เครื่องประดับม้า

Socail Like & Share

เมื่อพูดถึงม้าซึ่งใช้เป็นพาหนะแล้ว ก็ควรจะพูดถึงอัสสาภรณ์คือเครื่องประดับม้าเสียด้วย ม้าทรงนั้นประกอบด้วยเครื่องประดับต่างๆ ดังนี้เครื่องประดับม้า

๑. ตาบและพู่  เป็นเครื่องประดับให้สวยงาม ตาบเป็นรูปใบโพธิ์ใช้ติดห้อยลงทางด้านหน้า ส่วนพู่จะใช้ห้อยคอหรือหัวหรือท้ายอานก็ได้

๒. พานหน้าและพานท้าย  เป็นเครื่องรัดผมม้าทั้งสองอย่าง คือพานหน้าใช้รัดผมหน้าม้า ส่วนพานท้ายใช้รัดผมม้าด้านหลังหรือผมนกเอี้ยง ทั้งพานหน้าพานท้ายทำด้วยด้ายถักหรือใช้หนังก็ได้ มีดาวเล็กๆ หรือลูกพรวนประดับ เวลาวิ่งดังกริ๊งๆ เพราะดีเหมือนกัน

๓. ขลุม  เป็นสายเชือกถักติดกับบังเหียน แล้วรัดพาดปากม้า โยงติดกับพานหน้าและพานท้าย

๔. อาน  คือที่รองนั่งบนหลังม้า ทำด้วยหนังหรือผ้าก็ได้ ส่วนมากจะมีนวมบุข้างในเพื่อให้นั่งสบายๆ

๕. สายง่อง  คือสายเชือกที่โยงจากสายรัดอกม้ามายังขลุมตรงคางม้า เพื่อกันมิให้ม้าเงยหน้ามากเกินไป มีประโยชน์มากในเวลาขึ้นที่สูงหรือที่ชัน คอม้าก็จะไม่เงยหงายมิฉะนั้นจะทำให้คนขี่ตกได้ง่ายๆ สายง่องจะช่วยให้คอม้าโก่งอยู่เสมอ

๖. สายเหา  คือเครื่องรัดท้ายม้าจากอานไปยังโคนหาง

๗. สายถือคือสายบังเหียน  จะเป็นสายหนังหรือเชือกก็ได้ ใช้สำหรับบังคับม้าให้หันเลี้ยงไปตามทิศทางที่ประสงค์

๘. โกลน  คือเหล็กที่รองเหยียบมีสายห้อยติดอยู่ข้างอาน

๙. พะนัง  หรือแผงข้าง ทำด้วยแผ่นผ้าหรือแผ่นหนังก็ได้ ใช้รองอานม้าและลาดปกลงมาสองข้างม้า เป็นเครื่องป้องกันไม่ใช้ขาของผู้ขับขี่เสียดสีกับข้างม้า และเป็นเครื่องป้องกันมิให้เหงื่อม้าเปื้อนผู้ขับขี่ด้วย

เรื่องเครื่องประดับม้านี้ ส.พลายน้อยได้เล่าเป็นประวัติไว้ในหนังสือสัตว์นิยายว่า “ม้านั้นเดิมเป็นสัตว์ที่เหาะได้ คราวหนึ่งม้าได้บุกเข้าไปในสวนของพระอิศวร เพื่อเข้าไปหานางม้าอัศวราช ๒ ตัว ซึ่งพระพายได้ถวายไว้เป็นม้าเทียมรถของพระอุมา ม้าทั้ง ๔ ได้กินหญ้าและพืชพันธุ์ต่างๆ ในสวนนั้นอย่างเพลิดเพลิน อสูรนนทกาลผู้เฝ้าสวนเห็นเช่นนั้นก็สำแดงอานุภาพทำให้กายใหญ่เข้ารวบรัดจับม้าทั้ง ๔ ไว้ แล้วนำไปถวายพระผู้เป็นเจ้า กล่าวโทษที่ม้าทั้ง ๔ มาทำลายเหยียบย่ำสวนจนยับเยินไปหมด พระอิศวรจึงมีเทวโองการสั่งให้อสูรนนทกาลตัดเอ็นเหาะที่เท้าม้าทั้ง ๔ นั้นเสีย อย่าให้ม้านั้นเหาะเหินเดินอากาศได้สืบไป แล้วให้เอาเหล็กบิดเป็นเกลียวมีห่วงใส่วงกระวินข้างหนึ่งมีปลายขดเป็นข้อ มีขนาดยาวสี่นิ้วสองอัน เอาข้อต่อข้อเกี่ยวกันให้มั่น แล้วเอาเชือกถักเป็นขลุมเงื่อนผูกกับห่วงกระวินทั้งสอง เหล็กนั้นผ่าปากม้าให้คาบขลุมนั้นสวมศีรษะม้าครอบหูแล้วเอาเชือกผูกขลุมข้างขวา อ้อมใต้คางมาผูกขลุมข้างซ้ายเรียกว่ารัดคางบังเหียน ม้าจะบริโภคอันใดให้ลำบาก แล้วเอาเชือกยาว ๔ ศอกผูกระหว่างกระวินทั้งสอง ชักซ้ายไปขวา ชักสองสายให้ยืนนิ่งอยู่ แล้วให้เอากระดูกตะโพกก้นกระบือตายวางครอบลงบนหลังม้าเรียกว่า อาน เอาเชือกผูกอ้อมรัดอานไว้กับอกเรียกว่ารัดอก เชือกสายหนึ่งอ้อมคอผูกไว้กับหัวอานทั้งสองเรียกว่า รั้งหน้า เชือกสายหนึ่งอ้อมโคนหางมาผูกท้ายอานทั้งสองเรียกว่า รั้งท้าย เชือกสายหนึ่งที่ผูกกระวินขลุมทั้งสองสอดมาหว่างเท้าหน้ามาผูกที่สายรัดอกเรียกว่า สายง่อง

ครั้นแต่งเครื่องประจานเสร็จแล้ว พระอิศวรให้พาม้าเดินตระเวนรอบสวนสามรอบ ประกาศให้สัตว์ทั้งหลายอย่าได้เอาเยี่ยงอย่าง แล้วเอาไปปล่อยยังโลกมนุษย์ และตั้งแต่นั้นมา ม้าก็เป็นพาหนะของมนุษย์ได้ใช้สืบมาจนทุกวันนี้”

ม้านั้นนอกจากใช้ขี่เป็นพาหนะไปไหนมาไหนได้รวดเร็วแล้วคนเรายังใช้เป็นพาหนะสำหรับรบด้วย การขี่ม้ารบกันหรือที่เรียกว่าทหารม้านั้นนิยมกันมานานแล้ว นอกจากนี้ในสมัยโบราณยังนิยมเอาม้าเทียมรถด้วย รถม้านี้นอกจากเป็นยานที่ขับขี่ตามธรรมดาแล้วยังใช้เป็นรถรบด้วย ซึ่งเราเคยทราบกันอยู่แล้ว ผู้ที่จะขับขี่รถม้าจะต้องมีความชำนาญในการขับขี่ม้าหรือบังคับม้าได้เป็นอย่างดีด้วย คนพวกนี้ภาษาบาลีเรียกว่าสารถี ซึ่งเรานำมาใช้เรียกคนขับรถยนต์ทุกวันนี้ก็มี

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี