็จพระองค์ไปเมืองเวียงจันทร์ด้วย”

เมื่อรวมกับหลักฐานที่ยืนยันว่า หลังเสียกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. ๒๑๑๒ สมเด็จพระนเรศวรฯ ประทับอยู่ในประเทศแล้ว ก็คือพระราชพงศาวดารฉบับที่มีความแม่นยำทางศักราช คือ พระราชพงศาวดาร กรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐ ซึ่งบันทึกว่า

“ศักราช ๙๓๓ มะแมศก (พ.ศ. ๒๑๑๔) นํ้าน้อย อนึ่ง สมเด็จพระณะรายบพิตรเป็นเจ้า (สมเด็จพระนเรศวรฯ) เสด็จขึ้นไปเสวยราชสมบัติเมืองพิศณุโลก”

จึงได้ข้อสรุปว่า พระสุพรรณกัลยามีตัวตนจริงและแลกพระองค์กับสมเด็จพระนเรศวรฯ เสด็จไปเป็นตัวประกันที่กรุงหงสาวดี เปิดโอกาสให้สมเด็จพระนเรศวรฯ ได้ฟื้นฟูบ้านเมืองจนกอบกู้เอกราชได้สำเร็จ นับเป็นการเสียสละพระองค์อย่างสูงส่งของพระสุพรรณกัลยา เพราะอาจจะต้องถึงเสียสละชนม์ชีพก็ได้ หากสมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงกู้ชาติสำเร็จ

คำให้การ ๒ ฉบับดังกล่าวข้างต้น เป็นหลักฐานที่กล่าวถึงวาระสุดท้ายของพระสุพรรณกัลยา และมีหลักฐานชาวตะวันตกที่พรรณนาถึงความโหดร้ายของพระเจ้านันทบุเรงในระยะเวลานั้น ซึ่งน่าจะเป็นภัยต่อพระสุพรรณกัลยา เช่น

จดหมายเหตุของ Faria y Souza ชาวโปรตุเกส ที่อยู่พะโค (หงสาวดี) ขณะนั้น ได้เล่าถึงความคลุ้มคลั่งของพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง เมื่อทรงทราบข่าวสิ้นพระชนม์ของพระมหาอุปราชา เช่น บางวันเผาราษฎรตายเป็นหมื่นแล้วโยนศพทิ้งแม่นํ้าจนปิดเส้นทางคมนาคมเป็นต้น

“the King of Pegu in a rage for the death of his son turned his fury against the people, and some days bornt about ten thousand throwing so many into the river as stopped the passage even of boats. He forbid them sowmg which caused such a famine that they not only eat one another to which purpose there was a pubic butchery of mans flesh. But devoured part of their own bodies. ”

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการพม่าได้แสดงหลักฐานพม่าที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้คือ พระราชพงศาวดาร มหาราชวงศ์ (ฉบับย่อ U Kala Mahayazawingyoke) ฉบับที่แต่งโดย อูกาลา ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับ เชื้อพระวงศ์ในรัชกาลพระเจ้าบุเรงนอง มีมเหสีพระนาม พระสุวรรณ (Amyo Yone อะเมี้ยวโยง) ซึ่งเป็นพระพี่นางของพระนริศกษัตริย์อยุธยา และมีพระราชธิดาประสูติด้วยพระเจ้าบุเรงนอง พระนามว่า เจ้าหญิงน้อย (Min Atwe – เมงอทเว) อยู่ด้วย เอกสารฉบับนี้มิได้กล่าวถึงเรื่องพระสุพรรณกัลยาถูกประหารชีวิต และ อูกาลา มีมารดาที่สืบเชื้อสายเจ้าเมืองพิษณุโลก นักวิซาการพม่าจึงเชื่อว่า ภายหลังการล่มสลายของกรุงหงสาวดี พระสุพรรณกัลยายังมีพระชนม์ชีพอยู่

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: วีณา โรจนราธา