กฎหมายตราสามดวงว่าด้วยตำแหน่งนาของพลเรือ

Socail Like & Share

สำเภานั้นเป็นเรือเดินทะเลขนาดใหญ่แบบจีน จึงควรจะเข้าใจว่าจีนนั้นเป็นนักการค้าและนักเดินเรือมาแต่โบราณ จึงมีความคิดที่จะต่อเรือขนาดใหญ่ขึ้นมาใช้นานมาแล้ว เพราะเรือสำเภาของจีนนั้น เดินทางจากประเทศจีนไปชะวา ตลอดไปถึงประเทศอินเดีย สำหรับประเทศสำเภาจีนไทยนั้น สำเภาจีนไปมาค้าขายอยู่เป็นปกติ จนชนชาวจีนมีตำแหน่งสำคัญๆ ในกรมท่า เพราะเป็นผู้ชำนาญในการเดินเรือนั่นเอง

เรือเดินทะเลขนาดใหญ่อีกชนิดหนึ่ง เป็นเรือใบแบบตะวันตก เรียกกันว่าเรือกำปั่น ดังนั้นถ้าพูดถึงคำว่าสำเภาก็หมายความถึงเรือเดินทะเลขนาดใหญ่แบบจีน ถ้าพูดถึงเรือเดินทะเลแบบตะวันตกจึงเรียกว่ากำปั่น เรือกำปั่นคงจะเข้ามาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาและคงจะใช้สะดวกกว่าเรือสำเภาของจีน สำเภาแบบจีนจึงนับวันแต่จะหาดูได้ยากยิ่งขึ้น สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงโปรดฯ ให้ทำสำเภาจำลองไว้ที่วัดยานนาวาลำหนึ่ง ดังปรากฏในพงศาวดารว่า “วัดคอกกระบือนั้น ให้ทำสำเภาด้วยเครื่องก่อไว้หลังพระอุโบสถลำ ๑ ยาว ๑ เส้น ด้วยทรงเห็นว่านานไปจะไม่มีผู้เห็นสำเภาจึงให้ทำขึ้นไว้เป็นสำเภาโลกอุดรพระราชทานชื่อว่า “วัดยานนาวา” ดังนี้

สำเภาหรือกำปั่นนั้น คงเป็นพาหนะติดต่อค้าขายสำคัญมาก และการค้าขายก็เป็นทางหนึ่งที่ทำรายได้ให้บ้านเมือง ทางรัฐบาลสมัยก่อนจึงต้องทำการค้าขายเองด้วย และในการค้าขายนั้น ต้องมีเจ้าหน้าที่ของหลวงไปติดต่อค้าขายกับต่างประเทศเองบ้าง หลวงตั้งคลังสินค้าขายส่งที่ในประเทศบ้าง ผู้ที่ติดต่อค้าขายนั้นสังกัดอยู่กรมท่า ก็คือกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์ในบัดนี้รวมกันนั่นเอง

พวกเจ้าหน้าที่ ซึ่งประจำเรือค้าของหลวงนั้น ถือศักดินากันทุกคนตั้งแต่นายเรือลงมาปรากฏในกฎหมายตราสามดวงที่ว่าด้วยตำแหน่งนาพลเรือดังนี้

“นายเรือปาก ๔ วาขึ้นไป นา ๔๐๐ นายเรือปากกว้าง ๓ วาเศษ นา ๒๐๐ จุ่นจู่ นายสำเภา นา ๔๐๐ ต้นหน ดูทาง ล้าต้า บาญชียใหญ่ ประจำสำเภาใหญ่นา ๒๐๐ สำเภา น้อยนา ๑๐๐ ปั๋นจู ซ่อมแปลงสำเภา และใต้ก๋ง นายท้าย ซ้าย ขวา ๒ นาย นาคนละ ๘๐ ซินเตงเถา ซ้ายขวา ๒ บาญชียกลาง อาปั๋น กระโดงกลาง จงกว้า ใช้คนทั้งนั้น เต๊กข้อ ได้ว่าระวางบรรทุก อากึ่ง ช่างไม้สำเภา นา ๕๐ เอียวก๋ง บูชาพระ ตั้งเลียวว่าสายเลียวกับเสาท้าย สำปั๊นกับเสาหน้า ขมภู่ (เข้าใจว่าเป็นคนครัว) เท่าเต้ง ว่าสมอ ฮู้เตี้ยว ทองดิ่ง นาคนละ ๓๐ อิดเซี่ยร ยี่เซี่ยร สามเซี่ยร (เข้าใจว่ามีหน้าที่ลดใบ) จับกะเถา กวาดสำเภา เบ๊ยปั๊น จ่ายกับข้าว ซินเต๋ง ๑๘ คน ทนายจุ่นจู๊ ล้าต้า ปั๋นจู นายรอง ๗ คน ได้ระวางคนละ ๑๖ นาคนละ ๒๕” สำเภาลำหนึ่งๆ มีเจ้าหน้าที่เกือบ ๕๐ คนนี้นับว่าเป็นอย่างน้อย

การแต่งสำเภาของหลวงไปค้าขายต่างประเทศนั้นน่าจะมีมาจนกระทั่งรัชกาลที่ ๕ จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแบบปัจจุบันขึ้น เข้าใจว่าการค้าขายคงจะปล่อยให้เอกชนทำไปฝ่ายเดียว โดยฝ่ายรัฐบาลเพียงแต่คอยควบคุมและเก็บภาษีอากรเท่านั้น

เรื่องเรือสำเภานี้เข้าใจว่า เป็นเรือที่กว้างขวางสบาย เหมาะที่จะเป็นเรือโดยสารไปไหนๆ ด้วย สุนทรภู่ จึงให้ท้าวสิลราชนำนางสุวรรณมาลีราชธิดาประพาสทะเลโดยเรือสำเภาดังคำกลอนตอนนี้ว่า

“ฝ่ายองค์ท้าวสิลราชไสยาสน์ตื่น    สำราญรื่นแต่งองค์ทรงภูษา
ชวนบุตรีลีลาสลงเภตรา        พร้อมบรรดาสาวสุรางค์นางกำนัล
พระทรงนั่งยังแท่นท้ายบาหลี    ฝูงนารีแซ่ซร้องอยู่ห้องกั้น
เหล่าล้าต้าต้นหนคนทั้งนั้น        เร่งให้ขันกว้านโห่โล้สำเภา
ทั้งหน้าหลังดั้งกันลั่นม้าล่อ        แล้วขันช่อชักใบขึ้นใส่เสา
พอออกอ่าวลมอุตรามาเพลาเพลา    แล่นสำเภาผางผางมากลางชล”

เรือสำเภามีที่เด่นอยู่ก็เห็นจะเป็นห้องท้ายบาหลี หรือห้องท้ายเรือนั่นเอง เพราะเป็นที่อยู่สบายที่สุด และท้ายบาหลีของเรือสำเภานี้อยู่สูงมองเห็นได้ไกลกว่าส่วนอื่นของเรือ

เมื่อพูดถึงสำเภาของจีนแล้ว ก็อดที่จะพูดถึงกำปั่นอีกไม่ได้ เพราะท่านสุนทรภู่ได้กล่าวถึงกำปั่นไว้ด้วย แสดงให้เห็นว่าสำเภากับกำปั่นนั้น แตกต่างกันอย่างไร ท่านสุนทรภู่กล่าวถึงกำปั่นขนาดใหญ่ ซึ่งสมัยนี้ก็ยากที่จะมีเช่นนั้นได้ คือกำปั่นของโจรสลัดชาติอังกฤษ ดังคำกลอนในหนังสือพระอภัยมณีตอนนี้ว่า

“จะกล่าวฝ่ายนายโจรใจฉกาจ    เป็นเชื้อชาติอังกฤษริษยา
คุมสลัดอัศตันวิลันดา            เป็นโจรห้าหมื่นพื้นทมิฬ
มีกำปั่นยาวยี่สิบเส้น            กระทำเป็นตึกกว้านสถานถิ่น

หมากมะพร้าวส้มสูกปลูกไว้กิน    ไม่รู้สิ้นเอมโอชโภชนา
เลี้ยงทั้งแพะแกะไก่สุกรห่าน        คชสารม้ามิ่งมหิงษา
มีกำปั่นห้าร้อยลอยล้อมมา        เครื่องศัสตราสำหรับรบครบทุกลำ”

คนในสมัยท่านสุนทรภู่อ่านคำกลอนตอนนี้แล้ว คงจะไม่มีใครเชื่อว่าจะมีเรือขนาดใหญ่อย่างที่ท่านสุนทรภู่ว่าไว้เป็นแน่ แต่สมัยนี้เรือโดยสารขนาดใหญ่ที่จุคนได้หลายพันคนมีสนามฟุตบอล มีโรงภาพยนตร์ มีสระว่ายน้ำ และมีร้านขายของเหมือนเมืองย่อมๆ นั้นเป็นสิ่งที่เราไม่เห็นแปลกเสียแล้ว นับว่าท่านสุนทรภู่มีจินตนาการคาดการณ์ล่วงหน้าได้นับเป็นร้อยปีทีเดียว ยิ่งกว่านั้น สำเภายนต์ของท่านสุนทรภู่ยังแล่นได้ทั้งในน้ำบนบกก็มีเสียอีกด้วย ดังปรากฏคำกลอนในหนังสือเรื่องพระอภัยมณีตอนที่กล่าวถึงสำเภายนต์ของพราหมณ์สามคนว่า

“จะจับบทบุตรพราหมณ์สามมานพ    ได้มาพบคบกันเล่นเป็นสหาย
คนหนึ่งชื่อโมราปรีชาชาย            มีแยบคายชำนาญในการกล
เอาฟางหญ้ามาผูกสำเภาได้            แล้วแล่นไปในจังหวัดไม่ขัดสน
คนหนึ่งมีวิชาชื่อสานน                ร้องเรียกฝนลมได้ดังใจจง
คนหนึ่งนั้นมีนามพราหมณ์วิเชียร        เที่ยวร่ำเรียนสงครามตามประสงค์
ถือธนูสู้ศึกนึกทะนง                หมายจะปลงชีวาปัจจามิตร
ธนูนั้นลั่นทีละเจ็ดลูก            หมายให้ถูกที่ตรงไหนก็ไม่ผิด
ล้วนแรกรุ่นร่วมรู้คู่ชีวิต            เคยไปเล่นเป็นนิจที่เนินทราย
พอแดดร่มลมตกลงชายเขา        ขึ้นสำเภายนต์ใหญ่ดังใจหมาย
ออกจากบ้านอ่านมนต์เรียกพระพาย    แสนสบายบุกป่ามาบนดิน
ถึงทะเลแล่นตรงลงในน้ำ            เที่ยวลอยลำแล่นมหาชลาสินธุ์”

เรื่องของพราหมณ์โมรานี้ ทางประเทศตะวันตกเพิ่งคิดค้นขึ้นได้เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง เป็นเรือสะเทินน้ำสะเทินบก แล่นบนบกก็เป็นรถ พอลงน้ำก็กลายเป็นเรือ แต่ท่านสุนทรภู่ใช้จินตนาการสร้างมาเป็นร้อยปีแล้ว

และก็เพราะเรือเป็นทรัพย์สินสำคัญอย่างหนึ่ง การซื้อขายเรือกฎหมายจึงบัญญัติให้ทำเป็นหนังสือและจดทะเลียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วย มิฉะนั้นเป็นโมฆะใช้ไม่ได้ ปรากฏตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๔๕๖ ว่า “การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไซร้ ท่านมาเป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือกำปั่น หรือเรือมีระวางตั้งแต่หกตันขึ้นไปหรือเรือกลไฟ หรือเรือยนต์มีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย”

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี