เจ้าฟ้ากุลฑล

Socail Like & Share

ขัตติยนารีแห่งกรุงศรีอยุธยา ผู้ทรงพระปรีชาสามารถด้านกวีนิพนธ์
เจ้าฟ้ากุลฑล เป็นพระราชธิดาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (พ.ศ. ๒๒๗๕ – ๒๓๐๑) ประสูติจาก เจ้าฟ้าสังวาลย์ มีพระขนิษฐาพระองค์หนึ่ง พระนามว่า เจ้าฟ้ามงกุฎ

เป็นสมัยที่มีความเจริญรุ่งเรืองในด้านวรรณกรรม และศิลปะการละครมากในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เพราะทรงส่งเสริมทำนุบำรุงยิ่งกว่าในรัชกาลก่อนๆ ด้วยเหตุนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงทรงสันนิษฐานว่า พระราชธิดาทั้งสองพระองค์คือ เจ้าฟ้ากุลฑล และเจ้าฟ้ามงกุฎ น่าจะทรงมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการฝึกหัดควบคุมการซ้อมละครหลวงอย่างใดอย่างหนึ่งด้วย

เจ้าฟ้ากุลฑล มีบทบาทและความสำคัญปรากฏหลักฐานในฐานะกวีหญิงของราชสำนักฝ่ายใน โดยทรงพระนิพนธ์บทละครที่เกี่ยวข้องกับพงศาวดารชวาเรื่อง ‘อิเหนา’ ตามที่นางข้าหลวงชาวมลายู ซึ่งเป็นเชลยจากเมืองปัตตานี ได้เล่าถวายเจ้าฟ้าหญิงทั้งสองพระองค์ ในการนี้ เจ้าฟ้ากุลฑลได้ทรงพระนิพนธ์ บทละครเรื่อง ‘ดาหลัง’ ส่วนเจ้าฟ้ามงกุฎทรงพระนิพนธ์ บทละครเรื่อง “อิเหนา” และในเวลาต่อมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำพระนิพนธ์บทละครของพระราชธิดาทั้งสองพระองค์มาเล่นละครใน นิยมเรียกบทละครทั้งสองเรื่องว่า “อิเหนาใหญ่” และ “อิเหนาเล็ก” ตามลำดับ

อิเหนาเป็นตัวเอกของพงศาวดารชวา ซึ่งเป็นเรื่องที่ชาวชวาและมลายูนิยมนำมาเล่นหนัง หรือละคร บางแห่งเรียกว่า ละครแขก หรือหนังแขก ส่วนดาหลัง หมายถึง คนพากย์หนังของชวาซึ่งนั่งอยู่ด้านหลังจอ ทำหน้าที่เชิดตัวหนัง แล้วพากย์เป็นกาพย์กลอนบรรยายเรื่องให้คนฟัง

ต้นฉบับพระนิพนธ์บทละครเรื่อง ดาหลัง ของเจ้าฟ้ากุลฑลได้สูญหายกระจัดกระจายไปหมดแล้ว แต่ยังคงปรากฏพระเกียรติคุณของพระองค์สืบไป ดังปรากฏหลักฐานจากพระราชนิพนธ์บทละครเรื่อง อิเหนา ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ความว่า

อันอิเหนาเอามาทำเป็นคำร้อง สำหรับงานการฉลองกองกุศล
ครั้งกรุงเก่าเจ้าสตรีเธอนิพนธ์ แต่เรื่องต้นตกหายพลัดพรายไป
หากพระองค์ทรงพิภพปรารภเล่น ให้รำเต้นเล่นละครคิดกลอนใหม่
เติมแต้มต่อติดประดิษฐ์ไว้ บำรุงใจไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: อรวรรณ ทรัพย์พลอย