ม้าเจ็ดหมู่หรือเจ็ดตระกูล

Socail Like & Share

ม้าเป็นสัตว์สี่เท้าชนิดหนึ่งอยู่ในจำพวกสัตว์มีกีบทึบมีขนคอยาว  ใช้เป็นพาหนะขับขี่และเทียมรถเห็นกันอยู่ทั่วไป บางประเทศก็ใช้ม้าเทียมไถนา แต่ก็มีน้อยเต็มที ส่วนใหญ่จะใช้ขี่และเทียมรถม้า

ม้าเป็นสัตว์ที่มีฝีเท้าวิ่งได้รวดเร็วและอดทน ฝึกง่าย คำที่ใช้เรียกม้ามีอยู่หลายคำ ส่วนใหญ่มีความหมายว่ารู้ง่ายและไปได้เร็ว เช่น พาชี อัศวา อาชา อาชาไนย ว่ารู้ได้รวดเร็ว มโนมัย สำเร็จดังใจ เป็นต้น

ม้าคงจะเป็นสัตว์ที่มนุษย์เราใช้เป็นพาหนะมาแต่โบราณ เพราะเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ง่าย และรู้ใจเจ้าของ ม้าจึงเป็นสัตว์พาหนะที่จัดเข้าเป็นกองทัพในสมัยก่อน เรียกว่าทัพม้าหรืออัศวานิก นับเป็นกองทัพสำคัญ เพราะเคลื่อนที่ได้รวดเร็ว อย่างคราวหนึ่งสมัยกรุงศรีอยุธยาของเรา เมื่อครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชยังทรงดำรงพระอิศริยยศเป็นมหาอุปราชกำลังเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชบิดาอยู่ ได้ข่าวว่าข้าศึกเข้ามายึดเมืองนครราชสีมา พระองค์จึงพร้อมด้วยเหล่าทหารหนุ่มคู่พระทัย นำทัพม้าจากกรุงศรีอยุธยามาตีข้าศึกที่เมืองนครราชสีมา ภายในสองวันเท่านั้น แทนที่จะเป็นหลายวันดังข้าศึกคาดหมาย เป็นเหตุให้ข้าศึกพ่ายไปเพราะไม่ทันตั้งตัว

กองทัพม้าของไทยมีชื่อมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แม้ว่าม้าไทยจะมีขนาดเล็กแต่ก็อดทน ม้าไทยนั้นมีหลายสี อย่างที่พรรณนาไว้ในหนังสือลิลิตตะเลงพ่ายว่า

“ส่ำแสะหาญห้าวฮึก ล้วนแสะศึกแสะทรง พงศ์สินธพพาชี สีแดงดำขำเขียว ลางกะเลียวหลายหลาก มากม้าผ่านม้าแซม แกมม้าขาวม้าฟ่าย รายเรียงเคียงแข่งคู่ ครบเจ็ดหมู่เจ็ดพงศ์” (แสะ เป็นภาษาเขมรแปลว่า ม้า) ตามลิลิตตะเลงพ่ายนี้แยกม้าออกเป็นเจ็ดหมู่หรือเจ็ดตระกูล คือ ม้าแดงดำเขียว กะเลียว ผ่านแซม ขาว และฟ่ายสีอื่นๆ เห็นจะพอเข้าใจกันได้ทั่วไป เว้นแต่สีกะเลียว และสีฟ่ายออกจะเข้าใจยาก สีกะเลียวนั้นพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายไว้ว่า สีเขียวอมดำ แต่บางท่านว่าสีลานทั้งตัว ส่วนม้าฟ่ายคือม้สีเทานั่นเอง

เมื่อพูดถึงทัพม้าแล้วก็อดนึกถึงทัพม้าของ เจงกิสข่าน นักรบชาวมองโกลไม่ได้เพราะเจงกิสข่านมีทัพม้าอันเกรียงไกรคือมีทหารม้าถึง ๗๐๐,๐๐๐ คน บุกเข้าไปในเมืองจีน และรัสเซีย ทหารของเจงกิสข่านล้วยแต่ชำนาญม้าทั้งสิ้น แทบจะว่ากินนอนบนหลังม้าก็ได้ เจงกิสข่านมีชื่อเสียงก้องโลกก็เพราะกองทัพม้านี้เอง

สำหรับเมืองไทยเราก็ได้ใช้ม้าออกสงครามมานานแล้ว และคนไทยเรามีความชำนาญในการดูม้ามาก จนถึงสร้างตำราไว้เป็นหลักฐาน กองทัพม้าของเราที่เริ่มฝึกตามแบบยุโรป เพิ่งมีขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และตลอดมาจนบัดนี้

ม้าคงเป็นพาหนะและเป็นเพื่อนของมนุษย์เรามาแต่โบราณ เพราะตามศิลาจารึกและหินสลักต่างๆ ที่มีอายุประมาณ ๓๐๐๐ ปีก่อนคริสต์กาลมีเรื่องเกี่ยวกับม้าและภาพม้าอยู่แล้ว

กำเนิดของม้าตามความเชื่อถือของคนอินเดียกล่าวไว้ว่า “พระพายเทพบุตรได้บันดาลให้เกิดอัศวราชคือม้า ๔ ตระกูลขึ้น คือ ตระกูลชื่อ วลาหก ๑ อาชาไนย ๑ สินธพมโนมัย ๑ และอัศดร ๑

ม้าพลาหกจะมีลักษณะอย่างไรนั้น เราทุกวันนี้คงจะมีน้อยคนนักที่จะบอกได้ แต่ตามตำราม้าของไทยเราอธิบายไว้ว่า

“ศรีเหลืองศรีเลื่อมแท้        เทียมสุวรรณ
แปรงและหูหางพรรณ        เศวตแพร้ว
ปากแดงดังชาดอัน        ทาทาบ
บัวหน้าศุภลักษณ์แกล้ว    กาจล้ำเดชขจร

ราตรียามเมื่อม้า            หลับใหล
มักละเมอหมายใจ        เรียกร้อง
เพราะเห็นเพื่อนมาใน        อากาศ
ถือชาติพลาหกต้อง        ประเสริฐแท้ภูลผล

ม้าอย่างนี้ เราจะหาดูได้ที่ไหน เห็นจะไม่มีใครบอกได้

ม้าอาชาไนยนั้นจะเป็นม้าชนิดไหนไม่ทราบ แต่ตามตัวอักษรแปลว่าสำเร็จด้วยใจหรือดังใจดังได้กล่าวมาแล้ว เห็นจะหมายถึงม้าที่มีลักษณะดี ฝึกง่าย ฝีเท้าจัด อันมีลักษณะดีนั้น ในหนังสือพระนลคำฉันท์ได้กล่าวไว้ตอนที่พระนลได้ทูลลักษณะของม้าดีให้ท้าวฤตุบรรณผู้ชำนาญแต่ทรงสกาแต่ไม่ประสีประสาเรื่องม้าว่า

“ขวัญหนึ่ง ณ หน้าผาก        ดังแบบบุราณมา
สองขวัญ ณ อกปรา-            กฎแท้บ่แปรผัน
สองขวัญ ณ หัวม้า            ผิวหาจะเห็นสำคัญ
สีข้างก็สี่ขวัญ                หยข้างละสองละสอง

ขวัญหนึ่ง ณ หลังม้า        ดุจข้าทำนูลลบอง
สิบขวัญสำคัญปอง        จิตพบก็สบประสงค์”

ม้าสินธพมโนมัยนั้น คือม้าที่เกิดจากกลุ่มน้ำสินธูในประเทศอินเดีย เป็นม้าขนาดใหญ่อย่างที่เราเรียกว่าม้าเทศ

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี