ม้าเซ็กเธาว์ของกวนอู

Socail Like & Share

ในหนังสือเรื่องสามก๊กของเราได้กล่าวถึงม้าของกวนอูไว้ว่าชื่อม้าเซ็กเธาว์ ความจริงคำว่าเซ็กเธาว์ก็เคลื่อนมาจากคำว่า สินธพนั่นเอง ม้าเซ็กเธาว์นั้นหนังสือสามก๊กได้พรรณนาคุณภาพไว้ว่า “มีฝีเท้าเดินทางได้วันละหมื่นเส้น ถ้าขึ้นเขาและข้ามน้ำก็เหมือนกับเดินที่ราบ” และม้าเซ็กเธาว์บอกลักษณะม้าเซ็กเธาว์ไว้ว่า “ขนนั้นแดงดังถ่านเพลิงทั่วทั้งตัว มิได้มีสิ่งใดแกมสูงสี่ศอกเศษ ได้ลักษณะเป็นม้าศึกเข้มแข็งกล้าหาญ” แต่บริวิตต์ เทเลอร์ ได้ทำเป็นคำโคลงกล่าวถึงม้าเซ็กเธาว์ไว้ ดังคำแปลที่มีผู้แปลไว้ว่า

“เจ้าม้าศึกผู้ระแวดระไวและมิรู้เหน็ดเหนื่อย

พึงดูจากฝุ่นที่ฟุ้งตลบเป็นกลุ่มเมฆด้วยแรงควบทะยานของมัน มันทั้งว่ายน้ำและบางครั้งก็ควบตะลุยขึ้นเนิน

วิ่งฝ่าไปในกลุ่มหมอกสีม่วง มันวิ่งลิ่วอย่างผยองมิพักต้องมีบังเหียนใช้บังคับ

คงเห็นแต่สายบังเหียนวามวาวสะบัดขึ้นลงอยู่แทบสองข้างหัว ช่างดูราวกับมังกรไฟที่ล่องลอยลงมาจากสวรรค์สูงสุดนั้นเทียว”

ม้าอีกตระกูลหนึ่งคือม้าอัศดร  ว่ากันว่าม้าอัศดรนี้เวลาจะคลอดต้องแหกท้องแม่ออกมา แม่ของม้าอัศดรนั้นเมื่อคลอดลูกออกมาแล้วก็ต้องตาย แต่ม้าอัศดรจะมีรูปร่างอย่างไรก็ไม่ทราบเหมือนกัน

เมื่อพูดถึงตระกูลของม้าแล้ว ก็อดที่จะนึกถึงม้าอีกตระกูลหนึ่งไม่ได้ นั้นคือม้าแกลบ ซึ่งเป็นม้าไทยตระกูลหนึ่ง เป็นม้าขนาดเล็ก พวกข้าราชการที่ไม่จบจากเมืองนอกมักจะเรียกตัวเองว่า พวกม้าแกลบ มันจะสู้พวกม้าเทศคือพวกนักเรียนนอกไม่ได้ เพราะนักเรียนนอกก้าวหน้ากว่านักเรียนใน เหมือนม้าเทศวิ่งเร็วกว่าม้าแกลบฉะนั้น แต่อย่างไรก็ตามจะเป็นม้าเทศหรือม้าไทยก็เป็นม้าเหมือนกันทั้งนั้น ม้าไทยนั้นถึงจะวิ่งช้าแต่ก็อดทนวิ่งจนถึงจุดหมายเหมือนกัน เว้นแต่บางตัวถ้าคนขี่ไม่ชำนาญม้าไทยหรือม้าแกลบก็พากลับหลังอยู่ท่าเดียว

เมื่อพูดถึงม้า เราผู้เป็นพุทธศาสนิกชน ก็อดนึกถึงม้าในพุทธประวัติไม่ได้นั้นคือ ม้ากัณฐกะ ซึ่งเป็นม้าทรงของสิทธัตถะกุมาร เมื่อคราวออกผนวช หรือเป็นม้าทรงของพระพุทธเจ้านั้นเอง หนังสือปฐมสมโพธิกถา ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสทรงพระนิพนธ์ เรียกม้ากัณฐกะว่า “พญาม้ากัณฐกะอัศวราช” และพรรณนารูปร่างลักษณะของพญาม้าไว้ว่าใหญ่โต ล่ำสัน แข็งแรง วัดจากส่วนคอถึงท้ายมีความยาวถึง ๑๘ ศอก สูงเหมาะสมกับส่วนยาวของร่างกาย มีลักษณะที่สวยงามเป็นพิเศษคือ “สีขาวบริสุทธิ์ดุจสังข์อันขัดใหม่ ศีรษะนั้นดำดุจสีแห่งกามีเกศาในประมุขประเทศขาวผ่องดุจไส้หญ้าปล้องอันงามสะอาด” และม้ากัณฐกะนี้เกิดในวันที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูติ จึงเป็นสหชาติและเป็นราชพาหนะคู่พระบารมี

ในหนังสือเรื่องประวัติพระพุทธเจ้า ซึ่งนาง แอล อดัมส์ เบ็คก์ ชาวอังกฤษแต่งไว้ และอาษาขอจิตต์เมตต์ แปล ก็ได้พรรณนาลักษณะของม้ากัณฐกะไว้ว่า “ม้ากัณฐกะตัวนี้เป็นม้าตระกูลสูงเยี่ยม รูปร่างสง่างาม หางเป็นพวงพลิ้ว หลังกว้าง หน้าผากใหญ่ รูจมูกกลม และมีลักษณะคล้ายคลึงกับเล็บของมัน”

ม้ากัณฐกะคงเป็นม้าที่แสนรู้ เพราะเมื่อพระโพธิสัตว์จะขึ้นประทับบนหลังม้าตอนที่จะออกมหาพิเนษกรมณ์ หรือออกผนวช พระโพธิสัตว์ได้ตรัสว่า “ดูก่อนพ่อกัณฐกะมโนมัย ท่านจงพาอาตมาไปให้ตลอดในราตรีเดี๋ยวนี้ อาตมาจะได้ตรัสรู้เป็นองค์สรรเพ็ชญ์พุทธเจ้า จะได้ขนข้ามเวไนยสัตว์ทั้งมนุษย์โลกกับทั้งเทวโลก ให้พ้นจากจตุโอฆสงสารบรรลุถึงฝั่งปรินิพพานในครั้งนี้” แล้วพระองค์ก็เสด็จประทับบนหลังม้าพระที่นั่ง มีนายฉันนะมหาดเล็กคนสนิทยึดหางม้าตามไปด้วย ราตรีเดียวก็ผ่านกรุงกบิลพัสดุ์ เมืองสาวัตถี และเมืองเวลาลี นับเป็นระยะทางถึง ๓๐ โยชน์ ถึงฝั่งแม่น้ำอโนมา ณ ที่นี้ พระโพธิสัตว์ได้เปลื้องเครื่องทรงสำหรับกษัตริย์ออกมอบให้นายฉันนะ พระองค์ตัดพระเมาลีถือเพศเป็นนักบวช ฝ่ายฉันนะนำเครื่องทรงและจูงม้ากัณฐกะกลับ แต่ม้ากัณฐกะตายเสียเพราะความเศร้าโศกเสียใจ ด้วยพลัดพรากจากเจ้าของ หนังสือปฐมโพธิกถาพรรณนาความตอนนี้ไว้ว่า “ม้านั้นก็หันหน้ากลับมาดูพระพักตร์เพ่งพิศจนลับเนตรพ้นเขตทัศนวิสัย มิได้วายอาลัยในพระมหาบุรุษราช มีศออันเหือดแห้งขาดเขฬะความโศกปะทะปิดทางอัสสาสะ เดินไปหน่อยหนึ่งดวงหฤทัยก็ทำลายออกเป็น ๗ ภาค กระทำกาลกิริยาล้มลงในมัคคันตรวิถี” นี้เป็นประวัติของม้าทรงของพระพุทธเจ้า เมื่อช่างจะสร้างพระพุทธรูปตอนพระพุทธองค์ออกผนวช เขาจะเขียนเป็นพระพุทธรูป มีม้ากัณฐกะอยู่ข้างหนึ่ง มีนายฉันนะอยู่ข้างหนึ่ง เป็นเครื่องหมายว่าออกผนวช ยิ่งกว่านั้น ผู้ที่จะบวชสมัยนี้ยังนิยมขี่ม้าแห่นาคจากบ้านไปวัดด้วย ทำคล้ายกับว่าประวัติตอนพระพุทธเจ้าออกผนวชฉะนั้น

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี