การรักษาสุขภาพของฟัน

Socail Like & Share

หลักในการรักษาสุขภาพของฟันก็คือ

๑. งดอาหารหวานที่ติดฟันง่าย ควรรับประทานอาหารที่ทำให้ฟันสะอาด เช่น อ้อย ฝรั่ง เป็นต้น

๒. แปรงฟันและนวดเหงือกให้ถูกวิธี ภายหลังอาหารทุกมื้อ หรืออย่างน้อยวันละ ๒ ครั้ง ก่อนนอนและในตอนเช้าแปรงฟัน

๓. อย่ารอจนกระทั่งมีเลือดออกตามไรฟัน หรือเจ็บปวดฟัน จงหมั่นไปให้หมอฟัน หรือทันตแพทย์ตรวจขูดหินน้ำลาย ทำความสะอาดฟัน และแก้ไขสิ่งบกพร่องต่างๆ ในช่องปาก อย่างน้อยปีละ ๒ ครั้ง

๔. บำรุงสุขภาพให้สมบูรณ์อยู่เสมอ เพื่อเพิมความต้านทานโรค

ข้อที่ควรจำเกี่ยวกับหมอฟันก็คือว่า หมอฟันนั้นไม่ใช่มีไว้เพื่อถอนฟันหรือทำฟันปลอมอย่างเดียว แต่มีไว้เพื่อรักษาป้องกันมิให้ฟันของท่านผุกร่อนหรือเป็นโรคอีกด้วย จึงควรใช้หมอฟัน หรือทันตแพทย์ของเราให้เกิดประโยชน์แก่ตัวท่านและบุตรหลานเสียก่อนฟันจะหมดปาก

ฟันนั้น นอกจากจะใช้เคี้ยวหรือบดอาหารแล้ว ยังเป็นฐานกรณ์ที่เกิดของเสียงด้วยพยัญชนะบางตัวมีเสียงเกิดแต่ไรฟันที่เรียกว่า ทันตชะ เช่น พยัญชนะ ด ต ถ ท ธ น เป็นต้น ดังได้กล่าวแล้ว ผู้ที่ฟันห่างหรือฟันไม่มี จะออกสำเนียงพยัญชนะเหล่านี้ไม่ชัด ถ้าเป็นภาษาพระก็เรียกว่า อักษรวิบัติ ใช้ไม่ได้ อย่างนักร้องบางคนที่มีแต่เสียงที่เกิดจากริมฝีปาก และเสียงที่เกิดแต่ลำคอเท่านั้น แต่เราก็นิยมกันว่าร้องเพราะ ด้วยเป็นเสียงที่แปลกกว่าคนอื่น

นอกจากนี้ ฟันของคนเรา เป็นอวัยวะที่เสริมเสน่ห์อย่างหนึ่ง ผู้ที่มีฟันสวยงามไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย มักจะมีเสน่ห์มากกว่าคนที่ฟันไม่สวย สมัยโบราณมีหลายชาติที่นิยมฟันเป็นสีอื่นไม่ใช่สีขาวอย่างทุกวันนี้ อย่างน้อยก็คนไทย นิยมย้อมฟันให้มีสีดำ ว่าทำให้ฟันทน สิ่งที่จะเอามาย้อมฟันดำนั้นเรียกว่าซี่ โดยใช้กะลามะพร้าวเผาให้เป็นถ่านบดให้ละเอียดแล้วผสมยางไม้ น้ำมะนาวถูฟันจนเกิดสีดำมันวาว ในหนังสือจดหมายเหตุของลาลูแบร์ ซึ่งเป็นเอกอัครราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศส และได้เข้ามาเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้กล่าวถึงการย้อมฟันของคนไทยไว้ตอนหนึ่งว่า

“การที่ชาวสยามจะย้อมฟันให้ดำนั้น ให้เอามะนาวร้อนจัดๆ แก่พอทนได้เข้าคาบฟันไว้กดถึงเหงือกราวสักชั่วโมงหรือกว่า ชาวสยามบอกว่าการทำเช่นนี้ ทำให้ฟันอ่อนลงได้เล็กน้อย แล้วจึงถูฟันด้วยชี่ ซึ่งเอาออกจากรากไม้อย่างหนึ่ง หรือออกจากกะลามะพร้าวที่สำรอกเอายางออก นี่แหละเป็นการย้อมให้ฟันดำละ (ในชั้นหลังๆ ข้าพเจ้าเคยเห็นบีบน้ำมะนาวลงในชี่แล้วถูฟัน ไม่เห็นขบมะนาวร้อน) กระนั้น บางทีชาวสยามสำราญใจที่จะกล่าวว่า การย้อมฟันนั้น จำเป็นต้องนอนอดข้าวไม่กินอาหารหยาบเลยอยู่ถึง ๓ วัน แต่บางคนยืนยันต่อข้าพเจ้าว่า ข้อที่ว่านี้ไม่จริง เป็นแต่ไม่กินอาหารร้อนๆ สักสองหรือสามวัน ข้าพเจ้าเองเชื่อว่าฟันมนุษย์ค่อนข้างเคลือบมันลื่น ยากจะย้อมให้กรังแน่นอยู่ได้จนถึงสามารถที่จะเคี้ยวอาหารกระด้างได้ โดยไม่ลอกไม่กะเทาะ คงเป็นการจำเป็นต้องซ่อมย้อมใหม่เนืองๆ ถ้าจะให้ฟันดำขลับอยู่เสมอ”  นอกจากนี้ในจดหมายเหตุนี้ยังบอกไว้ด้วยว่าคนไทยสมัยนั้นยังนิยมย้อมเล็บให้เป็นสีแดงด้วย โดยใช้น้ำข้าวผสมกับใบไม้ ก็คงจะเป็นใบเทียนนั่นเอง นับว่าคนไทยเรารู้จักแฟชั่นแต่งเล็บมานานแล้วเหมือนกัน

แฟชั่นนิยมย้อมฟันดำ มาเลิกเสียเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้เอง คือเมื่อยาสีฟันฝรั่งเข้ามามากแล้วนั่นเอง เข้าใจว่า ที่คนไทยเราย้อมฟันให้ดำ นอกจากเพื่อให้คงทนแล้ว ยังทำให้กลิ่นปากสะอาดอีกด้วย เพราะลาลูแบร์ว่า ตนไม่เคยพบคนไทยมีกลิ่นปากไม่สะอาด  เป็นเหตุให้ความรักเลือนหายไปๆ อย่างคำโฆษณาขายยาสีฟันทุกวันนี้ แต่เหตุที่คนไทยไม่มีกลิ่นปาก อาจจะเนื่องมาจากคนไทยนิยมกินหมากก็ได้เหมือนกัน

นอกจากนิยมฟันดำแล้ว บางชาติยังนิยมฟันสีแดงเสียอีกด้วย อย่างน้อยก็คนชวาคงจะนิยมสีเช่นว่านี้ เพราะปรากฏว่าวิหยาสะกำนั้นมีฟันสีแดง ดังกลอนเรื่องอิเหนาตอนวิหยาสะกำตายตอนหนึ่งว่า

“ตรัสพลางย่างเยื้องยุรยาตร        องอาจดังไกรสรสีห์
สองระตูตามเสด็จจรลี            ไปที่วิหยาสะกำตาย
มาเห็นศพทอดทิ้งกลิ้งอยู่        พระพินิจศพดูแล้วใจหาย
หนุ่มน้อยโสภาน่าเสียดาย        ควรจะนับว่าชายโฉมยง
ทนต์แดงดังแสงทับทิม            เพริศพริ้มเพรารับกับขนง
เกศาปลายงอนงามทรง        เอวองค์สารพัดไม่ขัดตา”

ที่ฟันแดงเข้าใจว่าเพราะชาวชวากินหมากเช่นเดียวกับคนไทยหรืออาจจะย้อมฟันก็เป็นได้ทั้งสองอย่าง

การรักษาฟันของคนโบราณ ก็คือหากปวดฟันก็เข้าใจกันว่าเป็นรำมะนาด จึงต้องหายาแก้รำมะนาดทาที่ฟัน นอกจากนี้สมัยก่อน แปรงถูฟันยังไม่แพร่หลาย คนไทยเราอาศัยไม้จิ้มฟัน เป็นเครื่องทำความสะอาดฟัน แต่สำหรับพระสงฆ์องค์เจ้าแล้ว เรามีไม้สีฟันให้ท่านใช้เหมือนกัน ไม้สีฟันนั้นเป็นไม้เนื้ออ่อนบางชนิด เช่นข่อย เป็นต้น วิธีทำก็คือไปตัดไม้สดๆ โตไม่เกิดข้อมือ ตัดให้ยาวท่อนละประมาณสักคืบกว่าๆ แล้วหาไม้มาต่อยจนไม้นั้นนุ่มเป็นฝอย แล้วผ่าออกเป็นซี่ๆ เหลาปลายด้านที่ไม่มีฝอยให้เรียวแหลมเป็นไม้จิ้มฟัน ส่วนด้านที่มีฝอยก็ทำเป็นแปรงถูฟัน เวลาเข้าพรรษาสมัยก่อน เราจะเป็นชาวบ้านนำไม้ถูกฟันนี้ไปถวายพระเป็นมัดๆ แต่สมัยนี้แปรงถูฟันเข้ามามีบทบาทไม้สีฟันก็เลยหายไปด้วย เพราะไม่สะดวกแก่การที่จะทำหรือใช้นั่นเอง ซึ่งเป็นเรื่องของธรรมดาโลก

เมื่อฟันน้ำนมหลุด คนโบราณเขาถือเคล็ดลับอย่างหนึ่งคือ ถ้าฟันน้ำนมข้างบนหลุดให้เอาฟันนั้นโยนลงใต้บันไดเรือน แต่ถ้าฟันข้างล่างหลุดให้โยนขึ้นหลังคา ว่าทำให้ฟันแท้งอกออกมาเร็วๆ เท็จจริงอย่างไรก็ไม่ทราบ แต่ข้าพเจ้าเองก็เคยทำมาแล้ว นี้เป็นมรดกอย่างหนึ่งของเรา เรียกว่ามรดกทางวัฒนธรรม เชื่ออะไรตามๆ กันมา หาเหตุผลไม่ได้

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี