พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงนรินทรเทวี

Socail Like & Share

เป็นพระน้องนางเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระนามเดิมว่า กุ มีพระสมญานามที่คนทั่วไปเรียกกันว่า “เจ้าครอกวัดโพธิ์” ที่มาของคำนี้ อาจสันนิษฐานถึงที่มาได้ดังนี้ คำว่า “เจ้าครอก” หมายถึง การเป็นเจ้าโดยกำเนิดมิได้ยกย่องหรือแต่งตั้ง ส่วนคำว่า “วัดโพธิ์” มาจากวังที่ประทับติดกับวัดโพธิ์ ปัจจุบันคือบริเวณที่เป็นพระวิหารพระพุทธไสยาส

พระองค์เจ้ากุเป็นพระราชธิดาพระองค์ที่ ๖ ในสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก (ทองดี) และพระน้องนางร่วมพระชนกชนนีกับพระอัครชายา (หยก บางแห่งว่า ดาวเรือง) ผู้เป็นพระบรมราชชนนีแห่ง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระเชษฐาและพระเชษฐภคินีร่วมพระชนกทั้งสิ้น ๗ พระองค์ ดังปรากฏหลักฐานในราชสกุลวงศ์ “ลำดับปฐมวงศ์” ว่า

สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก พระองศ์ผู้เป็นต้นพระบรมราชวงศ์จักรี พระนามเดิมว่า ทองดี พระอัครชายา พระนามเดิมว่า หยก มีพระโอรสธิดา ๗ พระองศ์ นับเป็นชั้นที่ ๑ ในปฐมวงศ์ คือ

๑. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี

๒. พระเจ้ารามณรงค์

๓. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์

๔. พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

๕. สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท
ทั้ง ๕ พระองค์นี้ประสูติแต่พระอัครชายา (หยก)

๖. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนรินทรเทวี ประสูติแต่พระน้องนางของพระอัครชายา (หยก)

๗. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา ประสูติแต่เจ้าจอมมารดามา

สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกมีพระชายา ๓ องค์ คือ พระอัครชายา (หยก) เป็นลำดับที่ ๑ หลังจากพระอัครชายา (หยก) ทิวงคตแล้ว พระน้องนางของพระอัครชายา (หยก) เป็นพระชายาลำดับที่ ๒ และ เจ้าจอมมารดามา เป็นลำดับที่ ๓ ปรากฏความในปฐมวงศ์ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กล่าวลำดับประวัติความเป็นมาของพระปฐมบรมราชวงศ์จักรี ดังนี้

“จะขอกล่าวถึงความประวัติเป็นไปต่างๆ ในโลกนี้ จนถึงกาลเมื่อละโลกนี้ล่วงไปยังปรโลกของพระองค์ท่าน ซึ่งเป็นบุรพบุรุษในพระบรมราชวงศ์อันนี้ซึ่งเป็นชั้นต้น คือสมเด็จพระบรมมหาปัยกาธิบดี แลสมเด็จพระปัยยิกาใหญ่ แลสมเด็จพระปัยยิกาน้อย ๓ พระองค์ แลชั้นสองคือ พระโอรส พระธิดาของสมเด็จพระบรมมหาปัยกาธิบดีทั้ง ๗ พระองค์…

สมเด็จพระบรมมหาปัยกาธิบดีนั้น ทราบแต่ว่าได้ดำรงพระชนมายุแลสุขสมบัติ ครอบครองสกุลใหญ่ และมีอำนาจในราชกิจดังกล่าวแล้วอยู่สิ้นกาลนาน จนตลอดเวลาพม่าข้าศึกเข้าล้อมกรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา ในคราวที่กรุงจะแตกทำลายนั้น

สมเด็จพระปัยยิกาพระองค์ใหญ่นั้น ได้มีพระเอารส พระธิดา ๕ พระองค์ แล้วก็สิ้นพระชนม์ล่วงไปโดยนัยที่กล่าวมาแล้ว แต่เมื่อสิ้นพระชนม์นั้นพระชนมายุเท่าไรไม่ทราบถนัด พระปัยยิกาพระองค์น้อยได้รับปรนนิบัติสมเด็จพระบรมมหาปัยกาธิบดีในที่นั้นต่อมา ได้ประสูติพระธิดาพระองค์หนึ่งแล้ว จะสิ้นพระชนม์เมื่อใดก็หาได้ความเป็นแน่ไม่ ได้ความเป็นแน่แต่ว่าเมื่อเวลาพม่าเข้าล้อมกรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา เวลาที่สุดนั้น สมเด็จพระบรมมหาปัยกาธิบดีมีพระดำริจะออกจากกรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา หลีกหนีข้าศึกไปอยู่ให้ห่างไกล จะชักชวนพระเอารสพระธิดาทั้งปวงตามเสด็จไปด้วยพร้อมกัน พระเอารส พระธิดาทั้ง ๖ พระองค์ที่ทรงพระเจริญแล้วนั้นได้แยกย้ายไปตั้งสกุลอื่น มีพระบุตร พระบุตรี เกี่ยวข้องเป็นห่วงใยพัวพันมากมาย จะรวบรวมมาพร้อมเพรียงกันแล้ว คุมเป็นพวกใหญ่ ออกไปโดยง่ายหาได้ไม่ เมื่อได้ช่องจึงได้พาแต่พระกุมารพระองค์น้อยกับหญิงบาทบริจาริก ซึ่งเป็นหม่อมมารดาของพระกุมารนั้นไปอาศัยอยู่ ณ เมืองพิษณุโลก…”

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนรินทรเทวี ทรงอภิเษกกับหม่อมมุก นายกวดหุ้มแพร มหาดเล็ก ครั้งกรุงธนบุรี บุตรเจ้าพระยามหาสมบัติ (ผล) ซึ่งต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นกรมหมื่นนรินทรพิทักษ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ มีพระโอรส ๒ พระองค์ คือ

๑. พระสัมพันธวงศ์เธอ กรมหมื่นนรินทรเทพ (พระองศ์เจ้าชายฉิม)

๒. พระสัมพันธวงศ์เธอ กรมหมื่นนเรนทร์บริรักษ์ (พระองศ์เจ้าชายเจ่ง)

ปรากฏหลักฐานในลำดับปฐมวงศ์ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า

“กรมหลวงนรินทรเทวีนั้น เมื่อแผ่นดินกรุงธนบุรีได้กรมหมื่นนรินทรพิทักษ์ ซึ่งคนเป็นอันมากเรียกว่า กรมหมื่นมุกเป็นพระภัสดา ได้ประสูติพระบุตรพระองค์หนึ่ง คือ กรมหมื่น นรินทรเทพแล้ว มาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ประสูติพระบุตรอีกพระองค์หนึ่ง คือ กรมหมื่นนเรนทรบริรักษ์ กรมหมื่นซึ่งเป็นพระบุตรทั้งสองนั้น ก็ได้เป็นต้นวงศ์ของหม่อมเจ้าชาย หม่อมเจ้าหญิงเป็นอันมากสืบลงมา ”

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนรินทรเทวี สิ้นพระชนม์เมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๓๗๐ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นต้นสกุล “นรินทรกุล” พระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุท้องสนามหลวง เมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๖ แรม ๑๔ ค่ำ ปีชวด จ.ศ. ๑๑๙๐ (พ.ศ. ๒๓๗๑) ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สถาปนาพระนามพระอัฐิเป็น “กรมหลวงนรินทรเทวี” เนื่องจากทรงเห็นว่า ยังไม่มีพระนามบรรดาศักดิ์ ดังปรากฏในคำประกาศตั้งพระอัฐิ หนังสือจดหมายเหตุ เรื่องทรงตั้งพระบรมวงศานุวงศ์กรุงรัตนโกสินทร์ว่า

“ในรัชกาลที่ ๔ ทรงตั้งกรมพระอัฐิเจ้านายอีก ๓ พระองค์ ตั้งเมื่อปีใดใน จดหมายเหตุอาลักษณ์หาปรากฏปีไม่ คือ

พระเจ้าไอยิกาเธอ พระองค์เจ้ากุ เป็นกรมหลวงนรินทรเทวี พระองค์ ๑ พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชี เป็นกรมขุนรามินทรสุดา พระองค์ ๑ สมเด็จพระมาตุจฉาฯ เป็นกรมขุนอนัคฆนารี พระองค์ ๑

มีจดหมายเหตุอาลักษณ์ อยู่ดังนี้
ทรงตั้งพระอัฐิ กรมหลวงนรินทรเทวี
ทรงตั้งพระอัฐิ กรมขุนรามินทรสุดา
ทรงตั้งพระอัฐิ กรมขุนอนัคฆนารี

ประกาศตั้งพระอิฐ

ทรงพระราชดำริว่าพระบรมราชวงศ์อันนี้ ได้ดำรงถาวรวัฒนาการมา พระราชวงศานุวงศ์มีพระบรมธรรมิกราชาธิราช ๔ พระองค์ด้วยกัน บางพระองค์ได้ดำรงมามีพระนามปรากฏโดยบรรดาศักดิ์นั้นๆ บางพระองค์ทิวงคตเสียก่อน แต่ยังมิได้สร้างพระนครนี้ก็มี บางพระองค์ก็ดำรงมาแต่หามีพระนามปรากฏตามบรรดาศักดิ์ไม่ มีแต่พระอัฐ ซึ่งได้เชิญประดิษฐานไว้ในหอพระอัฐิข้างใน ในหอพระอัฐิข้างนอก เมื่อคราวใดพระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแลพระราชวงศานุวงศ์คิดถึงพระเดชพระคุณ และจะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายพระราชวงศานุวงศ์ซึ่งทิวงคตแล้ว ยังมีอยู่แต่พระอัฐินั้นๆ ก็หามีสำคัญที่จะออกพระนามให้รู้ชัดโดยสะดวกได้ไม่ อนึ่งเมื่อคราวใดจะกล่าวเรื่องราวในพระราชพงศาวดาร ก็ออกพระนามผิดบ้าง ถูกบ้างไม่ต้องกัน ยากที่จะเข้าใจได้ จึงมีพระบรมราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ดำรัสสั่งให้ประกาศแก่พระสงฆ์ราชาคณะฐานานุกรม แลพระราชวงศานุวงศ์แลข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งปวงให้รู้จงทั่วกันว่า พระอัฐิพระบรมชนกนาถในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เป็นพระบรมไอยกาใน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นพระบรมไปยกาในพระบาทสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช แลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ให้เรียกว่า พระอัฐิในสมเด็จพระบรมมหาไปยกาธิบดี

อนึ่ง พระราชธิดาผู้ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งเป็นพระเชษฐภคินีในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยนั้น ยังหามีพระนามปรากฏโดยบรรดาศักดิ์ไม่ เพราะว่าเจ้าต่างกรมแลพระองศ์เจ้าฝ่ายในในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนั้น โปรดเกล้าฯ ให้เรียกว่าพระบรมวงศ์เธอทั้งสิ้นแล้ว บัดนี้จึงมีพระบรมราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสสั่งให้เรียกพระอัฐิพระราชธิดาผู้ใหญ่ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกว่าพระอัฐิในพระประถมบรมวงศ์

อนึ่ง พระเจ้าน้องนางเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนั้นยังหามีพระนามปรากฏโดยบรรดาศักดิ์ไม่ จึงมีพระบรมราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ดำรัสสั่งให้สถาปนาพระนามพระอัฐิเป็นกรมหลวงนรินทรเทวี… ”

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนรินทรเทวี ทรงสร้างสรรค์ผลงานชิ้นสำคัญเรื่องหนึ่งซึ่งมีคุณค่ามากทั้งในด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี ตลอดจนพระราชพิธีสำคัญๆ ในขณะนั้น เป็นมรดกทางปัญญาที่สืบทอดมาถึงอนุชนรุ่นหลัง ผลงานดังกล่าว คือ จดหมายเหตุความทรงจำ ซึ่งเป็นบนทึกเหตุการณ์ต่างๆ ตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าใน พ.ศ. ๒๓๑๐ ถึง พ.ศ. ๒๓๖๓ ในรัชกาลที่ ๒ ลักษณะเป็นการจดบันทึก จากความทรงจำเท่าที่จำความได้ มิได้เรียงลำดับเหตุการณ์ ดังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชวิจารณ์ไว้ว่า

“จดหมายความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวีนี้ ไม่ใช่ผู้รู้แต่งจดหมายเหตุและพงคาวดาร ไม่ใช่จินตกวีทั้งสองอย่าง เป็นข้อความที่ท่านทรงจำไว้ ตั้งแต่จำความได้จนตลอดเวลาที่เขียน คงจะเป็นเวลาที่ทรงพระชรา มีผู้ทูลว่าข้อความจะสูญเสียหมด ขอให้จดลงไว้ จึงได้พยายามจดลงไว้ตามแต่ที่จะนึกได้โดยไม่ต้องอาศัยหลักอะไรเลย”

เมื่อครั้งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้หนังสือเรื่องนี้มาจากวังหน้า ๑ เล่มสมุดไทย ใน พ.ศ. ๒๔๕๑ ทรงเห็นว่ามีข้อความแปลก จึงได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นผู้แต่งเรื่องนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพิจารณาหาตัวผู้เขียนพร้อมทั้งมีพระราชวิจารณ์และในที่สุดมีพระบรมราชวินิจฉัยว่าผู้แต่งน่าจะเป็นกรมหลวงนรินทรเทวี เนื่องจากเหตุผล ๓ ประการ คือ

๑. โวหารท่วงทีถ้อยคำเป็นสำนวนผู้หญิง

๒. ผู้แต่งหนังสือเรื่องนี้เป็นผู้รู้เรื่องราวภายในใกล้ชิดมาก

๓. กระบวนใช้ถ้อยคำทำให้เห็นว่าจะเป็นเจ้านายในพระราชวงศ์

นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตในหนังสือเรื่องนี้ถึงคำว่า กรมหมื่น โดยมิได้ออกพระนาม ๒ แห่ง คือ

“วันเดือนแปด แรมค่ำหนึ่ง ปีมะโรง สัมฤทธิศก เจ้าฟ้ากรมพระสุนทรเทพสิ้นพระชนม์ไว้พระศพบนปราสาท พระโองการตรัสสั่งกรมหมื่นว่าสิ้นลูกคนนี้แล้วพระเนตรมืดสี่ด้าน พระกรรณตึงสี่ด้าน อากรขนอนตลาดเจ้า ดูชำระเถิดอย่าทูลเลย” อีกแห่งหนึ่งว่า

“ณ เดือนห้า จุลศักราช ๑๑๗๙ ปีฉลู นพศก กรมหมื่นสิ้นพระชนม์ ประชุมเพลิง ณ วัดราชบุรณะ” ดังนั้น กรมหมื่นพระองค์นี้ คือ กรมหมื่นนรินทรพิทักษ์ เป็นพระสามีของพระองค์เจ้ากุ พระน้องนางเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งเป็นผู้เก็บอากรตลาดท้ายสนมต่อเจ้าฟ้า กรมหลวงศรีสุนทรเทพ จนตลอดพระชนมายุ ถ้อยคำที่จดลงไว้ไม่ใช้ว่าสิ้นพระชนม์ ไม่ใช้ว่าถวายพระเพลิง ตรงกับข้อความที่เล่ากันว่า กรมหมื่นนรินทรพิทักษ์ไม่ไว้พระองค์เป็นเจ้าแท้ กรมหลวงนรินทรเทวีอยู่ข้างจะกดขี่ มีตัวอย่าง กรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์ทรงเล่าว่าเจ้านายไปทูลลาโสกันต์ กรมหลวงนรินทรเทวีประทับบนยกพื้นในประธานท้องพระโรง เรียกเจ้าที่ไปทูลลาให้ขึ้นไปนั่งบนยกพื้นด้วย แต่กรมหมื่นนรินทรพิทักษ์มานั่งอยู่ที่พื้นเฉลียงและหมอบกราบเจ้านายที่ไปทูลลา เพราะเหตุฉะนั้นผู้แต่งหนังสือนี้จึงได้ใช้คำผิดกับเจ้านายองค์อื่นสิ้นพระชนม์

พร้อมทั้งทรงตั้งชื่อหนังสือเรื่องนี้ว่า “จดหมายเหตุความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพธิ์) ตั้งแต่จุลศักราช ๑๑๒๙ ถึงจุลศักราช ๑๑๘๒ เป็นเวลา ๕๓ ปี”

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชวิจารณ์และมีพระบรมราชวินิจฉัยล่วงไปแล้ว ๘ ปี หอพระสมุดฯ ได้หนังสือจดหมายเหตุความทรงจำมาอีก ๑ ฉบับ เมื่อเดือนกรกฎาคม ปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๕๙ ข้อความในจดหมายมีเนื้อความยาวต่อจากฉบับเดิมไปอีกประมาณ ๑ เล่มสมุดไทย สิ้นสุดลงใน พ.ศ. ๒๓๘๑ เมื่อพิจารณาดูพระชนมายุของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนรินทรเทวี ซึ่งสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. ๒๓๗๐ จึงเกิดข้อวิจารณ์ต่อมาว่าจดหมายเหตุฉบับนี้ใครเป็นผู้แต่ง เนื่องจากมีข้อความเกินพระชนมายุของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนรินทรเทวีไปถึง ๑๐ ปี สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชา- นุภาพ ได้ทรงแสดงข้อคิดเห็นเพิ่มเติมพร้อมทั้งทรงวินิจฉัยไว้ดังนี้

“การพิมพ์หนังสือจดหมายเหตุความทรงจำคราวนั้น มีเหตุสำคัญเกิดขึ้นในทางโบราณคดี เนื่องด้วยพระบรมราชวินิจฉัยในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อย่างหนึ่ง คือว่า จดหมายเหตุความทรงจำที่ได้มาใหม่ฉบับนี้เนื้อเรื่องมีต่อลงมาจนปีฉลู จุลศักราช ๑๒๐๐ ตามจดหมายเหตุในพระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ ๓ ฉบับเจ้าพระยา ทิพากรวงศ์ปรากฏว่า กรมหลวงนรินทรเทวี สิ้นพระชนม์ เมื่อปีกุน จุลศักราช ๑๑๘๙ …เป็นข้อสงสัยเกิดขึ้นว่า ถ้าเช่นนั้นก็จะไม่ใช่กรมหลวงนรินทรเทวีแต่งจดหมายเหตุความทรงจำ ดังพระบรมราชวินิจฉัยในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพราะเรื่องในฉบับที่ได้มาใหม่มีลงมาภายหลังท่านสิ้นพระชนม์มาถึง ๑๐ ปี ข้าพเจ้ารู้สึกว่าจำจะต้องวินิจฉัยความสงสัยนี้พร้อมกับที่ให้พิมพ์หนังสือจดหมายเหตุความทรงจำฉบับนี้ จึงได้เรียบเรียงข้อวินิจฉัยของข้าพเจ้าพิมพ์ไว้ข้างท้าย ด้วยอยากจะให้ท่านทั้งหลายได้อ่านตัวจดหมายเหตุเสียให้ตลอดก่อนจะได้ช่วยกันวินิจฉัย”

สรุปข้อวินิจฉัยเรื่องผู้แต่งจดหมายเหตุความทรงจำ พระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ความว่า หนังสือเรื่องนี้มี ๒ สำนวน สำนวนแรกแต่งแต่ต้นมาจบเพียงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยสวรรคต อีกสำนวนหนึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ต้นรัชกาลที่ ๓ และคงตั้งใจจะทำตามสำนวนเดิม

“แต่จับได้ว่าต่างสำนวน ตั้งแต่กระบวนเรียบเรียงเรื่อง สำนวนใหม่รู้เรื่องข้างฝ่ายหน้ามากไม่ใคร่รู้เรื่องข้างฝ่ายใน กระบวนโวหารที่เรียงหนังสือ สำนวนเดิมมีกระบวนยอพระเกียรติเติมแต่แห่งละเล็กละน้อย สัมผัสนานๆ จึงใช้ สำนวนใหม่ชอบยอพระเกียรติ กล่าวทุกโอกาสและชอบเล่นสัมผัสจัด แม้ศัพท์ก็ใช้พลาดๆ ไม่เหมือนสำนวนต้น ข้าพเจ้า คิดเห็นเช่นนี้ ไม่ไว้ใจเกรงจะพลาดอยากจะหารือผู้อื่นให้หลายๆ คนด้วยกัน แต่หนังสือนี้จะรีบพิมพ์ เวลาไม่พอ จึงได้นำไปถวายหารือท่านผู้ซึ่งข้าพเจ้านับถือว่าชำนาญในกระบวนหนังสือยิ่งกว่าข้าพเจ้าพระองค์หนึ่ง ขอให้ช่วยตรวจ เมื่อท่านตรวจแล้วก็เห็นพ้องกันว่า เป็นหนังสือ ๒ สำนวน มิใช่แต่งคนเดียวกันทั้งตอนต้นและตอนหลัง เพราะฉะนั้นยังเชื่อได้ว่า ตอนต้นนั้นกรมหลวงนรินทรเทวีทรงแต่ง ดุจพระบรมราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ตอนหลังยังทราบไม่ได้ว่าเป็นของผู้ใดแต่ง ข้าพเจ้าอยากจะเดาว่า เจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่งในวังหน้า ดูผู้แต่งสำนวนหลังอยู่ข้างจะเอาใจใส่ ข้างการวังหน้า”
อย่างไรก็ตามจดหมายเหตุความทรงจำกรมหลวงนรินทรเทวีจัดเป็นหนังสือที่ทรงคุณค่ามาก ดังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชวิจารณ์ไว้ตอนหนึ่งว่า

“จดหมายฉบับนี้ ปรากฏชัดว่าได้จดลงโดยความซื่อตรงและความที่จำได้ ไม่มีนึกแต่งให้พิสดารเป็นอัศจรรย์ ให้ผู้อ่านพิศวงอย่างหนึ่งอย่างใดเลย ถ้าจะมีการตื่น ท่านก็ตื่นส่วนพระองค์ท่านเองตามความเห็นที่จับใจท่านขึ้นมาอย่างไร เวลาก็ดี ข้อความก็ดี ที่เคลื่อนคลาดบ้าง ก็เป็นธรรมดา หนังสือที่ท่านไม่ได้จดลงไว้โดยทันทีมาเขียนต่อภายหลัง แต่ข้าพเจ้ายืนยันได้ว่าหนังสือฉบับนี้ไม่มีความเท็จเลย ความที่เคลื่อนคลาดนั้น ด้วยลืมบ้าง ด้วยทราบผิดไปบ้าง เรียงลงไม่ถูกเป็นภาษาไม่สู้แจ่มแจ้งบ้าง ทั้งวิธีเรียงหนังสือ ในอายุชั้นนั้นไม่สู้จะมีเครื่องมือสำหรับเขียนบริบูรณ์และคล่องแคล่วเหมือนอย่างทุกวันนี้ ถ้าจะเขียนหนังสือแล้วคิดนานๆ บรรจุความให้แน่นในวรรคหนึ่งแล้วจดลงไป ผู้ใดแต่ง หนังสือให้สั้นและให้จุความมากได้ผู้นั้นแต่งหนังสือดี ไม่เหมือนอย่างเวลานี้ ที่เขียนหน้ากระดาษหนึ่งได้ใจความสักบรรทัดเดียว…

แต่เป็นเคราะห์ดีที่สุดที่จดหมายกรมหลวงนรินทรเทวีฉบับนี้ไม่ปรากฏแก่นักเลงแต่งหนังสือในรัชกาลที่๔ หรือในรัชกาลประจุบันนี้ตกอยู่ในก้นตู้ได้จนถึงรัตนโกสินทร์ศก ๑๒๗ นี้ นับว่าเป็นหนังสือพรหมจารี ไม่มีด้วงแมลงได้เจาะไชเลย ความยังคงเก่าบริบูรณ์”

และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงวิจารณ์ว่า

“หนังสือเรื่องนี้ถึงเป็น ๒ สำนวน ก็ยังเป็นหนังสือดีตลอดเรื่องด้วยเรื่องพงศาวดารในตอนหลัง ก็มีเรื่องแปลกๆ ซึ่งไม่ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารอยู่หลายเรื่อง เป็นหนังสือน่าอ่านและควรนับถือทั้ง ๒ ตอน”

จะเห็นได้ว่าแม้จะทรงมีผลงานเพียงชิ้นเดียวก็ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง ทางด้านวิชาการ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์และโบราณคดี เนื่องจากในสมัยโบราณการจดบันทึกเรื่องราว หรือเหตุการณ์ต่างๆ มักไม่นิยมบันทึกไว้ เป็นผลให้ข้อมูลทางด้านประวัติศาสตร์คลาดเคลื่อน ซึ่งนักประวัติศาสตร์โบราณคดีต้องใช้การสันนิษฐานอยู่เสมอ และเมื่อปรากฏหลักฐานอื่นๆ มาลบล้างข้อสันนิษฐานได้ ก็จะเกิดทฤษฎีและข้อสันนิษฐานใหม่ๆ อีกต่อไป จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี จึงมีประโยชน์ในการรักษาข้อมูลที่ถูกต้อง และสามารถสอบค้นข้อเท็จจริงจากเหตุการณ์นั้นๆ ได้ จดหมายเหตุฉบับนี้จัดว่าเป็นข้อมูลชั้นต้น เป็นสิ่งที่ผู้จดบันทึกพบเห็นเหตุการณ์ด้วยตนเอง ประกอบทั้งพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงนรินทรเทวี ทรงเป็นผู้มีความจำเป็นเลิศ จึงทำให้ข้อมูลเป็นประโยชน์อย่างมากต่อวิชาการในปัจจุบัน ดังพระบรมราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กล่าวไว้ใน “คำบรรยาย
ความเห็นและความคิดที่จะเรียบเรียงหนังสือนี้’’ เป็นข้อสนับสนุนว่าพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนรินทรเทวี ทรงมีความจำดีมาก

“แต่ถึงดังนั้น ควรจะเห็นเป็นอัศจรรย์ในความทรงจำของท่าน หรือถ้าหากว่าจะเป็นเหตุให้มีผู้สงสัยความทรงจำ จะได้ถึงเพียงนี้ทีเดียวหรือ ข้าพเจ้าขอยืนยันว่า ข้าพเจ้าเคยเห็นเจ้านายฝ่ายในที่ทรงแม่นยำเช่นนี้หลายพระองค์ แต่ไม่ยิ่งกว่า และไม่สิ้นพระชนม์ ภายหลังที่สุด เช่น พระเจ้าอัยยิกาเธอ กรมหลวงวรเสรฐสุดา อันสิ้นพระชนม์แล้วได้ ๘ เดือนนี้ทรงจำแม่นจนกระทั่งวันเดือนปีอันเกิดเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งทั่วไปทุกสิ่งลักษณะ ความจำเช่นนี้อย่างเดียวกับพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งจะอ้างให้เห็นได้ว่า ในจดหมายหลวงอุดมสมบัติ ความที่ทรงจำวันคืนแม่นก็ปรากฏอยู่ฉะนี้ จึงเห็นได้ว่า กรมหลวงนรินทรเทวีนี้ความทรงจำของท่านคงเป็นลักษณะเดียวกันกับกรมหลวงวรเสรฐสุดา

ส่วนข้อความที่จดนั้น ท่านได้เปรียบอย่างหนึ่ง เพราะท่านมีพระสามีอาจจะรู้ราชการจากทางนั้นได้ แต่ก็ปรากฏว่าถ้าเป็นการแผ่นดินแท้เช่นการทัพศึก ท่านเห็นเกินความสามารถที่ท่านจะพรรณนาให้ถูกต้องได้ ได้ว่าความรวบเข้าเป็นหมวดๆ พอให้รู้เหตุการณ์ ถ้าเป็นเรื่องราวซึ่งออกจะปกปิดกันในเวลานั้น หรือเรื่องราวซึ่งท่านเห็นไม่สู้เป็นพระเกียรติยศ ท่านได้จดลงไว้แต่ย่อพอเป็นเครื่องสังเกตข้อที่ท่านจดลงพิสดารกว่าที่อื่น ล้วนเป็นเรื่องที่ท่านพอพระทัย แต่เมื่ออ่านทั้งหมดแล้ว จะเห็นได้ว่าพระญาณของท่านในทางทรงจำและความพอพระทัย เข้าพระทัยในเหตุการณ์สูงอยู่กว่าคนแก่สามัญเป็นอันมาก”

จึงอาจกล่าวได้ว่านอกจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนรินทรเทวี จะดำรงพระอิสริยยศเป็นพระราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายในที่เคารพยกย่องแห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์แล้ว ยังอาจถือได้ว่าเป็นบุคคลสำคัญของชาติในการสร้างสรรค์งานวิชาการอีกด้วย

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: เบญจมาส แพทอง