พระเทพกษัตรี

Socail Like & Share

มีเรื่องราวความสำคัญปรากฏอยู่ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
พระเทพกษัตรีเป็นพระราชธิดาพระองค์หนึ่งในสมเด็จพระมหาจักรพรรดิซึ่งประสูติจากสมเด็จพระสุริโยทัย พระเทพกษัตรีทรงเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างกรุงศรีอยุธยาและกรุงศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาวเวียงจันทน์

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระวินิจฉัยว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ มีพระเจ้าลูกเธอ ซึ่งประสูติจากสมเด็จพระสุริโยทัยพระอัครมเหสีทั้งหมด ๕ พระองค์ คือ

๑. สมเด็จพระราเมศวร
๒. สมเด็จพระมหินทราธิราช
๓. พระสวัสดิราช ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานพระนามว่า พระวิสุทธิกษัตรี
๔. พระราชบุตรีที่ไม่ปรากฏพระนาม และเสียพระชนม์กลางศึกคราวเดียวกับสมเด็จพระสุริโยทัย
๕. พระเทพกษัตรี

ในสมัยเดียวกับที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงครองราชสมบัติ ณ กรุงศรีอยุธยานั้น ภายหลังจากศึกคราวที่กรุงศรีอยุธยาสูญเสียสมเด็จพระสุริโยทัย ทางพม่าก็เปลี่ยนแผ่นดินเนื่องจากพระเจ้าหงสาวดี ตเบ็งชเวตี้เสด็จสวรรคต พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองขึ้นครองราชย์ ทรงแผ่พระบรมเดชานุภาพออกไปรอบทิศทาง ภายหลังจากเลิกทัพกลับจากกรุงศรีอยุธยาแล้ว ได้ข่าวว่าพระเจ้าเชียงใหม่ เมกุติ คบคิดกับพระยานครลำปาง พระยาแพร่ พระยาน่าน และพระยาเชียงแสน ซึ่งขณะนั้นเป็นข้าขอบขัณฑสีมาของหงสาวดี คิดแข็งเมือง พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองจึงยกกองทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๒๑๐๗ ในการรบคราวนั้น พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองขอให้กรุงศรีอยุธยาส่งกองทัพขึ้นไปช่วยตีเมืองเชียงใหม่ด้วย เนื่องจากเป็นไมตรีกัน ช่วงเวลานั้นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงมอบราชสมบัติให้สมเด็จพระมหินทราธิราช ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แล้ว ทรงขอให้พระมหาธรรมราชาจัดกองทัพเมืองเหนือขึ้นไปช่วยพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง คำว่า หัวเมือง เหนือ ในสมัยนั้นกินความถึงประมาณเมืองพิษณุโลก กำแพงเพชร สุโขทัย

พระมหาธรรมราชาทรงคุมกองทัพเมืองพิษณุโลกขึ้นไปช่วยตีเมืองเชียงใหม่ด้วยพระองค์เอง ปรากฏว่าพระเจ้าเชียงใหม่ เมกุติ ทรงยอมแพ้แต่โดยดี แต่พระยา ๔ คน จับได้เพียงพระยาเชียงแสน อีก ๓ คน หนีไปพึ่งพระบารมีพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาวเวียงจันทน์ จึงเป็นเหตุให้เกิดศึกหงสาวดีกับเวียงจันทน์ในเวลาต่อมา เมื่อพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองตีได้เมืองเชียงใหม่แล้ว มี รับสั่งให้พระมหาอุปราชายกทัพไปตีเมืองเวียงจันทน์ เพื่อติดตามพระยาทั้ง ๓ คน ส่วนทัพหลวงยกกลับเมืองหงสาวดี

กองทัพพระมหาอุปราชายกไปถึงเวียงจันทน์ พระเจ้าไชยเชษฐาริราชทรงเห็นว่าเหลือกำลังสู้ไม่ได้ จึงทิ้งเมืองเวียงจันทน์พากองทัพหลบไปตั้งซุ่มซ่อนอยู่ในป่า พระมหาอุปราชาก็เข้ายึดครองเมืองเวียงจันทน์ แต่ยังไม่สามารถติดตามตีกองทัพพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชได้ ด้วยเป็นฤดูฝนพอดี กองทัพหงสาวดีไม่ชำนาญในพื้นที่ก็ตั้งรับอยู่ในเมืองเวียงจันทน์ ส่วนพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชทรงใช้ยุทธวิธีแต่งกองโจรแยกย้ายกันไปตี ตัดกำลังลำเลียงเสบียงอาหาร ทำให้กองทัพหงสาวดีอดอยากหมดกำลัง ไม่มีกำลังพอจะทำศึกสงครามต่อไปได้ จึงถอยทัพกลับหงสาวดี พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชให้กองทัพออกติดตามข้าศึกสู้รบกัน ปรากฏว่าเป็นครั้งแรกที่กองทัพหงสาวดีต้องพ่ายศึกหนีไป เป็นเหตุให้พระนามของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชเลื่องลือไป เป็นพระเกียรติยศอย่างสูง

กองทัพหงสาวดีเมื่อถอยออกจากเวียงจันทน์ได้เชิญพระมเหสีเทวีตลอดจนพระประยูรญาติของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชไปประทับที่เมืองหงสาวดีด้วย เมื่อพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชกลับมาครองเมือง เวียงจันทน์อีกครั้ง จึงคิดหาพระมเหสีใหม่ ทรงทราบว่าพระราชธิดาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิที่ประสูติจากสมเด็จพระสุริโยทัยทรงเจริญวัยแล้ว จึงเห็นทางที่จะผูกสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาด้วย เห็นว่ามีเหตุที่แค้นเคืองกรุงหงสาวดีเช่นเดียวกัน จึงทรงแต่งทูตานุทูตเชิญพระราชสาส์นคุมเครื่องราชบรรณาการมาถวายสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ความในพระราชพงศาวดารว่า

“ในลักษณพระราชสาส์นนั้นว่า ข้าพระองค์ผู้ผ่านพิภพกรุงศรีสัตนาคนหุต ขอ ถวายอภิวาทวันทนามายังสมเด็จพระปิตุราธิราช ผู้ผ่านพิภพกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา มหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมด้วยพระราชมหาสถาน มเหาฬารอันยิ่งเป็นมิ่งมงกุฎด้วยสัตตเศวตกุญชรชาติตัวประเสริฐศีรีเมือง ข้าพระองค์ยังไม่มีเอกอัครราชกัลยาณี ที่จะสืบศรีสุริยวงค์ในกรุงศรีสัตนาคนหุตต่อไปมิได้ ข้าพระองค์ขอพระราชทานพระราช¬ธิดาอันทรงพระนามพระเทพกษัตรี ไปเป็นปิ่นศรีสุรางคนิกรกัญญาในมหานคเรศปราจีนทิศ เป็นทางพระราชสัมพันธมิตรไมตรีสุวรรณปัฐพีแผ่นเดียวกันชั่วกัลปาวสาน”

เพื่อร่วมต้านกรุงหงสาวดี สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงทรงเห็นสมควรที่จะสานสัมพันธไมตรีกับอาณาจักรล้านช้าง จึงได้ตอบพระราชสาส์นพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ให้แต่งทูตานุทูตมารับพระเทพกษัตรี เมื่อคุณทูตานุทูตกับไพร่ ๕๐๐ และท้าวนางเถ้าแก่ฝ่ายล้านช้างมาถึง พระเพทกษัตรีก็ทรงประชวนหนัก ไม่สามารถเสด็จไปด้วยได้ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิก็กลัวจะเป็นการเสียไมตรีถ้าล่าช้าไป จึงส่งพระแก้วฟ้า ซึ่งเป็นพระราชธิดาอีกองค์ไปแทน โดยทรงพระราชทานเครื่องราชูปโภคสำหรับอัครมเหสี พร้อมด้วยสนมสาวใช้ทาสกรรมกรชายห้าร้อยหญิงห้าร้อยไปด้วย

สาเหตุที่พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชขอพระเทพกษัตรีเพราะเป็นเชื้อสายของสมเด็จพระสุริโยทัยผู้ทรงเกียรติยศ ที่ทรงสละพระชนม์ชีพแทนพระราชสวามี เป็นตระกูลวงศ์กตัญญูอันประเสริฐ เมื่อรู้ความจริงก็เสียพระทัย

“ถึงมาตรว่าพระแก้วฟ้าราชบุตรีจะมีศรีสรรพลักษณโสภาคย์ยิ่งกว่าพระเทพกษัตรีร้อยเท่าพันทวีก็ดี ยังไป่ล้างกิตติศัพท์พระเทพกษัตรีเสียได้” พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชจึงส่งพระแก้วฟ้ากลับคืน และขอพระเทพกษัตรีอย่างที่เคยขอไว้แต่เดิม เมื่อพระเทพกษัตรีหายประชวรแล้ว สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงส่งพระเทพกษัตรีทรงสีวิกากาญจนยานุมาศ โดยมีพระยาแมนคุมไพร่ ๑๐๐๐ คน ขึ้นไปกรุงศรีสัตนาคนหุต

ฝ่ายพระมหาธรรมราชาก็นำความนี้ไปแจ้งให้พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองทราบ พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองจึงสั่งให้คุมพลมาสกัดตีชิงพระเทพกษัตรีไปถวาย โดยแต่งให้พระตะบะเป็นนายกอง ซุ่มพลอยู่ที่ตำบลมะเริง นอกด่านเมืองเพชรบูรณ์

พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชทรงพระพิโรธมากจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ จึงเตรียมยกทัพไปตีเมืองพิษณุโลก แต่ก็ไม่ได้ทำศึกกัน เพราะสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงขอร้องไว้

จากเรื่องราวของพระเทพกษัตรี ทำให้ทราบถึงพระเกียรติของสมเด็จพระสุริโยทัยว่าได้ปรากฏแผ่ไพศาลเพียงใด การที่พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชได้รับพระราชทานพระเทพกษัตรี จึงถือว่าเป็นการถวายพระเกียรติอย่างสูง และเป็นการสานสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นระหว่างกรุงศรีอยุธยาและกรุงศรีสัตนาคนหุต หลังจากนี้ก็ไม่พบเรื่องราวที่เกี่ยวกับพระประวัติของพระเทพกษัตรีอีก

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: สุทธิพันธ์ ขุทรานนท์