พระวิสุทธิกษัตรี

Socail Like & Share

ในสมัยอยุธยา พระวิสุทธิกษัตรี เป็นพระราชวงศ์ฝ่ายในที่สำคัญยิ่งพระองค์หนึ่ง ทรงสืบเชื้อสายมาจากวีรกษัตรีผู้ยิ่งใหญ่ คือ สมเด็จพระสุริโยทัย ทรงเป็นพระราชมารดาของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ วีรกษัตริย์ผู้กอบกอบกู้เอกราชของชาติ สมัยที่เสียกรุงศรีอยุธยาเป็นครั้งแรกพระวิสุทธิกษัตรี

พระวิสุทธิกษัตรี เป็นพระราชธิดาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิกับสมเด็จพระสุริโยทัย มีพระนามเดิมว่า พระสวัสดิราช วันประสูติและวันสิ้นพระชนม์ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์วินิจฉัยไว้ว่า

“สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ มีลูกเธอหลายพระองค์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเกิดด้วยสมเด็จพระสุริโยทัยพระอัครมเหสี ๕ พระองค์ๆ ชาย ๒ คือ พระราเมศวร เป็นราชโอรสพระองค์ใหญ่๑ พระมหินทร๑ พระองค์หญิง ๓ คือ พระสวัสดิราช ที่ประทานนามว่า พระวิสุทธิกษัตรีย์ เมื่ออภิเษกกับพระมหาธรรมราชาที่ ๑ พระราชบุตรีไม่ปรากฏพระนาม พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐว่าไปเสียพระชนม์ในกลางศึกคราวเดียวกับสมเด็จพระสุริโยทัย ๑ พระเทพกษัตรีซึ่งส่งไปประทานพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต(ไชยเชษฐา) และพระเจ้าหงสาวดีมาแย่งไป ๑ ลูกเธอเกิดด้วยพระสนมปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารพระองค์หญิง ๔ คือ ที่ประทานเจ้าพระยานครศรีธรรมราช ๑ เจ้าพระยามหาเสนา ๑ เจ้าพระยามหาเทพ ๑(๒ องค์ หรือทั้ง ๓ องค์นี้ ข้าพเจ้าสงสัยว่าที่จริงจะไม่มี ผู้แต่งหนังสือพระราชพงศาวดารจะว่าเลยไปจึงไม่ปรากฏพระนาม) กับพระแก้วฟ้าที่ประทานพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตแทนพระเทพกษัตรีย์ ๑ ยังพระศรีเสาวราชอีกพระองค์ ๑ ที่สมเด็จพระมหินทราธิราชให้สำเร็จโทษเสีย เมื่อจวนจะเสียกรุงแก่พระเจ้าหงสาวดี ความที่กล่าวในฉบับหลวงประเสริฐ ทำให้เข้าใจว่าเป็นราชบุตรสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เห็นจะเป็นลูกพระสนมอีกพระองค์ ๑”

เกี่ยวกับพระวิสุทธิกษัตรี มีเรื่องราวปรากฏเมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงยอมรับคำกราบบังคมทูลเชิญให้เสด็จขึ้นครองราชย์ เพราะหลังจากที่สมเด็จพระไชยราชาธิราชเสด็จสวรรคต บ้านเมืองก็ระส่ำระสายเมื่อขุนวรวงศาธิราช และท้าวศรีสุดาจันทร์ยึดอำนาจการปกครองไว้ มีขุนนางที่นำโดยขุนพิเรนทรเทพ ได้วางแผนกำจัดได้สำเร็จ แล้วกราบบังคมทูลเชิญพระเทียรราชาปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เมื่อได้ขึ้นครองราชย์แล้ว ก็โปรดให้บำเหน็จความชอบแก่ขุนนางกลุ่มนี้ โดยมีบันทึกในพระราชพงศาวดารว่า

“คนสี่คนนี้เอาชีวิตและโคตรแลกความชอบไว้ในแผ่นดิน แล้วตรัสว่าขุนพิเรนทรเทพเล่า บิดาเป็นพระราชวงศ์พระร่วง มารดาไซร้เป็นพระราชวงศ์แห่งสมเด็จพระไชยราชาธิราชเจ้า ขุนพิเรนทรเทพปฐมคิด เอาเป็นสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า ให้รับพระบัณฑูรครองเมืองพระพิษณุโลก จึงตรัสเรียก สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระสวัสดิราช ถวายพระนามพระวิสุทธิกษัตรี เป็นตำแหน่งพระอัครมเหสีเมืองพระพิษณุโลก พระราชทานเครื่องราชาบริโภค ให้ตำแหน่งศักดิ์ฝ่ายทหารพลเรือนเรือชัยพื้นดำพื้นแดงคู่หนึ่ง และเครื่องราชกกุธภัณฑ์ให้สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าทรงขึ้นไป เอาขุนอินทรเทพเป็นเจ้าพระยาศรีธรรมโศกราช ครองเมืองนครศรีธรรมราช พระราชทานลูกพระสนมเอกองค์หนึ่ง เจียดทองคู่หนึ่ง พานทองหนึ่งคู่ เต้าน้ำทอง กระบี่กั้นหยั่น เสลี่ยงงา เสลี่ยงกลีบบัว เครื่องสูงพร้อม เอาหลวงศรียศเป็นเจ้าพระยามหาเสนาบดี เอาหมื่นราชเสน่หาเป็นเจ้าพระยามหาเทพ พระราชทานลูกพระสนมและเครื่องสูง เครื่องทอง เสลี่ยงงา เสลี่ยงกลีบบัว แก่เจ้าพระยามหาเสนา เจ้าพระยามหาเทพเหมือนกันกับเจ้าพระยาศรีธรรมโศกราช หมื่นราชเสน่หา นอกราชการที่ยิงมหาอุปราชตกช้างตายนั้น ปูนบำเหน็จให้เป็นพระยาภักดีนุชิต พระราชทานเจียดทองซ้ายขวา กระบี่บั้งทอง เต้าน้ำทอง พระราชทานลูกพระสนมเป็นภรรยา ฝ่ายพระยาพิชัย พระยาสวรรคโลกนั้น พระราชทานบำเหน็จให้เป็นเจ้าพระยาพิชัย เจ้าพระยาสวรรคโลก พระราชทานเจียดทองซ้ายขวา กระบี่บั้งทอง เต้าน้ำทอง พระหลวงขุนหมื่นนั้น พระราชทานบำเหน็จความชอบโดยอนุกรมลำดับแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสสาบานไว้ว่า กษัตริย์พระองค์ใดได้ครองพิภพไปภายหน้าอย่าให้กระทำร้ายแก่ญาติพี่น้องพวกพงศ์สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าและเจ้าพระยาศรีธรรมโศกราช และเจ้าพระยามหาเสนา และเจ้าพระยามหาเทพ ให้โลหิตตกลงในแผ่นดิน ถ้ากษัตริย์พระองค์ใดมิได้กระทำตามคำเราสาบานไว้ อย่าให้กษัตริย์พระองค์นั้นคงอยู่ในเศวตฉัตร”

ความสำคัญของขุนพิเรนทรเทพที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงตระหนักถึง จึงได้ทรงสถาปนาให้เป็นเจ้า เชื่อมสายสัมพันธ์ดังเครือญาติ โดยพระราชทานพระวิสุทธิกษัตรีให้เป็นพระอัครมเหสี และให้ครองเมืองพิษณุโลกที่เป็นเมืองหน้าด่านสำคัญ ในขณะนั้นกรุงศรีอยุธยาเริ่มได้รับผลกระทบจากการแผ่อำนาจของพระเจ้าตเบ็งชเวตี้กษัตริย์ของพม่า พระมหาธรรมราชาขึ้นครองเมืองพิษณุโลกยังไม่ถึงครึ่งปีก็เกิดศึกหงสาวดี ใน พ.ศ. ๒๐๙๒ พระเจ้าตเบ็งชเวตี้ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา เป็นศึกที่ทำให้เสียสมเด็จพระสุริโยทัย สมเด็จพระมหาจักรพรรดิรับสั่งให้พระมหาธรรมราชายกกองทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือลงมาตีโอบหลังข้าศึก ทำให้พระเจ้าตเบ็งชเวตี้กลัวรีบเลิกทัพกลับไป สมเด็จพระมหาจักรพรรดิก็ตรัสสั่งให้พระราเมศวร และพระมหาธรรมราชาตามไปตีข้าศึก แต่เสียทีถูกล้อมจับได้ทั้ง ๒ พระองค์ เพื่อไถ่องค์พระราเมศวรและพระมหาธรรมราชากลับมาทำให้สมเด็จพระมหาจักรพรรดิต้องยอมเลิกรบ หลังจากนั้นก็ว่างศึกจากหงสาวดีอยู่ถึง ๑๔ ปี จึงสันนิษฐานว่าในช่วงนี้ พระโอรสพระธิดาของพระมหาธรรมราชาและพระวิสุทธิกษัตรีเสด็จสมภพทั้ง ๓ พระองค์ โดยมีพระธิดาองค์โตคือ พระสุวรรณกัลยา หรือพระสุพรรณกัลยาณี ถัดมาคือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ ทั้ง ๓ พระองค์ล้วนทรงมีคุณูปการใหญ่หลวงต่อชาติไทยทั้งสิ้น

ทางพม่าได้เปลี่ยนแผ่นดินจากพระเจ้าตเบ็งชเวตี้มาเป็นพระเจ้าบุเรงนองในระหว่างที่ว่างศึก ๑๔ ปี ใน พ.ศ. ๒๑๐๖ ก็ได้ยกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาอีก โดยเข้าโจมตีหัวเมืองทางเหนือก่อนเข้ามาทางด่านแม่ละเมา ตีได้เมืองกำแพงเพชร สุโขทัย สวรรคโลก พิชัย ส่วนที่เมืองพิษณุโลกมีพระมหาธรรมราชาตั้งรับข้าศึกอยู่แข็งขัน พม่าไม่สามารถตีได้ แต่ก็ได้ล้อมเมืองอยู่จนหมดเสบียง ในขณะนั้นก็ยังเกิดไข้ทรพิษระบาดไปทั่ว พระมหาธรรมราชาจึงต้องยอมอ่อนน้อมต่อหงสาวดี มีบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารว่า

“เราเคยทัพกรุงเทพมหานครช้าพ้นกำหนดอยู่แล้วก็ไม่ยกขึ้นมา อันศึกพระเจ้าหงสาวดียกมาครั้งนี้เป็นอันมาก เสียงพลเสียงช้างเสียงม้าดังเกิดลมพยุใหญ่ เห็นเหลือกำลังเรานัก ถ้าเรามิออกไปพระเจ้าหงสาวดีก็จะให้ทหารเข้าหักเหยียบเอาเมือง สมณชีพราหมณ์อาณาประชาราษฎรจะมาถึงพินาศฉิบหายสิ้น ทั้งพระพุทธศาสนาก็จะเศร้าหมองดูมิควรเลย จำเราจะออกไป ถึงสมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชพระเจ้าช้างเผือก จะทรงพระพิโรธประการใดก็ดี ก็จะตายแต่ตัว จะแลกเอาชีวิตสัตว์ให้รอดไว้”

พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ให้พระมหาธรรมราชา และกรมการเมือง ทำสัตย์ว่าจะจงรักภักดีต่อหงสาวดี แล้วเกณฑ์ให้พระมหาธรรมราชากับพระยาสวรรคโลก และพระยาพิชัยอยู่ในกองทัพหลวง ยกลงไปตีกรุงศรีอยุธยา

ในสมัยโบราณ ธรรมเนียมการศึกและการปกครองบ้านเมืองหากใครมีกำลังเข้มแข็งกว่าก็จะสามารถครอบครองเมืองเล็กและพลเมืองได้ เมืองที่เล็กและมีกำลังน้อยกว่าก็ต้องยอมรับอำนาจนี้ แต่ถ้าเมื่อใดที่เมืองใหญ่อ่อนแอลง เมืองเล็กก็อาจแยกตัวเป็นอิสระได้ อย่างเช่นในกรณีของเมืองพิษณุโลกที่แม้ว่าพระมหาธรรมราชาจะมีความใกล้ชิดกับกรุงศรีอยุธยาสักเพียงใด ก็จำเป็นต้องยอมรับอำนาจของหงสาวดี และเมื่อพระเจ้าหงสาวดีมีรับสั่งให้ทำการใดก็ต้องทำให้ ซึ่งในเวลานี้พระวิสุทธิกษัตรีและพระโอรสธิดาก็ยังคงประทับอยู่ที่เมืองพิษณุโลก

กองทัพหงสาวดีได้ตั้งล้อมเมืองไว้ หลังจากตีป้อมที่อยู่รอบๆ พระนครศรีอยุธยาได้หมด พระเจ้าหงสาวดีมีพระราชสาส์นถึงสมเด็จพระมหาจักรพรรดิว่า จะสู้รบต่อไป หรือจะยอมเป็นมิตร เมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้ปรึกษากับพวกข้าราชการแล้วเห็นว่าไม่มีทางสู้ได้ จึงยอมเป็นมิตรเพื่อรักษาบ้านเมืองและพลเมืองเอาไว้ไม่ให้ถูกทำลาย ค่าไถ่เมืองที่พระเจ้าหงสาวดีทรงเรียกร้องก่อนจะเลิกทัพกลับไปมีหลายประการ ในพงศาวดารพม่าบันทึกไว้ว่า พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองทรงเชิญสมเด็จพระมหาจักรพรรดิไปเมืองหงสาวดีด้วย แต่หลักฐานของไทยกล่าวเพียงว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสด็จออกผนวช และมอบราชสมบัติให้สมเด็จพระมหินทราธิราช พระราชโอรส ครองกรุงศรีอยุธยาแทน และพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองยังได้ตรัสของพระนเรศวรพระโอรสของพระมหาธรรมราชาไปเป็นราชบุตรบุญธรรมด้วย เพื่อเป็นตัวประกันให้จงรักภักดีต่อหงสาวดีนั่นเอง

เหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้เกิดความบาดหมางระหว่างสมเด็จพระมหินทราธิราชและพระมหาธรรมราชา ทำให้พระมหาธรรมราชาใกล้ชิดกับหงสาวดีมากขึ้น จนได้รับการแต่งตั้งจากพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองให้เป็นเจ้าฟ้าศรีสรรเพชญ์ ประเทศราชเมืองเหนือทั้งหมดให้ขึ้นต่อกรุงหงสาวดี ไม่ต้องขึ้นกับสมเด็จพระมหินทราธิราชอีกต่อไป สมเด็จพระมหินทราธิราชจึงคิดจะปราบปรามและรวบรวมหัวเมืองเหนือให้อยู่ในอำนาจของอยุธยาดังเดิม โดยสนับสนุนให้พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชแห่งกรุงศรีสัตนาคนหุต เข้ามาตีพิษณุโลก พระมหาธรรมราชาจึงไปขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าหงสาววดีบุเรงนองที่กรุงหงสาวดี

เมื่อพระมหินทราธิราชเห็นว่าบ้านเมืองจะเข้าภาวะคับขันอีกครั้ง จึงกราบทูลเชิญให้สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงลาผนวช แล้วกลับมาครองราชย์อีกครั้ง และกราบทูลว่า

“พระมหาธรรมราชานี้ มิได้สวามิภักด์ต่อพระองค์แล้ว ไปใฝ่ฝากไมตรีแก่พระเจ้าหงสาวดีถ่ายเดียว จำจะยกทัพรีบขึ้นไปเชิญเสด็จพระเจ้าพี่นางกับราชนัดดาลงมาไว้ ณ พระนครศรีอยุธยา ถึงมาตรพระมหาธรรมราชาจะคิดประการใดก็จะเป็นห่วงอาลัยอยู่ อันพระมหาธรรมราชาเห็นจะไม่พ้นเงื้อมพระหัตถ์ สมเด็จพระราชบิดาก็เห็นด้วย จึงตรัสให้พระยารามอยู่จัดแจงรักษาพระนคร สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับพระมหินทรโอรสาธิราช ก็กรีธาพลเสด็จโดยชลมารคถึงเมืองพิษณุโลก ก็รับเสด็จพระวิสุทธิกษัตรีกับเอกาทศรถอันเป็นพระภาคิไนยราชและครัวอพยพข้าหลวงเดิมซึ่งให้ขึ้นมาแต่ก่อนนั้น แล้วสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวกับพระมหินทราธิราช ก็เสด็จล่องจากเมืองพิษณุโลกไปประทับยังเมืองนครสวรรค์”

ด้วยเหตุนี้พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองจึงได้ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาอีก ในพระราชพงศาวดารมีความว่า

“ฝ่ายข้าหลวงในเมืองพระพิษณุโลก ครั้นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิพระเจ้าช้างเผือก และสมเด็จพระมหินทราธิราช มานำพระวิสุทธิกษัตรีและเอกาทศรถกับครอบครัวอพยพข้าหลวงเดิมลงไปแล้ว ก็ขึ้นม้ารีบไปยังกรุงหงสาวดี กราบทูลแด่พระมหาธรรมราชาเจ้าทุกประการ พระมหาธรรมราชาได้แจ้งดังนั้น ก็ตกพระทัยจึงเข้าไปเฝ้าพระเจ้าหงสาวดี เอาเหตุซึ่งพระยารามกับสมเด็จพระมหินทราธิราชคิดการกันแต่ต้น จนมาหักหาญรับพระวิสุทธิกษัตรีลงไปกรุงพระมหานครศรีอยุธยานั้น ทูลแก่พระเจ้าหงสาวดีทุกประการ พระเจ้าหงสาวดีแจ้งเหตุดังนั้น ก็เคืองพระราชหฤทัย จึงตรัสแก่พระมหาธรรมราชาว่า ซึ่งกรุงพระมหานครเสียสัตยานุสัตย์กลับเป็นปรปักษ์ข้าศึกแก่พระเจ้าน้องเรานั้นจะละไว้มิได้ พระเจ้าน้องเราเร่งลงไปจัดแจงกองทัพทั้งเจ็ดเมืองเหนือและเสบียงอาหารไว้ให้สรรพ เดือน ๑๒ เราจะยกลงไป”
ศึกครั้งนี้ทำให้เสียกรุงศรีอยุธยาเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๑๑๒

สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงประชวรและสวรรคตในระหว่างการศึกครั้งนี้ ผู้ที่ขึ้นครองราชย์ต่อคือ สมเด็จพระมหินทราธิราช เมื่อเสียกรุงอีกพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองก็เชิญให้เสด็จไปประทับที่กรุงหงสาวดี ส่วนพระมหาธรรมราชาก็ทรงอภิเษกให้ครองกรุงศรีอยุธยา ทรงพระนามว่า สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๑ ในพงศาวดารเรียกตามพระนามก่อนว่า สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช แต่ไม่ปรากฏเรื่องราวเกี่ยวกับพระประวัติของพระวิสุทธิกษัตรีเพิ่มเติม มีแต่พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของพระราชโอรส คือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ ซึ่งเป็นผู้ที่กอบกู้เอกราชคืนมา ทำให้กรุงศรีอยุธยาเจริญมั่นคงต่อมาอีกยาวนาน

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: สุทธิพันธ์ ขุทรานนท์